Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 มนุษยธรรม (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

มนุษยธรรม


พระนิพนธ์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 19 ก.ย. 2007, 8:14 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำนำ

มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีนโยบายที่จะจัดพิมพ์หนังสือทางพระพุทธศาสนา เพื่อประชาชนทุกระดับชั้น สามารถอ่านศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดสันติสุขแก่ชีวิตและสังคม ทั้งจะเป็นการช่วยกันดำรง และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบไปด้วย

มหามกุฏราชวิทยาลัยได้พิจารณาเห็นว่า ธรรมนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดพิมพ์แผยแพร่ตามนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระครบถ้วนบริบูรณ์ และอ่านเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านทุกระดับ มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงได้เลือกสรรมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นชุดๆ เป็นลำดับไป

พระนิพนธ์เรื่องมนุษยธรรมนี้ได้ทรงอธิบายถึงคุณธรรมจำเป็นสำหรับมนุษย์ ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนามีเนื้อหาไม่ยาก และไม่ง่ายจนเกินไป ทั้งไม่ยาวและไม่สั้นจนเกินไปด้วย แต่ก็มีเนื้อหาเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านได้ความรู้ความเข้าใจคำสอนขั้นพื้นฐานเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของสาธุชนทั่วไป


(พระมหารัชมงคลดิลก)
ผู้อำนายการ

มหามกุฏราชวิทยาลัย
มีนาคม ๒๕๔๑
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

๑. มนุษยธรรมที่ ๑
๒. มนุษยธรรมที่ ๒
๓. มนุษยธรรมที่ ๓
๔. มนุษยธรรมที่ ๔
๕. มนุษยธรรมที่ ๕
๖. ปกติภาพ-ปกติสุข
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษยธรรมที่ ๑

ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต

คำว่าสัตว์มีชีวิต แปลจากคำว่า ปาณาติปาตา คำว่า ปาณะ คืออินทรีย์ที่หายใจ ที่มีชีวิตเป็นอยู่ หมายถึงมนุษย์และดิรัจฉานทั่วไปทุกชนิด เพราะเมื่อมีชีวิตเป็นอยู่ ก็ต้องหายใจเหมือนกันหมด การหายใจหมายถึงความมีชีวิต หรือความมีชีวิตก็หมายถึงการหายใจ คำว่า ปาณา จึงแปลว่าฟังง่ายๆ ว่า สัตว์มีชีวิต

ซึ่งหมายถึงทั้งมนุษย์ ทั้งดิรัจฉานที่ยังหายใจได้อยู่ดังกล่าวนั้น การฆ่าคือการทำให้ตายด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม ตลอดจนถึงการทำให้แท้งลูก ก็ชื่อว่าเป็นการฆ่าเหมือนกัน เว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตคือความตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด

ความตั้งใจงดเว้นหรือความงดเว้นได้ ไม่ฆ่านี้ถ้าไม่ได้รับศีลไว้ก่อน แต่เมื่อพบสัตว์มีชีวิตพอจะฆ่าได้ ก็คิดงดเว้นขึ้นได้ เช่น เมื่อยุงกัดจะตบให้ตายก็ได้แต่ไม่ตบ เพียงแต่ปัดให้ไป อย่างนี้เป็น สัมปัตตวิรัติ

ความเว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้ อันมาถึงเฉพาะหน้า ถ้างดเว้นได้ด้วยรับศีลไว้ก่อน หรือตั้งใจถือศีลไว้ก่อนเป็น สมาทานวิรัติ

ความเว้นด้วนการถือเป็นกิจวัตร ถ้างดเว้นได้เป็นปกตินิสัยของตนจริงๆ ก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ ความเว้นด้วยการตัดขาดมีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ ความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวมีเมื่อใด ศีลข้อนี้ก็มีเมื่อนั้น

มีปัญหาว่า เด็กๆ ไม่รู้เดียงสา
ไม่ได้ฆ่าสัตว์อะไร
จะชื่อว่ามีศีลหรือไม่

คนที่ยังไม่ฆ่าสัตว์
เพราะยังไม่มีโอกาสจะฆ่าจะชื่อว่ามีศีลหรือไม่
ก็อาจตอบได้ด้วยอาศัยหลักวิรัติว่า
ไม่ชื่อว่ามีศีล

เพราะไม่มีวิรัติเจตนาคือความตั้งใจงดเว้น
เช่น เด็กไม่รู้เดียงสานั้นยังไม่รู้จักตั้งใจงดเว้น
คนที่ยังไม่มีโอกาสจะฆ่าก็ไม่มีความตั้งใจงดเว้น


การล่วงศีลข้อนี้ มีขึ้นในเมื่อสิ่งมาจะฆ่าเป็นสัตว์มีชีวิตตนก็รู้อยู่ว่าเป็นสัตว์มีชีวิต มีเจตนาคิดจะฆ่า พยายามฆ่าด้วยเจตนานั้น ด้วยการทำเองก็ตาม สั่งใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม และสัตว์ก็ตายด้วยความพยายามนั้น

เมื่อประกอบด้วยองค์ลักษณะดังกล่าว ศีลก็ขาด มีปัญหาว่าไม่ได้เจตนาเหยียบมดตาย ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาด เพราะไม่รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ยุงกัดตบยุง แต่ยุงบินหนีไปเสียก่อน ศีลขาดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ขาดเพราะว่าสัตว์ไม่ตาย

การฆ่าสัตว์ ท่านแสดงว่ามีโทษมากและน้อยต่างๆ กันคือถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณมาก มีเจตนาฆ่าแรงมาก มีความพยายามมากก็มีโทษมาก ถ้าฆ่าผู้ที่มีคุณน้อย มีเจตนาอ่อน มีความพยายามน้อย ก็มีโทษน้อยลงมาตามส่วน

ผู้ที่ศีลข้อนี้ขาดแล้ว เมื่อรับศีลใหม่ หรือไม่รับจากใครแต่ตั้งใจถือศีลขึ้นใหม่ด้วยตนเอง ศีลก็กลับมีขึ้นใหม่ เพราะหลักอยู่ที่วิรัติเจตนา คือความตั้งใจงดเว้นดังกล่าวแล้ว

ตั้งใจงดเว้นขึ้นเมื่อใด ศีลก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ฉะนั้น ถึงจะรับศีลจากพระแต่รับเพียงด้วยปาก
ใจไม่ได้คิดงดเว้นอะไร
ก็ไม่เกิดเป็นศีลขึ้น
ถึงไม่ได้รับศีลจากพระ
แต่มีใจงดเว้น ก็เกิดเป็นศีลขึ้นได้


มีข้อที่ต่างกันอยู่ว่า การรับจากพระเป็นการแสดงตน และเป็นการกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งทำให้ต้องสำนึกตนในคำสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเครื่องช่วยทำให้ศีลมั่นเข้า และการรับศีลเมื่อไม่ได้ตั้งใจรับเป็นนิจ ถึงจะไปล่วงศีลเข้าในภายหลัง เพราะความพลั้งเผลอ หรือเพราะเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่เสียสัตย์ปฏิญาณอะไร ทั้งนี้ก็สุดแต่จะตั้งเจตนาไว้อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีความว่า
ตนรักชีวิตของตน
สะดุ้งกลัวความตายฉันใด
สัตว์อื่นก็รักชีวิตของตน
สะดุ้งกลัวความตายฉันนั้น

ฉะนั้น จึงไม่ควรฆ่าเอง
ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า
อนึ่งตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด
สัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
จึงไม่ควรสร้างความสุขให้แก่ตน
ด้วยการก่อทุกข์ให้แก่คนอื่น


อาศัยหลักพระพุทธภาษิต ดังกล่าวนี้จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ ด้วยอาศัยหลักยุติธรรมและหลักเมตตากรุณา

หลักยุติธรรม คือหลักการให้ความยุติธรรม คุ้มครองชีวิตสัตว์ทั้งหลาย โดยเที่ยงธรรมเสมอหน้ากันทั้งหมด ทั้งมนุษย์ทั้งเดรัจฉานทุกชนิด มิใช่บัญญัติด้วยลำเอียงเข้ากับมนุษย์ ว่ามนุษย์ควรจะฆ่าดิรัจฉานกินได้

หรือลำเอียงเข้ากับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทั้งมนุษย์ทั้งดิรัจฉาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องหายใจอยู่เหมือนกัน และต่างก็รักชีวิตรักสุขเกลียดทุกข์อยู่เหมือนๆ กัน ฉะนั้น การให้ความคุ้มครองชีวิตโดยเสมอหน้ากันหมด ไม่เลือกว่าเราว่าเขา ไม่เลือกว่าตนว่าผู้อื่น ไม่เลือกว่ามนุษย์ว่าดิรัจฉานชนิดไหน จึงเป็นการยุติธรรม ปราศจากความลำเอียงอย่างแท้จริง

แต่มนุษย์เรา มีปกตินิสัยเข้ากับตัวด้วยอำนาจความโลภ โกรธ หลง จึงพอใจบัญญัติอะไรให้อนุโลมกับปกตินิสัย และอ้างปกตินิสัยอันมีกิเลสนี้แหละ ให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่บัญญัติให้มนุษย์ มีสิทธิ์ตัดชีวิตดิรัจฉาน เพื่อให้เนื้อทำอาหารได้โดยไม่ผิด

ทั้งเป็นการชอบธรรมด้วย ลองนึกดูว่าถ้าเสืออ้างว่า คนเกิดมาเป็นอาหารของเสือ คนก็คงไม่ยอมเป็นแน่ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าปลา เนื้อ พูดได้ ก็คงไม่ยอมให้ถือว่าเกิดมาเป็นอาหารของคนเหมือนกัน

ข้อที่คนเราลำเอียงเข้ากับตัวนี้ มีตัวอย่างให้เห็นได้อีกมากมาย เช่น ในบางคราวสัตว์ดิรัจฉานทำร้ายคน คนก็พูดกันเป็นข่าวว่าสัตว์นั้นๆ ดุ แต่คนทำร้ายสัตว์ดิรัจฉานทั่วๆ ไปไม่พูดกันว่าคนดุ

ในคราวหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ปลาฉลามกินคนที่ลงเล่นน้ำที่ศรีราชา เกิดเป็นข่าวเกรียวกราว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์รับสั่งเป็นเชิงประทานแง่คิดว่า “ปลากินคน เป็นข่าวเอะอะกันใหญ่ แต่ว่าคนกินปลาเงียบไม่มีใครพูด”

เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า คนเรามีความลำเอียงเข้ากับตัวอยู่มากมายนัก ดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงตัดความลำเอียงได้หมด ประทานความยุติธรรมแก่ทุกๆ ชีวิตสัตว์เสมอเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงมีพระเมตตากรุณาแก่สัตว์ทุกถ้วนหน้า เหมือนอย่างมารดาบิดา มีเมตตากรุณาแก่บุตรธิดา มารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาไม่อาจจะฆ่าเองหรือยอมให้ใครฆ่าบุตรธิดาของตนได้ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เพราะทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติศีลข้อ ๑
เพื่อมิให้เบียดเบียนชีวิตของกันและกัน ด้วยเมตตากรุณา
ฉะนั้น จึงมิใช่ควรเว้นจากการฆ่าสัตว์เพียงอย่างเดียว
ควรเว้นจากการทำร้ายร่างกายกัน และการทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วย

แม้การทำร้ายร่างกายอย่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรเว้น เช่น คนที่โตกว่าชกต่อยข่มเหงคนที่เล็กกว่า พี่รังแกน้อง การทรกรรม คือการทำสัตว์ให้ลำบาก แม้เพื่อเล่นสนุกก็ควรเว้น เช่น เล่นเผาหนูทั้งเป็น ใช้น้ำมันราดตัวให้ชุ่ม จุดไฟ ปล่อยวิ่ง ไฟติดโพลง ไปเป็นการเล่นสนุก ตลอดถึงการเล่นกัดจิ้งหรีดเป็นต้น

สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็เล่นทรกรรมสัตว์ เช่น ชนวัว ชนไก่ เป็นการสนุกบ้าง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น การใช้งานสัตว์จนเกินกำลัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำทั้งสิ้น การใช้งานสัตว์จนเกินกำลัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเหมือนกัน

การทำเหล่านี้เป็นการก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น แสดงว่าผู้ทำมีใจขาดเมตตากรุณา ไม่ได้คิดย้อนมาดูตัวว่า ถ้าถูกทำเช่นนั้นบ้างจะเป็นอย่างไร

การเล่นสนุกอีกอย่างหนึ่งของคน คือการล่าสัตว์ในป่าบางคนถือว่าเป็นการฝึกผจญภัย ทำให้ใจกล้า แต่ก็ผจญอย่างเอาเปรียบ เพราะใช้อาวุธ และหลบอยู่บนต้นไม้หรือในที่กำบัง และสัตว์มากชนิดไม่มีทางจะต่อสู้ด้วยเลย

สัตว์บางชนิดยังไม่คุ้นกับความมีใจดำอำมหิตของคน เห็นคนเข้าก็คงไม่คิดว่าเป็นเพชฌฆาต รีรอมองดูอย่างทึ่ง สงสัยว่าคนคงเป็นเพื่อนสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น จึงถูกยิงอย่างสะดวก

บางสัตว์ที่ถูกยิงเป็นแม่มีลูกอ่อนติดตาม
ครั้นถูกยิงแล้วก็พยายามปิดบาดแผล
อดกลั้นความเจ็บปวดมิให้ลูกเห็น
แสดงอาการเศร้าโศก
และแสดงความรักอาลัยลูกอย่างสุดซึ้ง
แล้วก็ตกลงมาตาย
คนที่ยิงแม้ทีแรกจะไม่คิดอะไร
ครั้นเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว
เห็นสายตาสัตว์ผู้แม้ที่มองตนอย่างละห้อยเหมือนจะถามสาเหตุ
เกิดสงสารสังเวชจนเลิกการล่าสัตว์ตั้งแต่บัดนั้นก็มี


บางทีในฤดูแล้ง สัตว์ป่าจำต้องกระเสือกกระสนมาดื่มน้ำในสระ ที่มีคนไปคอยดักยิงอยู่ แม้น่าจะรู้ว่ามีภัยก็ต้องมาเพราะความระหายน้ำ แล้วถูกยิงอย่างยอมให้ยิง การยิงสัตว์เป็นการกีฬาในคราวสัตว์เผชิญทุกข์เช่นนี้ เป็นการแสดงความโหดร้ายยิ่งนัก

ผู้ที่มีใจอำมหิตโหดร้ายนี้แหละ คือยักษ์ในหมู่มนุษย์และในหมู่ดิรัจฉาน ผู้ใช้ความคิดให้ถูกต้องสักหน่อย จักทำอย่างนั้นไม่ได้เลย ในฐานะนับถือพระพุทธเจ้าก็ยิ่งไม่ควรทำ

พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้นึกเปรียบเทียบระหว่างตัวเรา กับผู้อื่นสัตว์อื่นว่า ต่างรักชีวิตกลัวตายเหมือนกัน แล้วควรเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน ควรปลูกเมตตากรุณาในสรรพสัตว์

มิใช่แต่การฆ่าสัตว์มีชีวิตอื่นเท่านั้น ถึงการฆ่าตัวเองตายที่เรียกว่า อัตวินับาตกรรมพระพุทธเจ้าก็ทรงห้ามมิให้ทำการฆ่าตัวเป็นการแสดงความอับจน พ่ายแพ้ หมดทางแก้ไข หมดทางออกอย่างอื่น สิ้นหนทางแล้ว

เมื่อฆ่าตัวก็เป็นการทลายตัว เมื่อทำลายตัว ก็เป็นการทำลายประโยชน์ทุกๆอย่างที่จะพึงได้ในชีวิต ในบางหมู่เห็นว่า การฆ่าตัวในบางกรณี เป็นเกียรติสูง แต่ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า เป็นโมฆกรรม คือกรรมที่เปล่าประโยชน์

เรียกผู้ที่ทำว่า โมฆบุคคล คือ คนเปล่า เท่ากับว่าตายไป เปล่าๆ ควรจะอยู่ทำอะไร ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ ก็หมดโอกาสเสียแล้ว ตรงกับคำที่พูดกันว่าเสียไปเสียแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้สงวนรักษาตนให้ดีตลอดเวลาทั้งปวงทรงห้ามมิให้มอบตนให้แก่ใคร และไม่ให้ฆ่าตัวเอง เช่นเดียวกับมิให้ฆ่าสัตว์อื่น โดยปกติคนทุกคนรักชีวิต รักตนเอง กลัวตาย แต่เพราะเหตุบางอย่างบางครั้ง อาจเกิดการคิดสละชีวิต

ก็เมื่อเกิดความคิดเช่นนั้นขึ้นได้ ไฉนจะทำให้เกิดความคิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นไม่ได้ คือคิดอยู่ต่อไป เว้นไว้แต่จะแพ้แก่ความคิด แพ้แก่ใจตนเอง ฉะนั้น เมื่อมีสติระวังมิให้เป็นผู้พ่ายแพ้ อย่างหมดประตูเช่นนั้น แต่ให้เป็นผู้ชนะตนเอง ชนะใจตนเองได้แล้ว จะไม่ก่อกรรมนั้นให้แก่ตนได้เลย

ธรรมคู่กับศีลข้อ ๑ คือ
เมตตา กรุณา เป็นกัลยาณธรรม ธรรมที่งาม


หรือธรรมที่ทำให้เป็นกัลยาณชนคนงาม เมตตากรุณานี้ เป็นมูลฐานให้เกิดศีลข้อที่ ๑ และทำให้จิตใจงามเป็นเหตุก่อการกระทำเกื้อกูลขึ้นอีก ดังเช่น ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยมี ศีลและเกื้อกูลสัตว์ด้วยมีธรรม คือ ความเมตตากรุณา

การไม่เกื้อกูลใคร ไม่ทำให้เสียศีล เพราะไม่ได้ฆ่าใคร แต่ขาดธรรมคือกรุณา ฉะนั้น จึงควรปลูกเมตตากรุณา ให้มีคู่ไปกับศีล

เมตตา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข คำว่าไมตรีจิต หรือมิตรจิต ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา คนที่มีมิตรจิต เรียกว่ามิตร ตรงกันข้ามกับศัตรูหรือไพรี ซึ่งมีจิตพยาบาทมุ่งร้าย เมตตาจึงตรงข้ามกันกับโทสะพยาบาท

เมตตาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ โทสะพยาบาทเป็นเครื่องทำลายล้าง ฉะนั้น เมื่อมีเมตตาต่อกัน ย่อมคิดจะเกื้อกูลกันให้มีความสุข ถึงจะประพฤติผิดพลั้งพลาดต่อกันบ้าง ก็ให้อภัยกันไม่ถือโทษ เหมือนอย่างมารดาบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ไม่ถือโทษด้วยโทสะพยาบาทในบุตรธิดา

แต่ถ้าขาดเมตตาต่อกันแล้ว ก็ตรงกันข้าม สถานและสิ่งของเป็นเครื่องเกื้อกูลที่มีอยู่ทั่วไป เช่น วัด โรงเรียน และศึกษาอบรมต่างๆ เป็นต้น ล้วนประกาศเมตตาจิตของผู้จัดตั้งหรือจัดทำ เพื่อให้เกิดสุขประโยชน์แก่คนทั้งหลาย

กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น ก็พลอยหวั่นใจสงสาร เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน กรุณานี้ตรงกันข้ามกับวิหิงสาความเบียดเบียน สิ่งที่เป็นเครื่องช่วยเปลื้อง ช่วยบำบัดทุกข์ภัยทั้งหลาย เช่น โรงพยาบาลเป็นต้น ล้วนประกาศกรุณาของท่านผู้สร้าง

ชีวิตของทุกคนดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยอาศัยความเมตตากรุณาของผู้อื่นมา ตั้งแต่เบื้องต้น คือตั้งต้นแต่บิดา มารดา ญาติมิตรสหาย ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ และรัฐบาล เป็นต้น

ไม่เช่นนั้น ถึงไม่ถูกใครฆ่า ก็ไม่อาจจะดำรงชีวิตอยู่ได้เลยเหมือนอย่างมารดาบิดา ทิ้งทารกไว้เฉยๆ ไม่ถนอมเลี้ยงดู ไม่ต้องทำอะไร ทารกก็จะสิ้นชีวิตไปเอง ฉะนั้น เมื่อทุกๆ คน มีชีวิตเจริญมาด้วยความเมตตากรุณาของท่าน ก็ควรปลูกเมตตากรุณาในชีวิตอื่นสืบต่อไป

วิธีปลูกเมตตา คือ
คิดตั้งใจปรารถนาให้เขาเป็นสุขนี้เป็นเมตตา
และคิดตั้งใจปรารถนาให้เขาปราศจากทุกข์ นี้เป็นกรุณา
ทีแรกท่านแนะนำให้คิดไปในตนเองก่อน
แล้วให้คิดเจาะจงไปในคนที่รักนับถือ
ซึ่งเป็นที่ใกล้ชิดสนิทใจ
อันจะหัดให้เกิดเมตตากรุณาได้ง่าย

ครั้นแล้ว ก็หัดคิดไปในคนที่ห่างใจออกไปโดยลำดับ จนในคนที่ไม่ชอบกัน เมื่อหัดคิดโดยเจาะจงได้สะดวกก็หัดคิดแผ่ใจออกไป ด้วยเมตตากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่มีประมาณทุกถ้วนหน้า

เมื่อหัดคิดตั้งใจดังกล่าวบ่อยๆ เมตตากรุณาจะเกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนอย่างหว่านพืชลงไปแล้ว หมั่นปฏิบัติตามวิธีเพราะปลูก เช่นรดน้ำเป็นต้นเนืองๆ พืชก็งอกขึ้นฉะนั้น

ฉะนั้น ควรเริ่มเพาะปลูกเมตตากรุณาในพี่ในน้อง ในมารดาบิดา ตลอดถึงในเพื่อนที่ไม่ค่อยชอบเป็นต้น เมื่อพืชคือเมตตากรุณางอกขึ้นแล้ว ตัวเรานี้แหละ จะเป็นสุขก่อนใครหมด
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษยธรรมที่ ๒

ในสมัยหนึ่งในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี โกศลรัฐ มีพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง เป็นผู้ที่พระราชแห่งรัฐนั้นทรงยกย่องนับถือ ยิ่งกว่าพราหมณ์คนอื่นๆ

จึงคิดว่า ในหลวงทรงเห็นเราว่าเป็นผู้มีศีลหรือมีสุตะ (คือมีวิชาความรู้เพราะได้เรียนมาแล้ว) จึงทรงนับถือเป็นราชครู เราจะทดลองดูให้รู้แน่ว่า ศีล หรือวิชาความรู้จักสำคัญกว่ากัน วันหนึ่ง เมื่อเข้าไปเฝ้าพระราชาในพระราชวัง

จึงลองหยิบเอาเงิน ๑ กหาปณะ จากที่เก็บของราชเหรัญญิก (ผู้รักษาเงินหลวง) ราชเหรัญญิก ก็นิ่งไม่พูดว่ากระไรเพราะเคารพในครั้งที่ ๒ พราหมณ์ก็ลองทำอย่างนั้นอีก ราชเหรัญญิกก็ยังนิ่ง

ครั้นพราหมณ์นักทดลองนั้น ลองหยิบเอาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ราชเหรัญญิก จึงร้องขึ้นว่าโจรลักพระราชทรัพย์ จับตัวพราหมณ์ผูกพันธนาการไปแสดงต่อพระราชา กราบทูลให้ทรงทราบ

พระราชาได้ทรงสดับแล้ว ไม่สบายพระราชหฤทัย ได้ตรัสสอบถามความจริงแก่พราหมณ์ พราหมณ์ได้กราบทูลว่าข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ มิได้มีเจตนาลักพระราชทรัพย์ มีเจตนาเพียงเพื่อจะทดลองดูให้หายสงสัยเท่านั้น

เพราะข้าพระองค์สงสัยอยู่ว่า ศีล กับวิชาความรู้ ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน จึงลองทำเหมือนผิดศีล คือทำแกล้งหยิบฉวยทรัพย์หลวง ดังที่ราชเหรัญญิกยิกได้กราบทูลนั้น

บัดนี้ ข้าพระองค์สิ้นสงสัยแล้ว เห็นชัดแล้วว่าศีลสำคัญ เมื่อพระราชาได้ทรงทราบเรื่องการทดลองศีล ของพราหมณ์แล้ว ก็ไม่ทรงถือว่าเป็นความผิด พราหมณ์ได้กราบทูลขอพระราชานุญาตบวชในสำนักพระพุทธเจ้า พระราชาได้พระราชทานอนุญาต พราหมณ์นั้น จึงได้เข้าบรรพชาอุปสมบทอยู่ในพระพุทธศาสนาสืบมา

เรื่องนี้ พระอาจารย์ได้เขียนเล่าไว้ ตั้งชื่อว่า เรื่องทดลองศีล เพื่อเป็นตัวอย่างว่าศีลนั้น เป็นข้อสำคัญในทางความประพฤติตัว คู่กับวิชาความรู้ ที่เป็นข้อสำคัญในการเลี้ยงชีวิตเป็นต้น

จะหมิ่นศีลเสียว่ามีวิชาความรู้อย่างเดียวก็พอ ดังนี้หาชอบไม่ จำต้องมีศีลด้วยจึงจะได้รับความยกย่องนับถือ ให้ดำรงฐานะตำแหน่งต่างๆ แม้จะดำรงฐานะตำแหน่งสูง มีวิชาสามารถ ถ้าประพฤติเป็นการผิดศีลเป็นที่ปรากฏ

ดังพราหมณ์ราชครูหยิบทรัพย์หลวง ก็จะต้องเสื่อมเสีย และต้องได้รับโทษตามความผิด และตามกฎหมายในเวลานั้น ลักทรัพย์เพียง ๑ บาท ก็มีโทษถึงประหารชีวิต

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ได้ปรับโทษการลักทรัพย์ตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป เป็นปาราชิก คือขาดจากเป็นภิกษุ จะอุปสมบทอีกไม่ได้ เท่ากับเป็นโทษประหารในทางศาสนา อนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง และตามตราเงินในเวลานั้น ๕ มาสก เป็น ๑ บาท ๕ บาท เป็น ๑ กหาปณะ

พราหมณ์นักทดลองศีลได้หยิบทรัพย์หลวงเกิน ๑ บาทมากมาย ฉะนั้น แม้จะเป็นการทำเพื่อทดลองดู แต่ถ้าพระราชาไม่ทรงเชื่ออย่างนั้น ก็มีหวังว่าจะได้รับมหันตโทษ

ใครๆ จึงไม่ควรทดลองศีลอย่างพราหมณ์ตามที่เล่า และใครจะเชื่อเมื่อไปหยิบของอะไรของใคร เจ้าของเอะอะขึ้น จึงพูดแก้ว่าลองหยิงดูเล่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่หยิบเอาจริงๆ เพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์ของศีลข้อที่กล่าวนี้ จะได้แสดงเรื่องศีลข้อนี้ โดยเฉพาะต่อไป

อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดลัก คำว่าสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ หมายถึงของทุกๆ อย่าง ที่มีเจ้าของยังหวงแหนยึดถือกรรมสิทธิ์อยู่สิ่งของหรือวัตถุทุกอย่าง ที่บุคคลสามารถเข้ายึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ได้ เรียกรวมว่าทรัพย์ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ คือ

สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าตัวทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ได้เองเพราะเป็นสิ่งมีวิญญาณ (สวิญญาณกทรัพย์) เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเป็นสิ่งที่คนทำให้เคลื่อนเพราะเป็นสิ่งไม่มีวิญญาณ (อวิญญาณกทรัพย์ เช่น สมุด ดินสอ ปากกา เงิน ทอง เป็นต้น)

อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ที่ดินและบ้านเรือน ที่ปลูกอย่างถาวรบนที่ดิน ถ้าแบ่งทรัพย์ออกเป็นสวิญญาณกทรัพย์ (ทรัพย์ที่มีวิญญาณ) และอวิญญาณกทรัพย์ (ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ) อสังหาริมทรัพย์ก็จัดเข้าในอวิญญาณกทรัพย์ (สัตว์บางชนิดได้ยินว่าเกิดติดที่ เช่น หอยนางรม ถ้าเป็นสวิญญาณกะที่เป็นอสังหาริมะ)

ทรัพย์เหล่านี้ ที่มีเจ้าของถือกรรมสิทธิ์อยู่ เรียกว่า อทินนะ สิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ คำว่า ไม่ได้ให้ ก็หมายความว่ายังถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอยู่ ยังไม่สละกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ และคำว่า เจ้าของ หมายถึงคนใดคนหนึ่งก็ได้ หมายถึงส่วนกลางก็ได้

เช่น ถ้าเป็นของของใครคนไหน คนนั้นก็เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นของสมาคมไหนองค์การไหน สมาคมนั้นองค์การนั้นก็เป็นเจ้าของ ถ้าเป็นของหลวง หลวงก็เป็นเจ้าของถ้าเป็นของสงฆ์ของศาสนา สงฆ์และศาสนาก็เป็นเจ้าของ เป็นต้น

การถือเอา (สิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ด้วยจิตคิดลัก มาจากศัพท์ว่า อาทานะ ในคำว่า อทินฺนาทานา (อทินฺน+อาทาน) หมายความว่า ถือเอาทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นไป จากความครอบครองของเขา ด้วยเจตนาทุจริตคือด้วย เถยเจตนา เจตนาลักขโมย เรียกสั้นๆ ว่า ลัก

การลักทุกอย่างที่ผิดศีลข้อที่ ๒ นี้
มีโทษน้อยและมากตามวัตถุที่ลัก
เจตนาที่ลักและกิริยาที่ประกอบโจรกรรม
ถ้าวัตถุที่ลักเล็กน้อย เจตนาอ่อน
กิริยาที่ทำการลักไม่ร้ายแรงก็มีโทษน้อย

ถ้าวัตถุที่ลักมาก เจตนาแรง
กิริยาที่ทำร้ายการลักร้ายแรงก็มีโทษมากขึ้น
คือเป็นบาปมากขึ้นตามส่วนกันและจะลักเอง

หรือสั่งใช้ให้ผู้อื่นลัก
ก็เป็นการลักอันผิดศีลข้อนี้เหมือนกัน


ถ้าจะถามว่า อทินนาทาน เป็นศีลข้อที่ ๒ ใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ เพราะอทินนาทานแปลว่า การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตคิดลัก อทินนาทานจึงไม่ใช่ศีล แต่เป็นการทำที่ผิดศีล

ถ้าถามว่าอะไรเป็นศีลข้อที่ ๒ ตอบว่า

เวรมณี คือความเว้นจากอทินนาทาน
หรือวิรัติเจตนางดเว้นนี้แหละเป็นศีล
ถ้าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ลักของของใคร
ด้วยรับศีลไว้หรือด้วยตั้งใจเอาเอง
ก็เป็นสมาทานวิรัติ

ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน
ไปพบของใครวางเผลอไว้
จะลักก็ได้ แต่ก็เกิดตั้งใจขึ้นเดี๋ยวนั้นว่า
ไม่ลักเป็น สัมปัตตวิรัติ

ถ้าเว้นได้เป็นปกตินิสัย
ไม่มีเกิดความคิดจะลักขึ้นเลย
ทุกสิ่งทุกโอกาส
ก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ
เช่นเดียวกับที่ได้แสดงแล้วในศีลข้อที่ ๑

การล่วงศีลข้อนี้ มีขึ้น ในเมื่อของที่จะลัก เป็นของที่มีเจ้าของหวงแหน ตนก็รู้อยู่ว่าเป็นของที่มีข้าวของหวงแหน มีเจตนาลัก ทำการลักเองหรือสั่งใช้ให้คนอื่นลัก และได้ของนั้นมาใครมือไวใจเร็วประพฤติผิดศีลข้อนี้

เมื่อตั้งใจงดเว้นขึ้นใหม่เมื่อใด ก็เกิดเป็นศีลขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะคือมีขึ้นด้วยวิรัติเจตนาดังแสดงแล้ว

อนึ่ง ควรเว้นจากลักทรัพย์โดยอ้อม คือไม่ใช่โจรกรรมหรืออทินนาทานโดยตรง แต่ว่าอนุโลมโจรกรรม เช่น

สมโจร คือ เป็นใจรับซื้อของโจรของขโมย

ปอกลอก คือ คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ มุ่งหมายจะเอาทรัพย์ถ่ายเดียว หาวิธีให้เขาจ่ายทรัพย์ให้ บางทีจนถึงเขาต้องสิ้นตัว ต้องตกยาก

รับสินบน คือ ถือเอาทรัพย์ที่เขาให้ เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด

อีกอย่างหนึ่ง ควรเว้นจากการทำทรัพย์ของผู้อื่นให้สูญเสียที่ตนจะต้องรับใช้ อันนับว่าเป็น ฉายาโจรกรรม ฉายาแปลว่าเงาฉายาโจรกรรมก็ได้แก่เงาของโจรกรรม คือใกล้จะเป็นโจรกรรมทีเดียว เช่น

ผลาญ คือ ทำอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยโทสะพยาบาท เช่น ผูกโกรธเขาจึงลอบฟันต้นผลไม้ของเขา ลอบทำของอะไรของเขาให้เสีย

หยิบฉวย คือ ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นด้วยความมักง่าย เช่น บุตรหลานผู้ประพฤติมักง่าย ไม่บอกขออนุญาตก่อนหยิบฉวยสิ่งของของมารดาบิดาปู่ย่าตายายไปใช้ ด้วยถือว่าเป็นของมารดาบิดาและญาติ มิตรสหายหยิบฉวยสิ่งของของมิตรไปใช้ไม่ได้บอกให้เจ้าของรู้

อันคนที่คุ้นเคยไว้วางใจกัน เช่น เป็นญาติกัน เป็นมิตรสหายกัน เรียกว่าคนวิสาสะกัน คำว่าวิสาสะแปลว่า คุ้นเคยกันไว้วางใจกัน คนที่มีวิสาสะกันนี้ อาจถือวิสาสะคือถือเอาสิ่งของของกันไปใช้ มิได้บอกให้เจ้าของรู้ก่อน

แต่การถือวิสาสะนี้ มีโทษถ้าถือไม่ถูกลักษณะ เมื่อถือให้ถูกต้องตามลักษณะของการถือวิสาสะ จึงจะไม่มีโทษ ลักษณะของการถือวิสาสะที่ถูกต้อง คือ

เจ้าของเป็นผู้สนิทกับตน เมื่อถือวิสาสะแล้วจะไม่มีใครสนเท่ห์
เจ้าของได้สั่งอนุญาตไว้ หรือเป็นสิ่งที่เขาไม่หวงหรือพอให้แก่ตนได้
เมื่อถือเอาแล้วเขารู้เข้า เขาจะพอใจหรือไม่ว่าอะไร


การถือวิสาสะไม่ถูกลักษณะ มีโทษ ทำความไม่พอใจแก่เจ้าของ ทำให้เขาสิ้นรักสิ้นไว้วางใจใจตน และทำให้เป็นที่สงสัยของคนอื่นว่าตนเป็นโจรเป็นขโมย

ฉะนั้น ยิ่งคุ้นเคยกันมากก็ควรจะยิ่งระวัง เพื่อมิให้เกิดความประมาทถือเสียว่าคุ้นเคยกันพาให้ประพฤติผิดต่อกัน เช่น ถือวิสาสะกันอย่างมักง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ความคุ้นเคย ก็จะกลายเป็นเหตุก่อความกินแหนงแตกร้าว ถ้าไม่คุ้นเคยกันยังดีกว่า

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ ต่อจากข้อที่ ๑ พิจารณาดูเห็นว่า
ทรงบัญญัติขึ้นด้วยอาศัยหลักยุติธรรมและเมตตากรุณาเช่นเดียวกัน
เพราะทุกๆ คน ต่างต้องมีทรัพย์ไว้สำหรับบริโภคใช้สอย
และไม่ปรารถนาให้ใครลักขโมยช่วงชิง


บางคนต่อสู้เพื่อป้องกันทรัพย์ จนถึงต้องบาดเจ็บล้มตาย เมื่อตนไม่ชอบให้ใครมาลักทรัพย์ของตน ก็ไม่ควรลักทรัพย์ของคนอื่น ฉะนั้น การไม่ลักทรัพย์ของกัน จึงเป็นการละเว้นที่ยุติธรรมในทรัพย์ เพราะเป็นการละเว้น ความลำเอียง เห็นแก่ตัวเสียได้ด้วยนึกเห็นใจคนอื่น ที่มีความหวงแหนรักษาทรัพย์เหมือนกับตน

และคนเราจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ก็เพราะไม่เบียดเบียนในทางต่างๆ ในทางหนึ่ง คือไม่เบียดเบียนทรัพย์ของกัน ละเว้นจากการเบียดเบียนกันได้ ก็ด้วยปลูกเมตตากรุณาในกันคอยยับยั้งหักห้ามใจ

ที่อยากได้ หรือโกรธเกลียด เมื่อมีเมตตาหวังดี มีกรุณาหวังช่วยกันอย่างจริงใจแล้ว ก็จะไม่คิดขโมยของกัน ฉะนั้น ศีลข้อนี้ จึงเป็นศีลโดยปกติของคนที่มีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ต้องไปรับมาจากที่ไหนเลย แต่เกิดจากใจเมตตากรุณาเอง

ดังเช่น มารดาบิดาและผู้ที่มีเมตตาทั้งหลายไม่ได้ไปรับศีลจากที่ไหน แต่ก็มีศีลในบุตรธิดาและในผู้ที่ตนเมตตา ไม่มีคิดเลยที่จะเบียดเบียนทรัพย์ของบุตรธิดาและในผู้ที่ตนเมตตา มีแต่คิดให้

อาศัยหลักเมตตากรุณาดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลข้อนี้ และด้วยศีลข้อเป็นอันรับรองความมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของเจ้าของทรัพย์ทุกคน

มีบางคนกล่าวอ้างว่า พระพุทธศาสนาไม่ให้ยึดถือทรัพย์ ถ้ามีก็ให้รวมเป็นกองกลางคือเป็นของสงฆ์ คำอ้างนี้ผิดหลักศีลข้อนี้และผิดหลักสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ)

ในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อนี้ เป็นอันทรงรับรองความมีทรัพย์ยึดครองอยู่ จึงห้ามมิให้ลักทรัพย์ของกัน และทรงสอนให้ประกอบอาชีพแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบ เมื่อได้มาก็ให้รักษาไว้ให้ดี และใช้จ่ายให้พอสมควรแก่กำลัง

ส่วนของสงฆ์นั้น เกี่ยวแก่พระภิกษุสงฆ์เมื่อมีวัดขึ้น ก็ต้องมีของกลางสำหรับวัด เรียกว่าเป็นของสงฆ์ สำหรับวัดเป็นวัดๆ ไป เช่นเดียวกับในฝ่ายอาณาจักรก็มีของหลวง ขององค์การของสมาคมนั้นๆ

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติให้ต้องรวมของบุคคลเข้าเป็นของสงฆ์ และในคำสอนที่ให้สละบริจาค ก็สอนให้รู้จักเลือกให้ มิได้สอนให้สละเรื่อยไป แต่เมื่อจะออกบวชต้องสละสมบัติฆราวาสอยู่เองและต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของผู้บวช เป็นคฤหัสถ์ก็ควรปฏิบัติตามฆราวาสธรรม (ธรรมของคฤหัสถ์)

เป็นพระจะปฏิบัติอย่างชาวบ้าน หรือชาวบ้านจะปฏิบัติอย่างพระหาได้ไม่ ในธรรมข้อเดียวกัน บางข้อก็มีวิธีปฏิบัติต่างกัน เช่น สัมมาอาชีวะ เป็นพระเที่ยวบิณฑบาต เป็นสัมมาอาชีวะ ไปประกอบการค้าไม่เป็นสัมมาอาชีวะ

เป็นคฤหัสถ์ประกอบการค้าในทางชอบเป็นสัมมาอาชีวะ แต่จะเที่ยวบิณฑบาตไม่ได้ ฉะนั้น การอ้างเอาพระพุทธศาสนาต่างๆ นั้น บางทีเป็นการอ้างเอาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งนอกพระพุทธศาสนา

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๒ คือ สัมมาอาชีวะ ความเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ

เป็นข้อที่ควรมีให้คู่ไปกับศีลข้อนี้ คนมีศีลที่ยากจนขัดสนและคนที่เป็นโจรเป็นขโมย ก็เพราะขาดสัมมาอาชีวะถ้ามีสัมมาอาชีวะ ก็จะไม่ยากจน จะไม่เป็นขโมย

การอาชีพเป็นกิจจำเป็นของทุกๆ คน เพราะทุกๆ คนต้องบริโภคที่แปลว่ากินเครื่องบริโภคที่จำเป็นก็ได้แก่ปัจจัย (เครื่องอาศัย) ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และบางทีแยกเรียงของกินคืออาหารว่า เครื่องบริโภค ของใช้

นอกจากนี้ว่า เครื่องอุปโภคกิจการเพื่อให้มีของกินของใช้มา เคยเรียกว่าโภคกิจ แล้วเปลี่ยนเรียกว่าเศรษฐกิจ เป็นเรื่องปากท้อง หรือเป็นเรื่องยังชีวิต เลี้ยงชีวิต คือการอาชีพ

ทุกคน ต้องหาปัจจัยมาบริโภคเลี้ยงตน และผู้อื่นที่จะต้องเลี้ยง พระพุทธเจ้า จึงตรัสสอนให้ทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ เพื่อให้ได้ทรัพย์มาในทางที่ชอบให้พอเพียง

เมื่อหาเลี้ยงชีพเองยังไม่ได้ เช่น ยังเป็นเด็กกำลังเล่าเรียนศึกษา ต้องอาศัยมารดาบิดาหรือผู้อื่นที่มีเมตตากรุณาเลี้ยงดู ก็ควรประพฤติอนุโลมสัมมาอาชีวะ เช่น ช่วยมารดาบิดาหรือผู้ที่ตนอาศัยอยู่ ทำการงานที่พอควรแก่กำลังและเวลาของตน

ไม่ใช้ทรัพย์ที่ท่านให้ในทางที่ผิด เช่น ไปเล่นการพนัน ใช้แต่ในทางที่เป็นประโยชน์ ให้รู้จักค่าของทรัพย์ ให้รู้ว่าท่านได้ทรัพย์มาด้วยความเหนื่อยยาก รู้จักประหยัด ออมทรัพย์ ไม่หลอกลวงขอทรัพย์ท่าน เช่น ขอด้วยอ้างว่าจะไปชำระค่าเล่าเรียน แต่ไปใช้ดูภาพยนตร์เสีย และเมื่อท่านอุปการะเพื่อให้เรียน ก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ให้สมกับความเมตตากรุณาของท่านแล
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษยธรรมที่ ๓

ในอดีตล่วงมาแล้ว ได้มีมานพชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา สำเร็จวิชาธนู ได้มีชื่อปรากฏว่า จุลลธนุคคหบัณฑิต คือเป็นบัณฑิตเรียนสำเร็จวิชาธนู แต่ยังเป็นหนุ่มน้อย (อย่างได้ปริญญาเป็นบัณฑิตในบัดนี้) อาจารย์ของ ธนุคคหะนั้น พอใจ ธนุคคหะเรียนศิลปะได้เหมือนตน จึงยกธิดาของตนให้เป็นภริยา

ธนุคคหะ พาภริยาเดินทางกลับเมืองพาราณสี เมื่อเดินทางไปถึงบ้านทางป่าชัฏตำบลหนึ่ง ที่ไม่มีใครกล้าจะเดินผ่านไป เพราะมีช้างดุร้ายคอยทำร้ายคนเดินทาง ธนุคคหะผู้แม่นธนูไม่กลัวจึงพาภริยาเดินทางผ่านเข้าไป

ก็พบช้างดุวิ่งเข้ามาจึงยิงลูกศรไปดอกหนึ่ง ต้องตระพองช้างดุร้ายทะลุหลัง ช้างร้ายก็ล้มลงในที่นั้น ตำบลนั้น จึงเป็นที่ปลอดภัยของคนเดินทางทั้งปวง

ธนุคคหะ พาภริยาเดินทางต่อไป ถึงทางป่าชัฏอีกตำบลหนึ่ง อันเป็นแหล่งโจร ๕๐ คนซ่องสุมอยู่ คอยฆ่าปล้นคนเดินทาง ธนุคคหะผู้แม่นธนูไม่กลัวได้เดินทางเข้าไป พบพวกโจรกำลังนั่งปิ้งเนื้อเสียบไม่บริโภคกันอยู่

พวกโจรเห็นธนุคคหะเดินมากับภริยาผู้ประดับตกแต่งกาย จึงจะพากันลุกขึ้นจับตัว แต่นายโจรเป็นผู้ฉลาดดูลักษณะคน สังเกตรู้ว่าชายนี้เป็นคนเอกอุ (ดม) จึงห้ามโจรบริวารทั้งปวงมิให้ลุกขึ้นสักคนหนึ่ง

ธนุคคหะส่งภริยาเข้าไปหาพวกโจร ให้ขอเนื้อมาบริโภคสักเสียบไม้หนึ่ง นายโจรจึงสั่งให้บริวารให้ พวกโจรได้เสียบไม้เนื้อดิบที่ยังมิได้ปิ้ง เพราะคิดว่าพวกเราก็ต้องปิ้งกินกันเองฝ่ายธนุคคหะเป็นผู้ยกตน จึงโกรธพวกโจรว่าให้เนื้อดิบ

พวกโจรก็โกรธว่าบุรุษนี้คนเดียวเท่านั้น มาแสดงหมิ่นเหมือนพวกเราเป็นสตรี จึงลุกฮือขึ้นพากันวิ่งเข้าไป ธนุคคหะจึงยิงพวกโจรล้มลง ๔๙ คน ด้วยเกาทัณฑ์ ๔๙ ดอก ก็หมดเกาทัณฑ์เพราะรางเกาทัณฑ์บรรจุเกาทัณฑ์หรือลูกศรทั้งหมด ๕๐ ดอก

ธนุคคหะได้ยิงช้างเสียดอกหนึ่งจึงเหลือ ๔๙ ดอก เมื่อยิงโจรอีก ๔๙ ดอก ฆ่าโจร ๔๙ คนก็หมดลูก ยังเหลือนายโจรอีก ๑ คน ธนุคคหะจึงผลักนายโจรให้ล้มลงแล้วทับอยู่บนอกของนายโจร ร้องบอกภริยาให้ส่งดาบให้เพื่อตัดศีรษะของนายโจร

ฝ่ายภริยาของธนุคคหะ ซึ่งถือดาบอยู่ในขณะนั้น ได้เกิดสิเนหานายโจรโดยฉับพลัน จึงยื่นด้ามดาบให้ในมือของนายโจร นายโจรก็จับด้ามดาบกระชากออก ตัดศีรษะของธนุคคหะ ครั้นฆ่าธนุคคหะแล้วก็พาหญิงนั้นไป พลางถามถึงชาติตระกูลเรื่องราว นางก็บอกเล่าโดยตลอด จนถึงว่านางได้เกิดสิเนหานายโจรจึงให้ฆ่าสามีของตนเสีย

นายโจรเมื่อได้เรื่องตลอดแล้วคิดรังเกียจ ว่าหญิงนี้ให้ฆ่าสามีของตนเสียได้เห็นชายอื่นเข้าก็จักทำเราอย่างนั้นอีก เราควรทิ้งเสียเถิด ครั้นพานางไปจนถึงแม่น้ำสายหนึ่งขวางทางอยู่ จึงหลอกว่าน้ำนี้มีจระเข้ดุจะทำอย่างไร

นางกล่าวขอให้โจร ห่อเครื่องประดับของนาง นำข้ามฟากไปไว้ที่ฝั่งโน้นก่อน แล้วกลับมารับนางข้ามฟากไป นายโจรรับคำฉวยห่อเครื่องประดับทั้งหมด ข้ามฟากไปถึงฝั่งแล้วเดินไป นางเห็นอาการดังนั้น จึงร้องคร่ำครวญขอให้นายโจรกลับมารับ

ฝ่ายนายโจรก็ร้องตอบมาว่า หญิงเช่นนี้จะไปให้ไกลสุดไกล แล้วถือห่อเครื่องประดับไปหนีไป นางจึงถูกทอดทิ้งอยู่เดียวดายในกลางป่า ลงนั่งร้องไห้อยู่ใกล้กอตะไคร้น้ำกอหนึ่ง ณ ที่นั้น

ในขณะนั้น นางได้เห็นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อวิ่งมาในเบื้องหน้า ทันใดนั้น ก็ได้มีปลาตัวหนึ่งกระโดดขึ้นจากน้ำตกอยู่ข้างหน้าสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกทิ้งก้อนเนื้อที่คาบไว้แล้ววิ่งไปเพื่อจะได้ปลา ฝ่ายปลาก็ดิ้นตกลงไปในน้ำ

ในขณะนั้นมีนกตัวหนึ่งโฉบลงมาจิกคาบก้อนเนื้อนั้นบินไป สุนัขจิ้งจอกจึงไม่ได้ทั้งเนื้อทั้งปลาลงนั่งหน้าเศร้า ฝ่ายนางเห็นเหตุการณ์ที่ท่านว่าเทพดาอาเทพโดยตลอด จึงหัวเราะเยาะขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า ปรารถนาเกินส่วน จึงพลาดหมดทั้งเนื้อทั้งปลา ต้องจับเจ่าซบเซา

ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกซึ่งเทพดาอาเทพ ได้กล่าวเย้ยหยันว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย ส่วนโทษของตนนั้นเห็นยาก นางเองก็เสื่อมสิ้นทั้งสามีทั้งชายชู้ ซบเซามากกว่า

นางได้ยินดังนั้นกลับย้อนคิดได้ถึงกรรมของตนก็ยิ่งเสียใจ กล่าวว่า ถ้าเรารอดพ้นไปได้จากที่นี้แล้ว และถ้าได้สามีอีก ก็จะซื่อตรงต่อสามีแน่นอน

สุนัขจิ้งจอกเทพดาอาเทพ ได้กล่าวสำทับในที่สุดว่า คนทำบาปครั้งหนึ่งแล้วก็จักทำบาปอีกได้ แล้วก็หายไป ทิ้งนางนั้นซัดเซไปตามยถากรรม

เรื่องที่เล่ามานี้ เก็บความมาจากนิทานชาดกชื่อว่า จุลลธนุคคหชาดก เป็นเค้าของบทละครไทยเรื่อง จันทโครพ แสดงให้เห็นโทษของหญิงผู้ประพฤติผิดทางกาม

ส่วนเรื่องแสดงโทษของผู้ชายประพฤติผิดก็มีอีกมากดังเรื่อง รามเกียรติ์
ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกาได้ไปลักพานางสีดา พระชายาของพระรามไปไว้ยังกรุงลงกา
เป็นเหตุให้พระรามยกทัพวานรไปติดพันกรุงลงกา
ฆ่าญาติวงษ์ยักษ์ของทศกัณฐ์ตายไปโดยลำดับ
จนถึงองค์ทศกัณฐ์เอง
ตลอดถึงพลยักษ์และชาวเมือง
ก็ต้องพลอยพินาศไปทั้งสิ้น
เพราะความประพฤติผิดในกาม
ของทศกัณฐ์ผู้เดียวเป็นเหตุ

ความประพฤติผิดในกาม เป็นเหตุให้เกิดโทษ มีตัวอย่างให้เห็นได้อยู่ทุกกาลสมัย ในปัจจุบันนี้ ก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ไม่น้อย สามีภรรยาแตกร้าวกันเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤตินอกใจกัน

บ้างก็เพียงแตกแยกกัน บ้างก็ทำลายกันฝ่ายหญิงทำลายฝ่ายชายก็มี ฝ่ายชายทำลายฝ่ายหญิงก็มี เป็นอันว่า เมื่อความประพฤติเช่นนี้เกิดขึ้นในที่ใด ก็เป็นเหตุเปลี่ยนรักให้เป็นความชิงชัง เปลี่ยนมิตรสหายให้เป็นศัตรู

เปลี่ยนความไว้วางใจให้เป็นความกินแหนงแคลงใจ ให้ร้าวฉานแตกแยกให้ทำลายล้าง ทำสุขให้เป็นทุกข์ โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างยิ่งแก่ผู้ที่เป็นฝ่ายเสีย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลข้อ ๓ คือ

กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

ศีลข้อนี้บัญญัติห้ามมิให้ประพฤติผิดในกาม แต่ไม่ห้ามความประพฤติชอบในกาม คำว่าในกามนั้น หมายถึงในเรื่องเกี่ยวกับความใคร่ระหว่างชายกับหญิง ที่เรียกในบัดนี้ว่าความรักเกี่ยวกับเพศ

ทุกๆ คนเมื่อเป็นเด็กย่อมพอใจในการเล่นต่างๆ อย่างเด็ก แต่เมื่อร่างกายเติบโตขึ้น ก็เกิดมีความรู้สึกเป็นอย่างชายหญิงแรกรุ่นหนุ่มสาว และโดยปกติก็มีการครองคู่เป็นสามีภริยาเกิดบุตรหลานสืบตระกูลกันต่อๆ มา และจักสืบกันต่อๆ ไป เชื้อสายของมนุษย์และสัตว์โลกทุกชนิด จึงไม่สิ้นสูญ

แต่ในการครองคู่ของคนนั้น ยังต้องการเหตุอุปถัมภ์ต่างๆ ทั้งภายในทั้งภายนอก เพื่อให้อยู่ด้วยกันยั่งยืนตลอดและมีความสุข ความเจริญ จะเกิดผลเป็นไปดังกล่าวได้ ก็ต้องมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ในทางชอบ ในเมื่อถึงวัยถึงเวลาอันสมควร

เมื่อไปประพฤติยุ่งเกี่ยวก่อนถึงวัยเวลาอันสมควรก็ดี ประพฤติในทางที่ผิดก็ดีหรือเมื่อมีคู่ครองแต่งงานแต่งการแล้วยังประพฤตินอกใจกันอยู่ก็ดี รวมเรียกว่าประพฤติผิดในกามอย่างกว้างๆ

ประพฤติยุ่งเกี่ยวก่อนถึงวัยถึงเวลาอันสมควรนั้น เช่น ในเวลาเล่าเรียนศึกษา ซึ่งเป็นเวลาหาวิชาความรู้ใส่ตน ไม่ใช่เป็นเวลาหาคู่ครอง ถ้าจะต้องการมีความรัก ก็ต้องทุ่มเทความรักไปในการศึกษาเล่าเรียน คือให้รักเรียน แต่ถ้าปล่อยใจ ปล่อยกายเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปในเรื่องเพศ ก็เรียกว่าประพฤติผิดจะประพฤติผิดน้อยหรือมากเพียงไร ก็สุดแต่จะปล่อยใจปล่อยกายให้ผิดไปเท่าไร

ความประพฤติยุ่งเกี่ยวก่อนถึงวัยเวลาอันสมควรเช่นนี้ โดยปกติเกี่ยวแก่เยาวชน มีโทษทำให้เรียนไม่สำเร็จหรือเสียหายไปมิใช่น้อย และเป็นจารึกเศร้าหมองติดอยู่กับตนเอง เยาวชนทั่วไปจึงสมควรงดเว้นและป้องกันตนมิให้ทำผิดไปในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น

อนึ่ง ประพฤติในทางที่ผิดนั้น คือเมื่อไม่ถึงเวลาอันสมควรแต่ประพฤติในทางลักลอบ หรือละเมิดล่วงล้ำในเขตที่ไม่ควรละเมิด คือถ้าเป็นฝ่ายชายละเมิดในภรรยาท่าน (เขา) หรือหญิงผู้อยู่ในพิทักษ์รักษาของท่าน หรือในหญิงที่จารีตห้าม เช่น หญิงที่เป็นเทือกเถาของตนดังที่ระบุไว้ในกฎหมาย

ซึ่งรวมเรียกว่าหญิงซึ่งอยู่ในพิทักษ์รักษาของตระกูล หรือในหญิงผู้อยู่ใต้บัญญัติในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมเรียกว่าหญิงผู้อยู่ในพิทักษ์รักษาของธรรมเนียม หรือในหญิงที่กฎหมายบ้านเมืองห้าม ถ้าเป็นหญิงประพฤติละเมิดล่วงล้ำ ในเขตที่ไม่ควรละเมิดล่วงล้ำดังกล่าว เรียกว่าประพฤติผิดในกาม

เขตที่ไม่ควรละเมิดอันเป็นเหตุให้บังเกิดความประพฤติเช่นนี้ ถึงไม่จำแนกไว้ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ เพราะรวมลงว่าเป็นเขตที่ห้วงห้าม หรือเจ้าตัวนั่นเองอยู่ใต้ธรรมเนียมหรือบัญญัติที่ห้ามไว้

ฉะนั้น ต้องมีการลักลอบ เหมือนอย่างทรัพย์ที่มีเจ้าของหวง ต้องลักขโมยจึงจะได้ แม้แมวเมื่อเข้าไปลักปลาย่างในครัว ก็แสดงว่ารู้ตัวว่าเป็นแมวขโมย จึงลอบเข้าไปและลอบวิ่งออก หรือเมื่อมีคนเห็นก็รีบวิ่งหนีออกไปโดยเร็ว และถ้าการประพฤติผิดนั้นเป็นการใช้กำลังบังคับ ก็ยิ่งเป็นการประพฤติผิดโดยแท้

อนึ่ง แม้ผู้มีคู่ครองแต่งงานแต่งการแล้ว ยังประพฤตินอกจิตนอกใจกันอยู่ ก็เป็นประพฤติผิดในกาม เพราะเป็นความประพฤติผิดในกันและกัน และยังเป็นการประพฤติผิดในเมื่อไปละเมิดในภรรยาท่านดังกล่าวแล้ว

ลักษณะสำหรับกำหนดว่า เป็นการประพฤติผิดในกามซึ่งเป็นการผิดศีลนั้น คือเป็นวัตถุหรือเป็นเขตที่ไม่ควรละเมิดล่วงล้ำกล้ำกลาย ไม่ควรได้ไม่ควรถึง มีจิตประสงค์จำนงจะได้วัตถุหรือเขตนั้น ปฏิบัติสำเร็จได้ดังประสงค์ ความประพฤติผิดดังกล่าวนี้มีโทษเบา ปานกลาง และหนัก ตามระดับแห่งเขตที่ละเมิด กับทั้งเจตนาและการกกระทำ ดังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทุกกาลสมัย

ความงดเว้น จากประพฤติผิดในกามดังกล่าวได้ เป็นศีลงดเว้นได้ด้วยตั้งใจถือศีล เป็น สมาทานวิรัติ ไม่ได้ตั้งใจงดเว้นก่อน พบโอกาสที่จะประพฤติผิดได้ แต่งดเว้นได้ เป็นสัมปัตตวิรัติ งดเว้นได้เป็นปกตินิสัยทีเดียว จัดเป็น สมุจเฉทวิรัติ เทียบอย่างวิรัติระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดาทั่วไป

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ เพื่อป้องกันชีวิต
ข้อที่ ๒ ป้องกันทรัพย์สมบัติที่จะต้องใช้ดำรงชีวิต
และข้อที่ ๓ ป้องกันนี้เพื่อความสงบสุขในครอบครัว
ด้วยอาศัยหลัก ยุติธรรมและเมตตา กรุณาเช่นเดียวกัน


อาศัยหลักยุติธรรมนั้น คือ เมื่อตนเองมีความรัก และหวงแหนในสิ่งซึ่งเป็นที่รักของตนฉันใด คนอื่นก็มีความรู้สึกฉันนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อไม่ปรารถนาให้ใครมาละเมิดล่วงล้ำในสิ่งที่รักที่หวงแหนของตน ก็ไม่ควรละเมิดล่วงล้ำในของคนอื่น

เหมือนอย่างทุกคน ก็ย่อมมีญาติพี่น้องต่างเพศของตน และไม่ปรารถนาให้ใครมาประพฤติละเมิดล่วงล้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนจึงจักไปประพฤติอย่างที่ตนไม่ชอบ ในญาติพี่น้องของคนอื่น ฉะนั้น เมื่อพิจารณาโดยยุตธรรมแล้ว จึงไม่ควรประพฤติผิดในเรื่องนี้ในทางใดทางหนึ่งเลยทีเดียว

อาศัยหลักเมตตากรุณานั้น คือ เมื่อมีเมตตากรุณาต่อกัน โดยจริงใจแล้ว ก็ไม่ประพฤติผิดต่อกันเลย เพราะการประพฤติผิดเช่นนั้น เป็นการทำลายด้วยอำนาจความใคร่ ความปรารถนา มิใช่วิสัยของคนที่มีเมตตากรุณากันจะได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติศีลข้อนี้ การปฏิบัติตามศีลข้อนี้ จะสำเร็จได้ดีก็ต้องมีธรรมที่คู่กัน คือความสำรวมในกาม

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๓ คือ กามสังวร ความสำรวมในกาม

สังวรแปลว่า สำรวม คือระงับควบคุมตนไม่ให้ประพฤติผิด แต่ให้ประพฤติในทางที่ชอบ เมื่อเป็นเยาวชน ก็ระวังควบคุมใจระวังควบคุมกาย ไม่ให้ออกไปนอกทาง เว้นเหตุชักจูงต่างๆ เช่น หนังสือและภาพยนตร์ เป็นต้น ที่เป็นเหตุยั่วยุ รักษาประเพณีอันดีงามของไทย ตามที่ผู้ปกครองของตนได้อบรมแนะนำอยู่โดยมากแล้ว

การป้องกันเป็นการดีกว่าแน่นอน และต้องป้องกันไว้แต่ต้น เหมือนอย่างป้องกันไฟไม่ให้เกิดขึ้น ย่อมดีกว่าดับไฟ และดับไฟกองน้อยย่อมดีกว่าดับไฟกองโต ซึ่งอาจจะดับไม่ได้ต้องปล่อยให้โทรมไปเอง และไฟอย่างนี้เป็นไฟละเอียดอย่างไฟฟ้า ซึ่งเมื่อถูกไฟฟ้าอย่างแรงดูดแล้ว อาจทำให้หัวใจหยุดได้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสเปรียบไว้ว่า เหมือนอย่างศรสลักมีพิษที่รักษาได้ยาก เมื่อยังไม่ถึงวัยถึงเวลา จึงควรที่จะป้องกันไว้ก่อน ส่วนในระหว่างสามีภรรยา ทางพระพุทธศาสนาสอนให้สามีสันโดษ คือยินดีพอใจอยู่แต่ในภรรยาของตน ส่วนภรรยาให้มีความซื่อตรงในสามีของตน เพื่อให้อยู่ครองกันเป็นสุขตลอดไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะเกิดอันตรายขึ้นก็อาจช่วยกันได้ และเป็นตัวอย่างเป็นที่สรรเสริญ ดังเรื่องของกินนรและกินรี ในจันทกินนรชาดก ที่จะนำมาเล่าในสุดท้ายนี้ มีความว่า

ในสมัยดึกดำบรรพ์โน้น เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครอบครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี มีหมู่กินนรีเกิดอยู่ในป่าหิมพานต์ (ป่ามีหิมะ) อาศัยอยู่บนภูเขาเงินชื่อว่าจันทบรรพต

ครั้งหนึ่งพระเจ้ากรุงพาราณสี เสด็จประพาสป่าหิมพานต์แต่พระองค์เดียวทรงล่าเนื้อเสวยไปโดยลำดับ จนถึงแม่น้ำเล็กสายหนึ่งก็เสด็จขึ้นไปทางต้นน้ำ โดยปกติหมู่กินนรไม่ลงจากเขาในฤดูฝน เมื่อถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา

ครั้งนั้น กินนรและกินรีสามีภรรยาคู่หนึ่ง พากันลงมาจากภูเขา เกลือกเคล้าของหอมในที่นั้นๆเคี้ยวกินเกสรดอกไม้ นุ่งห่มใบไม้เล่นพลางขับร้องพลาง จนถึงแม่น้ำเล็กนั้นก็ร่อนลงเกลี่ยดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำเป็นที่สนุกสบาย แล้วก็พากันขึ้นนั่งบนกองดอกไม้ ฝ่ายจันทกินนร (เรียกชื่อตามภูเขาที่อยู่นั้น) ก็ดีดไม้ไผ่ขับร้อง จันทกินรีได้ฟ้อนรำขับร้องประสานเสียง

ฝ่ายพระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงได้สดับเสียง ก็แอบเสด็จเร้นพระองค์เข้าไป ทรงเห็นกินนรกินรีทั้งสอง ก็มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในนางกินรี ทรงปรารถนาจะได้นางกินรี จึงทรงยิงธนูศรไปต้องจันทกินนรล้มลง

จันทกินนร ต้องศรเป็นบาดแผลเจ็บปวดรวดร้าว โลหิตไหลพรั่ง ก็ร้องคร่ำครวญขึ้นว่า “จันทา เราจะตาย เมาเลือด เต็มที จะหมดลมบัดนี้ เจ็บปวดเหลือเกิน เมื่อเราตายแล้ว เจ้าก็จะต้องเศร้าโศก เราก็ยิ่งเศร้าใจ เพราะสงสารเจ้ายิ่งกว่าทุกข์ กายในบัดนี้”

จันทกินนร พร่ำเพ้อไปจนถึงวิสัญญีภาพสลบลง ฝ่ายจันทกินรีกำลังเพลิดเพลิน ทีแรกจึงยังไม่รู้ว่าจันทกินนรถูกยิง ครั้นเห็นจันทกินนรล้มสลบลง จึงเข้าไปดูเห็นโลหิตไหลโซกจากบาดแผลก็ร้องขึ้น พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงคิดว่ากินนรคงตายแล้ว จึงเสด็จออกแสดงพระองค์

จันทกินรี เห็นพระเจ้ากรุงพาราณสี จึงคิดว่ามนุษย์ผู้นี้แน่ละ ยิงสามีของเรา มีความกลัวก็บินหนีขึ้นไปจับบนยอดเขาแล้วร้องบริภาษพระเจ้ากรุงพาราณสีโดยความว่า โจรใจร้าย ฆ่าสามีของเรา เราโศกใจนัก ขอให้มารดาของท่าน ชายาของท่านจงได้โศกเหมือนเช่นนี้ และจงอย่าเห็นบุตรเห็นสามี ท่านได้ทำร้ายสามีของเรา ซึ่งไม่ได้ทำร้ายอะไรท่านเลย

พระเจ้ากรุงพาราณสี ได้ตรัสปลอดโยน ทรงรับว่าจะยกย่องนางกินรีให้เป็นพระราชชายา

นางจันทกินรี ได้กล่าวบันลือเสียงอย่างองอาจหนักแน่นว่า ถึงเราจักตายก็จักไม่ยอมเป็นของท่าน ซึ่งได้ฆ่าสามีของเรา ผู้ไม่ได้ทำอะไรให้ท่านอย่างแน่นอน

พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงได้สดับดังนั้นก็สิ้นปฏิพัทธ์ตรัสว่า เจ้านางกินรีชอบอยู่กินกฤษณาและของหอม อยู่กับหมู่กินนร ไม่ชอบอยู่ในบ้านในเมืองก็แล้วไป ทรงสิ้นอาลัยเสด็จหลีกไป

จันทกินรี ครั้นเห็นพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จไปแล้ว ก็บินลงมานำร่างกินนรขึ้นไปบนยอดเขา คร่ำครวญอยู่ช้านาน ในที่สุดได้ลองคลำดูตัวของจันทกินนร รู้สึกว่ายังอุ่นอยู่ก็คิดว่ายังมีชีวิตอยู่

จึงร้องฟ้องเทวดาขึ้นว่า ท้าวโลกบาลไม่มี หรือหายไปไหน หรือตายไปหมดแล้ว จึงไม่มาช่วยรักษาสามีของเรา จึงร้อนถึงท้าวสักกเทวราช ต้องเสด็จจำแลงเป็นพราหมณ์ลงมาถือกุณฑี (คนโท) น้ำมารดจันทกินนร พิษศรก็สิ้นไป ในขณะนั้น

จันทกินนรกลับฟื้นขึ้น หายเป็นปกติ ต่างยินดี ไหว้ท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกเทวราชก็ให้โอวาทสั่งสอน มิให้ลงจากภูเขาจันทบรรพตล่วงล้ำไปในทางของมนุษย์อีก กินนรกินรีทั้งสองก็รับโอวาท และอยู่ด้วยกันเป็นสุขสวัสดีสืบไปแล

(ได้ทราบว่าจันทกินนรชาดกนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ อินทราชัย ได้ทรงนิพนธ์เป็นละครแบบดึกดำบรรพ์)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษยธรรมที่ ๔

อันแก้วแหวนเงินทองสิ่งของต่างๆ ทุกๆ คนคงต้องการของจริงของแท้ ไม่ต้องการของเทียมของปลอม แม้ถ้อยคำที่จริงไม่ต้องการฟังคำเท็จ เว้นไว้แต่จะพูดฟังกันเล่น เช่น เล่านิทานเรื่องเท็จแข่งกัน

ถ้าเป็นถ้อยคำที่พูดกันโดยปกติแล้ว ก็ต้องการถ้อยคำที่พูดกันตามความจริงทั้งนั้น ถ้าใครพูดเท็จอยู่เนืองๆ จนเป็นที่จับได้แล้ว ถึงจะพูดจริงสักครั้งก็ไม่มีใครเชื่อ เหมือนนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ

ซึ่งชอบพูดหลอกคนว่าหมาป่ามากินลูกแกะ เพื่อให้คนแตกตื่นกับไปช่วย เห็นเป็นสนุก เมื่อพูดหลอกเขาอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ครั้นมีหมาป่ามากินลูกแกะจริงๆ จึงวิ่งมาบอกเพื่อให้คนไปช่วยก็ไม่มีใครเชื่อ ต้องเสียลูกแกะไปเพราโทษของมุสา

เรื่องเช่นนี้ มีเล่าไว้ในนิทานชาดกทางพระพุทธศาสนามากเรื่อง เช่น เรื่องหนึ่งเล่าว่า มีหมอรักษาพิษงูผู้ขาดแคลนคนหนึ่ง ไม่ได้การรักษาอะไรในละแวกบ้าน จึงออกเดินเรื่อยไปถึงต้นไทรต้นหนึ่งใกล้ประตูบ้าน เห็นงูตัวหนึ่งกำลังนอนหลับโผล่ศีรษะออกมาทางคาคบไม้

ในขณะนั้น มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่ในที่นั้น หมองูจึงคิดจะลวงเด็กให้จับงูเพื่อให้งูกัดแล้ว รักษาเอาค่าจ้าง จึงพูดแก่เด็กว่า เห็นลูกนกสาลิกานั่นไหมจับเอาซิ เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กฉลาด มองไปเห็นศีรษะที่คาคบไม้ยังไม่รู้ว่าเป็นงู

จึงปีนต้นไม้ขึ้นไปจับเข้าที่คอจึงรู้ว่างู แต่ก็จับให้แน่นไม่ให้งูกลับศีรษะมากัดไว้ แล้วเหวี่ยงไปโดยเร็ว งูนั้นปลิวไปตกที่คอของหมอเข้าพอดี พันคอของหมอนั้นกัดให้ล้มลงสิ้นชีวิตในที่นั้นเข้าภาษิตที่ว่า หมองูตายเพราะงู ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว

อีกชาดกหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีการมหรสพครั้งใหญ่ในกรุงพาราณสี เป็นที่น่าตื่นเต้นยินดีในหมู่มนุษย์ ตลอดถึงเทพก็พากันมาดู ได้มีเทพบุตร ๔ องค์ประดับเทริดดอกไม้แตงทิพย์มาชมมหรสพ หมู่มนุษย์เห็นเทริดนั้นซึ่งสวยสดงดงามและมีกลิ่นหอมตลบ ก็พากันร้องขอ

เทพบุตรตอบว่าดอกไม้ทิพย์เหล่านี้มีอานุภาพมาก ควรเฉพาะแก่ทวยเทพ ไม่ควรแก่คนประพฤติชั่วในหมู่มนุษย์ แต่ว่าก็สมควรแก่มนุษย์ที่ประกอบด้วยคุณงามความดีเหมือนกัน ครั้นกล่าวนำร่วมกันอย่างนี้แล้ว

เทพบุตรองค์ที่ ๑ กล่าวว่า
คนใดไม่ลักของเขาด้วยกาย
ทางวาจาก็ไม่พูดเท็จ
ได้ยศก็ไม่มัวเมา คนนั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๒ กล่าวว่า
คนใดแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม
ไม่ตักตวงทรัพย์ด้วยวิธีหลอกลวง
ได้บริโภคทรัพย์แล้วก็ไม่มัวเมา
ชนชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๓ กล่าว่า
ชนใดมีจิตไม่เหลืองเรื่อดังขมิ้นด้วยกามราคะ
มีความเชื่อตั้งมันไม่หน่ายง่าย
ไม่กินดี (อยู่ดี) แต่คนเดียว
ชันชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

เทพบุตรองค์ที่ ๔ กล่าวว่า
ชนใดไม่บริภาษด่าว่า คนดี คนสงบ
ทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง
มีปกติพูดอย่างใดทำอย่างนั้น
ชนชั้นควรประดับดอกแตงทิพย์

ฝ่ายปุโรหิตในนครนั้นได้ยินแล้วคิดว่า คุณเหล่านี้แม้สักข้อหนึ่งไม่มีอยู่ในตน แต่ว่าจักพูดประกาศว่ามีเพื่อว่าจักได้รับดอกไม้ทิพย์เหล่านี้มาประดับ แล้วมหาชนจักได้นับถือยกย่อง จึงได้กล่าวแก่เทพบุตรทั้ง ๔ องค์โดยลำดับว่า ตนประกอบด้วยคุณเหล่านี้ๆ

เทพบุตรเหล่านั้น ถอดเทริดดอกแตงทิพย์ออกให้แก่ปุโรหิต ปุโรหิต ก็รับมาสวมประดับที่ตนทีละเทริดโดยลำดับ เทพบุตรทั้ง ๔ ครั้นให้ดอกไม้ทิพย์แก่ปุโรหิตแล้วก็กลับไปสู่เทวโลก ครั้นเทพบุตรพากันไปแล้ว ก็เกิดความเจ็บปวดอย่างยิ่งที่ศีรษะของปุโรหิต เหมือนอย่างถูกบดด้วยหินอันคม เหมือนอย่างถูกบีบด้วยแผ่นเหล็ก

ปุโรหิตนั้นเจ็บปวดรวดร้าวกลิ้งเกลือกไปมา ร้องครวญครางด้วยเสียงอันดัง เมื่อมหาชนพากันถามว่าเป็นอะไรก็บอกว่า ข้าพเจ้าพูดเท็จแก่เทพบุตรว่ามีคุณต่างๆ ขอเทริดดอกไม้นี้มาสวม ช่วยถอดออกจากศีรษะที ชนทั้งหลายพากันพยายามถอดก็ถอดออกไม่ได้ เหมือนอย่างถูกผูกไว้แน่นด้วยแผ่นเหล็ก จึงนำไปบ้าน

ปุโรหิตร้องครวญครางอยู่ถึง ๗ วัน พระราชาจึงทรงปรึกษากับหมู่อำมาตย์ แล้วจึงให้มีมหรสพขึ้นใหม่ เพื่อให้เทพบุตรมาอีก เทพบุตรทั้งหลายก็พากันมา มหาชนก็นำพราหมณ์ทุศีลมา พราหมณ์นั้นก็อ้อนวอนขอชีวิต

เทพบุตรเหล่านั้นก็กล่าวว่า ดอกไม้ทิพย์เหล่านี้ไม่ควรแก่ท่าน ซึ่งเป็นคนไม่ดีท่านเข้าใจว่าจักลวงเทพดาฟ้าดินได้ จึงได้รับผลของมุสาวาทของตน แล้วได้กล่าวตำหนิปุโรหิตนั้นต่างๆ ในท่ามกลางมหาชนแล้วก็ถอดเทริดออก กลับไปสู่สถานของตน

ฝ่ายปุโรหิตก็หายจากความเจ็บปวด แต่ก็ได้รับความอัปยศเป็นอย่างมาก เพราะโทษของการอาศัยยศตำแหน่งหน้าที่ทำชั่ว แล้วยังมุสาว่าทำดีเพื่อจะได้ทิพยบุปผาภรณ์ (เครื่องประดับดอกไม้ทิพย์) จากฟากฟ้า ซึ่งไม่ควรแก่คนชั่ว

การพูดเท็จมีโทษดังเช่นเรื่องที่เล่าเป็นนิทาน สภาษิตสอนใจ ดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๔ ว่า

มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการกล่าวเท็จ เท็จหรือมุสาคือไม่เป็นความจริง กล่าวเท็จก็คือพูดไม่จริง หรือพูดปดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เช่น ไม่รู้ไม่เห็นพูดว่ารู้ว่าเห็น ไม่ได้ทำพูดว่าทำ หรือได้รู้เห็นได้ทำพูดปฏิเสธเสีย ไม่ใช้แต่พูดด้วยปากเท่านั้น เขียนหนังสือเท็จปดเขา หรือแสดงอาการให้เขาเข้าใจผิด เช่น เมื่อเขาถามว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ไหม

ความจริงก็เห็น แต่สั่นศีรษะ เพื่อให้เข้าใจว่าไม่เห็น เรียกว่ากล่าวเท็จหรือมุสาวาทเหมือนกัน การแสดงความเท็จนั้น มักใช้กันเป็นส่วนมาก จึงเรียกว่ามุสาวาท แต่ก็หมายถึงทุกๆ วิธี ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดจากความจริงเช่น ที่เรียกว่า

ปด ได้แก่มุสาจังๆ เพื่อให้แตกกัน
เพื่อหลอก เพื่อยอยก เพื่อประจบสอพลอ เป็นต้น

ทนสบถสาบาน เพื่อให้เขาเชื่อในคำเท็จ

ทำมารยา เช่น ไม่เป็นอะไรแกล้งทำเป็นไข้

ทำเลศนัย เช่น ทำกลอุบายลวงหลอก
หรือล่อให้เขาตายใจให้เชื่อผิดๆ
หรือทำแย้มพรายให้เขาคิดต่อไปผิดๆ

เสริมความ คือ ขยายให้มากไปกว่าความจริง เช่น
คนที่ ๑ พูดเพียงว่า ไปเยี่ยมเพื่อป่วย
คนที่ ๒ พูดต่อไปว่า เพื่อนคนนั้นป่วยมาก
คนที่ ๓ พูดต่อไปอีกว่า เพื่อนคนนั้นป่วยมีอาการร่อแร่

อำความ คือ พูดไม่หมด
เว้นความบางตอนไว้เสียเพื่อปกปิด
เช่น กลับบ้านผิดเวลา ผู้ปกครองถามว่าไปไหนมา
ก็ตอบว่าไปบ้านเพื่อน ไปบ้านเพื่อนจริงเหมือนกัน
แต่ก็ได้พากันไปเที่ยวที่อื่นๆ อีกด้วย

มุสาวาททุกวิธีเช่นที่กล่าวนี้ มีโทษน้อย ปานกลางหรือมาก ตามระดับแห่งเรื่องที่มุสาจะก่อให้เกิดขึ้นได้เพียงไรและเจตนา (ความจงใจ) แรงเท่าไร กิริยาที่ประกอบมุสวาท ใช้พยายามเท่าไร

เวรมณี คือความเว้นจากมุสาทุกอย่าง เป็นศีลข้อที่ ๔ นี้
ถ้าเว้นด้วยตั้งใจรับศีลไว้ก่อนเป็น สมาทานวิรัติ
ถ้าเว้นด้วยตั้งใจขึ้นเดี๋ยวนั้นเอง ในขณะที่พบโอกาสจะพูดเท็จได้ เป็น สัมปัตตวิรัติ
ถ้าเว้นได้จนเป็นปกตินิสัยจริงๆ ก็เป็น สมุจเฉทวิรัติ

เมื่อรับศีลข้อนี้ไว้แล้ว ทำอย่างไรศีลจึงจะขาด
ให้กำหนดมองดูลักษณะดังนี้ คือ
จิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริงทั้งรู้อยู่
มีความพยายามเกิดจากจิตนั้น
และคนอื่นรู้เข้าใจความ
เช่น พูดกันด้วยภาษาไทยแก่คนที่รู้ภาษาไทย
เขาฟังออกว่าพูดว่าอย่างไร
หรือใช้กิริยาสั่นศีรษะ เขาเห็นแล้วเข้าใจความประสงค์ว่าปฏิเสธ
ใช้กิริยาพยักหน้า เขาก็เข้าใจว่ารับรอง
ถ้าคนอื่นไม่รู้เข้าใจความ
เหมือนอย่างพูดปดด้วยภาษาไทย แก่คนที่ไม่รู้ภาษาไทย
เขาฟังไม่รู้ว่าอะไร ศีลก็ยังไม่ขาด

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๔ อาศัยหลักยุติธรรมและเมตตากรุณาเช่นเดียวกับข้ออื่นๆ คือทุกๆ คนปรารถนาจะได้รับความจริง ไม่ต้องการถูกหลอกลวงด้วยความเท็จ จึงไม่ควรจะกล่าวเท็จหลอกลวงคนอื่นให้เข้าใจผิด

เมื่อพูดอย่างยุติธรรมไม่ลำเอียงไปทางตนและทางผู้อื่นก็ต้องพูดอย่างนี้ แต่เมื่อพูดอย่างลำเอียงเข้ากับตน ก็ต้องพูดอีกอย่างหนึ่งว่า หลอกลวงเขาได้เป็นดี แต่ถูกเขาหลอกลวงไม่ดี อนึ่ง ทุกๆ คนถ้ารักเมตตากรุณากันก็หลองลวงกันไม่ลง แต่ทุกๆ คนก็ควรจะรักเมตตาปรารถนาสุขต่อกัน กรุณาปรารถนาจะช่วยกันจากความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ มิใช่หรือ

ตัวเราเองก็ปรารถนาให้คนอื่นให้ความปรารถนาดีด้วยเมตตา ไม่ต้องการให้ใครมุ่งร้าย ปรารถนาให้คนอื่นให้ความช่วยเหลือเมื่อทุกข์ ไม่ต้องการให้ใครก่อทุกข์เพิ่มทุกข์มิใช่หรือ จึงไม่เป็นการสมควรหรือ ที่จะทำจิตใจให้มีเมตตากรุณาแก่คนอื่น เหมือนอย่างที่ตนต้องการให้คนอื่นมีแก่ตน

และคนที่มีจิตเมตตากรุณาต่อกัน จะพูดมุสาหลอกทำลายกันได้หรือ นอกจากจะพูดความจริงที่ควรพูดแก่กัน พระพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณาเที่ยงธรรมในสรรพสัตว์ จึงทรงบัญญัติศีลข้อนี้ เพื่อให้เว้นจากมุสาวาท

ผู้ที่ตั้งใจรักษาวาจาตามศีลข้อนี้
ควรเว้นจากมุสาวาทโดยตรง
ดังเช่นที่กล่าวแล้ว ควรเว้นจากมุสาวาทโดยอ้อมด้วย
เช่น พูดส่อเสียด พูดเสียดแทง
ประชดหรือด่า พูดสับปลับเหลวไหล

เมื่อทำสัญญากันไว้แล้วก็รักษาสัญญา ไม่บิดพลิ้วทำให้ผิดสัญญา เมื่อให้สัตย์แก่กันไว้แล้วก็รักษาสัตย์ ไม่กลับสัตย์หรือเสียสัตย์ เมื่อรับคำแล้วไม่คืนคำ รวมความว่าให้รักษาสัจวาจา คือ ให้พูดจริงและให้ทำจริงดังพูด

การพูดจริงนั้นง่ายกว่าพูดเท็จ เพราะไม่ต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงเรื่อง พูดตรงไปตามเรื่องเท่านั้น แต่การพูดเท็จต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงยากที่จะโกหกได้สนิท มักมีพิรุธให้จับได้ไม่เร็วก็ช้า

แต่การทำจริงดังพูดอาจยากสำหรับคนที่ชอบพูดอะไร พล่อยๆ แต่ไม่ยากสำหรับคนที่ตริตรองแล้วจึงพูด ใครก็ตามจะรักษาสัจวาจาได้ต้องมีธรรมที่คู่กันกับศีลข้อนี้ในจิตใจ คือความมีสัตย์

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๔ คือ ความมีสัตย์ ได้แก่มีความจริง ความตรง

คนที่มีความจริง จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตามย่อมเป็นคนซื่อตรงต่อมิตรสหาย สวามิภักดิ์คือจงรักภักดีในเจ้าของตน มีความกตัญญูกตเวทีในท่านผู้มีคุณ มีความยุติธรรมหรือเที่ยงธรรม รู้จักผิดรู้จักถูก และว่าไปตามผิดตามถูกในบุคคลในเรื่องทั่วไป กล่าวโดยเฉพาะ ก็เป็นคนมีวาจาสัตย์พูดเป็นที่เชื่อถือได้

ศีลคือ มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากกล่าวเท็จ) และธรรมคือความมีสัตย์นี้ จำเป็นแก่สังคมมนุษย์ทุกสังคม เป็นต้นว่าในระหว่างเพื่อน ในระหว่างสามีภรรยาหรือครอบครัว ขึ้นไปจนถึงในระหว่างประเทศ เมื่อต่างมีศีลและธรรมคู่นี้ จึงอยู่ด้วยกันเป็นปกติเรียบร้อย เชื่อถือกันได้ ไว้วางใจกันได้

ผู้ปกครองประชาชนตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อรักษาศีลและธรรมคู่นี้อยู่ เป็นที่เชื่อถือได้ทั้งในประเทศทั้งต่างประเทศ คือภายในประเทศ ก็ไม่พูดหลอกลวงประชาชน รักษาสัตย์ต่อประชาชน สำหรับที่เกี่ยวกับประเทศ ก็รักษาสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ตั้งแต่โบราณกาลมา ปรากฏในเรื่องต่างๆ ว่าได้ทรงรักษาวาจาสัตย์อย่างกวดขัน บางพระองค์แม้จะรับสั่งพลั้งพระโอษฐ์ออกไปก็ไม่ทรงคืนคำ ด้วยทรงถือเป็นพระราชธรรมว่า เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ดังนิทานชาดกเรื่องหนึ่งว่า

พระราชาองค์หนึ่ง มีพระราชโอรสประสูติแต่พระอัครมเหสี ๒ พระองค์
มีพระนามว่า มหิสสากุมารองค์หนึ่ง
จันทกุมารองค์หนึ่ง

พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ พระราชาทรงตั้งพระอัครมเหสีขึ้นใหม่ พระนางประสูติพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า สุริยกุมาร

พระราชทอดพระเนตรเห็นสุริยกุมารซึ่งประสูติใหม่ มีประราชหฤทัยโสมยินดี ตรัสแก่พระอัครมเหสีองค์ใหม่ว่า พระองค์พระราชทานพรแก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนาง คือพระราชทานให้พระนางทูลขออะไรให้แก่พระราชโอรสของพระนางได้ตามปรารถนา

พระนางจึงทูลขอราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสของพระนาง ในเวลาเมื่อพระราชโอรสคือสุริยกุมารนั้นทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว

พระราชาไม่อาจทรงปฏิบัติ เพราะได้ตรัสพระราชทานพรไว้แล้ว จึงทรงส่ง มหิสสาสกุมารและจันทกุมาร ซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสีองค์แรก ให้ออกไปประทับอยู่ในป่า ทรงสั่งให้กลับมาถือเอาราชสมบัติต่อเมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว

พระกุมารทั้งสอง กราบถวายบังคมลาพระราชธิดาลงจากประสาทเสด็จดำเนินออกไป สุริยกุมารซึ่งพระราชมารดาทูลขอราชสมบัติให้ ทรงเห็นทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว เสด็จออกไปกับพระเชษฐาทั้งสอง

พระกุมารทั้งสามได้เสด็จเข้าป่าหิมพานต์ (ป่ามีหิมะ) ได้หยุดพักในที่ไม่ไกลจากสระบังแห่งหนึ่ง มหิสสาสกุมารสั่งสุริยกุมารให้ไปที่สระ อาบ ดื่ม แล้วให้ใช้ใบบัวทำกรวยใส่น้ำมา

สระนั้นมีผีเสื้อน้ำตนหนึ่งรักษาอยู่ ผีเสื้อน้ำนั้นได้รับอนุญาตจากท้าวเวสสวรรณ ให้จับคนที่ลงไปในสระกินได้ เว้นแต่คนที่รู้ “เทวธรรม”

ผีเสื้อน้ำได้จับคนที่ไม่รู้กินเสียเรื่อยมา
สุริยกุมาร ก็ถูกจับและถูกถามถึง “เทวธรรม” เช่นเดียวกัน
จึงตอบว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่า “เทวธรรม”
ผีเสื้อน้ำกล่าวว่าท่านไม่รู้ “เทวธรรม” แล้วจับไปขังไว้ในที่อยู่ของตน

มหิสสาสกุมาร เห็นสุริยกุมารชักช้า
ก็ส่งจันทกุมารไปอีก จันทกุมารได้ถูกจับถามเช่นเดียวกัน
ตอบว่าทิศทั้ง ๔ ชื่อว่า “เทวธรรม” จึงถูกขังไว้อีก

ฝ่าย มหิสสาสกุมาร เห็นจันทกุมารยังชักช้าอยู่อีก ก็คิดว่าน่าจะมีอันตราย จึงไปยังสระนั้นเอง ทรงตรวจดูเห็นแต่รอยลงไม่เห็นรอยขึ้น ก็ทรงทราบว่ามีผีเสื้อน้ำรักษา จึงทรงผูกสอดพระขรรค์ถือธนูยืนระวังอยู่

ผีเสื้อน้ำเห็นมหิสสาสกุมารไม่ลงสระจึงจำแลงเพศเป็นคำทำงานป่ามาชักชวนให้ลง มหิสสาสกุมารเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นยักษ์ จึงถามว่าท่านจับน้องชายของเราไปหรือ จับไปเพราะเหตุอะไร จับทั้งหมดหรือเว้นใครบ้าง

ยักษ์ก็ทูลรับว่าได้จับกุมารทั้งสองไป เพราะได้รับอนุญาตให้จับคนที่ลงสระนี้ทุกคน เว้นไว้แต่ผู้รู้ “เทวธรรม” และตนต้องการ “เทวธรรม” มหิงสสาสกุมารก็รับว่าจะกล่าว “เทวธรรม” ให้ฟัง แต่จะต้องชำระกายให้สะอาดก่อน

ยักษ์ได้ปฏิบัติพระราชกุมาร ให้ทรงสนานเสวยน้ำเรียบร้อยแล้ว ได้นั่งเพื่อจะฟัง “เทวธรรม” ใกล้พระบาทกุมาร มหิสสาสกุมารตรัสเตือนให้ฟังโดยเคารพแล้ว

จึงกล่าว “เทวธรรม” ดังมีคำแปลว่า
“คนดีทั้งหลายถึงพร้อมด้วยหิริ” (ความละอายใจต่อความชั่ว)
และ “โอตตัปปะ” (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว)
ตั้งอยู่ดีในธรรมอันขาว สงบแล้ว
เรียกว่า “ผู้มีเทวธรรมในโลก”

ยักษ์ได้สลับแล้วเลื่อมใส ก็กล่าวว่าจะคืนอนุชาให้องค์หนึ่ง จะให้นำองค์ไหนมา มหิสสาสกุมารตรัสให้นำองค์เล็กมา ยักษ์จึงกล่าวติเตียนว่า พระกุมารรู้แต่ “เทวธรรม” เท่านั้น แต่ไม่ประพฤติใน “เทวธรรม” เพราะควรที่จะให้นำอนุชาองค์โตมา จึงจะชื่อว่าทำความนับถือคนที่เจริญ

มหิสสาสกุมารตรัสว่า ทรงรู้ “เทวธรรม” และประพฤติด้วย แล้วก็ตรัสเล่าเรื่องให้ยักษ์ฟังมีความว่า พระองค์ ๒ พี่น้อง ต้องเข้าป่าก็เพราะอนุชาองค์เล็ก แต่มิได้ประทานพรแก่พระองค์ทั้งสอง เมื่อพระมารดาเลี้ยงทูลขอราชสมบัติให้แก่อนุชาองค์เล็กซึ่งเป็นโอรสของพระนาง

พระราชบิดาก็จำต้องทรงอนุญาตเพราะได้ทรงลั่นพระวาจาไว้แล้ว และก็ต้องทรงอนุญาตอรัญวาส (การอยู่ป่า) แก่พระองค์ทั้งสอง ฝ่ายอนุชาองค์เล็กไม่ยอมกลับขอมาด้วย
ฉะนั้น เมื่อพระองค์กล่าวว่า อนุชาองค์เล็กถูกยักษ์ตนหนึ่งกินเสียในป่าแล้ว ใครเล่าจักเชื่อถือ ฉะนั้น พระองค์จึงให้นำอนุชาองค์เล็กมา เพื่อมิให้เป็นที่พึงตำหนิติเตียนได้

ยักษ์ได้ฟังเหตุผลมีความเลื่อมใส จึงคืนอนุชาให้ทั้งสององค์ ต่อมาเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ มหิสสาสกุมาร จึงกลับมาทรงรับราชสมบัติในกรุงพาราณสี ประทานตำแหน่งอุปราชแก่ จันทกุมาร ประทานตำแหน่งเสนาบดีแก่ สุริยกุมาร และได้ทรงนำยักษ์ซึ่งได้กลับตัวเป็นผู้มีศีล ไม่ดุร้ายเยี่ยงยักษ์ทั้งหลายแล้ว มาบำรุงไว้ในบ้านเมืองให้เป็นสุขสืบไป
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษยธรรมที่ ๕

อันน้ำดื่มธรรมดาเพื่อแก้กระหาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ร่างกาย แต่น้ำดื่มอีกชนิดหนึ่งไม่ใช่เพื่อแก้กระหาย ไม่เป็นสิ่งจำเป็นต้องหัดดื่ม เมื่อดื่มติดๆ เรื่อยๆ ไปจนติดเข้าแล้ว ก็ทำให้กระหาย ทำให้เหมือนเป็นของจำเป็น ทีแรกคนดื่มน้ำครั้นหนักๆ เข้า น้ำนั้นกลับดื่มคน

พูดอย่างสามัญฟังง่ายๆ ว่าทีต้นคนกินน้ำ ทีหลังน้ำกินคน อันน้ำกินคนนี้ก็คือน้ำเมา เป็นของกลั่นเรียกว่า สุรา เป็นของดองเรียกว่า เมรัย

มีชนิดต่างๆคนรู้จักดื่มน้ำเมามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จะกล่าวว่าตั้งแต่ก่อนพระอินทร์เกิดก็ได้ ที่กล่าวดังนี้ เพราะมีเรื่องที่ท่านแต่งแสดงไว้ว่า

เมื่อมฆมานพ ทำกรรมดีงามในมนุษยโลก ไปเกิดในเทวโลกเป็นท้าวสักกเทวราชคือพระอินทร์นั้น เทวโลกที่พระอินทร์ปเกิด มีเทพจำพวกหนึ่ง ครอบครองเป็นเจ้าถิ่นอยู่ก่อนเทพเจ้าถิ่นเห็นพระอินทร์กับบริวารเป็นอาคันตุกะมา

ก็เตรียมน้ำดื่มมีกลิ่นหอมเพื่อเลี้ยงต้อนรับ ในขณะที่ประชุมเลี้ยงต้อนรับพระอินทร์ ได้ให้สัญญาณแก่บริษัทของตนไม่ให้ดื่ม ให้แสดงเพียงอาการเหมือนดื่ม เทพเจ้าถิ่น จึงพากันดื่มฝ่ายเดียว พากันเมานอนหมดสติ

พระอินทร์และเทพบริวาร ก็ช่วยจับเทพเจ้าถิ่นเหวี่ยงทิ้งไปยังเชิงเขาสิเนรุ พวกเทพเจ้าถิ่นเมื่อถูกจับเหวี่ยงตกลงไปสร่างเมากลับฟื้นคืนสติขึ้นแล้ว ก็กล่าวแก่กันว่าพวกเราไม่ดื่มสุราอีกแล้ว จึงเกิดเป็นเชื่อขึ้นว่าอสุระ

เพราะกล่าวว่าไม่ดื่มสุรา แต่ช้าไป เพราะเมาจนเสียเมืองไป ต้องสร้างอสุรภพขึ้นใหม่ นับแต่นั้นมา หมู่เทพบนยอดเขาสิเนรุมีพระอินทร์เป็นประมุข และหมู่อสุรเทพที่เชิงเขาสิเนรุ ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันอยู่เนืองๆ แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยเข้าเมืองของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็ตามเข้าไปไม่ได้ เมืองทั้งสองจึงเรียกว่า อยุชฌบูร คือ อยุธยา ใครรบไม่ได้ ตีไม่แตก

เรื่องนี้บางท่านเห็นว่า มีเค้าทางตำนานของอินเดียโบราณอยู่บ้าง (ไม่ใช่พระพุทธศาสนา) นำมาเล่าเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องเก่าๆ มีคติเกี่ยวกับน้ำเมาอยู่บ้างว่า เรื่องน้ำเมามีมาเก่าแก่ และเมามายกันจนเสียบ้านเสียเมืองมาแล้ว

เรื่องเช่นนี้ในศาสนาอื่นก็มีเล่าไว้ เช่น คัมภีร์หนึ่งเล่าว่าโนอาห์ทำไร่องุ่นและดื่มสุราองุ่น เมาตั้งแต่สมัยหลังจากน้ำท่วมโลกไม่กี่ร้อยปี

อีกคัมภีร์หนึ่ง เมื่อเทวดาพากันเสื่อมฤทธิ์ เพราะถูกพระฤษีผู้มีนามว่า ทุรวาสสาป ก็ดื่มน้ำอมฤต เรื่องมีว่า พระอินทร์ทรงช้างไอยราพตไปในวิถีอากาศ พบฤษี ทุรวาส ซึ่งถือพวงมาลัยดอกไม้สวรรค์อันนางฟ้าองค์หนึ่งถวาย

พระฤษียื่นถวายพระอินทร์ ท้าวเธอรับมาพาดบนศีรษะช้าง ช้างสูดกลิ่นดอกไม้ซึ่งอวลอบแรงหนักหนาทำให้เป็นบ้าคลั่ง จึงฟาดงวงเอื้อมจับพวงดอกไม้จากตระพองขว้างลงเหยียบย่ำ

พระฤษีทุรวาสโกรธว่าพระอินทร์ดูหมิ่น จึงสาปให้เสื่อมฤทธิ์ และให้พ่ายแพ้แก่หมู่อสูรนับแต่นั้นมา พระอินทร์และเทพบริวาร ก็อ่อนฤทธิ์รบมิใคร่ชนะหมู่อสูร พากันอยู่ไม่เป็นสุข ก็พากันไปเฝ้าพระนารายณ์ขอให้ช่วย

พระนารายณ์ ก็แนะอุบาย ให้ทวยเทพไปชวนเลิกยุทธสงครามกับหมู่อสูร ผูกพันธไมตรีร่วมกันตั้งพิธีกวนสมุทร หมู่เทพก็ปฏิบัติตาม ไปชวนอสูรเลิกรบและชวนไปเก็บโอสถโยนลงไปในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เอาภูเขามาเป็นไม้กวน เอาพญานาคมาเป็นเชือก

พระนารายณ์มาช่วยพิธี ปันหน้าที่ให้หมู่อสูรถือทางศีรษะนาค ให้หมู่เทพถือทางหางนาค พระนารายณ์เองอวตาร (แบ่งภาคลงมา) เป็นเต่าลงไปรองรับภูเขาที่เป็นไม้กวนเมื่อช่วยกันกวน หมู่อสูรอยู่ทางศีรษะนาค ก็ถูกไฟที่พุ่งจากนาคแผดเผาจนอ่อนฤทธิ์ลงไป หมู่เทพอยู่ทางหางนาค ก็ถืออย่างสบาย

ครั้นกวนสมุทรได้ที่ก็เกิดสิ่งต่างๆ รวมทั้งสุราและอมฤต (น้ำที่กินแล้วไม่ตาย) ในที่สุด ทวยเทพชิงดื่มน้ำอมฤตได้ก่อนจนหมดจึงกลับคืนฤทธิ์ และได้ชื่อว่า อมร (ผู้ไม่ตาย)

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เห็นมีเรื่องเกี่ยวกับน้ำเมา จึงนำมาเล่าไว้เพื่อแสดงว่าคนในทุกๆ ส่วนของโลกเชื่อว่าสุราได้เกิดมีมานานตั้งแต่สมัยนิยาย

ในชาดกก็มีเล่าไว้ด้วยเหมือนกันว่า ในอดีตกาลนานนักแล้ว มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระ ได้เข้าป่าหิมพานต์มาถึงต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นค่าคบแยกออกเป็น ๓ ในที่สูงขนาดชั่วบุรุษ ในระหว่างค่าคบทั้ง ๓ มีเป็นบ่อขนาดตุ่ม ในฤดูฝนมีน้ำขังเต็ม และมีผลเสมอ มะขามป้อม และพริกตกลงไป รวมอยู่จากต้นที่เกิดอยู่โดยรอบ

มีหมู่นกแขกเต้า จิกข้าวสาลีที่เกิดเองในที่ไม่ไกลกัน มาทำตกลงไปผสมอยู่ด้วย เมื่อถูกแดดเผาน้ำนั้นก็แปรรส มีสีแดง หมู่สัตว์มีนกเป็นต้นดื่มเข้าไปแล้ว ก็พากันเมาตกอยู่ที่โคนต้นไม้ สร่างเมาแล้วจึงพากันบินไปได้

นายพรานสุระเห็นดังนั้น เห็นว่าไม่เป็นพิษจึงลองดื่มดูบ้างดื่มเข้าไปแล้วก็เมาและอยากบริโภคเนื้อ จึงฆ่าสัตว์มีนกเป็นต้นที่เมาตกลง ปิ้งบริโภคกับน้ำเมา ครั้นเมาแล้วก็ฟ้อนรำขับร้องชวนดาบสรูปหนึ่งชื่อว่าวรุณให้ลองดื่มดูบ้าง ก็พากันดื่มจนเมามายไปทั้งคู่ แล้วนำมาแพร่หลายในบ้านเมือง

ต่อมาก็คิดวิธีทำน้ำเมาขึ้น และได้เริ่มเรียกชื่อว่าสุรา หรือวรุณี ตามชื่อของนายพรานสุระและดาบสวรุณะ แต่เมื่อดูตามศัพท์สุรา แปลว่ากล้า อาจหมายความว่า เพราะดื่มแล้วทำให้ใจกล้ามุทะลุก็ได้และวรุณี อาจหมายถึงวรุณคือฝน เพราะตามเรื่องนั้น เกิดจากน้ำฝนตกลงขังหมักดองกับสิ่งต่างๆ ในค่าคบไม้ก็ได้

น้ำเมานี้ เป็นสิ่งที่ชาวโลกมิใช่น้อย มักจะโปรดปรานเมื่อมีงานรื่นเริงอะไรก็มักจะทิ้งไม่ได้ ถ้าขาดไปมักจะบ่นว่าแห้งแล้งเงียบเหงา บางแห่งมีจัดงานเทศกาลดื่มสุรากัน

แต่บัณฑิตทั้งหลายในโลก ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน ไม่สรรเสริญยกย่องการดื่มสุราว่าเป็นของดี มีแต่แสดงโทษไว้ต่างๆ โดยตรงบ้าง ทางอ้อมบ้าง โดยตรงนั้น เช่น แสดงว่าการดื่มน้ำเมาเป็นอบายมุข และชี้โทษไว้ ๖ สถาน คือ เสียทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท เกิดโรค ต้องติเตียน ไม่รู้จักอาย ทอนกำลังปัญญา

ส่วนโดยอ้อมนั้น เช่นที่ผูกเป็นนิทานไว้ต่างๆ ดังเรื่องกำเนิดสุราในทางตะวันตก ว่าได้มีเทวดาองค์หนึ่งไปพบต้นองุ่นเข้าก็มีความพอใจจึงนำมา ทีแรกเมื่อนำมานั้น ปลูกมาในหัวกะโหลกนก ต้นองุ่นโตเร็วเต็มหัวกะโหลกนก

ต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกะโหลกลา แล้วต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกะโหลกเสือตามนิทานนี้ เข้าใจความหมายว่า ดื่มเหล้า (องุ่น) ทีแรกรื่นเริงอย่างนก มากเข้าอีกก็โง่ซึมเซาอย่างลา มากเข้าอีกก็ดุร้ายอย่างเสือ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งแสดงกันมาว่า สุราผสมด้วยเลือดของสัตว์หลายชนิด คือ เลือดนก เลือดสุนัข เลือดเสือ เลือดงู เลือดหมู และเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ทำให้พูดมาก คะนองสนุกอย่างนก ทำให้เอะอะอย่างสุนัข ทำให้ดุร้ายอาละวาดอย่างเสือทำให้เดินเปะปะไม่ตรงอย่างงูเลื้อย ทำให้หมดสตินอนซมอย่างหมู

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโทษของสุราโดยตรงดังกล่าวแล้ว เพราะการดื่มสุรากับทั้งเมรัยอันรวมเรียกว่าน้ำเมา เป็นฐานะคือที่ตั้งของความประมาท ฉะนั้น จึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ ว่า

สุราเมรยมฺชฺชปมาทฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมา

คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท น้ำเมาเป็นของดอง เช่น น้ำตาลต่างๆ ชื่อเมรัย เมรัยนั้นกลั่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เข้มข้นขึ้น เช่น เหล่าต่างๆ ชื่อสุรา สุราเมรัยนี้เป็นของทำให้ผู้ดื่มแล้วเมาเสียสติอารมณ์ แปรปกติของคนที่เป็นคนดีให้ชั่วไปได้ จนถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี

ซึ่งในเวลาปกติทำไม่ได้แต่ครั้นเมาแล้วทำแทบจะทุกอย่าง น้ำเมาจึงได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความเว้นจากดื่มน้ำเมาเรียกว่า เวรมณี หรือวิรัติ เป็นตัวศีลในข้อนี้ วิรัติมี ๓ เหมือนกับข้ออื่นๆ คือ

เว้นด้วยตั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน ด้วยวิธีรับศีล หรือคิดตั้งใจด้วยตนเอง เรียกว่า สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน)

ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน เมื่อไปพบน้ำเมาที่อาจจะดื่มได้ แต่งดได้ไม่ดื่ม เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ (เว้นจากวัตถุอันถึงเข้า)

ถ้าเว้นได้เด็ดขาดจริงๆ จัดเป็น สมุจเฉทวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด)

วิรัติข้อใดข้อหนึ่งมีขึ้นเมื่อใด ศีลก็มีขึ้นเมื่อนั้น วิรัติขาดเมื่อใด ศีลก็ขาดเมื่อนั้น
ลักษณะสำหรับตัดสินว่าศีลขาดนั้น คือ

๑. เป็นน้ำเมามีสุราเป็นต้น
๒. จิตใคร่จะดื่ม
๓. พยายามคือทำการดื่ม
๔. ดื่มน้ำเมานั้นให้ไหลล่วงลำคอเข้าไป

อนึ่ง ห้ามน้ำเมาเพราะเป็นของทำให้เมาประมาท จึงห้ามตลอดถึงของทำให้เมาเช่นเดียวกันชนิดอื่น มีฝิ่นกัญชาเป็นต้นด้วย

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ นี้โดยตรง เพื่อมิให้มัวเมาประมาทเป็นหลัก คนเราที่เป็นคนธรรมดาสามัญ โดยปกติก็ประมาทกันอยู่แล้ว เพราะมักขาดสติมากบ้างน้อยบ้างต้องระมัดระวังกันอยู่เสมอ

จึงถึงมีภาษิตเป็นต้นว่า
“สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง”
“ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์”
“คนที่ไม่เคยทำอะไรผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย”

ฉะนั้น เมื่อเพิ่มเติมน้ำเมาให้เมาประมาทยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผิดมากขึ้น
เพราะคนที่เมาประมาทเป็นคนขาดสติ (ความระลึกได้)
ขาดสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)
อาจผิดศีลได้ทุกข้อ

อาจทำชั่วทำผิดได้ทุกอย่าง และเมื่อประมาทเสียแล้ว ก็เป็นคนหลงอย่างเต็มที่ไม่รู้จักเหตุผลควรไม่ควร ไม่รู้จักดีจักชั่วผิดถูก จะพูดชี้แจงอะไรกับคนกำลังเมาหาได้ไม่ คนเมาประมาท จึงเป็นผู้ที่ควรเมตตากรุณาหรือสมควรสงสาร เหมือนคนตกน้ำที่ทิ้งตัวเองลงไปช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ใครช่วยก็ไม่ได้

หรือเหมือนดื่มยาพิษฆ่าตนเอง ทั้งที่ไม่เห็นว่าเป็นยาพิษ จึงดื่มอย่างสนุกสนานรื่นเริงใครบอกว่ายาพิษก็ไม่เชื่อ แต่เห็นเหมือนน้ำอมฤติของเทวดาเพราะดื่มแล้วทำให้อุกอาจให้ร่าเริง ไม่มีทุกข์ ไม่มีกลัว แต่หาจริงไม่

เพราะสิ่งที่ทำให้ฤทธิ์สุราของคนเมาเสื่อมได้ดีนั้นคือความกลัว คนเมาอาละวาด เมื่อประสบเหตุอะไรที่ทำให้เกิดรู้สึกกลัวขึ้นได้แล้วความเมาก็เสื่อม เว้นแต่จะเมาจนสลบไสลซึ่งก็หมดฤทธิ์ที่จะอาละวาดอะไรได้

คนเมาอาละวาดเมื่อไปทำร้ายใครเข้ามักรู้จักหลบหนี เพราะเกิดรู้สึกกลัวผิดขึ้นแล้วความเมาจึงแพ้ความกลัว มิใช่ชนะความกลัว ที่ว่าทำให้กล้านั้นไม่ใช่ความกล้า เป็นความเมาต่างหาก เหมือนอย่างที่พูดกันว่าเห็นช้างเท่าหมู่ ก็เป็นเรื่องของความเมาที่แก่กล้า อันจะพาให้พินาศ

เว้นไว้แต่ช้างจะเล็กลงมาเท่าหมูได้จริงๆ โดยมากความรู้สึกกลัวทำลายฤทธิ์เมาให้เสื่อมมักมาช้าเกินไป เพราะมักมาในเมื่อคนเมาไปทำผิดเสียแล้ว ต่างจากคนไม่เมา เพราะความรู้สึกกลัวผิดเกิดได้ง่ายกว่ามากนัก คนไม่เมาจึงรักษาตัวได้ดีกว่ามาก

อีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าศีลนั้น โดยตรงคือปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ คือความที่มีกาย วาจา ใจ เป็นปกติ ได้แก่เรียบร้อยดีงาม เมื่อดื่มนำเมาเข้าไป เมาประมาทขึ้นเมื่อใด ก็เสียปกติกาย วาจา ใจ เมื่อนั้น

เพราะน้ำเมาทำให้กายของคนเมา วาจาของคนเมา ใจของคนเมา เสียปกติ ถึงจะยังมิได้ไปประพฤติผิดศีลข้ออื่นๆ แต่ศีลทางใจคือความมีใจเป็นปกติเรียบร้อยก็เสียไป คนเมาที่พูดว่าใจยังดีไม่เมานั้น ถ้าเป็นความจริงก็ไม่ใช่คนเมา ถ้าเป็นคนเมา คำที่พูดเช่นนั้นก็พูดไปตามความเมาเท่านั้น

ธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๕ คือ ความมีสติรอบคอบ

ตรงกันข้ามกับความไม่ประมาท
สติคือ ความระลึกนึกคิดขึ้นได้
ประกอบกับสัมปชัญญะ ความรู้ตัว
สติต้องมีสัมปชัญญะอยู่ด้วยจึงเป็นสติที่ถูกต้อง

เช่น เมื่อกำลังเดินอยู่ในถนน นึกถึงบทเรียนจนลืมตัวว่ากำลังเดินอยู่ในถนน ถึงจะนึกถึงบทเรียนได้ ก็ไม่ใช่สติ เมื่อรู้ตัวอยู่ว่า กำลังเดินอยู่ในถนนและระลึกได้ว่า จะเดินอย่างไรจะหลีกหลบรถอย่างไร จึงเป็นสติ

คนเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องทำ ต้องพูด อยู่ทุกๆ วัน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสติเมื่อทำอะไร พูดอะไร ไปแล้ว ก็ระลึกได้ว่า ได้ทำ หรือพูดอะไร ผิดหรือถูก เรียบร้อยหรือไม่เรียบร้อย เป็นต้น

จะทำจะพูดอะไรก็มีความระลึกนึกคิดก่อนว่าดีหรือไม่ดี อย่างที่โบราณสอนให้นับสิบก่อน คือให้นึกให้รอบคอบก่อนนั่นเอง ในขณะที่กำลังทำกำลังพูดก็รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ลืมหลงในเรื่องที่ทำที่พูด ไม่ลืมตัวไม่เผลอตัว

บางคนมีปัญญาความรู้ดี แต่ขาดสติ ทำพูดอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่กล่าวกันว่า ฉลาดแต่ไม่เฉลียว จึงสมควรหัดให้มีสติรอบคอบ เพราะทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจทำสติได้วิธีหัด เช่น

๑. หัดนึกย้อนหลัง เป็นการฝึกความกำหนดจดจำ

๒. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะทำจะพูดอะไร

๓. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะโกรธใคร มิใช่โกรธเสียก่อนจนหายโกรธแล้วจึงนึกได้

๔. หัดให้มีความรู้ตัวอยู่ในเรื่องที่กำลังทำกำลังพูดตลอดถึงกำลังคิดอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ลืมตัว เผลอตัว

๕. หัดให้มีความยับยั้งในการที่ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด ให้มีอุตสาหะในการที่ควร อันตรงกันข้าม

การหัดทำสติ เมื่อหัดอยู่เสมอ สติจักเกิดมีทวีขึ้นตามลำดับ จนถึงเป็นสติรอบคอบ ถ้าไม่หัดทำจะให้มีสติขึ้นเองนั้นเป็นการยากที่จะมีสติพอใช้ เหมือนอย่างเมื่อประสงค์ให้ร่างกายมีอนามันดี ก็ต้องทำกายบริหารให้ควรกัน
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 8:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปกติภาพ-ปกติสุข

ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประเภทหนึ่ง คนมักจะอ่านไม่ปล่อยให้ผ่านไป แต่ไม่มีใครอยากเป็นข่าว คือข่าวฆาตกรรม ข่าวโจร ข่าวเกี่ยวกันผิดศีลข้อที่ ๓ ข่าวหลอกลวง ข่าวคนเมาเกะกะอาละวาด เป็นต้น

คนที่เป็นตัวการในข่าว ล้วนเป็นคนกวนบ้านกวนเมืองให้เดือดร้อน ใครประพฤติก่อกรรมอย่างนั้น ถึงไม่ปรากฏเป็นข่าว ก็ทำเข็ญให้เดือดร้อน เช่นเดียวกัน ในบ้านทุกบ้าน มีใครก่อกรรมทำเข็ญเช่นนั้นเข้าสักคนก็พากันเดือดร้อนไปหมด จนอาจถึงบ้านแตกสาแหรกขาด และเมื่อทำให้เดือดร้อนถึงส่วนรวม ก็เป็นการบ่อทำลายความสงบสุขของเมือง คือประเทศชาติ

คนที่เป็นตัวการก่อความเดือดร้อนดังกล่าว มิใช่ใครที่ไหน คือแต่ละคนที่ประพฤติผิดศีล ๕ นั้นเอง ใครอยากเป็นตัวข่าวในเรื่องเช่นนี้บ้าง ถ้าไม่อยากก็อย่าประพฤติให้ผิดศีล ๕ และต้องคอยหลบหลีกคนที่ประพฤติผิดศีล ๕ ให้ดีด้วย

เพราะเมื่อตนเองไม่ทำแก่เขา เขาอาจจะคิดทำแก่ตนก็ได้ จึงต้องไม่ประมาท ระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัยเพราะภัยอันตรายอันเป็นเครื่องทำลาย ความปกติสุข ทุกอย่าง เกิดจากคนไม่มีศีลทั้งนั้น

ในด้านตรงกันข้าม ความปกติสุขทุกอย่างเกิดจากคนมีศีล เหมือนอย่างในบ้านทุกบ้านอยู่กันเป็นปกติสุขเรียบร้อย (ไม่เกิดวิกฤตการณ์ตรงกันข้ามกับปกติการณ์หรือปกฤตการณ์) ในเมื่อไม่มีใครบันดาลโทสะทำร้ายใคร จนถึงไม่มีใครดื่มสุราเอะอะอาละวาด ฉะนั้น ศีลจึงจำเป็นเพื่อความปกติสุขเรียบร้อยแก่ทุกคน

ยังอาจมีผู้เข้าใจว่า ศีลเป็นข้อห้ามข้อบังคับทางพระศาสนาที่ต้องรับจากพระ เป็นข้อห้ามที่ผิดปกติวิสัยไม่อาจจะทำได้

อันที่จริง ศีลคือปกติภาพ ความเป็นปกติของคน คือโดยปกติคนเราก็ไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ลักของใคร จนถึงดื่มน้ำเมาก็ยังไม่เป็น ต่อเมื่อเกิดโลภอยากได้ขึ้นมา บันดาลโทสะขึ้นมามัวเมาหลงใหลขึ้นมา จนถึงยั้งใจไว้ไม่อยู่จึงทำลงไป

บางอย่างก็ต้องหัด เหมือนอย่างดื่มน้ำเมา เมื่อจิตใจยังเป็นปกติดีอยู่ ยังไม่โลภโกรธหลง หรือเมื่อโลภโกรธหลงสงบลงแล้ว ก็ไม่มีใครทำลงไปได้

ฉะนั้น ศีลจึงเป็นตัวปกติภาพของคนโดยแท้ แต่คนโดยมากมักควบคุมตนเองไว้ไม่ได้ ยั้งใจไว้ไม่อยู่ จึงรักษาปกติภาพของตนไว้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีล เป็นขอบเขตของความประพฤติไว้ เพื่อช่วยให้คนรักษาปกติภาพของตนไว้นั้นเอง ส่วนที่ต้องรับจากพระนั้น ก็เป็นเพียงวิธีชักนำอย่างหนึ่ง เพราะโดยตรงศีลนั้นต้องรับจากใจของตนเอง คือ ใจของตนเอง

ต้องเกิดวิรัติทั้ง ๓ ข้อใดข้อหนึ่งขึ้น จึงจะเกิดเป็นศีล เพื่อทบทวนความจำ จะนำวิรัติทั้ง ๓ มา กล่าวไว้อีกครั้งหนึ่ง คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ ความเว้นได้ในทันทีที่เผชิญหน้ากับวัตถุ
๒. สมาทานวิรัติ ความเว้นได้ด้วยตั้งใจถือศีลไว้
๓. สมุจเฉทวิรัติ ความเว้นได้เด็ดขาดทีเดียว


เมื่อใจมีวิรัติขึ้น ก็มีศีลขึ้นทันที คำว่าใจมีวิรัติ มิได้หมายความว่า ต้องคิดว่าเราจะเว้นๆ อยู่ทุกวินาที แต่หมายความว่าคิดตั้งใจไว้ จะรับจากพระมาตั้งใจไว้ก็ได้ จะตั้งใจด้วยตนเองก็ได้ ในเวลาไหนก็ได้ เมื่อคิดตั้งใจไว้แล้ว จะทำพูดคิดอะไรที่ไม่ผิดข้อห้ามที่ให้เว้นนั้นแล้วก็ได้ทั้งนั้น และจะตื่นอยู่หรือหลับไป ศีลก็มีอยู่ทุกเวลา

ส่วนที่ว่า เป็นข้อห้ามที่ผิดปกติวิสัยนั้น เป็นการว่าที่ผิดเพราะศีลเป็นข้อห้าม เพื่อรักษาปกติภาพของคนดังกล่าวแล้วจึงถูกต้องกับปกติวิสัยอย่างที่สุด จึงไม่อาจปฏิบัติได้

ข้อแย้งนี้ถ้าคิดสักหน่อยก็จะเห็นว่าแย้งไม่ถูก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลก็เพื่อให้คนสามัญนี้แหละรักษา ถ้าไม่มีคนสามัญดังกล่าวแล้วพระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องทรงบัญญัติศีลข้อไหนๆ ขึ้นเลย และเมื่อใครอยากได้ขึ้นมา โกรธขึ้นมา ก็ทำร้ายเขา ลักของเขา เป็นต้น จะอยู่กันได้อย่างไร

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติศีลขึ้นไว้ควบคุมความประพฤติของตน ให้อยู่ในขอบเขตที่ดี มิให้เบียดเบียนกันให้เดือดร้อน เป็นการคุ้มครองปกติภาพของทุกๆ คน เพื่อได้อยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข เมื่อคนรักษาศีลตลอดไปถึงสัตว์เดรัจฉาน คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตลอดถึงในสัตว์ดิรัจฉาน ก็ชื่อว่าได้แผ่ความปกติสุข ให้กว้างออกไปถึงสัตว์ดิรัจฉานทั่วไปด้วย เรียกว่าเป็นการให้อภัยทานแก่สัตว์ทั่วไป

มีปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่มิใช่น้อยว่า
พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้ฆ่าสัตว์
แต่ทำไม จึงไม่ทรงห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์
เมื่อบริโภคเนื้อสัตว์ได้ก็ต้องมีการฆ่าสัตว์
ไม่เป็นอันอำนวยให้ฆ่าสัตว์โดยอ้อมหรือ

ในการเฉลยปัญหานี้ ควรแสดงข้อที่เป็นมูลฐานก่อนว่า
การทำอะไรแก่สัตว์ที่ตายแล้ว
จะบริโภคก็ตามจะนำไปเผาไปฝังก็ตาม
ไม่เป็นปาณาติบาตคือฆ่าสัตว์
เพราะไม่เป็นการทำร้ายแก่ร่างที่ปราศจากชีวิตแล้ว
ไม่มีภาวะเป็นสัตว์มีชีวิตเหลืออยู่


เมื่อได้ความจริงชัดเจนดังนี้แล้ว จึงมาถึงปัญหาว่า
ถึงไม่เป็นปาณาติบาต
แต่ก็ควรบริโภคหรือไม่

ปัญหานี้ตอบตามพระวินัยว่า พระพุทธเจ้า ทรงห้ามมิให้ภิกษุบริโภคอุทิสสมังสะแปลว่าเนื้อเจาะจง คือเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อปรุงอาหารถวายพระภิกษุ เมื่อภิกษุได้เห็น ได้ยิน หรือรังเกียจสงสัยว่าเป็นเนื้อเช่นนั้น ห้ามมิให้ฉัน

ทรงอนุญาตให้ฉันได้แต่ปวัตตมังสะแปลว่า เนื้อที่เป็นไปทั่วไป คือเนื้อที่เขาทำไว้สำหรับคนทั่วไปบริโภค ถึงภิกษุจะฉัน

หรือไม่ฉันเขาก็ทำบริโภคกัน
แม้เช่นนั้นก็ทรงอนุญาตให้ฉันได้แต่เนื้อสุก
ไม่ให้ฉันเนื้อดิบ เป็นอันห้ามตลอดถึงกะปิดิบ
น้ำปลาดิบ (ผู้รู้พระวินัย เมื่อจะใช้กะปิหรือ น้ำปลาดิบประกอบอาหารเพื่อพระภิกษุ จึงทำให้สุกก่อน) และทรงห้ามมิให้ฉันเนื้อ ๑๐ จำพวกที่ชาวโลกเขารังเกียจกัน คือ

เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสีหะ
เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

การที่ทรงห้ามอุทิสสมังสะ เป็นอันตัดทางมิให้อำนวยปาณาติบาต

ถ้ามีปัญหาต่อไปว่า ถ้าห้ามปาณาติบาตไม่สำเร็จ จะบัญญัติศีลห้ามไว้ทำไม จะไม่เหมือนบัญญัติห้ามไว้เล่นๆ และผู้รับก็รับกันเล่นๆ ไปหรือ จะบัญญัติไว้อย่างไรในศาสนาอื่นคือห้ามบ้าง อนุญาตบ้าง เช่น ห้ามฆ่าคน อนุญาตให้ฆ่าสัตว์ดิรัจฉานได้

ข้อนี้ตอบได้ง่ายว่า พระพุทธเจ้า ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาในสัตว์โลกเสมอกัน จะทรงบัญญัติดังนั้นไม่ได้ นึกดูถึงคนเราธรรมดาทุกคน เมื่อมีสัตว์เลี้ยงก็ฆ่าไม่ได้ เพราะอำนาจเมตตากรุณานั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อเมตตากรุณาแผ่ออกไปยังสัตว์ใดๆ ก็ฆ่าสัตว์นั้นๆ ไม่ได้ เมื่อแผ่ออกไปในสัตว์ทั้งปวงทั่วโลกก็ฆ่าไม่ได้ทั่วโลก ไม่ต้องมีใครห้าม คนที่มีเมตตา กรุณานั้นทำไม่ได้เอง เหมือนอย่างพ่อแม่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณาในลูกๆ ไม่อาจทำร้ายลูกได้ ไม่มีใครห้าม แต่ทำไม่ได้เอง ซ้ำคอยป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่ลูกด้วยประการทั้งปวง

พระพุทธเจ้า ทรงมีพระเมตตากรุณาในสัตว์ทั่วหน้า เสมอกัน เหมือนอย่างพ่อแม่ของโลก จึงไม่ทรงเบียดเบียนแม้ด้วยความคิดแก่สัตว์โลกไหนๆ เลย และประทานความคุ้มครองทั่วหน้าเสมอกันหมด ปราศจากอคติในทุกๆ ชีวิต จึงไม่มีข้ออ้าง เพื่อประโยชน์ตน อย่างเรื่องหมาป่าอ้าง เพื่อจะกินลูกแกะในนิทานอิสป อยู่ในพระพุทธศาสนาเลย

ส่วนที่ว่าจะเป็นการบัญญัติไว้เล่นๆ เพราะห้ามไม่สำเร็จนั้น ก็ไม่เป็นดังนั้น เพราะผู้ที่ถือศีลข้อนี้และข้ออื่นๆ ทั้ง ๕ ข้อหรือยิ่งกว่า ชั่วระยะกาลบ้าง เป็นนิตย์บ้าง ก็มีอยู่มิใช้น้อย แม้ผู้ที่นับถือลัทธิศาสนาอื่นบางลัทธิศาสนา ถือไม่ฆ่าสัตว์ทั้งปวงก็มี

ฉะนั้น ถ้าไม่มีศีลข้อนี้หรือมีอย่างยกเว้น ศีลในพระพุทธศาสนาก็จักขาดตกบกพร่อง แสดงว่าด้อยด้วยคุณธรรม และแม้มีข้อยกเว้นก็ยิ่งไม่จำเป็น เพราะไม่ยิ่งไปกว่ากฎหมายของบ้านเมืองซึ่งบัญญัติในแบบยกเว้นอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่ถือปฏิบัติก็ต้องมีตามกระแสโลกมิใช่เฉพาะศีลเท่านั้น

แม้หลักธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน มีคนปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะหาว่ามีคนปฏิบัติได้น้อยแล้ว เลิกเสียหาควรไม่ เหมือนอย่างการตั้งโรงเรียนชั้นสูงจนถึงมหาวิทยาลัย มีชั้นของการศึกษาตลอดถึงปริญญาต่างๆ

จะหาว่ามีคนเข้าเรียนสำเร็จได้น้อยแล้ว เลิกล้มเสียก็หาควรไม่เช่นเดียวกัน เพราะคนที่สามารถปฏิบัติ สามารถเรียนสำเร็จได้มีอยู่ ถึงจะน้อยคนก็เป็นประโยชน์แก่หมู่ชนเป็นอันมาก เพราะโลกยังต้องการคนดี ต้องการคนฉลาดที่เรียกว่าคนชั้นมันสมองอยู่ทุกเมื่อ

ส่วนที่มีบางคนกลัวว่า ถ้ารักษาศีลกันเสียหมดประเทศชาติจะไปไม่รอดนั้น ข้อนี้ไม่ต้องกลัว ควรจะกลัวว่าจะไปไม่รอดถ้าไม่รักษาศีลกันให้มากกว่านี้

คิดดูง่ายๆ ถ้าต่างทำร้ายชีวิตร่างกายกัน อย่างลักขโมยฉ้อโกงกันไปหมด เพียงเท่านี้ก็ไปไม่รอดแล้ว ถึงในหมู่โจรที่ไม่มีศีลแก่คนอื่น ก็ต้องมีศีลในพวกของตน ถ้าไม่มีศีลในพวกของตน คือฆ่ากันเองคนโกงกันเองก็คุมกันอยู่ไม่ได้ เป็นโจรไปไม่รอดเหมือนกัน

ฉะนั้น คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะอยู่ด้วยกันได้เป็นปกติสุข ก็เพราะมีศีลในกันและกัน เมื่ออยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมืองก็เหมือนกัน ความเดือดร้อนไม่เป็นปกติสุข เกิดจากคนไม่มีศีลหรือคนทุศีล (ศีลทราม) ทั้งนั้น

จึงต้องมีการปราบปรามป้องกันตามควรแก่เหตุบ้านก็ต้องมีรั้วรอบขอบชิด และเครื่องป้องกันอื่นๆ เมืองก็มีตำรวจทหารเป็นต้น มีชาดกเป็นอันมากทางพระพุทธศาสนาเล่าถึงความฉลาดในการรักษาตนให้ปลอดภัย เช่น เล่าถึงวานรโพธิสัตว์ในชาดกหนึ่งว่า

มีนางจระเข้ตัวหนึ่งแพ้ท้อง อยากจะกินเนื้อหัวใจของวานรตัวหนึ่งที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ จึงบอกแก่จระเข้ผู้สามี จระเข้นั้นจึงคิดอุบายเชื้อเชิญวานรให้ขึ้นหลังของตน เพื่อจะนำไปยังเกาะในระหว่างแม่น้ำ ให้บริโภคผลมะม่วงบนเกาะนั้น วานรเชื่อก็ขึ้นหลังจระเข้

ครั้นจระเข้ออกไปไกลตลิ่งแล้วก็เริ่มจมลงวานรถามว่าจมลงทำไม จระเข้ก็แจ้งว่าจะฆ่าวานรแหวะเนื้อหัวใจให้แก่ภริยาของตน วานรระงับความกลัว คิดอุบายช่วยตัวเองได้ทันที

จึงถามว่า ท่านคิดว่าเนื้อหัวใจของเราอยู่ทรวงอกหรือ เรากระโดดโลดเต้นอยู่เสมอ หัวใจเราต้องแตกเสียเป็นแน่ เราจึงต้องถอดเก็บไว้นอกตัว จระเข้ถามว่าเก็บไว้ที่ไหนเล่า วานรตอบว่าห้อยอยู่บนต้นมะเดื่อนั้น ไม่เห็นหรือ จระเข้หน้าโง่มองขึ้นไปเห็นผลมะเดื่อ ก็เชื่อว่าเป็นหัวใจวานร จึงให้วานรสัญญาว่าจะปลิดหัวใจนั้นให้ แล้วนำวานรไปส่งที่ฝั่งข้างโคนตันมะเดื่อ วานรขึ้นฝั่งได้แล้วก็กระโดดขึ้นต้นมะเดื่อ ปลิดผลมะเดื่อโยนไปให้จระเข้

คนที่มีศีลและฉลาด ดังเช่นวานรโพธิสัตว์ในชาดกนี้ไฉนจะไปไม่รอด เมื่อเป็นหัวหน้าหมู่ ก็นำหมู่ให้ไปรอดได้ด้วยส่วนคนไม่มีศีล เป็นผู้ทำลายทั้งศีลของตนทั้งศีลของผู้อื่นเพราะทำให้ผู้อื่นต้องลุกขึ้นป้องกันต่อสู้ เสียปกติภาพและปกติสุขไปด้วยกัน อย่างวานรต้องทำกลอุบายลวงจระเข้ เพื่อป้องกันตนตามความจำเป็น

เรื่องตามความจำเป็นนี้ ควรกล่าวย้ำอีกสักหน่อย ว่าตามความจำเป็นจริงๆ อย่าให้เป็นการตามใจ หรือตามความโลภ โกรธ หลง ของตนในฐานเป็นฝ่ายก่อเหตุ เพราะที่มักจะอ้างว่าจำเป็นอย่างพร่ำเพรื่อนั้น เป็นการตามใจมากกว่า

คนที่ประพฤติผิดศีลโดยมาก มักประพฤติโดยไม่จำเป็น เช่น ฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็น ลักทรัพย์โดยไม่จำเป็น เพราะไม่ทำก็ได้ ดังนี้เป็นการปล่อยตนไปตามใจที่ต่ำทรามนั้นเอง

พระพุทธเจ้า ได้ประทานหลักธรรมสำหรับคุ้มครองใจมิให้ต่ำทรามดังกล่าว คือ
หิริ ความละอายใจต่อความประพฤติชั่ว รังเกียจความชั่ว
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความประพฤติชั่ว


โดยปกติเราก็รังเกียจเกลียดกลัวคนโหดร้ายและโจร เป็นต้น แต่มักลืมรังเกียจเกลียดกลัวตนเอง ที่จะเป็นคนชั่วอย่างนั้นบ้าง ฉะนั้น ก็ให้ย้อนมานึกถึงตนให้ดี จะมีหิริโอตตัปปะขึ้นไม่ยากนัก และธรรมคู่นี้แหละ จักเป็นตำรวจประจำใจที่ดีนัก

อนึ่ง เมื่อพระให้ศีลแล้ว ก็บอกอานิสงส์คือผลที่ดีของศีลว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ แปลว่า ไปสู่สุคติ (การไป ทางไปที่ดี) ด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์มีด้วยศีล ถึงความดับทุกข์ด้วยศีลอานิงส์ศีลนี้

คิดดูง่ายๆ ว่าทุกๆ คนไปไหนๆ ไปโรงเรียน มาที่นี่ไปบ้านเป็นต้น โดยสวัสดีเพราะไม่มีใครทำร้าย ทรัพย์สิ่งของจะเก็บไว้หรือจะนำไปไหนก็ปลอดภัย เพราะไม่มีใครลักขโมย อยู่เย็นเป็นสุขเพราะไม่มีใครทำร้ายลักขโมย เป็นต้น

นี่แหละเป็นอานิสงส์ของศีลที่เห็นได้ง่ายๆ และทุกๆ คนต้องการศีล คนไม่มีศีลแก่คนอื่น เช่น ทำร้ายเขา ลักของเขา ก็ยังปรารถนาให้คนอื่นมีศีลแก่ตน คือ ปรารถนาไม่ให้ใครทำร้ายตน ลักของของตน เป็นต้น

ส่วนข้อวิตกว่าถือศีลไม่ร่ำรวยนั้น ไม่ร่ำรวยในทางทุจริตจริง ถ้าคิดดูโดยรอบคอบจักเห็นว่า ศีลเป็นข้อเว้นจากการถือเอาในทางทุจริต จึงไม่ได้ในทางนั้นตรงตัวอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ใครต้องเสีย ต้องยากจน เพราะทุจริตของตน ทั้งส่วนตัวทั้งส่วนรวม และเมื่อตั้งใจประกอบอาชีพโดยชอบด้วยความไม่ประมาท ก็จักตั้งตนได้โดยลำดับ

อันโภคทรัพย์นั้น เกิดจากอาชีพในทางชอบของคนเช่นข้าวที่บริโภค ตลอดถึงให้ขโมย ถ้าไม่มีใครทำนา มีแต่คอยจะขโมยข้าวเท่านั้น ก็คงไม่มีข้าวจะขโมย

ฉะนั้น ผู้ที่ถือเอาในทางทุจริตถึงจะร่ำรวยขึ้น ก็เหมือนปลวกอ้วน เพราะกัดเสากัดฝาเรือน ปลวกกัดเรือนยิ่งมากยิ่งอ้วนขึ้นเท่าไร เรือนก็ใกล้พังเข้าไปเท่านั้น จนอาจพังครืนลงไป ฉะนั้น โภคทรัพย์จะสมบูรณ์พูนเพิ่มก็เพราะพากันประกอบกระทำในทางที่ชอบที่สุจริต และไม่ทำตนเป็นปลวกอ้วนดังกล่าว

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแนะนำให้รักษาศีล แต่ไม่ทรงบังคับใคร เพราะเกี่ยวแก่จิตใจ เมื่อใครมีใจศรัทธาก็ต้องคิดเว้นให้เป็นวิรัติด้วยตนเอง จึงมีธรรมเนียมต้องขอศีลก่อน พระจึงให้ศีลแก่ผู้ขอ ตลอดถึงผู้ที่จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ต้องแสดงประกาศตนเอง ตามจิตใจศรัทธาของตน

นอกจากนี้พระพุทธเจ้า ยังไม่ทรงให้ปฏิบัติขัดขวางกับทางบ้านเมือง เช่นผู้ที่มาบวชก็ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา ถ้าเป็นข้าราชการก็ต้องได้รับอนุญาตให้ลาบวชได้ เพราะทุกๆ คนต่างมีสังกัดอยู่กับบ้านบ้าง กับเมืองบ้าง แปลว่าคนหนึ่งๆ มีหน้าที่หลายอย่างเมื่อรู้จักหน้าที่ของตนดีอยู่ และปฏิบัติให้เหมาะแก่หน้าที่ ก็จะรักษาไว้ได้ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งศาสนา ทั้งตนเอง ทั้งผู้อื่น

สามารถรักษา ปกติภาพ ซึ่งเป็นศีลตามวัตถุประสงค์ และรักษา ปกติสุข ซึ่งเป็นอานิสงส์ของศีลโดยสรุป และ ศีลนี้แหละเป็นมนุษยธรรม เพระทำให้ผู้ที่มีศีลได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์โดยธรรม คิดดูว่าคนไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่รู้จักผิดชอบประพฤติตนต่ำทรามจะควรเรียกว่ามนุษย์ได้อย่างไร

การทำตนให้อยู่ในระเบียบ อาจอึดอัดลำบากในขั้นแรกเมื่อทำจนเป็นปกติแล้วจักมีความสุข ทำตนให้อยู่ในศีลก็เหมือนกัน อาจอึดอัดทีแรก เมื่อเป็นปกติแล้วจักมีสุข

ความเป็นปกตินี้แหละเป็นตัวศีล ทำจนเป็นปกตินิสัยได้ก็ยิ่งดี เป็นศีลนิสัยไปทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แผ่เมตตาความปรารถนาสุขให้กว้างออกไป คนมีใจเมตตาจักไม่อึดอัดเพราะศีลเลย เพราะใจย่อมวิรัติงดเว้นด้วยอำนาจเมตตาเป็นปกติภาพเป็นปกติสุข


: คัดลอกจาก หนังสือเรื่องมนุษยธรรม
: พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สาธุ ...เจริญธรรมครับ.... ยิ้มเห็นฟัน
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง