Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง (๑) : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ค.2007, 1:15 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การปฏิบัติธรรม : ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)



ความหมายของการปฏิบัติธรรม

คำว่า “ปฏิบัติธรรม” นั้น หมายความว่าอะไร ปฏิบัติธรรมนั้น ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำการทำงาน คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริง หรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ถ้ายังไม่ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ

ในเมื่อปฏิปทาหรือปฏิบัตินี้ แปลว่า การเดินทางและทางที่เดิน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็คือ เอาธรรมมาในการเดินทางชีวิต หรือเอามาช่วยในการเดินทางชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตนั้นเป็นไปด้วยดี หมายความว่า ถ้าเราไม่เอาธรรมใช้ การเดินทางชีวิตของเราก็อาจจะผิด อาจจะเขว อาจจะพลาด อาจจะหลง อาจจะไปในทางที่เกิดความเสื่อมความพินาศ แทนที่จะเป็นทางแหงความสุขความเจริญ เราก็เลยเอาธรรมมาช่วย เอาธรรมมาปฏิบัติ ก็คือ เอาธรรมมาใช้ช่วยในการเดินทางชีวิตนี้ถูกต้อง เกิดประโยชน์ขึ้น

พูดง่ายๆ ว่า จึงว่า การปฏิบัติธรรม คือ การเอาธรรมมาใช้นั่นเอง ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ก็เลยเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัดไปอยู่ที่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงสวนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ใน ขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆ จังๆ ถ้าเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ Intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้ม หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง

ที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในทีนี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม คือ เอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้นทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เมื่อทำงานของตน ถ้าตนมีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ก็ศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจเล่าเรียน เล่าเรียนให้ได้ผล ก็เป็นการปฏิบัติธรรม เช่น เล่าเรียนโดยมีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คอยไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป อย่างนั้นก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม

ในการทำงานก็เหมือนกัน เมื่อมีอิทธิบาท ๔ การนำเอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ในการทำงานนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แม้แต่ออกไปในท้องถนน ไปขับรถ ถ้าขับรถรักษากฎจราจร ขับเรียบร้อยดี ไม่ประมาท มีความสุภาพ หรือลึกขึ้นไปจนกระทั่งว่า ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด มีความผ่องใส สบาย ในเวลาที่ขับรถนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือในการทำกิจหน้าที่นั้นๆ ให้ได้ผลแค่ไหนเพียงไร ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะเราทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตให้งามถูกต้อง

ปฏิบัติธรรมสำเร็จวัดด้วยอะไร ?

ในการตัดสินการปฏิบัติว่าใครก้าวหน้าไปแค่ไหน ใครเป็นผู้สำเร็จ ใครบรรลุอรหันต์หรือไม่ จะวัดกันด้วยอะไร พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วว่า คนเรานี่จะเขวง่าย จึงตรัสหลักการตรวจสอบไว้ การตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรง ก็คือให้ดูใจของตนเองว่า มีโลภ โกรธ หลงไหม แล้วละคลายไปแค่ไหน มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้แค่ไหนเพียงไร ไม่ว่าจะได้สมาธิสักเท่าใด ไมjว่าจะปลีกตัวไปอยู่ในที่สงัด ไปอยู่ป่าอยู่เขาขนาดไหน หรือแม้แต่จะได้รู้สึกประจักษ์แก่ตัวเองว่า เรานี้ได้สัมผัสกับความสุขอันประณีตลึกซึ้งภายใน ที่รียกว่า เนกขัมมสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ปุถุชนไม่รู้จัก แม้แต่ได้ความสุขอย่างนั้น ตราบใดที่ยังไมสิ้นอาสวะก็อย่าเพิ่งวางใจ

แรงขับเคลื่อนที่จะเริ่มปฏิบัติธรรม

คนเราจะออกเดินทาง ถ้าจะให้ดีก็ควรจะต้องมีเสบียงเดินทาง มีทุน มีเสบียง มีเครื่องประกอบเหมือนกัน อย่างน้อยก็มีความเชื่อขนาดหนึ่งละว่า ทางนี้ก็คือทางที่จะพาเราไปสู่จุดหมายได้ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่เริ่มเดินทาง คนที่จะเดินทางชีวิต คือ ปฏิบัติธรรม จะต้องมีความเชื่อขั้นพื้นฐาน ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพระพุทธเจ้า เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาได้

ฉะนั้น การที่จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรม จะต้องมีความเชื่อว่า มนุษย์นี้สามารถพัฒนาตนเอง จนกระทั่งมีปัญญาสูงสุด ตรัสรู้เป็นพุทธะได้ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้

“ทนโต เสฎโฐ มนุสเสสุ"

ในหมู่มนุษย์นี้ มนุษย์ทีฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น มนุษย์ที่ฝึกแล้ว หรือมีการศึกษา หรือพัฒนาแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐสุด

ปฏิบัติธรรมวัดผลอย่างไร ?

การตรวจสอบหรือวัดผล ให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง โดยดูว่า โลภ โกรธ หลง มีน้อย หรือมาก ได้ละให้เบาลง หรือหมดไปหรือยัง แต่นั่นเป็นการตรวจสอบ โดยพูดเชิงลบอย่างรวบรัด

ก. กุศลกรรมที่เพิ่มขึ้น

โดยทั่วไปมีการวัดด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศลธรรม คือ จะต้องดูว่า กุศลธรรมเจริญขึ้นมาแทนที่อกุศลแค่ไหน หลักการวัความเจริญในการเดินตามมรรค หมวดหนึ่ง มี ๕ อย่าง ดังนี้

ประการที่ ๑ ว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นความดีงามมากขึ้นหรือไม่ มีศรัทธามากขึ้นหรือไม่

ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป มีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม ความสัมพันธ์กับโลก กับมนุษย์ กับสังคมดีขึ้นไหม มีศีลดีขึ้นไหม

ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับ ได้ค้นคว้าอะไรต่างๆ มากขึ้นไหม และกว้างขวางเพียงพอไหมในธรรมที่จะปฏิบัติต่อๆ ไป หรือในสิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หรือในการพัฒนาตน มีสุตะมากขึ้นไหม

ประการที่ ๔ มีความลด ละ กิเลส ได้มากขึ้นไหม มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงบ้างไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม มีจิตใจกว้างขวาง โปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่า จาคะมากขึ้นไหม

ประการสุดท้าย คือ ปัญญา เข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไหม สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงใช้ในการแก้ปัญหา และสร้างสรรค์พัฒนาให้เป็นผลดีหรือไม่ อันนี้เป็นตัวแก่นแท้ที่ต้องเป็นตัวคุมทั้งหมด

หลักนี้เรียกว่า อริยะวัฒิ แปลว่า ความเจริญของอริยชน ความเจริญแบบอารยะ ได้แก่ หลักวัดความเจริญหรือพัฒนาการของอารยชน ถ้ามีความเจริญเพียงว่ามีทรัพย์สิน เงินทองมากขึ้นอย่างเดียว แต่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้น ไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง หรือมีโทสะ มีความเกลียดชัง มีกิเลสต่างๆ มากขึ้น ก็เช่นเดียวกัน

ข. ดูการทำหน้าที่ต่อธรรมต่างๆ

ที่จริงหลักตรวจสอบมีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งเป็นการดำเนินตามอริยสัจ ๔ กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่ การดำเนินตามหลักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔ ในการปฏิบัติจึงต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่ อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อ ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด ก็ถือว่าเราเดินทางผิดแล้ว

อริยสัจ ๔ ข้อที่ ๑ “ทุกข์”

คือ ตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์ ก็คือ หน้าที่ที่เรียกว่าทำความรู้จัก ท่านเรียกว่า กำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา ถ้าจับไม่ถูก แล้วก็เดินหน้าไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้เสียก่อน แล้วก็เรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไมมีหน้าที่ไปเอาปัญหามาวุ่นวายไป มาเก็บ มากังวลใจ มาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ นี้เป็นประการหนึ่ง คือ รู้จักตัวปัญหาตามที่เป็นจริง

อริยสัจ ๔ ข้อที่ ๒ “สมุทัย”

คือ เหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัย ก็คือ สืบสวนค้นหามันให้พบ ให้รู้ว่ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วละมันให้ได้ แก้ไขกระบวนการให้สำเร็จ คือ กำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์ ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน

อริยสัจ ๔ ข้อที่ ๓ ”นิโรธ”

คือ ความดับทุกข์ การแก้ปัญหาสำเร็จหรือภาวะปราศจากปัญหา เป็นความมุ่งหมาย การแก้ปัญหาสำเร็จคืออะไร จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปหรือไม่ กระบวนการแก้ไขเป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่ามันคืออะไรและเป็นไปได้แล้ว เราก็มีหน้าที่ต่อมัน คือบรรลุถึงหรือเข้าถึง แต่การที่จะเข้าถึงมัน คือ จะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะกำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แก้ปัญหาได้ก็ดี จะต้องไปสู่ข้อสุดท้ายคือมรรค

อริยสัจ ๔ ข้อที่ ๔ “มรรค”

มรรคเป็นทางเดิน คือข้อปฏิบัติ ซึ่งเรามีหน้าที่ คือลงทำเป็นข้อสุดท้าย ต้องลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิตของมรรคเป็นต้นไปทีเดียว

ธรรมทั้งหมดจะเข้าในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์ หรือที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องประเภทหนึ่งนั้น จัดเข้าในจำพวกที่เรียกว่า ทุกข์ ซึ่งเป็นปัญหาและสิ่งที่ต้องเผชิญ

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สอง จัดเข้าในจำพวกสิงที่เป็นโทษ ก่อทุกข์ภัย หรือเป็นสาเหตุของปัญหา

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สาม จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่พึงประสงค์ หรือเป็นจุดหมาย และ

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สี่ จัดเข้าในจำพวกสิ่งที่จะต้องทำ หรือเป็นวิธีปฏิบัติ

และเรามีหน้าที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง อย่างที่หนึ่งทำความรู้จัก กำหนดให้ถูก อย่างที่สองกำจัดสาเหตุอย่างที่สาม คือ เข้าถึงจุดหมาย และอย่างที่สี่ คือ ลงมือทำ หรือลงมือเดินทาง

หลักการนี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือ ในเวลาที่ไปเกี่ยวข้องกับธรรม ก็ควรจะจัดให้ถูกด้วยว่า ธรรมนั้นอยู่ในประเภทไหนใน ๔ ข้อนี้ เมื่อจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ว่า หน้าที่ต่อข้อนั้นคือเราจะต้องทำอะไร และอย่างไร

ธรรม ๔ ประเภทนั้น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะตามหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อมัน คือ

๑. สิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์ เป็นปัญหา เป็นที่ตั้งของปัญหา หรือเป็นจุดเกิดปัญหา เมื่อมนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เรียกว่า “ปริญไญยธรรม” คือ สิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หรือทำความรู้จัก

ตัวอย่างเช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิต โลก ความผันผวน ปรวนแปร วิปโยค โศกเศร้า ผิดหวัง ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด ความจำ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ไตรลักษณ์ และธรรมอื่น ๆ ทำนองนี้)

๒. สิ่งทั้งหลายที่เป็นจำพวกเหตุก่อทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา เรียกว่า “ปหาตัพพธรรม” คือ สิงที่จะต้องละ เลิก แก้ไข กำจัด

ตัวอย่างเช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง วามเห็นแก่ตัว ความถือตัว ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความเกลียดชัง ความริษยา ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความเฉื่อยชา ความฟุ้งซ่าน ความระแวง ความประมาท ความ โง่เขลา ฯลฯ (อกุศลมูล กิเลส มานะ ทิฏฐิ อวิชชา อุปาทาน สังโยชน์ นิวรณ์ และธรรมอื่นๆ ทำนองนี้)

๓. สิ่งทั้งหลายที่พึงประสงค์ เป็นจุดหมายที่ควรทำให้สำเร็จ หรือควรได้ควร ถึงเรียกว่า “สัจฉิกาตัพพธรรม” คือ สิ่งที่จะต้องเข้าถึง หรือประจักษ์แจ้ง

ตัวอย่างเช่น ความสงบ ความร่มเย็น ความบริสุทธิ์ ความปลอดโปรงโล่งเบา ความผ่องใส ความเบิกบาน ความไร้ทุกข์ ความสุขที่แท้ สุขภาพ สภาวะ ปลอดพ้นปัญหา ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ฯลฯ (วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน และธรรมอื่นๆ ทำนองนี้)

๔. สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ต้องทำบำเพ็ญ เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า “ภาเวตัพพธรรม” คือ สิ่งที่จะต้องทำให้มีให้เป็นขึ้น ให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนขึ้น หรือต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ

ตัวอย่างเช่น เมตตา ไมตรี หรือมิตรภาพ กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผือแผ่ ความเสียสละ ความขยันหมันเพียร ความมีกำลังใจ ฉันทะ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ (มรรค ไตรสิกขา สมถะ วิปัสสนา และธรรมอื่นทำนองนี้)

รายละเอียดของธรรม ๔ ประเภท หรือการจัดประเภทสิ่งทั้งหลายในโลกมีอย่างไร จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่พูดง่ายๆ ว่า หลักนี้ทานให้ใช้การตรวจสอบวัดผลสำเร็จในการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรมว่า

- สิ่งที่ควรกำหนดรู้ เรากำหนดรู้หรือรู้จักแล้วหรือไม่
- สิ่งที่ควรแก้ไขกำจัด เราได้แก้ไขกำจัดแล้วหรือยัง
- สิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง เราประจักษ์แจ้งแล้วแค่ไหน และ
- สิงที่ควรปฏิบัติ จัดทำให้เกิด ให้มีขึ้นจนบริบูรณ์ เราได้ปฏิบัติจัดทำแล้วเพียงใด

ค. ดูสภาพจิตที่เดินถูกระหว่างทาง

ในการปฏิบัติธรรม คือ ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือฝึกฝนพัฒนาตนไปนั้น ระหว่างการปฏิบัติ พัฒนา หรือศึกษาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ควรจะสังเกตดูสภาพจิตใจของตนไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

ในกรณีทั่วไป ถ้าไม่มีเหตุพิเศษ เมื่อปฏิบัติถูกต้อง จิตเดินถูกทางก้าวหน้าดี ก็จะเกิดสภาพจิตที่ดีงามสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นทั้งคุณสมบัติของจิตนั้น และเป็นลักษณะของการปฏิบัติที่ได้ผล

ลักษณะของจิตที่เดินถูกทางนั้น ที่ควรสังเกตมี ๕ อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งทอดต่อกันตามลำดับ คือ

๑. ปราโมทย์ ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ
๒. ปิติ ได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ใจฟูขึ้น
๓. ปัสสัทธิ ได้แก่ ความรู้สึกผ่อนกายคลายใจ ใจเรียบรื่นระงับลงเย็นสบาย
๔. สุข ได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปรงใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น
๕. สมาธิ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน

พอสมาธิเกิดขึ้น จิตใจก็มีสภาพเหมาะแก่งาน ที่ท่านเรียกว่าเป็น กัมมนีย์ พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนา คิดการ และเป็นที่ทำงานของปัญญาอย่างได้ผลดี และสมาธิก็อาศัยองค์ ๔ อย่างแรกนั่นแหละ ช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น

สภาพจิต ๔ อย่างนี้ เป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีงามโดยตัวของมันเอง และเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จึงควรพยายามทำให้เกิดขึ้นและการทำสภาพจิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

เพียงแต่ข้อที่ ๑ ปราโมทย์ ทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานไว้มากๆ เมื่อปราโมทย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง จิตเดินดีแล้ว ท่านให้ความมั่นใจว่าจะลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย ดังคาถาธรรมบทที่ ๓๗๖,๓๘๑ ว่า

“ตโต ปาโมชชพหุโล ทุกขสสนต กริสสติ”
ลำดับนั้น เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้น

“ปาโมชชพหุโล ภิกขุ ปสนโน พุทธสาสเน
อธิคจเฉ ปท สนต สงขารูปสม สข”


“ภิกษุผู้เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า มากด้วยปราโมทย์ จะพึงบรรลุสันติบท ที่สงบระงับสังขาร เป็นสุข”


สาธุ สาธุ สาธุ


ที่มา : ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
มูลนิธิพุทธธรรม : พิมพ์ครั้งที่ ๓๐, หน้า ๓-๖.
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ค.2007, 10:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ

เจิญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะคะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 09 พ.ค.2007, 12:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอขอบพระคุณ web master เป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่ช่วยปรับ font และเพิ่มรูปของท่านผู้เขียน
ทำให้น่าอ่านขึ้นอีกมากค่ะ สู้ สู้

ที่สำคัญช่วยปรับสมณศักดิ์ของท่านป.อ.ปยุตฺโต ในปัจจุบันให้ถูกต้องด้วยค่ะ ปรบมือ

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง