Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ชีวิตผมกับคุณมีอยู่เพียงน้อยนิด (ปรีดา เรืองวิชาธร) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 08 พ.ค.2007, 3:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ชีวิตผมกับคุณมีอยู่เพียงน้อยนิด
[ Posttoday 16-03-50 ]


เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปเยี่ยมเยียนเพื่อนสนิทคนหนึ่งอายุจวนจะ ๔๐ แล้ว
แต่กำลังป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนและอาจจะตายลงในไม่ช้านี้
เพื่อนคนนี้เขาเข้มแข็งมาก

รักษาอารมณ์และให้กำลังใจตนเองกับคนรักรอบข้างได้ดีเยี่ยม
เขาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เรียนจบมาเกือบ ๒๐ ปี
ได้ทุ่มเททำงานต่อสู้ปัญหาอุปสรรคเต็มที่
จนตอนนี้ได้รับความสำเร็จทั้งในเรื่องงานและชีวิต
ชีวิตกำลังลงตัวและมีความสุข
พร้อมกับยังมีความฝันอีกหลายเรื่องกะว่าจะลงมือทำในปีหน้านี้
ความฝันที่ว่านี้เป็นกิจกรรมที่จะทำประโยชน์
เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่คงไม่ได้ทำเสียแล้ว

เขาสารภาพว่า ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตตนเองจะสิ้นสุดลงเร็วอย่างนี้
คิดเหมือนคนส่วนใหญ่ว่าคงจะตายอย่างน้อยก็อายุสัก ๗๐
เขาเตือนผมก่อนจะร่ำลาจากกันว่า
มีความฝันอะไรที่อยากทำหรืออยากทำอะไรที่ดีงาม
เพื่อตนเองและคนอื่น ให้ลงมือทำทันทีอย่าผลัดผ่อนอีกเลย
ชีวิตไม่ยืนยาวอย่างที่คิดมากนักหรอก
เพราะเราเสียเวลาเกือบทั้งหมด
ไปกับความเพลิดเพลินในการแสวงหาทรัพยสินเงินทอง
ความสำเร็จทางหน้าที่การงาน หรืองมงายกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
แต่กลับมีเวลาเพียงน้อยนิด เพื่อทำสิ่งดีงาม
และฝึกฝนจิตใจให้มองเห็นความจริงของชีวิต
ดังนั้นแม้คุณจะอายุยืนถึง ๑๐๐ ปี
แต่ชีวิตที่แท้จริงก็คงสั้นนัก

ผมเห็นด้วยกับคำเตือนของเพื่อนอย่างมิต้องสงสัย
และยิ่งมีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนด้วยแล้ว
แทบทุกคนล้วนคิดว่า ตนเองคงจะตายเมื่ออายุมากแล้ว
และอยากมีเวลากับกำลังวังชามากพอที่จะทำสิ่งดีงามที่คิดไว้
แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ
ดังนั้นการเตรียมตัวตายที่ดี
จึงไม่ได้หมายถึง เพียงการเตรียมตัวเตรียมใจปล่อยวางทุกสิ่งลง
แล้วน้อมนึกถึงคุณงามความดีทีทำมา
หรือทำใจให้สงบตอนช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงเท่านั้น
แต่ยังหมายรวมถึง การทำชีวิตให้มีคุณค่าความหมาย
โดยเฉพาะการเติบโตทางจิตวิญญาณ
ในขณะที่เรายังหนุ่มยังสาวมีเรี่ยวแรง
มากพอที่จะทำกิจที่พึงกระทำด้วย

เรื่องเกียวเนื่องกับการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทนั้น
พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนไว้หลายครั้งหลายคราว
อย่างในอรกานุสาสนีสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓)
ท่านได้ยกคำสั่งสอนของท่านศาสดาอรกะ
ที่กล่าวคำอุปมาของชีวิตว่า
มีความสั้นยิ่งนัก เหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า
ที่จะแห้งเหือดไปอย่างรวดเร็ว เวลาต้องแสงอาทิตย์
เหมือนคลื่นฟองน้ำที่แตกกระจายแล้ว ก็หายไปอย่างรวดเร็ว
หรือเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงบนพื้นน้ำ
ซึ่งรอยขีดย่อมกลับเข้าหากันและหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
ทั้งที่อายุขัยของมนุษย์ยุคของท่านศาสดาอรกะนั้น
ยืนยาวถึง ๖๐,๐๐๐ ปี
แต่ท่านก็ยังพร่ำเตือนว่าชีวิตมนุษย์นั้นสั้นนัก
มีทุกข์และคับแค้นมาก
พึงขวนขวายอบรมด้วยปัญญาและทำกุศลให้ถึงพร้อมเถิด
ดังนั้นยิ่งอายุขัยในสมัยของเราอย่างมากก็แค่ ๑๐๐ ปี
พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนอยู่เสมอว่า ให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท

นอกจากนี้พระองค์ยังเตือนว่า
สัตว์ทั้งหลายยากมากที่จะมีโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์
และเมื่อมนุษย์เราตายไปก็ยากเย็นแสนเข็ญ
ที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ดังในอามกธัญญเปยยาลสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙)
ทรงถามเปรียบเทียบให้สาวกฟังว่า
ฝุ่นที่ปลายเล็บของพระองค์ กับฝุ่นบนแผ่นดินอันไหนมีมากกว่ากัน
สาวกตอบว่า ฝุ่นในแผ่นดินย่อมมีมากกว่า
ฉันใดก็ฉันนั้นมนุษย์ที่ตายไปแล้ว
จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ (หรือเป็นเทวดา)
ย่อมมีน้อยเหมือนฝุ่นในเล็บของพระองค์
แต่จะไปเกิดในอบายภูมิหรือทุคตินั้นมีมากมายเหมือนฝุ่นในแผ่นดิน
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงชีวิตที่เราเป็นมนุษย์ จึงควรใช้โอกาสอันประเสริฐนี้
เพื่อฝึกฝนทำกุศลกรรมให้ถึงพร้อม
รวมทั้งฝึกฝนตนให้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นจนเหลือน้อยที่สุด
เพื่อจะได้ไม่เดินเข้าสู่วังวนแห่งสังสารวัฏอีกต่อไป

ดังนั้นในชีวิตประจำวันแต่ละขณะพระพุทธเจ้าจึงทรงเตือน
ให้พวกเราน้อมนึกถึงความตายของเราอยู่เสมอว่า
ชีวิตที่เหลืออยู่มีไม่มาก แล้วควรขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ
ฝึกฝนใจให้ไม่ติดใจเพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อหนัง
ไม่ติดยึดในร่างกาย ที่กำลังร่วงโรยไปเรื่อยๆ
และคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู
ดังในมรณสติสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒)
พระพุทธเจ้าตรัสถามสาวก ว่าการน้อมระลึกถึงความตาย
ของแต่ละท่านนั้นทำอย่างไร
มีภิกษุจำนวน ๖ รูปได้ทูลตอบไล่เรียงจากรูปแรกว่า
ท่านน้อมนึกว่าเราพึงมีชีวิตอยู่เพียง ๑ วันกับ ๑ คืน เท่านั้น
ดังนั้นจึงขวนขวายระลึกถึงคำสอนและปฏิบัติธรรมด้วยความเพียร
ภิกษุรูปที่สองทูลตอบว่า
ท่านน้อมนึกว่าเราพึงมีชีวิตอยู่เพียง ๑ วันเท่านั้น จึงต้องขวนขวายเช่นกัน
รูปที่สามทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันอาหารมื้อเช้าเท่านั้นฯ
รูปที่สี่ทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันข้าวเพียงสี่คำเท่านั้นฯ
รูปที่ห้าทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ฉันข้าวเพียงคำเดียวเท่านั้นฯ
และรูปที่หกทูลตอบว่า เราพึงมีชีวิตอยู่ได้แค่ขณะหายใจเข้าออกเท่านั้นฯ

เมื่อฟังสาวกตอบแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า
เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท
พึงเจริญมรณสติไว้เพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งหลายเถิด

ข้อคิดจากหลายพระสูตรที่กล่าวมา
หากใคร่ครวญและตระหนักไว้ในใจทุกขณะของชีวิต
ย่อมทำให้เราใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่าความหมาย
และเมื่อถึงคราวที่ความตายมาเยือนตรงหน้า
ก็จะไม่เสียวสะดุ้งหวาดกลัวได้ง่ายว่า
เสียดายที่เรายังไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ ก็ตายไปเสียก่อน
ดังนั้นนับจากนี้ไป เราควรสำรวจตรวจดูว่า
เรามีความฝันอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ลงมือทำ
หากไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียหายอะไร ก็ควรลงมือทำได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปปรนนิบัติพ่อแม่หรือคนรัก
เป็นอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทำงานหรือกิจกรรมที่ชอบ เขียนหนังสือ เป็นต้น

หากมีความขัดแย้งบาดหมางใจค้างคากับใครไว้
สิ่งแรกที่น่าทำก็คือ ลดความถือตัวถือตนลง
เพื่อให้อภัยคนนั้นรวมถึงให้อภัยตัวเอง
หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
การระลึกอยู่ในใจว่า เรามีเวลาเหลือในโลกอีกไม่มากแล้ว
เราจะเก็บความบาดหมางหรือโกรธเกลียดเพื่อสิ่งใด
ปล่อยวางสิ่งค้างคาภายใน เพื่อใจของเราจะโปร่งโล่งเบาสบาย
มิดีกว่าหรือ มากไปกว่านี้เราอาจดั้นด้นเดินทางไกล
เพื่อไปกล่าวคำขอโทษในสิ่งที่แล้วมา
และเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้กล่าวคำขอโทษเช่นกัน
สำหรับคนรอบข้างที่เรารักหากรู้สึกว่า
ยังไม่พูดหรือทำสิ่งใดที่ควรทำ
ซึ่งมันได้ห่างหายไปจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรัก
ก็ไม่ต้องผัดผ่อนอีกต่อไปแล้ว

ที่สำคัญที่สุดวันคืนที่กำลังล่วงไปแต่ละขณะ
หากเราต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งใดหรือกำลังเผชิญหน้า
กับเหตุการณ์ดีหรือร้ายก็ตาม
ควรสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งนั้นชนิดที่ไม่เข้าไปเพิ่มความรู้สึกว่า
มีตัวกูของกูแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ
ในทางกลับกันแต่ละเสี้ยวแต่ละขณะของการรับรู้สัมผัสนั้น
ควรเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกฝน
เพื่อให้ตัวกูของกูจากคลายลงไปเรื่อยๆ
จนความรู้สึกหมายมั่นอยากเอาอยากเป็นทั้งหลายทั้งปวง
ตายไปจากจิตใจเรา ก่อนที่เราจะตายจากโลกนี้ไปจริงๆ



โดย... ปรีดา เรืองวิชาธร


คัดลอกจาก...คอลัมน์ มองย้อนศร
[ เป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ ลงตีพิมพ์ใน โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์
เขียนโดย..ทีมงานพุทธิกา ]


http://www.budnet.info/webboard/view.php?category=texta&wb_id=114

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง