Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน (เจือจันทน์ อัชพรรณ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 5:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน
โดย เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 5:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือนี้
เป็นภาษาจีนโบราณ สมัยราชวงศ์หมิง
(ค.ศ.๑๓๖๘-๑๖๔๔ หรือ พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗)
ท่านผู้นิพนธ์มีนามว่า เหลี่ยวฝาน
(สังเกตจากที่ท่านเล่าให้ลูกฟัง
ท่านคงเกิดในราว ค.ศ.๑๕๔๙ หรือ พ.ศ.๒๐๙๒
ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่ออายุ ๖๙
หนังสือนี้ จึงมีอายุประมาณ ๓๖๓ ปี)

แรกเริ่มเดิมที ท่านมีนามว่า เอวี๋ยนเสวียห่าย
ท่านเป็นขุนนางจีนในแผ่นดินหมิง
ก่อนที่จะได้เข้ารับราชการ
ท่านได้พบพระเถระ ที่ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่ง
ได้สอนให้ท่านเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ท่านเหลี่ยวฝาน จึงตั้งปณิธาน
ที่จะหลุดพ้นจากความเป็นปุถุชนให้ได้
โดยพัฒนาตนเอง ด้วยวิธีของพระผู้มีพระภาค
คือ การปฏิบัติอย่างจริงจัง ในศีล สมาธิและปัญญา
แล้วเปลี่ยนชื่อตนเองเสียใหม่ว่า "เหลี่ยวฝาน"
ซึ่งมีความหมาย ตรงตามปณิธานที่ตั้งไว้

เมื่อการปฏิวัติราชวงศ์แมนจูของท่านซุนยัดเซ็น
ผ่านไปได้ ๓๐ ปี พ.ศ.๒๔๘๕
เป็นขณะที่วัฒนธรรมตะวันตก ได้ไหลหลั่งเข้ามา
ท่วมท้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน อย่างน่ากลัว
นักปราชญ์ชาวพุทธจีนท่านหนึ่ง
มีนามว่า ฮหวางจื้อห่าย ท่านเห็นว่า
หนังสือของท่านเหลี่ยวฝานนี้
มีคุณค่าต่อชีวิตของท่านอย่างล้นเหลือ
จึงใคร่จะให้อนุชนรุ่นต่อๆ ไป ได้ศึกษา
และถือเป็นแบบฉบับ ในการประพฤติดี
ปฏิบัติชอบอย่างทั่วถึง
เพื่อหยุดยั้งกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตก
เพื่ออนุรักษ์ความเป็นคนจีนดั้งเดิม
ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม ความดีงาม
ตามหลักธรรมคำสั่งสอน
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คงอยู่ต่อไป
โดยที่ต้นฉบับ เป็นหนังสือจีนโบราณ
มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
ยากที่คนรุ่นปัจจุบัน จะเข้าถึงอรรถรสได้ทั้งหมด
ความจริง ท่านฮหวาง ต้องการอนุรักษ์หนังสือจีนโบราณไว้
เพื่อให้ชาติจีนคงอยู่ ถึงกับสอนหนังสือจีนโบราณ
ตั้งแต่ชั้นเล็กๆ ในโรงเรียนของท่าน
ภาษาสมัยใหม่ เพียงแต่ใช้ประกอบการอธิบาย
ให้นักเรียนเข้าถึงอรรถรส ของหนังสือจีนโบราณยิ่งขึ้นเท่านั้น
แต่มีผู้ขอร้องท่านว่า การอ่านหนังสือที่ดี
แต่ไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย
ทำให้ผู้อ่าน ขาดความกระตือรือร้น
และเมื่อหมดความสนใจเสียแล้ว ก็ย่อมไม่ได้ผล
สมเจตนารมณ์ที่ท่านตั้งไว้
ท่านเห็นด้วย จึงเริ่มเรียบเรียงเสียใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕
พิมพ์ด้วยหนังสือจีนปัจจุบัน
ที่เป็นภาษาพูดของชาวบ้าน
เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือเลย
เมื่อมีคนอ่านให้ฟัง ก็จะเข้าใจ สามารถนำไปปฏิบัติ
ให้ได้ผลดั่งผู้ที่รู้หนังสือเช่นกัน

สาธุ นักปราชญ์ที่เข้าถึงพุทธธรรม
ย่อมไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่เสมอไป
ท่านยอมโอนอ่อนตามความจำเป็น
เพื่อประโยชน์สุขของชนหมู่มากเป็นที่ตั้ง
ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับประโยชน์นี้เป็นอย่างยิ่ง
จึงขอกราบขอบพระคุณท่านฮหวาง มา ณ ที่นี้ด้วย
เมื่อท่านเรียบเรียงดีแล้ว
ก็นำไปขอให้ท่านอาจารย์เจี่ยงเอว๋ยเฉียว
ตรวจแก้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความไม่ประมาท
เพราะท่านต้องการให้หนังสือนี้
ขาดตกบกพร่องน้อยที่สุด
ท่านอาจารย์เจี่ยง ก็เป็นอีกท่านหนึ่ง
ที่ได้รับอิทธิพลอันดีงาม จากหนังสือเล่มนี้มากมาย
ท่านเขียนเล่าไว้ว่า เมื่อท่านอายุได้ ๑๕-๑๖ ปีนั้น
ร่างกายอ่อนแอ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ขาดเรียนเสมอ
ท่านบิดา จึงนำหนังสือนี้มาให้ท่านอ่าน
ท่านยิ่งอ่าน ก็ยิ่งชอบใจ ถึงกับลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำ
ในหนังสือทันที
โดยทำบัญชี บันทึกความดี ความชั่วของท่านเอง
ที่เป็นความนึกคิด และพฤติกรรมในแต่ละวัน
โดยไม่เข้าข้างตนเอง จากวัน เป็นเดือน
จากเดือนเป็นปี บันทึกอย่างละเอียดละออ
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกาย วาจา หรือใจ
เมื่อเวลาได้ผ่านไป ๒-๓ ปี
ปรากฏว่า ความชั่วได้ลดน้อยถอยลง
ความดีปรากฏมากขึ้น นิสัยใจร้อน ขี้โกรธก็หายไป
จิตใจสงบ เยือกเย็นเป็นสุข
หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
ด้วยคุณความดี ของหนังสือนี้โดยแท้
ทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงไป เป็นคนละคน กับแต่ก่อน
ท่านอาศัยแนวทาง ของหนังสือนี้
ดุจเข็มทิศ ดำเนินชีวิตไปได้ อย่างสงบสุขราบรื่น
ไม่มีอันต้องตกต่ำ เป็นอันธพาล
เพราะมิได้ก่ออกุศลกรรม
ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งกายและใจ แต่อย่างใด
ท่านจึงรับตรวจแก้ให้ ด้วยความเต็มอกเต็มใจยิ่ง
เพื่อบูชาพระคุณ ของท่านเหลี่ยวฝาน
เพื่อประโยชน์สุข ของอนุชนรุ่นหลัง
เพื่อความผาสุก ของประชาชาติทั้งมวลในโลกนี้

ในขณะที่หนังสือนี้ ออกสู่สายตาของชาวโลกอีกวาระหนึ่ง
ไม่ทราบว่า ท่านฮหวางอายุเท่าใด
แต่ท่านเจี่ยงนั้น อายุ ๗๑ ปี และยังเป็นอาจารย์
สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ถ้าท่านอายุยืนถึงวันนี้ ก็จะมีอายุ ๑๐๙ ปีแล้ว
สำหรับท่านเหลี่ยวฝานนั้น
ถ้าท่านมีอายุจนถึงวันนี้ ก็จะมีอายุ ๔๓๒ ปี โดยประมาณ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านทั้งสามจะสถิต ณ ภพใด
ข้าพเจ้า ผู้อ่อนทั้งคุณและวุฒิ ขอกราบคารวะท่าน
ด้วยความเคารพอย่างสูง และกราบขออนุญาตท่านทางจิต
ที่บังอาจคิดถอดความหนังสือนี้ เป็นภาษาไทย
อีกทั้งสมาคมพุทธธรรมแห่งฮ่องกงด้วย
ด้วยกุศลเจตนา ของท่านทั้งหลาย ที่กล่าวนามมานี้
และด้วยแรงกระตุ้นของมิสเตอร์ และมิสซิสโฮ
ที่มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับท่าน
เพียงปรารถนาให้พี่น้องชาวไทย ได้รู้จักกับหนังสือนี้
มีโอกาสนำไปประพฤติปฏิบัติได้
เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดีงาม
อันเป็นนิสัยของบรรพชนไทย
ที่ได้รับอิทธิพล ของพระพุทธศาสนา
อันชาวไทยรุ่นต่อๆ ไปควรรับไว้เป็นแบบอย่าง
ไม่ใช่ถูกคลื่นแห่งวัฒนธรรมตะวันตก
พัดพาไปตามยถากรรม จนคนไทยไม่เป็นตัวของตัวเอง
ได้โปรดหยุดทำตัวเป็นฝรั่ง
ดึงความเป็นไทยกลับคืนมา
ช่วยกันยังความผาสุก ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ
อันเป็นที่รักของเราชาวไทยเถิด
หากการถอดความทั้งหมดนี้
จะมีข้อขาดตกบกพร่องประการใด
ขอท่านได้โปรดให้อภัย แก่ข้าพเจ้า ผู้รู้น้อยด้วยเถิด
จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน


ท่านเหลี่ยวฝานเป็นชาวเจียงหนาน (กังหนำ)
อายุ ๔๓๓ ปีในปีนี้ หากท่านยังมีชีวิตอยู่
ท่านสอบจิ้นซื่อได้ และเข้ารับราชการเมื่ออายุ ๓๗ ปี
คนสมัยก่อน มีเวลาร่ำเรียนมากกว่าพวกเราสมัยนี้
ท่านจึงมีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้งยิ่งนัก
เชี่ยวชาญในวิชาการเกือบทุกแขนง
นอกจากพุทธธรรมที่ท่านสนใจมาก
จนสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้แล้ว
ท่านยังเป็นนักปราชญ์ ในทางอักษรศาสตร์
โบราณคดี คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์
โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เกษตรศาสตร์
อุทกศาสตร์ ธรณีวิทยา นิติศาสตร์
รัฐศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ
แม้ยุทธศาสตร์ ท่านก็ช่ำชอง
สามารถใช้ปัญญาเอาชนะโจรสลัดญี่ปุ่น
ที่โจมตีท่าน ในขณะปฏิบัติการทางทหารที่ชายแดน
ได้อย่างงดงาม ตำแหน่ง หน้าที่ราชการของท่านนั้น
ดำรงทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊
ซึ่งน้อยคนนัก จักมีความสามารถเช่นนี้

เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรม
แม้จะเป็นเวลาที่มิได้รับราชการแล้ว
ฮ่องเต้ก็ยังทรงระลึกถึง คุณงามความดีของท่านอยู่
จึงทรงสถาปนายศ และทรงประกาศเกียรติคุณของท่าน
ให้ปรากฏไปทั่วแผ่นดิน
ท่านไม่หวงแหน หรือกลัวจะหลุดจากตำแหน่งหน้าที่
ในราชการ ใครทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียเกียรติภูมิ
ใครใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม
ใครทำให้ประชาราษฎร์เดือดร้อน
ท่านจะต่อสู้อย่างสุดกำลัง
แม้ผู้นั้น จะมีความยิ่งใหญ่เพียงใด ท่านก็ไม่ยอมสยบ
แต่สำหรับตัวท่านเองแล้ว ใครจะใส่ร้ายป้ายสี
ท่านก็ไม่นำพา อิจฉากันนัก
ท่านก็กราบถวายบังคมลา ไปอยู่ถิ่นเดิมของท่าน
ท่านแต่งตำรับตำราไว้มากมาย
เป็นเพชรน้ำหนึ่งในสมัยหมิง


เมื่อครั้งท่านเริ่มรับราชการ เป็นนายอำเภออยู่ทางเหนือ
ซึ่งเป็นท้องที่ ที่ประสบอุทกภัยเสมอ
ท่านสามารถป้องกันน้ำท่วมได้
ด้วยวิธีการแยกพลังน้ำ ออกเป็น ๓ ทิศทาง
แม่น้ำสายเดียวแต่โบราณมา
ก็กลายเป็นสามสาย ด้วยปัญญาของท่าน
และความสามัคคีของชาวบ้าน
ที่คิดพึ่งตนเองอย่างไม่ย่อท้อ
ผนึกพลังอันน้อยนิดของแต่ละคน
รวมเป็นพลังมหาศาล ยิ่งใหญ่ เหนือพลังน้ำที่น่ากลัว
แล้วท่านให้ปลูกต้นหลิ่ว (หลิว) ตามริมฝั่งแม่น้ำ
และริมฝั่งทะเล ยาวสุดสายตา
คราใดที่คลื่นซัดเข้าฝั่ง ทรายจะติดอยู่บริเวณต้นหลิ่ว
ทับถมกันนานเข้า ก็กลายเป็นเขื่อนธรรมชาติ
ป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
ทางภาคเหนือของประเทศจีน มักจะมีพายุ
พัดทรายมาทีละมากๆ ก็ได้อาศัยต้นหลิ่วทั้งหลายนี้
ปะทะแรงลมและทรายไว้ได้

แม้ท่านจะกลับมาอยู่ถิ่นเดิม ในบั้นปลายของชีวิต
ท่านก็ไม่นั่งดูดาย คอยช่วยเหลือ
ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน อย่างใกล้ชิด
คิดค้นวิธีทำไร่ไถนา ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
ให้แผ้วถางพื้นดินที่รกชัฏ จนเกิดประโยชน์
แก่ผู้ที่ไม่มีที่ดินของตนเอง
นอกจากท่านจะสอน ให้ชาวบ้านมีความรู้กว้างขวาง
มีรายได้เพิ่มพูนแล้ว ท่านยังสอนให้ชาวบ้านรักกัน
ช่วยเหลือกัน เสียสละ และหมั่นบริจาคจนเป็นนิสัย
แต่ละวัน ท่านจะทำตารางการทำงานส่วนตัว
และส่วนที่จะทำเพื่อผู้อื่นไว้ล่วงหน้า
ท่านไม่เคยอยู่นิ่ง ทำงานตลอดวัน อย่างมีระเบียบ
ท่านฝึกสมาธิเป็นเวลา และสม่ำเสมอ
จนบรรลุฌาน และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนบรรลุญาณ


ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุ ๗๔ ปี
ในขณะที่บุตรของท่านอายุ ๔๒ ปีแล้ว
คือปี พ.ศ.๒๑๖๖ (ค.ศ.๑๖๒๓)
ผิดจากที่ท่านผู้เฒ่าข่งพยากรณ์ไว้ถึง ๒๑ ปี
โดยมิต้องบนบวงต่อฟ้าดิน
และท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์ มิต้องสะเดาะเคราะห์
ปล่อยนกปล่อยปลา
อันคุณงามความดีนี้ ช่างมีอานุภาพ ต่อชีวิตมนุษย์
ให้เห็นถึงปานนี้หนอ

ภรรยาของท่าน ก็ใจบุญสุนทร์ธรรม
ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เป็นคู่ชีวิต
ที่คอยส่งเสริมแต่ในทางที่ดีงาม
เป็นปัจจัยในการทำดี เพื่อกันและกันตลอดเวลา
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ภรรยาของท่านซื้อฝ้ายมาปั่น
เพื่อทำเสื้อหนาว ท่านเหลี่ยวฝานท้วงว่า
บ้านเรามีเสื้อหนาวอย่างดี ทำด้วยแพรเนื้อดี
สอดไส้ด้วยนุ่น อุ่นดีอยู่แล้ว
ไฉนจะให้ลูกใส่เสื้อหนาว ที่ทำด้วยผ้าฝ้ายถูกๆ เล่า
ภรรยาของท่านตอบว่า ก็เพราะฝ้ายนั้นถูก
จึงตัดใจขายเสื้อหนาวดีๆ ของลูกเสีย
ได้เงินมามากๆ เพื่อทำเสื้อหนาวแจกชาวบ้าน
ที่กำลังหนาวสั่นอยู่นี้ ได้ทั่วถึง
ท่านเหลี่ยวฝานดีใจมาก
พูดด้วยความตื้นตันใจว่า ถ้าแม่ใจบุญถึงปานนี้
ลูกของเรา จะไม่มีวันลำบากเป็นแน่แท้

บุตรของท่าน ก็สอบจิ้นซื่อได้เช่นท่าน
และได้เป็นนายอำเภอ ที่เมืองกว่างตง (กวางตุ้ง)
อีก ๒๑ ปีต่อมา ก็สิ้นแผ่นดินหมิง
ใน พ.ศ.๒๑๘๗ (ค.ศ.๑๖๔๔) ประเทศจีน
ตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวแมนจู
ที่สถาปนาราชวงศ์ชิง (เช็ง) ปกครองชาวจีน
ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย อยู่นานถึง ๒๖๗ ปี
ท่านซุนจงซาน (ดร.ซุนยัดเซ็น)
กับคณะ จึงได้ลบความเป็นเจ้าเข้าครอง
ออกจากประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ (ค.ศ.๑๙๑๑)

เป็นบุญของเราชาวไทย
ที่ไม่ต้องทนถูกเคี่ยวเข็ญเย็นค่ำ กรำไปถึง ๒๖๗ ปี
พระคุณของวีรกษัตริย์
และวีรชนของเรานั้น ใหญ่หลวงนัก
แม้ประวัติศาสตร์ จะได้จารึกความยิ่งใหญ่ไว้แล้ว
แต่เราก็จะต้องสำนึกในพระคุณ
จดจำไว้ในส่วนลึกของดวงใจ
เพื่อเป็นตัวอย่าง อันที่จะปกป้องแผ่นดินไทยต่อไป
ด้วยชีวิตของเราทุกคน

ท่านหานซานต้าซือ ศิษย์ของท่านอวิ๋นกุเถระ
เขียนประวัติ เมื่อท่านอาจารย์ได้จากไปแล้ว
ผู้ด้อยปัญญา ขอกราบคารวะท่านหานซานต้าซือ
กราบขออนุญาตท่าน จารึกประวัติของท่านอวิ๋นกุเถระ
ผู้พลิกชีวิตของท่านเหลี่ยวฝาน ดังต่อไป
นี้
ท่านอวิ๋นกุเถระ เกิดเมื่อ ค.ศ.๑๕๐๐ (พ.ศ.๒๐๔๓)
ในราชวงศ์หมิง ท่านเกิดก่อนท่านเหลี่ยวฝาน ๔๙ ปี
ท่านคิดบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สมัครเป็นศิษย์
กับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่วัดต้าอวิ๋นจื้อ อายุ ๑๙ ปี
เริ่มฝึกฌาน อายุ ๒๕ ปี บวชเป็นภิกษุ
ได้พบอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษ ณ วัดเทียนหนิง
จึงฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ตัดขาดจากกิจนิมนต์ทั้งหมด
นั่งเข้าสมาธิอยู่เป็นระยะๆ จาก ๗ วัน
เป็น ๑๔ วันครั้ง จนถึง ๔๙ วัน
แล้วกำหนดใหม่จาก ๑ เดือนครั้งเป็น ๒ เดือนครั้ง
ถึงหนึ่งปีเต็ม ไม่เคยก้าวล่วงธรณีกุฏิของท่านไปเลย
จิตท่านใสใจสว่าง แต่ท่านอาจารย์อธิบายว่า
การฝึกจิตเช่นนี้ ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
แล้วสอนให้ท่านฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔
ติดตามการเกิด-ดับของจิต ให้ได้ทุกขณะ
ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด

จงตั้งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ณ ที่นั้น
เมื่ออยู่ในความรู้สึกอย่างไร
จงตั้งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ณ ความรู้สึกนั้น
เมื่ออยู่ในสภาพจิตอย่างไร
จงตั้งจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ณ สภาพนั้น
เมื่อเผชิญกับสภาวธรรมใด
จงตั้งธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ณ สภาวะนั้น
ฝึกให้สติและสัมปชัญญะ
คอยกำกับบทบาททุกขณะ ของปัจจุบัน
ให้รู้เท่าทัน ให้รู้ทันท่วงที ให้รู้อย่างไม่ยินดียินร้าย
ให้รู้อย่างหมอที่กำลังตรวจคนไข้
ให้รู้อย่างผู้พิพากษากำลังวินิจฉัยคดี
ว่าขณะนี้ เรากำลังทำอะไรอยู่
กำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ กำลังมีสภาพจิตเป็นเช่นไร
กำลังเผชิญกับสภาวธรรมอะไร
เมื่อกระแสแห่งกิเลสตัณหา อุปาทาน
กำลังเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา
วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า
ชีวิตก็ล่วงไปๆ จงเพียรพยายาม
อย่าท้อถอย แม้แต่ก้าวเดียว แม้แต่ขณะจิตเดียว

ที่จะสำรวจตรวจดูสติสัมปชัญญะว่า
ได้เจริญงอกงาม มีประสิทธิภาพเพียงพอ
แก่การปฏิบัติธรรมหรือยัง
จนกว่าความรู้ความเข้าใจ
จะถึงจุดอิ่มตัว ก็จักหลุดพ้น
จากอิทธิพลของกิเลสตัณหา อุปาทานได้เอง


ท่านอวิ๋นกุเถระ จึงเริ่มฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔ อย่างจริงจังทันที
บางครั้ง ไม่ฉันไม่จำวัด ก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ท่านอิ่ม จากการฉันอาหาร
ท่านเผลอตัวเพียงขณะจิตเดียว
ชามข้าวก็ตกลงบนพื้น
ทันใดนั้น ท่านก็เข้าถึงความหมายของสติ
และสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์
ท่านรีบไปกราบเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง
ท่านอาจารย์ผงกศีรษะ รับรองวาระจิตของลูกศิษย์ว่า
ได้เข้าถึงสภาวธรรมแล้วจริง ตั้งแต่นั้นมา
จิตของท่านอวิ๋นกุเถระ ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น เป็นลำดับ
จนหลุดพ้นจากกามฉันทะ
คือ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย
และกระทบทางใจ หลุดพ้นจากความพยาบาท
อันเป็นความคิดให้ร้ายคน หรือสัตว์เสียได้
หลุดพ้นจากถีนมิทธะอันทำให้จิตมืดมัว
กายง่วงโงกเสียได้ หลุดพ้นจากอุทธัจจกุกกุจจะ
อันยังความตื่นเต้น ฟุ้งซ่าน หวาดหวั่น รำคาญใจเสียได้
หลุดพ้นจากวิจิกิจฉา อันยังความเคลือบแคลง
สงสัย ไม่แน่ใจ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม
ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียได้
การล่วงพ้นนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้
เป็นปัจจัยให้ท่านเข้าถึงความหมาย ของอุปาทานขันธ์ ๕
เห็นความเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไปของรูป
เห็นความไม่คงทน ต้องทรุดโทรม
แปรปรวน ไปตามเหตุปัจจัยของรูป ของเวทนา
ของสัญญา ของสังขาร และของวิญญาณ
(กระแสจิตที่รู้บทบาทของรูป เวทนา สัญญา สังขาร
เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป)
ท่านละสัญโญชน์ อันเป็นเครื่องจองจำชีวิต
ให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏสงสาร
คอยเชื่อมโยงอายตนะภายนอก
และภายในทั้ง ๖ ทวาร ให้เกิดความประมาท
ติดใจใหลหลงในรูปธรรมเสียได้


เมื่อท่านอวิ๋นกุเถระมีสติ และสัมปชัญญะ
ตั้งอยู่เฉพาะหน้าเช่นนี้แล้ว
กิเลสตัณหาอุปาทาน และความเห็นผิด
ย่อมอาศัยนอนเนื่อง อยู่ในจิตใจของท่าน ไม่ได้อีกแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ องค์ธรรมอันยิ่งใหญ่
คือโพชฌงค์ ๗ อันเป็นกลุ่มธรรมสามัคคี
ที่เกิดขึ้นด้วยกัน อิงอาศัย ให้คุณต่อกันและกัน
นำไปสู่องค์ปัญญาแห่งการตรัสรู้
กลุ่มธรรมอันประเสริฐยิ่งนี้เอง
ที่ทำให้ท่านอวิ๋นกุเถระ เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔
ทุกแง่ทุกมุมอย่างหมดจด
ข้ามพ้นความโศกและความร่ำไร
ดับได้ซึ่งความทุกข์และโทมนัส
มีแต่ความกระปรี้กระเปร่า ชื่นบาน
สงบสบายทั้งกายและใจ
อยู่อย่างเป็นกลางในทุกสิ่ง
แม้จะมีใครขอ ให้ท่านขนสัตว์ให้หมดโลกเสียก่อน
ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะเมื่อจิตได้หลุดพ้น
จากกระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเสียแล้ว
ย่อมไม่มีทาง ที่จะห่วงหน้า กังวลหลังได้อีก
พระพุทธศาสนาจึงมิใช่สอนให้ชาวพุทธ
ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ดังที่หลายท่านเข้าใจกันอยู่


มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ท่านอวิ๋นกุเถระ
กำลังนั่งเข้าสมาธิ จนกายไม่ไหวติงอยู่นั้น
ได้มีผู้ทรงอิทธิพลมาเที่ยววัด
เห็นท่านนั่งเฉย ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ก็โกรธ
หาว่าท่านไม่มีสัมมาคารวะ
ผรุสวาท อย่างไม่กลัวบาปกรรม
ท่านจึงย้าย ไปอยู่ที่วัดชีเสียซาน
อันเป็นสถานที่ๆ ท่านเหลี่ยวฝานไปกราบนมัสการท่าน
ในเวลาต่อมา และท่านก็ได้สอน ให้ท่านเหลี่ยวฝาน
ฝึกมหาสติปัฏฐาน ๔ เช่นเดียวกับท่าน

เมื่อท่านหานซานต้าซือ ไปกราบลาท่าน
เพื่อออกธุดงค์ ท่านให้โอวาทว่า โบราณท่านเดินธุดงค์
เพื่อมองเห็นตนเอง ขูดเกลาตนเอง
พัฒนาตนเอง เพื่อความหลุดพ้น
เจ้าจงสำเหนียกอยู่เสมอว่า
จะมีหน้ากลับมาพบพ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์
ญาติสนิทมิตรสหายได้อย่างไร
ถ้าเดินธุดงค์ โดยรองเท้าสึกเสียเปล่า
ไม่ได้รับปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
เป็นการสิ้นเปลืองเงินทอง ของผู้ที่ถวายรองเท้าเจ้ามา
ท่านหานซานต้าซือประทับใจในโอวาท จนสะอื้นไห้

ลูกศิษย์ของท่าน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกที
อุบาสก อุบาสิกามาฟังธรรมจากท่านเนืองแน่น
ท่านพูดน้อย พูดแต่ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
เสียงท่านชัดเจน ก้องกังวาน
ก่อนที่ท่านจะจากโลกนี้ไป
ท่านกลับไปยังบ้านเกิด โปรดผู้คนเป็นจำนวนหมื่น
จำนวนแสน อยู่มาคืนหนึ่ง เป็นคืนขึ้น ๕ ค่ำ
เดือนอ้าย ปี ค.ศ.๑๕๗๕ (พ.ศ.๒๑๑๘)
ชาวบ้านเห็นบนหลังคากุฏิที่ท่านอยู่สว่างไสว
เสมือนไฟกำลังลุกโชติช่วง
ฉะนั้น ครั้นรุ่งเช้า ชาวบ้านพากันไปที่วัด
ปรากฏว่า ท่านได้ดับขันธ์ไม่ไหวติงเสียแล้ว
ทุกคนจึงลงความเห็นว่า
ท่านดับขันธ์ ด้วยเตโชกสิณนั่นเอง

ขณะนั้น ท่านอายุ ๗๕ ปี พรรษา ๕๐
ท่านหานซานต้าซือ รำพึงรำพันว่า
ตั้งแต่ท่านออกธุดงค์ ได้พบพระเถระมากมาย
แต่จะหาใครสักรูปหนึ่ง ที่ทรงคุณวิเศษ
เช่นท่านอวิ๋นกุเถระไม่มีเลย
แม้ต่อมา ท่านหานซานต้าซือพรรษามากขึ้น
ก็ไม่สามารถลืมคำสอนของท่านได้
แม้ปฏิปทา ในศีลาจารวัตรของท่าน
ก็ได้นำมาประพฤติปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด
ที่หลุมฝังศพ ของท่านอวิ๋นกุเถระ
มีศิลาจารึก คุณธรรมอันสูงส่งของท่าน
โดยท่านเหลี่ยวฝาน ท่านหานซานต้าซือ
เห็นว่า ควรมีประวัติจารึกไว้
ให้ชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม
จึงเขียนประวัติ และคำสั่งสอนของท่านไว้
เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เสียดาย ผู้ด้อยปัญญาบันทึกไว้ได้เพียงนี้
ขอความหลุดพ้นจงเกิดแก่ท่านผู้อ่านเทอญ



ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 01 ต.ค.2006, 12:06 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต

พ่อนั้น กำพร้าท่านบิดามาแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐
ท่านย่าของลูกในเวลานั้น ก็มีอายุมากแล้ว
ท่านได้บอกให้พ่อเลิกคิดที่จะเป็นขุนนางเสีย
หันมาเรียนแพทย์จะดีกว่า
ท่านบอกพ่อว่า การเป็นแพทย์นั้น
นอกจากจะยึดเป็นอาชีพได้ดีแล้ว
ยังจะช่วยคนยากจนได้อีกด้วย
ถ้ามีความสามารถดีก็จะเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง
ซึ่งเป็นความปรารถนาของท่านบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว

ต่อมา พ่อพบผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ที่วัดฉืออวิ๋นจื้อ
ท่านมีเครายาว มีราศีผ่องใสยิ่งนัก
รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามราวกับเทพยดา
พ่อจึงคารวะท่านด้วยความเคารพ

ท่านพูดกับพ่อว่า เธอจะได้เป็นขุนนางนะ
ปีหน้าจะสอบผ่านได้ทั้งสามขั้น
ไฉนจึงไม่เรียนหนังสือเล่า

พ่อจึงเล่าสาเหตุให้ท่านฟัง
แล้วถามชื่อแซ่และที่อยู่ของท่าน

ท่านตอบว่า ท่านแซ่ข่ง เป็นชาวอวิ๋นหนาน
ได้เล่าเรียนวิชาโหราศาสตร์ อันเป็นตำราดั้งเดิม
ถ่ายทอดกันมาโดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมอันใดให้ไขว้เขวเลย
ซึ่งเป็นตำราของท่านบรมโหราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่
แห่งราชวงศ์ซ้อง พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๖๗๐
ท่านผู้เฒ่าข่งต้องการจะถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่พ่อ

พ่อจึงพาท่านมาบ้าน เพื่อมาพบท่านย่าของลูก
ท่านกำชับให้พ่อต้อนรับท่านผู้เฒ่าให้ดี
แล้วทดลองให้ท่านพยากรณ์ดู
ปรากฏว่าแม่นยำไปเสียทุกสิ่ง
แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ผิดพลาดเลย


พ่อจึงเริ่มเรียนหนังสือใหม่ ก็ท่านลุงของลูก
ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของพ่อนี่แหละ
ท่านได้แนะนำให้พ่อไปเป็นนักเรียนกินนอน
ที่สำนักเรียนแห่งหนึ่ง

ท่านผู้เฒ่าข่งได้พยากรณ์พ่อไว้ว่า
จะสอบผ่านทั้งสามขั้น
ขั้นแรกจะได้คะแนนมาเป็นที่ ๑๔
ขั้นกลางจะได้ที่ ๗๑
และขั้นที่สามจะได้ที่ ๙
ปรากฏว่าผลออกมาเช่นนั้นจริงๆ


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต่อมา ท่านก็พยากรณ์อนาคตของพ่อไว้ว่า
ปีใดจะสอบได้เป็นนักเรียนหลวง
ได้ข้าวพระราชทานเป็นจำนวนเท่านั้นถัง
ปีใดจะได้สอบขั้นสุดท้าย
ปีใดจะได้เป็นนายอำเภอ
เมื่อเป็นนายอำเภอแล้วสามปีครึ่ง
ก็ควรลาออกจากราชการ
เพราะอายุ ๕๓ ปี ก็จะสิ้นอายุขัย
จะนอนตายอย่างสงบ
ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘
เวลาระหว่างตี ๑-๓ น่าเสียดายจะไม่มีบุตรไว้สืบสกุล
พ่อได้บันทึกไว้ทุกคำ เพื่อกันลืม

ในกาลต่อๆ มา คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่าข่ง
ก็ยังคงแม่นยำเสมอมา
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านพยากรณ์ไว้ว่า
จะได้รับพระราชทานข้าวหลวงครบจำนวนหนึ่งแล้ว
จึงจะได้สอบขั้นสุดท้าย
เพื่อเตรียมตัวเข้าเมืองหลวงนั้น
ยังไม่ทันที่พ่อจะได้รับพระราชทานข้าวหลวง
ครบตามจำนวนที่ท่านพยากรณ์ไว้
พ่อก็ได้รับคำสั่งให้ไปสอบ
คราวนี้สอบตก พ่อเริ่มสงสัยในคำพยากรณ์อยู่ในใจ
แต่แล้วในปีต่อมา มีอาจารย์ท่านหนึ่ง
ที่เคยเป็นกรรมการตรวจข้อสอบให้พ่อ
ท่านเคยชมพ่อว่า คำตอบทั้ง ๕ ข้อของพ่อนั้น
เขียนได้ดี เหมือนขุนนางผู้ใหญ่
เขียนทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นต่อฮ่องเต้นั่นเทียว
ท่านว่า ถ้าคนไม่มีความรู้จริง
ย่อมเขียนไม่ได้เช่นนี้
ความสามารถของพ่อย่อมจักเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน
ไฉนจึงจะถูกทำลายอนาคตเสียเล่า
ท่านจึงสั่งให้พ่อไปทำงานกับท่าน
และให้รับพระราชทานข้าวหลวงย้อนหลัง
จนครบจำนวนที่ขาดไป
ปรากฏว่าเท่าจำนวนที่ท่านผู้เฒ่าข่งคำนวณไว้พอดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งทำให้พ่อเพิ่มความเชื่อถือ
ในคำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่าข่งยิ่งขึ้น
เพราะอุปสรรคที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น
ทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า
ชะตาชีวิตนั้น ได้ถูกลิขิตมาแล้วอย่างแน่นอน
ไม่ช้าก็เร็ว จะมีใครเป็นอุปสรรคอย่างไรก็หนีไม่พ้น
พ่อจึงปล่อยใจให้เป็นไปตามยถากรรม
ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่ทะเยอทะยาน
ขวนขวาย ไม่ดิ้นรนที่จะเอาดีไปกว่านี้อีกต่อไป
ทำให้จิตใจสงบดียิ่งนัก


เมื่อพ่อสอบได้แล้วเช่นนี้
ก็ต้องเดินทางเข้าเมืองหลวง (ปักกิ่ง)
อยู่ในมหาวิทยาลัยของหลวงหนึ่งปี
พ่อไม่ได้ดูหนังสือ หรือตำราเรียนใดๆ อีกเลย
เอาแต่นั่งสมาธิ ไม่พูดไม่จา ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น
พอครบหนึ่งปี พ่อก็ได้รับคำสั่ง
ให้ย้ายไปเข้ามหาวิทยาลัยของหลวงทางใต้ (นานกิง)
อันเป็นสถาบันสุดท้าย
ซึ่งนักศึกษาที่สอบไล่ได้ตามขั้นตอนต่างๆ
ในภูมิลำเนาเดิมของตนมาแล้ว
จะต้องเข้ามาฝึกฝนเตรียมตัวสอบ
เพื่อออกรับราชการต่อไป
แต่ก่อนที่พ่อจะเข้าไปยังสถาบันนี้
ได้แวะไปที่วัดชีเสียซาน
เพื่อคารวะท่านอวิ๋นกุเถระเสียก่อน
พ่อได้นั่งสมาธิกับท่านสองต่อสอง
เป็นเวลานานถึงสามวันสามคืน
โดยมิได้หลับนอนเลย

พระเถระกล่าวกับพ่อด้วยความแปลกใจว่า
อันธรรมดาปุถุชนนั้น จิตใจว้าวุ่นสับสน
จึงไม่สามารถบรรลุฌานได้
ส่วนพ่อนั้น ไฉนนั่งสามวันแล้วยังไม่เห็นจิตใจวอกแวกเลย

พ่อจึงเล่าสาเหตุให้ท่านฟังว่า
ท่านผู้เฒ่าข่ง ได้พยากรณ์อนาคตของพ่อไว้แน่นอนแล้ว
คิดวุ่นวายไปก็ไร้ประโยชน์
จึงทำใจให้สบายไร้กังวลดีกว่า


ท่านอวิ๋นกุเถระหัวเราะร้องว่า
โธ่เอ๋ย นึกว่าเป็นผู้วิเศษแล้วเสียอีก
ที่แท้ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่นั่นเอง


พ่อจึงกราบถามท่านว่า ทำไมจึงว่าพ่อเป็นปุถุชน
ท่านตอบว่า อันที่จริง คนเรานั้นถ้าจิตใจไม่ว้าวุ่น
ทำใจให้สงบได้แล้ว ก็เกือบจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พ้นจากความเป็นปุถุชนได้แล้ว
แต่คนธรรมดานั้นจิตใจยากที่จะสงบระงับได้
การฟุ้งซ่านนี่เอง ที่ทำให้คนเราถูกผูกมัด
ด้วยพลังอำนาจบวก และพลังลบของธรรมชาติ
ทำให้ไม่มีอิสระเสรี ต้องขึ้นกับดวงชะตาราศี
และการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้า
ที่โหราจารย์ได้คิดค้นทำสถิติกันไว้
โหราศาสตร์จึงมีขึ้นด้วยเหตุนี้
ก็มีแต่สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น
ที่จะถูกกำหนดได้ตามวิชาโหราศาสตร์


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แต่คนทำความดีมากๆ แล้ว
ชะตาชีวิตจักทำอะไรได้ โหราศาสตร์นั้น
หยั่งไม่ถึงกรรมดีกรรมชั่ว ของคนเราหรอก
วิชาโหราศาสตร์ จึงยึดถือเป็นบรรทัดฐานไปหมดมิได้
เพราะคนดีนั้น ถึงแม้ชะตาชีวิตจะบ่งไว้ว่าไม่ดีอย่างไร
แต่พลังแห่งกุศลกรรมนั้น ใหญ่หลวงนัก
สามารถพลิกความคาดหมายของโหราศาสตร์ได้
คนจน ก็กลายเป็นคนรวยได้
คนอายุสั้นก็กลายเป็นคนอายุยืนได้
ในทำนองเดียวกัน คนที่สร้างอกุศลกรรมอย่างหนักไว้
ชะตาชีวิตก็ไม่สามารถผูกมัดเขาไว้ได้เช่นกัน
แม้จะถูกลิขิตมาว่า จะได้ดีมีสุขอย่างไร
แต่พลังแห่งอกุศลกรรมนั้นหนักนัก
ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงความสุขเป็นความทุกข์
ความมีลาภยศ กลายเป็นหมดลาภยศ
ความอายุยืน ก็กลายเป็นอายุสั้นได้เช่นกัน
ท่านว่าพ่อนั้น ปล่อยชีวิตให้ขึ้นอยู่กับชะตากรรมมายี่สิบปี
ไฉนจะไม่ใช่ปุถุชนเล่า


พ่อกราบถามท่านอีกว่า ถ้าเช่นนั้น
ชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือ


ท่านตอบว่า ชะตาชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
อนาคตเราต้องสร้างของเราเอง
คนทำดีชะตาก็ดี คนทำชั่วชะตาก็ชั่ว
เมื่อต้องการอนาคตดีก็ต้องทำดี
ถ้าทำแต่ความไม่ดี แม้ชะตาจะดีก็กลายเป็นร้ายไปได้
ในพุทธธรรมก็ได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ใดต้องการลาภยศ ย่อมได้ลาภยศ
ผู้ใดต้องการบุตรธิดาย่อมได้บุตรธิดา
ผู้ใดต้องการอายุยืน ย่อมได้อายุยืน
หากประกอบแต่กรรมดี ย่อมสมปรารถนาแล
พระผู้มีภาคทรงกล่าวไว้เช่นนี้


พ่อซักท่านต่อไปว่า ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื่อได้กล่าวไว้ว่า
หากปรารถนาสิ่งใด ต้องได้สิ่งนั้น
ท่านคงหมายถึง สิ่งที่กระทำได้ทางนามธรรมละกระมัง
คุณธรรมความดีงามนั้น
เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างได้เองโดยไม่ต้องลงทุน
ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหน
แต่ทางรูปธรรมนั้น ยศถาบรรดาศักดิ์
ชื่อเสียงและความมั่งคั่ง จะแสวงหาได้อย่างไร
ถ้าไม่มีผู้หยิบยื่นให้

ท่านอวิ๋นกุเถระตอบพ่อว่า ท่านเมิ่งจื่อกล่าวไว้ไม่ผิดหรอก
พ่อเอง ที่เข้าใจคำสอนของท่านผิดไป
ท่านลั่กโจ๊วเคยกล่าวไว้ว่า
"ความสุขความเจริญทั้งมวล เกิดขึ้นที่ใจก่อนทั้งสิ้น
การแสวงหาใดๆ ก็ตาม ต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน
ไม่เพียงแต่จะได้คุณธรรมความดีงามทางธรรมเท่านั้น
ความสุขความเจริญ ลาภยศชื่อเสียง
อันเป็นความดีงามทางโลกก็จะติดตามมาเอง
เพราะฉะนั้น การแสวงหาแต่สิ่งที่ดีงามนั้น
ย่อมได้สิ่งที่ดีงามตามปรารถนา
ในทำนองเดียวกัน หากไม่สำรวจตนเอง
ไม่เริ่มต้นทำความดีจากตัวเราเอง
กลับดิ้นรน คิดแสวงหาจากภายนอก
แม้จะแสวงหามาได้
ก็เป็นเพียงได้ตามชะตากำหนดไว้เท่านั้น
ไม่ใช่ได้เพราะความดีของเรา
เพราะการแสวงหาจากภายนอกนั้น
อาจจะต้องใช้ความพยายามในทางที่ถูกบ้างผิดบ้าง
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล
ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา
แสวงหาด้วยแรงขับของกิเลสตัณหา
จึงไม่ทันได้คำนึงถึงศีลธรรม
เป็นการสูญเปล่าทั้งสองทาง
ทางธรรมก็เสียหายแล้ว ทางโลกก็เสียหายอีก
การแสวงหาจากภายนอกนั้น จึงไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร"


ท่านถามพ่อว่า ท่านผู้เฒ่าข่งพยากรณ์ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
พ่อก็เล่าให้ท่านฟัง อย่างละเอียด
ท่านจึงถามพ่อว่า เธอลองทายดูเองสิว่า
จะสอบได้เป็นขุนนางหรือเปล่า จะมีบุตรได้ไหม

พ่อคิดหาเหตุผลอยู่นาน โดยสำรวจตนเองตั้งแต่อดีต
จนถึงปัจจุบัน แล้วจึงตอบท่านว่า
เห็นทีจะสอบไม่ได้ และก็คงจะไม่มีบุตรอีกด้วย
พ่อให้เหตุผลท่านว่า คนที่จะได้เป็นขุนนาง
จะต้องมีบุญวาสนา ส่วนพ่อนั้น บุญวาสนาน้อย
ตนเองก็มิได้สั่งสมกุศลกรรมอันใดไว้
ให้เป็นพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างบุญญาบารมีใดๆ
นิสัยของพ่อก็ไม่ดี ไม่มีความอดทน
งานหนักไม่เอา งานเบาไม่สู้
ใครทำให้ไม่ถูกใจก็โกรธ ไม่ยอมให้อภัย
ใจคอคับแคบ บางครั้งยังอวดดี ว่ามีความรู้มากมาย
ยกตนข่มท่าน ใจคิดอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น
คนเช่นพ่อนี้ ไม่สมควรมาสอบเพื่อเป็นขุนนางกับเขาเลย

แล้วพ่อก็สาธยายให้ท่านฟังถึงเหตุผลที่คิดว่า
ตนเองไม่สมควรมีบุตรจริง
ดังคำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่าข่ง
ให้ท่านอวิ๋นกุเถระฟังต่อไปว่า
อันธรรมดานิสัยของพ่อนั้น
ชอบความสะอาดมากเกินไป
ไม่เป็นไปตามทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
โบราณท่านว่าไว้ อันพื้นดินนั้น ยิ่งไม่สะอาดเพียงใด
ก็ย่อมเจริญด้วยพืชพรรณนานาชนิด
น้ำที่ใสสะอาด มักจะไม่มีปลามาแหวกว่าย
ฉันใด พ่อนั้นชอบความสะอาดมากเกินไป
จึงย่อมไม่มีบุตร ฉันนั้น นี่เป็นเหตุผลประการที่หนึ่ง

ธรรมชาติสรรค์สร้างสรรพสิ่งให้มีความสมดุล
เพื่อให้ชีวิตเจริญเติบโตด้วยดี
แต่พ่อมักโกรธ ทำให้ร่างกายและจิตใจเสียดุลอยู่เป็นนิจ
ย่อมไม่สามารถมีบุตรได้ นี่เป็นเหตุผลประการที่สอง

ความเมตตาเท่านั้นที่ค้ำจุนโลกไว้
แต่พ่อนั้น จิตใจขาดความกรุณาปรานี
ไม่ยอมลดตนลงช่วยผู้อื่น เต็มไปด้วยอัสมิมานะ
(การถือเขาถือเรา ไม่ยอมลงให้ใคร)
ไฉนจักมีบุตรได้เล่า นี่คือเหตุผลประการที่สาม

การพูดมาก ทำให้สูญเสียพลัง
พ่ออดพูดมากไม่ได้ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง
นี่คือเหตุผลประการที่สี่

ชีวิตต้องอาศัยพลัง ลมปราณ และความมีชีวิตชีวา
อันเกิดจากชีวิตินทรีย์ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
ผสมอิงอาศัยกันอยู่ สามสิ่งนี้เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
คอยผดุงชีวิตไว้ให้ดำรงคงอยู่
พ่อดื่มเหล้ามาก เผาผลาญร่างกายตนเองอยู่เสมอ
ทำให้ปัจจัยทั้งสามนี้ลดน้อยถอยลง
จักมีบุตรได้อย่างไร แม้จะมีได้
บุตรก็จะไม่แข็งแรงและอายุก็คงไม่ยืน
นี่คือเหตุผลประการที่ห้า

ในยามกลางวัน คนเราไม่ควรนอน
ในยามกลางคืน ก็ควรนอนพักผ่อนให้สบาย
แต่พ่อไม่ชอบนอนกลางคืน
ชอบนั่งเข้าที่เป็นสมาธิอยู่ตลอดคืนได้เสมอ
ไฉนจักมีบุตรได้เล่า นี่เป็นเหตุผลประการที่หก
ที่ทำให้พ่อคิดว่า ชาตินี้พ่อจะมีบุตรไม่ได้
สมจริงดังคำทำนายเป็นแน่แท้
และนอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่พ่อทำผิดๆ ไว้อีกมากมาย
แม้จะพูดต่อไปก็คงไม่รู้จักหมดเป็นแน่

ท่านอวิ๋นกุเถระฟังพ่อพูดเสียยืดยาวแล้ว
จึงกล่าวว่า ไม่เพียงแต่พ่อไม่สมควร
จะเข้าสอบเป็นขุนนางเท่านั้น
ยังมีอีกหลายๆ สิ่ง ที่พ่อไม่สมควรจะได้รับด้วย

คนในโลกนี้ แม้จะอยู่ในภาวะแวดล้อมเดียวกัน
ในเวลาที่ไม่ต่างกัน แต่บางคนได้รับแต่สิ่งดีมีสุข
บางคนได้รับแต่ความยากจนเป็นทุกข์
มีความแตกต่างกันมากมาย
ผู้รู้ย่อมเข้าใจดีว่า นั่นล้วนแต่เป็นผลที่เกิดจากใจตนเอง
ทุกคนสร้างเหตุที่จะทำให้เกิดผลดีผลชั่วจากใจตนเองทั้งสิ้น
ผู้ไม่รู้ย่อมถือว่า เป็นชะตาชีวิต
ที่ลิขิตมาแล้วอย่างแก้ไขไม่ได้
หารู้ไม่ว่า ก็ทุกสิ่งเกิดจากใจตนเองแล้ว
ทำไมตนเองจะแก้ไขไม่ได้เล่า
คนที่ทำบุญให้ทานมากมาย
นั่นเขากำลังสร้างเหตุปัจจัย
เพื่อความเป็นเศรษฐีมีเงินพันชั่งร้อยชั่ง
ตามความมากน้อยที่เขาทำแล้ว
บางคนจนถึงขนาดอดตาย
นั่นก็เพราะเขาสร้างเหตุปัจจัยมาเช่นนั้น
มีความตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ยอมเกินเลยใคร
ทรมานกักขังสัตว์ให้อดอยาก และอดตายมาแล้ว
ผลจึงเกิดแก่เขาเช่นนั้น
หาใช่ฟ้าดินเกิดความลำเอียงไม่
ฟ้าดิน ก็คือ ธรรมชาติ ย่อมปรานีคนดี ลงโทษคนชั่ว
เหมือนดังที่ปรานี ต่อพืชพรรณธัญญาหาร
คอยหลั่งฝนมาให้ความชุ่มชื้น
คอยส่องความสว่าง มาให้ความเจริญเติบโต
และธรรมชาติก็จะดุดันกับความไร้คุณธรรม
กระหน่ำทั้งฝน พายุและสายฟ้า
มนุษย์ต้องตายไปท่ามกลางความดุดันของธรรมชาติ
ก็มีไม่น้อย ทั้งนี้ก็ย่อมขึ้นกับความดีความชั่วในตัวบุคคล
ใครดีก็จะได้รับการส่งเสริม
ใครเลวก็ลงโทษเสียบ้าง
เพื่อให้เกิดความสมดุลกัน

มีความเชื่อกันมาแต่โบราณกาลว่า
การจะมีบุตรหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับเหตุผลเดียวกัน
ผู้ที่ทำความดีติดต่อกันมาแล้วร้อยชาติ
ก็ย่อมมีบุตรหลานที่ดี
สามารถสืบสกุล ให้ยืดยาวได้ถึงร้อยชั่วคน
ผู้ที่ทำความดีมาสิบชาติติดต่อกัน
ก็ย่อมมีบุตรหลานที่ดี
สามารถสืบสกุล ให้ยืดยาวได้ถึงสิบชั่วคน
ผู้ที่ทำดีติดต่อกันเพียงสองสามชาติ
ก็ย่อมจะมีบุตรหลานสืบต่อไป สองสามชั่วคนเท่านั้น
ผู้ที่ไม่มีบุตรเลย ก็จะเห็นได้ว่า
ไม่เคยสั่งสมคุณธรรมความดี
ที่เป็นชิ้นเป็นอันมาบ้างเลย
นอกจากบางคนเท่านั้น
ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว
คือเป็นผู้ที่ไม่มีหนี้กรรมกับผู้ใดมา


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมชาติแห่งการมีบุตรธิดา
ถ้ามองตามทัศนะของกฎแห่งกรรมแล้ว
ก็คือ การเปิดหน้าบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้
ขึ้นมาสะสางกันอีกวาระหนึ่ง
บุตรธิดาบางคนเกิดมาทวงหนี้
ก็ทำตัวดื้อรั้นอวดดี
ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายเสียหาย
จนบิดามารดาไม่มีความสุขตลอดเวลา
ส่วนที่เกิดมาใช้หนี้บุญคุณ
ที่ติดค้างกันอยู่ในภพก่อนๆ
ก็มีความกตัญญูกตเวที ว่านอนสอนง่าย
เป็นที่พึ่งทั้งทางกาย และทางใจของบิดามารดา
นำความปลื้มปิติ ความภาคภูมิใจ
มาให้บิดามารดามีความสุข ความอิ่มใจอยู่เสมอ

กุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีต
ล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้ชีวิตต้องเวียนว่าย มาพบกันอีก
ตามกระแสของวิบากกรรม
มาเป็นพ่อแม่กันตามกรรมดีกรรมชั่ว
ที่แต่ละคนได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันมาแต่อดีต
ผู้ใดมิได้ก่อหนี้กรรมไว้กับใครเลย
ก็ย่อมไม่มีผู้ใดตามมาทวงหนี้หรือมาใช้หนี้
ก็ทำให้ไม่มีบุตรธิดาในชาติปัจจุบัน
ซึ่งในกรณีเช่นนี้มีน้อยมาก
ท่านเหลี่ยวฝานจึงมิได้กล่าวไว้ (ผู้ถอดความ)

แล้วท่านก็บอกพ่อว่า เมื่อพ่อรู้ตัวเองว่า
ไม่ดีอย่างไรบ้างแล้วเช่นนี้
และเข้าใจความเป็นไปของฟ้าดินแล้วไซร้
ก็จงรีบเร่งสั่งสมคุณธรรมความดีงามทันที
ไม่คอยแต่จับผิดผู้อื่น
สามารถให้อภัยได้
แม้ความผิดนั้นจะเทียบเท่าภูเขาก็ตาม
มีขันติอดทนต่อความไม่พอใจ
ไม่โกรธง่าย มีแต่ความเมตตากรุณา
ไม่พูดมาก ไม่ดื่มสุรา
รักษาสุขภาพให้ดีทั้งกายและใจ
สิ่งที่แล้วมาแล้ว ก็ให้คิดว่าตายไปแล้ว เมื่อวานนี้
แล้วเริ่มต้นสร้างสิ่งที่ดีงามขึ้นมาแทนที่
เหมือนเกิดใหม่ในวันนี้
มีชีวิตใหม่เพื่อสร้างสมคุณธรรมที่ดีใหม่
ไม่ใช่ชีวิตเก่าที่มีแต่เลือดเนื้อ
และเต็มไปด้วยความเป็นปุถุชน
สร้างชีวิตให้หลุดพ้นจากความครอบงำ
ของกิเลสตัณหาอุปาทาน
สามารถพัฒนาตนเองให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
แล้วชีวิตก็จะมีคุณค่า
ผิดแผกแตกต่างจากชะตาชีวิต
ที่ได้กำหนดไว้แล้ว ในคำพยากรณ์

ก็ร่างกายที่กอปรด้วยเลือดเนื้อนี้
ยังเป็นไปตามลิขิตของดินฟ้า
ทำไมกับชีวิตที่กอปรด้วยคุณธรรมความดีงาม
ฟ้าดินจะไม่หยั่งรู้ได้หรือ
โชคชะตาที่ฟ้าดินลิขิตมา
มนุษย์ยังพอหลีกเลี่ยงได้บ้าง
แต่เคราะห์กรรม ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง
ก็จะหนีไม่พ้นเลย มีผู้เขียนโคลงบทหนึ่งไว้ว่า

มนุษย์ต้องคอยสำรวจตนเองเสมอ
เพื่อจักได้ดำเนินชีวิตไปตามครรลองคลองธรรม

เมื่อกระทำแต่ความดีงามแล้วไซร้
ไฉนจักไม่ได้ความดีอันเป็นผลเล่า

ความดีความชั่ว จึงล้วนแต่ขึ้นอยู่กับ
พฤติกรรมของมนุษย์เองทั้งสิ้น
การที่ท่านผู้เฒ่าข่งพยากรณ์ไว้ให้นั้น
เป็นเพียงชะตาชีวิตที่ลิขิตจากฟ้าดิน
ย่อมมีทางแก้ไขได้ จงรีบสร้างคุณธรรมความดีงาม
เริ่มด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่เห็นแก่ตัว
เสียสละเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังการตอบแทน
อย่ามุ่งหวังแต่ชื่อเสียง ทำอย่างเงียบๆ
การปิดทองหลังองค์พระปฏิมานั้น
กลับได้บุญมากกว่า
ถ้ามีคนรู้เห็นกันมาก พากันสรรเสริญอนุโมทนาสาธุการ
ความมีชื่อเสียง ก็จะแบ่งความดีงามไปเสียมาก
บุญก็จะน้อยลง เพราะได้ผลในปัจจุบันไปเสียแล้วบ้าง
แต่ถ้าทำแล้วไม่โอ้อวดในความดีนั้น
ผลบุญก็จะเต็มดุจวารีที่เปี่ยมฝั่ง
ใครเล่าจะแย่งหรือแบ่งบุญของเราไปได้
การทำดีเช่นนี้ มีหรือจะไม่ได้เสวยผลแห่งความดีนี้

คัมภีร์โบราณชื่อว่า เอ็กเก็ง
ก็ได้เน้นถึงความดีความชั่วไว้อย่างละเอียดละออ
สอนคนดีให้รู้จักหลบหลีกจากกรรมชั่ว
สั่งสมแต่กรรมดี เพื่อจักได้ผลดีตอบแทน
หากว่าลิขิตของชะตาชีวิตเป็นสิ่งแน่นอนแล้วไซร้
จักหลีกเลี่ยงกรรมชั่ว สั่งสมแต่กรรมดีได้อย่างไร
ในหน้าแรกของคัมภีร์ก็กล่าวไว้ว่า
ครอบครัวใดสั่งสมแต่ความดีงาม
ไม่เพียงแต่หัวหน้าครอบครัวเท่านั้น
ที่จะได้เสวยผลแห่งความดีนั้น
แม้แต่ลูกหลานเหลนโหลน
ก็จะพลอยได้เสวยผลแห่งกรรมดีนั้นด้วย
วิเคราะห์ดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า
ชะตาชีวิตไม่สามารถควบคุมมนุษย์ไว้ได้เสมอไป
จิตใจมนุษย์สำคัญกว่า
จิตใจที่ดีงาม ย่อมกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม
และได้รับผลที่ดีงาม
ผู้มีจิตใจทราม ย่อมกระทำแต่สิ่งที่เลวทราม
และได้ผลที่ทราม
ท่านถามพ่อว่า เชื่อท่านหรือไม่เล่า

พ่อเชื่ออย่างมาก เพราะท่านพูดมีเหตุผล
พ่อจึงคุกเข่าลงกราบท่าน
เพื่อแสดงว่ารับคำสั่งสอนด้วยความเคารพอย่างสูง
แล้วพ่อไปนั่งลง ณ หน้าที่บูชาพระรัตนตรัย
สารภาพบาปในอดีตต่อพระพักตร์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหมดเปลือก
แล้วอธิษฐานขอให้ได้เป็นขุนนาง
ต่อนี้ไปจะเริ่มกระทำความดีให้ครบสามพันครั้ง
เพื่อตอบแทนพระคุณฟ้าดิน และบรรพชนของพ่อ

ท่านอวิ๋นกุเถระ เห็นพ่อมีความตั้งใจทำความดีถึงปานนี้
จึงเอาตัวอย่างบัญชีกรรมดีกรรมชั่วมาให้พ่อดู
แล้วสอนพ่อ ให้จดบัญชีพฤติกรรมของตนเอง
แต่ละวันอย่างละเอียดถี่ถ้วน
โดยไม่เข้าข้างตนเอง
ถ้าเป็นกรรมดีก็จดไว้ข้างหนึ่ง
ถ้าเป็นกรรมชั่ว ก็จดไว้อีกข้างหนึ่ง
เหมือนบัญชีรับจ่าย
ต้องนำกรรมชั่วไปลบกรรมดี
ให้เหลือกรรมดีสามพันครั้ง
โดยไม่มีกรรมชั่วที่ไม่ได้หักกลบลบหนี้แล้ว
จึงจะนับว่าทำความดีได้ครบสามพันครั้ง
ต้องนำบัญชีมาทบทวนดูทุกวัน
เพื่อเตือนใจให้รู้ว่าในวันหนึ่งๆ เราได้ทำอะไรไปบ้าง
ดีมากกว่าชั่ว หรือชั่วมากกว่าดี
อะไรผิดอะไรถูก จักได้แก้ไขปรับปรุงตนเอง
ไม่ทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
กรรมชั่วเบาๆ ก็ต้องลบความดีออกเสียหนึ่งครั้ง
กรรมชั่วหนักๆ ก็ต้องลบความดีออกหลายๆ ครั้ง
จนกว่าความดี จะครบสามพันครั้งดังที่ได้อธิษฐานไว้
แล้วสอนพ่อสวดมนต์บริกรรมคาถา เพื่อช่วยให้มีจิตมั่นคง
โดยอาศัยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสรณะ
เพื่อให้คำอธิษฐานหนักแน่นสัมฤทธิ์ผลเร็ววัน

ท่านยังเล่าให้พ่อฟังต่อไปว่า
ผู้ที่ชำนาญการวาดฮู้ (ลงเลขลงยันต์) ได้กล่าวไว้ว่า
หากมนุษย์ไม่รู้วิธีวาดฮู้ได้ถูกต้องแล้วไซร้
จะถูกผีสางเทวดาหัวเราะเยาะเอาได้
เพราะฉะนั้น การวาดฮู้ก็ต้องหัดให้เป็นไว้
เคล็ดลับของวิชานี้
อยู่ที่ต้องทำใจให้เป็นเอกัคตาให้ได้เท่านั้น
เมื่อเริ่มจับพู่กัน ก็ต้องหยุดความรู้สึกนึกคิดใดๆ ให้หมด
ไม่วอกแวก ทำจิตให้นิ่ง
รวมพลังจิตทั้งหมดพุ่งตรงไปยังปลายพู่กัน
แล้วจรดปลายพู่กันลงไปที่กระดาษ
ผ้า หรือแพรก็ได้ ทิ้งน้ำหนักปลายพู่กันให้แน่นิ่ง
เป็นการเบิกทวารฟ้าดินด้วยพลังจิต
ที่พุ่งกระทบอย่างแหลมคม
ฮู้จะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็อยู่ที่จุดเริ่มต้นนี้เอง
เมื่อเริ่มต้นแล้ว ก็ต้องเขียนให้จบขบวนการโดยไม่หยุดชะงัก
ไม่ต่อเติม ไม่ยกพู่กันขึ้น
ต้องวาดให้ต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกัน
จิตเป็นเอกัคตาตลอดแนวทาง
ที่พู่กันตวัดไปมา ฮู้นี้ก็จะศักดิ์สิทธิ์
ไม่ว่าจะอธิษฐานใดๆ ต่อฟ้าดิน
ก็จะสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอนและรวดเร็ว

ผู้ที่มีกิเลสธุลีหนาแน่นในใจ
เหมือนตกอยู่ในความมืด ดังอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่สามารถมองเห็นอะไรอื่น
เมื่อจรดปลายพู่กันลงไปครั้งแรก
ก็เท่ากับได้เจาะความมืดให้แสงสว่างส่องเข้าไปได้
และเมื่อตวัดพู่กันไป ด้วยจิตอันแหลมคมเป็นสมาธิอยู่นั้น
ก็เป็นการพุ่งพลังจิตไปตามพู่กันนั้น
โดยมีแสงสว่าง และชาดในพู่กันเป็นสื่อนำพลังจิตไป
พลังจิตประทับอยู่ตรงไหน ความศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดที่นั่น

การบริกรรมก็ต้องทำสม่ำเสมอ ขาดไม่ได้เช่นกัน
ต้องบริกรรม จนแม้ปากไม่บริกรรมแล้ว
แต่ใจยังคงบริกรรมอยู่
บริกรรมจนไม่รู้สึกว่า ตัวเราเป็นผู้บริกรรม
เพราะมนต์ก็ดี การบริกรรมก็ดี ตัวเราผู้บริกรรมก็ดี
ได้ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสียแล้ว
จนแยกไม่ออกเมื่อใด เมื่อนั้น การบริกรรมก็ศักดิ์สิทธิ์

นักปราชญ์ท่านเมิ่งจื่อได้กล่าวไว้ว่า
อันว่าอายุยืนหรืออายุสั้น หามีความแตกต่างกันไม่
ให้หมั่นฝึกฝนตนเองไปจนกว่าจะถึงวันนั้น
วั้นนั้นคือวันที่เราจะได้พบความจริงว่า
คำพยากรณ์อีกต่อไป
นี่คือ ความหมายในชื่อใหม่ของพ่อ
ตั้งแต่นั้นมา พ่อสำรวมระวังบทบาทของกายวาจาใจ
อยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่
ทำให้ผิดแผกไปกว่าแต่ก่อนมาก
ความมักง่าย ตามใจตนเอง
ความไม่สำรวมอินทรีย์ได้ลดน้อยลง
มีแต่ความระแวดระวังตั้งสติไม่ประมาท
ดุจดั่งเตรียมพร้อมตั้งรับภยันตราย
ที่กำลังคืบคลานมาหาพ่อ
ฉะนั้น แม้จะอยู่ในที่มืดหรือในที่รโหฐาน
ก็ยังเกรงว่าผีสางเทวดา คอยจ้องจับตามองพ่ออยู่
ต่อหน้าและลับหลังคน จึงประพฤติตนไม่ต่างกัน
หากมีผู้ใดแสดงความไม่พอใจพ่ออย่างไร
วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงเพียงใด
พ่อกลับรับฟังได้โดยดุษณี
ไม่เคยต่อล้อต่อเถียงกับผู้ใดอีกเลย

เมื่อกาลเวลาผ่านไปอีกหนึ่งปี
พ่อได้โอกาสเข้าทำการสอบไล่อีกครั้ง คราวนี้ได้ที่หนึ่ง
พลิกความคาดหมายของท่านผู้เฒ่าข่ง
ที่พยากรณ์ไว้ว่าจะสอบได้ที่สาม
ท่านว่าหลังจากสอบครั้งนี้แล้ว ต่อไปจะสอบไม่ได้อีก
แต่เมื่อพ่อไปสอบ ก็สอบได้อีก
เป็นอันว่าคำพยากรณ์
ไม่สามารถกุมวิถีชีวิตของพ่อได้อีกต่อไป

แต่การทำความดีนั้น มิได้ง่ายอย่างที่นึกไว้
สำรวจดูแล้ว ก็พบข้อบกพร่องมากมาย
เช่นไม่มีความอาจหาญพอ
ที่จะเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย
บางทีจิตใจลังเล ไม่สามารถช่วยได้สุดกำลัง
บางทีก็ช่วยไป บ่นว่าไป อดติเตียนเสียมิได้
เวลาปกติก็ยังมีสติควบคุมตนเองได้ดีอยู่
บางทีดื่มเหล้าเมามาย
ความประพฤติดั้งเดิมก็กลับมามีบทบาทอีก
คะแนนของกรรมดี ถูกกรรมชั่วลบไปเสียมาก
ทำให้ต้องใช้เวลาเกือบ ๑๑ ปี
คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๑๒-พ.ศ.๒๑๒๒
จึงสามารถรวบรวมการทำความดีได้ครบสามพันครั้ง

บังเอิญขณะนั้น พ่อไปเที่ยวนอกด่านกับเพื่อน
จึงมิได้ประกอบพิธีอุทิศบุญกุศล ดังที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้
จนกระทั่งรุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง
พ.ศ. ๒๑๒๓ เมื่อกลับมาทางใต้แล้ว
จึงไปนิมนต์ท่านซิ่งคงและท่านเฮว่ยคง
ซึ่งล้วนเป็นพระเถระ ที่ทรงคุณวิเศษ
มาประกอบพิธีอุทิศกุศลผลบุญ
ที่ได้เพียรทำต่อเนื่อง มาได้รวมสามพันครั้ง
ตามที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้
แล้วเริ่มตั้งจิตอธิษฐานใหม่ครั้งนี้
ขอให้ได้ลูกที่ดี จะทำความดีอีกสามพันครั้ง
พอรุ่งขึ้นอีกปี พ.ศ. ๒๑๒๔ พ่อก็ได้เจ้ามา
จึงตั้งชื่อให้ว่า เทียนชี่ แปลว่า ฟ้าประทาน

เวลาใดที่พ่อได้กระทำความดีทางกายกรรมก็ดี
มโนกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี
พ่อก็จะใช้พู่กันบันทึกไว้ทันที
แต่แม่เจ้าเขียนหนังสือไม่เป็น
เมื่อได้ช่วยพ่อกระทำความดีครั้งใด
ก็ใช้ก้านขนห่าน จิ้มชาดกดวงไว้บนปฏิทิน
บางวันให้ทานคนยากจนหลายครั้ง
ปล่อยสัตว์มีชีวิตมาก
วันหนึ่งๆ แม่เจ้าวงไว้ถึงสิบกว่าวงด้วยกัน
เพียงสองปีกว่าก็ทำได้ครบสามพันครั้งอีก
คราวนี้ พ่อนิมนต์พระเถระรูปก่อนๆ
มาทำพิธีอุทิศบุญกุศลที่บ้านเราเอง
และเริ่มตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้สอบตำแหน่งจิ้นสือได้
จะทำความดีให้ครบหนึ่งหมื่นครั้ง
ต่อมาอีกสามปี พ่อก็สอบได้
และได้เป็นนายอำเภอในปีนั้นเอง
ประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๙ (ประมาณ ค.ศ. ๑๕๘๖)

พ่อได้ทำสมุดขึ้นมาเล่มหนึ่ง
ให้ชื่อว่าสมุดบริหารใจตอนเช้า
อันเป็นเวลา ที่พ่อนั่งชำระความ
พ่อก็ให้คนนำสมุดนี้มาวางไว้บนบัลลังก์ด้วย
ในแต่ละวัน พ่อชำระคดีไว้อย่างไรบ้าง
ก็จะบันทึกไว้ในสมุดเล่มนี้อย่างละเอียด
เพื่อไว้ตรวจสอบดูว่า
จะมีอคติในการชำระความอย่างไรบ้างหรือไม่
มีความยุติธรรมเพียงพอไหม
ให้ความเมตตาปรานีเพียงพอไหม
เพื่อจะได้ไว้แก้ไขในวันต่อไป
พอตกกลางคืน พ่อก็ตั้งโต๊ะที่กลางลานบ้าน
พ่อแต่งตัวเต็มยศเพื่อแสดงความเคารพต่อฟ้าดิน
แล้วจุดธูปเทียนบูชาฟ้าดิน
คุกเข่าลงอ่านบันทึกนั้น
แล้วเผาถวายฟ้าดินหนึ่งชุด เก็บไว้หนึ่งชุด
ที่พ่อทำเช่นนี้ ก็เพราะพ่อเห็นตัวอย่างอันดีงามนี้
มาจากขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ซ้อง
ที่ได้รับการจารึกไว้ ในประวัติศาสตร์จีน
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต
มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของท่าน
เท่ากับชีวิตของท่านเอง
ไม่ยอมสยบต่อขุนนางกังฉิน
ดูแลความทุกข์สุขของราษฎร
และขุนนางใหญ่น้อยอย่างไม่กลัวตาย
ถ้ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
มีการอาศัยหน้าที่หรืออิทธิพล
ก่อกรรมทำเข็ญกับชาวบ้าน
หรือขุนนางผู้น้อยแล้วไซร้
แม้ผู้นั้นจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่
เป็นที่โปรดปรานของฮ่องเต้สักเพียงไรก็ตาม
ท่านก็ไม่เกรงกลัว เป็นต้องนำหลักฐานทูลเกล้าฯ
ถวายฮ่องเต้ให้ได้รับโทษานุโทษจงได้
เมื่อท่านสิ้นอายุขัยแล้ว
จึงได้รับพระราชทานเกียรติยศอันสูงส่ง
ได้รับสถาปนาเป็นที่ชิงเซี่ยงกง
หมายถึง ผู้ที่กราบทูลด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ใจ
(เข้าใจว่าหมายถึง เปาบุ้นจิ้น)
พ่ออ่านชีวประวัติอันเกริกเกียรติของท่านแล้ว
ประทับใจมาก จึงถือเป็นตัวอย่างอันดีงาม
ที่จะต้องปฏิบัติตามให้ได้
เพื่อป้องกันการชําระความของพ่อ
มิให้ด่างพร้อยเสียความยุติธรรมไปได้
พ่อจึงกระทำเช่นนี้ทุกคืน

แม่ของเจ้าแสดงความวิตกกังวลให้พ่อฟังว่า
แต่ก่อนนี้อยู่บ้านเราเอง ก็ช่วยกันทำบุญทำทาน
มีโอกาสประกอบกรรมดีมาก
ไม่กี่ปีก็ได้ครบสามพันครั้ง
แต่ตอนนี้ เราอยู่ในสถานที่ราชการ
ไม่มีโอกาสสัมผัสกับคนยากจน เหมือนแต่ก่อน
ความดีหนึ่งหมื่นครั้ง เมื่อใดจะทำสำเร็จได้เล่า

พ่อก็ได้แต่รับฟัง ในคืนวันนั้น จะว่าบังเอิญหรือไม่หนอ
พ่อฝันเห็นเทวดาองค์หนึ่ง
พ่อจึงปรับทุกข์กับท่าน ถึงเรื่องที่แม่เจ้าวิตกกังวล
ท่านบอกกับพ่อว่า พ่อนั้นไม่รู้ตัวเลย
พ่อได้ทำความดีครบหนึ่งหมื่นครั้งแล้ว
เพียงแต่ลดภาษีข้าว ให้แก่ราษฎรทั้งหมด
ที่อยู่ในความปกครองของพ่อโดยทั่วหน้ากัน
การบรรเทาภาระอันหนักของราษฎร เป็นกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่
เพราะทำให้ราษฎรเป็นสุขขึ้น
พ่อตื่นขึ้นมาก็นึกขึ้นได้ว่า พ่อได้ทำไปเช่นนั้นจริงๆ
เพราะสงสารราษฎรที่ต้องเสียภาษีหนักเกินไป
ทำไมเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งพ่อเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่ก็ล่วงรู้ถึงเทวดาฟ้าดินได้
และก็ยังสงสัยอยู่ว่า ทำเพียงแค่นี้น่ะหรือ
ก็เป็นความดีได้ถึงหนึ่งหมื่นครั้ง

บังเอิญ ท่านฝานอวี๋ย์เถระ มาจากภูเขาอู่ถายซาน
พ่อจึงกราบถามท่านเพื่อให้หายสงสัย
ท่านตอบว่า กุศลกรรมใดก็ตาม
ถ้าทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ
ไม่หวังตอบแทนเป็นส่วนตัวแล้วไซร้
แม้กระทำครั้งเดียว ก็เท่ากับกระทำหมื่นครั้งได้ทีเดียว
การที่พ่อเห็นความทุกข์ยากของราษฎร
หาทางแก้ไข ผ่อนหนักเป็นเบา
ความสุขที่ราษฎรทั้งอำเภอได้รับ
ย่อมเป็นกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่
พ่อจึงเอาเงินเดือนของพ่อเดือนนั้น
ถวายแก่ท่านฝานอวี๋ย์เถระ เพื่อให้ทำอาหารมังสวิรัติ
ถวายพระภิกษุในวัดของท่าน
ซึ่งมีประมาณหนึ่งหมื่นรูป
และอุทิศกุศลกรรมทั้งมวลไปตามที่อธิษฐานเอาไว้

ท่านผู้เฒ่าข่งเคยพยากรณ์พ่อไว้ว่า
พ่อจะมีอายุอยู่ได้ ๕๓ ปีเท่านั้น
พ่อก็มิได้อธิษฐาน ให้ตนเองมีอายุยืนยาวแต่อย่างใด
แต่ปีนั้นพ่อก็ไม่เป็นไร อยู่มาจนบัดนี้
พ่อมีอายุได้ ๖๙ ปี แล้ว

โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ฟ้าดินนั้น สุดที่จะหยั่งรู้ได้
ชะตาชีวิตจึงเอาแน่ไม่ได้
ชีวิตของใคร คนนั้น ก็ต้องสร้างอนาคตเอาเอง
จะให้คนอื่นสร้างให้หาได้ไม่
คำพูดนี้เป็นความจริง ที่พ่อพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง
พ่อจึงเชื่อมั่น ด้วยความประจักษ์แจ้งแก่ใจของพ่อเองว่า
ความสุขความทุกข์ ล้วนแต่เกิดจาก
การกระทำของตนเองทั้งสิ้น
ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว เป็นคำที่ท่านนักปราชญ์โบราณ
กล่าวกันต่อๆ มาจนถึงบัดนี้
ถ้าใครยังเชื่อว่า สุขทุกข์เป็นสิ่งที่ถูกลิขิตมาแล้วอย่างแน่นอน
แก้ไขไม่ได้แล้วไซร้
แม้ผู้นั้นจะแสนฉลาดปราดเปรื่องอย่างไร
เขาก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ หาความก้าวหน้ามิได้เลย


สำหรับตัวของลูกนั้น พ่อก็ยังไม่ทราบว่า
อนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้ลูกจำไว้ว่า
แม้ลูกจะมีบุญวาสนาชะตาสูง
ก็อย่ายึดมั่นว่า จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป
อาจจะมีวันที่ตกต่ำลงได้
ถ้าลูกไม่รู้จักการระวังตัว
ยามใดที่ลูกรู้สึกชีวิต มีแต่ความราบรื่น
ปลอดโปร่งสะดวกสบายไปทุกสิ่ง
ลูกก็อย่ายึดมั่น ว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป
อาจจะมีวันที่ต้องประสบความยุ่งยากเดือดร้อน
ถ้าลูกไม่ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรมอยู่เสมอ
ยามใดที่ลูกมีความเหลือเฟือ เงินทองไหลมาเทมา
มีความสมบูรณ์พูนสุขทุกประการ
ก็อย่ายึดมั่นว่า จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป
อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่ลูกจะต้องตกระกำลำบาก
ระหกระเหิน แม้จะหาที่ค้างกายสักคืน ก็ทั้งยาก
หากลูกไม่รู้จักใช้เงิน ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร
ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น
ยามใดที่มีคนนิยมชมชอบ เคารพนบนอบต่อลูก
ลูกก็จะต้องยิ่งทำตน ให้เป็นที่น่าเคารพยิ่งๆ ขึ้น
ถ่อมเนื้อถ่อมตัวด้วยความจริงใจ
ใช่เสแสร้งแกล้งทำ ปากอย่างใจอย่าง
อวดดีวางอำนาจ
ยามใดที่ลูกได้รับยศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง
ลูกก็อย่ายึดมั่นในโลกธรรมนั้นว่า จะแน่นอนเสมอไป
ต้องเตือนสติตนเองอยู่เสมอว่า
สักวันหนึ่ง ยศศักดิ์ชื่อเสียง
เงินทองและความสุขทั้งมวล
อาจจะพังพินาศไปในพริบตาเดียวก็ได้
ถ้าลูกไม่หมั่นประกอบความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
แม้ลูกจะมีความรู้ความสามารถเพียงใด
ก็จงอย่าทะนงตนว่าใครก็สู้ไม่ได้
ลูกจะต้องหมั่นฝึกฝน เพื่อให้ความรู้นั้นแตกฉานยิ่งขึ้น
ถ้าลูกทำได้เช่นนี้ ลูกก็จะเป็น ผู้ที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง
และคงความสูงส่งนั้นไว้ได้ ไม่มีวันที่จะตกต่ำ
นอกจากวิบากแห่งกรรมเก่า
ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าในชาติปางก่อนๆ นั้น
ลูกได้เคยทำอกุศลกรรมอะไรไว้บ้าง
วิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น ย่อมให้ผลเมื่อถึงเวลาเสมอ
แต่ถ้าลูกมีความดีมากจริงๆ แล้ว
อกุศลกรรมบางอย่าง จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป
คือ กรรมตามไม่ทัน


ลูกต้องเคารพบูชาบรรพชน
สรรเสริญคุณงามความดีของบรรพชน ให้แผ่ไพศาล
ลูกจะต้องปกปิดความผิดพลาดของพ่อแม่ไว้
อย่าให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลได้
ชาติบ้านเมือง เป็นสิ่งที่จะต้องเทิดทูนรักษาไว้ด้วยชีวิต
ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
จงรักภักดีต่อองค์ฮ่องเต้ไม่เสื่อมคลาย
ลูกจะต้องสร้างครอบครัวให้มีความสุข
ความอบอุ่นใจตลอดจนคนรับใช้
ลูกจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ที่ยากไร้ให้ได้ทันท่วงที
ลูกจะต้องมีจิตสำรวมระวังอินทรีย์อยู่ตลอดเวลา
เพื่อป้องกันความผิดพลาด
ที่จะเกิดขึ้นทั้งทางกายวาจาและใจ


ลูกจะต้องสำรวจตรวจข้อบกพร่องในตัวของลูกเอง
ทุกๆ วันอย่าได้ขาด
และจะต้องแก้ไขความผิดพลาดให้ทันท่วงทีทุกๆ วันเช่นกัน
วันใด ที่ลูกมองไม่เห็นความผิดพลาดของลูก
ก็แสดงว่าการปฏิบัติธรรมของลูก ไม่ได้ก้าวหน้าไปเลย
และกำลังถอยหลังแล้ว
เพราะฉะนั้น ลูกจะต้องหาความผิดพลาดของตนเองให้พบ
และแก้ไขให้ได้ทันท่วงที
มิฉะนั้นแล้ว ลูกจะก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ เป็นการเสียชาติเกิด


คำสั่งสอนของท่านอวิ๋นกุเถระนั้น
ช่างลึกล้ำตรงตามสภาวะธรรม
และเป็นความจริงทุกประการ
ซึ่งลูกจะต้องนำมาครุ่นคิดวิเคราะห์วิจัยหาเหตุผล
เพื่อให้ประจักษ์แจ้งแก่ใจของลูกเอง
และยึดถือนำมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน
อย่างเคร่งครัด ให้เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาให้ได้
จึงจะไม่เสียแรง ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง
มิได้ปล่อยเวลาอันมีค่าให้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์เลย


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด

ในยุคชุนชิว ก่อน พ.ศ. ๒๒๗-พ.ศ. ๖๗
เป็นระยะเวลาที่อำนาจของราชวงศ์โจว
(ก่อนศตวรรษที่ ๑๑-ก่อน พ.ศ. ๒๒๘) เสื่อมถอย
หัวเมืองใหญ่น้อยต่างแข็งข้อ ตั้งตนเป็นใหญ่
จิตใจคนจีนในยุคนี้เสื่อมทรามโหดเหี้ยมมาก
ลูกฆ่าพ่อ ขุนนางฆ่าฮ่องเต้
ท่านนักปราชญ์ขงจื๊อก็เกิดในยุคนี้
ท่านเห็นว่า เหตุการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้น
ไม่เป็นผลดีต่อประเทคชาติ
จึงนำหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า ชุนชิว
ซึ่งเป็นของแคว้นหลู่
มาแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ส่วนที่ดีคงไว้
ส่วนที่ขาดเพิ่มเติม บันทึกความชั่วร้ายในยุคนั้นไว้
ในหนังสือ ชุนชิว นี้ อย่างละเอียดละออ
เพื่อไว้เตือนใจคน ไม่ให้นำมาเป็นเยี่ยงอย่าง
ขุนนางในสมัยนั้น ช่างดูคน
โดยสังเกตจากกิริยาวาจา
ก็สามารถคาดคะเนอนาคตของคนๆ นั้นได้
สังคมขุนนางในสมัยนั้น
จึงมักนำบุคลิกของใครต่อใคร
มาเป็นหัวข้อในการสนทนา
พ่อจึงอยากให้ลูกค้นหาส่วนดีส่วนเสียของหนังสือเล่มนี้
แม้จะเป็นของโบร่ำโบราณ
ห่างจากยุคเราเกือบสองพันปีก็ตาม
แต่ลูกก็จะได้ประโยชน์จากหนังสือนี้อย่างเหลือล้น
นอกจากเล่มนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหายเล่ม
ที่บันทึกประวัติศาสตร์ในระยะสองพันปีนี้
ลูกอ่านแล้วจะได้เข้าใจชีวิตดีขึ้น
รู้จักนำส่วนดีของอดีต มาเสริมสร้างชีวิตอนาคตของลูกเอง
ให้เพียบพร้อมด้วยความเป็นคนที่มีศีลมีธรรม
หลุดพ้น จากความเป็นปุถุชนได้ในที่สุด

ธรรมดานิมิตหรือลางสังหรณ์นั้น มักจะเกิดทางใจ
แล้วปรากฏให้เห็นทางอิริยาบถ
บุคลิกลักษณะจึงเปรียบประดุจกระจกเงา
ฉายให้เห็นบุญวาสนาหรือเคราะห์กรรม
ที่บุคคลนั้นๆ จะต้องได้รับในอนาคต
ปุถุชนมักมองไม่เห็นบุคลิกลักษณะ
อันน่าศึกษานี้ กลับเห็นว่าเป็นการคาดคะเนที่ไม่แน่นอน

ธรรมชาตินั้นมีความซื่อตรงยิ่งนัก
หากเราเอาอย่างธรรมชาติได้
จิตใจของเรานี้ ก็จะผสมผสานเป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกับธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ฟ้าดินนั่นเอง
ฉะนั้น ลูกจงสังเกตพฤติกรรมของบุคคลต่างๆ
ว่าเขาชอบทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว
ถ้าเขาชอบทำแต่กรรมดี
ทำได้ครบตามมาตรการ
และสูงถึงมาตรฐานแล้วไซร้
จงแน่ใจเถิด เขาจะต้องได้รับผลดีแน่
แต่ถ้าเขาชอบทำแต่กรรมชั่ว
ลูกก็จงแน่ใจเถิด ว่าเขาจะต้องได้รับผลเลวร้ายตอบแทน
หากลูกต้องการความสุข
และห่างไกลจากความทุกข์
ลูกจะต้องรู้จักวิธีแก้ไขความผิดพลาดของตนเองเสียก่อน



ข้อ ๑ ลูกจะต้องมีความละอายต่อการทำชั่ว

ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังผู้คน
ลูกลองคิดดูสินักปราชญ์แต่ครั้งโบราณมา
ท่านก็เป็นชายอกสามศอกเช่นลูกนี้
แต่ไฉนท่านเหล่านั้นจึงได้รับความเคารพบูชา
เป็นปูชนียบุคคล แม้กาลเวลา
จักได้ผ่านไปแล้วเป็นร้อยชั่วคนก็ตาม
ส่วนลูกนั้นเล่ายังคงเป็นกระเบื้อง
ที่แตกอยู่เป็นเสี่ยงๆ ในชีวิตยังไม่ได้สร้างอะไร
เป็นชิ้นเป็นอันเป็นแก่นเป็นสาร ให้ปรากฏเลย
ทั้งนี้ ก็เพราะลูกมัวหลงระเริงอยู่กับความสุขทางโลก
เหมือนผ้าขาวที่ถูกสีต่างๆ แปดเปื้อนเสียแล้ว
ย่อมหมดความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
มักจะทำอะไรที่ไม่สมควรทำ
แต่คิดว่าผู้อื่นไม่ล่วงรู้ ต่อไปก็ยิ่งเหิมเกริม
ทำผิดมากขึ้นทุกที โดยไม่มีความละอายต่อบาป
ลงท้าย ก็จะเหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน
ที่ไม่สามารถรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ในโลกนี้
จะมีสิ่งไรอีกเล่าที่จะน่าละอายไปกว่า
ที่ตนเองไม่รู้ดีรู้ชั่ว
ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื๊อ จึงได้กล่าวไว้ว่า
ความละอาย และความเกรงกลัวต่อบาปนั้น
เป็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในโลกนี้
ผู้ใดมีไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์
ผู้ใดมิได้มีไว้ย่อมเหมือนสัตว์เดรัจฉาน
ลูกจึงต้องเริ่มต้นแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง
ด้วยกุศลธรรมข้อนี้ก่อน



ข้อ ๒ ลูกจะต้องมีความเกรงกลัวต่อการทำชั่ว

เทพยดาอยู่เบื้องบน ผีสางวิญญาณล้วนมีร่างโปร่งแสง
มีอยู่เกลื่อนกลาดทุกหนทุกแห่ง
ซึ่งนัยน์ตาของมนุษย์ธรรมดาย่อมมองไม่เห็น
ไม่ว่าลูกจะทำผิดอะไรที่คนไม่รู้ ผีสางเทวดาก็รู้หมด
ถ้าลูกทำความผิดร้ายแรง
ลูกก็จะต้องได้รับเคราะห์กรรมไม่เบา ทีเดียวละ
ถ้าลูกทำผิดเพียงนิดหน่อย
ก็จะทำให้ลูกได้รับความสุข
ที่กำลังให้ผลอยู่ในปัจจุบันลดน้อยลงทันที
ลูกจะไม่กลัวได้หรือ

ไม่เพียงเท่านั้น แม้เราจะอยู่ในบ้านของเราเอง
ในที่รโหฐานก็ตาม ก็หนีไม่พ้น
สายตาของผีสางเทวดาไปได้
แม้ลูกจะปกปิดความผิดไว้ดีเพียงไร
แต่จะปกปิดผีสางเทวดาหาได้ไม่
เพราะแม้แต่ในตัวลูกมีไส้กี่ขด
ท่านเหล่านั้นก็มองเห็นทะลุปรุโปร่งอยู่แล้ว
หากวันใดบังเอิญมีคนแอบเห็นเข้า
ลูกก็จะกลายเป็นคนไร้ค่าไปทีเดียว
อย่างนี้แล้วลูกยังจะไม่กลัวอีกหรือ

ไม่เพียงเท่านั้น หากลูกยังมีลมหายใจอยู่
แม้จะทำความผิดล้นฟ้า ก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้
ถ้าลูกสำนึกในความผิดนั้นได้ทันท่วงที
ในกาลก่อน มีชายคนหนึ่ง
ตลอดชีวิตของเขาชอบทำแต่กรรมชั่ว
ครั้นพอใกล้จะตาย ได้สำนึกผิดเพียงขณะจิตเดียว
และจิตสุดท้ายที่รู้จักผิดชอบชั่วดี
ก็ยังสามารถทำให้จิตที่เกิดต่อจากจิตสุดท้าย
(จุติจิต) ได้ปฏิสนธิในสุคติภพทันท่วงที
รอดจากการไปสู่ทุคติภพอย่างหวุดหวิด
และเมื่อเขาได้ไปสู่สุคติภพเสียก่อนเช่นนี้
จิตที่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วในวินาทีสุดท้ายนี้
ก็ย่อมเป็นปัจจัย ให้เขาประกอบแต่กรรมดี
หากเขาสามารถสั่งสมความดีได้มากกว่ากรรมชั่ว
ที่เคยกระทำมาเป็นหมื่นเท่าพันทวีแล้วไซร้
วิบากแห่งกรรมชั่วที่มิใช่กรรมหนัก
จักติดตามมาให้ผลไม่ทันเสียแล้ว
ดุจในถ้ำที่มืดมิดมานานนับพันปี
เพียงแต่จุดไฟให้สว่างเพียงดวงเดียว
ก็สามารถขับไล่ความมืด
ที่มีมานานนับพันปีให้หมดสิ้นไปในพริบตาเดียว
ฉะนั้น ลูกจงจำไว้ว่า ความผิดที่ลูกกระทำไว้นานแล้ว
หรือเพิ่งกระทำ ขอให้รู้สำนึกและแก้ไขเสียทันที
จึงจะเอาตัวรอดได้ ไม่ต้องไปสู่ทุคติภพ
ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน

แต่ลูกจะต้องจำไว้ให้ดีว่า
แม้ความผิดนั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้
อย่านอนใจ ที่จะทำผิดบ่อยๆ
อย่านึกว่าวันนี้ เราทำผิดแค่นี้ไม่เป็นไร
พรุ่งนี้เราจะแก้ไข ไม่ทำอีกก็แล้วกัน
ถ้าคิดเช่นนี้ ก็ผิดจากวัตถุประสงค์ที่พ่อพร่ำสอนลูกมา
อันความผิดที่เกิดจากรู้ว่าผิดแล้วยังจงใจทำ
เป็นมโนกรรมที่มีโทษหนัก
แม้ลูกตั้งใจจะแก้ไขในวันพรุ่ง ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
เพราะในโลกแห่งความวุ่นวายนี้
ใครจะรับประกันได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันพรุ่งนี้
มนุษย์มีชิวิตอยู่ได้ด้วยลมหายใจ
ถ้าลูกขาดหายใจเพียงครั้งเดียว
ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของลูกเสียแล้ว
ทุกสิ่งลูกก็นำติดตัวไปด้วยไม่ได้
เพราะทุกสิ่งเป็นรูปธรรม
ไม่มีใครเป็นเจ้าของรูปธรรมได้ชั่วนิรันดร์
สิ่งที่ติดตามลูกไปได้
มีเพียงกรรมดีและกรรมชั่วเท่านั้น
อันเป็นนามธรรมที่มนุษย์มองไม่เห็น
จะสัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น

หากบุญยังมีเหลือพอ ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ก็จะเป็นคนที่ชื่อเสียงไม่ดีเป็นร้อยปีพันปี
แม้จะมีลูกหลานที่ดี ก็ไม่สามารถช่วยลูกได้
หากกรรมหนักไม่สามารถมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ก็จะต้องตกนรกหมกไหม้ ทนทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์
แม้พระพุทธองค์ ก็ทรงโปรดไม่ได้
เพราะผู้ใดทำกรรมไว้ ผู้นั้นเองเป็นผู้ได้รับผลแห่งกรรมนั้น
ลูกยังจะไม่กลัวได้หรือ



ข้อ ๓ ลูกจะต้องมีความกล้าที่จะแก้ไขตนเอง

มีกำลังใจที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ท้อถอย
มีความเพียรอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง
ความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้น
เปรียบประดุจหนามตำอยู่ในเนื้อ
ถ้ารีบบ่งหนามออกเสีย ก็จะหายเจ็บทันที
หากเป็นความผิดใหญ่หลวง
ก็เปรียบประดุจถูกงูพิษที่ร้ายแรงขบกัดเอาที่นิ้ว
ถ้าลูกไม่กล้าตัดนิ้วทิ้ง พิษก็จะลุกลามไปถึงหัวใจ
และตายได้ง่ายๆ ลูกจึงต้องมีจิตใจ ที่เด็ดเดี่ยว
กล้าเผชิญความจริง รู้ตัวว่าผิดตรงไหน
ต้องแก้ตรงนั้นทันที อย่ารีรอลังเล
จะเสียการในภายหลัง


ลูกจงศึกษาวิชาโป๊ยก่วย
ที่ว่าด้วยความแข็งแกร่งของฟ้า
ความอ่อนโยนของดิน ความมีพลังของไฟ
ความเย็นของน้ำ ความกึกก้องของเสียงฟ้าร้อง
ความแรงกล้าของลม ความมั่นคงของขุนเขา
และความเป็นกระแสของสายธาร
แล้วลูกจะเข้าใจ ถึงธรรมชาติแปดประการนี้
ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยให้กันและกัน
ในยามที่พายุมา เสียงฟ้าร้อง
ลมก็จะเป็นปัจจัยช่วยให้ฟ้าร้องดังยิ่งขึ้น
ฟ้าก็จะช่วยลม ให้มีกำลังพัดรุนแรงขึ้น
ตัวอย่างเหล่านี้ ถ้าลูกศึกษาให้เข้าใจแล้ว
ก็จะสามารถนำวิชาโป๊ยก่วยนี้
มาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน
ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ลูกเอง
ความผิดถูกความดีชั่ว ล้วนเป็นปัจจัยแก่กันและกัน
เมื่อรู้ว่าผิด รีบแก้ไขเสีย ความถูกก็จะกลับคืนมา
เมื่อทำความดีอยู่ความชั่วไหนเลย จะกล้ำกราย
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ
ของลูกเองเท่านั้น จงจำไว้

เมื่อลูกมีความละอาย มีความเกรงกลัว
และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
ที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองแล้วไซร้
ความผิดนั้นก็ย่อมจะลดน้อยถอยลง จนหมดไปในที่สุด
เปรียบประดุจสายน้ำที่รวมตัว กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูใบไม้ผลิ
เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็ย่อมละลายกลายเป็นน้ำดังเดิม
แต่ความผิดพลาดของมนุษย์นั้น
ไม่ง่ายดังว่าไปเสียทั้งหมด บางสิ่งต้องแก้ที่เหตุการณ์
บางสิ่งต้องแก้ที่เหตุผล บางสิ่งต้องแก้ที่ใจ
วิธีการแก้ไขย่อมแตกต่างกันออกไป
ผลที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน ลูกจงฟังให้ดี


เช่นเมื่อวานนี้เราฆ่าสัตว์ วันนี้เราตั้งใจไม่ฆ่าอีกต่อไป
หรือเมื่อวานเราโกรธ ผรุสวาทไปมากมาย
วันนี้เราตั้งใจไม่โกรธอีกต่อไป นี่คือการแก้ไขที่เหตุการณ์
ทำผิดแล้วจึงได้คิด ซึ่งไม่ค่อยจะได้ผล
เพียงระงับได้ชั่วคราว เผลอเมื่อใด เราก็จะทำผิดได้อีก

การแก้ไข จึงต้องแก้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดเกิดขึ้น
คือ ต้องรู้เหตุ ที่จะก่อให้เกิดความผิดได้เสียก่อน

เช่น การฆ่าสัตว์ ถ้าเราเข้าใจเสียก่อนว่า
ชีวิตใครๆ ก็รัก ไฉนจึงฆ่าสัตว์อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิตเราให้ยืนยาวเล่า
ถ้ามีใครทำกับเราบ้างอย่างนี้ ลูกจะยอมหรือ
อนึ่งการฆ่าสัตว์นั้น ทำให้เกิดความทรมานเจ็บปวดแสนสาหัส
นำสัตว์ต้มในกะทะร้อนๆ
กว่าจะตายก็แสบร้อนไปทุกขุมขน
แม้เราจะบริโภคอาหารสัตว์เอร็ดอร่อยเพียงไร
เมื่อเข้าไปอยู่ในท้องเราแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นปฏิกูลต่อไป
ถ้าเราบริโภคแต่พืชผักผลไม้
เราก็อยู่ได้อย่างเป็นสุขเช่นกัน ไม่เดือดร้อนอะไร
ไฉนจึงต้องไปทำลายชีวิตผู้อื่น เพื่อความอิ่มเพียงชั่วยาม
แต่ต้องทำลายบุญที่มีอยู่แล้วให้น้อยลง
และเพิ่มบาปให้มากขึ้นด้วยเล่า

ชีวิตที่ประกอบขึ้นด้วยเลือดเนื้อนั้น ย่อมมีวิญญาณ
คือ ความรู้สึกนึกคิด เช่นเดียวกับเรา
ถ้าเราไม่สามารถทำให้สัตว์เหล่านั้นมารักนับถือเรา
ไว้วางใจเรา และอยากอยู่ใกล้เราแล้ว
เราก็อย่าสร้างความเคียดแค้นชิงชัง
จนถึงจองเวรจองกรรมกันขึ้นเลย
ถ้าลูกคิดได้เช่นนี้แล้ว
ลูกก็จะกลืนเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ลงคอ
เมื่อสมัยโบราณกาลในยุคหินใหม่
เรามีผู้นำที่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา
และทรงปรีชาสามารถยิ่งพระองค์หนึ่ง
ซึ่งมีพระนามว่า ตี้ซุ่น
ก่อนเสวยราชย์โดยราษฎรพร้อมใจกันเลือกท่าน
ท่านเป็นชาวนา ระหว่างที่ทำนาอยู่นั้น
จะมีช้างมาช่วยท่านไถนา
มีนกมาช่วยท่านถอนหญ้า
ซึ่งปัจจุบันนี้ ภาพเช่นนี้หาดูไม่ได้อีกแล้ว
ก็เพราะมนุษย์ขาดความเมตตาการุณย์
อย่างจริงใจนั่นเอง

เรื่องความโกรธก็เช่นกัน
ถ้าเรารู้จักคิดสักนิดว่า คนนั้นแตกต่างกันทั้งนิสัย
สติปัญญา กรรมในอดีตและปัจจุบัน
ภูมิหน้าภูมิหลังของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน
บางอย่างเขาสู้เราไม่ได้
บางอย่างเราสู้เขาไม่ได้
เมื่อเขาพลาดพลั้งไป
ก็ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา
น่าสงสารมากกว่า น่าให้อภัยมากกว่า
ถึงแม้เขาจะให้ร้ายเรา ก็เป็นเรื่องที่เขาทำผิดเอง
เราไม่เดือดร้อนนัก ก็จะไม่เกิดความโกรธขึ้นมาได้เลย


ลูกจะต้องคิดให้ได้ว่า
ในโลกนี้ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยทำความผิด
คนที่อวดดีอวดวิเศษนั้น หาใช่ปราชญ์ที่แท้จริงไม่
คนที่มีความรู้สมเป็นนักปราชญ์นั้น
ท่านมักถ่อมตน คอยจับผิดตนเอง
ไม่กล้าโกรธเคืองผู้อื่น ไม่จับผิดผู้อื่น
คอยสำรวจตนเอง ว่าได้ล่วงเกินใครอย่างไรบ้างหรือเปล่า
ยามที่มีคนล่วงเกินตน ก็จะถามตนเองเสียก่อน ว่า
ได้เคยล่วงเกินเขาไว้ก่อนหรือไม่
ยามที่มีคนไม่จริงใจต่อตน
ก็จะถามตนเองเสียก่อนว่า
ได้เคยแสดงความไม่จริงใจต่อเขาก่อนหรือไม่
เรามัวคิดเสียเช่นนี้ เราก็จะไม่ทันได้โกรธผู้อื่น
ยิ่งถามตนเองแล้วปรากฏว่า ไม่เคยล่วงเกิน
ไม่เคยไม่จริงใจต่อเขามาก่อน เราก็ยิ่งสบายใจ
รับเอาความผิดพลาดของผู้อื่น
มาเป็นบทเรียนฝึกฝนตนเองต่อไป
เราก็จะกลายเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้น
เมื่อคิดได้เช่นนี้ ใครทำไม่ดีกับเรา
เราก็รับบทเรียนไว้ด้วยความยินดี
จิตใจไม่ขุ่นมัว จักมีความโกรธมาแต่ไหน


ถ้ามีคนนินทาว่าร้ายลูก ลูกก็จะต้องคิดให้ได้ว่า
เหมือนคนจุดกองไฟเผาฟ้า
แม้กองไฟจะใหญ่มหึมาเพียงใด
แต่ฟ้านั้นว่างเปล่า ไม่มีเชื้อที่จะติดไฟได้
กองไฟจะลุกโชติช่วงสักเพียงใด
ก็จะไหม้และมอดไปข้างเดียวในที่สุด
คนที่ว่าร้ายลูก เห็นลูกอยู่ในความสงบ
ไม่โกรธ ไม่ตอบโต้ เขาก็จะหยุดไปเองเช่นกัน
เพราะการนินทาว่าร้ายนั้น
เหมือนนำสีมาป้ายที่ผ้าขาวนั้น
ย่อมยากที่จะขาวได้ดังเดิม
แม้ลูกจะมีเหตุผลดีอย่างไร
ก็ไม่สามารถจะโต้แย้งให้ขาวกระจ่างได้
เปรียบประดุจตัวไหมในฤดูใบไม้ผลิ
หลงกินใบหม่อนไปดิ้นไป
ยิ่งกระดุกกระดิกมากเท่าไร
ใยไหมก็ยิ่งผูกมัดตัวเองมากเท่านั้น
ความโกรธก็เช่นกัน มีแต่โทษหามีคุณไม่
ถ้าลูกสามารถใช้เหตุผลใคร่ครวญดูแล้ว
ทุกสิ่งก็จะไม่น่าโกรธ
ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้นกับลูกอีกเลย


วิธีแก้ไขความผิดพลาดที่พูดไปแล้ว
มีแก้ไขเมื่อเกิดความผิดขึ้นแล้ว
และแก้ไขเมื่อยังมิได้ทำความผิด
วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การแก้ที่ใจนั่นเอง

โบราณท่านว่าไว้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด
ก็ล้วนเกิดที่ใจทั้งสิ้น
ถ้าเราห้ามใจมิให้เกิดกิเลสตัณหาได้
ความผิดใดๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้
ดุจดั่งดวงตะวันสาดแสงส่องมาคราใด
ความมืดก็หมดไป ปีศาจก็ยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ
ไม่กล้าออกมาเพ่นพ่าน
เปรียบได้กับการโค่นล้มต้นไม้ที่มีพิษ
ลูกจะต้องขุดรากถอนโคนให้หมดสิ้น
ไม่ใช่ค่อยๆ ลิดกิ่งปลิดใบ ซึ่งไม่ทันการ

สรุปแล้ว การแก้ที่ใจ
จึงจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องได้อย่างแท้จริง
เพียงเกิดความรู้สึกว่าจะทำผิด
ก็รู้สึกตัวเสียก่อนแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ
ความผิดจึงเกิดขึ้นไม่ได้
นี่คือ การยับยั้งชั่งใจที่ต้องอบรมบ่มเพาะ
ให้สติประคองใจเราไว้ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้ ลูกจะต้องใช้วิจารณญาณให้ถูกต้อง
ว่าคราใดที่ควรจะใช้วิธีใด จึงจะเหมาะจะควร
ถ้าลูกนำวิธีมาใช้ไม่เหมาะไม่ควร ก็จะไม่ทันการ
แล้วลูกก็จะต้องตกอยู่ในความโง่ต่อไป ไม่มีทางได้ดี


การตั้งปณิธานอันแน่วแน่
ที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองก็ดี
การอธิษฐานจิตอยู่บ่อยๆ ตลอดวันตลอดคืนก็ดี
ล้วนแต่จะช่วยกระชับ ความหนักแน่นให้แก่ลูก
นอกจากนี้ ยังต้องมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือตักเตือน
มีผีสางเทวดาคอยช่วยดลใจจิตใจของลูกต้องเด็ดเดี่ยว
แน่วแน่ ทั้งกลางวัน กลางคืน ทุกขณะจิต
ทุกลมหายใจเข้าออก
เพียงสักหนึ่งหรือสองสัปดาห์
อย่างช้าก็ไม่เกินสามเดือน
ย่อมปรากฏผลอย่างแน่นอน


ลูกจงคอยสังเกตถึงจิตใจที่จะสงบขึ้น
สติปัญญาแจ่มใสสมองโปร่งไม่ปวดศีรษะ
ทำอะไรก็ดูจะง่ายขึ้น เร็วขึ้น
ไม่ผิดพลาด ไม่เครียดจนหงุดหงิด
ถ้าลูกพบคน ที่ไม่ถูกโรคกันมาก่อนกลับรู้สึกเฉยๆ
แทนที่จะเกิดความอิดหนาระอาใจ อย่างที่เคยเป็นมา
กลางคืนอาจจะฝันว่า ตนเองได้อาเจียนของดำๆ ออกมา
บางทีก็จะฝันเห็นนักปราชญ์โบราณมาสั่งสอนแนะนำ
บางทีก็จะฝันว่า ได้บินไปเที่ยวบนท้องฟ้า
บางก็จะเห็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ล้วนเป็นนิมิตดี
เพื่อให้ลูกรู้ว่า บาปกรรมนั้นได้ลดน้อยถอยลงแล้ว
แต่ลูกอย่าได้ลำพองใจเป็นอันขาด
มิฉะนั้นความเพียรของลูกจะหยุดก้าวหน้าได้ทันที

แต่ก่อนนี้สมัยชุนชิว มีขุนนางในแคว้นเว่ยท่านหนึ่ง
เมื่ออายุได้ยี่สิบปี ท่านก็รู้สึกตัวว่าตนเองได้ทำผิดอะไรมาบ้าง
และสามารถแก้ไขได้หมดสิ้น
ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี
ท่านก็รู้อีกว่าที่คิดว่าแก้ไขหมดแล้วนั้น
ที่แท้ยังไม่หมดจดดี ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๒๒ ปี
ท่านก็ยังเห็นอีกว่ายังเหลือความผิดอะไรอยู่บ้าง
เช่นนี้ทุกปีมา จนเมื่อท่านอายุ ๕๐ ปี
ก็ยังรู้ว่าเมื่อท่านอายุ ๔๙ ปีนั้น
มีความผิดที่ยังไม่ได้แก้ไขอะไรบ้าง
ลูกจงดูไว้เป็นตัวอย่างว่าคนโบราณนั้น
ท่านมีความจริงใจต่อการแก้ไขเพื่อพัฒนาตนเองเพียงไร

พวกเราสมัยนี้ล้วนแต่เป็นคนหยาบ
มีความผิดติดตัวกันมากมาย
ราวกับตัวเหลือบที่เกาะเต็มไปหมด
แต่เราก็ไม่เห็นไม่รู้สึกว่าอดีตนั้น
เราได้ทำอะไรผิดพลาดมาบ้าง
นี่ก็เพราะความหยาบของจิตมีดวงตา ก็หามีแววไม่นั่นเอง

ลูกจงสังเกตคนที่บาปหนา
มักจะปรากฏบุคลิกภาพที่อาภัพให้เห็นได้ง่ายๆ
เช่นเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ปวดหัว มึนงง
ง่วงเหงาหาวนอน แม้จะไม่มีเรื่องร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น
ก็มีจิตใจที่หงุดหงิด เศร้าซึมเลื่อนลอย
ขี้หวาดกลัว หาความสุขความร่าเริงไม่ได้
เห็นคนก็ไม่กล้าสบตาด้วย
ไม่ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม
บางทีทำดีกับใครก็กลับได้ผลในทางตรงกันข้าม
กลางคืนนอนก็ฝันร้าย พูดจาเลอะเลือน
จิตใจท้อแท้ เหล่านี้ล้วนเป็นนิมิต ของคนบาปหนาทั้งสิ้น
ถ้าลูกรู้สึกตัวว่าเป็นเช่นนี้
ก็จงรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน อย่าได้รั้งรออยู่เลย


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 01 ต.ค.2006, 12:19 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี

โอวาทข้อที่สองนั้น
ท่านเหลี่ยวฝานได้สอนวิธีแก้ไขความผิดในชีวิตปัจจุบัน
แต่การที่ไม่ทำผิดในชาตินี้
ยังไม่สามารถที่จะทำให้ชีวิตเสวยผลดี
มีสุขได้ตลอดไปเพราะเหตุว่า
แม้ชาตินี้จะมิได้ก่อกรรมทำเข็ญเพิ่มขึ้น
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
ชาติก่อนๆ นั้นเราทำความไม่ดีอะไรไว้บ้าง
ซึ่งจะต้องมีแน่ๆ เพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้น
ที่เราไม่อาจจะทราบได้
ซึ่งก็จะต้องได้รับวิบากแห่งกรรมในชาตินี้ต่อไป
ฉะนั้น ไม่เพียงแต่ เราจะต้องละการทำชั่วแล้ว
เรายังต้องสร้างกรรมดีให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้น
โอวาทข้อที่สามนี้ท่านเหลี่ยวฝาน
จึงสอนให้ลูกท่านรู้จักวิธีสร้างความดี


ลูกจะต้องอ่านคัมภีร์เอ็กเก็งให้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง
เพราะเป็น คัมภีร์ที่ดีมากเล่มหนึ่ง
เพียงหน้าแรก ก็ให้กำลังใจแก่ผู้อ่านอย่างมหาศาล
โดยกล่าวไว้ว่า ครอบครัวที่สั่งสมแต่ความดี
ไม่เพียงแต่หัวหน้าครอบครัว จะได้รับผลดีเท่านั้น
แม้ลูกหลานเหลนโหลน
ก็พลอยได้เสวยผลแห่งความดีนั้นด้วย
เพราะเหตุนี้ท่านตาของท่านขงจื๊อ
นักปราชญ์ผู้เลื่องชื่อของจีน
ท่านจึงยกลูกสาวของท่าน
ให้กับท่านพ่อของท่านขงจื๊อ
เพราะท่านได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า
ชายที่จะมาเป็นบุตรเขยท่านนั้น
ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น
ยังต้องมีบรรพชน ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
มาหลายชั่วอายุคนด้วย และก็เป็นความจริง
ตระกูลนี้ได้ให้กำเนิดนักปราชญ์ที่ชาวจีนทั้งประเทศ
ต้องสักการะบูชา เป็นปูชนียบุคคลที่หายากในโลกผู้หนึ่ง
คือ ท่านขงจื๊อไงล่ะลูก
ต่อมา ท่านขงจื๊อได้สรรเสริญท่านตี้ซุ่น
ที่พ่อได้กล่าวให้ลูกฟังไว้ทีหนึ่งแล้ว
ว่าท่านตี้ซุ่นเป็นผู้ที่มีความกตัญญูอย่างยอดเยี่ยม
หาใครเปรียบได้ยาก บรรพชนของท่านตี้ซุ่น
จะต้องยินดีปรีดาที่มีลูกหลานที่ดีเซ่นไหว้บูชา
ส่วนลูกหลานที่กระทำตนไม่ดีนั้น
แม้จะเซ่นไหว้บูชาบรรพชน บรรพชนก็ไม่ยินดีด้วย
และไม่ยอมรับการเซ่นไหว้บูชาด้วย
ลูกศึกษาประวัติศาสตร์สมัยชุนชิวแล้ว
ลูกก็จะเข้าใจดีว่า ลูกหลานของท่านตี้ซุ่น
ก็คือ แคว้นเฉินทั้งหมด ได้มีความรุ่งเรือง
อยู่นานหลายชั่วอายุคนทีเดียว
อดีตจึงเป็นตัวอย่างอันดี ที่ลูกจะได้ศึกษา
ทำความเข้าใจให้รู้แจ้งเห็นจริง และจดจำมาแต่สิ่งที่ดีงาม
เพื่อประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวันของลูกเอง

มีขุนนางตำแหน่งพระอาจารย์ท่านหนึ่ง
มีหน้าที่ถวายพระอักษรฮ่องเต้ เมื่อยังทรงพระเยาว์
ท่านผู้นี้มีบรรพชน ที่ยึดอาชีพแจวเรือจ้างมาหลายชั่วคน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่พระอาจารย์ยังไม่เกิด
ฝนตกนานจนท่วมตลิ่ง
กระแสน้ำได้พัดพาชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน
ลอยตามน้ำมามากมาย
ชาวเรือจ้างต่างก็สาละวนเก็บทรัพย์สินขึ้นเรือเป็นของตน
มีแต่ท่านทวด และท่านปู่ของพระอาจารย์ท่านนี้เท่านั้น
ที่ไม่ยอมแตะต้องสิ่งของใดๆ เลย
ตั้งหน้าตั้งตาช่วยชีวิตคนที่ลอยตามกระแสน้ำ
อันเชี่ยวกรากมา ใครๆ ก็พากันหัวเราะเยาะ
ว่าท่านทั้งสองโง่ ไม่รู้จักฉวยโอกาสหาความร่ำรวยใส่ตน
แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่

เมื่อท่านปู่ได้ลูกชาย คือ ท่านบิดาของพระอาจารย์นี้
ความเป็นอยู่ของท่านกลับไม่ลำบากดังแต่ก่อน
ครอบครัวมีความสุขสบายขึ้น ท่านทวดสิ้นบุญไปแล้ว
ต่อมาท่านปู่ก็ถึงแก่กรรมลง
มีเต้าหยินท่านหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันมาว่า
เป็นเทวดาแปลงร่างมาปรากฏ
ได้แนะนำให้ท่านพ่อของพระอาจารย์
นำศพของท่านทวดและท่านปู่ไปฝังรวมกัน
ในที่แห่งหนึ่งใกล้บ้าน ซึ่งมีชัยภูมิดีมาก
เป็นมงคลแก่ลูกหลานต่อไป
ทุกวันนี้ฮวงซุ้ยกระต่ายขาวนี้
เป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันทั่วทุกทิศ
สดุดีในเกียรติคุณของคนแจวเรือจ้าง
ที่เป็นท่านทวดและท่านปู่ของอาจารย์

เมื่อพระอาจารย์ถือกำเนิดมา พออายุได้ ๒๐ ปี
ก็สอบไล่ได้ตามขั้นตอนทั้งหมด
ได้รับราชการเป็นขุนนาง
จนได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแก่ฮ่องเต้
เมื่อฮ่องเต้ทรงทราบถึง คุณงามความดีของท่านทวด
และท่านปู่ของพระอาจารย์
ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศขุนนาง
ให้กับท่านทวด ท่านปู่ และท่านพ่อของพระอาจารย์อีกด้วย
เพื่อเป็นการแสดงให้ปรากฏว่าการทำความดีงามนั้น
ย่อมได้รับสิ่งดีงาม สมควรเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป
แม้ลูกหลานของพระอาจารย์
ก็ได้รับราชการเป็นใหญ่เป็นโต
ตราบจนทุกวันนี้มากมาย

มีเสมียนอำเภอท่านหนึ่ง แม้จะมีตำแหน่งเล็กๆ
แต่จิตใจนั้นเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม
เป็นคนรักษาระเบียบวินัย ของราชการอย่างเคร่งครัด
มีความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ทำสิ่งไรที่ผิดศีลธรรม
ส่วนนายอำเภอนั้น เป็นคนดุร้าย
อยู่มาวันหนึ่งนายอำเภอ
สั่งเฆี่ยนผู้ต้องหาที่ไม่ยอมรับสารภาพ
ตีจนเนื้อแตกเลือดไหลนองพื้น ก็ยังไม่หายโกรธ
เสมียนอำเภอทนเห็นความทารุณไม่ไหว
จึงคุกเข่าต่อหน้านายอำเภอ
ขอให้ปรานีนักโทษ หยุดตีเสียที
นายอำเภอตอบว่า ปรานีน่ะได้
แต่ผู้ต้องหาคนนี้ ไม่รักษากฎหมาย
ไม่มีศีลธรรม จะไม่ให้โกรธกระไรได้
เสมียนอำเภอ จึงโขกศีรษะลงกับพื้น
พลางพูดว่า ผู้ที่เป็นขุนนาง
ถ้าไม่ชำระความตามเหตุผล ข้อเท็จจริง
เอาแต่อารมณ์ตนเป็นใหญ่
ราษฎรย่อมไม่มีตัวอย่างอันดีงาม
ให้ประพฤติปฏิบัติตาม
จิตใจของราษฎรหาที่ยึดเหนี่ยวเป็นสรณะไม่ได้
การชำระความนั้น แม้จะสอบสวน
ได้ความจริงออกมาแล้ว ก็ไม่ควรดีใจ
จะทำให้เกิดความประมาทเลินเล่อ
ไม่ได้ความจริงที่อยู่ลึกกว่าความจริงธรรมดา
ทำให้การชำระความผิดพลาดได้ง่าย
แม้จะได้ความจริงทั้งหมดออกมาแล้ว ก็ยังไม่ควรดีใจ
ควรจะเสียใจและสงสารที่เขาทำผิดไป
โดยความจงใจก็ดี เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี
ยังต้องนําเมตตาธรรม มาร่วมกับการวินิจฉัยคดีความด้วย
ทางใดที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้
ควรให้โอกาสเขาได้กลับตัวกลับใจ เป็นคนดีต่อไป
ถ้าแสดงความโกรธมากมายเช่นนี้
ผู้ต้องหาเกรงอาญา ก็จะรีบยอมรับเสียก่อน
ทั้งๆ ที่ตนมิได้ทำผิดดังที่ถูกกล่าวหา
จะมิเป็นการปรักปรำราษฎรไปหรือ
ดีใจยังเป็นการไม่บังควร จักโกรธได้ที่ไหน
นายอำเภอสำนึกในคำพูด ของเสมียนอำเภอ
แต่นั้นมาก็ไม่กล้าแสดงความโกรธ
ความดีใจ ในขณะที่ชำระความอีกเลย

เสมียนอำเภอท่านนี้มีความยากจนมาก
เพราะมีแต่เงินเดือนขั้นต่ำ ไม่เคยขูดรีดราษฎร
ไม่ยอมรับของกำนัลจากใคร
มีแต่ช่วยเหลือผู้ต้องหาและนักโทษ
วันหนึ่ง มีผู้ต้องหาหลายคนที่ไม่มีข้าวจะกิน
อดอยากมาตลอดทางจากหัวเมืองไกล
หน้าตาซีดเซียว หมดเรี่ยวหมดแรง
หน้าหาสีเลือดไม่ได้แล้ว เป็นที่น่าสงสารยิ่งนัก
บังเอิญที่บ้านของเสมียนอำเภอท่านนี้
ข้าวสารก็กำลังจะหมด เหลืออยู่มื้อสุดท้ายเท่านั้น
ถ้านำมาให้ผู้ต้องหาเหล่านี้แล้ว
ท่านและภรรยา ก็จะต้องอดข้าวมื้อนั้นด้วย
ท่านจึงปรึกษากับภรรยา เพื่อให้ภรรยาเป็นผู้ตัดสินใจ
ตกลงทั้งสองคนยอมเสียสละข้าวมื้อนั้น
นำมาต้มข้าวต้มเลี้ยงผู้ต้องหาทั้งหมด
ต่อมา ภรรยาของท่านก็ให้กำเนิดบุตรชายสองคน
ล้วนแต่ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ในเวลาต่อมา
และหลานของท่านอีกสองคน
ก็ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่เช่นกัน

สมัยพระเจ้าเองจงเป็นฮ่องเต้ พ.ศ. ๑๙๗๙-๑๙๙๒
มีขุนโจรก่อกวนจลาจลขึ้น ที่เมืองฮกเกี้ยน
มีราษฎรและนักศึกษาสนับสนุนขุนโจรกันมากมาย
ฮ่องเต้จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารคุมทัพออกปราบปราม
ท่านนายทหารผู้นี้ หาทางจับเป็นขุนโจรได้
โดยไม่สูญเสียชีวิตไพร่พลและราษฎรเลย
ต่อมา ทางด้านตะวันออกของเมืองฮกเกี้ยน
ยังมีสมุนขุนโจรหลงเหลืออยู่มากมาย
นายทหารท่านนี้ จึงบัญชาให้ขุนนาง
ในกรมมหาดไทยของเมืองนั้น แซ่เจี่ย
ให้ออกกวาดล้างแทนท่าน
ถ้าจับได้ให้ฆ่าให้หมดสิ้น แต่ท่านเจี่ยไม่ยอมปฏิบัติตาม
ท่านกลับให้คนลอบไปแจ้งแก่ราษฎรว่า
ถ้าใครไม่เข้าข้างโจร ก็ให้เอาผ้าขาว
แขวนไว้ที่หน้าประตูบ้าน
ในวันที่กองทหารจะเข้าไปตรวจค้นโจร
ในแต่ละบ้าน แล้วสั่งห้ามมิให้ทหารข่มเหงราษฎร
ถ้าบ้านใครมีผ้าขาวแขวนอยู่
ก็จะไม่ถูกลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นอันว่าครั้งกระนั้น ราษฎรและนักศึกษา
รอดตายประมาณหนึ่งหมื่นคน
ท่านเจี่ยมีคุณธรรมล้ำเลิศ
ต่อมาบุตรชายสอบได้ที่ ๑ ได้เป็นจอหงวน
รับราชการจนได้เป็นไจเสี่ยง ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุด
ในราชการฝ่ายบุ๋น (ฝ่ายบริหารประเทศ)
และหลานชายของท่านเจี่ย
ต่อมาก็สอบได้เป็นที่สาม ได้รับราชการเช่นกัน

ที่เมืองฮกเกี้ยน มีตระกูลหนึ่งแซ่หลิน
บรรพสตรีท่านหนึ่งเป็นผู้ใจบุญมาก
ชอบทำขนมเลี้ยงคนจน
ใครมาขอขนมก็รีบกุลีกุจอตักให้
ไม่เคยแสดงสีหน้ารังเกียจเดียดฉันท์
ต่อมามีเทวดาแปลงร่างเป็นเต้าหยิน
มาขอขนมคุณยายท่านนี้ทุกเช้าและขอมากๆ เสียด้วย
ท่านก็ไม่เคยบ่นว่า ตักให้มากๆ
ทุกวันเป็นเวลาสามปี ตลอดระยะสามปีนี้
ไม่เคยขาดเลยแม้แต่วันเดียว ไม่เคยให้น้อย
ไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการให้ สามปีประดุจหนึ่งวัน
เต้าหยินแอบชมเชยนางอยู่ในใจว่า
จะหาใครให้ทานได้สม่ำเสมอ
โดยไม่อิดหนาระอาใจเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว
ท่านจึงพูดกับนางว่า อาตมาฉันขนมของท่านมาสามปีแล้ว
จึงใคร่จะขอตอบแทนพระคุณท่านเสียที
ที่หลังบ้านของท่าน มีที่ว่างอยู่
ถ้าท่านทำฮวงซุ้ยในบริเวณนี้ได้
ต่อไปลูกหลานเหลนโหลนของท่าน จะได้เป็นขุนนาง
ถ้าจะเปรียบก็พูดได้ว่า จะเป็นขุนนางมากมาย
เท่ากับเมล็ดงาหนึ่งถังใหญ่ทีเดียว
ท่านลองคิดดูก็แล้วกันเมล็ดงานั้นเล็กเพียงไร
อยู่ในถังใหญ่ๆ จะมีปริมาณมากเพียงไร
ต่อมา นางได้ถึงแก่กรรมลง
บุตรชายจึงนำไปฝังไว้ในที่นี้
อีกไม่นาน ตระกูลนี้เข้าสอบครั้งแรก ก็สอบได้ถึงเก้าคน
และได้เป็นขุนนางทั้งหมดเช่นกัน ได้เป็นขุนนางทุกชั่วคน
จนมีคำร่ำลือกันไปทั่วว่า ไม่เคยมีครั้งใด
ที่การสอบไล่ จะไม่มีคนในตระกูลหลินติดอันดับ

อีกตระกูลหนึ่ง คือ ตระกูลเฝิง บุ
ตรชายรับราชการในกองประวัติศาสตร์แห่งชาติ
ก่อนหน้านั้น บิดาสอบได้เป็นที่ซิวจ๋าย
ทุกเช้าจะต้องไปเรียนต่อที่อำเภอ
อยู่มาวันหนึ่ง อากาศหนาวจัดมาก
ท่านเดินไปตามทาง พบคนนอนหนาวจมหิมะอยู่
คลำดูปรากฏว่าแข็งไปครึ่งตัวแล้ว
ท่านรีบถอดเสื้อหนาวออกใส่
ให้พยุงให้ลุกขึ้นพากลับมาบ้านของท่าน
ช่วยประคบประหงมจนฟื้นดีดังเดิม
คืนนั้น ท่านฝันไปว่า มีเทวดาองค์หนึ่งมาพูดกับท่านว่า
เป็นการยากยิ่งนัก ที่เจ้าสามารถช่วยเหลือคน
ให้ฟื้นรอดตายได้อย่างหวุดหวิด
เราจะให้หานฉี มาเกิดในตระกูลของเจ้า
ต่อมา บุตรชายที่เดี๋ยวนี้ทำงานกองประวัติศาสตร์ก็เกิดมา
จึงขนานนามว่า ฉี ตามที่ฝันไป
หานฉีท่านนี้เกิดในสมัยราชวงศ์ซ้อง พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๖๗๐
เป็นขุนนางในตำแหน่งไจเสี่ยงถึงสองรัชกาล
คือ พระเจ้าอิงจงฮ่องเต้ พ.ศ. ๑๖๐๗-๑๖๑๐
และพระเจ้าเสินจงฮ่องเต้ พ.ศ. ๑๖๑๑-๑๖๒๘
เป็นที่รักของคนทั่วไป และเป็นที่เกรงขาม
ของชาวต่างประเทศยิ่งนัก
เกียรติคุณของท่านแผ่ไพศาล เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว
พระเจ้าเสินจงฮ่องเต้ ได้โปรดเกล้าฯ
สถาปนาเป็นที่จงเซี่ยงกง เป็นเกียรติยศอันสูงสุด
ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้ที่อุทิศตนเองเพื่อความจงรักภักดี
และรักชาติยิ่ง

มีขุนนางท่านหนึ่งแซ่อิ้ง เมื่อตอนที่ท่านอยู่ในวัยกลางคน
ได้เป็นซิวจ๋ายแล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นขุนนาง
จึงไปนั่งท่องตำราที่เขาแห่งหนึ่ง
ซึ่งปลอดจากผู้คนมารบกวน
แต่เสียงปีศาจร้องกันมากมาย
ชุมนุมกันอยู่ในบริเวณนั้น
ท่านแซ่อิ้งก็ไม่กลัว อยู่มาคืนหนึ่ง
ท่านได้ยินเสียงปีศาจคุยกันว่า มีผู้หญิงคนหนึ่ง
สามีเดินทางไปหากินแดนไกล นานแล้วไม่กลับมา
พ่อผัวแม่ผัว ก็เลยบังคับให้ผู้หญิงคนนี้แต่งงานเสียใหม่
ผู้หญิงไม่ยอม จะมาแขวนคอตายแถวนี้ในคืนพรุ่งนี้
ปีศาจตนหนึ่งซึ่งผูกคอตายมาเหมือนกัน ก็จะมีคนมาแทน
และจักได้ไปเกิดใหม่เสียที ท่านแซ่อิ้งได้ยินเข้า
ก็บังเกิดความสงสารผู้หญิงคนนี้ขึ้นมาจับใจ
จึงนำที่นาของตนไปขายอย่างเงียบๆ
ได้เงินมาสี่ตำลึง จึงเขียนจดหมายขึ้นฉบับหนึ่ง
แล้วส่งไปยังบ้าน ของแม่ผัวพ่อผัวของผู้หญิงคนนั้น
พ่อแม่เห็นจดหมาย ก็รู้ว่าไม่ใช่ลายมือของบุตรตน
พากันสงสัย แต่แล้วก็ลงความเห็นกันว่า
จดหมายนั้นอาจจะปลอมกันได้
แต่เงินนั้น ถ้าไม่ใช่ลูกแล้วจะเป็นใครส่งมาให้เล่า
ก็เชื่อกันว่าลูกของตนคงสุขสบายดี
จึงส่งเงินมาให้พ่อแม่ใช้
เลยกลับใจไม่บังคับให้ลูกสะใภ้ไปแต่งงานใหม่
ในกาลต่อมาเมื่อบุตรชายของตนกลับบ้าน
สามีภรรยาก็ได้อยู่กันเป็นปกติสุขตลอดมา

ครั้นอีกคืนหนึ่ง ท่านแซ่อิ้งก็ได้ยินปีศาจพูดอีกว่า
ฉันน่ะจะมีคนมาตายแทนแล้วเทียวนา
แต่ซิวจ๋ายนี่ทำเสียเรื่องหมด
ปีศาจอีกตนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า งั้นเราก็ช่วยกันฆ่าเสียเถอะ
ปีศาจตนแรกบอกว่าไม่ได้หรอก
เพราะเทพเจ้าเบื้องบนเห็นเขาเป็นคนใจดี
จึงได้แต่งตั้งให้เขาเป็นขุนนางในยมโลก
จึงทำร้ายเขาไม่ได้เสียแล้ว
ท่านแซ่อิ้งได้ฟังเช่นนั้น ก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะทำดีให้ยิ่งๆ ขึ้น
ยามเกิดทุพภิกขภัย ก็นำข้าวไปแจกจ่าย
แก่ผู้อดอยากยามเมื่อญาติมิตรเดือดร้อน
ก็ช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ
ยามประสบภัยพิบัติ ก็ไม่เคยโทษฟ้าโทษดิน
กลับโทษตนเองว่าได้ก่ออกุศลกรรมมา
จึงยอมรับสถานการณ์อันเลวร้ายได้อย่างสงบ
เมื่อได้เป็นขุนนางแล้ว
ลูกหลานก็ยังได้เป็นขุนนางอีกมากมาย

มีซิวจ๋ายท่านหนึ่ง แซ่ชื้อ บิดาเป็นผู้มั่งคั่งในเมืองซูโจว
มีอยู่ปีหนึ่งฝนแล้งมาก ท่านจึงให้ชาวนาทำนาของท่านฟรี
ไม่เก็บค่าเช่านาเลย เป็นตัวอย่างอันดีงาม
ที่เจ้าของนาทั้งหลายก็ปฏิบัติตามเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังนำข้าวที่เก็บไว้
มาแจกจ่ายแก่คนยากไร้อีกด้วย
พอตกกลางคืน ก็ได้ยินเสียงปีศาจมาร้องว่า
แม้จะพูดสักพันครั้งหรือสักหมื่นครั้ง
ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเป็นความจริง
ที่ซิวจ๋ายในตระกูลชื้อนี้จะได้เป็นกือหยินแล้ว
ปีศาจร้องอยู่ทุกคืน ติดต่อกันนาน
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อมีการสอบไล่
ซิวจ๋ายท่านนี้ก็ไปสอบกับเขาด้วย
ปรากฏว่าสอบได้เป็นที่กือหยินจริงตามที่ปีศาจมาร้องบอก
บิดาของท่านเห็นว่า การทำดีเพียงเท่านี้ ยังได้ผลดีถึงเพียงนี้
ท่านก็ยิ่งมุมานะทำดียิ่งๆ ขึ้น
สะพานชำรุดท่านก็ให้คนไปซ่อมเสียให้ดี
ถนนหนทางขรุขระสัญจรไม่สะดวก
ท่านก็ให้คนไปซ่อมให้เรียบร้อย
ภิกษุที่ไม่มีโยมอุปัฏฐาก ท่านก็ทำสำรับกับข้าว ไปถวายทุกวัน
ใครขาดแคลนข้าวปลาอาหารเสื้อผ้า และอื่นๆ
ท่านก็จุนเจืออยู่เสมอ ไม่ให้อดอยากยากไร้
ไม่ว่าใครจะมีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไร
ท่านช่วยได้เป็นช่วยทันที
ต่อมาปีศาจก็มาร้องอีกทุกคืนว่า
แม้จะพูดสักพันครั้งหรือสักหมื่นครั้ง
ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเป็นความจริงที่กือหยินในตระกูลชื้อนี้
จะได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ที่มีตำแหน่งสูงสุดในภูธร
ต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

มีขุนนางอีกท่านหนึ่งแซ่ถู
รับราชการอยู่ในเรือนจำที่เมืองเกียฮง
ท่านพักอยู่ในเรือนจำ มีเวลาว่าง
ท่านก็จะไปคุยกับพวกนักโทษ
เพื่อจะได้รู้ความจริงว่า
นักโทษนั้นทำความผิดจริงหรือเปล่า
ปรากฏว่ามีนักโทษหลายคน
ที่ไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา
ท่านจึงทำบันทึกไปมอบให้ผู้บังคับบัญชา
การพิจารณาโทษในสมัยนั้น
ก็ต้องผ่านการพิจารณาคดีสามขั้นตอนด้วยกัน
เมื่อสอบสวนได้ความอย่างไรในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว
ก็ส่งตัวนักโทษ มายังคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง
เพื่อสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้ความอย่างไรแล้ว
ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฮ่องเต้ให้ทรงวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง
โดยแยกเสนอนักโทษออกเป็นสามประเภท
คือ ประเภทที่หนึ่งกระทำความผิดจริง
ประเภทที่สองเป็นนักโทษที่รอการลงอาญาไว้
ประเภทที่สามเป็นนักโทษ ที่ควรให้อภัยโทษ
ทั้งหมดนี้ก็สุดแล้วแต่ฮ่องเต้จะทรงวินิจฉัยอย่างไร
ถ้ารับสั่งให้ประหารก็ประหารทันที
ส่วนพวกที่รอการลงอาญาถ้าโชคดี
ก็อาจจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันสำคัญของฮ่องเต้
ท่านแซ่ถูนี้ เมื่อท่านสอบสวนได้ความจริงจากนักโทษแล้ว
ท่านก็ทำบันทึกส่งให้ผู้บังคับบัญชา
ธรรมเนียมในสมัยนั้น ถ้าผู้ใดสามารถสืบได้ความจริงว่า
นักโทษไม่ผิดแต่ถูกปรักปรำ ก็จะได้รับความดีความชอบ
แต่ท่านแซ่ถูนี้ ท่านมิได้คิดเอาดีเอาชอบ
กลับยกความดีความชอบให้แก่ผู้บังคับบัญชา
มีความประสงค์แต่จะช่วยแก้ทุกข์ ให้กับนักโทษเท่านั้น
นักโทษถูกปลดปล่อยเพราะท่านในขณะนั้นสิบกว่าคน
ราษฎรต่างพากันชื่นชมยินดี
โดยไม่ทราบว่าที่แท้เป็นการปิดทองหลังพระ ของท่านแซ่ถูนั่นเอง
ท่านแซ่ถูยังเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่า
ในเมืองหลวงแท้ๆ ยังมีผู้ถูกปรักปรำมากมายเช่นนี้
ถ้าหัวเมืองที่ไกลปืนเที่ยงออกไป
จะได้รับความอยุติธรรมขนาดไหน
ควรที่จะแต่งตั้งคนดี มีความยุติธรรมเป็นผู้ตรวจการ
ต่างพระเนตรพระกรรณ ทุกๆ ห้าปี
ควรมีผู้ตรวจการไปรื้อฟื้นคดีมาพิจารณากันใหม่
ถ้าเป็นการกระทำผิดจริง ก็ยังจะต้องพิจารณาว่า
ได้พิพากษาลงโทษสมควรแก่โทษหรือเปล่า
ถ้าหนักไป ก็ควรผ่อนให้เบาขึ้น
ถ้าเบาไปก็ต้องเพิ่มให้หนักขึ้นไปอีก
เพื่อทรงความยุติธรรมไว้
ผู้ใดมิได้กระทำผิดก็สมควรปล่อยตัวไปเสีย
ฮ่องเต้ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงแต่งตั้งขุนนาง
แยกย้ายกันไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่
ท่านแซ่ถูก็ได้รับการแต่งตั้งด้วย
อยู่มาคืนหนึ่ง ท่านฝันไปว่า มีเทวดามาชมเชยท่านว่า
การกระทำของท่าน เป็นที่ถูกใจของฟ้าดินเป็นอันมาก
ความจริงท่านแซ่ถูมีชะตาชีวิตที่ไร้บุตรสืบสกุล
แต่เนื่องจากความดีครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
ฟ้าดินจึงประทานบุตรชายให้ท่านสามคน
ต่อไปจะได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสิ้น
ต่อมาความฝันนั้นก็กลายเป็นความจริง

มีอีกท่านหนึ่งแซ่เปา บิดาของท่านเป็นขุนนาง
ตำแหน่งข้าหลวง ท่านมีพี่น้องเจ็ดคน
ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง
แต่งงานแล้วก็ไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย
ท่านชอบพอกับท่านบิดาของพ่อมาก
ไปมาหาสู่กันเสมอ ท่านเป็นคนเก่ง มีความรู้มากมาย
แต่เสียดายที่สอบเป็นกือหยินตกทุกปี
ท่านสนใจพระพุทธศาสนา และลัทธิเต๋ามาก
วันหนึ่ง ท่านไปเที่ยวที่ทะเลสาบแห่งหนึ่ง
ไปพบศาลเจ้าเก่าๆ มีสภาพทรุดโทรมมาก
เข้าไปในศาลก็เห็นรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม
ยืนตากฝนเปียกอยู่ ท่านจึงรีบหยิบเงิน
ในกระเป๋าของท่านซึ่งมีอยู่สิบตำลึง
ถวายท่านเจ้าอาวาส ให้ซ่อมแซมศาลเจ้าให้ดีด้วย
ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า เงินเพียงเท่านี้
ไม่เพียงพอที่จะซ่อมแซมได้หมด
ท่านจึงหยิบผ้าที่เพิ่งซื้อมาสี่พับ
กับเสื้อผ้าที่ติดตัวมาอีกเจ็ดชุดถวายแด่ท่านเจ้าอาวาส
คนใช้ได้ห้ามขึ้นว่า เสื้อผ้าเหล่านี้ล้วนเพิ่งทำมาใหม่ๆ
แล้วท่านจะใช้อะไรมาแทนเล่า
ท่านบอกว่า ช่างเถิด ขอให้พระโพธิสัตว์กวนอิม
ไม่ต้องตากแดดตากฝนก็พอใจแล้ว
เราไม่มีเสื้อใส่จะเป็นไรไป
ท่านเจ้าอาวาสได้ฟังแล้ว ประทับใจมาก
ร้องไห้พลางพูดว่า ของที่ให้มานั้นหาไม่ยากดอก
แต่น้ำใจเช่นนี้สิจะหาได้จากที่ไหน
ครั้นซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว
ท่านแซ่เปาก็ชวนท่านบิดาให้ไปไหว้เจ้าด้วยกัน
คืนนั้นค้างอยู่ที่วัด ตกดึก
ก็มีเทพเจ้ามาเข้าฝันท่านบิดาว่า
ขอบใจที่มาช่วยให้ไม่ต้องเปียกฝนอีกแล้ว
ต่อไปบุตรหลานของท่าน จะได้เป็นใหญ่เป็นโต
ในราชการมากมาย ต่อมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

อีกท่านหนึ่งแซ่จือ ท่านบิดารับราชการอยู่ในกรมราชทัณฑ์
อยู่มาวันหนึ่ง มีนักโทษประหารคนหนึ่ง
ซึ่งถูกปรักปรำโดยไม่ได้ทำผิดอันใดเลย
ท่านบิดาสงสารมาก จึงปลอบใจนักโทษว่า
อย่าเป็นทุกข์ไปเลยจะช่วยเหลือ
นักโทษจึงปรับทุกข์กับภรรยาว่า
เราซาบซึ้งในบุญคุณอันนี้ยิ่งนัก
แต่น่าละอายใจ ที่เรายากจนมาก
ไม่มีสิ่งของอันใดพอที่จะนำมาตอบแทนพระคุณท่าน
ก็เห็นมีแต่เจ้าเท่านั้นที่จะช่วยเหลือเราได้
พรุ่งนี้เมื่อท่านไปทำการสอบสวนที่บ้าน
เจ้าจงบอกกับท่านตามตรงว่า
เราขอยกเจ้าให้เป็นภรรยาของท่าน
นางไม่อยากทำเช่นนี้ ก็ได้แต่ร้องไห้พลาง
รับปากไปพลาง ด้วยความเศร้าสลดใจยิ่ง
แต่การณ์กลับผิดคาด ท่านบิดาของท่านแซ่จือไม่ยอมรับ
และช่วยเหลือจนสำเร็จ เมื่อออกจากที่คุมขังแล้ว
สองสามีภรรยา ก็เดินทางมาขอบพระคุณท่าน
และพูดว่า คุณธรรมของท่านที่มีต่อข้าพเจ้านั้น
หายากยิ่งแล้วในโลกนี้
หากข้าพเจ้า ไม่สามารถตอบแทนพระคุณของท่านเสียบ้าง
คงจะไม่สบายใจไปตลอดชาติ
จึงใคร่ขอยกลูกสาวให้เป็นทาสช่วงใช้
ขอท่านอย่าได้ปฏิเสธเลย ท่านบิดาของท่านจือก็รับไว้
แต่มิได้ให้เป็นทาสรับใช้
ทำพิธีแต่งงานกันตามประเพณีนิยม
ต่อมาจึงได้ให้กำเนิดท่านแซ่จือ
พออายุได้ ๒๐ ปี ท่านแซ่จือก็สอบไล่ได้เป็นขุนนาง
ในกรมประวัติศาสตร์ ต่อมา ลูกหลานก็ได้เป็นขุนนางทั้งนั้น

ที่พ่อเล่ามาให้ฟังทั้งหมดนี้ มีอยู่สิบเรื่องด้วยกัน
แม้เรื่องราวจะแตกต่างกัน
แต่ก็ล้วนเป็นการประพฤติดีปฏิบัติชอบทั้งสิ้น

แต่ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้
ก็ยังจะต้องพิจารณาว่า
การทำความดีนั้นดีจริงหรือดีปลอม
บริสุทธิ์ใจ หรือไม่บริสุทธิ์ใจ
ทำแล้วมีคนรู้เห็นหรือไม่มีคนรู้เห็น
ทำถูกหรือทำผิด ทำด้วยความสุจริตหรือทุจริต
ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือทำอย่างสมบูรณ์
ทำใหญ่หรือทำเล็ก ทำยากหรือทำง่าย
ทั้งหมดนี้ จะต้องใคร่ครวญให้ถ่องแท้
หากกระทำความดีโดยไม่อาศัยเหตุผลแล้วไซร้
ความดีนั้นอาจจะให้ผลร้าย เป็นบาปไปก็ได้
เป็นการสูญเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อันใดเลย


ทีนี้พ่อจะมาพูดให้ฟังทีละข้อ
ดอกไม้ ข้อแรก การทำความดีนั้น ทำแล้วดีจริงหรือไม่
ในสมัยราชวงศ์หยวน พ.ศ. ๑๘๑๔-๑๙๑๑
มีพระเถระรูปหนึ่งมีนามว่าท่านจงฟง
ฮ่องเต้ในสมัยนั้นได้สถาปนาท่านเป็นถึงสังฆราช
ท่านมีคุณธรรมล้ำเลิศ มีคนไปนมัสการท่านมากมาย
อยู่มาวันหนึ่ง มีพวกนักศึกษาลัทธิขงจื๊อ
ได้พากันไปนมัสการท่าน
กราบถามท่านถึงปัญหาหนึ่งว่า
พระพุทธศาสนานั้น เน้นหนักในเรื่องกฎแห่งกรรม
ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดุจเงาตามตัว
แต่บัดนี้ ปรากฏว่าบางคนทำความดี
แต่ลูกหลานไม่เจริญรุ่งเรือง
ส่วนคนที่ทำชั่วนั้นเล่า กลับได้ดีมีหน้ามีตา
เช่นนี้แล้วจะเชื่อคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างไรกัน
พระเถระจงฟงกล่าวตอบว่า
หากเราจะวินิจฉัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ถ้าใช้ทัศนะของชาวโลก ก็จะวินิจฉัยได้แง่มุมในทางโลก
ถ้าใช้ทัศนะทางพุทธธรรม ก็จะวินิจฉัยได้แง่มุมในทางธรรม
อันปุถุชนคนธรรมดา ไม่สามารถจะมองเห็นได้แจ่มแจ้งเท่า
เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยในทัศนะทางโลก
จึงไม่อาจถูกต้องเสมอไป
บางทีคนดีก็มองไปว่าเป็นคนไม่ดี
ส่วนคนไม่ดีก็มองเห็นว่าเป็นคนดีไปก็มี
ชาวโลกจึงมักจะไม่สำรวจตนเอง
เอาแต่โทษฟ้าดินลำเอียง
แล้วท่านก็ให้พวกนักศึกษาลัทธิขงจื๊อ
ลองยกตัวอย่าง ที่พวกเขาเห็นว่าดีและไม่ดีออกมา
จะได้เข้าใจความหมายของความดีถ่องแท้ขึ้น
บางคนก็ยกตัวอย่างว่า การตีคน ด่าคนไม่ดี
การอ่อนน้อม มีมรรยาทดีจึงจะดี
บางคนก็ยกตัวอย่างว่า การละโมบ
อยากได้ของเขาอื่นไม่ดี
การไม่โลภถือสันโดษเป็นความดี
ท่านจงฟงเถระก็ได้แต่ส่ายหน้าว่า
ไม่ใช่อย่างว่าเสมอไป

ท่านอธิบายว่า ถ้าเราทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเรียกว่า ทำความดี
แต่ถ้า เราทำเพื่อตัวเราเอง นั่นคือ ความไม่ดี
ถ้าเราทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
ถึงแม้เราจะตีเขาก็ดี ดุด่าว่ากล่าวก็ดี
ล้วนแต่เป็นการกระทำดีทั้งนั้น
ถ้าเพื่อประโยชน์ของเราเอง
เราจึงอ่อนน้อมต่อผู้อื่น ทำความคารวะต่อผู้อื่น
นี่เป็นความดีปลอม ไม่ใช่ดีจริง
ฉะนั้น การกระทำใดๆ ก็ตาม
ถ้าทำเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้วไซร้
เป็นความดีจริงทั้งนั้น
ถ้าเราทำเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง ก็เป็นดีปลอมทั้งนั้น
ถ้าเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความจริงใจ
ไม่หวังสิ่งตอบแทน จึงจะเป็นความดีที่ดีแท้
หากยังต้องการอามิสสินจ้างรางวัล จึงจะทำความดี
ความดีนั้นก็เป็นดีปลอม
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะกล่าวว่า
สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี คนนี้ดี คนนี้ไม่ดี ก็จะต้องพิจารณา
ใคร่ครวญทุกแง่ทุกมุมเสียก่อน
มิฉะนั้น การวินิจฉัยของเราก็จะเกิดการผิดพลาดขึ้นได้


ดอกไม้ ทีนี้พ่อจะพูดถึง ความดีข้อที่สอง
คือ ทำความดีโดยบริสุทธิ์ใจ หรือแฝงด้วยเจตนาใดๆ

สมัยนี้คนส่วนมาก ชอบคนที่มีนิสัยไม่ดื้อรั้นว่าเป็นคนดี
แต่นักปราชญ์ท่านมักจะชอบคนที่เป็นตัวของตัวเอง
เพราะคนชนิดนี้ มักจะสอนง่าย แต่หาได้ยากมาก
คนที่ว่านอนสอนง่าย ชักจูงอย่างไรก็ไปอย่างนั้น
ถึงแม้ใครต่อใครพากันชมเชย
ว่าเป็นคนดีนักหนาก็ตามที
แต่ท่านนักปราชญ์กลับเห็นว่า
คนชนิดนี้เป็นผู้ร้ายในคุณธรรม
สอนให้ดีได้ยาก หาความก้าวหน้าไม่ได้
เพราะฉะนั้น ความดีความไม่ดี
ชาวโลกมักเห็นตรงข้ามกับนักปราชญ์เสมอ
ส่วนเทวดาฟ้าดินนั้น มีความเห็นตรงกับนักปราชญ์เสมอ
ดังนั้น การทำความดีจึงมิได้อาศัยที่ตาดู หูฟัง
แต่ต้องเริ่มที่ใจของตนเอง
เริ่มไตร่ตรอง สำรวจตนเองอย่างระแวดระวัง
อาศัยกำลังใจของเราเองซักฟอกจิตใจให้ใสสะอาด
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ให้คิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นก่อน
แล้วทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ไม่แฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะต้องการการตอบแทนจากใคร
จึงจะเป็นความดีโดยบริสุทธิ์
หากเราทำความดีเพื่อเอาใจผู้อื่นก็ดี
หวังการตอบแทนก็ดี
ก็ไม่ใช่ความดีที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจแล้ว
เป็นการเสแสร้งเพทุบาย
เพื่อหวังประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง เป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
จะถือเป็นความดีแท้ไม่ได้

ดอกไม้ ส่วนความดีข้อที่สาม คือการทำดีที่มีผู้รู้เห็น และไม่มีผู้รู้เห็น
ถ้าเราทำความดี มีคนรู้เห็นมาก ก็กลายเป็นความดีทางโลกไป
แต่ทำแล้วไม่มีผู้รู้เห็น เหมือนการปิดทองหลังพระ
นี่เป็นความดีทางธรรม ความดีทางธรรม ฟ้าดินย่อมประทานผลดีให้

ส่วนความดีทางโลก ก็จะได้รับแต่ชื่อเสียงเกียรติยศ
ความมั่งคั่งเป็นผลตอบแทน การมีชื่อเสียงโด่งดังนั้น
ชาวโลกมักจะเห็นว่า เป็นผู้มีบุญวาสนา
แต่ทางธรรมแล้วเห็นว่า
ผู้นั้นมิได้ทำความดีมากพอกับการมีชื่อเสียง
จึงมักจะได้รับผลไม่ดีในบั้นปลาย
แต่คนดีที่ได้รับการปรักปรำจนเสียชื่อเสียงนั้น
ลูกหลานกลับรุ่งเรืองได้ดีมีสุข
เพราะผู้ที่ได้รับการปรักปรำ
สามารถอดทน ต่อการถูกประณามเหยียดหยาม
หวานอมขมกลืน ก้มหนัารับความขมขื่น ด้วยความสงบ
เป็นการสั่งสมกุศลกรรมอย่างใหญ่หลวง
ลูกหลานจึงมีโอกาสได้ดี
เพราะฉะนั้น ลูกจะต้องเห็นความสลับซับซ้อนอันล้ำลึก
ของการทำความดีที่ดีแท้และดีปลอม
จึงจะทำความดีได้ถูกต้อง

ดอกไม้ ความดีข้อที่สี่ คือความดีที่ทำผิดหรือทำถูก
ในแคว้นหลู่สมัยชุนชิวนั้น มีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งกำหนดว่า
หากราษฎรในแคว้นหลู่ ถูกจับไปเป็นเชลยในแคว้นอื่น
หากมีคนไถ่ออกมาได้ ส่งคืนแคว้นหลู่ไป
จะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทน
เพราะสมัยชุนชิวนั้น ต่างคนต่างก็ตั้งตัวเป็นอ๋องกัน
รบราฆ่าฟันเพื่อชิงเขตแดนกัน
จับเชลยศึกได้ก็นำไปเป็นข้าทาสทั้งหญิงชาย
แคว้นหลู่เป็นแคว้นเล็กๆ ไม่ค่อยจะมีกำลังไปสู้รบกับใครนัก
จึงมักถูกแคว้นอื่น บุกเข้ามาจับราษฎรไปเป็นทาสเสมอ
ใครใจบุญอยากทำความดี
ก็นำเงินไปไถ่มาคืนเจ้าผู้ครองแคว้นหลู่
ก็จะได้รับเงินรางวัลทันที
ต่อมา ท่านจื่อก้ง ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านขงจื๊อ
ท่านก็ไปไถ่เชลยศึกคืนมาให้แคว้นหลู่
โดยไม่ยอมรับเงินรางวัล เพราะท่านมีฐานะดีอยู่แล้ว
ทำไปโดยมิหวังผลตอบแทนใดๆ
แต่เมื่อท่านขงจื๊อทราบเรื่องเข้า
ท่านก็โกรธลูกศิษย์ของท่านมาก
ท่านบอกว่า แคว้นหลู่นั้นคนจนมาก คนรวยมีน้อย
ต่อนี้ไป คงจะไม่มีใครกล้าไปไถ่เชลยศึกอีกแล้ว
เพราะท่านจื่อก้งไปทำตัวอย่างเอาไว้เช่นนี้
ก็มีแต่คนที่มีฐานะดี จึงจะกล้าเอาอย่างท่านจื่อก้งได้
ส่วนคนที่โลภเงินรางวัลก็ดี
คนที่ไม่ค่อยจะมีเงินนักก็ดี
ต่างก็ไม่ทำความดีอีกต่อไป
เพราะไม่ได้เงินรางวัลจะทำไปทำไม
ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า นักปราชญ์นั้น ไม่ว่าจะทำอะไร
ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น จึงต้องระมัดระวัง
จะทำอะไรผิดไม่ได้ คนก็จะพากันทำตามอย่างผิดๆ ไปด้วย
ความดีก็เลยเป็นความดีปลอมไป


ต่อมาวันหนึ่งท่านจื่อลู่ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านขงจื๊อเช่นกัน
ได้ช่วยคนตกน้ำไว้ได้ ชายคนนั้นให้วัวตัวหนึ่งเป็นการตอบแทน
ที่ได้ช่วยชีวิตไว้ ท่านจื่อลู่ก็รับเอาวัวนั้นมา
ท่านขงจื๊อเมื่อทราบเรื่องก็ดีใจมาก
ท่านพูดว่า ต่อนี้ไปในแคว้นหลู่ของเรานี้
จะมีคนชอบช่วยเหลือผู้อื่นเพิ่มขึ้นอีก
เพราะเมื่อทำความดีแล้ว
มีคนเห็นความดีและได้รับการตอบแทนทันที
ใครๆ ก็อยากจะทำความดีเช่นนี้กันมากขึ้น
แต่ในสายตาชาวโลกแล้ว
จะต้องมองในทัศนะกลับกันกับท่านขงจื๊อเป็นแน่
ชาวโลกจะต้องเห็นว่า ท่านจื่อก้งดี
ช่วยคนแล้วไม่หวังสิ่งตอบแทน
ส่วนท่านจื่อลู่นั้นไม่ดี ช่วยแล้วก็ไม่ปฏิเสธการตอบแทน
แต่นักปราชญ์ท่านมองไกล
การทำความดีที่มีคนนําไปเป็นเยี่ยงอย่าง
ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ จึงจะเป็นความดีแท้
ส่วนการทำความดีที่กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป
เป็นผลร้ายต่อส่วนรวมแล้วไซร้
ก็หาชื่อว่าเป็นความดีแท้ไม่
สมมุติว่ามีคนไม่ดีคนหนึ่ง เที่ยวเกะกะระรานผู้คน
ถ้าไม่มีคนถือสา เห็นว่าการให้อภัยเป็นคุณธรรมที่ดี
นี่เป็นการทำความดีที่ผิด เพราะคนพาลนั้นก็ยิ่งได้ใจ
กล้าทำความผิดหนักยิ่งขึ้น ผู้คนก็จะถูกทำร้ายหนักขึ้น
คนพาลนี้ก็จะต้องถูกกฎหมายลงโทษอย่างหนัก
แต่ถ้าเราไม่ปล่อยให้คนพาลเหิมเกริม
หาทางกำราบเสียก่อนที่จะสายเกินแก้ ก็จะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย
เพราะฉะนั้น บางครั้งการไม่ให้อภัยคนพาล
ช่วยกันกำราบให้กลับตัวได้ กลับจะเป็นความดีแท้

ดอกไม้ ความดีข้อที่ห้า คือการทำความดีแล้วผลทำให้ผู้อื่นเป็นอย่างไร

แต่ก่อนนี้ มีขุนนางไจเสี่ยงท่านหนึ่งรับราชการ
ในรัชกาลของพระเจ้าอิงจงฮ่องเต้ (พ.ศ. ๑๙๗๘-๑๙๙๒)
ท่านรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่มีด่างพร้อย
เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
ต่อมา ท่านปลดเกษียณตนเอง
กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมของท่านที่ชนบท
ประชาชนก็พากันมาเคารพท่าน
ต่างก็เปรียบท่านดุจขุนเขาอันสูงสุดในแผ่นดินจีน
คือ ไท่ซาน และเปรียบดุจดาวเหนือที่สุกใสกว่าดาวใดๆ ในพิภพ
แต่มีชายขี้เมาคนหนึ่ง มาด่าท่านซึ่งๆ หน้า
ท่านเห็นเป็นคนเมาก็ไม่ถือโกรธ
กลับบอกคนรับใช้ว่า อย่าไปเอาเรื่องกับคนเมาเลย ปิดประตูเสียเถิด
ต่อมา ชายขี้เมาคนนี้ ได้รับโทษประหารชีวิต
เมื่อท่านไจเสี่ยงรู้เข้าก็เสียใจมาก
รำพึงว่า ถ้าเราเอาเรื่องเสียแต่แรกที่ด่าเรา
จับไปทำโทษสถานเบาเสียที่อำเภอ
เขาก็จะไม่ต้องรับโทษประหารในวันนี้
เพราะเราแท้ๆ กรุณาเขาผิดกาละไป
ทำให้เขาเหิมเกริม ทำชั่วจนตัวตาย
นี่คือ ตัวอย่างของความใจดี
แต่กลับทำให้ผู้อื่นได้รับผลชั่วตอบแทน

ส่วนการกระทำที่เห็นว่าชั่วแต่กลับเป็นผลดีนั้น
ก็มีตัวอย่างเช่นกัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง บ้านเมืองเกิดทุพภิกขภัย
ราษฎรต่างแย่งชิงกันกินในกลางวันแสกๆ
เศรษฐีท่านหนึ่ง จึงไปร้องต่อนายอำเภอ
ขอให้ระงับเหตุก่อนที่จะเกิดจลาจล
แต่นายอำเภอไม่เอาเรื่อง คนยากจนก็เลยได้ใจ
พากันยื้อแย่งกันยิ่งขึ้น เศรษฐีเห็นไม่เป็นการ
จึงระดมผู้คนของตนออกปราบเอง
เรื่องจึงสงบการกระทำของเศรษฐีท่านนี้ แม้จะรุนแรง
แต่ก็ทำด้วยความสุจริตใจ
หวังมิให้เกิดจลาจล จึงเป็นการทำความดีแท้อีกวิธีหนึ่ง

ดอกไม้ ความดีข้อที่หก คือ ความดีที่กระทำครึ่งๆ กลางๆ และทำอย่างสมบูรณ์
ในคัมภีร์เอ็กเก็งได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ที่ไม่สั่งสมความดี จึงมีความดีไม่พอ ที่จะได้รับชื่อเสียงดี
ผู้ที่ไม่สั่งสมบาป ย่อมไม่รับเคราะห์กรรมถึงตายได้
ในประวัติศาสตร์ก็ได้กล่าวถึงราชวงศ์ซาง
(ก่อน ค.ศ. ประมาณศตวรรษที่ ๑๖-๑๑)
ว่า ติ้วอ๋องสั่งสมแต่บาปกรรม ดุจการร้อยเงินเหรียญไว้เต็มพวง
จึงรักษาแผ่นดินและชีวิตของตนเองไว้ไม่ได้
การสั่งสมความดีความชั่วนั้น
ดุจนำของบรรจุลงในภาชนะ
ถ้าสั่งสมทุกวัน ก็จะเต็มเปี่ยม
ถ้าสั่งสมบ้างไม่สั่งสมบ้าง
หยุดๆ ทำๆ บุญหรือบาปนั้นก็พร่องอยู่เสมอ
ไม่มีวันเต็มได้เลย


แต่ก่อนนี้ มีเด็กสาวคนหนึ่ง เข้าไปในวัดเพราะอยากทำบุญ
แต่มีเงินเพียงสองอีแปะ
ความจริงราคาของเงินนั้นน้อยนิดเดียว
แต่ค่าของความมีใจอยากทำบุญนั้นเหลือหลาย
ท่านเจ้าอาวาสจึงกล่าวอนุโมทนาคาถาเอง
ให้ศีลให้พรเอง
ต่อมาหญิงนั้นได้เข้าวัง เป็นพระสนมของฮ่องเต้
มีเงินมากมาย จึงนำเงินหลายพันตำลึงมาที่วัดนั้นอีก
เพื่อทำบุญ คราวนี้เจ้าอาวาสให้พระลูกวัด
กล่าวอนุโมทนาและให้ศีลให้พรแทน
พระสนมเกิดความสงสัยยิ่งนัก
จึงกราบถามท่านว่า เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้ายากจน
มีเงินทำบุญเพียงสองอีแปะ
แต่ท่านมากล่าวอนุโมทนาคาถา
และให้ศีลให้พรข้าพเจ้าด้วยตนเอง
มาบัดนี้ ข้าพเจ้าพอจะมีเงินบ้าง
จึงนำมาถวายหลายพันตำลึง
แต่ทำไมท่านกลับให้พระลูกวัด
ทำหน้าที่แทนท่านเล่า
ท่านเจ้าอาวาสกล่าวว่า แต่ก่อนนี้ แม้ท่านจะทำบุญน้อย
แต่ใจท่านนั้นเปี่ยมไปด้วยเจตนาที่เป็นกุศล
มาบัดนี้ แม้ท่านจะมีเงินทำบุญมาก
แต่ใจของท่านนั้นไม่เหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว
จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้อาตมาไปกล่าวเอง
นี่คือ ตัวอย่างของการทำดี
ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยราคาของเงินมาวัดความดีนั้น
ทำบุญด้วยเงินน้อยนิด กลับเป็นบุญที่เต็มเปี่ยม
เพราะจิตใจที่เต็มไปด้วยกุศลเจตนา
แม้ทำบุญด้วยเงินมากมาย
หากจิตใจมีศรัทธาเพียงครึ่งๆ กลางๆ
การทำความดีนั้น ก็จะให้ผลเพียงครึ่งๆ กลางๆ เท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง มีเซียนท่านหนึ่งชื่อว่า จงหลี
ท่านเป็นชาวฮั่น (ก่อน พ.ศ. ๗๔๙-๕๕๑)
เมื่อตายได้สำเร็จเป็นผู้วิเศษ
เสวยสุขอยู่บนสวรรค์หลายร้อยปี
จนถึงสมัยราชวงศ์ถัง พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๕๐
ท่านเซียนจงหลีก็รับลูกศิษย์ไว้คนหนึ่ง
มีชื่อว่าท่านลื่อต้งปิง ต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้คน
เรียกท่านว่า ลื่อโจ๊ว
ท่านลื่อโจ๊วเป็นขุนนางรับราชการเป็นนายอำเภออยู่สองครั้ง
เมื่อมีโอกาสพบเซียนผู้วิเศษ
ท่านก็ได้รับถ่ายทอดวิชาต่างๆ ในลัทธิเต๋า
รวมทั้งการนั่งสมาธิด้วย
ท่านจึงลาออกจากราชการ ติดตามท่านเซียนผู้วิเศษ
ไปฝึกฌานสมาธิที่ภูเขาแห่งหนึ่ง
จนสำเร็จได้เป็นเซียนเช่นกัน
ต่อมาท่านจงหลีได้สอนให้ท่านลื่อโจ๊ว
รู้จักผสมยาวิเศษ เพียงแต่เอายานั้นหยดลงไปที่เหล็ก
เหล็กนั้นก็จะกลายเป็นทอง
สามารถนำไปช่วยเหลือความยากจนของผู้คนได้
ท่านลื่อโจ๊วจึงกราบถามท่านอาจารย์ว่า
เมื่อเปลี่ยนไปเป็นทองแล้ว
จะกลับเป็นเหล็กดังเดิมอีกไหม
ท่านจงหลีบอกว่า เมื่อครบห้าร้อยปีแล้ว
ก็จะกลับสภาพเดิมได้ ท่านลื่อโจ๊วจึงปฏิเสธ
ไม่ยอมทำเหล็กให้เป็นทอง
เพราะท่านเห็นว่าเมื่อครบห้าร้อยปีแล้ว
ก็จะทำให้ผู้คนเสียหายมากมาย
เพราะอยู่ๆ ทองในมือก็กลายเป็นเหล็กไปเสียแล้ว
ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมากมาย
เป็นการให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม
การที่ท่านจงหลีลองใจท่านลื่อโจ๊วครั้งนี้
ทำให้ท่านภูมิใจในลูกศิษย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง
เพราะคำพูดเพียงคำเดียว
ก็แสดงให้เห็นความเป็นคนของท่านลื่อโจ๊วว่าสูงส่งเพียงไร
ท่านจึงกล่าวกับศิษย์รักของท่านว่า
การที่จะบรรลุความเป็นเซียนนั้น
จะต้องสั่งสมคุณธรรมให้ได้ถึงสามพันอย่าง
คำพูดของเจ้าเพียงคำเดียว ก็เท่ากับ
ได้สร้างคุณธรรมครบสามพันอย่างแล้ว ในพริบตาเดียว

การทำความดีนั้น
เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่า
การทำดีนั้นช่างใหญ่ยิ่งนัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา
ถ้าคิดเช่นนี้ ความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียว
แต่ถ้าทำแล้วก็ไม่นำมาใส่ใจอีก
คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี
จึงจะเป็นความดีที่สมบูรณ์
ไม่ตกไม่หล่น เช่นการให้เงินแก่คนยากจน
ในใจของลูกจะต้องอย่าคิดว่า
เราเป็นผู้ให้ ภายนอกก็อย่าไปสนใจว่าใครเป็นผู้รับ
แม้แต่เงินที่เราบริจาคไปแล้ว ก็มองไม่เห็นว่าสำคัญตรงไหน
ให้แล้วก็แล้วกัน ลืมเสียให้ได้
ไม่กลับมาคิดอีกให้เสียเวลา
เช่นนี้เรียกว่าทำความดีด้วยจิตว่างเปล่า
เมื่อไม่ได้บรรจุอะไรไว้ที่จิตเลย
จิตนั้นก็ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยกุศลผลบุญ
พลังแห่งกุศลกรรมเช่นนี้ใหญ่หลวงนัก
สามารถทำลายเคราะห์กรรมได้ ถึงหนึ่งพันครั้ง
เพราะฉะนั้นการทำความดี
จึงมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของเงินทอง หรือวัตถุที่บริจาค
แต่อยู่ที่ใจเราเท่านั้น ที่จะทำจิตใจให้ว่างเปล่า
จนสามารถบรรจุบุญกุศลได้เพียงใดต่างหาก


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 01 ต.ค.2006, 12:29 am, ทั้งหมด 3 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดอกไม้ ความดีข้อที่เจ็ด คือ ความดีที่ใหญ่หรือเล็ก
มีขุนนางผู้หนึ่งมีนามว่าเอว้ยจ้งต๊ะ
รับราชการอยู่ในกรมประวัติศาสตร์
อยู่มาวันหนึ่ง ถูกจับวิญญาณไปยังยมโลก
พญายมได้สั่งให้เสมียนในยมโลก
นำบัญชีดีชั่วของท่านเอว้ยมาให้ดู
ปรากฏว่าบัญชีชั่วนั้นช่างมากมายก่ายกอง
วางจนเต็มห้องไปหมด
ส่วนบัญชีความดีนั้นเล็กนิดเดียว
มีขนาดพอๆ กับตะเกียบข้างหนึ่งเท่านั้น
พญายมสั่งให้คนเอาตาชั่งมา
ปรากฏว่าบัญชีความดีนั้นแม้จะเล็กนิดเดียว
แต่กลับมีน้ำหนักมากกว่าบัญชีความชั่ว
ที่รวมกันแล้วทั้งหมด
ท่านเอว้ยมีความสงสัยเป็นอันมาก
จึงถามพญายมว่า ข้าพเจ้ามีอายุยังไม่ถึงสี่สิบปี
ไฉนจึงมีความชั่วมากมายเช่นนี้
พญายมตอบว่า เพียงแต่จิตคิดมิชอบเท่านั้น ก็เป็นบาปแล้ว
เช่นเห็นผู้หญิงสาวสวย ก็มีจิตปฏิพัทธ์
จิตที่คิดมิชอบเช่นนี้ ก็จะถูกบันทึกในบัญชีความชั่วทันที
ท่านเอว้ยถามต่อไปว่า
ถ้าเช่นนั้นในบัญชีความดีอันน้อยนิดนี้
ได้บันทึกไว้ว่าอย่างไร พญายมตอบว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง
ฮ่องเต้ทรงดำริจะซ่อมสะพานหิน ที่เมืองฮกเกี้ยน
ท่านเกรงว่าราษฎรจะเดือดร้อน จึงถวายความเห็น
เพื่อยับยั้งพระราชดำรินั้นเสีย
บัญชีความดีนี้ ก็คือ สำเนาที่ท่านทูลเกล้าฯ ถวายฮ่องเต้นั่นเอง
ท่านเอว้ยก็แย้งว่าแม้ข้าพเจ้าจะกระทำดังกล่าวจริง
แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ พระองค์ทรงดำเนินการไปแล้ว
ไม่น่าเลย ที่บัญชีความดีเพียงอย่างเดียว
จะมีน้ำหนักมากกว่าบัญชีความชั่วที่กองอยู่เต็มห้องนี้
พญายมจึงพูดว่า การที่ท่านมีเมตตาจิตต่อราษฎร
เกรงจะได้รับความลำบากกันมากมาย
กุศลจิตนี้ใหญ่หลวงนัก
ถ้าหากท่านยับยั้งได้สำเร็จก็จะยิ่งเพิ่มความหนักขึ้นอีก
พลังแห่งกุศลกรรมนี้ จะยิ่งใหญ่อีกหลายเท่านัก
แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้ากระทำเพื่อชนหมู่ใหญ่แล้วไซร้
ความดีนั้นก็ใหญ่หลวงยิ่งนัก
หากทำดีเพื่อตนเองแล้วไซร้
แม้จะทำดีขนาดไหน ก็ได้ผลน้อยมาก
ลูกจงจำไว้ว่า การทำความดี
ไม่ว่าจะเป็นความดีมากหรือน้อยเพียงใด
ขึ้นอยู่กับเจตนาในการทำความดีนั้น
เพื่อผู้อื่นหรือเพื่อตนเอง



ดอกไม้ ข้อที่แปด คือ ความยากง่ายในการทำความดี
สมัยก่อน ท่านผู้คงแก่เรียนมักจะพูดว่า
ถ้าจะเอาชนะใจตนเองให้ได้
ต้องเริ่มจากจุดที่ข่มใจได้ยากที่สุดเสียก่อน
ถ้าสามารถเอาชนะได้จุดอื่นๆ ก็ไม่สำคัญเสียแล้ว
ย่อมจักเอาชนะได้โดยง่าย
ลูกศิษย์ของท่านขงจื๊อ ชื่อฝานฉือ
ได้ถามท่านอาจารย์ว่า เมตตาธรรมนั้นเป็นอย่างไร
ท่านขงจื๊อตอบว่า
การทำสิ่งที่ยากที่สุดได้เสียก่อน จึงจะชนะใจตนเองได้
เมื่อชนะใจตนเองได้แล้ว ความเห็นแก่ตัวก็หมดไป
จึงบังเกิดเมตตาธรรม


พ่อจะยกตัวอย่างให้ฟัง ลูกจะได้เข้าใจง่ายเข้า
ที่มณฑลเจียงซี มีท่านผู้เฒ่าแซ่ซู
ท่านยังชีพด้วยการสอนหนังสือตามบ้าน
อยู่มาวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่ง เป็นหนี้เพราะความยากจน
เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
เจ้าหนี้ก็จะยึดภรรยาของชายผู้นี้ไปเป็นคนใช้
ท่านผู้เฒ่าซู เกิดความสงสารสามีภรรยาคู่นี้ยิ่งนัก
จึงยอมเสียสละเงิน ที่เก็บออมไว้ได้จากการสอนหนังสือ
เป็นเวลาสองปี นำมาใช้หนี้แทนชายผู้นั้น
ทำให้สามีภรรยาคู่นี้ไม่ต้องแยกจากกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง มีชายคนหนึ่งด้วยความยากจนยิ่งนัก
จึงนำภรรยาและบุตรชายไปจำนำไว้ ได้เงินมาพอประทังชีวิต
เมื่อถึงกำหนดไม่มีเงินจะไปไถ่คืน
ภรรยาก็เดือดร้อนคิดจะฆ่าตัวตาย
บังเอิญท่านผู้เฒ่าจางรู้เรื่องเข้า มีความสงสารเป็นยิ่งนัก
จึงนำเงินที่เก็บสะสมมาแล้วถึงสิบปี มาใช้หนี้แทนให้
พ่อแม่ลูก จึงได้มีโอกาสกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งท่านผู้เฒ่าซูและท่านผู้เฒ่าจาง
ล้วนแต่ได้กระทำในสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง
เงินที่ท่านสะสมไว้คนละสองปี และสิบปีนั้น
ท่านก็หวังว่า เมื่อทำมาหากินไม่ได้แล้ว
ก็จะได้พึ่งเงินจำนวนนี้ประทังชีวิตต่อไป
เป็นเงินที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานสะสมไว้วันละเล็กละน้อย
แต่ท่านทั้งสอง ก็สามารถตัดใจช่วยเหลือ
คนที่ไม่รู้จักกันเลยแม้แต่นิดได้ในพริบตาเดียว
นี่คือการทำความดีที่ยากยิ่งจริงๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ชนะใจตนเองได้
คือ ท่านผู้เฒ่าจิน ท่านอายุมากแล้ว ยังไม่มีบุตรไว้สืบสกุล
ด้วยความหวังดีของเพื่อนบ้านคนหนึ่ง
ได้ยกบุตรสาวของตนให้เป็นอนุภรรยาของท่านผู้เฒ่า
แต่ท่านกลับไม่ยอมรับความหวังดีนี้
ท่านให้เหตุผลว่า ท่านนั้นชราภาพแล้ว
ส่วนเด็กสาวนั้นอายุยังไม่ถึงยี่สิบ
ควรจะได้สามีที่มีอายุไล่เลี่ยกัน
ท่านจึงไม่ควรที่จะไปทำลายความสุข
และอนาคตของเด็กสาวนี้เสีย ด้วยความเห็นแก่ตัว
เพียงเพื่อจะมีบุตรไว้สืบสกุล เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง
ท่านผู้เฒ่าทั้งสามท่านนี้
ล้วนแต่ทำในสิ่งที่ยากยิ่งจริงๆ
ฟ้าดินจึงประทานความสุขความเจริญให้กับท่านทั้งสาม
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าเป็นแน่แท้
ส่วนคนที่มีเงินมีอํานาจนั้น
ถ้าจะกระทำความดีก็ย่อมง่ายกว่า ผู้ที่ไม่มีทั้งเงินและอำนาจ
แต่พวกนี้ ไม่ค่อยชอบทำความดี
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีโอกาสทำความดีได้ง่าย
เพราะมีทั้งเงินและอำนาจกลับไม่ยอมทำความดี
ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินไม่มีอำนาจ
กว่าจะทำความดีได้ก็ด้วยความยากลำบากยิ่ง
นี่คือความแตกต่างกัน ในคุณค่าของความดี

การทำความดีต่อผู้อื่นนั้น ก็จะต้องแล้วแต่โอกาส
จังหวะเวลาก็มีความสำคัญเช่นกัน
การช่วยเหลือผู้อื่นนั้น มีวิธีการมากมาย
ประมวลแล้วก็สามารถแยกออกได้ ๑๐ วิธีด้วยกัน คือ

๑. ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
๒. รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
๓. สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
๔. ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
๕. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขัน
๖. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๗. ไม่ทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หมั่นบริจาค
๘. ธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมะ
๙. เคารพผู้มีอาวุโสกว่า
๑๐. รักชีวิตผู้อื่นดุจรักชีวิตตนเอง



ดอกไม้ ข้อ ๑ การช่วยเหลือผู้อื่นทำความดีนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อครั้งท่านตี้ซุ่น ยังมิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีน สมัยโบราณ
(ก่อน พ.ศ. ๑๗๑๒-๑๖๖๕) ท่านไปยังหนองน้ำแห่งหนึ่ง
เห็นชาวบ้านกำลังจับปลากันอยู่
คนที่แข็งแรงก็พากันไปยังที่ๆ มีน้ำลึกปลาชุม
ส่วนพวกที่ไม่แข็งแรงและผู้ชรา
ถูกกันให้ไปจับปลายังที่ๆ มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว และที่มีน้ำตื้น
ซึ่งปลาจะไม่ชอบมาในบริเวณนั้น ทำให้จับปลาไม่ได้
ท่านตี้ซุ่นเห็นดังนั้น ก็บังเกิดความสงสารจับใจ
ท่านจึงเข้าไปช่วยคนที่ไม่แข็งแรง และผู้ชราหาปลา
ใครที่เห็นแก่ตัว ชอบแย่งที่น้ำลึกท่านก็นิ่งเสียไม่ไปว่าเขา
ใครที่ไม่เห็นแก่ตัว ท่านก็จะนำพฤติกรรมของเขา
ไปสรรเสริญจนทั่ว ท่านเองก็ทำตัวอย่างอันดี
ให้เป็นที่ปรากฏอยู่ทุกวันๆ จนกาลเวลาได้ผ่านไปหนึ่งปี
ชาวบ้านพากันสำนึกในความเห็นแก่ตัวของตน
ต่างก็ทำดีต่อกันและกัน
ในที่นี้ พ่อจะต้องบอกให้ลูกรู้ว่า
พ่อไม่สนับสนุนในเรื่องการจับปลามาเป็นอาหาร
เพราะการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นบาปอย่างยิ่ง
แต่ที่พ่อยกเรื่องนี้มาเป็นอุทาหรณ์
ก็เพื่อให้ลูกเข้าใจว่า การช่วยให้ผู้อื่นทำความดีนั้น
ต้องใช้ความอดทนพยายามเพียงไร
ท่านตี้ซุ่นนั้น เป็นผู้ฉลาดหลักแหลมยิ่งนัก
เพียงแต่ท่านใช้คำพูดกล่อมเกลาจิตใจ ผู้คนก็จะเชื่อท่าน
เพราะต่างก็มีความเคารพท่านอยู่แล้ว
แต่ท่านอุตส่าห์ใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม
ก็เพื่อจะให้ทุกคนกลับตัวกลับใจได้หมด
และจะไม่กลับไปเป็นคนเห็นแก่ตัวอีก
ไม่ว่าในกรณีใด และเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ไม่ใช่ด้วยบังคับหรือขอร้อง
ให้ทุกคนตระหนักถึงความดี ที่ต้องกระทำร่วมกัน
เพื่อความผาสุกของพวกเขาเอง
พ่อจึงสรรเสริญในความอุตสาหะของท่านยิ่งนัก

พ่อและลูก ต่างก็มีชีวิตอยู่ในยุคแห่งความมืดมน
ผู้คนไม่ค่อยมีศีลธรรม เหมือนดังยุคก่อน
เพราะฉะนั้น ลูกจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว
อย่าได้อวดดี ว่าวิเศษกว่าผู้อื่น
อย่านำความสามารถของลูก ไปข่มผู้อื่นที่ด้อยกว่า
ให้เขาได้อาย จงเก็บความรู้ ความสามารถของเจ้าไว้ในใจ
อย่าได้แสดงออกให้ปรากฏแก่สายตาผู้อื่น
ใครพลาดพลั้งล่วงเกินลูก ก็จงรู้จักให้อภัย
อย่าได้แพร่งพรายความไม่ดีออกไป
เพื่อให้โอกาสเขากลับตัวกลับใจ
และเมื่อไม่มีใครรู้ และก็ทำให้เขาไม่กล้ากำเริบเสิบสาน
เพราะทุกคนย่อมรักหน้ารักตา
ไม่อยากเป็นคนเสียชื่อเสียง
จึงไม่วิจารณ์ ให้ความลับของเขาเป็นที่เปิดเผยออกไป
เขาจึงไม่กล้าที่จะทำผิดอีก
บางคนนั้น เมื่อมีคนรู้ว่าเขาเป็นคนไม่ดีเสียแล้ว
เขาก็ทำตัวเหลวแหลกยิ่งขึ้น
เมื่อเป็นคนดีไม่ได้ก็ยอมเป็นคนชั่วเสียเลย
คนเช่นนี้ มีให้เห็นๆ อยู่
ลูกจะต้องคอยสังเกตว่า ผู้อื่นนั้นเขามีความสามารถอะไรบ้าง
ถ้าเป็นสิ่งที่ลูกยังไม่มี จงรีบรับเอาความดีนั้นมาใส่ตนเถิด
อย่าได้รีรอเลย ลูกจะต้องรู้จักชมเชยสรรเสริญความดีงาม
ความสามารถของผู้อื่นให้แผ่ไพศาลไป อย่าได้มีจิตริษยา
ในชีวิตประจำวันของลูก
ไม่ว่าจะพูดสักคำ จะทำอะไรสักอย่าง
จงอย่าทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ลูกจงจำไว้ให้ดี


ดอกไม้ ข้อ ๒ รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้านั้นเป็นอย่างไร
ผู้ดีนั้น คือ คนที่มีคุณงามความดี
และกระทำแต่คุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนคนเลวนั้น บางทีก็ซ่อนอยู่ในคราบของผู้ดี
ปะปนกันจนบางทีก็ดูไม่ออก
แต่ถ้าลูกสังเกตให้ดีแล้ว ก็จะเห็นความแตกต่าง
ราวกับขาวและดำทีเดียว
ผู้ดีที่มีข้อแตกต่างจากคนทั่วไปนั้น
คือ มีน้ำใจรักและเคารพทุกคน อย่างเสมอหน้ากัน
ธรรมดา คนที่เราได้พบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น
บางคนเราก็เคยใกล้ชิดด้วย บางคนก็ห่างเหินกันไป
บางคนสูงศักดิ์ บางคนต่ำต้อย
บางคนฉลาดหลักแหลม บางคนโง่เขลาเบาปัญญา
บางคนมีคุณธรรมประจำใจ
บางคนก็ร้าย จนได้ชื่อว่าเป็นคนพาล
แม้ทุกคนจะมีสถานภาพและจิตใจไม่เหมือนกัน
แต่ทุกคนก็เป็นเพื่อนมนุษย์
ที่ต้องเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
นักปราชญ์ทั้งปวง จึงไม่ชอบให้คนเกลียดกันดูถูกกัน
ต้องรักกันเคารพกันอย่างเสมอหน้า
จึงจะมีสันติสุขเกิดขึ้นได้

ข้อ ๓ สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อมนั้น อย่างไร
หยกนั้นย่อมมาจากหินชนิดหนึ่ง
ถ้าเราทิ้งขว้าง ไม่สนใจ ก็เป็นเพียงหินธรรมดาก้อนหนึ่ง
แม้ภายในจะมีหยกเร้นอยู่
ก็ไม่สามารถปรากฏความมีค่าของมันได้
แต่ถ้ามนุษย์นำมาเจียระไน
เอาความเป็นหยกออกมาจากหิน และสลักให้สวยงาม
ก็จะเป็นของมีค่าสำหรับฮ่องเต้ และขุนนาง
กลายเป็นสัญลักษณ์ ที่จะต้องติดตัวไว้
แสดงถึงความบุญหนักศักดิ์ใหญ่
ยามที่ฮ่องเต้ออกขุนนาง ก็ต้องมีหยกไว้
แสดงความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ขุนนางเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ก็ต้องถือหยกพระราชทานไว้ในมือ
เพื่อแสดงความเคารพ และจงรักภักดีต่อฮ่องเต้
หยกยังนำมาใช้ในพิธีกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
ลูกต้องอย่าลืมว่าหยกมีความงาม และความสำคัญขึ้นมาได้
เพราะฝีมือของมนุษย์เอง
คนก็เช่นกัน ถ้ามีคนคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำที่ดี
คนธรรมดาๆ ก็จะกลายเป็นคนดีพร้อมไปได้
เพราะฉะนั้น ลูกจงใส่ใจในคนที่รักดี
มุ่งมั่นจะเป็นคนดี ลูกจงให้ความช่วยเหลือ
สนับสนุน ให้กำลังใจ ประคับประคอง
เพื่อให้เขาเป็นคนดีพร้อมให้ได้
แม้เขาจะถูกผู้คนปรักปรำ จงช่วยชี้แจง ปกป้อง
และยอมรับข้อปรักปรำนั้นว่า ลูกก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย
เพื่อผ่อนคลายความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขา
จนกว่า เขาจะยืนอยู่บนขาของเขาเองได้แล้ว
ก็นับว่า ลูกได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว

คนดีคนเลวนั้น มักจะคบหากันไม่ได้
คนดีย่อมคบกับคนดี คนชั่วก็ชอบมั่วสุมกับคนชั่ว
คนชั่วมักเกลียดชังคนดี

ยิ่งในชนบทที่ห่างไกลความเจริญด้วยแล้ว
คนชั่วมีมากกว่าคนดี ชอบข่มเหงคนดีอยู่เสมอ จนตั้งตัวไม่ติด
คนดีมักจะเป็นคนตรง และไม่กลัวตาย
ไม่ชอบการแต่งตัวที่หรูหรา
ไม่ชอบมีความเป็นอยู่ที่ฟุ่มเฟือย
จึงมักตกเป็นขี้ปากคนชั่ว ที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนผิดๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อลูกพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้
ก็จงช่วยปกป้องคนดี และช่วยชี้ทาง
ให้คนชั่วกลับใจเป็นคนดีเสีย นี่เป็นมหากุศลที่ลูกจะต้องทำให้ได้



ข้อ ๔ ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดีนั้นอย่างไร
เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคน ย่อมมีศีลธรรมประจำใจอยู่บ้าง
มากบ้างน้อยบ้าง ที่จะไม่มีเลยนั้นคงหายาก
นอกจากมนุษย์จะมัวสาละวน อยู่กับการแสวงหา
ลาภยศเงินทองชื่อเสียง โดยไม่คํานึงถึงศีลธรรม
ทำให้ต้องตกอยู่ในความหายนะ
ถ้าลูกพบคนเช่นนี้ ลูกจงพยายามช่วยเขา
ฉุดเขาให้พ้นจากความหายนะให้จงได้
ดุจคนฝันร้าย ลูกปลุกเขาให้ตื่นจากความฝัน
ให้ความรู้ความคิดที่ดีงามแก่เขา เขาก็จะตื่นจากฝันร้าย
กลายเป็นคนดีได้
เมื่อครั้งราชวงศ์ถัง(พ.ศ. ๑๑๖๑-๑๔๕๐)
มีขุนนางท่านหนึ่ง ท่านเขียนหนังสือสอนใจคนได้ดีมาก
เป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศจีน
ชาวจีนมีความเคารพนับถือท่านมาก
เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมยังได้รับเกียรติยศอันสูงส่ง
ได้รับการสถาปนาจากฮ่องเต้ให้เป็นที่ "เอวิ๋น"
เป็นการเชิดชูผลงาน อันมีทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง
ที่เยี่ยมยอดนั่นเอง ชาวบ้านพากันเรียกท่านว่า "หานเอวิ๋นกง"
ท่านเคยกล่าวไว้ว่า การตักเตือนผู้อื่นด้วยคำพูดนั้น
ไม่ช้าก็จะถูกลืมเลือนไป
ผู้อยู่ไกล ก็ไม่สามารถได้ยินคำเตือนนั้นได้
หากบันทึกไว้เป็นหนังสือ
แม้สักร้อยชั่วคน คําสอนนั้นก็ยังคงอยู่
สามารถแพร่ไปไกลกว่าพันลี้หมื่นลี้เสียอีก


ข้อที่หนึ่ง พ่อได้ยกตัวอย่าง ให้ช่วยเหลือผู้อื่น
ด้วยการทำตนเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น
นานวันเข้า ก็จะมีคนตามอย่างโดยไม่รู้ตัว
ส่วนข้อนี้พ่อขอยกตัวอย่างให้ใช้คำพูด ใช้หนังสือเป็นตัวอย่าง
ลูกก็จะต้องใช้ให้เหมาะสม
มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ผลเลย
ดุจดั่งคนป่วย ถ้าได้ยาตรงกับโรค ก็จะหายวันหายคืน
เหมือนคนที่มีนิสัยแข็งกระด้าง
ถ้าเราใช้คำพูดตักเตือน เขาจะไม่เชื่อโดยง่าย
พูดไปก็เสียเวลาเปล่า
ถ้าเป็นคนที่มีนิสัยอ่อนโยน การตักเตือนด้วยคำพูดมักจะได้ผล
ลูกไม่ควรพลาดโอกาสอันดีนี้เสีย
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ ลูกต้องดูคนเป็น ต้องอ่านนิสัยได้ถูกต้อง
แล้วจึงจะวินิจฉัยได้ว่า คนเช่นไร
สมควรตักเตือนด้วยคำพูด คนเช่นไร
สมควรให้เขาอ่านหนังสือ เพื่อแก้ไขตัวเขาเอง



ดอกไม้ ข้อที่ ๕ จะช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขันได้อย่างไร
เคราะห์กรรมย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่ากับใครๆ
หากลูกพบเห็นคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก
ลูกจะต้องเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที
และจะต้องช่วยแก้ไขสถานการณ์
ด้วยสติปัญญาของลูกอย่างรอบคอบ
เพื่อให้การช่วยนั้น ประสบความสำเร็จ
ท่านชุยจื่อ ซึ่งเป็นขุนนางในราชวงศ์หมิง
ในปลายสมัยพระเจ้าเซี่ยวจงฮ่องเต้
(พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๔๘)
ท่านกล่าวไว้ว่า การช่วยเหลือนั้น ไม่ควรคำนึงว่า
จะได้บุญได้คุณสักเพียงไร
ขอให้ช่วยให้ได้ทันท่วงทีจึงจะควร
ช่างเป็นคำพูดที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาการุณย์เสียนี่กระไร

ดอกไม้ ข้อที่ ๖ กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไร
ไม่ว่าลูกจะอยู่ในชนบทเล็กๆ หรือในเมืองใหญ่ๆ
หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ ประโยชน์สุขของส่วนรวมแล้ว
ลูกจะต้องไม่ท้อถอยในการเป็นอาสาสมัคร

เช่น ขุดคูส่งน้ำ เพื่อไว้ใช้ในนายามหน้าแล้ง
หรือสร้างทำนบเพื่อป้องกันน้ำท่วม
หรือซ่อมสะพานที่ชำรุด เพื่อให้การสัญจรไปมาสะดวก
และปลอดภัยยิ่งขึ้น หรือให้ทานอาหารแก่คนอดอยาก
หรือให้น้ำแก่คนกระหายแล้ว
ลูกก็ควรชักชวนชาวบ้าน
ให้ร่วมแรงร่วมใจกันกระทำความดีร่วมกัน
ใครมีเงินก็ออกเงิน ใครมีแรงก็ออกแรง
ผนึกกำลังให้เข้มแข็ง จะได้ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น
หากใครมาว่าร้าย ลูกก็จงอย่าใส่ใจ
ถ้าเราทำดีโดยสุจริตแล้ว ใครๆ ก็ย่อมเข้าใจ
และช่วยป้องกันลูกเสียอีก
ลูกจงอย่าท้อถอยไม่ว่าจะประสบอุปสรรคใดๆ
อย่าได้วางมือเป็นอันขาด



ดอกไม้ ข้อ ๗ ไม่ทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หมั่นบริจาค อย่างไร
คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นมากมาย
พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำให้รู้จักให้ทานเสียก่อน
การให้คือการเสียสละ ท่านที่บรรลุธรรมแล้ว
ท่านเสียสละได้หมด ทั้งอายตนะภายใน
(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
และอายตนะภายนอก
(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์)
ก็สิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตท่านยังเสียสละได้
เรื่องทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย
ไฉนจักเสียสละไม่ได้
ถ้าเราสามารถเสียสละได้ทุกอย่างเช่นนี้แล้ว
เราก็จะรู้สึกว่า เรามิได้แบกภาระอันใดไว้
ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ไม่ห่วงหน้ากังวลหลัง

ใครทำของเราเสีย ใครขโมยของเราไป
ก็ไม่เดือดร้อนเลยแม้แต่นิด
เพราะเราเสียสละได้หมดจริงๆ
ผู้ที่ไม่สามารถเสียสละได้ทั้งหมด
ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการให้ทานบริจาคทรัพย์เสียก่อน

คนในโลกนี้ เห็นว่าปัจจัยสี่นั้นเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต
และเงินเท่านั้น ที่จะบันดาลให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่
เพราะฉะนั้น คนส่วนมาก จึงให้ความสำคัญแก่เงินเท่าชีวิต
หาได้คิดสักนิดไม่ว่า หากยังมีลมหายใจก็ดีอยู่หรอก
ถ้าหมดลมเมื่อใด มีใครเคยเอาอะไรติดตัวไปได้บ้าง
ผู้ที่รักเงินยิ่งชีวิต จึงควรฝึกตนให้รู้จักการบริจาคทรัพย์ให้ทานเสียบ้าง
ใหม่ๆ จะเกิดความเสียดาย
เพราะคนรักเงินยิ่งชีวิตมักเป็นคนตระหนี่ ใจคอคับแคบ
แต่ถ้าหมั่นบริจาคก็จะเกิดเป็นนิสัยอันดีงามขึ้น
สามารถบริจาคได้มากขึ้น และไม่นึกเสียดายดังแต่แรก


ข้อ ๘ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมได้อย่างไร
ธรรมะ คือ ประทีปที่ส่องวิถีทางแห่งชีวิต
เมื่อหนทางข้างหน้าสว่างไสว
ชีวิตย่อมดำเนินไปตามทิศทางอันถูกต้อง
ดุจดั่งคนที่มีนัยน์ตาดี ย่อมสามารถเลือกทางเดินที่สะดวกที่สุด
และดีที่สุดได้ โบราณท่านจึงว่า
ธรรมะ คือ การธำรงไว้ซึ่งฟ้าดินและมนุษย์
ให้เกิดความสมดุล ผสมผสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จะขาดไปแม้แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็หามิได้
ต้องเป็นปัจจัยอิงอาศัยซึ่งกันและกัน
ทำให้เกิดสรรพสิ่งด้วยธรรมะ
ธรรมะทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์
มีอิสระเสรีที่จะอยู่ในโลกต่อไปก็ได้
จะไปให้พ้นโลกเสียก็ได้
ฉะนั้น เมื่อลูกเห็นศาลที่บูชานักปราชญ์ราชบัณฑิต
หรือเห็นคัมภีร์โบราณ ที่เป็นธรรมะอันสูงส่ง
ลูกจะต้องถนอมด้วยความเคารพ
หากมีสิ่งขาดตกบกพร่อง
ลูกจะต้องซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม
เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
ลูกจะต้องเผยแผ่ธรรมะ ธำรงไว้ซึ่งธรรมะ
ปฏิบัติตนด้วยธรรมะ สอนให้ผู้อื่นรู้จักธรรมะ
จึงจะเรียกว่าเป็นพุทธศาสนิก
ที่รู้ซึ้งในพระกรุณาคุณ
พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ถ้าลูกทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า
เป็นผู้รู้พระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างแท้จริง
และได้ถวายความกตัญญูกตเวทีแด่พระองค์อย่างถูกต้องแล้ว



ดอกไม้ ข้อ ๙ เคารพผู้มีอาวุโสกว่าอย่างไร

ในครอบครัว ย่อมมีบิดามารดา พี่ชายพี่สาว ที่มีอาวุโสกว่าเรา
เราต้องเคารพรักรู้จักปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข
ให้ความสุขความสำราญแก่ท่าน
ให้ความสนิทสนมกลมเกลียว ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน
พูดจากันด้วยวาจาอันไพเราะ นานไปก็จะเป็นผู้มีนิสัยอันดีงาม


ในประเทศ ย่อมมีฮ่องเต้เป็นประมุข
ที่เราจะต้องแสดงความจงรักภักดี
รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
รักษากฎหมายยิ่งกว่าชีวิตของลูกเอง
อย่าอวดดีทำผิด โดยคิดว่าพระองค์จะไม่ทรงทราบ
การลงโทษคน โดยอาศัยอํานาจของกฎหมาย
อย่าเมาอำนาจจนตัดสินโทษด้วยอารมณ์
อย่านึกว่าพระองค์ไม่ทรงทราบ
แล้วทำไปด้วยความลำพองใจ
โบราณท่านว่า การรับใช้ฮ่องเต้ ก็คือ การรับใช้สวรรค์
สวรรค์ย่อมประทานความเจริญ ความสุขสมบูรณ์ให้ ถ้าลูกทำดีพอ


ดอกไม้ ข้อ ๑๐ รักชีวิตผู้อื่นดุจรักชีวิตตนเองอย่างไร

มนุษย์จักทรงความเป็นมนุษย์อยู่ได้ ด้วยจิตที่มีเมตตากรุณา
การเอาชนะสิ่งที่ยากที่สุด คือ ใจของตนเอง
ต้องเริ่มปลูกฝังจิต ให้มีเมตตากรุณาก่อน
การสั่งสมคุณธรรมใดๆ
ก็ต้องเริ่มที่จิตอันกอปรด้วยเมตตากรุณาเช่นกัน
ในสมัยราชวงศ์โจวนั้น (ก่อน ค.ศ. ๑๑๐๐-ก่อน ค.ศ. ๗๗๑)
ท่านโจวกง ซึ่งเป็นไจเสี่ยง ของพระเจ้าเฉิงอ๋อง
ได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งให้ชื่อว่า โจวหลี่
อันเป็นต้นตำรับที่ราชวงศ์ต่อๆ มา
ถือเป็นแบบฉบับว่าด้วยการบริหารประเทศ
หน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการ
กฎหมายและจารีตประเพณี
รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ มีอยู่ข้อหนึ่งท่านกำหนดไว้ว่า
เดือนแรกของปี เป็นเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารมีโอกาสเจริญเติบโต
ง่ายแก่การตั้งครรภ์ของสรรพสัตว์
ฉะนั้น การเซ่นสรวงบูชาในเดือนนี้ จึงห้ามฆ่าสัตว์ตัวเมีย
เพราะเกรงว่า อาจจะกำลังตั้งครรภ์อยู่
นี่ก็เป็นความเมตตากรุณาของท่านโจวกง
ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื๊อได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ดี ย่อมอยู่ห่างไกลจากโรงครัว
ที่มีการฆ่าสัตว์ เพราะเพียงแต่ได้ยินเสียงผู้อื่นฆ่าสัตว์
ก็ทำให้จิตใจหดหู่เศร้าหมองได้
ท่านผู้ใหญ่แต่กาลก่อน จึงไม่ยอมบริโภคเนื้อสัตว์สี่ประเภท คือ
๑. สัตว์ที่ได้ยินเสียงเขาฆ่า
๒. สัตว์ที่เห็นเขากำลังฆ่า
๓. สัดว์ที่เลี้ยงอยู่เอง
๔. สัตว์ที่เขาจงใจฆ่าเพื่อให้เราบริโภค
ลูกเห็นใครที่ไม่อยากบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ยังทำไม่ได้ทันที
ก็จงแนะนำเขา ให้เริ่มไม่แตะต้องเนื้อสัตว์สี่ประเภทนี้ ให้ได้เสียก่อน


เริ่มฝึกเสียแต่เดี๋ยวนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมย่อมติดตามมา
เมื่อกระแสจิต ได้ถูกฝึกฝนให้เจริญด้วยเมตตาธรรม
และกรุณาธรรมแล้วไซร้ ก็จะไม่นึกอยากฆ่าสัตว์
สัตว์ทั้งมวลล้วนมีชีวิตจิตใจเช่นเราเหมือนกัน
การนำตัวไหมลงไปต้มในน้ำร้อนๆ
เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มที่นิยมกันว่า สวยงามมีค่ามาก
ที่แท้เป็นบาปกรรมโดยไม่รู้ตัว
ความจริงผ้าไหม มิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์
เราน่าจะใช้ผ้าฝ้าย ที่ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์จะมิดีกว่าหรือ
แม้กระทั่งการถางดินฆ่าหนอน
ก็ล้วนแต่เป็นบาปกรรมทั้งสิ้น
ดูดูมนุษย์เกือบทั้งหมด ล้วนแต่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
เพื่อความมีชีวิตของตนเอง
ต้องทำปาณาติบาตอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่
แม้กระทั่งมือที่ตบยุงบี้มด
เท้าที่เหยียบลงไปบนตัวสัตว์โดยไม่เจตนา
ก็ไม่รู้ตัวว่าวันหนึ่งๆ ได้ทำไปกี่ครั้ง
ลูกจงระวังให้ดี ป้องกันให้ได้
นอกจากจะสุดวิสัยจริงๆ
มีโคลงโบราณอยู่บทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประทับใจพ่อจนบัดนี้
ท่านว่าไว้ว่า เพราะรักหนูจึงเก็บข้าวไว้ให้กิน
เพราะสงสารแมลง จึงไม่จุดตะเกียงในยามค่ำคืน
ดูเถิดว่า คนโบราณนั้น ท่านมีเมตตากรุณาเพียงไร

การทำความดีนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
อธิบายเท่าไรก็คงไม่หมด
จงถือหลักสิบประการนี้แล้ว
ลูกก็จะแผ่ขยายการทำดีให้กว้างขวางออกไปเอง
การสั่งสมคุณธรรม ให้ครบหนึ่งหมื่นครั้ง ก็จะอยู่เพียงแค่เอื้อม


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 01 ต.ค.2006, 12:43 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2006, 6:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในคัมภีร์อื่นๆ ก็กล่าวเหมือนกันว่า
ทะนงตนย่อมนำมาซึ่งความวิบัติ
ถ่อมตนย่อมนำมาซึ่งความเจริญ
พ่อได้ไปร่วมสอบไล่กับนักศึกษาอื่นๆ
ตั้งหลายครั้ง ทุกครั้ง
พ่อสังเกตเห็นนักศึกษาที่ยากจนบางคน
บนใบหน้ามักทอประกายแห่งความถ่อมตน
จนบางครั้ง พ่อคิดอยากจะเอามือทั้งสองของพ่อ
ไปประคองประกายแห่งความถ่อมตนนั้น
มาประดับบนใบหน้าของพ่อเสียบ้าง
และไม่ต้องสงสัยเลย พวกเขาเหล่านี้สอบไล่ได้ทุกทีไป

เมื่อตอนที่พ่อเข้ามาสอบในเมืองหลวง
มีเพื่อนนักศึกษาร่วมเดินทางมาด้วย รวมทั้งหมดสิบคนด้วยกัน
พ่อสังเกตดูเห็นมีคนที่อายุน้อยที่สุด มีชื่อว่าปิง
เป็นคนเดียวที่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน
มีความถ่อมตนอยู่เป็นนิจ
พ่อจึงบอกกับเพื่อนว่า คนๆ นี้ต้องสอบไล่ได้แน่นอน
เพื่อนถามว่า ทำไมพ่อจึงรู้ล่วงหน้าได้เล่า
พ่อบอกเขาว่า ความถ่อมตนย่อมนำมาซึ่งความเจริญ
ในหมู่พวกเราทั้งสิบคนนี้
มีใครบ้างที่ซื่อและจริงใจเหมือนเขา
คอยเอาใจเพื่อนฝูง ไม่เคยเอาเปรียบใครเลย
แม้ใครจะหยอกล้อก็ไม่โกรธตอบ
ใครนินทาว่าร้าย ก็ไม่โต้เถียงสำรวมระวัง
ไม่ยอมปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์
เหมือนคนอื่นคนเช่นนี้
แม้แต่ผีสางเทวดาฟ้าดิน ก็ยังต้องให้ความคุ้มครอง
และช่วยเหลือ เมื่อผลการสอบไล่ครั้งนั้นปรากฏออกมา
ก็เป็นจริง ดังที่พ่อคาดไว้ทุกประการ


เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๐ พ่ออยู่ในเมืองหลวง
พักกับเพื่อนชื่อไคจือ แซ่เผิง
พ่อสังเกตดูรู้สึกเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก
เมื่อเด็กๆ เขาขี้เล่นซุกซน และเจ้าอารมณ์
แต่บัดนี้ ดูเขามีสติควบคุมอารมณ์ได้ดีมาก
เขามีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เป็นคนดีมาก
ฉลาด ซื่อตรง ชอบช่วยเหลือเพื่อน
คุณธรรมสามประการนี้
สมแล้วที่จักขนานนามเขาว่ากัลยาณมิตร
เขามักจะติเตียนไคจือต่อหน้า
ไคจือไม่เคยโกรธ หรือโต้ตอบเขาเลย
รับฟังอย่างอารมณ์ดีเสมอ
พ่อจึงบอกเขาว่า นิสัยอันดีงามของเขานี้
ย่อมเป็นปัจจัย นำเขาไปสู่ความมีบุญวาสนา
ส่วนคนที่ต้องประสบเคราะห์กรรม
ก็เป็นเพราะเขาสร้างนิสัยไม่ดีงาม
เป็นเหตุปัจจัยนำเขาไปสู่ความหายนะเช่นกัน
สำหรับเพื่อนนั้น แม้ฟ้าดินก็ต้องประทานความช่วยเหลือ
ปีนี้ เพื่อนจะต้องสอบไล่ได้อย่างแน่นอน
ต่อมา ก็เป็นจริงดังที่พ่อพูดกับเขาไว้

มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งแซ่จ้าว สอบไล่ได้ในภูมิลำเนาของตน
เมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี แต่ต่อจากนั้นไปจะสอบกี่ครั้ง
ก็ไม่เคยสอบไล่ได้อีกเลย ต่อมา ได้ติดตามท่านบิดา
ที่ต้องย้ายไปรับราชการที่อำเภออื่น
ในอำเภอนั้น มีบัณฑิตที่มีความรู้สูงอยู่ท่านหนึ่ง แซ่เฉีย
เด็กหนุ่มได้ทราบข่าว ก็รีบนำบทประพันธ์ของตนไปหา
เพื่อขอคำแนะนำ โดยไม่คาดฝัน
ท่านบัณฑิตจับพู่กันได้
ก็ตวัดข้อความในบทประพันธ์นั้นทิ้งเกือบหมด
ถ้าเป็นบางคนก็จะโกรธมาก
แต่เด็กหนุ่มคนนี้นอกจากจะไม่โกรธแล้ว
ยังขอบพระคุณท่านบัณฑิต
รีบแก้ไขบทความแล้วนำมาให้ท่านแก้ไขให้อีก
ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง
พอรุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง เด็กหนุ่มนี้ก็สอบไล่ได้

เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ พ่อได้ไปเมืองหลวงเพื่อเข้าเฝ้าฮ่องเต้
ได้พบกับเพื่อนคนหนึ่ง ดูเขาช่างมีความจริงใจ
และอารมณ์ดีเสียนี่กระไร ประกายแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน
อยู่ทั่วบรรยากาศที่รอบๆ ตัวเขา
ทำให้พ่อได้สัมผัสกับประกายนี้ ด้วยความชื่นชม
พ่อกลับจากเข้าเฝ้า ได้เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า
หากฟ้าจะประทานความเจริญรุ่งเรืองแก่ใคร
มักจะประทานสติปัญญาให้ก่อน
เมื่อมีสติปัญญาแล้ว คนที่เจ้าอารมณ์
ก็จะเปลี่ยนเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้
คนที่อวดดี กลายเป็นคนถ่อมตนได้
เมื่อพัฒนาตนเองได้แล้ว
ฟ้าย่อมประทานบุญวาสนามาให้
และก็เป็นจริงดังว่า เขาสอบไล่ได้ในปีนั้นเอง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๗ มีนักศึกษาแซ่จางคนหนึ่ง
มีความรู้ดี เขียนบทความก็ดี เป็นคนเด่นคนหนึ่ง
ในบรรดานักศึกษาทั้งหมด
เขาเดินทางมานานกิงเพื่อเข้าสอบ
พักอยู่ที่วัดๆ หนึ่งเมื่อผลการสอบประกาศออกมา
ปรากฏว่าสอบตก แทนที่จะโทษตนเองว่า
ความรู้ยังไม่ถึงจึงสอบไม่ได้
กลับโกรธกรรมการคุมสอบ หาว่าไม่ยุติธรรม
มีตาก็หามีแววไม่ บทประพันธ์ดีๆ ก็หาว่าไม่ดี
หลวงจีนในวัดท่านหนึ่งได้ยินเข้า จึงยืนยิ้มอยู่
เขาก็เลยพาลโกรธท่านหลวงจีนไปด้วย
หลวงจีนจึงกล่าวกับเขาว่า
ดูดูแล้วเห็นทีบทประพันธ์ของท่านไม่ดีจริง
เขายิ่งโกรธใหญ่ ตวาดหลวงจีนว่า ยังไม่ทันเห็นบทประพันธ์
จะรู้ว่าดีไม่ดีได้อย่างไร
หลวงจีนจึงพูดว่า การประพันธ์
ต้องอาศัยความสงบทางใจ
จิตเป็นสมาธิจึงจะเขียนได้ดี
ท่านควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา
จะเขียนบทประพันธ์ได้ดีอย่างไรได้
นักศึกษาจางได้สติ จึงคุกเข่าขอขมา และมอบตัวเป็นศิษย์


หลวงจีนจึงสอนว่า การสอบไล่ได้หรือไม่
ล้วนขึ้นอยู่กับชะตาชีวิต
ถ้าชะตาไม่ดี แม้จะเขียนบทประพันธ์ได้ดีอย่างไร
ก็สอบไม่ได้ จึงต้องแก้ไขที่ตนเองเสียก่อน
นักศึกษาจางกราบถามท่านว่า
หากขึ้นอยู่กับชะตาชีวิตแล้ว จะแก้ไขได้หรือ
หลวงจีนพูดว่า ฟ้าประทานชีวิตให้เรา
แต่ชะตาชีวิตเราต้องสร้างสมเอง
หากกระทำแต่กรรมดี มีศีลมีธรรม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
ยิ่งไม่มีผู้รู้เห็น ก็ยิ่งเป็นกุศลมหาศาล
เมื่อเราสั่งสมความดีจนเต็มเปี่ยมแล้ว
เราจะต้องการชะตาชีวิตอย่างไร ได้ทั้งนั้น
นักศึกษาจางจึงปรารภว่า ข้าพเจ้าเป็นคนจน
จะมีปัญญาช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร
ท่านชี้แจงว่า การทำความดีต้องเริ่มที่ใจ
มุ่งแก้ไขตนเองเสียก่อน เช่นการอ่อนน้อมถ่อมตน
ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย ทำไมท่านไม่ตำหนิตนเองว่า
ความรู้ยังไม่เพียงพอจึงสอบตก
แต่กลับไปด่ากรรมการควบคุมสอบเล่า

นักศึกษาจางเพิ่งได้คิด จึงเริ่มปฏิบัติตนเสียใหม่
ลดความหยิ่งผยองลงไปทุกวันๆ
เพิ่มคุณธรรมให้กับตนเองมากยิ่งขึ้นทุกวันๆ
ครั้นอีกสามปีต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๐๘๐
ในคืนวันหนึ่งได้ฝันไปว่า ได้ไปในตึกสูงใหญ่หลังหนึ่ง
ห็นบัญชีรายชื่อนักศึกษาที่สอบไล่วางอยู่หนึ่งเล่ม
เมื่อเปิดออกดู เห็นทุกหน้ามีช่องว่าง
เกิดความสงสัยจึงถามคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ว่า
ทำไมบัญชีรายชื่อนักศึกษาที่สอบไล่ได้แล้ว
จึงมีการคัดออกอีกเล่า ได้รับคำตอบว่า
เนื่องจากผู้ที่สอบไล่ได้แล้ว
จะต้องผ่านการตรวจสอบในยมโลกทุกๆ ๓ ปี
ถ้าใครมีความประพฤติไม่ดี
ไม่อยู่ในธรรมก็จะถูกคัดชื่อออก
จะสอบอีกอย่างไร ก็สอบไม่ได้
แล้วชี้ไปที่ว่างบนสมุดบัญชีนั้นว่า
สามปีมานี้ เจ้าตั้งใจฝึกตนให้ก้าวหน้าไปมาก
จะเอาชื่อเจ้าไว้ตรงนี้ ขอให้เจ้ารักตนสงวนตัว
อย่าได้วู่วามทำผิดเหมือนดังแต่ก่อนอีก
ปีนั้น เขาก็สอบไล่ได้ที่ ๑๐๕

เมื่อดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า
สูงจากศีรษะมนุษย์ไปเพียง ๓ ฟุต
มีเทพเจ้าคอยเฝ้าดูอยู่แล้ว
เราจะต้องทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล
หลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นอัปมงคลเสีย
จะดีจะชั่วจึงอยู่ที่ตัวเราเอง
ถ้าควบคุมจิตใจ และความประพฤติของเราให้ดี
ไม่ทำสิ่งที่ฟ้าดิน และผีสางเทวดาไม่พอใจ
ไม่หยิ่ง ไม่โอหัง ไม่วู่วาม อดทนในสิ่งที่ทนได้ยาก
ฟ้าดินและผีสางเทวดา ก็ย่อมจะสงสารเรา เห็นใจเรา
ประทานความช่วยเหลือแก่เรา
คนที่จะเป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต
ย่อมไม่ทำจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัว
ย่อมไม่เป็นผู้ทำลายความสุข ความเจริญของตนเอง
ความถ่อมตน ทำให้มีโอกาส
ที่จะได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านผู้รู้
ได้รับประโยชน์จากท่านเหล่านั้น ไม่จบสิ้น
นักศึกษาจึงควรทำตัวเช่นนี้
ลูกจงจำไว้ว่า คนที่ยกตนข่มท่าน ถือดีอวดเบ่งนั้น
แม้จะได้ดิบได้ดี ไม่ยั่งยืนนาน

โบราณท่านว่าไว้ ปรารถนาชื่อเสียง ย่อมได้ชื่อเสียง
ปรารถนาความร่ำรวย ก็ย่อมได้เป็นเศรษฐี
ความปรารถนาของมนุษย์
เปรียบประดุจรากแก้วของต้นไม้
เมื่อหยั่งลึกลงดินแล้ว ต้นไม้ก็จะมีกิ่งก้านไพศาล
ออกดอกออกผลตามฤดูกาล
รากแก้วของมนุษย์ ก็คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่
เราจะต้องยึดมั่นในคุณธรรมข้อนี้ ถ่อมตนไว้เสมอ
ให้ความสะดวกแก่ผู้อื่น เมื่อไม่ทำให้ผู้อื่นสะเทือนใจ
เพราะความอวดดีของเราแล้ว
ฟ้าดินย่อมประทับใจในความดีของเรา

พวกนักศึกษามักบนบวงเทพยดาฟ้าดิน ขอให้สอบไล่ได้
แต่พวกนี้ไม่ค่อยมีความจริงใจ การบนบวงจึงไม่ได้ผล
ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื๊อ พูดกับพระเจ้าฉีเซวียนอ๋องว่า
พระองค์โปรดดนตรี ถ้าโปรดด้วยความจริงใจแล้วไซร้
ชะตาของประเทศฉี ก็จักรุ่งเรืองสุกใสเป็นแน่
แต่นี่พระองค์โปรดดนตรี เพื่อความสุขของพระองค์เอง
หากพระองค์ สามารถขยายความสุขส่วนพระองค์นี้
ให้แผ่ไพศาลไปในดวงใจ ของราษฎรทุกคนแล้วไซร้
ราษฎรก็จะมีความสุขเหมือนดั่งพระองค์
และทุกคนก็จะจงรักภักดีต่อพระองค์ อย่างสุดหัวใจ
เมื่อนั้นชะตาของบ้านเมืองฉี จะไม่รุ่งเรืองสุกใสอย่างไรได้
เมื่อลูกต้องการสอบไล่ได้เป็นขุนนาง
ลูกก็จะต้องตั้งความปรารถนาไว้ ดุจรากแก้วของต้นไม้
แน่วแน่ที่จะทำความดี ไม่ท้อถอย
สั่งสมความดีงามให้ได้ทุกๆ วัน
ลดความถือดีอวดดีให้หมดสิ้นไป
สร้างอนาคตด้วยตัวลูกเองชะตาชีวิตจักทำอะไรได้
ขอให้ลูกจงเพียรพยายามต่อไปเถิด
ความสำเร็จย่อมรอลูกอยู่แล้วอย่างแน่นอน


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 01 ต.ค.2006, 12:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

โอวาททั้งสามข้อที่กล่าวจบไปแล้วนั้น
ล้วนแต่สอนให้ทำความดี
ส่วนโอวาทข้อสุดท้ายนี้ ท่านสอนให้รู้จักวางตน
ในการคบหาสมาคมกับบุคคลทั่วไป
โดยให้ยึดคุณธรรมข้อนี้ไว้ คือ การถ่อมตน
ไม่อวดดีว่าคนเองวิเศษกว่าผู้อื่น
จะได้ไม่มีเรื่องกับใคร ไม่กล้าทำความชั่ว
สำนึกอยู่เสมอว่า ตนเองยังทำความดีไม่เพียงพอ
แล้วจะมีความก้าวหน้าในการฝึกตน
และไม่เพียงแต่ จะหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
แต่ยังต้องรู้จักฝึกตน ให้เข้ากับคนในสังคมได้
จะได้ไม่มีศัตรูทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ไม่มีอุปสรรคในการสั่งสมคุณธรรมความดีงาม


คัมภีร์เอ็กเก็งได้กล่าวไว้ว่า
ผู้ใดยกตนข่มท่าน อวดวิเศษกว่าผู้อื่น
ย่อมต้องประสบความเสียหาย
ผู้ใดอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่จองหองลำพองตน
ย่อมต้องประสบความสุขความเจริญ


แม้แต่แผ่นดินก็หนีกฎนี้ไม่พ้น
ดูแต่ขุนเขาที่สูงตระหง่าน ยืนทะมึนเย้ยฟ้าท้าดิน
ก็ยังต้องพังทลายอยูเนืองๆ
ส่วนแอ่งน้ำที่ต่ำต้อยนั้น กลับมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา
แม้แต่ปีศาจก็ชอบให้ร้ายคนทระนง
และอภิบาลคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน
วิชาโป๊ยก่วยนั้น ได้แบ่งออกเป็น ๖๔ หน่วย
หน่วยอื่นๆ ล้วนสอนให้เห็นผลดี
และผลชั่วในพฤติกรรมของมนุษย์
แต่หน่วยแห่งการอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ ไม่มีผลชั่วเลย
มีแต่ผลดีทั้งสิ้น จึงเห็นได้ว่าฟ้าดินเทพยดา ผีปีศาจและมนุษย์
ล้วนนิยมชมชอบความอ่อนน้อมถ่อมตนกันทั้งสิ้น


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้


คัดลอกมาจาก
http://www.baanjomyut.com/pratripidok/owad4/index.html
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
อนาลัย
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 14 มี.ค. 2008
ตอบ: 7

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2008, 11:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เคยมีหนังสือเรื่องนี้นานแล้ว อยากอ่านอีกแต่หาไม่เจอ โชดีจังที่คุณลูกโป่งนำมาโพสไว้
ขอบคุณมากๆ นะคะอ่านทีไรมีกำลังใจอยากทำความดีทุกครั้ง ยิ้มแก้มปริ
 

_________________
( ^ - ^ )
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง