Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อาหารธรรมชาติ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 มี.ค.2007, 5:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

อาหารธรรมชาติ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


เพื่อให้ชนะลิ้น และได้รับประโยชน์อย่างที่อาหารจะอำนวยให้ได้คือร่างกายสดชื่นที่สุด ข้าพเจ้าจึงตกลงทดลองอาหารธรรมชาติดูเป็นเวลา 90 วัน คือตลอดพรรษา อาหารธรรมชาตินั้น คืออาหารที่มนุษย์มิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแม้แต่เล็กน้อย (แต่สำหรับข้าพเจ้าผ่อนลงมานิดหนึ่ง คือบางอย่างเช่นศีรษะมัน จะใช้เผาบ้าง ส่วนการใส่ภาชนะต้มหรือปรุงนั้นเป็นไม่มี) อาหารนี้ได้แก่ผลไม้และพืชพรรณทุกชนิดที่ยังดิบหรือสด ที่เป็นเภสัช เช่น น้ำอ้อยสด หรือน้ำผึ้งรวง, น้ำตาลเคี่ยวใช้ไม่ได้

วันนี้เป็นวันที่ 3 ของการทดลอง ผลที่ได้ทำให้ร่างกายสบาย สดชื่น ภายในเย็นฉ่ำ, กำลังทวีขึ้น วันนี้อุจจาระมีสีและกลิ่นแปลกจากเดิมมาก ไม่มีการกลัดหรือผูก ไม่มีกลิ่นน่าเกลียดแม้แต่น้อย ผู้จัดหาให้ก็ไม่รู้สึกลำบาก, เพราะเป็นการง่ายที่สุดคือไม่ต้องปรุง ทั้งไม่จำกัดชนิดเสียเลย, สิ่งที่มีประโยชน์มากกลับหาง่ายที่สุดคือกล้วยน้ำว้าและหัวมัน เพื่อให้ได้รับความอบอุ่นบ้าง อาหารมันเช่นเนื้อมะพร้าวไม่ควรขาดเสียทีเดียว

ผลที่ได้ ในทางธรรม, เลี้ยงง่าย, ชนะลิ้น, พิจารณาเห็นความเป็นธาตุได้ง่าย, กิเลสบางอย่างรบกวนน้อยลงไป หวังอยู่ว่า นานอีกหน่อย ผลเหล่านี้จะทวียิ่งขึ้นกว่าวันนี้

คำว่า ชนะลิ้น คือลิ้นบังคับมนุษย์ให้ทนลำบากในการปรุงอาหารให้แปลกและพิสดารมานานแล้ว จนตำรับอาหารมากเหลือจะนับ ผลที่ได้กลับเลวลงกว่าเมื่อยังเป็นอาหารธรรมชาติ ตัณหาในรส และความอยากอวดในเรื่องอาหาร ทำความทุกข์และวุ่นวายให้แก่ความสงบของมนุษย์ อาหารธรรมชาติกลับตรงกันข้าม ทำให้ใจเบาสบาย แต่สำหรับผู้ที่อ่อนแอ หวั่นใจล่วงหน้า อาจเป็นที่หวั่นใจในเบื้องต้นก็ได้

คำว่า เห็นความเป็นธาตุได้ง่าย คือยังเป็นธรรมชาติเดิม เพิ่งเก็บมาจากที่เกิดคือแผ่นดิน ไม่ได้ผสมหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ธาตุดินมีอยู่ในแป้งข้าวของผลไม้และหัวมัน ธาตุน้ำมีอยู่ทั่วไป มีเกลือและน้ำตาลตามธรรมชาติที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายปนอยู่ในนั้นเสร็จ ธาตุที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย มีอยู่อาหารที่มัน เช่นน้ำมันในเนื้อมะพร้าว, รวมเข้าในธาตุไฟ ธาตุเหล่านี้เป็นเพียงธรรมชาติ เราบริโภคเพียงเพื่อเข้าไปบำรุงธาตุในร่างกายให้คงอยู่ กว่าจะถึงอายุขัย ความหลงใหลในรสอาหารไม่เกิด เพราะเห็นเป็นธาตุเช่นนี้ ส่วนอาหารที่ปรุงแล้ว มีทั้งกลิ่น-รส-สี-แรงขึ้นทุกส่วน จูงใจให้สูงจนลดลงมาไม่ได้ เมื่อถูกลดลงมาเท่าเดิมจะกลับเป็นทุกข์ เมื่อสูงก็เป็นทุกข์อีกทางหนึ่ง นั่นเป็นโทษของความไม่พิจารณาเห็นโดยเป็นธาตุ คล้ายๆ กะว่ามีชีวิตอยู่เพื่อกินอาหารเป็นอย่างมาก คำว่า โภชนสัปปาย ของนักภาวนานั้น มีผู้ตีความผิดกันอย่างตรงข้าม และผิดมาแต่ในคัมภีร์บางคัมภีร์ เพราะผู้เขียนก็แพ้ลิ้นมาแล้ว จึงเกิดวางหลักกันขึ้นว่า อาหารที่ถูกรสกับลิ้นเป็นโภชนสัปปาย ที่แท้เป็นการแพ้ลิ้น ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า โภชนสัปปายคืออาหารที่ใกล้ต่อธรรมชาตินี่เอง โดยมีหลักว่า เป็นอาหารที่ทำกายและใจให้สดชื่นที่สุด ทั้งช่วยในการพิจารณาเพื่อการดับตัณหาได้เป็นอย่างดีโดยไม่มีการแพ้ลิ้น

กินอาหาร !

ฝ่ายพระโลกนาถ อ้างเหตุผลจะให้เชื่อว่าพระพุทธองค์เป็นนักบริโภคผัก, ฝ่ายที่ตรงข้าม อ้างว่าทรงบริโภคเนื้อด้วย, ตามความจริงนั้นผิดทั้งสองฝ่าย พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเป็นนักเสพผักหรือเนื้อ หรือเสพทั้งผักทั้งเนื้อเลย แต่ทรงเป็นผู้บริโภคอาหารเท่านั้น

ท่านทั้งหลาย ! เมื่อท่านบริโภคด้วยทำความสำคัญว่าผักหรือเนื้อแล้ว ก็เท่ากับท่านกินไฟหรือก้อนเหล็กร้อนเข้าไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะเมื่อทำความสำคัญเช่นนั้น จะเป็นการให้เกิดราคะความยินดีพอใจในเมื่อถูกปาก และยินร้ายหงุดหงิดที่เรียกว่าปฏิฆะหรือโทสะในเมื่อไม่ถูกปาก, ราคะและโทสะนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นไฟมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์เองจึงทรงเป็นนักเสพอาหารเท่านั้น จะเป็นเนื้อหรือผักก็ตาม ขอแต่ให้เป็นของบริสุทธิ์ และยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น, สิ่งนั้นแหละคืออาหาร จงจำไว้ว่าสิ่งที่เรียกว่าอาหารในที่นี้คือ 1. สิ่งที่บริสุทธิ์, และ 2. เป็นสิ่งที่อาจยังชีวิตให้ดำเนินไปได้ ! และเรียกอาหารที่บริสุทธิ์ !

อาหารนั้น เรามีทางได้มาสองทาง คือจากสัตว์และพืชพรรณไม้จากสัตว์เช่น เนื้อ, ไข่, ไขมัน, นม เป็นต้น, จากพืชเช่น ผัก, ผลไม้, น้ำมัน, แป้งข้าวและหัวมัน ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ธรรมชาติสร้างมาให้เกี่ยวเนื่องกันแยกกันไม่ได้ นักเสพผักก็ยังกินนมของสัตว์ อาศัยเรี่ยวแรงเหงื่อไคลของสัตว์, สัตว์ก็ต้องอาศัยผักเป็นอาหาร ธาตุแท้ในโลกนี้ได้วนเวียนกันไปมา ผสมกันแล้วแยกกันไม่หยุดหย่อน ตามกฎแห่งกรรมและธัมมฐิติของพระองค์ จึงไม่ทรงวางหลักให้บริษัทของเสพแต่ผักหรือเนื้อหรือทั้งสองอย่างลงไปได้ อันเป็นการบำรุงยานพาหนะกล่าวคือกาย เพื่อจิตใจจะได้อาศัยเป็นไปกว่าจะบรรลุนิพพานได้ เหตุนี้จึงทรงเองและบริโภคหรือเสพแต่อาหารคือสิ่งที่บริสุทธิ์ และเป็นยาปนมัตต์,

จงกินเถิด ! เนื้อสัตว์ที่ตายเอง, ที่มันฆาตกรรมกันตายเอง, ที่เขาให้ท่านโดยอาการอันบริสุทธิ์, นม, ไข่ชนิดฟักไม่ออก, และเนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจใจแม้แต่น้อย, แต่อย่าลืมว่า การรังเกียจหมายถึง ความรังเกียจที่วิจารณญาณอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้เกิดขึ้น โดยไม่ต้องเห็นหรือได้ยินก็ได้ ถ้าปรากฏแจ่มใจท่านชัดเจนว่า การบริโภคของท่านเป็นเหตุให้สัตว์ต้องเสียชีวิตแล้ว นั่นแหละคือการรังเกียจ, ท่านฝืนความรังเกียจบริโภคด้วยตัณหาในเนื้อนั้น, ท่านรู้ดี, ตัณหาจึงต้องบังคับให้ท่านหาช่องแก้ตัวสืบไป จนต้องหาช่องโดยอ้อม หรือชวนกันอธิบายจนให้ได้กินสิ่งที่ตัณหาอยากกินเท่านั้น ส่วนผักไม่มีปัญหาอะไร

ถ้าท่านกินแต่อาหารที่บริสุทธิ์เพียงเป็นยาปนมัตต์แล้ว ท่านก็เป็นศิษย์พระพุทธองค์เต็มที่ ถ้าท่านจะจำแนกชื่อกิน ก็ไม่ใช่กินอาหารและจะกลายเป็นไฟขึ้นได้ดังกล่าวแล้ว, ทั้งท่านก็จะไม่ใช่ศิษย์พระพุทธเจ้าที่แท้จริงด้วยฯ ข้อสำคัญอยู่ที่กินอาหารให้บริสุทธิ์เท่านั้น



มีต่อ >>>>>
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 มี.ค.2007, 5:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การตีความกันผิดๆ แห่งโภชนสัปปายะ

โภชนสัปปายะเท่าที่ทดลองและรู้สึกด้วยตนเอง ทำให้มั่นใจเด็ดขาดลงไปว่า ความจริงไม่ต้องจำกัด หรือมีการจำกัดว่าอาหารประณีตหรือเลวทราม หรือตามที่นิยมกันเป็นส่วนมากว่าที่ประณีตเป็นโภชนสัปปายะ อาหารที่เธอทำความพอใจให้เกิดในมัน และมันก็ไม่แสลงแก่ร่างกายแล้ว ย่อมเป็นโภชนสัปปายะได้ทั้งนั้น แม้แต่น้ำพริกและผักเลวๆ ทุกวันที่เคยทดลองมาก่อน หรือข้าวกับถั่วกำมือเดียวที่กำลังทดลองอยู่ ก็เป็นโภชนะที่สบายทั้งกายและใจ, การพิจารณาให้มากไม่ขาดสายตลอดเวลา เคี้ยวให้นานที่สุด แม้จะกินเวลาในการฉันอาหารมากสักหน่อย ก็พึงรู้เถอะว่านั่นเป็นการศึกษาอย่างดีเลิศ, จะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างเป็นธรรมแท้จริง ให้เกิดความพอใจในอาหาร แม้เป็นข้าวเปล่าๆ ก็หวานอร่อย ดุจใครแกล้งปรุงเจืออะไรมาโดยตั้งใจจะไม่ให้รู้ เป็นโภชนะที่สบายที่สุด มีทั้งสบาย มีทั้งสันโดษ และสุพภรตาอย่างแรงกล้า

การที่พระโบราณาจารย์บางท่านยกเอารสเปรี้ยวเค็มเป็นเกณฑ์และต้องถูกปากกับเธอนั้น เหลวไหล ไม่มีมูลแห่งความจริง ทำให้เป็นคนใจอ่อนโดยระดับที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมไปมิได้ เป็นคำพูดที่ให้ความเข้าใจผิดแก่ผู้บำเพ็ญ, และทำความเลี้ยงยากให้เกิดขึ้น ทั้งจะเกิดปฏิฆะบ่อยๆ แก่ผู้บำเพ็ญนั้น เพราะความจริงมีอยู่ว่า ถ้าเธอยึดมั่นรสอะไรอย่างหนึ่งเป็นของสบายแล้วจะต้องเกิดหงุดหงิดแน่นอน เพราะไม่มีทายกเหล่าไหนจะทำอาหารให้มีรสคงที่เป็นอันหนึ่งได้ เข้าใจว่าเป็นคำพูดของอาจารย์ที่ติดรสแพ้ลิ้นอย่างอ่อนแอคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นคำพูดของพระอรหันต์ ไม่ใช่คำพูดของผู้ที่ได้เคยทดลองมาแล้วจนพบความจริง ต้องเป็นคำพูดของอาจารย์ผู้คาดคะเนเดาสุ่มเอาตามความคิดนึกของตน หรือเป็นคนหวัดๆ ทดลองนิดหนึ่ง พอเกิดไม่สบายในเรื่องอาหารไม่ถูกใจ ก็ตั้งบัญญัติสอนเรื่องนี้ขึ้นในแง่ที่สำคัญ อันจะให้ทายกหลงลิ้นคอยบำรุงด้วยโภชนะประณีตเท่านั้น

คำว่าโภชนสัปปายะที่หลุดออกจากพระโอษฐ์นั้น แม้พระองค์จะไม่ได้อธิบายไว้ชัดเจน ก็คือคำที่มีความหมายว่า โภชนะชนิดไหนหรือรสอะไรก็ได้ ที่ไม่แสลงแก่อวัยวะร่างกายภายในของเธอ และเป็นโภชนะที่เธอได้ปรับปรุงใจให้ยินดีในมันด้วยความสันโดษ และควรเป็นโภชนะที่ไม่แสลงแก่ใจ เช่นบำรุงความกำหนัดเกินไปด้วย เท่านั้นโภชนะที่หมุนให้ถูกอารมณ์ผู้ฉัน ไม่ใช่โภชนสัปปายะเลย แต่โภชนะที่ผู้ฉันได้พิจารณา ฉันด้วยอิ่มใจ ปราศจากตัณหา นั่นแหละคือโภชนสัปปายะที่แท้ โภชนะประณีตทำให้เกิดต้องมีเรือนไฟขึ้นเพราะโทษของมัน จะจัดเป็นโภชนะสบายอย่างไรได้

วิธีทดลองและพิสูจน์ :- หาโภชนะประณีตฉันตามพอใจดูสัก 3-6 เดือน แล้วเปลี่ยนเป็นโภชนะเลวที่สุด 3-6 เดือน ระหว่างนั้นคอยกำหนดบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ใจดู ที่ข้าพเจ้าพบคืออาหารที่ทำให้เกิดความรู้สึกตนเองว่า การบริโภคเช่นนี้ๆ ของเราเป็นธรรมแท้ พระองค์มาเห็นเป็นต้องสรรเสริญแท้ ให้เกิดปีติเต็มที่ต่างหากที่เป็นโภชนะสบาย, อันอาจสำเร็จตามนั้นได้ เพราะการพิจารณา-การฝึกใจ-การปลูกฉันทะให้เกิดในอาหารที่เป็นธรรมต่างหาก ที่ตรงกันข้าม เป็นคำพูดที่ปล้นพระศาสนาในสมัยที่เป็นโอกาสปล้นได้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม, ข้าพเจ้ายังจะพิสูจน์ทดลองต่อไปอีกเสมอ

อาหารมื้ออร่อยที่สุด

อาหารมื้อที่มีความปรารถนาน้อยเป็นเนื้อข้าว มีความสันโดษเป็นกับข้าว เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกนี้ บางคนกล่าวว่ามื้อที่หิวข้อนั้นย่อมไม่แน่นอนนัก เพราะคนที่หิวบางคนก็ยังเลือกอาหารและติเตียนเมื่อบริโภคแล้ว ข้าวสุกเปล่าที่เคี้ยวบดอยู่ในปาก มีความสันโดษในห้วงแห่งดวงใจเป็นกับ ย่อมหวานยิ่งกว่าข้าวสุกระคนด้วยนมข้นอย่างหวาน แต่เคี้ยวกลืนด้วยหัวใจแห่งชาวโลกธรรมดา ! แม้ว่าตามธรรมชาติของแป้งข้าวในข้าวสุก เมื่อผสมกับน้ำลายแล้ว แปรธาตุเป็นน้ำตาลรู้สึกหวานแก่ผู้เคี้ยวก็จริง แต่มันหวานไม่ถึง 1/10 ของข้าว ที่เคี้ยวและกลั้วด้วยน้ำลาย อันผสมด้วยเชื้อแห่งสันโดษ เคยปรากฏแก่ข้าพเจ้าในบางครั้งว่า หวานจนขนลุกและเย็นซ่าไปทั่วตัว มีกลิ่นหอมและชุ่มชื่นจนรู้สึกว่า 3-4 คำก็พอแล้วสำหรับการมีชีวิตในวันนี้ แต่ถ้าบางวันข้าพเจ้าเผลอลืมราดน้ำปรุงรส กล่าวคือสันโดษนี่แล้ว ย่อมรู้สึกว่าชาวบ้านช่างใจจืดแก่พวกเราเสียจริงหนอ! เขาไม่ให้อาหารที่เป็นรสชาติแก่ลิ้นเสียเลย ทั้งที่วันนั้นมีกับแกงไม่น้อยกว่า 2-3 อย่างก็มี

พระพุทธบิดาตรัสว่า จิตเป็นธรรมชาติที่มีอารมณ์อันเดียว หมายความว่ามันเสวยอารมณ์ หรือรู้สึกอารมณ์ได้คราวละอัน ท่านจะป้อนอารมณ์อันไหนให้แก่มันย่อมแล้วแต่ท่านจะเลือก เมื่อสันโดษเป็นธรรมารมณ์ที่จิตเสวยอยู่แล้ว เมื่อนั้นมันย่อมเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่อ้อน และไม่รู้สึกถึงการที่มันเคยเลี้ยงยากครั้งก่อนๆ หรือครั้งอื่นๆ เลย เพราะมันมีอารมณ์อันเดียว เป็นแต่มันเปลี่ยนอารมณ์เร็วมากเท่านั้น เมื่อท่านไม่ยอมให้มันเปลี่ยน ผูกมัดไว้แน่นกับเสาเขื่อนคือสันโดษ เหมือนลูกโคที่เขาจะนำไปฆ่าแล้ว ผักล้วนๆ หรือข้าวสุกล้วน ไม่มีอะไรเจือปนก็ทำความพอใจอิ่มเอมให้แก่จิตเท่ากันกับอาหารที่ท่านหลงเพ้อว่าวิเศษทั้งหลาย ซึ่งเป็นอาหารชนิดยาเสพติดมากกว่า ถ้าทำถูกวิธีจิตจะมีอารมณ์อันเดียว และไม่อ้อนเลย

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นโคกินหญ้าด้วยความสังเกตยิ่งกว่าทุกวัน เข้าใจว่ามันรู้สึกอร่อยเท่าที่พวกเป็นทาสลิ้นเห่ออาหารตามภัตตาคารสูงๆ หรือแม่ครัวฝีมือดีเหมือนกัน วันหนึ่งข้าพเจ้าเลี้ยงปลาในสระด้วยข้าวสุกอย่างเดียว ข้าวสุกซึ่งมนุษย์กินแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่พวกปลามันเห็นเป็นดุจว่า เทวดาเอาของทิพย์มาหว่านให้ทีเดียว นี่คือธรรมชาติ! มนุษย์ได้ยอมเป็นขี้ข้าของปีศาจมหาอุบาทว์ คือตัณหาในรสที่ลิ้นไปเสียแล้วจึงกินข้าวสุกอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งที่มนุษย์ก็คือสัตว์ธรรมชาติชนิดหนึ่งเหมือนกัน

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าสละทองหยิบและขนมหม้อแกง และของอื่นบางอย่าง แทนที่จะบริโภคเอง ให้ปลาพวกนั้นกิน แต่มันหากินไม่ ดูเถิดธรรมชาติ ! มนุษย์สัตว์ธรรมชาติ ได้ละจากสิ่งที่บริสุทธิ์ไปยึดสิ่งที่เศร้าหมอง เสพติดเหมือนยาฝิ่นอย่างเงียบๆ ให้เป็นของที่จำเป็นสำหรับชีวิตด้วยการยึดถือ เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเป็นของเลวทราม สิ่งที่ปรุงใหม่และหายากเป็นของดี เพราะอุปาทานที่ลิ้น ! มนุษย์เป็น "เจ๊กขี้ยา" อยู่อย่างเจ๊กขี้ยาผู้ดี, ขี้ยาชั้นสูง อ้างตัวเองเป็นผู้ประกอบด้วยอารยธรรม แต่เขาคือมนุษย์ "เจ๊กขี้ยา" เพราะติดในรสอาหารที่เสพติด หาอาจบริโภคอาหารตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์สะอาดเป็นประโยชน์แก่ร่างกายแท้จริง ฯลฯ ไม่ได้ เขาบริโภคได้แต่ "ขี้ยา" ที่เขาติดแล้ว คืออย่างน้อยต้องปรุงให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ข้าวต้องผัดและปรุงเสียก่อน จึงจะกินข้าวนั้นได้โดยไม่ต้องมีกับข้าว ซึ่งความจริงมันก็เหมือนกับกับข้าวนั่นเอง

ธรรมชาติต้องการอาหารที่บำรุง หาต้องการอาหารที่แสลงไม่, อาหารที่ปรุงยิ่งวิเศษยิ่งขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเป็นอาหารเลวทรามลงเพียงนั้น เพราะแสลงและไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย.....รส, ยั่วมนุษย์ให้โง่หลงติดยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง มนุษย์ที่กินอาหารธรรมชาติอายุยืนกว่ามนุษย์ "ขี้ยา" นี้หลายสิบเท่า และอาหารธรรมชาติไม่ได้ทำให้มนุษย์โง่ลงเลย แต่เป็นมนุษย์ที่มีความสุข ข้าพเจ้าทดลองอาหารธรรมชาติจริงๆ ดูเป็นเวลา 1 เดือนเศษ ไม่ปรากฏว่าโง่ลงแม้แต่น้อย เอางานที่จะทำในขณะนั้นมาเปรียบเทียบกันดูกับเมื่อก่อนหรือตอนหลัง ปรากฏว่าไม่เลวกว่า มีแต่ดีกว่ากับเสมอกัน ในส่วนกำลังกายยิ่งปรากฏว่าสม่ำเสมอตลอดวัน ทำงานออกกำลังได้เท่าเดิม แต่ส่วนใจนั้นรู้สึกว่าสะอาดและสบายยิ่งกว่าเวลาเป็นปีๆ ที่ล่วงมาแล้ว, ทุกอย่างปกติ เมื่อถึงเวลาก็หิว ใช่ว่าอาหารนั้นมีราคามื้อหนึ่งไม่เกิน 2 สตางค์ หรือบางทีไม่เกิน 1 สตางค์แล้วใจจะไม่หิวก็หาไม่ ธรรมชาติย่อมต้องการธรรมชาติด้วยกัน! กายนี้ยังเป็นธรรมชาติอยู่นะท่าน เราควรกินอาหารที่บำรุงมันสำหรับมีชีวิตอยู่เพื่อทำกิจของมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ใช่ "มนุษย์ขี้ยา" พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้สันโดษ สันโดษเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด ทรัพย์อื่นที่ยิ่งกว่าความสันโดษไม่มี จงดูแต่อาหารที่เคี้ยวกันด้วยความสันโดษนี่โทษ และอย่าลืมว่ามันเป็นสิ่ง "ซ.ต.พ." ด้วยการทำดูจริงๆ ของมนุษย์ที่รักเกียรติอย่างแท้จริงของมนุษย์ทั้งหลาย นอกจาก "มนุษย์ขี้ยา" และประเภทที่ "อยู่เพื่อกิน" เท่านั้น



มีต่อ >>>>>
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 มี.ค.2007, 5:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การตกลงใจในเรื่องกินเนื้อ

การกินเนื้อและซื้อเนื้อรับประทาน โดยไม่มีเจตนายินดีในการฆ่าของผู้ขาย และใจบริสุทธิ์ปราศจากการรังเกียจแล้ว ตามหลักพุทธศาสนาย่อมไม่เป็นการบาปเลย หลักของพระองค์ในเรื่องนี้อยู่ที่เจตนาเป็นกรรม ถ้าหวั่นเกรงไปทุกด้าน เป็นลัทธิศาสนาเชน คือเดียรถีย์อันนับเข้าฝ่ายอัตตกิลมถานุโยค และถ้าถือตรงตามหลัก ไม่เกี่ยวกับเจตนาแล้ว แม้การกินผัก หรือทำลายต้นไม้ ก็เป็นบาปเหมือนกัน เพราะท่านกล่าวว่า ปาโณติ ปรมตฺตโต ชีวิตินฺทฺริยํ ต้นไม้ก็มีชีวิตนฺทฺริยํ, พระองค์ก็ไม่ได้กล่าวแยกว่า ฆ่าต้นไม้ไม่บาป ฆ่าสัตว์บาป เป็นแต่ตรัสกลางๆ ว่า "ทำปาณะให้ตกล่วงไป" เท่านั้น เมื่ออะไรมีปาณะการทำสิ่งนั้นให้ตกล่วงก็เป็นบาปหมด จึงให้ถือเอาเจตนาเป็นสำคัญ อย่างเรื่องกุกกุฎมิตต์ พระโสดามีสามีเป็นพราน ช่วยเหลือสามีผู้เป็นพรานในกิจการได้ แต่เพราะใจไม่มีเจตนาในการฆ่า หรือยินดีเลย พุทธภาษิตก็มีอยู่ว่า ถ้าแผลไม่มีในมือแล้ว นำยาพิษใส่มือไปได้ เช่นเดียวกับบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าไม่ถือเจตนาเป็นใหญ่แล้ว ก็แทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะจะไปถูกสัตว์ตาย, ไถนาก็ไม่ได้ สัตว์ถูกไถตาย เหยียบสัตว์ตาย แม้แต่การใช้เทียนไขก็ไม่ได้ ปลาวาฬจะถูกฆ่าตาย และยิ่งกว่านั้นจะหายใจก็ไม่ได้ เพราะจุลินทรีย์ (germs) ตายครั้งหนึ่งเป็นจำนวนพัน จึงต้องเอาเจตนาเป็นใหญ่ เจตนาเท่านั้นที่จะทำให้เป็นกรรมขึ้น

การบัญญัติสิกขาบทปาณาติบาต พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า บาปเฉพาะฆ่าสัตว์ ฆ่าต้นไม้ไม่บาป ตรัสเป็นกลางๆ ดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ไม่มีเจตนาทำปาณะให้ตกล่วงนั่นแหละเป็นการรับประกันอันแน่นอน เนื้อหรือผักไม่มีข้อแปลกกันเป็นพิเศษเลย แต่เรามานึกกันอีกแง่หนึ่ง คือสิ่งไหนจะเป็นประโยชน์กว่า วิทยาศาสตร์และการทดลองเอาได้เองทุกคนๆ ทำให้ปรากฏว่า ผักและผลไม้มีประโยชน์กว่า คือมีแต่คุณ และบำรุงร่างกายดีกว่า ดียิ่งในทางธรรมปฏิบัติคือสมถะและภาวนา, ดีในการแสวงหาได้ง่าย หมดเปลืองน้อย สมกับที่พระมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น เราจึงควรกินผักกันเป็นธรรมดา ส่วนเนื้อนั้นคงกินได้ในเมื่อมันบริสุทธิ์ดี และจะต้องกิน เรากินผักไม่ใช่เพราะคิดว่ากินเนื้อบาปอย่างโลกนาถว่า กินอะไรก็ตาม "เซล" ของมันถูกฆ่าตายทั้งนั้น เราต้องถือเอาเจตนาเป็นเกณฑ์, เรากินแต่อาหารด้วยการพิจารณาอย่างทรงสอนไว้ก็พอแล้ว แต่เรากินผักแทนเนื้อนั้น เพราะมันมีคุณสมบัติดีกว่า ไม่ใช่เพราะกลัวบาป, และทางที่ดีที่สุดกว่าทางไหน ก็คือเราต้องทำความตกลงใจว่า "กินอาหาร" เท่านั้น เป็นสัตว์หรือเนื้อก็ตาม, ต้องบริสุทธิ์ และต้องกินด้วยการพิจารณา เพื่อการถอนกิเลสสัญโยชน์ให้เบาบาง หมดไปในชาตินี้เอง ! ฆราวาสก็แนวเดียวกัน คือเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตหน้าที่และการงานของท่านให้มากที่สุด แต่อย่ามีเจตนาในการฆ่าหรือยินดีในการฆ่าก็แล้วกัน, แม้แต่ที่เกิดการรังเกียจก็ไม่ควร



>>>>> จบ >>>>>



หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง