Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คาถากันตาย (หลวงตาแพรเยื่อไม้) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คาถากันตาย
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้

จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


ได้ยินมาว่า พระเจ้าพรหมทัตครอบครองสมบัติพาราณสี พระองค์ตกเป็นทาสของชิวหา ติดในรสจนถึงกับยอมสละฐานะแห่งกษัตริย์ เรื่องราวของพระองค์น่าคิดน่าสนใจไม่น้อย เชิญเถิดสาธุชน เชิญสละเวลาให้กับตัวอักษรที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงขึ้นสักชั่วขณะเถิด

ตามปกติพระกระยาหารที่ทรงเสวย มังสะคือเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ พนักงานห้องเครื่อง (คนครัวหลวง) จะต้องตัดแต่งประจำ แต่และแล้ววันหนึ่งด้วยความประมาทของเขา ชั้นมังสะดิบที่จัดเตรียมเพื่อจะปรุงพระกระยาหารถูกอทินนาทานโดยโสณกชาติ (หมาขโมย) เวลากะทันหันไม่อาจจะหามาแทนได้ ครั้นจะไม่แสวงหาก็เกรงพระอาชญา จึงลนลานไปแอบเฉือนเนื้อศพนักโทษที่ต้องประหารใหม่ๆ มาจัดปรุงขึ้นเป็นโภชนะประณีตสุดฝีมือเยี่ยงเคย ตกลงวันนั้นพระราชาพรหมทัตทรงเสวยเนื้อคน

อำนาจแห่งโอชารสซึมซ่านไปทั่วอินทรีย์สรีระ ขู่ตวาดคนครัวให้รับสารภาพ แต่แล้วก็ทรงบังคับเขาต่อไปให้จัดหามังสะมนุษย์มาปรุงเสวยทุกวัน มิฉะนั้นแล้วจะถูกลงอาชญา ด้วยเหตุนี้เองนับแต่นั้นนักโทษต้องประหาร ญาติของเขาก็หมดโอกาสจะเห็นหน้า แม้แต่หมู่กิมิชาติ (หนอน) และแร้งกาก็ไม่ได้ลิ้ม


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตามปกติผู้ร้ายฉกรรจ์มหันตโทษ ในอาณาจักรที่ผู้ปกครองตั้งอยู่ในอาสัตย์อาธรรม์ เห็นแก่ปากแก่ท้องเช่นนี้ ก็ย่อมจะอุดมดื่นดาษเป็นธรรมดา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีไม่ทันเสวย ในที่สุดก็ต้องจัดเอาผู้ต้องโทษแม้สถานเบามาประหาร กฎหมายในประเทศของพ่อเมืองโกงและเห็นแก่กินนี้ช่างอุกฤษฏ์เสียจริงๆ

ในที่สุด แดนกักกันอิสระภาพคุกตะรางก็ว่างเปล่าเป็นเหมือนขุมนรกร้าง.....อหา.....! เสวยคนเกลี้ยงคุกไปเลยหรือ ? ช่างกินจุแท้

หากจะมีใครอุทธรณ์ว่ากฎหมายบ้านเมืองช่างเหี้ยมโหดนัก ไม่มีการอภัยโทษบ้าง ก็ไม่ยากอะไรที่จะหาอุบายลบล้าง เพียงแต่อ้างเอา “ความหวังดี” ขึ้นมาเป็นนโยบายว่าต้องการจะทำอาณาจักรพาราณสีให้เป็นเมืองพระศรีอาริย์ก็คงจะมีบ้างหรอก สำหรับคนที่คลั่งศีลธรรมจนลืมวิสัยธรรมดาจะยกมือขึ้นสาธุ แต่ก็ไม่วายสงสัย

เพราะไม่ช้า ก็มีข่าวสยองขวัญสั่นหัวใจชาวนครเกิดขึ้นเป็นประจำ คือข่าวคนกลางคืนหาย (ที่ว่าคนกลางคืนหายนั้นมิได้หมายเอาคนตามไนท์คลับดังที่เข้าใจกันในปัจจุบันนี้ดอกนะ) เดี๋ยวลูกหาย เมียหาย พ่อหาย แม่หาย ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพราะมีต้นเหตุมาจากเมื่อคนในคุกหมด แต่ความอยากของพระราชายังไม่หมด จึงส่งคนออกเที่ยวซุ่มดักคนกลางคืน คือผู้สัญจรไปมาในยามมืดค่ำในที่ปลอดเปลี่ยว ประทุษร้ายใส่กระสอบแบกเข้าวังจัดเป็นของเสวย

ในไม่ช้าความจริงก็ปรากฏ เมื่อเหล่าอำมาตย์ผู้มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความสงบของพระนครจับผู้ร้ายได้ เมื่อซักไซร้ไต่ถามทราบมูลเหตุแล้ว ก็พากันเศร้าสลดในจรรยาของทรราช จึงพร้อมใจกันทูลให้ละเลิกทุรกรรมอันนี้เสีย แต่ก็มิอาจเปลี่ยนพระทัยได้

ในที่สุดจึงถวายคำขาดว่า ระหว่างสิ่งสองสิ่งจะเอาข้างไหน ? คือราชสมบัติ มเหสี โอรส ธิดาฯ ฝ่ายหนึ่ง กับการเสวยเนื้อมนุษย์อีกฝ่ายหนึ่ง จะเอาทั้งสองอย่างไม่ได้ เมื่อทรงประสงค์ฝ่ายหนึ่ง ต้องเสียสละอีกฝ่ายหนึ่ง และแล้วท้าวเธอก็เลือกเอาข้างเสวยเนื้อมนุษย์

เดี๋ยวก่อนท่านผู้อ่าน อย่าเพ่อแย้มสรวลด่วนคิดว่าเหลวไหล คิดว่าไร้เหตุผล มีที่ไหนเป็นถึงกษัตริย์แล้วจะยอมเสียราชศักดิ์อัครฐานเพื่อเห็นแก่กินนิดๆ หน่อยๆ แต่ข้าพเจ้าว่าเป็นไปได้ แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีบุคคลประเภทที่ยอมเสียสละอนาคตอันสดใส สละเกียรติ สละฐานะอันดีงาม เพราะตกเป็นทาสของปากของท้อง ยอมล่มจมเพราะหลงระเริงในความสุข บางคนก็ไม่ได้กินอาหารที่เป็นชิ้นเป็นอันด้วย กินควันๆ (ไอระเหย – เฮโรอีน) กินลมๆ เท่านั้น ยังต้องทิ้งลูกทิ้งเมีย ทั้งฐานะการงาน ท่านก็คงคิดว่าเป็นไปได้มิใช่หรือ ?

พระราชาพรหมทัตยินดีรับการเนรเทศ ละนครอันไพบูลย์เข้าสู่แดนป่าอันแสนทุรกันดาน พร้อมกับคนครัวฝีมือดีคนหนึ่ง แล้วก็ทรงเพลิดเพลินด้วยการออกเที่ยวดักจับเอาคนเดินทางที่ผ่านป่า ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าวาณิชหรือนักธุรกิจ เช่น พรานอาชีพ แม้จะเป็นพรานบรรดาศักดิ์ก็ตามเป็นต้น มาเป็นอาหาร จนในแดนป่าแถบนั้นไม่มีมนุษย์คนใดกล้าผ่าน ต่างร่ำลือกันว่ามีโปริศาจ โจรร้ายเป็นภัยคุกคามสวัสดิภาพ โปริศาจก็คือ พระเจ้าพรหมทัตนั่นเอง เริ่มจะฝืดเคืองเสียแล้ว วันหนึ่งจับคนมาเป็นอาหารไม่ได้ ความอยากรุกรานพระทัยให้กระวนกระวายไร้ความสุข จึงจับคนครัวฝีมือดีแกงกินเสีย นับแต่นั้นก็อยู่โดดเดี่ยวเที่ยวไปเหมือนผีป่า


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อในป่ากลายเป็นแดนอดอยาก ก็ต้องเสาะแสวงไปตามชายชานแห่งนครน้อยใหญ่ เสมือนเสือปลาย่องเข้าไปยื้อแย่งขโมยเป็ดไก่ในเล้าของชาวบ้าน แล้วก็โดดแผล็วหลบกลับเข้าป่าไป ในไม่ช้าบรรดากษัตริย์แห่งนครน้อยใหญ่ ผู้หวังสวัสดิ์ในไพร่ราษฎร์ต่างก็ทรงสำนึกว่าเป็นหน้าที่จะต้องปกปักรักษาประชากรด้วยการกำจัดภัยน้อยใหญ่ให้เสื่อมสูญ จึงต่างจัดไพร่พลออกทำการปราบโจรโปริศาจในอรัญราวป่า ถึงวาระที่เป็นฝ่ายถูกล่าบ้างละ !

ครั้งหนึ่งโปริศาจผู้กาจกล้าต้องเหน็ดเหนื่อยด้วยการวิ่งหนีทหารกองปราบอย่างตระหนกตะลีตะลาน เท้าบังเอิญไปสะดุดตอตะเคียนเข้าสุดแรง ล้มกลิ้งอยู่ตรงนั้น รีบทรงกายความกลัวทำให้ลืมเจ็บปวดวิ่งต่อไป แต่ก็ต้องล้มพับลงอีก ความเจ็บปวดรวดร้าวแล่นเข้าสู่หัวใจ แล้วก็ได้สติรู้ตัวว่าเท้าแพลงเหยียบยันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เหลียวกลับมองเบื้องหลังอันเป็นทิศทางที่มาของราชภัย ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าทหารหาญผสมเสียงโห่และขู่ตวาด ความขลาดกลัวเพิ่มขึ้นอย่างสุดขีด โอ้ชีวิต.....จะถึงวาระสุดท้ายละหรือ ?

ตามปกติชีวิตของสามัญชน เมื่อยังอยู่ในท่ามกลางพรั่งพร้อมด้วยสิ่งบำเรอสุขแล้ว ก็มักจะละลืมความสำคัญของศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางทีกลับจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องถ่วงอารมณ์ ขัดขวางความสุขสนุกสำราญไปด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึงวาระที่เผชิญหน้ากับอันตราย ชนิดที่สุดอำนาจวาสนา ความมั่งคั่งสมบูรณ์จะป้องกันได้นั่นแหละ จึงจะเริ่มสำนึก และหันมามองศาสนาวัดวาอาราม และเห็นความสำคัญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นว่า ฟันหักสักซี่หนึ่ง ผมหงอกสักเส้น ปรากฏให้เห็น หรือโรคาพาธ อันเป็นสื่อแห่งมรณะสมัยย่างกรายเข้ามา จึงจะยอมลดท่าทางอันยโสโอหัง ย่างเข้าวัดด้วยอาการสำรวมราวกับยายชีที่นุ่งผ้าขาวมาสักล้านปีก็ไม่ปาน

แม้โปริศาจ หรืออดีตราชาพรหมทัตผู้นี้ ก็หนีสูตรแห่งจิตใจสัตว์โลกไม่พ้น แต่ก่อนเขาไม่เคยนึกถึงศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เลย แต่บัดนี้เท้าแพลงต้องนอนกลิ้งโค่โร่อยู่ข้างตอตะเคียน เบื้องหลังได้ยินเสียงคุกคามจะเอาชีวิต เขาจึงมองไปที่ต้นไทรใหญ่เบื้องหน้า

ความกลัวทำให้เขานึกถึงรุกขเทวดา ยกมือประนมขึ้นอย่างแสนงาม ปากก็พร่ำปฏิญาณสัญญากับเทพเจ้าแห่งต้นไทรนั้น ด้วยถ้อยคำสำนวนอ่อนหวานยิ่งกว่าเจรจากับคู่รักหลายเท่า เอาแต่ใจความก็คือ ขอให้พ้นจากการจับกุมของทหารที่ติดตามมาเถิด แล้วจะแก้บนด้วยเอาโลหิตในพระศอของกษัตริย์ จำนวน ๑๐๑ พระองค์มาพลีถวายให้เสวย


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จะด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเทพาอารักษ์ หรือความสะเพร่าของผู้ติดตาม หรือเพราะยังไม่ถึงฆาตของโปริศาจพรหมทัตก็ไม่แน่ ปรากฏว่าเขารอดพ้นจากราชภัยครั้งนี้ไปได้อย่างมหัศจรรย์ เมื่อเขารักษาข้อเท้าให้หายปกติดังเดิมแล้ว เขาก็เริ่มทำการเปลื้องปฏิญญา ด้วยการไปเที่ยวจับเอากษัตริย์นครต่างๆ มาได้ ถึงร้อยพระองค์ เขายังไม่ตัดพระศอกษัตริย์เอาโลหิตแก้บนในทันทีทันใด จนกว่าจะครบ ๑๐๑ พระองค์ตามสัญญา

กษัตริย์ที่จับมาได้แล้วก็เพียงแต่เอาพันธนาการล่ามมัดไว้กับหลักภายใต้ร่มเงาของต้นไทรนั้น กษัตริย์แต่ละองค์ก็ทรงกันแสงร่ำไรรำพันละเมอเพ้อพกอย่างเสียขวัญ ส่งเสียงประสานกันราวกับฤๅษีมาประชุมกล่าวโศลกร่ายเวทย์อยู่ในป่าฉะนั้น

และแล้วกษัตริย์องค์สุดท้าย อันเป็นที่ครบจำนวน ๑๐๑ ก็ถูกจับมาสมหวัง วาระแห่งพลีกรรมมโหฬารใกล้เข้ามาแล้ว กษัตริย์องค์นี้มีนามว่าพระเจ้าสุตโสม พระองค์ถูกนำมาพันธนาการอยู่กับหลัก รวมกับกษัตริย์อื่นๆ ตอนนี้โปริศาจหรืออดีตราชาพรหมทัตปรีดาปราโมทย์หนักหนา ที่จะเปลื้องปฏิญญาแก่เทพเจ้าสมหวัง ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาก้องป่า เที่ยวเดินดูกษัตริย์องค์โน้นองค์นี้ด้วยท่าทางที่ร่าเริง

เมื่อเห็นกษัตริย์องค์ใดละเมอเพ้อพกดิ้นรนเพราะกลัวความตายมาก โปริศาจก็ดูเหมือนจะเพิ่มความยินดี เสียงหัวเราะดังขึ้นราวกับเสียงตวาดของผีป่า จ้องดูองค์โน้นแล้วก็เยื้องกรายมาที่องค์นี้


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในที่สุดก็มาถึงพระเจ้าสุตโสม โปริศาจชะงักหยุดด้วยความแปลกใจ เพราะพระเจ้าสุตโสมมีพระอาการผิดแผกกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ คือไม่ทรงดิ้นรนแสดงความหวั่นหวาดอย่างที่น่าจะเป็น และแม้สีพระพักตร์แววพระเนตรจะซีดสลดลงสักน้อยนิดก็ไม่มี โปริศาจจึงเอ่ยถามด้วยเสียงอันกร้าวกระด้างปราศจากน้ำนวลว่า

โปริศาจ : “ท่านไม่กลัวตายหรือ ?”

สุดโสม : “เราไม่หวาดกลัวเลย”

โปริศาจ : “ทำไมท่านจึงไม่กลัวตาย ?”

สุดโสม : “เพราะเรามี “คาถากันตาย” ไว้ภาวนา”

โปริศาจ : “คาถาของท่าน ภาวนาเท่านั้นหรือ ?”

สุดโสม : “ไม่ว่าคาถาอะไร ? ภาวนาแต่ปากอย่างเดียวหาสำเร็จประโยชน์ไม่ จักต้องปฏิบัติประกอบด้วย เพราะท่านว่า เมื่อเข้าป่าเสกคาถากันช้างไล่ ขึ้นต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา เห็นน้ำแกงจวนหมดรสโอชา เอาน้ำปลาเติมด้วยช่วยน้ำแกง”

โปริศาจ : “คาถาของท่านว่าอย่างไร ?”

สุตโสม : “กัลยาณกรรมหลายอย่าง เราได้ทำแล้ว ยัญที่มีผลไพบูลย์บัณฑิตยกย่อง เราก็ได้บูชาแล้ว ทางไปปรโลกเราก็ชำระบริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม (เช่นนี้) ใครเล่าจักกลัวตาย”

โปริศาจ : “กัลยาณกรรม คืออะไร ?”

สุตโสม : “คือการกระทำที่ดีงาม หมายถึง เคลื่อนไหวของกายวาจาที่เป็นเครื่องผลิตประโยชน์ เราได้กระทำแล้วด้วยร่างกายอันนี้ เป็นเหตุให้เราสำนึกด้วยความอิ่มใจว่า เราได้ใช้อัตภาพนี้อย่างมีความหมายไม่เป็นหมัน ไม่เสียชาติที่ได้เกิดมา”

โปริศาจ : “ยัญ ล่ะ คืออะไร ?”

สุตโสม : “ยัญ คือ พิธีกรรมอันเป็นที่กำเนิดของคุณความดีซึ่งโลกนิยม ว่าควรประพฤติปฏิบัติและทำสืบๆ กันมาจนเป็นประเพณี บัณฑิตก็สนับสนุน เพราะเหตุว่าไม่เดือดร้อนใครๆ มีแต่ผลดี (หมายถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น) ยัญดังกล่าวนี้ เราก็บูชาไม่บกพร่อง เราอยู่ในโลกอย่างผู้ไม่ขวางโลก (คือขวางหรือทำลายวัฒนธรรมประเพณีของโลก)”

โปริศาจ : “ทางไปปรโลกเล่า คืออะไร ?”

สุตโสม : “คือ คุณอันเป็นเครื่องให้ดำเนินสู่ภพชาติเบื้องหน้า นับแต่กายแตกทำลาย ได้แก่บุญกุศลทั้งหลาย เราก็ได้สั่งสมไว้บริบูรณ์พอได้อบอุ่นจิตใจ ไม่หวั่นไหวในการไปสู่ปรโลก เราพร้อมเสมอทุกโอกาส”

โปริศาจ : “ที่ว่า “ตั้งอยู่ในธรรม” คืออย่างไร ?”


(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 6:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สุตโสม : “คือ ตั้งชีวิตไว้ในฐานแห่งความดี สร้างประโยชน์จากอัตภาพนี้ให้สมบูรณ์ ทั้งบัดนี้และเมื่อหน้า ไม่ว่าเราหรือใครๆ หากบำเพ็ญตนได้ ต้องตามความหมายของคาถาบทนี้ มี อะไรอีกเล่าที่จะมาทำให้ต้องกลัวตาย เพราะเหตุแห่งความกลัวได้ถูกกำจัดเสียแล้วด้วยคุณธรรมดังกล่าวมา ฉะนั้น เราจะอยู่ก็สบาย แม้จะไปก็มั่นใจว่า คงสะดวกผิดกว่าผู้มีชีวิตอย่างบกพร่อง ต้องสำนึกด้วยความเสียใจเมื่อใกล้จะดับจิตว่าใช้ชีวิตไม่สมค่า เพราะมัวประมาทเสีย เหมือนดังกษัตริย์ทั้งร้อยองค์ที่ทรงกันแสงอาลัยอยู่บัดนี้

เขากำลังสำนึกว่ายังมีภารกิจอีกมากมายหลายประการที่ยังค้างอยู่ และเบื้องหน้า แต่ตายไปก็นึกไม่เห็นสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง จึงต้องหวั่นไหว คนประเภทนี้ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ทั้งร้อยพระองค์ บัดนี้ หรือใครๆ ก็ตามถึงจะเป็นอยู่ลำบาก แม้จะจากก็ลำเค็ญ ผิดกว่าเราด้วยประการฉะนี้”

ด้วยเดชอำนาจของคาถานี้ มิใช่จะเพียงแต่ช่วยให้ผู้ภาวนารอดตายเท่านั้น ยังช่วยชีวิตของบรรดากษัตริย์ทั้งร้อยพระองค์ให้พ้นจากมรณภัยอีกด้วย เพราะเมื่อการโต้ตอบสนทนาจบลงแล้ว มีผลให้กายของโปริศาจสิ้นพลังอ่อนยวบฟุบหมอบลงยังเบื้องปลายพระยุคลบาทของพระเจ้าสุตโสม ด้วยความสำนึกตน ร้องไห้รำลึกได้ถึงความหลัง แล้วก็แก้บรรดากษัตริย์จากเครื่องผูกมัด พนมมือไหว้เป็นการขอขมาลาโทษต่อทุกๆ พระองค์ ปล่อยให้กษัตริย์เหล่านั้นกลับคืนสู่ราชสมบัติ ราวกับเป็นการจุติเกิดใหม่ฉะนั้น

ต่อแต่นั้นโปริศาจก็ได้ความสำนึกด้วยอำนาจคาถาธรรมะของพระเจ้าสุตโสม เข้าขจัดกวาดล้างความมืดมนแห่งกิเลสร้ายที่ห่อหุ้มสัมปชัญญะให้สว่างไสว เกือบเท่าเดิม แต่ก็พอจะช่วยให้รำลึกถึงความหลังได้อย่างแจ่มชัดว่า พระเจ้าสุตโสมองค์นี้ ที่แท้ก็คือพระสหาย ครั้งสมัยเมื่อยังทรงเป็นเยาวกุมาร

ทั้งสองพระองค์ได้พบกัน ณ ศาลานอกพระนครตักกสิลา ด้วยต่างก็มุ่งหน้ามาศึกษา เพื่อจะได้กลับไปรับราชสมบัติสืบต่อจากพระชนกเหมือนกัน จึงต่างองค์ทรงปฏิญญาสัญญาผูกไมตรีกันไว้ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้กลับไปครองราชย์ดังหวังไว้แล้ว ทั้งสองจะเป็นพระสหายที่จะไม่สร้างนโยบายเพื่อเป็นอริรุกรานกันและกัน และยิ่งกว่านั้นเมื่อถูกราชศัตรูใดรุกรานแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องช่วยกันแก้ไขให้แก่กันตามวิสัยแห่งมิตรภาพ

แต่พรหมทัตเป็นกษัตริย์มีกรรม ได้ปล่อยพระจริตจิตใจให้ถลำลงสู่ห้วยกิเลสเสียจนวิปลาส ไปจับพระสหายมาโดยที่ทรงจำไม่ได้ บัดนี้ดวงพระทัยปลอดโปร่งผ่องแผ้วแล้ว จึงได้ความเป็นสหายคืนมา

ต่อแต่นั้น พระเจ้าสุตโสม ก็ทรงส่งพระสหายพรหมทัตคืนครองราชสมบัติแห่งพาราณสี ตามเดิม เมื่อหลังจากได้ชำระล้างคราบไคลทางจิตใจของโปริศาจแล้วด้วยอำนาจของคาถาธรรม นำมาซึ่งความสุขสวัสดีชั่วชนมา

สุตโสม ก็คือ องค์สมเด็จพระบรมศาสดา โปริศาจ ก็คือ องคุลิมาล พุทธสาวก

(จากสุตโสมชาดก)


หมายเหตุ : ขออภัยท่านผู้รู้ เรื่องนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นด้วยความจำ มิได้สอบทานเรื่องเดิมเพราะเวลารีบด่วน ไม่อาจจะยืนยันว่าสมบูรณ์ได้ มุ่งหมายแต่สาระคติของแนวการบรรยายเท่านั้น คิดเอาเองว่า จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นความมุ่งหมายของชาดกเรื่องนี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาธุจ้า
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 6:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
wendy
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 06 ม.ค. 2007
ตอบ: 5
ที่อยู่ (จังหวัด): กรุงเทพฯ

ตอบตอบเมื่อ: 09 ม.ค. 2007, 7:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุค่ะ ร้องไห้ สนุกดีค่ะ ยิ้ม
 

_________________
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง