Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ก่อนเหล้าจะท่วมเมือง (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 18 มี.ค.2007, 10:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ก่อนเหล้าจะท่วมเมือง
โดย พระไพศาล วิสาโล


แม้เหล้าจะอยู่คู่คนไทยมาช้านาน แต่ในอดีตที่ผ่านมามันมักจะซุกตัวอยู่ในมุมเล็กๆ ของสังคมและมีพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด ผู้คนส่วนใหญ่จะกินเหล้าก็ต่อเมื่อมีโอกาสสำคัญ เช่น งานแต่งงาน ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผี อาทิ พิธีเลี้ยงศาลปู่ตา ในวันธรรมดานั้น มีไม่กี่คนที่กินเหล้าเป็นประจำ แต่ก็ไม่มากถึงกับเมามายหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน ส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุ หนุ่มสาวกินน้อยมาก ใช่แต่เท่านั้น การผลิตและการซื้อขายเหล้ามักจะทำกันในที่ลับตา ห่างไกลหมู่บ้าน หาได้ประเจิดประเจ้ออย่างทุกวันนี้ไม่

สภาพดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างแทบจะสิ้นเชิงในปัจจุบัน เหล้าได้ขยายพื้นที่เข้าไปในแทบทุกหนแห่งของสังคมไทย และรุกเข้าไปในชีวิตของผู้คนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การกินเหล้าสามารถกระทำได้ในแทบทุกกาละและเทศะ สำหรับคนจำนวนไม่น้อยมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยขยายตัวไปยังหนุ่มสาวและคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการที่เหล้าเองสามารถปรากฏตัวอย่างเปิดเผยในทุกหนแห่ง โดยเฉพาะตามร้านค้าเคียงคู่กับสินค้าชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังรุกเข้าไปตามบ้านเรือนผ่านโฆษณาทางโทรทัศน์ มิไยต้องเอ่ยว่ามันถูกยกสถานะเป็นสินค้าที่เสริมภาพลักษณ์และใช้สำหรับเฉลิมฉลองในงานสำคัญต่างๆ

ในอดีตเหล้ามีพื้นที่จำกัดสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะอิทธิพลของพุทธศาสนา แต่ทุกวันนี้กลับเป็นตรงข้าม เหล้าสามารถแผ่อิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ของพุทธศาสนา นอกจากมันจะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในงานบุญ เช่น งานบวชหรืองานทอดผ้าป่าและกฐินแล้ว มันยังรุกเข้าไปในเขตวัด วัดจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยกำลังกลายเป็นพื้นที่สำหรับตั้งวงเหล้าและเมามายกัน โดยเฉพาะเมื่อมี "งานบุญ" ต่างๆ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ไม่เพียงแต่ศาลาวัดหรือลานวัดเท่านั้น ทุกวันนี้มันยังรุกเข้าไปแม้กระทั่งในกุฏิของพระเณรบางวัดด้วยซ้ำ

การแพร่หลายของเหล้านั้นน่าสังเกตว่ามาพร้อมกับการขยายตัวของเงินตรา เมื่อชาวบ้านเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อบริโภคมาเป็นผลิตเพื่อขาย มีเงินผ่านมือเข้ามามากขึ้น การซื้อเหล้าก็สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะเมื่อเหล้าถูกทำให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย วางขายทั่วไปไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ สามารถซื้อกินได้ตลอดวันตลอดปี (ผิดกับสมัยก่อนซึ่งคนที่ต้มเหล้าขายมีอยู่ไม่มากนักจึงหาซื้อได้ไม่สะดวก)

ในหลายชุมชนค่านิยมเลี้ยงเหล้าในงานต่างๆ เกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านที่ไปทำงานในเมืองกลับมาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่และรสนิยมการเสพอย่างในเมือง ยิ่งคนที่ร่ำรวยมาจากตะวันออกกลางด้วยแล้ว ยิ่งนิยมหาเหล้ามาเลี้ยงตามงานต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ทำให้เหล้ารุกเข้ามาในเขตวัด จนเมื่อมีการนำเอากองผ้าป่าหรือกองกฐินจากในเมืองเข้ามา รวมทั้งการจัดงานวัดเพื่อหาเงินเข้าวัด ทำให้การกินเหล้าในวัดกลายเป็นเรื่องธรรมดาในหลายชุมชน

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงปัจจัยภายนอก สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือปัจจัยภายใน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในชุมชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การกินเหล้ากลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง สภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการสูญเสียบทบาทความเป็นผู้นำของพระสงฆ์และความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่างวัดกับชุมชน ในหลายแห่งพระสงฆ์ไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาอบายมุขในชุมชนเลยก็ว่าได้ ผลก็คือในที่สุดอบายมุขก็ท่วมทะลักเข้ามาในวัด

มาถึงตรงนี้เหล้ากลายเป็นปัญหาที่หลายวัดมิอาจนิ่งดูดายต่อไปได้ แต่การจะแก้ปัญหาการกินเหล้าในวัดก็มิใช่เรื่องที่จะทำได้ด้วยการสั่งห้ามหรือออกกฎ อย่างที่นิยมทำกันในหลายแวดวง หากจะต้องเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชน อย่างน้อยก็ต้องฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดมีขึ้นกับพระสงฆ์ รวมทั้งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชุมชนให้แนบแน่นขึ้น

วัดลองตอง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุนานถึง 300 ปี เจ้าอาวาสหลายรูปในอดีตเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน ในอดีตผู้คนไม่นิยมกินเหล้า ร้านค้าจะปฏิเสธการจำหน่ายเหล้าด้วยซ้ำ แต่เมื่อพระครูจันทสรานุยุต (พระอาจารย์สมาน จันทสโร) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลองตองเมื่อปี 2529 นั้น การกินเหล้าในวัดเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมีงานวัด งานกฐิน-ผ้าป่า หรือการอบรมโดยหน่วยงานราชการ

ท่านเห็นว่าปัญหานี้ปล่อยปละละเลยต่อไปไม่ได้ อย่างน้อยๆ วัดจะต้องเป็นเขตปลอดเหล้า แต่ท่านตระหนักดีว่าปัญหานี้มิอาจแก้ได้ด้วยการออกคำสั่งห้าม หากจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการสร้างศรัทธาในหมู่ชาวบ้านก่อน

ท่านเริ่มต้นด้วยการทำให้พระเณรในวัดเป็นที่น่าเลื่อมใส นอกจากการควบคุมดูแลให้อยู่ในวินัย เช่น ห้ามพระเล่นหวย เล่นการพนัน และห้ามสูบบุหรี่แล้ว ท่านยังส่งเสริมการศึกษาของพระเณรให้มีความรู้ทางธรรมควบคู่กับทางโลก รวมทั้งดูแลความเป็นอยู่ไม่ให้อัตคัดขาดแคลน ขณะเดียวกันในส่วนตัวท่านเอง ก็บำเพ็ญตนเป็นแบบอย่างด้วยการอยู่อย่างสมถะ มีความโปร่งใสในทางการเงิน มีการทำบัญชีเงินบริจาคและการใช้จ่ายอย่างละเอียด รวมทั้งบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ ปัจจัยที่ได้จากการเทศน์ก็นำไปช่วยเหลือโรงเรียนหรือสถานีอนามัยในหมู่บ้าน

จากนั้นท่านได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ด้วยการรื้อฟื้นงานการสงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเคยเป็นบทบาทที่สำคัญในอดีต อาทิ การขุดขยายสระน้ำในวัดตามมาด้วยการทำระบบประปาให้ชาวบ้านได้ใช้ การบอกบุญเพื่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ตลอดจนการสงเคราะห์ผู้ยากไร้

เมื่อสงเคราะห์ทางด้านความเป็นอยู่แล้ว ท่านก็มาจับงานด้านส่งเสริมการศึกษาของชาวบ้าน เริ่มต้นด้วยการจัดหาทุนการศึกษาให้นักเรียน ของบริจาคที่เกินความต้องการของวัดก็มอบให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน ต่อมาท่านได้เปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งได้รับความนิยมมีเด็กมาเรียนถึง 400-500 คน จากทั้งตำบล

ขั้นต่อมาคือการพัฒนาทางด้านจิตใจ นอกจากการไปสอนวิชาศีลธรรมตามโรงเรียนแล้ว ท่านยังริเริ่มจัดค่ายคุณธรรมสำหรับเด็ก ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมรักษาศีลทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา และจัดปริวาสกรรมที่วัดเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นท่านยังออกไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะการไปให้กำลังใจคนป่วย

กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฟื้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูความเป็นผู้นำของพระสงฆ์ให้กลับคืนมา ขณะเดียวกันก็เป็นเงื่อนไขให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานราชการ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ท่านพระครูฯ จะไม่ทำคนเดียว แต่พยายามดึงกลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ มาร่วม ไม่ว่าผู้นำชุมชน โรงเรียน อบต. และหน่วยราชการต่างๆ

เมื่อท่านเป็นที่ยอมรับและได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวบ้าน ท่านก็หันมาจับประเด็นที่ต้องสวนทางกับกิเลสของชาวบ้าน นั่นคือการทำให้วัดเป็นเขตปลอดเหล้า ท่านเริ่มดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาตั้งแต่ปี 2534 จนกระทั่งปี 2542 ก็ประกาศเด็ดขาดว่า ห้ามการดื่มเหล้าและขายเหล้าในวัด ผู้ฝ่าฝืนจะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าคำสั่งนี้จะเป็นที่ขัดใจของชาวบ้านหลายคน แต่ความที่ท่านมี "พระคุณ" กับชาวบ้านมานาน "พระเดช" ของท่านจึงได้รับการต่อต้านน้อยมาก แม้ว่ายังมีบางคนที่ลักลอบทำอยู่บ้างเมื่อมีงานวัด

ความที่วัดมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียน ดังนั้น เมื่อวัดกลายเป็นเขตปลอดเหล้า จึงเป็นแบบอย่างให้หลายโรงเรียนในตำบลปฏิบัติตามด้วย งานที่จัดในโรงเรียนจึงไม่มีการเลี้ยงเหล้าอีกต่อไป โดยที่ท่านไม่ได้บอกให้โรงเรียนทำแต่อย่างใด ขณะเดียวกันการที่ท่านสอนนักเรียนในเรื่องนี้อยู่สม่ำเสมอ ก็ทำให้ครูหลายคนพลอยลดและเลิกกินเหล้าไปด้วย ส่วนในหมู่บ้านเองการกินเหล้าก็ลดลง เกิดกลุ่มงดเหล้าเข้าพรรษา งานเลี้ยงต่างๆ แม้จะยังมีการกินเหล้า แต่หากจะมีกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่อที่วัด ก็ต้องดื่มให้เสร็จที่บ้าน หรือจัดเลี้ยงต้อนรับแขกให้แล้วเสร็จก่อนจะเข้าวัด

ควรกล่าวด้วยว่าการที่วัดลองตองเป็นเขตปลอดเหล้าได้นั้น การมีส่วนร่วมของชุมชนก็มีส่วนสำคัญมาก ผู้นำชุมชนหลายคนมีบทบาทแข็งขันในการดูแลและกวดขันชาวบ้าน รวมทั้งการตอกย้ำสำนึกว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรฝ่าฝืนหรือผิดศีล

คงต้องจับตาดูต่อไปว่าเขตปลอดเหล้าจะขยายจากวัดไปยังหมู่บ้านลองตองจะได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การต้านทานอิทธิพลของเหล้าให้ได้ผลนั้น พลังทางศาสนาและพลังของชุมชนมีความสำคัญไม่น้อย การรื้อฟื้นพลังทั้งสองในชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ในสังคมระดับหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการลดอิทธิพลของเหล้าในระดับประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนคลื่นที่ถาโถมซัดกระหน่ำชุมชนอย่างรุนแรง การมีมาตรการระดับประเทศ เช่น การจำกัดการโฆษณาเหล้าและการควบคุมการวางขายเหล้าเป็นเงื่อนไขที่จะต้องทำให้เป็นจริงก่อนที่เหล้าจะท่วมบ้านเมืองมากไปกว่านี้ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรร่วมกันผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ที่ค้างคาอยู่ในเวลานี้ ให้กลายเป็นกฎหมายเพื่อจำกัดเหล้าให้อยู่ในที่ทางอันเหมาะสมเสียที



............................................................

คัดลอกมาจาก
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10599
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 19 มี.ค.2007, 10:41 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง