Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปุจฉา-วิสัชชนา ๓ ปีบนสายทางธรรมของภิกษุณีธัมมนันทา อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 มี.ค.2007, 12:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ปุจฉา-วิสัชชนา :
๓ ปีบนสายทางธรรมของ...ภิกษุณีธัมมนันทา (หลวงแม่)


การสืบสายภิกษุณีในประเทศไทย เริ่มจาก พระพนมสารนรินทร์ (นริน กลึง) ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแถลงการณ์เรื่องสามเณรีวัตร์นารีวงศ์ จากนั้นมาก็เป็น พระมหาโพธิธรรมาจารย์ (ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์) อดีตนักเขียน ได้ใช้ชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่หลายปี ถือเป็นคลื่นลูกที่ ๒ ของการสืบทอดภิกษุณี กระทั่งมาถึงคลื่นลูกที่ ๓ คือ ภิกษุณีธัมมนันทา (ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) ที่มุ่งหาพระธรรมเพราะเบื่อหน่ายทางโลก

ตลอดระยะเวลา ๓ ปี กับการเป็นภิกษุณี ให้ความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับสังคม คณะสงฆ์ไทยให้การยอมรับมากขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน ท่านได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มากน้อยเพียงใด ที่จะเป็นหลักธรรมนำไปสู่สันติสุขของโลก และท่านได้อนุญาตให้สัมภาษณ์กับ “คม ชัด ลึก” ดังนี้


* กระแสการต่อต้านภิกษุณี ยังมีอยู่บ้างหรือเปล่าครับ ?

- แรงต่อต้านมันเป็นแรงเชิงลบ ซึ่งมันจะกินแรงตัวเอง แต่ว่าหลวงแม่หรือใครก็ตามมีความตั้งมั่น เราทำของเราไปเรื่อยๆ ไม่ได้ไปเรียกร้องสิทธิเสมอภาค นั้นไม่ได้เป็นจุดประสงค์ของเรา เพื่อไปเรียกร้องสิทธิเสมอภาค คิดว่าเรามีความสามารถอยู่แล้ว การที่ไปเรียกร้องสิทธิเสมอภาค เท่ากับมีการลดทอนความสามารถของตัวเราเอง เราไม่มีการเรียกร้องสิทธิตรงนี้

หลวงแม่อยากบอกว่า แต่ละคนอย่าไปพูดถึงสิทธิ เราควรพูดถึงหน้าที่ ถ้าเราเข้ามารับหน้าที่ ทำไปทำงานไป มันก็จะมีพลังในการทำงาน โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาในการเรียกร้องสิทธิ ส่วนประชาชนเวลานี้ ๖๐ ล้านคนก็มีการศึกษาดีพอว่า อะไรเป็นสิ่งไม่ดี อะไรเป็นสิ่งดี อะไรเป็นสิ่งที่จะเกื้อหนุนสังคมระยะยาว หลวงแม่คิดว่า ประชาชนดูออก


* แสดงว่าประชาชนมีการยอมรับ ความเป็นภิกษุณีเพิ่มขึ้น ?

- หลวงแม่คิดว่าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าวัตรจะจัดกิจกรรมอะไร ก็จะมีผู้คนมาร่วมกันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกกิจกรรม มีบางคนก็มาให้กำลังใจ แต่ที่ผ่านมาหลวงแม่ไม่เคยอยู่อย่างอดอยากไม่มีกิน ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็จะมีกองหนุนเข้ามา เช่น การบิณฑบาต วันนี้ชาวบ้านก็มีการใส่บาตร ทั้งภิกษุณี และพระภิกษุสงฆ์ เพียงแต่การใส่บาตรภิกษุณี พระผู้หญิงเขาอาจรู้สึกอบอุ่น เหมือนใกล้ชิดกับแม่

ลูกๆ เด็กผู้หญิงบอกว่า ชอบใส่บาตรหลวงย่า เพราะหลวงแม่ มีอะไรเราก็จะสามารถคุยด้วยกันได้ หลวงแม่เองก็จะมีความสนิทสนมกับเด็ก และอาจดีกว่าพระผู้ชาย ด้วยความต่างที่คนเราถูกสอนกันมาว่า ห้ามเข้าใกล้พระผู้ชาย ดังนั้น พอมีพระผู้หญิง เด็กๆ ผู้หญิงก็จะวิ่งเข้ามาหา บางคนก็ตามมาเรียนภาษาอังกฤษที่วัตร


* เรียกได้ว่าเด็กๆ เหล่านั้นถูกปลูกฝัง ในเรื่องภิกษุณีใช่ไหมครับ ?

- ชาวบ้านเหล่านั้นเขาต่างสนับสนุนให้มีภิกษุณี เพราะฉะนั้นเขาก็จะสอนลูกๆ เข้าใจและใส่บาตรพระผู้หญิง มีเด็กชายคนหนึ่งน่ารักมาก ตื่นเช้ามาเขาจะนำขนม ที่บ้านทำถีบรถจักรยานไปขาย พอขายขนมได้ก็จะนำเงินนั้นไปโรงเรียน ทุนก็คืนแม่ กำไรเขาจะเอาไปโรงเรียน และของที่เขาเหลือจากการขายแล้ว เขาก็จะนำมาถวาย พระใส่บาตรเป็นประจำ ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เยาวชน


* เห็นหลวงแม่ให้พรกับญาติโยมที่ใส่บาตรด้วย ?

- ถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ในเมือง แทบจะไม่ได้ให้พร แต่ท่านอาจจะให้พรในใจ เพราะว่าความเร่งรัดของเวลา และสถานที่ แต่สำหรับหลวงแม่ มีเนื้อที่ มีเวลา ก็จะให้พรเป็นภาษาบาลีก่อนสั้นๆ การให้พรแบบนี้ชาวบ้านไม่รู้หรอกให้พรว่าอะไร หลวงแม่ก็จะแปลบทให้พรนั้นอีกครั้งหนึ่ง


* การทำวัตรเช้าเย็น แตกต่างจากพระสงฆ์อย่างไรหรือไม่ ?

- กิจวัตรของภิกษุณีหรือสามเณรี ทำเหมือนกับพระภิกษุสงฆ์ที่เราจะต้องมีการลงโบสถ์ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ถือเป็นภารกิจที่หลวงแม่จะต้องทำ จะมาลงบ้างไม่ลงบ้างไม่ได้ วัตรเราเป็นวัตรเล็กๆ หายไปรูปหนึ่งก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เยอะแล้ว ฉะนั้น ถ้าทุกคนไม่เจ็บหนักนัก ต้องลงมาทำวัตรสวดมนต์ เช้าตีห้าครึ่ง เย็น ๑ ทุ่ม พร้อมกับทำสมาธิ ฟังธรรมร่วมกัน

ส่วนงานที่ทำร่วมกันตอนเช้า ทุกรูปพร้อมหลังฉันอาหารเสร็จ ทุกรูปก็จะทำงานร่วมกัน อาทิ ทำสวน ปลูกต้นไม้ เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง หรือบางครั้ง หลวงแม่และสามเณรี ก็ได้มีการออกไปลอกท่อระบายน้ำ ทำแบบนี้เช้าหนึ่งชั่วโมง เย็นอีกหนึ่งชั่วโมง

จริงๆ การทำงานด้วยการใช้แรงกายสำคัญ เป็นการลดสลายอัตตาการยึดมั่นถือมั่น แต่ละคนเข้ามาบางรูป ป.๔ ปริญญาตรี ปริญญาโท บรรดาผู้ที่จบปริญญาทั้งหลายก็เกิดอหังการ เธอทำไปสิ เธอไม่มีความรู้ ฉันจะไปนั่งโต๊ะ ทำงานแบบนี้ไม่ได้ ทำงานก็ต้องทำเหมือนกันหมด ทำให้คนที่มีปริญญา มีข้อด้อยทำไม่เป็น เลยต้องไปเรียนรู้จาก ป.๔ ว่าทำอย่างไงถึงจะทำงานได้


* ในพรรษานี้มีการบวชภิกษุณีเพิ่มขึ้นหรือเปล่าครับ ?

- พรรษานี้ยังไม่มี แต่ก่อนเข้าพรรษาปีหน้าเราจะมีภิกษุณีบวชเพิ่มอีก ๓ รูป คือ สามเณรีธัมมธารี สามเณรีธัมมทินนา ส่วนสามเณรีธีรา จะบวชเป็นภิกษุณีก่อน เข้าพรรษาปี ๒๕๔๙ และในปีนี้เองคณะสงฆ์ไทยบางส่วน ได้มีการบวชสามเณรีที่ จ.ยโสธร จ.ปทุมธานี และมีการบวชภิกษุณีอีก ๑ รูปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา


* ปัจจุบันมีกิจนิมนต์เยอะไหมครับ ?

- ใครนิมนต์ให้ไปบรรยายธรรม หลวงแม่ก็จะไป เรียกว่ามีทุกหน่วยงาน ที่มานิมนต์ให้ไปบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย องค์กรราชการต่างๆ แต่ถ้านิมนต์ให้ไปสวด หลวงแม่ไม่ค่อยมีเสียง ประกอบกับวัตรมีพระภิกษุณีไม่กี่รูป ก็พยายามบอกเขาว่า ให้นิมนต์หลวงพี่หลวงพ่อ มาสวดตามปกติ และให้หลวงแม่ ไปเทศน์ตอนบ่าย มันก็ไม่ได้ขัดแย้งกันนะ คือพระท่านก็มาสวด ตามปกติ ส่วนหลวงแม่เป็นการไปช่วย หลวงแม่ไม่ได้ปฏิเสธหน้าที่ของความเป็นภิกษุณีในการเผยแผ่ธรรม


* ส่วนใหญ่จะบรรยายธรรมเรื่องอะไรครับ ?

- ก็มีหลายเรื่องราวที่จะให้มีการบรรยาย เช่น คนอังกฤษจะชอบถามว่า เขากลัวความตาย จะทำอย่างไร หลวงแม่ก็จะบอกเขาว่า เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่น


* ในเรื่องการประชุม ร่วมกับคณะสงฆ์ไทยบ้างหรือเปล่าครับ ?

- หลวงแม่ไม่ได้ประชุมกับคณะสงฆ์ไทย แต่หลวงแม่จะประชุมกับคณะสงฆ์โลก โดยเขาจะนิมนต์ไปประชุมชาวพุทธโลกที่ศรีลังกา แต่ในประเทศไทย คณะสงฆ์ไทยเขายังไม่มีทีท่า การได้รับนิมนต์ไปประชุมสงฆ์ยังต่างประเทศก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การประชุมร่วมกับคณะสงฆ์ไทยยังไม่เคย เพราะประการที่หนึ่งเขาไม่ได้เชิญหลวงแม่


* เวลาเดินทางไปต่างประเทศมีปัญหาหรือเปล่าครับ ?

- ถ้าพูดเรื่องปัญหาจริงๆ เรื่องภิกษุณีก็คือ อยู่ที่ตัวเราเองว่า เรามีความมั่นคง ในการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน เราละวางยึดมั่น ถือมั่นในตัวตนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น การที่เราเข้ามาอยู่ในชุมชนสังฆะ ถ้าหากว่าฉันจะทำอย่างที่ใจฉัน มันก็จะไปขัดใจกับคนอื่น ทำอย่างไรให้ เราลดทอนสิ่งตรงนี้ลง นั้นคือปัญหาใหญ่มากกว่าปัญหาข้างนอก


* ส่วนใหญ่คนที่มาทำบุญที่วัตรเป็นระดับไหน ?

- ค่อนข้างจะเป็นคนชั้นกลาง ส่วนใหญ่มีการศึกษาปริญญาตรี แต่ชาวบ้านก็มานะ จริงๆ ชาวบ้านจะมีการพูดจาชัดเจน มากกว่าผู้ที่มีการศึกษา หลวงแม่ทำแบบนี้ดีมาก เขามีอะไรเขาจะพูดแบบตรงๆ


* หลวงแม่มีการสร้างวัตถุมงคลบ้างหรือเปล่า ?

ที่วัตรก็มีการเชิญชวนให้มีการสร้างพระหลวงพ่อใหญ่ หลวงแม่สร้างพระ เพื่อสร้างพระ เหมือนกับเราบวชเพื่อบวช แต่หลวงแม่บวชเพื่อสืบพระพุทธศาสนา เราสร้างพระเพื่อใช้ท่านเป็นสัญลักษณ์ในการรักษา ไม่ได้รักษาอะไรหรอก ก็คือ รักษาใจ รับรู้ว่าโรค ที่แท้จริงคือ โรคที่มันติดอยู่ที่ใจ ๓ ตัว นั่นคือ โลภ โกรธ หลง เป็นปัญหาเป็นอุปสรรคของใจเรา


* อบรมธรรมะให้ชาวต่างชาติอย่างไรบ้างครับ ?

- ชาวต่างประเทศ จะเดินทางมาเป็นกลุ่มๆ เช่น มหาวิทยาลัยเดย์ตัน จากรัฐโอไฮโอ จะจอง เข้ามาทุกปี ปีละ ๓ รอบ และมหาวิทยาลัยยูทาห์ ที่จะเข้ามาอบรมธรรมะเป็นประจำทุกปี

ในปีนี้เราก็จะมีการอบรมธรรมะ ให้ประชาชนทั่วไปเป็นเวลา ๓ วัน ๕ ครั้ง แต่ว่าในวันเข้าพรรษานี้เราจะมีโครงการใหญ่ คือ โครงการพัฒนาสตรีทั้งกาย และใจ ๓ เดือนตลอดพรรษา ที่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นสตรี และแม่ชี ที่ตั้งใจที่จะเรียนรู้ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตั้งใจที่จะเรียนรู้ในการพัฒนาตน พัฒนาจิต


* วันนี้รายได้ของวัตรมาจากไหนครับ ?

- ก็มาจากญาติโยมที่มาถวายนั่นแหละ ส่วนใหญ่ก็จะมาทำบุญกันวันอาทิตย์ แต่ถ้าเป็นกลุ่มลูก ขาประจำก็จะมาร่วมทำบุญกันวันเสาร์ เพราะตอนเช้าจะได้ตามออกไปบิณฑบาต ส่วนกลุ่มคนที่มาวันอาทิตย์ ก็จะมาอุดหนุนซื้อเทป ซื้อหนังสือธรรมะ ที่หลวงแม่เขียน บางคนมีช้อนทองเหลืองเป็นจำนวนมากก็ยกให้วัตร หลวงแม่ก็ได้นำมาจำหน่าย คนถวายก็ได้บุญ คนซื้อก็ได้ทั้งบุญ และได้ทั้งของถูก


* มีข่าวของภิกษุสงฆ์ในเชิงลบบ่อยๆ หลวงแม่รู้สึกอย่างไรครับ ?

- หลวงแม่ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง แต่จะได้ฟังจากเสียงบอกเล่าของญาติโยม ก็พบว่าญาติโยมอ่อนระอาใจว่า ดูสิ พระสงฆ์ไทยเป็นแบบนี้อีกแล้ว แต่หลวงแม่ก็พยายามเตือนสติ เนื่องจากข่าวพระดีจะไม่ค่อยเป็นข่าว เพราะสื่อชอบทำข่าวเฉพาะพระที่ไม่ดี มันก็เลยมีข่าวแบบนี้ออกมา ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของสื่อ เป็นความรับผิดชอบของสื่อเหมือนกัน ว่าทำอย่างไรที่เราจะสื่อพระที่ทำดีบ้าง เหมือนปลาที่อยู่ในข้องมีเน่าอยู่ตัวเดียว ก็เหม็นฉาวโฉ่ไปหมดเลย เหมือนกับว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่พระทำดีเยอะๆ ไม่ค่อยมีการเสนอข่าว


* เมื่อเป็นข่าวก็เหมารวมว่าพระไม่ดี หลวงแม่อยากชี้แนะอะไร ?

- บางคนเห็นภาพข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านี้แล้ว ก็เป็นการบั่นทอนจิตใจ ความศรัทธาของญาติโยม ที่หลวงแม่คิดแบบนี้เพราะไปที่ไต้หวัน หลวงพ่อซินหยุน ท่านก็บอกว่า ทำไมหนังสือพิมพ์ชอบลงข่าวที่ไม่ดี ทำไมข่าวดีๆ ไม่ค่อยลง พระทำดีไม่ค่อยมีใครลง ท่านก็เลยออกหนังสือพิมพ์ของท่านชื่อเป็นภาษาไทย คือ บุญไทม์ บุญนิวส์ เป็นการเสนอข่าวเกี่ยวกับการทำบุญ ท่านทำเป็นหนังสือพิมพ์ปกติ แต่ข้างในจะเน้นเรื่องการทำดีของสังคม


* หลวงแม่อยากให้หลักธรรมอะไรกับสังคมเราที่วุ่นวายบ้างครับ ?

- ไม่ว่าเราจะอ่านหนังสือพิมพ์กันแล้วส่วนใหญ่เราจะไปดูสิ่งที่ไม่ดีของคนอื่น ที่จริงแล้วที่ตัวเราปัญหาเยอะ เราพูดถึงปัญหาสันติภาพ ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ จะไปจัดการกับปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลวงแม่มองว่า ปัญหาที่แท้จริงก็คือปัญหาของความเกลียดชัง ปัญหาความรุนแรงในใจของเราเอง ถ้าหากว่าเรา ๖๒ ล้านคน ลุกขึ้นมาตั้งใจ ที่จะพิจารณาตรงนี้จริงๆ คลี่คลายความเกลียดชัง คลี่คลายความรุนแรงในใจของเรา โดยที่ไม่ต้องไปชี้นิ้วความผิดจากคนอื่น มันจะช่วยคลี่คลายปัญหา แล้วก็ช่วยสร้างสันติภาพในโลกได้อย่างแท้จริง โดยต้องเริ่มที่ตัวเรา


มีต่อ >>>>>
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 04 มี.ค.2007, 12:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ชาติภูมิภิกษุณีธัมมนันทา

ภิกษุณีธัมมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) จบการศึกษาเบื้องต้นจาก โรงเรียนราชินีบน จากนั้นจึงไปศึกษาต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ได้รับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) แผนกปรัชญา ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลแคนาดา ศึกษาวิชาศาสนาในระดับปริญญาโทและเอก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบภิกษุณีปาติโมกข์” พิมพ์ออกสู่ตลาดในภาคภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔

ดร.ฉัตรสุมาลย์ เริ่มงานสอนจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๔๓ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท และเอก ทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯลฯ

ดร.ฉัตรสุมาลย์ เริ่มได้รับเชิญไปร่วมประชุมทางวิชาการ ในระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ และเดินทางปีละหลายครั้ง ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งเป็นการเชิญโดยเจ้าภาพ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ ในแวดวงของนักวิชาการศาสนา ทั้งในเรื่องสตรีกับศาสนาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ ดร.ฉัตรสุมาลย์ ค้นคว้าเป็นพิเศษ เป็นผู้ที่มีวิญญาณนักเขียน ตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ที่ศานตินิเกตัน

เวลาเดินทางไปต่างประเทศ มีประสบการณ์แปลกๆ มักเขียนแบ่งปันความรู้ ปรากฏเป็นผลงานในมติชนสุดสัปดาห์ ตอนแรกเป็นบทความพิเศษ ต่อมามีคอลัมน์ชื่อ “ธรรมลีลา” มีหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม ทั้งในงานวิชาการและสารคดีธรรมะ ตลอดจนมีงานแปลพระสูตรมหายานสำคัญหลายเล่ม นอกจากนั้นยังแปลพระราชนิพนธ์ขององค์ทะไลลามะ อีกด้วย ในส่วนของงานด้านสังคมสงเคราะห์ อาจารย์ได้ก่อตั้งบ้านศานติรักษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ให้เป็นโครงการช่วยเหลือสตรีและเด็ก เพื่อส่งเสริมให้สตรี และเด็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.ฉัตรสุมาลย์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการพูด มีความกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตนเอง สามารถชี้ประเด็นได้กระชับ และชัดเจน ได้รับเชิญไปออกรายการตอบปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนา ที่เป็นแนวทางที่ท่านมีความรู้และถนัด เคยเป็นพิธีกรรายการธรรมะ “ชีวิตไม่สิ้นหวัง” ทางช่อง ๓ ติดต่อกันนานถึง ๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๓) รวมทั้ง ได้รับ รางวัลรายการธรรมะดีเด่น ๒ ปีซ้อน

ปัจจุบัน ดร.ฉัตรสุมาลย์ ได้สละเพศฆราวาส บวชเป็นสามเณรี จากสยามนิกาย ประเทศศรีลังกา เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๔ มีฉายาในเพศบรรพชิตว่า “ธัมมนันทา”

ศรัทธาญาติโยมที่สนใจสอบถามเส้นทางไป “วัตรทรงธรรมกัลยาณี” ได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๓๔๒๕-๘๒๗๐, ๐-๓๔๓๘-๔๓๑๕


หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก
ฉบับวันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2548
เรื่องโดย ไตรเทพ สุทธิคุณ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง