Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2007, 10:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในเวลาเพียง ๒๕๐ ปี นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษถึงบัดนี้ มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้มากกว่าอารยธรรมในยุคก่อนหน้านั้นทั้งหมด ที่ผ่านมาตลอดกาลเวลายาวนานหลายพันหลายหมื่นหลายแสนปี หรือตั้งแต่เกิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก

พึงสังเกตว่า คำว่า "เจริญก้าวหน้า" ในความเข้าใจของชาวตะวันตกนั้นมีความหมายที่แฝงอยู่เป็นสาระสำคัญ คือความสำเร็จในการเอาชนะธรรมชาติ

ทั้งนี้ เพราะว่า ชาวตะวันตกมีแนวคิดความเชื่อฝังใจมาในอารยธรรมตั้งแต่กรีกเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งมารื้อฟื้นขึ้นในคราวที่ตื่นตัวใหม่ ครั้ง "คืนชีพ" เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมานี้ว่า มนุษย์จะมีความสมบูรณ์พูนสุขเมื่อมีชัยชนะทรงอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา

ด้วยความมุ่งหมายใฝ่ฝันเพียรพยายามที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลกของชาวตะวันตกอย่างมากมาย

ชาวตะวันตกมีความภูมิใจในแนวคิดความเชื่อ และแนวทางการสร้างสรรค์ความเจริญนี้มาก ดังคำที่เขาพูดไว้ทำนองนี้ว่ามนุษย์สามารถเลียนแบบพระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยการสรรค์สร้าง การที่จะทำอย่างนั้นได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ และจุดหมายนี้จะสำเร็จได้ก็เฉพาะแต่ด้วยการบีบบังคับธรรมชาติให้ยอมปล่อยความลับของมันออกมา โดยจะต้องทรมานธรรมชาตินั้นด้วยการเอาไฟเผา ด้วยการเคี่ยว และด้วยการยักย้ายแปรธาตุไปต่างๆ รางวัลสำหรับความสำเร็จนี้ก็คือชีวิตและวัยงามชั่วนิรันดร์ พร้อมทั้งความหลุดพ้นจากความขาดแคลนและโรคภัยไข้เจ็บ

ความคิดนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่กำแหงหาญ และทำให้เกิดแนวคิดความเชื่อขึ้นมาว่า ด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์จะสามารถบิดเบนดัดแปลงธรรมชาติไปได้ตามใจปรารถนา

ทัศนะสมัยใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ว่า โดยสาระสำคัญเป็นอย่างที่ว่ามานี้ และควรจะต้องย้ำไว้ด้วยว่า ทัศนะนี้ปรากฏมีเฉพาะแต่ในอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น และก็คงเป็นด้วยทัศนคติอย่างนี้นี่แหละที่ช่วยให้ตะวันตก หลังจากที่ต่ำต้อยด้อยกว่าตะวันออกมานานหลายศตวรรษ กลับสามารถเลยล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในการจัดการเอาประโยชน์จากโลกแห่งวัตถุ ("The History of Science: The rise of modern science", Britannica, 1997)

พร้อมกับแนวคิดความเชื่อนี้ เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มเจริญขึ้นแล้ว มนุษย์ชาวตะวันตกในยุคพุทธิปัญญาก็มีความเชื่อและคิดหมายใฝ่ฝันไปตามคติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) โดยมั่นใจว่า ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มนุษย์จะเจริญก้าวหน้ามีสันติสุขและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น

คติและอุดมคติแห่งความก้าวหน้านี้ กำกับอยู่เบื้องหลังความเจริญของอารยธรรมตะวันตกตลอดมา ซึ่งก็หมายถึงความก้าวหน้าในการพิชิตธรรมชาติด้วยนั่นเอง

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังหนุนอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว

ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายในตะวันตก เกิดมีความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างมากมาย และด้วยความเจริญเช่นนั้น ก็ได้มีกำลังอำนาจและอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ สามารถจัดสรรผันเบนโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมได้แทบจะเหมือนดังใจปรารถนา และแผ่ลัทธินิยมพร้อมทั้งการพัฒนาแบบของตนไปทั่วโลก

ภายในเวลาเพียง ๒ ศตวรรษครึ่ง นับแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม อารยธรรมตะวันตกก็สามารถนำโลกแห่งมนุษยชาติก้าวเข้าสู่ยุคความเจริญแบบโลกาภิวัตน์

แต่ทั้งนี้ก็แทบจะพร้อมกันกับที่ภาวะของโลกแห่งธรรมชาติได้แสดงอาการออกมา ว่าไม่อาจรองรับความเจริญเช่นนั้นต่อไปได้ ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ตัวสำนึกว่า ความเจริญก้าวหน้าที่ตนได้สร้างขึ้นมาอย่างกระหยิ่มลำพองใจนั้น เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ทั้งที่โลกมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่ถ้าขืนก้าวหน้าในทิศทางนั้นกันต่อไป ทั้งโลกแห่งธรรมชาติ และโลกของมนุษยชาติ ก็จะประสบความพินาศไปด้วยกัน

ภาวะนี้ทำให้ผู้คนในชาติที่พัฒนาแล้ว พากันผิดหวังสับสน และสูญเสียความมั่นใจครั้งใหญ่ เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้มนุษย์คิดแสวงหาแนวทางแห่งอารยธรรมกันใหม่

เมื่อยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้นคนตะวันตกตื่นตัวมีชีวิตชีวาด้วยความหวังใหม่

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษปรากฏเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมการทอผ้า เมื่อมีผู้ประดิษฐ์เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กระสวย หูก เครื่องปั่นด้ายอย่างใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา ในช่วง ค.ศ.1733-1785 เครื่องจักรก็เริ่มเข้ามามีบทบาททำงานแทนแรงคน

พร้อมกันนั้น ด้านพลังงานก็เป็นใจเข้ามาหนุนได้จริงจังใน ค.ศ.1765 (บางตำราว่า 1769) เมื่อเจมส์ วัตต์ (James Watt) พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ (steam engine) ที่มีผู้ประดิษฐ์ไว้ก่อนหน้านั้น (Thomas Savery เริ่มต้นไว้ใน ค.ศ.1698 และ Thomas Newcomen พัฒนาขึ้นอีกใน ค.ศ.1712 หรือบางตำราว่า 1705) โดยแก้ไขปรับปรุงให้ใช้พลังงานไอน้ำกับเครื่องจักรประเภทต่างๆ ในสถานการณ์ที่แปลกกันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมด้านต่างๆ ก็ขยายตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มมากขึ้นๆ

ต่อมา เรือไฟหรือเรือไอ (1807) รถไฟ (1825 ในอเมริกา และ 1829 ในอังกฤษ) และถนนหนทางอย่างสมัยใหม่ ก็มาช่วยให้การขนส่งสินค้า อาหาร และวัตถุดิบดำเนินไปได้เต็มที่

เมื่อเครื่องจักร (machine) พลังงาน (energy) และโรงงาน (factory) เข้ามาประสานกันแล้ว ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง และอุตสาหกรรมก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แต่นอกจากด้านวัตถุแล้ว สิ่งที่เป็นกลไกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ก็คือ ระบบการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งเป็นไปตามความชำนาญเฉพาะด้านนั้นๆ (specialization) โดยมีการจำแนกแยกซอยงานอย่างละเอียดถี่ยิบ ตามแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith)

อีกทั้งนโยบายปล่อยให้ปัจเจกชนแสวงหาผลประโยชน์กันไป โดยรัฐไม่เข้าไปวุ่นวายแทรกแซง (individualism และ laissez-faire) ก็เข้ามาหนุนให้ทุนนิยมอุตสาหกรรม (industrial capitalism) ขยายตัวแผ่อิทธิพลไปทั่ว

พร้อมกันนั้น ระบบอาณานิคมก็ก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่ นโยบายการแสวงหา ยึดครองและจัดการกับอาณานิคมเปลี่ยนไป โดยมุ่งให้อาณานิคมทั้งหลายเป็นตลาดระบายสินค้า และเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและอาหารให้แก่ประเทศอุตสาหกรรม


(มีต่อ ๔๐)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 8:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คนชั้นสูงในยุโรปเริ่มแต่ยุควิกตอเรียในอังกฤษ เริ่มมีชีวิตที่หรูหราฟุ่ม เฟือย และมีเวลาพักผ่อนหาความสุขสำราญมากยิ่งขึ้น


เมื่อวิทยาศาสตร์มาหนุนอุตสาหกรรม พร้อมระบบแบ่งงาน-ชำนาญพิเศษ
อเมริกาก็ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าใหญ่แห่งอุตสาหกรรม


อย่างไรก็ตาม ในยุคใช้พลังงานไอน้ำ การนำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้ในอุตสาหกรรมยังไม่จริงจังมากนัก จนกระทั่งเมื่อ เอดิสัน (Thomas Alva Edison, 1847-1931) ตั้งโรงงานจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมืองนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน 1882 (เซอร์โจเซฟ วิลสัน สแวน และเอดิสัน ต่างก็ผลิตหลอดไฟฟ้าได้สำเร็จ ใน ค.ศ.1880) โลกก็เข้าสู่ยุคไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าเข้ามาแทนที่พลังงานไอน้ำ

จากนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในด้านอุตสาหกรรม โดยเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญๆ ซึ่งอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๒ (Second Industrial Revolution) อันเกิดขึ้นในอเมริกา (นับว่าเริ่มการปฏิวัติที่ ๒ นี้แต่ ค.ศ.1860)

ต่อจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ก็ยิ่งใกล้ชิดสนิทแนบยิ่งขึ้น

สังคมอเมริกันนับว่าเป็นแหล่งอันเยี่ยมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพราะชาวอเมริกันภูมิใจในการมีจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic หรือ Protestant ethic บางทีก็เรียก Puritan ethic) และมีความเชื่อในหลักการลงทุนประกอบอุตสาหกิจชนิดเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise)

โดยเฉพาะสังคมอเมริกันชื่นชมลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) มากเป็นพิเศษ จึงหนุนระบบตัวใครตัวมันและแข่งขันเต็มที่ (individualism and unrestricted competition) อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งกว่านั้น ประเทศอเมริกายังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีกด้วย จึงยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ในปี 1913 นายเฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford, 1863-1947) ได้พัฒนาระบบการแบ่งงานให้ก้าวหน้าขั้นใหญ่ คือ ได้ริเริ่มระบบสายพานประกอบชิ้นส่วน (assembly line) ขึ้นมา ทำให้การผลิตสินค้าเหมือนแบบทีละมากๆ (mass production) บรรลุเป้าหมายอย่างสูง เป็นการเพิ่มผลผลิต (productivity) อย่างมหาศาล ลดจำนวนแรงงานมีฝีมือลงไป และได้สินค้าราคาถูกลง

นอกจากอุตสาหกรรมจะก้าวหน้าโดยทั่วไปแล้ว อเมริกาก็ได้เป็นเจ้าใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ในด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น พึงสังเกตว่า เมื่ออังกฤษเริ่มปฏิวัติอุตสาห กรรม ในช่วง ค.ศ.1750 อเมริกายังเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรอย่างสำคัญ เพราะอเมริกาเป็นดินแดน ๙ ใน ๑๐ ส่วนของจักรวรรดิอังกฤษยุคแรก

ครั้นเมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมในอเมริกาไปในปี 1781 (สงครามกับอังกฤษเริ่ม ค.ศ.1775 อเมริกาประกาศอิสรภาพ ค.ศ.1776 และชนะสงครามปี 1781) แล้ว ก็พอดีเข้าสู่ยุคที่อังกฤษสามารถแผ่ขยายจักรวรรดิ ยึดครองอาณานิคมได้เพิ่มอย่างกว้างขวางในแถบตะวันออก โดยได้เกาะลังกา แล้วต่อมาก็ได้ทวีปออสเตรเลีย (รวมทั้งนิวซีแลนด์) ผนวกเข้ามา

ยิ่งเมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี 1919 แล้ว อังกฤษก็ได้อาณานิคมจากประเทศผู้แพ้สงคราม คือ เยอรมัน กับเตอรกีเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมดำเนินต่อมาได้ด้วยดี

แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว อังกฤษและประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลายในยุโรปบอบช้ำมาก และสูญเสียอาณานิคมไปจนหมด อเมริกาจึงเฟื่องฟูเป็นเจ้าใหญ่ในระบบทุนนิยมอุตสาห-กรรมเต็มที่

จนกระทั่งญี่ปุ่นและเยอรมันก้าวขึ้นมาแข่ง และทำท่าจะนำหน้าไปในช่วงใกล้จะขึ้นทศวรรษ 1990s พร้อมกับที่อเมริกากลับทรุดลงไปจากฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1960s ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลก ๙ ใน ๑๐ เป็นของอเมริกัน

แต่ใน ค.ศ.1987 ธนาคารใหญ่ที่สุดในโลกไม่มีสักรายเดียวที่เป็นของอเมริกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นประเทศลูกหนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1985 และต่อมาก็กลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก การค้าขาดดุลปีหนึ่งๆ เกิน ๑ แสนล้านดอลลาร์

ได้เกิดความรู้สึกกันว่า "ทศวรรษ 1990s เป็นอัปมงคลสมัยสำหรับสหรัฐอเมริกา" - "The 1990s was an inauspicious time for the United States." ("United States of America: History: the late 20th century," Britannica, 1997)

อเมริกาก้าวขึ้นมาสู่ทศวรรษใหม่นี้ ในฐานะเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวในการเมืองโลก แต่ในประเทศของตนเอง นอกจากเศรษฐกิจจะยอบแยบระโหยโรยแรง สังคมก็โทรมหนัก เต็มไปด้วยอาชญากรรมที่รุนแรง (ซึ่งมักจะโยงกับเรื่องยาเสพติด) ความยากจน ปัญหาการพึ่งพาเงินสวัสดิการ ปัญหาความแบ่งแยกผิวเผ่าที่หนักลง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่แพงลิ่ว และระบบครอบครัวที่ง่อยหงิก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวขึ้นมา ส่วนเยอรมันและญี่ปุ่นกลับทรุดลงไป

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว (1945) เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงถึงปี 1952 การค้าของเยอรมันก็เกินดุล พอถึงปี 1986 ก็ทันและขึ้นเหนืออเมริกา แล้วอีก ๓ ปีต่อมา คือ 1989 ก็เกินดุลกับญี่ปุ่น

แต่เมื่อสองเยอรมันรวมกันเข้าในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 แล้ว เยอรมันหันไปเพียรพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในเยอรมันตะวันออกเดิม ดุลการค้าที่ได้เปรียบมากก็ตกวูบลง ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากมายแทนที่จะได้ส่งออก ก็ต้องเอาไปเลี้ยงเยอรมันตะวันออก แถมยังต้องนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย เศรษฐกิจของเยอรมันก็ทรุดลงอย่างคาดไม่ถึง

จนกระทั่งใน ค.ศ.1993 เศรษฐกิจของเยอรมันได้จมลงในภาวะถดถอยต่ำสุดในช่วง ๕๐ ปี ประเทศตะวันตกค่อยโล่งใจคลายความหวาดกลัวว่าเยอรมันจะขึ้นมาเป็นเจ้าโลกทางเศรษฐกิจ


(มีต่อ ๔๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 12 ส.ค. 2007, 8:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 1996 เศรษฐกิจของเยอรมันก็กลับฟูขึ้นอีก แม้ว่าจะยังไม่มากพอที่จะชดเชยกับการทรุดถอยในระยะที่ผ่านมา

ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกโดยทั่วไป บอบช้ำอย่างยิ่งจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในเวลาไม่นาน ด้วยกำลังหนุนจากอเมริกาตามแผนการมาร์แซล

ว่าโดยทั่วไป สงครามเย็นที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกัน ก็ช่วยให้ยุโรป "มีเสถียรภาพ และทำให้ภาคตะวันตกรุ่งเรืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน" ("20th-Century International Relations," Britannica, 1997)

แต่พอถึงทศวรรษ 1980s ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันโดยทั่ว และพากันทรุดมานาน มีแต่อังกฤษประเทศเดียวที่ถอนตัวฟื้นขึ้นมาได้ในปี 1993 แต่ก็มีเค้าว่าในปีต่อๆ ไป ประเทศอื่นๆ ใน ยุโรปตะวันตกก็จะมีเศรษฐกิจดีขึ้น

ส่วนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ในอาณัติของโซเวียต เศรษฐกิจได้เสื่อมถอยอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดและโซเวียตล่มสลายแล้ว ประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนควบคุม จากศูนย์กลางของรัฐ มาสู่ระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม แต่ก็ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนเปลี้ย


ญี่ปุ่นผงาด ตามด้วยขบวนเสือแห่งเอเชียก้าวเด่นขึ้นมา
แต่ไม่ทันช้า ทั้งหมดก็พากันซบเซา


ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกในปี 1945 แล้ว การเมืองและการทหารอยู่ในการควบคุมดูแลของสหรัฐ ก็ตั้งหน้าฟื้นฟูประเทศและพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนเจริญอย่างรวดเร็ว

แม้หลังจากการยึดครองของอเมริกันจบไปแล้ว การเมืองก็มั่นคงอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP=Liberal Democratic Party) พอถึงทศวรรษ 1970s ก็กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกดังกล่าวแล้ว

ยิ่งถึงปลายทศวรรษ 1980s เศรษฐกิจที่เจริญของญี่ปุ่นก็ถึงขั้นเป็นที่หวาดกังวลของอเมริกาอย่างหนัก ดังที่มีหนังสือแสดงความรู้สึกด้านนี้ออกมามาก (เช่น Yen: Japan"s New Financial Empire and Its Threat to America (1988) ของ Daniel Burstein และ The Coming War with Japan (1991) ของ George Friedman & M.Lebard)

อย่างไรก็ตาม เรื่องการคอร์รัปชั่นภายในพรรค LDP ได้เริ่มอื้อฉาวขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้พรรค LDP ง่อนแง่นลง จนในที่สุดเสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่นก็จบสิ้นลง เมื่อพรรค LDP ซึ่งครองญี่ปุ่นมา ๓๘ ปี (เริ่มก่อตั้ง พ.ย. 1955) ได้หมดอำนาจลงเมื่อรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1993 และเดือนต่อมาก็แพ้ในการเลือกตั้งใหม่

จากนั้น ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลแล้วๆ เล่าๆ จนใครๆ ไม่อาจทำนายอนาคตของญี่ปุ่นได้

การขาดเสถียรภาพทางการเมือง และการที่เงินเยนแข็งมีค่าขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในเดือนกันยายน 1993 ขึ้นมาแตะ ๑๐๐ เยนต่อดอลลาร์ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจทรุด จนกระทั่งในปี 1993 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลายเป็น ๐ ซึ่งตกต่ำที่สุดนับแต่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันใน ค.ศ.1974

แต่ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะตกต่ำลง ในปี 1993 นั้น ญี่ปุ่นก็ยังมีการค้าเกินดุลถึง ๑ แสน ๔ หมื่นล้านดอลลาร์

ค่าของเงินเยนพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งตอนต้นปี 1995 โดยขึ้นถึง ๘๐ เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนเมษายนปีนั้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ต่อจากนั้นค่าของเงินเยนก็ตกลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น ๑๑๓ เยนต่อดอลลาร์ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1996

การค้าของญี่ปุ่นที่เกินดุลมายาวนาน ก็ตกฮวบลงจากแสนกว่าล้านดอลลาร์ จนคาดหมายว่าเมื่อถึงสิ้นปี 1996 จะเหลือเพียงประมาณ ๖,๕๐๐ ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เสื่อมทรุดไปมากนั้น ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ ตั้งแต่ครึ่งหลังของ ค.ศ.1995 จนทำให้ ค.ศ.1996 เป็นช่วงที่ดีที่สุดในระยะ ๕ ปี โดยมีอัตราความเจริญเติบโตที่หนักแน่นที่สุดในรอบ ๒๐ ปี

วงการเศรษฐกิจกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาหลายปี ที่ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดทั้งสองของโลก คือสหรัฐ กับญี่ปุ่น มาถึงจุดบรรจบที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประสานสอดคล้องกันมากขึ้น (Britannica Book of the Year 1997)

แต่เมื่อมองเชิงเปรียบเทียบโดยภาพรวม ก็เป็นการบรรจบที่ไม่ไปด้วยกัน ในขณะที่ สหรัฐอยู่ในขาขึ้น ส่วน ญี่ปุ่นอยู่ในขาลง

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเหมือนจะถูกซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เริ่มแต่ปี 1997

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อย หรือด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า "โลกที่สาม" (Third World) นั้น หลังทศวรรษ 1970s มาแล้ว บางประเทศได้เจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งต่อมาได้มีคำเรียกเกิดขึ้นใหม่ว่า เป็น "นิก" (NIC) คือเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country หรือ newly industrializing country)

บางตำราแยกเป็น "นิกส์ชั้นนำ" โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ กับ "นิกส์อย่างว่า" เช่น บราซิล มาเลเซีย เม็กซิโก และประเทศไทย ("Newly Industrializing Country," Oxford Interactive Encyclopedia, 1997) โดยที่นิกส์แท้หรือนิกส์ชั้นนำ ล้วนอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับจีน และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญในเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ในทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา

ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้ย้ายจากยุโรปและอเมริกาเหนือมายังย่านเอเชีย-แปซิฟิก นโยบายของสหรัฐก็ให้ความสนใจแก่ญี่ปุ่นและจีนมากขึ้น พร้อมกับเอาใจใส่ด้านยุโรปน้อยลง


(มีต่อ ๔๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2007, 6:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในช่วงต้นๆ แห่งทศวรรษ 1990s ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมีเศรษฐกิจซบเซากันโดยทั่วไป ประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย (less developed countries/LDC) กลับมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายตัวดีกว่ามาก

โดยเฉพาะประเทศขอบมหาสมุทรแปซิฟิกฟากตะวันตก ที่เรียกกันว่า "Pacific Rim" กลายเป็นกลุ่มประเทศที่เจริญรวดเร็วที่สุดในโลก

ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่งเดินตามรอยญี่ปุ่น และได้อาศัยเสถียรภาพในภูมิภาคซึ่งเกิดจากสงครามเย็น ที่สหรัฐกับโซเวียตแข่งอำนาจกันเป็นร่มเงาให้เช่นเดียวกัน ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ดังที่ได้เป็น "นิกส์ชั้นนำ" แล้วนั้น และได้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นจนเรียกกันว่าเป็น "เสือ" แห่งเอเชีย (Asian "Tigers" หรือ "Tiger Economies")

ตำรับตำราและสารคดีของฝรั่งจำนวนมากพากันตื่นเต้นสนใจดินแดนแถบนี้ และพยากรณ์ว่า ประเทศกลุ่มนี้จะรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่น "20th-Century International Relations," Britannica, 1997 และหนังสือของนักทำนายอนาคต เช่น Megatrends 2000 (1990) ของ John Naisbitt เป็นต้น)

ในปี 1996 ประเทศไทยก็พลอยได้มีชื่อเป็นเสือเศรษฐกิจ (Tiger Economy) ไปด้วย (Britannica Book of the Year 1997) และในปีนั้น ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศไทยว่ามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ ๒๓ ของโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายชื่นชมเพลิดเพลินอยู่กับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ และระบบการค้าเสรี (free trade) ที่ได้เริ่มแพร่ขยายมาแต่ปลายปี 1993 คราวเคราะห์ก็มาถึง

โดยไม่คาดฝัน ประเทศเหล่านี้ทั้งหมดพากันล้มคว่ำและจมดิ่งลงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Economic Crisis) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อประเทศไทยประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐/1997

ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลายในโลกแถบอื่น แม้โดยทั่วไปจะมีเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่อาจจะเรียกว่าดี

ในปี 1993 ประเทศแถบละตินอเมริกา มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ๓.๕-๔% (เม็กซิโกประสบภาวะวิกฤต เงินเปโซ (Peso) ค่าตกฮวบอย่างหนักในเดือนธันวาคม ปี 1994)

ในแอฟริกา นับว่าค่อนข้างซบเซา เศรษฐกิจขยายเพียง ๑.๕%

ในตะวันออกกลาง ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งหน่อย คือ อิหร่าน ก็อยู่แถว ๕% น้ำมันก็ล้นเกินความต้องการของโลก ราคาน้ำมันจึงตกลงไป นับจากต้นปี 1993 ถึงสิ้นปีนั้น ราคาน้ำมันตกลงไป ๒๓% ซึ่งต่ำสุดในระยะเวลาเกิน ๕ ปี

ความด้อยในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศพัฒนาน้อยทั้งหลาย ต้องกู้หนี้ยืมสินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จนถึงขั้นเกิดวิกฤตหนี้ (debt crisis) ซึ่งเป็นไปอย่างหนักในละตินอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เรื่อยมาจนกระทั่งในระหว่างปี 1993 หนี้ต่างประเทศของประเทศพัฒนาน้อย (LDC) ทั้งหลาย เพิ่มขึ้นประมาณ ๖% รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมดถึง ๑,๔๗๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ และ IMF ได้คาดหมายไว้ว่าในปี 1995 จะเพิ่มขึ้น ๘% เป็น ๑,๘๕๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์

รวมแล้ว เมื่อก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย โลกแถบที่มีเศรษฐกิจเจริญเติบโตมากที่สุด ก็คือ ประเทศทั้งหลายในแถบเอเชีย ซึ่งมีอัตราขยายตัวในปี 1993 ประมาณ ๘.๗% ในบรรดาประเทศเอเชียเหล่านั้น ประเทศที่เจริญไวที่สุดก็คือจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เจริญขยายรวดเร็วที่สุดทั้งในเอเชียและในโลกมาตลอดทศวรรษ 1980s โดยมีอัตราขยายตัวเกิน ๑๐% ต่อปี (ในปี 1993 จีนมีอัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น/GDP เกือบ ๑๓%)


สงครามเย็นจึงจบลง ในขณะที่จีนกำลังเติบใหญ่ขึ้นมาทางเศรษฐกิจ
อเมริกาพาโลกก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรี


ส่วนสหรัฐอเมริกา ประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกปัจจุบันนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า ได้ก้าวขึ้นสู่ทศวรรษ 1990s ในภาวะที่ประเทศกำลังเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องมาอย่างหนักยิ่ง

ในประเทศมีแต่เสียงคร่ำครวญถึงความเสื่อมโทรมของชาติและเสียงหวนละห้อยร้องหาวันบ้านเมืองดีในอดีต ดังที่มีหนังสือที่ชาวอเมริกันเขียนขึ้นมาแสดงความรู้สึกอย่างนี้กันมากมาย (เช่น The End of the American Century ของ Steven Schlossstein, 1989; The Twilight of Common Dreams ของ Todd Gitlin, 1995; Taking Back America ของ Michael W. Haga, 1995; ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกกลับ ขณะที่คู่แข่งที่น่ากลัว คือ เยอรมันกับญี่ปุ่นเสื่อมทรุดลง อเมริกากลับฟื้นตัวขึ้น

บิล คลินตัน (William Jefferson Clinton) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๔๒ ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 1993 โดยแจ้งถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความชะงักงันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาตลอดเวลา ๑๒ ปี แห่งการปกครองของพรรครีพับลิกัน เขามุ่งแก้ปัญหาภายในประเทศ ที่หมักหมมมานานจนโทรมไปหมด และโอกาสก็เปิดให้ เพราะสงครามเย็นก็จบ โซเวียตก็ล่มสลาย

แต่เมื่อถึงเวลาจริง พอสิ้นปี 1994 ปรากฏว่า ความสำเร็จของบิล คลินตัน กลับไปอยู่ที่กิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชัยชนะในการแผ่ขยายระบบตลาดเสรีระดับโลก (global free-market system หรือ world capitalism)

เศรษฐกิจของอเมริกาเริ่มจะฟื้นตัวตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีบุช (George Herbert Walker Bush, ม.ค. 1989-ม.ค. 1993) แต่ประชาชนมารู้สึกชัดขึ้นต่อเมื่อถึงปลาย ค.ศ.1993

ในปี 1993 นั้น อเมริกากลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด เจริญเร็วที่สุด ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซากันทั่วไป

ในปี 1994 คนในอเมริกาได้งานใหม่เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๒๗๕,๐๐๐ คน รวมแล้วปีละ ๓.๕ ล้านคน ผลิตภัณฑ์ส่งออกทั่วโลกที่เป็นส่วนของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๖% (ขณะที่ญี่ปุ่นกับเยอรมันกำลังทรุดลง)

การทำงานล่วงเวลาเพิ่มมากขึ้นเกือบสัปดาห์ละ ๕ ช.ม.


(มีต่อ ๔๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 16 ส.ค. 2007, 8:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บริษัท เยเนราล มอเตอร์ส (General Motors) ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เคยขาดทุนเมื่อปี 1991 ถึง ๔.๙ พันล้านดอลลาร์ แต่มาในปี 1994 เพียงครึ่งปี ได้กำไรถึง ๒.๘ พันล้านดอลลาร์ (มากกว่ากำไรตลอดปี 1993 ทั้งปี)

ครั้นถึงปลายปี 1996 อัตราคนว่างงานของสหรัฐก็ลดเหลือเพียง ๕.๓% ซึ่งต่ำสุดนับแต่ทศวรรษ 1970s (เคยสูงสุดเมื่อเดือนธันวาคม 1982 ถึง ๑๐.๘% และในปี 1992 ก็สูงถึง ๗.๕%)

เศรษฐกิจภาคที่ได้ผลที่สุดคือ พวกไฮ-เทค (high-tech) โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า ทำให้เกิดเศรษฐีรายใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นแถว หุ้นดาวโจนส์ (Dow Jones) ก็ขึ้นไปๆ ต้นปี 1995 ผ่าน ๔,๐๐๐ พอถึงปลายปีผ่าน ๕,๐๐๐ พอถึงปี 1996 ก็ผ่าน ๖,๐๐๐ จุดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้นมาก แต่การค้าก็ยังคงขาดดุลสืบเนื่องมา ดังในปี 1994 ขาดดุล ๑ แสน ๕ หมื่นล้านดอลลาร์ และในปี 1995 ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น ๒ แสนล้านดอลลาร์

ระหว่างนี้ อเมริกาได้ก้าวออกไปดำเนินบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก คือ การแผ่ขยายระบบทุนนิยมระดับโลก ด้วยการส่งเสริมระบบการค้าเสรี (free trade) ให้เกิดผลเป็นจริง และแผ่ขยายออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วโลก

การค้าเสรี (free trade) นี้ มีหลักการที่จะปล่อยให้สินค้าต่างๆ ไหลไปอย่างคล่องเสรีระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของกันและกัน และทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชาติ โดยทำให้ประเทศที่ค้าขายได้พึ่งพาอาศัยกันในทางพาณิชย์

ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องกับแนวคิดของอาดัม สมิธ (Adam Smith) ในเรื่องของหลักการแบ่งงาน (division of labor) ซึ่งในที่นี้ หมายถึง การแบ่งงานในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศมีความชำนาญพิเศษ (specialization) ในการผลิตสินค้าที่ตนถนัด แล้วก็จะมีประสิทธิภาพในด้านนั้นๆ มากยิ่งขึ้น และสามารถผลิตได้ผล ทั้งมากมาย และดียิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ นโยบายการค้าเสรีจึงต้องห้ามมิให้เก็บภาษีศุลกากร หรือจำกัดโควตาสินค้าเข้า (ไม่กีดกันสินค้าเข้า) และมิให้อุดหนุนช่วยเหลือสินค้าส่งออกคือ ตรงข้ามกับระบบคุ้มครองสินค้าของตน (protectionism) โดยปล่อยให้การค้าขายดำเนินไปตามกลไกของตลาดจริงๆ

ดังนั้น การค้าเสรีนี้ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market economy) หรือ ทุนนิยม (capitalism) หรือที่บางทีเรียกว่า ระบบลงทุนเสี่ยงสู้เสรี (free enterprise) ได้เข้าถึงความสมบูรณ์เต็มตามความหมายยิ่งขึ้น


ครึ่งศตวรรษ แห่งการวิวัตน์สู่การค้าเสรี

ที่จริง ความพยายามที่จะให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรีนี้ได้มีมานานแล้ว แต่เป็นธรรมดาที่ประเทศทั้งหลายย่อมรักษาผลประโยชน์ของตน เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีได้เปรียบ ก็ค้าเสรี เมื่อใดหรือแง่ใดค้าเสรีตัวจะเสียเปรียบ ก็ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน

อย่างสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบคุ้มครองสินค้าของตน คือเป็น protectionist มาแต่กำเนิด (Protectionism, Britannica, 1997)

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน ประเทศสำคัญๆ ๒๓ ประเทศ ซึ่งมีการค้าขายกันเป็น ๔ ใน ๕ ส่วน ของการค้าทั้งหมดของโลก อันมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ก็ได้ลงนามกันที่เมืองเจนีวา (Geneva) ณ วันที่ 30 ต.ค. 1947

ในการนี้ ได้ออกเป็นข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade เรียกสั้นๆ ว่า GATT) ซึ่งมีหลักการสำคัญที่จะลดหรือตัดทอนภาษีศุลกากรและข้อจำกัดอย่างอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย พร้อมทั้งกำจัดละเลิกข้อปฏิบัติที่เป็นการหวงแหนกีดกันในการค้าระหว่างประเทศ

ในยุโรป เมื่อปี 1960 อังกฤษได้ริเริ่มชวนประเทศต่างๆ ก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association เรียกสั้นๆ ว่า EFTA) ขึ้น (ลงนามที่กรุงสตอกโฮล์ม) ซึ่งประกอบด้วยออสเตรีย เดนมาร์ก อังกฤษ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน และ สวิตเซอร์แลนด์ (ต่อมาไอร์แลนด์ และฟินแลนด์ก็เข้าร่วม)

ว่าที่จริง เรื่องการค้าขายหาผลประโยชน์ในหมู่ประเทศ อุตสาหกรรมทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่ยอกย้อนซับซ้อนมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากกลวิธีทางการเมืองผสมการทหาร มาเป็นกลวิธีทางการเมืองผสมวิธีการทางเศรษฐกิจ

การที่อังกฤษชวนหลายประเทศตั้ง EFTA ขึ้นนั้น ก็เพราะว่า ก่อนนั้น ในปี 1957 ประเทศบนแผ่นดินใหญ่ภาคตะวันตกของทวีปยุโรป ๖ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักส์ ทั้ง ๓ (คือ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ได้ตกลงกันตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ที่เรียกง่ายๆ ว่า "ตลาดร่วม" (European Economic Community เรียกง่ายๆ ว่า Common Market) ขึ้น

ระหว่างนั้น อังกฤษก็หาทางจัดตั้งเขตการค้าเสรี ที่จะช่วยให้อังกฤษเข้าถึงผลประโยชน์ของตลาดร่วมทางอุตสาหกรรมนั้นได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับความกระทบกระทั่งต่อความยิ่งใหญ่ในทางการเมือง แต่ไม่สำเร็จ เพราะเหตุสำคัญคือการคัดค้านของฝรั่งเศส

แต่ต่อมา ในปี 1973 อังกฤษเอง และเดนมาร์ก ก็ออกจาก EFTA เมื่อเขายอมรับให้เข้าตลาดร่วม หรือ EEC พร้อมกับไอร์แลนด์ ในปี 1973 (ต่อมา กรีซ สเปน และโปรตุเกส ก็เข้าร่วมใน EEC ด้วย)


(มีต่อ ๔๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2007, 8:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEC ซึ่งได้เจริญก้าวหน้าต่อมา และมีการเปลี่ยนแปลงในชื่อเรียกเล็กๆ น้อย จนในที่สุดก็เรียกสั้นๆ ว่า ประชาคมยุโรป (European Community/EC) ได้ขยายนโยบายออกไป และตั้งสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1993 โดย EC กลายเป็นหน่วยงานวางนโยบายของ EU

ต่อมา ณ วันที่ 1 มกราคม 1994 ข้อตกลงที่สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และประชาคมยุโรป (EC) ได้มีมติร่วมกันไว้เมื่อเดือน ต.ค.1991 ที่จะตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกัน ก็มีผลให้เกิดเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area/EEA) ขึ้น

ต่อมาในปี 1995 ประเทศสมาชิกของ EFTA ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) EU จึงมีสมาชิก ๑๕ ประเทศ และขณะนี้หลายประเทศที่พ้นออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิมก็หวังจะได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนี้ด้วย

ในทวีปอเมริกา ประเทศต่างๆ ในอเมริกากลางและใต้ก็ได้ร่วมกันตั้งเขตตลาดร่วมการค้าเสรีของตนขึ้นบ้าง เช่น ตลาดร่วมอเมริกากลาง (Central American Common Market) ซึ่งเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และคอสตาริกา ลงนามในสนธิสัญญากันเมื่อ 13 ธ.ค. 1960 แต่ต่อมาความผันผวนปรวนแปรทางการเมืองทำให้ตลาดร่วมนี้ไม่เป็นไปด้วยดี

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ประเทศละตินอเมริกา ประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เม็กซิโก ปารากวัย เปรู และอุรุกวัย ได้ลงนามตั้งสมาคมการค้าเสรีละตินอเมริกา (Latin American Free Trade Association/LAFTA) ขึ้น ณ 18 ก.พ. 1960 ซึ่งอีก ๒๐ ปีต่อมาตั้งเป็นสมาคมประสานละตินอเมริกา (Latin American Integration Association/LAIA) ซึ่งเวลานี้มีสมาชิก ๑๑ ประเทศ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแอนเดียน (Andean Group) ที่เป็นกลุ่มย่อยใน LAIA ซึ่งเกิดขึ้นเป็นทางการในเดือนมิ.ย. 1969 และประชาคมและตลาดร่วมคาริบเบียน (Caribbean Community and Common Market/Caricom) ซึ่งประเทศในคาบสมุทรคาริบเบียน ๑๒ ประเทศ ได้ตั้งขึ้นในปี 1973

ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกาเพิ่งจะร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโกก่อตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างกันขึ้น (เม็กซิโกอยู่ใน LAIA ที่กล่าวถึงข้างต้นด้วยอยู่ก่อนแล้ว) โดยลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement/NAFTA) เมื่อปี 1992 ในเดือนสุดท้ายแห่งการบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช ณ วันที่ 17 ธันวาคม

NAFTA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 1994 ซึ่งจะทำให้การค้าในเขตของสามประเทศนี้ปลอดพ้นจากการเก็บภาษีศุลกากร และข้อจำกัดกีดกั้นต่างๆ ในการลงทุนข้ามแดน และการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการต่างๆ ภายในปี 2005

เขตของ NAFTA นี้กว้างใหญ่กว่าตลาดร่วมยุโรปเดิมเล็กน้อย จึงเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรประมาณ ๓๙๐ ล้านคน

แต่เมื่อ EFTA กับ EU ของยุโรป ตั้ง EEA คือ เขตเศรษฐกิจยุโรปขึ้นมา โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 1994 เช่นเดียวกัน เขตการค้าเสรีทั้งสอง คือ NAFTA และ EEA ก็มีขนาดใกล้เคียงกันมาก (EEA มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ ๓๘๕ ล้านคน)

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1993 ที่รัฐสภาอเมริกัน (Congress) มีมติอนุมัติ NAFTA นั้น ประธานาธิบดีคลินตัน ได้กล่าวปราศรัยว่า

เมื่อ ๒-๓ นาทีที่ผ่านมานี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติอนุมัติข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)

NAFTA จะขยายปริมาณสินค้าออกของเรา สร้างงานอาชีพเพิ่มขึ้น และช่วยให้เราย้ำสำทับความเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจของโลก

ข้อตกลงนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์อย่างลึกซึ้งแก่สหรัฐ มันจะช่วยให้ชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่ เป็นคนงานที่สร้างผลผลิตได้มากที่สุด คือ จะเป็นผู้ชนะในระบบเศรษฐกิจของโลก ("North American Free Trade Agreement," Microsoft Encarta Encyclopedia, 1999)

คำกล่าวนี้ อาจจะบอกถึงความมุ่งหมายที่แท้หรือวัตถุประสงค์หลักของผู้นำของสหรัฐ หรือของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น


เหนือกว่า NAFTA
เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดของโลกจะเกิดขึ้นมาจากเอเปก/APEC


ถึงตอนนี้ ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญในการค้าโลก ดูเหมือนว่ายังไม่ได้เข้าสู่ระบบการค้าเสรี ถ้าเอเชียมีระบบนี้ด้วย เศรษฐกิจก็จะใกล้ถึงขั้นเป็นตลาดโลกไร้พรมแดน

แต่แท้จริงนั้น อเมริกาได้ร่วมกับออสเตรเลียหนุนให้ชาติทั้งหลายในเอเชีย ตั้งสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรียกง่ายๆ ว่า "เอเปก" (Asia-Pacific Economic Coopertion/ APEC) ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1989 แล้ว

ประธานาธิบดีคลินตัน ได้ปรากฏตัวเด่นออกมาในฐานะเป็นผู้หนุนการค้าเสรีที่แข็งขันที่สุดในรอบหลายสิบปี ("20th-Century International Relations," Britannica, 1997) และรัฐบาลของเขาก็ได้เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียมีมาตรการเปิดตลาด และ "การค้าที่ยุติธรรม" ("fair trade")

หลังจากรัฐสภาสหรัฐลงมติผ่าน NAFTA ได้ ๓ วัน ประธานาธิบดีคลินตันก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้ผู้นำ ๑๕ ประเทศประชุมสุดยอดครั้งแรกของ เอเปก/APEC ที่เมืองซีแอตเติล (Seattle) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1993 และในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา (1994) ประเทศกลุ่ม เอเปก/APEC ซึ่งคราวนี้เพิ่มเป็น ๑๘ ประเทศ (สามประเทศเพิ่มใหม่ คือ ชิลี เม็กซิโก และปาปัวนิวกินี) ก็ได้ประชุมสุดยอดครั้งที่ ๒ กัน ๒ วัน ที่อินโดนีเซีย

คราวนี้ทั้ง ๑๘ ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงให้การค้าขายระหว่างกันบรรลุเป้าหมายแห่งการค้าเสรี ภายใน ค.ศ.2020 กับทั้งจะลดทอนเครื่องจำกัดกีดกั้นการค้าขายแม้กับประเทศอื่นๆ ที่นอกเขตแปซิฟิกด้วย

ประเทศทั้ง ๑๘ ในกลุ่มเอเปก/APEC ได้แก่

ก) ประเทศในเอเชีย ๑๑ ซึ่งแยกได้เป็น

- ประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN ๖ ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และบรูไน) และ

- ประเทศในเอเชียนอกกลุ่ม ASEAN อีก ๕ (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง)

ข) ประเทศฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ๔ (สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ในอเมริกาเหนือ กับชิลีในอเมริกาใต้) และ

ค) ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ๓ (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี)

แต่รวมแล้วทั้ง ๑๘ ประเทศ ก็อยู่ในอ่างแปซิฟิก (Pacific Basin)


(มีต่อ ๔๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2007, 9:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กลุ่มประเทศ APEC นี้ มีประชากรเกินกว่า ๒ พันล้านคน หรือประมาณ ๓๘% (เกิน ๑ ใน ๓) ของประชากรทั่วทั้งโลก ครอบคลุมการค้าโลก ๔๑% และทำการผลิตสินค้ากว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รวมกันมากกว่า ๕๐% ของทั้งโลก

ฉะนั้น (ถ้าการณ์เป็นไปตามตกลง ภายใน ค.ศ.2020) เอเปค/ APEC ก็จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลกที่แท้จริง

นอกจากนี้ เอเปค/APEC ยังมีความพิเศษที่แปลกและแตกต่างจากเขตการค้าเสรีอื่นๆ เช่น ขณะที่เขตอื่นเป็นการรวมตัวกันของชาติต่างๆ ที่อยู่ในภาคพื้นทวีปเดียวกัน มีดินแดนใกล้ชิดติดกัน ที่จะประสานความร่วมมือในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกันและกัน แต่ เอเปค/APEC เป็นการร่วมมือต่างถิ่นข้ามทวีปของประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ วัฒนธรรม และระดับการพัฒนา

โดยเฉพาะรวมเอาประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยและยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเศรษฐกิจของโลก ทั้งอันดับ ๑ และอันดับ ๒ คือ สหรัฐและญี่ปุ่นเข้ามาไว้ด้วยกัน (Britannica Book of the Year 1995) พร้อมทั้งประเทศแถบขอบตะวันตกของแปซิฟิก หรือ Pacific Rim ซึ่ง (เวลานั้น) คาดหมายกันนักว่ามีอนาคตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุกใส รวมทั้งชาติที่เรียกกันว่าเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ทั้งหลายด้วย

เอเปค/APEC ประชุมประจำปีกัน ๒ วัน ตอนปลายเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมา และได้เริ่มทำงานตามแนวทางที่ตกลงกันไว้ เช่น ในการประชุมปี 1996 ณ 25 พ.ย. ที่มะนิลา ๑๘ ชาติสมาชิกตกลงให้คำมั่นว่าจะตัดทอนภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์และสินค้าไฮเทคทั้งหลายลงอย่างให้เห็นกันชัดเจนเป็นจริงเป็นจังภายในปี 2000

(ต่อมา รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗-๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖/2003)


ค้าขายเสรี แข่งขันเสรี
บนสถานะของเศรษฐีกับวณิพก


มีเรื่องสำคัญที่ควรเล่าแทรกไว้ด้วย คือการเกิดขึ้นขององค์การค้าโลก (World Trade Organization/WTO) ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า ที่เรียกกันสั้นๆ ตามอักษรย่อว่า GATT และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเสรีโดยตรง

ดังได้เล่าไว้แล้วว่า GATT นั้น เกิดขึ้นในปี 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบไปไม่นาน (มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 1948) โดยมีหลักการข้อสำคัญที่สุดว่า จะให้มีการค้าขายระหว่างประเทศต่างๆ อย่างปราศจากความแบ่งแยกหวงแหนกีดกัน โดยที่ประเทศสมาชิกเปิดตลาดแก่กันอย่างเสมอภาค

ตามแผนความคิดเดิมนั้น GATT จะมีอยู่เพียงชั่วคราว โดยรอให้มีการตั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ เรียกว่า องค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization/ITO) ขึ้นมารับงานไปทำต่อในระยะยาว แต่องค์การที่ว่านั้นก็ไม่เกิดมีขึ้น GATT ก็จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

GATT เป็นเครื่องมือที่ได้ผลมากที่สุดในการทำให้เกิดการค้าเสรีมากขึ้นๆ และขยายการค้าโลกออกไป โดยมีการประชุมกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1947 ถึง 1993 รวม ๗ รอบ ทำให้ภาษีสินค้าอุตสาหกรรมของโลกโดยเฉลี่ยลดจาก ๔๐% ในปี 1947 ลงมาเหลือเพียง ๕% ในปี 1993 และทุนอุดหนุนสินค้าการเกษตรก็ถูกตัดทอนลงไป

การประชุมรอบสุดท้ายของ GATT จบลงด้วยการตั้งองค์การการค้าโลก ที่เรียกสั้นๆ ว่า WTO ขึ้นมาดังกล่าวข้างต้น และ GATT ก็สลายตัวไปพร้อมกับการปิดประชุมรอบสุดท้ายนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 1994

องค์การค้าโลก หรือ WTO นี้ ถือกำเนิดในวันที่ 1 มกราคม 1995 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง ๑๐๔ ประเทศ และ ๑๒๕ ชาติได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่งจะเป็นแบบแผนที่ควบคุมการค้าของโลก รวม ๙๐% และ WTO ก็จะทำหน้าที่คอยดูแล กำกับ จัดปรับ เพื่อให้การค้าของโลกเป็นไปอย่างเสรีตามข้อตกลงนั้น

ในการขวนขวายหนุนให้ เอเปค/APEC เกิดเป็นการเป็นงานอย่างจริงจังขึ้นมาเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีแห่งใหม่นั้น รัฐบาลของประธานาธิบดีคลินตัน ได้เรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายในเอเชียมีการค้าที่ยุติธรรม (fair trade)

ถ้ามองอย่างง่ายๆ ก็เหมือนกับบอกว่า การค้าที่ยุติธรรม (fair trade) จะเกิดได้เมื่อมีการค้าอย่างเสรี (free trade)

แท้จริงนั้น ถ้าไม่พูดถึงปัญหาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน (โดยเฉพาะ ระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น) ก็น่าจะย้อนถามว่า ใครกันแน่ที่ควรเป็นฝ่ายเรียกร้องให้มี "การค้าที่เป็นธรรม"

การค้าเสรี (free trade) นี้ย่อมช่วยให้เกิดการแข่งขัน (competition) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม หรือตลาดเสรี (free market economy) โดยเฉพาะเป็นหลักการที่สังคมอเมริกันนิยมเชิดชูเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง และในทางการเมืองนั้นการค้าเสรีจะมีวัตถุประสงค์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ การสร้างเอกภาพของประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนั้นๆ ในการที่จะร่วมมือสามัคคี เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และความมั่นคงร่วมกัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของตลาดร่วมยุโรป ตั้งแต่เป็น EEC มาเป็น EC และเกิด EU ตลอดจนร่วมกับ EFTA ตั้ง EEA ขึ้นมา

พร้อมกันนั้น เมื่อ free หรือเสรี คือมีเสรีภาพแล้ว หลักการอีกอย่างหนึ่งของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องมาด้วย กล่าวคือความเสมอภาค (equality) เช่น การที่แต่ละประเทศในเขตการค้าเสรีนั้นจะต้องเปิดตลาดให้แก่กันอย่างเสมอภาค

ถ้าการค้าเสรีเป็นไปอย่างมีความเสมอภาคกันจริง การค้าเสรีนั้นก็จะเป็นการค้าที่ยุติธรรม คือ เป็นการค้าที่ทั้งเสรีและเป็นธรรม เป็น free and fair trade เพราะการค้าที่จะ fair หรือเป็นธรรมนั้น ก็คือจะต้องไม่เอาเปรียบกัน

แต่ถ้าเสรีโดยไม่มีความเสมอภาคจริง ก็อาจจะกลายเป็นเสรีภาพในการที่จะเอาเปรียบได้มากยิ่งขึ้น หรือเป็นเสรีภาพที่ช่วยส่งเสริม โอกาสแห่งการได้เปรียบที่มีอยู่แล้ว


(มีต่อ ๔๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2007, 9:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในกฎเกณฑ์ขององค์การค้าโลก (WTO) ที่ GATT ได้วางไว้ให้ก่อนจะสลายตัวไปนั้น ก็มีข้อกำหนดในการส่งเสริมการค้าที่ยุติธรรม คือ fair trade ไว้ด้วย แต่ก็คงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องพิจารณาด้วยความไม่ประมาท

โดยเฉพาะสำหรับ เอเปก/APEC ประเทศสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลายมากอย่างที่กล่าวแล้ว วัตถุประสงค์เชิงเอกภาพทางการเมืองอย่าง EU ก็คงไม่มี หรืออย่างน้อยก็ไม่เหมือนกับ EU

ถ้าวัตถุประสงค์ด้านเอกภาพไม่มี ก็ขาดเครื่องประสานที่สำคัญ หลักการอย่างอื่นจึงอาจง่อนแง่นคลอนแคลนได้ง่าย

ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและลึกซึ้งซับซ้อนไม่น้อย ประเทศทั้งหลายใน เอเปก/APEC นั้น โดยภาวะพื้นฐานก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เช่น เป็นประเทศพัฒนาอย่างสูงแล้ว โดยเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้วบ้าง เป็นประเทศกำลังพัฒนาบ้าง การที่จะสัมพันธ์กันหรือปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคจะมีแง่มุมหลายอย่างที่มองและปฏิบัติได้ยาก

แม้แต่เฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ก็มีความแตกต่างหรือไม่เท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานอยู่ในตัว เช่น ฝ่ายหนึ่งมีทุนมหาศาล อีกฝ่ายหนึ่งยากจนขาดแคลน หรือเสียเปรียบในเชิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ฝ่ายหนึ่งเป็นเศรษฐีออกเงินให้กู้ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่กู้เงินจากเศรษฐี เพื่อเอาเงินไปซื้อสินค้าของเศรษฐี พร้อมกับที่ต้องหาเงินมาชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่เศรษฐีนั้น

ฝ่ายหนึ่งขายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งขายสินค้ามูลฐานเช่นพืชผลและวัตถุดิบ ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง อีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เช่น ฝ่ายหนึ่งปลูกพืชสมุนไพรขายไป ก.ก. ละ ๘ บาท อีกฝ่ายหนึ่งซื้อพืชนั้น ก.ก. ละ ๘ บาทแล้ว นำไปเป็นวัตถุดิบ ผลิตออกมาเป็นเภสัชภัณฑ์อุตสาหกรรม ขายให้แก่ฝ่ายแรก แคปซูลละ ๘ บาท หรืออาจจะถึง ๘๐ บาท

มองดูตัวเลขในการค้าของโลก สหรัฐ แคนาดา ยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒ ใน ๓ ของทั้งโลก

ส่วนประเทศที่พัฒนาน้อยทั้งหลาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขายสินค้ามูลฐาน เป็นแหล่งของสินค้าส่งออก ๒๐% ของโลก และสินค้าส่งออกของประเทศพัฒนาน้อยเหล่านั้นเกินกว่า ๒ ใน ๓ ส่งไปยังประเทศอุตสาหกรรม ("international trade," New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1994)

ตัวเลขเหล่านี้ ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น นำเอาภาวะที่ฝ่ายหนึ่งซื้อถูกขายแพง และอีกฝ่ายหนึ่งซื้อแพงขายถูก เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย จะมองเห็นภาพของความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่งที่ยิ่งห่างออกไปจากตัวเลขที่ยกมาอวดแสดงกันอย่างมากมาย ทั้งนี้ ยังไม่ได้พูดถึงความแตกต่างในด้านคุณภาพคนหรือที่เรียกว่าทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา ความรู้ทางวิชาการ ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและค่านิยม เป็นต้น ซึ่งจะมองข้ามมิได้

ในการที่จะก้าวให้ถึงเป้าแห่งการค้าเสรี ก็จะมีการลดภาษีศุลกากรขาเข้า จนเลิกไม่ต้องเก็บเลย เลิกกำหนดโควตาสินค้าเข้า ไม่ให้ทุนอุดหนุนสินค้าในประเทศที่จะส่งออก หรือที่จะกันสินค้าเข้าจากต่างประเทศ และเปิดโอกาสแก่ต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน เป็นต้น

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่านั้น ก็จะต้องมีความสามารถที่จะจัดดำเนินการไม่ให้ความแตกต่างเชิงได้เปรียบและเสียเปรียบที่กล่าวข้างต้น มาทำให้การแข่งขันเสรี (free competition) ไม่เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair competition) อันจะเป็นเหตุให้การค้าเสรี (free trade) ไม่เป็นการค้าที่เป็นธรรม (fair trade)

นอกจากนั้น ที่สำคัญยิ่งคือ จะต้องระลึกตระหนักในความจริงที่ว่า ประเทศทั้งหลายที่เข้ามาร่วมเขตการค้าเสรีนั้น มีวัตถุประสงค์ข้อใหญ่ที่สุด คือการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติของตน

(อเมริกายึดแนวคิด individualism คือปัจเจกนิยมอยู่แล้ว แนวคิดนี้ ซึ่งเป็นฐานของระบบแข่งขัน ถือว่า เมื่อแต่ละคนแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง สังคมที่เป็นผลรวมก็จะพลอยเจริญไปเอง แนวคิดนี้ย่อมขยายออกมาใช้ในระดับประเทศต่อประเทศด้วย)

ไม่ต้องพูดถึงคำปราศรัยของประธานาธิบดีคลินตันที่กล่าวถึง NAFTA ข้างต้น

แม้แต่เมื่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) กันได้แล้ว ในวันที่ 1 มกราคม 1995 เวลาผ่านไปไม่ทันไร สหรัฐกับญี่ปุ่นก็หวุดหวิดจะเกิดสงครามการค้า (trade war) กันในเรื่องสินค้ารถยนต์ เพราะการได้การเสียผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวกัน

เรื่องก็คือ วันที่ 11 มกราคม 1995 ประธานาธิบดีคลินตัน กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการค้าที่เกินดุลของญี่ปุ่น

ต่อมาฝ่ายสหรัฐก็วางแผนเก็บภาษีศุลกากรรถยนต์ราคาแพงของญี่ปุ่น ๑๓ รายการ ให้ได้เงิน ๕.๙ พันล้านดอลลาร์ (แทนที่จะลดหรือเลิกเก็บภาษีตามหลักการค้าเสรี) ญี่ปุ่นก็ไม่ยอม ต้องว่ากันนานจึงตกลงกันได้ เรื่องราวเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่เตือนให้มีความรู้เท่าทันที่จะวางตัววางท่าทีต่อสถานการณ์ให้ถูกต้อง

ขณะที่ประเทศอภิมหาอำนาจกำลังนำโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งการค้าเสรีไร้พรมแดนนั้น พอก้าวไปได้ไม่เท่าไร การค้าของโลกก็มาเจอเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มต้นในเอเชีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1997 เป็นต้นมา

มนุษย์ผู้ประสบทุกข์จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ มัวแต่คิดถึงปัญหาเฉพาะหน้าของตัวจนทำท่าจะลืมไปว่า ลึกลงไปใต้ปัญหาเศรษฐกิจของตนนั้น มีปัญหาใหญ่ยืนพื้นที่จะต้องแก้ไขระยะยาวรออยู่ตลอดเวลา คือปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

พอปัญหาเฉพาะหน้าผ่อนเบาลงบ้าง ก็หลงระเริงมัวเมา จมอยู่ในความประมาทต่อไป ไม่มีจิตสำนึกที่จะแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ที่แท้จริงยั่งยืน

ปัญญา คือความรู้เท่าทันและปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนรู้จักจัดทำดำเนินการ พร้อมทั้งเจตนาอันสุจริต ที่ปฏิบัติด้วยความไม่ประมาทอย่างมั่นคงจริงจังเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ระยะยาวคือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน หรือปัญหาเฉพาะหน้าแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่ว่านี้ รวมทั้งปฏิบัติการที่จะให้การค้าเสรีเกิดผลดีตามหลักการที่ยกขึ้นมาอ้างแก่กัน และไม่ให้การค้าเสรีนั้น กลายเป็นเรื่องของ "จักรวรรดินิยมแห่งการค้าเสรี" (The Imperialism of Free Trade) ในทำนอง "จักรวรรดินิยมนอกแบบ" (informal imperialism) อย่างที่เคยมีผู้พูดไว้


(มีต่อ ๔๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2007, 8:46 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ลักษณะที่เด่นและสำคัญ
แห่งวิถีทางสร้างสันติภาพแบบอเมริกัน


เวลานี้สหรัฐอเมริกาได้รับการยอมรับเป็นแบบอย่างหรือตามอย่าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และในทางสังคม ทั่วไปในโลกนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

แต่ก็ควรจะตั้งคำถามให้พิจารณากันว่า วิถีทางแห่งเสรีภาพในระบบประชาธิปไตยตามความเข้าใจที่สืบกันมาในภูมิหลังของคนอเมริกันนี้ จะแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่มนุษย์ ทำให้มนุษย์สามัคคีรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำโลกไปสู่สันติสุข เริ่มตั้งแต่ แก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาได้หรือไม่

ในขั้นนี้ ขอให้ตั้งข้อสังเกต ๒ ประการ

๑. ความคิดถูกหล่อหลอมจากภูมิหลังที่เน้นการปกป้องพิทักษ์ตัว : ลักษณะของคนอเมริกันที่ใฝ่ฝันบูชาเสรีภาพนั้น เกิดจากภูมิหลังที่ถูกบีบคั้นทำร้ายให้เกิดความรู้สึกเชิงปฏิกิริยา ที่เบื่อหน่าย เอือมระอา ตลอดจนเกลียดชังการจำกัดกีดกั้นบังคับ แล้วต้องการผละออกไปหาภาวะที่ตรงข้าม กลายเป็นความใฝ่ปรารถนาต่อเสรีภาพ จุดเน้นของความคิดอยู่ที่

ก) ความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง เริ่มแต่ความอยู่รอดปลอดภัยของตน จนถึงการที่ตนเองจะได้สามารถทำหรือไม่ทำอะไรๆ ตามที่ปรารถนา คือจุดเน้นอยู่ที่ตัวตนของตนเอง ดังที่ชาวอเมริกันมีวัฒนธรรมเด่นในแง่ของการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของตน มิให้ใครล่วงละเมิด รวมทั้งการเน้นในเรื่อง privacy โยงลึกลงไปถึงการยึดถือใน individualism ที่โดยพื้นฐานเป็นลัทธิตัวใครตัวมัน

ข) จากข้อ ก) ก็โยงต่อไปในแง่ความสัมพันธ์หรืออยู่ร่วมกันกับผู้อื่น วิถีชีวิตอเมริกันจึงเน้นการไม่ละเมิด โดยเคารพสิทธิของกันและกัน การที่ต่างคนต่างก็ดำรงอยู่ และดำรงรักษาสิทธิของตน พร้อมกันนั้นก็มีอิทธิพลความเชื่อในลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) เสริมย้ำลงไปอีก ตามหลักใครดีใครอยู่ หรือใครเก่งก็รอด (the survival of the fittest) จึงเน้นความสามารถในการแข่งขัน ให้ต่างคนต่างดูแลตัวเอง ส่วนคนอื่นก็เอาแค่อย่าไปละเมิดกัน

แนวคิดอเมริกันไปถึงแค่ความเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่ละเมิดต่อกัน ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบตัวเองอยู่ไปได้ และอยู่กันได้ ไม่มีจุดเน้นในแง่ของความรักกัน เอาใจใส่ต่อกัน หรือความช่วยเหลือสมัครสมาน ดังนั้น ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเอกภาพจึงเกิดได้ยาก

๒. ปฏิบัติการที่เด่นในการวางระบบควบคุมจากภายนอก : เพื่อให้การปกป้องพิทักษ์ตัวและสิทธิของตัวได้ผล และเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดี โดยอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิดต่อกัน ตามภูมิหลังแห่งการต่อสู้แข่งขันกัน สังคมอเมริกันจึงเป็นตัวอย่างของสังคมมนุษย์ที่ชำนาญพิเศษในการจัดตั้งวางกฎกติกา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นขีดขั้นขอบเขตแห่งพฤติกรรมของแต่ละบุคคลแต่ละฝ่าย ตามหลักการที่สังคมอเมริกันก็ภูมิใจตนเองว่า เป็นสังคม rule of law คือ ปกครองและอยู่กันด้วยกฎกติกา ถือกฎหมายเป็นใหญ่

ก) กฎกติกาและกฎหมายนั้น ก็มาสนองแนวคิดในการป้องกันการละเมิดต่อกัน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนที่ตัวใครตัวมันนั้น มีอิสรภาพที่จะดิ้นรนต่อสู้ได้อย่างเต็มกำลัง และเมื่อมาประสานเข้ากับลัทธิทุนนิยม โอกาสในการดิ้นรนต่อสู้นั้นก็มีความหมายพิเศษที่มุ่งไปในการแสวงหาผลประโยชน์สนองความต้องการของตน เพียงเท่าที่ไม่ไปรุกล้ำหรือละเมิดต่อผู้อื่น freedom ของอเมริกันเป็น freedom ของตัวบุคคลผู้เดียว (individual liberty) ไม่ใช่ freedom ที่จะชื่นชมร่วมกัน

ข) จากภูมิหลังที่อยู่กันมาด้วยกฎกติกาหรือกฎหมายเป็นเวลานาน และเห็นผลดีของกฎกติกานั้น ก็ชักจะทำให้หลงเข้าใจไปชั้นเดียวแง่เดียวว่า ที่สำเร็จผลก็เพราะกฎ และเมื่อให้มีกฎแล้วผลที่ต้องการก็จะสำเร็จ

แต่แท้จริงการที่กฎเป็นตัวทำให้สำเร็จได้ ก็เพราะลึกลงไปในใจของคนมีความใฝ่ปรารถนาเป็นพลังผลักดันอยู่ กฎกติกาเป็นรูปปรากฏที่สำแดงออกมาของคุณสมบัติในจิตใจหรือในตัวคน เช่น การรักความเป็นธรรม แรงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีระเบียบ เป็นต้น เมื่อทั้งแรงดันภายในและรูปสำแดงภายนอก ยังมีพร้อมสืบทอดกันอยู่ ผลสำเร็จก็เกิดขึ้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

แต่กฎกติกาเป็นรูปแบบทางรูปธรรมที่มองเห็นง่าย สืบต่อกันมาตามวิธีปฏิบัติทางสังคม ส่วนคุณสมบัติภายในเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นผลักดันหรือชักจูงของเหตุการณ์ต่างๆ ในภูมิหลังของสังคม

เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คุณสมบัติหรือแรงใจนี้ถ้าไม่มีปัจจัยที่เอื้อคอยกระตุ้นไว้ ก็จะค่อยจางรางเลือนไป คนรุ่นหลังๆ อาจจะอยู่กับกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย โดยที่ในตัวของเขาไม่มีพลังคุณสมบัติในใจที่จะรักษาเจตนารมณ์ของกฎกติกาเหล่านั้น กฎกติกานั้นก็จะเป็นเพียงรูปแบบที่ได้ผลน้อยลงไป (ทำนองเดียวกับที่รูปแบบระบบการทำงานแบบอุตสาหกรรมยังคงอยู่ หรือแม้แต่ปรับให้ดีขึ้น แต่ work ethic ในตัวคนอเมริกันก็เสื่อมลง) พร้อมกับที่อาจจะเพี้ยนความหมาย ตลอดจนถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เพื่อการหาผลประโยชน์ ดังที่ได้เริ่มเกิดเป็นปัญหาในสังคมอเมริกันเอง (เช่น ที่ทนายความสมคบกับลูกความทำคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน)

ค) ถึงอย่างไรในที่สุดกฎกติกากฎหมายก็เป็นรูปแบบระบบภายนอกที่แก้ปัญหาได้เพียงในระดับหนึ่ง ถ้าปัญหานั้นๆ เป็นเรื่องระดับเดียวในขั้นรูปธรรมภายนอก การแก้ไขก็อาจสำเร็จไปได้ แต่หลายปัญหาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก่อนจะปรากฏออกมาภายนอกมีรากฐานลึกซึ้งสะสมอยู่ภายในจิตใจ (เช่น ความรู้สึกรังเกียจ ความดูถูกดูแคลน ความชิงชัง) และในทิฏฐิ (เช่น ความเชื่อ การยึดถือทางวัฒนธรรม การยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์หรือคำสอนของศาสนา เป็นต้น) การแก้ปัญหาด้วยกฎเกณฑ์กติกาไม่เพียงพอที่จะให้ได้ผลจริงและยั่งยืน


(มีต่อ ๔๘)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.ย. 2007, 7:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดังตัวอย่างปัญหาใหญ่ในสังคมอเมริกันที่เป็นมาและเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นต่อไป และคนอเมริกันก็วิจัยกันว่าจะเลวร้ายหนักหนายิ่งขึ้น คือปัญหาความแบ่งแยกแตกพวกระหว่างคนผิวขาวผิวดำ

สังคมอเมริกันได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยกฎหมาย ที่ตั้งข้อกำหนดในการให้เสรีภาพและความเสมอภาค และคุ้มครองป้องกันไม่ให้รุกล้ำละเมิดกัน แต่จนบัดนี้แม้ดูว่าคนจะเสมอกันเท่าเทียมกัน รวมกันได้ตามระบบที่จัดให้ อันแสดงว่ากฎหมายได้ผลมาก แต่ใจคนหารวมกันไม่

เมื่อใจไม่โน้มมาในทางที่จะรวมกัน ช่องว่างระหว่างกันก็ขยายความแบ่งแยกให้กว้างออกไปเรื่อยๆ รอเพียงว่าเมื่อไรผลร้ายแรงจะระเบิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกฎกติกาก็จะพลอยหมดความหมาย

เพียงปัญหาความแบ่งแยกระหว่างคนขาวกับคนดำที่มีอยู่แล้วในสังคมของตนเอง และเอาเพียงอย่างเดียวนี้ วิธีการของอเมริกันที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไข จึงไม่สามารถเป็นความหวังของมนุษยชาติในการที่จะสร้างสามัคคีเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์

ขอเน้นบางจุดที่สำคัญ แห่งลักษณะของภูมิธรรมภูมิปัญญาอเมริกันที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ว่า

๑) คุณสมบัติพิเศษของอเมริกันได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อมุ่งปกป้องคุ้มครองตัวให้อยู่รอดปลอดภัย มีความมั่นคงและเจริญไปได้ โดยมิให้มีการรุกล้ำละเมิดต่อกัน และความหมายของเสรีภาพ-อิสรภาพ (freedom) ก็จำกัดอยู่ในด้านนี้

๒) สังคมอเมริกันขาดการพัฒนาคุณธรรมในเชิงความสัมพันธ์แบบสมัครสมานเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขมีสามัคคี เช่น เมตตา ไมตรี ความเอาใจใส่ น้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความมุ่งหรือใฝ่ที่จะช่วยเหลือกัน แต่เน้นหลักตัวใครตัวมัน

๓) สังคมอเมริกันเน้นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางรูปธรรม โดยเน้นหนักไปทางด้านรูปแบบหรือระบบอย่างเดียว จึงแก้ปัญหาด้วยการวางกฎกติกา และปกครองกันด้วยกฎหมาย ซึ่งแม้จะได้ผลดีมาก แม้แต่ขยายกว้างออกมาช่วยโลกได้มาก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ

ความถนัดจัดเจนในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนและบัญญัติกฎกติกาที่สะสมสืบมาของชาวตะวันตกนี้ ทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างมาก แม้แต่ในการจัดรวมคนให้ทำกิจกรรมหรือกิจการร่วมกัน ซึ่งบางทีแม้ว่าแต่ละคนอาจมีคุณภาพไม่ถึงกับดีมากนัก ก็ช่วยให้กิจการงานนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จผลอย่างดี

แต่ความได้ผลนั้น ก็เป็นไปเพื่อความสำเร็จของธุรกิจการงาน มิใช่สำเร็จผลในด้านการสร้างเอกภาพของคน คือเป็นการจัดการคนเพื่อผลของงาน มิใช่การสมัครสมานคนเพื่อสันติสุขของโลก

ประสบการณ์ในภูมิหลังแห่งการต่อสู้ดิ้นรนในอารยธรรมตะวันตก ช่วยให้ชนชาติอเมริกันก้าวหน้ามาได้มากในการจัดตั้งวางระบบแบบแผนต่างๆ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและให้สังคมมีความเจริญมั่นคงในด้านรูปธรรม

แต่ความสำเร็จในทางสันติของอารยธรรมตะวันตกนั้น อยู่เพียงในขั้นป้องกันและคุ้มครองจากการรุกล้ำละเมิดกัน โดยมีกฎกติกาเป็นกรอบกั้น ซึ่งในแง่ดีก็นับว่าได้มีส่วนช่วยปกป้องสันติภาพให้แก่โลก พอจะมีหลักประกันให้มนุษย์มีอิสรภาพ คือ freedom จากการเบียดเบียนข่มเหงกันในขั้นสำคัญระดับหนึ่ง

แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะขจัดการแบ่งแยกในสังคมมนุษย์ ยังเป็นเพียงจริยธรรมเชิงลบ

ถ้าจะให้โลกมีสันติภาพที่ยั่งยืน ให้มนุษย์มีสันติสุขอย่างแท้จริง และมีอิสรภาพ คือ freedom ที่แท้ ซึ่งมิใช่เป็นอิสรภาพชนิดที่ต้องคอยป้องกันการรุกล้ำซึ่งกันและกัน มนุษย์จะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ให้ถึงหลักการที่จะอำนวยจริยธรรมเชิงบวก

พูดสั้นๆ ว่า อารยธรรมอเมริกันถนัดในการจัดวางระบบที่จะป้องกันคนที่แยกพวกกันไม่ให้รุกล้ำกัน แต่ไม่มีเครื่องมือที่จะทำให้คนที่แบ่งแยกกันนั้นเข้ามาประสานรวมเป็นอันเดียวกัน


ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา
ในภูมิหลังแห่งการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา


หันมามองดูประเทศพุทธศาสนาบ้าง ประเทศตะวันตกซึ่งผ่านประวัติศาสตร์แห่งการเบียดเบียนและสงครามศาสนามามากนั้นเอง ยอมรับกันทั่วไปอย่างชัดเจนว่า พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนา (ไม่มีทั้ง religious persecution และ religious war)

ในเรื่องนี้ จะไม่กล่าวถึงตนเอง แต่ยกคำในตำรับตำราของตะวันตกมาดู พอให้เห็นว่าเขามองพุทธศาสนาอย่างไร

Encyclopaedia Britannica, 1997 (ในคำ "matyr") กล่าวว่า

"พุทธศาสนา...โดยเด่นชัดว่าไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัด (persecution) หรือการขัดแย้งที่รุนแรงกับลัทธิศาสนาอื่นๆ..." สารานุกรมใหญ่ชุดเดียวกันนี้ (ในคำ "pacifism") นอกจากกล่าวถึงพุทธศาสนาแล้ว ยังกล่าวถึงนักปกครองผู้เป็นพุทธศาสนิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาช่วยให้แม้แต่กิจการของมนุษย์ด้านที่ถือกันว่าจะต้องใช้กำลังและความรุนแรงมากที่สุด ก็ยังกลายเป็นกิจการแห่งสันติไปได้ สารานุกรมนั้นกล่าวว่า

...ขบวนการใฝ่สันติ (หรือขบวนการสันตินิยม) ที่แท้ รายแรกเท่าที่รู้ มาจากพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดากำหนดให้สาวกทั้งหลายของพระองค์ งดเว้นโดยสิ้นเชิงจากการทำร้ายไม่ว่าด้วยประการใดๆ ต่อเพื่อนสัตวโลก ในอินเดีย มหาราชอโศกผู้ได้รับแรงดลใจจากพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสต์ศักราช ได้ละเลิกการสงครามอย่างเด็ดขาด...

Compton"s Interactive Encyclopedia, 1997 เมื่ออธิบายคำ "Pacifism" ก็กล่าวไว้ว่า

สันตินิยม ที่เป็นถ้อยคำ เพิ่งใช้กันเป็นสามัญเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 แต่สันตินิยมที่เป็นขบวนการนั้น มีอายุนานเท่าพระพุทธศาสนา...

เพื่อไม่ให้เนื้อเรื่องยืดยาว ขอกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า

๑. พุทธศาสนาไม่กำจัดกวาดล้าง หรือห้ำหั่นบีฑาใคร (persecution) และไม่มีสงครามศาสนากับใคร (religious war) แต่พุทธศาสนาก็ถูกกำจัดกวาดล้าง ซึ่งบางแห่งก็เป็นเหตุให้พุทธศาสนาสูญสิ้นไป

ก) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากการถูกกำจัดกวาดล้างได้

ข) พุทธศาสนาและชาวพุทธ ยังไม่สามารถชักจูงให้ชาวศาสนาอื่นละเลิกการห้ำหั่นบีฑาและการทำสงครามศาสนาได้

ในประเทศอินเดีย ถิ่นเกิดของพุทธศาสนาเอง ช่วงแรกพุทธศาสนาถูกกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจชาวศาสนาพราหมณ์ (ต่อมาคือฮินดู) กำจัดกวาดล้างหลายครั้ง


(มีต่อ ๔๙)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 10 ก.ย. 2007, 10:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เริ่มแต่เมื่อผ่านพ้นรัชสมัยพระเจ้าอโศกไปราวครึ่งศตวรรษ กษัตริย์พราหมณ์ราชวงศ์ศุงคะล้มราชวงศ์โมริยะ/เมารยะของพระเจ้าอโศกลง ตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนแล้ว ได้กำจัดกวาดล้างพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ และครองอำนาจอยู่ยาวนานประมาณ ๑ ศตวรรษ (ราว ๑๘๔-๗๒ ปี ก่อน ค.ศ.)

ครั้งหลังสุด ประมาณ ค.ศ.1200 (พ.ศ.๑๗๐๐) กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ยกมารุกรานแย่งชิงดินแดนถึงอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา นอกจากยึดครองบ้านเมืองแล้ว ก็แผ่ศาสนาอิสลามไปด้วย

กองทัพมุสลิมเตอร์กส์ได้บุกเผาวัดวาอาราม ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ฆ่าฟันชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ โดยบังคับให้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ดังตัวอย่างเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนั้น ที่นักประวัติศาสตร์มุสลิมเขียนไว้เองด้วยความภาคภูมิใจ และชาวตะวันตกได้แปลมาว่า

กลางเมืองนั้น มีวิหารหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตและมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าวิหารอื่นทั้งหลาย อันไม่อาจบรรยายหรือพรรณนาให้เห็นภาพได้

ดังนั้น สุลต่านจึงเขียนแสดงความรู้สึกทึ่งไว้ว่า : ถ้าบุคคลผู้ใดปรารถนาจะสร้างอาคารที่ใหญ่โตอย่างนี้ เขาจะมิอาจทำสำเร็จได้ หากมิใช้ทรัพย์เป็นแสนเหรียญแดง และถึงแม้จะใช้ช่างที่ชำนาญมีความสามารถที่สุด ก็จะต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐๐ ปี...

แล้วสุลต่านก็ออกคำสั่งให้เอาน้ำมันจุดไฟเผาวิหารทุกแห่งเสียให้ราบเรียบเสมอผืนแผ่นดิน...อิสลามหรือความตาย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นทางเลือกที่มหะมุดมอบให้แก่คนทั้งหลาย...ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นเป็นพราหมณ์ศีรษะโล้น (คือพระภิกษุ) คนเหล่านั้นถูกสังหาร

ณ ที่นั้นได้พบหนังสือจำนวนมากมาย และเมื่อชาวนักรบมูฮัมมัดได้เห็น จึงให้เรียกหาคนมาอธิบายเนื้อความ แต่คนเหล่านั้นได้ถูกฆ่าตายเสียหมดแล้ว ปรากฏว่าเมืองทั้งหมดนั้นคือสถานศึกษาแห่งหนึ่ง...

ประชาชนทั้งหลายนั้น บ้างก็ถูกเผา บ้างก็ถูกฆ่า...

ข้อนี้เป็นหลักการแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของข้าฯ นับแต่สมัยแห่งอาซาดุลลา ฆาลิบ จนถึงบัดนี้ ให้เปลี่ยนคนที่ไม่มีศรัทธาทั้งหลาย ให้หันมาถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว และพระศาสนาแห่งมุซุลมาน ถ้าคนเหล่านั้นยอมรับนับถือศาสนาของเรา ก็ถูกต้อง และเป็นการดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมรับ เราก็ลงดาบสังหารเขา...

กองทัพของมูฮัมมัดได้เริ่มฆ่าฟันสังหาร ทั้งข้างขวา ทั้งข้างซ้าย โดยมิต้องปรานี จนทั่วผืนแผ่นดินอันสกปรกนั้น เพื่ออิสลาม และโลหิตก็ได้หลั่งไหลดังสายธาร เหล่านักรบได้ขนรวมเอาทองและเงินมากมายสุดจะคิดคำนวณได้...

หลังจากฟาดฟันสังหารสุดจะคณนานับได้ มือของท่านและเหล่าสหาย ก็นับมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่ได้ขนรวมมา จนเหน็บจนชาไป

เมื่อได้มีชัยโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านก็กลับมาเล่าแถลงเรื่องราวแห่งชัยชนะที่ได้มาเพื่ออิสลาม ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็ได้พร้อมกันแสดงความชื่นชมยินดี และขอบคุณพระเจ้า"

นับแต่นั้น พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมา ๑๗๐๐ ปี ก็ได้สูญสิ้นไปจากชมพูทวีป

แต่ทั้งนี้ชาวพุทธจะต้องเข้าใจถึงความสูญสิ้นของพุทธศาสนานี้ ว่ามิใช่เพราะเหตุที่ถูกกองทัพมุสลิมทำลายอย่างเดียว แต่จะต้องมองถึงความเสื่อมโทรมในวงการพุทธศาสนาเองด้วย ซึ่งการทำลายของกองทัพมุสลิมนี้เป็นการลงดาบครั้งสุดท้าย

อีกทั้งจะต้องเรียนรู้กระบวนการของศาสนาฮินดูในการกลืนพุทธศาสนาประกอบด้วย

พึงสังเกตว่า กษัตริย์พราหมณ์ที่โค่นราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ก็คือพราหมณ์ที่เป็นอำมาตย์ข้าราชการในราชสำนักของราชวงศ์โมริยะ/เมารยะ ของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง

ในยุคราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าอโศกกษัตริย์พุทธได้เริ่มให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ และมิใช่เพียงให้เสรีภาพ แต่ยิ่งกว่านั้นอีก คือทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกลัทธิศาสนา ตลอดกระทั่งว่าพราหมณ์เองก็เป็นอำมาตย์ในราชสำนัก

แต่แล้วอำมาตย์พราหมณ์เหล่านี้ก็ทำลายราชวงศ์ของพระองค์ และเมื่อขึ้นครองอำนาจแล้ว ก็ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับการให้เสรีภาพและทำนุบำรุงทุกศาสนา คือกลับกำจัดกวาดล้างพุทธศาสนา ถึงขนาดที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ได้ให้ค่าหัวชาวพุทธทีเดียว


ประวัติศาสตร์สรุปว่า ชาวพุทธถูกห้ำหั่นบีฑา
แต่ไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ


เนื่องจากชาวพุทธถูกกำจัดกวาดล้างข้างเดียว ไม่ว่าจะโดยชาวฮินดูหรือโดยชาวมุสลิม จึงมีแต่การทำ persecution (ห้ำหั่นบีฑา) แก่ชาวพุทธ ไม่มี religious war คือไม่มีสงครามศาสนากับชาวพุทธ

เรื่องนี้ตรงข้ามกับชาวฮินดู เมื่อกองทัพมุสลิมยกเข้ารุกรานในอินเดียนั้น มิใช่เฉพาะกำจัดกวาดล้างชาวพุทธเท่านั้น แต่ได้กำจัดฮินดูด้วย

แต่ฮินดูมิได้หมดไปอย่างพุทธศาสนา ชาวฮินดูยังคงอยู่และได้รบกับชาวมุสลิมที่ปกครองอินเดียตลอดมาอีกราว ๕๐๐ ปี จนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไปด้วยกัน

(อินเดียอยู่ใต้อำนาจบริษัท East India Company ของอังกฤษเกือบทั้งหมดในปี 1773 และมาเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ.1858 จนกระทั่ง ค.ศ.1876 รัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศให้ราชินีวิกตอเรียเป็นพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย)

ต่อมาเมื่อต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ก็เริ่มวิวาทกันอีก จนเมื่อได้เป็นเอกราชใน ค.ศ.1947 ก็เลยต้องแยกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย (ฮินดู) กับปากีสถาน (มุสลิม)

ระหว่างที่ราชวงศ์มุสลิมปกครองอินเดีย ซึ่งมีการรบราฆ่าฟันสงครามกับนักรบฮินดูมาเรื่อยๆ นั้น แม้ผู้ปกครองมุสลิมจะต้องผ่อนเบาเอาใจฮินดูตามสมควร แต่บางครั้งก็ยังมีการกำจัดกวาดล้าง (persecution)

โดยเฉพาะครั้งใหญ่คือ ในรัชกาลพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb ค.ศ.1658-1707) ซึ่งเมื่อเห็นว่าตนมีอำนาจยิ่งใหญ่เข้มแข็งมากแล้ว ก็กำจัดกวาดล้างชาวฮินดูอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการก่อกบฏ ที่กลับทำให้ราชวงศ์โมกุลของตนอ่อนแอลงอย่างไม่ฟื้น จนในที่สุดก็เสียแก่อังกฤษ


(มีต่อ ๕๐)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ย. 2007, 9:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องทางด้านมุสลิมนี้ นอกจากในอินเดียที่ว่ามาแล้ว ก็เป็นที่รู้กันดีว่าได้มีเรื่อง persecution และ religious war และ holy war หรือ jihad มาตลอด ดังเช่น สงครามครูเสด (Crusades) เกือบ ๒๐๐ ปี กับประเทศคริสต์ในยุโรป การกำจัดกวาดล้างศาสนาโซโรอัสเตอร์ในอิหร่าน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 และการกำจัดกวาดล้างและสงครามกับพวกลัทธิ Babism (ที่มาของศาสนาบาไฮ/Baha"ism) ในอิหร่านเช่นเดียวกัน

ในช่วง ค.ศ.1848-1850 ในอินเดีย นอกจากรบกับฮินดูแล้ว ชาวมุสลิมก็รบกับพวกสิกข์ (Sikhs) เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงความเป็นมาในอัฟริกา (โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19) ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวในอิสราเอล กับกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจนปัจจุบัน

ฝรั่งหรือฝ่ายคริสต์มักพูดถึงศาสนาอิสลามว่า เผยแพร่ศาสนาด้วยคมดาบ (เช่น Encyclopaedia Britannica, 1997 คำ "Western Africa": "Islam has been spread by the sword, . . .")

แต่ทางฝ่ายชาวมุสลิมก็อ้างคัมภีร์อัลกุรอานที่สอนว่า "จงอย่าได้มีการบังคับในศาสนา" (There shall be no compulsion in religion.) และในข้อที่ว่าอิสลามให้ทำสงครามศาสนานั้น ปราชญ์มุสลิมปัจจุบันก็เน้นให้ตีความเป็นการทำสงครามต่อสู้กับกิเลสในจิตใจของตนเอง

ถ้ามีการเน้นให้สอนกันอย่างหลังนี้ และจำกัดกันไว้ให้ชัดเจนแน่นหนาได้จริง พร้อมทั้งมิให้มีการยกคำสอนใดๆ ในคัมภีร์ไปอ้างเพื่อการรบราฆ่าฟัน การสถาปนาสันติภาพในโลก และการสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ก็น่าจะมีทางเป็นไปได้

ในจีน พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานตั้งแต่ ค.ศ.77 (พ.ศ.๖๑๐) แต่เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็ถูกอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อขัดขวาง และใช้กำลังทำลายเป็นครั้งคราว

ที่เรียกว่าเป็น persecution คือ กำจัดกวาดล้าง ได้แก่ ใน ค.ศ.446 (พ.ศ.๙๘๙) และ ค.ศ.574-577 (พ.ศ.๑๑๑๗-๑๑๒๐) ในช่วงที่ ๒ นี้ มีการทำลายรุนแรง เช่น ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด บังคับพระภิกษุให้ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ทำลายพระพุทธรูปเอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ.845 (พ.ศ.๑๓๘๘) จักรพรรดิจีน (พระเจ้าบู่จง) ซึ่งทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้วดำเนินการทำลายพระพุทธศาสนา โดยทำลายวัดมากกว่า ๔,๖๐๐ แห่ง ทำลายเจดีย์วิหารกว่า ๔๐,๐๐๐ แห่ง ริบที่ดินวัด เผาคัมภีร์ หลอมพระพุทธรูป และบังคับภิกษุและภิกษุณีให้สึกมากกว่า ๒๖๐,๐๐๐ รูป

พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในจีนอย่างมากและยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่เจริญรุ่งเรืองนั้น ทางฝ่ายพุทธศาสนาไม่เคยกำจัดเบียดเบียนลัทธิศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เต๋า หรือลัทธิใด และเมื่อผ่านการถูกกำจัดไปแล้ว ก็มิได้ทำการแก้แค้น

คงเป็นเพราะเหตุนี้ วงการพุทธศาสนาจึงไม่มีคู่กรณีหรือคู่เวรกับลัทธิศาสนาใด ที่อาฆาตคั่งแค้นต่อสู้กันมาในประวัติศาสตร์ เหมือนดังในที่อื่นๆ (เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำข้างเดียว)

น่าสังเกตด้วยว่า ในจีนที่พุทธศาสนารุ่งเรืองต่อกันมายาวนานนี้ แม้เมื่อมีการกำจัดพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ก็ไม่ถึงขั้นมุ่งทำลายชีวิต ส่วนมากทำเพียงในขั้นให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา (อาจเป็นเพราะคนมีลักษณะผ่อนคลายความรุนแรงลงไป หรืออาจเป็นเพราะรู้อยู่ว่าถึงปล่อยให้มีชีวิตอยู่ ชาวพุทธก็จะไม่มาแก้แค้น)

ขอพูดถึงอินเดียและจีนเป็นตัวอย่างไว้เท่านี้ เรื่องราวที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ไทย จะไม่กล่าวถึง


ไม่มีการขัดแย้งโดยใช้กำลัง
ระหว่างต่างนิกายในพุทธศาสนา


๒. ในแง่การแตกแยกนิกาย พุทธศาสนาก็มีการแบ่งออกเป็นนิกายทั้งนิกายใหญ่และนิกายย่อย อย่างที่มีมหายานกับเถรวาท ดังที่ปรากฏอยู่ หรือจะนับวัชรยานแยกออกไปอีกก็ได้ และในนิกายใหญ่เหล่านี้ ก็ยังมีนิกายย่อยแยกออกไปอีก โดยเฉพาะในฝ่ายมหายาน ซึ่งมีนิกายสาขามากมาย

แต่ข้อที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะแตกแยกกันไปเท่าไร ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าประหัตประหารทำลายกัน อันต่างจากประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกอย่างไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกัน

กล่าวได้ว่า การแตกแยกและวิวาทกัน อยู่ในขอบเขตของการใช้วิธีการแห่งปัญญา ด้วยการพูดจาถกเถียงแสดงเหตุผล (หรือในบางยุคบางสมัยก็ไม่ใช้แม้แต่วิธีการแห่งปัญญา เพียงแต่ปล่อยเรื่อยๆ เฉื่อยๆ กันไป)

เมื่อมีการแตกแยก และจะแก้ไข หลักการแก้ไขก็คือการพยายามรักษาพระสัทธรรมซึ่งเป็นตัวหลักการที่แท้ไว้ ถ้าเป็นกรณีที่ใหญ่มากและสมควร ก็มีการสังคายนา

งานอย่างหนึ่งซึ่งมีการดำเนินการในบางคราว คือการประชุมสอบความรู้พระสงฆ์ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ เห็นผิด ก็ให้ลาสิกขาไป เพราะเมื่อไม่รู้และไม่ปฏิบัติตามหลักการของพระธรรมวินัย ก็ไม่มีสิทธิที่จะครองเพศแสดงตนว่าเป็นพระภิกษุ (ที่จริงก็คือเป็นภิกษุปลอม คือไม่ใช่ภิกษุจริง จึงควรจะปฏิบัติให้ตรงตามความจริง ด้วยการกลับออกไปเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่มาหลอกประชาชนอยู่)

แต่เกณฑ์ที่ใช้วัดนี้ มิใช่เรื่องง่าย จะต้องระวังให้มาก เพื่อให้ได้เครื่องวัดความรู้เข้าใจหลักการที่แท้จริง

การสอบความรู้พระภิกษุอย่างนี้ ครั้งใหญ่ที่สุดคงจะได้แก่ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่พระภิกษุผู้ไม่ผ่านการสอบต้องนุ่งผ้าขาวลาสิกขาไปประมาณ ๖๐,๐๐๐ รูป ถ้าถือว่าเป็นการลงโทษ นี่ก็คือการลงโทษที่รุนแรงในพุทธศาสนา แต่จะไม่มีการประหัตประหารกัน

ในประเทศไทยสมัยก่อน พระภิกษุผู้ทำผิดธรรมวินัยร้ายแรง เมื่อสึกออกมาแล้ว บางทีมีการลงอาญาแผ่นดิน เป็นโทษทางบ้านเมืองต่ออีก แต่ก็เป็นเรื่องกรณีทำความผิดของบุคคล ไม่ใช่การขัดแย้งทะเลาะวิวาทของหมู่ชน

แม้แต่เรื่องที่เล่ากันมาว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี

ก็เทียบไม่ได้เลยแม้เพียงกระผีกริ้นกับเหตุการณ์ที่เป็น persecution ในโลกตะวันตก


(มีต่อ ๕๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 17 ก.ย. 2007, 7:08 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อิทธิพลของหลักศาสนาต่อบทบาทของรัฐ
ในการส่งเสริมหรือกำจัดเสรีภาพทางศาสนา


๓. เมื่อยกเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นความแตกต่างที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่ง คือ ในยุโรป เมื่อกษัตริย์ที่นับถือลัทธิศาสนาใด หรือแม้แต่นิกายใดของศาสนาหนึ่งขึ้นปกครอง ก็มักจะต้องกำจัดกวาดล้างผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น หรือนิกายอื่นลงไป ซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์

เมื่อศาสนาคริสต์เกิดใหม่ จักรวรรดิโรมันก็กำจัดกวาดล้างศาสนาคริสต์ แต่พอจักรพรรดิโรมันเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทั้งอาณาจักรโรมันและศาสนจักรคริสต์ก็เริ่มงานกำจัดกวาดล้างลัทธิศาสนาอื่นตลอดมาจนสิ้นยุคปฏิรูป (ประมาณ ๑,๒๐๐ ปี) หรือจะดูในแต่ละประเทศย่อยๆ ลงมาก็มีสภาพการณ์อย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ฯลฯ

เมื่อหลายประเทศหรือหลายรัฐที่นับถือลัทธินิกายต่างกันมาอยู่ใกล้กัน หรือในประเทศเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง และผู้ปกครองคนใหม่นับถือลัทธินิกายต่างจากคนก่อน ก็เกิดการขัดแย้งรบราฆ่าฟันกัน กษัตริย์ที่นับถือต่างกันพาพลเมืองมารบกันบ้าง กษัตริย์นับถือต่างจากราษฎรก็กำจัดราษฎรต่างนิกายบ้าง

ถือกันเป็นเรื่องใหญ่ว่า กษัตริย์กับราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายเดียวกัน มิฉะนั้นจะต้องอยู่ด้วยกันไม่ได้ มีแม้กระทั่งการออกข้อบังคับให้ราษฎรต้องนับถือลัทธินิกายตามกษัตริย์ที่ปกครอง

ดังตัวอย่างในเยอรมนี พวกคาทอลิก กับโปรเตสแตนต์นิกายลูเธอแรน (Lutherans) รบกันเป็นสงครามศาสนากลางเมือง (religious civil war) เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี จนถึง ค.ศ.1555 จึงเซ็นสัญญาสงบศึกกัน (เรียกว่า Religious Peace of Augsburg)

สัญญาสงบศึกแห่งออกสเบิร์กนี้มีข้อกำหนดให้สิทธิแก่กษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เรียกว่า "cuius regio, eius religio" หมายความว่า ให้ผู้ปกครองของแต่ละรัฐ (เวลานั้นเยอรมนีมีประมาณ ๓๐๐ รัฐ) เป็นผู้เลือกว่าจะนับถือนิกายโรมันคาทอลิก หรือนิกายโปรเตสแตนต์ แล้วบังคับให้ราษฎรในรัฐของตนต้องนับถืออย่างนั้นตาม

แน่นอนว่า การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมทำให้ราษฎรเดือดร้อนยิ่งนัก

ต่อมาก็เกิดสงครามใหม่ ที่ใหญ่และขยายกว้างรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ยาวนาน ๓๐ ปีเช่นเดียวกัน ดังที่เรียกว่า สงคราม ๓๐ ปี/Thirty Years" War ค.ศ.1618-1648 ซึ่งจบลงด้วยสัญญาสงบศึกเวสต์ฟาเลีย/Peace of Westphalia ที่กำหนดใหม่ว่า ถ้าเจ้าองค์ใดเปลี่ยนศาสนาเจ้าองค์นั้นต้องสละแผ่นดิน

หันมาดูในประเทศพุทธศาสนา เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชครองมคธตลอดทั้งชมพูทวีป พอหันมานับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่พระเจ้าอโศกทำ หรือวิธีแสดงความนับถือพระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกก็คือ การแนะนำชักชวนให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองสามัคคี (สมวายะ) และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่นักบวชเป็นต้นในทุกลัทธิศาสนา และประชาชนทุกหมู่เหล่าก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันด้วยเรื่องศาสนา

เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับในประเทศตะวันตกโดยสิ้นเชิง

เป็นการแน่นอนที่ควรจะถามหาเหตุผลในเรื่องนี้ว่า ทำไม เมื่อกษัตริย์ในยุโรปที่นับถือลัทธินิกายหนึ่งขึ้นปกครอง หรือเมื่อลัทธินิกายหนึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ จะต้องหมายถึงการที่จะบังคับให้ประชาชนหันมานับถือลัทธินิกายนั้นอย่างเดียว และกำจัดกวาดล้างลัทธินิกายอื่นลง และทำไม เมื่อกษัตริย์ชาวพุทธขึ้นปกครอง หรือพุทธศาสนาได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติในอาณาจักรใด จึงหมายถึงการที่ลัทธิศาสนาและศาสนิกทั้งหลายทั้งปวงในอาณาจักรนั้น จะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงดูแลให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกัน

เรื่องนี้ตอบได้อย่างง่ายๆ โดยดูเพียงหลักการพื้นฐานก็เพียงพอ ยังไม่ต้องพิจารณาลึกลงไปถึงรายละเอียด พึงทราบว่า การนำหลักการที่ต่างกันมาแสดงไว้นี้ มิใช่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่าศาสนาไหนดีกว่าศาสนาไหน แต่เป็นเรื่องของการที่จะต้องศึกษาให้รู้เข้าใจว่า ปรากฏการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นๆ มีเหตุผลเป็นมาอย่างไร การนับถือศาสนา (แต่เดิม) ของตะวันตก หมายถึงการที่จะต้องนับถือพระผู้เป็นเจ้าของลัทธินิกายนั้นแต่พระองค์เดียว และต้องละเลิกการนับถือสิ่งอื่นทั้งหมด

(เช่น "Thou shalt have no other gods before me." -Exodus 20:3; "He that sacrificeth unto any god, save unto the LORD only, he shall be utterly destroyed. -Exodus 22:20)

พร้อมกันนั้น การนับถือพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้น ก็หมายถึงการที่จะต้องเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนที่เป็นเทวบัญชา (ตามการตีความของนิกายนั้นๆ) ของพระองค์ อย่างชนิดเป็นข้อกำหนดตายตัว ที่เรียกว่า dogma

อนึ่ง จุดมุ่งหมายในการสถาปนาศาสนาและลัทธินิกายนั้นขึ้นในสังคม ก็เพื่อให้ทุกคนในสังคมนั้นจะได้นับถือพระผู้เป็นเจ้า พระองค์นั้น และปฏิบัติตามเทวบัญชาของพระองค์อย่างเดียว ให้เป็นการแน่นอนเด็ดขาด ไม่กระจายออกไปอย่างอื่น

ทั้งนี้เป็นการสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่ศาสนา ที่ให้ไปทำให้คนทั้งหลายหันมานับถือพระผู้เป็นเจ้านั้น หรือเป็นสาวกของพระองค์

("Go therefore and make disciples of all nations, baptizing them in the name of the Father..." - Matthew 28:19-20 หรือ "Go ye into all the world, and preach the gospel to every creature. He that believeth and is baptized shall be saved; but he that believeth not shall be damned." - Mark 16:15-16)

หลักการที่ว่ามานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากองค์กรศาสนาคริสต์เคยสอนให้ถือคนนอกศาสนาเป็นพวกของซาตาน เป็นคนบาปที่จะต้องกำจัดแล้ว แม้แต่ชาวคริสต์เองที่นอกรีต (heretics) ก็จะต้องถูกกำจัดอย่างรุนแรงและเอาจริงเอาจัง ดังจะเห็นได้จากประวัติการกำจัดลัทธินอกรีต (heresy) เช่น การตั้งศาลไต่สวนศรัทธา/Inquisition ในช่วง ค.ศ.1231-1834 เป็นต้น


(มีต่อ ๕๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2007, 9:02 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตก นอกจากใช้วิธีบังคับแล้ว ก็ใช้วิธีล่อด้วยอามิสด้วย โดยเฉพาะเมื่อผ่านยุคอาณานิคมแล้ว ไม่อาจใช้วิธีบังคับด้วยกำลังรุนแรง การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศกำลัง/ด้อยพัฒนา ก็หันมาเน้นทางอามิสสงเคราะห์มากขึ้น

ส่วนการนับถือพุทธศาสนา หมายถึงการเพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนในการปฏิบัติตามหลักการที่พระพุทธเจ้าสอน โดยก้าวขึ้นไปจากพื้นฐานที่ตนเป็นอยู่ จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด

การปฏิบัติจะก้าวไปได้แค่ไหนเพียงไรย่อมขึ้นต่อสิกขาคือการศึกษา ที่จะต้องเรียนรู้ให้เกิดปัญญามองเห็น จึงจะปฏิบัติได้ถูกต้องและบรรลุผล เป็นธรรมดาของธรรมชาติว่า ปัญญานั้นเป็นคุณสมบัติที่ไม่อาจยัดเยียดใส่หรือบังคับให้เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องพัฒนาขึ้นมาด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ของแต่ละคน ซึ่งคนอื่นหรือศาสนาสามารถเกื้อหนุน

แต่จะช่วยได้แค่ไหนย่อมขึ้นต่อปัจจัยทั้งสองฝ่าย คือความพร้อมและความตั้งใจฝึกของตัวเขาเอง ฝ่ายหนึ่ง และสติปัญญาความสามารถพร้อมทั้งความใส่ใจตั้งใจในการช่วยเหลือของผู้ที่เข้ามาเป็นกัลยาณมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้หมายความว่า กัลยาณมิตรนั้นจะต้องเพียรพยายามช่วยเหลือเขาด้วยเมตตากรุณา และต้องพัฒนาความสามารถในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ได้ผล

การที่จะบังคับให้เขารู้เข้าใจย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือจะให้อามิส ปัญญาก็เกิดไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้จะเอาในแง่ศรัทธา ไม่ว่าจะใช้อามิสล่อ หรือจะไปบังคับให้เขาเชื่อก็ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นของแท้จริง อนึ่ง จุดมุ่งหมายของการสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นในสังคมก็เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน คือเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ตัวเขาเอง ไม่พูดถึงการที่เขาจะมานับถือหรือเป็นพวกของเราหรือไม่

ทั้งนี้ คำกล่าวที่แสดงจุดมุ่งหมายในการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในสังคมก็ตาม ในการเผยแผ่พุทธศาสนาก็ตาม มีข้อความอย่างเดียวกัน ดังพระดำรัสส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเมตตาการุณย์แก่ชาวโลก ("จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย" - วินย.๔/๓๒; ตัวพุทธศาสนาเองก็ดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนี้ เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๗; ที.ปา.๑๑/๑๐๘, ๒๒๕)

หลักการนี้ถือว่า พุทธศาสนามิใช่มีอยู่เพื่อตัวของพุทธศาสนาเอง แต่พุทธศาสนามีอยู่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือเพื่อมวลมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น


ในประเพณีพุทธ การคุ้มครองศาสนา
คือให้ปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ว่าตนนับถืออย่างไร


พูดสั้นๆ ว่า ตามคติของตะวันตก การที่ศาสนาหรือลัทธินิกายใดขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คือ การที่จะต้องเลิกอย่างอื่นมาเอาลัทธิศาสนาหรือนิกายนั้นไว้อย่างเดียว

แต่ตามคติของกษัตริย์ชาวพุทธ การที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หมายถึงการยอมรับที่จะนำเอาหลักพุทธธรรมแห่งการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนมาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ให้เกิดผลแก่ประเทศชาติทั่วทั้งหมด

ขอให้สังเกตเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงไว้อย่างหนึ่ง คือ ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาว่าด้วยหน้าที่ของกษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและนักบวช จะใช้คำกลางๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะพุทธศาสนาและพระภิกษุในพุทธศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ในจักรวรรดิวัตร คือการบำเพ็ญราชกิจของจักรพรรดิราช ก็จะกล่าวถึงแต่หลักการ คือ "ธรรม" และกล่าวถึงนักบวชว่า "สมณพราหมณ์" ซึ่งเป็นคำกลางๆ หมายถึงนักบวชทุกประเภทในชมพูทวีป ดังข้อความว่า

ท่านจงอาศัยธรรม เคารพนับถือบูชาธรรม... ถือธรรมเป็นใหญ่ จงจัดความดูแลคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม... แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย... สมณพราหมณ์เหล่าใด ในแว่นแคว้น ที่เว้นจากความมัวเมาประมาท... ท่านจงเข้าไปหาและปรึกษาสอบถามสมณพราหมณ์เหล่านั้น โดยสม่ำเสมอ ว่าอะไรดี อะไรชั่ว..." (ที.ปา.๑๑/๓๕)

แม้แต่ข้อปฏิบัติหรือกิจหน้าที่ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป ในการอยู่ร่วมสังคม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านศาสนา คำสอนในพุทธศาสนาก็ให้ชาวบ้านอุปถัมภ์บำรุง "สมณพราหมณ์" อย่างเป็นกลางๆ โดยกล่าวว่า

"กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบนโดยฐานะ ๕..." (ที.ปา.๑๑/๒๐๔)

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หลักการของพุทธศาสนาเปิดกว้างอยู่ในตัวเอง ที่ทำให้ชาวพุทธ เมื่อนับถือพุทธศาสนาแล้ว แทนที่จะจำกัดตัวแคบเข้ามา กลับยิ่งเปิดตัวเปิดใจและเปิดปัญญากว้างออกไป

ว่าที่จริง เดิมทีเดียว ในคริสต์ศาสนาเอง เมื่อเริ่มต้นเผยแพร่ ยังไม่มีกำลัง และยังเป็นฝ่ายถูกกำจัดกวาดล้างอยู่ การถือนอกรีต (heresy) มีโทษเพียงถูกขับออกจากศาสนจักร หรือตัดออกจากความเป็นศาสนิก (excommunication, บางทีแปลกันว่า "การคว่ำบาตร" ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกันแท้)

แต่ต่อมา เมื่อองค์กรศาสนาคริสต์เข้าไปมีอำนาจในการเมือง ตั้งแต่หลัง ค.ศ.300 เป็นต้นมา การลงโทษและกำจัดกวาดล้างคนนอกรีตก็เป็นไปอย่างรุนแรง ถึงขั้นเผาทั้งเป็น


(มีต่อ ๕๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ย. 2007, 7:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในพุทธศาสนา การลงโทษเนื่องจากการถือนอกรีต (heresy) ที่เหมือนอย่างของตะวันตกแท้ๆ ไม่มี เรื่องที่อาจยกมาเทียบเคียงได้บ้าง คือ เมื่อมีผู้กล่าวร้ายอย่างที่เรียกว่า จ้วงจาบต่อพระพุทธศาสนา (เรียกตามคำบาลีว่า ปรัปวาท) วิธีปฏิบัติก็คือ ชี้แจงอธิบาย หรือแสดงความจริงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

การลงโทษอาจมีได้ในกรณีที่บุคคลผู้เป็นพุทธศาสนิกชนเอง คือ อุบาสกอุบาสิกา กระทำการกลั่นแกล้ง ตัดรอน ด่าว่า ยุยงภิกษุทั้งหลาย หรือกล่าวติเตียนพระรัตนตรัย สงฆ์อาจประชุมกันลงมติคว่ำบาตร คือไม่คบหาบุคคลผู้นั้น

อย่างไรก็ดี ในพระพุทธศาสนามีชุมชนพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งคือ สังฆะ หรือสงฆ์ สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาแล้ว และมีคุณสมบัติพร้อม จะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เรียกว่าบวชเป็นภิกษุ (หรือภิกษุณี) เพื่อดำเนินชีวิต และประพฤติปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้

ผู้ที่บวชเข้ามา ก็คือผู้ที่ได้ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา(แบบนั้น)แล้ว และแสดงความสมัครใจที่จะปฏิบัติตามกฎกติกา คือวินัยของสังฆะ ดังนั้น ถ้าทำความผิดร้ายแรงละเมิดกฎที่วางไว้ หรือออกนอกหลักการไปถือลัทธิอื่น (เรียกว่าไปเข้ารีตเดียรถีย์) สงฆ์สามารถลงโทษโดยให้สึก คือสละเพศภิกษุเสีย

การให้สึก หรือสละเพศนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา

ว่าที่จริง การให้สึกหรือสละเพศนี้ ไม่ใช่เป็นการลงโทษด้วยซ้ำ แต่เป็นปฏิบัติการที่ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง

หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว หรือละเมิดกติกาที่ทำให้หมดสิทธิที่จะอยู่ร่วมสังฆะนั้นแล้ว เขาก็ย่อมจะต้องสละออกนอกสังฆะนั้นไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น การสึก หรือสละเพศ ก็คือการแสดงความซื่อสัตย์ปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง และเป็นปฏิบัติการที่ยุติธรรมต่อชุมชนที่ตนไม่มีสิทธิ หรือไม่สมัครใจจะอยู่ร่วมด้วยแล้วนั่นเอง เป็นการไม่เอาเปรียบ หรือถือโอกาสเอารูปแบบของชุมชนนั้นมาใช้สนองผลประโยชน์ส่วนตัว

จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด ที่บุคคลผู้ไม่ยอมรับหลักการของสังฆะนั้น หรือไม่ยอมรับสังฆะนั้นแล้ว จะยังบอกว่าตนอยู่ในสังฆะนั้น ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นการแอบแฝง หรือหลอกลวง

ยิ่งถ้าอ้างเสรีภาพทางศาสนา ก็ยิ่งแปลกประหลาดหนักเข้าไปอีก เพราะถ้าอ้างก็ไม่ใช่เสรีภาพในการนับถือศาสนา

แต่กลายเป็นเสรีภาพในการทำลายศาสนา

จุดสำคัญในเรื่องนี้ คือ แม้แต่การให้สึก ที่พูดกันว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็เป็นเพียง

๑. การมีเสรีภาพอันแท้จริง ที่จะปฏิบัติให้ตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง

๒. ไม่มีการลงโทษใดๆ ในพุทธศาสนา ที่กระทบกระเทือนถึงชีวิต หรือแม้แต่ทำให้เจ็บช้ำร่างกาย

น่าชมฝรั่งดี ที่มีความใฝ่รู้ ทำให้พบเรื่องพระเจ้าอโศก

น่าเห็นใจฝรั่ง ที่ไม่มีพื้นฐาน ต้องใช้เวลานานจึงเข้าใจอโศก

ขอย้อนกลับไปพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชเพิ่มเติมว่า

เมื่อครั้งมีการศึกษาเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชกันใหม่ๆ ตอนนั้นยังค้นพบศิลาจารึกอโศกไม่ได้มากอย่างปัจจุบัน นักปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวตะวันตก (เรื่องพระเจ้าอโศก และจารึกอโศก ฝรั่งเป็นผู้เริ่มต้นขึ้น) อ่านจารึกอโศกแล้ว เห็นว่ามีเนื้อความสอนเรื่องการทำความดีต่างๆ โดยไม่ได้มีคำระบุถึงพุทธศาสนา

บางพวกก็ลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเป็นพิเศษกว่าศาสนาอื่นๆ หรอก พระองค์ก็ทรงปฏิบัติดีและอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนาเหมือนกัน (คล้ายกับบอกว่าชาวพุทธตู่เอาเองว่า พระเจ้าอโศกนับถือพุทธศาสนา)

แต่ต่อมาเมื่อมีการค้นพบศิลาจารึกทั่วถึงมากขึ้น พร้อมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่ระบุหรือแสดงชัดว่าพระเจ้าอโศกทรงนับถือพุทธศาสนา เสียงนั้นจึงหายไป เวลานี้ตำรับตำราต่างๆ ก็เขียนลงกันทั่วไปว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพุทธศาสนา

ถึงกระนั้นก็ตาม ฝรั่งก็ยังตั้งแง่อีกว่า ถึงแม้พระเจ้าอโศกจะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ทรงถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังจะเห็นว่า เมื่อทรงทำศิลาจารึกสั่งสอนแนะนำประชาชน ก็ทรงกล่าวถึงการทำความดีเป็นกลางๆ โดยไม่ได้อ้างพุทธศาสนา

การที่ฝรั่งเข้าใจอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ก็เพราะเขาอยู่ใต้อิทธิพลแห่งภูมิหลังทางวัฒนธรรมตามประวัติศาสตร์ของตะวันตก ที่เรื่องของความเชื่อถือ คำสอนและการปฏิบัติเป็น dogma คือเป็นข้อกำหนดตายตัว เป็นเทวบัญชาออกมา จะต้องหมั่นกล่าวถึงพระเป็นเจ้าและคอยอ้างอิงโองการของพระองค์อยู่ไม่ให้ขาด

เขาไม่เข้าใจความรู้สึก ไม่รู้จักวิธีคิดและวิธีแสดงออกแบบพุทธ เช่นว่า

ก) คำสอนในทางพุทธศาสนาเป็นการพูดถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ และกล่าวถึงความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น

ตำรับตำราในพุทธศาสนาบางทีทั้งบททั้งตอนกล่าวถึงธรรมคือหลักการหรือหลักความจริง พร้อมทั้งอธิบายขยายความไป จนจบบทจบตอน โดยไม่เอ่ยถึงพระพุทธเจ้าเลยก็มี

(ตำราหรือคัมภีร์เหล่านี้ เมื่อแปลเป็นภาษาไทย ได้มีความนิยมสืบต่อกันมาว่า ผู้แปลจะเติมนามของท่านผู้กล่าวหรืออธิบายความนั้นไว้ด้วย เช่นเติมคำว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า" เป็นต้น)


(มีต่อ ๕๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.ย. 2007, 8:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปัจจุบัน ในประเทศไทยนี้เองก็เห็นได้ชัด มีการนำหลักธรรมในพุทธศาสนา ไปจัดวางเป็นหลักการบางอย่างบ้าง นำไปอธิบายขยายความบ้าง บางทีเลือกเอาบางส่วนบางข้อไปใช้บ้าง โดยไม่บอกเลยว่ามาจากพุทธศาสนา ซึ่งบางทีก็ไปไกลกว่าวิธีของพระเจ้าอโศก

ว่าที่จริง เวลานี้ในทางวิชาการก็ถือกันนักว่า เมื่อนำวาทะของใครมากล่าว ก็ควรอ้างแหล่งที่มาไว้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ทางวิชาการ เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านผู้กล่าว และเพื่อแสดงว่าข้อเขียนนั้นมีหลักฐานที่มาที่ไป ไม่เลื่อนลอย

ไฉนเราจะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาว่าเอาตามชอบใจ เหมือนดังไม่เคารพพระองค์

ถ้าทำกันอย่างนี้ ก็จะมีผู้ตำหนิได้ว่า ทีวาทะของปราชญ์ตะวันตกละก็ชอบอ้างชื่อเขานัก แต่วจนะของพระพุทธเจ้ากลับแกล้งละเลย ไม่ยอมอ้างอิง (ยิ่งกว่านั้น บางทียังเอาไปตัดต่อดัดแปลงตามความคิดของตนเอง หรือตามชอบใจอีกด้วย ทำให้เกิดความผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์)

ข) สืบเนื่องจากข้อก่อน หลักคำสอนในพุทธศาสนาจึงไม่เป็น dogma คือไม่เป็นข้อกำหนดตายตัว ที่บังคับให้ต้องเชื่อถือปฏิบัติโดยไม่อาจถามหรือสงสัยได้ คือไม่ต้องนำเสนอในรูปแบบของคำสั่งหรือคำบัญชาจากท่านผู้เป็นเจ้าของอำนาจท่านนั้นท่านนี้ จึงมีการนำหลักธรรมมาสั่งสอนอธิบายกันอย่างเป็นอิสระมาก (ซึ่งก็เสี่ยงอันตรายต่อการที่จะมีการดัดแปลงคำสอน) จนไปๆ มาๆ ดังที่ปรากฏในเมืองไทยเวลานี้ กลายเป็นธรรมะของพระอาจารย์องค์นั้น ธรรมะของพระอาจารย์องค์นี้ แทนที่จะเป็นของพระพุทธเจ้า (สำหรับของพระเจ้าอโศก ฝรั่งบางคนก็ใช้ทำนองนั้นเหมือนกันว่า Asoka's Dharma)

ค) ฝรั่งเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยการตรวจสอบสืบค้นอย่างเพียงพอ เมื่อไม่มีการอ้างอิงไว้ในศิลาจารึกเอง เราจะต้องนำหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่แนะนำไว้ในจารึกอโศกนั้น มาสืบค้นดูในคัมภีร์พุทธศาสนา โดยเฉพาะคือพระไตรปิฎก ให้กว้างขวางเพียงพอ จึงจะบอกได้ว่าส่วนไหนมาจากคำสอนในคัมภีร์แห่งใด

มีทางเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ก่อนจะมาถึงศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ คำสอนในพระไตรปิฎก ได้ออกมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวพุทธที่สืบต่อกันมาเป็นปกติอยู่ก่อนแล้ว จากสภาพพื้นเพภูมิหลังอย่างนั้น จึงมาถ่ายทอดออกในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ดีที่ตนมีที่ชาวพุทธไทยจะให้แก่โลกได้

๔. สมควรยิ่งที่จะกล่าวเตือนว่า ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่เห็นคุณค่าและไม่ใส่ใจที่จะมองดูคุณค่าของสิ่งดีที่ตนมี ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงพระพุทธศาสนาในแง่ที่สัมพันธ์กับการแก้ปัญหาความแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ ดังที่ได้กล่าวมา และไม่ใส่ใจสังเกตแม้แต่การที่คนภายนอก เช่นพวกชาวตะวันตกที่มีภูมิหลังต่างจากเรา มามองเห็นคุณค่าของสิ่งดีที่เรามีนั้นอย่างไร

เพราะเหตุที่ชาวตะวันตกมีภูมิหลังต่างจากเรานั่นเอง เขาจึงมองเห็นความแตกต่างที่เป็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาข้อนี้ได้ชัดเจน คือการที่พุทธศาสนาไม่มีประวัติแห่งการบีบคั้นกำจัดผู้ไม่เชื่อ หรือผู้นับถือศาสนาอื่น (persecution) และไม่มีสงครามศาสนา (religious war) อันเป็นประวัติที่ตรงข้ามจากศาสนาของเขา

เมื่อเขาเห็นคุณค่าจากความแตกต่างนี้แล้ว เขาก็จะต้องถามต่อไปว่า เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุใด ถึงตอนนี้ก็เป็นวาระที่ชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทย จะต้องให้คำตอบ

ถ้าชาวพุทธจะแสดงภูมิปัญญา และจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ชาวพุทธไทยควรจะต้องมีคำตอบในเรื่องนี้ที่จะให้แก่โลก

ถ้ามิฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หรือถึงกับน่าอับอายว่า ทั้งที่ตนเองอยู่กับพระพุทธศาสนา และคนข้างนอกเขามาเห็นคุณค่า ในขณะที่เขาต้องการสิ่งที่ตนมีที่จะให้แก่เขาได้ ก็ยังไม่รู้และไม่ใส่ใจแล้ว จะไปทำอะไรอื่นให้แก่ส่วนรวมของโลกได้อีก

การรู้เข้าใจเรื่องนี้ จะโยงไปเองถึงการที่เราจะรู้เข้าใจอารยธรรมตะวันตกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะดำรงอยู่อย่างผู้มีการศึกษา และเป็นส่วนร่วมอันมีค่าในอารยธรรมของโลก

การที่ต้องรู้จักเขาอย่างนี้ มิใช่เพื่อจะไปติเตียนต่อว่า แต่เพื่อเข้าใจเขาตามเป็นจริง และจะได้วางท่าที ตลอดจนปฏิบัติต่อปรากฏการณ์สืบเนื่องต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในโลกและมาเกี่ยวข้องกับเราด้วย ได้อย่างฉลาดและมีผลดี

ขอย้ำคำถาม ๒ ข้อว่า

๑) เหตุใดพุทธศาสนาจึงไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกำจัดบีบคั้นห้ำหั่นบีฑา (persecution) และสงครามศาสนา (religious war)

๒) มีหลักการอะไรบ้างที่พุทธศาสนาสามารถนำเสนอ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายล้างกันในหมู่มนุษย์

อาจจะต้องตอบเพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ

๑) เหตุใดในประวัติศาสตร์แห่งอดีต พุทธศาสนาจึงไม่สามารถรักษาตนให้หลุดรอดจากการถูกบีบคั้นกำจัดในทางศาสนา (religious persecution)

๒) พุทธศาสนาสามารถทำได้เพียงใด ในการที่จะชักจูงให้ลัทธิศาสนาทั้งหลายละเลิกการเบียดเบียนบีฑาทางศาสนา และหันมาดำเนินในทางแห่งความปรองดองสามัคคี

ในที่สุด พุทธศาสนิกชนควรจะยอมรับจุดอ่อนในวงการชาวพุทธ โดยเฉพาะชาวพุทธไทยยุคปัจจุบัน ที่มองศาสนาของตนว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา และมีความใจกว้าง ให้เสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ แต่ท่าทีนี้กลายเป็นความเรื่อยเปื่อย ไม่จริงจัง อย่างไรก็ได้ ไม่มีหลักการและข้อปฏิบัติอันชัดเจน ที่จะแสดงถึงความเป็นชาวพุทธ เลยกลายเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอ กระจัด กระจาย รวมกันไม่ติด และตกอยู่ในความประมาท

ยิ่งได้อยู่มาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สุขสบาย และมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ขาดแรงบีบคั้นเร่งรัดจากภาวะทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ยิ่งมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา เพลิดเพลิน ติดจมในความประมาทยิ่งขึ้น


(มีต่อ ๕๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2007, 8:11 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปัญญานั้นคู่กับศรัทธา เรารู้กันดีว่า ศรัทธาทำให้มีกำลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนและพุ่งไป ทำให้เข้มแข็งจริงจัง แต่ก็อาจจะเกินเลยไปโดยง่าย และกลายเป็นความรุนแรง ดังที่ได้เป็นเหตุสำคัญของการบีบคั้นเบียดเบียน ขัดแย้ง และสงครามศาสนามากมายในประวัติศาสตร์

ท่านจึงให้ศรัทธานั้นมาด้วยกันกับปัญญา และมีปัญญาคุม เพื่อไม่ให้เป็นความงมงาย กลายเป็นกำลังของคนตาบอด ถูกล่อหลอกชักจูงไป หรือต้องคอยพึ่งพา

แต่ในทำนองเดียวกัน ปัญญาก็ควรจะมีศรัทธามาช่วยเริ่มตั้งต้นจับจุดให้ และเสริมกำลังให้เจาะลึกจริงจัง เพื่อมิให้กลายเป็นคนชนิดที่ปัญญาแท้ก็ยังไม่มี ได้แต่จับจด ฉาบฉวย แตะอะไรๆ อย่างผิวเผิน แค่ผ่านๆ

จึงควรนำหลักความเสมอพอดีกันแห่งอินทรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะศรัทธากับปัญญา มาปฏิบัติกันในชีวิตจริง ให้ชาวพุทธไทยได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นเพียงผู้มีความภูมิใจที่เลื่อนลอย รู้จักพระพุทธศาสนาก็ไม่จริง มีแต่จะพาให้ทั้งพุทธศาสนาและสังคมเสื่อมโทรมลงไปๆ

ได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ในการขัดแย้งตลอดจนสงครามที่มีเรื่องศาสนาเกี่ยวข้องนั้น จะต้องแยกให้ดี ระหว่างการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวก กับการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างศาสนา เพราะถ้าแยกไม่ได้ก็จะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกที่ และอาจจะทำให้ยิ่งสับสนมากขึ้น

บางครั้งบางกรณีจากจุดเริ่มที่เป็นเพียงปัญหาความต่างพวก แต่ต่อมาปัญหาความต่างศาสนาก็เข้าไปผสม ทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ชนชาติหรือเผ่าชนต่างๆ อยู่ประจำในถิ่นฐานเฉพาะลงตัวแล้ว พร้อมทั้งได้มีการนับถือศาสนาหรือลัทธินิกายอันใดอันหนึ่งต่อเนื่องมานานจนแน่นอนลงไป และเกิดความยึดถือลัทธิศาสนานั้นเป็นของตนพวกตน หรือผนวกการนับถือลัทธิศาสนานั้นๆ เข้ากับความเป็นพวกตนและพวกนั้นพวกนี้แล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่การขัดแย้งสู้รบจะมีทั้งปัญหาความต่างพวก และปัญหาความต่างศาสนาปนเปไปด้วยกัน แล้วซ้ำเติมกันให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ในที่นี้จะเสนอข้อพิจารณาเพื่อการแก้ไขปัญหาจากแต่ละด้านไปบรรจบกัน ดังนี้

๑. ปฏิบัติต่อทิฏฐิให้ถูกต้อง จุดที่สนใจกันมากว่าเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งสู้รบกัน ก็คือความขาดขันติธรรม (ขาด tolerance คือ intolerance) โดยเฉพาะชาวตะวันตกปัจจุบันจะมองเน้นที่จุดนี้

แต่ที่จริงควรจะสนใจและต้องแก้ไขที่จุดต้นตอ ที่เป็นสาเหตุของความขาดขันติธรรมนั้น มิฉะนั้นการแก้ปัญหาจะทำได้เพียงแค่ให้ยอมรับและยึดถือกฎกติกาในการที่จะไม่รุกล้ำละเมิดกัน อย่างที่พยายามปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งไม่ได้ผลจริง และฝืนใจ ไม่ยั่งยืน

ตัวมูลเหตุต้นตอของความขาดขันติธรรมที่สำคัญ คือทิฏฐิ ได้แก่ความเชื่อ ความยึดถือ การมองความจริงไปตามที่ถูกสั่งสอน ซึ่งอาจจะมาจากข้อกำหนดในลัทธิศาสนา

ตัวอย่าง เช่น ความยึดถือว่า คนที่ไม่นับถือเทพเจ้าของตนเป็นคนบาป หรือเป็นศัตรูของเทพเจ้า ซึ่งจะต้องกำจัด ความเชื่อว่าการทำลายคนนอกศาสนาของตนเป็นความดีงาม หรือเป็นการกระทำที่จะได้รับความโปรดปราน ตลอดจนเชื่อว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องไปกำจัดคนที่นับถือเชื่อถืออย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเชื่อหรือมีทิฏฐิอย่างข้างต้นนี้อยู่ ความขาดขันติธรรมก็แก้ไม่ได้จริง การใช้กฎกติกา อย่างเช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน (human rights) ก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง อย่างดีก็ต้องอาศัยการสะสมกำลังไว้ยับยั้งกันตามระบบ deterrence ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน

แต่ถ้าปัญหาไม่มีเรื่องทิฏฐินี้เป็นต้นตอแล้ว การขาดขันติธรรม (intolerance) ก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก เรามีสิทธิแม้แต่จะเชื่อว่า เขาเห็นผิด ว่าการที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้เป็นบาป หรือแม้แต่เชื่อว่าการที่เขาไม่นับถือไม่ปฏิบัติอย่างเราเป็นบาป แต่จุดสำคัญอยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเขา

หมายความว่า เมื่อเชื่อว่าเขาเห็นผิด มีบาปแล้ว แทนที่จะคิดกำจัด ควรจะมีท่าทีสงสารอยากให้เขาเปลี่ยนมาเห็นถูก และปฏิบัติต่อเขาด้วยเมตตาโดยวิธีการแห่งปัญญา คือชี้แจงแนะนำ พูดจาสนทนาด้วยเหตุผล ตลอดจนถกเถียงกัน ซึ่งเป็นการให้การศึกษาแก่เขา และจะทำได้แค่ไหน ก็สุดแต่ความสามารถของเรา แต่ไม่มองเขาเป็นปฏิปักษ์ และไม่ใช้กำลังบังคับหรือประหัตประหารกัน คือมีท่าทีเป็นมิตร และใช้วิธีการแห่งปัญญา

เรื่องนี้แยกสั้นๆ เป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นที่ ๑ เชื่อว่า หรือถือว่า การที่เขานับถือหรือปฏิบัติอย่างนั้นเป็นการเห็นผิด หรือเป็นบาป ฯลฯ (ก็แล้วแต่)

ขั้นที่ ๒ ก) มีท่าทีเป็นมิตร สงสารอยากช่วยให้เขาพ้นจากบาปหรือจากความเห็นผิดนั้น

ข) ปฏิบัติการด้วยการแนะนำสั่งสอน ให้ความรู้ สนทนาถกเถียง ด้วยวิธีการแห่งปัญญา

๒. ไม่เอาความต่างศาสนามาซ้ำเติมความต่างพวก ในกรณีที่เกิดการขัดแย้งสู้รบเพราะความต่างพวก เช่น เกิดจากปัญหาเชื้อชาติ ผิว เผ่าพันธุ์ เป็นต้น และแม้แต่การแยกพวกเพราะนับถือศาสนาต่างกัน

ก) พยายามกันไม่ให้ปัญหาความต่างศาสนาเข้าไปผสมซ้ำเติมความขัดแย้งนั้น

นอกจากไม่นำเอาความต่างศาสนาเข้าไปเสริมเรื่องแล้ว ต้องไม่ให้มีโอกาสที่จะนำเอาคำสอนในศาสนาไปอ้าง เพื่อหนุนการขัดแย้งหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน

ข) ในทางตรงข้าม คำสอนในศาสนาควรจะถูกยกมาอ้างในทางที่จะช่วยแก้ไขผ่อนเบาความขัดแย้ง และระงับปัญหา

๓. สร้างจิตสำนึกใหม่ในการรวมหมู่ของมนุษย์ เมื่อแยกความต่างศาสนาออกมาจากความต่างพวกได้ คือไม่ให้มีข้ออ้างหรือหลักการใดๆ ในศาสนาที่จะไปยืนยันส่งเสริมการขัดแย้งสู้รบ และพยายามนำคำสอนในศาสนามาช่วยผ่อนเบาหรือระงับการพิพาทนั้นแล้ว ปัญหาก็จะไม่ซับซ้อน เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะเหลืออยู่แต่เพียงปัญหาการขัดแย้งสู้รบกันเพราะความต่างพวกอย่างเดียว


(มีต่อ ๕๖)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2007, 12:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เราได้เห็นกันชัดๆ ว่า บางทีศาสนาก็ถูกนำมาอ้างหรือใช้ประโยชน์เพื่อสนองจุดหมายที่ย้อนกระแสการพัฒนามนุษย์อย่างนี้

ที่ว่ามานี้คือจุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์การพัฒนามนุษย์ด้วย ว่าเมื่อโลกทางด้านสิ่งแวดล้อม (ทั้งทางธรรมชาติ ทางเทคโนโลยี และทางระบบจัดการสังคม) ขยายความสัมพันธ์ถึงกันเป็นอันเดียวทั่วโลก อย่างที่เรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ เป็นภาวะไร้พรมแดนแล้ว มนุษย์จะพัฒนาจิตใจให้กว้างขวาง มีเมตตาไมตรีที่เชื่อมสัมพันธ์ให้รวมเป็นชุมชนมนุษยชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีปัญญาที่มองเห็นความจริงอย่างเป็นอิสระไร้พรมแดนได้หรือไม่

การแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกของมนุษย์ จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้

๔. พัฒนาภาวะจิตใจไร้พรมแดน ความสำเร็จของการแก้ปัญหาอยู่ที่ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์ ถ้าการศึกษาถูกต้อง เป็นสิกขาจริง มนุษย์ยิ่งพัฒนาไป ก็ยิ่งหลุดพ้นจากความคับแคบที่เกิดจากความยึดถือตัวตนของตน ที่ทำให้แยกตัวออกจากกัน ความต่างพวกก็จะไม่มี และเมื่อการยึดถือความต่างพวกไม่มี ปัญหาความขัดแย้งแบ่งพวกก็หมดไป

มนุษย์ยิ่งพัฒนา ก็ยิ่งขยายความรู้สึกนึกคิด ขยายจิตใจ ขยายปัญญากว้างขวาง พ้นความคับแคบแบ่งแยก สู่ความเป็นกลาง ที่ประสานกับความจริงของสัจธรรมในธรรมชาติยิ่งขึ้น และพฤติกรรมของเขาก็จะประสานกลมกลืนยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมนุษย์พัฒนามากขึ้น เขาก็จะหลุดพ้นจากความยึดถือคับแคบ ขยายจิตปัญญาและพฤติกรรมให้กว้างขวางออกไป โดยพ้นจากสภาพจิตคับแคบยึดถือที่เรียกว่า มัจฉริยะ คือความใจแคบหวงแหนกีดกัน ๕ ประการ ไปทีละน้อย จนหมดสิ้น

มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ จะเป็นตัวตัดสินการพัฒนามนุษย์ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ว่าจะสำเร็จหรือไม่

มัจฉริยะ ๕ ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์ในแง่นี้ คือ

๑. ความหวงกั้นถิ่นอาศัย คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศ ท้องถิ่น ดินแดน (อาวาสมัจฉริยะ)

๒. ความหวงกั้นกลุ่มพวก คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องพรรคพวก พงศ์เผ่า เหล่ากอ ชาติพันธุ์ การแบ่งแยกพวกหมู่เป็นกลุ่มผิว กลุ่มเผ่า กลุ่มลัทธิศาสนาต่างๆ (กุลมัจฉริยะ)

๓. ความหวงกั้นลาภผล คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องลาภ ทรัพย์สมบัติ และผลประโยชน์ (ลาภมัจฉริยะ)

๔. ความหวงกั้นชั้นวรรณะ คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องวรรณะ ผิวพรรณ และการแบ่งชนชั้นต่างๆ (วรรณมัจฉริยะ)

๕. ความหวงกั้นภูมิธรรมภูมิปัญญา คือหวงแหนกีดกั้นกันในเรื่องของวิทยาการ ความรู้ คุณพิเศษ วุฒิ ความดีงาม ความก้าวหน้าในทางภูมิธรรมภูมิปัญญา และความสำเร็จในการสร้างสรรค์ (ธรรมมัจฉริยะ)

การศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการศึกษาที่แท้จริง จะทำให้มนุษย์พัฒนาคุณลักษณะในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์โดยมีมัจฉริยะทั้ง ๕ เหล่านี้ ลดน้อยลงๆ จนหมดไปในที่สุด

แล้วเมื่อนั้น การพัฒนามนุษย์ก็จะประสานสอดคล้องทันกับการพัฒนาของโลกแห่งสิ่งแวดล้อม คือ มนุษย์ที่มีจิตปัญญากว้างขวางไร้พรมแดน อยู่ในโลกที่กว้างไกลไร้พรมแดน

มิใช่ย้อนทางกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า โลกยิ่งถึงทั่วกันได้ไร้พรมแดน แต่ใจคนยิ่งคับแคบแบ่งแยกแตกพวกกัน ถ้ากำจัดมัจฉริยะ ๕ ได้ โลกก็จะปลอดภัยจากการกีดกั้นทำลายกันระหว่างหมู่ระหว่างพวกอย่างแน่นอน

การแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่จะสำเร็จผลแน่นอน คือการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้สังคมอยู่ในภาวะไร้ปัญหา หรือไม่เป็นผู้ก่อปัญหา ไม่ใช่รอไปแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการไม่ยอมรับความจริง

การพัฒนามนุษย์ให้หมดมัจฉริยะ ๕ คือการสร้างภาวะไร้ปัญหา ที่จะทำให้ปัญหาการขัดแย้งแบ่งแยกไม่เกิดมีขึ้นมา ที่จะต้องไปพยายามแก้ไข

ทางแก้ไขมีชัดเจนอยู่อย่างนี้แล้ว แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่ว่ามนุษย์พร้อมที่จะปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ หรือถ้าทำสวนทางกับหลักการนี้ ก็เป็นการตอบอยู่ในตัวว่า มนุษย์ต้องการแบ่งแยกขัดแย้งและทำลายกันต่อไป

๕. ยอมรับความเป็นสากลเสมอกัน เมื่อมนุษย์พัฒนาจิตปัญญาให้พ้นจากมัจฉริยะ ๕ ประการนี้ได้แล้ว เขาจึงจะสามารถมีเมตตาหรือไมตรีอย่างแท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์

แล้วเมื่อนั้น สภาพจิตที่เปิดกว้าง ไม่มีความกีดกั้นคับแคบนี้ ก็จะประสานสอดคล้องกับความเป็นสากล ๓ ประการที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น โดยที่ความเป็นสากลทั้งสามนั้น จะเป็นทั้งปัจจัยช่วยเกื้อหนุนในการพัฒนาคนให้พ้นจากมัจฉริยะทั้งห้านั้น และเป็นที่แสดงออกของความไม่มีมัจฉริยะเหล่านี้ในภาคปฏิบัติเพื่อการแก้ปัญหาภายนอกด้วย

ขอออกชื่อความเป็นสากล ๓ ประการไว้อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่

๑) ความจริงที่เป็นสากล คือหลักความจริงที่เป็นกลางๆ มีผลเสมอเหมือนกันแก่ทุกคน ทุกที่ รวมทั้งทุกศาสนา

๒) ความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล คือ ความเป็นมนุษย์ที่จะต้องมองเห็นเข้าใจให้ความนับถือเสมอกัน การทำร้ายและทำลายชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะมีสังกัดใดหรือไม่ เป็นความไม่ดีไม่งามทั้งสิ้น

๓) ความมีเมตตาที่เป็นสากล คือ แผ่ความรู้สึกเป็นมิตรไมตรี มีความรักปรารถนาประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั่วทุกคนเสมอเหมือนกัน โดยไม่มีการจำกัดหรือแบ่งแยก

๖. มีท่าทีอนุรักษ์สัจจะ: ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา ต่อสัจธรรมด้วยปัญญา ศาสนามีคุณค่าต่อมนุษย์ (หรือจะพูดว่าทำหน้าที่ต่อมนุษย์) โดยหลักใหญ่ ๒ ประการ คือ

๑) อำนวยประโยชน์สุขแก่มนุษย์ ทั้งเฉพาะแต่ละบุคคล และที่รวมกันเป็นสังคม

๒) ช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงสัจธรรม คือความจริงซึ่งเป็นภาวะของตัวชีวิตของเขาเอง

ที่จริงนั้น ๒ ข้อนี้สัมพันธ์กัน เมื่อพูดในขั้นสุดท้าย การที่มนุษย์จะได้รับประโยชน์สูงสุดแท้จริงก็ต่อเมื่อเข้าถึงสัจธรรม หรือเกิดมีปัญญาที่รู้เข้าใจถึงความจริงแห่งชีวิตของตนเอง

มนุษย์ทุกคนจึงเท่ากับมีหน้าที่ที่จะทำความจริงนี้ให้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์เฉพาะตนที่ทำให้กันไม่ได้ แต่คนอาจเป็นกัลยาณมิตรช่วยชี้แนะ นำทางให้แก่กันได้


(มีต่อ ๕๗)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2007, 12:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยเมตตาไมตรี ไม่มีการเบียดเบียนรังแกขัดแย้งแบ่งแยกกัน ด้วยการดำรงอยู่และสัมพันธ์กันบนฐานแห่งหลักการ ๕ ข้อต้นแล้ว ก็จะทำให้เขาพร้อมที่จะเพียรทำกิจหน้าที่ของตนในการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงความจริงหรือสัจธรรมนั้น

แต่เพราะเขาต้องทำกิจนี้ในขณะที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพื่อให้การทำกิจหน้าที่นี้ดำเนินไปอย่างได้ผล ไม่ติดขัด สังคมหรือสภาพความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงจะต้องอยู่ในภาวะที่ไม่ปิดกั้นขัดขวาง แต่เปิดหรือเอื้อโอกาส

ตลอดจน ถ้าเป็นไปได้ ก็ให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น เป็นเครื่องส่งเสริมเกื้อหนุนกัน โดยไม่นำเอาความเห็นความเข้าใจหรือความยึดถือของตนไปบังคับยัดเยียดใส่ให้แก่ผู้อื่น หรือแม้แต่มากล้อมแกล้มเอาอกเอาใจกัน

ในการสังสรรค์สัมพันธ์กันระหว่างที่ยังแสวงหาหรือเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมนี้ ได้กล่าวถึงหลักการอย่างหนึ่งไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้แสวงสัจจะ พึงมีท่าทีสัจจานุรักษ์หรืออนุรักษ์สัจจะ ได้แก่การไม่ตัดสินผูกขาดสัจจะ

กล่าวคือ บุคคลมีสิทธิที่จะพูดว่า "ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้" หรือว่า "เท่าที่ข้าพเจ้าคิดเห็นเข้าใจ ความจริงเป็นอย่างนี้" แต่ไม่มีสิทธิกล่าวว่า "อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น"

หลักการนี้เท่ากับเป็นการเปิดกว้างว่า ความจริงอาจเป็นอย่างอื่นก็ได้ หรือมีทางที่จะเป็นได้อย่างอื่น แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นการพูดอย่างเลื่อนลอยว่าความจริงเป็นอย่างไรก็ได้ และมิใช่แม้แต่จะพูดว่า อย่างนี้ก็จริง อย่างนั้นก็จริง หรือหลักของข้าพเจ้าก็จริง ของท่านก็จริง ซึ่งกลายเป็นการเลยเถิดไปยังสุดโต่งอีกข้างหนึ่ง

นั่นคือเท่ากับทำตัวเป็นผู้ตัดสินความจริงอีกนั่นเอง ตลอดจนเป็นการเอาความจริงมาประนีประนอมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัติในเรื่องนี้ ได้อธิบายไว้ข้างต้นมากแล้ว เมื่อว่าโดยย่อ มีหลัก ๒ อย่าง ที่ผู้แสวงหาหรือเพียรเข้าถึงสัจธรรมควรระลึกไว้ คือ

ก. การไม่เลยไปสู่สุดโต่ง ๒ อย่าง ที่จะกลายเป็นการตั้งตนเป็นผู้ตัดสินสัจธรรม ได้แก่

๑) การผูกขาดสัจธรรม ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นการอนุรักษ์สัจจะว่า "อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น"

๒) การตัดสินความจริงโดยวิ่งเลยเถิดไปอีกข้างหนึ่ง หรือเอาความจริงมาประนีประนอมกันว่า "ความจริงเป็นอย่างนี้ก็ได้ เป็นอย่างนั้นก็ได้" หรือ "ที่ทุกฝ่ายว่าก็เป็นความจริงด้วยกันทั้งนั้น"

ข. ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ๒ อย่าง คือ

๑) ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยท่าทีแห่งเมตตา
๒) ความสัมพันธ์กับสัจธรรมด้วยท่าทีแห่งปัญญา

มนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความจริงด้วยความเพียรสุดขีดแห่งปัญญาของตน ไม่ว่าจะโดยบุคคลก็ตาม หรือโดยความเพียรพยายามของหมู่ชนร่วมกันก็ตาม


ถึงแม้ว่ามนุษย์จะรักใคร่ปรารถนาดีต่อกันอย่างไร
เราก็ไม่สามารถมาตกลงกันให้สัจธรรมเป็นอย่างที่ปรารถนาได้


การที่มนุษย์มีเมตตาไมตรีปรารถนาดีต่อกัน หมดความขัดแย้งแบ่งแยกแล้ว จะมาช่วยเกื้อหนุนกันในการเข้าถึงสัจธรรมได้ ๒ ขั้นตอน คือ

๑) ให้โอกาสแก่กันในการแสวงสัจธรรมนั้น โดยไม่ไปปิดกั้นขัดขวางการแสวงสัจธรรมนั้น และไม่นำเอาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความเชื่อในลัทธิศาสนาของตนไปยัดเยียดบังคับให้เขาต้องถือตาม และไม่ใช่ไปทำร้ายหรือทำลายเขา เพียงเพราะเขาเชื่อถือคิดเห็นแปลกจากตน หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนไม่ชอบใจ

๒) ร่วมกันหรือเกื้อหนุนกันในการแสวงสัจธรรมนั้น ด้วยการเป็นกัลยาณมิตรที่มาแนะนำ บอกกล่าว ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงกัน เป็นต้น ด้วยวิธีการแห่งปัญญา บนฐานของความสัมพันธ์กันด้วยเมตตาหรือไมตรีนั้น

ถ้ามนุษย์ใช้เมตตาหรือไมตรีผิด อาจจะนำเอาความเอื้อเฟื้อเอาอกเอาใจกันมาเป็นเครื่องปิดกั้นตนเองและขัดขวางกันไม่ให้เข้าถึงสัจธรรม เช่นมาประนีประนอมกันว่าสัจธรรมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เป็นที่พอใจแก่กัน ดังได้กล่าวแล้วเป็นต้น

เมื่อไม่มีความขัดแย้งแบ่งแยก ไม่บังคับครอบงำกันแล้ว ก็ให้เมตตาหรือไมตรีระหว่างมนุษย์นั้นเอื้อโอกาส ในการที่แต่ละคนจะได้เพียรพยายามได้เต็มที่ในการทำหน้าที่สูงสุดของตน คือการเข้าถึงความจริงของชีวิตนั้นด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์

อีกทั้งในกระบวนการแสวงสัจธรรมนี้ มนุษย์ผู้มีเมตตาหรือไมตรีต่อกัน สามารถถกเถียง แสดงความรู้ความคิดเห็นความเข้าใจกันได้เต็มที่ สุดขีดแห่งปัญญาของตน โดยไม่มีการประหัตประหารกัน จนกว่าปัญญาจะได้ความจริงนั้นมามอบอิสรภาพและสันติสุขให้แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์

ลองนึกถึงภาพมนุษย์สัก ๒ คนที่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุแบ่งแยกต่างๆ เช่น ผิว เผ่า เชื้อชาติ ลัทธิศาสนา เป็นต้น จนกระทั่งรบราฆ่าฟัน ทำสงครามประหัตประหารกัน ถ้าบังเอิญเขาสองคนนั้นมาพบกันในสถานการณ์อื่น โดยไม่มีตราหรือป้ายใดๆ ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความแบ่งแยก เขาอาจจะกลายเป็นมิตรสหายที่สนิทสนมแสนดีของกันและกันก็ได้

ธาตุหรือศักยภาพแห่งการที่จะเป็นคนดี มีอยู่ในมนุษย์ทั่วทุกหมู่เหล่าเผ่าชน จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ธาตุหรือศักยภาพด้านดีนี้มีโอกาสสำแดงตัวปรากฏออกมา โดยไม่ถูกป้ายหรือตราที่เป็นเครื่องหมายแห่งความแบ่งแยกเข้าไปปิดกั้นบดบังเสียก่อน

ชายหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่ง เดินอยู่บนถนนกลางเมืองเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน (Iran) ท่าทางระโหยซูบโซ หญิงมุสลิมกลางคนผู้หนึ่งพบเขาแล้วพาไปจัดการให้เขาได้กินอาหารอิ่มหนำสำราญ แล้วก็ปล่อยแยกกันไป โดยมิได้อาวรณ์หวังผลตอบแทนใดๆ

นี่เป็นเมตตาการุณย์แท้ ซึ่งเป็นสากล ไร้พรมแดน อันมีอยู่ในจิตใจของคน เป็นธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ ที่แม้คนทั้งสองนั้นจะมีผิว เผ่าพันธุ์ และลัทธิศาสนาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็มิได้ยกขึ้นเป็นป้ายหรือตีตราให้เป็นเครื่องแบ่งแยกที่จะกั้นบังหรือกระตุ้นเร้าความรู้สึกในใจให้เฉออกไปจากมนุษยธรรม

ศาสนาควรนำมนุษย์เข้ามาสื่อสารสัมพันธ์กัน โดยเริ่มจากจุดแห่งเมตตาการุณย์ตามศักยภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาตินี้ แล้วนำมนุษย์ก้าวต่อไปสู่การร่วมกันสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่โลกทั้งหมด


>>>>> จบบริบูรณ์ >>>>>


เทียน รวมคำสอน “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=48552
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง