Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 มหาโจร ๕ จำพวก อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ไอธรรมไอที
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 12 ธ.ค. 2004
ตอบ: 28

ตอบตอบเมื่อ: 30 ธ.ค.2004, 4:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จตุปาราชิกเหตุเกิดเมื่อสมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กุฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี เป็นช่วงเวลาหลังพรรษา ภิกษุทั้งหลาย ที่แยกย้ายไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ออกพรรษาแล้วก็พากันมุ่งหน้ามายังเมืองไพศาลี เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ภิกษุแต่ละรูปหน้าตาซูบซีดอิดโรยไปตามๆกัน เพราะพึ่งผ่านวิกฤติมาหยกๆ คือเกิดทุพภิกภัย(แห้งแร้งแค้น)ขึ้นทั่วไพศาลีอาหารบิณฑบาตหายาก

มีแต่ภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเท่านั้น ที่มีน้ำมีนวล อินทรีย์ผ่องใส สีหน้าสดชื่นผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามพวกเธอว่า อยู่จำพรรษาที่ต่างเมือง พอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ พวกเธอกราบทูลว่า “อยู่สบายดีมาก พระเจ้าข้า”

“ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากเรื่องอาหารบิณบาตจนผ่ายผอมไปหมด แต่พวกเธอกลับมีอยู่มีฉันสะดวกสบาย เป็นไปได้อย่างไร”

ภิกษุเหล่านี้ก็กราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ ถึงวิธีการยังชีพอย่างสบายของพวกตนในช่วงเกิดข้าวยกหมากแพงจนหมดสิ้น

พวกเธอเล่าว่า ได้พร้อมใจกัน “ยกย่องกันเอง” ให้ชาวบ้านเขาศรัทธาคือภิกษุ ก. ก็กล่าวยกย่องภิกษุ ข. ต่อหน้ายาติโยมว่า ท่าน ข. ปฏิบัติเคร่งครัดมาก นั่งกรรมฐานทั้งคืนไม่นอนเลย(ทั้งที่ความจริงท่าน ข. อาจนอนหลับปุ๋ยตลอดคืนหรือแอบโทรศัพท์คุยกับสีกาก็ได้) หรือภิกษุ ข. กล่าวยกย่องภิกษุ ก. ต่อหน้าญาติโยมว่า ท่าน ก. เป็นพระอริยบุคคล เป็นต้น เมื่อต่างฝ่ายต่างยกย่องกันและกันให้ญาติโยมได้ยิน ญาติโยมก็เลื่อมใสศรัทธาว่า ในวัดนี้มีพระอริยะหรือมีแต่พระอรหันต์ทั้งนั้นเป็นบุญของเราแล้วที่ได้มีโอกาสกราบไหว้บูชาพระอริยะ

“ด้วยการอย่างนี้แหละ ลาภสักการะก็หลั่งไหลมาเทมา พวกข้าพระพุทธเจ้า จึงไม่ลำบากเกี่ยวกับอาหารบิณบาต” ภิกษุเหล่านั้นกราบทูล

พระพุทธองค์ทรงสดับดังนั้น ก็ตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำอย่างนี้ เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” ๕ จำพวกคือ

มหาโจรประเภทที่ ๑ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูปที่รวบรวมสมัครพรรคพวกได้มาก แวดล้อมด้วยอุบาสก อุบาสิกา ไปไหนเป็น ขบวน เที่ยวไปตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ต่างๆหลอกลวงให้เขาเลื่อมใสศรัทธาบริจาคทรัพย์สินเงินทองมากมาย ยกเค้าไปปล้นทรัพย์ชาวบ้าน

มหาโจรประเภทที่ ๒ ได้แก่ ภิกษุที่ชั่วทรามบางรูปที่เล่าเรียนพุทธวจนะแล้ว อวดอ้างว่าตนไม่ได้เรียนมาจากใครตนตรัสรู้เอง มหาโจรประเภทนี้ ครอบคลุมถึงคนที่คัดลอกเอาข้อเขียนของคนอื่นแล้วอ้างว่า ตนเขียน ดังสมัยนี้เรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์



มหาโจรประเภทที่ ๓ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูปกำจัดภิกษุผู้ประพฤติดีมีศีลด้วยการกล่าวหาอาบัติหนักที่ไม่มีมูล ถ้าเป็นอาบัติหนักมีมูล ไม่ถือว่าผิด กลับเป็นความดีเสียด้วยซ้ำที่ช่วยกำจัดอลัชชีจากพระศาสนา



มหาโจรประเภทที่ ๔ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูปเอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ หวังประจบประแจงเขา เช่น เอาเตียง ตั่ง เครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึงเอาที่ของวัดไปให้เขา



มหาโจรประเภทที่ ๕ ได้แก่ภิกษุชั่วทรามบางรูป อ้างว่าตนเองเป็นผู้บรรลุมรรคผล นิพพาน อ้างว่ามีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาให้คนเขาอัศจรรย์ ด้วยอุบายตื้นๆ โดยที่คุณวิเศษเหล่านี้ไม่มีในตัวเอง มหาโจรประเภทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “ยอดมหาโจร” เพราะอยู่ด้วยการหลอกลวงชาวบ้านเขาหลงเชื่อเอาลาภมาประเคนให้



พระภิกษุใด ไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรมต่อมาต้องการความบริสุทธิ์ แก้ตัวว่าไม่รู้ พูดไปพล่อยๆเป็นเท็จ

พระพุทธองค์สรุปว่า “พระทุศีลกลืนก้อนเหล็กแดงให้มันไหม้คอตายเสียยังดีกว่า กินข้าวที่หลอกชาวบ้านเขามา”
 

_________________
ดีใดไม่มีโทษดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง EmailMSN Messenger
ไอธรรมไอที
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 12 ธ.ค. 2004
ตอบ: 28

ตอบตอบเมื่อ: 30 ธ.ค.2004, 6:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คัดมาจากหนังสือ เรื่อง ความเป็นมาของอาบัติปาราชิก โดย.. เสฐียร วรรณปก

เกือบเป็นมหาโจรซะแล้วครับ คัดของเขาแล้วไม่ได้บอกที่มา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง EmailMSN Messenger
อภิชาติ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ธ.ค.2004, 2:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กฎการปฏิบัติกรรมฐาน



การปฏิบัติพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนา มีกฎของการปฏิบัติเพื่อผลของการบรรลุเป็นระดับไป ดังจะยกมาโดยย่อดังนี้



อธิศีลสิกขา

อธิ แปลว่า ยิ่ง เกิน หรือล่วง ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน คำว่า ยิ่ง หมายถึง การปฏิบัติยิ่งกว่า หมายถึง การปฏิบัติเคร่งครัดกว่าปกติ หรือรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิตนั่นเอง เกิน ก็หมายถึงปฏิบัติกเกินกว่าที่ปฏิบัติกันตามปกติ ล่วง ก็หมายถึงการปฏิบัติล่วง คือ เกินที่กระทำกันตามปกติ การปฏิบัติตามนี้จัดเป็นอธิศีล การปฏิบัติเป็นอธิศีล ท่านได้แนะนำไว้ดังนี้ จะรักษาศีลไว้ด้วยดี มิให้ขาด มิให้ทำลาย แม้แต่ศีลจะมัวหมอง ก็มิยอมให้เป็น คือ ไม่แนะนำให้คนอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีต่อเมื่อเห็นผู้อื่นทำลายศีล การปฏิบัติพระกรรมฐาน ก่อนที่จะหวังให้ฌาณสมาบัติอุบัติแก่จิตใจนั้น ต้องมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน เมื่อรักษาศีลได้แล้ว จนถึงขั้นไม่ต้องระวัง หมายความว่า ละเสียได้จนชินไม่มีการพลั้งเผลอแล้ว ขั้นต่อไปปฏิบัติดังนี้



ระงับนิวรณ์ 5

1. เห็นโทษของกามฉันทะ

2. เห็นโทษของการจองล้างจองผลาญ

3. คอยกำจัดความง่วงเหงาหาวนอน

4. คอยควบคุมอารมณ์ไม่ให้ฟุ้งซ่าน

5. ตัดความสงสัยในมรรคผลเสีย



เจริญพรหมวิหาร 4

1. แผ่เมตตา แผ่ไปทั่วทุกทิศโดยคิดไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเราจะเป็นมิตรแก่คนและสัตว์ทั่วโลก

2. กรุณา จะสงสารหวังสงเคราะห์สัตว์และมนุษย์ทั้งปวง

3. มุทิตา จะไม่อิจฉาริษยาคนและสัตว์ทั้งหลาย จะส่งเสริมและรู้สึกเมื่อผู้อื่นได้ดีมีโชค

4. อุเบกขา วางเฉยเมื่อผู้อื่นพลาดพลั้ง ไม่ซ้ำเติม และตั้งใจหวังสงเคราะห์เมื่อมีโอกาส



การรักษาศีลบริสุทธิ์ ด้วยการไม่ล่วงเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นล่วง และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นล่วง และตัดความพอใจในนิวรณ์ 5 โดยระงับนิวรณ์ได้ เมื่อขณะปฏิบัติ และทรงพรหมวิหาร 4 ได้อย่างครบถ้วนอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นฌาน และฌานจะไม่รู้จักเสื่อมเพราะพรหมวิหาร 4 อุ้มชู สมาธิตั้งมั่น วิปัสสนาผ่องใส เรียกว่า พรหมวิหาร 4 เป็นกำลังใหญ่ในการปฏิบัติสมณธรรมทุกระดับ



การรักษาศีลบริสุทธิ์ เป็นอธิศีลสิกขา การกำจัดนิวรณ์ และทรงพรหมวิหาร เป็นอธิจิตตสิกขา คือทรงฌานสมาบัติไว้ได้ เรียกว่า มีความดีในระดับเปลือกของความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น



ความดีระดับกระพี้

ท่านมีศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ 5 ได้ ทรงพรหมวิหาร 4 แล้ว สร้างฌานพิเศษ มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่ล่วงมาแล้วได้โดยไม่จำกัดชาติ ทำได้อย่างนี้ท่านเรียกว่า มีความดีระดับกระพี้ของความดีในพระพุทธศาสนา



ความดีระดับแก่น

เมื่อท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ กำจัดนิวรณ์ 5 ได้ ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ปุพเพนิวาสสานุสสติญาณ และบรรลุทิพยจักษุญาณ สามารถรู้ว่าสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์ที่มาเกิดนี้มาจากไหน อาศัยกรรมอะไรเป็นเหตุ นี้พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นความดีที่ทรงความเป็นสาระแก่นสาร ความดีระดับนี้เป็นความดีระดับวิชชาสาม ผู้ใดทรงความดีตามที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ครบถ้วนแล้ว ถ้าจะปฏิบัติเพื่อธรรมเบื้องสูงเพื่อพรหมจรรย์แล้ว อย่างช้าไม่เกิน 7 ปี อย่างกลางไม่เกิน 7 เดือน อย่างเร็วไม่เกิน 7 วัน ก็จะเข้าถึงอรหัตตผล เป็นพระอริยบุคคลระดับยอด ถ้าจะปฏิบัติเพื่อมรรคผลและพระนิพพาน มีการปฏิบัติดังต่อไปนี้



บารมี 10

บารมี แปลว่า ทำให้เต็มไม่บกพร่อง ไม่ละเลยเหินห่างและบกพร่อง ประคับประคองไว้เป็นปกติ



1. ทาน ทาน แปลว่า การให้ ต้องมีจิตใจจดจ่อเพื่อการให้ด้วยจิตใจที่หวังการสงเคราะห์อยู่เป็นปกติ การมีให้ด้วยการสงเคราะห์มีแก่เราเมื่อใด เมื่อความความสบายสุขใจ การให้นี้ต้องไม่พิจารณาบุคคลถึงสุขภาพและฐานะ ถือเอาเพียงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา ก็ช่วยตามต้องการ และไม่หวังการตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น



2. ศีล ศีลแปลว่า ปกติ การรักษาอาการตามความพอใจของปกติชนที่มีความปรารถนาอยู่เป็นสุข เราก็ไม่ทำลายปกติความปรารถนาความพอใจของชาวโลก ฉะนั้น ศีลท่านจึงแปลว่า ปกติ คือรักษาอารมณ์ปกติของจิตใจของคนและสัตว์ไม่ต้องการให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่ทำให้ศีลขาด ไม่แนะนำให้คนอื่นทำ และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นทำผิด รักษาได้ระดับนี้จึงจะเป็นศีลเพื่อมรรคผล



3. สัจจะ สัจจะแปลว่า ความตั้งใจจริง เราจะไม่ยอมเลิกละความตั้งใจเดิม แม้แต่จะต้องตายก็ตาม



4. วิริยะ วิริยะแปลว่า ความเพียร ถ้ามรรคผลนิพพานที่เราปรารถนานี้ยังไม่ปรากฎเพียงใด เราจะไม่ละความพยายามประพฤติปฏิบัติไป โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค



5. เนกขัมมะ เนกขัมมะแปลว่า การถือบวช หมายถึงการอดในกามารมณ์ โดยตัดใจไม่ไยดีในอารมณ์ยั่วเย้าด้วยอำนาจกามฉันทะ คือความพอใจในกามารมณ์



6. ปัญญา ปัญญาแปลว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่า ความเฉลียวฉลาดก็ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของ ความเกิด แก่ เจ็บ พลัดพราก ว่าเป็นทุกข์ จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายต่อการเกิดในชาติภพ จนกระทั่งได้สังขารุเปกขาญาณ คือไม่มีความหวั่นไหวในเมื่อความทุกข์ใดๆ เกิดขึ้นแก่สังขาร



7. ขันติ ขันติแปลว่า ความอดทนหรืออดกลั้น ไม่ยอมให้อารมณ์ฝ่ายชั่วเข้ามาล้างอารมณ์วิปัสสนาญาณได้



8. เมตตา เมตตาแปลว่า ความรักที่ปราศจากความใคร่ด้วยอำนาจกิเลส หมายถึง รักด้วยความปรานี ไม่มีอารมณ์ในส่วนของกิเลสเจือปน



9. อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น ทั้งนี้หมายถึงตั้งใจไว้ถูกต้อง



10. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย มายถึงเฉยต่ออารมณ์ที่เป็นทุกข์และสุขอันเป็นวิสัยของโลกีย์



บารมีทั้ง 10 อย่างนี้ นักวิปัสสนาญาณต้องมีครบถ้วน แล้วต้องปฏิบัติได้เป็นปกติ ตามความพอใจเป็นปกติ



 
อภิชาติ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ธ.ค.2004, 2:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต่อ..... อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ 10



อารมณ์กิเลสที่คอยกีดกันอารมณ์วิปัสสนา ก็คืออารมณ์สมถะที่มีอารมณ์ละเอียดคล้ายคลึงวิปัสสนาญาณ ท่านเรียกว่า อุปกิเลสของวิปัสสนา 10 อย่าง คือ



1. โอภาส โอภาส แปลว่า แสงสว่าง ขณะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น จิตย่อมทรงอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ เป็นสมาธิเพื่อสร้างทิพยจักษุญาณ ย่อมเกิดแสงสว่างขึ้นคล้ายใครเอาประทีปมาตั้งไว้ นี้เป็นผลของสมถะ ที่เป็นกำลังสนับสนุนวิปัสสนาเท่านั้น



2. ปีติ ปีติแปลว่า ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มเบิกบาน ขนพอง น้ำตาไหล กายโยกโคลง กายลอยขึ้น กายโปร่ง กายเบา บางคราวก็คล้ายมีกายสูงใหญ่กว่าธรรมดา มีอารมณ์ไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ อาการอย่างนี้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา เป็นผลของสมถะ



3. ปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่า ความสงบระงับด้วยอำนาจฌาน มีอารมณ์สงัดคล้ายจิตไม่มีอารมณ์อื่น อาการอย่างนี้เป็นอารมณ์ของอุเบกขาในจตุตถฌาน เป็นอาการของสมถะ



4. อธิโมกข์ อธิโมกข์แปลว่า อารมณ์ที่น้อมใจเชื่อโดยปราศจากเหตุผล ด้วยพอได้ฟังว่าเราได้มรรคได้ผล ไม่ได้พิจารณาก็เชื่อแน่เสียแล้ว เป็นอาการของศรัทธาตามปกติ



5. ปัคคหะ ปัคคหะแปลว่า มีความเพียรกล้า คนที่มีความเพียรบากบั่นไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผล แต่ถ้าเข้าใจผิดว่าตนได้บรรลุเสียตอนที่มีความเพียรก็น่าเสียดายยิ่ง ความพากเพียรด้วยความมุมานะนี้เป็นการหลงผิดได้



6. สุข สุขแปลว่า ความสบายกายสบายใจ เป็นอารมณ์ของสมถะที่เข้าถึงอุปจารฌานระดับสูง เป็นความสุขที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นอารมณ์ของสมถะภาวนา อย่าเข้าใจผิดว่าได้มรรคผล



7. ญาณ ญาณแปลว่า ความรู้ อันเกิดขึ้นด้วยอำนาจที่จิตมีสมาธิจากผลของสมถภาวนา เป็นผลของสมถะแท้ไม่ใช่ผลของวิปัสสนา ถ้าพอใจเพียงนั้นก็ยังต้องเป็นโลกียชน



8. อุเบกขา อุเบกขาแปลว่า ความวางเฉย เป็นอารมณ์ในสมถะ คือ ฌาน 4



9. อุปปัฎฐาน อุปปัฏฐานแปลว่า เข้าไปตั้งมั่น หมายถึงอารมณ์ที่เป็นสมาธิ มีอารมณ์สงัดเยือกเย็น ดังท่านที่เข้าฌาน 4 มีอารมณ์สงัด แม้แต่เสียงก็กำจัดตัดขาด อารมณ์ใดๆ ก็ไม่มี เป็นฌาน 4 ในสมถะแท้ๆ



10. นิกกันติ นิกกันติแปลว่า ความใคร่ เป็นความใคร่น้อยๆ ถ้าไม่กำหนดรู้อาจไม่มีความรู้สึก เพราะเป็นอารมณ์ของตัณหาสงบ ไม่ใช่ขาดไป เป็นเพียงสงบชั่วคราวด้วยอำนาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น



วิปัสสนาญาณที่พิจารณาต้องมีสังโยชน์เป็นเครื่องวัด และพิจารณาไปตามแนวของสังโยชน์เพื่อการละ ละเป็นขั้นเป็นระดับไป อย่าให้หลงใหลในอารมณ์อุปกิเลส 10 ประการ



สังโยชน์ 10



สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฎฎะ มี 10 อย่าง

1. สักกายทิฏฐิ เห็นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา (คำว่าร่างกายนี้หมายถึง ขันธ์ 5)

2. วิจิกิจฉา ความลังเลสังสัย ในคุณพระรัตนตรัย

3. สีลัพพตปรามาส รักษาศีลแบบลูบๆ คลำๆ ไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง

4. กามฉันทะ มีจิตมั่วสุมหมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์

5. พยาบาท มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ

6. รูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในรูปฌาน

7. อรูปราคะ ยึดมั่นถือมั่นในอรูปฌาน คิดว่าเป็นคุณพิเศษที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะ

8. มานะ มีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี

9. อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล

10. อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิสเป็นสมบัติที่ทรงสภาพ



กิเลสทั้ง 10 นี้ เรียกว่า สังโยชน์ นักเจริญวิปัสนาญาณต้องรู้ไว้ และพยายามกำจัดกิเลสทั้ง 10 นี้ให้เด็ดขาดเป็นขั้นๆ ตามกำลังของสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ผู้ใดกำจัดได้ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 3 ท่านว่าผู้นั้นได้บรรลุพระโสดา และพระสกิทาคา ถ้าตัดได้ตั้งแต่ ข้อ 1 ถึง ข้อ 5 ท่านว่าผู้นั้นได้บรรลุพระอนาคามี ถ้าตัดขาดได้เด็ดขาดทั้ง 10 ข้อ ท่านผู้นั้นได้บรรลุพระอรหัตตผล



เมื่อได้เจริญวิปัสสนาญาณ ศึกษาบารมี 10 และมีจิตใจทรงบารมี 10 ได้อย่างปกติ ศึกษาอุปกิเลส 10 ประการให้เข้าใจ ต่อไปก็เริ่มเจริญวิปัสสนาญาณ โดยในระยะแรก ท่านให้ชำระศีลให้บริสุทธิ์ แล้วเข้าสมาธิดำรงฌาน ถ้าเข้าถึงฌาน 4 ได้ก็เข้าฌาน 4 ถ้าไม่ถึงฌาน 4 ก็เข้าสมาธิตามกำลัง จนอารมณ์สงบดีแล้ว ก็ถอยสมาธิมาหยุดอยู่ที่ อุปจารสมาธิ แล้วพิจารณาขันธ์ 5 ด้วยวิปัสสนาญาณ ตามลำดับที่ 1 ก่อน จนมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์



จากนั้นค่อยๆ เลื่อนอารมณ์มาพิจารณาในญาณที่ 2, 3, 4 , 5, 6, 7, 8 และถอยหลังเป็นอนุโลมปฏิโลม ที่เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ขณะที่พิจารณานั้น ถ้าอารมณ์จะฟุ้งซ่าน ท่านให้หยุดพิจารณาเสียก่อน เข้าฌานตามกำลังสมาธิใหม่ พอให้จิตตั้งอยู่ในสมาธิเป็นอุเบกขารมณ์แล้ว จึงคลายมาที่อุปจารณฌาน จากนั้นพิจารณาวิปัสสนาญาณใหม่ ถ้าพิจารณาข้อใดจิตใจยังปลงข้อนั้นไม่ตกจนเป็นเอกัคคตารมณ์ คือเกิดความเห็นเป็นเช่นนั้นจริง จนเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ 5 แล้ว ก็อย่าย้ายไปพิจารณาข้อต่อไป ถ้าได้ข้อเดียวข้อต่อไปก็ไม่มีอะไรเสียเวลา พอพิจารณาก็จะรู้แจ้งเห็นจริงทันที ก็จะเข้าถึงโคตรภูญาณ แล้วได้มรรคผลตามที่ตนตั้งใจปรารถนาไว้



การพิจารณาวิปัสสนาควรมุ่งตัดกิเลสเป็นตอนๆ ไป ถ้าคิดว่าจะละให้เด็ดขาดก็ยังละไม่ได้ ก็ไม่ย้ายข้อที่ตั้งใจละต่อไปข้ออื่น ทำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในข้อนั้น



 
อภิชาติ
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 31 ธ.ค.2004, 2:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศาลาปฏิบัติ

ฌาน,สมาบัติ

ปฐมฌาน,๑,๒

ฌาน ๓, ๔



ฌาน แปลว่า เพ่ง หมายถึงการเพ่งอารมณ์ตามกฎแห่งการเจริญกรรมฐานถึง อันดับที่ ๑ เรียกว่า ปฐมฌาน คือ ฌาน ๑ ถึง อันดับที่ ๒ เรียกว่า ทุติยฌาน แปลว่า ฌาน ๒ ถึง อันดับที่ ๓ เรียกว่า ตติยฌาน แปลว่า ฌาน ๓ ถึง อันดับที่ ๔ เรียกว่า จตุตถฌาน แปลว่า ฌาน ๔ ถึงอันดับที่แปด คือได้ อรูปฌาน ถึงฌาน ๔ ครบทั้ง ๔ อย่าง เรียกว่า ฌาน ๘



ถ้าจะเรียกเป็นสมาบัติก็เรียกเหมือนฌาน ฌาน ๑ ท่านก็เรียกว่า ปฐมสมาบัติ ฌาน ที่ ๒ ท่านก็เรียกว่า ทุติยสมาบัติ ฌาน ๓ ท่านก็เรียก ตติยสมาบัติ ฌาน ๔ ท่านก็เรียก จตุตถสมาบัติ ฌาน ๘ ท่านเรียก อัฎฐสมาบัติ หรือ สมาบัติแปด นั่นเอง



คำว่า สมาบัติ แปลว่าถึงพร้อม แปลเหมือนกันกับคำว่า สมบัติ ศัพท์เดิมว่า สัมปัตติ แปลว่าถึงพร้อม มาแปลงเป็นบาลีไทย หมายความว่าศัพท์นั้นเป็นศัพท์บาลี แต่เรียกกันเป็น ไทย ๆ เสีย ก็เลยเพี้ยนไปหน่อย เล่นเอาผู้รับฟังปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆ กัน



สมาบัติ แปลว่าเข้าถึงนั้น หมายเอาว่าเข้าถึงอะไร ข้อนี้น่าจะบอกไว้เสียด้วย ขอบอก ให้รู้ไว้เลยว่า ถึงจุดของอารมณ์ที่เป็นสมาธิหรือที่เรียกว่า ฌาน นั่นเอง เมื่ออารมณ์ของสมาธิ ิที่ยังไม่เข้าระดับฌาน ท่านยังไม่เรียกว่า สมาบัติ

รูปสมาบัติหรือรูปฌาน



ฌานหรือสมาบัติ ท่านเรียกว่ารูปฌาน หรือ รูปสมาบัติ ถ้ายังไม่สำเร็จมรรคผลเพียงใด ท่านเรียกว่าโลกียสมาบัติ หรือ โลกียฌาน ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณจนสำเร็จมรรคผลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่าน เรียกว่า โลกุตตรสมาบัติ หรือ โลกุตตรญาณ ศัพท์ว่าโลกุตตระ ตัดออกเป็นสอง ศัพท์ มีรูปเป็น โลกะ และ อุตตระ สนธิ คือเอา โลกะ กับ อุตตระ มาต่อกันเข้า เอาตัว อ. ออกเสีย เอาสระอุผสมกับตัวตัว ก. เป็น โลกุตตระ โลกะ แปลตามศัพท์ว่า โลก อุตตระ แปลว่า สูงกว่า รวมความว่าสูงกว่าโลก โลกุตตระ ท่านจึงแปลว่า สูงกว่าโลก โลกุตตรฌาน แปลว่า ฌานที่สูงกว่าโลก โลกุตตรสมาบัติ แปลว่า สมาบัติที่สูงกว่าโลก หมายความว่า กรรมต่างๆ ที่โลกนิยมนั้น ท่านพวกนี้พ้น ไปแล้วแม้บาปกรรมที่ชาวโลกต้องเสวยผลท่านที่ได้โลกุตตระท่านก็ไม่ต้อง รับผลกรรมนั้นอีก เพราะกรรมของชาวโลกให้ผล ท่านไม่ถึง ท่านจึงได้นาม ว่า โลกุตตรบุคคล

รวมความว่าฌานประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปฌาน เพราะมีรูปเป็นอารมณ์ เรียกตามชื่อสมาบัติว่า รูปสมาบัติ สำหรับรูปฌาน หรือรูปสมาบัตินั้น มีแยกออกไปอีก ๔ อย่าง ดังจะกล่าวให้ทราบต่อไป



อรูปสมาบัติหรืออรูปฌาน

๑. อากาสานัญจายตะ เพ่งอากาศๆ เป็นอารมณ์

๒. วิญญาณัญจายตะ กำหนดหมายเอาวิญญาณเป็นอารมณ์

๓. อากิญจัญญายตนะ กำหนดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดหมายเอาการไม่มีวิญญาณ คือไม่รับรู้รับ ทราบอะไรเลยเป็นสำคัญ



ทั้ง ๔ อย่างนี้เรียกว่าอรูปฌาน เพราะการเจริญไม่กำหนดหมายรูปเป็นอารมณ์ กำหนดหมายเอาความไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงเรียกว่าอรูปฌาน ถ้าเรียกเป็นสมาบัติก็เรียกว่าอรูปสมาบัติ สมาบัติ ๘ ท่านที่ทรงสมาบัติในรูปสมาบัติ ๔ และทรงอรูปสมาบัติอีก ๔ รวมทั้งรูปสมาบัติ ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เป็นสมาบัติ ๘



ผลสมาบัติ

คำว่าผลสมาบัติท่านหมายถึงการเข้าสมาบัติตามผลที่ได้ผลสมาบัตินี้จะเข้าได้ ต้องเป็น พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าที่ไม่ได้สมาบัติแปด มาก่อน ท่านเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ท่านก็เข้าผลสมาบัติ คือท่านเข้าฌานนั่นเอง ท่านได้ฌาน ระดับใด ท่านก็เข้าระดับนั้น แต่ไม่ถึงสมาบัติแปดก็แล้วกันและท่านเป็นพระอริยเจ้า จะเป็น พระโสดาสกิทาคา อนาคามี อรหันต์ก็ตาม เมื่อท่านเข้าฌานท่านเรียกว่าเข้าผลสมาบัติ ท่าน ที่ไม่เป็นพระอริยเจ้าเข้าฌาน ท่านเรียกว่าเข้าฌานเพราะไม่มีมรรคผลต่างกันเท่านี้เอง กิริยา ที่เข้าก็เหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่า ท่านเป็นพระอริยเจ้า หรือไม่ใช่พระอริยเจ้าเท่านั้นเอง



นิโรธสมาบัติ

นิโรธสมาบัติ ท่านที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระอริยะขั้นต่ำตั้งแต่พระอนาคามี เป็นต้นไป และพระอรหันต์เท่านั้น และท่านต้องได้สมาบัติแปดมาก่อน ตั้งแต่ท่านเป็นโลกียฌาน ท่านที่ได้สมาบัติแปด เป็นพระอริยะต่ำกว่าพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ต้องได้มรรคผล ถึงอนาคามีเป็นอย่างต่ำจึงเข้าได้



ผลของสมาบัติ

สมาบัตินี้ นอกจากจะให้ผลแก่ท่านที่ได้แล้ว ยังให้ผลแก่ท่านที่บำเพ็ญกุศลต่อท่าน ที่ได้สมาบัติด้วย ท่านสอนว่าพระก่อนบิณฑาตตอนเช้ามืดที่ท่านสอนให้เคาะระฆังก็เพื่อให้ พระวิจัยวิปัสสนาญาณ และเข้าฌานสมาบัติ เพื่อเป็นการสนองความดีของทายกทายิกาผู้สงเคราะห์ในตอนเช้าพระที่บวชใหม่ก็ทบทวนวิชาความรู้และซักซ้อมสมาธิเท่าที่จะได้ ผลของสมาบัติมีอย่างนี้



๑. นิโรธสมาบัติ สมาบัตินี้เข้ายาก ต้องหาเวลาว่างจริงๆ เพราะเข้าคราวหนึ่งใช้ เวลาอย่างน้อย ๗ วัน อย่างสูงไม่เกิน ๑๕ วัน ใครได้ทำบุญแก่ท่านที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี้ จะได้ผลในวันนั้น หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นมหาเศรษฐีในวันนั้น



๒. ผลสมาบัติ เป็นสมาบัติเฉพาะพระอริยเจ้าท่านออกจากผลสมาบัติแล้ว สมาบัติ นี้เข้าออกได้ทุกวันและทุกเวลา ท่านที่ทำบุญแด่ท่านที่ออกจากผลสมาบัติ ท่านผู้นั้นจะมีผล ไพบูลย์ในความเป็นอยู่ คือมีฐานะไม่ฝืดเคือง



๓. ฌานสมาบัติ ท่านที่บำเพ็ญกุศลแก่ท่านที่ออกจากฌานสมาบัติ จะทรงฐานะไว้ ด้วยดีไม่ยากจนกว่าเดิม มีวันแต่จะเจริญงอกงามขึ้นเป็นลำดับ



เข้าผลสมาบัติ

การเข้าผลสมาบัติ กับเข้าฌานสมาบัติ ต่างกัน อยู่หน่อยหนึ่ง คือการเข้าฌานสมาบัติ ท่านสอนให้ทำจิตให้ห่างเหินนิวรณ์ คือระมัดระวัง มิให้นิวรณ์เข้ามารบกวนใจ เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์แล้ว อารมณ์ของสมาธิก็ไม่มีอะไรรบกวน เข้าฌานสมาบัติได้ทันที สำหรับผลสมาบัตินั้นเป็นสมาบัติของพระอริยเจ้าท่านเข้าดังนี้ เมื่อ ท่านพิจารณาว่าเวลานี้ธุระอย่างอื่นไม่มีแล้วมีเวลาว่างพอที่จะเข้าผลสมาบัติได้ ท่านก็เริ่ม เข้าสู่ที่สงัด นั่งตั้งกายตรง ดำรงจิตมั่นคงแล้วก็พิจารณาสังขารตามแบบวิปัสสนาญาณโดย พิจารณาในวิปัสสนาญาณทั้ง ๘ ย้อนไป ย้อนมา หรือพิจารณาตามแบบขันธ์ห้ารวม คือ พิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้งห้าอย่างนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเรา อย่างนี้ก็ได้ตามแต่ท่านจะถนัด รวมความว่า ท่าน เป็นพระอริยะเพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแบบใดท่านก็พิจารณาแบบนั้นเพราะท่านคล่องของท่านอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาขันธ์ห้าจนอารมณ์ผ่องใสแล้ว ท่านก็เข้าสมาบัติตาม กำลังฌานที่ท่านได้ อย่างนี้เป็นวิธีเข้าผลสมาบัติ เพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณก่อนจึง เข้าฌาน



ขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่นได้เล็กน้อย หรือนิดๆ หน่อยๆ คำว่า สมาธิ แปล ว่า ตั้งใจมั่น ต้องมั่นได้นิดหน่อย เช่น กำหนดจิตคิดตามคำภาวนา ภาวนาได้ประเดี่ยว ประด๋าว จิตก็ไปคว้าเอาความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ภายนอกคำภาวนามาคิด ทิ้งองค์ภาวนาเสีย แล้วกว่าจะรู้ตัวว่า จิตซ่าน ก็คิดตั้งบ้านสร้างเรือนเสียพอใจ อารมณ์ตั้งอยู่ในองค์ภาวนาไม่ได้ นานอย่างนี้ ตั้งอยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าว อารมณ์จิตก็ยังไม่สว่างแจ่มใส ภาวนาไปตามอาจารย์ สั่งขาดๆ เกินๆ อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ขณิกสมาธิท่านยังไม่เรียก ฌาน เพราะอารมณ์ยัง ไม่เป็นฌานท่านจึงไม่เรียกว่า สมาบัติ เพราะยังไม่เข้าถึงกฎที่ท่านกำหนดไว้



อุปจารสมาธิ

อุปจารสมาธินี้เรียกอุปจารฌาน ก็เรียก เป็นสมาธิที่มีความตั้งมั่นใกล้จะถึง ปฐมฌานหรือปฐมสมาบัติ นั่นเอง อุปจารสมาธิคุมอารมณ์สมาธิไว้ได้นานพอ สมควร มีอารมณ์ใสสว่างพอใช้ได้ เป็นพื้นฐานเดิมที่จะฝึกทิพยจักษุญาณได้ อารมณ์ ที่อุปจารสมาธิเข้าถึงนั้นมีอาการดังนี้



๑. วิตก คือความกำหนดจิตนึกคิดองค์ภาวนาหรือกำหนดรูปกสิณ จิตกำหนด อยู่ได้ไม่คลาดเคลื่อน ในเวลานานพอสมควร



๒. วิจาร การใคร่ครวญในรูปกสิณนิมิต ที่จิตถือเอาเป็นนิมิตที่กำหนด มีอาการ เคลื่อนไหวหรือคงที่ มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร เล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ จิตกำหนดรู้ไว้ได้ ถ้าเป็นองค์ภาวนา ภาวนาครบถ้วนไหม ผิดถูกอย่างไร กำหนดรู้เสมอ ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็กำหนดรู้ว่า หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น เบาหรือแรง รู้อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เรียกว่าวิจาร



๓. ปีติ ความปลาบปลื้มเอิบอิ่มใจ มีจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ไม่อิ่มไม่เบื่อในการ เจริญภาวนาอารมณ์ผ่องใส ปรากฏว่าเมื่อหลับตาภาวนานั้นไม่มืดเหมือนเดิม มีความ สว่างปรากฏคล้ายใครนำแสงสว่างมาวางไว้ใกล้ๆ บางคราวก็เห็นภาพและแสงสีปรากฏ เป็นครั้งคราว แต่ปรากฏอยู่ไม่นานก็หายไป อาการของปีติมีห้าอย่างคือ



๓.๑ มีการขนลุกขนชัน ท่านเรียกว่าขนพองสยองเกล้า

๓.๒ มีน้ำตาไหลจากตาโดยไม่มีอะไรไปทำให้ตาระคายเคือง

๓.๓ ร่างกายโยกโคลง คล้ายเรือกระทบคลื่น

๓.๔ ร่างกายลอยขึ้นเหนือพื้นที่นั่ง บางรายลอยไปได้ไกลๆ และลอยสูงมาก

๓.๕ อาการกายซู่ซ่า คล้ายร่างกายโปร่ง และใหญ่โตสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

อาการทั้งห้าอย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการของปีติ ข้อที่ควรสังเกตก็คือ อารมณ์จิตชุ่มชื่นเบิกบานแม้ร่างกายจะสั่นหวั่นไหว บางรายตัวหมุนเหมือนลูกข่างแต่จิตใจ ก็เป็นสมาธิแนบแน่นไม่หวั่นไหว มีสมาธิตั้งมั่นอยู่เสมอ การกำหนดจิตเข้าสมาธิก็ง่าย คล่อง ทำเมื่อไรเข้าสมาธิได้ทันที อาการของสมาธิเป็นอย่างนี้



๔. สุข ความสุขชื่นบาน เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยปรากฏการณ์มาก่อน เลยในชีวิต จะนั่งสมาธินานแสนนานก็ไม่รู้สึกปวดเมื่อย อาการปวดเมื่อยจะมีก็ต่อเมื่อคลาย สมาธิแล้ว ส่วนจิตใจมีความสุขสำราญตลอดเวลา สมาธิก็ตั้งมั่นมากขึ้น อารมณ์วิตกคือการ กำหนดภาวนา ก็ภาวนาได้ตลอดเวลา การกำหนดรู้ความภาวนาว่าจะถูกต้องครบถ้วนหรือ ไม่เป็นต้น ก็เป็นไปด้วยดีมีธรรมปีติชุ่มชื่นผ่องใสความสุขใจมีตลอดเวลาสมาธิตั้งมั่นความ สว่างทางใจปรากฏขึ้นในขณะหลับตาภาวนา อาการตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แหละที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ หรือเรียกว่า อุปจารฌาน คือเฉียดๆ จะถึง ปฐมฌาน อยู่แล้ว ห่างปฐมฌาน เพียงเส้นยาแดงผ่า ๓๒ เท่านั้นเอง ตอนนี้ท่านยังไม่เรียกฌานโดยตรง เพราะอารมณ์ ยังไม่ครบองค์ฌานท่านจึงยังไม่ยอมเรียกว่าสมาบัติ เพราะยังไม่ถึงฌาน



ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ

ปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินี้ ท่านกำหนดองค์ของปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัติไว้ ๕ อย่างดังต่อไปนี้



๑. วิตก จิตกำหนดนึกคิด โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้าใช้คำภาวนา ก็รู้ว่าเราภาวนาอยู่ คือภาวนาไว้มิให้ขาดสาย ถ้าเพ่งกสิณ ก็กำหนดจับภาพ กสิณอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เรียกว่าวิตก



๒. วิจาร ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ใคร่ครวญกำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราหายใจเข้าหรือ หายใจออก หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น หายใจเบา หรือแรง ในวิสุทธิมรรคท่านให้รู้กำหนด ลมสามฐานคือ หายใจเข้าลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจ ออกลมกระทบศูนย์ กระทบอกกระทบจมูกหรือริมฝีปาก



ถ้าภาวนา ก็กำหนดรู้ไว้เสมอว่าเราภาวนาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ประการ ใด ถ้าเพ่งภาพกสิณ ก็กำหนดหมายภาพกสิณว่า เราเพ่งกสิณอะไร มีสีสัน วรรณะเป็นอย่างไร ภาพกสิณเคลื่อนหรือคงสภาพ สีของกสิณเปลี่ยนแปลงไป หรือคงเดิม ภาพที่เห็นอยู่นั้นเป็นภาพกสิณที่เราต้องการ หรือ ภาพหลอนสอด แทรกเข้ามา ภาพกสิณเล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า วิจาร



๓. ปีติ ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีเป็นปกติ



๔. ความสุขเยือกเย็น เป็นความสุขทางกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยมีมาใน กาลก่อน



๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ตั้งมั่นอยู่ในองค์ทั้ง ๔ ประการนั้น ไม่คลาดเคลื่อน



ข้อที่ควรสังเกตก็คือ ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ เมื่อขณะทรงสมาธิอยู่นั้น หูยังได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง แต่ว่าอารมณ์ภาวนาหรือรักษาอารมณ์ไม่คลาดเคลื่อน ไม่รำคาญในเสียง เสียงก็ได้ยินแต่จิตก็ทำงานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ อารมณ์เพ่งอยู่ โดยไม่รำคาญ ในเสียงทรงความเป็นหนึ่งไว้ได้ ท่านกล่าวว่า กายกับ จิตเริ่มแยกตัวกันเล็กน้อย แล้วตามปกติจิตย่อมสนใจในเรื่องของกาย เช่นหูได้ยินเสียง จิตก็คิดอะไรไม่ออกเพราะรำคาญในเสียง แต่พอจิตเข้าระดับปฐมฌาน กลับเฉยเมย ต่อเสียงคิดคำนึงถึงอารมณ์กรรมฐานได้เป็นปกติที่ท่านเรียกว่า ปฐมสมาบัติ ก็ เพราะ อารมณ์สมาธิเข้าถึงเกณฑ์ของปฐมฌานที่จิตกับกายเริ่มแยกทางกันบ้างเล็กน้อย แล้วนั่นเอง



อารมณ์ปฐมฌาน และปฐมสมาบัติ

เพื่อให้จำง่ายเข้า จะขอนำอารมณ์ปฐมฌานมากล่าวโดยย่อเพื่อทราบไว้ อารมณ์- ปฐมฌานโดยย่อมีดังนี้



๑. วิตก ความตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ภาวนา

๒. วิจาร ความใคร่ครวญทบทวนถึงองค์ภาวนานั้นๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่เพียงใด

๓. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่นเบิกบานหรรษา

๔. สุข มีความสุขสันต์ทางกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อน เป็นความสุข อย่างประณีต

๕. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ทรงวิตก วิจาร ปีติ สุข ไว้ได้โดยไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรกแซง



องค์ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ต้องปรากฏพร้อมๆ กันไปคือ นึกคิดถึงองค์ภาวนาใคร่ครวญในองค์ภาวนานั้นๆ ว่า ครบถ้วนถูกต้องหรือ ไม่ประการใด มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีอารมณ์ผ่องใสสว่างไสวในขณะภาวนา มีความสุข สันต์หรรษา มีอารมณ์จับอยู่ในองค์ภาวนา ไม่สนใจต่ออารมณ์ภายนอก แม้แต่เสียงที่ได้ยิน สอดแทรกเข้ามาทำให้ได้ยินชัดเจน แต่จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ไปตามเสียงนั้น จิตใจคงมั่นคง อยู่กับอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ



เสี้ยนหนามของปฐมฌาน

เสี้ยนหนามหรือศัตรูตัวสำคัญของปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ ก็ได้แก่ เสียง เสียงเป็นศัตรูที่คอยทำลายอารมณ์ปฐมฌาน ถ้านักปฏิบัติทรงสมาธิอยู่ได้ โดยไม่ต้องระแวงหวั่นไหวในเสียง คือไม่รำคาญเสียงที่รบกวนได้ก็แสดงว่าท่านเข้าถึง ปฐมฌานแล้ว ข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ ฌานโลกีย์นี้เป็นฌานระดับต่ำ เป็นฌานที่ปุถุชน คนธรรมดาสามารถจะทำให้ได้ถึงทุกคน เป็นฌานที่เสื่อมโทรมง่าย หากจิตใจของ ท่านไปมั่วสุมกับนิวรณ์ห้าประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแม้แต่อย่างเดียว ฌานของท่าน ก็จะเสื่อมทันที ต่อว่าเมื่อไรท่านขับไล่นิวรณ์ไม่ให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ ฌานก็เกิดขึ้น แก่จิตใจของท่านต่อไป ฌานจะเสื่อม หรือ เจริญก็อยู่ที่นิวรณ์ ด้านนิวรณ์ไม่ปรากฏจิตว่าง จากนิวรณ์ จิตก็เข้าถึงฌาน ถ้านิวรณ์มารบกวนจิตได้ ฌานก็จะสลายตัวไป ฌานตั้งแต่ ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๘ มีสภาพเช่นเดียวกัน คือต้องระมัดระวังนิวรณ์ไม่ให้เข้ามายุ่ง แทรกแซงเหมือนกัน ก่อนที่จะพูดถึงฌานที่ ๒ จะขอนำเอานิวรณ์ศัตรูร้ายผู้คอยทำลาย ฌานมาให้ท่านรู้จักหน้าตาไว้เสียก่อน



นิวรณ์ ๕

อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ท่านเรียกว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่างคือ



๑. กามฉันทะ ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอันเป็นวิสัยของ กามารมณ์

๒. พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ

๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิดใจ

๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิด ไว้หรือไม่เพียงใด



อารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับจิตใจมานับจำนวนปีไม่ถ้วน ควรจะพูด ว่า จิตใจของเราคบกับนิวรณ์มานานหลายร้อยหลายพันชาติ เมื่อจิตใจเราสนิทสนม กับอารมณ์ของนิวรณ์มานานอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จิตใจจะต้องอดคบหาสมาคมกับ นิวรณ์ไม่ได้ เมื่อเรามาแนะนำให้คบหาสมาคมกับฌาน ซึ่งเป็นเพื่อนหน้าใหม่ มีนิสัยตรงข้าม กับเพื่อนเก่าก็เป็นการฝืนอารมณ์อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่นิวรณ์กับจิตเป็นเพื่อนสนิทกัน มานาน ก็อดที่จะแอบไปคบหาสมาคมกันไม่ได้ อารมณ์ที่จะคอยหักล้างนิวรณ์ คืออกุศลห้า- ประการนี้ได้ ก็อารมณ์ ๕ ประการของปฐมฌานนั่นเอง เมื่อจิตกับนิวรณ์เป็นมิตรสนิทกัน มานาน



ฉะนั้น การดำรงจิตอยู่ในอารมณ์ฌานจึงทรงอยู่ได้ไม่นาน ทรงอยู่ได้ชั่วครู่ชั่วขณะ จิตก็เลื่อนเคลื่อนออกจากอารมณ์ฌานคลานเข้าไปหานิวรณ์ อาการอย่างนี้เป็นกฎธรรมดา ของท่านที่เข้าถึงฌานในระยะต้น หรือที่มีความช่ำชองชำนาญในฌานยังน้อยอยู่ต่อเมื่อไร ได้ฝึกการดำรงฌาน กำหนดเวลาตามความต้องการได้แล้ว เมื่อนั้นแหละความเข้มข้นเข้ม แข็งของกำลังจิตที่จะทรงฌานอยู่ได้นานตามความต้องการจึงจะปรากฏมีขึ้น ขอนักปฏิบัติ จงเข้าใจไว้ด้วยว่า จิตที่เข้าสู่ระดับฌาน คือ ปฐมฌาน หรือฌานอื่นใดก็ตาม



ถ้ายังไม่ฝึกฝนจนชำนาญ เข้าฌานออกฌานตามกำหนดเวลาได้แล้ว จิตก็จะยังทรงสมาธิไว้ ได้ไม่นาน จิตจะค่อยถอยหลังเข้าหานิวรณ์ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออารมณ์ฌาน ย่อหย่อน เมื่อมีอาการอย่างนั้นบังเกิดขึ้นก็จงอย่าท้อใจหมั่นฝึกฝนเข้าฌานโดยการกำหนด เวลาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะดำรงอยู่ในฌาน ตั้งแต่เวลานี้ถึงเวลาเท่านั้น แล้วเริ่มทำสมาธิเข้าสู่ ระดับฌาน ทรงฌานไว้ตามเวลาจนกว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจิตจะเคลื่อนจากฌาน มีความรู้สึก ตามปกติเอง เมื่อทำได้แล้วหัดทำบ่อยๆ จากเวลาน้อย ไปหาเวลามาก คือ ๑ ชั่วโมง ไป หา ๒-๓-๔-๕-๖ จนถึง ๑ วัน ๒-๓-๔-๕-๖-๗ พอครบกำหนด จิตก็จะคลายตัวออกเองโดย ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกหรือคนเรียก



เมื่อชำนาญอย่างนี้ ชื่อว่าท่านเอาชนะนิวรณ์ได้ แต่ก็ อย่าประมาทเพราะฌานโลกีย์ ถึงอย่างไรก็ดี ยังไม่พ้นอำนาจนิวรณ์อยู่นั่นเอง นิวรณ์ที่ไม่มา รบกวนนั้นไม่ใช่นิวรณ์สูญไปหรือสลายตัวเพียงแต่เพลียไปเท่านั้นเอง ต่อเมื่อไรท่านได้ โลกุตตรฌาน คือ บรรลุพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนั่นแหละท่านพอจะไว้ใจตัว ได้ว่าท่านไม่มีวันที่จะต้องตกมาอยู่ใต้อำนาจนิวรณ์ คืออกุศลธรรมต่อไปอีก เพราะโลกุต- ตรฌานคือ ได้ฌานโลกีย์แล้วเจริญวิปัสสนาญาณจนบรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอริย- บุคคล แล้วอกุศลคือนิวรณ์ ๕ ประการเข้าครองจิตไม่ได้สนิทนักสำหรับพระอริยะต้น พอจะ กวนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จักจูงใจให้ทำตามนิวรณ์สั่งไม่ได้ นิวรณ์บางอย่างเช่น กามฉันทะ ความพอใจในความสวยงามของ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโกรธ ความขัด เคือง พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมี แต่ก็มีเพียงคิดนึกไม่ถึงกับลงมือทำ เรียกว่าอกุศลกวนใจ นิดหน่อย พอทำได้ แต่จะบังคับให้ทำไม่ได้ สำหรับพระอนาคามี ยังตกอยู่ใต้อำนาจของ อุทธัจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน แต่ก็คิดไปในส่วนที่เป็นกุศลใหญ่มากกว่า ความคิดฟุ้งเลอะ เลือนเล็กๆ น้อย ๆ พอมีบ้าง แต่ไม่มีอะไรเป็นภัย เพราะพระอนาคามีหมดความโกรธ ความพยาบาทเสียแล้ว



อำนาจของนิวรณ์มีอย่างนี้ บอกให้รู้ไว้ จะได้คอยยับยั้งชั่งใจคอยระมัดระวังไว้ไม่ปล่อย ให้ใจระเริงหลงไปกับนิวรณ์ ที่ชวนให้จิตมีความรู้สึกนึกคิดไปในส่วนที่เป็นอกุศลยับยั้งตนไว้ ในอารมณ์ของฌานเป็นปกติ ท่านที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอารมณ์ฌานและเข้าฌานไว้เป็นปกติ ท่านผู้นั้นมีหน้าตาแช่มชื่นเอิบอิ่มอยู่เสมอ มีอารมณ์เบิกบานไม่หดหู่ เห็นน่ารักอยู่ตลอดเวลา ฌานแม้แต่เพียงปฐมฌานจัดว่าเป็นฌานเบื้องต้น ก็มีผลไม่น้อยถ้าทรงไว้ได้ไม่ปล่อยให้เสื่อม ตายไปในขณะที่ทรงฌาน ก็สามารถไปเกิดในพรหมโลกได้สามชั้น คือ



ปฐมฌานหยาบเกิด เป็นพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานกลาง เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานละเอียด เกิดเป็นพรหม ชั้นที่ ๓ ถ้าท่านเอาสมาธิในปฐมฌานมาเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้วอำนาจสมาธิของ ปฐมฌานก็สามารถเป็นกำลังให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสเป็น สมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลส ได้เด็ดขาดจนบรรลุอรหัตตผลได้สมความปรารถนา อำนาจฌานแม้แต่ฌานที่ ๑ มีอานุภาพ มากอย่างนี้ ขอท่านนักปฏิบัติจงอย่าท้อใจ ระมัดระวังใจ อย่าหลงใหลในนิวรณ์จนเสียผลฌาน



ทุติยฌานหรือทุติยสมาบัติ

ทุติยฌาน แปลว่า ฌานที่ ๒ ทุติยสมาบัติ แปลว่า สมาบัติที่ ๒ ฌานและสมาบัติ ได้อธิบายมาแล้ว แต่ฌานต้นคือ ปฐมฌาน จะไม่อธิบายอีก ปฐมฌานมีอารมณ์ ๕ ตามที่ กล่าวมาแล้วในฌานที่ ๑ สำหรับทุติยฌานนี้ มีอารมณ์ ๓

อารมณ์ ๓ ของทุติยฌานมีดังต่อไปนี้



๑. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ

๒. สุข ความสุขอย่างประณีต

๓. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง



อารมณ์ทุติยฌานนี้ ก็ตัดเอามาจากอารมณ์ปฐมฌานนั่นเอง ท่านที่ทรงสมาธิ เข้าถึงทุติยฌานนี้ ท่านตัด วิตก วิจาร อันเป็นอารมณ์ของ ปฐมฌานเสียได้ คงเหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา อาการตัดวิตก วิจารนั้นมีความรู้สึกอย่างไรในเวลาปฏิบัติจริง ข้อนี้นักปฏิบัติ สนใจกันมากเป็นพิเศษเพราะเพียงอ่านรู้แล้วยังหาความเข้าใจจริงไม่ได้ การตัดก็มิใช่จะตัด ออกไปเฉยๆ ได้ตามอารมณ์ วิตก แปลว่า ตรึก นึกคิด วิจาร แปลว่า ไตร่ตรองใคร่ครวญ ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่า วิตกวิจารนี้ เป็นอารมณ์ที่ตัดไม่ได้ง่ายเลย ใครๆ ที่ไหนจะมาห้าม ความรู้สึกนึกคิดกันง่ายๆ ได้ เคยฟังท่านสอนเวลาเรียน ท่านสอนว่าให้ตัดวิตกวิจารออกเสียได้ แล้วทรงอยู่ใน ปีติ สุข เอกัคคตาเท่านี้ก็ได้ ทุติยฌาน ท่านพูดของท่านถูกฟังก็ไม่ยาก แต่ ตอนทำเข้าจริง ๆ พอมาเจอตัวตัดวิตกวิจารเข้าจริงๆ กลับไม่เข้าใจ จะพูดให้ฟังถึงการ ตัดวิตกวิจาร



ตัดวิตกวิจารตามผลปฏิบัติ

ตามผลปฏิบัตินั้นวิตกวิจารที่ถูกตัดมิได้ตัดด้วยการยกเว้น คืองดการนึกคิด เอาเอง เฉยๆ ท่านตัดด้วยการปฏิบัติเข้าถึงระดับ คือ ในระยะแรกก็เจริญภาวนาคาถา ภาวนาตามท่านอาจารย์สอน จะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ ท่านไม่ได้จำกัดไว้คาถาภาวนาเป็น สายเชือกโยงใจเท่านั้นให้ใจมีหลักเกาะไว้ไม่ให้สอดส่ายไปในอารมณ์นอกจากคำภาวนา อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมภาวนา" ขณะที่ภาวนาอยู่จิตคิดถึงคำภาวนานั้นท่านเรียกว่า " วิตก" จิตที่คอยประคับประคองคำภาวนา คิดตามว่า เราภาวนาถูกตามอาจารย์สอนหรือ ไม่ครบถ้วนหรือไม่ อย่างนี้ท่านเรียกว่า " วิจาร" การตัดวิตกวิจาร ก็ภาวนาไปอย่างนั้น จนเกิด ปีติ สุขและเอกัคคตา คือมีอารมณ์คงที่ จิตไม่สนใจกับอารมณ์ภายนอก รักษาอารมณ์ ภาวนาและอาการเอิบอิ่ม สุขสันต์อยู่ตลอดเวลา ลมหายใจชักจะอ่อนลงทุกที รู้สึกว่าหายใจ เบา อารมณ์จิตโปร่งแจ่มใส หลับตาแล้ว แต่คล้ายกับมีใครเอาประทีปมาวางไว้ใกล้ๆ



ในระยะนี้เองจิตจะหยุดภาวนาเอาเฉยๆ มีอารมณ์นิ่งดิ่งสบายกว่าขณะที่ภาวนามาก รู้สึกว่า ลมหายใจอ่อนระรวยลง หูได้ยินเสียงภายนอกแต่เบาลงกว่าเดิม จิตไม่สนใจกับอะไร มี อารมณ์เงียบสงัดดิ่งอยู่ บางรายพอรู้สึกตัวว่าหยุดภาวนาก็ตกใจ รีบคิดถึงคำภาวนา บางราย ก็คว้าต้นชนปลายไม่ถูก คำภาวนาภาวนามาจนคล่อง กลับคิดไม่ออกว่าอะไรเป็นต้นเป็น ปลาย กึกกักอึกอักอยู่ครู่หนึ่งจึงจับต้นชนปลายถูก อาการที่จิตสงัดปล่อยคำภาวนามีอารมณ์ เฉยไม่ภาวนานั่นแหละเป็นการละวิตกวิจาร ละด้วยอารมณ์เข้าถึงสมาธิอันดับฌาน ๒ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะมาหยุดภาวนาไปนั้นตอนนั้นจิตตกอารมณ์ทุติยฌาน เข้าสู่อารมณ์ปฐมฌาน ตามเดิม บางรายก็เข้าสู่ภวังค์ คืออารมณ์ปกติธรรมดาเอาเลย



พูดมาอย่างนี้ คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วว่า การละหรือตัดวิตกวิจารนั้นก็การ ที่ภาวนาไปจนมีอารมณ์สงัด จิตปล่อยคำภาวนานั่นเอง เมื่อจิตปล่อยคำภาวนาแล้ว ก็เหลือ แต่ความชุ่มชื่นหรรษามีความสุขสันต์ทางกายอย่างประณีต มีอารมณ์ใจดิ่งอยู่อย่างไม่สนใจ กับอารมณ์ใด หูเกือบจะไม่ได้ยินเสียงอะไร เป็นอารมณ์จิตที่มีความสุขสบายยอดเยี่ยมกว่า ฌานที่ ๑ มาก เพราะฌานที่ ๑ ยังต้องมีกังวลอยู่กับการภาวนาและต้องระมัดระวังบทภาวนา ให้ถูกต้องครบถ้วน จัดว่ามีกังวลมาก สำหรับทุติยฌานนี้ตัดคำภาวนาออกเสียได้ด้วยการเข้า ถึงอารมณ์ที่ละเอียดกว่า มีแต่ความชุ่มชื่นหรรษาด้วยอำนาจปีติมีความสุขละเอียดอ่อนประณีต เพราะสู่ความสุขอันประณีตด้วยอำนาจสมาธิที่ตั้งมั่นกว่าปฐมฌานจิตเป็นหนึ่ง คือมีอารมณ์ สงัดจากอารมณ์ภายนอก แม้แต่คำภาวนาก็ไม่แยแส นี่แหละที่ท่านเรียกว่าได้ทุติยฌาน หรือ ทุติยสมาบัติ



เมื่อได้แล้วต้องฝึกฝนให้คล่องว่องไว คิดจะเข้าทุติยฌานเมื่อไร ก็เข้าได้ทัน ท่วงทีหรือจะทรงทุติยฌานอยู่นานเท่าใด ก็กำหนดเวลาได้ตามความประสงค์ อย่างนี้จึงจะ ชื่อว่า ได้ทุติยฌานแน่นอน แต่ทว่าเมื่อได้แล้วก็อย่าประมาท ถ้าพลั้งพลาดปล่อยให้อกุศล มารบกวนใจหรือจิตใจไปใคร่ในอกุศลเข้าเมื่อไร ทุติยฌานก็ทุติยฌานนั่นแหละ เป็นเสื่อม- ทรามลงทันที ฉะนั้นท่านจึงว่า ฌานโลกีย์นี้ระมัดระวังยาก ต้องคอยประคับประคองประคบ ประหงมยิ่งกว่าเด็กอ่อนนอนเบาะเสียอีก



เสี้ยนหนามของทุติยฌาน

เสี้ยนหนามของปฐมฌานได้แก่เสียง เสียงเป็นศัตรูคอยทำลายปฐมฌาน เมื่อใดถ้าจิต ยุ่งกับเสียง คือทนรำคาญไม่ไหว ก็หมายความว่า ปฐมฌานเสื่อมเสียแล้ว สำหรับทุติฌานนี้ มีวิตกวิจารเป็นเสี้ยนหนามศัตรู เมื่อขณะที่จิตทรงสมาธิอยู่ในระดับทุติยฌาน จิตคอยจะเคลื่อน เลื่อนลงมาหาอารมณ์ปฐมฌาน คือคอยจะยึดเอาคาถาภาวนาเป็นอารมณ์ เพราะคาถาภาวนา เป็นวิตกวิจาร จึงจำต้องคอยระมัดระวังไว้ อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้คลาดเคลื่อนคุมอารมณ์ ทุติยฌานอย่าให้เลือนไปได้ ฝึกหัดตั้งกำหนดเวลาทรงฌานเข้าไว้ แล้วทำให้ชินตามกำหนดเวลา



อานิสงส์ทุติยฌาน

ฌานทั้งหมด เป็นอารมณ์สมาธิที่ทำจิตใจให้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เวลาจะทำ การงานก็มีความทรงจำดี จิตใจไม่เลอะเลือนฟุ้งซ่าน เป็นอารมณ์รักษาโรคประสาทได้ดี ที่สุด นอกจากนี้ เวลาจะตายก็มีสติสัมปชัญญะดีไม่หลงตาย ถ้าตายในระหว่างฌานท่านว่า ทุติยฌานที่เป็นโลกียฌานให้ผลดังนี้



ก. ทุติยฌานหยาบ ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๔

ข. ทุติยฌานกลาง ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๕

ค. ทุติยฌานละเอียด ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่ ๖



ถ้าเอาอารมณ์ทุติยฌานไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้ว สมาธิระดับทุติยฌานจะมี กำลังช่วยให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสได้ดีและรวดเร็วกว่ากำลังของปฐมฌานมาก ท่านอาจมี หวังถึงที่สุดของพรหมจรรย์ในชาติปัจจุบันก็ได้ ถ้าท่านมีความเพียรดี ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธ- พจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติพอดีพอควร ไม่ยิ่งหย่อนนัก เรียกว่าปฏิบัติพอเหมาะ พอดี การปฏิบัติพอเหมาะพอดีนี้ปฏิบัติอย่างไร ท่านก็ศึกษาจากตัวของท่านเองนั่นแหละตรง ต่อความเป็นจริง



ตติยฌานหรือตติยสมาบัติ

ปฐม แปลว่าที่ ๑ ทุติยะ แปลว่าที่ ๒ ตติยะ แปลว่าที่ ๓ ตติยฌานจึงแปลว่า ฌาน ที่ ๓ ตติยสมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงอารมณ์ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๓ นี้ มีอารมณ์ ๒ คือ



๑. สุข ได้แก่ความสุขที่ปราศจากปีติ คือความสุขทางจิตโดยเฉพาะ ไม่มีความสุข ที่เนื่องด้วยกาย

๒. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่ไม่มีอารมณ์ห่วงใยในกาย เป็นอาการที่สงัด จากกาย ฌานนี้ท่านว่าเป็นฌานที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด



อาการของฌานที่ ๓ นี้เป็นอาการที่จิตตัดปีติความเอิบอิ่มใจในฌานที่ ๒ ออกเสียได้ เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๓ นี้ จะรู้สึกว่า อาการขนพองสยองเกล้าก็ดี น้ำตา ไหลก็ดี กายโยกโคลงก็ดี อาการซู่ซ่าทางกาย คล้ายกายเบา กายใหญ่ กายสูงจะไม่ปรากฏ เลยมีอาการทางกายเครียดคล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่น ไม่มีการโยกโคลงได้ฉันนั้น จงจำไว้ว่าตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นมา ไม่มีการภาวนาเลย ถ้า ยังภาวนาอยู่ และหูได้ยินเสียงชัด แต่ไม่รำคาญในเสียง เป็นฌานที่ ๑ ตั้งแต่ฌานที่ ๒ มา ไม่มีการภาวนาและเรื่องเสียงเกือบไม่มีความหมาย คือไม่มีความสนใจในเสียงเลย เสียง มีอยู่ก็เหมือนไม่มีเพราะจิตไม่รับเสียง ลมหายใจจะค่อยๆ น้อยอ่อนระรวยลงทุกขณะใน ฌานที่ ๓ นี้ลมหายใจยังปรากฏ แต่ก็รู้สึกเบาเต็มที่มีอาการคล้ายจะไม่หายใจ แต่ก็พอรู้สึก น้อยๆ ว่าหายใจ จิตสงัดไม่มีการหวั่นไหว ไม่มืด มีความโพลงอยู่มีอารมณ์แน่นในสมาธิ มากจนรู้ตัวว่า อารมณ์แนบแน่นกว่าสองฌานที่ผ่านมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเข้าถึงฌานที่ ๓ ต้องฝึกเข้าฌานออกฌานให้แคล่วคล่องว่องไวตามที่กล่าวมาแล้ว



เสี้ยนหนามของฌานที่ ๓

ปีติ เป็นเสี้ยนหนามของ ฌานที่ ๓ เพราะฌานที่ ๓ ตัดปีติเสียได้ แต่ถ้าอารมณ์ ตกลงไปปีติจะปรากฏขึ้น ถ้าปีติปรากฏขึ้นเมื่อไร พึงทราบเถิดว่า ขณะนี้อารมณ์จิตเคลื่อน จากฌานที่ ๓ มาอยู่ระดับฌาน ๒ แล้วถ้าปรากฏว่ามีการภาวนาด้วย แต่จิตยังไม่รำคาญ ในเสียงก็ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอารมณ์สมาธิไหลออกจนเหลือเพียงฌาน ๑ ท่านให้ระมัดระวัง ด้วยการทรงสติสัมปชัญญะ อย่าให้อารมณ์สมาธิรั่วไหลเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตราย แก่ฌาน ๓



อานิสงส์ฌานที่ ๓

ฌานที่ ๓ นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ ๓ ท่านว่า จะไม่หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตา สดชื่นผ่องใส เมื่อตายแล้ว ฌาน ๓ ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ



๑. ฌานที่ ๓ หยาบ ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗

๒. ฌานที่ ๓ กลาง ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๘

๓. ฌานที่ ๓ ละเอียด ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๙



ฌาน ๓ ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน ๓ ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาจะมีกำลังกล้า ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงใน ชาตินี้โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน ๓ ไว้ได้มีผลดังกล่าวมาแล้วนี้



จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติ

จตุตถะ แปลว่าที่ ๔ จตุตถฌานจึงแปลว่าฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้มีอารมณ์ ๒ เหมือนฌาน ๓ แต่ผิดกันที่ฌาน ๓ มีสุขกับเอกัคคตา สำหรับฌานที่ ๔ นี้ ตัดความสุข ออกเสียเหลือแต่ เอกัคคตา และเติมอุเบกขาเข้ามาแทน ฉะนั้น อารมณ์ของฌาน ๔ จึงมีอารมณ์ผิดแผกจากฌาน ๓ ตรงที่ตัดความสุขออกไป และเพิ่มการวางเฉยเข้ามาแทนที่



อาการของฌาน ๔

ฌาน ๔ เมื่อนักปฏิบัติ ปฏิบัติถึงมีอาการดังนี้

๑. จะไม่ปรากฏลมหายใจเหมือนสภาพฌานอื่นๆ เพราะลมละเอียดจน ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ในวิสุทธิมรรคท่านว่า ลมหายใจไม่มีเลย แต่บางอาจารย์ ท่านว่า ลมหายใจนั้นมี แต่ลมหายใจละเอียดจนไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ตามนัยวิสุทธิ- มรรคท่านกล่าวถึงคนที่ไม่มีลมหายใจไว้ ๔ จำพวกด้วยกัน คือ ๑. คนตาย ๒. คนดำน้ำ ๓. เด็กในครรภ์มารดา ๔.ท่านที่เข้าฌาน ๔ รวมความว่า ข้อสังเกตที่สังเกตได้ชัดเจน ในฌาน ๔ ที่เข้าถึงก็คือ ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจการที่ฌาน ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว และ ขณะที่ทรงอยู่ในระดับของฌาน ๔ ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจนี้เป็นความจริง มีนักปฏิบัติ หลายท่านที่พบเข้าแบบนี้ถึงกับร้องเอะอะโวยวายบอกว่าไม่เอาแล้วเพราะเกรงว่าจะตาย เพราะไม่มีลมหายใจบางรายที่อารมณ์สติสมบูรณ์หน่อยก็ถึงกับค้นคว้าควานหาลมหายใจ เมื่ออารมณ์จิตตกลงระดับต่ำกว่าฌานที่ ๔ ในที่สุดก็พบลมหายใจที่ปรากฏอยู่กับปลาย จมูกนั่นเอง



๒. อารมณ์จิตเมื่อเข้าสู่ระดับฌาน ๔ จะมีอารมณ์สงัดเงียบจากอารมณ์ ภายนอกจริง ๆ ดับเสียง คือ ไม่ได้ยินเสียง ดับสุข ดับทุกข์ทางกายเสียจนหมดสิ้น มี อารมณ์โพลงสว่างไสวเกินกว่าฌานอื่นใด มีอารมณ์สงัดเงียบ ไม่เกี่ยวข้องด้วยร่างกาย เลย กายจะสุข จะทุกข์ มดจะกิน ริ้นจะกัดอันตรายใดๆ จะเกิด จิตในระหว่างตั้งอยู่สมาธิ ที่มีกำลังระดับฌาน ๔ จะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฌานนี้กายกับจิตแยกกันเด็ดขาดจริงๆ ไม่สนใจข้องแวะกันเลย ดังจะเห็นในเรื่องของลมหายใจ ความจริงร่างกายนี้จำเป็นมาก ในเรื่องหายใจเพราะลมหายใจเป็นพลังสำคัญของร่างกาย พลังอื่นใดหมดไป แต่อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจยังปรากฏ ที่เรียกกันตามภาษาธรรมว่า ผัสสาหารยังมีอยู่ ร่างกาย ก็ยังไม่สลายตัว ถ้าลมหายใจที่เรียกว่าผัสสาหารหยุดเมื่อไร เมื่อนั้นก็ถึงอวสานของการ ทรงอยู่ของร่างกาย ฉะนั้น ผลการปฏิบัติที่เข้าถึงระดับฌาน ๔ จึงจัดว่าลมหายใจยังคงมี ตามปกติที่ไม่รู้ว่าหายใจก็เพราะว่าจิตแยกออกจากกายอย่างเด็ดขาดโดยไม่รับรู้อาการ ของร่างกายเลย



อาการที่จิตแยกจากร่างกาย

เพื่อให้เข้าใจชัดว่า จิตแยกออกจากร่างกายได้จริงเพียงใด เมื่อท่านเจริญสมาธิถึง ฌาน ๔ จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญดีแล้ว ให้ท่านเข้าสู่ฌาน ๔ แล้วถอยจิตออกมาหยุดอยู่ เพียงอุปจารฌาน แล้วอธิษฐานว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรงและกายอีกกายหนึ่งจงปรากฏ แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ ออกจากฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน ท่านจะเห็นกายเป็น โพรงใหญ่ มีกายของเราเองปรากฏขึ้นภายในกายเดิมอีกกายหนึ่ง ที่ท่านเรียกในมหาสติ- ปัฏฐานว่ากายในกาย จะบังคับให้กายในกายท่องเที่ยวไปในร่างกายทุกส่วน แม้แต่เส้น ประสาทเล็กๆ กายในกายก็จะไปได้สะดวกสบายเหมือนเดินในถ้ำใหญ่ๆ ต่อไปจะบังคับ กายใหม่นี้ออกไปสู่ภพใดๆ ก็ไปได้ตามประสงค์ ที่ท่านเรียกว่า "มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจนั่นเอง" พลังของฌาน ๔ มีพลังมากอย่างนี้ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วท่าน จะฝึกวิชชาสาม อภิญญาหกหรือปฏิสัมภิทาญาณ ก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะวิชชาการที่จะฝึก ต่อไปนั้น ก็ใช้พลังจิตระดับฌาน ๔ นั่นเอง จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพียงอาการในการ เคลื่อนไปเท่านั้น ส่วนอารมณ์ที่จะใช้ก็เพียงฌาน ๔ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วเปรียบเสมือน นักเพาะกำลังกาย ถ้ามีกำลังกายสมบูรณ์แล้วจะทำอะไรก็ทำได้เพราะกำลังพอจะมีสะดุด บ้างก็ตรงเปลี่ยนแนวปฏิบัติใหม่ จะยุ่งใจบ้างในระยะต้นพอเข้าใจเสียแล้วก็ทำได้คล่อง เพราะกำลังพอ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วก็เช่นเดียวกัน เพราะงานส่วนอภิญญาหรือวิชชาสาม ก็ใช้พลังจิตเพียงฌาน ๔ เท่านั้น ท่านที่ได้ฌาน ๔ จึงเป็นผู้มีโอกาสจะทำได้โดยตรง



เสี้ยนหนามของฌาน ๔

เสี้ยนหนาม หรือศัตรูตัวสำคัญของฌาน ๔ ก็คือ "ลมหายใจ" เพราะถ้าปรากฏว่า มีลมหายใจปรากฏเมื่อเข้าฌาน ๔ ก็จงทราบเถิดว่า จิตของท่านมีสมาธิต่ำกว่าฌาน ๔ แล้วจงอย่าสนใจกับลมหายใจเลยเป็นอันขาด



อานิสงส์ของฌาน ๔

๑. ท่านที่ทรงฌาน ๔ ไว้ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะมีอารมณ์แช่มชื่นตลอดวัน เวลาจะแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างอัศจรรย์

๒. ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะทรงวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณได้ ถ้าท่านต้องการ

๓. ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะเอาฌาน ๔ เป็นกำลังของวิปัสสนาญาณชำระ กิเลสให้หมดสิ้นไป อย่างช้าภายใน ๗ ปี อย่างกลางภายใน ๗ เดือน อย่างเร็วภายใน ๗ วัน

๔. หากท่านไม่เจริญวิปัสสนา ท่านทรงฌาน ๔ ไว้มิให้เสื่อม ขณะตาย ตาย ในระหว่างฌานที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกสองชั้นคือ ชั้นที่ ๑๐ และชั้นที่ ๑๑



 
โอ่
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2005, 7:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมะเป็นสมบัติกลาง เป็นของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นขุองบุคคลใด ส่วนลิขสิทธิ์เป็นสมบัติในแง่กฎหมาย แต่ธรรมนั้นมิได้เป็นสมบัติของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น การเผยแพร่มิได้เป็นการขโมยและไม่มีสิ่งที่เป็นบาป แต่การบอกที่มาเป็นมารยาทเท่านั้นครับ
 
โอ่
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 07 ม.ค. 2005, 9:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีความเห็นว่าสังโยชน์ข้อ 3 "สีลัพตปรามาส"ความยึดมั่นในศีลพรตมากกว่า เพราะในที่ต่างๆอธิบายอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ การลูบคลำศีลหมายถึงการยึดถือศีลไว้อย่างดีและเชื่อว่าคนจะบริสุทธิ์ด้วยศีลและวัตร โดยไม่เข้าใจว่าต้องอาศัยสมาธิและปัญญาเพื่อการหลุดพ้น



ส่วนสังโยชน์ข้อ 5 เป็น "ปฏิฆะ" มากกว่าพยาบาท ปฏิฆะแปลว่าการกระทบกระทั่งในใจ มีความละเอียดกว่าพยาบาท
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง