Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ลังกาวตารสูตร (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.พ.2007, 7:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ลังกาวตารสูตร
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ลังกาวตารสูตร เป็นคัมภีร์หลัก (Text) ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นคัมภีร์หนึ่งในเก้าคัมภีร์ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญ ที่เรียกว่าสูตร สูตรหนึ่งนั้นมิใช่สั้นๆ เช่นที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นหนังสือเล่มขนาดใหญ่ หรือคัมภีร์หนึ่งนั่นเอง ลังกาวตารสูตรพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อ ค.ศ. 1922 โดยท่าน Bunyin Nangio, M.A (oxon), D Litt Kyoto สูตรนี้แปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 443 โดยท่านคุณภัทรแห่งอินเดีย, เป็นครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ. 513 โดยท่านโพธรุจิ แห่งอินเดีย และครั้งที่สามเมื่อ ค.ศ. 700 โดยท่านศึกษานันทะ แห่งอินเดียเหมือนกัน เป็นสูตรว่าด้วยศีลธรรมล้วน

ภาคที่แปดแห่งลังกาวตารสูตรนี้ กล่าวถึงเรื่องการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เรียกว่า ภาคมางสภักษนปริวรรต จากข้อความในภาคนี้ ย่อมเป็นการพิสูจน์ไว้อย่างเต็มที่ ว่าสาวกในพระพุทธศาสนานิกายนี้จะเป็นบรรพชิต หรือฆราวาสก็ตาม จะไม่รับประทานเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ต่อไปนี้เป็นข้อความบางตอน ซึ่งตัดตอนมาจากข้อความในภาคนั้น โดยเห็นว่าพวกเราแม้เป็นฝ่ายเถรวาท (หินยาน) ก็ควรได้อ่านฟังกันไว้บ้างเป็นการประกอบการศึกษาเรื่องนี้ ด้วยใจอันเป็นอิสระ

ข้อความในพระสูตรนั้น มีดั่งนี้

"พระตถาคตเจ้าผู้ทรงอรหันต์ ได้ตรัสรู้อย่างถูกถ้วนแล้ว, และได้ตรัสความเป็นกุศลหรืออกุศลแห่งการบริโภคเนื้อสัตว์แก่เรา, เพื่อว่าเราและสาวกอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะได้ประกาศสัจธรรมอันนี้ แก่เขาเหล่าโน้นผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการทำลายความอยากในเนื้อสัตว์ของเขานั้นๆ เสีย"

"พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า : โอ, มหาบัณฑิต ! ด้วยน้ำหนักแห่งเหตุผลอันมากมายเหลือจะประมวล บ่งแสดงว่าเนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธโดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้มีใจเปี่ยมอยู่ด้วยความกรุณา สำหรับเขาเหล่านั้น เราจักกล่าวแต่โดยย่อๆ

โอ, มหาบัณฑิต ! ในวัฏฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนก ฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะทำลงไปได้อย่างไรหนอ, จะเป็นผู้สำเร็จแล้ว หรือยังเป็นสาวกธรรมดาก็ตาม ผู้เห็นอยู่ว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมด เป็นภราดรของตน, แล้วจะเชือดเถือเนื้อของมัน ?

โอ, บัณฑิต ! เนื้อสุนัข เนื้อลา อูฐ ม้า โค และเนื้อมนุษย์เหล่านี้เป็นเนื้อที่ประชาชนไม่รับประทาน. แม้กระนั้นเนื้อของสัตว์เหล่านี้ถูกนำมาปลอมขายในนามของเนื้อแกะ ภายในเมืองเพราะเห็นแก่เงิน เพราะเหตุนี้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งไม่ควรกินโดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา

โอ, บัณฑิต ! เพราะว่าเนื้อย่อมเกิดมาจากเลือดและน้ำอสุจิ, เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค สำหรับสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์ต่อความสะอาดบริสุทธิ์

และเพราะมันเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ในระหว่างกันและกัน โอ, บัณฑิต ! เพราะฉะนั้น เนื้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคโดยบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์มิตรภาพในเพื่อนสัตว์ด้วยกัน ทุกถ้วนหน้า ตัวอย่างอันประจักษ์ เช่น เมื่อได้เห็นนายพรานป่า ชาวประมง หรือนักกินเนื้ออื่นๆ เดินมาแม้ในระยะอันไกล สัตว์ทั้งหลายก็สะดุ้งกลัวเสียแล้ว บางครั้งหรือบางชนิดขาดใจตายเพราะความกลัว เนื่องจากมันรู้ดีว่าเขาจะฆ่ามัน ทำนองเดียวกัน สัตว์ตัวน้อยๆ อื่นๆ ในท้องฟ้า บนบก หรือในน้ำก็ตาม เมื่อได้เห็นนักกินเนื้อแต่ที่ไกลหรือได้กลิ่นด้วยจมูกอันไวของมัน ก็จะพากันวิ่งหนีไปไกล พร้อมกับความรู้สึกอยู่ในใจว่า เขาเหล่านั้นเป็นผีอสุรกายผู้ล้างผลาญ, นั่นเพราะความกลัวต่อความตายของมัน

เนื้อเป็นสิ่งที่ควรกินสำหรับผู้ใจดำอำมหิต, เป็นสิ่งที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ, เป็นต้นเหตุของความเสื่อมเสีย, และเป็นสิ่งที่จะถูกห้ามกันโดยท่านสัตบุรุษ, โอ, บัณฑิต ! เนื้อนี้เป็นของไม่ควรบริโภคโดยพุทธสาวก โอ, บัณฑิต ! สัตบุรุษย่อมบริโภคเฉพาะแต่อาหารที่สมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์, ไม่ยอมบริโภคเนื้อและเลือด เพราะฉะนั้นควรที่สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย

พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเยือกเย็นไปด้วยพระกรุณา มีพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นที่พึ่ง ที่ป้องกันแก่ดวงใจของปวงสัตว์และมีพระสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะไม่ปล่อยให้เป็นโอกาสสำหรับความเสื่อมเสียระบาดขึ้นได้เลยนั้น ย่อมจะทรงบัญญัติเนื้อสัตว์ว่าเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค

โอ, บัณฑิต ! ในโลกนี้มีคนเป็นอันมาก ซึ่งกล่าวคำเท็จเทียมต่อพระพุทธดำรัส ให้ผิดไปจากความจริง เขากล่าวกันว่า บรรดาผู้ซึ่งคัดค้านอาหาร อันสมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาลย่อมกินอาหารเหมือนนักกินเนื้อ ย่อมเที่ยวใส่ความทุกข์เจ็บปวดให้แก่สัตว์น้อยๆ ที่มีชีวิตอยู่ในอากาศ บนบกและในน้ำ, เที่ยวรบกวนรังควานมัน ทั้งที่นี่และที่นั่นอยู่เสมอ สมณภาพของเขาถูกทำลายเสียย่อยยับแล้ว, พราหมณภาพของเขาถูกทำให้เศร้าหมองเสียแล้ว, เขามิได้ประกอบด้วยศรัทธาและสมาจาร คนชนิดนี้แหละที่กล่าวคำเท็จเทียมมากมายหลายชนิดแด่พระพุทธวจนะ

โอ, บัณฑิต ! มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าบริโภคอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับกลิ่นแห่งศพ แม้เหตุผลเพียงเท่านี้ เนื้อก็เป็นของไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าศพถูกเผา และเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ถูกเผา มันก็จะมีกลิ่นอันน่ารังเกียจไม่แตกต่างอะไรกันเลย, ดังนั้นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้หวังความบริสุทธิ์ จะไม่บริโภคเนื้อใดๆ เลย

เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกันแล้ว สำหรับท่านผู้บริสุทธิ์และสาวกของท่าน ในกรณีที่จะพยายามเพื่อโมกษะและความตรัสรู้, เพราะฉะนั้นสาวกผู้ดำเนินตามทางอันสูงยิ่ง ทั้งครอบครัวลูกหญิงชาย ย่อมรู้อย่างเต็มใจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกันในทุกๆ กรณีที่พยามเพื่อสมาธิ โอ, บัณฑิต ! เพราะฉะนั้นเนื้อทุกๆ ชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกซึ่งเป็นผู้ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น

นักกินเนื้อ ย่อมเป็นเหยื่อแห่งโรคหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน โรคเจ็บในท้อง ฯลฯ โอ, บัณฑิต ! เรากำลังประกาศว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดังนี้, อย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรา กินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิต, เป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป, เต็มไปด้วยมลทิน, ปราศจากคุณใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์, และเป็นของควรห้ามเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง


มีต่อ >>>>>
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.พ.2007, 7:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โอ, บัณฑิต ! เราได้บัญญัติไว้แล้ว, สำหรับอาหารอันสมควรซึ่งได้กำหนดนิยมกันมาแล้วโดยบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล, ได้แก่อาหารที่ปรุงขึ้น จากข้าว ลูกเดือย ข้าวสาลีสารแห่งหญ้ามุญชะ อูรทะ และมสุร ฯลฯ นมส้ม น้ำนม นมน้ำตาลสด กุท (?) น้ำตาล และน้ำตาลกรวด ฯลฯ

โอ, บัณฑิต ! ในกาลก่อน มีพระราชาครองราชสมบัติอย่างผาสุกพระองค์หนึ่ง นามว่า ราชาสิงหะ เสาทโส ต่อมาได้กลายเป็นผู้ละโมบอย่างแรงในการบริโภคเนื้อ ในที่สุดถึงกับใช้เนื้อคนเป็นอาหาร เนื่องจากความอยากได้เป็นไปแก่กล้าหนักเข้า เพราะเหตุนั้น พระองค์ถูกถอดจากความเป็นพระราชา โดยพระสหายเสนาบดี และประยูรญาติของพระองค์เองและคนอื่นๆ ต่อจากนั้นต้องสละราชสมบัติถูกเนรเทศออกไปจากแว่นแคว้นของพระองค์โดยประชาชน ต้องรับทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวง เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นต้นเหตุ

โอ, บัณฑิต ! ก็ในปัจจุบันชาตินี้เอง เขาเหล่านั้นซึ่งเคยชินเกินไปในการกินเนื้อสัตว์ ในมาตรฐานที่เมื่อความอยากเป็นไปรุนแรงเข้า ก็กินเนื้อคนได้ (ในยามขาดแคลน) ย่อมเป็นผู้ละโมบในการกินและเป็นเหมือนปีศาจร้าย ครั้นถึงอนาคตชาติหน้า เพราะอำนาจจิตฝังแน่นในการอยากกินเนื้อ เขาย่อมตกไปสู่กำเนิดแห่งสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น สิงโต เสือ สุนัขป่า สุนัขไน แมว สุนัขจิ้งจอก นกเค้า และ ฯลฯ

โอ, บัณฑิต ! มิใช่เพราะเนื้อจะเป็นของต้องกินหรือการฆ่าเป็นของต้องทำก็หามิได้ ในกรณีนั้นๆ ส่วนมากทั้งหมดเป็นเพราะการเห็นแก่เงิน, จึงสัตว์ที่มีชีวิตแม้จะเชื่องและปราศจากอันตรายแต่อย่างใด ก็ได้ถูกฆ่า การฆ่าเพราะเหตุอื่นนั้น มีน้อยที่สุด มันเป็นการทรมานใจเขามาก ในเมื่อใจเต็มไปด้วยความอยากกินเนื้ออย่างแรงกล้า คนก็กินเนื้อคนได้ อยู่เสมอจะต้องกล่าวทำไมกะเนื้อสัตว์ เนื้อนก ฯลฯ ส่วนมากที่สุดเนื่องจากความโง่เง่าเข้าใจผิด มนุษย์จึงได้รับความกระวนกระวายใจ โดยความอยากในเนื้อสัตว์ คนฆ่านก ฆ่าแกะ และปลา โดยใช้ข่ายหรือเครื่องกล การฆ่ามันเหล่านั้นซึ่งเป็นสัตว์ หาอันตรายมิได้นั่นก็เพื่อได้เงิน

โอ, บัณฑิต ! ในกรณีแห่งอาหารที่เราได้บัญญัติแก่สาวกนั้น มิใช่เป็นเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ซึ่งเป็นของควรกิน, สัตว์ซึ่งเป็นของไม่ควรกิน ไม่เป็นเหตุควรถูกกิน ไม่ใช่สิ่งที่ควรสมมติว่าควรกิน ในอนาคตกาล ในหมู่สงฆ์ของเราจะเกิดมีคนบางคนซึ่งกำลังสมาทานข้อปฏิบัติแห่งบรรพชิต และกำลังปฏิญาณตนเป็นสากยบุตติย์ กำลังครองผ้ากาสาวพัสตร์สีแดงหม่น จะเป็นผู้มัวเมาและประกอบตนคลุกเคล้า อยู่ในความเพลิดเพลิน เขาจะมีจิตที่เต็มไปด้วยความปรารถนาลามกบัญญัติข้อปฏิบัติที่ผิดแผนขึ้นใหม่ เขาเหล่านั้น เป็นผู้อยากเพราะติดรสและจะเรียบเรียงพระคัมภีร์ให้มีข้อความเท็จ อันจะเป็นเครื่องยืนยันและโต้แย้งอย่างพอเพียง สำหรับการกินเนื้อสัตว์กัน เขาจะบัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ เขาจะกล่าวข้อความที่ส่งเสริมการกินเนื้อสัตว์ เขาจะกล่าวว่าเราตถาคตได้บัญญัติไว้ในเรื่องนี้ เช่นนี้ และว่าเราตถาคตนับมันเข้าไว้ในสิ่งทั้งหลายที่ควรกิน, และว่าพระภควันต์ก็ได้ทรงเสวยเนื้อโดยพระองค์เอง แต่โอ, บัณฑิต ! เรามิได้เคยบัญญัติเนื้อไว้ในสูตรใดๆ หรือกล่าวว่ามันเป็นของควรกิน หรือนับมันเข้าในประเภทของดีที่ควรกิน

โอ, บัณฑิต ! อริยสาวกทั้งหลาย ไม่บริโภคแม้แต่สิ่งที่คนธรรมดาชอบกินนิยมกันว่าดี, เขาเหล่านั้นจะมาบริโภคเนื้อและเลือดซึ่งเป็นของควรปฏิเสธได้อย่างไรเล่า ? เหล่าสาวกของเราตถาคต เป็นผู้เดินตามแนวแห่งสัจธรรม คนผู้มีปัญญาเครื่องคิดค้นของตนเอง และบรรดาพุทธศาสนิกทั้งหลายอื่น (แห่งพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ) ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาเหล่านั้นมิใช่ผู้กินเนื้อสัตว์ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนๆ ก็เป็นดังนั้น,...พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย มีสัจธรรมเป็นพระกายของพระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยสัจธรรม, ไม่ทรงดำรงกายด้วยเนื้อสัตว์ ท่านเหล่านั้นไม่เคยเสวยเนื้อสัตว์อย่างใดๆ เลย พระองค์ทรงเพิกถอนความอยากในโลกิยวัตถุได้ทั้งหมดแล้ว ท่านเหล่านั้นปราศจากมลจิตอันเป็นมูลแห่งความทุกข์ ท่านเต็มเปี่ยมด้วยปรีชาญาณอันไม่ขัดข้อง ในอันจะหยั่งทราบสิ่งซึ่งเป็นกุศลและอกุศล ทรงทราบสิ่งทั้งปวง, เห็นแจ้งสิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงมองไปที่สรรพสัตว์ คล้ายกับที่บุตรของพระองค์เอง, ทรงประกอบด้วยมหากรุณาคุณ, โดยทำนองเดียวกันนี้ เราตถาคตเห็นสรรพสัตว์เช่นเดียวกับบุตรของเราเอง เราจะบัญญัติให้สาวกของเรา บริโภคเนื้อลูกของเราได้อย่างไรเล่า ? และเราเองก็จะบริโภคมันได้อย่างไรเล่า ? มันไม่มีข้อควรสงสัยเลยในเรื่องว่า เราได้บัญญัติให้สาวกบริโภคหรือเราได้บริโภคมันโดยตนเอง หรือไม่

(ในที่สุด ได้ตรัสคำที่ผูกเข้าเป็นคาถา ซึ่งจะยกมาในที่นี้แต่บางคาถามีใจความว่า :-)

โอ, บัณฑิต ! พระชินวรได้ตรัสไว้แล้วว่า สุรา เนื้อ และหอมกระเทียม เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิก หรือมหาพุทธศาสนิกใดๆ ไม่ควรบริโภค (1)

บรรพชิตควรเว้นเสมอ จากเนื้อสัตว์ หัวหอมและนานาประเภทแห่งเครื่องดื่มอันมึนเมา, กระเทียม และหัวผักกาด (5)

เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตาม เพื่อเงิน, และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น, ทั้งสองพวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบอกุศล และจักจมลงในนรก โรรวะและนรก ฯลฯ (9)

เราบัญญัติห้ามเนื้อสัตว์ไว้ในข้อความแห่งคัมภีร์เหล่านี้คือ 1. หัสติ กักสยะ, 2. มหาเมฆะ, 3. นิรวาณางคุลี มาลิกา, และ 4. ลังกาวตารสูตร (16)

ฉันเดียวกันกับที่ ความถูกผูกพันเป็นข้าศึกของความหลุดพ้นเป็นอิสรภาพ, เนื้อสัตว์ สุราและ ฯลฯ ก็เป็นข้าศึกของนิรวาณ (คือนิพพาน) ฉะนั้น (20)

ดั่งนั้น เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของดูน่ากลัวแก่สรรพสัตว์ และเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติเพื่อวิมุติ จึงเป็นของไม่ควรกิน นี่คือธงชัยแห่งอารยชน (24)

(คัดจาก ชุมนุมข้อคิดอิสระ หน้า 140-152)



>>>>> จบ >>>>>



หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง