Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 กรรม...คำตอบของชีวิต (อัญญมณี มัลลิกะมาส) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

กรรม...คำตอบของชีวิต
โดย อัญญมณี มัลลิกะมาส

หนังสือ “กรรม...คำตอบของชีวิต”
12 ธันวาคม 2543
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา



คนเราเกิดมาทำไม เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยาก เพราะทุกคนเกิดมาในโลกนี้ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดมาเป็นคนรวย ทำไมจึงเกิดมาลำบากยากจน ทำไมจึงเกิดมาพิการ ทำไมจึงสวย ทำไมจึงขี้เหร่ ฯลฯ นอกจากเกิดมาด้วยความไม่รู้แล้วก็ยังไม่รู้อีกว่าจะตายเมื่อไร จะตายด้วยเหตุใด ตายแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้กระทั่งว่าชีวิตคืออะไร

มีนักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย ที่พยายามอธิบายความหมายของคำว่า "ชีวิต" และพยายามศึกษาเพื่อให้เข้าใจชีวิต รวมทั้งพยายามจะทำความเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ของมนุษย์ว่า ทำไมจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้นเช่นนี้ มีอะไรเป็นตัวเร้า หรือตัวกำหนด และพยายามจะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตในแง่มุมต่างๆ เพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว

คำตอบเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์นั้นมีกล่าวไว้แล้วในพระพุทธศาสนา เพียงแต่น้อยคนนักที่จะสนใจศึกษาอย่างจริงจัง ชาวพุทธส่วนมากไม่สนใจศึกษาพระธรรมขั้นละเอียด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินจะเข้าใจได้ ในขณะที่ชาวพุทธบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ เข้าใจผิดคิดว่าพระธรรมง่าย สามารถจะคาดคะเน หรือคิดเอาเองได้ตามความคิดนึกของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก็สามารถจะเข้าใจเองได้ โดยคิดว่าเป็นหลักคำสอนที่สอนให้คนทำความดี ละความชั่ว เหมือนกับหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ ทั่วไป

จึงไม่สนใจศึกษาพระธรรมเพราะคิดว่าตนเองดีแล้ว พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่แล้ว ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่มีทุกข์ เป็นคนดีของสังคมแล้วจะต้องสนสนใจศึกษาพระธรรมไปทำไม เมื่อไม่สนใจศึกษาพระธรรม ซึ่งก็คือความจริงของชีวิต ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกผู้มืดบอดทั้งหลายให้รู้ตาม ผู้นั้นก็ไม่สามารถจะเข้าใจความเป็นจริงที่มีอยู่ ไม่สามารถหาคำตอบให้กับชีวิตของตนเอง ในทางตรงกันข้ามเมื่อผู้ใดมีโอกาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียดแล้ว ผู้นั้นจะรู้ได้ด้วยตนเองทันทีว่านี่คือของจริง และนี่คือคำตอบของชีวิต

พุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุและผล ทุกสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หรือเป็นเรื่องบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ดังที่ท่านพระอัสสชิแสดงธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร ว่า “ธรรมะทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ” นั่นก็คือ การที่ทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน เป็นเพราะได้กระทำเหตุ คือ ทำกรรมมาต่างกัน กรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั่นเองเป็นเหตุให้มีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณต่างกัน มีอุปนิสัยดีเลวต่างกัน

กรรมที่กระทำไว้แล้วนั่นเองเป็นเหตุให้ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้รับความสุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด พระอภิธรรมเป็นคำสอนเกี่ยวกับสภาวธรรมที่มีอยู่จริง หรืออีกนัยหนึ่งคือ สัจจธรรม นั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญความเพียรอบรมพระบารมีถึง 4 อสงไขยแสนกัป เพื่อตรัสรู้สัจจธรรม หรือความจริงของสิ่งทั้งปวงนี้

ฉะนั้น ความจริงที่ทรงตรัสรู้นั้นไม่ง่าย ผู้ใดที่คิดว่าพระธรรมเป็นของง่ายไม่จำเป็นต้องศึกษา ก็สามารถจะเข้าใจได้ ผู้นั้นกำลังเข้าใจผิดและกำลังประมาทพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า แม้พระพุทธองค์เองเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ก็ไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมแก่สัตว์โลกด้วยทรงเห็นว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นละเอียด ลึกซึ้ง และรู้ตามเห็นตามได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยสะสมปัญญามา ก็จะสามารถพิจารณาหรือพิสูจน์ธรรมะที่ทรงแสดงได้ตามกำลังของปัญญาของตน

ดังข้อความปรากฏในคำนำของหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่ลึกซึ้งรู้ตามเห็นตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่อาจรู้ได้ด้วยการตรึกละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตจะรู้ได้ (พระสูตร และอรรถกถาแปล มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒)

กรรมคืออะไร

กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนา (ความจงใจ ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศล (บุญ) หรืออกุศล (กิเลส) เป็นเหตุให้ทำกุศลหรือกรรมหรืออกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อได้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมสำเร็จไปแล้ว กุศลหรืออกุศลกรรมนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดผลตามสมควรแก่กรรมนั้นๆ การให้ผลของกรรมนั้น จะให้ผลได้ในชาติที่กระทำก็ได้ หรือจะให้ผลในชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไปก็ได้ ไม่ใช่กรรมทุกกรรมจะให้ผลได้ทั้งหมดในชาติที่กระทำกรรม เพราะกรรมสามารถติดตามไปให้ผลได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ให้ผลหรือยังให้ผลไม่หมด เนื่องจากกรรมจะสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันไป

เมื่อเราศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียด และเริ่มมีความรู้เรื่องของจิตมากขึ้น ก็จะทราบว่าจิตขณะใดเป็นเหตุ (กุศลจิต อกุศลจิต) จิตขณะใดเป็นจิตซึ่งรับผล (วิบากจิต) ของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว จากที่เคยคิดกันว่ามนุษย์มีจิตและร่างกาย และเมื่อสิ้นชีวิตจิตดวงนี้จะดับไป

เมื่อศึกษาธรรมละเอียดขึ้น จะเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่า จิตเป็นสภาพรู้ อาการรู้ และเกิดดับอย่างรวดเร็วต่อเนื่องเป็นกระแสไปโดยตลอด เพราะจิตมีสภาพเป็น อนันตรปัจจัย (อนัตตรปัจจัย (๖๔) ๑. ธรรมที่เป็นจิต (และเจตสิก) เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ด้วยอำนาจของอนันตรปัจจัย คือ จิต (และเจตสิก) ที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยแก่จิต (และเจตสิก) ที่เกิดหลังๆ ด้วยอำนาจของอนันตรปัจจัย (จิตตทุกะ ปัญหา วาระ อนุโลม) ) กล่าวคือ

เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็วนั้น จิตดวงเก่าที่ดับไปนั่นเองเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ต่อเมื่อสามารถอบรมเจริญปัญญาจนละอกุศลธรรมทั้งหมดได้แล้ว ซึ่งหมายความว่าผู้นั้นได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ เมื่อนั้นกุศลธรรมก็จะหมดไปด้วย และเมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายของสังสารวัฏเกิดขึ้น ก็ไม่มีเหตุให้จิตดวงต่อๆ ไปเกิดขึ้นอีกเลย เพราะจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นอนันตรปัจจัย เป็นการแสดงถึงความสิ้นสุดของสังสารวัฏ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เหตุให้กระทำกรรม

ข้อความในพระสุตตันปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต นิทานสูตร ว่าด้วยอกุศลมูลและกุศลมูล มีดังนี้

“[๓๑๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (อกุศลกรรม) 3 ประการเป็นไฉน คือ โลภะ 1 โทสะ 1 โมหะ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ โดยที่แท้ นรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่โลภะ แต่โทสะ แต่โมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม 3 ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม (กุศลกรรม) 3 ประการนี้ 3 ประการเป็นไฉน คือ อโลภะ 1 อโทสะ 1 อโมหะ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย นรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือแม้ทุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไม่ปรากฏ เพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ โดยที่แท้เทวดา มนุษย์ หรือแม้สุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเพราะกรรมที่เกิดแต่อโลภะ แต่อโทสะ แต่อโมหะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อเกิดกรรม 3 ประการนี้แล” (พระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักนิบาต เล่ม ๓)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุ 6 ประการ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ กล่าวคือ ต้นเหตุให้กระทำความชั่ว (อกุศลกรรม) มี 3 ประการ ที่เป็นรากเหง้าทำให้อกุศลเจริญงอกงาม ได้แก่ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความไม่รู้) และต้นเหตุให้กระทำความดี (กุศลกรรม) มี 3 ประการ ที่เป็นรากเหง้าทำให้กุศลเจริญงอกงาม ได้แก่ อโลภะ (ความไม่โลภ ความเอื้อเฟื้อ) อโทสะ (ความไม่โกรธ ความเมตตา) อโมหะ (ความเห็นถูกในสภาวะธรรม)


อกุศลเหตุ 3 ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ

โลภะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร


โลภะ คือ ความต้องการ ความทะยานอยาก ความติดข้อง ซึ่งเป็นสภาพจิตของทุกคนในขณะนี้ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า การดำเนินชีวิตปกติในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ แต่งคัว พูดคุย ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นโลภะประเภทที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียหาย หรือเสียประโยชน์ แต่เป็นโลภะโดยสภาวะ คือ เป็นความติดข้อง ต้องการที่จะกระทำ เป็นโลภะขั้นละเอียด ที่ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงความจริงนี้ เราจะไม่ทราบเลยว่าแท้จริงแล้วจิตของเราเป็นไปกับโลภะแทบจะตลอดเวลา

เราจะทราบลักษณะของโลภะต่อเมื่อโลภะมีกำลังแล้วเท่านั้น เช่น อยากได้อะไรมากๆ ก็จะรู้สึกถึงความรุ่มร้อน ทุรนทุราย อยากได้มาเป็นของตน เพราะมีความเป็นตัวตน ทุกคนจึงแสวงหาสิ่งที่ตนพอใจ ถ้ามีความต้องการในสิ่งใดและสิ่งนั้นเกินกำลังของตนที่จะได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ผู้ที่โลภะมีกำลังมากก็จะคิดหาวิธีเพื่อให้ได้มาด้วยวิธีทุจริต หรือบางคนรวยมากแล้วก็ยังไม่รู้จักพอ ยังต้องการต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ความไม่รู้จักพอนี่เองเป็นเหตุให้ทำทุจริตทางกาย (ลักขโมย ทุจริตคอรัปชั่น ปล้นจี้) ทุจริตทางวาจา (พูดโกหก) ทุจริตทางใจ (คิดอยากได้วางแผนปล้น วางแผนทุจริตคอรัปชั่น)


มีใครเห็นโลภะของตนเองบ้าง ทุกคนรู้จักโลภะแต่เพียงชื่อ แต่ไม่มีใครรู้จักตัวจริงของโลภะ

เป็นเพราะเรามีความคุ้นเคยและชอบที่จะมีโลภะ เรามีความอยาก (โลภะ) ที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น อยากได้สิ่งนั้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นคนรวย อยากมีอำนาจ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็จะสะสมเพิ่มพูนแต่ความอยาก (โลภะ) ไว้ในจิต แม้กำลังจะตายก็ยังอยากจะไปสวรรค์ จึงเป็นการยากเหลือเกินที่จะละโลภะ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า โลภะนี่เองเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัยสัจจ์) โลภะนี่เองเป็นเหตุให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่าย ตาย เกิด อยู่ในสังสารวัฏ


โทสะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร

โทสะ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย โทสะมีหลายระดับ โทสะอ่อนๆ ได้แก่ ความรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคืองใจ รำคาญ หมั่นไส้ โทสะมากก็จะร้องไห้ แสดงอาการจะประทุษร้าย โทสะรุนแรงก็จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ขณะที่เกิดโทสะ กาย วาจา จะหยาบกระด้าง จะแสดงกิริยาที่ไม่น่าดู เช่น กระแทกกระทั้นมีสีหน้าบึ้งตึง ถ้ามีโทสะที่รุนแรงมากก็อาจจะประทุษร้าย (ทุบตี) ผู้อื่น หรือฆ่าได้

โลภะเป็นเหตุให้เกิดโทสะ กล่าวคือ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนต้องการจึงเกิดโทสะ หลายคนเห็นโทษของโทสะ รู้ว่าโทสะไม่ดี ไม่อยากให้ตนเองมีโทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการจะละโทสะได้ก็ต่อเมื่อละโลภะในสิ่งต่างๆ ได้แล้วเท่านั้น เพราะโลภะเป็นแดนเกิดของโทสะ ละโลภะได้เมื่อใด ก็ละโทสะได้เมื่อนั้น มีใครคิดจะละโลภะบ้าง มีใครไม่อยากได้เงินบ้าง มีใครไม่อยากได้ตำแหน่งบ้าง มีใครไม่อยากได้รถยนต์ดีๆ บ้านสวยๆ บ้าง จะเห็นว่าเป็นๆ ไปไม่ได้เลยที่บุคคลธรรมดาเช่นพวกเราจะละโลภะได้ เมื่อละโลภะไม่ได้ ก็ย่อมละโทสะไม่ได้

ผู้ที่สามารถละโทสะได้ ต้องบรรลุคุณธรรมขั้นพระอนาคามีแล้วเท่านั้น ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโทสะ คือ โมหะ ความไม่รู้ความไม่เข้าใจในธรรม ถ้าไม่มีความรู้เรื่องของกรรม วิบาก เหตุและผล โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เช่น

เห็นคนที่เราไม่ชอบการกระทำบางอย่างของเขา หรือได้ยินเสียงแตรที่รถคันอื่นบีบไล่หลัง หรือรับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อย เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเสมอในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ บางคนก็อาจระงับโทสะไว้ไม่ได้ อาจจะแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งทางกายหรือวาจา อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวที่ใหญ่โตตามมาในภายหลังได้


โมหะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร

โมหะ คือ ความไม่รู้ ความหลงเข้าใจผิด ไม่รู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง โมหะเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท เพราะไม่รู้ความจริงจึงติดข้องต้องการ เพราะไม่รู้ความจริงจึงเกิดโทสะ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำอกุศลกรรม ซึ่งได้แก่ทุจริตต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำกุศลกรรมต่างๆ เพราะไม่รู้ความจริงจึงทำให้ยึดถือสภาพธรรมต่างๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เมื่อมีความเป็นตนก็มีความรักตน มีความเห็นแก่ตน ก็ย่อมทำกรรมนานาประการเพื่อบำรุงบำเรอตนให้ได้รับความสุข ย่อมทำทุจริตต่างๆ เพื่อหาความสุขใส่ตน โดยไม่รู้สภาพความจริงเลยว่าสุขนั้นมีเพียงน้อยนิด ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรู้สึกเป็นสุขนั้นเกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย แต่ใจนั้นต้องทุรนทุรายกระวนกระวายด้วยโลภะอันไม่มีที่สิ้นสุดของตนเอง

(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีเงินเท่าไรก็ไม่พอแก่โลภะ มียศเท่าไรก็ไม่พอแก่โลภะ

ผู้ตกเป็นทาสของโลภะ ย่อมขวนขวายทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมากๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ยศได้ตำแหน่ง เมื่อได้แล้ว ก็ทุรนทุรายใจอยากได้ต่อไปอีก ยามได้มาสมใจหวังก็ลำพองใจ เมื่อไม่ได้อย่างใจหวังก็เป็นทุกข์เดือดร้อน ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ (โมหะ) ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อยังมีความเป็นตัวตนฝังแน่นอยู่เช่นนี้ และไม่เคยศึกษาพระธรรมเพื่อละคลายความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ก็ไม่มีทางใดที่จะละโลภะ โทสะ และโมหะได้เลย ปัญญา (การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) เท่านั้นที่จะละโลภะ โทสะ และโมหะได้

“คนเขลา ย่อมทำกรรมที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ และโมหะ
กรรมใดที่คนเขลานั้นทำแล้ว น้อยหรือมากก็ตาม
กรรมนั้น ให้ผลในอัตภาพ (ของผู้ทำ) นี้แหละ
วัตถุอื่น ซึ่งจะเป็นที่รับผลของกรรมนั้น ไม่มี
เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้รู้ ละโลภะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว
ยังวิชชาให้เกิดขึ้น ก็พึงละทุคติทั้งปวงได้”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๓)


กุศลเหตุ 3 ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

อโลภะ ได้แก่ ความไม่โลภ ไม่ติดข้อง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือการให้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น บริจาคเงินช่วยเหลือการกุศลต่างๆ ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น

อโทสะ ได้แก่ ความมีเมตตา กรุณา เป็นสภาพธรรมที่ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น

อโมหะ ได้แก่ ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

พระพุทธองค์ทรงจำแนกหลักในการเจริญกุศลไว้ 3 ประการ ได้แก่

(1) ทาน คือ กุศลจิตที่เป็นไปในการให้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น ได้แก่ การบริจากวัตถุสิ่งของ นอกจากวัตถุทานแล้ว ยังมีทานในรูปแบบอื่นด้วย เช่น พูดแนะนำประโยชน์ ช่วยเหลือกิจการงานของผู้อื่น การให้อภัย เป็นต้น

(2) ศีล คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ที่เรียบร้อยและสุจริต

(3) ภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วยการหมั่นศึกษาพิจารณาคำสอนและหาเหตุผล ผู้มีปัญญามากต้องเป็นผู้ที่ฟังมาก อ่านมาก หมั่นศึกษาพิจารณาตรึกตรองในเหตุผล และน้อมนำพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการอบรมขัดเกลากิเลสของตน

กุศลเป็นสภาพธรรมที่ดี ผ่องใส และปราศจากโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จิตที่เป็นกุศลย่อมมีการแสดงออกที่ดี มีการกระทำที่ดี อันเป็นเหตุให้ได้รับผล (วิบาก) ที่ดี กุศลกรรม คือ การกระทำที่เป็นเหตุให้ได้รับความสุขไม่มีโทษ ซึ่งนอกจากทรงจำแนกเป็นกุศลกรรมใหญ่ๆ 3 ประเภทแล้ว ยังทรงจำแนกโดยละเอียดเป็นกุศลกรรมบถ 10 หรือบุญกิริยาวัตถุ 10 นั่นเอง

เมื่อยังมีความเห็นผิด หลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทุกคนก็ย่อมทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ด้วยหวังจะให้ตนเองได้รับความสุขในชาตินี้และชาติหน้า เช่น ทำกุศล (ทำบุญ ให้ทาน) ก็เพราะหวังจะได้รับผลของกรรมดีเป็นการตอบแทน ขณะที่ทำกรรมชั่ว เช่น ทำทุจริต คอรัปชั่น หรือฉ้อโกง ก็เพราะหวังว่าจะได้เงินก้อนโตเพื่อใช้หาความสุขใส่ตน

พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงว่า ศัตรูที่ใกล้ชิดเราที่สุด คือกิเลสของเรานี่เอง ดังข้อความในมลสูตรว่า

“[๒๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม 3 ประการนี้ เป็นมลทินภายใน (มลทินของจิต) เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน 3 ประการเป็นไฉน คือ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความขุ่นเคือง) โมหะ (ความหลง) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม 3 ประการนี้แล เป็นอมิตร เป็นศัตรู เป็นเพชฌฆาต เป็นข้าศึกภายใน”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๔)

เมื่อทราบว่าความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะยังโกรธอาฆาตผู้ที่ทำให้เราเดือดร้อนไหม ถ้ายังโกรธ คิดร้ายตอบ ก็เป็นการก่อกรรมใหม่อีกอันจะเป็นเหตุให้ได้รับผลคือ ทุกข์โทษต่อไปในภายหน้า แต่ถ้าเข้าใจและข่มใจไม่คิดประทุษร้ายตอบ เวรนั้นย่อมระงับไป ชีวิตเราก็ย่อมมีความสุขขึ้นแน่นอน

ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค ภาคที่ 2 โกสัมพิขันธกะ เวรุปสมคาถา พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ก็คนเหล่าใด จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา
ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
ส่วนคนเหล่าใด ไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา
ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ
แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่ระงับ เพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับ
เพราะไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า”

(พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๕ ภาคที่ ๒)


การให้ผลของกรรม

ปัจจุบันหลายคนเริ่มไม่เชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” บางคนคิดว่า “ผลของกรรมไม่มี ตายแล้วไม่มีการเกิดอีก” ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคือความจริงให้ถ่องแท้ ก็อาจจะมีความเห็นคล้อยตามข้อความดังกล่าว คือ “คนทำชั่วได้ชั่วมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป” ; “ผลของกรรมไม่มี ตายแล้วสูญ” เมื่อมีความคิดและมีความเชื่อเช่นนี้หลายคนจะรู้สึกท้อแท้ที่จะทำความดี

แต่ข้อความต่อไปนี้ อาจจะทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และ “ผลของกรรมมีจริง และชาติหน้ามีจริง เราต้องเกิดอีกเพื่อรับผลของกรรม” แน่นอนเนื่องจาก จิตเป็นสภาพที่สะสมกรรมและกิเลส และสืบทอดกรรมและกิเลสไปยังจิตดวงใหม่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ากรรมนั้นจะให้ผล (วิบากจิต) เช่น

(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อเราได้แอบขโมยทรัพย์สินของคนอื่นโดยที่ไม่มีใครรู้เห็น เราอาจจะคิดว่ารอดตัวไป เพราะไม่มีใครจับได้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า จิตเป็นสภาพที่สืบทอดกรรมและกิเลส กรรมมีแล้ว (ขโมยแล้ว) ผลของกรรมจะต้องมี และเมื่อถึงเวลาที่กรรมให้ผล ท่านอาจจะสูญเสียทรัพย์สินโดยที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่น ลงทุนทำอะไรก็ขาดทุนอยู่เสมอ หรือถูกปล้น ถูกขโมยทรัพย์สิน เป็นต้น

ดังนั้นต่อไปนี้เราจึงไม่ควรเป็นกังวลว่าบรรดาผู้ที่ประพฤติทุจริตคอรัปชั่น หรือนักการเมืองที่โกงกินจะรอดพ้นจากทุจริตกรรมที่ได้ก่อไว้ การศึกษาเรื่องของกรรมจะทำให้แน่ใจได้ว่า กรรมนั้นจะให้ผลแน่นอน เพราะกรรมนั้นอาจไม่ให้ผลทันทีในชาติที่ทำทุจริตนั้น แต่กรรมสามารถติดตามให้ผลข้ามภพชาติได้ เพียงแต่จะให้ผลเมื่อไรเท่านั้นเอง

เพราะชาตินี้เขายังมีปโยคสมบัติ คือเป็นผู้ฉลาดในการประกอบอาชีพ ฉลาดในการเจรจาหว่านล้อมให้ตนได้ประโยชน์ ฉลาดในการใช้อุบายต่างๆ ทำให้ตนเองได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต เพราะบุญที่ได้เคยกระทำมาในอดีตยังมีกำลังให้ผลอยู่ กรรมชั่วที่กระทำใหม่นั้นก็ยังต้องรอโอกาสที่จะให้ผลไปก่อน ต่อเมื่อผลของการกระทำความดีของเขาหมดกำลังลง เขาย่อมได้รับผลของกรรมชั่วนั้นแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

คนที่ทำกรรมชั่วมักจะไม่เชื่อเรื่องการให้ผลของกรรมตราบใดที่กรรมชั่วนั้นไม่ให้ผล เนื่องจากผลของกุศลกรรมเก่ายังให้ผลไม่หมด ทำให้ลำพองใจคิดว่าผลของกรรมชั่วไม่มี ชาติหน้าก็ไม่มี ทำชั่วอย่างไรก็ไม่มีผลเพราะไม่เชื่อเรื่องเวียนว่าย ตาย เกิด ส่วนผู้ที่ทำกรรมดีก็ภาวนาให้กรรมดีที่ได้กระทำนั้นให้ผลไวๆ เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล ก็เกิดความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และคิดว่าผลของกรรมดีไม่มีอีกเช่นกัน

ข้อความใน ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรควรรณนา ได้แสดงไว้ว่า

“เมื่อกรรมให้ผล คนโง่จึงเห็นถูกต้อง พระศาสดาเมื่อจะทรงโอวาทเศรษฐีและเทวดา ด้วยสามารถวิบากแห่งกรรมดีและชั่วนั่นแล จึงตรัสว่า “ดูก่อนคฤหบดี แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใดบาปของเขาเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ ฝ่ายบุคคลผู้ทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่วตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใดกรรมดีของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดี ว่าดีจริงๆ”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๓)

ในมโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต นิทานสูตร จำแนกกรรมไว้หลายอย่าง ได้แก่ กรรม 11 อย่างตามสุตตันติกปริยาย กรรม 16 อย่างตามแนวอภิธรรม กรรม 12 อย่างตามแนวแห่งปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งหากกล่าวโดยย่อจะเหลือกรรม 3 ประเภท ดังนี้

1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาตินี้

2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า

3. อปรปริยายเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป

อนึ่ง กรรม 16 อย่างตามแนวอภิธรรมนั้นเป็นอกุศลกรรม 8 และกุศลกรรม 8 คือ อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่จะให้ผลได้นั้นขึ้นอยู่กับสมบัติและวิบัติของคติ (การเกิดในสถานที่) อุปธิ (รูปร่างกาย) กาล (ยุคสมัย) ปโยค (ความสามารถในการประกอบการงาน) กล่าวคือ

คติสมบัติ ได้แก่ การได้เกิดในภพภูมิที่ดี เช่น ได้เกิดบนสวรรค์ เป็นเหตุให้ได้รับแต่อารมณ์ที่ดีที่น่าพอใจตลอดเวลาที่อยู่บนสวรรค์ เพราะสวรรค์เป็นภูมิ (สถานที่) สำหรับรับผลของกุศลกรรมเท่านั้น กรรมชั่วที่ได้กระทำไว้ยังไม่สามารถให้ผลได้ ต่อเมื่อผลของกุศลที่ทำให้ได้เกิดบนสวรรค์หมดลง และเป็นโอกาสที่อกุศลกรรมให้ผล ผู้นั้นก็จะต้องไปเกิดในอบายภูมิทันที เพื่อรับผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว

คติวิบัติ ได้แก่ การเกิดในนรก เมื่อเกิดในนรกก็ต้องได้รับผลของกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้ว ตลอดเวลาที่อยู่ในนรก กรรมดีที่ได้ทำไว้แม้จะมากมายสักเท่าใดก็ไม่สามารถให้ผลได้ ต้องรอจนพ้นจากนรกเสียก่อน กรรมดีจึงจะมีโอกาสให้ผล นี่คือผลของคติวิบัติ (นอกจากนรกภูมิแล้ว ยังมีภูมิของเปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน)

อุปธิสมบัติ ได้แก่ ผู้ที่เกิดมามีร่างกายที่สวยงาม ย่อมมีโอกาสได้รับผลของกุศลกรรมมากกว่าผู้ที่เกิดมารูปร่างพิการ

อุปธิวิบัติ ได้แก่ ผู้ที่เกิดมามีร่างกายที่พิการ ย่อมมีโอกาสได้รับผลของอกุศลกรรมมากกว่าผลของกุศลกรรม

กาลสมบัติ คือ การได้เกิดในยุคสมัยที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เป็นโอกาสได้รับผลของกุศลกรรมมากกว่าผลของอกุศลกรรม

กาลวิบัติ คือ การได้เกิดในยุคสมัยบ้านเมืองประสบภัยพิบัติข้าวยากหมากแพง โอกาสจะได้รับผลของกุศลกรรมย่อมมีน้อย

ปโยคสมบัติ คือ การเป็นผู้มีความสามารถประกอบหน้าที่การงาน ย่อมมีโอกาสได้รับผลของกุศลกรรมมากกว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ

ปโยควิบัติ คือ เป็นผู้ไม่มีศิลปะในการประกอบอาชีพ ไม่มีความชำนาญในอาชีพ ย่อมมีโอกาสรับผลของกุศลกรรมน้อย

มีตัวอย่างการให้ผลของกรรมปรากฏในพระไตรปิฎกมากมาย เช่น พระสูตรและอรรถกถา ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ (กล่าวถึงผลของบุญหรือกุศลกรรมที่ทำให้ได้เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้า) เปรตวัตถุ (กล่าวถึงผลบาปหรืออกุศลกรรมทำให้เกิดเป็นเปรต) และในขุททกนิกายอปทาน (กล่าวถึงผลของกุศลกรรมในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธชาติและพระอริยสาวก) เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างใน ธัมมปทัฏฐกา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท บาปวรรควรรณนา พระพุทธองค์ทรงแสดงบุรพกรรม (กรรมในอดีต) ที่ทำให้สัตว์และบุคคลต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ดังนี้

เรื่องที่ 1 ภิกษุหมู่หนึ่งขณะกำลังเดินทางเพื่อจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นหญ้าติดไฟลอยไปในอากาศ แล้วคล้องคอกาที่กำลังบินอยู่ กาถูกไฟไหม้ตกลงมาตาย เมื่อได้เฝ้าพระพุทธเจ้าจึงได้ทูลถามถึงกรรมที่ทำให้เกิดเหตุเช่นนั้นกับกา

พระศาสดาได้ทรงแสดงบุรพกรรมของกา ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย กานั้นได้เสวยกรรมที่ตนทำแล้วนั้นแหละโดยแท้ ก็ในอดีตกาล ชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี ฝึกโคของตนอยู่ แต่ไม่อาจฝึกได้ ด้วยว่าโคของเขานั้น เดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็นอนเสีย แม้เขาตีให้ลุกขึ้นแล้ว เดินไปได้หน่อยหนึ่ง ก็หลับนอนเสียเหมือนอย่างเดิมนั่นแล ชาวนานั้นแม้พยายามแล้วก็ไม่อาจฝึกโคนั้นได้ เป็นผู้อันความโกรธครอบงำแล้ว จึงกล่าวว่า บัดนี้เจ้าจักนอนสบายตั้งแต่นี้ไป ่ ดังนี้แล้ว ทำโคนั้นให้เป็นดุจฟ่อนฟาง พันคอโคนั้นด้วยฟางแล้วก็จุดไฟ โคถูกไฟคลอกตายในที่นั้นเอง ภิกษุทั้งหลาย กรรมอันเป็นบาปนั้น อันกานั้นทำแล้วในครั้งนั้นเขาไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เพราะวิบากของกรรมอันเป็นบาปนั้นเกิดแล้วในกำเนิดกา 7 ครั้ง (ถูกไฟ) ไหม้ตายในอากาศอย่างนี้แหละด้วยวิบากที่เหลือ”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๓)

(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องที่ 2 ภิกษุ 7 รูป เดินทางเพื่อจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ระหว่างทางได้แวะพักในถ้ำ ปรากฏว่า แผ่นหินก้อนใหญ่ได้เคลื่อนมาปิดปากถํ้า ต้องอดข้าวอดนํ้าอยู่ในถํ้าถึง 7 วัน และแผ่นหินได้กลิ้งกลับออกไปเองในวันที่ 7 เมื่อได้มาเฝ้าพระศาสดาจึงได้ทูลถามกรรมของพวกตน

พระศาสดาได้ทรงแสดงบุรพกรรมของภิกษุ 7 รูป ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็เสวยกรรมอันตนกระทำแล้วเหมือนกัน ก็ในอดีตกาล เด็กเลี้ยงโค 7 คนชาวกรุงพาราณสี เที่ยวเลี้ยงโคอยู่คราวละ 7 วัน ในประเทศใกล้ดงแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเที่ยวเลี้ยงโคแล้วกลับมาพบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง จึงไล่ตามเหี้ยหนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ก็ช่องแห่งจอมปลวกนั้นมี 7 ช่อง พวกเด็กปรึกษากันว่า บัดนี้พวกเราจักไม่อาจจับได้ พรุ่งนี้จึงจักมาจับดังนี้แล้ว จึงต่างคนต่างก็ถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำๆ แม้ทั้ง 7 คนพากันปิดช่องทั้ง 7 ช่องแล้วหลีกไป ในวันรุ่งขึ้นเด็กเหล่านั้นมิได้คำนึงถึงเหี้ยนั้น ต้อนโคไปในประเทศอื่น ครั้นในวันที่ 7 พาโคกลับมา พบจอมปลวกนั้น กลับได้สติ คิดกันว่า “เหี้ยนั้นเป็นอย่างไรหนอ” จึงเปิดช่องที่ตนปิดไว้แล้ว เหี้ยหมดอาลัยในชีวิต เหลือแต่กระดูกและหนัง สั่นคลานออกมา เด็กเหล่านั้นเห็นดังนั้นแล้ว จึงทำความเอ็นดูพูดกันว่า พวกเราอย่าฆ่ามันเลย มันอดเหยื่อตลอด 7 วัน จึงลูบหลังเหี้ยนั้นแล้วปล่อยไป ด้วยกล่าวว่า ่จงไปตามสบายเถิด เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไหม้ในนรกก่อน เพราะไม่ได้ฆ่าเหี้ย แต่ชนทั้ง 7 นั้นได้เป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด 7 วัน ใน 14 อัตภาพ ภิกษุทั้งหลาย กรรมนั้นพวกเธอเป็นเด็กเลี้ยงโค 7 คนทำไว้แล้ว ในกาลนั้น”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๓)

พระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหา อันภิกษุเหล่านั้นทูลถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้

“บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร
ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปสู่ซอกภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
เขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด
ความตายพึงครอบงำไม่ได้
ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่”


หนีกรรม/ตัดกรรมได้หรือไม่

ไม่มีใครหนีผลกรรมที่ทำไว้แล้วได้ เช่น เมื่อทำกุศลกรรมมาแล้ว ถึงเวลากุศลกรรมจะให้ผล แม้ไม่อยากได้ก็ต้องได้ ไม่อยากรวยก็ต้องรวย อยู่ดีๆ ก็มีคนมาเชิญให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ไม่อยากเป็น เขาก็เชิญให้เป็น สำหรับผลของอกุศลกรรมก็โดยนัยเดียวกัน กล่าวคือ แม้ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้ เช่น ได้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหนักเบาต่างๆ กันไป ตามควรแก่กรรม (อกุศลกรรม) ที่ได้กระทำไว้แล้ว เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ หรือลงทุนค้าขายก็ประสบปัญหาขาดทุน ล้มละลาย เป็นต้น

บางคนคิดว่าตนเองฉลาด จึงพยายามจะทำความดีลบล้างความชั่ว เช่น ได้เงินมาหลายร้อยล้านด้วยการทุจริต คอรัปชั่น ก็นำเงินที่ได้แบ่งไปทำบุญกฐิน ผ้าป่า หรือ บริจาคช่วยเหลือคนยากจน ด้วยคิดว่าจะได้หักกลบลบหนี้กันไป แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว การให้ผลของกรรมมิได้ปะปนกันเลย กรรมชั่วที่ได้กระทำไปเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรับผลในส่วนของกรรมชั่วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ส่วนกรรมดีที่ได้กระทำก็รอโอกาสที่จะให้ผลต่อไป

แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถจะพ้นจากกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีตชาติ ดังได้ทรงแสดงอกุศลกรรมในอดีตชาติ อันเป็นเหตุให้พระองค์ประสบกับทุกขเวทนาต่างๆ ในพระชาตินี้ ตัวอย่างที่ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ การที่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง 6 พรรษา ทรงแสดงบุรพกรรมของพระองค์ดังข้อความใน อรรถกถา พุทธวรรคที่ ๑ พุมธปาทานว่า

“ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อ โชติปาละ ได้กล่าวกับพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณโล้นจักมีมาแต่ไหน การตรัสรู้เป็นของยากยิ่ง เพราะวิบากกรรมอันนั้น เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง 6 ปี จึงบรรลุพระโพธิญาณ...”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๘ ภาคที่ ๑)

ด้วยวิบากกรรมนั้น ทำให้พระองค์ปฏิบัติผิดอันเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทุกข์ทรมานพระวรกายอย่างยิ่ง กว่าจะทรงทราบว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด และมิใช่หนทางที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ


ขณะใดคือการให้ผลของกรรม

ขณะที่เป็นผลของกรรมนั้นเริ่มตั้งแต่ขณะแรกคือ ขณะปฏิสนธิ (เกิด) ซึ่งไม่มีใครเลือกได้ว่าจะเกิดที่ไหน จะเกิดเป็นอะไร ถ้าเลือกได้ทุกคนคงเลือกเกิดบนสวรรค์ หรือเกิดในตระกูลเศรษฐีมีสมบัติมาก ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครเลือกเกิดได้ เพราะขณะปฏิสนธินั้นเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้ทำไว้แล้วในสังสารวัฏ ซึ่งอาจจะเป็นผลของกรรมในชาตินี้หรือชาติที่แล้วๆ มาก็ได้ ถ้าปฏิสนธิจิต อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต 19 ประเภท เป็นอกุศลวิบากจิต 1 ดวง เป็นกุศลวิบากจิต 18 ดวง ปฏิสนธิจิต 19 ดวงนี้

มีหลายระดับเพราะกรรมมีหลายระดับ กรรมทำให้เกิดมาอัปลักษณ์หรืองดงาม เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือที่รื่นรมย์ คนที่เกิดในสภาพที่ทุกข์ยากก็ไม่ใช่ว่าชาติหน้าจะเกิดในสภาพที่ทุกข์ยากอีก ทั้งนี้แล้วแต่กรรมที่ได้สะสมมา (พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน- ดวงเดือน บารมีธรรม แปล)] (วิบากจิต) เป็นผลของกุศลกรรม (ที่ได้กระทำไว้แล้ว) ก็จะเป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ

แต่ในทางตรงกันข้ามหากปฏิสนธิจิตเป็นผลของอกุศลกรรม (กรรมชั่วซึ่งได้กระทำไว้แล้ว) ก็จะเป็นเหตุให้เกิดในทุคติภูมิเพื่อรับผลของกรรมชั่วนั้นๆ เมื่อได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ หลังจากปฏิสนธิแล้วก็เจริญเติบโต มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ซึ่งใครก็สร้างไม่ได้ แต่กรรมเป็นปัจจัยให้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่แตกต่างกันตามกุศลหรืออกุศลที่ได้กระทำไว้แล้ว จะเห็นได้ว่าบางคนเกิดมามีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณดีมากน้อยต่างๆ กันไป บางคนเกิดมาขี้เหร่ บางคนเกิดมาพิการ ล้วนเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น

นอกจากนี้กรรมยังเป็นเหตุให้ได้รับอารมณ์ (สิ่งที่จิตรู้) ที่ดีหรือไม่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีกด้วย กล่าวคือ

ขณะได้รับอารมณ์ที่ดีทางตา (จิตเห็นเป็นวิบากจิต) เห็นรูปที่น่าพอใจ

ขณะได้รับอารมณ์ที่ดีทางหู (จิตได้ยินเป็นวิบากจิต) ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ

ขณะได้รับอารมณ์ที่ดีทางจมูก (จิตได้กลิ่นเป็นวิบากจิต) ได้กลิ่นที่น่าพอใจ

ขณะได้รับอารมณ์ที่ดีทางลิ้น (จิตลิ้มรสเป็นวิบากจิต) ลิ้มรสที่น่าพอใจ

ขณะได้รับอารมณ์ที่ดีทางกาย (จิตรู้ทางกายเป็นวิบากจิต) รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ

(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขณะใดที่ได้รับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นการให้ผลของอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำมาแล้ว เช่น เห็นสิ่งของปฏิกูล ได้ยินเสียงคนนินทาว่าร้ายตนเอง ได้รับประทานอาหารที่ไม่อร่อย ได้รับทุกข์ทางกาย (เป็นโรคร้าย หรือถูกคนทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุ) ล้วนเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้วทั้งสิ้น หาไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ต้องประสบอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นเลย

การที่เราจะเข้าใจสิ่งที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ต่อเมื่อได้ศึกษาเรื่องของจิต กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิตอย่างละเอียด พระพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงว่า ขณะที่เราประสบความสุขหรือความทุกข์ทางกายนั้น แท้จริงแล้วไม่มีใครมาทำให้ แต่เป็นเพราะกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั่นเองให้ผล

ดังนั้นเมื่อใดที่เราประสบกับความทุกข์ทางกาย เช่น ถูกทำร้าย หรือขณะได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ เช่น ถูกดุด่า ว่าร้าย ถ้าเรารู้ความจริงว่าเป็นผลของกรรมหนึ่งที่เราได้เคยทำไว้แล้ว กล่าวคือเราได้เคยทำร้ายคนอื่น ได้เคยว่าคนอื่นไว้ แล้วเราจะโกรธใคร เราไม่ควรโกรธเคือง ผู้ที่มาทำร้ายเรา เพราะ โดยความเป็นจริงแล้ว อกุศลกรรมเก่าของเรานั่นเองที่มาทำร้ายเรา ดังเรื่องที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นทั้งสองเรื่อง เพราะโดยสภาพธรรมแล้วไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่จิต เจตสิก รูป เท่านั้น

“เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็น ปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านพระอานนท์ว่า

‘สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา ่

การหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น อุปมาเหมือนคนเดินทางในที่ซึ่งย่อมเห็นเหมือนกับว่า มีเงานํ้าอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเข้าไปใกล้ เงานํ้าก็หายไป เพราะแท้จริงหามีนํ้าไม่ เงานํ้าที่เห็นเป็นมายา เป็นภาพลวงตาฉันใด การเข้าใจผิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะความไม่รู้ เพราะความจำ เพราะความยึดถือก็ฉันนั้น...”


ปรมัตถธรรม มี 4 ประเภท ได้แก่

จิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิตทั้งหมดมี 89 ประเภท หรือ 121 ประเภท โดยพิเศษ

เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกทั้งหมดมี 52 ประเภท เช่น ความรัก ความโลภ ความเมตตา ความตระหนี่ เป็นต้น

รูป เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ได้แก่ สี กลิ่น รส เย็น ร้อน ฯลฯ รูปทั้งหมดมี 28 ประเภท

นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ (ปรมัตถธรรมสังเขป และภาคผนวก - สุจินต์ บริหารวนเขตต์)


ขณะใดที่เป็นกรรม

ขณะที่เป็นกรรม คือ ขณะหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส แล้วเกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่มีกำลังทำให้ล่วง (แสดง) ออกมา เป็นการกระทำทางกายหรือทางวาจา และมีผู้ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการกระทำอันนั้น ซึ่งก็คือเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง

การกระทำของทุกคนในวันหนึ่งๆ นั้นต่างกันไปตามอุปนิสัยที่แต่ละคนได้สะสมมา ซึ่งเป็นความวิจิตรของจิตแต่ละคน เช่น เมื่อเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเห็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บางคนนึกชอบอยู่ในใจ บางคนนึกไม่ชอบอยู่ในใจ บางคนชอบมากถึงกับเอ่ยปากชม บางคนไม่ชอบถึงกับเอ่ยปากตำหนิต่างๆ กันไปตามการสะสมของจิต เมื่อได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดก็เช่นกัน คนหนึ่งฟังแล้วไม่พอใจ ขุ่นข้องหมองใจ อีกคนหนึ่งฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ อีกคนหนึ่งฟังแล้วรู้สึกสงสารเห็นใจ เป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่มีการแสดงออกทางกายหรือวาจา ยังเป็นเพียงความคิด ก็จะเป็นการสะสมเป็นอุปนิสัยสืบต่อไป ยังไม่เป็นกรรม แต่หากได้มีการกระทำออกมาทางกาย วาจา ที่ล่วงอกุศลกรรมบถ หรือเป็นทุจริตที่มีกำลัง ก็ย่อมจะให้ผลเป็นอกุศลวิบากทั้งสิ้น ทางฝ่ายกุศลกรรมก็โดยนัยเดียวกัน

ดังนั้นเราจึงควรอบรมจิตให้เป็นจิตที่ดีเป็นกุศล อันจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือกุศลวิบากในอนาคต และลดละอกุศลจิตซึ่งเป็นจิตชั้นเลว อันจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ไม่น่าพอใจ จิตที่ดีที่สุดคือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งรู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เรามักสงสารคนที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ เช่น คนที่ทรัพย์สินเสียหาย หรือบางคนถึงแก่ชีวิตด้วยโรคร้าย หรืออุบัติภัยต่างๆ เราเกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจเมื่อเห็นเขาได้รับผลของอกุศลกรรมของเขา แต่ขณะที่เขากระทำเหตุ (กระทำความชั่ว) ทำไมเราจึงไม่เกิดความรู้สึกสงสารเห็นใจ เรากลับรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว เรายังเพิ่มอกุศลให้กับตัวเอง เช่น เมื่อเห็นข้าราชการหรือนักการเมืองหรือนักธุรกิจทุจริตคอรัปชั่น โดยไม่สามารถเอาผิดได้ ยังอยู่ดีมีสุขในสังคม

หากเราศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดรอบคอบ และเข้าใจในพระธรรมคำสอนมากขึ้น มีความเข้าใจเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม แม้ไม่สามารถทำใจให้มีเมตตาสงสารคนที่กำลังทำชั่วได้ (เพราะเมตตายังไม่เจริญ) เราก็มีความรู้พอที่จะข่มความไม่พอใจ เมื่อเห็นคนทำชั่วแล้วยังเจริญรุ่งเรืองในวงสังคม

เพราะไม่มีใครที่กระทำความชั่วตลอดเวลา หรือเป็นคนดีกระทำแต่กรรมดีตลอดเวลา ทุกคนย่อมทำกรรมดีกรรมชั่วปะปนกันไป ส่วนใครจะมีการกระทำที่หนักในทางกุศลหรืออกุศลทางใดทางหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับกิเลสหรืออุปนิสัยที่สะสมอยู่ในจิตของแต่ละคน ในเมื่อปัจจุบันนี้ผลของกรรมดีในอดีตของเขายังมีกำลังอุปถัมภ์อยู่ แม้เขากระทำชั่ว ความชั่วนั้นก็ยังไม่สามารถให้ผลได้ทันตาเห็นหรืออาจตายไปก่อนได้รับผลของความชั่วนั้น แต่ความชั่วนั้นย่อมติดตามไปให้ผลในชาติต่อๆ ไปเป็นที่แน่นอน


การตั้งจิตไว้ชอบ

ถ้าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรม เมื่อเห็นข้าราชการ นักธุรกิจ หรือนักการเมืองบางคนที่ประพฤติทุจริต เราคงอดไม่ได้ที่จะโกรธ เคียดแค้น สาปแช่งผู้ประพฤติชั่วเหล่านั้น เราอาจจะคิดว่าเราเป็นคนดีของสังคม เราเป็นผู้มีความยุติธรรม เราเป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม น่าที่ใครๆ จะยกย่องสรรเสริญ และน่าจะมาร่วมวงบริภาษคนโกงชาติกัน

ในทางตรงกันข้ามเมื่อมีความเข้าใจเรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมแล้ว เราจะรู้ตัวว่าเราเป็นผู้ประมาทในชีวิต เราปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับการกระทำทุจริตทางวาจาโดยผรุสวาจาบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง พูดมุสาบ้าง (พูดเกินความเป็นจริงเพื่อสีสันในการสนทนา) และสะสมเพิ่มพูนโทสะไว้ในจิต ซึ่งก็คงจะต้องรอว่าเมื่อใดอกุศลกรรมนั้นจะย้อนมาให้ผลแก่ตนเอง ความจริงที่ทุกคนควรทราบ คือ ขณะที่เราโกรธไม่พอใจเมื่อเห็นคนกระทำความชั่ว ขณะนั้นเราได้สะสมโทสะไว้ในจิตแล้ว เมื่อสะสมมากขึ้นจนโทสะมีกำลัง วันใดวันหนึ่งเราอาจฆ่าคนได้

(มีต่อ 6)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แล้วจะให้อนุโมทนากับการกระทำชั่วกระนั้นหรือ

การกระทำชั่วย่อมมาจากจิตที่เป็นอกุศล เราอยู่ในฐานะที่จะเตือนหรือห้ามปรามเขาได้หรือไม่ ถ้าเราอยู่ในฐานะที่จะเตือนได้ก็ควรรีบกระทำด้วยจิตที่เป็นกุศล (เมตตา) แต่ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดได้ เนื่องจากเขามีอำนาจวาสนาหรือเขาเป็นคนพาล พูดไปเขาก็คงไม่เชื่อฟัง ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพูด แล้วเราจะทำอะไรได้ ดังนั้น เราควรมีอุเบกขา และเชื่อในการให้ผลของกรรม

ทุกคนอยากเป็นคนดี เพราะรู้ว่าคนดีใครๆ ก็ไม่รังเกียจ คนดีย่อมเป็นที่รัก แต่เราจะอดทนที่จะกระทำความดีได้มาก ได้นานแค่ไหน ในเมื่อเรายังมีจิตที่เต็มไปด้วยอกุศล (กิเลส) คือ มีความรักตน เห็นแก่ตัว ความอิจฉา ความริษยา ความแข่งดี ที่เราสะสมมาช้านาน และยังนอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ ผู้ที่อบรมจิตมาดี ก็จะมีจิตเมตตาเห็นแก่ประโยชน์สุขของคนอื่นบ้างตามกำลังของความเห็นแก่ตน หรือความรักตน ถ้ารักตนเองมาก ก็ย่อมเห็นประโยชน์ผู้อื่นน้อย ถ้ารักตนเองน้อยลง ก็จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมได้มาก

จิตของมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง ไม่มีใครสามารถทราบจิตของคนอื่นได้จริงๆ มีแต่ตนเองเท่านั้นที่จะรู้สภาพจิตของตนเอง การกระทำดีของแต่ละคน แม้ภาพภายนอกจะดูว่าผู้นั้นเป็นคนดี แต่เราจะรู้จิตใจที่แท้จริงของเขาหรือไม่ เราไม่สามารถทราบสภาพจิตที่แท้จริงของใครได้ แต่เราสามารถทราบสภาพจิตของเราเองว่า การที่เราทำดีกับผู้อื่น เป็นเพราะหวังผลอะไรหรือไม่ เช่น

*** ขยันทำงาน เพราะหวังให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ

*** อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะหวังให้ผู้บังคับบัญชารัก

*** ให้ของผู้อื่น เพราะหวังให้ตนเองเป็นที่รักใคร่ หรือหวังได้รับสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทน

*** บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือการกุศลต่างๆ เพื่อให้คนยกย่องสรรเสริญ

*** บอกบุญเรี่ยไรเพราะหวังให้ตนเองได้บุญมากๆ

*** พูดจาอ่อนหวาน ประจบช่วยเหลือกิจการงานของผู้บังคับบัญชา เพราะหวังจะเป็นที่รักใคร่เอ็นดู จะได้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นพิเศษ

*** พูดตำหนิการกระทำของผู้อื่น เพราะหวังให้ผู้ฟังเข้าใจว่าตนเองฉลาดกว่า เก่งกว่า ดีกว่า

*** จำใจทำดีเพราะเกรงจะถูกตำหนิ หรือกลัวจะถูกลงโทษ (หวังในความปลอดภัย)

*** ออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือออกกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตน และ/หรือพวกพ้องของตน เป็นต้น

ความหวังที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในจิตนั้น แท้จริงแล้วเป็นความรักตน เห็นแก่ตน ที่เหนียวแน่นและฝังลึกยากจะถ่ายถอน เป็นอกุศลจิตที่ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมขั้นละเอียดแล้ว จะไม่เห็นเลยว่าเป็นโทษเป็นภัย และขัดขวาง


การอบรมเจริญบารมีเพื่อถึงฝั่ง (พระนิพพาน)

การทำความดีเพราะหวังในผลของการทำความดีนั้นเป็นอกุศล (โลภะ) บางคนอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยที่กล่าวเช่นนี้ เพราะคิดว่าทำความดีก็ดีแล้ว จะทำดีด้วยมูลเหตุจูงใจอะไรก็ไม่เห็นจะสำคัญตรงไหน หากเราจะพิจารณาอย่างผิวเผิน ก็น่าจะใช่ แต่หากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จะทราบว่า ความหวัง ความต้องการทุกชนิดเป็นลักษณะของโลภะ สำหรับผู้ที่ทำความดีเพราะความเกรงกลัวต่างๆ นั้นเป็นอกุศลประเภทโทสะ

สำหรับผู้ที่ทำดีและพูดจายกย่องตนเองนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ โดยได้ทรงแสดงธรรมว่า ผู้เป็นบัณฑิตย่อมไม่สรรเสริญตนเอง ดังนั้น จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ถ้าเราจะทำความดีเพราะความดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ทำความดีด้วยจิตที่มีเมตตา คิดจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

เราควรตั้งจิตไว้ชอบ คือ ทำความดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยแท้ ไม่หวังแม้คำชมหรือคำสรรเสริญ เพื่อเป็นการเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราควรทำบุญแม้เพียงนิดหน่อยก็ไม่ควรละเลย เพื่อขัดเกลาจิตตนเอง เพื่อลดความตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ของตนลง เราควรมีเมตตาแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้เพื่อนฝูงหรือญาติมิตร เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์ ไม่ใช่ให้เพราะหวังประโยชน์ตอบแทน

เราควรมีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เพราะจิตที่อ่อนน้อมเป็นสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ใช่อ่อนน้อมเพราะหวังประจบ การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน (ลาภ ยศ สรรเสริญ) เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะขณะที่ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนนั้น เป็นขณะที่กุศลจิตมีกำลัง กุศลกรรมในขณะนั้นทำให้อกุศลกรรมระงับไป

ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นพิจารณาจิตของตน ว่าในแต่ละวันจิตเป็นอกุศลหรือกุศลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นการเจริญกุศลอย่างยิ่งประการหนึ่ง อีกทั้งเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขความเจริญทั้งในชาติปัจจุบันและชาติต่อๆ ไป ทุกคนมีความรักตัวเองอย่างเหนียวแน่น จึงรักสุข (สุขเวทนา) เกลียดทุกข์ (ทุกขเวทนา) กันทั้งนั้น ทำกุศลก็เพื่อตนเองจะได้รับผลของกุศล เช่น ทำบุญเพราะหวังจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ทำอกุศลก็เพื่อให้ตนเองได้รับสุขในชาตินี้ เช่น

บางคนพูดเท็จใส่ร้ายคนอื่นเพื่อให้ตนเองได้ดี บางคนประกอบอาชีพทุจริต เช่น ลักขโมย ขายยาเสพย์ติด บางคนมีอาชีพที่ดูจะสุจริตแต่ประพฤติทุจริต เช่น คอรัปชั่นในวงการต่างๆ เพราะความเห็นแก่ตัว รักตนเองทั้งสิ้น อยากให้ตนเองรํ่ารวย อยากให้ตนเองเป็นใหญ่เป็นโต มีคนนับหน้าถือตา อยากให้ตนเองเป็นที่ยกย่องสรรเสริญว่ารํ่ารวย มีวาสนาบารมี มียศฐาบรรดาศักดิ์กว่าผู้อื่น ความอยาก (โลภะ) ของมนุษย์มีมากมายไม่รู้จบ

มีคำกล่าวว่า ภูเขาทองสองลูก ก็ยังไม่พอแก่โลภะ ยังอยากได้มากขึ้นไปอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อถึงคราวเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหลาย ต่างคนต่างภาวนาขอให้ได้รับเลือกตั้ง แม้ได้รับเลือกเป็นลำดับสุดท้ายก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย พอได้รับเลือกตั้งเป็น สส. เข้าจริง ก็ภาวนาขอให้ได้ตำแหน่งใหญ่โต เป็นรัฐมนตรีสักกระทรวงหนึ่งกระทรวงไหนก็ได้เอาทั้งนั้น พอได้เป็นสมใจหวังก็คิด (โลภะ) อีกว่า น่าจะได้เป็นเจ้ากระทรวงที่มีอำนาจมากๆ หน่อยก็จะดี จะได้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีไปสักระยะหนึ่ง ก็ไผ่ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก พอได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อยากเป็นต่อไปเรื่อยๆ ให้นานที่สุด

การที่ผู้ใดจะได้ลาภ ได้ยศ ไม่ได้เกิดจากความอยาก ทุกคนย่อมปราถนาอยากได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองและผู้ที่ตนรักใคร่ผูกพัน แต่จะมีสักกี่คนที่สมหวัง กรรมดีที่ได้กระทำไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นเหตุให้ได้รับสิ่งต่างๆที่ดี ที่น่าปรารถนา เพราะ เหตุ นั้นย่อมสมควรแก่ ผล เสมอ กล่าวคือเมื่อทำเหตุมาดีย่อมได้รับผลที่ดี เมื่อทำเหตุไว้ไม่ดีหรือดีไม่พอ จะหวังหรืออยากอย่างไรก็ไร้ผล

สังคมคงจะสงบร่มเย็นขึ้นถ้าทุกคนรู้จักคำว่า “พอ” แต่มนุษย์ปุถุชนใครเลยจะละกิเลสได้ เพราะคำว่า ปุถุชน แปลว่า ผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ในเมื่อยังละกิเลสไม่ได้ เราควรที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อรู้จักลักษณะของกิเลสต่างๆ จะได้ หมั่นคอยสำรวจจิตตนเองเมื่อกิเลสเกิดขึ้น จะทำให้รู้จักตนเองตามที่เป็นจริงว่ามีกิเลสมากแค่ไหน เมื่อใดมีปัญญามากขึ้น เห็นโทษภัยของกิเลสอย่างแท้จริง ปัญญานั่นเองจะทำหน้าที่ละกิเลส การรู้จักกิเลสของตนเองมีประโยชน์กว่าคอยจ้องจับผิดกิเลสของผู้อื่น เพราะจะเป็นเหตุให้สำรวมกาย วาจา ใจ ของตนให้เรียบร้อยดีงาม มีความประพฤติหรือแสดงออกที่ดีเป็นกุศลกรรมต่อไป

(มีต่อ 7)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมนำเกิด

เราเวียนว่ายตายเกิดมานับชาติไม่ถ้วนแล้ว ชาตินี้ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่กุศลกรรมให้ผลทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่อีกไม่นานเราก็ต้องเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติกันอีกแล้ว เราจะมีชีวิตยืนยาวอยู่อีกกี่ปี กี่เดือน กี่วัน ถ้าคิดว่าเราจะอยู่อีก 10 ปี ก็เพียง 3650 วัน ถ้า 20 ปี ก็เพียง 7300 วัน เท่านั้นเอง แต่ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง เราอาจจะตายวันนี้ พรุ่งนี้หรือเย็นนี้ก็ได้ เมื่อผลของกุศลกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์หมดสิ้นแล้ว

การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นเพราะ ชวนวิถีจิต [ชวนวิถีจิต โดยศัพท์ “ชวนะ” แปลว่า แล่นไป คือ ไปอย่างเร็วในอารมณ์ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต (หรือกิริยาจิต เฉพาะพระอรหันต์) - สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ปรมัตถธรรมสังเขป และภาคผนวก] สุดท้ายก่อนตาย คือ ก่อนจุติจิต (จิตที่ทำกิจเคลื่อนจากภพชาติ) เป็นกุศลทำให้พ้นจากการเกิดในอบายภูมิ เมื่อรู้อย่างนี้บางคนคงจะตั้งใจว่า เมื่อเวลาใกล้ตายจะทำจิตให้เป็นกุศล ซึ่งในความเป็นจริงกุศลจิตจะเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ไม่มีใครบังคับให้จิตเป็นกุศลได้ เพราะจิตเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเตือนให้พุทธบริษัทหมั่นเจริญกุศล เพราะกุศลเป็นเหตุให้ได้รับความสุข เมื่อหมั่นทำกุศลจนเป็นนิสัย โอกาสที่ชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ (ตาย) จะเป็นกุศลก็มีมากกว่าคนที่ประกอบแต่อกุศลกรรมเป็นนิจ ดังนั้น หากชวนจิตขณะสุดท้ายเป็นกุศล ก็จะเป็นเหตุให้ได้เกิดในสุคติภูมิ (ได้แก่ เกิดในมนุษย์โลก และสวรรค์ชั้นต่างๆ) ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราเป็นผู้ประมาทประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ สะสมแต่อกุศลจิตจนเป็นอุปนิสัย โอกาสที่ชวนจิตสุดท้ายจะเป็นกุศลย่อมเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นทุคติเป็นอันหวังได้ กล่าวคือ ย่อมไปเกิดในนรกภูมิ เปรตวิสัย (ภูมิของเปรต) หรือ เดรัจฉานภูมิ

เราไม่รู้ว่ากรรมใดจะทำให้เกิดปฏิสนธิจิตในภพหน้า เพราะเราทำทั้งความดีและความชั่วปะปนกันไป กรรมหนึ่งในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ มีโอกาสทำให้ปฏิสนธิจิตในชาติหน้าเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เจริญกุศลนานาประการ เพราะเมื่อเจริญกุศลบ่อยๆ มากขึ้น ย่อมมีโอกาสได้รับผลของกุศล ซึ่งให้ผลเป็นสุข กุศลจิตเปรียบเหมือนเพื่อนสนิท ส่วนอกุศลจิตเปรียบเหมือนศัตรู เพราะให้ผลเป็นทุกข์ เราต้องคอยหมั่นระวังศัตรู คืออกุศลจิตของเราเอง

ดังนั้นเราจึงควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า กุศลจิตได้แก่จิตประเภทใดบ้าง และอกุศลจิต ได้แก่จิตประเภทใดบ้าง เพื่ออบรมกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป และคอยระวังไม่ให้อกุศลจิตเกิด เพราะอกุศลจิตของเรานั่นเองคือศัตรูที่แท้จริง เมื่อเรายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ลึกซึ้ง เราก็หลงนิยมชมชื่นกับศัตรู เพราะเข้าใจผิดว่าศัตรูคือมิตรสนิท แท้จริงแล้วเราชอบที่จะมีโลภะ เราชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราคิดว่าสิ่งต่างๆ นำความสุขมาให้ เราจึงอยากได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ โดยไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ

เราไม่เคยเห็นโทษของโลภะเลย เราไม่เคยรู้เลยว่าถูกโลภะครอบงำท่วมทับและตกเป็นทาสของโลภะอยู่เป็นประจำ เราไม่เคยรู้เลยว่าโลภะนี้เองนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย นอกจากเราเป็นมิตรกับอกุศลประเภทโลภะแล้ว เรายังเป็นมิตรกับอกุศลอีกประเภทหนึ่ง คือโมหะ ความไม่รู้ความจริง (สัจจธรรม) เราไม่มีความรู้กระทั่งว่าเราไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลหรืออกุศลตามความเป็นจริง

ต่อเมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรม และมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เราจึงจะเริ่มรู้ว่าพระธรรมที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงนี้เป็นคำสอนที่ประเสริฐสุด ยิ่งใหญ่ และน่าอัศจรรย์ เมื่อเรามีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาที่มีต่อชาวโลก และประจักษ์ในพระปัญญาคุณอันประเสริฐมากขึ้นเท่านั้น

หลายคนคิดว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมนั้น เป็นเทคนิคหรือวิธีการขู่ให้คนเกรงกลัวการกระทำชั่ว และคิดว่าเป็นอุบายให้คนกระทำความดี แต่เมื่อได้ศึกษาธรรมขั้นละเอียด (พระอภิธรรม) ในเรื่องของจิต การทำงานของจิต และวิถีจิตแล้ว จะทราบได้ด้วยตนเองว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ขู่ ไม่ได้คิดกลยุทธ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงให้รู้ ซึ่งความจริงอันประเสริฐนี้ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมายาวนานกว่าจะบรรลุสัจจธรรมนี้


ประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม

การมีความรู้เรื่องกรรม เป็นการได้เข้าใจความจริงอันประเสริฐยิ่ง ความจริงที่แม้ยากจะรู้ตามเห็นตามได้ แต่ก็สามารถจะพิจารณาและไตร่ตรองให้เข้าใจตามหลักของเหตุและผลได้ การรู้เรื่องกรรมทำให้เรารู้ความจริงว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าดีหรือร้ายก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นกระทำ แต่เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้วในชาตินี้หรืออดีตชาติ

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ และผู้ที่ค้นพบความจริงที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์นี้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นการสมควรหรือไม่ที่เรา ผู้ซึ่งประกาศตนเป็นพุทธบริษัทจะเชื่อฟังสมควรหรือไม่ที่เราจะนอบน้อมบูชาพระคุณ ที่ทรงมีพระมหากรุณาแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลกผู้มืดบอดและโง่เขลา แต่ไม่เคยรู้และยอมรับความจริงว่าตนเองโง่ เพราะถูกอวิชชา (ความไม่รู้) ปิดบังมาโดยตลอด ต่อเมื่อเห็นประโยชน์ของพระธรรมและสนใจศึกษาตามลำดับด้วยดี จึงจะมีความเข้าใจชีวิตของตนเองและผู้อื่น และเข้าใจเหตุที่แท้จริงที่ทำให้แต่ละคนต้องประสบกับสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ในชีวิตแต่ละวัน

(มีต่อ 8)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 14 ม.ค. 2007, 8:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อความในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงผลดีผลร้าย 7 คู่ อันเนื่องมาจากกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วดังนี้

1. มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์

2. มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์

3. มีผิวพรรณทราม เพราะมักโกรธ มีผิวพรรณดีเพราะไม่มักโกรธ

4. มีศักดาน้อย เพราะริษยา มีศักดามาก เพราะไม่ริษยา

5. มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน

6. เกิดในตระกูลตํ่า เพราะกระด้าง ถือตัว ไม่อ่อนน้อม เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้าง ถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม

7. มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดี เพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น

(พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ย่อความจากพระไตรปิฎกฉบับบาลี)

การที่เรามีความรู้และมีความเข้าใจเรื่องของกรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สรุปโดยสังเขปดังนี้

1. มีความมั่นคงในการทำความดีต่อผู้อื่น ทั้งกาย วาจา ใจ

2. มีความเพียรที่จะละเว้นการทำชั่ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ

3. ให้อภัยผู้กระทำให้เราเดือดร้อน

4. คลายความคับแค้นใจเมื่อได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

5. มีความอดทนที่จะไม่โกรธผู้ที่ทำให้เราเดือดร้อน

6. มีเมตตาแม้กับผู้ประพฤติมิชอบ

7. ไม่ประมาทในชีวิต โดยหมั่นเจริญกุศลและเพียรพยายามละอกุศล

8. ไม่มีศัตรู

9. มีมิตรมาก


ปัญหาของประเทศ กรรมของใคร

การที่บ้านเมืองของเรากำลังประสบปัญหาเดือดร้อนต่างๆ อยู่ในขณะนี้ ได้แก่ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ปัญหาธุรกิจล้มละลายในภาคธุรกิจ ปัญหาทุจริตในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ตลอดจนมีเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ เพราะเราเป็นชาวพุทธแต่เพียงในนาม เราเป็นชาวพุทธตามใบทะเบียนบ้าน และเรายังมีความเข้าใจพระพุทธศาสนาที่ผิวเผินมาก

เมื่อไม่มีความเข้าใจหลักธรรมก็ไม่สามารถจะขจัดความเห็นผิดได้ ก็ย่อมต้องประสบทุกข์เดือดร้อน เพราะไม่สามารถมีพระธรรมเป็นที่พึ่งได้ เราจึงหวังพึ่งนักการเมืองบ้าง หวังพึ่งข้าราชการระดับสูง หวังพึ่งหมอดู หวังพึ่งกระทั่งต้นไม้หรือสัตว์ที่มีรูปร่างประหลาด และพร้อมจะกราบไหว้อย่างเต็มอกเต็มใจ

นับวันชาวพุทธยิ่งถอยห่างจากพระธรรม เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร พระธรรมไม่สามารถให้ลาภ ให้ยศ ให้ตำแหน่งที่ทุกคนปรารถนาได้ แต่พระธรรมให้ความจริงของสิ่งทั้งปวง และทำให้สามารถอบรมขัดเกลากิเลสจนเป็นบุคคลที่ประเสริฐได้ พระธรรมให้ความสุขที่สงบประณีตเพราะดับความเร่าร้อน (กิเลส) ในจิตตามลำดับความเข้าใจ ถ้าผู้บริหารบ้านเมือง ได้แก่ นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการทุกระดับ มีความเข้าใจพระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และตั้งในละกิเลสซึ่งเป็นศัตรูภายในตนแล้ว บ้านเมืองของเราต้องรอดพ้นจากวิกฤตแน่นอน

แต่ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่ตนปรารถนาได้ ดีที่สุดคือเข้าใจความจริงว่า เราและคนอื่นๆ ต่างก็มีกรรมเป็นของตนเอง ทำให้ต้องเห็นต้องได้ยินสิ่งที่นำความทุกข์ใจมาให้ (ปัญหาทั้งของส่วนรวมและส่วนตัว) ทำให้ได้เกิดในสมัยที่บ้านเมืองต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ก็ยังดีที่กว่าเกิดในประเทศที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีการรบพุ่งฆ่าฟัน จนหาความสงบสุขไม่ได้

การที่เรามีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมมากขึ้น ทำให้เรารู้ความจริงของชีวิตซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ความจริงซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พากเพียรอบรมพระปัญญาบารมีที่ถึงพร้อมแล้วเท่านั้นจึงสามารถค้นพบได้ จึงไม่ใช่สิ่งที่คนธรรมดาจะคาดคะเนและพยายามจะเข้าใจได้เองโดยไม่ศึกษาความจริง ซึ่งยากจะมองเห็น ละเอียด ลุ่มลึกและยากจะเข้าใจ แต่เป็นความจริงที่ผู้ใดได้สนใจศึกษาจนมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว จะรู้ด้วยตนเองว่าพระธรรมนี่เองคือคำตอบของชีวิต ดังนั้นจึง ไม่ควรประมาทในพระธรรมโดยเห็นว่าพระธรรมเป็นของง่าย ไม่จำเป็นต้องศึกษาก็สามารถจะเป็นคนดีมีปัญญาได้

การที่เรามีความเข้าใจเรื่อง บาป บุญ และการให้ผลของบาปหรือบุญ คือมีความรู้เรื่องการให้ผลของกรรมนั่นเอง ทำให้ชีวิตมีความสงบสุขขึ้น เราไม่ควรประมาทในอกุศลของตนเอง โดยสะสมอกุศลอยู่เป็นประจำบ่อยๆ เนืองๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครสามารถรู้วันตายของตนเอง

ดังนั้นก่อนจากโลกนี้ไปเราจึงควรสะสมกุศล ไม่ละเลยกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ที่พึ่งอื่นนอกจากกุศลแล้วไม่มีเลย และสิ่งที่สำคัญยิ่ง คือการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ควรสะสมความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง เพราะกิเลสน้อยลงเท่าไร ความสุขสงบก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น และความสุขเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนควรแสวงหา

“บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี จึงห้ามจิตเสียจักบาป
เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป”

(พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๓)



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 31 ส.ค. 2008, 12:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

วันนี้เจอแต่บทความยาว ๆ อนุโมทนาบุญอีกครั้งค่ะ สาธุ พุทโธ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ณัฐภรณ์ อินทสุวรรณ
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 31 ส.ค. 2008
ตอบ: 112

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ย. 2008, 3:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
หยุดโกรธก่อนโกรธ ! ^-^"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง