Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การเจริญภาวนา : พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 10:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การเจริญภาวนา
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา



การเจริญภาวนานั้นมี 2 อย่าง คือ การเจริญสมถภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา เป็นการปฏิบัติเพื่อยังจิตให้เข้าถึงความสงบ โดยเพ่งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนกระทั่งจิตนิ่งสงบเป็นสมาธิ

วิปัสสนาภาวนา เป็นการเจริญสติให้เกิดปัญญา เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงว่า อ๋อ ! สังขารชีวิตนี้เป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เกิดดับ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้เรียกว่าเกิดปัญญา ปัญญาก็จะชำแรกจะประหารกิเลส เมื่อกิเลสลดน้อยลง ความร้อนใจทุกข์ใจก็ลดลง ความเย็นก็ปรากฏ ความสุขก็ปรากฏ ยิ่งความร้อนมอดลงไปดับสนิทเมี่อไร ก็พบกับความเย็นสนิทมากเท่านั้น เรียกว่านิพพาน

นิพพานก็คือความเย็น หรือความที่เพลิงทุกข์เพลิงกิเลสดับสนิทนั้นแหละ นิพพานก็เป็นไปตามชั้นของอริยบุคคล พระโสดาบันก็ละกิเลสได้ระดับหนึ่ง พระสกทาคามีก็ละกิเลสได้อีกระดับหนึ่ง พระอนาคามีก็ละกิเลสได้ยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง จนกระทั่งระดับพระอรหันต์ก็ดับเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ใจก็จะเย็นสงบสนิทอย่างชนิดความเร่าร้อนความเศร้าหมองจะไม่กำเริบขึ้นมาได้อีกเลย

เราก็มาเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า คือเดินตามคำสอนของพระพุทธองค์ อย่าคิดว่าเราไม่มีหน้าที่ปฏิบัติ เพราะเราทำงาน เรายังอายุไม่มาก เราไม่ได้อยู่วัด ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อย่าไปคิดอย่างนั้น บุคคลใดที่มีความทุกข์ บุคคลใดที่ยังมีกิเลส บุคคลนั้นก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะดับความทุกข์ เพื่อที่จะชำระกิเลส เหมือนคนที่ไม่มีโรค ก็เห็นว่าหมอไม่จำเป็น แต่คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจ็บปวด ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยา ต้องได้รับการรักษาจากหมอ พวกเราก็มีโรคคือกิเลส จึงจำเป็นต้องมียารักษา ซึ่งธรรมโอสถที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ให้ก็คือ สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

ต่อไปนี้จะอธิบายแนวทางปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานพอเป็นสังเขป

แนวทางที่ 1 คือ เจริญสมถะก่อน แล้วต่อวิปัสสนาทีหลัง วิธีปฏิบัติก็คือทำจิตให้นิ่ง โดยเพ่งลมหายใจหรือเพ่งกสิณต่างๆ ซึ่งมีถึง 10 อย่าง หรือเพ่งอสุภะ เป็นต้น เพ่งจนกระทั่งได้ฌาน เมื่อได้ฌาน ก็จะมีปิติ มีความสุข มีสมาธิ เรียกว่า องค์ฌาน และจึงยกองค์ฌานนั้นๆ มาพิจารณา โดยน้อมมากำหนดที่ปีติ ที่ความสุข ที่สมาธิ ดูจิต ดูผู้รู้ ผู้ดูจนเห็นความเปลี่ยนแปลง เกิดดับ เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เข้าสู่วิปัสสนาได้

แนวทางที่ 2 คือ เจริญวิปัสสนาไปเลย แล้วสมถะก็ตามมาทีหลัง แนวทางนี้ก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนั่นแหล่ะ วิธีการปฏิบัติก็คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้เหยียด เคลื่อนไหว เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก รู้สึกอะไรต่างๆ ก็เจริญสติระลึกรู้

แต่การระลึกนี้ต้องให้ตรงต่อสภาวะปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ลักษณะการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสเหล่านี้ เป็นสภาวะปรมัตถ์ ต้องกำหนดรู้ว่าลักษณะเห็น ลักษณะได้ยินเป็นอย่างไร ลักษณะรู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสที่เกิดที่ตัวเรานี้เป็นอย่างไร เมื่อเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสเย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง หย่อนบ้าง อ่อนแข็งบ้าง ไหวบ้าง สบาย ไม่สบาย คิดนึก ใจรู้สึกระลึกไปต่างๆ ก็ให้สังเกตไปทั้งหมด ที่เกิดที่กายที่ใจนี้ หมั่นสังเกต หมั่นระลึกบ่อยๆ สติก็จะเจริญขึ้น และจะเก่งเท่าทันต่อสภาวะ นอกจากนี้ ก็ให้ฝึกปล่อยวางอยู่ในตัว คือต้องรู้ละรู้ปล่อยรู้วาง ในที่สุดสมาธิก็จะเกิดขึ้นมาเอง


(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 10:58 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แนวทางที่ 3 คือ เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ซึ่งคนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่จะเหมาะกับประเภทนี้ เพราะคนในยุคปัจจุบันจะให้ไปเจริญสมถะจนได้ฌาน ให้จิตดับนิ่ง สามารถเข้าฌาน-ออกฌานได้คล่องแคล่วนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย เพราะต้องอยู่ในสถานที่สงบวิเวกจริงๆ มีคนเป็นส่วนน้อยที่อยู่ในสถานที่ไม่สงบ แต่สามารถทำจิตให้นิ่งจนได้ฌานได้

ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติตามแนวทางที่ 1 คือทำฌานก่อน ก็ทำไม่ได้ จะเจริญวิปัสสนาไปเลย ตามแนวทางที่ 2 ก็มีปัญญาไม่พอ ยังไม่รู้จักรูปนาม กำหนดไม่ถูก ไม่รู้ว่าสภาวะปรมัตถ์เป็นอย่างไร บัญญัติเป็นอย่างไร และบางคนถ้าไม่มีสมาธิบ้างเลย จิตก็ล่องลอย ตั้งสติไม่อยู่ บางคนจึงต้องมีสมาธิอยู่บ้าง จึงจะระลึกอยู่ได้ ถ้าเราเป็นเช่นนี้ ก็ต้องใช้แนวทางที่ 3 เรียกว่า ยุคนันทะสมถวิปัสสนา หมายถึง การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป วิธีปฏิบัติก็คือเจริญสมถกรรมฐาน ซึ่งมีวิธีการเจริญได้หลายอย่าง จะเจริญอานาปานสติ คือ ดูลมหายใจเข้าออก คู่กับวิปัสสนาก็ได้ จะเจริญมรณานุสสติ คือระลึกถึงความตายคู่กับวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเจริญเมตตา คือแผ่เมตตาคู่กับวิปัสสนาก็ได้ เป็นต้น

เมื่อพูดถึงแนวทางที่ 3 คือการเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยเน้นที่การเจริญเมตตาคู่กับการเจริญวิปัสสนา เพราะเห็นว่าจะได้รับประโยชน์ 2 อย่าง คือ

1. ประโยชน์จากการเจริญเมตตา ซึ่งมีอานิสงส์มาก
2. ประโยชน์จากการเจริญวิปัสสนา ซึ่งยิ่งประเสริฐในการที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป

สำหรับประโยชน์ของการเจริญเมตตานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่เจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ จนจิตมีเมตตาได้จริงๆ จะประสบผลเป็นอานิสงส์ 11 ประการ คือ

1. หลับเป็นสุข หลับอย่างสบาย หลับสนิทดี ไม่ใช่หลับๆ ตื่นๆ อะไรอย่างนั้น

2. ตื่นเป็นสุข ตื่นมาก็เป็นสุข จิตใจแจ่มใส เบิกบาน บางทีไม่ต้องใช้เวลาหลับนานก็พอ เพราะว่าได้หลับสนิทนอนเต็มอิ่มเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

3. ไม่ฝันร้าย ถ้าจะฝันก็ฝันดี บางคนนอกจากนอนหลับไม่สนิทแล้ว ยังฝันมั่วไปหมด ฝันแล้วก็จำไม่ได้ เวลาฝันสมองส่วนหนึ่งไม่ได้พัก เพราะจิตส่วนหนึ่งต้องขึ้นมาคิดในวิถีจิต เมื่อหลับไม่สนิท ร่างกายก็เลยไม่สบาย เพราะพักไม่สนิท แต่ถ้าเราเจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ แม้เพียงก่อนนอนเจริญเมตตาให้ดี ให้จิตใจเกลี้ยงเกลา มีความเมตตาจริงๆ หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย

4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเรามีเมตตา ใครเห็นเราก็จะมีความรัก มีความเมตตาต่อเรา อยากจะช่วย อยากเอื้อเฟื้อ อยากคุย อยากเห็นเรา ไม่ใช่ว่าเห็นหน้าเราแล้วก็อยากจะหนี ไม่อยากมอง ไม่อยากพูด ไม่อยากเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ นั่นแสดงว่าเป็นคนไม่มีเมตตา เพราะฉะนั้น ให้เจริญเมตตาไว้ แล้วจะเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย อมนุษย์ก็คือไม่ใช่มนุษย์ เช่นพวกเทวดาก็ดี ภูติผีปีศาจอะไรก็แล้วแต่เหล่านี้ก็ดี ซึ่งบางทีก็เล่นงานเบียดเบียนมนุษย์ได้ อย่างเราไปนอนในสถานที่บางแห่งเขาก็มาเบียดเบียนเรา แต่ถ้าเราเจริญเมตตา แผ่เมตตาให้เขา เขาก็จะกลับจิตกลับใจมีเมตตาต่อเรา บางทีเขาก็จะสงเคราะห์อนุเคราะห์เราเหมือนกับแม่อนุเคราะห์บุตร

6. เทวดารักษา เทวดารักษาน่ะดีกว่ามนุษย์รักษา เช่นมีบางสิ่งบางอย่างมาอย่างลี้ลับ เราก็ต้องอาศัยเทวดาคุ้มครองรักษา ปัดเป่าให้เราปลอดภัย เดินทางปลอดภัย ทำอะไรก็ปลอดภัย หรือเมื่อมีพวกคิดร้ายคิดไม่ดีเข้ามา เทวดาก็ช่วยปัดเป่าให้ได้เหมือนกัน

7. ศาสตราอาวุธ ไฟ ยาพิษ เป็นต้น ทำอันตรายไม่ได้

8. หน้าตาผ่องใส คนมีเมตตาผิวหน้าก็ผ่องใส แววตาก็แจ่มใส ไม่เครียด ทำให้มีคนอยากพบ อยากเห็น อยากคุย อยากช่วยเหลือ เพราะว่าหน้าตาน่าดูไม่บึ้งตึง

9. สมาธิตั้งมั่นได้เร็ว ผู้ที่เจริญเมตตาจะมีจิตที่มีความสุข อันจะยังผลให้เกิดสมาธิได้ เพราะความสุขเป็นเหตุของสมาธิ

10. ไม่หลงตาย คือในขณะที่จะตายจิตไม่เศร้าหมอง อันจะเป็นประโยชน์ในภพชาติต่อไป เพราะว่าถ้าไม่หลงตายก็ไปเกิดในสุคติภูมิ ถ้าคนหลงตายก็ไปเกิดในทุคติภูมิ ถ้าคนหลงตายคือจิตเศร้าหมองก็ลงไปสู่อบายภูมิ ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรฉานได้

11. ตายแล้วไปสู่พรหมโลก ไปเกิดเป็นพรหม แต่ผู้นั้นต้องได้ฌานด้วยนะ เพราะการเจริญเมตตาสามารถทำให้ได้ถึงมโนจิต หรือแม้ว่าเราไม่ได้มโนจิต แต่ถ้าจิตของการเจริญเมตตาส่งผลในขณะใกล้จะตาย ก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ หรือเทวดาได้


(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 11:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่ออานิสงส์ของการเจริญเมตตามีมากมายถึง 11 ประการดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ เราจึงควรจะเจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ ต่อไปก็จะอธิบายถึงวิธีการแผ่เมตตา

วิธีการแผ่เมตตาสามารถทำได้โดยอันดับแรก แผ่ให้แก่ตนเองก่อนโดยจะกล่าวในใจก็ได้ว่า

“อะหัง สุขิโต โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข

อะหัง นิททุกโข โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากทุกข์

อะหัง อะเวโร โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากเวร

อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความลำบาก

อะหัง อะนีโฆ โหมิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากอุปสรรค

สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
รักษาตนให้มีความสุขตลอดกาลนาน (เทอญ)”

แผ่ให้แก่ตนเองก่อนเพื่อเอาตนเองเป็นพยานว่า เอ้อ ! เรานี่ก็มีความรักตนเอง คนอื่นๆ เขาก็ต้องรักตัวเอง รักตัวของเขาเหมือนกัน เวลานึกถึงสัตว์อื่น เราจะได้เห็นอกเห็นใจมีเมตตาต่อเขาได้ง่าย

ต่อจากนั้นจึงแผ่ให้แก่คนอื่น การแผ่ให้คนอื่นนั้น ถ้าแผ่เดี่ยวๆ แผ่เป็นคนๆ ก็มีวิธีว่า อย่าเพิ่งแผ่ให้กับคนที่ไม่ถูกกัน ที่เป็นศัตรูกัน หรือคนที่เรารักมากก่อน เพราะว่าแผ่ให้กับคนที่ไม่ถูกกันหรือเป็นศัตรูกันนั้น แผ่ไปทีไรเดี๋ยวก็แผ่ไปแต่ความโกรธ จึงไม่ได้แผ่เมตตา นึกถึงทีไรโกรธทุกที ส่วนคนที่เรารักมาก เวลาแผ่ไปจะเป็นเมตตาเทียม กลายเป็นแผ่ตัณหาเสียมากกว่าแผ่เมตตา แล้วความเสียใจก็ตามมาอีก

ท่านจึงสอนว่า ถ้าเมตตาเดี่ยวๆ ให้แผ่แก่คนที่เป็นที่รักพอประมาณหรือคนรักนับถือพอกลางๆ ก่อน แล้วค่อยแผ่ให้คนที่เรารักมาก หรือจนสุดท้ายจึงแผ่ให้ศัตรู แผ่กลับไปกลับมาอย่างนี้ แต่ถ้าแผ่ไปให้ศัตรูแล้วใจมันไม่ไป ก็กลับมาแผ่ให้แก่คนที่เราแผ่ได้ก่อน แล้วค่อยกลับไปแผ่ให้ศัตรูใหม่ ส่วนการแผ่รวมๆ สามารถแผ่รวมไปหมดแก่ใครๆ ก็ตามได้เลย โดยกล่าวว่า

“สัพเพ สัตตา
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อะเวรา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อัพยาปัชฌา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อะนีฆา
จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

แผ่อย่างนี้ นึกซ้ำๆ บ่อยๆ เข้าเพื่อจะดึงจิตเราให้คล้อยตาม คือให้จิตมีเมตตาจริงๆ แต่ถ้าหากว่าภาษาบาลีเราไม่ถนัด นั่งนึกแต่บาลีจำไม่ได้ก็เลยเครียด แผ่แล้วอย่าให้สมองเครียดเพราะเป้าหมายจริงๆ ของการแผ่เมตตา คือให้เข้าถึงความโปร่งเบาทางจิต เมื่อจิตมีความสุขก็มีสมาธิ เพราะความสุขเป็นเหตุของสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับสมอง ปรับใจของเราให้สบายๆ ถ้าแผ่เป็นภาษาบาลีไม่ได้ ก็แผ่เป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า

“ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด”

แผ่เป็นภาษาไทยอย่างนี้ วนๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ให้จิตคล้อยตาม หรือถ้ายังยาวไปมันหลายบท จำยาก จำไม่ได้ ก็ใช้บทเดียวก็ได้ว่า “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” ว่าอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา “ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด” แล้วก็พยายามน้อมให้จิตคล้อยตาม คือเราอาจจะไม่ต้องไปนึกเห็นหน้าตาของคนที่เราแผ่เมตตาให้ชัดเจน แต่ให้นึกแบบรวมๆ

เหมือนเราแผ่เมตตาให้เป็นวงกว้างออกจากตัวออกจากใจของเรา แผ่ขยายออกไป แผ่ออกไปกว้างๆ เหมือนแสงที่กระจายออกไปจากรอบตัวเรา กว้างออกไป...กว้างออกไป...นึกแผ่ออกไปให้รวมๆ ไปทั้งหมดทุกชีวิต ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดา ทั้งสัตว์ในอบายภูมิ ซึ่งเรารวมเรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย นอกจากนี้ก็ต้องแผ่อยู่บ่อยๆ รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็แผ่ว่า สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆ เถิด

เดินทางไปไหนมาไหน นั่งอยู่ในรถเราก็แผ่ไปในรถ แผ่ไปนึกไปทั่วไปหมด ขอให้มีความสุข มีความสุขทั้งมนุษย์ ทั้งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ตาม อยู่ที่ทำงานก็แผ่ให้คนที่ทำงานทุกคนว่า ขอให้มีความสุขๆ อยู่ตรงไหนก็นึกแผ่อยู่เรื่อยๆ แผ่ให้จิตมีความสุข

ถ้าจิตมีเมตตาจริงๆ ก็จะเกิดความสุขความอิ่มเอิบขึ้นในใจ แล้วก็จะแผ่ขยายฉายออกไปทางใบหน้าและแววตา หน้าตาและแววตาก็จะแจ่มใสมีความสุขขึ้น ผิวหน้าจะสดใส มันจะฉายออกมา เมตตาเป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อจิตมีเมตตา กุศลก็เกิดขึ้น บุญเกิดขึ้นก็จะคุ้มครองรักษาตัวเราให้มีความสุข ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการเจริญเมตตา ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน


(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 11:09 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต่อไปจะอธิบายวิธีการเจริญสมถะ โดยเฉพาะการเจริญเมตตาควบคู่กับการเจริญวิปัสสนาว่าจะทำได้อย่างไร

การเจริญวิปัสสนามีหลักอยู่ว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏ ในที่นี้เมื่อเราเจริญเมตตา ก็ให้ระลึกรู้เข้ามาที่หน้าตาและที่ใจ ในขณะที่เราแผ่เมตตาออกไป แผ่ไป...แผ่ไป...ก็ให้มีสติระลึกสังเกตดูสภาพของใจ สังเกตว่าใจรู้สึกอิ่มเอิบ มีความสุขมั้ย ส่วนความรู้สึกของแก้ม ของหน้า ของตา เราสามารถสังเกตความรู้สึกด้วยตัวเองได้ว่าหน้าตาเราบึ้งหรือหน้าตาเราแจ่มใสคลี่คลาย ปากเราเป็นอย่างไร ยิ้มมั้ย

ถ้าเรารู้สึกได้ว่าใจอิ่มเอิบ มีความสุข ปากยิ้มได้ แสดงว่าจิตมีเมตตาจริงและก็เป็นวิปัสสนาด้วย เพราะสติได้มาระลึกรู้ที่ใจหรือที่จิตซึ่งเป็นสภาวะ ส่วนความรู้สึกที่หน้าตาและที่ปากนั้นเป็นจิตตชรูป เพราะปากจะยิ้มได้ต้องมาจากจิต ถ้าจิตอิ่ม จิตมีความสุข ปากจะยิ้ม ปากที่ยิ้มเกิดจากจิตเรียกว่าจิตตชรูป คือ จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มได้

และผู้มีเมตตานั้นนอกจากจิตจะรู้สึกแจ่มใสแล้ว ดวงตายังแจ่มใสเหมือนยิ้มได้นะ คนที่มีนิสัยมีจิตใจเมตตา เวลาพูดไปก็เหมือนกับเขายิ้มไปในตัว ตายิ้ม ปากยิ้ม ใจยิ้ม มันมาจากใจ เพราะฉะนั้น ถ้าใจขุ่น ตาก็ขุ่น ปากก็ไม่ยิ้ม หน้าก็เครียด ดวงตาเป็นหน้าต่างของใจ ถ้าดูที่ตาก็จะรู้ไปถึงใจ ถ้าใจดีใจอิ่มเอิบ แววตาก็ดี ปากก็ยิ้ม จึงให้สังเกตความรู้สึกที่อิ่มเอิบ สังเกตใจที่มีปิติ มีความสุข สังเกตความผ่องใสในใจ ใจที่มีเมตตาจะผ่องใส เพราะกิเลสในใจขณะนั้นได้ถูกชำระออกไป ใจจึงอิ่มเอิบ หน้าตาแจ่มใส เมื่อมีสติมาระลึกถึงสภาพธรรมเหล่านี้ก็เป็นวิปัสสนา

แต่ถ้าเราเจริญเมตตาเสียจังหวะ บางทีก็ทำให้เคร่งตึงได้ ถ้าเราแผ่เมตตาแล้วรู้สึกว่าสมองเครียด แผ่แล้วรู้สึกเคร่งตึง ก็ต้องลดการแผ่เมตตาลง แล้วให้มาเจริญวิปัสสนาด้วยความปล่อยวางมากขึ้น คือ เปลี่ยนจากการเจริญเมตตาที่นึกให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุข เปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ปล่อยวาง” แทน ดังนั้น เมื่อเราจับความรู้สึกในสมอง ในสรีระได้ว่า มันตึงๆ สติระลึกรู้ความรู้สึกที่เคร่งตึงนั้น ก็สอนใจตนเองว่า ปล่อยวางนะ...ปล่อยวาง...ปล่อยวาง...ซึ่งเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาที่รวบยอด คือจะระลึกรู้อย่างปล่อยวาง พอรู้อย่างปล่อยวาง ความรู้สึกตึงๆ ในสมองจะคลาย สรีระจะคลาย

นอกจากนี้ การเจริญเมตตายังช่วยทำให้จิตตื่น และช่วยให้มีสติได้ด้วย สมมติว่าเราเป็นคนที่ระลึกไม่ค่อยจะได้ เป็นคนไม่ค่อยมีสติ ชอบเผลอ ตามหลักแล้ว การเจริญสติสามารถระลึกรู้ได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ แต่เราไม่ยอมมีสติ จะทำอย่างไร บังคับก็ไม่ได้ ก็ให้ลองเจริญเมตาควบคู่กับวิปัสสนา จะพบว่า เจริญเมตตาก็มีสติได้ พอเจริญเมตตาทีไร ก็จะกลับมามีสติระลึกได้ทุกที เลยกลายเป็นว่า เราอาศัยการเจริญเมตตาแล้วทำให้มีวิปัสสนาตามมา

อีกประการหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้ คือทำให้จิตไม่เบลอ คนที่จิตเลื่อนลอย คือจิตไม่ทำงาน นั่งแล้วเบลอ ง่วงๆ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเจริญเมตตา จิตก็จะทำงานขึ้นมา เพียงแค่นึกว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขนะ...ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขนะ...จิตจะทำงาน จิตจะตื่น มีสติมาดูจิตได้อีก อย่างนี้เรียกว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป

สมถะ คือการเจริญเมตตา ทำให้จิตสงบ
วิปัสสนา คือระลึกรู้สภาวะที่กำลังปรากฏด้วยความปล่อยวาง


ฉะนั้น การเจริญเมตตากับการเจริญวิปัสสนาควบคู่กันไป เจริญเมตตาเป็นสมถกรรมฐาน ระลึกรู้สภาวะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่า ยุคนันทะสมถะวิปัสสนา และก็แถมให้อีกว่า ที่ว่าเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันนี้ สามารถไปคู่กับสมถะบทอื่นได้หลายๆ อย่าง เช่น คู่กับอาณาปานสติ คือ การกำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก แล้วก็เจริญวิปัสสนาควบคู่กัน การเจริญอาณาปานสตินี้เป็นสมถะกรรมฐาน เพราะเป็นการระลึกอารมณ์บัญญัติ

การเจริญอาณาปานสติทำอย่างไร ตามแนวมหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า มีสติรู้ลมหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจเข้า สำเหนียกว่า จะกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งหมดหายใจออก สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร (ลมหายใจ) หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขารหายใจออก นี้เป็นวิธีการเจริญอาณาปานสติ ซึ่งทำให้เกิดสมาธิ


(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 11:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อรรถกถาจารย์ ท่านได้แนะนำวิธีดูลมหายใจไว้ 5 นัย คือ

1. วิธีนับลมหายใจ เรียกว่า คณนานัย ให้นับเป็นคู่ๆ ก่อน แล้วค่อยนับเรียงทีหลัง นับเป็นคู่ๆ ก็คือ เมื่อหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1, หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2 , หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 3 , หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 4 , หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 5 , หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1, คือ พอถึง 5 แล้ว ก็มาขึ้น 1-1 ไปถึง 6-6 , 1-1 ไปถึง 7-7 , 1-1 ไปถึง 8-8 , 1-1 ไปถึง 9-9 , 1-1 ไปถึง 10-10 แล้วก็วน 1-1 ไปถึง 5-5 โดยตั้งกติกาว่า จะไม่ให้ผิดพลาดนะ ถ้านับเรื่อยเฉื่อยไป แทนที่จะหยุดแค่ 6 เลยไป 7 ไป 8 ก็ต้องขึ้นต้นใหม่ 1-1 ถึง 5-5 จิตจะเกิดความระวังตัว ต้องคอยระวังล่ะ ถ้าไม่ระวังก็นับไม่ถูก ใครที่ฟุ้งซ่านมากๆ เมื่อนับลมหายใจ เรื่องที่ฟุ้งจะถูกตัดออกไป จิตก็ทรงตัวอยู่

เมื่อจิตทรงตัวอยู่ดี ต่อไปก็ให้นับเรียง โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 4 หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 9,..... 1,... 2,.... 3,... 4,... 5,... 6,... 7,... 8,... 9,... 10,... แล้วก็มาวน 1 ถึง 5 ใหม่ นับเรียงอย่าให้ผิด ถ้าผิด ก็เริ่มนับ 1 ถึง 5 แต่ไม่ต้องนับเร็วมาก เดี๋ยวยิ่งหายใจเร็วยิ่งเหนื่อยใหญ่ ถ้าเราหายใจช้า ก็นับไปช้าๆ อย่าไปเร่งลมหายใจ นี่คือท่านอรรถกถาจารย์ท่านสอนไว้ แม้ครู้บาอาจารย์ในสมัยยุคปัจจุบัน เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านก็สอนให้ภาวนาพุทโธ หายใจเข้าว่าพุธ หายใจออกว่าโธ ซึ่งก็สงเคราะห์อยู่ ในการนับลมหายใจ แต่เราจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ ก็ได้ เพื่อที่จะกำกับจิตให้อยู่กับลมหายใจ

2. วิธีตามลมหายใจ เรียกว่า อนุพันธนานัย อนุพันธนานัยก็คือ ตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา หายใจเข้าแล้วลมกระทบผ่านโพรงจมูกลงไปทรวงอก ถึงหน้าท้อง แล้วหายใจออกจากหน้าท้องย้อนขึ้นมาทรวงอก ออกมาถึงโพรงจมูก แล้วก็ตามลมเข้าไป ตามลมออกมา ตามไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ถนัดวิธีแรก ก็ใช้วิธีที่ 2 นี้ก็ได้

3. วิธีดูการกระทบ เรียกว่า ผุสนานัย ผุสนานัยคือ นัยกระทบ โดยดูอยู่ที่เดียว ตรงเฉพาะที่รู้สึกว่าลมกระทบ จะดูลมที่กระทบตรงโพรงจมูก หรือปลายจมูก หรือริมฝีปากบน หรือบางคน อาจจะรู้สึกกระทบที่ทรวงอก หรือบางคนก็รู้สึกที่หน้าท้อง เช่น ที่เค้าดูท้องพอง ท้องยุบก็ได้ ให้รู้สึกลมหายใจเข้ากระทบ ลมหายใจออกกระทบ อย่างนี้เรียกว่าผุสนานัย

4. วิธีดูลักษณะ เรียกว่า สัลลักขณานัย สัลลักขณานัยคือ การดูลักษณะของลมหายใจ โดยให้ดูลมหายใจว่า ลมหายใจมีลักษณะต่างๆ กัน หายใจเข้าก็อย่างหนึ่ง หายใจออกก็อย่างหนึ่ง หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น หยาบ หรือละเอียด บางทีก็หยาบ บางทีก็ละเอียด เป็นต้น

5. วิธีดูแบบนิ่งๆ เรียกว่า ฐปนานัย ฐปนานัยก็คือ เพ่งดูอย่างนิ่ง ดูไปนิ่งๆ เรียกว่า จิตจดจ่ออยู่กับนิมิตก็สงบได้

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีดูลมหายใจวิธีใดก็ดี ทั้ง 5 วิธีที่ได้กล่าวมานี้ เป็นการเจริญสมถะ เป็นการทำเพื่อให้จิตนิ่งสงบ ทำทำไปแล้ว เมื่อจิตสงบก็จะเกิดนิมิตขึ้นมาเป็นวงเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เหมือนปุยนุ่น เหมือนละอองในน้ำ หรือเหมือนสายรุ้ง เป็นต้น แล้วแต่ใครจะเห็นนิมิตอะไรก็จะเพ่งนิมิตนั้น เพ่ง...เพ่ง..ประคองไว้ นึกให้เห็นชัด นิมิตนั้นก็จะใส เกิดรัศมี นึกให้ใหญ่ นึกให้เล็กได้ตามความปรารถนา ในที่สุดจิตก็จะฟุบตัว เข้าสู่อัปปนาสมาธิ ได้ฌาน

แต่นี่เราไม่ต้องทำถึงขนาดนั้นก็ได้ เราจะทำสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน คือไม่ต้องเพ่งนิมิต แค่ดูลมหายใจเข้าออกตามสมควร เพื่อให้มีสมาธิบ้าง แล้วก็สังเกตความรู้สึกไปเลย พอระลึกรู้ความรู้สึกนี้แหล่ะ เป็นแนวทางของวิปัสสนา เช่น เวลาหายใจเข้าออก ก็ให้หัดสังเกตว่า เออ ! มีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย มีความตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ ที่ทรวงอก หน้าท้อง หายใจเข้ารู้สึกตึงๆ หายใจออกรู้สึกหย่อนๆ เป็นต้น ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย ความตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ เหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา


(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 11:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นอกจากนี้ก็ยังต้องใส่ใจในอิริยาบถย่อยต่างๆ ด้วย เช่น การคู้ เหยียด เคลื่อนไหว การพูด การจับ การยก การก้ม การเงย การเหลียวซ้ายแลขวา ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน แทนที่จะเหลียวไปมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็หัดรู้สึกตัวในการก้ม ในการเงย เป็นต้น ใหม่ๆ ก็รู้แบบบัญญัติไปก่อน รู้ว่าก้ม รู้ว่าเงย รู้ว่าเหลียวซ้ายแลขวาซึ่งเป็นบัญญัติ แต่ต่อไปต้องพยายามปล่อยบัญญัติ มารู้สภาวะปรมัตถ์

รู้ปรมัตถ์คือรู้ความรู้สึก สภาวะปรมัตถ์ทางกายก็จะมีความรู้สึกเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง หย่อนบ้าง ตึงบ้าง ต้องหัดสังเกตลึกซึ้งไปถึงความรู้สึกของการเคลื่อนไหว และของการกระทบ เช่นในขณะที่ก้มเงย เหลียวซ้ายแลขวา จะมีตึงๆ หย่อนๆ ไหวๆ ในกล้ามเนื้อ ตามตัว ปากที่หุบบ้าง อ้าบ้าง กลืนน้ำลายที่คอ บีบรัดก็รู้สึก แม้ตาที่กระพริบๆ ลูกตากลอกกลิ้งกระทบเปลือกตาไหวๆ

หรืออย่างเวลาจับอะไร เมื่อก่อนเคยรู้แต่จับ แต่ที่จริงแล้วพอจับปุ๊ป ลองสังเกตความรู้สึกที่กระทบจะพบว่า มีเย็น มีร้อน มีอ่อน หรือมีแข็ง อันนี้แหละเป็นตัวสภาวะ เป็นปรมัตถธรรม ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ได้ก็เป็นวิปัสสนา เป็นการรู้ที่กาย แต่ที่ให้เริ่มสังเกตที่ร่างกายก่อนก็เพราะว่ากายเป็นของหยาบ รู้ได้ง่าย จึงให้รู้กายไปก่อน แล้วขั้นต่อไปก็ให้หัดรู้ใจ เพราะความสำคัญของการปฏิบัติที่สุดแล้วก็คือ ต้องให้มีการระลึกรู้ถึงที่จิตใจ ว่าใจรู้สึกอย่างไร แต่ละขณะๆ ใจดี ใจไม่ดี ใจคิด ใจนึก ใจรู้สึกต่างๆ เสียใจ หรือดีใจ หรือเฉยๆ หรือหงุดหงิด มีความขุ่นมัว หรือผ่องใส สบายใจ ไม่สบายใจ สงบ ไม่สงบ วิตก วิจาร วิจัย สงสัย พอใจ ไม่พอใจ เป็นต้น

ให้พยายามมีสติระลึกรู้ทันในปัจจุบันอารมณ์เหล่านี้ด้วยความปล่อยวางอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับได้ดูแลรักษาจิตใจแก้ไขให้ดีงาม แล้วก็เป็นการสะสมเก็บคะแนนสติสัมปชัญญะบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความสมบูรณ์ของสติปัญญา ทำเช่นนี้เราก็ได้ปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องคอยเวลา ไม่เสียเวลากับชีวิตที่ผ่านไปหมดไป เพราะฉะนั้น เราต้องเตือนตัวเราเองว่า

“วันเวลาผ่านไปทุกนาที
กลืนกินชีวิตนี้ไปทุกขณะ
เราทำอะไรเป็นแก่นสารบ้างล่ะ
หรือแค่เกะกะเกิดแก่เจ็บตาย”


ชีวิตนี้เกิดมา เพียงแค่หมดไปวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้ทำอะไรให้เป็นสาระ หรือเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น มันก็เท่านั้นเอง แค่เกิดมาแล้วก็แก่เจ็บตายไป ใครๆ ก็เป็นเช่นนี้ ไม่ได้สาระอะไร สาระของชีวิต อยู่ที่คิดดี ทำดี พูดดี ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามครรลองประโยชน์ตนและคนอื่น ฉะนั้น เราต้องทำประโยชน์ตอนนี้ เพื่อสะสมเหตุปัจจัยความดีของเราไว้

“อันความดีทำไว้ไม่หายสูญ
จะเกื้อกูลตามต้องสนองผล
ให้ความสุขสมหมายดังใจตน
เกิดเป็นคนควรทำแต่กรรมดี”


ให้คิดเสมอว่า ชีวิตของเราร่อยหรอลงไปทุกวันๆ เราอุ่นใจหรือยังว่า เรามีเสบียงเต็มที่แล้ว ในการจะเดินทางไปยังสัมปรายภพ ว่ายังไงเสีย เราก็ไปดี จะไปสู่ที่สบาย ไม่ไปสู่อบายแน่ อุ่นใจหรือยังว่า เวลาจะตายแล้วเราจะพร้อมเสมอ ถ้าความดียังไม่เต็ม ยังไม่พอ ก็ยังไม่ควรอุ่นใจ

ฉะนั้น เราต้องพร้อมเสมอ ต้องปฏิบัติจนกระทั่งเราอุ่นใจ ชีวิตนี้ไม่แน่นอน หลวงปู่เหรียญท่านก็มรณภาพไปเมื่อวาน เดี๋ยววันนี้ก็สรงน้ำศพ อายุท่านก็ 93 แล้วมั้ง แต่บางท่านบางคนนี้อายุยังไม่มาก ปุ๊ปปั้บตายไปก็มี เอาแน่ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้น ก็เตือนตัวเองไว้เพื่อจะได้สะสมคุณงามความดี สร้างบารมีของเรา ทั้งการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

การเจริญภาวนาก็ให้

1. แผ่เมตตาอยู่เนืองนิตย์

2. เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เราก็จะได้รับประโยชน์ ได้รับอานิสงส์ ตามที่ได้บรรยายมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ


สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์
ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : (035) 242892, 244335
โทรสาร/ฝากข้อความ : (035) 245112
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แมวขาวมณี
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2006
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 16 ส.ค. 2006, 10:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เช้ามาตั้งใจแผ่เมตตานำไว้ก่อน รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิเอาเป็นทุนสักหน่อยวันนั้นใจสงบเย็นทั้งวันเพราะตอนเย็นเรามีบุญกุศลไว้อุทิศให้เพื่อนสาราสัตต น้อยใหญ่แล้ว
สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Email
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง