Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าข้างใน (ท่าน ก.เขาสวนหลวง) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 04 พ.ค.2005, 1:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าข้างใน
โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง


เรื่องการปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มันมีความพิเศษ เพราะว่าตลอดเวลา ทุกอิริยาบถและทุกขณะ ที่ได้มีสติเป็นการกำหนดรู้จิตใจอยู่เป็นประจำ จะเห็นผลได้จริงๆ ด้วยกันทุกคนเหมือนกันว่า จิตนี้ไม่ได้ไปไหนเลย มันไม่เที่ยวไปวุ่นวายอะไร มันไม่ไปอยากอะไร ไม่เอาอะไรทั้งหมดมันสงบตลอดวันเวลา การรับอุโบสถตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งก็ต้องรู้สึกได้นะว่าจิตสงบและมีธรรมะเป็นเครื่องรู้เครื่องพิจารณาอยู่ภายในแล้ว มันหมดเรื่องจริงๆ จะรู้อะไรก็สู้ไม่ได้ ที่ได้มารู้สึกตัวประพฤติปฏิบัติตัดความโลภความโกรธความหลง และละกิเลสตัณหาที่เคยเผาลนทนทุกข์มามากๆ ทีนี้มันดับได้ มันพิเศษจริงๆ

ถ้าว่าเราไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็ไม่รู้เรื่องอะไร เหมือนกับสัตว์ทั้งหลายหรือคนที่ไม่ได้ปฏิบัติ ที่เกิดมาตายไป แล้วก็เอาอะไรวุ่นไปทั้งโลก เพราะกิเลสตัณหาครอบงำสันดานมาด้วยกัน ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ เทวดา มาร พรหม ก็ถูกกิเลสนี่แหละครอบงำสันดานพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง หมดจดจากอาสวะกิเลสสิ้นเชิงแล้วก็ทรงนำเอาธรรมะที่ตรัสรู้นั้นมาเผยแพร่ เราแม้จะเกิดในกึ่งพุทธกาล ก็ยังนับว่ามีโชคดีมากทีเดียว เพราะว่าพระธรรมคำสั่งสอนยังมีอยู่ครบถ้วน เราก้ได้เลือกคัดเอามาประพฤติปฏิบัติ ให้สมควรแก่สติปัญญาของเราเองได้ แล้วก็ได้รับประโยชน์อยู่ทุกวันทุกเวลาจริงๆ

การไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมดาสั่งสอน กิเลสมันมาเผาเอาโครมๆ เราก็ต้องรู้ด้วยกันทุกคน ว่าถูกกิเลสเผาแย่มาด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็โง่ดักดาน ไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นอะไรต่ออะไรมา ที่มารู้สึกตัวนี่มันดีเท่าไรแล้ว ทีนี้มันหยุดทำตามกิเลสแล้ว เพราะรู้ว่ากิเลสนี้เองมาหลอกมาเผาเอาซึ่งหน้าทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่นี่ แต่กิเลสยังมาโจมตีเผาเอาง่ายๆ เลย แล้วที่ไม่รู้ไม่ชี้เลยมันก็ยิ่งเผาใหญ่ เหมือนเมื่อก่อนนี้ที่เราไม่รู้อะไรถูกกิเลสเผา แล้วก็ไปเอากิเลสมาเป็นมิตรเสียด้วย สนิทสนมเป็นอันเดียวกัน แล้วไม่รู้หรอกว่ามันเป็นข้าศึก

นี่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ว่า กิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะนี่มันเป็นข้าศึก แล้วมันก็เป็นเครื่องประหารใจอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ถ้าเราไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพูทธเจ้า เราก็ไม่รู้หรอก ทั้งๆ ที่กิเลสนี่มันมาประหารใจหรือมาเผาเอาเร่าร้อนไปเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกตัวเลย แล้วก็ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกว่าจะดับมันอย่างไรดี มีแต่เอาเชื้อมาเพิ่มเท่านั้นเอง นี่ที่ยังมีสติปัญญาพอที่จะรับรู้รับฟังอะไรในเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ดับกิเลสภายในจิตใจของเราเอง มันเป็นของประเสริฐแท้ๆ ทีเดียว การรู้อะไรอื่นๆ น่ะมันสู้ไม่ได้เพราะว่ารู้อื่นๆ ไปน่ะ มันไปยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ทุกข์แล้วทุกข์อีก แล้วที่ว่ารู้ๆ นี่ที่ละได้ก็มี ที่ยังละไม่ได้ก็มีเหมือนกันแต่ว่ามันค่อยรู้สึกตัวมากขึ้นทุกที

ที่ไปยึดถืออะไร ไปอยากได้อะไรเข้ามามากๆ ตัณหามันมาปรุงทั้งนั้น มันให้ดิ้นรนกระวนกระวายไปสารพัดอย่างเดี๋ยวนี้มันหยุดได้ สงบได้ ถึงมันจะยังไม่ขาดเด็ดไปทีเดียว แต่ก็พยายามที่จะละตัณหาไม่ให้มันเข้ามาปรุงจิต แล้วจิตจะได้สงบเย็นบ้าง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันลุกๆ ลนๆ มันร้อนรนทนทุกข์ใหญ่

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของละเอียดลึกซึ้งมากทีเดียวเท่าที่เรานำมาประพฤติปฏิบัตินี่เพียงเผินๆ ยังไม่ลึกซึ้งนัก ก็ยังได้รับประโยชน์อย่างนี้ ถ้าเราพยายามศึกษาพิจารณาให้ละเอียดดับเชื้อโรคกิเลสตัณหาภายในบรรเทาลง เราจะซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้าขนาดไหน ลองคิดดู! แต่ถ้าการปฏิบัตินี่ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าเข้าข้างในให้ละเอียดแล้ว ก็ไม่ได้ซาบซึ้งธรรมะเท่าไรหรอก ถึงจะรู้บ้างมันก็เป็นของชั่วคราว แล้วกิเลสตัณหามันก็มาปรุงให้วุ่นวายไปต่างๆ อีก

เราต้องพยายามอย่างยิ่ง เพราะว่าอยู่ในวงล้อมของกิเลสตัณหาที่เป็นข้าศึกภายใน มันคอยแต่จะมาปรุงจิตให้เศร้าหมองให้เร่าร้อนไปในลักษณะของความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่ดีว่าเราได้อาศัยธรรมะของพระศาสดาซึ่งมีอยู่ครบถ้วนที่จะคุ้มครองป้องกันไว้ได้ ในขั้นศีลอินทรียสังวรก็ปิดกั้นได้หมด และสำหรับจะตรวจเข้ามาภายในจิตใจทั้งนั้น การประพฤติปฏิบัติตรมธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าละเอียดมาก แม้แต่ขั้นหยาบๆ ที่มีการรักษาศีล คือศีลห้าศีลแปด ศีลสิบอะไรเหล่านี้ก็ยังได้รับประโยชน์มาก ที่ว่าไม่ได้ล่วงหรือไม่ได้ไปทำให้เป็นการขาดศีลหรือทุศีลอะไรเหล่านี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า การไม่ทำล่วงศีลเป็นการระงับภัยเวรได้มากมายหลายอย่าง แล้วจิตนี่เมื่อมีการงดเว้นอะไรได้แล้ว ไม่ทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลส มันจะมีกำลังความบริสุทธิ์ และกำลังของความสงบมากขึ้น

การได้งดเว้นอะไรลงไป มันทำให้จิตไม่ร้อนเร่าเศร้าหมองไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอย่างไร แล้วก็ไม่ได้ไปทำภัยเวรอะไรให้สืบเนื่องไปอีก จิตที่มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลามันมีความสงบความสะอาดได้ตามสมควร แล้วมันจะมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั่วไป ทั้งที่ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่ก็ไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรเลย การที่เรารู้เรื่องขึ้นมาแล้วแผ่เมตตาไปให้นี่เท่ากับว่าแสงสว่างของธรรมวินัยมีขึ้นภายในจิตใจของเราแล้ว แล้วก็ได้เผยแพร่แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี่ให้เป็นเครื่องส่งเสริมกัน ในการที่จะให้มีความสนใจศึกษาพิจารณาตัวเองให้ถูกต้องตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

เป็นธรรมดาว่า เมื่อตัวเองทำอะไรได้ผล ก็ต้องบอกคนอื่นต่อๆ กันไป อย่างยาแก้โรคภัยทางกายก็ยังต้องบอกกัน แล้วธรรมโอสถที่ดับทุกข์ดับกิเลสได้ภายในจิตใจ จะไม่พูดไม่บอกกันอย่างไร มันไม่ใช่ไปเที่ยวอวดอ้าง แต่เป็นการบอกกันมาดูจิตใจที่ถูกกิเลสเผา มันร้อนอย่างนี้ๆ แล้วเรามีสติปัญญาดับกิเลสได้ มันเย็นลงไปอย่างนี้ๆ บอกกันอยู่อย่างนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องอวดอุตตริมนุสสธรรมอะไรเลย แต่ว่าเมื่อได้เห็นผลของการปฏิบัติตามสมควรแล้ว ก็พยายามที่จะศึกษาค้นคว้าโรคกิเลสให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การรู้แล้วดับได้ขั้นนี้ก็ยังผิวเผิน จะต้องมองให้ลึกลงไปอีก เพราะอาสวะกิเลสในสันดานมันลึกซึ้งนัก เราจะมานิ่งนอนใจไม่ได้ จะต้องพยายามให้มาก มองแล้วมองอีก สอบสวนเข้าไปภายในจิต ที่มันไหวรับอารมณ์แล้วยังมีความหลงใหลในอารมณ์อยู่

ทีนี้ที่หลงตามอารมณ์ข้างนอกๆ มันพอจะละได้ไปแล้วแต่ที่หลงอยู่ข้างในนี่มันยังมี และมันเป็นของละเอียดด้วย ถ้าจะพิจารณากันให้ละเอียดๆ ที่ว่ารู้ๆ นี่ยังหลงอยู่ มันรู้ขั้นธรรมดา ถึงจะปล่อยได้ วางได้ พิจารณารู้ได้ แต่ว่ายังหลงอยู่อีก ยังไม่รู้อีก ยังละไม่ได้อีก ต้องมองลึกเข้าไปอีก พอรู้สึกเข้าไป ถึงจะรู้ว่า อ้อ! อันนี้เองที่ยังไม่รู้ทั่วถึง พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะอยู่ ถึงพร้องเฉพาะอยู่" นี่เป็นคำลึกซึ้ง คำว่ารู้พร้อมเฉพาะอยู่ ถึงพร้อมเฉพาะอยู่ ส่วนธาตุนั้น แล้วเรานี่ยังห่างเหินนัก จะว่ารู้พร้อมเฉพาะอยู่เหมือนกับรู้จิตใจจิต มันก็ไม่ได้พิจารณาสืบต่อให้ละเอียดเข้าไปมันก็ยังไม่ได้ชื่อว่า รู้พร้อมเฉพาะอยู่ ถึงพร้อมเฉพาะอยู่ซึ่งธาตุนั้น ตามอย่างของพระพุทธเจ้า

เราจะพยายามมองความจริงให้รู้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนำมาเปิดเผยสั่งสอนทั่วไป แต่ถ้าเราไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้งไม่มองเข้าไปให้ลึกซึ้งแล้ว คำที่ว่า "ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่จักประพฤติตามซึ่งความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า" คำนี้จะไม่ได้ประโยชย์แก่เรา เพราะเราไม่ได้มองให้ซึ้งถึงความจริง ทีนี้เราจะต้องทำให้ครบถ้วนตามที่ว่า ข้าพเจ้าไหว้อยู่ไม่ใช่ไหว้เฉยๆ ต้องประพฤติตามด้วย ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงเราก็จะต้องรู้เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้ารู้และสอนเอาไว้ แล้วในบทระลึกถึงพระธรรมก็เหมือนกัน ในพระสงฆ์ก็เหมือนกัน เราจะต้องทำต้องประพฤติปฏิบัติด้วย มันพิเศษอย่างนี้

คำแปลทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นมันมีประโยชน์ ถ้าว่าตามออกมาด้วยใจจริงแล้ว มันจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะว่าได้ประพฤติปฏิบัติตามสมควรแล้ว ต้องมีความรู้ของตัวเองออกมาทีเดียว จนกระทั่งว่าจะมอบกายถวายชีวิตได้ ถ้าไม่ได้ระลึกตามด้วยใจจริงแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง แล้วเราก็มาพิจารณารู้ความจริงด้วย แล้วก็ละกิเลสได้ด้วย แล้วที่ว่าข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิต ก็เป็นความจริงขึ้นมาได้ เพราะว่าการพูดเหมือนอย่างบทที่เขาสอนให้พูดอย่างนี้ ถ้าเราไม่รู้ความหมาย เราก็ไม่รู้เรื่อง เรายังไม่ได้พูดความจริงออกมาจากจิตใจเลย ยังเพียงแต่ว่าท่องได้จำได้ตามหลักเกณฑ์เท่านั้น ทีนี้เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติเข้าจริงๆ ถึงรู้สึกตัวได้ว่า จะต้องพูดตามความรู้สึกจริงๆ ความจริงนี้ต้องมาจากการปฏิบัติ ได้ปฏิบัติแล้วนั่นแหละจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ

นี่ก็ถึงเวลาที่จะรวบรวมเอาสติเข้ามากำหนดรู้ลมรู้จิตควบคู่หรือว่าการตั้งกายตรงดำรงสติมั่นก็ต้องเป็นการฝึกอยู่เป็นประจำ เพราะว่าความรู้ที่จะเป็นเครื่องอ่านเข้าข้างใน จะต้องกำหนดรู้อารมณ์เดียวกัน ถ้าไม่กำหนดแล้วจิตนี้มันจะไม่รวมกำลังเมื่อไม่รวมกำลังแล้ว การที่จะพิจารณามันก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องรวมกำลังของสติเข้ามากำหนดรู้ แล้วก็พยายามพิจารณาให้มันซึ้ง ให้มันเห็นจริงเห็นแจ้งอะไรขึ้นมาให้ได้ในชั่วโมงนี้

เพราะว่าการนั่งมันกำหนดได้นานๆ แล้วก็ยังเป็นการอ่านเรื่องผัสสะภายใน หรือการกระทบผัสสะภายนอกก็ตาม สติที่มันคุมอยู่ตลอด มันจะได้รู้ว่า ผัสสะนี่มันแค่เกิดดับ เกิดดับไปอย่างนั้น และจิตก็รู้จิต ติดต่อยู่เรื่อย ถ้ามันเผลอเพลินไปกับอารมณ์ทั้งภายในภายนอก ก็กลับมากำหนดรู้มาพิจารณาแล้วมันจะได้เป็นการละอารมณ์ได้ตามสมควร หรือว่าจะเป้นการพิจารณาปล่อยวางออกไปให้ได้ นี้มันต้องยืนหลักสติยืนหลักความรู้เอาไว้ให้แน่บแน่นทุกๆ ขณะทีเดียว (ภายหลังเล่าหน้า)

เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์อะไรก็ได้ เพราะว่ามันต้องมาย้ำอยู่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของของเรา ให้มันเห็นแจ้งให้มันรู้จริง เพราะฉะนั้นเขาให้แทงตลอดภาพนั่น เขาให้แทงตลอดนิมิตนั่น โดยความเห็นว่ามันไม่ใช่เป็นตัวเราไม่ใช่ของของเรา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางไปได้ ปล่อยวางนิมิต

ทีนี้การเห็นข้างในเห็นด้วยจิตใจ ถ้าเพ่งพิจารณาลงไปจะรู้ได้ทีเดียว ไม่ได้พิจารณาก็เลยไปเฉยๆ เสีย แต่เห็นไปเฉยๆ ก็ยังดีกว่าที่จะไปกลัว ที่มันเฉยๆ นั่นมันไม่เกลียดไม่กลัวไม่รักไม่ชัง หลักสติความรู้มันทรงตัวมั่นคงอยู่ มันไม่ยึดถือเหมือนกัน

ทีนี้ที่ยังไม่รู้ เพ่งดูอีกที บางที ถ้ารู้ด้วยปัญญาจิตมันสลดมันเห็นความจริงแล้วมันสลด มันไม่ใช่ตัวเราของเราจริงๆ ที่มีความสลดสังเวชนี่ก็เป็นปัญหา เกิดธรรมสังเวช เป็นการรู้เห็นด้วยปัญญาขึ้นมา แล้วมันเห็นชัดลงไปอีกที ถ้าว่าเป็นปัญญาญาณที่จะรู้ขึ้นมาเองได้ว่ามันไม่มีเป็นตัวเราของของเราหรือเป็นสัตว์เป็นบุคคล ที่มันว่างเปล่าจากตัวตน ต้องพิจารณาแทงตลอดนิมิต พอว่าแทงตลอดนิมิตทุกประการได้ มันก็รู้ด้วยปัญญา

ทีนี้การเพ่งพิจารณานี่มันก็ต้องอดทนเหมือนกัน ต้องหัดพิจารณา การมองข้างในมันมีประโยชน์ ถ้ามองจริงๆ มันก็เห็นได้ เห็นแล้วก็ต้องเพ่งพิจารณาอีก การเห็นโครงกระดูกนี่มันก็เป็นนิมิต บางทีอาจจะเป็นความคุ้นเคย พอน้อมจิตไปก็อาจะเห็นได้ ทีนี้การเห็นไปเฉยๆ มันก็ไม่ได้ความรู้ที่เป็นการเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บางทีจิตคุ้นเคยมากๆ นึกถึงก็เห็นได้ แต่ไม่ได้เพ่งพิจารณาให้เห็นแจ้งมันก็อยู่แค่นั้น แล้วจิตมันไม่สลดสังเวช มันไม่เบื่อหน่าย มันก็ยังไม่เกิดปัญญาอะไรขึ้นมา

เราต้องหมั่นเพ่งพิจารณาภายในภายไปอีก แม้จะไม่เห็นเป็นโครงกระดูกอย่างนั้น ก็พิจารณาเนื้อหนังที่เห็นๆ อยู่นี่พิจารณาให้เห็นลงไปว่ามันเป็นสักแต่ว่าธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ คุมกันอยู่ ก็พิจารณาทั้งที่มันเป็นๆ อยู่นี่ก็ได้

โครงกระดูกที่ปรากฏนั่นมันขั้นหนึ่ง เป็นนิมิตของการทำจิตให้สงบได้ขั้นหนึ่ง ส่วนที่เนื้อหนังยังหุ้มอยู่นี่ มันสะดวกที่ว่าปลงสังขารมันลงไปได้ ไม่ต้องไปปลงผีที่ป่าช้า ปลงอยู่นี่ปลงอยู่ในตัวนี่ ที่มันกำลังกินได้ กำลังถ่ายได้ เต็มไปด้วยปฏิกูลนี่ ยืนเดินนั่งนอนก็ปลงป่าช้าผีเดินได้นี่ หมั่นปลง มันมีสิ่งให้ปลงอยู่ในนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน ก็ดูซิว่ามันเสื่อมไหม รูปใหญ่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ต้องคิดมันก็รู้ได้ แต่ถ้าไม่ได้มารวมรู้ดูจิตให้สงบแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด จิตสงบแล้วปัญญาจึงเกิด พิจารณาได้ แล้วก็รู้เห็นภายในกาย เป็นการเห็นด้วยใจภายใน ไม่ใช่เอาตาไปเห็น

ทีนี้ถ้าเห็นชนิดที่ใช้ตาเพ่ง เหมือนเขาไปดูศพที่ป่าช้าเราก็เพ่งดูเนื้อหนังร่างกายที่มันเป็นของปฏิกูลเป็นธาตุ เอาตานอกดูแล้วก็เอาตาในรู้ พิจารณาที่ตาในโดยอาศัยตานอกเหมือนอย่างที่ไปดูศพที่ป่าช้า เพราะว่าตานอกนี่มันอยากจะดู เพราะดูคนที่มีลมหายใจอยู่มันดูมามากแล้วก็อยากจะไปดูคนที่ไม่มีลมหายใจไปเน่าที่ป่าช้าโน่น มันก็ต้องเอาตานี่ไปดู แล้วเอาใจไปปลง มันมีประโยชน์

ซากศพที่เหม็นเน่าไม่มีใครเข้าใกล้แต่ว่าเป็นดอกไม้ของพระพระท่านถึงชอบไปป่าช้าไปดูเดี๋ยวนี้เขานิมนต์ไปบังสุกุล แต่ว่าพระกัมมัฏฐานท่านไปชมดอกไม้ที่ป่าช้า เราก็เอาอย่างบ้างก็ได้แต่ถ้า ไม่มีป่าช้าจะปลงก็มาปลงที่ป่าช้าเดินได้ทุกวันทุกเวลานี่ต้องอาบน้ำ ต้องทานข้าว ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องล้างหน้าล้างตา อะไรปฏิกูลทั้งหมด หมั่นปลงนะ แล้วจะได้ประโยชน์

เราเคยเพ่งมองโดยเอาตามองหารูปที่ตัณหามันต้องการจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ จะกินอย่างนั้นจะกินให้มันอร่อยไปเสียหมด ก็เลยไม่ได้เห็นซากศพป่าช้าเดินได้ภายในตัวเอง มันก็หลงไปชมแต่ข้างนอก ตาก็ชอบเที่ยวดู หูก็ชอบเที่ยวฟังแต่เรื่องข้างนอกเรื่องหลอกๆ ลวงๆ อะไรเสียหมด มันก็เลยไม่รู้ความจริงภายในตัวเอง มันทุกข์อยู่ในตัวทุกอิริยาบถทุกข์หนักแต่ว่า เห็นว่าเป็นสุขมันก็เพลินไป

ถ้าว่าทุกข์มันเจ็บมันปวดที่นั่นที่นี่ ต้องไปโรงพยาบาลถึงจะรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่นี่มันเกิดๆ ดับๆ ทุกข์อยู่ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก ทุกข์อย่างนี้ไม่มีใครรู้เห็นว่าเป็นสุขสบายมันทุกข์ทั้งนั้นทุกข์ไปตามธรรมชาติ

ทีนี้เพราะหลงว่าทุกข์เป็นสุขนี่เอง ตัณหาก็เลยมาปรุงจิตให้ดิ้นรนอยู่ พอว่าทุกข์อะไรจัดๆ ขึ้นมาตัณหามันก้ปรุงให้ดิ้นรนแก้ไข ทีนี้เราจะละตัณหาก็เอาตรงทุกข์ ดูตัณหามันดิ้นรน พิจารณาขณะมีทุกข์น่ะดีจะได้รู้จักตัณหา ว่า อ้อ ! อย่างนี้เอง จะให้แก้ไขให้ได้ เราจะต้องอดทนมีขันติเพื่อละตัณหานี่เอง

เรานั่งดูนานๆ จะดูทุกข์ให้เห็นจริงๆ เหมือนกับที่แปลกอยู่ในทำวัตรเช้า ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ หรือว่าจะทำไฉนกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้มันจะเป็นที่รู้เห็นอยู่เป็นประจำ จะได้ไม่ลงจะเอาความสุข นี่ตัณหามันยังปรุงจิตต้องการความสุขและพอทุกข์เข้าสักหน่อยมันก็กระวนกระวาย ต้องอดทน ทนดูทุกข์น่ะดี

ทุกข์ของกายที่เจ็บปวดขึ้นมาอย่างหนึ่ง และทุกข์ของกิเลสที่เผาจิตอย่างหนึ่งหรือว่า ตัณหาเป็นเครื่องปรุงให้จิตดิ้นรนนี่ทุกข์ทางจิต กายมันก็ทุกข์ไปในเรื่องของกาย ทีนี้ตัณหานี่มาปรุงจิตให้ทุกข์อีกให้ดิ้นรนกระวนกระวายอะไรขึ้นมา ทุกข์สองอย่าง ทุกข์ทั้งกายและทุกข์ทั้งใจ แล้วทีนี้เราก็ดับทุกข์ทางใจ ดับตัณหา

ถ้าว่าทุกข์กายนี่ก็ต้องใช้ยามารักษาหรือกินข้าวกินน้ำก็เป็นการรักษากายไปตามธรรมดา ทีนี้จิตนี่ที่มีตัณหา ต้องละตัณหาโรคทางกายเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนโรคทางจิตอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าทั้งโรคทางกายทั้งโรคทางจิตมันประดับขึ้นมาเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ ต้องพยายามศึกษาพิจารณาทุกข์ให้มากๆ จะได้ละตัณหาได้

ที่ไปทำงานเหน็ดเหนื่อยทำไมทำได้ ทีนั่นหนึ่งชั่วโมงมันแย่เจ็บที่นั่นปวดที่นี่ ถ้าไม่เจ็บทางกายก็ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งซ่านก็ง่วงนอนเสียแล้ว การนั่งหนึ่งชั่วโมงนี่มันได้ดูหลายๆ อย่างดีกว่าที่เขาไปดูหนัง ลิเก ละคร มันเปลี่ยนชุดให้ดูให้รู้อยู่จะดูอะไรก็ได้ จะดูรูปก็ได้ จะดูรูปก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ สัญญา สังขารอะไรในจิตใจนี่มันเป็นอย่างไรหรือว่าดูของจริงในชั่วโมงนี้ดูของจริงได้หลายๆ อย่างแล้วที่ไหนดูทุกข์จัดๆ ทุกข์ทุกข์ไปทดลองกับทุกข์ แล้วก็อดทนต่อสู้กับทุกข์ฝึกบทเรียนกับทุกข์ซ้อมกำลังไว้กับทุกข์นี่ มันจะได้ไม่กลัวความเจ็บความตายอะไรที่จะมีขึ้นมาหรือว่ากิเลสตัณหาอะไรมันจะมาปรุง จะได้เพ่งดับมัน เพ่งดับทุกข์ทางจิต ทุกข์ทางกายทุกข์ไป แต่จะเพ่งดับตัณหา

ถ้าไม่มีทุกข์มาให้รู้แล้ว ก็คงจะไม่มีใครสนใจธรรมะ แต่เพราะกิเลสเผาจิตใจหนักเข้าๆ ทุกข์มากถึงมาสนใจธรรมะเป็นเครื่องดับทุกข์ ถ้าสบายๆ แล้วไม่มีใครต้องการธรรมะ พอทุกข์กายทุกข์ใจขึ้นมาถึงจะต้องการธรรมะ ทุกข์นี้ทำให้คนฉลาดสุขนั่นแหละทำให้คนโง่ แล้วก็ต้องพยายามให้ยิ่งให้ดีเรื่องทุกข์นี่เป็นของสำคัญโดยเฉพาะทุกข์ที่เกิดจากการกระทบผัสสะแล้วเดือดเนื้อร้อนใจ เช่น ตาเห็นรูป พอใจ ไม่พอใจ หูฟังเสียงพอใจ ไม่พอใจนี่แหละทุกข์

ทีนี้ทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์ฟรีอยู่ทุกวันแต่ไม่มีใครรู้ ตาก็เที่ยวอยากดู หูก็เที่ยวอยากฟัง แล้วก็ทุกข์ฟรีอยู่ใจจิตในใจเรื่อย แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองหลง หลงยึดถือ แล้วก็แจกเชื้อโรคกันไปอีก ชวนกันดูนี่สวย นั่นไม่สวยไม่ชอบ มาชักชวนกันไปแบบนี้อีกด้วย

พวกบ้าพวกหลอก ไม่ได้หลงไม่ได้บ้าไปคนเดียวเที่ยวชวนคนอื่น เหยื่อของมารจึงขายดิบขายดี เครื่ออุปโภคบริโภคถ้าไม่มีพวกบ้าพวกหลงเหล่านี้เสียแล้วไม่มีใครขาย อยู่แบบพระไม่มีการซื้อ เพราะไม่จำเป็นอะไร ชุดของนักบวชเป็นแบบประหยัด ผ้าสมัยใหม่นี่พวกนักบวชไม่มีใครไปซื้อ เพราะว่าโกนผมแล้วนุ่งขาว นุ่งเหลือง นุ่งดำอะไรก็สุดแท้ พอโกนผมแล้วมันก็หมดเรื่องมันเข้าพวกโน้นไม่ได้ การโกนผมนี่มันตัดสังคมกับคนหลงได้ดีเหมือนกัน โกนผมนี่แล้วก็แต่งเครื่องแบบ ขาวบ้างหรือดำไม่ต้องการหลายสี ประหยัดทั้งเครื่องนุ่งห่มแล้วประหยัดในเรื่องอาหารด้วย แล้วก็ประหยัดอะไรอีกหลายๆ อย่าง



.................................................

คัดลอกมาจาก ::
ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/dhamma/
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง