Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 วันอาสาฬหบูชา ธรรมยาตราคุ้มครองโลกฯ (พระมหาบุญไทย ปุญญมโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 12:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

วันอาสาฬหบูชา ธรรมยาตราคุ้มครองโลก
และวันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ


รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ชาวพุทธส่วนมากต่างก็ทราบกันดีว่า
วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ของทุกปีเป็นวันอาสาฬหบูชา
และวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เป็นวันเข้าพรรษา

ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ นี้ตรงกับวันที่ ๑๗-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ในช่วงวันที่ ๑๓-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ชาวพุทธจึงได้จัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา
อาสาฬหบูชาธรรมยาตราคุ้มครองโลก

ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ ได้กำหนดจัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา
อาสาฬหบูชาธรรมยาตราคุ้มครองโลกที่พุทธมณฑลและวัดมหาธาตุ
โดยมีกิจกรรมมากมายเช่นการหล่อเทียนพรรษา
นิทรรศการพุทธกิจ ๔๕ พรรษา เวียนเทียน ฉายภาพยนตร์พุทธประวัติ
นั่งสมาธิ เทศน์มหาชาติ อภิปรายธรรม ฯลฯ

พุทธศาสนิกท่านใดจะไปร่วมงานขอเชิญได้ทั้งที่พุทธมณฑลและวัดมหาธาตุ
นอกจากนั้นวัดต่างๆทั่วประเทศ
ก็ได้จัดงานในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาเข้าพรรษาทุกวัด ทั่วราชอาณาจักร

• ประวัติความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชา

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
นับเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา
หรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า
มฤคทายวัน ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย

ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา
ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า
เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม
นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา

ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม
หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร

กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม
เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ
กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า
รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย
นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา
เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธีกรรมแก่ตนเต็มที่
ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียน ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช
หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอกพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ
เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง

พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วย
แต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาร
ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น
จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ
โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช
บำเพ็ญตนนานถึง ๖ ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้

ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง
เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่าแท้จริงมาสู่ชีวิต
อันเรียกว่า อริยสัจสี่ประการ ในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพุทธศก ๔๔ ปี
ที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

จากนั้นทรงงานประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว
คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็ว
และสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง
จึงมุ่งไปพบนักบวชห้ารูป หรือ เบญจวัคคีย์
และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน ๘

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 12:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

• สาระสำคัญของปฐมเทศนา

ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า
ทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ

๑. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง

เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ
ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้
มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ

๑.๒ การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง
รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข
หรือ กามสุขัลลิกานุโยค

๑.๒ การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย
เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย
แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้
ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ
เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน


๒.อริยสัจ ๔

แปลว่าความจริงอันประเสริฐของอริยะ
ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

๒.๑ ทุกข์

ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์
บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร
ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง
ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง
มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด

๒.๒ สมุทัย

ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา
ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหา
หรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ

๒.๓. นิโรธ

ได้แก่ ความดับทุกข์
เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต
ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

๒.๔. มรรค

ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา
อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว
ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม
เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ
บรรลุเป็นโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวก
รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 12:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คำว่า “อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา)
ประกอบด้วยคำสองคำ คือ
อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับ บูชา (การบูชา)
เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘
หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘
หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘
หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก
คือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน
จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและได้บวชเป็นพระภิกษุ
หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ
การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ
จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา
บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์
(คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป
คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน
ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์
ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์
ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา

กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า
ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลก
และชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด
เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา
หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใดวันเข้าพรรษา


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 1:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่ออนุญาตให้ปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว
ในยุคแรกยังไม่มีการอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา
แต่ทรงอนุญาตในยุคหลังดังที่ปรากฏใน
วัสสูปนายิกขันธกะวินัยปิฎก มหาวรรค ความว่า

“สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติการจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย
พวกภิกษุเที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
จึงได้เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์
อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า
ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม
ยังพัก ยังอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน

อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรังบนยอดไม้
และพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน
ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้
เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน
เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด
เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ
ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดสงสัยกันว่า
วันเข้าพรรษามีกี่วันหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
วันเข้าพรรษานี้มีสองวันคือ ปุริมิกา วันเข้าพรรษาต้น
และ ปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง
เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วง
ไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น
เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง
พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามี ๒ วันเท่านี้
(๔/๒๐๕/๒๒๓)

ภิกษุต้องอยู่จำพรรษาให้ครบสามเดือนดังพุทธพจน์ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด ๓ เดือนต้น
หรือ ๓ เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

(วิ.มหา ๔/๒๐๗/๒๒๕)

ภิกษุไม่จำพรรษาได้หรือไม่ มีพระบัญญัติตอบเรื่องนี้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ จะไม่จำพรรษาไม่ได้
รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ”

(๔/๒๐๘/๒๒๕)

หากมีเหตุเหนือวิสัย ภิกษุไม่สามารถจำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ได้
หรือหากทางบ้านเมืองเลื่อนกาลฝนออกไป
ก็ให้ถือตามทางบ้านเมืองดังที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นคือ

สมัยหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช
มีพระราชประสงค์ จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป
จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า
ถ้ากระไรขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระองค์จึงรับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน
(๔/๒๐๙/๒๒๕)


แสดงว่าพระพุทธศาสนามิได้ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง
หากอยู่ในประเทศใดก็ให้อนุวัตรตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 1:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สังคมไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
ที่เมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน
จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า เป็นการรักษาศีล ๕


๑. จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)
และองค์กรภาคีได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖
พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น
ถึงจากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ ๑๕
เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐-๕๐ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”
ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้น

๒. จากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบลโพลล์ ปี ๒๕๔๙
พบว่าประชาชนร้อยละ ๘๘.๖ เห็นด้วยกับ
การกำหนดให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ๑ วันต่อปี
และเห็นว่า “วันเข้าพรรษา” ควรเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ร้อยละ ๖๑.๖

๓. การประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี)
จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น
วันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่น่าอนุโมทนา
หากพุทธศาสนิกชนได้นำไปปฏิบัติก็จะเกิดผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง
เพราะการดื่มสุราเป็นที่ตั้งของความประมาท

และ “ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ปมาโท มจฺจุโน ปทํ”
ส่วน “ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย อปฺปมาโท อมตํ ปทํ”
(ขุ.ธ. ๒๕/๑๘)

น่าสังเกตว่าในศีลทั้งห้าข้อนั้นดูเหมือนการดื่มสุรา
จะเป็นศีลข้อเดียวที่เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง
ถ้าคนมีสติก็จะไม่ประมาท แต่เพราะสุราดื่มแล้วทำให้ทำให้มึนเมา
คนเมาย่อมขาดสติ ถ้างดดื่มสุราก็จะเป็นการฝึกสติไปในตัว
และจะทำประโยชน์ได้ดังเช่นพระพุทธวจนะว่า

“มนุชสฺสา สทา สตีมโต เป็นคนควรมีสติทุกเมื่อ”

หากมีพลังใจที่มั่นคงจะงดเหล้าตลอดพรรษา
น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพชีวิตจะได้ยืนยาวอยู่ดูโลกนาน ๆ

สาธุ สาธุ สาธุ

ที่มา : พระมหาบุญไทย ปุญญมโน รวบรวมและเรียบเรียง
(๑๔/๐๗/๕๑) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
จากเว็บไซต์ www.mbu.ac.th
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ค.2012, 11:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



วันเข้าพรรษา วันงดดื่มสุราแห่งชาติ 11.jpg


ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลได้ประกาศกำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” ของทุกปี เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยให้เริ่มต้นใช้บังคับในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ (วันเข้าพรรษาของปีนั้น)

ปีถัดมา พ.ศ. ๒๕๕๒ รัฐบาลยังได้ประกาศกำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เริ่มต้นใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป


ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยร่วมกันตั้งสัจจอธิษฐานรักษาศีล ๕ งด-ลด-ละ-เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันเข้าพรรษา และในช่วงตลอด ๓ เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา อันจะเป็นพื้นฐานในการที่จะเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดไป เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิเช่น
(๑) พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
(๒) พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓


เทียน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑

๏ มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๗ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
(๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
.
.
(๘) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา

๏ มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
(๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา

มาตรา ๓๙ ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๏ มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เทียน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๕๘


อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ นายกรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ข้อ ๒ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ

ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :
(ก) ประกาศฯ ฉบับนี้ กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันออกพรรษา เพิ่มเติมจากเดิมที่ประกาศไว้เพียงวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

(ข) ประกาศฯ ฉบับนี้ ได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒, ตอนพิเศษ ๓๙ ง, หน้า ๑๐, วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป


Image

วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา
(๑) วันมาฆบูชา
(๒) วันวิสาขบูชา
(๓) วันอาสาฬหบูชา
(๔) วันเข้าพรรษา
(๕) วันออกพรรษา


จากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๗, มาตรา ๒๘, มาตรา ๓๙ โดยพิจารณาประกอบกับ “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘” สรุปสาระสำคัญเรื่อง...วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ดังนี้

ดอกไม้ >>> วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา (๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา) เป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีกทั่วราชอาณาจักร ตลอด ๒๔ ชั่วโมง (เริ่มนับตั้งแต่หลังเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันก่อนหน้า ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ห้ามนั้น) โดยยกเว้นให้ขายได้เพียง ๒ กรณีเท่านั้นคือ

(๑) การขายเฉพาะในร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ
(๒) การขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา

หากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็น ๒ ใน ๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันที่ ๓๐-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ฉะนั้น จึงเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีกทั่วราชอาณาจักร ทั้งสองวัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง กล่าวคือ เริ่มนับตั้งแต่หลังเวลา ๒๔.๐๐ น. ของคืนวันพุธที่ ๒๙ กรกฎาคม ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของคืนวันศุกร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนร่วมกันรักษาศีล ๕ งด-ลด-ละ-เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในวันพระใหญ่ที่เป็นวันสำคัญพิเศษของชาวพุทธ ซึ่ง ๑ ปี มีเพียง ๕ วันเท่านั้น และหากจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในช่วงตลอด ๓ เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา หรือทุกวันของชีวิต ก็ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน เพราะล้วนเป็นคุณและเจริญกุศลให้แก่สุขภาพ ชีวิต และสังคมของเราค่ะ สาธุๆๆ นะคะทุกท่าน

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โทร. ๐๒-๕๙๐-๓๐๓๒-๓๕ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

http://complain.thaiantialcohol.com/


Image

พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
http://udn.onab.go.th/attachments/138_prb-al2551.pdf

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/039/10.PDF

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/096/77.PDF

พระอาทิตย์ พระอาทิตย์
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 19 ก.ค.2012, 10:57 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ค.2012, 4:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง