Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 อานิสงส์การพิมพ์หนังสือพระปาฏิโมกข์ถวาย (หลวงปู่ชอบ ฐานสโม) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2006, 10:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

อานิสงส์การพิมพ์หนังสือพระปาฏิโมกข์ถวาย
โดย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย


เรื่องอานิสงส์การพิมพ์หนังสือพระปาฏิโมกข์นี้ เป็นเรื่องที่คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต เขียนเองโดยใช้ชื่อตอนว่า

"การสั่งพิมพ์หนังสือภิกขุปาฏิโมกข์ บาลี - แปล" มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

วันหนึ่ง...ราวๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 ที่บ้านล้าดพร้าวได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากท่านเฉลียว แห่งวัดป่าโคกมน ( หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ) สั่งให้ผู้เขียนขึ้นไปที่วัดโดยด่วน ด้วยว่าหลวงปู่ชอบ ท่านอยากให้ขึ้นไปพบ ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนรับโทรศัพท์เอง ประกอบกับธุระยุ่งๆอยู่ เลยลืมไป และต่อมาอีก 2 - 3 วัน ท่านอาจารย์เฉลียวโทรฯมาตามอีก คราวนี้ผู้เขียนได้รับเอง ท่านบอกว่าหลวงปู่อยากพบจริงๆ ขอให้รีบขึ้นไป

ขณะนั้นยอมรับว่า เกิดความกังขาว่าหลวงปู่ท่านอยากพบเราจริงๆหรือ เพราะตามปกติท่านก็ไม่เคยเรียกหา หรือว่าทางวัดต้องการจะให้เราทำอะไร แล้วมาอ้างชื่อหลวงปู่ ท่านอาจารย์เฉลียวก็คาดคั้นถามอีก ตาผู้เขียนมองไปที่ปฏิทินเหลือเวลาอีกเพียง 2 - 3 วัน ก็จะถึงงานฉลองวันเกิดของหลวงปู่ จึงเรียนไปว่า ขอให้เรียนหลวงปู่ว่าจะขึ้นไปกราบท่านราววันที่ 12 กุมภาพันธ์ นี้ ใจหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า คงจะไม่ใช่เรื่องแอบอ้างหลวงปู่ เพราะท่านเฉลียวยังย้ำว่า


" มาแน่นะ ถ้างั้นจะไปเรียนหลวงปู่เดี๋ยวนี้แหละว่า คุณหญิงรับปากว่าจะมาแน่นอนในวันที่ 12 นี้ "

พวกเราเตรียมตัวออกเดินทางตอนเย็นของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถึงวัดป่าโคกมนตอนเช้ามืดของวันที่ 12 พอมาถึงก็พบว่า บริเวณวัดคราคร่ำไปด้วยฝูงชนจำนวนมากมายที่มาร่วมงานวันเกิดหลวงปู่ ตามโรงทานต่างๆ กำลังตระเตรียมทำอาหาร พวกเราก็เตรียมจัดทำอาหารที่นำมาจากกรุงเทพฯ สำหรับถวายพระสงฆ์ เวลาที่มาถึงวัดตอนนั้นประมาณตี 4 ทราบว่าที่กุฏิหลวงปู่ยังไม่เปิด ผู้เขียนเป็นอันแน่ใจว่าท่านอยากพบจริงๆ เมื่อเดินสวนกับชาวบ้านที่จำผู้เขียนได้ ร้องบอกว่าหลวงปู่บ่นอยากพบคุณหญิง พระที่นั่นก็ยืนยันเช่นกัน พวกเราขอเข้าข้างในเพื่อจะกราบท่านตอนใกล้รุ่ง เวลานั้นหลวงปู่เพิ่งหายป่วย และเพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลกลับมายังวัด ท่านพักอยู่ในกุฏิที่เป็นห้องกระจกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปรบกวนท่านมากเกินไป เมื่อผู้เขียนคลานเข้าไปกราบท่าน ท่านมองมายังผู้เขียนแล้วยิ้มเล็กน้อย ผู้เขียนกราบเรียนถามท่านว่า

" หนูมาแล้วเจ้าค่ะ หลวงปู่ให้หนูมาหาหลวงปู่ มีเรื่องอะไรให้หนูรับใช้หรือเจ้าคะ "

ท่านไม่ตอบ ปกติหลวงปู่เป็นอัมพาตพูดค่อนข้างลำบาก จึงเรียนถามซ้ำอีก

" หลวงปู่จะให้หนูช่วยหาเงินสร้างศาลาให้เสร็จใช่ไหมเจ้าคะ "

เพราะขณะนั้นศาลาใหญ่วัดป่าโคกมนยังสร้างไม่เสร็จ ท่านนิ่งและสั่นศีรษะเล็กน้อย แปลว่าไม่ใช่เรื่องนี้ พยายามลองเรียนถามดูอีกหลายอย่าง

" หลวงปู่จะให้ทำอะไร หลวงปู่จะให้พิมพ์หนังสือประวัติเพิ่มหรือเจ้าคะ "

ท่านนิ่ง สุดท้ายท่านพยายามเปล่งเสียงออกมาได้ โดยมีพระที่อยู่ใกล้ๆช่วยอธิบาย ในที่สุดถึงทราบว่าท่านสั่งให้พิมพ์หนังสือภิกขุปาฏิโมกข์ ก็เอะใจถามว่า

" ภิกขุปาฏิโมกข์นี่เป็นพระวินัยของพระที่พระภิกษุจะต้องสวดเวลาลงปาฏิโมกข์ทุกวันพระใช่ไหมเจ้าคะ "

ท่านรับว่าใช่ ผู้เขียนก็รับปากว่าจะจัดทำมาถวายท่าน แล้วถามต่อไปว่า

" หลวงปู่จะให้หนูพิมพ์สักเท่าไรคะ "

ในใจกะว่าท่านคงจะให้พิมพ์ราว 3 - 5 พันเล่ม ท่านตอบว่า

" แปดหมื่น "

ผู้เขียนได้ยินก็ตกใจกับตัวเลขจึงเรียนซักถามต่อ ปรากฏว่าท่านต้องการให้พิมพ์ถึงแปดหมื่นสี่พันเล่ม ผู้เขียนตอนนั้นเพิ่งหายเหนื่อยจากการจัดงานทอดผ้าป่ามาหยกๆ ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม เป็นการชวนพวกเพื่อนๆไปทำบุญทอดผ้าป่าวัดต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งวัดใหญ่คือภูทอกด้วย

แต่เดิมเข้าใจว่าท่านต้องการให้พิมพ์แจกในงานวันเกิดของท่านในปีหน้า ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ต้องการให้เร็วกว่านั้น ยังไม่ทันคิดอะไร กราบลาท่านกลับกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นไม่นานผู้เขียนทราบข่าวว่าหลวงปู่ไม่สบาย กำลังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ผู้เขียนจึงรุดไปกราบเยี่ยมท่าน เวลานั้นท่านไม่สบายมาก พูดไม่ได้ ฉันไม่ค่อยได้ การสื่อความเข้าใจกับท่านจะต้องใช้วิธีพูดนำ คือสบตาท่าน พยายามให้รู้ความหมายว่าท่านต้องการอะไร และพูดนำว่าใช่หรือไม่ใช่ ผู้เขียนอยากให้ท่านสบายใจในเรื่องที่รับปากท่านไว้ จึงเรียนท่านว่า

" ที่หลวงปู่อยากให้พิมพ์ภิกขุปาฏิโมกข์ให้เสร็จเร็วก่อนวันเกิดนั้น หลวงปู่ต้องการประมาณวันเข้าพรรษา จะได้แจกพระวันนั้น ใช่ไหมเจ้าคะ "

ท่านบอกว่า " ให้เร็วกว่า " เรียนถามต่อว่า

" ถ้าอย่างนั้นคงเป็นวันวิสาขะบูชาใช่ไหมเจ้าคะ "

สุดท้ายจึงได้ทราบว่า หลวงปู่ต้องการให้เสร็จทันถวายเป็นพระราชกุศลในวันฉัตรมงคล คือวันที่ 5 พฤษภาคม

ท่านบอก " เวลาเฮาเหลือน้อย ต้องรีบทำ "

ระยะนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองกำลังผันผวน วงการสงฆ์มีพระบางรูปเป็นข่าวอื้อฉาว ด้วยเรื่องละเมิดทำผิดวินัยสงฆ์ ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ คงจะจำกันได้ นี่หากพระเหล่านั้นอ่านและปฏิบัติตามพระวินัยปาฏิโมกข์ของพระพุทธเจ้า ก็คงไม่มีข่าวเหลวไหลดังกล่าวเกิดขึ้น มีอยู่สองประการคือ ประการแรกทำไปเพราะไม่รู้ อีกประการ ทำไปทั้งๆที่รู้ อย่างประเด็นที่ว่า พระไม่ควรอยู่กับผู้หญิง แม้จะมีผู้หญิงอยู่จำนวนเป็นร้อย หากไม่มีบุรุษหรือเพศชายอยู่ด้วยก็ไม่ได้ ถึงจะมีเด็กชายน้อยก็ยังไม่ได้ ต้องเป็นเด็กชายที่รู้เดียงสาอยู่ด้วย เข้าใจว่าหลวงปู่คงจะต้องการให้ความนี้เป็นที่แพร่หลายไป เพราะสังเกตจากจำนวนหนังสือภิกขุปาฏิโมกข์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ขึ้นมานั้น ในระยะเวลา 50 ปี รวมแล้วมีเพียงแสนกว่าเล่ม แต่นี่หลวงปู่ให้พิมพ์คราวเดียวถึงแปดหมื่นสี่พันเล่ม น่าจะมีความหมาย!

แต่แรกคิดว่าหลวงปู่คงจะต้องการให้พระวินัยแพร่หลายไปทั่วประเทศ มาฉุกใจคิดอีกแง่หนึ่ง ที่ท่านเร่งว่าให้พิมพ์เสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะให้ทันการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันฉัตรมงคล ระยะนั้นสถานการณ์บ้านเมืองน่าเป็นห่วง มีการเรียกร้อง อดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภา มีข่าวออกมาว่าจะมีการปลุกระดมจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงถึงเลือดตกยางออก สูญเสียยิ่งกว่าเหตุการณ์เดือน พฤษภาคม 2535 เสียอีก ท่านผู้ใหญ่หลายท่านมาเตือน ขอให้ผู้เขียนอาราธนากราบเรียนครูบาอาจารย์ให้ท่านช่วยแผ่เมตตาให้บ้านเมืองด้วย

หลวงปู่ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า " ท่านแผ่เมตตาเข้าไปถวายพระราชจักรีวงศ์ในวังเป็นประจำ "

เมื่อมาฉุกคิดประเด็นนี้ได้ จึงรีบเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งท่านเป็นองค์ประธานมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อทูลขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือนี้จำนวน 84,000 เล่ม ตามคำขอของหลวงปู่ เพื่อรีบถวายพระราชกุศลโดยเร็ว ท่านก็ทรงพระเมตตาและประธานคำ " ธรรมทานานุโมทนา " ให้ด้วย ตรัสว่าท่านอนุญาต แต่ขอให้ทำหนังสือขอขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย จะได้เป็นการอนุญาตอย่างเป็นทางการ ผู้เขียนกราบทูลท่านไปว่า เราจะพิมพ์ให้กระดาษดีขึ้น โดยเฉพาะปกจะใช้กระดาษดีเป็นพิเศษ ไม่ขาดง่ายเป็นเล่มเล็กขนาดเท่าของมหามกุฏฯ เพื่อว่าพระท่านจะสามารถนำใส่ย่ามได้ และหยิบออกมาอ่านทบทวนพระวินัยดูได้เป็นประจำ

น่าแปลก...เป็นเพราะบารมีหลวงปู่โดยแท้ ทั้งๆที่เราเพิ่งเสร็จจากงานบุญกฐินก่อนหน้านั้นเพียงสิบกว่าวันก็ชวนกันกับหมู่เพื่อนทำบุญอีกสามล้านกว่าบาทสำหรับงานผ้าป่าสามัคคี พอเราบอกเพื่อนฝูง 5 - 6 คน ไปบอกต่อๆกันเรื่องงานที่หลวงปู่จะให้จัดพิมพ์หนังสือ เพียงไม่กี่วันก็สามารถหาเงินได้ครบล้านกว่าบาทพอที่จะเป็นค่าพิมพ์หนังสือได้ เพราะทางโรงพิมพ์ช่วยจัดพิมพ์ให้ในราคาพิเศษ ใช้กระดาษอย่างดีหน้าปกทองแถมหุ้มพลาสติกด้วย ประมาณปลายเดือนเมษายน หนังสือก็เสร็จเรียบร้อย

เราเตรียมนำหนังสือจำนวนหนึ่งถวายเข้าไปในวัง อีกจำนวนหนึ่งถวายพระสังฆราช และถวายพระผู้ใหญ่ เพื่อจะให้แจกจ่ายไปทั่วประเทศ จำนวนใหญ่เอาขึ้นรถตู้ไปกับพวกเรา จำได้ว่าเป็นวันที่ 23 เมษายน เราเดินทางไปกราบหลวงปู่ เอาหนังสือไปถวาย และตั้งใจว่าจะนำเอารายชื่อพวกเราที่ช่วยกันออกเงินจัดพิมพ์ไปถวายให้หลวงปู่แผ่เมตตา เพราะคิดว่าจะเป็นกุศลอย่างมหาศาลเพียงทำบุญกับท่านก็เป็นบุญอันสูงสุดอยู่แล้ว แต่นี่เป็นการถวายพระราชกุศล ด้วยผลบุญนั้นคงยิ่งมหาศาลขึ้นไปอีก

สมเด็จพระสังฆราชฯ ก็ทรงประทานคำว่า " ธรรมทานานุโมทนา " ซึ่งพิมพ์เป็นหลักฐานไว้ที่ด้านหน้าของหนังสือ

เราเดินทางไปถึงวัดโคกมนในเวลาเกือบมืดแล้ว หลวงปู่เพิ่งจะตื่นจากจำวัด พระที่วัดให้เราไปรอที่ศาล ซึ่งมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ตั้งอยู่ โดยท่านจะนำรถเข็นหลวงปู่ไปพบเราที่นั่น พอเราไปถึงศาลารูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง ภายในนั้นค่อนข้างมืดไม่ได้เปิดไฟ ชาวบ้านกับพระเอาเสื่อมาปูให้เรานั่ง นึกแปลกใจ ที่ทำไมเอาเสื่อเก่าๆขาดๆมาปูให้เรานั่ง แต่ก็คิดว่าคงจะดีที่สุดที่หามาได้ในตอนนั้น เป็นเสื่อกกเก่าๆ ผืนเล็กๆที่ผ่านการใช้งานมานานจนขาดและมีกลิ่นอับ อย่างไรก็ดีพวกเราก็นั่งบนเสื่อนั้น

สักครู่หลวงปู่ก็เข้ามา พวกเราเข้าไปกราบแทบเท้าท่าน เรียนท่านว่าหนังสือที่หลวงปู่ให้พิมพ์เวลานี้พิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเอาไว้ที่กรุงเทพฯจำนวนหนึ่งเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเตรียมจะถวายสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ขณะนี้ได้นำหนังสือจำนวนหนึ่งมาที่วัดโคกมนเพื่อถวายหลวงปู่ ขอกราบเรียนท่านช่วยแผ่เมตตาให้ผู้ที่บริจาคเงินพิมพ์หนังสือด้วย

ท่านรับฟังนิ่งๆ ผู้เขียนให้รู้สึกแปลกใจที่พระยังไม่เปิดไฟในศาลารูปปั้นนั้น ขณะนั้นอ่านรายชื่อผู้ที่ร่วมทำบุญบริจาคตั้งแต่หมื่นบาทขึ้นไปให้ท่านฟัง จำได้ว่ามันมืดจนเพื่อนคนหนึ่งต้องเอาไฟฉายมาช่วยส่องให้ นึกในใจว่าเหตุใดพระถึงไม่เปิดไฟให้เรา ข้างนอกก็มืดแล้ว ข้างในก็เป็นแสงสลัว หากด้วยห้องเป็นสีขาว แสงสะท้อนจึงพอมองเห็นบ้าง พวกเราค้างอยู่ที่วัดหนึ่งคืน

วันรุ่งเช้าหลวงปู่ไปพักเดินจงกรม ( ด้วยการนั่งรถเข็น ) อยู่ที่ภายในโรงศาลาอีกหลังใกล้ๆเมรุเผาศพ พวกเราตามไปที่นั่น มีโอกาสถวายจังหันแด่ท่านและพระเณรรูปอื่นในวัด จากนั้นก็กราบลาท่านเพื่อเดินทางกลับ ขากลับพวกเราคุยกันมาในรถอันเป็นธรรมดาของการเดินทางไปกราบครูบาอาจารย์ทุกครั้ง ที่เที่ยวกลับก็จะพูดคุยกันถึงเรื่องความเมตตาของท่านที่มีต่อพวกเราเสมอ รวมทั้งสิ่งอัศจรรย์ต่างๆที่พบเห็นกันมา

รถของเราแวะเต็มน้ำมันจนเต็มถังที่แถวบ้านสีดาก่อนถึงโคราช เป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เราแวะซื้อผลไม้ที่ปากช่อง เมื่อซื้อเสร็จแล้วเราก็พูดดังๆขึ้นมาว่า

" ดูซิว่าจากปากช่องเราจะใช้เวลาเท่าไร นี่เวลานี้หกโมงครึ่งนะ "

รถแล่นมาสักครู่ใหญ่ คุณเทิดเกียรติซึ่งนั่งหน้ารถก็ร้องขึ้นว่า " พี่เปี๊ยกดูสิ เกย์น้ำมันไม่เห็นลดลงมาเลย น้ำมันที่เราเติมตั้งแต่บ้านสีดาก่อนถึงโคราช เกย์น้ำมันยังอยู่ที่ตัวเอฟอยู่เลย " ต่างสงสัยว่าเกย์คงจะเสีย แต่พอรถแล่นไปได้อีกหน่อยก็ร้องขึ้นมาอีก

" เอ๊ะ....อ๊ะ เข็มเกย์น้ำมันลงมาหน่อยละ " พวกเราพูดเล่นๆว่า

" อ้าว...ทำไมไม่กลับขึ้นไปอีกหล่ะ " เข็มน้ำมันก็กระดิกกลับไปที่ตัวเอฟอีก

ก็แปลก! รถวิ่งต่อไปอีก มีประเด็นประหลาดอีกย่างเกิดขึ้นในระหว่างทาง อยู่ๆก็พบมังคุดลูกใหญ่เบ้อเรอขนาดเท่าอุ้งมือผุดขึ้นมา ยังไม่เคยพบมังคุดที่ไหนที่มีขนาดใหญ่เท่านี้ เปิดออกดูชักสงสัยว่า ฤาจะเป็นมังคุดปาฏิหาริย์!! ยื่นให้พวกผู้ชาย คือคุณเทิดเกียรติกับคุณประพันธ์ดู สองคนนั้นนึกว่าจะยกให้ เลยช่วยกันทานจนหมด แทนที่จะได้แบ่งกันคนละนิดคนละหน่อย เพราะโดยมากถ้าเราจะมีพวกของปาฏิหาริย์ทำนองนี้ ก็มักจะเอามาแบ่งให้ทุกคนมีส่วนชื่นใจทั่วถึงกัน

วันนั้นน่าแปลก รถวิ่งเข้ากรุงเทพฯอย่างราบเรียบง่ายดายโดยไม่ติดสัญญาณไฟแดงที่ใดเลยแม้แต่แห่งเดียว รถมาถึงลาดพร้าวแค่ทุ่มครึ่ง!!!ทั้งๆที่รถของเราขับประมาณความเร็วเฉลี่ยแค่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ได้เร็วเกินกว่ากำหนดความเร็วของจราจรทางหลวงเลย และขณะนั้นแถวย่านรังสิตยังมีการก่อสร้างทาง ปกติรถจะติดอยู่บ้าง แต่รถของเราไม่ติดเลย ระยะทางจากปากช่องมากรุงเทพฯประมาณ 190 กิโลเมตรเราใช้เวลาเพียงแค่ชั่วโมงเดียวจากปากช่องวิ่งมาถึงบ้านลาดพร้าว ที่น่าแปลกอีกอย่าง คือผู้เขียนกับคุณปราณีซึ่งนั่งมาด้วยกันต่างบ่นว่า

" เอ๊ะ! เมืองสระบุรีหายไปไหน "

ทั้งๆ ที่นั่งมองดูทางมาตลอด แต่เราทั้งคู่ไม่เห็นเมืองสระบุรีเลย อยู่ๆรถก็มาถึงหินกอง แล้วก็มาถึงลาดพร้าว ไม่ทราบว่าเมืองสระบุรีหายไปไหนวันนั้นแต่แรกพวกเราจะเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนจะคืนเจ้าของ แต่ปรากฏว่าน้ำมันยังเต็มถังอยู่เลย ภายหลังเจ้าของรถโทรมาบอกผู้เขียนว่า น้ำมันเหลืออยู่ในรถนั้น เธอสามารถใช้ต่อในกรุงเทพฯได้อีกถึงเจ็ดวัน แสดงว่าน้ำมันที่เราเติมมาจากบ้านสีดานั้นไม่ได้พร่องลงมาเลย

ต่อมาน้องคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปด้วยชื่อคุณศรีเพ็ญ เธอเป็นคนถ่ายรูป ทั้งคุณปภัสธรและคุณศรีเพ็ญส่งก็ข่าวมาว่า รูปที่ถ่ายวันไปกราบหลวงปู่นั้น ดูๆประหลาดพิกล อยากเอามาให้พี่เปี๊ยกดูจัง จากนั้นเธอทั้งสองก็เอารูปมาให้ผู้เขียนดู มันก็ประหลาดจริงๆ รูปนั้นทั้งชุดนับแต่รูปแรกที่ถ่ายในศาลารูปปั้นขี้ผึ้ง ขณะที่พวกเรานั่งอยู่ในห้องมืดๆ ไม่ได้เปิดไฟ กระทั่งจะอ่านหนังสือก็ยังต้องใช้ไฟฉายส่อง แต่ในรูปนั้นกลายเป็นห้องที่เปิดไฟสว่างจ้า ( ห้องที่เราบ่นกันทุกคน ว่าทำไมพระไม่เปิดไฟ ) เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ในรูปก็ดูสว่างเหมือนกับเวลาตอนบ่ายๆ และมีแสงจากดวงไฟบนเพดาน ซึ่งตามจริงเวลานั้นไม่ได้เปิดไฟ แสงนั้นเป็นลำแสงสีฟ้า

อย่างที่ท่านอาจารย์จวนเคยบอกว่าเป็นแสงเทพ หรือแสงพญานาคพุ่งเข้ามาในห้อง ที่น่าแปลกคือ ในภาพนั้นพวกเราได้นั่งบนเสื่อเล็กๆ ขาดๆเก่าๆ แต่เป็นเสื่อที่ยาว ซึ่งอีกรูปหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าพวกเรากำลังนั่งบนเสื่อจันทบูรณ์ใหม่เอี่ยมยาวๆสีแดง ทำนองเดียวกับที่เคยซื้อถวายพระสงฆ์ ปกติเสื่อแบบนี้จะมีความกว้างประมาณ 90 เซนติเมตร. และมีความยาวตามขนาดความกว้างของศาลา โดยทำกุ๊นริมเสื่อเป็นขอบผ้าสีแดงตลอดแนวจึงทำให้คิดว่า คงจะเป็นอานิสงส์แห่งการทำบุญ.....แม้ในโลกความเป็นจริง เรากำลังนั่งบนเสื่อที่เก่าๆขาดๆก็ตามที แต่ในโลกทิพย์เรากลับนั่งอยู่บนเสื่อจันทบูรณ์สีแดง

ผู้เขียนเคยชักชวนกันทำบุญถวายวัดนับครั้งไม่ถ้วนมาแล้ว และมีความแปลกอีกประการหนึ่งคือ ในรูปนั้นปรากฏใครไม่ทราบนั่งซ้อนทับพวกเราอยู่ โดยคงกำลังกราบรูปปั้นหลวงปู่ในศาลา ในท่านั่งกระหย่ง หากเห็นแต่เท้าขนาดใหญ่สามเท้า ซึ่งไม่ใช่ขนาดมนุษย์เรา ซ้อนทับตรงที่คุณสมศรี หลิมตระกูล เธอนั่งอยู่ หลายรูปปรากฏภาพแปลกๆ อย่างเช่นในความเป็นจริงพระจริงๆที่ปรนนิบัติหลวงปู่อยู่สองท่าน แต่ในรูปจะมีพระรางเลือนอีกหลายท่าน คงจะเป็นเทพที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน มาเฝ้าดูหลวงปู่อยู่ ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ทำไมหลวงปู่ท่านจึงอยู่ในบริเวณที่มืดๆได้อย่างสบาย เพราะในขณะที่เราเห็นเป็นที่มืดนั้น แต่สำหรับหลวงปู่กลับเป็นโลกที่สว่างด้วยแสงเทพตลอดเวลา มีรูปหนึ่งปรากฏเป็นร่างเลื่อนทับคุณปภัสธรจางๆ แต่เห็นส่วนหูได้ชัดเจน รูปของหลวงปู่ก็ดูเป็นภาพไม่ชัด ปานประหนึ่งว่าหลวงปู่หายตัวได้ คล้ายกับที่เคยอ่านเรื่องที่ ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ทีปธัมโม ได้เคยเล่าไว้ว่า

" บางทีมองๆไป ไม่เห็นหลวงปู่ คล้ายกับท่านหายตัว พอสักครู่ร่างของหลวงปู่ก็จะค่อยๆกลับมาใหม่ "

อีกรูปหนึ่ง ทุกคนจำได้ว่า ถ่ายขณะที่พวกผู้ชายไปช่วยกันเข็นรถเพื่อให้หลวงปู่จงกรมช้าๆที่ศาลาใกล้เมรุศพ ส่วนผู้เขียนเดินอยู่ห่างๆ เพื่อจะถวายพัดให้ท่าน น้องๆบอกว่า " พี่เปี๊ยกรูปนี้ก็แปลกนะ ที่ศาลไม่ได้จุดไฟ แต่กลับมีแสงไฟที่พระประธาน อีกรูปหนึ่ง ตัวพี่เปี๊ยกลอยไปติดอีกฟากหนึ่งของศาลา ตัวพี่ก็โปร่งแสง เห็นแสงไฟ และขอบคันศาลาก็ยกพื้นข้างหลังชัดเลย " รูปถ่ายชุดนั้นทั้งชุดเป็นรูปที่อัศจรรย์จริงๆเลยมาคิดขึ้นว่า การพิมพ์หนังสือภิกขุปาฏิโมกข์คราวนั้นคงเป็นอานิสงส์มหาศาล เพราะเป็นการช่วยพระศาสนาให้พระภิกษุในพระศาสนาจะได้ประจักษ์ในพระธรรมวินัยนี้ เป็นการฟอกพระศาสนาให้มีความขาวสะอาดขึ้น พวกเราเมื่อได้อ่านคำแปล ก็พอจะเข้าใจว่า พระดีหรือไม่ดีนั้นเป็นอย่างไร พระองค์ไหนที่ประพฤติไม่ตรงตามในหนังสือพระปาฏิโมกข์ก็จะรู้กันว่า พระท่านนี้ไม่ใช่พระภิกษุที่เราควรเคารพนับถือ เทพทั้งหลายคงมาร่วมอนุโมทนากับเราด้วย จึงแสดงให้เราเห็นเป็นแสงสว่าง ดังปรากฏในรูปที่เราถ่ายได้ และผู้ที่ช่วยกันออกเงินทำบุญ ต่างก็ชื่นอกชื่นใจไปตามๆกัน เพราะได้ประจักษ์กับสายตาทุกคน คุณศรีเพ็ญซึ่งเป็นผู้ถ่ายรูปเหล่านี้ เธอบอกว่า ขณะกำลังจะถ่ายรูป เธอได้ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ภาพเหล่านั้นจึงมีผู้ที่อยู่ต่างภพ ต่างภูมิกับเรา ซ้อนให้เห็นในภาพ บ้างก็กำลังกราบหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ บ้างก็มาอนุโมทนาในกุศลผลบุญอันบังเกิดขึ้นในโอกาสนี้.


ที่มาโดย
ผู้จัดพิมพ์บทความ :
http://www.baanruenthai.com/
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 29 ม.ค. 2012, 4:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง