Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แม่ชีประทิน แม่ทางธรรมแห่ง “ธรรมจาริณี” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ค.2010, 11:51 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

แม่ชีประทิน
แม่ทางธรรมแห่ง “ธรรมจาริณี”



บทบาทของแม่ชี นักบวชในพระพุทธศาสนา มักจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงและยอมรับมากนัก แต่สำหรับ “แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน” ผู้ก่อตั้งสาขาสถาบันแม่ชีไทย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งบวชมาแล้ว 35 ปี และทำงานเพื่อผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหามาตลอดระยะเวลา 28 ปีนั้น เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานให้การยกย่องแม่ชีได้รับรางวัลสตรีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2547 และเป็นหนึ่งในหญิงไทยที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2548 นี้ ปัจจุบัน แม่ชีเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา “ธรรมจาริณีวิทยา” ซึ่งท่านได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาด้านพื้นฐานกับเด็กหญิงผู้ด้อยโอกาส


๐ ทำไมท่านจึงละทางโลก และตัดสินใจมาบวชชีคะ

คือตอนนั้นยังวัยรุ่น แม่ชีป่วยด้วยโรคปวดศีรษะ ไปหาหมอแล้ว กินยาก็แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่หาย แล้วคนสมัยก่อนก็จะมีความเชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าว คุณพ่อของแม่ชีก็ให้ไปบนตัวบวช คือบนว่าถ้าหายป่วยก็จะบวช หลังจากนั้นอาการปวดหัวก็ดีขึ้นก็ไปบวชที่สำนักสนามชี วัดสนามพราหมณ์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิด ความจริงบนว่าจะบวชแค่ 3 วัน แต่พอได้เข้ามาบวชแล้ว ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา เรารู้สึกซาบซึ้ง ได้พบสิ่งที่ตอนเราอยู่ทางโลก เราไม่เคยรู้เลย รู้สึกว่า โอ๊ย...ชีวิตมันเป็นอย่างนี้เองหรือ ซึ่งผิดกับความเข้าใจของเราตอนก่อนบวช เข้าใจเลยว่า ความต้องการ ความปรารถนาของเรา ตอนอยู่ทางโลกนี่มันนำมาซึ่งความทุกข์ แต่ชีวิตทางธรรม มันมีแต่ความสุข เป็นความรู้ที่ทำให้เรามีความมั่นคงทางจิตวิญญาณ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้คัดค้านนะคะ ท่านแล้วแต่เรา เลยบวชมาตั้งแต่อายุ 19 เผลอแป๊บเดียวตอนนี้ก็ 54 แล้ว (หัวเราะ)

๐ เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาวิชาทางโลกด้วยหรือเปล่าคะ

ก็เรียนทั้งวิชาสามัญซึ่งเป็นวิชาทางโลก และเรียนนักธรรมบาลีซึ่งเป็นวิชาธรรมะ เรียนได้นักธรรมตรี โท เอก จากนั้นก็ไปเรียนบาลีต่อที่กรุงเทพฯ พอได้บาลีประโยค 6 รวมทั้งจบสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก็เดินทางไปเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ประเทศอินเดีย แล้วก็กลับมาเมืองไทย และได้สร้างสาขาสถาบันแม่ชีไทยตรงนี้ เมื่อประมาณปี 2520

๐ สถาบันแม่ชีไทยมีบทบาทในการดูและส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาธรรมะของแม่ชีอย่างไรบ้าง

ก็มีหลายด้าน หากแม่ชีที่อยู่ตามวัดต่างๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเพราะทางวัดไม่ได้จัดการเรียนการสอนให้ ทางสถาบันแม่ชีไทยก็จะจัดหาสถานที่ให้ ซึ่งเราส่งเสริมให้เรียนทั้งวิชาการทางโลกและวิชาทางธรรม แต่ส่วนมากเมื่อเรียนจบก็จะสึกออกไปเป็นฆารวาส มีส่วนน้อยที่บวชตั้งแต่อายุน้อยๆ แล้วมีศรัทธาแรงกล้า บวชตลอดชีวิตเพราะอยากใช้ชีวิตทางธรรม

๐ สำหรับแม่ชีส่วนใหญ่ที่บวชในปัจจุบัน มาบวชด้วยเหตุผลอะไรกันบ้าง

ก็แตกต่างกันไปนะ บางคนบวชเพราะเห็นเพื่อนมาบวช ก็อยากมาบวชด้วย บางคนรู้ทางโลกแล้วรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ พอมาบวชได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ ก็เข้าใจตามสภาวธรรมและความเป็นจริงของชีวิต เข้าใจว่าชีวิตคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ แต่ทุกข์นั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละคน ผู้มาบวชก็จะได้เรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรให้ชีวิตมีความสงบสุข

๐ แล้ววิธีใดที่จะทำให้ชีวิตสงบและเป็นสุขล่ะคะ

การจะเข้าถึงความสงบก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเจริญภาวนา และนั่งสมาธิ ซึ่งเด็กและผู้หญิงที่เข้ามาศึกษาธรรมะที่สถานศึกษาธรรมจาริณี หรือสาขาสถาบันแม่ชีไทย ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เราก็จะเน้นเรื่องการสวดมนต์และนั่งสมาธิเช่นกัน คือหลังสวดมนต์ ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นแล้ว ก็จะนั่งสมาธิ นอกจากนั้นก็จะฝึกให้เจริญสติในทุกขณะจิต ทุกช่วงเวลาที่เราทำภารกิจต่างๆ ไม่ว่าทำงานอะไรก็ให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเวลาเราทำงานก็เจริญสติควบคู่ไปด้วย

๐ คนส่วนใหญ่มองผู้หญิงที่มาบวชชีในด้านลบ แม่ชีคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรคะ

เรื่องนี้เป็นเรื่องทัศนคติของคนนะ ตอนที่แม่ชีไปเรียนที่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ พวกเราแม่ชีก็เดินไปตามถนน เพื่อไปเรียนที่วัดบวรฯ เดินกันเป็นขบวนเลย คนก็มองว่า เอ๊ะ ! แม่ชีพวกนี้จะไปขอทานที่ไหนกัน (หัวเราะ) เราไปใหม่ๆ ก็ถูกมองถูกถาม เพราะเขาเคยเห็นแม่ชีที่ยืนรับบริจาคเงิน แล้วเขารู้สึกไม่ดี บางครั้งคนก็มองว่าแม่ชีเข้ามาสร้างปัญหาให้กับวัด ซึ่งบางครั้งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะผู้ที่มาบวชเป็นแม่ชีนั้นมาจากพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน อาจจะยังไม่เคยเรียนธรรมะ ไม่ค่อยรู้ข้อปฏิบัติ และเข้ามาบวชด้วยสาเหตุต่างๆ กัน

บางคนมาบวชเพื่อมุ่งศึกษาธรรมะ ก็จะเป็นแรงหนึ่งที่เข้ามาช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนา และช่วยเผยแผ่คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่บางคนเข้ามาบวชเพื่อหาที่พักพิงเท่านั้น บางทีเลยกลายเป็นการสร้างปัญหาให้แม่ชีคนอื่นๆ ต้องตามแก้ เพราะปกติคนที่จะเข้ามาสร้างปัญหาก็มักเป็นคนที่มีปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ก็คือ การตั้งสถาบันแม่ชีไทย แล้วก็ขอระเบียบปฏิบัติต่างๆ จากบรรดาสำนักแม่ชีใหญ่ๆ เพื่อมาพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการของสมาคมฯ ก็คัดเลือกระเบียบที่เหมาะสมออกมา และร่างเป็นระเบียบปฏิบัติของสถาบันแม่ชีไทย ซึ่งแม่ชีที่เป็นสมาชิกของสถาบันแม่ชีไทยก็จะปฏิบัติเหมือนกันหมด ก็สามารถแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง คือคนจะมองบทบาทของแม่ชีต่างจากบทบาทของพระสงฆ์ เพราะคิดว่าแม่ชีถือเพียง ศีล 8 หรือ ศีล 10 ขณะที่พระถือศีลถึง 227 ข้อ จริงๆ แล้วเรายังมีระเบียบปฏิบัติอีก 200-300 ข้อ ต้องมีมารยาท 5 เสขิยวัตร 75 ใครบกพร่องข้อไหนก็ต้องประกาศตัวกับที่ประชุมในทุกๆ วันโกน ซึ่งก็ไม่ต่างจากพระสงฆ์เท่าไหร่ เพียงแต่เราไม่เรียกการทำผิดระเบียบว่า อาบัติเหมือนพระสงฆ์

๐ ท่านแม่ชีเป็นหนึ่งในผู้หญิงไทยที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ท่านคิดว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ท่านได้รับการเสนอชื่อคะ

คิดว่าคงเป็นเพราะเขาเห็นงานที่เราทำ คือแม่ชีได้จัดตั้งสถานศึกษาธรรมจาริณีวิทยา ซึ่งให้การศึกษาด้านพื้นฐานกับเด็กผู้หญิงที่ด้อยโอกาส พ่อแม่ยากจน หรือต้องออกมาทำงานตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือ การให้การศึกษาก็เป็นการช่วยบรรเทาความทุกข์ให้แก่เขา เมื่อเด็กเข้ามาเรียนที่นี่ เราป้อนทั้งวิชาความรู้และคุณธรรม ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นคุณค่าของชีวิตผู้อื่น ถ้าคนเรามีตรงนี้ก็จะไม่ทำสิ่งที่ทำร้ายตัวเอง แล้วก็ไม่ทำร้ายคนอื่น สันติสุขก็จะเกิดขึ้นบนโลก หรืออย่างน้อยก็เกิดขึ้นในใจของเรา

๐ แล้วทำไมท่านจึงคิดก่อตั้งสถานศึกษาธรรมจาริณีคะ

ในช่วงปี 2530 แม่ชีได้ไปทำโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ก็พบว่าบ้านเรามีเด็กผู้หญิงที่ประสบปัญหาเยอะมาก แม่ชีไปเจอเด็กผู้หญิงซึ่งอยู่ในวัยที่ควรจะเรียนหนังสือ แต่ต้องออกมาเป็นแรงงานราคาถูก เป็นหญิงขายบริการ บางคนก็ถูกคุกคามทางเพศ ติดยาเสพติด ก็เลยมาปรึกษากันในสถาบันแม่ชีไทยว่าเราน่าจะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ และคิดว่าปัญหาเบื้องต้นคือ เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ถ้าเขาได้มีที่เรียนและได้มาอยู่กับเรา นอกจากจะได้มีความรู้ ได้ธรรมะแล้ว ยังจะปลอดภัยจากอันตรายที่กำลังประสบอยู่ และได้มีชีวิตที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ตรงนี้เองจึงเกิดเป็นสถานศึกษาธรรมจาริณีวิทยา ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ที่สำนักแม่ชีไทย สาขาปากท่อ จังหวัดราชบุรี เรามองว่าถ้าเด็กเขามีการศึกษา นอกจากสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ยังช่วยเหลือครอบครัวได้ด้วย

Image

๐ ทราบว่าเด็กที่เข้าเรียนในสถานศึกษาธรรมจาริณีวิทยาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย แล้วการพิจารณารับเด็กเข้าศึกษาที่นี่มีเกณฑ์อะไรบ้าง

ก็ต้องเป็นเด็กหญิงที่มีฐานะยากจน หรือเป็นเด็กกำพร้าขาดผู้อุปการะ ซึ่งต้องมีคนรับรองด้วยว่าเขามีคุณสมบัตินี้จริงๆ อาจจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือครูผู้สอนรับรองให้ ซึ่งเราก็จะสอบประวัติเขาอีกทีหนึ่ง ที่ต้องให้เขาเรียนฟรี อยู่ฟรี ก็เพราะเขาไม่มีจริงๆ ถ้าเราไม่ช่วยเขา เด็กพวกนี้ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ

ซึ่งในช่วงปีหลังๆ เราจะไม่ได้ดูเรื่องปัญหาความยากจนเพียงอย่างเดียว บางคนที่บ้านพอจะส่งเรียนได้ แต่สภาพแวดล้อมไม่ดี เพื่อนพาไปติดยา หรือมีปัญหามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร พ่อแม่ก็เป็นห่วงว่าถ้าให้เรียนในโรงเรียนแถวบ้าน ก็หนีปัญหาพวกนี้ไม่พ้น เลยพาลูกมาฝากเรียนที่นี่ โดยเด็กที่มาเรียนที่ธรรมจาริณี จะมี 2 ระบบ คือ มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เรียนในระบบสามัญศึกษาปกติ ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ซึ่งทุกคนจะอยู่แบบนักเรียนประจำ

๐ ให้เด็กเรียนฟรี อยู่ฟรี แล้วทางธรรมจาริณีจะนำงบประมาณมาจากไหนคะ

เราได้เงินจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา และอีกส่วนเป็นเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาล ซึ่งให้แก่เด็กที่มาเรียน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยแล้วตกเดือนละ 800 กว่าบาทต่อคน แต่เดือนหนึ่งๆเรามีค่าใช้จ่ายถึงแสนกว่าบาท ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ บางทีไม่พอ เพราะเรามีเด็กนักเรียน และผู้หญิงที่เข้ามาพักพิงเกือบ 100 คน ก็ใช้วิธีหยิบยืมมาจากคนที่เรารู้จัก ส่วนใหญ่ก็เป็นคณะทำงานของโครงการน่ะค่ะ พอได้เงินมาก็นำไปคืนเขา บางทีสาธุชนก็บริจาคมาในรูปของข้าวสารอาหารแห้ง หรือสิ่งของเครื่องใช้

๐ มีเด็กนักเรียนที่เขาซาบซึ้งกับธรรมะแล้วขอบวชเป็นแม่ชีไหม

ก็มีบ้าง แต่ค่อนข้างน้อย แม้แต่คนที่บวชเป็นแม่ชีตั้งแต่เด็กๆ พอเขาเรียนจบก็ขอสึกออกไป เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงเราจะห่วงครอบครัว ห่วงพ่อห่วงแม่ ก็จะออกไปทำงานหาเงินเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว ถึงจะอยากจะใช้ชีวิตทางธรรมก็ทำไม่ได้ ไม่เหมือนผู้ชาย ถ้าอยากบวชตลอดชีวิตก็ตัดได้หมดทุกอย่าง ตรงนี้คงเป็นกรรมของผู้หญิงเรามั้ง (หัวเราะ)

๐ นอกจากให้การศึกษาแก่เด็กยากจนแล้ว ธรรมจาริณียังทำอะไรอีกบ้าง

เราให้คำปรึกษาและเป็นสถานที่พักพิงให้แก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาด้วย ซึ่งเราจะแนะให้เขามองปัญหาให้รอบด้าน มองอย่างเข้าใจคนอื่นๆ ด้วย เพราะส่วนใหญ่คนเราจะทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะใจของเรา เราก็แนะให้เขาขจัดทุกข์ทางใจ นอกจากนั้นเรายังจัดอบรมธรรมะให้แก่เด็กนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนใกล้เคียงด้วย

๐ ผู้หญิงส่วนใหญ่มาปรึกษาปัญหาอะไรมากที่สุดคะ

ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาครอบครัว บางรายถูกสามีทำร้าย ต้องรับภาระเลี้ยงลูกคนเดียว บางคนถูกล่อลวง หรืออาจจะผิดหวังเสียใจกับคนรอบข้าง ถูกโกง หรืออะไรต่างๆ เราพยายามชี้แนะให้เขาเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของทุกข์ และจะดับทุกข์ได้อย่างไร ก็จะคุยกับเขา และดูเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน

นอกจากมาปรึกษาปัญหาแล้ว บางคนก็จะเข้ามาพักพิงชั่วคราว บางคนต้องการศึกษาธรรมก็จะบวชชีพราหมณ์ หรือถ้าเกิดศรัทธามากก็อาจจะบวชเป็นแม่ชีเลย ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายอะไร ถ้าเขามีกำลังทรัพย์หรือต้องการจะบริจาคก็ตามแต่ศรัทธา

Image

๐ ในโอกาสที่เดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งวันแม่ ท่านอยากฝากอะไรถึงผู้หญิงที่เป็นแม่ไหมคะ

ก็อยากฝากให้ผู้ที่เป็นแม่ศึกษาว่าเป็นแม่อย่างไร จึงจะจัดว่าเป็นแม่ที่ดี โดยทั่วไปก็คงต้องดูแลทั้งเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ การศึกษา และอบรมศีลธรรม เพื่อให้เขาเติบโตอย่างคนที่มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สังคมสงบสุข อย่างเด็กที่มาเรียนที่ธรรมจาริณีเราก็มองว่าเป็นเหมือนลูกเราคนหนึ่ง เป็นลูกทางธรรม เขาสุขเราก็ดีใจ เขาทุกข์เราก็ต้องช่วยเหลือ

จากสิ่งที่ ‘แม่ชีประทิน’ ได้ทำมาทั้งหมด คงพอกล่าวได้ว่าท่านเป็นดั่ง ‘แม่ทางธรรม’ ของเด็กและผู้หญิงที่ด้อยโอกาส ซึ่งเราคงจะหาแม่ที่มีจิตใจงดงามเช่นนี้ได้ไม่ง่ายนัก...แม่ที่พร้อมจะเสียสละให้แก่ผู้ที่ไม่ใช่ลูกโดยสายเลือดของตน

หมายเหตุ : สถานศึกษาธรรมจาริณีวิทยา สาขาสถาบันแม่ชีไทย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 70140 โทรศัพท์ 032-281-058



......................................................

คัดลอกมาจาก ::
ห้องสนทนา : แม่ชีประทิน แม่ทางธรรมแห่ง “ธรรมจาริณี”
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2548 14:57 น.
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ค.2010, 11:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๑๖ ปี ร.ร.กินนอนวิถีพุทธ

ปัจจุบัน ปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็กหญิง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เยาวสตรีจำนวนมากยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ขาดแคลนและยากไร้ ครอบครัวแตกแยก เป็นกำพร้า ฯลฯ ทำให้ขาดโอกาสได้รับการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม

เยาวสตรีจำนวนมาก จึงเป็นเหยื่อและภัยทางสังคม เช่น การถูกล่อลวง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สารเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อันนำไปสู่การทำแท้ง ความไม่พร้อมในการมีครอบครัว และการติดเชื้อเอดส์ เป็นต้น จนกลายเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขจากทุกภาคส่วนของประเทศ

สถาบันแม่ชีไทย สาขา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยการนำของแม่ชีประทิน ขวัญอ่อน ประธานสถาบันแม่ชีไทย ได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อเยาวสตรีไทย จึงจัดตั้งสถานศึกษาธรรมจารินีวิทยาขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ เปิดรับเยาวสตรีที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากทั่วประเทศ ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ทั้งตอนต้นและตอนปลาย โดยใช้หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน

Image
แม่ชีอรรณอัมไพ ภาสศักดิ์ชัย


แม่ชีอรรณอัมไพ ภาสศักดิ์ชัย ผู้จัดการและครูใหญ่ โรงเรียนธรรมจารินีวิทยา บอกว่า โรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๓ เป็นโรงเรียนคอนแวนต์วิถีพุทธแห่งแรกของประเทศไทย (BUDDHIST CONVENT SCHOOL) ที่มุ่งเน้นให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงและแม่ชีทั่วประเทศ เพราะการให้โอกาสทางการศึกษา คือการช่วยแก้ปัญหาทางสังคมอย่างยั่งยืน

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชน ประเภทการศึกษาสงเคราะห์ แบบอยู่ประจำ ที่มุ่งหวังจะนำศาสนธรรมเข้ามาแก้ปัญหาสังคมในส่วนของเยาวสตรี รับอุปการะเด็กหญิงที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่กำพร้า มาจากครอบครัวยากจน แตกแยก หรือเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากทั่วประเทศ ให้เรียนฟรี ในหลักสูตรสามัญศึกษา ระดับมัธยม ๑-๓ ตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่กับการฝึกฝนทักษะอาชีพ

เพื่อการพึ่งพาตนเองในอนาคต ตามหลักการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เช่น การเพาะเห็ด ทำเบเกอรี่ ตัดเย็บเสื้อผ้า และมีหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี-โท-เอก เป็นภาคบังคับ สำหรับนักเรียนทุกคน ที่จะต้องจบชั้น ม.๓ ด้วย

เรายังมีกิจวัตรประจำวัน คือ รักษาศีล ๕ สวดมนต์ ทำสมาธิ เพื่อสืบต่อทายาทพระศาสนา ในส่วนของแม่ชี และเพื่อสืบสานคุณธรรม พัฒนาจิตใจเยาวชนให้มีหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อเติบโตเป็นบุคลากรที่ดีของชาติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

สำหรับทิศทางในอนาคตของโรงเรียนธรรมจารินีวิทยา แม่ชีอรรณอัมไพ บอกว่า เราอยากจะช่วยเหลือเยาวสตรีที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้มากที่สุด ตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนถึงระดับอุดมศึกษา เราหวังจะบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมให้พวกเขาตั้งแต่เยาว์วัย ให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ตั้งใจจะพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับมาตรฐานการประเมินจากภายนอก และตั้งใจจะพัฒนาบุคลากรให้พร้อมในการทำงานกับเยาวสตรี ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ เนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ ที่นับวันจะซับซ้อนมากขึ้นตามยุคสมัย

"เด็กผู้หญิงในไทยยังขาดโอกาสทางการศึกษาสูงมาก เพราะมีสถานศึกษาไม่เพียงพอ และไม่ทั่วถึง เยาวสตรีจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับโอกาสแม้แต่จะศึกษาตามภาคบังคับ (ม.๓) เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ครอบครัวยากจน หรือครอบครัวแตกแยก ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งการช่วยเหลือจากภาครัฐ ก็ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง การเรียนฟรียังไม่ฟรีจริง เพราะฟรีเฉพาะค่าเทอม แต่ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ ที่จำเป็น" แม่ชีอรรณอัมไพ กล่าวพร้อมกับบอกด้วยว่า

การพัฒนาต่างๆ เหล่านั้น ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบัน โรงเรียนได้เงินอุดหนุนจากรัฐส่วนหนึ่ง และจากผู้มีจิตศรัทธาในจังหวัดต่างๆ อีก ๓ ส่วน ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้รับอุปการะนักเรียนได้ในจำนวนจำกัด ไม่สอดคล้องกับจำนวนของเยาวสตรีที่ประสบปัญหา และอยู่ในภาวะยากลำบาก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา

นอกจากนี้ น.ส.จินตนา บุญแสวง อายุ ๑๖ ปี กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาเรียนในโรงเรียนวิถีพุทธว่า หลังจากเรียนจบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดดอกไม้ ประกอบกับฐานะทางบ้านยากจน จึงไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ แต่โชคดีที่คุณครูวันเพ็ญให้มาเรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ นับว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว เพราะว่าการเรียนที่นี่ เราได้รับการขัดเกลาจิตใจด้วยธรรมะ เพื่อเราจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไปอย่างเข้มแข็ง และไม่ถูกเอาเปรียบจากสังคม

Image

กิจกรรมประจำวันของนักเรียน

โรงเรียนธรรมจารินีวิทยา เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามแนววิถีพุทธ มีหลักสูตรวิชาธรรมศึกษา วิชาสามัญ และวิชาชีพ มุ่งอบรมและให้การศึกษาแก่แม่ชี เยาวสตรีทั่วไป มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือแก้ปัญหาสังคม และพัฒนาเยาวชนในทุกด้าน ให้ถึงพร้อมด้วยการเป็นพลเมืองที่ดี มีศีลธรรม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย มีความรักชาติ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีทักษะในการดำเนินชีวิต เพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สามารถช่วยเหลือผู้อื่น และสังคมได้ตามศักยภาพ

กิจกรรมประจำวันของนักเรียนที่นี่ เริ่มต้นตั้งแต่เวลา ๐๔.๔๕ น. ตื่นนอนและทำงานที่ตนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาด ตามแม่ชีไปบิณฑบาต ๐๗.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า ๐๘.๐๐ น. เข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า และทำสมาธิ ๐๙.๐๐ น. เรียนวิชาสายสามัญ ตามตารางที่กำหนด ๑๑.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน ๑๒.๓๐ น. เรียนวิชาสายสามัญ

ช่วงบ่าย ๑๖.๓๐ น. เรียนทักษะอาชีพตามฐานที่ตนเองถนัด ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น ๑๘.๓๐ น. ดูทีวีตามรายการที่กำหนด/อ่านหนังสือ/ทำการบ้าน ๒๐.๐๐ น. สวดมนต์ทำวัตรเย็น และทำสมาธิ ๒๒.๐๐ น. เข้านอน (นักเรียนทุกคนจะรับศีลอุโบสถทุกวันพระ และเรียนธรรมะในช่วงเข้าพรรษา)

ประชาชนทั่วไป สามารถร่วมบริจาคทุนสนับสนุนโรงเรียนธรรมจารินีวิทยา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ได้ดังนี้ ๑. ธนาณัติ สั่งจ่าย ปท.ปากท่อ ในนาม “มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา” ๒. โอนเงิน ผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา” ธนาคารกรุงไทย สาขาปากท่อ เลขที่ ๗๒๑-๑๐๖๒๙-๘ (เลขที่บัญชีไม่ครบ ช่วยเช็คด้วย) ธนาคารกรุงเทพ สาขาสามแยกวังมะนาว เลขที่ ๕๖๗-๐-๐๘๗๗๐-๘ เมื่อส่งเงินแล้ว กรุณาส่งสำเนาใบโอนเงินทางโทรสาร ๐-๓๒๓๕-๘๓๖๔ เพื่อทางมูลนิธิจะได้ส่งใบอนุโมทนาบัตรถึงผู้บริจาค

ส่วนนักเรียนหญิงที่ด้อยโอกาสประสงค์จะเข้าศึกษาต่อได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ ๐๓๒-๒๘๑-๐๕๘, ๐๓๒-๓๕๘-๓๖๔, ๐๘๙-๗๔๔-๘๖๖๕



......................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก เรื่องโดย สุทธิคุณ กองทอง
ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง