Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 2:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


๏ พ.ศ. 2529 พรรษาที่ 51
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 51

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจนัยน์ตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจก หลวงปู่ได้ไปกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่โรงพยาบาลภูมิพลด้วย ในขณะที่หลวงปู่และผู้เขียนเข้าไปในห้องที่หลวงปู่หลุยท่านพักอยู่ พระที่อุปัฏฐากหลวงปู่หลุยไม่รู้จักหลวงปู่ พากันออกไปอยู่ระเบียงนอกห้อง เหลือแต่ท่านอาจารย์สม วัดถ้ำใหญ่พรหมวิหาร ท่านรู้จักหลวงปู่และนั่งอยู่ในห้องกับหลวงปู่หลุย หลวงปู่และผู้เขียน กราบนมัสการท่านหลวงปู่หลุยด้วยความเคารพแล้ว

หลวงปู่หลุยจึงถามหลวงปู่ว่า “ได้กี่พรรษาแล้ว” หลวงปู่กราบเรียนหลวงปู่หลุยว่า “51 พรรษา เกล้ากระผม” หลวงปู่หลุยจึงพูดว่า “แม้ ! พระมหาเถระ” แล้วท่านจึงเรียนพระอุปัฏฐากที่อยู่ระเบียงข้างนอก ให้เข้ามากราบหลวงปู่ว่า “อ้าว มากราบพระมหาเถระ นี้พระมหาเถระ” พระอุปัฏฐากจึงได้เข้ามากราบหลวงปู่ เมื่อหลวงปู่เยี่ยมสนทนากับท่านหลวงปู่หลุยพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาหลวงปู่หลุยกลับที่พักในกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี

Image
พระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ


ไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ

พระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ ท่านเคยไปมาหาสู่กับหลวงปู่อยู่บ่อยๆ และหลวงปู่นินซึ่งเป็นหลวงพ่อของท่านอาจารย์บุญยัง ก็เคยมาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ในคราวที่สร้างวัดป่าสันติกาวาสใหม่ๆ และเมื่อท่านพระอาจารย์บุญยังมาสร้างวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไชยวานเพียง 15 กิโลเมตร ท่านก็ยังไปมาหาสู่หลวงปู่มิได้ขาด ต่อมาพระอาจารย์บุญยังท่านกลับไปโปรดญาติพี่น้องทางจังหวัดศรีสะเกษ และได้สร้าง “วัดป่าบ้านบาก” ขึ้นที่บ้านบาก ตำบลหนองอึ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์บุญยังได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2529 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศล จนถึงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2530 จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพของท่าน ในงานครั้งนี้หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมจนเสร็จงานจึงได้กลับวัด ในการเดินทางไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยังในครั้งนี้ ได้ผ่านไปทางบ้านเกิดของหลวงปู่ คือ บ้านคำพระ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงแวะเยี่ยมลูกหลานที่บ้านเกิดด้วย เป็นเวลาถึง 40 ปีที่ท่านไม่เคยกลับไปเลย นับแต่มาอยู่วัดป่าสันติกาวาส

Image
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และพระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)
บันทึกภาพร่วมกันในพิธีฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ
ณ วัดป่าบ้านบาก ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ



๏ พ.ศ. 2530-2531 พรรษาที่ 52-53
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในปี พ.ศ. 2531 พรรษาที่ 53 นี้ หลวงปู่มีอายุครบ 6 รอบ คือ 72 ปีเต็ม ในวันที่ 15 กันยายน คณะศิษยานุศิษย์จึงขออนุญาตท่านบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็อนุญาต คณะศิษยานุศิษย์จึงได้กราบอาราธนานิมนต์พ่อแม่ครูบาอาจารย์จากวัดต่างๆ มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น แล้วแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตตภาวนาแก่คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ ซึ่งมารวมกันจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ตอนเช้า คณะศรัทธาญาติโยมจากที่ต่างๆ มารวมกันตักบาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในบริเวณวัด ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และพระภิกษุสามเณร เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ก็เป็นเสร็จพิธีในการทำบุญครบรอบ 72 ปีของหลวงปู่

อาพาธครั้งที่ 7 ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวา

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ เพื่อให้หมอตรวจตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจกอยู่ เมื่อหมอตรวจพบว่าต้อได้แก่เต็มที่แล้ว จึงได้ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวาของหลวงปู่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ที่ไทยจักษุคลินิก โดย น.พ.สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ผ่าตัดและดูแลรักษาจนหายเป็นปกติ มีคุณนิดา ชิตานนท์ และหมู่เพื่อนที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ถวายค่ารักษา และอุปัฏฐากหลวงปู่ด้วยความเคารพมาโดยตลอด หลวงปู่พักรักษาตาที่กรุงเทพฯ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 หลวงปู่ได้เมตตาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี


๏ พ.ศ. 2532 พรรษาที่ 54
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 8 พ.ศ. 2532


เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่นาน ปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม หลวงปู่มีอาการปวดชายโครงข้างขวามาก ฉันอาหารได้น้อยได้เพียง 5 คำ ฉันแล้วอาเจียน เสียแน่นท้อง อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมาก พร้อมกับมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัว ทั้งศีรษะ หน้า เพดานปาก มือและขา ต่อมามีไข้ คณะแพทย์และศิษยานุศิษย์จึงได้กราบนิมนต์อ้อนวอนให้หลวงปู่ ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

หลวงปู่รับนิมนต์และสัตตาหกิจ ไปรักษาตามคำอ้อนวอนของลูกศิษย์ เป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อตรวจรักษาเสร็จแล้วจึงกลับไปพักที่วัดป่ามหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นวัดสาขาของ หลวงปู่ศรี มหาวีโร) อาการอาพาธในครั้งนี้ได้ทำการตรวจอัลตราซาวด์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ พบลักษณะก้อนที่ตับข้างขวาขนาด 2.5 เซนติเมตร แต่ไม่ได้ทำอะไรมาก อาการอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ค่อนข้างหนัก

หลวงปู่พักอยู่วัดป่ามหาวิทยาลัย 1 คืน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส คณะแพทย์ได้ถวายยารักษา คณะศิษย์ได้จัดดอกไม้ธูปเทียนกราบอาธาธนาให้หลวงปู่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์ลูกหาไปก่อน อย่าเพิ่งรีบละสังขาร ต่อมาหลวงปู่มีอาการดีขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันมีใจแช่มชื่นเบิกบาน

ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ
พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)


เดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส) ที่วัดป่าศรีสว่างแดนดิน ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ได้พยายามไปร่วมในงานนี้ด้วย ถึงแม้สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง เพราะท่านถือว่าหลวงปู่บุญ ชินวํโส ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง และท่านได้ไปมาหาสู่กันมิได้ขาด

เทียน ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่บุญ ชินวํโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=42561


๏ พ.ศ. 2533 พรรษาที่ 55
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษานี้สุขภาพของหลวงปู่ได้อ่อนแรงลงไปมาก แต่ท่านก็เมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาที่มาจากที่ต่างๆ และขอความเมตตาในเรื่องต่างๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญหาอะไรมา ในที่สุดท่านก็จะเตือนให้ประพฤติธรรม เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ อยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรม แล้วธรรมก็จะรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว มีอบายภูมิเป็นต้น ในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ ท่านก็ยังเมตตาลงนำไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจิตภาวนาอยู่มิได้ขาด

เป็นประธานในงานผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดป่าโนนม่วง

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีพิธีผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ถึงแม้หลวงปู่ท่านจะไม่แข็งแรง เพราะสังขารร่วงโรยและอาพาธเบียดเบียน ท่านก็ยังเมตตาไปเป็นประธานในครั้งนี้ จนสำเร็จลุล่วงไป และท่านยังได้เมตตาอนุญาตให้ทำเหรียญรูปของท่านรุ่น 2 ให้แจกในงานนี้ด้วย จำนวน 10,000 เหรียญ นับว่าเป็นความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง


๏ พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 56

ในพรรษานี้หลวงปู่ยังคงเมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาซึ่งมาจากที่ต่างๆ ซึ่งใกล้และไกล นับวันเพิ่มมากขึ้น บางวันทั้งตอนเช้า กลางวัน และตอนเย็น หลวงปู่ท่านให้ทั้งวัตถุธรรม ให้ทั้งธรรมะ บางคนมาหาท่านแล้วบอกว่าไม่สบายมีอาการอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายาที่ท่านมี ท่านก็ให้ไป ถ้าไม่มีท่านก็บอกให้เอาต้นไม้ชนิดนั้นชนิดนี้มาต้มกิน ฝนกิน เพราะหลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร บางคนก็บอกว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากได้น้ำมนต์ อยากได้ด้ายผูกข้อมือ ท่านก็ทำให้

บางวันท่านนั่งทำน้ำมนต์ทำฝ้ายผูกข้อมือ ตั้งแต่ฉันเช้าเสร็จจนถึงบ่ายโมง ผู้เขียนเคยกราบเรียนท่านว่า “หลวงปู่ บางวันฝ้ายผูกข้อมือมันมาก หลวงปู่จับทำทีละเส้นมันไม่เสร็จเร็ว หลวงปู่จับรวมกันเป่าแล้วก็เอาให้ไปเลย จะได้เสร็จเร็วๆ” หลวงปู่ท่านตอบว่า “ถ้าทำไม่ดีแล้วจะทำไปทำไม ถ้าทำก็ต้องทำให้ดี” แล้วหลวงปู่ก็ทำต่อไปอย่างเยือกเย็น คนที่อยากได้ก็นั่งคอยรับอย่างเยือกเย็น ใครรีบร้อนไม่มีหวังได้จากหลวงปู่ บางทีเมื่อท่านให้สิ่งที่เป็นวัตถุแล้วท่านก็สอนธรรมะต่อ “ดีชั่วก็ตัวเรา จงทำเอาอยู่ที่ใจ”

พระพี่ชายได้จากไป

หลังจากออกพรรษาแล้ว วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่ ได้อาพาธกะทันหันมีไข้สูง ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลอำเภอไชยวาน หมอตรวจพบว่ามีน้ำในปอดมาก จึงได้นำท่านส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี หมอตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งในปอด หมอทำการรักษาแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 หลวงปู่ท่านพูดแย้มๆ ว่า

“หลวงพ่อสิงห์ เห็นท่าจะไม่ไหวเสียแล้ว”

ท่านจึงไปขออนุญาตหมอนำหลวงปู่คำสิงห์กลับวัดตอนเย็นวันที่ 16 พอเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2534 เวลา 07.00 น. หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ได้ละสังขารจากโลกไปอย่างไม่มีอาลัยในวัฏฏสงสาร เมื่ออายุของท่านได้ 84 ปี หลวงปู่เป็นประธานพาศิษยานุศิษย์บำเพ็ญกุศลกุศลศพหลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายอยู่ 15 วัน จึงได้ประชุมเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เวลา 17.00 น.

เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ
(พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่)


เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่) ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก วิหารหลังนี้สร้างอยู่กลางบ่อน้ำสี่เหลี่ยม เดิมทีสถานที่นี้เป็นหนองน้ำธรรมชาติกลางป่าดง น้ำไม่เคยแห้งตลอดฤดูแล้ง ชาวบ้านเรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองทุ่ม” (เพราะมีต้นกระทุ่มอยู่ริมหนองน้ำ) เมื่อหลวงปู่มาสร้างวัดได้ 1 ปีผ่านไป ปีที่ 2 ท่านจึงให้ญาติโยมสร้างกุฏิในหนองน้ำเรียกว่า “กุฏิกลางน้ำเล็ก” ทำด้วยไม้

เมื่อทำเสร็จแล้วหลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ จนถึงปี พ.ศ. 2503 เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หลวงปู่จึงให้ปักเขตคร่อมบริเวณหนองน้ำนี้ และได้พาพวกญาติโยมสร้างวิหารไม้หลังใหญ่ สิ้นค่าก่อสร้าง 9,000 บาท ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมบวชพระเณร และลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ด้วย และหลวงปู่ได้ย้ายจากกุฏิกลางน้ำเล็กขึ้นมาพำนักอยู่ที่วิหารกลางน้ำไม้หลังใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2516 ท่านจึงย้ายลงไปพำนักที่อื่น เพราะวิหารไม้หลังใหญ่ชำรุด

ปี พ.ศ. 2521 จึงได้ย้ายเขตวิสุงคามสีมาไปปักเขตที่ศาลาการเปรียญ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 โครงการอีสานเขียวนำโดยคณะนายทหาร ได้มาขุดลอกหนองทุ่มให้เป็นสระสี่เหลี่ยม หลวงปู่ให้รื้อวิหารไม้ออก และวางศิลามงคลสร้างวิหารคอนกรีตขึ้นแทน

หนองทุ่มกับหลวงปู่

หลวงปู่พูดแย้มๆ ให้ศิษย์ฟังว่า “ในชาติหนึ่งเคยเป็นฟาน (อีเก้ง) มาอาศัยกินน้ำที่หนองทุ่มนี้และตายที่นี่ ที่เคยเกิดเคยตายมันก็วนเวียนอยู่นั้นแหละ ในชาตินี้ก็คงจะตายที่นี้อีก”

อาพาธครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535

เดือนมกราคมหลังจากเสร็จพิธีวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำแล้ว หลวงปู่มีอาการไอ และมีเลือดปนออกมากับน้ำลายที่บ้วนลงกระโถน สีแดงเหมือนน้ำหมาก ลูกศิษย์พยายามถามอาการก็ถูกท่านว่าเอา “วุ่นวายอะไรกับสังขาร ทำอย่างไรก็ไม่พ้นตายหรอก” หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่ไปเป็นประธานในพิธีฉลองศาลาการเปรียญวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ คุณสุดใจ สุขุมารจันทร์ เห็นสุขภาพหลวงปู่อิดโรย จึงได้กราบขอนิมนต์หลวงปู่ให้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพฯ

คุณสุดใจมีสามีเป็นนายแพทย์อยู่ที่นั้น คือคุณหมอยศวี สุขุมารจันทร์ จะได้ถวายการดูแลรักษาหลวงปู่ หลวงปู่ได้แต่ขออนุโมทนา ในที่สุดก็ไม่รับนิมนต์ จนเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤษภาคม อาการของหลวงปู่ได้กำเริบมาก มีอาการสะอึก บางทีจนแทบหายใจไม่ได้ และมีอาการคันและเบื่ออาหารมาก คณะศิษย์จึงอ้อนวอนขอให้หลวงปู่ไปตรวจคอมพิวเตอร์ที่คลินิกหมออุดม อำเภอสว่างแดนดิน หลวงปู่ยอมไป คุณหมออุดมได้ถวายการตรวจ พบว่าในปอดมีจุดใหญ่ คุณหมอแนะนำว่าควรจะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น คณะศิษย์ขอกราบนิมนต์หลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่ไม่ยอมรับ ท่านได้แต่บอกว่า “วุ่นวายอะไร” แล้วท่านก็นิ่งเฉย

ต่อมาไม่กี่วันอาการได้กำเริบหนักขึ้น หลวงปู่สะอึกแล้วหายใจไม่ออก พอดีวันนั้นมีลูกศิษย์หลายคนมาเยี่ยมดูอาการหลวงปู่ จึงได้ช่วยกันอ้อนวอนหลวงปู่ให้เมตตาลูกศิษย์ลูกหา อย่าเพิ่งด่วนปล่อยทิ้งเลย ในที่สุดท่านเมตตายอมรับนิมนต์ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จึงได้โทรศัพท์ถึงคุณหมอสุนทร ศรีโพธิ์ ที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ท่านหนึ่งที่หลวงปู่เมตตามาก ให้ติดต่อกับคณะศิษย์ที่เป็นหมอในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วจึงได้นำหลวงปู่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พักห้องพิเศษ

การรักษาพยาบาลหลวงปู่นั้นมีปัญหาอยู่ว่า ท่านไม่ยอมให้หมอและพยาบาลผู้หญิงตรวจรักษาและฉีดยา ด้วยเหตุนี้ ผศ.นพ.วิสุทธิ์ สุขีไพศาลเจริญ จึงรับเป็นภาระในการดูแลรักษาหลวงปู่ และถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ด้วย การอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคที่ปอด ในระยะที่หลวงปู่พักรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น ได้มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งเก่าและใหม่ เมื่อทราบว่าหลวงปู่อาพาธต่างคนต่างก็มีความเป็นห่วงได้มาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด เมื่ออาการของหลวงปู่ดีขึ้น ท่านก็เมตตาไต่ถามและให้ธรรมะแก่ลูกศิษย์ที่มาเยี่ยมด้วย

ความอกตัญญูลบหลู่ครูบาอาจารย์ย่อมนำมาซึ่งความหายนะ

หลวงปู่ได้เตือนลูกศิษย์ให้รู้คุณของผู้มีคุณ ผู้ใดรู้คุณของผู้มีคุณย่อมนำมาซึ่งความเจริญและเป็นคนดี ตามพุทธภาษิตว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี หลวงปู่เล่านิทานเรียนคาถาเสกมะม่วงว่า

กาลครั้งหนึ่ง มานพหนุ่มเดินทางไปศึกษาวิทยาการ ณ สำนักอาจารย์เล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้ศึกษานั้นคือวิชาเสกมะม่วง เมื่อสำเร็จสมปรารถนาแล้วจึงเดินทางกลับบ้านเดิม ลงมือปลูกมะม่วง และทุกๆ วันเขาจะสวดภาวนาคาถาที่ได้ร่ำเรียนมา เสกเป่าใส่น้ำที่ใช้รดมะม่วงนั้น จนกระทั่งมีผลผลิตดกหนาเต็มต้นตลอดทั้งปี แม้ในยามที่แล้ง อีกทั้งมีรสชาติหอมหวานจนใครๆ ได้ชิมแล้วก็ล้วนติดใจ กิตติศัพท์ความวิเศษของมะม่วงนี้รู้ไปถึงพระราชาผู้ครองนคร พระองค์มีความปรารถนาที่จะลิ้มรส เมื่อได้ลองเสวยลูกแรก พระองค์รู้สึกติดพระทัยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้มหาดเล็กนำมาถวายทุกวัน และมีพระประสงค์จะพบกับมานพหนุ่มผู้เป็นเจ้าของมะม่วงต้นนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวมาเข้าเฝ้า

เมื่อมหาดเล็กไปแจ้งแก่ชายหนุ่มชายผู้เป็นเจ้าของมะม่วงวิเศษนั้น รู้สึกอับอายที่ไม่มีเสื้อผ้าดีๆสวมใส่ จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า มหาดเล็กกลับไปทูลความจริงต่อพระราชา พระราชาจึงได้พระราชทานเสื้อผ้าดีๆ และทรัพย์สินมากมาย เมื่อชายหนุ่มนั้นเข้าเฝ้าตามพระประสงค์ พระราชาตรัสถามว่าท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาจากสำนักใด มะม่วงนั้นจึงมีรสชาติที่วิเศษนัก ชายหนุ่มไม่กล้าตอบตามความจริง เพราะรู้สึกอับอายที่สำนักอาจารย์ตนนั้นไม่มีชื่อเสียง จึงอ้างเอาสำนักทิศาปาโมกข์ที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองตักศิลาแทน

ด้วยผลแห่งการลบหลู่ดูถูกผู้มีคุณ ทำให้วิชาที่ศึกษานั้นเสื่อมไปทันที มะม่วงที่เคยให้ผลดกบริบูรณ์และรสชาติหอมหวาน ก็กลับเป็นเสมือนมะม่วงธรรมดาที่ไม่มีความพิเศษอันใด พระราชาจึงไม่โปรดปรานอีกต่อไป ฐานะที่เคยเป็นเศรษฐี ก็กลายเป็นบุรุษผู้ยากไร้ดังเดิม เขาจึงเดินทางไปพบอาจารย์ตนเพื่อขอเรียนคาถาเสกมะม่วงอีกครั้ง แต่อาจารย์ก็ได้กล่าวแสดงความเสียใจว่า เมื่อคาถาเสื่อมก็ไม่อาจสอนให้เป็นครั้งที่ 2 ได้ แม้ว่าเขาจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับด้วยความเสียใจและผิดหวัง

“ผู้ใดไม่ยกย่องครูอาจารย์ย่อมไม่เจริญ” หลวงปู่แสดงให้ลูกศิษย์ฟังอย่างนี้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส เมื่ออาการของท่านดีขึ้น คุณหมอวิสุทธิ์และคณะแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ได้ถวายการรักษาต่อที่วัด จนหลวงปู่หายเป็นปกติ


๏ พ.ศ. 2535 พรรษาที่ 57
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ปี พ.ศ. 2536 เดือนเมษายน หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างอุโบสถวัดป่าหนองผือ บ้านหนองผือ ตำบลบ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี


๏ พ.ศ. 2536 พรรษาที่ 58
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษานี้สุขภาพของหลวงปู่กระเสาะกระแสะ ท่านจะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ในเวลากลางคืน คณะศิษยานุศิษย์เข้าใจว่าเป็นโรคของคนแก่ จึงไม่ได้สนใจอะไร แต่หลวงปู่ก็เมตตาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ที่เข้ากราบนมัสการอยู่มิได้ขาดแต่ละวันละวัน

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนตุลาคม หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างอุโบสถวิหารวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

Image
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 2:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล
ซ้ายมือขององค์หลวงปู่ คือ พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน



๏ พ.ศ. 2537 พรรษาที่ 59
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 10 สุดท้ายแห่งสังขาร


พรรษาที่ 59

ในพรรษานี้พอเริ่มเข้าพรรษา หลวงปู่มีอาการไม่ค่อยสบายด้วยอาการเหนื่อย เบื่ออาหาร ฉันอาหารได้น้อย มีเลือดออกตามลำคอเป็นครั้งคราว ปัสสาวะบ่อยๆ ผอมลงเรื่อยๆ แต่ท่านไม่สนใจในสังขารที่เปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเดือนกันยายนซึ่งเป็นวาระที่อายุหลวงปู่จะครบรอบ 78 ปี ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2537 ประกอบกับการก่อสร้าง วิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่) ได้สำเร็จเรียบร้อยลง โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่ 2 ปี กับ 7 เดือน

ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมถวายบูชาพระคุณหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์จึงได้กำหนดการทำบุญฉลองอายุครบ 78 ปีของหลวงปู่ และฉลองวิหารกลางน้ำด้วย ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยได้กราบนิมนต์พระเถรานุเถระมาเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารกลางน้ำ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลได้มารวมกันทำบุญเพื่อเป็นการถวายบูชาพระคุณหลวงปู่ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และได้ทำพิธีถวายวิหารกลางน้ำแก่สงฆ์ด้วย

หลังจากทำบุญถวายหลวงปู่แล้ว อาการอาพาธของหลวงปู่เริ่มชัดเจนขึ้น อาการเหนื่อยมีมากขึ้น ฉันอาหารไม่ค่อยได้ อาการอิดโรยปรากฏชัดขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ได้ถวายการตรวจแต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ ยกเว้นจะมีกรดยูริกสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของท่านอยู่แล้ว

(เรื่องโรคเกาต์นี้เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีอาการบวม เจ็บปวดตามหลังเท้า เห็นได้เมื่อเวลาที่โรคกำเริบ แพทย์ได้ถวายยาลดกรดยูริกอยู่เป็นประจำ อาการจะกำเริบบ่อยในช่วงที่หน่อไม้กำลังออกใหม่ๆ หรือศรัทธาญาติโยมมีจิตศรัทธาตุ๋นอาหารสัตว์ปีกมาถวาย แต่อาการอาพาธเหล่านี้ก็เป็นเพียงเล็กน้อยสำหรับองค์ท่าน เมื่อท่านหยุดฉันของแสลงและฉันยาอาการก็หายไป)

คณะศิษย์ก็พยายามหายาบำรุงและอาหารเสริมมาถวาย อาการท่านก็ค่อยดีขึ้น ฉันอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ท่านมีอาการดีขึ้นอยู่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นก็เริ่มทรุดลงอีก ด้วยอาการเหนื่อยเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตอนกลางวันหลังจากฉันเช้าเสร็จที่ศาลาแล้ว หลวงปู่จะลงไปพักที่วิหารกลางน้ำ และต้อนรับลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมท่านที่นั้น พอเย็นท่านก็กลับไปที่กุฏิ

พอออกพรรษาเสร็จจากการทอดกฐิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2537 หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียลงมาก คณะศิษยานุศิษย์ลงความเห็นว่า “หรือจะเป็นเพราะหลวงปู่แพ้กลิ่นสีที่ทาวิหารกลางน้ำที่พึ่งเสร็จใหม่หรือไม่” จึงได้ขอนิมนต์ให้หลวงปู่ลองงดลงไปพักที่วิหารกลางน้ำ แต่อาการของท่านก็ยังอ่อนเพลียอยู่อย่างเดิม หลวงปู่ต้องการอยากอยู่สงบๆ โดยลำพังขององค์ท่าน ไม่อยากพูดคุยและเกี่ยวข้องกับคนอื่น แต่แล้วหลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา อดที่จะสงเคราะห์คณะศิษยานุศิษย์ผู้เดินทางมาไกลเพื่อกราบนมัสการท่านไม่ได้ ท่านจึงอนุญาตให้เข้ากราบท่านได้ ถึงแม้บางครั้งอาการไข้กำลังเบียดเบียนท่านอยู่ก็ตาม

Image
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี


ไปกราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขาม

ก่อนที่หลวงปู่เทสก์จะละสังขารไม่นาน หลวงปู่ได้ไปกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นเวลาเย็น เมื่อถึงที่รถจอด หลวงปู่ไม่ค่อยสบายจึงไม่มีกำลังพอที่จะเดินขึ้นไปที่ถ้ำขามได้ พระเณรและลูกศิษย์ที่ติดตามไปกับหลวงปู่ จึงช่วยกันหามรถเข็นที่หลวงปู่นั่งขึ้นไปถึงหลังถ้ำขาม แล้วหลวงปู่จึงเดินไปที่กุฏิที่หลวงปู่เทสก์ท่านพำนักอยู่ พระที่อุปัฏฐากหลวงปู่เทสก์จึงไปกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์บุญจันทร์ มา” หลวงปู่เทสก์ท่านอนุญาตให้เข้าไปได้

เมื่อหลวงปู่เข้าไปถึงแล้วก็กราบหลวงปู่เทสก์ด้วยความเคารพอ่อนน้อม แล้วหลวงปู่เทสก์จึงถามว่า “ทำอย่างไรจึงขึ้นมาได้” หลวงปู่ยกมือขึ้นประนมแล้วกราบเรียนว่า “ขอโอกาสเกล้ากระผม พระเณรช่วยกันหามขึ้นมา” หลวงปู่เทสก์ถามอีกว่า “อายุเท่าไรแล้ว” หลวงปู่กราบเรียนว่า “78 ปี เกล้ากระผม”

หลวงปู่เทสก์พูดว่า “โอ้ ใกล้จะตายเหมือนกันนะ ผมนี้ก็เต็มทีแล้ว ตาก็มองไม่เห็น ร่างกายนี้ไม่มีอะไรแล้ว มีแต่กระดูกเท่านั้นแหละ ดูกระดูกเท่านั้นแหละนะ” หลวงปู่เยี่ยมหลวงปู่เทสก์ไม่นาน จึงได้กราบลาหลวงปู่เทสก์กลับ เมื่อมาถึงวัดแล้วท่านก็มาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง

ไปกราบคารวะศพหลวงปู่เทสก์ที่ถ้ำขาม

เมื่อหลวงปู่ทราบว่าหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เวลา 21.30 น. หลวงปู่จึงได้เดินทางไปกราบคารวะศพหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขามเป็นครั้งสุดท้าย

ไปกราบคารวะศพหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

และเมื่อท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ละสังขารเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2538 ถึงวันที่ 10 มกราคม หลังจากฉันจังหันเช้าที่วัดแล้ว ท่านจึงพาคณะศิษย์ทั้งพระและโยมไปกราบคารวะศพของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถึงวัดป่าสัมมานุสรณ์เวลาบ่ายสามโมงเย็น เจ้าหน้าที่งดให้ประชาชน พระเณรสรงน้ำศพหลวงปู่เพราะใกล้เวลาน้ำหลวงพระราชทานจะมาถึง

เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นหลวงปู่เพิ่งไปถึง จึงอนุญาตพิเศษให้เฉพาะหลวงปู่กับพระที่ติดตามไปขึ้นบนศาลา ส่วนญาติโยมให้รอไว้ก่อน เมื่อขึ้นไปถึงบนศาลา หลวงปู่พาพระลูกศิษย์ที่ติดตามไป กราบคารวะศพหลวงปู่ชอบ ท่านพากราบทางศีรษะ แล้วท่านก็พากันหันไปกราบทางเท้าอีก พร้อมกับพูดว่า “กราบสุดหัวสุดเท้า”

เสร็จแล้วจึงนั่งที่อาสนะสำหรับพระเถระ เมื่อน้ำหลวงมาถึง องคมนตรีเป็นผู้นำน้ำหลวงอาบศพ เสร็จแล้วนำศพหลวงปู่ชอบเข้าหีบ ประกอบศพตั้งแท่นเสร็จเรียบร้อย ทำพิธีขอขมาศพหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วหลวงปู่จึงได้พาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

โปรดญาติเป็นครั้งสุดท้าย

ปีเก่าผ่านไปย่างเข้าปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่ยังเดินรับบิณฑบาตในบริเวณวัด โปรดลูกศิษย์ที่มาร่วมกันทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากในวันขึ้นปีใหม่ วันคืนผ่านไป ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สุขภาพของหลวงปู่มีอาการดีขึ้น ฉันอาหารได้บ้างดูมีแรงขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ที่กรุงเทพฯ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่ลงไปโปรดที่กรุงเทพฯ พร้อมกับครบกำหนดการตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่ด้วย ควรมิควรอย่างไรแล้วแต่หลวงปู่จะเมตตา เมื่อใกล้กำหนดจะเดินทางลงกรุงเทพฯ คณะศิษยานุศิษย์ผู้ปฏิบัติหลวงปู่ที่วัดจึงกราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่จะรับนิมนต์ลงกรุงเทพฯ หรือไม่” หลวงปู่นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงบอกว่า “เอ้า ไปโปรดญาติครั้งสุดท้าย”

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ โดยเครื่องบิน เที่ยวบินเวลา 19.45 น. ออกจากอุดรฯ ถึงดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น. ลูกชายคุณนิดา ชิตานนท์ นำรถมารับหลวงปู่พร้อมกับพระติดตามอีก 2 รูป ไปพักที่รถรางที่คุณนิดาจัดถวายสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่

วันที่ 3 มีนาคม เช้ารับบิณฑบาตฉันเช้าที่บ้านคุณนิดา บ่าย 1 โมง ตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก บ่าย 3 โมงเยี่ยมท่านผู้หญิงจรวย ท่านผู้หญิงถวายสังฆทานด้วย ตอนเย็นให้โอวาทธรรมแก่ลูกศิษย์ที่มากราบฟังธรรม

วันที่ 4 มีนาคม หลวงปู่รับบิณฑบาตฉันเช้าในพิธีสมรสคุณอภิพร ยูนิพันธ์ บุตรสาวของอาจารย์เสรี-อาจารย์ประจวบ ยูนิพันธ์ ที่บ้านคอนโด สุขุมวิท 33 ตอนบ่ายคุณปั๊กนิมนต์หลวงปู่รับถวายสังฆทานที่บ้าน

วันที่ 5 มีนาคม ตอนเช้าหลวงปู่รับบิณฑบาต ฉันเช้าที่บ้านคุณนิดา ทำบุญอุทิศกุศลให้คุณแม่ ตอนบ่ายหลวงปู่ไปรับไทยทานโปรดคุณไพบูลย์-คุณนงค์ลักษณ์ ที่บ้าน แล้วต่อไปวัดสายตาตัดแว่น

เสนาพระยามัจจุราชเข้าย่ำยีสังขารนครของหลวงปู่

คืนวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่เกิดท้องร่วง 4 ครั้ง และมีไข้ หลวงปู่อยู่ในความสงบนิ่งตลอดเวลา

เช้าวันที่ 6 มีนาคม คุณทวีสิทธิ์ ทีระฆะวงศ์ นำรถมารับหลวงปู่ไปรับฉันบิณฑบาตที่บ้าน หลวงปู่ไม่สามารถจะไปได้ ท่านจึงให้ผู้เขียนไปแทน ในวันที่ 6 นี้ หลวงปู่ไม่ออกจากที่พัก หมอถวายเกลือแร่ บ่ายอาการดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่พักที่รถรางจนถึงวันที่ 9 อาการไข้และท้องเสียเป็นปกติ แต่มีอาการปวดฟัน

ไปพักผ่อนที่หัวหิน

วันที่ 11 มีนาคม เวลาบ่ายสามโมงเย็น หลวงปู่เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยรถตู้ของคุณอรวรรณ จัยวัฒน์ ถึงหัวหินเวลา 6 โมงเย็น หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตามอีก 2 รูป พักที่สุญญาคาร (บ้านว่าง) ริมทะเล ของคุณโยมประภา จัยวัฒน์ ขณะที่หลวงปู่พักอยู่ที่หัวหิน ฟันอักเสบบวมมาก ได้พบหมอฟันที่คลินิกอำเภอหัวหิน 2 ครั้ง อาการค่อยดีขึ้น

ลิงรักลูก

วันหนึ่งคุณไพบูลย์ขับรถส่วนตัวจากกรุงเทพฯ ไปกราบเยี่ยมหลวงปู่ที่หัวหิน พอมีโอกาสจึงรับหลวงปู่พร้อมพระติดตาม ไปชมวัดเขาตะเกียบ ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ติดทะเล และให้ทานกล้วยแก่ลิงด้วย ลิงวิ่งมาแย่งกล้วยกันชุลมุนตามประสาของลิง มีแม่ลิงตัวหนึ่งวิ่งมา ปากของมันคาบลูกเอาไว้ แต่ลูกของมันเป็นลูกที่ตายจนแห้งแล้ว พอมันแย่งกล้วยได้แล้ว มันก็เอามือของมันจับลูกที่ปากลงวางไว้ แล้วมันก็กล้วย พอกินกล้วยหมดมันก็จับเอาลูกที่ตายแล้วของมันใส่ปากคาบไว้ แล้วก็เดินต่อไป

หลวงปู่จึงชี้ให้ดูว่า “ดูซิ ลิงมันรักลูกของมัน แม้จะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ถึงลูกของมันตายแล้วก็ตาม ไปไหนมันก็คาบไปด้วยเพราะมันไม่รู้ว่าลูกของมันตาย ด้วยความรักความอาลัย”

ขณะที่หลวงปู่พักอยู่ที่หัวหิน ลูกศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมต่างคนก็กราบเรียนหลวงปู่ว่า “ที่นี้อากาศดีเย็นสบายดี” หลวงปู่พูดแย้มๆ ว่า “อากาศมันดี แต่เราไม่ดี”

หลวงปู่พักที่หัวหินจนถึงวันที่ 26 มีนาคม จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่กรุงเทพฯ 1 คืน วันที่ 27 มีนาคม เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินเที่ยวบ่าย 5 โมงเย็นกลับอุดรธานี ถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลา 20.00 น.

สังขารแสดงถึงความชัดเจนแห่งการทรงอยู่ไม่ได้

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2538 หลวงปู่เริ่มมีอาการบวมที่ขาทั้ง 2 ข้างจนเห็นได้ชัด คณะแพทย์จึงได้ขออนุญาตนำเลือดและปัสสาวะไปตรวจ แต่ก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าหลวงปู่เป็นโรคอะไร อาการเหนื่อยและอ่อนเพลียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์และหยุดราชการ ลูกศิษย์จากที่ต่างๆ ได้มารวมกันทำบุญที่วัด และที่มาค้างคืนปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดก็มี

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2538 เป็นวันสุดท้ายที่หลวงปู่ลงแสดงธรรมโปรดแก่คณะศิษยานุศิษย์ ที่ศาลาการเปรียญ วันนั้นเป็นวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เวลา 20.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรมได้ลงรวมกันที่ศาลาการเปรียญ หลวงปู่ผู้มีเมตตาได้พยายามฝืนสังขารของท่านที่กำลังถูกคุมคามอยู่ด้วยอาพาธเจ็บป่วย ลงสู่ที่ประชุมของคณะศิษยานุศิษย์ แล้วได้นำไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วได้ให้โอวาทธรรมเตือนคณะศิษยานุศิษย์ “ให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะความเกิดความตายเป็นของคู่กัน”

แล้วหลวงปู่จึงนำนั่งสมาธิภาวนาถึงเวลาพอสมควรแล้วจึงได้เลิกประชุม นับแต่วันนั้นมาหลวงปู่ไม่ได้ลงที่ศาลาการเปรียญอีกเลย หลวงปู่ได้พักประจำที่วิหารกลางน้ำตลอดมา ตอนเช้าหลวงปู่ให้ตั้งบาตรต่อหน้าท่านในวิหารกลางน้ำ คณะศิษยานุศิษย์ไปใส่บาตรและถวายภัตตาหารเฉพาะหลวงปู่ในวิหารกลางน้ำ และมีพระคอยอุปัฏฐากหลวงปู่อยู่ 1 รูป เวลาฉัน ท่านก็ยังฉันในบาตรอยู่ ไม่ทิ้งลายของพระกัมมัฏฐาน

คณะศิษย์ต่างมีความเป็นห่วง

ข่าวการอาพาธของหลวงปู่ได้แพร่กระจายไป คณะศิษยานุศิษย์ต่างมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่มิได้ขาดแต่ละวัน แต่ละคนมาก็มีหยูกยาติดไม้ติดมือมา ทั้งสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน ท่านเมตตารับไว้และฉันให้บ้างพอให้ดีใจ เมื่อมีผู้กราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่ป่วยคราวนี้จะหายไหม” หลวงปู่ก็บอกว่า “หาย” ปกติหลวงปู่เป็นผู้มีนิสัยไม่ชอบให้คนแตกตื่นและตกใจ

ทอดอาลัยในสังขาร

ผู้เขียนเห็นการอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ เกิดความไม่แน่ใจในการที่จะรั้งสังขารของหลวงปู่ไว้ได้ จึงกราบเรียนท่านว่า “ถ้าหากมีลูกศิษย์หรือคณะแพทย์ขอกราบอาราธนาหลวงปู่ไปพักรักษาในโรงพยาบาล หลวงปู่จะว่าอย่างไร เกล้ากระผม”

ท่านตอบว่า “เราทุกข์มาหลายครั้งหลายหนแล้วเว้ย ทีนี้เราไม่เอาอีกแล้ว” เมื่อผู้เขียนได้ฟังท่านพูดอย่างนั้น จึงมีความแน่ใจว่า ในคราวนี้หลวงปู่จะทิ้งขันธ์อย่างแน่นอน จากนั้นจึงได้เตรียมจิตใจและเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ การถวายหยูกยาและการตรวจอะไรก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน ถ้าท่านว่าหยุดแล้วก็ไม่รบกวนท่าน

คณะแพทย์กราบนิมนต์ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์

เพื่อความแน่ใจว่าหลวงปู่อาพาธด้วยโรคอะไรแน่ คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงกราบนิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจที่โรงพยาบาล หลวงปู่ย้อนถามว่า “จะให้นอนที่โรงพยาบาลไหม ถ้าให้นอนโรงพยาบาลจะไม่ไป ถ้าตรวจรู้ว่าเป็นอะไรแล้วให้กลับวัดก็จะไปให้” คณะแพทย์ยอมรับว่าไม่ให้นอนโรงพยาบาล หลวงปู่จึงตกลงไป

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2538 รถรับหลวงปู่ออกจากวัดแต่เช้ามืด คณะแพทย์นิมนต์ให้ไปตรวจเจาะเลือดก่อน แล้วจึงถวายบิณฑบาตที่โรงพยาบาล เสร็จแล้วจัดให้หลวงปู่พักคอยที่ห้องพิเศษจนถึงตอนบ่ายหมอได้นำผลวิจัยมากราบเรียนให้ทราบว่า ท่านอาพาธด้วยโรคไตรั่ว โรคนี้รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่รักษาชลอไว้ได้ คณะแพทย์จึงกราบขอนิมนต์ให้พักรักษาที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ไม่ยอมรับ ทุกคนผิดหวังที่จะรั้งสังขารหลวงปู่ให้อยู่ต่อไปนานๆ ถึงเวลา 4 โมงเย็น จึงได้รับหลวงปู่กลับวัด หลวงปู่พักจำวัดที่วิหารกลางน้ำ อาการหลวงปู่ทรุดลงอ่อนเพลียจนไม่อยากฉันอาหารเลย อาการบวมเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 2 พฤษภาคม หมอได้ถวายการรักษาหลวงปู่ด้วยการถวายยารักษาไต หลังจากฉันยาได้ 3-4 วัน หลวงปู่มีอาการดีขึ้น ฉันอาหารได้มากขึ้น พูดมีเสียงชัดเจน

วันที่ 7 พฤษภาคม คณะนักศึกษาแพทย์จากชมรมพุทธศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช ได้มากราบเยี่ยมหลวงปู่ หลวงปู่ได้เมตตาให้ธรรมะเป็นกัณฑ์สุดท้าย (กัณฑ์ปัจฉิมเทศนา) เป็นเวลานานพอสมควร ท่านเตือนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ต้นตอของธรรมอยู่ที่ใจ

สั่งให้พระทำกลดใหญ่

ในระยะที่หลวงปู่มีอาการดีขึ้น ตอนเช้าหลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านสั่งให้เอารถเข็นท่านลงมาพักตามร่มไม้ ในปีนั้นไม้ไผ่หนาม (ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ไผ่ป่า) ได้ออกดอกเป็นขุยตาย ไม้ไผ่ที่หลวงปู่ให้นำมาปลูกเป็นรั้ววัดในคราวที่ท่านมาสร้างวัดใหม่ๆ (พ.ศ. 2493) ก็ตายทั้งหมด ท่านจึงสั่งให้พระเณรญาติโยมมาช่วยกันตัดทำความสะอาดออกให้หมด และท่านได้กำชับว่า “ให้ทำให้เสร็จก่อนเข้าพรรษาด้วย” และท่านได้สั่งให้พระที่มีฝีมือในการทำกลด นำเอาริ้วกลด ยาว 3 เมตร ที่ท่านเหลาไว้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว มาประกอบให้เป็นกลดที่เสร็จสมบูรณ์

เมื่อลูกศิษย์ทั้งหลายมาเยี่ยมท่าน เห็นพระเณรช่วยกันทำกลดใหญ่ ต่างก็พากันไม่ชอบ เมื่อเห็นแล้วใครๆ ก็รู้ว่ากลดใหญ่นี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์อย่างอื่น นอกจากทำไว้สำหรับเมรุเผาศพครูบาอาจารย์สายกรรมฐานเท่านั้น ลูกศิษย์ญาติโยมก็พากันนิมนต์ให้พระหยุดทำกลดใหญ่ พระก็บอกญาติโยมว่า “หลวงปู่ท่านสั่งให้ทำ” ลูกศิษย์ญาติโยมก็ไปกราบเรียนหลวงปู่ขอให้พระหยุดทำกลดใหญ่ เพราะยังไม่อยากให้หลวงปู่เป็นอะไรไป

หลวงปู่รักษากำลังใจของลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็ให้พระหยุดทำไว้ก่อน เมื่อมีผู้ถามท่านว่า “หลวงปู่ อาพาธคราวนี้จะหายไหม” ท่านก็ตอบว่า “หาย” ในขณะที่ญาติโยมมาช่วยกันตัดถางไม้ไผ่ที่ตายทำความสะอาดนั้น ถึงแม้ท่านเดินเองไม่ได้แล้ว ท่านก็ยังให้เอาเตียงไปตั้งในบริเวณใกล้ๆ แล้วท่านก็นั่งพักนอนพักให้กำลังใจอยู่ด้วย


(มีต่อ 20)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 2:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ภาพวาดหลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
ณ วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
เป็นภาพจำลองเหตุการณ์ สถานที่ และการจัดวางข้าวของตามเป็นจริงทุกประการ



หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มาเยี่ยม

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่ฉันภัตตาหารเช้าได้นิดหน่อย เสร็จแล้วท่านให้นำท่านลงจากวิหารกลางน้ำ ไปพักใต้ร่มไม้ทางด้านทิศใต้ของวัด เวลาประมาณบ่าย 1 โมง หลวงปู่นอนพักอยู่บนเตียงแคร่ไม้ไผ่ ผู้เขียนกำลังนั่งถวายพัดให้หลวงปู่อยู่ ได้มองเห็นหลวงปู่มหาบัวเดินมาจากทางศาลา จึงกราบเรียนให้หลวงปู่ทราบ หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ผู้เขียนให้พระเณรช่วยยกเตียงไม้ไผ่มาตั้งจัดที่นั่งถวายหลวงปู่มหาบัว

เมื่อท่านมาถึงก็รับจีวรจากท่านไปผึ่งที่สายระเดียงตากฟ้า ท่านนั่งบนเตียงที่จัดถวายหลวงปู่พร้อมด้วยพระอุปัฏฐากกราบด้วยความเคารพอ่อนน้อม เสร็จแล้วหลวงปู่มหาบัวจึงบอกหลวงปู่ว่า “เอ้านอนตามสบาย คนป่วย” แต่หลวงปู่ไม่ยอมนอน

หลวงปู่มหาบัวหยิบกล่องตลับหมากออกจากย่ามเล็กๆ ของท่าน แล้วฉันหมากไปพลางพูดคุยกับหลวงปู่อย่างเป็นกันเอง “ได้ทราบว่าไม่สบาย เลยตั้งใจมาเยี่ยม ไม่ใช่มาทรมานคนป่วยนะ เป็นอย่างไรบ้าง” หลวงปู่ยกมือขึ้นประนมแล้วกราบเรียนว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หมอบอกว่าเป็นโรคไตรั่ว โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่หมอนิมนต์ให้เกล้ากระผมไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่เกล้ากระผมไม่ไป”

หลวงปู่มหาบัวจึงพูดขึ้นว่า “ถ้ามันครึ่งต่อครึ่งก็ไม่ไปละ โรงพยาบาลก็ที่คนตายนั่นแหละ เตียงไหนคนไม่ตายใส่ไม่มีแหละ ถ้าเราไปหาหมอ หมอเขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา เราก็เหมือนกับท่อนไม้ท่อนซุงนั่นแหละ ไม่รู้ว่าเขาจะพลิกไปพลิกมาอย่างไรทำไปอย่างไรบ้างตามเรื่องของเขา หมอเขาไม่มีธรรมอะไรหละ มันอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ปล่อยเท่านั้นหละ”

เมื่อหลวงปู่มหาบัวท่านฉันหมากจืดคำหนึ่งแล้ว ท่านจึงพูดกับหลวงปู่อีกว่า “เอาละนะ จะกลับล่ะ ไม่มีอะไรจะเตือนกันหรอกนะ กัมมัฏฐานใหญ่เหมือนกัน” หลวงปู่พร้อมด้วยพระอุปัฏฐากกราบหลวงปู่มหาบัวด้วยความเคารพแล้ว หลวงปู่มหาบัวจึงหันไปพูดกับญาติโยมที่เข้ามากราบท่านในขณะนั้นว่า “ตั้งใจมาเยี่ยมอาจารย์บุญจันทร์ แต่ก่อนในคราวออกปฏิบัติ ท่านก็ออกปฏิบัติ เราก็ออกปฏิบัติ ได้เจอกัน ทุกข์ยากลำบากด้วยกัน เอาละกลับล่ะ เยี่ยมคนป่วยไม่รบกวนนานหรอก”

ผู้เขียนนำจีวรเข้ามาถวาย แล้วจะรับย่ามท่านไปส่งที่รถซึ่งจอดอยู่ข้างศาลา ท่านไม่ให้รับ ท่านบอกว่า “จะทำให้ดู” แล้วท่านก็เอาย่ามเล็กๆ ของท่านใส่บ่าสะพาย เอาจีวรที่จีบเรียบร้อยแล้ว ใส่ไว้ที่รักแร้ เอาแขนหนีบไว้ แล้วท่านก็ลุกเดิน พร้อมกับพูดว่า “นี้ทำอย่างนี้ ไปไหนตามกันเป็นพรวน เห็นไหมมันเน่าเฟะอยู่นั้น นี้ทำอย่างนี้ ดูเอา” แล้วท่านก็เดินไปหารถ ผู้เขียนก็เดินตามหลังท่านไปส่งที่รถ ซึ่งจอดอยู่ข้างศาลาห่างจากที่หลวงปู่พักอยู่ประมาณ 5 เส้น

เมื่อเดินไปถึงรถแล้ว ท่านคลี่จีวรออกห่มคลุม ผู้เขียนนั่งลงกลัดลูกดุมรังดุมถวายท่าน พอดีมีลูกศิษย์ของหลวงปู่ที่เป็นหมอเข้ามากราบเรียนหลวงปู่มหาบัวว่า “ลูกอยากจะนิมนต์ให้หลวงปู่บุญจันทร์ลงไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านอาจารย์จะมีความเห็นว่าอย่างไร” ท่านตอบว่า “ให้ไปถามท่านเองนะ ถ้าท่านไปก็ไป ท่านไม่ไปก็แล้วแต่ท่าน” เสร็จแล้วหลวงปู่มหาบัวท่านก็ขึ้นรถกลับ

อาการทรุดลงเรื่อยๆ

ฉันอาหารได้น้อยลงทุกวัน อาการบวมเพิ่มมากขึ้น แต่ท่านยังให้นำท่านลงจากวิหารกลางน้ำไปพักตามร่มไม้ จนถึงเวลาเย็นจึงให้นำกลับเข้าพักในวิหารกลางน้ำ

อย่าอยากเด่นอยากดัง

วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่พักอยู่ร่มไม้ ได้มีลูกศิษย์ลูกหาจากทางไกลมากราบเยี่ยมท่าน แล้วกลับไป หลวงปู่จึงเตือนพระลูกศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากว่า “อย่าอยากเด่นอยากดังนะ มันยุ่งยากลำบาก อยู่สงบๆ มันสบาย”

อิริยาบถยืน เดิน ได้สิ้นสุดลง

เย็นวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2538 หลังจากพยุงหลวงปู่ยืนขึ้นนั่งรถเข็นจากเพิงมุงหญ้าใต้ร่มไม้ กลับขึ้นวิหารกลางน้ำ หลวงปู่เริ่มมีอาการไข้

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ตอนเช้า หลวงปู่ฉันพวกน้ำซุปนิดหน่อย แล้วท่านจะอยู่ในอิริยาบถนอนตลอด มีไข้สูงตลอดวัน ท่านไม่ให้ใครรบกวนจับต้องตัวท่าน คืนวันที่ 8 หมอตรวจพบว่าอาการไข้เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และแขนซ้ายอักเสบเป็นผื่นแดง หมอจึงได้ขออนุญาตถวายยาปฏิชีวนะเข้าเส้น ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เวลาประมาณ 04.00 น. อาการของหลวงปู่ดีขึ้นในวันรุ่งขึ้น

แต่คณะญาติโยมเห็นว่าอาการบวมของหลวงปู่บวมมาก จึงอยากจะให้อาการบวมของหลวงปู่ลดลง แต่การจะทำให้บวมลดลง ต้องนอนโรงพยาบาลจึงจะมีเครื่องมือพร้อม จึงได้อ้อนวอนขอความเมตตาจากหลวงปู่ครั้งสุดท้าย เพื่อให้คณะศิษย์ได้ถวายการรักษา แต่หลวงปู่ไม่ยอมไป หมอให้สัญญากับหลวงปู่ว่า “ขอเพียง 3 วัน ถ้าไม่มีผลอย่างไรจะให้หลวงปู่กลับวัดได้” ในที่สุดหลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาแก่ศิษย์จึงอนุญาตให้ 3 วัน

คณะแพทย์จากโรงพยาบาลอำเภอไชยวาน ได้จัดรถพยาบาลถวายหลวงปู่ นำรถจอดที่ประตูทางเข้าวิหารกลางน้ำ นำเตียงรถพยาบาลเข้าไปในวิหารกลางน้ำ คณะศิษย์ผู้ชายช่วยกันยกหลวงปู่นอนบนเตียงพยาบาล แล้วหามมาขึ้นรถที่จอดอยู่หน้าประตูทางเข้า เวลาประมาณ 11.00 น. รถนำหลวงปู่ออกจากวัดมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลอุดรธานี ผู้เขียนนั่งอยู่ข้างๆ หลวงปู่ในรถพยาบาล ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าการนำท่านเคลื่อนไหวทำให้ท่านสัมผัสกับทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่องค์ท่านไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไร

เมื่อถึงโรงพยาบาลอุดรธานี หมอได้นำหลวงปู่เข้าพักที่ห้องพิเศษพระเถระ ตึกสงฆ์อาพาธ หมอได้ถวายน้ำเกลือเข้าเส้นและยาเพื่อจะทำให้ลดบวม แต่อาการไม่ดีขึ้นและเกิดการแทรกซ้อนทางหัวใจ จึงได้เชิญแพทย์ทางหัวใจเข้ามาตรวจอีก ในขณะที่แพทย์ทำการตรวจอยู่หลวงปู่จึงพูดว่า “ท่อนซุง ท่อนซุง” หลวงปู่พักรักษาอยู่ 1 คืน

Image
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

Image
หลวงปู่คำพอง ติสฺโส


เช้าวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2538 อาการไม่ดีขึ้น ท่านจึงเร่งให้เอาท่านกลับวัด ท่านบอกว่า “ไม่มีประโยชน์ดอก เอากลับวัด เอากลับวัด” หลังจากฉันเช้าเสร็จในวันนั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร พอดี ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก วัดป่านาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ได้เข้าไปเยี่ยมหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ขอให้ท่านเป็นผู้กราบเรียนหลวงปู่ ขอให้อยู่ครบ 3 วันก่อน เมื่อท่านอาจารย์อินทร์ถวายเข้าไปกราบเรียน หลวงปู่ท่านยืนยันเร่งให้เอาท่านกลับ

ในที่สุดคณะศิษยานุศิษย์ได้ปฏิบัติตาม ติดต่อรถพยาบาลนำหลวงปู่กลับวัด ขณะรอรถอยู่นั้น ท่านได้ถามเป็นระยะๆ ว่า “รถมาถึงหรือยัง ทำไมหายากแท้ ซื้อเอาก็ได้ตั้ว” หลวงปู่บอกให้ซื้อรถเพราะท่านอยากจะกลับถึงวัดให้เร็วที่สุด รถพยาบาลจอดที่หน้าตึกสงฆ์อาพาธ คณะศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันหามหลวงปู่ออกจากห้องพักพิเศษพระเถระ ชั้น 2 ตึกสงฆ์อาพาธลงไปขึ้นรถพยาบาลที่จอดอยู่หน้าตึก รถได้นำหลวงปู่กลับจากโรงพยาบาลอุดรธานีถึงวัดป่าสันติกาวาสเวลาประมาณบ่าย 3 โมงเย็น นำหลวงปู่เข้าพักรักษาต่อในวิหารกลางน้ำ

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำบุญต่ออายุถวายหลวงปู่ โดยนิมนต์ครูบาอาจารย์และพระสงฆ์จำนวน 100 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ถวายหลวงปู่เวลา 15.00 น. เสร็จแล้ว หลวงปู่คำพอง ติสฺโส เป็นองค์ประธานนำเครื่องสักการะเข้าไปถวายหลวงปู่ในห้องพักในวิหารกลางน้ำ พร้อมกับขอนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์อีกต่อไป ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้เป็นวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นวันโกน แต่ไม่ได้ถวายโกนผมให้หลวงปู่ เพราะเห็นว่าอาการของท่านอ่อนเพลียมาก

วันที่ 12 มิถุนายน อาการของหลวงปู่เหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อย ในวันนี้เป็นวันปาฏิโมกข์ หลังจากพระสงฆ์ลงปาฏิโมกข์แล้ว พระสงฆ์ 4 รูปจึงเข้าไปในห้องที่หลวงปู่อาพาธอยู่ หลวงปู่ไม่สามารถจะลุกขึ้นนั่งได้ ท่านจึงนอนบอกบริสุทธิ์แก่สงฆ์อยู่บนเตียงพยาบาล

วันที่ 13 มิถุนายน เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 เห็นว่าหลวงปู่มีอาการไม่เพลียมาก จึงขออนุญาตปลงผมถวายท่าน เป็นการปลงผมของหลวงปู่ครั้งสุดท้าย หลวงปู่หยุดน้ำที่เป็นประเภทอาหารตั้งแต่วันนี้ไป คงเหลือแต่น้ำธรรมดาพอให้ชุ่มคอ

วันที่ 14 มิถุนายน ทุกขเวทนาแสดงอาการเต็มที่ คณะศิษยานุศิษย์พยุงให้หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งอึดใจหนึ่ง แล้วต้องนำท่านนอนลง

วันที่ 15 มิถุนายน หลวงปู่ปิดวาจา ไม่พูดกับใครๆ ไตของหลวงปู่หยุดทำงาน ปัสสาวะไม่ออก น้ำท่วมปอด สะอึกตลอดเวลา เสลดอุดลำคอ ใช้เครื่องช่วยดูดเสลด หลวงปู่เริ่มหลับเวลา 07.45 น.

วันที่ 16 มิถุนายน หลวงปู่ไม่มีการตอบสนองในการรักษาใดๆ มีแต่ลมหายใจแผ่วๆ พอสังเกตได้ คณะแพทย์จึงมีความเห็นว่า ไม่สามารถแก้ไขอาการอาพาธครั้งนี้ได้ “สัพเพ สังขารา อนิจจาติ” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป ไม่มีใครจะมีอำนาจฉุดยึดสังขารไว้ได้ตามความปรารถนาของตน ดังนั้นคณะแพทย์จึงหยุดถวายการรักษา ตั้งแต่เวลา 14.10 น. เหลือเพียงถวายน้ำและเช็ดตัวหลวงปู่เป็นครั้งคราวเท่านั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้แต่เพียงเฝ้าดูอาการของหลวงปู่ ปล่อยให้สังขารเป็นไปตามความเป็นอนัตตาในตัวเอง

อาลัยอาวรณ์ในหลวงปู่ผู้มีพระคุณ

ข่าวการจะละสังขารของหลวงปู่ได้แพร่กระจายไปในหมู่ศิษยานุศิษย์ ผู้ที่เคยได้พึ่งพิงอิงอาศัยความร่มเย็นจากบารมีของหลวงปู่ทั้งใกล้ทั้งไกล ได้หลั่งไหลมาสู่วัดป่าสันติกาวาส บางคนบางหมู่มีรถก็นั่งรถมา บางคนบางหมู่ไม่มีรถก็เดินมา ทั้งเด็กหนุ่มสาวและคนแก่เฒ่า ทั้งเดินบ้างและวิ่งบ้าง สาวเท้าเข้าไวๆ จิตใจจดจ่ออยู่ที่หลวงปู่ กลัวท่านจะจากไปก่อน จะไม่ได้เห็นใจ ครั้นเมื่อมาถึงวัดป่าสันติกาวาสแล้วก็ทยอยกันขึ้นสู่ “วิหารกลางน้ำ” ซึ่งเป็นที่ที่หลวงปู่กำลังทำหน้าที่จะละสังขารเข้าสู่นิพพาน

เมื่อเข้าไปถึง หมู่ศิษยานุศิษย์ต่างคนต่างมีใจจดจ่อ ตามองจดจ้องไปที่ร่างสังขารของหลวงปู่ ซึ่งนอนแน่นิ่งอยู่ในห้องกระจก เพียงมีลมหายใจเข้าออกเหมือนคนนอนหลับ ส่วนมือก็ประนมขึ้นเหนือเกล้า ก้มกราบหลวงปู่ผู้เป็นที่รักสุดหัวใจ ทั้งสะอึกสะอื้น น้ำตานองหน้าด้วยความอาลัยอาวรณ์สุดหัวใจ ก้มกราบแล้วก้มกราบอีก หมู่แล้วหมู่เล่า ทยอยกันขึ้นลงในวิหารกลางน้ำ ตั้งแต่เวลากลางวันจนถึงย่างเข้าสองยาม ความสงบได้ปกคลุมทั่วบริเวณวัด คงเหลือแต่คณะศิษยานุศิษย์ พระสงฆ์สามเณร และฆราวาส ผู้มีหน้าที่ดูแลหลวงปู่ เปลี่ยนวาระกันนั่งทำความสงบ คอยสังเกตดูว่าหลวงปู่จะละสังขารเมื่อไร

กราบเรียนอาการให้หลวงปู่มหาบัวทราบ

เวลา 05.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถึงวัดป่าบ้านตาดสว่างใกล้เวลาหลวงปู่มหาบัวท่านจะลงศาลา ผู้เขียนจึงพบพระผู้อุปัฏฐากท่าน บอกความประสงค์ให้ทราบ พระอุปัฏฐากให้เข้าไปพบหลวงปู่ที่กุฏิ เมื่อเข้าไปถึงบก็ขึ้นไปบนกุฏิท่านด้วยความเคารพ มีสติกำหนดรู้อยู่ที่ใจ นั่งลงกราบท่าน 3 หนแล้ว

หลวงปู่มหาบัวท่านจึงถามว่า “มีธุระอะไร” ผู้เขียนยกมือประนมแล้วกราบเรียนท่านว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขณะนี้หลวงปู่บุญจันทร์หยุดการรับรู้ภายนอกแล้ว เหลือแต่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น และหมอได้หยุดถวายการรักษาใดๆ ทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าจะถวายการหยอดน้ำเป็นครั้งคราวจะสมควรหรือไม่”

หลวงปู่มหาบัวท่านตอบว่า “ถ้าเราหยอดแล้วท่านไม่แสดงอาการอย่างไรก็หยอดได้ แต่ถ้าท่านแสดงอาการไม่ยอมรับก็ให้หยุด” ท่านถามว่า “มีอะไรอีกไหม” กราบเรียนท่านว่า “ไม่มี” ท่านพูดว่า “เอาละ กลับได้” กราบท่าน 3 ครั้งแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

หลังจากฉันเช้าเสร็จ ผู้เขียนและพระเณรคณะศิษย์ของหลวงปู่ ได้เฝ้าดูหลวงปู่อยู่ในวิหารกลางน้ำ อาการของหลวงปู่ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ยังคงมีเพียงลมหายใจเข้าออก เหมือนคนนอนหลับ และมีอาการสะบัดศีรษะเป็นครั้งคราว คณะศิษย์ญาติโยม พระเณร ยังทยอยกันไปมากราบหลวงปู่บนวิหารกลางน้ำมิได้ขาด

หลวงปู่มหาบัวเข้าเยี่ยมดูอาการ

องค์หลวงปู่มหาบัวได้เดินทางมาถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ท่านได้เข้าไปห้องที่หลวงปู่อาพาธอยู่บนเตียงพยาบาล องค์หลวงปู่มหาบัวเข้าไปใกล้ๆ ข้างเตียง ยืนกำหนดเพ่งดูหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่ง แล้วถอยออกมานั่งเก้าอี้หวายที่จัดถวายท่านอยู่ข้างๆ เตียงหลวงปู่ พระที่คอยดูแลอยู่ในห้องอาพาธหลวงปู่ 4-5 องค์ พร้อมกันกราบองค์หลวงปู่มหาบัว แล้วท่านจึงถามอาการของหลวงปู่ว่า “ศีรษะสะบัดอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ หรือ” ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า “เป็นอยู่เรื่อยๆ” ท่านนั่งอยู่ในห้องครู่หนึ่ง แล้วจึงออกมานั่งห้องโถงที่หลวงปู่เคยนั่งรับแขก

คณะศิษยานุศิษย์ญาติโยมที่รออยู่ ต่างพากันก้มกราบนมัสการองค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ด้วยความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง องค์หลวงปู่มหาบัวได้ให้โอวาทเตือนคณะศิษยานุศิษย์ญาติโยม ที่นั่งห้องล้อมท่านอยู่ในขณะนั้นว่า “อาจารย์บุญจันทร์แสดงสัจธรรมความจริงให้พวกเราดู พากันดูเอา น้อมเข้ามาหาตัวเรา ในที่สุดเราก็จะเป็นเหมือนกับท่าน”

เมื่อให้โอวาทจบแล้วท่านจึงถามว่า “มีที่พักไหม จะคอยดูอาการท่านบุญจันทร์สักหน่อย ถ้าไม่มีที่พักก็จะกลับ” ผู้เขียนจึงกราบเรียนท่านว่า “มี เกล้ากระผม” แล้วจึงให้พระเณรจัดที่กุฏิเก่าของหลวงปู่ถวายให้ท่านพัก พระเณรพากันเข้าไปถวายนวด ท่านพูดคุยเรื่องธรรมะให้เป็นคติแก่พระเณรที่ถวายนวดอย่างเป็นกันเอง

จนถึงเวลาบ่าย 2 โมง ท่านจึงถามถึงอาการหลวงปู่ ผู้เขียนกราบเรียนถวายท่านว่า “ยังเหมือนเดิม” แล้วองค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงเดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ตลอดทั้งวันจนถึงกลางคืน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ได้ทยอยกันมาสู่วิหารกลางน้ำ อันเป็นที่ที่หลวงปู่จะละสังขารวิบาก แต่ละคนมีความกระวนกระวายใจไม่เป็นอันอยู่อันกิน กลับไปกลับมาระหว่างบ้านกับวัด มีความอาลัยในหลวงปู่ ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่กำลังจะโค่นจากไปในไม่ช้า ทุกดวงใจคิดว่าหลวงปู่ต้องจากไปในคืนนี้อย่างแน่นอน บางคนถึงกับเอาเสื่อสาดมาปูตามร่มไม้รอบๆ วิหารหลวงปู่ ทั้งนั่งนอนเพื่อคอยดูจะได้รู้ทันในเวลาหลวงปู่สิ้นลมปราณ ตอนหัวค่ำความมืดได้ปกคลุมทั่วบริเวณวัด

จนเวลาล่วงเลยไปถึง 4-5 ทุ่ม พระจันทร์ข้างแรมในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 7 จึงได้สาดแสงสว่าง ลอดแนวไม้ลงสู่พื้นบริเวณวัด มองเห็นคณะศิษย์ของหลวงปู่ที่นั่งอยู่ใต้ร่มไม้เพื่อหลบน้ำค้าง บ้างก็นั่งอยู่กลางแจ้ง บ้างก็นั่งสมาธิภาวนา บ้างก็นั่งซุบซิบกันว่า เราจะทำอย่างไร เมื่อหลวงปู่ละสังขารจากไป บ้างก็คุยกันว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนเมื่อหลวงปู่จากไปแล้ว บ้างก็วิตกกังวลว่าต่อไปนี้เราจะพึ่งใคร ก้อนเมฆไหลผ่านบดบังพระจันทร์ ทำให้แสงสว่างสลัวลง เหมือนกับจะบอกว่าหลวงปู่จะจากไป แต่แล้วก้อนเมฆก็ผ่านไป แสงจันทร์สว่างขึ้น

เวลาผ่านไปถึงตีสาม เสียงไก่แจ้ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ในบริเวณวัด ส่งเสียงขันเจื้อยแจ้วทั่วไปในบริเวณวัดเป็นสัญญาณบอกว่า “บัดนี้ใกล้สว่างแล้ว ประทีบแก้วจวนจะดับแล้วเต็มที จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท” ใกล้สว่างพระปฏิบัติในห้องอาพาธหลวงปู่ช่วยกันสรงองค์หลวงปู่ด้วยการเช็ดตัวด้วยผ้าหมาด เสร็จแล้วช่วยกันพยุงองค์หลวงปู่จากท่านอนหงายเป็นนอนตะแคงข้างขวาสีหไสยาสน์ หลวงปู่ยังหายใจเข้าออกเหมือนคนนอนหลับ

Image
หนองน้ำอันเป็นที่ตั้งของ “วิหารกลางน้ำ” วัดป่าสันติกาวาส
สถานที่ที่หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ละสังขาร



วันแห่งดวงประทีบแก้วลาลับดับแล้วจากวัฏฏสงสาร

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้ว ดูอาการของหลวงปู่เหมือนคนนอนหลับ ผู้เขียนจึงลงจากวิหารกลางน้ำมาพบกับลูกศิษย์ที่มาจากบ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อยู่ที่โรงต้มน้ำร้อนหน้าศาลาการเปรียญ เวลาประมาณ 10.30 น. เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาจอดข้างศาลา มองไปดูในใจคิดว่าเหมือนกับรถองค์หลวงปู่มหาบัว พอรถจอดแล้วท่านเปิดประตูรถออกมาเป็นองค์หลวงปู่มหาบัวจริงๆ

ผู้เขียนจึงรีบลุกไปรับท่าน ท่านบอกว่า “ไป รีบพาไปหาท่านบุญจันทร์” ผู้เขียนเดินนำท่านไปที่วิหารกลางน้ำ พอถึง องค์หลวงปู่มหาบัวท่านรีบเข้าไปในห้องอาพาธของหลวงปู่ ท่านยืนใกล้ๆ ทางศีรษะหลวงปู่ แล้วท่านเอามือท่านเปิดผ้าที่ปิดหน้าผากหลวงปู่ออกดู พร้อมกับพูดว่า “วันนี้บวมมากกว่าวานนี้” ในขณะนั้นหลวงปู่ได้หายใจเบาลง เหมือนกับจะขยิบตาเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็หยุดหายใจละธาตุขันธ์ไปในที่สุดเมื่อเวลา 10.52 น.

องค์หลวงปู่มหาบัวถอยไปนั่งเก้าอี้ แล้วมองดูหลวงปู่พร้อมกับพูดว่า “เอ้า หยุดหายใจแล้ว” ระยะเวลาที่องค์หลวงปู่มหาบัวเข้าเยี่ยมอาการใช้เวลาเพียง 1.30 นาที ในขณะที่หลวงปู่ปล่อยวางขันธ์ห้านั้นเหมือนกับโลกธาตุนี้สงบนิ่งไม่มีอะไรเลย


หลังจากหลวงปู่ได้ละธาตุขันธ์แล้ว องค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงมอบหน้าที่ให้คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ จัดการเรื่องสรีระศพของหลวงปู่ แล้วท่านจึงออกจากห้องที่หลวงปู่ละสังขารมานั่งที่ห้องโถง จากนั้นเสียงระฆังในวัดได้ดังขึ้น เป็นสัญญาณให้รู้ว่าหลวงปู่ได้จากไป ดวงประทีบแก้วที่เคยให้แสงสว่างได้ดับลงแล้ว เหลือแต่ความมืดมนอนธกาลและความเศร้าสลดในหมู่ศิษยานุศิษย์ เมื่อได้ยินเสียงระฆังต่างคนก็รู้ว่าหลวงปู่ได้จากไป ต่างก็มารวมกันในมณฑล “วิหารกลางน้ำ” อันเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ละสังขาร สำหรับลูกศิษย์ผู้ชายและพระเณรก็เข้าในห้องที่หลวงปู่ละสังขาร ส่วนลูกศิษย์พวกผู้หญิงก็อยู่ข้างนอกห้อง มองผ่านกระจกเข้าไปดูองค์หลวงปู่ ซึ่งเหลือแต่รูปธาตุนอนนิ่งสงบอยู่ เป็นเวลาที่คณะศิษยานุศิษย์อดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ บางคนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น บางคนก็น้ำตาไหลได้แต่ปลงธรรมสังเวช

“อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดแล้วย่อมดับไป เตสํ วูปสโม สุโข ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้นได้ย่อมนำมาซึ่งความสุข” บัดนี้หลวงปู่ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาสู่โลกนี้อีกแล้ว แต่หลวงปู่เคยสอนว่า “บุคคลใดประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และระลึกถึงหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะอยู่กับบุคคลผู้นั้นแหละ ผู้ใดขาดการปฏิบัติขาดการระลึกถึง หลวงปู่ก็ไม่อยู่กับบุคคลผู้นั้น”

คณะศิษยานุศิษย์ได้นำสรีระศพของหลวงปู่เข้าไปถวายการสรงน้ำในห้องน้ำสำหรับหลวงปู่ แล้วนำออกมาเปลี่ยนผ้าครองผ้าใหม่ถวาย แล้วนำองค์หลวงปู่นอนบนเตียงพยาบาล หมอปิดผ้าม่านฉีดยาสรีระศพ คณะศิษยานุศิษย์ยังรวมกันอยู่เต็มในวิหารกลางน้ำ องค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงบอกว่า “เราจะไปพักคอย เมื่อจัดการกันเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงไปบอกให้ทราบ”

ผู้เขียนจึงจัดให้พระเณรนำท่านไปพักที่กุฏิของหลวงปู่ พระเณรถวายนวดท่านตามที่เคยปฏิบัติ หลวงปู่มหาบัวปรารภกับพระเณรที่คอยถวายนวดท่านว่า “ท่านบุญจันทร์คอยเรา พอเรามาถึงเข้าไปเยี่ยมก็ไปเลย”

หลวงปู่ท่านเคยกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า “หลายชาติที่ผ่านมา เคยเป็นเก้งเป็นกวาง หมูป่าและควายป่ามาอาศัยน้ำที่หนองน้ำนี้ ตายอยู่ที่นี่หลายภพหลายชาติแล้ว ในชาตินี้ก็จะตายอยู่ที่นี่อีกแหละ”



(มีต่อ 21)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 31 พ.ค.2007, 2:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
องค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด
เมตตาเป็นประธานสรงน้ำศพหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล



องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานสรงน้ำศพ

เมื่อจัดการฉีดยาสรีระศพหลวงปู่เสร็จแล้ว จึงนำองค์หลวงปู่ออกจากห้องละสังขาร มาจัดไว้ที่ห้องโถง เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้และเตรียมสรงน้ำศพหลวงปู่ ทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงไปกราบเรียนให้หลวงปู่มหาบัวทราบ เวลา 14.00 น. องค์หลวงปู่มหาบัวลงสู่วิหารกลางน้ำ ชักผ้ามหาบังสุกุลที่ศพหลวงปู่ เสร็จแล้วท่านนั่งที่อาสนะ ผู้เขียนเข้ากราบเรียนเรื่องจัดการสรีระศพหลวงปู่ และขอถวายให้องค์ท่านเป็นประธานในการนี้ด้วย ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ จะให้เอาไว้กี่วัน”

ท่านตอบว่า “เรื่องนี้ผมไม่พูดหรอกนะ ถ้าผมพูดไปคนจะตกนรกมาก เรื่องกิเลสมันท่วมท้นอยู่แล้ว ถ้าเป็นผมละไม่ยากหรอก พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดาก็เพียง 7-8 วันเท่านั้นแหละ นี้ให้พิจารณาเองเองนะ ตามสมควร” แล้วท่านเมตตาถามว่า “หีบศพมีแล้วหรือยัง” เรียนถวายท่านว่า “มีแล้ว เกล้ากระผม”

สำหรับเรื่องหีบศพนั้น อาจารย์ประจวบ ยูนิพันธ์ พร้อมครอบครัว ได้สร้างหีบในเป็นหีบทอง หีบนอกประดับมุก นำมาถวายไว้ตอนหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่

จากนั้นจึงกราบนิมนต์ให้องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานนำสรงน้ำศพหลวงปู่ ต่อด้วยพระภิกษุสามเณร เสร็จแล้วจึงเป็นคณะศรัทธาญาติโยม ในขณะที่คณะศรัทธาญาติโยมกำลังชุลมุนกันจะสรงน้ำศพหลวงปู่อยู่นั้น องค์หลวงปู่มหาบัวท่านขอกลับก่อน ท่านว่า “ให้หลวงตาไปก่อน” ว่าแล้วท่านก็ออกจากวิหารกลางน้ำไปขึ้นรถที่จอดอยู่ข้างศาลาการเปรียญ เดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

คณะศิษยานุศิษย์หมุนเวียนกันเข้าสู่วิหารกลางน้ำ สรงน้ำสรีระศพหลวงปู่จนถึงเวลา 16.00 น. จึงเคลื่อนสรีระศพของหลวงปู่ออกจากวิหารกลางน้ำ ขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ

ให้โอวาทแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ถวายน้ำสรงศพหลวงปู่ไปจนถึงวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เวลา 17.00 น. จึงได้นำสรีระของหลวงปู่เข้าบรรจุในหีบ ตั้งบำเพ็ญกุศลบนศาลาการเปรียญ เวลา 19.00 น. พระภิกษุสามเณรและญาติโยมประชุมทำวัตรเย็น ต่อด้วยการสวดมนต์ถวายหลวงปู่ เวลา 20.00 น. พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระอภิธรรม โดยมีคณะศิษยานุศิษย์เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม

หลังจากองค์หลวงปู่มหาบัวได้มอบหน้าที่ให้คณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่ พิจารณาตัดสินใจในการจัดการสรีระศพของหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์ได้ประชุมลงมติว่า ถ้าจะเอาไว้ 7 วัน การเตรียมสถานที่จะพระราชทานเพลิงศพจะไม่ทัน จึงเลื่อนไปเป็น 15 วัน คือวันที่ 2 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่าไปตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะศิษยานุศิษย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการไม่สะดวกในการที่จะปฏิบัติงานถวายหลวงปู่ จึงขอเลื่อนไปเป็น 21 วัน คือวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ

ตั้งสรีระศพบำเพ็ญกุศลบนศาลาการเปรียญ

นับตั้งแต่คืนวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อบูชาพระคุณของหลวงปู่ โดยได้ประชุมทำวัตรสวดมนต์ ฟังสวดพระอภิธรรม และฟังพระธรรมเทศนาในเวลากลางคืนทุกคืน สำหรับเวลาเช้าคณะศรัทธาญาติโยมได้มารวมกันทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรในบริเวณวัด และได้ช่วยกันเตรียมจัดทำเมรุสำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ จนกระทั่งถึงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 คณะศิษยานุศิษย์ต่างมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ เพื่อบูชาพระคุณของหลวงปู่ ซึ่งเป็นที่เคารพรักบูชาด้วยความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

แต่ละวันได้มีครูบาอาจารย์พระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ได้มากราบคารวะศพของหลวงปู่มิได้ขาด องค์หลวงปู่มหาบัวท่านก็ได้เมตตาเยี่ยมดูความเรียบร้อยในการเตรียมงานถึง 2 ครั้งก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ และผู้เขียนได้เดินทางไปที่วัดป่าบ้านตาดเพื่อกราบอาราธนานิมนต์ ขอให้องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นองค์แสดงธรรมในวันพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ด้วย ท่านรับด้วยความเมตตา และพูดออกตัวว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ได้เทศน์ที่ไหนแล้ว ความจำก็ลืมหน้าลืมหลัง ธาตุขันธ์ก็อย่างนั้นแหละ ดูก่อนว่าจะเป็นอย่างไร”

Image
หลวงปู่จันทา ถาวโร

Image
พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม

Image
พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน ผู้เขียนประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล


กำหนดการพระราชทานเพลิงศพพระครูศาสนูปกรณ์
(หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2538


เวลา 7.00 น. พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน รับบิณฑบาตในบริเวณวัด ได้มีคณะศรัทธาญาติโยมทั้งใกล้ทั้งไกลหลั่งไหลมาทำบุญตักบาตรจนเต็มในบริเวณวัด ทั้งตั้งโรงครัวโรงทานอาหารต่างๆ หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จแล้ว ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร

เวลา 9.00 น. หลวงปู่จันทา ถาวโร นำทำพิธีกราบคารวะศพหลวงปู่ เสร็จแล้วเคลื่อนศพจากศาลาการเปรียญไปสู่เมรุ ตั้งบนจิตตกาธาน

เวลา 13.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชญาณวิสุทธิโสภณ จบแล้วพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมในงานประมาณ 1000 รูป สวดมาติกาบังสุกุล จบแล้วถวายปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนา

เวลา 16.00 น. นายวิเชียร พัสถาน นายอำเภอไชยวาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอไชยวาน นำไฟพระราชทานจากที่ว่าการอำเภอไชยวานมาถึงวัด นำขึ้นไปประดิษฐานบนเมรุ จากนั้นเป็นพิธีทอดผ้าป่ามหาบังสุกุล พระสงฆ์ 10 รูป ชักผ้ามหาบังสุกุล องค์ที่ 10 ได้แก่ หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นองค์ชักผ้ามหาบังสุกุลสุดท้าย เสร็จแล้วรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานวางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทาน เสร็จแล้วต่อด้วยคณะข้าราชการและพ่อค้าประชาชนเป็นจำนวนมากขึ้นวางดอกไม้จันทน์ โดยขึ้นบันไดทางทิศตะวันตก ลงบันไดทางทิศเหนือ องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ วางดอกไม้จันทน์ต่อด้วยคณะพระเถระและพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ขึ้นบันไดทางทิศใต้ ลงบันไดทางทิศตะวันออก

เมื่อหลวงปู่มหาบัวเป็นประธานวางดอกไม้จันทน์แล้ว ท่านได้เมตตานั่งคอยในปะรำพิธีจนถึงเวลา 18.00 น. หลังจากประชาชนขึ้นวางดอกไม้จันทน์บนเมรุเบาบางแล้ว จึงได้กราบอาราธนาองค์ท่านเป็นองค์ประธานจุดเพลิงจริง แล้วต่อด้วยคณะศิษยานุศิษย์ที่ยังรอคอยถวายเพลิงจริงแด่สรีระศพของหลวงปู่ พระเพลิงได้ลุกขึ้นเป็นเปลวแดง ส่องแสงสว่างในเวลาพลบค่ำ กำลังทำหน้าที่เผาผลาญสรีระของหลวงปู่ให้ย่อยยับไปตามสภาพอนัตตา

ส่วนองค์หลวงปู่มหาบัวหลังจากท่านจุดเพลิงจริงที่จิตกาธานแล้ว ท่านเดินลงจากเมรุกลับไปที่กุฏิของหลวงปู่ ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม และผู้เขียน ได้ตามท่านไปขอนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำก่อน แต่ท่านไม่สรง ท่านบอกว่าจะกลับเลย คนขับได้เตรียมรถรออยู่หน้ากุฏิหลวงปู่แล้ว ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าและผู้เขียน พร้อมพระเณร ได้นมัสการส่งท่านที่รถ ก่อนท่านจะขึ้นรถ ท่านได้เมตตามอบงานทุกอย่างว่า “เอาละ ทีนี้ให้พากันทำเอานะ” แล้วท่านก็ขึ้นรถพร้อมกับพระติดตามเดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

หลังจากองค์หลวงปู่มหาบัวเดินทางกลับแล้ว ความมืดได้ปกคลุมเข้ามา เหลือแต่แสงไฟเป็นเปลวแดงอยู่ที่เชิงตะกอนศพหลวงปู่ และแสงไฟฟ้าจากนีออนที่ติดอยู่ในบริเวณวัดและรอบเมรุ แสงจันทร์ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 สาดแสงจากท้องฟ้าสู่พื้นดิน พอให้คนที่เดินไปมาได้มองเห็นทาง ทำให้เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าที่นำรถเครื่องไฟฟ้าสำรองมาคอยช่วย ความเรียบร้อยของไฟฟ้าในงานผ่านมาได้สองวันแล้ว เมื่อเห็นว่างานใกล้จะสิ้นสุด และไม่มีความขัดข้องทางไฟฟ้าเกิดขึ้น ช่างผู้เป็นหัวหน้าจึงสั่งให้นำรถเครื่องไฟฟ้ากลับไป พอรถเครื่องไฟฟ้าวิ่งพ้นเขตวัดออกไป เกิดเหตุอัศจรรย์ไฟฟ้าดับหมดทั่วบริเวณวัด เหลือแต่แสงจันทร์สาดแสงผ่านยอดไม้ลงมา และแสงไฟจากเชิงตะกอนบนเมรุเผาศพหลวงปู่ กับแสงตะเกียงน้ำมันที่จุดบูชาอยู่รอบเมรุ แสงไฟเทียนจุดตามโรงทาน และบนศาลาการเปรียญที่กำลังประชุมทำวัตรสวดมนต์ ส่องแสงวอมๆ แวมๆ

มองดูบรรยากาศในขณะนั้น ช่างเป็นธรรมชาติเสียจริงๆ เหมือนกับว่าหลวงปู่ท่านจงใจอยากจะให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้รู้ว่า บรรยากาศธรรมชาติในอดีตที่ผ่านมา นับจากนี้ย้อนหลังกลับไป 20 ปี หลวงปู่และพระเณรลูกศิษย์ลูกหาใช้น้ำมันก๊าดและเทียนไขตรารถไฟและผีเสื้อ จุดเดินจงกรมทำความเพียรและกิจอื่น ดูเป็นธรรมชาติที่เยือกเย็น เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ช่างหัวหน้าไฟฟ้าวิทยุจึงรีบเรียกรถเครื่องไฟฟ้าให้กลับมา พอกลับมาถึงวัด ไฟฟ้าก็ติดเป็นปกติอย่างเดิม

เวลา 20.00 น. ประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่ศาลาการเปรียญ เสร็จแล้วมีแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตภาวนาโดย หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จนถึงเวลาอันสมควร

เก็บอัฐิธาตุ

วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน

เวลา 02.00 น. สรีระของหลวงปู่ได้ถูกพระเพลิงที่อาศัยถ่านและท่อนไม้จันทน์หอม ซึ่งนำมาจากประเทศลาวและไม้ตระไคร่ต้นไม้แปลกที่นำมาจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเชื้อเพลิง ได้เผาไหม้จนเหลือแต่อัฐิธาตุ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสที่มีหน้าที่ดูแลการเผาสรีระหลวงปู่ โดยมีท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นพร้อมกันว่า ควรจะนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ในเวลา 02.00 น. นั้น เพราะถ้าปล่อยให้สว่างก่อนจึงเก็บจะเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากบรรดาศิษยานุศิษย์ต่างมีความจดจ่อในการที่จะได้อัฐิธาตุของหลวงปู่ไปไว้สักการบูชา

บางคนถึงกับมานั่งเฝ้านอนเฝ้าก็มี แต่ในระยะเวลา 02.00 น. นั้น ได้ถูกความง่วงครอบงำ พากันหลับสบายอยู่บนศาลาก็มี อยู่ตามร่มไม้ข้างๆ เมรุก็มี เป็นโอกาสดีที่จะไม่เกิดความวุ่นวาย จึงได้พร้อมกันนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุในเวลา 02.00 น. ส่วนที่เป็นอัฐิธาตุได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนฝุ่นอังคารเถ้าถ่านได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการได้เก็บอัฐิธาตุและอังคารเถ้าถ่านเสร็จแล้ว พอใกล้สว่างต่างคนต่างทยอยกันมาที่เมรุ คนที่นอนเฝ้าก็ตื่นขึ้นไปดูที่เมรุก็เหลือแต่เตาอิฐ ชุลมุนกันเก็บฝุ่นเถ้าที่เหลือติดเตาอยู่ บ้างก็เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดตามก้อนอิฐในเตา เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เถ้าถ่านอังคารธาตุของหลวงปู่ไปไว้บูชา

เวลา 06.00 น. ทำพิธีสามหาบ พระสงฆ์ 4 รูปบังสุกุลอัฐิธาตุ

เวลา 07.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ทำบุญตักบาตรรอบวิหารกลางน้ำหลวงปู่ พระสงฆ์รับบิณฑบาต จากนั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิธาตุหลวงปู่ จบแล้วถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธีในการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่

แจกอัฐิธาตุ

หลังจากเสร็จภัตตกิจ พระภิกษุสามเณรฉันภัตตาหารเสร็จ และคณะศรัทธาญาติโยมที่มาร่วมในงานทั้งใกล้และไกลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เป็นประธานในการแจกอัฐิธาตุ-อังคารธาตุของหลวงปู่ให้แก่ศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในงาน ได้นำไปไว้สักการบูชาโดยทั่วถึงกัน อัฐิธาตุอีกส่วนหนึ่งก็ได้เก็บไว้เพื่อบรรจุในเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่ “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ต่อไป

เมื่อการแจกอัฐิธาตุ-อังคารธาตุของหลวงปู่เสร็จสิ้นลง คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ที่ได้มาร่วมกันช่วยงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ต่างก็ได้ร่ำลากันด้วยความเอิบอิ่มในบุญกุศลที่ได้ร่วมกันกระทำ เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาพระคุณของหลวงปู่ในคราวครั้งนี้โดยทั่วกัน และก่อนจะเดินทางกลับสู่สถานที่อยู่ของตน ต่างก็พากันไปกราบแสดงความอาลัยและกราบลาหลวงปู่ที่เมรุ แล้วจึงเดินทางกลับสถานที่อยู่ของตน

Image
พระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์”
ซึ่งออกแบบคล้ายๆ พระธาตุพนม เพราะหลวงปู่ได้เอาพระธาตุพนมเป็นที่ตั้งจิตอธิษฐาน
เพื่อความมั่นใจในการประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร



อนุสรณ์สถานของหลวงปู่

การพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่เสร็จสิ้นผ่านไป คณะศิษยานุศิษย์มีความเห็นว่า ควรจะสร้างอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ไว้ เพื่อเป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป คุณวิชิต คงประกายวุฒิ จึงรับภาระในการออกแบบเจดีย์ คณะศิษยานุศิษย์ขอให้เป็นแบบคล้ายๆ พระธาตุพนม เพราะหลวงปู่ท่านผูกพันกับพระธาตุพนม ท่านได้เดินธุดงค์ไปนมัสการถึง 2 ครั้ง เมื่อคุณวิชิตออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด เพื่อกราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มหาบัวว่า ท่านจะเห็นสมควรให้สร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่บุญจันทร์หรือไม่ ซึ่งท่านไม่ขัดข้องให้ทำไปเลย จึงกำหนดการวางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ในวันที่ 24 พฤศจิกาย พ.ศ. 2538

ครั้นถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด กราบเรียนขอนิมนต์องค์หลวงปู่มหาบัวมาเป็นประธานวางศิลามงคล ท่านบอกว่า “เราจะตายเพราะคนแล้ว เดี๋ยวนี้ธาตุขันธ์ไม่อำนวย ขอให้พากันทำเอาเลยนะ” ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดการ จึงได้กราบนิมนต์ หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม) จังหวัดสกลนคร เป็นองค์วางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และทำพิธีเททองหล่อยอดเจดีย์และยอดฉัตรทองคำด้วย คณะศิษยานุศิษย์ได้มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก และยังได้หล่อรูปเหมือนในท่ายืนขนาดใหญ่กว่าองค์จริงหลวงปู่ เพื่อประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์หลวงปู่ด้วย

หลังจากวางศิลามงคลแล้ว วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2540 ช่างได้ลงมือก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ของหลวงปู่ “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ตามโครงการจะให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2542 เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนส่วนยอด และจะบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ไว้ระหว่างกลางองค์เจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาต่อไปชั่วกาลนาน

ดอกโกมุทปทุมชาติ ผุดขึ้นจากโคลนตม เจริญขึ้นเหนือน้ำ แย้มกลีบบานส่งกลิ่นหอมทั่วสารทิศ ไม่มีประมาณ ถึงกาลเวลาดอกปทุมชาติร่วงโรยไป คงเหลือไว้แต่กลิ่นหอมฟุ้งขจรในโลกา หลวงปู่ได้อุบัติขึ้นในตระกูลชาวนา ได้ปฏิบัติองค์ตรงตามทางอริยมรรคด้วยความไม่ประมาท ถึงซึ่งความเบิกบานในธรรม ให้ความเมตตาแก่ศิษย์ทั่วทุกทิศ บัดนี้ได้ละสังขารจากไป คงเหลือไว้แต่เกียรติคุณความดี เป็นเครื่องหมายในโลกา

ธรรมจักร พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
มรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538
ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีกุน เวลา 10.52 น.
ณ วิหารกลางน้ำ วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี
สิริอายุรวมได้ 78 ปี 9 เดือน 3 วัน พรรษา 59

บรรพชาเป็นสามเณร 2 พรรษา
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ 59 พรรษา


Image
อัฐิหลวงปู่บุญจันทร์แปรสภาพเป็นพระธาตุ

Image

Image
พระธาตุหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล



.............................................................

เทียน คัดลอกเนื้อหามาจาก :: หนังสือกมโล ผู้งามดั่งดอกบัว
ประวัติและพระธรรมเทศนา พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
ธรรมานุสรณ์ วัดป่าสันติกาวาส ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี
พระครูเมตตากิตติคุณ (พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน) ผู้เขียนประวัติ
พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ ครั้งที่ ๑
จากเว็บไซต์ http://kamalo.50megs.com/
สาธุ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ :: คุณ chatpong
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 06 ส.ค. 2009, 10:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22459

• ประมวลภาพ “หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42448

• รวมคำสอน “หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44294
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง