Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 กลวิธีแก้ทุกข์ประจำ (ถอดมาจากคำบรรยายของ พท.ปิ่น มุทุกัณฑ์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กิตติพันธ์
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 29 พ.ค. 2008
ตอบ: 48

ตอบตอบเมื่อ: 15 ต.ค.2008, 5:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กลวิธีแก้ทุกข์ประจำ
(ถอดมาจากคำบรรยายของ พท.ปิ่น มุทุกัณฑ์)


ท่านผู้ฟังถูกข้าพเจ้าทรมานให้นั่งฟังเรื่องทุกข์เสียยืดยาว คงจะนึกรำคาญ และคิดเร่งอยู่ในใจว่า เมื่อไรจะบอกแก้ทุกข์สักที ข้าพเจ้าเองก็ชักเฝือเต็มที่เหมือนกัน บอกแล้วว่าโลกธรรมข้อสุดท้ายนี้มันครอบโลกจริงๆ พูดๆ ไปก็เหมือนแล่นเรือลงทะเล มีแต่ความเวิ้งว้างเลยจะกลับเข้าฝั่งไม่ถูกเอา

เพื่อตัดความยุ่งไปเสียตอนหนึ่ง และผ่อนคลายความฟั่นเฝือลงเสียบ้าง จึงขอเสนอกลแก้ทุกข์ เฉพาะที่เป็นทุกข์ประจำเสียตอนหนึ่งก่อน ส่วนเรื่องทุกข์จะค่อยว่าอีกตอนหนึ่งต่างหากดีกว่า

ทุกข์ประจำคือ เกิด แก่ ตาย เป็นทุกข์ชั้นแนวหน้าทั้งสามทุกข์ แต่เรื่องเกิดเอาเป็นผ่านได้ไม่ต้องวางกลแก้ เพราะชาตินี้เกิดมาแล้วๆ ก็แล้วกันไป เรื่องทุกข์เพราะแก่ก็ได้ขมวดเข้าแล้วว่า ที่คนไม่ชอบแก่ ข้อสำคัญก็คือเห็นว่าความแก่มันอยู่ใกล้กับความตาย ที่เกลียดที่กลัวจริงๆ คือ ความตาย ทีนี้แก่มันอยู่ใกล้กับความตาย ก็เลยพลอยเกลียดรวมกันไปเสียด้วย เพราะฉะนั้นการวางกลแก้ทุกข์จึงควรเล็งเข้าหาความตายเลย ถ้าแก้ทุกข์เพราะตายตก ทุกข์เพราะแก่จะไปไหนรอด

กลที่ ๑ นึกถึงตายบ่อยๆ

การนึกถึงตาย เป็นข้อปฏิบัติจำเป็นอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และทรงย้ำในเรื่องนี้มาก คือ ต้องนึก ไม่นึกไม่ได้เสีย

วิธีนึก ก็นึกง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก นึกในท่าไหน และในเวลาใด ไม่ขัดข้อง ข้อสำคัญคือให้นึกบ่อยๆ ก็แล้วกัน คำที่นึกก็ว่าง่ายๆ ว่า “เราจะต้องตายเป็นธรรมมา” หรือว่า “ที่สุดเราก็ตาย” หรือว่า “ความตายใกล้เขามาแล้ว” หรือจะว่า “ตายแน่ๆ” หรือคำอื่นๆ ก็ได้ ข้อสำคัญให้ได้นึกถึงความตายก็แล้วกัน เหมือนกับเราคิดถึงคนๆ หนึ่งจะนำถึงชื่อเขา นึกถึงใบหน้าเขา หรือนึกถึงรูปร่างเขา ก็เป็นอันได้นึกถึงเหมือนกัน ให้คนนั้นได้แว่วขึ้นมาในใจเป็นพอ และจะนั่งนึกนอนนึกได้ผลเท่ากัน

การที่เรากลัวตาย และพระมาสอนให้นึกถึงความตาย ขัดความรู้ของชาวบ้านกลัวแล้วทำไมจึงไปนึกถึงมัน พูดกันอย่างไม่เกรงใจพระ วิธีนี้ชาวบ้านส่วนมาไม่เห็นด้วยเลย เพราะความรู้สึกชาวบ้านเห็นว่ากลัวแล้วต้องหนีไม่ให้พบ ไม่ให้เห็น เหมือนเด็กทารกเมื่อเห็นอะไรน่ากลัวก็เอามือปิดตาตัวเองเสีย เพื่อไม่ให้เห็น ซึ่งการปิดตาตัวเองนั้น ไม่ได้ทำให้สิ่งที่น่ากลัวนั้นหายไปเลย เพียงแต่ทำไม่ให้เห็นตัวสิ่งนั้นเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องกลัวตายของชาวบ้านก็เหมือนกัน คือเพียงแต่พยายามที่จะไม่ให้ตัวเองคิดถึงความตายเท่านั้น ชาวบ้านส่วนมากใช้วิธีนี้ จนถึงกับเกิดมีประชาบัญญัติ คือข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องตายนี้อยู่เป็นอันมาก ขั้นที่สุดใครพูดถึงความตาย ก็มักถูกผู้ใหญ่ห้าม ถือเป็นลางไม่ดี แม้แต่พระท่านเอาบทสวดมนต์บางบทที่เคยสวดในงานศพ มาสวดในงานอื่น ๆ ก็เลยพลอยถือว่าพระทำไม่ถูก และเจ้าของงานก็ใจแป้ว หนักเข้าพระท่านทนสงสารไม่ได้ ก็เลยตามใจชาวบ้านอย่างเช่นทุกวันนี้บทสวดมนต์ในงานมงคลอื่นๆ กับบทสวดในงานเกี่ยวกับตาย ท่านแยกกันเด็ดขาดเลย ชาวบ้านค่อยสบายใจหน่อย แต่เรื่องของเรื่องก็คือจะพากันแอนตี้ความตายเท่านั้น แม้แต่ใครจะพูดถึงก็ไม่ได้ เข้าแทรกแซงในบทสวดมนต์ของพระไม่ใช่แยกแต่เสียง แม้สีก็แยก สีขาวตัดดำถือเป็นเครื่องหมายของความตาย ห้ามใช้ในงานมงคล อย่างใครจะแต่งตัวดำไปในงานวันเกิด หรืองานแต่งงานเป็นเกิดความทีเดียว เหตุผลก็คือกลัวว่าตัวเองจะเกิดนึกถึงความตายอีกแหละ ตกลงว่าวิธีของพระกับวิธีของชาวบ้านขัดกันอยู่

คิดดูให้ดีๆ แล้ว วิธีของพระได้ผลสนิทกว่า แนบเนียนกว่ามาก ส่วนวิธีของชาวบ้านเราที่ไม่ให้นึกถึงความตายนั้น ความจริงเป็นวิธีที่ไม่ทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นเลย เพียงแต่หลอกตัวเองให้หลงใหลไปชั่ววันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เท่ากับลวงตัวเองไว้ให้ความตายเล่นงานได้สะดวกเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้อธิบายมาในตอนก่อนแล้วว่า คำว่า “ตาย” ๆ นั้นหมายถึงความแตกสลายของร่างกาย คือส่วนต่างๆ ที่ผสมกันเป็นตัวเรานี้มันแยกออก ตามวาระของมัน เราเรียกอาการที่มันแยกออกนั้นว่า “ตาย” เพราะฉะนั้นตัว “ตาย” มันอยู่ในตัวเราแล้ว ตัวเรานี่แหละคือตัวตาย เราเป็นแต่คอยดูว่ามันจะตายของมันเมื่อไรเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ตายก็เป็นพวกเดียวกับเรา เป็นชาวบ้านเดียวกัน เป็นญาติสนิทของเราเอง ถ้าจะว่ากันให้สุดกันจริงๆ ตายมันก็ชื่อเดียว นามสกุลเดียวกับเรา แต่ทีนี้เราเองไปกีดกัน ไม่ยอมรู้จัก ไม่รับรู้ ไม่ให้ขึ้นสำมะโนครัวด้วย ชั้นที่สุดลูกเล็กเด็กแดงจะเอ่ยถึงตาย เราก็ห้าม เรากับตายก็เลยเหินห่างกันไป ความตายก็กลายเป็นแขกแปลกหน้า กว่าจะวกมาเจอกันดี เราก็สะดุ้งสุดตัว ทุกข์เอาถนัด

นอกจากกันท่า ไม่ให้ใครพูดถึงตายแล้ว ยังพากันพยายามโฆษณา ใส่ร้ายความตายต่างๆ ให้คนทั้งหลายเห็นว่าความตายเป็นตัวตน รูปร่างน่าเกลียด มีโลกอยู่ต่างหาก ที่เรียกว่า “ยมโลก” ว่ากันเพียงสามัญไม่พอ อยากจะให้น่ากลัวมากๆ ถึงกับตั้งบรรดาศักดิ์ให้ก็มี เช่นให้บรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระ เรียกว่า “พระมฤตยู” บางทีเลื่อนให้เป็นถึงชั้นพระยา เรียกว่า “พระยามัจจุราช” แต่งตั้งเสนาข้าราชการให้สำเร็จ เสนาเหล่านั้นก็ถูกส่งไปคอยด้อม ๆ มอง ๆ บีบคอมมนุษย์ให้ตาย แล้วควบคุมดวงวิญญาณ มาส่งคุณพระมฤตยู หรือเจ้าคุณมัจจุราชที่แต่งตั้งไว้นั้น บางทียังแถมจัดระบบการปกครองให้พระยามัจจุราชเสียด้วยซ้ำ ว่าพระยามัจจุราชมีทะเบียนสำมะโนครัวมนุษย์ไว้พร้อมเสร็จ พอใครเกิดก็ลงทะเบียนไว้ แล้วก็ต้องคอยพลิกดูว่า ใครหมดอายุแล้วบ้าง จะได้ส่งเสนาไปจัดการเอาตัวมา มีเรื่องเล่าว่าบางคราวเสนาไปจับผิดตัว เนื่องจากชื่อและตำหนิพ้องกัน เลยต้องเอามาคืนมาส่งให้มีชีวิตอีก อย่างนี้ก็มี ยิ่งพูดมากยิ่งพิสดารมาก ยิ่งคิดมากยิ่งเห็นพิลึกมาก ข้าพเจ้าเคยคิดว่าตำแหน่งท่านเจ้าคุณมัจจุราชนี้พอดีพอร้ายเห็นจะเป็นไม่ได้ เล่นเป็นนายทะเบียนท้องถิ่นคนทั้งโลก ขึ้นทะเบียนเอง ย้ายเข้าย้ายออกเองไม่ต้องรอให้ใครมาแจ้ง ไม่รู้ว่าเวรกรรมอะไร จึงได้เกิดเป็นพระยามัจจุราช งานก็หนักแล้วยังมีแต่คนเกลียดทั่วบ้านทั่วเมือง

ท่านผู้ฟัง นั่นเป็นเรื่องบุคคลธิษฐาน คือเรื่องแต่งขึ้นว่ากันว่าที่แท้ตายมันอยู่กับตัวเราแล้ว ตายใครมันก็อยู่กับคนนั้นอย่างชนิดที่เรียกว่า เกิดกับดับพร้อม เหมือนอย่างไข่ กับความแตกของไข่ มันอยู่ด้วยกันนั่นเอง ความแตกของไข่ใบไหนมันก็อยู่กับไข่ใบนั้น คอยแต่ว่า ความแตกมันจะแสดงตัวขึ้นเมื่อไรเท่านั้นเอง

การนึกถึงความตายบ่อยๆ ตามที่พระทรงสอนได้ผลดีมาก ดีหลายอย่าง คือมันทำให้เรากล้า เพราะคุ้นเคยกับความตาย นึกถึงให้จริงแล้ว ความทุกข์เพราะความกลัวตายจะน้อยลงอย่างเห็นชัด

ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง การนึกถึงความตาย ได้ผลปราดในทางบรรเทาความประมาท ตลอดจนความโลภโมห์โทสันธ์ต่างๆ บางคนเข้าใจว่าการคิดถึงความตายทำให้คนเราเสียเพราะมั่วนั่งงอมืองอเท้ารอวันตาย เรื่องนี้เป็นความคาดคะเนเอาเองของคนที่ไม่อยากคิดถึงความตาย หรือว่าอีกทีก็เป็นเสียงของฝ่ายแอนตี้ความตายนั่นเอง แต่ผลประจักษ์กลับเป็นว่าคนที่หมั่นนึกถึงความตายแบบพระพุทธองค์ ยิ่งเป็นคนขยันขันแข็งเร่งทำงานแข่งเวลาแข่งความตาย เพราะการตายนั้นที่แท้ก็คือการหมดเวลาที่จะมีชีวิตต่อไปนั่นเอง ลองนึกด้วยใจเป็นธรรมดูเถอะ ตั้งแต่ท่านเองจำความได้จนถึงบัดนี้ เคยเห็นใครบ้างที่เสียผู้เสียคน เพราะนึกถึงความตายตามแบบพระพุทธองค์ ไม่มีเลยใช่ไหม? แต่ตรงกันข้ามพวกที่คอยก่อกรรมทำเข็ญ เสียผู้เสียคนให้เราเห็นอยู่ทั่วไปเป็นพวกคนลืมตายเสียแทบทั้งนั้น จริงหรือไม่จริง?

เรานึกเอาง่ายๆ ว่า นักเรียนเข้าห้องสอบด้วยกันสองคน คนหนึ่งนึกอยู่เสมอว่า การสอบนี้เขาให้เวลาจำกัด อีกไม่นานก็จะหมดเวลา อีกคนหนึ่งไม่นึกถึงเรื่องเวลาเลยลืมไปถนัด การสอบของคนทั้งสองจะได้ผลดีต่างกันหรือไม่? แน่นอนคนที่รู้ตัวว่าเวลาจะหมด เขาจะต้องก้มหน้าก้มตามเขียนคำตอบแข่งกับเวลา ดีกว่าอีกคนหนึ่งซึ่งไม่นึกถึงเวลา มัวแต่นั่งแหย่คนนั้น แหย่คนนี้ พอได้ยินเสียงระฆังหมดเวลาก็สะดุ้งโหยง “ตายจริง! ยังไม่เขียนสักตัวเลย” แล้วลองคิดเลยไปดูซิว่า นักเรียนสองคนนี้ใครจะเป็นทุกข์มากกว่ากัน เมื่อถึงวันฟังประกาศผลสอบ

การนึกถึงความตายบ่อยๆ เป็นกลวิธีแก้ทุกข์ที่ดีที่สุด แต่จงนึกด้วยความรู้ ตามแบบพระพุทธองค์ ส่วนคนที่นึกด้วยโมหะ เอาความขลาดออกหน้า แล้วมืออ่อนเท้าอ่อน ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ลงได้นึกโมหะแล้ว อย่าว่าแต่นึกถึงความตายเลย แม้แต่นึกถึงตัวของตัวเองก็มีหวังเสียคนได้

กลที่ ๒ รับรู้กฎธรรมดา

การรับกฎธรรมดา คือการศึกษาให้รู้ว่า กูฏธรรมดามันเป็นอย่างไร แล้วยอมรับรู้ตามที่มันเป็น วิธีนี้แก้ทุกข์ได้ดีมาก ดีกว่าวิธีแรก สนิทกว่ากันมากทีเดียว ดีตรงที่รู้เรื่อง

ที่ว่ากฎธรรมดานั้น คือความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ของทุกอย่างมันมีทางไปของมัน มันจะต้องไปตามทางนั้นให้ได้ การเป็นไปตามวิธีทางของแต่ละสิ่งนั่นแหละ เรียกว่ากฎธรรมดาของสิ่งนั้น หัดพิจารณากฎธรรมดาของสิ่งต่างๆ ไว้ให้มากๆ แล้วท่านจะได้ความรู้สึกแปลกๆ ที่ทำให้ใจสบายขึ้น เช่น ผลมะม่วง ธรรมดาของมัน คือทีแรกออกมาเป็นลูกเล็กๆ ติดอยู่ที่ช่อ แล้วก็ค่อยๆ โตขึ้น โตเต็มที่แล้วก็ห่า แล้วสุก แล้วงอม แล้วเน่า นี่วิถีทางผลมะม่วงเรียกว่าธรรมดาของมัน

ดอกไม้ ตูมขึ้นมาเล็กๆ แล้วค่อยๆ โตขึ้นๆ แล้วคลี่ กลีบออก ขยายตัว บานเต็มที่ แล้วโรยลงจนร่วงไป นี่ธรรมดาของดอกไม้

เป็ดไก่ เดิมอยู่ในฟองไข่ ออกจากฟองไข่ เป็นตัวเล็กๆ แล้วโตขึ้นๆ โตเต็มที่แล้วก็แก่ แล้วตายไป นี่ธรรมดาของเป็ดไก่

ท่านคิดต่อไปเองได้แล้ว

ดูกฎธรรมดาของส่งภายนอก แล้วหันกลับมาดู กฎธรรมดาของคน ควรจะเริ่มจากคนอื่นก่อน เช่น คนที่เราทันเห็นชีวิตของเขา ตั้งแต่ต้นถึงที่สุด คนทุกคนเกิดเป็นก้อนเล็กๆ ก่อน แล้วก็โตขึ้นๆ โตเต็มที่แล้วก็โทรมลงๆ จนแตกดับ เน่าเปื่อยไป นี่เป็นธรรมดาของคนทั่วไป

เมื่อดูธรรมดาของคนอื่นแล้ว ก็ย้อนมาดูธรรมดาของตัวเอง ดูเหมือนที่ดูคนอื่นแหละ ทำใจดี ๆ ไม่ต้องทำใจฝ่อ เวลานี้เรากำลังพิสูจน์ความจริง เขาก็คน เราก็คน เพราะฉะนั้นเรากับเขาก็ตกอยู่ในกฎธรรมดาเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเดินไปตามกฎธรรมดาทั้งสิ้น

มะม่วง ผลที่สุดก็ต้องเน่า
ดอกไม้ ผลที่สุดต้องโรย
เป็ดไก่ ผลที่สุดต้องตาย
คนทุกคน ผลที่สุดก็ต้องตาย
และตัวเราเอง ผลที่สุดก็ต้องตาย

นี่แหละกฎธรรมดา เมื่อกฎหมายธรรมดาของสิ่งใดมีอยู่อย่างใด มันก็ต้องบ่ายโฉมหน้าไปอย่างนั้น มะม่วงทุกผลต้องเน่าทั้งสิ้น ไม่ว่ามันจะเกิดอยู่บ้านนอก หรือเกิดในกรุง หรือเกิดในวัด หรือเกิดในรั้วในวังเน่าเหมือนกันหมด ธรรมดาไม้ลงผลที่สุดต้องผุพังเป็นธรรมดา ไม่ว่ามันจะถูกสร้างเป็นกระท่อม เป็นบ้าน เป็นวัด หรือแม้เป็นปราสาทราชวัง ที่สุดมันต้องผุจนได้ สัตว์ทั้งปวงตายเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ไม่ว่ามันจะอยู่ในฐานะอย่างไร มันก็จะต้องถึงแก่ความตายจนได้ ไม่ว่ามันจะเป็นพาหนะลากเข็นของชาวบ้าน หรือแม้เป็นสัตว์ทรงของพระราชาก็ตาม

ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน ธรรมดาของมันต้องตาย ไม่ว่าร่างกายอันนี้จะถูกนำไปใช้เป็นอะไร ใช้ให้เป็นทหาร ใช้ให้เป็นตำรวจ ใช้ให้เป็นพระ เป็นสงฆ์ หรือแม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ผลที่สุดทุก ๆ ร่างกายก็หันเข้าสู่ธรรมดาของร่างกาย คือตายไป. จนได้ไม่มีกลัวบาปกลัวกรรมหรือกลัวอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น คนที่ว่า “เบ่ง” เก่งๆ น่ะลองให้เจอกับความตายดูเถอะ แฟบทันที!

“ตาย” เป็นกฎใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก บรรดากฎบัตร กฎหมาย กฎกระทรวง หรือจะมีกฎอะไรๆ อีกกี่กฎก็ตาม ต้องคล้อยตามกฎธรรมดา (คือตาย) ทั้งนั้น ถ้ากฎใดขัดกับกฎธรรมดา กฎนั้นเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ อย่างสมมุติว่า ถ้าจะมีประเทศใดออกกฎหมายว่า ห้ามมิให้ราษฎรผู้ใดผู้หนึ่ง ตายก่อนอายุครบ ๘๐

….ถ้าผู้ใดตายก่อนกำหนดนี้มีความผิด อย่างนี้เป็นต้น กฎหมายนั้นเป็นโมฆะคือ ใช้ไม่ได้ เพราะถ้าเขาเกิดจะตายขึ้นมาล่ะ จะทำอะไรเขาได้? ที่เรายังบังคับกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นว่ ๙ นาฬิกาให้ทำงาน ๑๖ นาฬิกาเลิกงาน อะไรเหล่านี้ เราก็กระทำภายใต้กฎธรรมดา คือเมื่อมันยังไม่ตายเท่านั้น ถ้าตายจริงๆ ก็เลิกกัน ตายอย่างเดียวลบล้างกฎอื่นๆ หมด ทหารตายก่อนปลด ก็ไม่ถือว่าหลบหลีกการรับราชการทหาร นักโทษตายก็ไม่ถือว่าหลบหนีที่คุมขัง ผัวตายก็ไม่ถือว่าผิดสัญญารัก เมียตายก็ไม่ถือว่านอกใจ คือคำว่าตายคำเดียว ลบล้างคำอื่นๆ หมดสิ้น จะตำหนิติเดียวกันก็ไม่ได้ ความตายเป็นกฎธรรมดาย่อมอยู่เหนือกฎทั้งปวง

บรรดาการประดิษฐ์และการค้นพบที่มนุษย์ทำได้ก็ล้วนแต่คล้อยไปตามกฎธรรมดาทั้งสิ้น เช่นค้นพบวัตถุระเบิดที่ร้ายแรงที่สุด ก็พอแต่ชนิดที่ระเบิดขึ้นแล้ว ทำให้คนเป็นๆ ตายได้มากที่สุดเท่านั้น ส่วนลูกระเบิดชนิดที่ระเบิดตูมแล้ว ทำให้คนตายแล้วฟื้นคืนได้หมดทั้งป่าช้ายังไม่เคยมี และเป็นของที่มีไม่ได้เพราะฝืนก้อธรรมดา ส่วนที่ทำให้ตายได้นั้นไม่น่าอัศจรรย์นัก เพราะคนเราก็ตายอยู่แล้ว

คนในโลกเรานี้อยากจะเป็นผู้มีอำนาจ อยากจะเป็นผู้ถือดาบอาญาสิทธิ์ ชนิดที่ว่าชี้นกให้เป็นนก ชี้ไม้ให้เป็นไม้ อยากจะเป็นใหญ่ยิ่งเกินกว่าที่มนุษย์คนใดจะมาบังคับบัญชาได้ ความตายก็เป็นกฎอาญาสิทธิ์เหนือกฎใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ที่จะถือครองอาญาสิทธิ์นั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือตัวเราเอง วันหนนึ่งข้างหน้าเราจะครองกฎอาญาสิทธิ์ สามารถเพิกถอนกฎทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ตั้งขึ้น อำนาจพิเศษนั้นมาตกแก่เราแน่ ในโอกาสหนึ่ง คือเวลาตาย

รับรู้กฎธรรมดาเสีย แล้วทุกข์ในใจจะจางลงอีกมาก

กลที่ ๓ ทำความดีให้มาก

ธรรมเนียมการทำสงครามจำต้องวางแนวไว้สองแนว คือ แนวหน้ากับแนวหลัง กลที่ ๑ กับกลที่ ๒ ที่ว่ามาแล้วนั้นเป็นกลในแนวหน้า คือเป็นแนวที่ยันหน้ากับความตายทีเดียว

แนวหน้าจะเข้มแข็งเพียงใดสำคัญอยู่ที่แนวหลังด้วย อย่าลืมว่าปืนทุกกระบอก กระสุนทุกนัดที่เสริมอยู่ในแนวหน้านั้นล้วนแต่หนุนมาจากแนวหลังทั้งสิ้น ถ้าแนวหลังไม่เข้มแข็ง แนวหน้าก็พัง กลที่ ๓ นี้ก็เหมือนกับการหันมาสร้างแนวหลังให้มั่นคงนั่นเอง

กลที่ ๑ ที่ว่าให้นึกถึงความตายบ่อยๆ และกลที่ ๒ ที่ว่าให้รับรู้กฎธรรมดานั้น ถ้าใครเป็นคนไม่มีดีในตัว สร้างแต่กรรม ทำแต่บาปก็มักจะใช้ไม่ได้ผล นึกถึงความตายแทนที่จะกล้ากลับขลาด เหมือนคนหากินทางทุจจริตหลบซ่อนตัวอยู่แล้ว แม้จะถูกขโมยขึ้นบ้านวันละสิบครั้ง ก็ไม่อยากคิดถึงตำรวจ เพราะคิดถึงตำรวจทีไรแทนที่จะอุ่นใจ ตัวเองกลับสะดุ้ง

ความตายนั้นเป็นสิ่งที่เกลียดชังของคนทุกคน ทั้งคนพูด ทั้งคนฟัง เกลียดตายด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าคนที่ทำความชั่วไว้มากจะรู้สึกว่าเกลียดความตายมากเป็นพิเศษ พูดอีกทีก็คอทุกข์มากเป็นพิเศษ และกลายเป็นคนหย่อนสมรรถภาพในการนึกถึงความตาย และการศึกษาเรื่องความตาย วิธีแก้โดยตรงก็คือ หันมาทำความดี

กลแก้ทุกข์ลำดับที่ ๓ คือการทำความดีให้มาก พูดง่ายๆ คือให้ใช้ร่างกายเสียให้พอ วิธีนี้ก็ดูจะขัดกับความรู้สึกของคนบางพวกอีกเหมือนกัน คือคนบางพวกหรือส่วนมากมักจะเห็นว่า เมื่อกลัวตายแล้วก็ต้องหวงกลัว นี่แหละเป็นการนึกถึงความตายที่ผิดแบบ พอกลัวตายแล้วไม่อยากทำอะไร ไม่อยากใช้ร่างกาย นิดก็กลัวตาย หน่อยก็กลัวตาย ถูกแดดก็ไม่ได้ ถูกฝนก็ไม่ได้ กลัวร่างกายมันจะเก่า และจะตายเสีย แต่ทางพระกลับสอนว่า ถ้ากลัวตายให้ทำงานมากๆ ทำงานก็เลือกทำแต่งานดีๆ งานที่เป็นบาปอย่าทำเสียเวลา พูดย่อๆ ให้รีบฉวยเอาประโยชน์จากร่างกายนี้ให้พอ หรือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่มันจะตายไปเสีย ประโยชน์ที่เราได้นั่นแหละจะไปทดแทนความสึกหรอของร่างกาย เหมือนชาวนาที่เก็บพืชผลได้มากแม้จอบเสียมจะสึกจะบิ่นก็ไม่ทุกข์ใจหนักหนา

ทางพระท่านสอนให้นึกว่าร่างกายนี้เป็นของยืมเขามา ถามว่ายืมมาจากใคร? ท่านก็ว่ายืมมาจากความตาย! คิดๆ ดูก็ถูกของท่าน เพราะใช้นานๆ เข้าเขาก็ทวงเอาของเขาคืน คอยดูไปอายุสัก ๔๐ - ๕๐ ก็ต้องทยอยส่งแล้ว เขาบอกว่า เอาฟันคืนมา! เราก็ต้องถอนคืนเขาไป ถอนเองไม่ได้ก็ลงทุนไปจ้างคนอื่นเขาถอนให้!

คอยดูไปก็แล้วกัน เขาจะทวงเอาคืนไปทีละอย่างสองอย่าง พออายุ ๖๐ ล่วงแล้ว ของที่เราเคยใช้มาดีๆ ก็เอาของเลวๆ มาเปลี่ยน ตาอย่างดีที่เราเคยใช้มาตั้งแต่เล็กจนโต ก็เอาตาอะไรก็ไม่รู้มาเปลี่ยน ดูอะไรก็ไม่ค่อยเห็น หูอย่างดี ก็ถูกเอาหูเลวๆ มาเปลี่ยน แข้งขาดี ๆ ก็ถูกเอาอย่างเลวๆ มาเปลี่ยน ขาอย่างเก่าเดินตั้ง ๕ ชั่วโมงก็ไม่เหนื่อย แต่อย่างใหม่เดินแค่จากบ้านลงไปใต้ถุนก็แทบแย่แล้ว ผมอย่างสีดำเขาก็เอาคืนเอาอย่างสีขาวมาให้ใช้แทน แม้แต่หนังหุ้มตัวที่เราใช้มาแต่เล็กแต่น้อยรู้สึกว่ามันได้ขนาดพอดีๆ พอตึงๆ หนักเข้าก็ถูกเปลี่ยนไปเอาหนังใครก็ไม่รู้มาเปลี่ยนให้ มันไม่ได้ขนาดเสียเลยหย่อนหน้าหย่อนหลัง คล้ายกับยืมกางเกงคนอื่นมานุ่ง อย่างนั้นแหละ! จำพวกตาเลวๆ หูเลวๆ แข้งขาเลวๆ ตลอดจนหนังเลวๆ ที่เขาเอามาเปลี่ยนให้นี่น่ะเป็นของเขาให้ใช้ชั่วคราวใช้ไปพลาง ถ้าใครโดนเปลี่ยนอย่างนี้ก็พึงรู้เถอะว่า เจ้าหนี้จวนจะเอาเรื่องกับเราแล้ว อีกไม่นานก็ทวงคืนหมด ที่จริงเจ้าหนี้อย่างนี้จะว่าใจร้ายทีเดียวก็ไม่ได้ แทนที่จะเอาคืนไปหมดทันที ยังอุตส่าห์ส่งของเสื่อมคุณภาพมาใช้ไปพลางก่อน มนุษย์เสียอีกบางทีใจร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ ยิ่งกว่าเจ้าหนี้คือความตายเป็นไหนๆ ใครจะอย่างไรก็ตาม เมื่อเขาทวงเอาร่างกายนี้คืนหมดเราก็หมดเสียง คืนก็คืน….! ส่งเองก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยพวกญาติช่วยกันจับมัดใส่โลงแล้วหามไปส่งคืน ณ ที่ที่เป็น “สำนักงานรับคืน” ของยืม เวลานี้ในกรุงเทพฯ ก็มีสำนักงานรับคืนหลายแห่ง เช่นที่วัดโสมนัสฯ วัดมกุฏฯ วัดพระพิเรนทร์ วัดไตรมิตร และวัดอื่นๆ อีกมากมาย แต่ก็ยังไม่ค่อยจะพอ บางทีต้องเข้าคิวรอกันเป็นเวลานานๆ เพราะคนมากด้วยกัน

ธรรมเนียมยืมของคนอื่นมาใช้มีวิธีอยู่ว่า พอเขาให้ยืมมาแล้วต้องรีบใช้ ถ้ายังไม่มีเวลาจะใช้ก็อย่าเพิ่งยืม อย่างเช่น เรายืมจอบคนอื่นว่าจะเอามาขุดดินทำสวนครัวกันสักหน่อย พอได้จอบมาแล้วก็ต้องรีบขุด ขุดเสียให้พอ เสร็จแล้วสบายใจ เจ้าของเขามาทวงเอาไปเมื่อไรก็เชิญ เดี๋ยวนี้เรามันเสียตรงที่ยืมของเขามาแล้ว คิดว่ามันเป็นของๆ เรา นั่งเฝ้านอนเฝ้ากลัวมันจะสึก กลัวมันจะเก่า วันก็แล้วสองวันก็แล้วไม่ใช้งานสักที สักหน่อยพอเจ้าของเขามาทวง “เอาจอบฉันมา” ตาย! ดินยังไม่ได้ขุดสักก้อนเลยมาทวงเอาไปเสียแล้ว เสียอกเสียใจแต่ใครเล่าจะช่วยได้มันเป็นของยืมเขามานี่ ขืนฟ้องก็แพ้ทั้งสามศาล เรามันอยากเผลอเอง มัวแต่นั่งเฝ้านอนเฝ้ากลัวจอบจะสึกกลัวจอบจะเก่าเลยไม่กล้าใช้ ผลที่สุดจอบก็ต้องคืน งานก็ไม่ได้ ทุกข์ทั้งสองขั้นคือทุกข์ที่ต้องคืนจอบ แล้วยังทุกข์ไม่ได้ผลงานอะไรไว้เลย

ร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน มัวแต่นั่งโอ๋กัน ไปเถอะคิดแต่กลัวเหนื่อย กลัวตาย งานการไม่ทำกลัวมือจะสาก กลัวผิวจะเกรียมกรีดไปกรีดมา วันหนึ่งๆ นึกหลอกตัวเองว่าเก่งที่หลบงานได้ ดีใจที่เหงื่อไม่ออก แต่คอยดูเถอะคนเหงื่อไม่ออกมีหวังแย่ทุกคน คือเหงื่อมันหลบใน ทีหลังลำบากมาก เจ้าเหงื่อหลบที่มันหลบในนั่นแหละ มันจะไปรวมกันเข้าแล้วไหลออกมาเป็นน้ำตาในวันหลัง!

จำไว้เถอะว่า คนเรานี้ถ้าเหงื่อออกน้อย น้ำตาก็ออกมาก และถ้าเหงื่อออกมาก น้ำตาก็ออกน้อย

ดูเหมือนข้าพเจ้าเคยพูดแล้วว่า ของสิ่งใดก็ตามถ้าเราได้ประโยชน์พอเสียแล้ว ก็ไม่ต้องทุกข์เพราะเสียดาย ที่เราเสียดายก็เพราะยังรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นพอ จอบเล่มที่ยืมเขามานั้น ถ้าเราใช้มันขุดดินเสียให้พอแล้วถึงเขาทวงคืนก็ไม่เสียดายจริงหรือไม่จริง? ชานอ้อยที่เรายังไม่ได้เคี้ยวโยนทิ้งไม่ลงเสียดาย! แต่ถ้าเราเคี้ยวๆ ดูดเอารสหวานจากมันพอแล้วทิ้งเมื่อไรก็ได้ไม่เสียดาย

เปรียบให้ฟังชัดๆ ขณะที่เรากำลังหิว เวลาเย็นๆ แม่ครัวเขายกสำหรับมาตั้งไว้ให้แล้ว หมูเห็ดเป็ดไก่พร้อม เรากำลังจะลงมือรับประทาน ทีนี้สมมติว่าเกิดมีใครคนหนึ่งเดินซุ่มซ่ามมาเหยียบสำรับกับข้าวหากหมด! เราจะรู้สึกอย่างไร? เสียดายใช่ไหม? แน่ละถ้าพอเฆี่ยนได้ก็ล่อให้หลังลายเลย ฮิ…! คนอะไร เซ่อซ่ามาเหยียบสำรับเราได้ ทีนี้สมมติใหม่ ติต่างว่า ไม่มีใครเหยียบเลย เรากินอาหารเหล่านั้นเข้าไปแล้ว พวกหมูเห็ดเป็นไก่มันก็ได้เข้าไปพักผ่อนอยู่ในกระเพาะของเราเป็นเวลา ๑ ราตรีแล้ว (ขอโทษที่ต้องพูดกันให้ขาว) เช้าๆ เราไปถ่ายออกไว้ ทีนี้เกิดมีใครคนหนึ่งเดินซุ่มซ่ามไปเหยียบสิ่งที่เราถ่ายไว้นั้น! เราจะด่าเขาไหม? เปล่าเชิญตามสบาย จะเหยียบวันยังค่ำก็เชิญ

ทีนี้ลองนึกเทียบกันดูซิ เมื่อมันยังอยู่ในสำรับทำไมเราด่าคนเหยียบ ทีมันผ่านท้องเราออกไปแล้ว มีคนไปเหยียบทำไมเราจึงไม่ด่าเขา? ข้าพเจ้าไม่ต้องตอบเพราะทุกคนตอบเองได้แล้ว มันเป็นปัญหาเรื่องเดียวกับเรื่องจอบ และเรื่องอ้อยที่ว่ามาแล้ว อาหารที่อยู่ในสำรับนั้น เรายังไม่ได้ประโยชน์จากมัน เราจึงเสียดาย ส่วนที่ถ่ายออกไปนั้นมันเป็นเพียงกากของสิ่งที่เราได้ประโยชน์แล้ว เราจึงไม่เสียดาย ความทุกข์ก็ไม่มี

ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน คนสามัญทั่วไปรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ไม่อยากให้มันตาย เพราะรู้สึกว่าตนยังไม่ได้รับประโยชน์จากมันพอ ส่วนพระอรหันต์ท่านไม่มีทุกข์ เพราะร่างกายตาย ก็เพราะว่าท่านได้ประโยชน์จากร่างกายของท่านพอแล้ว จะเห็นได้ว่าพอท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ท่านเกิดความรู้สึกว่า

วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ
พรหมจรรย์ ก็เสร็จสิ้นแล้ว
กตํ กรณียํ
ธุระที่จะต้องทำก็ได้ทำเสร็จแล้ว
นาปรํ อิตฺถตฺตาย
เรื่องอื่นๆ ก็หมดแล้ว

นี่คือความรู้สึก ที่ท่านได้ประโยชน์จากร่างกายตั้งแต่นี้ไป ร่างกายของท่านก็มีลักษณะเป็น “กาก” ของประโยชน์ ความรู้สึกที่ว่าได้ประโยชน์แล้วนี่แหละ ทำให้ท่านไม่ต้องทุกข์เมื่อร่างกายตาย

พวกชาวบ้านเรานี้ แม้จะไม่ถึงท่าน ทำได้เพียงสร้างความดีคือใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง แก่ครอบครัว แก่ชาติ ศาสนา และแก่เพื่อนมนุษย์ให้มากๆ ความหวั่นหวาดต่อทุกข์เพราะความตายก็จะลดน้อยลง


เชิญทุกท่านอ่านที่
http://209.85.175.104/search?q=cache:3G6sTguwpA8J:www.tamdee.org/note/view.php%3FNo%3D168+%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%8C&hl=th&ct=clnk&cd=4&gl=th
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง