Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ปฏิบัติเพื่ออะไร : ชยสาโรภิกขุ (แนะนำอย่างยิ่งกับมือใหม่) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
คามินธรรม
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 29 พ.ค. 2008
ตอบ: 860
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 27 ก.ย. 2008, 4:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปฏิบัติเพื่ออะไร...ชยสาโรภิกขุ

โดยมากชาวบ้านไปวัดที่พระสงฆ์ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะมีความรู้สึกชื่นใจ

พระเราก็เช่นเดียวกัน เห็นฆราวาสมีการเสียสละ ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรม ก็รู้สึกชื่นอกชื่นใจ

วันนี้อาตมาก็ได้มีโอกาสมาเยี่ยม มาให้กำลังใจ ให้ข้อคิด และหลักปฏิบัติแก่พวกเราร้อยกว่าคน
ที่ได้อุตส่าห์สละเวลา สละความสะดวกสบาย เพื่อมาฝึกอบรมตนตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์
อาตมาก็ขอแสดงความรู้สึกยินดีและชื่นใจ


งานประเภทนี้อาตมาเคยตั้งชื่อว่า เป็นงานกินเกลือ
เพราะว่าส่วนมากพวกเราเคยกินแต่ด่างมาหลายปีแล้ว
รู้สึกว่าขาดเกลือสักหน่อย เพราะฉะนั้นต้องมีงานกินเกลือ ทีนี้วิธีกินเกลือของเราก็ไม่มีอะไรนอกจากการขัดเกลากิเลสของตัวเอง



เรื่องการประพฤติปฏิบัตินั้น
จุดสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจในการกระทำหรืออย่างที่ภาษาพระเรียกว่า สัมมาทิฐิ

ความเห็นชอบเรื่องนี้ หลวงพ่อชาซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมา
เคยเตือนอยู่เสมอว่า อย่าลืม
อย่าปฏิบัติ เพื่อจะเอาอะไร
อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร
อย่าปฏิบัติเพื่อจะเป็นอะไร
แต่ปฏิบัติด้วยการปล่อย เพื่อการปล่อยวาง

ถ้าเรายังปฏิบัติด้วยความหวังว่าจะได้อะไรดีๆ เอาไปบ้าน เรามักจะผิดหวัง

ความจริงแล้ว ขออภัยนะ
วัดก็คล้ายๆ กับส้วม
มีหลายคนที่ชอบถามว่า คุณไปวัดได้อะไรบ้าง คุณไปวัดก็เหมือนกับคุณไปห้องส้วม คุณจะได้อะไรบ้าง ก็ไม่ได้อะไร แต่ว่าเราก็ได้ถ่ายของสกปรกออกไปก็มีประโยชน์เหมือนกัน


เพราะฉะนั้น แทนที่จะเห็นการปฏิบัติเป็นวิธีการที่จะได้ของดี
เราควรจะถือว่าเป็นโอกาสที่จะถวายความดีแก่พระศาสนา

เพราะว่าทุกวันนี้พวกเราในประเทศไทย
นับวันก็ห่างไกลจากพระศาสนา
จนกระทั่งมีคนในระดับปัญญาชนหลายคน ที่มีการพูด มีการแสดงออกต่างๆ
ที่ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าท่านเหล่านั้น
ไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาเสียเลย
อย่างเช่นมีข้าราชการผู้ใหญ่บอกว่า พระไม่มีหน้าที่รักษาป่า เป็นต้น


ถ้าเราอ่านในพระบาลีจะพบว่า พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนว่า
ตราบใดที่พระหรือนักปฏิบัติยังมีความยินดีในเสนาสนะป่า
พระพุทธศาสนาจะไม่เสื่อมหายจากโลกตราบนั้น

เพราะฉะนั้น การอยู่กับป่า การอยู่กับต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้น


ปีนี้อาตมาได้รับนิมนต์ไปสอนธรรมะที่อเมริกา
มีบางคนถามอาตมาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนับถือศาสนาพุทธ
แต่ทำไม่ประเทศไทยยังมีคอรัปชั่นมาก ๆ มีปัญหามากๆ
ทำให้อัตราการฆ่าคนเป็นอันดับสองของโลก
ทำไมจึงมีปัญหามากๆ

อาตมาก็บอกไป ก็พูดเล่นๆ นะ
ตอบว่าอาจจะเป็นเพราะว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทยเข้าโรงเรียนคริสต์
แล้วก็ทำปริญญาที่อเมริกา

คือ จะไปโทษศาสนาพุทธไม่ได้ ไม่ใช่ว่าศาสนาพุทธมากไป
แต่ศาสนาพุทธน้อยไป เรายังไม่เข้าใจถึงแก่นของศาสนาพุทธ
เรายังพอใจในสิ่งที่เป็นเปลือกของศาสนาเสียมาก


วิธีการที่เราจะเข้าถึงแก่นของศาสนาพุทธก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ
พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ว่า ทุกข์เกิดเพราะอวิชชา ทุกข์เกิดเพราะความหลง

การประพฤติปฏิบัติต้องเป็นไปเพื่อขจัดเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ อวิชชานั้น

พูดง่าย ๆ
การประพฤติปฏิบัติธรรม คือการลดความโง่ขอตนเอง พูดภาษาชาวบ้านนะ

เพราะฉะนั้น ใครอ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ก็เท่ากับอ้างว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
ซึ่งไม่น่าเป็นความจริง

เรามีเวลา เพราะว่าชีวิตเราประกอบด้วย กาย วาจา ใจ
และสิ่งเหล่านี้อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องมีการกระทำ ต้องมีการเคลื่อนไหว
อย่างที่พระท่านว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เพราะฉะนั้น การไม่ปฏิบัติไม่มีในโลก
เราก็ปฏิบัติกันอยู่ทุกคน แต่สำคัญว่าเราปฏิบัติอะไรกันอยู่


เราไม่มีทางที่จะเลือกระหว่างการปฏิบัติและการไม่ปฏิบัติ
แต่ว่าเรามีทางเลือกระหว่างการปฏิบัติสิ่งที่เป็นธรรมะ
กับการปฏิบัติสิ่งที่ไม่เป็นธรรมะ หรือสิ่งที่เป็นอธรรม



วันนี้อาตมามีความชื่นใจที่เห็นญาติโยมได้ตั้งใจ
เข้างานกินเกลือของวัดสวนโมกข์
มาขัดเกลาตัวเองเพื่อเข้าถึงแก่นสารของพระพุทธศาสนา

แก่นสารของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน
แก่นสารพระพุทธศาสนาอยู่ที่แก่นสารของชีวิตของตนนั่นเอง
เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของวัด ไม่ใช่เรื่องข้างนอก
แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน

เพราะฉะนั้นเราต้องแสวงหาวิธีการดับความทุกข์นั้น
เราต้องพยายามเข้าถึงอาการที่ปราศจากทุกข์
ซึ่งเราถือว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์เข้าถึงได้ ทั้งผู้ชาย ทั้งผู้หญิง
ไม่ว่าเราเป็นคนชาติไหนชั้นไหน
เราล้วนแต่มีโอกาสล้วนแต่มีความสามารถหรือมีศักยภาพ
ที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสไม่มากก็น้อย

เราประพฤติปฏิบัติ เรามุ่งที่จะลดความโง่ของตัวเองทีละเล็กทีละน้อย
ไม่ต้องมักใหญ่ใฝ่สูง
ไม่ต้องเอามากๆ เอาทีละเล็กเอาทีละน้อยก็ยังดี
ค่อยเป็นค่อยไป

และในการประพฤติปฏิบัตินี้อย่าไปเปรียบเทียบตนเองอับคนอื่น
จะเป็นทุกข์ฟรี ๆ ไม่ฉลาด
เรื่องนี้เราไปดูคนอื่นไม่ได้ ต้องดูตัวเอง
ต้องสังเกตการเคลื่อนไหวกายใจของตนเอง ให้เข้าใจว่า ชีวิตนี้คืออะไร
อันนี้มันสนุกที่ตรงนี้ เรียกว่าจะมีความสุขที่ตรงนี้

แต่ว่า การที่เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างราบรื่น อันนี้เป็นของยาก
น้อยคนที่จะเป็นอย่างนั้น ส่วนมากเราก็ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน
แต่ว่าเราควรที่จะพิจารณาในแง่ของความจริงที่เรียกว่า ปัญญาเกิดจากการฟันฝ่าอุปสรรค

ยิ่งมีอุปสรรคมากยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างปัญญามาก
ฉะนั้นผู้ที่มีอุปสรรคมากๆ เป็นผู้มีบุญมากน่าอิจฉา

ครูบาอาจารย์ของอาตมาเอง คือ หลวงพ่อชา ท่านมีปัญหามาก
ท่านอยู่ด้วยความอดทน จนในที่สุดท่านก็ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นมาได้
ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่น่าเคารพ
เป็นที่เคารพนับถือของคนไทยทั่วโลกในสมัยปัจจุบัน
ก็อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเคยผ่านความทุกข์มาแล้ว

เวลาท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็รู้จักปัญหาที่ลูกศิษย์กำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างถ่องแท้
ท่านจึงสามารถเลือกคำสอนและธรรมะที่เหมาะสมกับจิตใจของลูกศิษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

อาจจะเป็นได้ว่า ถ้าการประพฤติปฏิบัติของท่านง่ายกว่านี้ สบายกว่านี้ ท่านอาจจะไม่มีปัญญาในการสอนถึงขนาด

มองดูตัวเองก็เหมือนกัน
ถ้าเรากำลังมีปัญหาก็อย่าไปท้อใจ อย่าหดหู่ใจ
แต่ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเราอดทน ถ้าเราไม่ท้อถอย ในที่สุดเราต้องผ่านพ้นอุปสรรคนี้ได้

เพราะพระพุทธองค์ทรงยืนยันได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้เป็นกฏตายตัวของธรรมชาติ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม

ยอดของความดีหรือบุญสูงสุดคือการ ภาวนา เราภาวนากับความทุกข์
เราภาวนากับปัญหา เราไม่รังเกียจปัญหา อันนี้ก็จะเป็นการสร้างบารมี เป็นการชำระจิตใจของตนเอง แล้วในที่สุดเมื่อเราพ้นจากปัญหานี้ได้แล้ว เราจะมีความสามารถที่จะช่วยคนอื่นที่กำลังเจอปัญหานี้ได้อย่างดี ถ้าเรามองอย่างนี้แล้วก็ได้กำลังใจ

เรื่องการฝึกจิตนี้ก็เหมือนกับการอบรมเด็ก ๆ จะด่าว่าอย่างเดียวก็ไม่ได้
จะปลอบใจเอาอกเอาใจอย่างเดียวก็ไม่ได้
จะเอาอย่างใดอย่างเดียวไม่ได้
แต่เราต้องมีสติให้รู้ว่าเวลาไหนควรปลอบใจ
เวลาไหนควรเอ็ดควรด่า ควรว่า ก็ต้องมีเหมือนกัน
เอาอย่างใดตายตัวไม่ได้

ทางสายกลางนี้มีการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาเหมือนกันนะ
คือทางสายกลางไม่ใช่เราจะเอาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ว่ามันขึ้นอยู่กับการสร้างความรู้สึกที่สุขุมละเอียดอ่อนต่อความพอดี
และความพอดีนั้นหมายถึงความพอดีต่อการชำระกิเลส
เรามุ่งปัญญา มุ่งที่จะปล่อยวาง


คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงฟังง่ายก็มี ที่ฟังยากก็มี
คำสั่งสอนบางข้อเราฟังแล้วก็รู้ลึกซึ้ง บางข้อฟังแล้วก็รู้สึกงง ไม่เข้าใจ
คำสอนบางข้อนี้ฟังแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ หรือไม่ประทับใจ

แต่มีข้อหนึ่งเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของนักปฏิบัติ
นั่นคือคำว่า นิโรธ คือ ความดับ

ถ้าเรายกเรื่องความดับขึ้นมาเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติ
อาจมีหลายคนที่รู้สึกว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ค่อยดึงดูดจิตใจ
เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ได้


อาตมาขอเปรียบเทียบกับเลื่อย เลื่อยไฟฟ้าที่กำลังตัดต้นไม้
เสียงดังเสียงน่ารำคาญ ฟังไปฟังมาก็รู้สึกเครียด
แล้วมันจะถึงจุดหนึ่งที่เครื่องนั้นดับ
ขอให้สังเกตตรงนี้ว่า เรารู้สึกอย่างไรบ้าง อันนี้ คือ ความดับ

ดับทุกข์มันจะอยู่ในลักษณะนี้ แล้วก็สังเกตต่อว่าหลังจากเสียงเลื่อยไฟฟ้าดับแล้ว
ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงอะไรเลย ก็มีอยู่เหมือนกัน เช่นเสียงนก เสียงลมพัด
เสียงธรรมชาติก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเสียงเหล่านั้นไม่เป็นอุปสรรค
หรือไม่แระทบกระแทกต่อความสงบที่เรากำลังเสวยอยู่

ความทุกข์ดับแล้วไม่ใช่ว่าจะไม่มีอะไร
สิ่งที่มีอยู่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ความปลอดโปร่ง
อาตมาเองก็ไม่ค่อยได้ใช้คำว่าว่าง เพราะรู้สึกว่าคำนี้ค่อนข้างอันตราย
บางคนฟังแล้วก็เข้าใจผิดก็มี เขาใช้คำว่า ปลอดโปร่งอาจจะดีกว่า


สมมติว่าเรามีห้องใหญ่ หรือศาลาหลังใหญ่
ถ้าหากว่าเปิดหน้าต่าง เปิดประตูอากาศถ่ายเท มีแสงสว่าง ถึงแม้ว่าห้องนั้นไม่ว่างมันก็มีเก้าอี้ มีคน มีโต๊ะ มีอะไรต่ออะไรบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่างทีเดียว
แต่เราไม่มีความรู้สึกว่ารก รู้สึกว่าปลอดโปร่ง

จิตใจของเราก็เหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าความทุกข์ดับไปแล้วจะไม่มีอะไร
ชีวิตจะจืดชืดแห้งแล้ง ...ไม่ใช่

เมื่อความสกปรกหายไปแล้วจะมีอะไรไหม ...มันก็มีอยู่
... มีความสะอาด
ความวุ่นวายหมดไปแล้วเราก็มีความสงบ

และความสงบที่ประกอบไปด้วยปัญญา เป็นความสงบที่ทนทาน
เราจะมีความเป็นกลางที่สมบูรณ์ บริบูรณ์ คือ อุเบกขาในระดับนี้


ไม่ใช่ความเฉยเมยหรือความเป็นกลางที่เกิดขึ้น
เพราะเราไม่ยอมรับสิ่งภายนอก หรือว่าหลบหลีกจากสิ่งรบกวน แต่ว่าเป็นความเป็นกลางที่อาศัยปัญญา
(เพื่อ)รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริงว่าเป็นของไม่แน่

ดีใจก็ของไม่แน่
เสียใจก็ของไม่แน่
สมหวังก็ของไม่แน่
ผิดหวังก็ของไม่แน่
ก้าวหน้าก็ของไม่แน่
ถอยหลังก็ของไม่แน่
อยู่กับที่ก็ของไม่แน่
อยากอยู่ก็ของไม่แน่
ตื่นเต้นอยู่ก็ของไม่แน่
นี่มันสงบด้วยสัมมาทิฐิ

ความสงบนี้เป็นความสงบที่กล้าหาญ
ความสงบที่เกิดจาก สมถะ เป็นสิ่งที่ดี

แต่สิ่งที่เราขาดไม่ได้ คือปัญญาอันแหลมคม
หรือปัญญาที่มีพลังพอที่จะขจัดกิเลสได้
ย่อมเกิดจากจิตที่สงบเป็นฐานแต่ว่าความสงบที่เกิดจากสมถะภาวนาเป็นความสงบที่เปราะ
เป็นความสงบที่อ่อนแอ

ความสงบที่มุ่งหวังในการประพฤติปฏิบัติคือ
ความสงบที่เกิดจากการรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ขออย่าลืมว่า เราปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงของชีวิต
ชีวิตของมนุษย์ต้องการความจริง
ชีวิตของมนุษย์ต้องการความหลุดพ้นตัณหาที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบันนี้
ส่วนมากเกิดขึ้นจากการเก็บกดความต้องการในความเป็นอิสระ
ซึ่งเป็นความต้องการอันดั้งเดิมของมนุษย์

หลายสิบปีที่แล้วมีนักปราชญ์ชาวยิว ชื่อ ฟรอยด์
ท่านมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมตะวันตกทุกวันนี้
อาจจะรวมถึงวัฒนธรรมตะวันออกด้วยอย่างมากมาย

ทิฐิหรือความคิดเห็นของเขามีข้อหนึ่งแล้วก็เป็นข้อสำคัญว่า
ศรัทธาในศาสนธรรมหรือความสนใจในเรื่องศาสนา
เกิดจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ

แต่อาตมามีความเห็นตรงกันข้าม ความมัวเมาในเรื่องทางเพศเกิดขึ้นเพราะเราเก็บกดความต้องการทางศาสนา
อันนี้เราต้องเห็น(ว่า)เรามีความต้องการ
ต้องการความจริง
ต้องการสัจธรรม
ต้องการหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความโลภ ความโกรธ ความเหงา

ปัญญา...เราก็มีอยู่ทุกคน
แต่โดยปกติแล้วปัญญาดั้งเดิมของเราถูกความคิดฟุ้งซ่านของจิตปรุงแต่ง
กลบเกลื่อนไว้หรือทับถมไว้

เราอยู่โดยชีวิตที่ผิวเผิน ..
ลึก ๆ อยู่ในใจเรา เราก็มีความคิดถึงบ้าน
และพูดสำนวนของหลวงพ่อชาคิดถึงบ้านที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของเราก็แสวงหาความสุขทางเนื้อหนัง
หรือว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา

แต่เราก็สงสัยว่าทำไมเราไม่อิ่มสักที
ทำไมเรามีความรู้สึกว้าเหว่อยู่ในใจ
บางครั้งก็รู้สึกกลัดกลุ้มใจ
รู้สึกว่าขาดอะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้ขาดอะไร
นี่แหละแสดงถึงอาการเก็บกด ความต้องการทางศาสนา

หันหลังใส่ประโยชน์ตน หันหลังใส่ประโยชน์ท่าน
ไปมั่วสุมกับสิ่งทรยศทั้งหลาย
รูปเป็นของทรยศ เสียงก็ของทรยศ กลิ่นก็ทรยศ รสก็ทรยศ การสัมผัสก็ทรยศ

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นเพื่อนกิน ไม่ใช่เพื่อนตาย

เพื่อนตายมีองค์เดียวคือ พระพุทธเจ้า
แล้วเราต้องการอะไรในชีวิต ต้องการเพื่อนกิน หรือต้องการเพื่อนตาย

ต้องการเพื่อนตายต้องเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ
เราต้องมีการเสียสละเพื่อศาสนธรรม

ทุกวันนี้เท่าที่อาตมาสังเกต ส่วนมากพวกเรา
พร้อมที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อศาสนา
เว้นในสิ่งเดียว คือ ผลประโยชน์ของตนเอง อย่างนี้เรียกว่า เข้าข้างตัวเอง
ยังไม่เข้าถึงศาสนา

เราต้องเข้าข้างพระพุทธเจ้าเสียบ้าง
เข้าข้างความจริงเสียบ้าง
เข้าข้างความถูกต้องเสียบ้าง

มีศรัทธา มีความเข้มแข็ง พอที่จะอดทนต่อความยั่วยุของกิเลส

พร้อมที่จะสละสิ่งที่ถูกใจ ถ้าหากว่าสิ่งที่ถูกใจเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อการเบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

เราต้องเป็นนักเสียสละ
แต่ว่ายิ่งสละออกไปมันก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งทิ้งของหนักก็ยิ่งมีความเบา
ยิ่งเขี่ยของสกปรกออกไปยิ่งมีความเบิกบานกับของสะอาด

ถ้าเราคลุกคลีอยู่กับความรู้สึก “ ฉัน “ “ ของฉัน “ ศาสนธรรมก็ไม่เกิด
เราต้องเห็นโทษเห็นภัยในความรู้สึกอันนี้ และปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อเอาชนะสิ่งนี้




ชีวิตนี้คืออะไร ? คำว่า “ เรา “ หมายถึงอะไร

และสังเกตว่า เมื่อจะใช้คำว่า “ เรา “ นี้เราหมายถึงหลายสิ่งหลายอย่าง
เราเมื่อย เราหิวข้าว เรามีความสุข เราปวดร้าวใจ เราจำได้ เราจำไม่ได้ เราคิดว่า เราชอบ เราไม่ชอบ เราเห็นแล้ว เราได้ยินแล้ว นี่คำว่า “ เรา “ ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่เราหมายถึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราดูดีๆ จะเห็นว่า “ เรา “ หมายถึงสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ ขันธ์ “
เราหิวข้าว หมายถึง ว่าร่างกายหิวข้าว
เรามีความสุข หมายถึงสุขเวทนา เกิดขึ้นแล้ว
เราจำได้ หมายความว่าความจำได้เกิดขึ้นแล้ว
เราชอบหมายถึงว่าความชอบเกิดขึ้นแล้ว
เราเห็น หรือว่าเราได้ยินก็เป็น วิญญาณ นี่ปัญญามันเกิดขึ้นจากการพิจารณาตรงนี้


เราฝึกสมาธิภาวนาเพื่อทำจิตใจของเราให้มีความมั่นคงมีความแน่วแน่
แต่นั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการประพฤติปฏิบัติ
จิตใจของเราโดยปกติก็คล้ายกับเทียนที่อยู่ในสายลม

ถ้าเทียนอยู่ในสายลม เราจะอาศัยเทียนนั้นทำงานไม่ได้ เราต้องเอาเทียนออกจากสายลม เอาไว้ในที่สงัดจากลม
เราจึงจะอ่านหนังสือได้ เราจึงจะทำงานได้

จิตใจของเราก็เหมือนกัน อยู่ในสายลมแห่งความคิด
เราต้องเอาจิตออกจากสายลม ให้จิตสงัดจากความคิด
สงัดจากกาม สงัดจากนิวรณ์ แล้วก็ใช้จิตที่ผ่องใสนั้นให้มาดู
ดูสิ่งที่มีอยู่กับตัวเอง ไม่ต้องไปดูอื่นไกล
อันนี้วัตถุดิบมีอยู่หมดแล้วเรียบร้อยแล้ว
ไม่ต้องซื้อเข้ามา ไม่ต้องสั่งเข้ามา
มีแล้ว แต่ว่าเรายังไม่เห็น ยังไม่สนใจมันเท่าที่ควร


เรายังเป็น “ นักโทษ “
เรายังติดคุกติดตะรางแห่งความเพลิดเพลินกับสิ่งภายนอก
ความเพลิดเพลินนั้นเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจของมนุษย์อยู่เป็นธรรมดา

และนอกจากติดคุกติดตะรางในความเพลิดเพลิน เรายังเป็นนักโทษในอีกความหมายหนึ่งคือความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต
ชอบโทษคนอื่น ชอบเป็นนักโทษโทษคนนั้นโทษคนนี้
โทษพ่อแม่ โทษลูกหลาน โทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร
สิ่งที่เป็นโทษในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้
สิ่งเหล่านี้เป็นแค่เงื่อนไขหรือเป็นปัจจัย หรือเป็นจุดกระตุ้น
ความทุกข์อยู่ที่ใจ


ฉะนั้นขอให้สังเกตตัวเอง เวลาเราชักจะไปโกรธ ชักจะไปโทษคนอื่น
หรือสิ่งภายนอก ให้หยุดให้ระงับสิ่งเหล่านั้น แล้วค่อยมาดูตัวเอง นี่คืออะไร
มันเกิดอย่างไร มันอยู่อย่างไร มันดับอย่างไร นี่เราต้องการความเข้าใจเรื่องนี้

อย่าไปเข้าใจว่าความสงบอยู่ที่การหนีความวุ่นวาย
หรือหนีจากสิ่งกระทบ
การกระทบเป็นของธรรมดา
แต่ว่าการกระทบอย่าให้เกิดการกระแทกก็แล้วกัน
กระทบเฉยๆ แล้วก็ดับไป

ทำชีวิตให้เหมือนกับระฆัง
ระฆังวัด ระฆังวัดนี่สร้างประโยชน์ด้วยการกระทบ พอมีอะไรมากระทบก็เอวัง !
มันก็ไพเราะ แล้วก็เกิดประโยชน์ด้วย
ไม่เคยมีระฆังที่ไหนบ่นว่ามีการกระทบบ่อยแล้วตึงเครียด กดดัน มีแต่ความภูมิใจวาได้สร้างประโยชน์ให้มีการกระทบเถอะ มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีการกระทบ แต่ว่ากระทบแล้วเป็นอย่างไร นี่แหละเราช่วยได้ นี่แหละการปฏิบัติอยู่ที่ตรงนี้


ชีวิตของเรายุ่งไหม แล้วทำอย่างไรมันจึงไม่ยุ่ง
คือ มันต้องมีของยุ่ง ๆ อยู่รอบตัวของเราเป็นธรรมดา

แต่ถึงแม้มันมายุ่งกับเราเราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน
ถ้าจิตใจของเรามีสติ มีความรู้ตัวอยู่ว่าเดี๋ยวนี้จิตใจของเราอยู่ในสภาพเช่นไร
เป็นบุญไหม เป็นบาปไหม เป็นกุศลไหม เป็นอกุศลไหม มันก็จะป้องกันตัวได้

เดี๋ยวนี้เรากำลังทำอะไรอยู่
เดี๋ยวนี้เรากำลังทำเพื่ออะไร พูดอะไรอยู่ พูดเพื่ออะไร พูดเพื่อสร้างประโยชน์ไหม หรือว่าพูดเพื่อฆ่าเวลา
ความจริงการฆ่าเวลานี้น่าจะผิดศีลข้อปาณาติบาต เป็นความเลวนะ
มันเป็นสิ่งไม่ดี ให้เห็นโทษในสิ่งที่ไม่ดีแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ..ฆ่าเวลา
เวลาเรามีน้อย น้อยมาก


ทัศนะของนักปฏิบัติ

คือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะได้ถ้าเรามีสติ
ถ้าเรามีปัญญา
เราไม่ลืมตัว

การที่เราจะแบ่งแยกว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นชั่ว สิ่งนั้นโชคดี สิ่งนั้นโชคร้าย
เราจะไม่คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

เราถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบนั้นเป็นการท้าทายสติปัญญาของเรา
มองชีวิตเป็นการท้าทาย

ไม่ใช่ว่าไปประสบกับสิ่งที่น่ารัก น่าชอบใจแล้วก็ดีใจหัวเราะ
แต่ว่า(พอ)ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาก็ร้องไห้ ..
...อย่างนี้ชีวิตของเราก็ขรุขระไป ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ความราบรื่นเกิดขึ้น ถ้าเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงอยู่เสมอ


จิตใจที่มีความเข้มแข็งอย่างนี้ เป็นจิตใจที่ได้รับการบำรุงเลี้ยงโดยสติ
และในเรื่องนี้การนั่งสมาธิภาวนาเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะว่าถ้าเราไม่นั่งสมาธิภาวนา สติของเรานี้มันเงอะงะ มันไม่ทันกิเลส
กิเลสมันคล่องแคล่ว ว่องไว สติก็ตามไม่ทัน ถ้าหากว่าเราไม่นั่งสมาธิภาวนาบ่อยๆ
นั่งสมาธิเพื่อเป็นการเจริญสตินั่นเอง



สติที่เราสร้างในระหว่าง
การนั่งสมาธิภาวนาก็จะช่วยให้เราอยู่ในโลกท่ามกลางคนเห็นแก่ตัว ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว

อยู่กับคนที่มีความโลภมาก ๆ โดยความสันโดษมักน้อย

อยู่กับคนขี้โกรธด้วยใจเมตตา มีความเอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์

ให้อภัยคนอื่นด้วยความเป็นมิตร
ไม่ได้ถือคติหนังจีนว่า แค้นนี้ต้องชำระ
แต่ถือคติพุทธว่า แค้นนี้ต้องให้อภัย
อยู่กับคนที่มีแต่ความหลงด้วยจิตที่มีสติสัมปชัญญะมีความรู้ตัวทั่วพร้อม


ในเรื่องนี้เราเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ คือไม่ต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนพระก็ได้
มันเป็นการเผยแพร่ เราเผยแพร่ด้วยคุณธรรม

ในการสวดมนต์ เราสวดคำสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ข้อหนึ่งว่า
พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าพระสงฆ์


ทีนี้สมมติว่าเราเป็นผู้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ
เป็นผู้ที่พยายามรักษาความสดชื่นของจิตใจไว้
เป็นผู้ที่มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
โดยไม่มีความเลือกที่รักมักที่ชัง
คนรอบข้างเขามาพูดกับเรา เขามาสัมพันธ์กับเรา เขาก็ได้รู้สึกชื่นใจ เขาก็ได้รู้สึกสบายใจ เพราะการพูดคุยกับเรา หรือการสัมพันธ์กับเรา

ฉะนั้นจิตใจของเขามีความสุขที่เป็นบุญ
จิตใจของเขาเป็นบุญ เพราะเราเป็นเหตุ
ฉะนั้นในกรณีนี้ น่าจะเรียกว่าเราเป็นเนื้อนาบุญของเขา

แม้ว่าเราไม่เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่เหมือนพระอริยสงฆ์
เราก็ยังสามารถเป็นเนื้อนาบุญอันเล็ก ๆ ของเพื่อนมนุษย์ได้แค่นี้ก็น่าภูมิใจแล้ว
แค่นี้ก็เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว แก่สังคม แก่โลกอย่างมหาศาลแล้ว
จะเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ยอดเยี่ยม

แต่ทุกวันนี้ เราไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น
ทุกวันนี้เราก็เป็นชาวพูดมากกว่าชาวพุทธ
พูดจริงแต่ไม่ค่อยทำ ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
บ่นแต่ว่า เขาไม่เคารพเรา
ลูกหลานคนสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ทุกวันนี้เขาไม่เคารพคุณยายเหมือนสมัยก่อน
เราก็บ่นแต่เขา
เรียกว่าเป็นนักโทษ โทษคนอื่นแล้วก็ไม่ได้ดูตัวเองว่าน่าเคารพไหม
ว่าแต่เขาไม่เคารพ เราน้อยใจ ไม่ได้ดูที่คุณธรรมของตัวเอง

พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการรับผิดชอบ
ไม่ใช่รับแต่ชอบไม่รับผิด ต้องรับทั้งสองอย่าง

เราต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วก็ทำความดี

แต่ว่าทำความดี เพื่อความดี
ทำความดีเพราะรักความดี
แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี
ก็ถ้าเราเป็น คนดี แล้วจะเป็นทุกข์

หลายปีที่แล้วมา หลวงพ่อชา ลงไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ
มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะฝ่ายมหายานมาถามหลวงพ่อชา
เรื่องการปฏิบัติว่า

“ คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์
กับคนปฏิบัติเพ่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนสูงกว่ากัน “

หลวงพ่อชาตอบว่า
“ อย่าเป็นอะไรเลย
พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย
พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็นเลย
แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย
เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที "

คืออย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เป็นคน อย่าเป็นคนดี

ถ้าเป็นคนดีแล้วต้องรำคาญคนไม่ดี

ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ
ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ
เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่เลิกแล้วดูคนอื่นสูบ ก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่าติดดี

ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดีท่านก็ไม่ให้เราติด
เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ

คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทฤษฏี ไม่ใช่ปรัชญา
แต่มันเป็นความจริงอันลึกซึ้งที่ปรากฏอยู่ในใจของนักปฏิบัติ
ที่เราพยายามเอามาพูดเป็นภาษาคน

แต่ที่เราพูดมันไม่ใช่ตัวธรรมะ
ตัวธรรมะเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ต้องเห็น ต้องสัมผัสอย่างประจักษ์แจ้งอยู่ในใจของเรา


ถ้าเราเข้าถึงธรรมะแล้วเรียกว่าเกิดปัญญา
แล้วสิ่งที่จะต้องเกิดตามคือ ความกรุณา
เห็นว่าเราเป็นอย่างไร เขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอย่างไร เราเป็นอย่างนั้น

สังเกตตัวเองว่ากิเลสเกิดขึ้นเอง เราไม่ได้เชิญมันมา ไม่ได้ชวนมันมา
อยู่นั่นมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป ดับไปแล้วไม่รู้ไปไหน แต่ว่ามันก็ครอบงำ

เราเห็นว่า เราเคยโกรธ
เราก็ไม่อยากจะไปโกรธใคร
แต่ว่าเขาพูดอย่างนั้น เราก็อดไม่ได้

ถ้าเราสังเกตตัวเองว่า เวลามันโกรธมันเกิดขึ้นเอง มันก็ดับไปเอง
ทีนี้เมื่อคนอื่นเขามาโกรธเรา ให้รู้จักมันไว้ เราเป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น
เขาคงไม่อยากจะโกรธเราหรอก แต่ว่าความโกรธมันเกิดเอง มันอยู่เอง มันไปเอง
อันนี้แหละวิปัสสนา เราก็ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้
แล้วก็เห็นกิเลสเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป
แล้วก็เห็นของเราเป็นอย่างนั้น ของเขาก็เป็นอย่างนั้น
ก็ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกันเลย
แล้วก็มาดูตัวเองว่าตัวเองนี้ก็พยายามเป็นนักปฏิบัติที่ดี
พยายามเป็นพุทธมามกะที่ดี

แต่ว่าบางครั้งบางคราวก็หลงผิดพลาด
แต่ว่าอดทำไม่ได้ อันนี้เราเป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น
เขาเป็นอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้น
จิตใจของเรานี้ยังไม่เข้มแข็ง ต้องให้อภัยตัวเอง เมตตาตัวเองแล้ว ก็เมตตาคนอื่นด้วย



ส่วนมากเท่าที่สังเกต คนขี้โกรธ
ขี้โกรธเพราะว่าไม่เมตตาตัวเอง ไม่รักตัวเองในทางที่ถูกต้อง
เมื่อเราไม่เมตตาตัวเอง เราจะไปเมตตาคนอื่นได้อย่างไร
เหมือนกับว่าเราอยากจะไปทำทานแต่ว่าเราไม่มีสตางค์ เราจะไปทำอย่างไร
ก็เหมือนกันเราไม่มีเมตตาอยู่ในใจตัวเอง จะไปให้คนอื่นได้อย่างไร


ทุกวันนี้ก็มีแต่คนส่ง ส.ค.ส.เต็มบ้านเต็มเมือง
ไม่รู้ว่าคนที่ส่ง ส.ค.ส. มีความสุขที่จะให้คนอื่นสักกี่คน
ชาวพูด ..พูดเฉย ๆ

เราก็ต้องมีความสุขภายในใจเราจึงจะให้คนอื่นได้สร้างความสุขภายในใจ
นี่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างมาก ไม่มีความขัดแย้งเลย
ระหว่างการสร้างประโยชน์ตนกับสร้างประโยชน์คนอื่น

เราปลีกตัวมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้เป็นการช่วยโลก เป็นการช่วยสังคมอย่างดี
เพราะว่าความสงบหรือความเข้าใจในเรื่องตัวเองที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติที่นี่
เราจะเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกคนเดียว
เราอยู่กับคนอื่น เพราะฉะนั้นความดีความชั่วของเราต้องแผ่ไปถึงคนอื่นเป็นธรรมดา


เราจะช่วยคนอื่นเราต้องช่วยตัวเองด้วย
เพราะว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อยากจะช่วยคนอื่นอย่างถูกต้องให้ได้ผล
มันก็ต้องฉลาดในการชนะกิเลสของตัวเอง เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ
เพราะว่าเจตนาที่ดีไขว้เขวเป็นอย่างอื่นได้ง่าย แต่เราไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้อุบาย
ไม่รู้กลมายาของกิเลส จิตใจของเรานี้ อย่าไปเชื่อมัน มันตลบแตลงที่สุดเลย
อย่าเชื่อความคิดของตัวเอง มันเป็นของทรยศ !


อะไร ๆ เกิดขึ้นมันไม่แน่ มันไม่แน่
เรื่องสัมมาทิฐิอยู่ตรงนี้ อยู่กับคำง่าย ๆ 'ไม่แน"
ชอบก็ไม่แน่ ไม่ชอบก็ไม่แน่
จะไปก็ไม่แน่ จะอยู่ก็ไม่แน่

ให้เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นในจิตใจของตัวเองเป็นเรื่องน่าขำ
อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันมากเกินไป
อย่าไปถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เป็นของสาธารณะ
อารมณ์มันเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของเรา

เราไม่มีน.ส.3 ในเรื่องเหล่านี้ซื้อไม่ได้
มันเป็นของธรรมชาติเพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นของธรรมชาติ ให้มันเป็นของธรรมชาติไป
อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปมั่วสุมกับมันมาก ถ้าอย่างนั้นมันจะเกิดปัญหา

ดูตัวเองให้มาก สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปให้เกิดปัญญา
แล้วเอาปัญญาที่ได้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มุ่งที่จะสร้างประโยชน์แก่โลก สร้างชีวิตที่น่าภูมิใจ

ให้เราทุกคนมีส่วนในการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา
เมืองไทยมีดีก็เพราะพระพุทธศาสนา
เมืองไทยมีเสียก็เพราะขาดพระพุทธศาสนา
ฉะนั้นปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีได้
ถ้าหากว่าเราบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยกาย วาจาใจ ของเรา
ด้วยการประพฤติปฏิบัติ


อย่าคิดเอง…..

….สิ่งที่เรา “ รู้เอง “ กับสิ่งที่เรา “ คิดเอง “ นี้มันต่างกันนะ
แต่ถ้าเราคิดปรุงแต่ง สองอย่างนี้มันจะรวมเป็นอันเดียวกัน
เช่น สมมติมีใครทำอะไรสักอย่างซึ่งเป็นผลเสียต่อเรา
และเราก็ไม่รู้เจตนาของเขา เลยคิดว่าเขา “ อาจจะ “ แกล้งเราก็ได้

คิดปรุงแต่งไปมาในคำว่า “ อาจจะ “
จนมันกลายเป็น “ คงจะ “
แล้วในที่สุดคำว่า คงจะ ก็กลายเป็นข้อมูล เป็นความแน่นอน
คือ มีความเปลี่ยนแปลง มีความกำเริบในความคิด จาก คำว่า อาจจะ เป็น คงจะ
เป็น แน่ใจ ว่าเป็นอย่างนั้น เลยเกิดความโกรธ เคียดแค้นใครคนนั้นเข้าทั้งๆ
ที่เราไม่มีข้อมูลอะไรแน่นอนว่าเขาแกล้งเรา แต่เรา คิดเอง
เราฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญารู้เอง หยุดความคิดปรุงแต่ง……




ชยสาโรภิกขุ
- นามเดิม ฌอน ชิเวอร์ตัน ( Shaun Chiverton )
- พ.ศ. 2501 เกิดที่ประเทศอังกฤษ
- พ.ศ. 2521 ได้พบกับท่านอาจารย์สุเมโธ ที่วิหารแฮมสเตด ประเทศอังกฤษ ถือเพศเป็นอานาคาริกะ ( ปะขาว ) อยู่กับท่านอาจารย์สุเมโธ 1 พรรษา แล้วเดินทางมายังประเทศไทย
- พ.ศ. 2522 บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2523 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง โดยมีหลวงพ่อชา เป็นพระอุปัชฌาย์
- ปัจจุบัน รักษาการเจ้าอาวาส วัดป่านานาชาติ ต. บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ที่มา http://www.dhamma.in.th/board/viewtopic.php?t=114&sid=b3ea0a27f3879c78dc8b35e794a6cfcd
 

_________________
ฐิโต อหํ องฺคุลิมาล ตฺว ฺจ ติฏฺฐ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 27 ก.ย. 2008, 10:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทฤษฏี ไม่ใช่ปรัชญา
แต่มันเป็นความจริงอันลึกซึ้งที่ปรากฏอยู่ในใจของนักปฏิบัติ
ที่เราพยายามเอามาพูดเป็นภาษาคน

แต่ที่เราพูดมันไม่ใช่ตัวธรรมะ
ตัวธรรมะเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ต้องเห็น
ต้องสัมผัสอย่างประจักษ์แจ้งอยู่ในใจของเรา



สาธุ...สาธุ...สาธุยิ่งค่ะ สาธุ ยิ้มเห็นฟัน สู้ สู้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2008, 1:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ชาญวิทย์
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 04 พ.ค. 2008
ตอบ: 152

ตอบตอบเมื่อ: 07 ต.ค.2008, 7:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณครับผม
สาธุ ยิ้มเห็นฟัน ยิ้ม
 

_________________
ธรรมะคือธรรมชาติ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 09 ต.ค.2008, 9:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุค่ะ

ขออนุญาตแบ่งปันนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ยิ้ม ยิ้มแก้มปริ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง