Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ทุกข์เพราะคิดผิด (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 18 มิ.ย.2006, 8:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ทุกข์เพราะคิดผิด
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง มักได้ยินหลวงพ่อฯ พูดเสมอว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด คิดถูกดับทุกข์ได้” ผู้จัดทำเห็นว่าเหมาะเจาะรัดกุมดี อีกทั้งมีความหมายสมบูรณ์ในตัว จึงได้กราบมนัสการขอนำมาเป็นชื่อหนังสือว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด”

ท่านพระอาจารย์มิตซูโอะ ผู้เป็นศิษย์ในหลวงพ่อชาฯ อบรมญาติโยมและศิษยานุศิษย์ตามแนวเดียวกัน ได้อธิบายว่า “คนเราส่วนมากหรือเกือบทุกคนที่เป็นทุกข์กันอยู่ก็เพราะ คิดผิด คิดไม่เป็นนี่แหละ แล้วที่สำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าเราคิดผิด ไม่รู้ว่า คิดถูก นั้นเป็นอย่างไร เราคิดว่าเราคิดถูกแล้วอยู่ร่ำไป” คำว่า คิดผิด กับ คิดถูก นี้น่าศึกษาจริงๆ

ท่านอาจารย์ฯ บอกว่า “มันเป็นเรื่องต้องเปลี่ยน ความเห็นผิด ให้เป็น ความเห็นถูก ทีเดียว และมันจะเกิดผลก็ต่อเมื่อเราพยายามลดละมานะทิฏฐิ ยอมรับฟัง แล้วก็โยนิโสมนสิการ พิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุผลและปฏิบัติภาวนา น้อมเข้ามาดูกาย..... ดูใจ..... จนเห็นตามความเป็นจริง”..... ถ้าทำอย่างนี้ทิฏฐิจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง เมื่อเกิดหิริโอตตัปปะภายในจิตใจ เห็นโทษของความคิดผิด ที่เคยคิดผิด ก็จะคิดถูกได้ และเมื่อนั้นเราก็จะสบายขึ้น..... สบายขึ้นตามลำดับ


มูลนิธิมายา โคตมี
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สารบัญ

ภาค 1
การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาให้รู้จักตัวเอง

เทศนาอบรมญาติโยมที่วัดป่าไทรงาม
จังหวัดกำแพงเพชร 21 มีนาคม 2535

ภาค 2
ปกิณกะธรรม

ทุกข์เพราะลูกตาย
คนชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น
เขาทำดี พูดดี แต่เราโกรธ
เขาไม่มีเจตนาร้าย..... เราโกรธเขา
บางทีเขาทำผิดจริงๆ..... เราก็จะไม่โกรธ
เราทำเขาก่อน
ต้องเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่าง
ใครทำชั่ว..... ให้กฎแห่งกรรมลงโทษเขาเอง
ทำอย่างไรกับความโกรธ
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาค 1
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
เทศนาอบรมญาติโยมที่มาร่วมกันปฏิบัติกรรมฐานที่
วัดป่าไทรงาม อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2535


.......................................................................


ในโอกาสต่อไปนี้ญาติโยมจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งสบายๆ ภาวนา
ไปด้วยก็ได้ ทำใจให้สงบ สำรวมกาย วาจา จิตให้สงบ ให้เรียบร้อย

การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาให้รู้จักตัวเอง

ตัวเองที่เดินไปมานี้ ตัวเราที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้
ให้ศึกษาจนเข้าใจตามความเป็นจริงในตัวกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้
ดูชีวิตของตัวเองว่าเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า
ชีวิตนี้เป็นทุกข์ แต่ความดับทุกข์ก็มีอยู่

ตั้งแต่พระองค์ตรัสรู้เป็นต้นมา ก็ทรงสอน 2 เรื่องเท่านั้น
คือ ทุกข์ กับ ความดับทุกข์
หรือที่พระพุทธองค์ทรงจัดไว้เป็น 4 คือ อริยสัจ 4
ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
อันนี้เป็นการสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “ธรรมะ”

เมื่อพวกเรามาสนใจธรรม ตั้งใจมาปฏิบัติจำศีลภาวนา จึงควร
พยายามทำความ เข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นทุกข์
ไม่สบายใจนั่นแหละ..... ในชีวิตประจำวันของเรา คงจะต้องมีบ้าง
ที่พวกเรามีความรู้สึกโกรธ น้อยใจ เสียใจ ผิดหวัง..... อะไรๆ เหล่านี้

เรียกว่า ไม่สบายใจ ความไม่สบายใจก็เป็น ทุกข์..... ที่เป็นทุกข์นั้น
เพราะไม่รู้จักตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริง การที่เรามา
ปฏิบัติก็ไม่ใช่เพื่อจะเป็นอะไรที่พิศดารมากมาย เพียงแต่พยายามให้
เข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อรู้จักตัวเอง ก็รู้จักทุกข์
เมื่อรู้จักทุกข์ ก็จะรู้จักวิธีดับทุกข์ต่อไป


ที่ว่าปฏิบัตินั้นปฏิบัติอย่างไร

ก็ทำอย่างที่กำลังทำอยู่นี้แหละ
สมาทานศีล หมายถึง สำรวมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในขอบเขตที่ดีงาม
จิตของเรานี้เมื่อเป็นจิตที่ไม่ได้ฝึกฝน ชอบที่จะคิดโน่นคิดนี่สารพัด
คิดไปในอดีต คิดไปในอนาคต
ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ จนปวดหัว ฟุ้งซ่าน
จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนจะมีลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้
หรือที่เรียกว่า “จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว”
คิดปรุงแต่งออกไปภายนอกเรื่อยๆ

กายอยู่ที่นี่แต่จิตคิดถึงบ้าน จิตกลับไปบ้านแล้ว
อาจจะเข้าไปอยู่ในครัวก็ได้ ไปทำกับข้าวอยู่ในครัว
หรือไปคุยกับคนโน้นคนนี้ ไปกินโน่นกินนี่
จิตท่องเที่ยวไปสารพัดอย่าง

ให้เราพยายามเรียกจิตนี้มาอยู่กับตัวเรา
อย่างน้อยก็ให้อยู่ในศาลานี้แหละ
ลืมตามองเห็นเพื่อน
หลับตาลงให้เห็นกายของตัวเอง นั่งลักษณะอย่างนี้
กายนั่งอยู่ที่นี้ ให้พยายามเอาจิตมาดูกายนั่ง
ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้เราพยายามตั้งสติ กำหนดเห็นกายนั่ง

ถ้าจิตคิดโน่นคิดนี่ หมายความว่า
จิตไม่ได้อยู่กับกายนี้ จิตไม่ได้อยู่กับตัว
เราก็พยายามดึงจิตกลับเข้ามาดูกาย
กายเป็นอย่างไรในขณะนั้น กำหนดให้เห็น
ถ้าเห็นกายได้ จิตก็สงบ
เพราะถ้าจิตไม่สงบ ก็ไม่เห็นกาย
นี่เป็นการฝึกอบรมจิต
นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่
ให้เราพยายามน้อมเข้ามาดูกายกับใจของเรานี้แหละ


(มีต่อ 1)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดไปเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

จิตนี้มีความสำคัญ
ธรรมดาคนเราคิดอะไรมักจะไม่ค่อยรู้ตัว
วันหนึ่งๆ คนที่จะรู้ตัวว่า คิดอะไร ทำอะไร จริงๆ มีน้อย
ส่วนมากก็คิดไปตามความเคยชิน หรือตามอำเภอใจ
ตามอารมณ์นี่แหละ
คิดไปเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทุกข์เกิดขึ้นกับเราทุกวันนี้ เพราะเราไม่รู้จักความคิด
คิดผิด คิดถูก ก็ไม่รู้
และเมื่อคิดผิด ก็เกิดทุกข์ทันที
บางครั้งก็ทุกข์เกินกว่าเหตุอีกด้วย
บางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบายกายนิดหน่อย
แต่จิตใจทุกข์มาก
ทุกข์กายนิดหน่อย แต่ไปเพิ่มทุกข์ใจอีก
เพราะเราปล่อยความคิดของเราให้คิดไปตามกิเลส

ถ้าเราสามารถระงับจิตได้ ทำใจสงบได้ ปัญหาก็จะเบาลง

สมมติว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เรานั่งสมาธิ ทำใจให้สงบสักพักหนึ่ง
5 นาที หรือ 10 นาที ดูลมหายใจเข้า หายใจออก
จิตก็ไม่คิดอะไร ก็สงบสบาย ไม่มีทุกข์ใช่ไหม
นี่แสดงว่าทุกข์เกิดเพราะคิดผิด คิดปรุงแต่งเรื่อยไปนี่เอง
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ไม่ชอบใจ ก็คิดปรุงแต่งไปจนไม่สบายใจ
หรือว่าอยู่ดีๆ นึกถึง อดีต ที่เคยมีเรื่องราวไม่ถูกใจ คิดไป นึกไป ปรุงไป
จนไม่สบายใจ เป็นทุกข์ บางทีเกิดอาฆาตพยาบาทก็ได้
การปรุงแต่งของจิตของเราจะมีลักษณะอย่างนี้

การสำรวมจิตอย่างที่ทำอยู่ขณะนี้ คือการมาจำศีลภาวนาที่วัด
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ทำใจสงบสบายๆ
ฝึกหัดใจให้หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง
เมื่อไม่ปรุง ก็ไม่มีทุกข์อะไร

และนอกจากนั้นก็ พยายามศึกษา พยายามทำความเข้าใจว่า
ที่เราไม่สบายใจกันทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เพราะคิดผิด
หลวงพ่อชาท่านสอนว่า “ทุกข์เพราะคิดผิด”
คิดถูกได้ มีโอกาส แก้ทุกข์ได้
เราจึงควรพยายามศึกษา

คิดอย่างไรเรียกว่าคิดถูก คิดอย่างไรเรียกว่าคิดผิด

เราต้องเข้าใจชัดเจนทั้งสองอย่าง
ในการปฏิบัติของเรา เราต้องพยายามติดตามดู ความรู้สึกนึกคิด
ตลอดวันตลอดคืน ไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะเมื่ออยู่ที่วัด
ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงานหรือเที่ยวไป
ก็ตาม พยายามคอยระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ติดตามศึกษา

ความจริงเราไม่ต้องทำอะไรมาก
เพียงแต่คอยสำรวมระวัง คอยสังเกตว่า
เรามีความรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร
ให้มีสติ สัมปชัญญะ ระลึกรู้อยู่ รู้สึกตัวอยู่เสมอ
อันนี้ให้ถือเป็นหน้าที่ของเรา
เราไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือฟังเทศน์อะไรมากมาย
เพียงแต่พยายาม เปลี่ยนนิสัย ให้เป็นคนช่างสังเกต
คือสังเกตความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง
สังเกตว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร
การปฏิบัติเช่นนี้ การพยายามติดตามสังเกตเช่นนี้ จะทำให้เกิดปัญญา


(มีต่อ 2)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

คือเกิดความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมาว่า
เมื่อทำเหตุดี ผลต้องดี
ทำเหตุไม่ดี ผลย่อมจะไม่ดี
เรียกว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ที่เราพูด เราได้ยินบ่อยๆ นั่นแหละ
เมื่อเราคิดดี พูดดี ทำดี เราก็สบายใจ
ความสุข ความสบายใจ ก็ปรากฏอยู่ที่เรา
ถ้าเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราก็ย่อมจะทำอะไรผิดๆ ถูกๆ เรื่อยไป

บางคนขี้บ่น ก็บ่นไปเรื่อยๆ

มีอะไรไม่ถูกใจหน่อยก็บ่น จนผู้อื่นเกิดความรำคาญ
ลูกหลานรำคาญ เพราะเราทำตามความเคยชิน
ไม่ถูกใจนิดหน่อยก็บ่น บ่นไปเรื่อยๆ
ให้ถามตัวเองว่า ถ้ามีใครมาบ่นอย่างนี้ เราชอบไหม
เราก็ไม่ชอบ
บ่นอย่างนี้ดีหรือไม่ดี..... ไม่ดี
ใครบ่น..... เราบ่นเอง
บ่นแล้วใครไม่สบายใจ..... เราไม่สบายใจ
คนอื่นก็ไม่สบายใจด้วย

เห็นไหมว่า เมื่อคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี
ก็มีผลออกมาเป็นความไม่สบายใจ เป็นทุกข์
เมื่อเราตั้งใจศึกษาธรรมะ คือศึกษาตัวเองอย่างนี้
เราจะค่อยๆ เห็นชัดเจนขึ้นมาว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” จริง
อันนี้เกิดจากการปฏิบัติธรรมหรือภาวนานี่เอง
“ทำดี” ก็คือ คิดดี พูดดี ทำดี
“ทำชั่ว” ก็คือ คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี
“ได้ดี” ก็คือ ความสุขใจ สบายใจ
“ได้ชั่ว” ก็คือ ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ

บุญกับบาป

ทำดีกับทำชั่ว บุญกับบาป ก็เรื่องเดียวกัน
ต่อไปนี้ให้เราพยายามทำใจให้สงบ
ยืน เดิน หรือนั่ง หรือจะทำอะไร ให้พยายามรู้
นั่งให้รู้ว่านั่ง ยืนให้รู้ว่ายืน เดินให้รู้ว่าเดิน
แล้วค่อยๆ พิจารณาความคิด ดูว่าเราคิดอะไร
สังเกตความรู้สึกนึกคิด

บางทีเราอาจจะเกิดความรู้สึกกลัว
เพราะเห็นว่าเราเคยทำอะไรผิดมา นึกแล้วไม่สบายใจ อันนี้เป็นบาป
คนไทยพูดถึง บุญกับบาป
บุญคืออะไร บาปคืออะไร
อะไรที่เราทำไปแล้ว นึกถึงเมื่อใดก็สบายใจ นั่นคือ “บุญ”
อะไรที่เราทำไปแล้ว ย้อนนึกถึงเมื่อใดเกิดความไม่สบายใจ
นั่นเป็น “บาป” แล้วนะ

เรามองดู ใจ เราก็ได้
เราสบายใจหรือไม่สบายใจ
ไม่สบายใจก็เป็นบาป

ธรรมดาเราทำบุญทำบาปปนกันไป
ไม่รู้ว่าอะไรคือบุญ อะไรคือบาป

ทำไปเรื่อยๆ..... นี้จึงเป็นเหตุให้เราไม่มีความสุขเท่าที่ควร
ตัวอย่างคนขี้บ่นนั่นแหละ บ่นแล้ว ตัวเองก็ไม่สบายใจ
คนอื่นก็รำคาญ เรียกว่า บาป
แต่เราไม่รู้สึกว่า นี่เป็นบาป บ่นจนติดเป็นนิสัย ทำไปเรื่อยๆ
ถึงเวลาเข้าวัด ก็ทำบุญใส่บาตรบ้าง อะไรบ้าง
แต่นิสัยบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดีไม่งามก็ยังทำอยู่

การมาวัดจำศีลภาวนา จะค่อยๆ เห็นโทษของบาป หรือ การกระทำที่
ไม่ดีไม่งามด้วยกาย วาจา จิตของตัวเอง โดยเฉพาะการเข้าใจจิตนี่
เป็นเรื่องสำคัญ จิตคิดอย่างไรจึงจะเป็นบุญ เป็นธรรมะ คิดอย่างไร
เป็นบาป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อันนี้ให้เราพยายามศึกษา สังเกต
แล้วถามตัวเอง พูดง่ายๆ คือ

คิดไปแล้วสบายใจ สงบใจเป็นไปเพื่อความสามัคคีของหมู่คณะ
อย่างนี้ถือได้ว่า เราคิดดี คิดถูก ใช้ได้ คิดไปเพื่อปล่อยวาง
เกิดความสบายใจนี่ใช้ได้ ถ้าคิดไปแล้วไม่สบายใจ เกิดความรู้สึกน้อยใจ
เสียใจเพิ่มขึ้นๆ เกิดอาฆาตพยาบาทมากขึ้น อันนี้แน่นอนที่สุดว่า
คิดผิด คิดไปแล้วไม่สบายใจนี่แหละ เกิดน้อยใจ เสียใจ ฟุ้งซ่าน
รำคาญ อะไรๆ ทำนองนี้ เรียกว่า คิดผิด ทั้งนั้น เราจึงต้องหัดภาวนา
ถ้าเราไม่ได้ภาวนาแล้วจะไม่เข้าใจอะไรเลย


(มีต่อ 3)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การภาวนาคืออะไร

ภาวนา คือการคิดให้ถูก
การนั่งสมาธิแล้วพุทโธ..... พุทโธ..... นี่ก็เป็นการภาวนา
“ภาวนา” ธรรมดาแปลว่า เจริญ พัฒนา
การนั่งสมาธิทำใจให้สงบ เป็นการพัฒนาจิตเหมือนกัน
พยายามทำใจให้สงบเป็นการภาวนา
และภาวนาก็หมายถึงคิดถูกด้วย

เพื่อที่จะคิดถูก เราต้องรู้จักเรื่องคิดผิดด้วย
คิดถูกเป็นอย่างไร คิดผิดเป็นอย่างไร
อันนี้เราจะรู้จักได้ด้วยการปฏิบัติภาวนา
ด้วยการเฝ้าสังเกตดูใจของตัวเอง
หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้แหละ
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมโดยตรง
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และข้อปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความดับทุกข์

สี่อย่างนี้อยู่ที่ใจเรา
ทุกข์เกิดที่ไหน ทุกข์ก็เกิดที่ใจเรา
ความไม่สบายใจ ก็เกิดที่ใจเรา
ทุกข์อยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่นั่น..... เพราะทุกข์มาจากเหตุ
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
เพื่อดับทุกข์ เราต้องละเหตุ ละเหตุที่ใจเรา
เมื่อละได้ ความดับทุกข์ก็ปรากฏ

เราจะละเหตุได้ ก็ต้องเจริญมรรค
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติ สมาธิ ปัญญา
มรรคมี สัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้น
สัมมาทิฏฐิก็คือ ความเห็นถูก คิดถูก

เพื่อเจริญมรรค เราต้องสนใจพัฒนาสร้างกำลังของใจ
การสร้างกำลังของใจที่สำคัญคือ สร้างสติ
สติคือความระลึกได้ ต้องสนใจสร้างให้เกิดขึ้น
สร้างสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น
สร้างปัญญา คือ ความรอบรู้ในสังขาร

สตินี่สำคัญมาก

ความระลึกได้เป็นกำลังของใจที่สำคัญ..... เท่ากับอาหารนี่แหละ
ร่างกายของเรายังต้องรับประทานอาหารวันละครั้งสองครั้ง
ดื่มน้ำวันละ 3-4 ครั้ง
ส่วนจิตนี่ต้องอาศัยสติ คือความระลึกได้
ขาดสติเมื่อไร จิตก็หลง..... คิดผิดทันที
ท่านว่าขาดสติ 3 นาที ก็บ้า 3 นาที..... นั่นคือ จิตคิดผิดไปเรื่อยๆ

ถ้าสติดี สัมปชัญญะดี เราจะมีความรู้สึกตัวว่า อะไรผิด อะไรถูก
จิตเราก็ปลอดภัย
เราจะไม่ทำผิด ไม่คิดผิด
ฉะนั้น การสร้างสตินี่เป็นเรื่องสำคัญ
การปฏิบัติธรรมของเราทั้งหมดที่เราอยู่วัดขณะนี้
เพื่อปฏิบัติอบรมสติอันนี้แหละ

ก่อนฟังเทศน์ เราต้องสำรวมกาย วาจา จิต
การสำรวม คือการตั้งสติ ดึงจิตที่คิดออกไปข้างนอกเข้ามาอยู่กับเนื้อ
กับตัวเรา การนั่งสมาธิ ระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี่เป็น
การเจริญสติ เราทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่ออบรมสติให้เจริญทั้งนั้น
จึงให้เข้าใจว่า

การปฏิบัติของเราคือการอบรมสติ สร้างสติ
ด้วยการสำรวม กาย วาจา จิต

คอยระวังการกระทำ ระวังการพูด ระวังความคิด
สำรวม ระวัง เป็นข้อวัตรปฏิบัติของเรา
เมื่อเราพยายามสำรวม ระวัง ทั้งกาย วาจา จิต
เรียกว่าเราปฏิบัติอยู่


เป็นการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุด
ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต้องสนใจอบรมสติ สร้างสตินี่แหละ
เพราะเหตุนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน แม้จะออกจากวัดแล้วก็ตาม
ให้พยายามติดตามความรู้สึก ระวังความรู้สึก
ให้รู้ต่อเนื่องกันเป็นสำคัญ
ปฏิบัติเท่านี้ก็ใช้ได้..... ชีวิตของเราจะไม่เสียเปล่า

ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติ เราจะไม่รู้
บางคนแก่แล้ว มีความทุกข์มาก ไม่สบายใจ
เพราะไม่ได้สนใจที่จะปฏิบัติฝึกฝนจิต

ให้หมั่นพิจารณาว่า ตั้งแต่เราเกิดมา เราดิ้นรนเพื่ออะไร
ธรรมดาทุกชีวิตแสวงหาความสุขกันทั้งนั้น
พยายามหนีจากทุกข์ หรือว่าบรรเทาทุกข์ หรือว่าดับทุกข์กันทั้งนั้น
ให้เราพิจารณาว่า เราแสวงหาความสุขกันตั้งแต่เกิดมา
แล้วเราได้กำไรอย่างไร มีอะไรเป็นกำไรของชีวิต
หรือว่ามีความสุขขนาดไหนในปัจจุบัน
ที่แท้จริงนั้น เราไม่ค่อยได้กำไรเท่าไรหรอก
เพราะ..... เราไม่มีหลัก ไม่ได้ตั้งใจภาวนา
แม้จะมีเงินทองมากเท่าใด เราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
ถ้าทำใจไม่ได้ จะเป็นทุกข์ตลอดเวลา

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์
สมมุติก็ได้นะ สมมุติว่าเราได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนา
โดยเฉพาะวัตถุเงินทองข้าวของมีทุกสิ่งทุกอย่าง
บุคคลก็ดี ลูกก็ดี หลานก็ดี มีเต็มไปหมด
อะไรที่เราต้องการ เรามีหมด
แต่เราก็หนีความแก่ เจ็บ ตาย ไม่พ้น
ไม่สบายกายนิดหน่อย เช่น ถ่ายไม่หยุด ก็หาความสุขไม่ได้แล้ว
บางคนอาจจะเรียนสูงๆ ปรารถนาอะไรก็ได้ทุกอย่าง
เงินทองมีมากมาย แต่จิตใจไม่สงบ นอนไม่ค่อยหลับ
และหลายคนอาจจะเป็นโรคประสาทก็ได้
ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจศึกษาธรรมะ ก็จะมีลักษณะอย่างนั้น

นอกจากเราจะปฏิบัติ เจริญสมาธิ ปัญญา จนมีกำลังใจสมบูรณ์
อินทรีย์แก่กล้า สติ สมาธิ ปัญญาดี ทำใจสงบได้ ก็หมดปัญหา
ที่ท่านเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องสนใจศึกษา
สนใจพัฒนาศีลให้บริสุทธิ์ อันนี้เป็นข้อสำคัญ
เมื่อศีลสมบูรณ์แล้ว สมาธิก็เกิดได้
เมื่อสมาธิสมบูรณ์แล้ว ปัญญาก็เกิดได้
จะมีปัญญาได้ต้องอาศัยสมาธิ จะมีสมาธิได้ต้องอาศัยศีล


(มีต่อ 4)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศีล

ศีล จึงเป็นรากฐาน เป็นรากเหง้าที่เราต้องศึกษา
ที่เราสมาทานศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 นี่เป็นอาการของศีล ไม่ใช่ตัวศีล
ตัวศีล คือ ตัวจิต ตัวเจตนา เจตนางดเว้น
งดเว้นจากการกระทำ การพูดที่เป็นบาป เป็นอกุศล
คือมีหิริโอตตัปปะ ละอายต่อบาป กลัวต่อบาป
ศีลบางครั้งแปลว่า ปกติ
ปกติกาย วาจา จิต
กายปกติคือ กายที่ไม่เบียดเบียนกัน
กายที่อยู่ในขอบเขตของศีล 5 ศีล 8 ศีล 227
ปกติวาจา คือ สัมมาวาจา เป็นวาจาที่ไม่มีโทษ
เมื่อพูดไปแล้ว ตัวเองไม่เดือดร้อน ผู้อื่นไม่เดือดร้อน
ปกติใจ คือ ใจสงบนี่แหละ
ใจสงบเป็นศีล เป็นปกติ

สงบกาย สงบวาจา สงบใจ เป็นศีลทั้งหมด
กายเป็นศีล วาจาเป็นศีล ใจเป็นศีล
ถ้าเรานั่งอยู่ในขณะนี้ ใจสงบธรรมดา
เรียกว่าใจเป็นศีล ใจเป็นปกติ

เป็นความสงบที่ยังไม่ได้เป็นสมาธิ

สงบของสมาธิก็มี
สงบของขั้นปัญญาก็มี
เราใช้คำว่า "สงบ" เหมือนกัน
สงบนี้มีความหมายลึกซึ้งและกว้างมาก มีหลายระดับ
แต่เราก็ไม่ควรสนใจว่าสงบขั้นปัญญาเป็นอย่างไร
สงบขั้นสมาธิเป็นอย่างไร
สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เพียงแต่พยายามให้เกิด
ความสงบของศีล สงบธรรมดาๆ นี่แหละ

คือจิตไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งพวกเราทุกคนทำได้

ฝึกไม่นาน ฝึกนิดหน่อยก็ทำได้แล้ว
คือสงบธรรมดา ธรรมดานี่แหละ
สบายใจ สงบใจ ขณะนั้นเรียกว่า ใจเป็นศีล
ถ้าใจสงบในลักษณะอย่างนั้นก็ใช้ได้
กายเรียบร้อย วาจาเรียบร้อย ใจเรียบร้อย ไม่อาละวาด
เพราะฉะนั้น ควรรักษาใจให้สงบธรรมดา
ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทุกข์มาก เรียกว่า มีศีล
ศีลปราบกิเลสอย่างหยาบ
ถ้าเราสามารถรักษา กาย วาจา จิต ให้เรียบร้อยเป็นปกติได้
เรียกว่า กิเลสอย่างหยาบไม่มีแล้ว
เมื่อจิตเป็นปกติ จิตสงบแล้ว ต่อไปเราก็ตั้งใจเจริญสมาธิ

การเจริญสมาธิและพิจารณากาย

การเจริญสมาธิ ที่เราทำกันอยู่ คือ ความพยายามกำหนดจิตที่กาย
เดิน ยืน นั่ง นอน พยายามเอาใจที่สงบมาดูกาย
เช้า เย็น เราสวดมนต์พิจารณากาย..... อาการ 32 ที่เราสวดกัน
อันนี้เป็นการเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา
เมื่อใจเราสงบแล้ว ต่อไปให้นึกถึงตั้งแต่..... ผม
ผม..... บนศีรษะนี่แหละ
พยายามจับโดยกำหนดจิตที่ศีรษะ แล้วภาวนา เกสา เกสา
หรือกำหนดที่ ขน เล็บ ฟัน หนัง
หรือจะนึกถึงกระดูกข้างในก็ได้ นึกถึงกระดูก
เวลานั่งให้พยายามน้อมจิตเข้าไปในกาย แล้วนึกถึงกระดูกตัวเอง
อาจจะเกิดมีความรู้สึกแปลกๆ ขึ้นมา

อาตมาบอกตั้งแต่ตนแล้วว่า การศึกษาธรรมะคือ การศึกษาตัวเอง
ที่นี้เรากำลังจะพูดถึงการศึกษากาย
ศึกษากายเป็นอย่างไร ก็คือการศึกษาตัวเองเหมือนกัน
คือการพยายามเอาจิตที่สงบพอสมควร สงบเป็นศีล
ไม่ฟุ้งซ่าน สงบธรรมดานี่แหละ
มากำหนดกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น กระดูก เป็นต้น
ให้นึกถึงกายในกายทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
นึกถึงกระดูก กระดูก เป็นต้น
เป็นวิธีเจริญสมาธิ มีสติ มีสมาธิ
ให้เราพยายามปฏิบัติอยู่อย่างนั้น
พยายามเข้าใจตามความเป็นจริง

เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา พยายามสังเกตว่า เราทำอะไรกับกายนี้บ้าง
ทีแรกไปไหน ต้องสังเกต
ทีแรกไปห้องน้ำ ให้ถามตัวเองว่า เราไปทำไม ไปเพื่ออะไร
ไม่ไปเป็นอย่างไร อะไรออกมาจากร่างกาย ร่างกายของเราเป็นอย่างไร
จะทำให้เกิดปัญญา เมื่อไปล้างหน้า สีฟัน ให้พิจารณาก่อนว่า
เรากำลังจะทำอะไร อ้อ เรากำลังจะสีฟัน ไม่สีฟันเป็นอย่างไร พิจารณาดู
จะเห็นว่าร่างกายมีลักษณะอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ คือ สกปรก เป็นปฏิกูล
เวลาเหงื่อออก เสื้อผ้าเป็นอย่างไร พิจารณาดู
ชุดขาว ก่อนจะมาที่นี้ เราซักมาขาวสะอาด พอเรานุ่งอยู่ 2 วัน
ผ้าขาวจะเริ่มสกปรก อันนี้คือความจริงของร่างกาย
ผ้าขาวสกปรกไปตามที่ร่างกายสกปรก ให้ค่อยๆ สังเกต
ศึกษาลักษณะอย่างนี้ จึงจะเข้าใจมากขึ้นๆ ตามความเป็นจริง
ว่ากายมีลักษณะเป็นอย่างนี้ เป็นปฏิกูล เป็นของเน่าเปื่อยอยู่
เป็นนิจ เรียกว่า อสุภะ ไม่สวย ไม่งาม สกปรก..... นี่เป็นความจริง

เราไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่ออาจารย์
เราศึกษากายของเราเอง ดังนี้


(มีต่อ 5)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธาตุ 4 อาการ 32

ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราใช้เวลาทำงาน หาเงินหาทองทั้งหมด
นำมาเพื่อบำรุงร่างกายนี้ให้อยู่รอด ให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ดูสวยงาม
ให้ดูสะอาด ไม่ให้เป็นที่รังเกียจของคนอื่น ชีวิตทั้งหมดมีลักษณะอย่างนี้
เราเพียรหาปัจจัย 4 มาเพียงเพื่อบำเรอบำรุงร่างกายนี้
เราต้องทำความสะอาดร่างกายทุกวัน ถ้าเราไม่อาบน้ำ 4 วัน 5 วัน 10 วัน
ร่างกายของเราจะเป็นอย่างไร อันนี้เราต้องพิจารณาดูเอาเอง
สังเกตเอาเองถึงความเป็นจริงของร่างกาย

ร่างกายนี้ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
อาการ 32 เป็นธาตุดิน กับธาตุน้ำ พระพุทธเจ้าท่านแบ่ง
ธาตุดินกับธาตุน้ำนี้ออกเป็น 32 อย่าง แล้วก็มีลมกับไฟ
4 อย่างรวมเป็นร่างกายมนุษย์
ร่างกายนี้เหมือนรถที่เรานั่งทุกๆ วันนี่แหละ
รถที่ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
ธาตุที่แข็งๆ วัตถุที่แข็งๆ ก็มี วัตถุที่เป็นน้ำ เป็นน้ำมันก็มี
แล้วก็มีลม มีไฟ จึงว่าร่างกายของเรากับรถคล้ายกัน
กายเหมือนกับรถ ใจเปรียบได้กับคนขับ

เห็นกายกับใจแยกจากกันได้ชัดเจน

เมื่อสงบแล้ว กำหนดพิจารณากาย แล้วเกิดสมาธิ
เมื่อสมาธิดีแล้ว เราสามารถเห็นกายกับใจแยกจากกันได้ชัดเจน
เหมือนรถกับคนขับแยกจากกันได้ คนขับรถออกจากรถได้
เปิดประตูแล้วออกไปอยู่ข้างนอกรถ มองเห็นรถได้
เห็นว่า รถไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รถ รถไม่ใช่อยู่ในเรา เราไม่ใช่อยู่ในรถ
คนขับรถ แยกอยู่ข้างนอก มองดูรถ กายกับใจ ก็มีลักษณะเหมือนกัน

เมื่อใจสงบแล้ว พยายามเอาใจที่สงบมากำหนดกาย
จะเห็นได้ชัดเจนว่า กายเป็นวัตถุก้อนหนึ่ง แยกจากใจได้
จะเกิดความรู้สึกว่า เราไม่ใช่กาย
กายไม่ใช่เรา
เราไม่ใช่อยู่ในกาย
กายไม่ใช่อยู่ในเรา
เรียกว่าปัญญาเกิด

ความตายเหมือนเปลี่ยนรถ

ปัญญาคืออะไร
ปัญญาคือความรอบรู้ในขันธ์ 5 รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง
เช่นเมื่อพิจารณากาย ก็รู้ว่า
กายไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
กายเป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่ง แยกต่างหากจากจิต
เหมือนรถกับคนขับรถ
ถ้ามีปัญญาเห็นอย่างนี้แล้ว ความตายก็ไม่มี
มีแต่การเปลี่ยน เหมือนเปลี่ยนรถ เมื่อรถเสียแล้ว
เก่าแล้ว พังแล้ว ถ้าคนขับมีเงินมีทองก็ไม่ต้องเสียใจกับ
รถคันเก่า ทิ้งรถเก่าเสีย ซื้อรถใหม่ที่ดีกว่า
ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียใจ..... เราซื้อรถใหม่เลย สบายใจดี
แต่มีปัญหาว่า บางคนไม่มีเงิน ซื้อรถใหม่ไม่ได้
หรืออาจจะซื้อได้แต่รถจักยานเท่านั้น

สมัยก่อนมีรถ ตอนนี้ไม่มีแล้ว อาจจะต้องเดินเท้าเปล่า
ลำบากหน่อย นี่สำคัญ จิตของเราก็เหมืนกัน
ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่า จิตรวยด้วยอริยทรัพย์
มีคุณงามความดีมาก ย่อมจะรู้สึกว่า ความตายคือมรณภาพ
คือการเสียสละร่างกายนี้ เราคือใจคือจิต
ความตายเป็นเรื่องของกาย
กายแก่แล้ว เสียแล้ว พังแล้ว ตายแล้ว ญาติพี่น้องที่ยังอยู่ก็เอาไปเผาทิ้ง
เราเสียสละกายได้ด้วยความสบายใจ ความตายจึงไม่น่ากลัว

ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนที่อยู่
คล้ายกับไปเที่ยวต่างประเทศที่ไม่เคยไป
พี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่พากันร้องไห้ แม่ของเรา พ่อของเรา
ลูกของเรา เพื่อนของเราตายแล้ว พากันร้องไห้
แต่สำหรับคนที่เข้าใจธรรมะ คนที่มีกำลังใจดี คนที่ไม่ประมาท
เจริญศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว และมีความมั่นใจว่า
เราทำดีมามากแล้ว ใจของเราย่อมปลอดภัยแล้ว
ก็คล้ายกับว่าเรานั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ
ไปเที่ยวไม่กลับนี่แหละ คนที่ส่งร้องไห้ แต่เราสบายใจ
ไปแล้วมีคนต้อนรับ คนต้อนรับก็พากันดีใจ
เราอาจจะเกิดในตระกูลที่ดีขึ้น ดีกว่าเดี๋ยวนี้
พ่อแม่ญาติพี่น้องดีใจต้อนรับ

สรุปแล้ว การปฏิบัติทั้งหมดก็เพื่อจะไม่กลัวตาย
ยอดของการปฏิบัติก็คือตรงนี้
ถ้าเราพิจารณาธรรมะลักษณะอย่างนี้ ก็จะมีกำลังใจ
จงสนใจศึกษาธรรมะในลักษณะเช่นนี้มากขึ้นๆ
เพื่อให้ใจสบายนี่แหละ

เมื่อเราปฏิบัติธรรมมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้นเพียงใด
ย่อมจะสบายใจมากขึ้นๆ เพียงนั้น.................
เอวัง


(มีต่อ 6)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพื่อที่จะคิดถูก เราต้องรู้จักเรื่องคิดผิดด้วย
คิดถูกเป็นอย่างไร คิดผิดเป็นอย่างไร
อันนี้เราจะรู้จักได้ด้วยการปฏิบัติภาวนา
ด้วยการเฝ้าสังเกตดูใจของตัวเอง
หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้แหละ
ใครพูดอะไร ใครทำอะไร ไม่สำคัญเลย
สำคัญที่ใจของเราเป็นอย่างไร
ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมโดยตรง



(มีต่อ 7)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาคที่ 2
ปกิณกะธรรม

.......................................................................


-- ทุกข์เพราะลูกตาย
-- คนชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น
-- เขาทำดี พูดดี แต่เราโกรธ
-- เขาไม่มีเจตนาร้าย............. เราโกรธเขา
-- บางทีเขาทำผิดจริงๆ............. เราก็จะไม่โกรธ
-- เราทำเขาก่อน
-- ต้องเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่าง
-- ทำอย่างไรกับความโกรธ


(มีต่อ 8)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทุกข์เพราะลูกตาย

ลูกที่แสนดี แสนจะน่ารัก
ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็เมตตา
วันหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุ
ลูกรัก..... ตายจากไป
พ่อแม่ทุกข์แทบขาดใจ
แทบจะตายตามลูกไปด้วย แทบจะเสียสติ
หมดอาลัยในชีวิต..... คิดจะขับรถเร่ร่อนไปเรื่อยๆ.....

พระอาจารย์สอนดังนี้

ถ้าพูดถึงความจริงเราก็ไม่รู้ว่า
ผู้ตายจะไปเกิดที่ไหน เป็นสุคติ หรือทุคติ
แต่เท่าที่ฟังจากคุณโยมพูดว่า ลูกของคุณโยมเป็นเด็กดีจริงๆ
ตั้งแต่เกิดมาชาตินี้ไม่เคยทำชั่วเลย ทำแต่ความดีตลอด
พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดเขา เขาทำให้ชื่นอกชื่นใจทุกคน
และใครๆ ก็รักเขา เขาเป็นคนที่รักสัตว์ เมตตาสัตว์
ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์

ถ้าคุณโยมเชื่อมั่นในความดีของลูกอย่างนั้น
ก็ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ
ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องสงสารลูก
ถึงเวลาแล้ว เขาก็ต้องจากเราไป
ตามเหตุ ตามปัจจัย

มันก็พอดีพอเหมาะของมัน
อันนี้เราก็ต้องยอมรับความจริง
ยอมรับความพอดีของมัน
ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์เสมอ
ถ้าเราเชื่อมั่นในความดีของลูกอย่างนั้นแล้ว
เราก็ไม่ต้องเสียใจ และห่วงสงสารลูกหรอก
เขาคงไปดีแล้วนะ

อย่าคิดว่าเขาเป็นลูกของเราจริงๆ
อย่าคิดว่าลูกเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพราะพ่อแม่ช่วยกันผลิตขึ้นมา
ความจริงจิตวิญญาณของลูก ก่อนเกิดมาเป็นลูกของเรา
เขาท่องเที่ยวไปในวัฏสงสารมาเป็นหลายภพหลายชาติ
ด้วยการสร้างทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
โดยมากเราเรียกกรรมดีเป็นบารมี กรรมชั่วว่าเป็นกรรม
ความผูกพันในอดีตชาติเป็นเหตุ
จิตวิญญาณของเขาจึงมาอาศัยเราเกิด
มาเป็นลูกเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
อันนี่แหละคือความหมายที่พูดว่า "เขาไม่ใช่ลูกของเราจริงๆ"
เขาเป็นตัวของเขา มันมีอยู่ตั้งแต่เอนกชาติ

ความตายไม่ใช่อะไร
คล้ายกับเราส่งลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศ
เพื่อความก้าวหน้าของลูก
เพื่อเป็นการสร้างบารมีของลูก

รักลูก หวงลูก เอาไว้ใกล้ๆ ตัวตลอดเวลา
รักลูก ผูกลูก เอไว้ที่บ้าน..... เป็นการกีดกันไม่ให้เขาก้าวหน้า
ไม่ดีกับลูกนะ

โบราณาจารย์สอนว่า
ถ้ารักลูกต้องส่งลูกไปศึกษาในสำนักต่างๆ ที่อยู่ไกลๆ
ต้องให้ลูกไปทัศนะศึกษาในที่ไกลๆ
เหมือนกับลูกของเราเก่ง
จึงจำเป็นต้องจากเราไปเพื่อศึกษาต่อ
เพื่อความก้าวหน้า
เพื่อสร้างบารมีเพิ่มเติม

เรื่องความตาย ความเกิด
คล้ายกับการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ

ผู้ส่งเสียอกเสียใจร้องไห้กันด้วยความอาลัยอาวรณ์
อย่างพวกเรานี้แหละ
แต่ผู้ไปอาจจะไม่เป็นอะไรเลย
ตรงกันข้ามเขาอาจจะตื่นเต้นกับโลกใหม่
อย่างน้อยผู้รับก็ยินดีต้อนรับ ดีอกดีใจกัน
ดังที่ลูกสุดที่รักของเราไปเกิดนั้นแหละ

ถ้าเราเชื่อมั่นในความดีของลูก ในบารมีของลูก ไม่ต้องเสียใจ
ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องสงสารลูก แทนที่จะเสียใจ เราน่าจะภูมิใจด้วยซ้ำ
ความจริง อะไรๆ เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง
ทุกอย่างก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์เสมอ

ส่วนเราก็ต้องรับผิดชอบด้วย
ถ้าเรารักลูกจริง..... ต้องทำใจให้สงบสุข
คิดดู..... ลูกจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
เมื่อเขารู้ว่าพ่อแม่ของตนมีความทุกข์มาก
เขาจะรู้สึกอย่างไร

ความทุกข์ของพ่อแม่คือความทุกข์ของลูก
ถ้าเรามีความสุขสบาย เขาก็สบายใจ ไม่ต้องห่วง
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ
ทำความสงบสุขให้เกิดขึ้นแก่ตน

...........................ถ้าเรารักลูกจริงนะ...........................

อีก 3 ปีต่อมา โยมพบพระอาจารย์ กราบนมัสการว่า
พอคิดได้ดังที่พระอาจารย์สอน ความทุกข์ก็ดับไป จิตใจสบาย
อยู่อย่างมีความสุขได้ คิดถูกดับทุกข์ได้..... ดังนี้


(มีต่อ 9)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระอาจารย์สอนคนชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น

อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น
ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ
หลวงพ่อ (พระโพธิญาณเถร) บอกว่า
"ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90 % ดูตัวเองแค่ 10 %"

คือคอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น
คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น

กลับเสียใหม่นะ
ดูคนอื่นเหลือไว้ 10 %
ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น
คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร
เพื่อเอามาสอนตัวเองนั่นแหละ
ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90 %
จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่


ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง
โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น
ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา
ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม

มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย
เราจึงต้องระวังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ

เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10
เห็นความผิดตัวเอง ให้คูณด้วย 10
จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม
เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ
และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั่นแหละ

พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น
ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั่นแหละมากๆ
เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ
แล้วก็เกิดอารมณ์ร้อนใจ

ยังไม่ต้องบอกให้เขาแก้ไขอะไรหรอก
รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน
เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่า ใจเย็นๆ ไว้ก่อน
ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่..... ไม่แน่
อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้
เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้
สักแต่ว่า..... สักแต่ว่า..... ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด

ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน
เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว
จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความเห็น
พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา
ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด
ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น
ทำให้เสียความรู้สึกของตัวเอง
ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
มักจะเสียประโยชน์ซ้ำไป

เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน
ก็สงบๆ ๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆ ๆ
ดูแต่ตัวเรา ระวังความรู้สึก ระวังอารมณ์ของเราเองให้มากๆ
พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา..... นั่นแหละ

เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน
เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา
ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งกับเรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ
หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราหมด
มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน
อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง

ระวังนะ
พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้เป็นปกติให้มาก
ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา
แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา..... ก็เรื่องของเขา
อย่าเอามาเป็นอารมณ์
อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา


ดูใจเรานั่นแหละ
พัฒนาตัวเองนั่นแหละ
ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ
หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั่นเอง
ไม่มีอะไรหรอก
ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา
คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข



(มีต่อ 10)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เขาทำดี พูดดี แต่เราโกรธ

ความโกรธเหมือนไฟไหม้ป่า
มีอะไรขวางหน้าก็เผาหมดเลย ไม่เลือกหน้า
เมื่อจิตใจของเราถูกความโกรธครอบงำแล้ว
สติปัญญาหายหมด..... มืดหมด..... เป็นบ้าแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"คนโกรธย่อมฆ่าได้แม้มารดาของตนเอง"

คนที่เรารักที่สุด เราก็ฆ่าได้ เมื่อเกิดความโกรธ ไม่ถูกใจ
ถึงแม้เขาจะพูดดี ทำดีก็ตาม..... แต่ไม่ถูกใจ
ที่จังหวัดยโสธร มีเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า
เจดีย์ก่อง* (คือ ภาชนะใส่ข้าวเหนียวของอีสาน) ข้าวน้อย
มีประวัติเรื่องราวเล่าสู่กันมา เพื่อสอนลูกสอนหลานให้
เห็นโทษของความโกรธ.....

เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยก่อนนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้น
ทำมาหากินด้วยความผาสุก
วันหนึ่ง ลูกชายทำนา เหนื่อยมาก หิวมาก
แม่ก็จัดอาหารมาให้ตามปกติ มีข้าวเหนียวใส่ก่องมา
อารามหิวจัดเห็นก่องข้าวก็เกิดความโกรธมาก ด่าว่าแม่

"ข้าวแค่นี้จะกินอิ่มอย่างไร ทำไมแม่แกล้งเอาข้าวมาให้นิดเดียว
แม่ไม่รักลูกใช่ไหม.................ฯลฯ................."
แล้วก็ทำร้ายร่างกายแม่ จนแม่ตายอย่างอเนจอนาถ
เมื่อฆ่าแม่ทิ้งแล้วก็กินข้าว..... ปรากฏว่า กินข้าวไม่หมดหรอก
ที่คิดว่าก่องข้าวน้อยมีข้าวเหนียวนิดเดียว..... จะกินไม่อิ่ม
แต่ความจริง..... มีมากจนกินไม่หมดเลย
ทีนี้ก็ได้คิด เสียใจที่โกรธโมโห แล้วก็ฆ่าแม่
แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว
ลูกชายจึงสร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แม่
ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า เจดีย์ก่องข้าวน้อย

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติสอนใจเราว่า
เมื่อถูกความโกรธครอบงำแล้ว ใจเราก็มืดไปหมด
ตัดสินอะไรก็ไม่ถูกต้อง คิดอะไรก็ผิดหมด

ลักษณะอย่างนี้ พวกเราประสบในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย

ลูกชายทำผิด เป็นโทษมหันต์ เพราะคิดผิด
คิดว่าแม่แกล้ง คิดว่าข้าวจะไม่พอกิน
ถ้าคิดเป็น ก็จะเห็นเมตตาของแม่
และไม่รู้สึกว่าข้าวจะไม่พอกิน เพราะจริงๆ ก็พออยู่แล้ว

เรื่องนี้สอนว่า ทุกข์โทษเกิดเพราะคิดผิด
อย่าเชื่อความคิด อย่าเชื่อความรู้สึกของตัวเอง



(มีต่อ 11)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เขาไม่มีเจตนาร้าย แต่เราไม่ถูกใจในการกระทำ
คำพูดของเขา..... เราโกรธเขา


เมื่อเราอยู่ในสังคมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ย่อมมีบ่อยๆ ที่เราไม่ชอบใจ
ไม่ถูกใจในการกระทำ หรือคำพูดของคนรอบตัวเรา
ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจในสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่เขาทำ
เช่นเขาพูดธรรมดาๆ ของเขา ไม่มีเจตนาร้ายต่อเราเลย
แต่เรารู้สึกเจ็บใจ น้อยใจ ไม่สบายใจ ก็เป็นได้ คิดว่าเขาพูดใส่ร้ายเรา
เขาพูดไม่ดี เขาพูดให้เราเสียหาย ฉิบหาย เป็นต้น เมื่อเราเจ็บใจก็คิด
โกรธ คิดปองร้าย หรือน้อยใจ อาจจะตลอดคืน หรือหลายวัน
บางครั้งหลายสัปดาห์ หลายเดือนก็มี

ใจเราเดือนร้อนเป็นนรก แต่คนที่เราโกรธ บางทีเขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย
กินสบาย นอนสบาย อยู่สบาย ตามวิถีทางชีวิตของเขา
ใครฉลาดหรือโง่กว่ากัน สมควรหรือทุกข์อย่างนี้..... คิดดูให้ดีๆ
นี่ก็ทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะคิดผิด

เราหลงตัวเราอยู่ว่า เราไม่เคยทำให้ใครหนักใจ ไม่เคยทำ
ความลำบากใจให้ใคร ไม่เคยเบียดเบียนใครเลย
อาจจะจริงอยู่ตรงที่ว่าเราไม่มีเจตนาเบียดเบียนใคร แต่คนที่ไม่ชอบใจ
โกรธ ทุกข์ กับสิ่งที่เราทำ เราพูด ก็มีเหมือนกัน อาจจะมีหลายอย่าง
ด้วยซ้ำไป..... แต่เราไม่รู้
ต่างคนต่างเป็นทุกข์ซึ่งกันและกัน อย่างนี้
ถ้าเราเห็นความโง่ของตัวเองได้ ก็จะปล่อยวางทุกข์ได้
ให้อภัยเขาได้ เห็นใจเขาได้



(มีต่อ 12)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บางทีเขาทำผิดจริงๆ แต่ถ้าเราคิดเป็น
เราก็จะไม่โกรธหรอก


เขาทำแก้วแตก เขาพูดไม่ไพเราะ เขาขี้เกียจ เขาทำงานไม่ดีเลย
เราต้องระวังใจ อย่าโกรธเลย
ความผิดของเขา เอาไว้เป็นความผิดของเขา
อย่าให้เป็นความผิดใจของเราเลย
อย่าให้ทำลายจิตใจของเรา อย่าให้ใจเสีย อย่าเสียใจเลย

โกรธเขาเมื่อไหร่ เราผิดทันที
เป็นบาป เป็นอกุศล
บาปกว่าเขา โง่กว่าเขาซ้ำไป
คิดดู พินิจพิจารณาดีๆ นะ
สมมุติว่า เขาทำแก้วแตกโดยความประมาท
เราโกรธ เดือดร้อน ใจเป็นนรก
ถ้าขาดใจตายเดี๋ยวนี้..... เป็นทุคติ ตกนรกจริงๆ ด้วย
ถ้าเขาตายเดี๋ยวนี้..... เขาไม่เป็นอะไร
ทำแก้วแตก ไม่เป็นเหตุให้ตกนรกหรอก

แต่โกรธ เป็นเหตุให้ตกนรกได้นะ
คิดดู ใครผิด ใครโง่ ใครบาปมากกว่ากัน
เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็จะเกิดความละอาย ไม่กล้าโกรธ
คือ เกิดหิริโอตตัปปะ เกิดศีล บรรเทาทุกข์ได้และ
ดับทุกข์ได้ในที่สุด คิดถูกดับทุกข์ได้..... ดังนี้


(มีต่อ 13)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เราทำเขาก่อน

เราไม่ได้ทำอะไรเขา ไม่ได้เบียดเบียนเขาเลย
หรือ เราพยายามทำดีกับเขาตลอด
แต่เขาไม่ตอบสนองความดีของเราเลย
เอารัดเอาเปรียบเราอยู่เรื่อยๆ
ทำให้เรารู้สึกว่า

ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีมีถมไป
ไม่มีความยุติธรรมในโลก.....


มีเรื่องหนึ่งที่น่าคิด..... น่าพิจารณาดู
สมัยก่อนนานมาแล้ว สมเด็จโตยังมีชีวิตอยู่ เป็นเจ้าอาวาส
ที่วัดระฆัง มีพระ 2 องค์ สมมุติเรียกว่าพระ น. (นั่งด้านหน้าของเรือ)
กับพระ ล. (นั่งด้านหลัง) สมัยนั้นพระลงเรือบิณฑบาต พระ 2 องค์นี้
นั่งเรือลำเดียวกันไปบิณฑบาต พระ น. นั่งข้างหน้า พระ ล. เอาพาย
ตีพระ น. พอกลับถึงวัด พระ น. ฟ้องสมเด็จโตว่า
ท่านไม่เคยทำผิดอะไรเลย แต่อยู่ดีๆ พระ ล. ก็มาตีท่าน

สมเด็จโตว่า "พระ น. ทำผิดก่อน"
พระ น. ก็ไม่สบายใจเลยคิดว่า สมเด็จฯ ลำเอียงรักพระ ล.มากกว่า
ไม่ยุติธรรม พระ น. คิดแล้วก็ไม่สบายใจ ท่านเองเป็นพระน้อย
เจ้าอาวาสสมเด็จโตเป็นพระผู้ใหญ่ ท่านทำอะไรก็ไม่ได้..... ทุกข์อยู่
อย่างนั้น ในที่สุดก็เล่าเรื่องให้พระสมเด็จอีกองค์ฟังและขอให้ช่วยจัดการ

วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสพบกัน ท่านสมเด็จก็ตักเตือน
สมเด็จโตไม่ควรลำเอียง ท่านควรรักษาความยุติธรรม
ใครผิดก็ว่าผิด ควรรักลูกวัดเสมอกัน
สมเด็จโตก็กระซิบท่านว่า "ท่านเชื่อกรรมในชาติก่อนไหม"
ท่านสมเด็จก็เงียบไป.....

นั่นแหละคือเหตุที่สมเด็จโตตัดสินว่า
พระ น. ผู้ถูกตี ผิดก่อน ทำเขาก่อน ..... เป็นวิบากกรรม

ถ้าเราศึกษาพุทธประวัติ ก็มีเรื่องราวมากมาย
พระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต ก็หลายภพหลายชาติ
แม้แต่พระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นพระอรหันต์และพระปัญญาธิคุณท่านบริสุทธิ์แล้ว
ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
ก็ยังถูกแกล้งอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะจากท่านเทวทัต
นอกจากนั้น ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวหาพระองค์ท่านต่อหน้า
ชุมชนว่าท่านทำให้เขาท้อง บางครั้งพระองค์ก็ถูกด่า ถูกนินทา
จากคนทั้งเมืองก็มี ล้วนแต่วิบากกรรมทั้งนั้น
และในที่สุดแต่ละคนก็รับผลกรรมไปเอง

ฉะนั้นเมื่อเราประสบปัญหาลักษณะนี้
เมื่อเราถูกแกล้ง หรือรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เสียเปรียบ ฯลฯ
ให้รีบตั้งสติ พยายามรักษาใจของตนก่อน
ทำใจให้เข้มแข็งแล้วตรวจตราดูว่า ตั้งแต่รู้จักเขา
เราทำอะไร พูดอะไรผิดพลาดตรงไหน

ขอให้ติเตียนตัวเองให้มาก
เพื่อจะได้แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตัวเอง
เพราะ โดยมาก เราก็ผิดก่อน ทำก่อน บกพร่องก่อน......
......ในชาติก่อนๆ นี่แหละ
เมื่อเราแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตัวเองได้

เขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเอง และในที่สุด
ก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้

เป็นสามีภรรยาที่รักกัน
เป็นพ่อแม่ลูกที่รักกัน
เป็นพี่น้องที่รักกัน
เป็นเพื่อนฝูงที่รักกัน ฯลฯ นี่แหละ

แต่บางครั้งวิบากกรรมจริงๆ จากชาติก่อนๆ ก็มีบ้าง
อันนี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ด้วยใจเป็นธรรม เป็นศีล

แต่ระวัง อย่าประมาทนะ
อย่าถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นวิบากกรรม แล้วไม่ทำอะไร ไม่ปฏิบัติ
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ
สิ่งที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่มาจากเหตุในอดีต
อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล
ปัจจุบันเป็นเหตุ อนาคตเป็นผล
เพราะฉะนั้นปัจจุบันเป็นที่รวมของเหตุและผล

เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ศึกษาปัจจุบัน
เมื่อเข้าใจปัจจุบัน ก็คือเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้รักชีวิตของตนและผู้อื่น
เมื่อประสบเหตุการณ์เลวร้าย ร้ายแรง ขนาดไหนก็ตาม
จงตั้งอยู่ในความดี ความถูกต้อง ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้
หมายความว่า ตั้งอยู่ในเหตุที่ดี เหตุที่ถูกต้อง
คือศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

คอยเตือนใจเสมอๆ ด้วยพุทธพจน์ว่า
พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์


(มีต่อ 14)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ต้องเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่าง

เมื่อเราหลายคนอยู่ด้วยกัน การเกิดอารมณ์ ความรู้สึก
และทิฏฐิ ต่างๆ กัน ก็เป็นธรรมดา นานาจิตตัง

ประสบการณ์เดียวกัน เรื่องเดียวกัน
แต่ต่างคนต่างมีความรู้สึกต่างกัน
มีความคิด มีทิฏฐิต่างกัน..... ก็เป็นเรื่องธรรมดา

เราจึงควรระวังความรู้สึก ความคิด ทิฏฐิของตนเอง
และเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกัน
คนแต่ละคนก็เหมือนอาหารแต่ละชนิด สมมุติเป็นอาหารนานานชาติ
ก็ได้ เช่น อาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อินเดีย อิหร่าน
เป็นต้น มีคุณภาพ มีรสชาติ มีเอกลักษณ์ของเขา แล้วแต่ใครชอบ
แบบไหน บางคนชอบอาหารไทย บางคนชอบอาหารญี่ปุ่น

อาหารที่เราชอบ รับประทานแล้วอร่อย แต่ไม่มี
คุณภาพทางอาหาร ก็มีมาก บางอย่างมีโทษต่อ
ร่างกายก็มี เช่น ไขมันมาก น้ำตาลมาก เป็นต้น
อาหารบางอย่างไม่อร่อย เราไม่ชอบ
แต่มีคุณภาพทางอาหาร มีประโยชน์แก่เรา ก็มีมาก
อาหารที่เราไม่ชอบเลย รับไม่ได้เลย
แต่คนอื่นเขาก็ชอบกันเป็นหลายล้านคนก็มี
ถ้าเราเป็นคนกินง่าย อยู่ที่ไหนก็มีความสุข
ไปเที่ยวที่ไหนก็สนุกสนาน อยู่กับใครก็อยู่ได้ด้วยสันติสุข

คนเราก็เหมือนกับอาหารนี่แหละ แต่ละคนก็มีรสชาติ
และอุปนิสัยแตกต่างกัน เหมือนรสชาติของอาหารที่ต่างๆ กันไป
คนที่เราไม่ชอบเลย เขาก็อาจจะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง
ที่รักเขาชอบเขามากมาย แต่เราอาจจะไม่ชอบเขา
เพราะอุปนิสัยที่สั่งสมมาไม่เหมือนกัน จึงต้องระวัง

ชอบ ไม่ชอบ เป็นอารมณ์เฉพาะของเราเท่านั้น
ไม่ใช่ว่าถ้าเราชอบ ก็ดี ก็ถูก
ถ้าเราไม่ชอบ ก็ไม่ดีเสมอไป ก็ไม่ใช่
อย่าเอาความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของเรามาตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี
เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เหมือนกับอาหารนั่นแหละ

บางคน เราอาจจะไม่ชอบเลย รับไม่ได้เลย
แต่มีคนชอบเขาเป็นล้านๆ คนก็มี
อย่า..... เอาความรู้สึกมาตัดสิน..... อันตรายมาก
อย่ายึดมั่นถือมั่น
อย่าเชื่อความรู้สึกของเรามากเกินไป
ระวังความรู้สึกของเราเอง
ทำอะไรก็ทำด้วยสติปัญญา..... ใจเย็น ใจเย็น ตัดสินด้วยสติปัญญา
อย่าตัดสินด้วยอารมณ์ ความรู้สึกชอบ..... ไม่ชอบ



(มีต่อ 15)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ใครทำชั่ว
ให้ธรรมชาติของกฎแห่งกรรมลงโทษเขาเอง


โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว เข้าไปก่อเวรก่อกรรมกับเขา
เมื่อเรายังไม่มีปัญหาแจ่มแจ้ง เราก็จะมีความรู้สึกว่า
มันไม่น่าจะถูกต้อง ที่คนทำชั่ว ทำผิด ไม่ได้ถูกลงโทษ
แต่อาจจะได้ ลาภ ยศ สรรเสริญเสียอีก

จิตใจของเราก็คอยแต่จะคิดหาความชอบธรรม
ต้องการให้เขาถูกลงโทษ คิดแต่อยากจะให้เขาถูกลงโทษ
หรือแม้แต่คิดจะลงโทษเขาเอง เช่น ทำให้เจ็บใจ ทำลาย
ลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือแม้แต่จะทำลายชีวิตเขา เป็นต้น

อันนี้ผิดมาก..... อันตรายมาก
เป็นการก่อเวร ก่อกรรม หลายภพหลายชาติต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อเรารักชีวิตของตน ต้องการหาความสุข
ควรหยุดลงที่นี่ เดี๋ยวนี้
ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา
ให้อภัย เมตตา และปล่อยวาง
แม้แต่เขาดูเหมือนว่าจะทำชั่วได้ดีก็ตาม
มันนี้ไม่พ้นกฎแห่งกรรม
ทำชั่วต้องได้ชั่วแน่นอน

เมื่อเวลาผ่านไปๆ ถึงเวลาแล้ว มันก็จะผลิตผลของมันเองตามเหตุ
ปัจจัย เราไม่ต้องเบียดเบียนเขาด้วยกาย วาจา จิตของเราเองเลย

จำไว้ดีๆ นะ..... ทุกอย่างที่เราทำ เราพูด เราคิด
เกี่ยวกับเขา นินทาเขา.....
ทุกอย่างจะต้องกลับมาหาเราหมด..... ไม่ช้าก็เร็ว



(มีต่อ 16)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทำอย่างไรกับความโกรธ

เมื่อเราโกรธ เราผิดทันที
ขาดศีล..... เกิดยินร้าย
ไม่มีหิริโอตตัปปะ คือความละอายแก่ใจ และความกลัวบาป
ไม่มีเมตตา..... ทำลายทั้งตัวเอง และคนอื่น
ใจมืด ไม่มีปัญญาที่จะแก้ปัญหาได้
ไม่มีความยุติธรรม เข้าข้างตัวเองตลอด
ยิ่งคิด ยิ่งยุ่ง

ให้ตั้งสติ ตั้งขันติ
หยุดคิดก่อน ทวนกระแส
อย่าคิดตามอารมณ์
ไม่ต้องคิดว่า ทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้น
ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น เขาไม่น่าจะทำอย่างนั้น
เขาน่าจะทำอย่างนี้ ฯลฯ

โอปนยิโก น้อมเข้ามาดูใจของตัวเองนี่แหละ
อย่าเชื่อความรู้สึกของตัวเอง..... อันตรายมาก
ชอบ ไม่ชอบ เป็นอารมณ์เฉพาะของเราเท่านั้น
เอาความชอบหรือไม่ชอบมาตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดีไม่ได้
ถ้าคิดไปปรุงไปก็จะเกิดภพ เกิดชาติ เกิดอัตตาตัวตน

พยายามตั้งสติปัญญา พิจารณาด้วยความสุขุมว่า
ไม่แน่ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ให้ระงับอารมณ์ให้เป็นปกติก่อน
เมื่อจิตใจกลับมาสภาพปกติ..... สงบแล้ว
จึงพิจารณาเหตุการณ์ภายในภายนอกด้วยความเป็นกลาง
และด้วยความยุติธรรม เห็นชัดเจน
จนเกิด หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความกลัวต่อบาป
เห็นว่าศัตรูที่แท้อยู่ที่นี่เอง..... คือความยินร้าย ความโกรธ
กิเลสของเราเองนี่แหละ แล้วเห็นโทษของความโกรธ

เมื่อหิริโอตตัปปะแก่กล้า
ก็จะเกิดเป็นกำลัง เป็นพละ เป็นกองทัพ คอยรักษาใจ
คือ สติ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ และสมาธิ

เมื่อเรารู้ว่า ความโกรธไม่ดี ใครโกรธเราก็อย่ารับเอา
และอย่าโกรธเองเลยในทุกสถานการณ์............... เอวัง


Image



.................... เอวัง ....................
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2008, 1:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/book-mitsuoe/2.html
http://www.dhammajak.net/dhamma/dhamma18.php

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง