Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การกินเนื้อสัตว์ขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาหรือไม่: อ.สมภาร พรมทา อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 2:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ก า ร กิ น เ นื้ อ สั ต ว์
ขั ด แ ย้ ง กั บ พ ร ะ พุ ท ธ ศ า ส น า ห รื อ ไ ม่ ?

อาจารย์สมภาร พรมทา

บทสรุป ท้ายที่สุดแล้วพุทธทุกฝ่ายก็เห็นร่วมกันว่า
การถือมังสวิรัติเป็นดี


การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สาวกกินเนื้อสัตว์ได้
ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทนั้น
ควรเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับการสนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

ระบบจริยธรรมของพุทธศาสนาเถรวาทนั้น
เป็นระบบที่คิดเผื่อให้มีทางออก
สำหรับสถานการณ์ที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้


เมื่อเราเข้าไปดูหนังในโรงหนัง
โรงหนังนั้นต้องมีทางออกปิดเอาไว้
สำหรับคนที่มีภาระต้องออกไป ก่อนคนอื่น
หรือไม่ยินดีที่จะดูหนังต่อเพราะหมดสนุก

พระพุทธองค์ทรงคิดเช่นนี้
จึงทรงอนุญาตให้ชาวพุทธบริโภคเนื้อสัตว์ได้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคตหลังจากที่ทรงปรินิพพานแล้ว
พุทธศาสนาอาจแพร่เข้าไปในดินแดนที่อาหารหลักของผู้คนคือเนื้อสัตว์
(เช่นบริเวณขั้วโลกเหนือที่ปลูกพืชแทบจะไม่ได้เลย
มีแต่ปลาและเนื้อเท่านั้นที่ผู้คนจะกินเป็นอาหารได้)

การปิดประตูสนิทสำหรับการกินเนื้อสัตว์
จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
แต่การมีประตูออกที่โรงหนัง
ไม่ได้แปลว่าเป็นการเชิญชวนให้ทุกคนออกมาจากโรงหนัง

การมีอยู่ของประตูนั้น
ควรเข้าใจว่ามีอยู่ในฐานะช่องทางสำหรับการเลือก
จริยธรรมแบบที่ไม่มีช่องทางสำหรับการเลือกเลยนั้น
พุทธศาสนาเถรวาทถือว่าเป็นจริยธรรมที่สุดโต่ง


การที่ฝ่ายมหายานมีความปรารถนา
ที่จะให้โลกนี้ลดการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารมนุษย์นั้น
ต้องถือว่าเป็นเจตนาดีอย่างไม่มีข้อสงสัย

ยิ่งในโลกปัจจุบันที่อุตสาหกรรมอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์
กระทำในรูปธุรกิจที่มีการเลี้ยงสัตว์คราวละมากๆ
และฆ่าสัตว์เพื่อส่งตลาดคราวละมากๆ

ข้อเสนอของฝ่ายมหายานยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ

การที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความชั่วร้าย
ที่กลายเป็นระบบไปแล้วนี้ยังดำรงอยู่ต่อไป


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 2:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สัตว์จำนวนมหาศาลต้องถูกเลี้ยงในสถานที่ที่แออัด
ถูกปฏิบัติอย่างไม่มีคุณค่าโดยเจ้าของธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง
รอวันหนึ่งเมื่อเนื้อของมันจะให้ค่าตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ลงทุน
พวกมันก็จะถูกกวาดต้อนไปเชือด

นี่คือปาณาติบาตที่ทำอย่างเป็นระบบ เป็นวงจร
และอย่างปราศจากความสำนึกทางศีลธรรมใดใด


การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารบ้างในสังคมเกษตรกรรมนั้น
อาจถูกตั้งคำถามไม่มากนักในเชิงจริยธรรม

ชาวนาที่เลี้ยงไก้ไว้ในบ้านปฏิบัติต่อไก่นั้น
อย่างมนุษย์ปฏิบัติต่อเพื่อสรรพสัตว์
ให้อาหารมัน มีที่มีทางให้มันได้เดิน ได้วิ่ง
ได้เลี้ยงลูก ตามประสาของมัน

ถึงเวลาที่จำเป็นเขาอาจขอชีวิตพวกมันบางตัวเพื่อเป็นอาหาร

ปาณาติบาตในสภาพการณ็เช่นนี้ยังพอเป็นที่เข้าใจได้

แต่ไก่หรือหมูที่อยู่ในโรงเลี้ยงสัตว์จำนวนเป็นพันเป็นหมื่นตัวนั้น
ไม่มีคุณค่าหรือศักดิ์ใดใดหลงเหลืออยู่
ระบบที่ปฏิบัติต่อพวกมันก็ไม่ใช่ระบบของมนุษย์
(เมื่อเทียบกับที่ชาวนาเลี้ยงไก่)

สิ่งที่พุทธศาสนามหายานเรียกร้องชาวพุทธก็คือ

ทำไมเมตตาธรรมของเราจงไม่ควรที่จะเอื้อมาถึงสัตว์เหล่านี้

พวกมันไม่มีอำนาจต่อรองใดใด
ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นไปจากนรกบนดินนี้
นอกจากจะมีมนุษย์ผู้มีจิตใจประเสริฐมาช่วยเหลือ

เมตตาธรรมสำหรับฝ่ายมหายาน
นอกจากจะคือความรักและหวังดีต่อเพื่อสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก
ยังหมายถึงการจะไม่ยอมให้มีการกดขี่เบียดเบียนกัน
โดยที่เราไม่ยอมยื่นมือไปช่วยด้วย
เมตตาธรรมในความหมายหลังนี้
คือความมีน้ำใจ การคิดถึงผู้อื่น

และรู้สึกว่าตราบใดที่โลกนี้ยังมีการกดขี่เบียดเบียนกัน
เราจะนิ่งดูดายคิดถึงแต่ความบริสุทธิ์ส่วนตัวไม่ได้


ชาวพุทธที่ปิดบ้านนั่งภาวนาเพื่อไปพระนิพพาน
โดยไม่มองออกไปข้างนอกบ้านว่าที่โน่นเขาทำอะไรกันบ้าง
จะถือว่ามีเมตตาได้หรือ

นี่คือคำถามที่ผู้วิจัยคิดว่าฝ่ายมหายานได้ตอบเอาไว้ชัด

ฝ่ายเถรวาทจะตอบคำถามนี้อย่างไร
นี่คือสิ่งที่เราชาวเถรวาทจะต้องช่วยกันตอบ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นหลักการแก้ความชั่วร้ายโดยวิธีอหิงสาโดยแท้

เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องระบบการคุ้มครองสิทธิสัตว์
(คือเสนอให้มีกฏหมายยกเลิกการค้าขายเนื้อสัตว์)
อย่างที่ชาวตะวันตกบางพวกกำลังรณรงค์

เพราะการเสนอเช่นนั้นเป็นการสร้างการเผชิญหน้ากัน
สิ่งทื่เราสามารถทำได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมาทันทีทันใด
คือ พยายามไม่กินเนื้อสัตว์

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 2:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สำหรับชาวพุทธเถรวาท
คฤหัสถ์อาจถือมังสวิรัติได้ง่ายกว่าพระสงฆ์
เพราะเป็นผู้ที่สามารถเลือกได้

และคฤหัสถ์ที่ถือมังสวิรัตินั่นแหละ
ที่จะช่วยให้พระสงฆ์ถือมังสวิรัติได้อย่างง่ายดาย
ด้วยการถวายอาหารมังสวิรัติแก่ท่าน
พระสงฆ์ท่านไม่มีทางปฏิเสธการอุปถัมภ์ของชาวบ้านอยู่แล้ว
เราถวายสิ่งใดท่านก็ฉันสิ่งนั้น


แต่การเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ใช่ของที่จะเลิกกระทำได้ง่ายๆ
เพราะระบบวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ที่เราถือกันเป็นหลักใหญ่ในโลกขณะนี้
เชื่อว่ามนษย์ถูกสร้างมาให้กินเนื้อสัตว์
เพื่อสร้างสมองของเด็กให้เจริญเติบโต

ถ้ามนุษย์ยังมีความจำเป็นบางประการ
ที่จะต้องกินเนื้อสัตว์อยู่
จริยธรรมแบบทางเลือกที่พุทธศาสนาเถรวาทเสนอนั้น
ก็น่าที่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด


การกินเนื้อสัตว์บนพื้นฐานของความสำนึกว่า
ตนเองกำลังเอาเปรียบผู้อื่นจะเป็นแรงหน่วงดึงที่สำคัญ
ที่ไม่ได้ทำให้เด็กกินเพื่อความอร่อย
แต่เพราะความจำเป็น


ยิ่งพุทธศาสนาเถรวาทมีคำสอน
ที่บรรยายโทษของการประกอบอาชีพปาณาติบาต
(เช่นเรื่องนายโคฆาตก์และนายจุนทสูกริกใน “อรรถกถาธรรมบท”)
ว่าจะทำให้มีชีวิตที่เศร้าหมองอย่างไร

คำสอนนี้จะยิ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ที่ประกอบอาชีพปาณาติบาต
โดยเฉพาะในเชิงอุตสาหกรรมมีความตระหนักคิดมากขึ้น

ฝ่ายมหายานนั้นรณรงค์ที่ผู้บริโภค
ส่วนฝ่ายเถรวาทก็รณรงค์ที่ผู้ผลิต
เมื่อผนวกจริยธรรมจากสองฝ่ายเข้าด้วยกัน
การฆ่าสัตว์และกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
ก็คงจะลดลงจากโลกนี้เรื่อยๆ อย่างแน่นอน


สาธุ สาธุ สาธุ

(คัดลอกบางตอนมาจาก : งานวิจัยเรื่อง “กิน : มุมมองของพุทธศาสนา” โดย อาจารย์สมภาร พรมทา ภาควิชาปรัชญา โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, พ.ศ ๒๕๔๗, หน้า ๗๕-๗๘)


เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การกินเจ-มังสวิรัติ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 3:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มังสวิรัติ ฤาจะเป็นกับดักแห่งอาหาร

“Eating it deeply, we touch the sun, the clouds, the earth,
and everything in the cosmos.” THICH NHAT HANH

ก่อนไปลงไปถึงรายละเอียดของเรื่องนี้
ผมอยากขอยืนยันตรงนี้ก่อนครับว่า
โดยหลักการแล้วผมเห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติให้มาก
กินสัตว์ใหญ่ให้น้อยที่สุดหรือไม่กินเลยเท่าที่เป็นไปได้
หากจำเป็นก็กินสัตว์ที่เล็กหรือกุ้ง หอย ปู ปลา เท่าที่เป็นไปได้แทน

ในแง่ของงานวิจัยด้านสุขภาพใหม่ๆ
รวมทั้งโครงการในด้านธรรมชาติบำบัดเกือบทุกโครงการ เห็นพ้องต้องกันว่า

อาหารที่เหมาะสมและเป็นผลดีกับสุขภาพนั้น
จะต้องเป็นอาหารแนวมังสวิรัติ


โครงการของคุณหมอดีน ออร์นิส
อนุญาตให้คนไข้โรคหัวใจขาดเลือดของเขากินไขมันได้ไม่เกิน 10%
และไม่อนุญาตให้กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดยกเว้นปลา

ในขณะที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา
อนุญาตให้กินไขมันได้ถึง 30%

ผลการรักษาของคนไข้ในโครงการของคุณหมอดีน ออร์นิสได้ผลดีมาก
และมีคนไข้จำนวนมากที่เส้นเลือดหัวใจกลับมาขยายได้
หลังจากที่เคยมีการอุดตันจากไขมันโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องทำบอลลูน
ทั้งนี้ใช้ร่วมกับยาสมัยใหม่เท่าที่จำเป็นใช้
ร่วมกับการทำความเข้าใจกับ “จิตใจ” ของตัวเองในเรื่องความเครียดด้วย

งานวิจัยยาวนานถึง 25ปีของคุณหมอวิลค็อกและคณะ
ที่ทำการศึกษาชาวโอกินาวาทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกพบว่า

อาหารของชาวโอกินาวาเป็นแนวมังสวิรัติ
และชีวิตโดยรวมๆ ของชาวโอกินาวามีความเครียดน้อย

คุณหมอจาคอบจากอินเดียแนะนำเรื่องผลไม้มื้อเย็น
และควรมีช่วงอดอาหารในบางวัน
ไม่ควรกินอาหารหลังสองทุ่ม

คุณหมอเดวิด ไซมอน คุณหมอแอนดรู วีล คุณหมอดีปัค โชปรา
และอื่นๆ อีกมากมายที่มีประสบการณ์จริงกับคนไข้
ล้วนมีความเห็นในทำนองเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ “บูชาเจ” อย่างสุดขั้ว
โดยไม่ได้เห็นภาพรวมแบบกว้างว่าเราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร
หากแต่การคิดแบบสุดขั้วในเรื่องอาหารนั้น
ส่อแสดงให้เห็นถึง “มุมมองชีวิต” ที่แคบ ยึดติดและไม่เรียนรู้
มุมมองชีวิตแบบหลังนี้ไม่น่าจะเป็นหนทางแห่งความสุขที่แท้ได้เลย

ผมยกประเด็นง่ายๆ โดยเริ่มในเรื่องของชนิดของอาหารที่กินเลยว่า
หากเราคิดว่า การที่เราไม่กินเนื้อสัตว์เพราะเป็นการไม่เบียดเบียนชีวิตนั้น
อาจจะเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดพลาดอะไรหรือไม่

เป็นทำนองว่าฆ่ามดไม่บาป ฆ่าคนถึงจะบาป ?

เพราะในแง่นี้ ถ้าเราดูดีๆ เราก็จะพบว่า
นักมังสวิรัติก็เป็นผู้เบียดเบียนชีวิตเช่นกัน
เพราะพืชก็เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ภายในพืชก็เป็นกระบวนการ
ที่นำพลังงานจากแสงอาทิตย์นำสารอาหารจากพื้นดิน
มาสร้างมาสังเคราะห์เป็นตัวพืช

เหล่านี้แสดงอย่างชัดเจนว่าพืชมีชีวิต
ทั้งยังมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกเหมือนกัน
และมีการดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่เหมือนกันกับสัตว์

เสือ, สิงห์โตนั้นเป็นสัตว์ที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นสัตว์กินเนื้อ
ก็มันกินพืชไม่เป็นนี่นา จะให้มันทำอย่างไร
เพราะฉะนั้นทุกวันที่มันกินอาหารนั้นเป็นการสร้างบาปของมันหรือ?

ส่วนกวาง, กระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่ถูกสร้างให้มากินพืช
ในเวลาเดียวกันมันก็ถูกกำหนดให้เป็นอาหารของสัตว์ที่กินเนื้อ
ตามกลไกของความเป็นห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ
และมันก็ “ทำบาป” ไม่เป็นเสียด้วย
เพราะมันกินเนื้อไม่เป็นเท่านั้นหรือ

อย่าลืมว่ามันก็เบียดเบียนพืชเหมือนกัน
ไม่เชื่อลองปล่อยกระต่ายสักฝูงเข้าไปในแปลงผักที่เราปลูกไว้สิครับ

อย่าลืมนะครับว่า ทั้งเสือและสิงห์โต นั้น
โดยธรรมชาติแห่งความเป็นปกติของมันนั้น
มันจะไม่ฆ่า มันจะไม่ล่า หากว่ามันไม่หิว

หากว่าไม่ได้ต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอด
หากเรามองในแง่ของ สิ่งที่ต้องเป็นไปเช่นนี้
เสือและสิงห์โตยังเป็นสัตว์ที่ทำแต่บาปอยู่ทุกวันหรือไม่

มนุษย์ต่างหากที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลก
ที่เน้นการสะสม และบริโภคทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องการกินเท่านั้นเกินกว่าที่จะจำเป็นต้องใช้


ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา
และเกิดปัญหากับมนุษย์เองด้วยอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวอเมริกันเพียงประเทศเดียว
ซึ่งมีพลเมืองเพียงประมาณไม่ถึง 6 % ของพลเมืองโลก
แต่กลับใช้และบริโภคทรัพยากรเกือบ 60% ของโลก
ในขณะเดียวกันกับที่จะมีคนจากอีกซีกโลกตาย
เพราะไม่มีอาหารจะกินมากถึงวันละ 30,000-40,000 คน

ผมคิดว่า ในเรื่องของการกินอาหารนี้
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ “ชนิดของอาหาร” เป็นหลัก
หากแต่อยู่ที่ “จิตสำนึก” ในการกินอาหารมากกว่า


หากเรากินอาหารด้วยมุมมองที่มีความรู้เท่าทัน
ตั้งแต่ในขณะที่เตรียมอาหาร การเคี้ยวอาหาร
การกลืนอาหาร ไปจนจบกระบวนการกินอาหารทั้งหมด
เราก็จะค่อยๆ เข้าใจ เรียนรู้และสามารถเลือกอาหาร
ที่เหมาะสมกับร่างกายของเราได้ อย่างที่ไม่มีสูตรตายตัว

ผมไม่เถียงว่านักปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่หลายคนเป็นนักมังสวิรัติ
แต่ผมไม่คิดว่านักมังสวิรัติเหล่านั้นเป็น “นักมังสวิรัติแบบภายนอก”

ในทางตรงกันข้ามนักปฏิบัติธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคน
รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วยก็ไม่ได้เป็นนักมังสวิรัติ
และท่านเหล่านี้กลับเป็น “นักไม่มังสวิรัติแบบภายใน”
แต่ให้ความสำคัญกับ “แก่น” ของการกินอาหารอย่าง “รู้เท่าทัน”
กระบวนการทั้งหมดมากกว่าที่จะมัวติดอยู่กับ “เปลือก” ภายนอก
ที่เป็นเสมือนหนึ่ง “กับดักทางจิตวิญญาณ”


ผมเข้าใจและทราบดีว่า

การที่นักปฏิบัติธรรมหลายท่านอาจจะพยายามยกเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิต
มาใช้ในเรื่องของการกินอาหารนั้น
เป็นกลอุบายอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้คนบางกลุ่มได้ปฏิบัติตัว
ช่วยกล่อมเกลาให้ชีวิตมี “ความอ่อนโยน” มี “เมตตาธรรม” มากขึ้นจริง

หากแต่ชีวิตของคนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าสู่ “ความอ่อนโยน”
ที่แท้จริงได้เลย หากไม่มีมุมมองที่กว้างขึ้น, ยึดติดและไม่เรียนรู้


ในเส้นทางของชีวิตและมุมมองนั้น
มันมี “กับดัก” มากมายเสียเหลือเกิน
หากใครหลุดเข้าไปใน “กับดัก” แห่งความคิดเหล่านั้น
ก็จะเสียโอกาสในเรื่องของพัฒนาการในด้านจิตวิญญาณ
ที่จะหยุดนิ่งในกับดักเหล่านั้น

กับดักแห่งการยึดติดนั้น เกิดขึ้นได้เสมอ
หากเราไม่หมั่นทบทวนตัวเอง
หากเราไม่มี “สังฆะ” ไม่มีกัลยาณมิตรหรือความเป็นกลุ่มเป็นชุมชน
ที่คอยตักเตือนคอยร่วมกันทบทวนความคิด

หากพวกเรามีความเข้าใจในเรื่องของกับดักแห่งการยึดติดนี้
เราก็คงจะไม่มีปัญหาในเรื่องที่จะคิดที่จะเข้าใจในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งในแง่สุขภาพและในแง่อื่นๆ

เป็นต้นว่า เราก็จะมีความเข้าใจได้เองว่า น้ำลูกยอ,
หญ้าปักกิ่งหรือสาหร่ายสารพัดชนิดนั้นเป็นอย่างไร

เราก็จะมีความเข้าใจว่าเราควรจะเต้นแอโรบิคหรือไม่
หรือเราเต้นแอโรบิคไปเพื่ออะไร

และในที่สุดเราก็จะมีความเข้าใจเองว่า
เราควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีความสุข
ไม่ไปเป็น “สาวก” ของน้ำลูกยอ สาวกของหญ้าปักกิ่ง
สาวกของสาหร่าย สาวกของแอโรบิคและอื่นๆ แบบไม่ลืมหูลืมตา

อย่างไรก็ตาม “การตกลงไปในกับดัก” ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย
หากว่ารู้ตัวและตื่นที่จะปีนขึ้นมาจากหลุมพรางเหล่านั้น

และในที่สุดขอเรียนว่าจุดประสงค์ของบทความนี้
คงไม่ใช่เพื่อ “ติ” หากแต่เพื่อต้องการ “การกระตุ้น”
ให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นจากเดิมที่ดีอยู่แล้ว
จากการที่คนส่วนหนึ่งหันมานิยมบริโภคอาหารในแนวของมังสวิรัติ

-------------------------------------

บรรณานุกรม
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ คอลัมน์จับจิตด้วยใจ
เรื่อง “มังสวิรัติ ฤาจะเป็นกับดักแห่งอาหาร”
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 3:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รับใช้ว่า เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขายมา
ชายคนรับใช้รับคำอุบาสิกาสุปปิยาว่า ขอรับกระผม แล้วเที่ยวหาซื้อทั่วพระนครพาราณสี
ก็มิได้พบเนื้อสัตว์ที่เขาขาย จึงได้กลับไปหาอุบาสิกาสุปปิยาแล้วเรียนว่า เนื้อสัตว์ที่เขาขายไม่มี
ขอรับ เพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์
จึงอุบาสิกาสุปปิยาได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้นแล เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้ม
อาพาธจักมากขึ้นหรือจักถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควร
แก่เราเลย ดังนี้ แล้วได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้สั่งว่า แม่สาวใช้
ผิฉะนั้น แม่จงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธอยู่ในวิหารหลังโน้น อนึ่ง ผู้ใดถามถึงฉัน
จงบอกว่าป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง.
ครั้งนั้น อุบาสิกาสุปปิยะไปเรือนแล้วถามหญิงคนรับใช้ว่า แม่สุปปิยาไปไหน?
หญิงคนรับใช้ตอบว่า คุณนายนอนในห้อง เจ้าข้า.
จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาอุบาสิกสุปปิยาถึงในห้องนอน แล้วได้ถามว่า เธอนอนทำไม
อุบาสิกา.
ดิฉันไม่สบายค่ะ อุบาสก.
เธอป่วยเป็นอะไร.
ทีนั้น อุบาสิกาสุปปิยาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ
ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริงดีใจว่า อัศจรรย์นักชาวเราไม่เคยมีเลยชาวเรา แม่สุปปิยา
นี้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง สิ่งไรอื่นทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า แล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค. ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกสุปปิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์
จงทรงกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้เพื่อเจริญมหากุศล และปิติปราโมทย์
แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกสุปปิยะ
ทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วกลับไป และสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว.
ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวรเสด็จไปสู่
นิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วย
พระสงฆ์ จึงอุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วน
ข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกสุปปิยะผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสิกา
สุปปิยาไปไหน?
อุ. นางป่วย พระพุทธเจ้าข้า
พ. ถ้าเช่นนั้น เชิญอุบาสิกาสุปปิยามา
อุ. นางไม่สามารถ พระพุทธเจ้าข้า
พ. ถ้าเช่นนั้น พวกเธอช่วยกันพยุงพามา
ขณะนั้น อุบาสกสุปปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปปิยามาเฝ้า พร้อมกันนางได้เห็นพระผู้มี
พระภาค แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติทันที จึงอุบาสกสุปปิยะ
และอุบาสิกาสุปปิยา พากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้น
เต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ด้วยชาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสด็จแล้ว ทรงนำ
พระหัตถ์ออกจากบาตรให้ห้ามภัตรแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เห็นแจ้ง สมาทาน
อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
[๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น
ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหน
ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระ-
*พุทธเจ้า ได้ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า
พ. เขานำมาถวายแล้วหรือ ภิกษุ
ภิ. เขานำมาถวายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พ. เธอฉันแล้วหรือ ภิกษุ
ภิ. ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พ. เธอพิจารณาหรือเปล่า ภิกษุ
ภิ. มิได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงไม่ได้พิจารณา แล้วฉัน
เนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส .... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้
พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง
[๖๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก สมัยอัตคัตอาหาร ประชาชน
พากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง
ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉัน
เนื้อช้างเล่า เพราะช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะ
เหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
ห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และ
ถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อม้าเล่า เพราะม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัว
ทรงทราบ คงไม่เลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี
พระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน
เนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวก
ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลาย
ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้องู
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุ
ผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้องู ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน
พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้องูเล่า เพราะงูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง แม้พระยานาค
ชื่อสุปัสสะก็เข้าไปในพุทธสำนักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บรรดาที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีอยู่
มันคงเบียดเบียนพวกภิกษุจำนวนน้อยบ้าง ของประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระ-
*คุณเจ้าทั้งหลายโปรดกรุณาอย่าฉันเนื้องู ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระยานาคสุปัสสะ
เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นพระยานาคสุปัสสะอันพระผู้มีพระภาค
ทรงให้เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำ
ประทักษิณกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์แล้วบริโภคเนื้อราชสีห์ และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ฝูงราชสีห์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อ
ราชสีห์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่งและถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อ
เสือโคร่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้าม
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือเหลือง แล้วบริโภคเนื้อเสือเหลืองและถวายแก่พวกภิกษุ
ผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือเหลืองฆ่าพวกภิกษุเสีย
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าหมีแล้วบริโภคเนื้อหมี และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
พวกภิกษุฉันหมีแล้วอยู่ในป่าเหล่าหมีฆ่าพวกภิกษุเสียเพราะได้กลิ่นเนื้อหมี ภิกษุทั้งหลายกราบทูล
เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาวแล้วบริโภคเนื้อเสือดาว และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยว
บิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่น
เนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ
ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ.
สุปปิยภาณวาร ที่ ๒ จบ.
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑๓๘๓ - ๑๕๐๘. หน้าที่ ๕๖ - ๖๑.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=1383&Z=1508&pagebreak=0
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 3:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง ดูกรชีวก
เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน
เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภค
ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.
การแผ่เมตตา
[๕๘] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจ
ประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้
ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปใน
ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉัน
ในวันรุ่งขึ้น ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้น
นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะ
ที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริ
ว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มี
แก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอัน
ประณีตเช่นนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น
มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า
ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียน
ทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมี
ปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยาน
ปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา.
ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ
โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิด
ต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้
เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ
เป็นต้นนี้.
การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา
[๕๙] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจ
ประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง
อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขา
อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คฤหบดีหรือ
บุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่
ย่อมรับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้
ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตนี้
แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ
มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่ ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้น
ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหม
มีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยาน
ปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา.
ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่งเพราะราคะ
โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้วมีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน
ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ
โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้.
ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๖๐] ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป
มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์
ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้ สัตว์นั้น
เมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วย
เหตุประการที่ ๒ นี้ ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่
บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้ สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า
ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้ ผู้นั้นย่อมยังตถาคตและสาวก
ตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ
ประการที่ ๕ นี้ ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป
มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
[๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง
นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป
ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ดังนี้แล.
จบ ชีวกสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๙๖๔ - ๑๐๔๓. หน้าที่ ๔๒ - ๔๕.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=964&Z=1043&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=56
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 3:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

[๕๙๑] ครั้งนั้น พระเทวทัตต์พร้อมด้วยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงสรรเสริญคุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดย
อเนกปริยาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนก
ปริยาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่า
ตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาต
ตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุล
ตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้
ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าอาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลา
และเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย เทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนา ก็จงอยู่ป่า ภิกษุใด
ปรารถนา ก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนา ก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนา ก็จงยินดีการ
นิมนต์ ภิกษุใดปรารถนา ก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนา ก็จงยินดีผ้าคหบดี ดูกรเทวทัตต์
เราอนุญาตรุกขมูลเสนาสนะตลอด ๘ เดือนเท่านั้น เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ
๓ อย่าง คือ ๑. ไม่ได้เห็น ๒. ไม่ได้ยิน ๓. ไม่ได้รังเกียจ
[๕๙๒] ครั้งนั้น พระเทวทัตต์ร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
วัตถุ ๕ ประการนี้ แล้วพร้อมด้วยบริษัท ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณหลีกไป ต่อมา เธอพร้อมด้วยบริษัทเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ โฆษณาให้ประชาชนเชื่อถือ
ด้วยวัตถุ ๕ ประการว่า อาวุโสทั้งหลาย เราเข้าเฝ้าพระสมณโคดมทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงสรรเสริญคุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต
ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต
ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต
ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงต้องภิกษุนั้น ๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใด
อาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น ๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุ
ใดฉันปลาและเนื้อ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้
พวกเราเท่านั้น สมาทานประพฤติวัตถุ ๕ ประการนี้อยู่
[๕๙๓] บรรดาประชาชนชาวพระนครราชคฤห์นั้น จำพวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส
มีความรู้ทราม พากันกล่าวนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้กำจัด
มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดม เป็นผู้มีความมักมาก ดำริเพื่อความมักมาก
ส่วนประชาชนจำพวกที่มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นบัณฑิต มีความรู้สูง ต่างพากันเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัตต์จึงได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้าม
ในพุทธจักร ของพระผู้มีพระภาคเล่า
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็น
ผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัตต์จึงได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามใน
พุทธจักรเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน
เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระเทวทัตต์ว่า ดูกรเทวทัตต์ ข่าวว่า เธอตะเกียก
ตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักร จริงหรือ?
พระเทวทัตต์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ
ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงได้ตะเกียก
ตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรเล่า
ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเสื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น
เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบาง
พวกที่เลื่อมใสแล้ว
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเทวทัตต์ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่ง
ความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ
ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่
เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ
บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง
ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘๔๔๘ - ๑๘๕๑๔. หน้าที่ ๗๑๑ - ๗๑๓.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=18448&Z=18514&pagebreak=0
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 3:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เทียน รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การกินเจ-มังสวิรัติ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
chill
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 22 ก.พ. 2008
ตอบ: 85

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 7:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนานะคะ ยิ้มแก้มปริ
 

_________________
มีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี..
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 11:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบพระคุณมากนะคะคุณผ้าขี้ริ้ว
ที่นำบทความและข้อความในพระไตรปิฎก
อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งมาเสริมเพิ่มเติมให้ค่ะ

สาธุ สู้ สู้ ยิ้มเห็นฟัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ผ้าขี้ริ้ว
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 07 ก.ย. 2005
ตอบ: 101

ตอบตอบเมื่อ: 29 ก.ย. 2008, 9:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ...อนุโมทนา สาธุ
 

_________________
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 13 ต.ค.2008, 7:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนาบุญ กับทั้ง 2 ท่าน ด้วยนะจ๊ะ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง