Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระพุทโธ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.ค.2008, 10:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สำหรับผู้ที่แนะการทำจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิแล้ว ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า เมื่อจิตสงบลงไปแล้วอย่างนี้ จะใช่จิตเป็นสมาธิหรือเปล่า นักปฏิบัติมักจะย้อนกลับมาถามอาจารย์ผู้สอนอีก นี่คือความหมาย มีอยู่อย่างนี้

ประสบการณ์ในการบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ อยู่นี้เรียกว่า เจริญพุทธานุสติ และการเจริญพุทธานุสตินี้ เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ข้อสังเกตในเบื้องต้น เมื่อเราตั้งใจจะนั่งสมาธิบริกรรมภาวนา เมื่อกำหนดจิตลงไป เราจะรู้สึกว่าเรามีกาย ในเมื่อมีกายแล้ว เราย่อมจะ กำหนดรู้ว่า ในขณะนั้นสภาวจิตของเรา เป็นอย่างไร ถ้าภาวนาไปมันก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา จิตยังไปติดอยู่ในความสุข เมื่อเกิดทุกขเวทนา จิตไม่ชอบ ความที่จิตไม่ชอบนั้น เพราะจิตขอบความสุข จิตขอบความสุข อันนี้เป็น กามฉันทะ บางทีบางโอกาส เราอาจมีอารมณ์คล้าย ๆ ค้าง ๆ ซึ่งยังอยู่ในจิต เรียกว่า ราคะ ความกำหนัดย้อมใจ อาจเกิดขึ้นในขณะนั้น นิวรณ์ ๕ ตัวสำคัญอยู่ที่ราคะ ในเมื่อมีราคะ กามฉันทะ ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ในเมื่อกามฉันทะบังเกิดขึ้น จิตมันต้องการความสุข ต้องการความสบาย ไม่ชอบการทรมาน ในเมื่อไม่ชอบ การทรมาน อย่างนั้น จิตจะเกิดความหงุดหงิด ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ต่อการที่จะปฏิบัติต่อไป เรียกว่า พยาบาท เกิดขึ้น เมื่อพยาบาทบังเกิดขึ้นแล้ว ความง่วงเหงาหาวนอน ก็ย่อมบังเกิดขึ้น ความลังเลสงสัย เรียกว่า วิกิจฉา ย่อมบังเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกว่า จะภาวนาต่อไป หรือจะหยุด แต่เพียงแค่นี้ อาการทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอาการของนิวรณ์ ๕ ประการ บังเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้ปฏิบัติ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา

การทำสมาธิในขั้นสมถะเพื่อให้จิตสงบนี้ จุดมุ่งหมายอันสำคัญก็ตรงที่เราต้องการปราบนิวรณ์ ๕ ให้หมดไป ด้วยอำนาจของ สมาธิขั้นสมถกัมมัฏฐาน ในเมื่อนิวรณ์ ๕ สงบระงับไป ผู้ปฏิบัติสงบได้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อไปด้วยความปลอดโปร่ง ด้วยความเบาใจ และด้วยความสะดวก โดยปราศจากกิเลส ๕ ตัวนี้รบกวน กิเลส ๕ ตัวนี้ เราจะกำจัดได้ด้วย อำนาจของสมาธิขั้นสมถะ นี่คือประสบการณ์ ในการบำเพ็ญสมาธิขั้นสมถกัมมัฏฐาน

และอีกอย่างหนึ่ง สมถะเป็นมูลฐานให้เกิดวิปัสสนา ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนักปฏิบัติทั้งหลายควรจะสังวรระวังไว้ นักปฏิบัติทั้งหลายนั้น จิตจะไปติดอยู่กับความสุข พอภาวนาลงไปแล้ว มักจะถามกันว่าเห็นอะไรบ้าง เมื่อถูกถามบ่อยเข้า จิตก็เลย ไปติดกับความสุข เช่นเมื่อครั้งเริ่มฝึกหัดสมถวิปัสสนา ในตอนแรก ๆ ในเมื่อภาวนาไป พอมีตาทิพย์ ครูบาอาจารย์มักจะถามว่า เห็นอะไรบ้าง พอครูบาอาจารย์ถามอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า นักปฏิบัติทั้งหลาย ก็ไปติดคำถาม เมื่อเริ่มภาวนา ก็เริ่มเห็นสิ่งโน้นสิ่งนี้ หมายถึงเห็นนิมิตต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อนักภาวนามีจิตสงบ และจะเกิดแสงสว่างขึ้นมา เมื่อเกิดแสงสว่างขึ้นแล้ว จิตส่งกระแสออกไปข้างนอกกาย ตามแสงสว่างไป ก็ย่อมเกิดนิมิตต่าง ๆ ขึ้นมา จะเป็นรูปคน สัตว์ ภูตผีปีศาจ ซึ่งสุดแท้แต่มโนภาพใด จะบันดาลให้บังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของสมาธิในขั้นนี้ จะต้องเป็นอย่างนั้น

ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อย่าพึงไปถือว่า เป็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ที่เราจะต้องยึด เอาเป็นผลงาน ในการปฏิบัติ เมื่อนิมิตต่าง ๆเกิดขึ้น ให้ตั้งสติไว้ในท่าทีที่สงบ พยายามระวัง อย่าให้เกิดเอะใจขึ้นมา ถ้าเกิดเอะใจเมื่อใดแล้ว จิตจะถอน ออกจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ภาพนิมิตจะหายไปหมด เพราะนิมิตอันนี้ เกิดจากจิตสงบ ในขั้นของอุปจารสมาธิ นักภาวนาที่ฉลาด เมื่อนิมิตเกิดขึ้นอย่างนี้ ให้ประคองจิตให้อยู่ในท่าที่สงบ คือกำหนดรู้ลงที่จิต คือรู้อย่างเดียว ความรู้สึกอยู่ที่ไหน ผู้รู้จะอยู่ที่นั่น จิตก็อยู่ที่นั่น กำหนดรู้ลงที่ตรงนั้น แล้วดูผู้รู้เฉยอยู่ นิมิตนั้นจะอยู่ได้นาน ท่านที่ฉลาดในการภาวนา อาจจะเอานิมิตนั้น เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ด้วยการกำหนดรู้เฉยอยู่ ทำให้เกิดเป็นสติสัมปชัญญะจริง ๆ สามารถประคองจิต ให้อยู่ในสถานะ ปกติได้ จิตก็ย่อมสงบละเอียดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือถึงขั้นสมถกัมมัฏฐาน ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น เกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา จิตจะถอนออกจากสมาธิ และจิตจะไม่ถึงอัปปนาสมาธิ นี่คือประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะที่บริกรรมภาวนาในขั้นนี้

นักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ควรจะตั้งความรู้สึกไว้ว่า เราภาวนาแล้วควรจะเห็นอย่างนั้น ควรจะเห็นอย่างนี้ เอากันตรงที่ เราภาวนาจิตสงบลงไปแล้ว เมื่อจิตปราศจากอารมณ์ ปราศจากความคิด จิตจะนิ่งสว่างอยู่เฉย ๆ เราเองรู้เห็นกันที่ตรงนี้ เมื่อจิตมีสมาธิ เห็นว่าจิตมีสมาธิ เห็นว่าจิตนิ่งลงเป็นหนึ่ง เห็นว่าจิตมีความเป็นกลาง เห็นว่าจิตมีความสว่างไสว เห็นว่าจิตรู้ลงที่จิต เพียงอย่างเดียว เท่านั้น นี่คือความรู้ความเห็นของจิต ที่นักปฏิบัติจะพึงปรารถนา ความเห็นนิมิตต่าง ๆ นั้น ไม่เป็นสาระสำคัญใด ๆ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ ให้เรารู้เห็นลงไปว่า คำว่าจิตนั้นคืออะไร อยู่ที่ไหน สิ่งที่เราจะต้องกำหนดให้ได้ อยู่ที่ตรงนี้ เมื่อเรากำหนดลงไปได้ว่า นี่คือจิตผู้รู้ ก็ให้รู้ลงที่ตรงนี้ นิมิตต่าง ๆนั้น ใครจะรู้จะเห็นหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ อย่าไปต้องการอยากรู้อยากเห็น

และปัญหามีว่า หากว่าได้ทำจิตให้สงบสว่างลงไปแล้ว เกิดมีนิมิตขึ้นมา เมื่อจิตของเราไปติดนิมิตนั้น เช่น เห็นเทวดา ขณะนั้นจิต จะละฐานเดิม คือฐานที่รู้อยู่ในจิต แล้วก็ไปยึดภาพนิมิตนั้น ภาพนิมิตนั้นไปที่ไหน ก็จะตามไปที่นั่น ในที่สุดเราจะรู้สึกว่า เดินตามหลังเทวดาไป บางทีเทวดาจะพาไปเที่ยวนรก ไปเที่ยวสวรรค์ ไปดูโน่น ไปดูนี่ บางครั้งจิตมันตรงไปดูถึงนิพพาน เห็นนิพพาน เป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา เป็นประสบการณ์ของจิตที่เราควรจะสังวรระวังเอาไว้
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 08 ก.ค.2008, 7:58 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.ค.2008, 7:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อผู้ภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาบ่อย ๆ เข้า ถ้าจิตมันไปติดอยู่ในความสุขขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาสักที เราจะทำอย่างไร เป็นปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจ วิปัสสนามันเกิดขึ้นได้ ๒ วิธี

วิธีที่ ๑ เกิดขึ้นได้ด้วยการพินิจพิจารณาสภาวธรรม

สภาวธรรมที่จะพึงยกเป็นหัวข้อในการพิจารณาเบื้องต้นนี้ ท่านให้ยกเอาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณา สอนไปสู่ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง พยายามน้อมนึกว่า รูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขาร วิญญาณก็ไม่เที่ยง นึกเอาอย่างนี้ นึกเอาเรื่อย ๆ และน้อมเชื่อลงไปว่า เป็นความจริง จนกระทั่งจิต มันยอมรับ ลงไปว่า เป็นความจริงอย่างนั้น แล้วจึงกลับมากำหนดจิตให้สงบลงไป โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือบางทีขณะที่เรานึกอยู่นั้น จิตอาจจะเกิด ความสงบขึ้นมาในระหว่าง ในเมื่อจิต เกิดความสงบขึ้นมาแล้ว ก็ให้กำหนดจิต ประคองจิต ให้อยู่ในความสงบอย่างนั้นต่อไป เว้นเสียแต่ว่า จิตมันจะคิดไปเอง หากจิตคิดไปเอง ให้ผู้ภาวนานั้น ตามรู้ความคิดของตัวเอง โดยทำสติตามรู้ความคิด คือจิตคิดอะไรขึ้นมาก็รู้ คิดอะไร ขึ้นมาก็รู้ เพียงแต่สักว่ารู้ อย่าไปช่วยมันคิด โดยธรรมชาติของจิต มันจะคิดอยู่ไม่หยุด เราจะต้องทำสติ กำหนดรู้ความคิดอันนั้น ตามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตมันจะสงบลง เป็นอัปปนาสมาธิอีกทีหนึ่ง ในเมื่อจิตสงบลง เป็นอัปปนาสมาธิแล้ว ให้กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น เมื่อจิตสงบลงไปสู่อัปปนาสมาธิ เราจะไม่มีเจตนา ไม่มีสัญญาใด ๆ ทั้งนั้น จะน้อมจะนึกอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะในตอนนี้ จิตมันถึงธรรมชาติแห่งความเป็นเอง เป็นสมาธิโดยปราศจากความตั้งใจ ถ้าจิตจะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาในขณะนี้ เป็นเรื่องของจิตที่จะต้องเป็นไปเอง จิตในขั้นนี้เราจะตั้งใจน้อมนึกไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในตอนนี้จึงขอทำความเข้าใจกับท่านอีกว่า ในตำราท่านกล่าวว่าเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างดีแล้ว จงน้อมจิต หรือยกจิต ให้สู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อจิตนั้นสงบลงไปสู่ขั้นอัปปนาสมาธินั้นเราจะยกก็ไม่ได้ จะน้อมก็ไม่ได้ จะปรุงจะแต่งอะไร ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจิตมันปราศจากรูป เวทนา สัญญา เจตนาโดยประการทั้งปวง พอจิตมันสงบแล้วมันเป็นไปเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะทำอย่างไร โอกาสที่จิตมันจะถอนออกจากสมาธิย่อมมี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ ในขั้นนี้จะเกิดความคิดขึ้นมา ให้กำหนดตามรู้ ความคิดไป จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ มันจะคิดเรื่องของบุญ คิดเรื่องของบาป คิดเรื่องโลก คิดเรื่องธรรม อะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของเรา เพียงแต่กำหนดตามรู้ไปเรื่อย ๆ เมื่อสติตามทันความคิดได้เมื่อใด ขณะนั้นมันก็กลายเป็นภูมิแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมาเอง

และอาจจะสงสัยว่า เมื่อทำจิตแล้ว จิตไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิสักที จะคอยโอกาสให้จิตถึงอัปปนาสมาธิหรือขั้นสมถะ ไปจนตลอดชีวิต จะทำอย่างไร ผู้ภาวนาจะไม่ตายก่อนหรือ กว่าจะยกจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนาได้ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราจะทำจิตให้สงบนิ่งลง เป็นอัปปนาสมาธิ หรือทำสมถกัมมัฏฐานไม่ได้ เราก็ไม่ต้องทำ แนะนำให้ทำอย่างนี้ ในเมื่อเราจะภาวนาเมื่อใด ให้กำหนดรู้ลงที่จิต คอยจ้องดูความคิดของตนเอง ความคิดอะไรเกิดขึ้น กำหนดรู้ นี้เฉพาะในขณะเรานั่งหลับตา กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปนึกถึงอะไร ปล่อยให้ความคิดมันเกิดขึ้นมาเอง คิดขึ้นมาแล้วกำหนดรู้ คิดขึ้นมาแล้วกำหนดรู้ รู้ตามไปเรื่อย รู้เดียวนี้ตามไปเรื่อย ๆ ตัวรู้นั้นคือ ตัวสติตามรู้ทัน นั่นเอง ในเมื่อสติตามรู้ทันเมื่อใด จิตมันจะแสดงอาการสงบลง ถึงแม้ว่ามันจะไม่สงบ นิ่ง สว่าง เหมือนอย่างที่ท่านอธิบายไว้ ในตำรับตำราก็ตาม เป็นแต่เพียง เรามีสติตามทันความคิดของเรา เมื่อสติตามทันความคิดแล้ว ความคิด ความรู้ กับจิต นี้มันจะมีลักษณะ คล้าย ๆ กับว่า มันแยกออกจากกัน จิตตัวผู้รู้ มันจะรู้อยู่เฉย ๆ แต่สิ่งที่ผ่านเข้ามา เป็นความคิดนั้น สักแต่ว่าคิด ไม่มีความยึดถือในจิตอันนั้น อันนี้เป็นตัวสติ ที่มันมีพลังแก่กล้าขึ้น และมันจะมีลักษณะที่ กายกับจิต ที่สามารถแยกจากกันได้ อารมณ์กับจิต ก็สามารถแยก ออกจากกันได้ ถ้าเราอบรมสติตัวนี้ให้มีความเจริญขึ้น เป็นผู้ที่มีสติเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง อันนี้ถือหลักปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานในเบื้องต้น

วิธีที่ ๒ เกิดขึ้นได้ด้วยการพินิจพิจารณากายคตาสติ

สภาวธรรมที่จะพึงยกเป็นหัวข้อในการพิจารณาได้อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้กำหนดพิจารณาร่างกายของตนเป็นหลัก ให้พิจารณาตั้งแต่ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน เนื้อ เอ็น กระดูก จนครบอาการ ๓๒ โดยน้อมนึกให้จิตรับรู้ไปในแง่เป็นของปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียด โสโครก ดังที่ปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล บรรยายมาแล้วนั่นเอง
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.ค.2008, 8:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การภาวนาพุทโธ

การนำเอาธรรมะมาเล่าสู่กันฟัง ตามความรู้และความสามารถของผู้ที่จะพูดได้มากน้อยเพียงใดแค่ไหน และเคยได้ผ่านการปฏิบัติมีความรู้สึกเข้าใจในหลักการปฏิบัติเพียงใดแค่ไหนตามชั้นภูมิของตัวเอง การเรียนปริยัติหรือการฟังเทศน์ที่เข้าใจว่าจะมากพอๆ กัน ดังนั้น ณ โอกาสนี้จึงใคร่ที่จะขอเชิญบรรดาท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจงกำหนดจิตตั้งใจว่าฉันจะตั้งใจทำสมาธิให้ดวงจิตของฉันเป็นสมาธิ สติระวังเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็รวมเอาความรู้สึกทั้งหมดไปรวมที่ดวงจิต นึกถึงบรมครูคือพระพุทธเจ้าก็อยู่ที่จิต พระธรรมก็อยู่ที่จิต พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่จิต จิตตัวรู้นึกคำว่า พุทโธ มันก็คือ "พุทธะ" รวมความแล้วว่าใครก็ตามที่มีความรู้สึกสำนึก รับผิดชอบ รู้อยู่ในจิตของตัวเอง ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพุทธะคือผู้รู้อยู่ในจิตของตัวเอง แต่โดยธรรมชาติของพุทธะ คือยังมีสิ่งมืดมนยังปิดบังด้วยกิเลสอยู่ ติดอยู่ จิตจึงยังมองไม่เด่นชัดนัก เพราะฉะนั้นเพื่อให้ตัวผู้รู้เห็นเด่นชัดขึ้น จึงมีอุบายวิธีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ภาวนาคือการทำสมาธิ

การทำสมาธิ ก็คือความพยายามที่จะทราบความคิดที่มันแผ่ซ่านอยู่ทั่วทุกทิศ ให้ไปรวมจิตอยู่กับสิ่งๆ หนึ่งในเบื้องต้นก่อน โดยที่สุดแม้ความคิดถึงเพียงคำสองคำ เช่นคำว่า "พุทโธ" เป็นต้น หรือเพ่งจดจ้องอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งตามแบบแห่งการเพ่งกสิณ อุบายคำกล่าวนี้เป็นอุบายที่สร้างความรู้สึกของจิตที่มันแผ่ซ่านไปทุกทิศ หรืออารมณ์ต่างๆ ให้พรากจากสิ่งนั้นให้มารวมอยู่ที่จุดๆ เดียว คือพุทโธหรือจุดที่เพ่งนั้น และไม่เฉพาะแต่พุทโธหรือจุดที่เพ่งหรือคำบริกรรมอย่างอื่น เช่น ยุบหนอ พองหนอ อะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่เป็นอุบายทำจิตให้ดำเนินไปสู่ความสงบ คือให้จิตเพ่งอยู่ในจุดนั้นหรือรู้สึกอยู่เฉพาะคำพูดคำนั้นเท่านั้น อันนี้คืออุบายในเบื้องต้น

ถึงแม้ว่าหลายๆ ท่านอาจจะผ่านการบำเพ็ญภาวนามา มีภูมิจิตภูมิใจสูงขึ้นไปกว่าระดับขั้นดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ที่นำมากล่าวอีกก็เพื่อเป็นการเตือนจิตเตือนใจ เตือนความรู้สึกของนักปฏิบัติทั้งหลายให้มีความรู้สึกมั่นคงต่อการปฏิบัตินั้นๆ บริกรรมภาวนาก็ดี หรือการพิจารณาธรรมอันใดอันหนึ่งก็ดี แม้ว่าเราจะทำผ่านมาแล้ว เราจะถือว่าเราผ่านขั้นนั้นมาแล้วไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในระดับนั้น หรือขั้นนั้นๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่จิตเบื้องต้นจนถึงจิตเบื้องปลายซึ่งเป็นขั้นภูมิจิตละเอียดที่สุด จะเบื้องกลางและเบื้องสูงสุดนั้นจะปล่อยทิ้งไม่ได้ วิถีจิตที่เคยเดินๆ มาในลักษณะอย่างไร เรามีความรู้ความเห็นอย่างไรเราต้องทบทวนสิ่งที่เคยผ่านนั้นๆ บ่อยๆ เพื่อให้มีความชำนิชำนาญ เพื่อป้องกันมิให้เราหลงผิด เข้าใจผิด บางท่านอาจจะสามารถทำภูมิภูมิใจให้มีความรู้ในธรรมขั้นละเอียด เราอาจจะมีความรู้ เราอาจจะมีความเห็น แต่ถ้าเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว เราอาจจะไปยึดเอาแต่เพียงความรู้และความเห็นเท่านั้น ที่เราได้เห็นเองว่าเราสำเร็จแล้วแต่เรายังขาดการนึกถึงอีกสิ่งหนึ่งคือ ความเป็น

การบรรลุธรรมของผู้ปฏิบัติต้องประกอบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ อย่างคือ
๑ ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิต
๒ ความเห็น คือเห็นด้วยกับความรู้นั้น
๓ สภาพจิตที่ปลด หมายถึงการปล่อยวาง

ประกอบพร้อมด้วยลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเป็น

ทีนี้สิ่งที่เรารู้ เราเห็น เราเป็น แม้จะเป็นสิ่งเก่าสิ่งเดิมที่เราพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั้น มันก็เป็นอุบายที่จะทำให้สภาพจิตของเราเปลี่ยนแปลง ตามลำดับขั้นแห่งความสามารถ เพราะฉะนั้นในหลักที่ครูบาอาจารย์กล่าวแนะนำสั่งสอนหรือหลักในพระสูตรต่างๆ ท่านทั้งหลายอาจจะได้เรียนมาแล้วคือ อยู่ในหลักของโพชฌงค์ ปรากฏว่าอบรมให้มากๆ และทำให้มากๆ จนชำนิชำนาญ
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 11 ก.ค.2008, 10:47 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ค.2008, 10:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลักการของท่านสำหรับวันนี้จะกล่าวถึงหลักการปฏิบัติเพียงแค่ขั้นอนุสติ อนุสติคือ การระลึก ในขั้นนี้จะยกเอาตัวอย่างคือการระลึกถึงพระพุทธเจ้าคือ พุทธานุสติมาเป็นตัวอย่าง การนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเรียกว่า "พุทธานุสติ" ซึ่งเป็นอนุสติข้อหนึ่งในอนุสติสิบ ทีนี้เรามานึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าด้วยคำว่า "พุทโธ" เป็นได้ชื่อว่าพุทธานุสติ ถ้าเรานึกถึงคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น กลายเป็นภาวนาหรืออบรมจิต เมื่อจะให้จิตของเราติดอยู่กับคำพูดคำว่า "พุทโธ" เพียงคำเดียว อันนี้เป็นอุบายเบื้องต้น ขอให้ท่านลองสังเกต ดูว่าเมื่อท่านนึกถึงคำว่า พุทโธ ติดๆ กันให้ถี่ยิบ เข้าใจว่าจิตไม่มีโอกาสที่จะส่งกระแสออกไปทางอื่นได้ เว้นเสียแต่ว่าท่านอาจจะเผลอไปสักพักหนึ่ง แล้วจิตของท่านอาจจะลืมคำว่า พุทโธ แล้วส่งกระแสออกไปข้างนอกนึกถึงสิ่งอื่น แต่เมื่อท่านรู้สึกตัวแล้วก็เอาจิตมาไว้กับคำว่า พุทโธ ตามเดิม เมื่อจิตของท่านเผลอไปนึกถึงสิ่งอื่นท่านก็นึกเอาไว้ที่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตามเดิม และพุทโธนี้ ท่านสามารถที่จะนึกได้ ไม่เฉพาะแต่เวลาที่ท่านมานั่งอยู่ในขณะนี้เท่านั้น แม้ว่าท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด หรือทำอะไรอยู่ก็นึกได้ บางท่านนึกว่าหากลืมนึกพุทโธกลัวจะเป็นบาป การนึกพุทโธกลัวจะเป็นบาปอย่าได้เข้าใจผิด เราสามารถที่จะนึกพุทโธได้ทุกกาลทุกเวลา ทุกสถานที่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเรานึกได้ทั้งนั้น เรียกว่านึกได้ตลอดเวลาก็แล้วกัน ถ้าท่านตั้งใจที่จะนึก พุทโธ พุทโธ พุทโธ เอาไว้ในเมื่อนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลาจิตมันนิ่งสงบ เป็นสมาธิ ไม่นิ่งไม่สว่าง อย่างที่แบบแผนตำรับตำราท่านกล่าวไว้มันจะได้ประโยน์อะไร มันได้อยู่ตรงที่ว่าท่านสามารถที่เอาพุทโธสกัดกั้นความคิดเอาไว้ มิให้ความรู้สึกนึกคิดไปสร้างบาปสร้างกรรมอย่างอื่นหรือให้ความคิดที่เราเรียกว่าความคิดชั่ว ความคิดไม่ดีนั้นมันน้อยลงแม้น้อยกว่าความตั้งใจก็ตาม เราเอาผลกันเพียงเท่านี้ก่อน

หากเรามาภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่างเดียวเท่านั้น เราสามารถที่จะทำจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ขั้นวิปัสสนากัมมัฏฐานได้หรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาที่นักปฏิบัติทั้งหลายพากันสงสัยกันมากเหลือเกิน ขอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า บริกรรมภาวนาทุกอย่างจิตจะสงบลงได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น เข่น คำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ เมื่อท่านนึกซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้นเมื่อจิตสงบลงไปจริงๆ คือมันมีอาการวูบวาบและก็สงบลงไป แล้วก็สว่างขึ้น คำบริกรรมภาวนาที่ท่านนึกอยู่นั้นมันจะหายไป ในเมื่อคำว่ายุบหนอ พองหนอก็ดี พุทโธก็ดีหายไปในขณะที่ท่านมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปคล้ายๆ กับจะนอนหลับแม้ว่าจิตมันยังไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นแต่เพียงเริ่มจับเข้าขั้นอุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้นบริกรรมภาวนานี่เป็นแต่เพียงสื่อยังจิตให้ดำเนินเข้าไปสู่ความสงบ เพียงแค่ขั้นรู้สึกเคลิ้มๆ เหมือนกับนอนหลับ แล้วคำภาวนานั้นก็หายไป แล้วเราบริกรรมภาวนาอะไรก็ตามส่วนมากจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

มีปัญหาว่าเมื่อคำบริกรรมภาวนาหายไปแล้วต่อไปนั้นท่านควรจะทำอย่างไร อันนี้ท่านพึงสังเกตจิตของท่านให้ดี ถ้าหากว่าจิตของท่านลงไปนิ่งสว่างอยู่เฉยๆ หรือไม่สว่างก็ตาม ในตอนนี้ถ้าหากท่านสามารถน้อมจิตไปสู่ลมหายใจได้ ก็รีบน้อมจิตไปสู่ลมหายใจทันที คือกำหนดรู้ลมเข้า ลมออก ดูลมหายใจเข้า หายใจออกเฉยอยู่ เพียงแต่รู้ว่ามีลมหายใจเท่านั้นอย่าไปนึกว่านี่คือลมหายใจเข้า นี่คือลมหายใจออก หรือมีลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาว เป็นแต่เพียงทำความรู้อยู่ในจิต เมื่อลมหายใจเกี่ยวข้องกับร่างกายก็ยังรู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ลมหายใจ แล้วก็เราจะไม่ปรุงแต่ขึ้นมาว่าลมหายใจสั้น ยาว และเราก็ย่อมรู้อยู่ในที่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างความคิดขึ้นมาอย่างนั้น

ทีนี้ถ้าหากสมมติว่าเมื่อจิตนิ่งลงไปสู่ความว่าง ถ้าจิตมันทรงอยู่ในความสว่าง จิตมีปีติให้กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น เว้นเสียว่าจิตมันอาจจะเข้าหรือส่งกระแสออกไปทางอื่น ถ้าท่านไม่รู้บริกรรมภาวนาอีก ก็รีบน้อมจิตไปสู่ลมหายใจเอาลมหายใจเป็นที่รู้ของจิตเป็นเครื่องระลึกของสติ หรือในช่วงนี้จะน้อมจิตไปพิจารณาอาการ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าเป็นอารมณ์ของอสุภะกัมมัฏฐาน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ไม่สวยไม่งาม พิจารณากลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ในเมื่อเรายึดเอาลมหายใจหรืออาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ มาเป็นเครื่องรู้ของจิตเป็นเครื่องระลึกของสติ กัมมัฏฐาน ๒ อย่างนี้น จะยังจิตของท่านให้ดำเนินเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือทำขั้นสมถกัมมัฏฐาน

แต่บางท่านอาจจะมีลักษณะเป็นอย่างนี้ ในเมื่อบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปแล้ว จิตจะเริ่มสงบ วูบ วูบ วูบ ลงไป แล้วก็ไปนิ่งสว่าง โดยจิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วจนเกินไป ขณะที่เราไม่สามารถกำหนดรู้ ปีติ และความสุข จิตวิ่งเข้าไปสู่อัปปนาสมาธิเร็วเกินไป จิตจึงว่างอยู่เฉยๆ ดังนี้ต้องพยายามทำบ่อยๆ จนกว่าเราจะกำหนดรู้เอง เริ่มต้นตั้งแต่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฝึกหัดให้จิตเดินตามวิถีแห่งองค์ฌานทั้ง ๕ จนชำนิชำนาญ

แม้ว่าเราสามารถที่จะทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิ ทำขั้นสมถะหรืออัปปนาสมาธิได้บ่อยๆ ความจริงความเข้าใจที่ว่าสมถกัมมัฏฐานหรืออัปปนาสมาธิไม่สามารถที่จะนำผู้ภาวนาให้มีภูมิจิตดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอให้นักบริกรรมภาวนาทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้ เราจะพึงบริกรรมภาวนาอย่างไรก็ดี หรือจะพิจารณาอะไรก็ดี ในเมื่อจิตใจสงบนิ่ง ว่างอยู่เฉยๆ แล้ว จิตจะสงบละเอียดถึงขนาดที่ว่ากายหายไปหมด ยังเหลือแต่ธาตุจิตสงบ นิ่ง ว่าง สว่างอยู่อย่างเดียว จิตที่เป็นอย่างนี้ส่วนมากย่อมไม่เกิดความรู้ ย่อมไม่เกิดสติปัญญาขึ้นมาในขณะจิตมีสภาพเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นการเห็นที่ถูกต้องอีก ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพียงแค่บริกรรมภาวนาจิตจะดำเนินไปสู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐานสมมติว่าเราเพียงแต่บริกรรมภาวนาให้จิตสงบนิ่งเป็นอัปนาสมาธินี้บางท่านก็ว่าจิตอยู่ในขั้นฌานขั้นที่ ๔ บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ บางท่านก็เรียกว่าอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน อัปปนาจิตโดยธรรมชาติแล้วจิตไม่เกิดความรู้ในขณะนั้นเพราะจิตไร้สมรรถภาพในการที่จะคิดโดยประการทั้งปวง อันนี้ขอให้ท่านผู้ปฏิบัติพึงสังเกตให้ดีในตอนนี้
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 12 ก.ค.2008, 1:34 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.ค.2008, 1:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

และให้เราคอยสังเกตดู แม้ว่าจิตในอัปปนาสมาธิจะไม่มีความรู้เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยธรรมชาติของจิตที่สงบแล้วย่อมมีโอกาสที่จะถอนออกจากความสงบ คือถอนออกจากสมาธิ ครั้นเมื่อถอนออกจากสมาธิในขั้นนี้ ก้าวถอยออกมาสู่ภูมิแห่งอุปจารสมาธิ จิตอยู่ในภูมิอุปจารสมาธิ จิตย่อมมีความคิด ในเมื่อจิตเกิดมีความคิดขึ้นมาในขั้นนี้ ผู้ภาวนาย่อมจะสามารถน้อมจิตได้ พอจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิมีความคิดเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ตามความคิดนั้น เราคิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้คิดอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้อย่าปล่อยไป จิตคิดเรื่องดีก็ตาม คิดเรื่องขั่วก็ตาม เราต้องกำหนดความรู้ความคิดนั้นไปเรื่อยๆ อย่าไปละโอกาส ตามความรู้ความคิดของเราไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตของเราจะรู้ สติของเราจะรู้ทันความคิดที่มันคิดขึ้น เพราะความคิดนั้นเป็นสภาวธรรม เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ความคิดเป็นธรรมารมณ์ก็ย่อมเป็นอารมณ์ของจิต เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ในเมื่อจิตมีเครื่องรู้ สติมีเครื่องระลึก แม้จะเป็นนามธรรมก็ตาม ก็สามารถที่จะทำให้สติกลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้ ในเมื่อสติตัวนี้ตามทันความคิดจนกระทั่งสามารถรู้เท่าทันความคิด คิดรู้สักแต่ว่าคิด คิดแล้วก็ปล่อยวางไป รู้แล้วก็ปล่อยวางไป

เมื่อจิตตามรู้ตามเห็นความคิดอย่างนี้จิตเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องรู้ จิตเอาความรู้ความคิดเป็นเครื่องระลึก ในเมื่อจิตปกติที่ตามทันกันเข้า สติกลายเป็นมหาสติ มหาสติกลายเป็นสติพละ ถ้าหากสามารถที่จะยังจิตให้สงบลงไปอีกกลายเป็นสมาธิแล้วก็เป็นสมาธิพละ ในเมื่อจิตสงบลงไปแล้ว พละ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะรวมซ้อนอยู่ในจิตจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งมีประสิทธิภาพที่จะทำให้จิตของเราสงบนิ่งมีสมาธิขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คือบางทีอาจจะมีภูมิความรู้ภูมิปัญญาเกิดขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น อย่างบางท่านที่ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วเราท่านสามารถทำจิตให้สงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้วก็ไม่มีความรู้อะไรเพราะจิตมันถอนออกจากสมาธิเลย ในเมื่อทำหลายครั้งหลายหนเข้า จิตก็สงบเป็นอัปปนาสมาธิบ่อยๆ เข้า ในเมื่อจิตสงบบ่อยๆ เข้า จิตก็มีกำลัง มีสติแล้วก็มีสมาธิขึ้นมา เมื่อจิตถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิจะเกิดความรู้สึกมีความคิดเกิดขึ้นมาทั้งนั้น จิตสามารถเกิดภูมิความรู้ จิตสามารถรู้อะไรแปลกๆ ขึ้น ความรู้เกิดพรั่งพรูออกมาจนไม่สามารถจะกำหนดตามทันความรู้ได้ก็มี ในเมื่อภูมิความรู้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างนี้ถ้าสติกับจิตมันตามทันกัน ตามทันความรู้ที่เกิดขึ้นมาในจิต จิตกลายเป็นภูมิวิปัสสนา ภูมิปัญญาขึ้นในจิต ดังอธิบายเช่นนี้ การใช้คำพูดอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจจะกระท่อนกระแท่น คือบางทีก็อาจจะสับสน จึงขอฝากไว้สำหรับท่านผู้ฟังช่วยกันนำไปพิจารณาเพิ่มเติมอีก

จิงขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังสงสัยอยู่ว่า บริกรรมภาวนาที่จิตเป็นได้เพียงแค่สมถกัมมัฏฐานเท่านั้น โดยเฉพาะการภาวนา พุทโธ อย่างดีก็ได้แค่สมถกัมมัฏฐาน จึงใคร่ขอร้องให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายได้ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริง ให้มันรู้แจ้งเห็นจริงประจักษ์ว่า บริกรรมภาวนานี้จิตจะเป็นแค่ขั้นสมถกัมมัฏฐาน แต่ขอให้นัยเอาไว้ว่า นักบริกรรมภาวนาทั้งหลาย ถ้าเราจะพากันโง่หมดทุกคน บริกรรมภาวนาแล้วจิตมันก็เป็นแค่สมถกัมมัฏฐานเท่านั้น และในหลักวิชาการท่านก็ว่า อนุสติ ๑๐ เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน ในเมื่อเรามาบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งคือ คำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็น มันก็เป็นการปฏิบัติตามอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน ไม่ใช่อารมณ์ของวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเรามาช่วยกันพิสูจน์ว่า การบริกรรมภาวนาทุกอย่างเท่าที่มีในพระคัมภีร์ในตำรานั้น ในเมื่อเราทำอย่างจริงจังลงไปแล้ว จิตของเราจะเป็นเพียงแค่สมถกัมมัฏฐาน จะไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานได้เอาหรืออย่างไร อยากจะขอให้ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายช่วยพิจารณา ช่วยไขปัญหาในตอนนี้ ถ้าหากว่าหลายๆ ท่านช่วยกันพิสูจน์ ช่วนกันพิจารณาช่วยกันค้นคว้าหาหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ โดยสลัดความยึดถือในตำรับตำราออกไปเสีย เอาแต่ความจริงที่มันเกิดขึ้นภายในจิตกับผู้ภาวนานั้นมาเปรียบเทียบกันมาวัดกันดูว่ามันจะสามารถเป็นวิปัสสนาไปได้หรือไม่ เพื่อเราจะได้หายสงสัย หายขัดแย้งซึ่งกันและกัน ขอให้สติไว้พิจารณาอย่างหนึ่งว่า บรรดานักปฏิบัติทั้งหลาย เรายังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่เพราะว่า

๑ ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น ก็เป็นเหตุ
๒ ฝ่ายหนึ่งรู้ เห็น เป็น อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น ก็เป็นเหตุ

แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่ายต่างรู้ ต่างเห็น มากันทั้งสองฝ่าย และเอาความจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตมาเปรียบเทียบ เราจะไม่เกิดขัดแย้งกัน การปฏิบัติหรือภูมิรู้ ภูมิเห็นมี เช่นพระอรหันต์ อรหันต์ทั้งหลายจะไม่เถียงกันในเรื่องการปฏิบัติ ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาไม่มี มีแต่ปุถุชนเท่านั้นเขาเถียงกัน อรหัตต์ อรหันต์ไม่เถียงกัน อันนี้ขอฝากบรรดาท่านทั้งหลายไว้พิจารณา
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.ค.2008, 12:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมาธิกับการขัดแย้ง

การศึกษาธรรมะตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา เรามุ่งที่จะศึกษาให้รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง ศาสนาพุทธคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของความจริงของสภาวธรรม เพื่อจะทำความเข้าใจกับท่านผู้ฟัง ขอแบ่งคำสอนที่เรียกว่าธรรมะนั้นออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ธรรมะที่เราถือว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท

๑ เรียกว่าสภาวธรรม
๒ เป็นธรรมะคำสอน

ธรรมะประเภทที่เป็นสภาวธรรม เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ที่เรายอมรับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุว่าความจริงของสภาวธรรมพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้ เช่นรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้น อันนี้มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นรู้ คนอื่นแม้ว่าจะมีส่วนรู้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่ซึ้งเหมือนพระพุทธเจ้า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นบทความจริงของสภาวธรรมที่จะเป็นไปนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทราบเป็นผู้ทรงรู้เร็ว เมื่อก่อนที่พระพุทธเจ้ายังไม่เกิดนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนแล้ว แต่ถึงจะมีผู้รู้อยู่บ้างก็ไม่ละเอียดและรู้ไม่ถึงแก่น แต่เมื่อพระพุทธเจ้ามารู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จึงเอาแก่นแท้ของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกมาตีแผ่ให้ชาวโลกได้รู้ข้อเท็จจริง

คำว่าสภาวธรรมหมายถึงอะไร เราทุกคนมีสภาวธรรมเป็นสมบัติประจำตัวกันอยู่ทุกคน สภาวธรรมอันนั้นคือ กายกับใจ กายกับใจ คือสภาวธรรม นอกจากกายกับใจจะเป็นสภาวธรรมแล้ว สถานการณ์แห่งสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เราประสบอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก อันนั้นก็คือสภาวธรรม แม้แต่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา จะเป็นแขนงไหน ศาสตร์ไหนก็ตามสิ่งเหล่านั้นคือสภาวธรรม นี่คือสภาวธรรมที่พระพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวธรรมอันเป็นของๆ เรา คือ กายกับใจ นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงรู้ความเป็นจริงของมันแล้วก็ยังสามารถที่จะทราบความว่า สภาวธรรมนี้มันเกิดมาเพราะอาศัยอะไรเป็นเหตุ คนที่เกิดมาเป็นคนอาศัยอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดมาเป็นคน อันนี้พระพุทธเจ้าก็ทราบเหตุที่ทำให้คนต้องเกิดมาเป็นคน ก็เพราะอาศัยว่าคนพยายามรักษาศีล ๕ รักษากรรมบถ ๑๐ และใครทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จริงผู้นั้นมีคติเที่ยงแท้ก็เกิดมาเป็นคน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ เมื่อก่อนพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด ยังไม่มีใครเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระพุทธเจ้ารวมให้เราพิจารณาให้รู้ซึ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง บางท่านอาจจะคิดว่า ความแก่ ความเจ็บและความตาย ใครๆ เขาก็รู้กันอยู่ เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงให้มาพิจารณาดู ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่พระองค์ให้พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เพื่อเป็นอุบายให้สาธุชนรู้แจ้งเห็นจริง แห่งความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ที่เราได้ยินได้ฟัง หรือรู้ๆ มานั้นเป็นแต่เพียง รู้ด้วยปัญญาว่าเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่มันยังไม่ซึ้งถึงจิตถึงใจ จิตใจของเราจึงไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น เราก็ฝืนกฎของความเป็นจริง ในเมื่อประสบความแก่เราทุกข์ เกิดความเจ็บเราทุกข์ เกิดความตายเราทุกข์ หรือคิดว่าเราจะตายเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่า เราไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า เราจะเป็นอย่างนั้นแล้วจะไปรู้สึกฝืนกฎของความเป็นจริงจึงพากันเกิดทุกข์ สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ

ในเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงนำมาสั่งสอนพุทธบริษัทซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านให้รู้ถึงสภาพความเป็นจริง เริ่มต้นแต่ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดาจะหลุดพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดาจะหนีความตายไปไม่ได้

พระองค์ท่านให้พิจารณาอย่างนั้น ก็ต้องการให้พิจารณาถึงความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการยึดหาธรรมะและการปฏิบัติธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น เรามุ่งที่จะทำจิตใจของเราให้รู้สภาพความเป็นจริง รู้ถึงจิต ถึงใจ แล้วจิตจะยอมรับสภาพความเป็นจริง ไม่ฝืนกฎธรรมชาติของสภาวธรรม จิตใจก็ปล่อยวาง สบาย เมื่อสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาเมื่อใด เราไม่วิตกกังวลเพระเรารู้ซึ้งเห็นจริงแล้ว อันนี้เป็นสภาวธรรมและความเป็นไปของสภาวธรรม ความเป็นไปของสภาวธรรมส่วนรวมก็คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เป็นธรรมะส่วนสภาวธรรม นับว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 16 ก.ค.2008, 10:18 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ค.2008, 10:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

และอีกอันหนึ่งนั้นคือธรรมะคำสอน เมื่อพูดถึงธรรมะคือ คำสอน คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง อันนี้พุทธบริษัททั้งหลายมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมทางด้านจิต การปฏิบัติธรรมทางด้านจิตนั้นหากจะต้องเริ่มต้นด้วย ทำตนเป็นผู้มีศีล ศีลเป็นสิ่งสำคัญเป็นคุณธรรม เป็นภาคพื้น เป็นการปรับกาย วาจา และใจให้อยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล ๕ เป็นศีลที่ฆราวาสทั่วๆ ไปจะพึงสมาทาน ปฏิบัติ เป็นหลักใหญ่และเป็นศีลที่สำคัญ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็รวมลงอยู่ในศีล ๕ ข้อ จะเป็นผู้ใดก็ตาม เมื่อมาตั้งใจจัดหาศีล ๕ ข้อ เมื่อทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์แล้ว แต่ตั้งใจจะทำสมาธิภาวนา เมื่อทำจิตให้สงบ รู้ซึ้งเห็นจริงในสภาวธรรม ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น ต้องการให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ ยกตัวอย่างเช่น อุบาสก อุบาสิกาในอดีต เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มีหลายท่าน เช่นนางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านก็เป็นผู้ครองเจ้าครองเรือนก็มีศีลเพียง ๕ ข้อเท่านั้น และท่านปฏิบัติธรรมก็ได้บรรลุพระโสดาบัน คนในสมัยปัจจุบันนี้มีเพียงแค่ศีล ๕ ก็ยังถึอว่าเราน้อยหน้าต่ำตาศีลของเรา ไม่ท่านก็สงสัยว่ามีศีล ๕ ไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ความจริงศีล ๕ ข้อนี้ มันเป็นศีลที่กำจัดบาปกรรมหรือเป็นการตัดผลเพิ่มของปาบกรรมที่เราจะพึงทำด้วย กายวาจา เช่นอย่างปานาติบาต เว้นจากการฆ่าสัตว์ อทินนาทาน เว้นจากการเบียดเบียนของที่เจ้าของไม่อนุญาต กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากการประพฤติผิดในกาม มุสาวาทพูดเท็จ สุราเมดื่มของมึนเมา ถ้าใครสมาทานจัดหาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรมที่เราทำ ที่จะสร้างไปเสวยผลคือไปตกนรกหรือไปทรมานในสถานที่ๆ หาความเจริญมิได้ มีแต่การละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปจะได้บาปกรรมอยู่บ้างก็เพียงแต่ความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น แต่ถ้าใครมีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ มุ่งหวังที่จะทำสมาธิ ปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม รู้แจ้ง เห็นจริง ในสภาวธรรมได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่สามารถที่จะมีศีลมากๆ ขึ้นไปกว่านั้น ก็อย่าถึงทำความน้อยอกน้อยใจว่าเรามีศีลน้อยเหลือเกิน ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานก็ยังยิ่งน้อยอกน้อยใจ

ก่อนที่เราจะเพิ่มศีลของตัวเองให้มากๆ ขึ้นไปนั้น ต้องพิจารณาถึงสมรรถภาพของตัวเองว่าเราสามารถจะรักษาศีลมากๆ ได้หรือไม่ เมื่อเรายังไม่มีสมรรถภาพพอที่จะรักษาศีลเราก็ให้มั่นคงในศีล ๕ เท่านั้น ฆราวาสโดยทั่วไปมีศีล ๕ แล้ว เรายังประดับตกแต่งด้วยเครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทาได้ ดูหนัง ดูละคร ดูลิเกได้ นอนบนที่นอนที่สูงใหญ่ก็ได้ แต่ถ้าเราไปเพิ่มขึ้นอีก ๓ ข้อเป็นศีล ๘ เช่นเพิ่มข้อ ๖ ให้งดเว้นจากอาหารมื้อเย็น แต่งดเว้นไม่ได้ เพิ่มข้อ ๗ ให้งดเว้นจากเครื่องหอม น้ำมันหอม เครื่องย้อม เครื่องทา แต่งดเว้นไม่ได้ เพิ่มข้อ ๘ เข้าไปให้งดจากการขับร้อง ประโคมดนตรี ดีด สี ตี เป่า แต่งดเว้นไม่ได้ การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มบาปให้กับตนเองโดยไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นการที่จะรักษาศีลให้มากๆ นั้น ต้องดูสมรรถภาพของตัวเอง เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว บำเพ็ญเพียรภาวนาไป เมื่อเราภาวนาเป็นแล้วศีลนั้นจะเพิ่มขึ้นเองไม่เพียงแต่ศีล ๘ ศีล ๑๐ เท่านั้น เพียงแต่ศีล ๕ เมื่อมีสมาธิ มีปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม สามารถทำจิตให้อยู่ในสภาพปกติได้ มันจะเป็นอุบายเพิ่มศีลเข้าไป อย่าว่าแต่เพียง ๒๒๗ ข้อ อีกหมื่นข้อ แสนข้อ มันก็เพิ่มได้ เมื่อฐานของจิตใจดีแล้วเพราะการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะปรับระดับของตนให้สูงยิ่งขึ้นไปเพียงใด แค่ไหน ก็ให้พิจารณาดูสมรรถภาพของตัวเอง หากทำไปอย่างงมงาย ไม่มีเหตุผลว่ารักษาอุโบสถได้บุญมาก

แต่เมื่อเราไปรักษาอุโบสถอดข้าวเย็น เกิดทุกขเวทนา เมื่อร่างกายได้อาหารไม่เพียงพอก็อ่อนเพลีย การปฏิบัติธรรมก็ทำไม่ได้เต็มที่ แทนที่จะได้ผลดี ก็เลยขาดทุน ทำให้เกิดโรคทางกาย เช่นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ ทนทุกข์ทรมาน รักษากันไปเป็นเวลานานๆ กว่าจะหาย เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เราจะทำลงไป ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือปฏิบัติยิ่ง หรือปฏิบัติกันอย่างงมงาย ทำให้มันมีเหตุมีผล พิจารณาดูสมรรถภาพของร่างกายของตัวเองว่ามีความสามารถเพียงใดหรือไม่
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 02 ส.ค. 2008, 10:56 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 02 ส.ค. 2008, 10:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องการปฏิบัติสมาธิ ซึ่งหมายถึงการทำสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง ซึ่งท่านทั้งหลายได้ยินมามากต่อมากแล้ว ในบางครั้งบางคราว เราอาจจะมีความสงสัยว่าเราจะปฏิบัติอย่างไหนแบบไหน จึงจะได้ผลดี เช่นบางคนเคยไปถามว่าอย่างจะปฏิบัติให้มันได้ผลเร็วที่สุดมีอุบายวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติให้มันได้ผลสำเร็จ ก็ได้บอกเขาเหล่านั้นไปว่ามันไม่มีแล้ว วิธีที่ปฏิบัติให้มันได้ผลเร็ว จริงๆก็อยู่ที่การตั้งใจทำจริง ทำไปโดยปราศจากความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะไปศึกษาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานตามวิธีของท่านผู้ใดผู้หนึ่งเช่นท่านสอนให้ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ เราก็ต้องปักใจมั่นลงไปว่าเราจะปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเรียนจากสำนักวัดปากน้ำ สัมมาอะระหัง เราก็ปักใจอย่างจริงจังว่าจะปฏิบัติตามแบบของท่าน หรือจะไปเรียนกับอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ เราก็ตั้งจิตให้มั่นลงไปว่าเราจะภาวนาพุทโธ ข้อสำคัญมันก็อยู่ตรงนี้อยู่ที่ต้องทำจริง เมื่อท่านจะบริกรรมภาวนาอันใดก็ตาม หากท่านจะตั้งใจให้มันแน่วแน่ลงไปว่า เราจะนั่งสมาธิวันละ ๓ ครั้งๆ ละ ๑ ชั่วโมง แล้วก็ตั้งใจทำให้มันได้จริงจังลงไป แล้วผลมันจะเกิดขึ้นเอง แต่ที่เราปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้นเพราะเราไม่สามารถที่จะตัดความกังวล สงสัยในระเบียบวิธีการที่ปฏิบัตินั้นๆ วันนี้มาหาหลวงพ่อที่วัดนี้ หลวงพ่อแสดงว่าให้ภาวนาพุทโธ แต่ถ้าพรุ่งนี้ไปฟังเทศน์วัดมหาธาตุ อาจารย์ใหม่วิปัสสนาท่านอาจจะสอนให้ภาวนาว่า ยุบหนอ พองหนอ วันหลังไปวัดปากน้ำหลวงพ่อวัดปากน้ำอาจจะสอนให้ท่อง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง แล้วเราก็จะเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะทำไมพระสอนไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้ใจของเรามันก็ลังเล เมื่อลังเลลงไปแล้ว เราก็ไม่อาจจะจับอะไรมาเป็นข้อปฏิบัติอย่างจริงจัง นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ ฉะนั้นมีทางเดียวอยู่ตรงที่ว่าท่านจะปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ขอให้ท่านตั้งใจให้มั่นคงลงไปว่า เราจะเอาแบบนี่แหละเป็นเครื่องปฏิบัติแต่ว่าคำบริกรรมภาวนาทุกอย่างนั้น เป็นแต่อุบายที่จะฝึกหัดจิตให้มันติดอยู่กับคำบริกรรมภาวนาอยู่เท่านั้น เป็นอุบายที่จะให้ทราบความรู้สึกนึกคิดที่จะส่งกระแสจิตฟุ้งซ่านออกไปตามอารมณ์ แล้วให้มารวมอยู่กับคำบริกรรมภาวนาเพียงคำเดียวเป็นเบื้องต้น จุดมุ่งหมายมีอยู่เพียงแค่นี้

แบบวิธีการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้สอนกัมมัฏฐาน ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน
๑ สอนให้บริกรรมภาวนาพุทโธ
๒ สอนให้พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน
๓ สอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 25 ก.ย. 2008, 7:55 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 11:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โอ้โฮ ไม่คิดว่าเนื้อหาจะยาวมากขนาดนี้ เหมือนอ่านหนังสือเป็นเล่มเลยนะ ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.ย. 2008, 7:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องของธรรมะนี้เราก็ได้ยินจนชินหู และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ และความจริงเรื่องของธรรมนั้น เป็นธรรมอมตะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ท่านอาจารย์มั่นท่านเคยเตือนว่า ธรรมหรือสัจจธรรมที่สิงสถิตย์อยู่ในสันดานของปุถุชน เป็นสัจจธรรมที่ปฏิรูป คือธรรมปลอม แต่สัจจธรรมที่สิงสถิตย์อยู่ในพระอริยสงฆ์ เป็นสัจจธรรมอติรูป หรือธรรมอันยิ่ง ธรรมที่ถูกต้อง ธรรมเที่ยงแท้แน่นอน เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรม ว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้น มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเท่านั้นเอง ความจริงธรรมะเป็นของกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ในเมื่อมาสิงสถิตย์อยู่ในสันดานของคน คนเรามันมีสันดานดีกับสันดานชั่ว คนที่มีสันดานชั่วก็ปฏิรูป ปฏิวัติธรรมะไปเป็นของไม่ดี เป็นของชั่ว แต่ถ้าผู้เป็นอริยะ มีสันดานอริยบุคคลก็ย่อมปฏิวัติธรรมไปเป็นธรรมอติรูปคือ ธรรมอันยิ่ง เช่นอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีจิตใจอันบริสุทธิ์สะอาด โดยความเที่ยงธรรม เพราะฉะนั้นในวงศ์ของพระอริยะ จึงมีแต่ความเที่ยงธรรม และความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมจะไม่มีในวงศ์ของอริยบุคคล ของพระอริยบุคคล เพราะอาศัยคนเราที่เกิดมาในโลกนี้ พระพุทธเจ้ารับรองว่า บูญทำ กรรมแต่ง จึงเรียกว่ารูปธรรม นามธรรม รูปธรรม นามธรรมนี้อาศัยกฎของกรรม เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีกฎของกรรมบันดาลให้เกิดมาเป็นมนุษย์

เมื่อเราได้ชีวิตมาเป็นมนุษย์นั้นแหละจะบันดาลให้เราได้เป็นไปต่างๆ คือเรามีนิสัยใจคอต่างกัน มีรูปพรรณสันฐานต่างกัน มีความยาก ความจน มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน นอกจากจะอาศัยการกระทำคือความประพฤติเป็นมูลเหตุ ยังต้องอาศัยกรรมเก่าเข้าสนับสนุน ผู้ที่มีกรรมดีสนับสนุน วิถีชีวิตก็ดำเนินไปในทางที่สะดวก ผู้ที่ไม่มีกรรมดีสนับสนุน วิถีชีวิตก็ดำเนินไปอย่างขัดๆ ข้องๆ ผู้ที่มีวิชาความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน แต่การทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ หรือการขึ้นเงินเดือนก็ไม่เสมอกัน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพิจารณาอยู่เสมอว่า เรามีกรรมเป็นของๆ ตัว ตัวเรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราที่ทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ก็จะได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน นี่เป็นพุทธภาษิตที่ยืนยันเอาไว้

ภายในตัวมนุษย์เรานี้ เพราะมนุษย์อาศัยกรรมเป็นเครื่องปรุงแต่ง เป็นสิ่งบันดาลให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ เราจึงมีอุปนิสัยใจคอต่างๆ กัน ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องในอดีต บางท่านอาจจะคิดว่า นั่นเป็นเรื่องที่เรามองไม่เห็น เช่นพระพุทธเจ้าท่านว่า "การทำชั่วก็ได้รับผลชั่ว แล้วก็ไปเกิดในที่ไม่ดี" อะไรทำนองนี้ ถ้าเราไม่เชื่อความจริงเรามักจะขัดแย้งว่า คนที่ตายไปแล้วไม่เห็นมีใครมาบอก จะไปอยู่ในนรก หรืออยู่ในสวรรค์อะไรทำนองนี้ ก็ไม่เห็นมีใครมาบอก บางทีก็เข้าใจว่า ตำรับตำราที่เขียนเอาไว้นั้น เป็นเรื่องที่นักปราชญ์บัณฑิตแต่งขึ้นเพื่อข่มขู่หรือหลอกลวงประชาชนเท่านั้น เราอาจจะเข้าใจอย่างนั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งใดที่มีหลักฐาน พูดไว้ในตำรับตำรา หรือมีคำพูดที่เขากล่าวขวัญถึงกัน สิ่งนั้นย่อมมีจริง เช่นอย่างนรก สรรค์ นิพพาน เป็นต้น สิ่งที่ฝรั่งมันเคยหัวเราะคนไทยเรา ในฐานะที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนานั้นมีนิยายและนิทานต่างๆ ประกอบการสอนธรรมะ และมีอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพระโมคคัลลานะเป็นพระเถระอรหันต์ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ในตำรากล่าวไว้อย่างนั้น ในตำราบางแห่งก็กล่าวว่า พระโมคคัลลาน์ผู้มีฤทธิ์ ท่านได้อธิษฐานจิตขึ้นไปบนดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ในเมื่อฝรั่งฟังแล้วเขาจะหัวเราะ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่มาในปัจจุบันนี้ โลกทั้งโลกเขายอมรับ ฝรั่งสามารถสร้างจรวดขับขี่ไปยังดวงจันทร์ แล้วก็ไปลงบนดวงจันทร์ แล้วก็เอาดิน เอาทรายมาให้คนดูได้ ตกลงว่าฝรั่งในปัจจุบันเก่งกว่าพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลาน์เหาะไปเพียงแต่เอามือคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เท่านั้น ไม่ได้ขึ้นไปนั่งบนดวงจันทร์ หรือเดินบนดวงจันทร์เหมือนอย่างพวกฝรั่งเพราะตำราไม่ได้กล่าว กล่าวแต่เพียงว่าเหาะไปคลำดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่มาในปัจจุบันนี้ฝรั่งเขาก็ยอมรับแล้วว่า ท่านพระโมคัลลาน์มีความสามารถจริง เพราะพวกเขาเองก็สามารถไปลงที่ดวงจันทร์ได้แล้ว อันนี้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในฐานะที่ท่านทั้งหลายก็เป็นปัญญาชน เมื่อท่านได้ยินได้ฟังอะไรแล้ว ขอได้โปรดพิจารณาด้วยปัญญา อย่าพึ่งรับรอง ถ้าเมื่อเหตุผลของท่านยังไม่แจ่มแจ้ง ก็รับฟังเอาไว้ ยังไม่ควรจะรับรองหรือปฏิเสธ ต่อเมื่อสิ่งนั้นๆ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองแล้วจึงยอมรับ อันนี้เป็นหลักการของพระพุทธเจ้า
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 27 ก.ย. 2008, 1:45 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 27 ก.ย. 2008, 1:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระตถาคตเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอก อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเอาไว้ เมื่อทุกสิ่งเป็นอย่างนั้น และท่านพระพุทธเจ้าท่านอาจจะเทศน์ว่า สวรรค์มีอยู่ตรงนั้น นรกมีอยู่ตรงนี้ และผลสุดท้าย ท่านก็ให้นำไปคิดเอาเองว่า สรรค์ นรกมีหรือไม่ อย่างปัญหาในปัจจุบันนี้ คนเรามักจะถกเถียงกันว่า ผีมี ผีไม่มี สวรรค์มี หรือไม่มีอะไรทำนองนี้ เราก็เถียงกันไปตามตำรับตำราที่ท่านได้เขียนเอาไว้ แต่แล้วก็ยังไม่มีใครรู้จริงเห็นจริงถึงท่านที่รู้จริงหรือเห็นจริง ท่านก็ปิดเงียบเพราะท่านถือว่าเป็นอุตริมนุสสธรรม เป็นธรรมอันยิ่งของมนุษย์ เอาออกมาอวดไม่ได้ ท่านว่าอย่างนั้น

หลักที่เราควรพิจารณาตนเองในปัจจุบัน ขอยกขึ้นว่า ธรรมะคือความจริงของชีวิตและธรรมะคือกายกับใจของเราเอง เราจะมาพิสูจน์ตัวของเราเอง ในวันหนึ่งๆ ชั่วโมงหนึ่งๆ นาทีหนึ่งๆ คนเรานี้สามารถที่จะเป็นได้ทุกอย่าง เมื่อเป็นทางจิตใจ กายของเราเป็นมนุษย์หน้าตาเหมือนมนุษย์ ไม่มีใครปฏิเสธว่า เราไม่เป็นมนุษย์ เพราะลักษณะ หน้าตา รูปร่างอย่างนี้เขาเรียกกันว่า มนุษย์ มนุษย์ที่เรารับรองกันว่าเป็นมนุษย์ที่แท้จริงนี่แหละ เรามีทางพิสูจน์จิตใจยองเราเองว่ามีทางจะเป็นไปได้หลายๆ อย่างในนาทีหนึ่งๆ หลักพิสูจน์ของท่านพระพุทธเจ้าท่านวางหลักเอาไว้ว่า

๑. มนุสฺสมนุสฺโส ตัวเป็นมนุษย์ จิตใจเป็นมนุษย์
๒. มนุสฺสเทโว ตัวเป็นมนุษย์ จิตใจเป็นเทวดา
๓. มนุสฺสติรจฺฉาโน ตัวเป็นมนุษย์ จิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน
๔. มนุสฺสเปโต ตัวเป็นมนุษย์ จิตใจเป็นเปรต

มนุษย์ต้องเป็นผู้มีศีล มีเมตตา มีพรหมวิหาร มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มองเห็นความสุข ความทุกข์ของผู้อื่นมีความสำคัญ เท่าๆ กับตัวของตัวเอง ขณะใดที่จิตใจของเราเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นมนุษย์สมบูรณ์ ร่างกายก็เป็นมนุษย์ จิตใจก็เป็นมนุษย์ และขณะใดที่เรามี หิริ - ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ - ความเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำบาปทั้งที่ลับและที่แจ้ง แม้ในสถานที่ๆ บุคคลเขาไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่ทำบาปทำชั่วลงไป ในขณะนั้นร่างกายของเราเป็นมนุษย์แต่จิตใจของเราเป็นเทวดา ขณะใดที่จิตใจของเรามีจิตใจโหดเหี้ยม ทำอะไรลงไปโดยไม่คำนึงถึงกฏหมายและศีลธรรม มีการฆ่า การเบียดเบียน การข่มขู่ หรือบางทีอาจไม่มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ บกพร่องต่อหน้าที่ ขณะนั้นจิตของเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน กายของเราเป็นมนุษย์ ขณะใดที่จิตใจของเราขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้เบื่อหน่าย โดยเฉพาะเบื่อหน่ายต่อชีวิตของตนเอง ไม่คิดที่จะทำประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น ปล่อยให้เวลาเลื่อนไปโดยเปล่าประโยชน์ ในขณะนั้นร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นเปรต เปรตแปลว่า ผู้ละจากประโยชน์ทั้งปวง

หากเราได้พิจารณาตนเองแล้ว เราจะพบว่า สาเหตุต่างๆ ทั้ง ๔ อย่างดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าจึงกำหนดให้มนุษย์เราอบรมจิตใจ ให้มีความมั่นใจในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์

(มีต่อ)
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง