Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สังคมยุคธรรมะติดปีก “ไฮโซ” เปิดบ้าน ปั้นธุรกิจข้ามชาติ ! อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2005, 12:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สังคมยุคธรรมะติดปีก
“ไฮโซ” เปิดบ้าน ปั้นธุรกิจข้ามชาติ !


เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย !
คนทุกชนชั้นกำลังวิ่งไขว่คว้าหา “ธรรมะ”

บรรดาองค์กรรัฐและเอกชน
ต้องใช้ธรรมะกับการงานจึงจะสัมฤทธิ์ผล
ส่วน “ไฮโซ” ล้วนอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สฤงคาร
ยอมเปิดบ้านเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม

เขาเชื่อว่าการรวมพลังถือเป็นการร่วมกันทำธุรกิจข้ามชาติ
ที่จะส่งผลให้ชีวิตดีขึ้นและหลุดพ้นจากวัฏฏสงสารได้


ไปวัดกันไหม ?

อาจจะเป็นถ้อยคำที่แปลกสักหน่อย สำหรับใครบางคนที่ไม่เคยพาตัวเองเข้าวัดเข้าวา ในทางกลับกันสำหรับใครก็ตามที่สนใจในธรรมะ การไปวัดอาจนับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ถูกจัดไว้เป็นอันดับแรกต้นๆ ในการเข้าถึงหลักธรรม คำสอนของพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนหน้านี้กระแสธารแห่งธรรมอาจมีไว้เพื่อเยียวยา ให้ความสงบเย็น สำหรับผู้ใดก็ตามที่ทุรนทุรายกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียกว่า “ความทุกข์” คนเหล่านั้นต่างพยายามดิ้นรน และเสาะหาหนทางในการปลดเปลื้องความทุกข์หลากรูปแบบ ด้วยแรงแห่งความหวังและแรงศรัทธาว่าวันหนึ่งจะพบทางออกพ้นจากบ่วงทุกข์ทั้งปวง หากจะเปรียบไปแล้วกลุ่มคนที่แบกทุกข์และแวะเวียนเข้ามาสัมผัสรสแห่งธรรมะเช่นนี้ เหมือนกับต้องการหาที่พักพิงเพียงชั่วคราว เมื่อสามารถสกัดและสลัดทุกข์ออกไปได้ หัวใจกลับมาพองฟูเหมือนเคย ก็อาจกระโจนกลับไปสู่วังวนเดิมที่เคยก่อให้เกิดทุกข์มาแล้ว

หากจะถามว่าคนเหล่านี้ไม่เข็ดหลาบกับ ภาวะแห่งทุกข์ที่ตนเองเคยทุรนทุรายและพยายามดิ้นหนีอย่างนั้นหรือ ? ก็คงไม่ใช่ แต่อาจเป็นเพราะเขาเหล่านั้นเพียงแต่ไปหาร่มเงาหลบร้อนเท่านั้น หากแต่ไม่ได้สร้างเกราะคุ้มกันอย่างถาวรให้แก่ตนเองอย่างแท้จริง...!

95 % ทุกข์ท่วมใจ วิ่งหาธรรม

อย่างไรก็ตามความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เนื่องจากกระแสแห่งธรรม ที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนว่า มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาสู่ธารแห่งธรรมเพราะความทุกข์ หรือสิ้นไร้หนทางแล้วเท่านั้น แต่การเข้ามาสนใจในพระศาสนาเกิดจากต้องการที่จะศึกษาและเรียนรู้หลักแห่งธรรมะให้ถ่องแท้ ไม่ใช่เพื่อดับทุกข์เพียงชั่ววูบแล้วจบลงเพียงเท่านั้น และเมื่อค้นหา “เป้าหมาย” ต่อไปจะพบว่าเขาเหล่านั้นหวังที่จะพบทางไปสู่ “นิพพาน” ในชาติภพข้างหน้า

“คนส่วนใหญ่เข้าไปสู่ธรรมเพราะเกิดทุกข์ กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีบารมีธรรมของเขาเอง แต่ต้องการพบสัจจะธรรมของชีวิต จากนั้นก็จะไปหาแนวทางที่จะแก่นสารของชีวิต เขาก็ไปต่อของเขา เริ่มศึกษาหาความรู้

แต่คนโดยส่วนใหญ่ขาดที่พึ่งจึงหันหาธรรมะ จิตใจขาดที่พึ่ง ทั้งส่วนที่ได้ยินจากคนอื่นเล่า เขาก็ไป พอไปแล้วประสบด้วยตัวเอง ว่าครูบาอาจารย์คนไหนดีอย่างไร ก็ไปหา หรือบางคนมีศรัทธาส่วนตัวก็จะไปตรงนั้นก่อน

สำหรับคนที่มีบารมีธรรม หมายถึงคนที่เคยทำสิ่งเหล่านี้มาแล้วตั้งแต่อดีต สิ่งที่ติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ ก็มีแต่บุญกับบาปเท่านั้น และการศึกษาของเรา และปัญญาจะตามเราไป ส่วนทรัพย์สมบัติไม่ได้ตามเราไป แต่บุญบารมีไปกับเรา คนที่มีมาแล้วพอได้ฟังธรรมะเขาก็จะรู้สึกคุ้นเคย ว่าเหมือนเคยได้ฟังมาแล้ว และอยากเข้าไปศึกษา อย่างนี้ถือว่ามีบุญบารมีอยู่ก่อนแล้ว”

นุสรา พินิจสารภิรมย์ หนึ่งในกลุ่มไฮโซ ที่หันมาปฏิบัติธรรม กว่า 10 ปี ได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์การไหลบ่าของกลุ่มไฮโซสู่เส้นทางแห่งธรรม

เปิดบ้านหรู จับกลุ่มปฏิบัติธรรม

จากเดิมที่หวังใช้ธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ ที่บำบัดทุกข์ชั่วคราว แต่เมื่อคนเหล่านั้นได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ก็หวังที่จะพบทางที่ดับทุกข์อันจีรัง จึงมุ่งศึกษาเพื่อที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมและค้นหาสัจจะของชีวิต ด้วยการปฏิบัติธรรมตามแนวทางต่างๆ ตามความรู้ และความต้องการของตนเอง ซึ่งไฮโซบางกลุ่มอาจจะเลือกปฏิบัติธรรมตามแนวทางของครูอาจารย์สายต่างๆ อาทิ แนวทางของหลวงพ่อจรัญ จะสอนให้ดูการยุบพอง สายพระอาจารย์แนบ และอาจารย์บุญมี เน้นให้เพ่งที่รูปและนาม ขณะที่แม่ชีศันศนีย์ เสถียรสุต เน้นที่กลุ่มผู้หญิงและเด็ก

“ทุกคนที่ปฏิบัติธรรม คือมุ่งสู่นิพพาน เพราะเป็นทางที่ดีที่สุด แต่ต้องทำทางตรงนี้ แล้วมาดูว่าเขาทำทางกันอย่างไร พอเราได้รับความสุขจากการปฏิบัติธรรม เราก็อยากศึกษาต่อว่าแล้วมันอย่างไร ผลของอกุศลเป็นอย่างไร และผลของกุศลเป็นอย่างไร เราถึงจะไปถึงตรงนั้น เราสร้างทางที่จะไปนิพพานแล้วหรือยัง”

การศึกษาและปฏิบัติตนเพื่อถางทางไปสู่นิพพานของคนกลุ่มต่างๆ นั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามพื้นฐานความรู้ ตลอดจนเงื่อนไขการดำรงชีวิตของแต่ละคน โดยกลุ่มคนชรา คนทั่วไป อาจเลือกศึกษาธรรมะตามวัดต่างๆ ส่วนกลุ่มคนที่มีการศึกษาและมีความพร้อมในระดับหนึ่ง จะมุ่งหน้าศึกษาธรรม อย่างจริงจังเพื่อค้นหาสัจจะธรรม คนในวัยทำงาน มีเวลาน้อย จะเลือกมุ่งสู่การปฏิบัติ โดยที่จะศึกษาพระปริยัติควบคู่กันไป ส่วนกลุ่มข้าราชการ ก็นิยมมุ่งหาเกจิอาจารย์สายต่างๆ ตามที่ตนเองศรัทธา

ปัจจุบันมีคนระดับสูง หรือไฮโซ จำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง บ้างได้รับการชักชวนจากเพื่อนฝูงใกล้ตัว ให้ไปปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาจิตร ยุวบูรณ์ เจ้าของสวนสามพราน, แพทริเซีย มาลีนนท์, ช่อพิภพ โอสถานุเคราะห์, เกยูร อัสสกุล, นฤมล มังกรพานิช, ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ, รัตนา ศิริจิตร เจ้าของห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยน มอลล์, บัณพร เอี่ยมอมรพันธุ์ เจ้าของร้านเพชรหรู “แฟรงค์ จิวเวลลี่ “ รวมทั้ง ดวงตา ตุงคมณี ดาราชื่อดัง และกิติมา คุณะเกษม

คนกลุ่มนี้มักนิยมไปรวมกลุ่มปฏิบัติธรรม ตามบ้านที่เปิดเป็นสถานปฏิบัติธรรมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น บ้านคุณหญิงวิจันทรา บุนนาค เปิดบ้านพักซอยสวนหลวง 20 สอนพระปริยัติและปฏิบัติ ทุกวันพฤหัสบดี

สุธัญญา บุญสูง ถือเป็นไฮโซตระกูลดังอีกคนหนึ่ง ที่ปฏิบัติธรรมมานานเกือบ 10 ปี เปิดโอกาสให้เพื่อนพ้องมารวมกลุ่มกันที่ “บ้านคล้ายจันทร์” ซอยสุขุมวิท-เอกมัย ทุกบ่ายวันพุธ หลังจากที่ไปเรียนอภิธรรมที่วัดมหาธาตุฯ มากว่า 7 ปี และยังมีสถานปฏิบัติธรรมของ น.อ.ดร.น.พ.ปิโยรส ปรียาธร อุทิศเนื้อที่ 10 ไร่เพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม “วัชระธรรมสถาน”


>>>>> มีต่อ หน้า ๒
 
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2005, 12:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ระดมอาจารย์ชื่อดัง ชี้ทางสว่าง

การศึกษาธรรมตลอดจนการปฏิบัติตามบ้านพักส่วนตัวของกลุ่มไฮโซ นั้นหลายคนที่เข้าไปสัมผัสยืนยันว่าสามารถเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้ในแต่ละบ้านจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้อย่างครบครัน ผู้เรียนไม่ต้องฝ่ารถติดเข้าไปนั่งร้อนอุดอู้ตามสถานปฏิบัติธรรมอื่นๆ และไม่จำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการแต่งกายตรงนั้นทุกอย่างสบายหมด มีทั้งห้องแอร์ อาหารอย่างดี และเจริญสติอย่างเดียว แต่ถ้าไปที่อื่นก็ต้องทนกับอากาศร้อน ปฏิบัติธรรมร่วมกับคนอื่น

“ก็ยอมรับว่าทุกคนยังมีกิเลสอยู่ เราไม่ได้บอกว่าไฮโซมีกิเลส แล้วคนธรรมดาไม่มี ก็ไม่ใช่ ปุถุชนมีด้วยกันทั้งนั้น ซีงกลุ่มไฮโซที่ไปรวมกลุ่มแล้วปฏิบัติธรรมด้วยกันนั้น เพราะเขาเชื่อในบุญกุศล เห็นแล้วว่าสิ่งนั้นดี พอเขาไปเรียนแล้วก็เข้าใจว่าวิธีละอกุศล ซึ่งการสอนที่บ้านของแต่ละคนนั้นก็จะมีทั้งการสอนทั้งปริยัติและปฏิบัติด้วย เพราะการเรียนปริยัติอย่างเดียว ไม่ได้ประโยชน์แค่รู้อย่างเดียว แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่เข้าใจ”

สำหรับแนวทางการเรียนการสอนของคนกลุ่มนี้ จะทั้งภาคทฤษฎีเพื่อปูพื้นความรู้หลักธรรม เพื่อเตรียมนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัตินั้น จะมีพระอาจารย์และผู้มีความรู้ในเรื่องธรรมอย่างถ่องแท้ให้การชี้แนะ ซึ่งจะมาจากพระอาจารย์จากโรงเรียนอภิธรรมโชติกวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ วัดสามพระยา วัดเบญจมบพิตร , ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้นำธรรมกับการบริหารองค์กร มาประยุกต์ได้อย่างลงตัว (อ่าน “บริหารแบบพุทธ สร้างองค์กรอมตะ !”) และอาจารย์พรชัย เจริญดำรงเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเผยแพร่สัทธรรม

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้พบว่าคนที่มีความพร้อมทั้งหน้าที่ การงาน และทรัพย์สมบัติเข้าสู่อภิธรรมมากขึ้น คนกลุ่มนี้รู้ว่าทรัพย์ที่หามาได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดสุขที่แท้จริง จึงมุ่งเสาะหาหนทางที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า มากกว่าที่เคยมี ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่ามีพลังมากเนื่องจากมีความพร้อมที่จะศึกษา จนเกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกทาง”

พรชัย เจริญดำรงเกียรติ กล่าวถึงมูลเหตุแห่งการศึกษาธรรมต่อ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” พร้อมทั้งอธิบายว่าการให้ความรู้และชี้แนะแก่กลุ่มคนที่มีความรู้ และความพร้อมอยู่แล้วนั้น ในเบื้องแรกอาจสอนหลักธรรมสอดแทรกไประหว่างการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้ว่า ก่อนและหลังเข้าสู่เส้นทางแห่งธรรมะนั้นสามารถสร้างจิตให้เกิด “กุศล”ได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้าง “ความเจริญของจิต”ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สั่งสมบุญ ปูทาง “ธุรกิจข้ามชาติ”

“ธรรมะสอนให้เรียนรู้สัจจะธรรมของชีวิต สอนให้มองเห็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต ทุกคนจะเข้าใจว่าผลที่เกิดในวันนี้ มาจากเหตุในอดีต และเมื่อปัจจุบันทำอย่างไรไว้ ก็จะส่งผลต่อไปยังอนาคต ซึ่งหมายถึงชาติภพหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงนิพพานได้ เพียงแต่ต้องหาทางเดินที่ถูกต้อง ซึ่งการเรียนทางทฤษฎี จะสอนพระไตรปิฎก สอนถึงสภาวะธรรม รูปธรรมนามธรรม ในเชิงเหตุผล ในจุดนี้ไม่ใช่เรื่องของการโน้มน้าว แต่ทุกอย่างสามารถสอดคล้องโดยสภาวะแห่งธรรม”

ส่วนการปฏิบัตินั้นจะเน้นให้รู้จักการ “เจริญสติปัฏฐาน” รู้จักและควบคุมสติให้รู้ตัวตลอดทุกอิริยาบถ เมื่อสามารถรับรู้สติให้อยู่กับกายได้แล้ว ในขั้นต่อไปคือการเรียนรู้ที่จะสร้างจิต อันเป็นกุศล เรียนรู้การพัฒนาจิต ลดอกุศล

การมุ่งสู่นิพพานของผู้ปฏิบัติธรรม นั้นแม้หลายคนเข้าใจดีว่าต้องอาศัยการสร้างและสั่งสมจิตที่เป็นกุศล ตลอดจนการเจริญศีล สมาธิและปัญญา อย่างต่อเนื่องเพื่อชาติภพหน้านั้น พวกเขาเหล่านั้นต่างยินดีที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป

กลุ่มผู้ที่ปฏิบัติธรรมที่โรงเรียนอภิธรรมโชติกวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ได้ให้ความเห็นร่วมกับ สุธัญญา บุญสูง และเกยูร อัสสกุล ว่าการเข้ามาเรียนอภิธรรมก็เป็นการมาร่วมทำ “ธุรกิจข้ามชาติ” ก็คือการมาลงทุนทำความดีทั้งกายและใจร่วมกัน

“เมื่อพวกเราปฏิบัติธรรม เราจึงรู้ว่าการมีปัจจุบันภพ ก็เพราะมีอดีตภพ และเราก็เชื่อว่าต้องภพหน้า และถ้าทำทำดีทั้งกายและใจ เราก็จะมีแต่ดี คือเกิดเป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์ หากปฏิบัติธรรมมากๆ ก็จะได้ขั้นที่สูงกว่าเกิดเป็นเทวดา พรหม จนไปถึงนิพพาน แต่ถ้าเราทำแต่อกุศล เราจะตกไปอยู่ชั้นที่ต่ำกว่ามนุษย์ คือเปรต เดรัจฉานและนรกภูมิ“

ดังนั้นการมาทำ “ธุรกิจข้ามชาติ” ก็คือการมาสร้างคุณความดีในภพปัจจุบันย่อมไม่ใช่การ สูญเปล่าอย่างแน่นอน พวกเขาต่างพอใจและเชื่อมั่นในการสั่งสมกุศลด้วยความหวังว่า ชาติภพข้างหน้าจะพบหนทาง “พ้นทุกข์” อย่างยั่งยืน

“เมื่อก่อนพวกเรามาศึกษาธรรมเพื่อหวังสร้างปัญญา เพื่อที่จะได้มีความรู้และเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง จนไปถึงหนทางแห่งนิพพานในที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องเร่งลงมือสร้างกุศลให้เกิดขึ้นตลอดเวลา และไม่สร้างกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นอีก จะว่าไปแล้วก็เหมือนเป็นการทำธุรกิจในชาตินี้เพื่อที่จะได้รับผลในชาติหน้าต่อไป” สุธัญญา บุญสูง กล่าว

หนทางแห่งธรรมนั้น ไม่ใช่เส้นทางใหม่ หรือจำกัดไว้เพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่ทางเส้นนี้มีไว้สำหรับทุกคนที่ต้องการสร้างปัญญา สร้างความสุขที่แท้จริง โดยที่สามารถเห็นผลลัพธ์จากการปฏิบัติได้ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเชื่อได้ว่าในอนาคตมีสิ่งที่เป็นกุศลรออยู่ ในทางกลับกันหาก ทุกนาทีเราปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็น “อกุศล”ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็สามารถรับในทันที หรือที่พูดกันว่า “กรรมทันตาเห็น” โดยที่ไม่ต้องรอไปเวียนว่ายในนรกภูมิตามหลักคำสอนของศาสนา แต่อย่างใด

ณ โอกาสวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวพุทธทั้งหลาย ที่ห่างไกลพุทธศาสนา หากจะยึดวันนี้เป็นวันเริ่มต้นปฏิบัติธรรมเพื่อสะสมบารมีธรรมให้กับตนเองย่อมทำได้....สาธุ !


>>>>> มีต่อ หน้า ๓
 
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2005, 12:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

องค์กรใหม่สไตล์พุทธ

หากมองพุทธศาสนาเป็นองค์กร ก็จะเป็นองค์กรที่อยู่ยั่งยืนมากว่า 2,500 ปี โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นซีอีโอเอกของโลก และมีเป้าหมายชัดเจนที่สุด คือให้ออกจากวัฏสังสาร ด้วยกลยุทธ์ และแนวการปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน สามารถจับต้อง และวัดผลได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแทบไม่แตกต่างกับองค์กรธุรกิจสมัยนี้ที่มีการกำหนดเป้าหมาย ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

“บางคนอาจบอกว่าศาสนากับธุรกิจมันคนละเรื่องไม่ใช่หรือ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน” ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”

ทว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างความเป็นองค์กรพุทธกับองค์กรธุรกิจก็คือ การวัดผลความสำเร็จขององค์กรจะวัดจากสิ่งที่จับต้องได้ คือ ตัวเลขผลกำไร ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเท่าไร ความมั่นคงผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร ซึ่งล้วนแต่เป็นรูปธรรมเพียงอย่างเดียว หากเป็นวิสัยทัศน์เชิงพุทธ จะต้องมีองค์ประกอบทั้งรูปธรรม และนามธรรมครบถ้วนบริบูรณ์ อันจะเป็นแนวทางที่จะทำให้องค์กรยั่งยืน และมีสมรรถนะเหนือกว่า

องค์กรสมัยใหม่ ใส่ใจจิตมากกว่ากาย

“วันนี้ (12 พ.ค. 2548) จะไปบรรยายที่ กรต. และองค์กรสมัยใหม่หลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นลอรีอัลที่เพิ่งไปบรรยายเมื่อต้นปี ก็มีฝรั่งที่เป็นบิ๊กบอสชาวเยอรมันกับฝรั่งเศสเข้ามานั่งฟัง เพราะเขาสนใจว่าจะนำแนวความคิดแบบพุทธเข้ามาบริหารองค์กรอย่างไร เอาเฉพาะในประเทศไทยตอนนี้ทุกองค์กรตื่นตัวมาก และอาทิตย์หน้าจะมีบรรยายให้กลุ่มเอ็มโพเรี่ยมรอบละ 500 คนฟัง” ดนัย เล่าให้ฟัง

เหตุผลประการสำคัญที่หลายองค์กรเริ่มนำหลักพุทธเข้าไปใช้มากขึ้นก็คือ ความเริ่มตระหนักแล้วว่าสินทรัพย์ขององค์กรที่สำคัญจริงๆ หาใช่ตัวเลขผลกำไรที่สวยหรู ออฟฟิศหรูหรา หรือคอมพิวเตอร์สุดยอดไฮเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ แต่คือ “คน” ที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ซึ่งหากหัวใจขององค์กรไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ องค์กรก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือไปแข่งขันกับใครได้

“ซอฟต์แวร์ขององค์กรคือคน แล้วซอฟต์แวร์ของคนก็คือใจ นั่นคือเราพูดในเรื่องนามธรรม และนามธรรมในเรื่องพุทธให้ความสำคัญสูงมาก เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม ฐานทั้ง 3 คือ เวทนา จิต ธรรม เป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องหันกลับเข้ามาพัฒนาดูแลตนเอง

ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของคน ถ้าคนเข้ามาในองค์กรมีแต่กายเข้ามา ไม่มีใจมาด้วยก็ทำงานไม่ได้ บางครั้งเอากายเอาใจมาแต่สติปัญญาไม่มี ก็ไม่มีทักษะพอที่จะทำงานได้อีก หรือมีกายใจและสติปัญญา แต่ขัดกับหลักการหรือคุณธรรมประจำใจของพนักงานนั้นๆ ถามว่าเขาจะทำได้หรือไม่”

ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่องค์กรจะให้ความสำคัญกับจิตใจของพนักงานมากกว่า ด้วยการเข้าไปพิจารณาในแต่ละส่วนว่า จิตใจของเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความสุขหรือทุกข์ตรงไหน เป็นการมองด้วยความรู้สึกที่เข้าใจ และเห็นใจในความเป็นคน เข้าใจในผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานจะลดลงไป

อุปนิสัยที่ 8 พุทธแบบฝรั่ง

ในหนังสือ The 8th Habit : From Effectiveness to Greatness ที่เขียนโดย Stephen R. Covey บุคคลที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ว่าเป็น 1 ใน 25 บุคคลที่ทรงอิทธิพลในรอบ 100 ปี อันเนื่องมาจากมีความคิดที่เฉียบคมถึงขนาดที่ช็อกสังคมอเมริกัน ก็เป็นผู้หนึ่งที่หยิบหลักธรรมของพระพุทธองค์บางส่วนมานำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ซึ่ง Covey เองก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า สิ่งที่เขานำเสนอไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว เพียงแต่เขาเป็นคนนำเสนอต่างหาก

หลายคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว กล่าวตรงกันว่าเป็นหนังสือธรรมะของพุทธเล่มหนึ่ง เพียงแต่เป็นหนังสือพุทธที่เขียนตามความเข้าใจของฝรั่งเท่านั้น

ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง คือ คนทุกคนเกิดมามีศักยภาพเท่ากัน บางคนมีความรู้ความสามารถพอเพียงกัน แล้วอะไรที่ทำให้บางคนจึงกลายมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลก หรือในสังคมนั้นๆ ขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เกิดมาอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เรื่องนี้ Covey อธิบายไว้ว่า คนที่จะก้าวมาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น คือคนที่เปิดกล่องของขวัญทั้ง 3 ชิ้นเจอ

ของขวัญที่ว่านี้ ได้แก่

1. มนุษย์มีอิสรภาพในการเลือกทำหรือไม่ทำอะไร การตัดสินใจในการเลือกเดินทางไหน หรือทำอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือสภาพแวดล้อม แต่เราเป็นผู้กำหนดการกระทำ หรือกรรมของเราเอง กรรมเป็นผู้สร้างและเราเป็นผู้รับผลของกรรม

2. ในทุกชาติ ศาสนา ภาษา จะมีสิ่งที่เป็นสัจธรรมเหมือนกันหมด ความดีคือความดี ความชั่วคือความชั่ว เหล่านี้คือสัจธรรมที่เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งเหนือกาลเวลา (อกาลิโก) เป็นเรื่องปรากฏชัดในตนเอง รู้ได้ด้วยตนเอง (ปัจจตัง) รู้ได้โดยสามัญสำนึกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ซึ่งคุณธรรมหรือหลักการเหล่านี้ถ้าใครเข้าใจชัดเจนจะเป็นแรงส่งผลักดันให้คน หรือองค์กรนั้นๆ ก้าวเดินไปในหลักการที่ถูกต้อง สามารถทนต่อความเย้ายวนเฉพาะหน้า ที่อาจนำมาซึ่งการปิดบังข้อมูล ความไม่ถูกต้อง หรือคอรัปชั่น

3. การที่คนๆ หนึ่งจะสามารถดึงศักยภาพอันเต็มเปี่ยมที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เกิดมาใช้ได้นั้น จะต้องมีความฉลาด 4 ประการ คือ Body Heart Mind และ Spirit ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบที่ Covey กล่าวถึงนี้คือหลักสติปัฏฐาน 4 ที่ว่าด้วยเรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรมนั่นเอง

ในหนังสืออุปนิสัยที่ 8 ยังได้นำเรื่อง “มัชฉิมปฏิปทามา” กล่าวไว้เป็นบทๆ หนึ่งเพื่อเป็นทางเลือกที่สาม เป็นทางเลือกที่ไม่มีอัตตา ตัวตน ไม่มีคำว่าตัวเราของเรา เมื่อปราศจากคำว่าตัวเราของเราก็จะทำให้คนๆ นั้นเกิดปัญญาที่จะเห็นทางเลือกที่ฉลาดที่สุด ที่เหนือกว่าทางเลือกอื่นใด เพราะไม่มีอัตตาเข้าไปปรุงแต่งการตัดสินใจนั้นๆ

อีกสิ่งน่าสนใจที่ Covey เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ก็คือ เมื่อผ่านยุค Knowledge Base Society ไปแล้ว ยุคต่อไปก็คือ ยุคแห่งปัญญา และคนที่จะอยู่รอดในยุคนี้จะต้องต้องเป็นคนที่มีปัญญา Covey จึงแนะให้ทุกคนหันกลับมาดู และพัฒนาตนเอง

“หลักวิปัสสนา คือ ความสามารถพิเศษหรือปัญญาที่จะเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง การที่เราจะเป็นผู้บริหาร หรือเป็นเพียงพนักงานในองค์กรก็จะต้ององเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เพราะนี่คือปัญญาอันยอดเยี่ยมในการบริหารองค์กรให้อยู่รอด เพราะถ้าเราไม่ได้มองทุกอย่างตามความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเห็นด้วยอัตตาตัวตน ซึ่งทำให้บิดพริ้ว หรือเพี้ยนจากความจริงออกไป”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงหนังสืออุปนิสัยที่ 8 ของ Covey เท่านั้น ที่นำหลักธรรมทางพุทธเข้ามาใช้เป็นหลักสำคัญในการเขียน แต่หนังสือเล่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ที่กล่าวถึง 8 กลยุทธ์ของแบรนด์ผู้ท้าชิงว่าจะอยู่รอดอย่างไรท่ามกล่างการแข่งขัน เพื่อไม่ให้ถูกแบรนด์ใหญ่กลืน และทำอย่างไรจึงจะเป็นปลาเล็กที่ว่องไวสามารถกินปลาใหญ่ได้นั้น ข้อแรกของกลยุทธ์ที่ว่าก็คือ ต้องลืมเรื่อง ego หรืออัตตาตัวตนนั่นเอง


>>>>> มีต่อ หน้า ๔
 
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2006, 10:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

“สุธัญญา บุญสูง” ฝึกอภิธรรมมุ่งนิพพาน

“คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน จะรวยจะจนก็เท่าเทียมกัน เป็นคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะรวยจะจนขอให้มีปัญญา คนนั้นถือว่าประเสริฐแล้ว”

ใครจะเชื่อ ! ว่าผู้หญิงที่สวย เก่ง รวย เกิดมาเพียบพร้อมอย่าง “สุธัญญา บุญสูง” ซึ่งคนใกล้ชิดเรียกเธอว่า “พี่ปุ่น” ไม่ใช่แค่สนใจธรรมะ แต่หันหน้าเข้าศึกษาพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้ง จนสอบพระอภิธรรมได้อันดับ 1 ของประเทศมาแล้ว เราขอเรียกเธอว่า “ไฮโซ” แต่เธอรีบปฏิเสธและย้ำว่าคนเราเกิดมาทุกคนเท่าเทียมกัน

ด้วยความใฝ่ธรรมะและเชื่อว่าธรรมะมีแก่นสาร ทำให้เธอเปิดบ้าน “คล้ายจันทร์” ชักชวนบุคคลชั้นสูงในสังคมด้วยกันมาเรียนธรรมะสัปดาห์ละ 1 วันที่นี่ !

สังคมหาแก่นสารไม่ได้

“ทุกคนหิวธรรมะ เพราะสังคมทุกวันนี้ ปลิ้นปล้อน หาแก่นสารไม่ได้ คนที่เข้าหาธรรมะคือคนที่อยากหาแก่นสารของชีวิต เชื่อว่าธรรมะทำให้เป็นคนดีขึ้น นิสัยดีขึ้น รู้จักละวาง”

สำหรับตัวเธอเองก็เช่นเดียวกัน สุธัญญา เล่าว่า ตัวเธอเองนั้นก่อนเข้าเรียนอภิธรรมเมื่อ 8 ปี ก่อนนั้น เป็นคนที่มีนิสัยไม่ยอมใคร เจ้าอารมณ์ เกรี้ยวกราด ถึงขนาดที่ว่า ใครด่ามาต้องอัดกลับไป 2 เท่า แล้วก็ตัดสินใจเข้าเรียนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุ แต่พอได้มาเรียนธรรมะ แค่ 6 เดือนนิสัยก็เปลี่ยน เธอกลายเป็นคนไม่กล้าทำบาป

“คนด่ามาเพราะกรรมเก่าเราทำไว้ คือเราไปด่าเค้ามาตั้งแต่ชาติที่แล้ว ถ้าไม่อยากสร้างกรรมใหม่ต้องเงียบ เพราะถ้าเราทำอะไรไปก็ได้อย่างนั้น”

แน่นอนว่าเรื่อง โลกนี้ โลกหน้า เป็นสิ่งที่เธอ และคนที่มาเรียนเชื่อว่ามีจริงอย่างที่สุด และวันนี้สิ่งที่เธอเป็นอยู่ก็เป็นผลมาจากผลกรรมเมื่อชาติก่อนทั้งสิ้น

“ชาติที่แล้วเราทำอะไรไว้ ชาตินี้ก็จะได้รับผลกรรมนั้น การทำอะไรทุกอย่างมีเหตุปัจจัย ส่งที่บ่งชี้ว่าทำไมถึงมี อดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็คือคนสบายไม่เหมือนเก่า ปุ่นเชื่อนะว่าคนที่รวย เป็นเพราะในอดีตทำกรรมดีไว้ ชาตินี้ถึงรวย คนที่มีโรคภัยไข้เจ็บก็เพราะชาติที่แล้วเคยเบียดเบียนสัตว์”

สะสมบุญมุ่งนิพพาน

สุธัญญา เล่าว่า สิ่งที่เธอเรียนนั้น เป็นเรื่องของ กาย และ ใจ คือเรียนให้รู้จักตัวเราเอง และเรียนให้เป็นคนดีขึ้น

“พอมาเรียนแล้วจะรู้ว่า สิ่งไหนเป็นกุศล สิ่งไหนเป็นอกุศล อันไหนเป็นอกุศล เราก็ต้องลด เพราะถ้าไม่ลดถือว่าขาดทุน ถ้าอยากได้กำไรก็ต้องสะสมทำกุศลให้เยอะๆ ชาติหน้าเกิดมาก็จะเป็นคนมีปัญญา”

เป้าหมายสูงสุดของคนที่มาเรียน สุธัญญา เล่าว่า คือนิพพาน ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ได้เกิดในชาตินี้หรือชาติหน้า เพราะกว่าจะถึงนิพพานต้องผ่านการเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพหลายชาติ แต่ที่แน่ๆ การสะสมบุญในวันนี้ ก็เชื่อว่าผลของกรรมจะไม่ทำให้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่สบาย 4 อย่างคือ 1. เดรัชฉาน 2. เปรต 3. อสูรกาย 4. สัตว์นรก

เมื่อสุธัญญาเห็นแล้วว่า ธรรมะ ได้ทำให้เธอดีขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดแนวคิดที่อยากจะให้เพื่อนหรือคนรู้จัก โดยเฉพาะคนในแวดวงชั้นสูงที่กำลังทำธุรกิจต่างๆ มาเรียนธรรมะด้วยกัน แนวคิดการทำให้บ้านตัวเอง คือบ้านคล้ายจันทร์ เป็นสถานที่เรียนธรรมะจึงเกิดขึ้น และมีเพื่อนๆ ในกลุ่มมาเรียนกว่า 20 คน

“มาเรียนเพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อถูกคนนินทา หรือคนชื่นชม ตัวเราต้องปล่อยวางให้ได้ อย่าไปหลงกับมัน สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน ก็ต้องพยายามอย่าไปสนใจ ต้องมีสติ รู้จักปล่อยวาง”

ชาติหน้าขอมีปัญญา

สำหรับรูปแบบการเรียน สุธัญญา กล่าวว่า เป็นการเรียนจุฬาตรี 3 ชั้น ชั้นหนึ่งใช้เวลาเรียน 6 เดือน ซึ่งที่บ้านคล้ายจันทร์จะมีการเรียนทุกวันพุธ ตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 16.00 น. โดยในช่วงเช้าจะเป็นการเรียนในหลักของพระไตรปิฎก ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นช่วงปฏิบัติ

โดยหลังจากเรียนไปแล้ว 3 ปี สุธัญญา เล่าว่า เพื่อนๆ ของเธอบอกว่านำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มาก อย่างน้อยก็ทำให้เป็นคนดีขึ้น

“ปุ่นกำลังทำธุรกิจข้ามชาติ เราเป็นพุทธก็อยากชักชวนให้เพื่อนมาเรียนธรรมะที่ถูกทาง มาร่วมกันสั่งสมกุศลร่วมกัน ชาติหน้าก็จะได้มีปัญญา”

วันนี้สุธัญญา ถือเป็นนักปฏิบัติธรรมที่แท้จริง โดยเธอมาเรียนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 13.00-19.00 น. เว้นวันพุธที่ใช้บ้านคล้ายจันทร์เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมแทน


>>>>> มีต่อ หน้า ๕
 
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2006, 10:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

“ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง” ธรรมะช่วยคุณได้ !

“หลายชีวิตที่พบกับความล้มเหลว ต่างท้อแท้ สิ้นหวัง หมดอาลัยในชีวิต ขณะที่บางชีวิตประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่มีความสุข ธรรมะจึงเป็นคำตอบให้ทุกปัญหา”

นี่คือคอนเซ็ปต์รายการ “ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง (เติมพลัง...คนรุ่นใหม่)” รายการธรรมะที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ช่วงหนึ่งเคยมีเรทติ้งสูงสุดในบรรดารายการธรรมะทั้งหมด

รูปแบบรายการนี้เป็นอย่างไร หลายคนพอจะรู้ แต่สาเหตุของการเกิดรายการนี้ขึ้น หลายคนอาจยังไม่รู้

“ตอนนั้นมีความทุกข์มาก ไปเรียนอยู่อเมริกาหลายปี กลับมาคุณแม่ป่วยหนัก ละล้าละลัง สับสนมากช่วงนั้น เพราะเพิ่งคลอดลูกแฝดมาไม่ถึงปี และอยู่ในช่วงอยากจะแยกทางกับสามีอีก ไม่มีความทุกข์ไหนทุกข์เท่าเวลานั้นอีกแล้ว”

ทุกข์จัด-หันหน้าเข้าหาทางธรรม

นุชรา พินิจสารภิรมย์ เจ้าของและผู้ผลิตรายการ “ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง” เล่าว่า ความทุกข์แสนสาหัสของวันนั้น ทำให้ตนหันหน้าเข้าหาธรรมะ และเริ่มศึกษาพระอภิธรรม

“ตอนคุณแม่ป่วย หัวเตียงมีหนังสือเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ซึ่งเป็นหลวงพ่อที่คุณพ่อนับถือ จำได้ว่าตั้งแต่ตัวเราอายุได้ 14 ปี ในหนังสือมีเรื่องของฝรั่งที่มาบวชเป็นพระ และมาบวชอย่างจริงจังเพื่อ

ให้ได้อานิสงส์ส่งไปให้แม่ของเขา เพราะแม่ของพระฝรั่งก็ป่วยหนัก ก็เริ่มคิดว่าขนาดฝรั่งยังมาสร้างบุญให้พ่อให้แม่ เราเป็นคนไทยแท้ๆ ก็อยากจะทำบ้าง อยากจะช่วยแม่ให้พ้นทุกข์”

ประกอบกับช่วงนั้น สมนึก เขมาชีวะ เพื่อนสนิท ได้ชักชวนให้ศึกษาธรรมะ นุชราจึงเริ่มเข้าไปศึกษาและปฏิบัติธรรม นับแต่นั้น

ฝึกเข้ม 7 วัน-ไม่พูดกับใคร

“ก่อนไปรู้ตัวเลยว่าแย่มาก หน้าตาหมองคล้ำ สิวเขรอะ เครียดมาก ก็ไปฝึกแบบเข้มจริงๆ คือไม่พูดกับใครเลย 7 วัน พอถึงเวลาลาศีล หน้าขาว ผ่อง จิตสงบลงได้ระดับหนึ่ง ก็ถือว่าได้อานิสงส์แล้ว”

เมื่อเห็นประโยชน์ที่ตัวเองได้รับจากธรรมะครั้งนั้น ทำให้นุชราตัดสินใจทำรายการ “ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง” มาตั้งแต่ปี 2537 เพราะเชื่อว่าเมื่อเราเข้าถึงธรรมะและช่วยตัวเองได้ ก็อยากจะช่วยคนอื่นๆ ด้วย

ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง

“รายการ “ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง” เป็นรายการที่เน้นนำธรรมะมาทำให้ชีวิตคนที่พบทางตัน เจอทางออก ไม่ว่าคนที่มีความทุกข์ทางกาย ทางเงินทอง เรื่องครอบครัว หรือเหตุที่ประสบ อย่างเหตุการณ์ตึกถล่มที่โคราช เรามีพระวิทยากรมาชี้ทางออกให้คนเหล่านั้น อย่างคนติดเอดส์ก็มี หรือคนพิการก็มี”

เมื่อความทุกข์ยังอยู่คู่กับมนุษย์โลก รายการธรรมะอย่างรายการ ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง จึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ชมรายการ

“กลุ่มคนที่ใฝ่ธรรมะ มีการแสดงความชื่นชมมามาก เป็นกำลังใจให้ หลายคนเขาบอกว่าชีวิตเขาดีขึ้น หลายคนก็เล่าว่าเขานำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เราก็ดีใจ ได้ช่วยคน”

ปลูกจิตสำนึกเด็กหวังให้เป็นผู้ใหญ่ดี

นอกจากนี้ รายการชีวิต...ไม่สิ้นหวัง ยังมีช่วงแต้มสี เติมธรรม มีการเล่าชาดก มีภาพการ์ตูนให้เด็กๆ ดู ฝึกจิตสำนึกให้เด็กด้วย

“ถ้าเราปลูกฝังให้เด็กรู้จักแยกแยะความดี ความชั่ว รู้ บาป บุญ คุณ โทษ ความกตัญญู การไม่เบียดเบียน และการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เด็กก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี”

สำหรับรายการ ชีวิต...ไม่สิ้นหวัง ปัจจุบันออกอากาศ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 05.00 -05.15 น. ที่สถานีโทรทัศน์สีช่อง 3

ธรรมะสำหรับทุกคน

อย่างไรก็ดี อีกจุดมุ่งหมายหนึ่งถึงรายการ นุชรา อยากจะเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไป ที่คิดว่า ธรรมะมีไว้สำหรับคนแก่ คนสิ้นหวัง คนพ่ายแพ้ หรือคนไม่มีอะไรจะทำเท่านั้น เพราะเรื่องของธรรมะ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของทุกคน !


>>>>> มีต่อ หน้า ๖
 
ลูกโป่งอมยิ้ม
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2006, 10:43 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บริหารแบบพุทธ สร้างองค์กรอมตะ !

“วรภัทร ภู่เจริญ” นักวิทยาศาสตร์นาซ่า นำหลักการบริหารแบบพุทธะ หาสติควบคุมความคิด จิต พาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ปูนซีเมนต์ไทยและการบินไทย ประสบความสำเร็จมาแล้ว

พูดถึงหลักการบริหารองค์กร ทุกคนคงจะมองแต่ภาพตำราต่างประเทศและการเรียนที่เป็นตำราวิชาการ แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงแล้วหลักการบริหารเหล่านั้น ต่างมีพื้นฐานสำคัญและมีหัวใจที่สำคัญที่สุดมาจากจิตใจที่อยู่ภายในพนักงานทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหารลงมาสู่พนักงานระดับล่าง

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ที่สามารถใช้หลักธรรมะเข้ามาผสมผสานในการบริหารจัดการองค์กรได้ดีเยี่ยม เขาเคยทำงานที่องค์การนาซ่าอีกได้รับรางวัลผลงานที่ดีที่สุดในการประชุมทางวิชาการ ด้านเครื่องยนต์ไอพ่นนานาชาติ ปี พ.ศ 2528 แต่วันนี้เป็นผู้สอนหลักบริหารองค์กรแนวพุทธให้กับบริษัทชั้นนำหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเครือซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย บริษัท สหพัฒน์

จากพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในตัว ทำให้ดร.วรภัทร์ ต้องการพิสูจน์ความจริงในทางพระพุทธศาสนา และการพิสูจน์นั้นก็นำมาสู่ความเข้าใจแห่ง จิต ความคิด และสติ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม อีกทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับนำหลักธรรมทางศาสนาพุทธมาประยุกต์กับการสอนหลักการบริหารอีกด้วย

ดร.วรภัทร์ ได้อธิบายถึงหลักการบริหารองค์กรแบบพุทธว่า หลักการบริหารก็เหมือนกับที่พระไตรปิฎกได้สอนไว้ พระพุทธเจ้าน่าจะเป็นบิดาแห่ง HR และ Management เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารองค์กรสำหรับทั้งผู้บริหารและลูกน้องคือ ต้องรู้จักสติ ซึ่งเป็นการฝึกพื้นฐาน

ฝึกสติสร้างระบบความคิด

เทคนิดการสอนของ ดร.วรภัทร์จะให้ผู้เข้าฝึกหาว่าอะไรคือสติ อะไรคือความคิด และอะไรคือจิต เพราะเมื่อเห็นระบบการทำงานของทั้ง 3 สิ่งนี้แล้ว ต่อไปสิ่งที่ผู้เข้าฝึกก็ต้องคอยระวังก็คืออย่าให้ความคิดทำร้ายจิต หรือพอจิตเกิดความคิด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ดีก็ต้องระวัง ต้องหัดตัวเองให้ต้องเอาสติไปทำงานแทนจิต

ดร.วรภัทร์มองว่า จิตเปรียบเหมือนลูกตุ้ม ถ้าลูกตุ้มจะแกว่งเป็นบวกหรือลบ สิ่งที่ทำให้ลูกตุ้มเบนไปทางซ้ายหรือขวาก็คือตัวความคิดของเรา ซึ่งความคิดเหล่านั้นก็มาจากสัญญาเก่า จะเข้ามาสะกิดให้เกิดความรู้สึกเป็นบวกลบ พอเกิดความรู้สึกนั้นคือ “จิตเกิดแล้ว” นั้นเอง

“เคยชอปปิ้งไหม ง่ายๆ เลย ถ้าไปช้อปปิ้งกับแฟนที่ฝรั่งเศส พอหมดเวลาแฟนบอกให้ขึ้นรถ ยังตัดใจอยากช็อปอยู่ต่อ แต่ต้องขึ้นรถไปลียอง ขณะอยู่บนรถก็คิดถึงแต่กระเป๋า นั้นแหละจิตเกิดแล้ว เป็นความอยาก ซึ่งเกิดความคิดเป็นผลผลิตจากจิต ตอนนั้นจะแยกไม่ออกว่าจิตกับความคิดทำงานร่วมกัน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกสติมาดีแล้วเป็นพอบอกว่าไปก็ไป ก็จะไม่มีความคิดปรุงแต่ง รู้ตัวอยู่ เสมอว่าตอนนี้ต้องอยู่กับแฟนและนั่งรถไฟไปลียอง”

แทรกพุทธธรรมในทฤษฎี

หลังจากที่ค้นหาวิธีการคิดเป็นระบบได้แล้ว ดร.วรภัทร์ จะแทรกพุทธธรรมเข้ามาในทฤษฎีหลักการบริหารต่างๆ เพราะดร.วรภัทร์เชื่อว่าว่า หัวใจสำคัญจริงๆของหลักการบริหารนั้นสำคัญอยู่ที่จิตใจเป็นอย่างแรก ตัวอย่างเช่น บริษัท ทิพยประกันภัย ที่ดร.วรภัทร์ เป็นที่ปรึกษานั้น ดร. ก็สอนธรรมะควบคู่ไปกับ สอนการวางแผนยุทธศาสตร์

เริ่มแรกจะให้ผู้เข้าฝึกที่เป็นทั้งผู้บริหารและลูกน้องหายใจลึกๆ ทำจิตให้ว่าง คิดไปถึงว่าอีก 4-5 ปี ทิพยประกันภัยจะเป็นยังไง ให้ตัดความกังวล ตัดความกลัว ความลำเอียงออกมาจากจิตให้ได้ นั้นคือตัดความคิดอันฟุ้งซ่านที่จะไปให้ก่อให้เกิดจิต หลังจากนั้น หาจุด Dead lock จุด หา success factor ให้เจอ หาตัวแปรที่ทำให้องค์กรล่ม อย่าใช้อารมณ์โมโห ใช้เวิร์กช็อปอย่าประชดกันในที่ประชุมใช้ความเป็นจริงอย่าเอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

“เช่นเวลาที่ประชุมกัน เมื่อใครก็ตามที่เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นก็จงบอกว่า ช่วงนี้ผมจิตเกิดนะขอ งดออกความคิด ก็จะทำให้ไม่ทะเลาะกัน พอไม่ทะเลาะกัน จิตก็ว่าง คิดงานได้สะดวกราบรื่น อย่างของเครือปนซีเมนต์ ไทย เขาใช้แบบพุทธวิธีที่ผมสอน ตอนนี้เขาผลผลิตเพิ่ม ของเสียลดลง ประชุมกันก็ทะเลาะกันน้อยลง”

ตั้งสติรับภาวะเศรษฐกิจขาลง

หรือแม้กระทั้งการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสุ่วัฏจักรขาลงในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.วรภัทรก็ต้องให้ผู้บริหารตั้งสติ ตัดความกังวลออกไป เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลังจากที่จิตใจปลอดโปร่งแล้ว ดร.วรภัทร์ก็จะให้ผู้บริหารทำ SWAT Analysis ให้ชัดเจนหาโดยเฉพาะการหา Opportunity และหายุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานในบริษัทในอนาคต

“ตอนเศรษฐกิจล้มผมก็ใช้หลักจิตวิทยามากๆ ในการให้กำลังใจเขา อีกทั้งต้องใช้อิทธิบาท 4 ให้ฉันทะกับเขาก่อน จากนั้นก็พูดให้กำลังใจเป็น empowerment ซึ่งจะก่อให้เกิดการวิริยะ เกิดเป็น positive thinking ต่อไปเมื่อเขาไปได้เราก็ออกไปเป็น Coaching มองเขาอยู่ห่างๆ”

นี่แหละคือธรรมะกับการบริหารยุคใหม่ที่สามารถผสมผสานกันอย่างลงตัว !



.............................................................

คัดลอกมาจาก
ผู้จัดการรายสัปดาห์ 19 พฤษภาคม 2548 15:18 น.
 
ฌาณ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 8:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
weewan
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 26 ส.ค. 2008
ตอบ: 25
ที่อยู่ (จังหวัด): กรุงเทพฯ

ตอบตอบเมื่อ: 26 ก.ย. 2008, 4:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ คุณได้เดินตามรอยพระอริยแล้ว เป็นกำลังใจให้ค่ะ
สิ่งดี ๆ และประเสริฐจะบังเกิดขึ้นภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี 7 ชาติ เป็นอย่างช้า
 

_________________
ตาต่อตา ฟันต่อฟัน โลกบรรลัย
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง