Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เอกซเรย์สภาวธรรม : พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เ อ ก ซ เ ร ย์ ส ภ า ว ธ ร ร ม
พระครูเกษมธรรมทัต (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี)
วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา


นมัตถุ รตนัตตยัสสะ
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม
จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย


ต่อไปนี้ก็พึงตั้งใจฟังธรรมะ
ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมสติปัญญาในแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ

วันนี้ก็เป็นวันธรรมสวนะ
ตามความหมายของชื่อวันนี้ก็เป็นวันแห่งการฟังธรรม
ท่านทั้งหลายซึ่งประกอบด้วยภิกษุสามเณร
อุบาสกอุบาสิกาก็มาประชุมฟังธรรม

ส่วนหนึ่งก็มาบวชมาถือศีลอยู่ประจำ
ส่วนหนึ่งก็มาถือศีลอุโบสถเฉพาะวันพระ
และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่เข้ากรรมฐานอยู่
ผู้ที่กำลังทำความเพียรเข้ากรรมฐาน
รวมแล้วก็มีจำนวนก็คงจะร้อยท่านด้วยกัน
ทั้งพระทั้งโยมคงจะใกล้ร้อยท่านด้วยกัน
ที่เป็นผู้เข้ากรรมฐานก็ประมาณสามสิบกว่าท่าน

ฉะนั้นในการพูดธรรมะวันนี้
ก็คงจะเน้นไปเรื่องของการสอนผู้เข้ากรรมฐาน
แม้ท่านที่ไม่ได้เข้ากรรมฐาน
ก็ถือว่าได้ฟังได้เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน

ฉะนั้นในขณะที่ฟังธรรม
ถ้าจะให้ได้ความเข้าใจได้ดีท่านทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติด้วย
ให้ได้เป็นผู้เจริญสติในขณะฟังธรรมะ
ก็ทำให้การฟังนั้นเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

เพราะว่าเราใช้สมาธิในการฟังใช้สติในการฟัง
ทั้งผู้ฟังผู้พูดแล้วก็ปฏิบัติธรรมไปด้วยกัน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นสามารถจะทำได้ทุกโอกาสทุกเวลา
แม้ว่าขณะที่เรากำลังพูดอยู่
หรือในขณะที่ฟังอยู่ก็เป็นช่วงที่เราปฏิบัติธรรมได้
เพียงการที่เราได้เจริญสติให้เกิดขึ้น
รับรู้สภาพธรรมต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ
ในขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏทางกายทางจิตใจก็มีอยู่

ในส่วนที่เป็นสภาวะส่วนที่เป็นปรมัตถธรรม
ก็ใช้สติสัมผัสตรง ๆ ไม่ต้องนึกคิด
ถ้าหากไปนึกคิดขึ้นมามันก็จะเลยไปสู่สมมุติบัญญัติ
การระลึกรู้ให้รู้ตรง ๆ สัมผัสตรง หยั่งรู้
สังเกตเข้าไปในกายในความรู้สึก
รู้ไปทั้งตัว แต่ส่องไปในความรู้สึก

สติสัมปชัญญะเหมือนกับเป็นเครื่องเอ็กซ์เรย์ส่อง
เหมือนกับการที่บุคลเข้าไปเอ็กซเรย์ทั้งตัว
มันก็มีเครื่องฉายส่องลงไป
อันนี้ก็เหมือนกันใช้สติสัมปชัญญะ
ให้เอ็กซเรย์คือส่องฉายรู้ลงไปในกายทั้งตัว
ก็ลองทำดูว่าสามารถจะส่องรู้พร้อมทั้งตัวได้ไหม


แต่ว่าไม่ใช่รู้แบบเป็นรูปร่างสัณฐาน
ถ้ารู้เป็นรูปทรงสัณฐานรูปร่างกายทั้งหมด
อย่างนี้เรียกว่าส่องไปติดแค่ผิวนอก
ติดเป็นภาพเป็นรูปทรงสัณฐาน ไม่ลึกซึ้ง

ฉะนั้นการส่องรู้เข้าไปนั้นต้องทะลุเนื้อหนัง
แต่ก็ไม่ใช่ทะลุไปเห็นเป็นเนื้อเป็นกระดูก
แต่ว่ารู้ลงไปในความรู้สึก ส่องฉายสัมผัสไปที่ความรู้สึก
มันก็จะจับได้สัมผัสได้ในความรู้สึกทางกายทุกส่วนของกายว่า


มันมีความรู้สึก ความไหว ความกระเพื่อม ความตึงหย่อน
หรือว่าความรู้สึกของความไม่สบายกายเรียกว่าทุกขเวทนาก็ดี
หรือสุขเวทนาสบายกายก็ดี อันนี้คือตัวสภาวะ ตัวปรมัตถธรรม


แล้วเราจะพบว่าการเข้าไปรู้
บางขณะก็ติดค้างเป็นรูปทรงสัณฐานเป็นรูปร่างอวัยวะของกาย
บางทีก็เป็นบางส่วนของกาย
บางทีก็เป็นทั้งหมดทั้งตัว
ก็ให้รู้ว่านี่คือติดค้างอยู่ที่สมมุติบัญญัติ

บัญญัติแห่งความเป็นรูปทรงสัณฐาน
บัญญัติรูปร่างสัณฐานเรียกว่าอัตถบัญญัติ
เพราะฉะนั้นให้มีความเข้าใจว่า

เวลากำหนดรู้ลงไปที่จะเป็นวิปัสสนานั้น
จะต้องไม่ดูเป็นรูปร่าง
ไม่เห็นเป็นสัณฐานของกาย
ไม่มีทรวดทรงสัณฐานรูปร่างของกาย
แต่ก็ไม่ใช่เป็นความว่างเปล่า


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บางคนอาจจะเข้าไปเห็นเป็นความว่างเปล่า
ดูลงไปแล้วก็ไม่มีร่างกายแขนขาหน้าตา
ร่างกายไม่มี อะไรก็ไม่มี
มันว่างไปหมดไม่มีอะไรเลย
อันนี้ก็เป็นสมมุติอีกเช่นเดียวกัน

เหมือนกับการถ่ายภาพไม่ติดอะไรเลย
นั่นก็หมายถึงว่าบุคคลนั้นจิตมีสมาธิ มีความสงบ
ความรู้สึกทางกายละเอียดก็จับไม่ออกเลย
เข้าไปจับรู้ความรู้สึกละเอียดไม่ออก
ก็เลยดูว่าไม่มีอะไรว่างเปล่า

ความว่างเปล่านี้ก็ถือว่าเป็นสมมุติอันหนึ่ง
เป็นอารมณ์ที่เป็นสมมุติ
ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สภาวปรมัตถ์
อยู่ในประเภทความหมาย


ความว่างเปล่านั้นก็คือความหมายอย่างหนึ่ง
ความหมายแห่งความไม่มีอะไร
ว่างไปหมดก็หมายถึงมันไม่มีอะไรในความหมายนั้น
ก็ยังเป็นสมมุติอยู่

สมมุติบัญญัตินี่มันมีทั้งรูปร่างสัณฐานก็เป็นสมมุติ
ความหมายก็เป็นสมมุติ ชื่อภาษาก็เป็นสมมุติ

ถ้าเราไม่เข้าใจมันจะไปอยู่กับสมมุติ
จิตใจจะไปรับแต่สมมุติ ไม่เป็นรูปร่าง
ก็เป็นความหมายหรือเป็นชื่อเป็นภาษาอยู่อย่างนั้น
หาสภาวะไม่เจอ


ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า

วิปัสสนานั้นต้องระลึกสัมผัสตรงอยู่กับสภาวะ
อยู่กับปรมัตถธรรม


คำว่าสภาวะแปลว่าสิ่งที่มันมี มันเป็นอยู่จริง ๆ
ปฏิบัติต้องระลึกรู้ของจริง
เพื่อจะได้แจ้งชัดตามความเป็นจริง

เราไปดูของปลอมมันก็ไม่มีโอกาสจะรู้จริง ก็รู้ไปตามปลอม
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ต้องมีความเข้าใจมีปัญญาในส่วนหนึ่ง
เพื่อที่จะแยกอารมณ์ได้ว่าอันไหนบัญญัติอันไหนปรมัตถ์

ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่า

ถ้าเป็นรูปร่างความหมายชื่อภาษา
อันนั้นเป็นบัญญัติ

วิปัสสนาต้องรู้ปรมัตถ์ ต้องระลึกไปสัมผัสที่สภาวะให้ถูกต้อง
ที่กายนั้นก็ไปสัมผัสที่เป็นปรมัตถ์


ก็จะมีความรู้สึก ความเย็น รู้สึกร้อน รู้สึกอ่อนแข็ง หย่อนตึง
รู้สึกมันตึงมันไหวมันกระเพื่อม
หรือว่ามันสั่นสะเทือนหรือมันแข็ง
หรือมันรู้สึกเย็น รู้สึกปวดไม่สบายเมื่อยชา นี่คือสภาวะ
เข้าไปรู้ให้จดสภาวะนะ

การเจริญวิปัสสนานี่

สติต้องจดสภาวะคือไปให้ตรง ตรงตัวของปรมัตถธรรม
ตรงลักษณะของปรมัตถธรรม ส่องเข้าไปที่กายนี่
ไปสัมผัสสัมพันธ์กับความรู้สึก แต่ไม่มีรูปร่างกาย
มีสภาวะความรู้สึกปรากฏให้รู้อยู่
อย่างนี้แหละจะเป็นวิปัสสนา


สภาวะนั้นก็ไม่ใช่จะมีเฉพาะที่ทางกายมีทางด้านจิตใจด้วย
ฉะนั้นการระลึกรู้นั้นต้องรู้พร้อมไปทั้งความรู้สึกทางจิตใจด้วย



ไม่รู้เฉพาะทางกายเท่านั้น
ต้องรู้พร้อมทั้งจิตทั้งกาย
กายรู้อยู่เฉพาะในความรู้สึก
ทางจิตใจก็รู้ที่สภาพรู้
หรืออาการในสภาพรู้ที่กำลังปรากฏ


ทางกายดูความรู้สึก
ทางจิตก็ยิ่งมีความละเอียดมากขึ้นอีกเพราะว่ามันเป็นนามธรรม
มันไม่มีรูปร่างสัณฐาน จิตใจนี่เป็นอสรีระ ไม่มีรูปร่าง
เวลากำหนดรู้จิตอย่าไปค้นหาแบบหารูปร่าง
หาร่างหาเป็นแท่งเป็นก้อน แล้วหาไม่เจอ

ต้องเข้าใจว่าจิตนั้นเป็นเพียงสภาพรู้ คือรับรู้อารมณ์

รับรู้อารมณ์ รู้อารมณ์นั้น รู้อารมณ์นี้ แวบไปแวบมา
นึกคิดนี้เรียกว่าจิต
จิตหรือใจหรือมโนหรือวิญญาณเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรับรู้

ฉะนั้นให้หาให้เจอ กำหนดรู้ให้เจอ คือรู้ลักษณะสภาพรู้
ไม่ใช่ไปหาเป็นรูปร่าง

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

จิตนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นมาตามลำพัง
จิตนั้นก็จะมีธรรมชาติที่ประกอบร่วมด้วยหลายชนิดเรียกว่า เจตสิก
มันเกิดร่วมกับจิต เข้าไปแสดงเป็นอาการในจิต
เป็นปฏิกิริยาในจิต เช่น เกิดความรู้สึกพอใจไม่พอใจ
เกิดสงบไม่สงบ เกิดขุ่นมัวผ่องใส
เกิดความสงสัย เกิดฟุ้ง รำคาญใจ เหล่านี้
เกิดปีติ เกิดศรัทธา เกิดเมตตากรุณา
จะเข้าไปปรุงแต่งในจิตใจ นี้เป็นเรื่องของเจตสิก

การปฏิบัติก็จะต้องศึกษาสังเกตอาการในจิตว่า
มันมีสภาพธรรมเหล่านี้ปรากฏต่าง ๆ
เข้าไปรู้ในลักษณะในอาการในจิต

จิตนั้นเหมือนกับน้ำใส ๆ เปล่า ๆ

เจตสิกก็เหมือนกับเครื่องแกงที่ผสมอยู่ในน้ำ
เครื่องแกงนั้นก็มีหลายชนิด
แล้วแต่ว่าอันไหนมันมากมันก็ปรากฏรสชาดของมันมาก
ใส่พริก หอมกระเทียม กะปิ น้ำปลา อะไรเหล่านี้

ถ้าอันไหนมันมากมันก็มีผลลักษณะโดดเด่นขึ้นมา
คนที่ชิมน้ำแกงก็ใช้ความสังเกต
สังเกตก็จะบอกว่ามันเป็นรสชาดของอะไร
บางอย่างมันก็ปรากฏน้อยกว่า

สังเกตไปแต่ละชนิดก็มีหลายอย่าง
ในจิตก็เหมือนกันเมื่อเข้าไประลึกรู้
แล้วก็สังเกตอาการต่าง ๆ ในจิตใจว่า

ในจิตใจนี้บางขณะรู้สึกพอใจ
บางครั้งก็ไม่พอใจ บางครั้งก็สงสัย
บางครั้งรู้สึกสงบ บางทีก็ไม่สงบ หงุดหงิด รำคาญ
หรือเอิบอิ่ม หรือเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ สบายใจ บางทีไม่สบายใจ
ท่านเรียกว่ากำหนดถึงอาการในจิต
ดูในรสชาดในความรู้สึกที่ในจิตใจ

เหมือนกับดื่มน้ำแล้วก็สังเกตในรสชาดในน้ำนั้น
มีความรู้สึกต่าง ๆ ดูไปที่จิตก็จะสังเกตอาการต่าง ๆ ของจิต
อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการได้กำหนดรู้สภาวะ

จิตก็เป็นสภาวะ เจตสิกก็เป็นสภาวะ
คือเป็นธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่จริง ๆ
ถ้าได้กำหนดอย่างนี้มันก็จะเป็นวิปัสสนาขึ้น


ฉะนั้นต้องมีการหยั่งรู้มีการสังเกตสังกามีการพิจารณา
ก็จะเห็นสภาวะในจิตใจต่าง ๆ เห็นสภาพของเวทนาในจิต
เห็นสัญญาความจำได้หมายรู้
เห็นสังขารมันปรุงแต่งในจิตใจ
คิดนึกวิพากษ์วิจารณ์ พอใจ ไม่พอใจ เป็นต้น
เห็นสภาพของจิตที่กวัดแกว่ง ที่ซัดส่าย ที่รับรู้อารมณ์
มันเป็นสิ่งที่ละเอียด รู้ได้ยาก
ที่จะดูรู้เท่าทันจิตใจนี่มันเป็นเรื่องละเอียด
แต่มันก็ไม่เกินวิสัยของผู้ปฏิบัติ


ใช้การพิจารณาอย่างแยบคาย
สัมผัสสัมพันธ์ในกายในจิตพร้อม ๆ กันไป
และก็ให้ทำอย่างเป็นปรกติ
การเข้าไปรับรู้นั้นให้พอดี ๆ เบา ๆ
ไม่ได้ไปเพ่งหรือจดจ้องบังคับ
มีการที่จะปรับผ่อนให้มันเป็นปรกติอยู่
เรียกว่าให้มีการปล่อยวางอยู่ พร้อมกับการเข้าไปรับรู้

อย่าคิดว่าเราจะรู้อะไรก็จะรู้ให้มันชัดทันที
ให้มันเห็นเป็นอย่างนั้นทันที มันไม่ได้
ต้องรู้ละผ่านไป รู้ละผ่านไป รู้ผ่านไป หมดไปสิ้นไป
ถ้าทำอย่างนี้ก็จะทำให้อยู่กับปัจจุบัน
คือไปแจ่มแจ้งกันในครั้งต่อ ๆ ไป


ถึงคราวที่สติปัญญามันมีกำลังมันก็จะเห็นสภาวะชัดเจนขึ้น
ไม่ใช่เราจะไปทำให้มันเห็นชัดทันที
เอาแค่ว่าให้รู้ทันผ่านไป รู้ทันผ่านไป
รู้ใหม่ ๆ ก็จะเห็นว่ามันมั่ว
เหมือนมีอะไรต่าง ๆ หลายอย่างหลายชนิด
ดูไม่ชัดไม่ทัน แต่ก็ต้องรู้แล้วก็ผ่านไป

ใครที่รู้สึกว่า แหมกำหนดไม่ทันมันมามากมาย
ก็ต้องใช้ความฉลาดรู้ไปทั้งหมด
เหมือนกับว่าเขาโยนของมาให้ โยนกันมาหลายชิ้นเหลือเกิน

เราก็มีหน้าที่จะต้องรับก็ต้องรับไว้ทั้งหมด
โยนมากมายก็รับ รับไว้ แล้วก็ผ่านไป
รับวางลงไป รับวางลง

ถ้าไม่วางก็รับอันใหม่ไม่ได้ รับวางไป รับวางไป
มันหลายชิ้นมันก็แยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร
แต่ก็รับรู้ไว้ ส่งมา ส่งมา รับรู้


เมื่อรับรู้นั้นมันมีกำลังขึ้นก็จะค่อยแยกแยะได้เอง
แยกแยะสภาวะต่าง ๆที่มันมีมากมายที่รวดเร็วนั้น
คือจะเห็นสภาวะนั้นมันมีต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน
แล้วก็เกิดหมดไป ดับไป สลับของมันอยู่มากมาย


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ในปัญญาของผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น
เมื่อเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมันจะเห็นสภาวะที่ปรากฏให้รับรู้นี่มากมาย
แตกดับ ปรากฏหมดไปต่าง ๆ
รูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ


ที่นี้ใหม่ ๆ มันบอกไม่ถูกว่าอะไรเป็นอะไร
แต่มันเห็นอยู่ เห็นสิ่งที่ปรากฏแตกดับ
เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอยู่
ก็รู้ไป ๆ ผ่านไป ๆ ที่ปล่อยให้มันผ่านไป
มันก็จะรู้อันใหม่
ทำให้สติสัมปชัญญะมันทันต่อปัจจุบันไว้
ไม่ใหลหลงไปตามอดีต

ถ้าบุคคลไม่ปล่อยไม่วาง มันก็จะคิดตามสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
พอรับรู้อารมณ์อันใดมันก็คิดตามนั้นวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์นั้น
สภาวะอันใหม่ที่ส่งต่อมามันก็รู้ไม่ได้
เพราะจิตไปเกาะในสิ่งที่ผ่านไป
ก็เรียกว่าหลงคิดหลงเพลินต่อความคิดไป
สมมุติบัญญัติก็เกิดขึ้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติอย่าหลงเพลินจนเผลอคิด
แม้ว่าจะคิดไปในเรื่องของธรรมะ
คิดไปในเรื่องรูปเรื่องนาม เรื่องขันธ์ห้า
เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดแก่เจ็บตายก็ตาม
พอมันคิดไปแล้วมันก็จะเป็นสมมุติ
ตกจากสภาวะที่เป็นปัจจุบัน
สภาวะที่มันจะเกิดสืบต่อกันมามันก็จะไม่รู้
มัวไปคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เป็นเรื่องเป็นราวเป็นความหมายเป็นมโนภาพ
นี่เรียกว่าตกจากปัจจุบัน


ฉะนั้นผู้ปฎิบัติจะต้องฉุกรู้
ให้จิตใจมันฉุกรู้ตัวมันเอง
เห็นเกิดการระลึกรู้ตัวขึ้น รู้ความคิด รู้ความตรึกนึก

ถ้ารู้ความตรึกนึกได้
มันก็จะสลัดอดีตอนาคตกลับมารู้สภาวะปัจจุบันขึ้น
เห็นให้มันรู้สึกตัวขึ้น
จิตใจนี่ จิตจะรู้จักตัวมันเองได้ก็ต้องรู้สึกตัวของมันเอง

ฉะนั้นการดูจิตไม่ใช่ไปดูที่อื่น
ไม่ต้องไปหาที่อื่น แต่หาที่ตัวของมันเอง
คือสภาพรู้หาที่ตัวรู้ของมันเอง
เอารู้มาดูรู้นั่นแหละ
จะดูรู้ก็ต้องทวนเข้ามา
สภาพรู้นั้นทวนกระแสของมันเอง


แล้วมันก็รู้ตัวมันเอง รู้ที่รู้ รู้ในรู้ รู้สิ่งที่ถูกรู้
รู้ที่รู้ ก็หมายถึงรู้จิตลักษณะของจิตโดยตรง
ดูสภาพของจิตที่มันมีกิริยาในการรับรู้ รับรู้อารมณ์
รู้ในรู้ก็คือเข้าไปสังเกตอาการในจิตว่ามีอาการอย่างไร
ผ่องใส สงบ เอิบอิ่ม ปีติ ชอบ ไม่ชอบ สงสัย เหล่านี้เป็นต้น
รู้ที่ถูกรู้ก็คือรู้อารมณ์ต่างๆ


........มีที่ใจก็มี แต่ให้เป็นเฉพาะปรมัตถ์
เพราะอารมณ์ที่เป็นบัญญัติก็มี คัดออก
เมื่อสติสัมผัสต่อปรมัตถธรรมที่กายมั่นคงดี
สมมุติมันจะอันตรธานไป

ในขณะสมมุติอันตรธานนั้นผู้ปฎิบัติใหม่ๆก็จะรู้สึกตกใจเกิดความกลัว
เพราะว่าเหมือนกับร่างกายมันไม่มี
นั่งไปแล้วไม่มีแขนขาร่างกาย

บางคนก็มัวไปค้นหา เอ๊ะ ขาไปไหน แขนไปไหน
พยายามจะหาดู พยายามจะขยับดู
อย่างนี้ก็ถือว่าเท่ากับเราพยายามจะย้อนเข้าไปหาสมมุติ

ความจริงจิตมันทิ้งจากสมมุติไปได้
ถือว่าเป็นการได้พัฒนาขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง
ที่จิตมันทิ้งจากสมมุติที่เคยติดอยู่
เมื่อไม่เข้าใจมันก็จะเข้าไปหา ไปค้นหา

ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่า

เมื่อจิตมันมีสติตรงอยู่กับปรมัตถ์
หรือมีสมาธิร่วมมันก็จะทิ้งสมมุติ
ก็ไม่ต้องไปค้นหา ให้ร่างกายมันหายไป
เพราะมันไม่มีจริงอยู่แล้ว ไปสร้างขึ้นมานึกขึ้นมาจำขึ้นมา
พอมันไม่จำไม่นึกไม่ปรุงแต่ง มันก็ไม่มี
เหมือนกับความฝันเราจำว่ามันเป็นจริง

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ที่จริงมันไม่จริง มันไม่มีความจริงอยู่แล้วเราไปจำขึ้นมาเอง
ร่างกายสัณฐานของกายเป็นสมมุติ
ฉะนั้นมันหายไปก็ดีแล้ว
แต่ไม่ใช่ว่าหายไปแล้วก็ไปรู้ว่างเปล่า
มันก็ไปสู่สมมุติอีกอย่างหนึ่ง

ร่างกายมันหายไปในความรู้สึกก็ให้จับรู้ที่ความรู้สึก
ความรู้สึกในกายที่มันเป็นความไหว ความเบา ความกระเพื่อม
หรือรู้จิต รู้จิตที่มันเป็นตัวรู้อยู่
รู้สึกก็จะรู้สึกของการหายใจที่เบาลงน้อยลง
จิตใจที่มีตัวรู้ ให้มันน้อยลงๆ นิดลงๆ
ก็ดูจับความรู้สึก วางจิตใจให้เป็นปรกติ ไม่กลัวไม่หวั่นไหว

คนที่ปฎิบัติเข้าไปสัมผัสอย่างนี้ใหม่ๆ เขาตกใจกลัว กลัวตาย
ความจริงแล้วการปฎิบัตินั้นได้พัฒนาขึ้นมา
เราจะต้องพยายามทำจิตใจเป็นปรกติ เฉยๆ
รับรู้ในความรู้สึกนั้นที่มีตัวรู้มีความรู้สึกอยู่
มีความสงบมีความสุขใจอยู่
เพราะจิตมันอยู่ในระดับนี้มันมีความสุขที่เราไม่เคยสุขมาก่อน
จะเอิบอิ่มจะผ่องใสเป็นสุข

เราก็จับรู้ความรู้สึกนี้ไว้
สติไปเกาะรู้ที่ความอิ่มเอิบความผ่องใสความสบาย
จะสังเกตว่ามีตัวรู้อยู่ มีนึกมีคิดไหม มีพอใจไหม
หรือมีความสงสัยเอะใจ หรือกลัวก็กำหนดรู้
สิ่งเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม

เมื่อฝึกอย่างนี้ดูอย่างนี้จนเคยชินแล้วมันก็ไม่กลัวอะไร
เป็นธรรมดา นั่งกำหนดไปสู่ความรู้สึกร่างกายไม่มีแขนขาไม่มี
ก็ไปรับแต่ความรู้สึก
ดูในความรู้สึกทางกาย ดูความรู้สึกทางจิตใจ

คนเรานั้นมันมีอุปาทานยึดไว้
เป็นตัวเป็นตนไว้มันยังพ้นทุกข์ไม่ได้
เพราะเราคอยจะหาความเป็นตัวเป็นตน
จิตที่มันจะปล่อยจากความเป็นตัวเป็นตน
แต่เราก็กลัว คอยจะคว้าเป็นตัวเป็นตน

การปฎิบัติมันก็เลยไปไม่ได้
ฉะนั้นผู้ปฎิบัตินั้นต้องกล้า ต้องยอม ยอมตายได้
ไม่กลัวตาย ตายก็ตาย


คนเราจะตายอยู่ในการปฎิบัติมันก็ยิ่งดี
ถ้าเราสามารถตายในขณะปฎิบัติได้มันก็ไปดี
ที่นี้ถ้าเราไปกลัวตายมันก็..... การปฎิบัติมันก็ผ่านไม่ได้
ถ้าไม่กลัวมันก็จะวาง จิตใจเป็นปรกติ
รู้ไปเรื่อย รู้สภาวะละเอียดไปเรื่อย
แต่มันก็ไม่เคยตาย ไม่มีใครตาย

ความรู้สึกบางคนใหม่ ๆ ก็เหมือนจะตาย
อะไรทุกอย่างมันไม่เคยมาก่อน
ลมหายใจมันก็น้อยลง หรือไม่รู้สึกมีลมหายใจ
กายก็ไม่มี จิตใจก็เหลือน้อย
ก็ต้องรับรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยความที่ไม่กลัว

แต่บางคนนั้นก็มีทุกขเวทนามากก็ให้เข้าใจ เป็นเรื่องธรรมดา
เราปฏิบัติเราจะสามารถผ่านไปได้มันจะต้องเจอทุกข์
ทุกข์บีบคั้นแสนสาหัส
บางคนเหมือนกับจะจมน้ำ อันนี้จะขาดใจ

ถ้าเรากลัวเสียแล้ว เราถอยหลังไป ถอยหลังก็ไปไม่ได้
มันจะทุกข์ขนาดไหน มันจะบีบขนาดไหน
มันจะ.... ก็ดูนิ่ง ๆ ยอมสภาพนั้น รับสภาพนั้นอย่างดุษณีภาพ
มันทุกข์มันแน่นมันเหมือนกับมันจะหายใจไม่ออก
เราก็ไม่ต้องไปดิ้นรน ไม่ต้องไปดิ้นรนกระวนกระวาย
พยายามสะกดความรู้สึก หยุดดู หยุดรู้อย่างนิ่ง ๆ
แล้วทุกอย่างก็จะคืนสภาพ

เนื่องจากว่าการปฏิบัติบางครั้งมันก็ต้องเจอทุกข์หนัก บีบคั้น
เพื่อให้จิตมันจะได้เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยของชีวิตของสังขารว่า
สังขารนี่เป็นทุกข์จริง ๆ มันจึงเบื่อหน่าย

จิตถ้ามันไม่เห็นทุกข์มันไม่เบื่อหน่าย
เพราะว่าเห็นทุกข์เห็นภัยของสังขาร จิตใจเบื่อหน่าย
ความเบื่อหน่ายมันจะทำให้เกิดคลายกำหนัด
มันคลายกำหนัดจิตก็จะหลุดพ้น
จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น


ถ้าเราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของชีวิตของสังขารนี้
มันก็ยังหลงอยู่เพลิดเพลินอยู่ ต้องเห็นทุกข์


ฉะนั้นก็อย่าไปรังเกียจทุกข์
ความทุกข์นั่นน่ะจะสอนให้เรา
ทุกข์ครั้งนี้ ยอมทุกข์ครั้งนี้ แต่เราก็จะได้พ้นทุกข์
แล้วคนกลัวเจ็บ กลัวเจ็บกลัวปวด กลัวทุกข์ก็ไม่อยากทำ

ถ้าไม่ทำอยู่เฉย ๆ มันก็ไม่ทุกข์อะไร
แต่มันจะทุกข์ระยะยาว
ถึงคราวที่มันบังคับให้ทุกข์ก็จะทนไม่ได้เลย
อุปมาเหมือนกับคนป่วย เรามีโรคร้ายแรงอยู่ในตัว
เราจะต้องการให้หายเราต้องรักษา
หมอเขาจะต้องฉีดยา แต่บางคนก็ต้องผ่าตัด

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

แน่นอนขณะที่รักษาจะต้องเจ็บ
ยิ่งผ่าตัดนี่ยิ่งบาดเจ็บ

ถ้าเรากลัวเจ็บไม่ยอมรักษามันก็ไม่หาย
อยู่เฉย ๆ ไม่ผ่าก็ดูว่ามันสบายกว่า
ถ้าเรากลัวเจ็บไม่ทำอะไรก็ดูว่ามันไม่บาดเจ็บ
แต่โรคมันก็รุมอยู่ภายใน
หนักเข้า ๆ มันก็บังคับให้ต้องเจ็บอยู่ดี
เจ็บตอนนั้นหมอก็ช่วยไม่ได้

คนที่เวลาถึงคราวมันทุกข์บีบคั้นตามสภาพของสังขาร
เมื่อแก่เมื่อป่วยเมื่อเจ็บมันก็ต้องหนีไม่พ้น
ตอนนั้นก็จะทำใจไม่ได้

ฉะนั้นเราทำให้ได้เสียตอนนี้
ตอนที่ยังมีโอกาสพักผ่อน
ถ้าถึงคราวที่มันโรคภัยบีบคั้นจริง ๆ
ตอนนั้นหนีไม่พ้นหรอก ต้องยอมรับสภาพ


ถ้าเราไม่เคยฝึกจิตใจเราก็จะแย่
โดยเฉพาะว่าชีวิตที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส
ก็จะต้องมีอย่างนี้ร่ำไป

ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย
ต้องทุกข์อย่างนี้ซ้ำ ๆ เรื่อยไป
ชีวิตของการเวียนว่ายตายเกิด

เราไม่กลัวหรือกับการที่จะต้องเกิดซ้ำ ๆ
แก่ซ้ำ ๆ ตายซ้ำ ๆ ทุกข์อยู่ซ้ำ ๆ


ถ้าเรายอมทุกข์เสียตอนนี้ ยอมผ่าตัดเยียวยา
มันจะบาดเจ็บแต่มันเป็นการที่แลกเปลี่ยนกับการทำลายกิเลส
มันก็เป็นความทุกข์ที่คุ้มค่า
เราปฏิบัตินี่มันต้องลงทุน เอาความทุกข์ยากลงทุน
ไม่มีใครหลุดพ้นทุกข์ด้วยความสบาย


พระพุทธเจ้าไม่ได้พ้นทุกข์ด้วยความสบาย
ต้องออกมาจากวังมาอยู่โคนไม้อยู่ป่า
ทำความพากเพียรด้วยความยากลำบาก

เราฟังประวัติแม้ครั้งสุดท้ายคืนที่ตรัสรู้
ยังเกือบจะลุก มีมารมาผจญ

เขาจึงปั้นพระพุทธรูปเป็นปางมารวิชัย
ปางชนะมาร หรือเรียกว่าสะดุ้งมาร

ตามประวัติแล้ว พระพุทธเจ้าก็เกือบจะเผลอตัวลุก แต่ก็ได้สติ
มือก็เลยเคลื่อนจากการนั่งสมาธิ มือก็ไปกดพระเพลาไว้ กดตักไว้
เรียกว่ามารต่าง ๆ มาผจญ

ถ้าโดยธรรมาธิษฐานก็คือกิเลสต่าง ๆ
ทุกข์ต่าง ๆ บีบคั้นในจิตใจ ทั้งกายทั้งจิต
มันจะหวนระลึกไปถึงชายา พระโอรส บิดา มารดา
นึกถึงตนเองทำไมจะต้องมาอยู่ลำบากอย่างนี้
น่าจะอยู่นอนสุขสบายในนั้น
บางครั้งปฏิบัติไปมันก็เป็นอย่างนั้น

เราก็เหมือนกันมันจะหวนนึกถึงว่า
เราทำไมต้องมาทำอยู่จะได้อะไร
ทำไมต้องมาหนาวมาทุกข์มาเมื่อย
เราไปกินนอนไปสุขเสวยไม่ดีกว่าหรือ

ถ้ารู้ไม่ทัน มันก็อาจจะไปตามกิเลส
กิเลสมารมันจ้องคอยท่าอยู่
หรือว่าพอเผชิญกับความทุกข์ต่าง ๆ ทนไม่ไหวแล้ว
ก็เป็นมาร เป็นขันธมาร

อยู่ธรรมดาไม่ปฏิบัติก็ไม่ค่อยเป็นอะไร
พอปฏิบัติทำไมมันปวดมันเจ็บ
เดี๋ยวไม่สบาย ทุกข์
นี่ขันธมาร มารคือขันธ์ คอยขัดขวาง

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2008, 11:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
[พระอาจารย์สรุศักดิ์ เขมรํสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์]


ถ้าเรารู้ไม่ทันเราก็เป็นเหยื่อของมาร
เรานี่ทำไปเดี๋ยวจะป่วยมาก
เดี๋ยวจะเจ็บมาก เดี๋ยวจะตายเสียก่อน

ถ้ายอมไปก็เลยสบาย มารชอบ
ถ้าเรารู้ทันแล้ว
ไม่ได้เราถึงจะป่วยจะเจ็บก็เจ็บกันแค่นี้
จะได้ไม่ต้องไปเจ็บกันต่อไป

พระพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยอธิษฐานจิต มั่นคง แน่วแน่
จึงได้เอาชนะมารจึงได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส
การนั่งครั้งนี้ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็จะไม่ลุกจากที่นั่ง
ถ้าเลือดเนื้อจะเหือดแห้งเหลือแต่เอ็นกระดูก
พระพุทธเจ้าอธิษฐานอย่างนั้น

ที่นี้นั่งไปปวดเข้ามาเกือบจะลุกขึ้นมา
ท่านก็มีสติรู้ทัน นึกถึงบารมีที่บำเพ็ญมาต่าง ๆ
บารมีสามสิบทัศก็เพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า
เพื่อจะละกิเลส เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ออกจากทุกข์
ก็ทำให้สะกดควบคุมไว้ได้

เราก็เหมือนกันเราก็ต้องนึกถึงว่า
เราก็ต้องนึกถึงกุศลบารมีต่าง ๆ ความดีที่เราทำ
เราจะปล่อยตามกิเลสไป
เราก็จะต้องทุกข์แล้วทุกข์อีก ไม่รู้จักจบ
หรือเราจะเอาชนะกิเลสบ้าง เสี่ยงสู้กัน

แต่เราไม่ใช่สู้ด้วยเอาแต่กำลัง สู้ด้วยปัญญา
มีปัญญามีชั้นเชิงของการต่อสู้


พระพุทธเจ้าก็ให้อุบายวิธีต่าง ๆ ไว้แล้ว
เราไม่ได้สู้แบบเคร่งเครียด
ในลักษณะของการเจริญวิปัสสนา
มีความเพียรต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่ว่าก็ไม่ได้คร่ำเคร่ง
พยายามที่จะปรับผ่อนเป็นปรกติอยู่เสมอ

แต่บางครั้งกิเลสมันโจมตีบางอย่าง
เราก็อาจจะต้องใช้อาวุธบางอย่าง


ถ้าเกิดราคะขึ้นมากลุ้มรุม
ถ้าสติระลึกรู้ไม่ทันพ่ายแพ้
ก็อาจจะต้องใช้การพิจารณาอสุภะบ้าง
พิจารณาอาการสามสิบสองในร่างกายของเรา
ให้เห็นเป็นของไม่สะอาดเป็นปฏิกูล
ให้เห็นว่าตัวเรามันสกปรกไม่สะอาด

คนอื่นก็เหมือนกัน
จริงอยู่แม้ตรงนี้จะไม่ใช่วิปัสสนา
แต่บางครั้งก็เหมาะสมที่จะเอามาแก้กิเลสบางตัว
หรือว่าบางครั้งเราฟุ้งซ่าน กำหนดไม่ทัน
เผลอไปคิดเสียมากเลยฟุ้ง กำหนดไปก็ยิ่งฟุ้ง ดูไปก็ยิ่งเครียด


เราก็ปรับปรุงใหม่ ลืมตาปฏิบัติ กำหนดดูธรรมชาติ
ทำความรู้สึกธรรมดา ปรกติ
ลุกขึ้นมาเดินจงกรม เดินให้มาก
เดินมันก็ช่วยผ่อนคลายความฟุ้งซ่าน
ทำสติใหม่ ประคับประคองใหม่
ทำแล้วก็ต้องปรับปรุงพลิกแพลงของเราเรื่อยไป

แต่ให้รู้ว่าเวลาที่จะเข้าสู่วิปัสสนาจริง ๆ นั้น
ก็จะต้องรู้ปรมัตถ์ เป็นปรกติ
ไม่บังคับไม่กดข่ม มีจุดยืนที่ถูกต้อง
นอกจากจะระลึกรู้ตรงต่อสภาวะ
ก็ต้องรู้ให้มันถูกต้อง พอดี ไม่ยินดียินร้ายต่อสภาวะ


อันนี้ก็เป็นคำแนะนำส่วนหนึ่งที่จะไปประกอบ
ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำเอง รู้เอง
ฝึกเอง พิจารณาเอง ทดสอบทดลอง

ความสามารถทั้งหลายนั้นจะต้องอยู่ที่กำลังของผู้ปฏิบัติ
คนอื่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยที่จะเป็นผู้ชี้ทางบอกทางเท่านั้น
เราก็ต้องเป็นผู้ตัดสินเองพิจารณาเอง


ก็ไม่ต้องเชื่อทันที เอาไปพิสูจน์พิจารณาจนกว่าเราจะเห็นเองรู้เอง
ก็ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อด้วยตัวของตัวเองที่รู้แจ้ง
ประสบผลสำเร็จแล้วก็เป็นอันว่า เราก็มีที่พึ่งให้ตัวเราเอง

วันนี้ก็คงจะพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่าน เทอญ

Image

สาธุ สาธุ สาธุ

(ที่มา "เอ็กซเรย์สภาวธรรม" : (บทธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรํสี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๑) ในหนังสือ เจอ จิต แจ้ง ธรรม : ธรรมบรรยาย ๔ เรื่อง, พิมพ์ครั้งที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙, หน้า ๕๕-๖๙)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2008, 7:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมะสวัสดีจ้า ท่านกุหลาบสีชา
สาธุ ขอให้เจริญในธรรม นะจ๊ะ สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง