Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 รักผัวให้ผูก...รักลูกให้ตี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 19 ก.ย. 2008, 1:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาษิตนี้ สามีคนไหนได้ยินเข้า มีหวังต้องโวยก่อนว่า
ผัวไม่ใช่สัตว์เลี้ยงนะจ้ะ จะได้เอาไปผูก
ส่วนบรรดาเมียๆ ก็คงคิดเหมือนกันว่า
ขณะปล่อยๆ เป็นอิสระ ก็แทบจะตีกันตายกับเจ้าประคุณสามีทั้งหลายอยู่แล้ว
ขืนพาไปผูกไว้ อารมณ์คงยิ่งกว่าโคถึก มีหวังได้หันมาขวิดเมียปางตายแน่
ใจเย็นๆค่ะ ท่านผู้อ่านที่ว่า “รักผัวให้ผูก” น่ะ
ในที่นี้หมายถึง “การผูกใจ” ต่างหาก
แหม ! ฟังดูดีขึ้นแยะเลย ใช่ไหม?
แต่จะทำอย่างไรนั้น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงวัฒนธรรม ขอเฉลยให้ฟังดังนี้

ในสมัยก่อนเมื่อหญิงชายจะแต่งงานกัน
พ่อแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่มักจะสอนให้ฝ่ายหญิงรู้จักประพฤติปฏิบัติตนด้วย
“เรือน ๓ น้ำ ๔” ซึ่งเรือน ๓ ก็ได้แก่ เรือนผม เรือนกาย และเรือนที่อยู่
หรือบางแห่งก็ว่าหมายถึง เรือนผม เรือนไฟ และเรือนนอน
ส่วนน้ำ ๔ ก็ได้แก่ น้ำมือ น้ำใจ น้ำคำ และน้ำเต้าปูน
แต่บางแห่งก็ตีความว่า น้ำกิน น้ำใช้ น้ำใจ และน้ำเต้าปูน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างไหนข้างต้น
การประพฤติปฏิบัติด้วยเรือน ๓ น้ำ ๔ นี้
แท้ที่จริงก็คือ การอบรมให้หญิงสาวที่จะแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา
รู้จักหน้าที่ของความเป็นแม่บ้านแม่เรือน
เพื่อผูกใจสามีให้รักใคร่เอ็นดูผู้เป็นภริยานั่นเอง


สำหรับเรือนแรก อันได้แก่ เรือนผม
ก็คือ การรู้จักดูแลรักษาผมเผ้าให้สะอาดหมดจด ปราศจากกลิ่น
โดยคอยหวีให้เรียบร้อยไม่ปล่อยเป็นกระเซิง
มิใช่พอตื่นขึ้นมา หันมาอีกที อ้าว! สามีคิดว่า สิงโตที่ไหนมานอนด้วย
การจัดทำทรงผมให้ดี จะช่วยให้บรรดาเมียๆน่ามองยิ่งขึ้น
อีกทั้งตอนหวีผม คนเราก็ต้องดูกระจก
จะได้ใช้เวลานั้นผัดหน้าทาแป้งให้สดชื่นสวยงาม
ซึ่งสาวๆพอได้แต่งหน้าทาปาก ก็จะรู้สึกว่าตัวสวยขึ้น เกิดความมั่นใจ
ขณะเดียวกันเมื่อสามีเห็น ก็พลอยสบายตาไปด้วย

เรือนที่สอง คือ เรือนกาย
หมายถึง การรักษาทรวดทรงองค์เอวให้น่ามองอยู่เสมอ
มิใช่พอได้แต่งงาน มีสามี คิดว่าไม่ต้องอยู่คานทองนิเวศน์แล้ว ก็เลยสบายใจ
กินตามใจปาก ยิ่งพอมีลูก ยิ่งเลี้ยงยิ่งเหนื่อย ยิ่งกิน
เผลอแผล่บเดียวหุ่นเพรียวลมที่เขาเคยโอบได้รอบ
กลายเป็นตุ่มสามโคกโอบไม่มิด หรือเป็นโอ่งลายมังกร
ให้สามีมองด้วยความสะท้อนใจ
จริงอยู่ การครองรักครองเรือนมิใช่จะอยู่ที่รูปร่างหน้าตาเพียงอย่างเดียว
แต่หากภริยาจะรู้จักดูแลรูปทรงตัวเองให้ดี
ไม่ปล่อยปละละเลยจนเป็นยายเพิ้งหรือนางผีเสื้อสมุทรตอนยังไม่แปลงกาย
ก็น่าจะเป็นเสน่ห์ผูกใจสามีได้อีกทางหนึ่ง
เพราะเวลาพาเมียไปไหนๆ
คนชมว่าเมียว่าหุ่นดี ภริยาก็หน้าบาน สามีก็ภูมิใจ

เรือนที่สาม เรือนที่อยู่
ก็คือ การรู้จักดูแลบ้านช่อง จัดข้าวของในเรือนให้ดูสะอาดเรียบร้อย
ไม่สกปรกรกรุงรัง เพราะบ้านที่สกปรกและไม่เป็นระเบียบ
แสดงว่าเมียบ้านนั้นมีนิสัยขี้เกียจ
ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน หากมีแขกใครไปมา ก็จะขายหน้าถึงสามี
อีกทั้งสุขอนามัยของบ้านนั้นๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย
ทำให้คนในบ้านเจ็บป่วยได้ง่าย
ข้อสำคัญ สามีบางบ้านอาจเกิดอาการ “ภูมิแพ้เมีย”
ต้องออกไปหาอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก ก็จะมีปัญหาตามมา
ทางที่ดี เมียทั้งหลายจึงควรปัดกวาดบ้านช่องให้น่าอยู่น่าอาศัย

ส่วนบางแห่งที่เขียนว่า เรือนไฟ ก็คือ ครัว
ที่หญิงสาวจะต้องใช้ประกอบอาหารให้ครอบครัว
คนโบราณเขาก็สอนให้รู้จักใช้ รู้จักเก็บกวาดอุปกรณ์ในครัวให้เรียบร้อย
ไม่ปล่อยให้รก หรือสกปรก จนมีสัตว์ไม่ได้รับเชิญอย่างหนูหรือแมลงสาบ
มาเยี่ยมเยียน

ส่วนเรือนนอน ก็คือ ห้องนอน ก็เช่นเดียวกัน
ก็ต้องรู้จักปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาดอยู่เสมอ
อย่างสมัยนี้ ถึงแม้ไม่ได้ทำเอง มีคนรับใช้ เมียหรือแม่บ้านก็ต้องรู้จักกำกับ
และควบคุมดูแลเป็นระยะๆ มิใช่ปล่อยให้ทำตามยถากรรม
ไม่งั้น วันดีคืนร้าย เกิดสามีเห็นความดีของผู้ช่วยแม่บ้านมากกว่า
อาจเลื่อนขั้นเราขึ้นเป็น “เมียหลวง” ถึงตอนนั้น จะเสียใจก็ยังไม่ทัน

ในส่วนของน้ำสี่ นั้น น้ำแรก ได้แก่ น้ำมือ
หมายถึง ต้องรู้จักหัดทำข้าวปลาอาหารอร่อยๆ ให้สามีรับประทาน
ซึ่งสมัยโบราณหญิงสาวไม่ว่าจะชาวบ้านหรือชาววังต่างก็ทำอาหารเป็นทั้งนั้น
เพราะสมัยก่อนไม่มีร้านอาหารสำเร็จรูปให้ซื้อ
มีแต่วัตถุดิบที่ต้องนำไปปรุงเอง
ดังนั้น หญิงสาวส่วนใหญ่จึงถูกฝึกให้ทำกับข้าวกับปลามาแต่เด็กๆ
เสมือนหนึ่งหัดวิชาชีพติดตัว
ที่สำคัญ คนรุ่นก่อนมีคติว่า “เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักจนตาย”
หญิงสาวทั้งหลายจึงต้องมี “น้ำมือ” ในการทำอาหารด้วยประการฉะนี้
แต่สำหรับสาวๆยุคเตาไมโครเวฟ หรือแม่บ้านถุงพสาสติก
แม้จะทำอาหารไม่เป็น แต่ก็ควรจะรู้จักเลือกซื้ออาหารจากร้านเจ้าอร่อย
และสะอาด และหากมีเวลาว่าง ก็ลองหัดทำอาหารง่ายๆให้สามีกินบ้าง
เพราะจะทำให้เขารู้สึกซึ้งใจที่เราอุตส่าห์ทำในสิ่งที่ยากสำหรับเรา เพื่อเขา

น้ำต่อไปคือ น้ำใจ คือ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว
หรือทำใจดำ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลสามีทั้งในหน้าที่การงาน และจิตใจ
ซึ่งการมีน้ำใจนี้มิใช่มีต่อสามีคนเดียว แต่ควรเผื่อแผ่ถึงญาติพี่น้องของสามีด้วย
เพราะนอกจากจะทำให้สามีสบายใจแล้ว ยังช่วยให้ภริยาเป็นที่รักใคร่
และเป็นเกรงใจอีกด้วย และหากมีปัญหากับสามี
ญาติพี่น้องของเขาก็จะเห็นใจและช่วยเรา
นอกจากนี้เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็ต้องมีน้ำใจต่อเขาด้วย
เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

น้ำที่สาม คือ น้ำคำ ได้แก่ การใช้คำพูดที่สุภาพ ไพเราะหู
ไม่กระโชกโฮกฮากหรือด่าทอ รู้จักเจรจาปราศรัย
รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรเงียบ เมื่อไรควรให้กำลังใจหรือปลอบประโลม
อันที่จริงแล้ว การพูดจาดีต่อกัน โดยไม่ด่าทอ บ่นว่าหรือจู้จี้จุกจิก
จะทำให้รู้สึกว่าบ้านร่มเย็น น่าอยู่ ไม่ร้อนหูร้อนใจ
ซึ่งการพูดจาไม่ระคายหูนั้น จริงๆ แล้วควรจะใช้พูดกับทุกคนทั้งในบ้าน
และนอกบ้าน ไม่เฉพาะแต่กับสามีเท่านั้น
เพราะนอกจากผู้ฟังจะรู้สึกสบายหูแล้ว ยังจะรู้สึกดีๆกับผู้พูดด้วย

และน้ำสุดท้าย คือ น้ำเต้าปูน หมายถึง การดูแลคอยเติมน้ำในเต้าปูนมิให้แห้ง
ในสมัยก่อนคนกินหมาก จึงต้องมีเต้าปูนเป็นภาชนะใส่ปูนแดงไว้ป้ายใบพลู
เพื่อกินกับหมาก ซึ่งถือว่าเป็นของรับแขก
ดังนั้น หากแม่บ้านบ้านไหน ปล่อยให้น้ำในเต้าปูนแห้ง
จนไม่สามารถควักออกมาป้ายได้ แสดงว่า ทำหน้าที่บกพร่อง
แม่บ้านที่ดีจึงต้องคอยดูแลเติมน้ำในเตาปูนอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับคำว่า น้ำกิน น้ำใช้ ที่หมายถึง หญิงสาวที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน
จะต้องดูแล ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ในบ้านพร้อมเสมอสำหรับสามี ลูก และญาติๆ
อันแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อหน้าที่ภริยาที่ดี

เรือน ๓ น้ำ ๔ แม้จะเป็นเรื่องที่คนโบราณสอน
แต่ถือได้ว่าเป็น “เคล็ดลับการครองเรือน”
ที่สาวๆสมัยนี้สามารถนำไปใช้ได้ และยังเป็นวิธี “ผูกใจ” สามีที่ไม่ล้าสมัย
หากจะรู้จักประยุกต์ใช้

อนึ่ง นอกจากสามีที่ต้องคอยผูกใจแล้ว
หญิงผู้ครองเรือน ยังต้องทำหน้าที่ “แม่” คอยดูแลบุตร
โดยเฉพาะการอบรมสั่งสอนให้พวกเขาเป็นคนดีของพ่อแม่และสังคม
ดังประโยคที่คนสมัยก่อนบอกว่า “รักลูกให้ตี”

การรักลูกให้ตีนี้ พ่อแม่ยุคนี้อาจจะคัดค้าน
เพราะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกว่าสมัยนี้
ต้องพูดกับลูกด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้ “ไม้เรียว” ขนาบเด็ก
ก็เลยส่งผลให้ครูต้อง “หักไม้เรียว” ทิ้งกันเป็นแถวๆ
แล้วลูกๆทั้งหลายก็เลยกลายเป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” ที่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่กล้าตี
จะด้วยสงสารหรือรักจนหลงก็ตาม แต่ก็ทำให้เด็กๆเหลิงจนเอาไม่อยู่
ดังตัวอย่างที่เห็นกันอยู่มากมายในปัจจุบัน

เด็กๆสมัยก่อน หลายคนเมื่อกลับถึงบ้าน พอทำการบ้านเสร็จ
ต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของ หรือช่วยกวาดบ้านถูบ้าน
เมื่อกินข้าวเสร็จก็ต้องช่วยล้างถ้วยชามหรือเก็บโต๊ะ
กว่าจะได้ของอะไรสักชิ้น พ่อแม่มักจะให้ค่อยๆเก็บจากเงินออม
เพื่อให้เห็นค่าของเงิน เมื่อทำผิดก็จะถูก “ตี” และดุว่าสั่งสอนเพื่อให้หลาบจำ
ซึ่งเด็กๆส่วนใหญ่จะยอมรับผิดโดยดุษฎี ไม่กล้าโต้เถียง
และระมัดระวังที่จะไม่ผิดซ้ำให้ถูกทำโทษอีก

ส่วนเด็กสมัยนี้จำนวนไม่น้อย ที่พ่อแม่จะสงสารลูกไม่ยอมให้ช่วยงานบ้าน
ให้อ่านแต่หนังสือเรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่มีส่วนร่วมในงานบ้าน
จึงขาดความรับผิดชอบ บางคนลูกขออะไรก็มักให้โดยง่าย
เพราะกลัวลูกอายเพื่อน อยากได้มือถือรุ่นใหม่ก็ซื้อให้
อยากได้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ทั้งๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็ซื้อให้ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่เห็นคุณค่าของเงิน และปลูกนิสัยใช้จ่ายเกินตัว
พ่อแม่บางคนยอมไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อของฟุ่มเฟือยให้ลูก
ด้วยกลัวลูกจะไม่เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนฝูง
เมื่อลูกทำผิด ก็ไม่กล้าตี กลัวลูกโกรธ น้อยใจ กลัวลูกฆ่าตัวตาย
ดังนั้น เด็กรุ่นใหม่ ถึงแม้จะเป็นเด็กฉลาดเพราะมีสื่อให้เรียนรู้มากมาย
รู้จักโต้เถียงอย่างฉาดฉาน แต่ก็อ่อนแอ เปราะบาง ขาดความอดทน
และเอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่ ทั้งนี้ เพราะ ขาดสิ่งที่เรียกว่า “รักลูกให้ตี” นี่เอง

การ “รักลูกให้ตี” ในที่นี้มิได้หมายถึง การใช้ไม้ตีเด็กอย่างเดียว
แต่หมายถึง การที่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่อบรมสั่งสอนลูกให้รู้จักหน้าที่
ต้องกวดขัน และเข้มงวดต่อการเคี่ยวกรำให้ลูกประพฤติปฏิบัติตนให้ดี
ผิดก็ต้องทำโทษ ไม่ปล่อยละเลยจนเหมือนส่งเสริมให้ลูกทำผิด
จนกลายเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน”
พ่อแม่จะต้องเคร่งครัดแต่ไม่เคร่งเครียดกับลูก
ต้องทำเหมือนช่างปั้นหม้อ ที่ต้องคอยตีดินที่ปั้นให้เข้าที่เข้าทาง
จนกลายเป็นหม้อที่สวยงาม
ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้อง “แบบอย่างที่ดี” ให้แก่เด็กด้วย

ก็หวังว่าเรื่อง “รักผัวให้ผูก รักลูกให้ตี” นี้
จะเป็นแนวปฏิบัติอีกทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
และเพิ่มสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป


........................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

คัดลอกจาก...

http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2551&MM=2&DD=2

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง