Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


Image
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดเป็นทำเป็นตามแนวพุทธธรรม

เวลาผมเขียนอะไร ก็มักจะนึกในใจเสมอว่า เขียนให้ใครอ่าน เมื่อผู้อ่านคือคนนอกวัดเป็นส่วนมาก ก็พยายามเขียนด้วยสำนวนโวหารที่ (คิดเอาเอง) ว่าง่ายอ่านแล้วเข้าใจทันที แต่ที่ว่าง่ายๆ ก็ทำเอาบางท่านงงก็มี เพราะฉะนั้นถ้าอ่านข้อเขียนของผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องก็โปรดแจ้งให้ทราบด้วย จะได้ปรับปรุงตัวเอง คิดหาทางอย่างไรจึงจะ “เทศน์” ให้ญาติโยมเข้าใจได้

คราวก่อนโน้นเอ่ยถึง “โยนิโสมนสิการ” (การคิดเป็นหรือรู้จักคิด) ว่าจะเขียนถึงโดยพิสดารก็มีเรื่องอื่นมาขัดจังหวะ วันนี้ขอว่าเรื่องนี้ต่อไปจนจบ (ไม่จบวันนี้ก็จบวันต่อๆ ไปจนได้แหละน่า อย่าซีเรียส)

ความคิดสำคัญอย่างยิ่ง ทางพระพุทธศาสนาบัญญัติว่าความคิดเป็นจุดเริ่มที่จะนำพาให้ชีวิตไปดีหรือไม่ดี เจริญหรือเสื่อม เพราะความคิดก่อให้เกิดการกระทำ ถ้าคิดในเรื่องอะไรบ่อยๆ ปักใจจนกลายเป็นเจตคติแล้ว ไม่แคล้วจะต้องมีพฤติกรรมไปในทำนองนั้น

สมัยเป็นเด็กครูสอนให้บวกเลขหลายๆ หลัก บวกต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง บางครั้งก็ผิด เมื่อครูให้ทำใหม่ผลลัพธ์ออกมาถูก แล้วครูให้หาดูว่าขั้นตอนไหนผิดพลาด ให้ดูย้อนไปตั้งแต่ตอนท้ายๆ สาวไปเรื่อยๆ เมื่อดูไปๆ ก็ปรากฏว่าบวกถูกทุกขั้นตอน ยกเว้นขั้นตอนหนึ่งในตอนต้นๆ ผิด เมื่อผิดขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปก็พลอยผิดพลาดด้วย

เมื่อตรวจเช็คว่าผิดตรงจุดไหน ก็แก้ตรงจุดนั้นแล้วก็แก้จุดอื่นๆ ต่อมา ผลลัพธ์ก็ออกมาถูกต้อง

เรื่องของคนก็ไม่ต่างจากนี้ ถ้าจุดแรกหรือตอนต้นๆ คิดผิด คิดไขว้เขวเสียแล้ว แนวโน้มที่พฤติกรรมของคนนั้นจะไปในทางผิดย่อมมีมาก ยกเว้นจะรีบแก้ไขให้คิดถูกเสียแต่ต้นมือ

ขอสาธกเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มาให้อ่านสักสองเรื่องเพื่อเปรียบเทียบกระบวนการคิดที่แตกต่างกัน ทั้งสองเรื่องนี้ล้วนเป็นที่รับรู้กันดีในหมู่ชาวพุทธที่ใกล้วัด (ท่านที่ห่างวัดอาจเพียงได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่ทราบเรื่องราว เพราะคิดดังนี้แล ผมจึงนำมา “ฉายซ้ำ” อีก

เรื่องแรก เด็กจ้อยคนหนึ่งเป็นลูกโสเภณีที่ถูกนำมาทิ้งไว้ข้างทาง เจ้าชายแห่งแคว้นมคธมาพบเข้า นำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เด็กน้อยนามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นเด็กฉลาด ช่างคิด ช่างจำ ช่างเจรจา วันหนึ่งเล่นเกม (สมัยนั้นยังไม่มีเกมคอมพิวเตอร์ อย่างมากก็หมากเก็บ ทอยกอง อะไรทำนองนั้น) เล่นชนะเพื่อนแทบทุกครั้ง เพื่อนๆ ขัดใจจึงพูดว่า “ไอ้เด็กไม่มีพ่อไม่มีแม่นี้เก่งจริงเว้ย” คำพูดของเพื่อนๆ สะกิดใจ เด็กน้อยจึงไปถามท่านพ่อว่าใครคือพ่อแม่ของตน คาดคั้นจนได้ความจริงว่าตนเองเป็นลูกกำพร้า เธอเริ่มคิด

ความคิดของชีวกโกมารภัจจ์น่าสนใจยิ่ง เธอคิดว่า “เพื่อนๆ ดูถูกเราว่าเป็นลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ เจ็บใจนัก ถึงเราไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราก็จะต้องหาวิชาใส่ตัวให้มาก ให้ชนะพวกที่มีพ่อมีแม่ให้จงได้”

เมื่อคิดดังนี้จึงหาทางจะไปศึกษาเล่าเรียน เพราะคิดว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะทำคนให้เจริญก้าวหน้า เมื่อเห็นพวกพ่อค้าต่างเมืองมาค้าขายจึงไปตีสนิท ขออาศัยเดินทางไปยังเมืองตักศิลาด้วย ไปถึงเมืองตักศิลา ไปฝากตนเป็นศิษย์อาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ (สมัยนั้นคงมีแผนเดียว แผนปัจจุบันคงยังไม่มี) เรียนอย่างขยันหมั่นเพียรถึง 7 ปี จึงจบการศึกษากลับบ้านเกิดเมืองนอน

เล่าว่า ระหว่างเดินทางกลับบ้าน เงินหมด จึงคิดหาทางใช้วิชาความรู้ที่เรียนมารักษาคนไข้ บังเอิญได้รักษาเศรษฐีคนหนึ่งหาย จึงได้เงินกลับบ้านมากมาย นำเงินนั้นไปให้ท่านพ่อ พร้อมขอขมาที่หลบหนีไป แต่เพื่อต้องการเรียนวิชา จึงต้องทำอย่างนั้น ท่านพ่อก็ให้อภัยให้

บังเอิญขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงประชวรเป็นโรคริดสีดวงทวาร ชีวกโกมารภัจจ์ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมารักษาจนหายขาดได้รับพระราชทานสวนมะม่วงเป็นบำเหน็จรางวัล และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และด้วยความเป็นคนรู้จักคิด จึงไปถวายตนเป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธเจ้า และถวายการรักษาพระภิกษุสามเณรทั้งหลายอีกด้วย

อ่านประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์โดยละเอียดแล้ว คงไม่แปลกที่หมอชีวกโกมารภัจจ์คิดแต่ในทางที่ดี เช่น คิดถวายตนเป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธเจ้าเพื่อถวายการรักษาแก่พระผู้เป็นศาสดาของโลก เป็นการช่วยให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ เมื่อมีพระพลานามัยสมบูรณ์ พระองค์ก็จะได้ทำหน้าที่เยียวยาอาการป่วยทางจิต (โรคกิเลส) ของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์

พูดอีกนัยหนึ่ง หมอรักษากายคิดถูก คิดเป็น รู้ว่าโรคที่คุกคามมนุษย์ที่หนักหนาสาหัส คือ โรคใจ ตนเป็นเพียงหมอรักษาโรคกาย เมื่อเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นหมอรักษาโรคใจ จึงคิดจะช่วยให้งานรักษาโรคใจของพระพุทธเจ้าเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จึงตัดสินใจไปดูแลพระพลานามัยของ “หมอโรคใจ”

ที่ว่าไม่แปลกที่หมอชีวกคิดได้อย่างนี้ ก็เพราะหมอชีวกได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จบการศึกษาระดับสูง การศึกษาอบรมมาอย่างดี ช่วยให้หมอชีวกคิดไปในแนวทางสร้างสรรค์อย่างนี้ คนอื่นๆ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างนี้ก็คงคิดไม่แตกต่างจากนี้นัก

ที่แปลกก็คือ ครั้งแรกที่สุดเมื่อครั้งหมอชีวกยังเป็นเด็กนั่นต่างหาก ทำไมเด็กน้อยชีวกไม่คิดไปอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกเด็กอื่นๆ ด่าว่าเสียดสีว่าลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ เช่นคิดว่า “พวกนี้มันดูถูกกูฝากไว้ก่อนเถอะ กูเป็นใหญ่มาเมื่อไรจะทำให้พวกมันสำนึก”

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว อาจหาทางเอาชนะด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ถ้าสบเหมาะได้เป็นเจ้านายจริงๆ อาจจับพวกเขาไปทำโทษ หรือไม่ก็กลั่นแกล้งต่างๆ นานา ฐานเหยียดหยามคนเช่นเขา

นี่แหละครับ จุดเริ่มแรกนี้สำคัญที่สุด ถ้าเริ่มคิดถูกแต่ต้นมือและประคับประคองให้ความคิดนั้นคงเส้นคงวาต่อไป ความคิดถูกคิดเป็นนั้นจะช่วยนำพาชีวิตของเขาคนนั้นไม่ว่าใครก็ตามดำเนิน ไปสู่ความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าได้ ทั้งในทางโลกและทางธรรม

ทีนี้หันมาดูตัวละคร อีกตัวหนึ่ง เด็กเหมือนกัน เป็นโอรสพระเจ้าปเสนทิโกศล เกิดจากลูกนางทาสีศากยะ ที่กษัตริย์ศากยะ “ย้อมแมว” ส่งไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศล (เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลส่งทูตมาขอขัตติยนารีจากพวกศากยะ เพื่อไปเป็นมเหสี แต่พวกศากยะไม่เต็มใจให้ จึงส่งธิดานางทาสีไปแทน) มเหสีธิดานางทาสี มีโอรสนามว่า วิฑูฑภะ คือเด็กน้อยคนที่พูดถึงวันนี้ วันดีคืนดีวิฑูฑภะเดินทางไปเยี่ยมพระเจ้าตา แต่กลับถูกพวกกษัตริย์ศากยะดูถูกดูหมิ่นต่างๆ นานา เช่น เอาน้ำนมมาขัดพระแท่นที่วิฑูฑภะประทับล้างเสนียดจัญไร

เด็กน้อยวิฑูฑภะรู้สึกโกรธที่ถูกพวกศากยะซึ่งล้วนเป็นพระญาติทั้งนั้นดูถูกเหยียดหยาม จึงเริ่มคิดในทางที่น่ากลัวอย่างยิ่ง วันนี้พวกมันเอาน้ำนมล้างที่กูนั่ง ต่อไปเมื่อกูเป็นใหญ่ขึ้นมา กูจะเอาเลือดในลำคอของมันมาล้างตีนกูให้ได้

ถ้าเด็กพูดเพียงครั้งเดียว พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ห้ามไว้ สอนไม่ให้คิดเหลวไหล อย่างนั้นก็คงไม่เป็นไร แต่ระวังอย่าปล่อยให้ความคิดเช่นนั้นฝังจิตใจเด็กนานๆ มันอาจจะก่อตัวรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมได้

วิฑูฑภะนี้ก็เหมือนกัน คงไม่มีใครรู้ หรือรู้แต่ไม่ระวังในจุดนี้ ปล่อยให้เด็กน้อยคนนี้ฝังใจในพฤติกรรมของพวกศากยะ และครุ่นคิดหาทางแก้แค้นให้ได้ เติบโตมาเป็นหนุ่มใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารแล้ว ก็ยังไม่เลิกคิดเช่นนั้น รอให้เสด็จพ่อพระราชทานตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินให้ก็ไม่ให้สักที จนรอไม่ไหว ทำการปฏิวัติยึดพระราชบัลลังก์จากเสด็จพ่อ ตั้งตนเป็นกษัตริย์

เมื่อได้เป็นใหญ่เหนือเมืองสาวัตถีสืบแทนเสด็จพ่อแล้ว (ไม่คิดแม้แต่นิดว่าเสด็จพ่อของตนหนีไปตายหน้าประตูเมืองราชคฤห์ ไม่คิดที่จะนำพระบรมศพมาพระราชทานเพลิงตามพระราชประเพณี และตามหน้าที่บุตรที่ดีพึงกระทำ ปล่อยให้พระเจ้าอชาตศัตรูต้องรับภาระถวายพระเพลิงให้) ความแค้นก็ปะทุขึ้น สุดจะนิ่งเฉยอยู่ได้

จึงยกทัพไปหมายจะฆ่าล้างแค้น เอาเลือดศากยะล้างพระบาทของตน ตามที่ลั่นวาจาไว้ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ เสด็จมาตัดหน้า วิฑูฑภะเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่ พระองค์ตรัสเป็นนัยให้เข้าใจเอาเองว่า ให้เลิกคิดอกุศลเช่นนั้นเสีย

แต่ก็ไม่ได้คิด ด้วยความเกรงพระทัยจึงแค่ยกทัพกลับไป แต่ความคิดจะแก้แค้นก็ยังไม่สงบ วันดีคืนดี (เรียกวันร้ายคืนร้ายจึงจะถูก) ก็ยกทัพไปใหม่ พบพระพุทธองค์อีก กลับมาดังเดิม อีกไม่ช้าก็ฮึดยกทัพไปใหม่ ครั้งหลังนี้เมื่อไม่พบพระพุทธเจ้า จึงยกทัพข้ามพรมแดนเข้าไปลุยเมืองกบิลพัสดุ์ สั่งประหารพวกศากยะตายเป็นเบือ ที่หนีรอดไปได้ก็คงมีจำนวนหนึ่งแต่หลังจากสงคราม “ล้างโคตร” คราวนั้นพวกศากยะก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า จุดเริ่มนี้แหละสำคัญ จุดเริ่มคือความคิด ถ้าคิดผิดแล้วปล่อยให้ผิดไปเรื่อยๆ จะนำความวิบัติมาให้เจ้าตัวและสังคมดังในเรื่องนี้ ทางพระจึงย้ำเน้นว่าการศึกษาทำให้ชีวิตพัฒนา แต่ถ้าไม่รู้จักคิดหรือคิดไม่เป็น กระบวนการศึกษาก็จะไม่เกิด การให้การศึกษาที่ถูกทาง เริ่มต้นที่กระตุ้นให้คนรู้จักคิดให้ถูก ตั้งแต่ยังเด็กๆ นั่นแหละครับ


(มีต่อ 1)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบสาวเหตุปัจจัย

ผมมีนิทานบ้าง เรื่องเล่าขานกันมาไม่เชิงเป็นนิทานบ้าง มาเล่าสู่กันฟัง ฟังจบแล้วค่อยมาคิดว่ามันให้แง่คิดอะไรบ้าง

เรื่องแรก เป็นนิทานชาดก กระทาชายนายหนึ่งเลี้ยงลิงไว้เป็นฝูง แกอยู่กับลิงมานาน จนกระทั่งสามารถสื่อสารกันรู้เรื่องระหว่างคนกับลิงพูดให้ "เวอร์" ก็คือสามารถพูดภาษาลิงได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

กระทาชายนายนี้ปลูกต้นไม้ในสวนใหม่ๆ ไม่บอกว่าต้นไม้อะไร อาจเป็นมะม่วง หรืออะไรทำนองนั้น ต้นไม้ที่เพิ่งลงดิน ใหม่ๆ ย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่พอสมควร บังเอิญว่าแกมีธุระจะต้องไปต่างเมืองสักระยะหนึ่ง แกจึงสั่งให้หัวหน้าลิงช่วยดูแลต้นไม้แทนด้วย หัวหน้าลิงก็รับปากว่า นายไม่ต้องเป็นห่วง กูเอ๊ยผมจะดูแลให้อย่างดี เมื่อเจ้านายไปแกก็เรียกประชุมบริวารลิงทั้งหลาย บอกว่าเจ้านายก่อนจะไป ได้สั่งให้ข้าดูแลต้นไม้ให้ดี พวกเราต้องช่วยกันรดน้ำต้นไม้ให้นายนะโว้ย เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป รดวันเว้นวันก็พอ

รุ่งเช้าเจ้าจ๋อ ก็พาบรรดาบริวารไปตักน้ำรดต้นไม้ อย่างพร้อมเพรียง หัวหน้าลิงนั่งคิดอยู่พักหนึ่ง จึงร้องถามลูกน้องว่า "เฮ้ยพวกเอ็ง รดอย่างนั้นพวกเอ็งรู้ไหมว่า รากมันชุ่มน้ำหรือเปล่า" "จะรู้ได้ยังไงละ เจ้านาย" จ๋อน้อยตัวหนึ่งร้องถาม "ก็ถอนมันขึ้นมาดูซิวะ ถ้ามันชุ่มแล้วก็ยัดลงไป ถ้ามันไม่ชุ่มก็ยัดลงแล้วรดอีก แล้วถอนมาดูให้แน่ใจ แล้วค่อยยัดลงไปใหม่" มันอธิบายด้วยความภูมิใจ ในความรอบรู้ของตน

เหล่าบริวารลิงก็พร้อมเพรียงกันถอน-ยัด ถอน-ยัด พึ่บพั่บๆ อย่างน่าสรรเสริญ ประมาณสองสัปดาห์ กระทาชายเจ้าของสวนกลับมาด้วยความเป็นห่วงสวน จึงเรียกหัวหน้าลิงมาหา สอบถาม เกี่ยวกับเรื่องที่สั่งไว้

"เรียบร้อยครับเจ้านาย ผมกับลูกน้องพากันรดน้ำต้นไม้ตามที่นายสั่ง พรุ่งนี้เช้าเจ้านายไปดูได้เลย" เจ้าจ๋อรับรองอย่างมั่นใจ

รุ่งเช้า กระทาชายเจ้าของสวน รีบไปดูสวนกวาดตาไป รอบๆ แทบเป็นลมทั้งยืน ต้นไม้เพิ่งลงใหม่ๆ เฉาตายหมดสิ้น ไม่ตายยังไงไหวเล่าครับ พ่อเล่นถอน-ยัด ถอน-ยัด วันเว้นวันอย่างนั้น

เรื่องที่สองไม่ทราบว่าเป็นนิทานชาดก หรือเรื่องเล่าธรรมดา มีฤๅษีตนหนึ่ง ชื่อเสียงเรียงไรอย่าไปรู้เลย ผมผู้นำมาถ่ายทอดก็ไม่รู้ ฤๅษีแกเลี้ยงเด็กน้อยไว้เป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ อบรมสั่งสอนด้วยความรักมาตลอด วันหนึ่งฤๅษีแกจะเข้าป่าไปทำธุระ จึงสั่งลูกศิษย์ว่า ให้คอยดูไฟให้ดี อย่าให้ดับ ถ้าดับก็ให้ก่อขึ้นใหม่

เด็กน้อยมัวแต่เล่นเพลิน ลืมเติมเชื้อไฟ กองไฟก็เลยมอดดับลง ด้วยกลัวว่าหลวงพ่อฤๅษีจะดุ จึงจัดแจงจะก่อไฟใหม่

เคยเห็นหลวงพ่อเอาไม้ไผ่บางๆ สองชิ้นมาถูกันไปมาก็เกิดไฟ จึงคิดว่าไฟมันอยู่ในนั้นแหละ ว่าแล้วก็เอาไม้สองชิ้นมาสีกันไปมาอยู่พักหนึ่ง ก็ไม่เห็นมีไฟ

จึงเอามีดมาผ่าดู ผ่าเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็ไม่เห็นมีไฟ จึงเอามีดสับเป็นชิ้นๆ อย่างละเอียดก็ไม่ได้ไฟตามต้องการ หลวงพ่อฤๅษีกลับมา จึงเล่าให้ฟังว่า ตนพยายามหาไฟจากไม้ทั้งสอง หาอย่างไรก็ไม่พบ กระทั้งสับเป็นชิ้นๆ ก็หาไม่พบ

หลวงพ่อได้ฟังแล้วก็เอามือกุมขมับ ร้องดังๆ ว่า โธ่เอ๋ย อนิจจา อนิจจัง

นิทานก็คือนิทาน ฟังเล่นสนุกๆ ก็ได้ ฟังแล้วนำมาคิด ก็ย่อมให้ความรู้เพิ่มเติมอย่างน้อยก็ได้แง่คิด ที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต

ทางพระพุทธศาสนาท่านสอนโยนิโสมนสิการ แปลกันว่า การทำในใจโดยอุบายอันแยบคาย ถ้าแปลง่ายๆ ก็คือ "การคิดเป็น" หรือ "การคิดวิเคราะห์" มีถึง 10 วิธี ดังกล่าวแล้ววิธีแรกท่านเรียกว่า "คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย"

ในที่นี้ท่านพูดสองคำควบกันคือ เหตุ กับ ปัจจัย เหตุหมายถึงเหตุใหญ่ เหตุสำคัญ ปัจจัยหมายถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ท่านสอนให้มองว่าปรากฏการณ์บางอย่าง ที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดเพราะเหตุเพียงอย่างเดียว ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าปัจจัยหรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย

ยกตัวอย่าง ถ้าถามว่าต้นไม้เจริญเติบโตเพราะอะไร ถ้าตอบว่าต้นไม้ต้นนี้เจริญเติบโต ก็เพราะเมล็ด ต้นไม้ต้นนี้มาจากเมล็ด เพราะฉะนั้น เมล็ดจึงเป็นสาเหตุทำให้มีต้นไม้ต้นนี้

ตอบแบบนี้ก็ถูก แต่ถูกส่วนเดียว ถ้าจะให้ถูกครบถ้วนไม่มีที่เถียงเลย ก็ต้องตอบว่าเมล็ดเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่ง แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ช่วยให้ ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงามได้ เช่นดินปุ๋ยน้ำ อุณหภูมิการดูแลเอาใจใส่ของคน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงามทั้งนั้น ทั้งหมดนั้นแหละทางพระท่านเรียกว่า "เหตุปัจจัย" การคิดอะไรคิดให้รอบคอบ อย่างนี้เรียกว่า "คิดเป็น" เห็นผลปรากฏเฉพาะหน้าให้คิดสืบสาวหาเหตุ ปัจจัยว่า มันเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้

คนคิดเป็นตามนัยข้อแรก (คิดสืบสาวเหตุปัจจัย) จะเป็นคนคิดยาวมองไกล เห็นผล คิดสาวหาเหตุปัจจัย เห็นเหตุปัจจัยคิดคาดถึงผลที่จะเกิดข้างหน้า ไม่ใช่คิดตื้นๆ สั้นๆ เฉพาะหน้าเท่านั้น

หัวหน้าลิง และบริวารลิงในนิทาน คิดตื้นๆ ว่าต้นไม้ที่รดน้ำ จะต้องมีรากชุ่มน้ำ จึงจะเจริญงอกงาม การคิดเช่นนั้นก็ถูก เพราะการรดน้ำ ถ้ารดรากไม่ชุ่มน้ำ ต้นไม้ก็ไม่ได้น้ำเพียงพอ

แต่การถอนต้นไม้มาดูเพื่อให้แน่ใจ แล้วยัดลงดินใหม่นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ต้นไม้เฉาตาย ยังมีวิธีอื่นที่จะมั่นใจได้โดยไม่ต้องถอนต้นไม้ เช่น กะกำหนดเอาจากปริมาณน้ำที่เทรดลงไปแต่ละครั้ง แต่คิดไม่กว้างและไม่ไกลไปถึงว่า การถอนต้นไม้ทุกครั้งที่ รดน้ำต้นไม้ จะไม่มีโอกาสหยั่งรากลงดินในที่สุดก็จะเฉาตาย

เจ้าจ๋อและบริวารมองเหตุปัจจัยไม่ออก ถึงคิดเป็นอยู่บ้างก็คิดเป็นแบบลิง ไม่ใช่คิดเป็นแบบมนุษย์

มนุษย์ที่มีความคิดแบบลิงฝูงนี้ น่าเป็นห่วง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ให้หลีกเลี่ยง อย่ามอบงานรับผิดชอบที่สำคัญๆ ให้ทำเป็นอันขาด คนพวกนี้มีดีอย่างเดียว คือความขยัน แต่ต้องไม่ลืมว่า คนขยันอย่างโง่ๆ อันตรายต่อส่วนรวมที่สุด

เด็กน้อยในนิทานเรื่องที่สอง เป็นตัวแทนของคนที่มองเหตุปัจจัยไม่ชัด รู้อะไรเผินๆ มองอะไรมัวๆ ไม่กระจ่าง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รู้ว่าเหตุปัจจัยทำให้เกิดไฟคือ ไม้สีไฟสองชิ้น รู้ว่าถ้าเอาไม้สีไฟสองชิ้นนั้น

แต่รู้ไม่ครบวงจร ไม่รู้วิธีทำให้เกิดไฟขึ้นมาจริงๆ เด็กน้อยจะต้องเรียนรู้วิธีเอาไม้สีไฟ สองอันมาสีกันจะต้องจับอย่างไร จะต้องสีอย่างไร หนักเบาแต่ไหน สีนานแค่ไหน ทั้งหมดต้องอาศัยทักษะความเหมาะสมลงตัว ถ้าทำไม่ถูก ทำไม่เหมาะไม่ลงตัว ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดไฟขึ้นมาได้

เมื่อทำอย่างไรก็ไม่ได้ไฟ จึงเอามีดมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ยิ่งทำอย่างนั้น ยิ่งไม่มีทางหาไฟพบ หนำซ้ำ ยังทำลายไม้สีไฟของหลวงพ่อฤๅษีหมดสิ้น

เรื่องนี้ให้แง่คิดอย่างดีคือ เพียงแต่รู้ว่าอะไรคืออะไร มันเป็นอย่างไรยังไม่พอ ต้องลงมือทำจนเกิดความชำนาญด้วยจึงจะดี เช่นรู้ว่ารถคันนี้ควรจะขับอย่างไร จับพวงมาลัยอย่างไร เหยียบคลัทช์ (clutch) เหยียบเบรกอย่างไร เหยียบคันเร่งอย่างไร รู้แค่นี้ไม่พอ จะต้องทำเป็นตามนั้น และทำจนเกิดทักษะด้วย จึงจะเรียกว่า รู้เรื่องขับรถดี ฉันใดก็ฉันนั้น

พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักคิด สาวหาเหตุปัจจัย เห็นเหตุปัจจัยให้สาวหาผล เห็นผลให้สาวหาเหตุปัจจัย ก็มิได้หยุดอยู่แค่คิด รู้แค่นั้น ต้องทำตามที่คิดรู้นั้น จนเกิดทักษะด้วยจึงจะเรียกว่า คิดเป็น

รู้ว่าจราจรติดขัดเพราะอะไร จะไม่ให้จราจรติดขัด ต้องทำอย่างไร วงแหวนรอบนอก รอบใน ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่ให้รู้แล้วโอ้อวดกัน ต้องลงมือทำอย่างชำนิชำนาญ และทำอย่างถูกต้อง ทุกขั้นตอนด้วยนั่นแหละ จึงจะเรียกว่า "คิดเป็น" ในเรื่องการแก้ปัญหาจราจร

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้า สอนวิธีคิดไว้มากมาย หลายนัยเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เพราะปัญหา นั้นเกิดได้หลายทาง บางคนก็ได้ปัญญาเพราะคิดเอง วิเคราะห์วิจัยด้วยตัวเอง บางคนก็ได้ปัญญาเพราะลงมือกระทำ จนเกิดประสบการณ์ตรง

เมื่อพระพุทธเจ้า ท่านมีเป้าหมายคือการฝึกฝน อบรมคนให้เกิดปัญญาที่แท้จริง เพื่อใช้ปัญญาดำเนินชีวิต ทางใดที่จะก่อให้เกิดปัญญา พระองค์ก็จะทรงสอนหรือแนะนำ และเนื่องจากพื้นฐานการรับรู้หรือภูมิหลัง ของแต่ละคนแตกต่างกันไป วิธีการสอน วิธีการฝึกฝนจึงหลากหลาย

ในหมู่คนที่รู้ได้เพราะการคิด ท่านก็จะสอนวิธีคิดให้ถูก คิดให้เป็น เมื่อคิดถูก คิดเป็นก็ได้ปัญญา แต่ถ้าคิดไม่ถูกคิดไม่เป็นถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมี "ศักยภาพ" ในการคิดก็อาจไม่เกิดปัญญา หรือเกิดช้าก็ได้

มันก็เหมือนเมล็ดพืชนั่นแหละครับ สมมุติว่า เมล็ดมะม่วง ก็แล้วกัน ในเมล็ดมะม่วงนั้นมันก็มีศักยภาพในตัวที่จะงอกขึ้นมาเป็นหน่อ เป็นราก เป็นลำต้น มีอยู่ในเมล็ดเล็กๆ นั้นเสร็จสรรพ

แม้ว่าคนบางคนหรือหลายคนจะมี "ศักยภาพ" ในการคิดให้เกิดปัญญาอยู่ในตัว แต่ถ้าเขาไม่รู้วิธีคิด หรือคิดไม่ถูกคิดไม่เป็น เขาก็อาจไม่ได้ปัญญาเลย หรือได้แต่ได้ช้าก็ได้ ตรงนี้แหละครับ บทบาทของ "ครู" หรือผู้ชี้แนะแนวทางให้เป็นสิ่งจำเป็น

ครู ผู้ชี้แนะแนวทาง จึงต้องมีหลายเทคนิค หลายวิธีการ ที่จะนำไปแนะให้ศิษย์แต่ละคนแตกต่างกันไป

พระพุทธเจ้าผู้เป็น "ยอดครู" (บรมครู) จึงมีเทคนิคคิดไว้หลายวิธี เพื่อให้เหมาะแก่อุปนิสัย และภูมิหลังของแต่ละบุคคล ในพระไตรปิฎก กล่าวไว้ 10 วิธีคิดด้วยกัน คือ 1) คิดสืบสาวเหตุปัจจัย 2) คิดแยกแยะส่วนประกอบ 3) คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา 4) คิดแบบแก้ปัญหา 5) คิดแบบหลักการและความมุ่งหมาย 6) คิดแบบคุณโทษและทางออก 7) คิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม 8) คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม 9) คิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน และ 10) คิดแบบวิภัชชวาท


(มีต่อ 2)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงวิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย วันนี้ก็ว่าด้วยวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

พระท่านมักจะสอนกันว่าความเข้าใจผิด ความหลง หรือความไม่รู้ตามเป็นจริง มักจะเกิดเพราะ "ภาพรวม" ที่เรามองเห็น เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เข้าใจอะไรถ่องแท้ ตามที่มันเป็นจริงๆ จะต้องมองหรือคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ

ท่านยกตัวอย่างนิทานเรื่องหนึ่ง สามีภรรยาคู่หนึ่งเพิ่งผ่านการแต่งงานไปใหม่ๆ แบบที่โบราณว่าอยู่ด้วยกัน "ก้นหม้อยังไม่ดำ" อะไรทำนองนั้น เปรียบแบบนี้คนสมัยโลกาภิวัตน์ไม่เข้าใจ เพราะว่าไม่ได้ใช้หม้อดินหุงข้าวกินอีกต่อไปแล้ว เอาเป็นว่าเพิ่งแต่งงานกันใหม่ๆ ก็แล้วกัน

สามีเป็นคนขี้หึง เห็นภรรยาคุยกับใครที่เป็นบุรุษไม่ได้ หาว่าจะนอกใจทุกที วันหนึ่งเห็นภรรยาคุยกับชายคนหนึ่งอยู่ ก็โกรธหาว่าภรรยานอกใจ จึงทะเลาะกันอย่างรุนแรง ภรรยาทนอยู่ไม่ไหว จึงหอบผ้าผ่อนหนีสามีกลับบ้านแม่

สามีวิ่งตามภรรยาไป ระหว่างทางพบพระอรหันต์รูปหนึ่งเดินสวนทางมา จึงเอ่ยปากถาม

"พระคุณเจ้า เห็นสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม"

"สตรีหรือโยม ไม่เห็นมีนี่" พระท่านตอบเยือกเย็น

"สตรีสาวสวย อายุ 20 กว่า สูงโปร่ง ผิวขาวสวยเลย พระคุณเจ้าเห็นผ่านมาทางนี้ไหม" ชายหนุ่มบรรยายรูปร่างภรรยาให้พระคุณเจ้าฟัง

พระคุณเจ้าตอบอย่างเยือกเย็นเหมือนเดิมว่า "อ้อ...เมื่อกี้อาตมาเห็นโครงกระดูกโครงหนึ่งผ่านมาทางนี้ ไม่ได้ใส่ใจว่าหญิงหรือชาย"

ฟังดูก็เพียงนิทานแต่คิดให้ลึก ที่พระคุณเจ้าท่านพูดนั้น ท่านพูดตามที่ท่านมองเห็น ท่านมอง "ทะลุ" สมมติบัญญัติที่ชาวโลกเขายึดติด ทะลุเนื้อหนังมังสา ที่ปุถุชนหลงใหลได้ปลื้มว่ามันสวยมันงาม ทะลุผ่านไปถึง "สภาวะ" ที่แท้จริงว่า แท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอะไร มันก็คือส่วนประกอบทั้งหลายเกาะกุมกันอยู่ และลึกลงไปแล้วมันก็คือ "โครงกระดูก" ส่วนต่างๆ โยงใยกันอยู่นั่นเอง

ส่วนนี้คือกะโหลกศีรษะ ต่ำลงมาคือกระดูกคอลูกกระเดือก ต่ำลงมาก็คือกระดูกไหล่ ซี่โครง แขน ตะโพก ขา แข้ง เท้า ส่วนต่างๆ เหล่านี้ มันเชื่อมโยงกันอยู่โดยมีเนื้อหนังมังสาห่อหุ้มอยู่

มันก็เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ถ้ามองทะลุถึงขนาดนี้แล้ว ความเข้าใจก็จะกระจ่างขึ้นมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีสาระอะไร ความสวยความงามที่ว่านั้น มันเพียงความหลงใหล ความงมงาย เพราะมิได้รู้สภาวะที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้

ในพระศาสนา ท่านเน้นท่านย้ำกันมากว่าให้หัดมอง หัดคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ แยกมองทีละส่วนๆ แล้วจะเข้าใจความจริง ทางศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ความจริง แล้วจะได้ไม่ยึดติด ไม่หลงงมงายในกาม วิธีนี้ได้ผลมากในการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ดังที่ท่านได้รวมวิธีมอง วิธีคิดแบบนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติกรรมฐาน เรียกว่าอสุภกรรมฐาน (หัดมองว่าไม่งาม) การจะมองให้เห็นว่าของสิ่งนั้นไม่งาม ก็ต้องแยกแยะส่วนประกอบออกทีละชิ้นๆ หรือมองแยก

ถ้าหากมองรวมแล้ว จะไม่มีทางเห็นความจริง ยิ่งมองเท่าไรก็ยิ่งเห็นแต่ความงาม เหมือนชายหนุ่มขี้หึงมองภรรยานั่นแหละ ที่พูดมานี้เป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น แต่ถ้าพูดสำหรับปุถุชนคนมีกิเลส คนที่ยังจะต้องเวียนว่ายอยู่ในโลกอย่างพวกเราๆ ทั้งหลาย ที่ไม่ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานเล่า การมองแบบนี้มีประโยชน์อย่างไร

ผมว่ามีนะครับ สมมุติเอาง่ายๆ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าผู้หญิงที่เราหลงรักนั้น "สภาวะที่แท้จริง" ของเธอเป็นอย่างไร ลองใช้วิธีมอง วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบดูสิครับ จะเห็นความจริง

มองรวมๆ แล้ว "คุณติ๋ม" แฟนเรานี้สวยทีเดียว หุ่นงามสมส่วน ไม่อ้วนไม่ผอมกำลังดี มันช่างสวยอะไรเช่นนั้น ใช่ครับ ถ้ามองรวมๆ (อยากเรียกว่ามองลวกๆ มากกว่า)

แต่ถ้าใช้เวลาพินิจพิเคราะห์ไปทีละส่วนๆ ดูจะเห็นความจริงเพิ่มขึ้น

ใบหน้าที่ว่างามนั้น มีไฝฝ้าหลายจุดทีเดียว รูขุมขนก็ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ตาก็ชั้นเดียวแถมยังเขนิดๆ อีกข้างหนึ่งด้วย โหนกแก้มก็สูงไปหน่อยเหมือนสาวที่ราบสูง แถมจมูกบานไปนิด ดั้งก็หักไปหน่อย

ยิ่งดูตอนไม่แต่งหน้ายิ่งไม่สวยใหญ่ ซีดเซียวยังกับผี...ฯลฯ

ยิ่งดูละเอียดก็ยิ่งเห็นว่าที่เราว่างามๆ นั้นมันกลับไม่งามเสียแล้ว

เห็นหรือยังครับว่าการมองแบบแยกแยะส่วนประกอบช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงอย่างไร

ถ้าจะถามว่า แล้วสอนให้มองทำไมแบบนี้ เดี๋ยวสามีก็จะหาเรื่องเลิกกับภรรยากันหมดสิ เพราะแรกๆ เห็นเธอสวยงาม พอมองเห็นความไม่งามแล้ว เดี๋ยวก็จะมีปัญหา

ถ้าหยุดอยู่แค่นี้ มีปัญหาแน่ แต่ท่านมิได้สอนให้หยุดแค่นี้ ท่านสอนให้มองเลยต่อไปอีกว่า เมื่อเห็นว่าสังขารร่างกายมันไม่งดงามอะไร แล้วก็ไม่ควร "ยึดติด" ที่ความงามหรือไม่งามของร่างกาย แต่ให้แปรเรื่องงาม ไม่งามไปเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของคุณธรรมมากกว่า

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ อย่าถือรูปร่างเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ถือจิตใจสำคัญกว่า เพราะความสวยงามทางร่างกายเป็นของไม่จีรัง (หรือพูดให้ถูกร่างกายมันไม่งามเลยแม้แต่น้อย) ถ้าเรารักใครเพราะความงาม เมื่อความงามมันเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เราก็จะหมดรักได้

สามีไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะถือความงามเป็นเรื่องสำคัญ แรกๆ ก็ไม่ไปไหน เพราะภรรยายังดูได้อยู่ พอแก่ตัวไปรู้สึกอึดอัดที่อยู่กับ "พะโล้" จึงต้องไปหาใหม่ที่สวยงามกว่า "เก่าๆ มันเป็นสนิม ใหม่ๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม" อะไรทำนองนั้น

แต่ถ้าเข้าใจสภาวะจริงแท้ของสังขาร ว่าแท้ที่จริงมันไม่งามอะไร เราแต่งงานกันอยู่ด้วยกันไม่ใช่เพราะความงาม ไม่งามของร่างกาย แต่อยู่เพราะความงามทางใจมากกว่า เธอเป็นภรรยาที่ดีของเราเป็นแม่ที่ดีของลูก ยิ่งอยู่ด้วยกันนานเท่าไร ยิ่งเห็นความดีความงามของจิตใจเธอยิ่งขึ้นทุกวัน

เห็นหรือยังครับว่า เราสามารถนำวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบมาประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตแบบชาวบ้าน

ถ้าให้ลึกไปกว่านั้น การคิดการมองแบบแยกแยะองค์ประกอบนี้ รวมไปถึงการแยกแยะคุณค่าอยู่ด้วย และเราสามารถนำมาสอนให้เด็กๆ มองได้ด้วย เช่น เวลาเราพาลูกหลานไปซื้อของเล่น ก็หัดให้ลูกหลานเราเลือกของที่จะซื้อที่ "คุณค่า" ของมัน ไม่ใช่ที่ "ความสวยงาม"

"รถคันนี้สวยก็จริงลูก แต่ไม่ทน ใช้ไม่นานก็พัง เอาคันนี้ดีกว่า ราคาเท่ากันแต่ทนกว่า" อะไรทำนองนี้

เด็กๆ ที่ได้รับการปลูกฝังวิธีคิด วิธีมองแบบนี้ จะเติบโตมาด้วยความรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควร โตมามีปัญญาซื้อรถใช้เองก็จะเลือกซื้อรถเพื่อ "ขับขี่" มิใช่ซื้อรถมาเพื่ออวดโก้อวดรวย ดังที่เห็นกันอยู่เป็นจำนวนมากในสังคมไทยสมัยนี้


(มีต่อ 3)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา

วันนี้ถึงคิวการคิดเป็นตามนัยพุทธธรรม ข้อคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดาหรือคิดแบบไตรลักษณ์

"ไตรลักษณ์" คืออะไร บางท่านอาจถามขึ้นมาอย่างนี้ ไม่แปลกดอกครับเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาแม้ง่ายกว่าเรื่องนี้เยอะคนยังไม่รู้จักเลย เมื่อเอ่ยคำยากๆ เช่น ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา ย่อมจะ "เป็นงง" เป็นธรรมดา งงแล้วถามก็ดีไปอย่างจะได้อธิบายให้หายงง แต่ส่วนมากงงแล้วเฉยนี่สิครับ ไม่รู้จะช่วยให้หายสงสัยได้อย่างไร คนไทยไม่มีนิสัยช่างซักช่างถามเสียด้วย

ลักษณะ 3 ประการ ที่ปรากฏแก่สังขารทั่วไปเหมือนๆ กันหมด ไม่มีสังขารไหนได้รับการยกเว้น เรียกว่า "ไตรลักษณ์"

ถามต่อไปว่า "สังขาร" คืออะไร ตอบว่าสังขารคือ "สิ่งผสม" ทุกชนิดทุกอย่าง ทั้งที่มีใจครอง เช่น คน สัตว์ และไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา สิ่งเหล่านี้ผสมขึ้นจากองค์ประกอบอย่างน้อยก็คือ ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ

ของผสมเหล่านี้เกิดมาแล้วก็แปรเปลี่ยนและดับสลายไปตามกาลเวลา ไม่มีสิ่งไหนจีรังยั่งยืน หาตัวตนหรือหาเจ้าของมิได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถึงเวลามันก็แปรเปลี่ยนดับสลายไป

พูดภาษาพระก็ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระท่านจึงสอนให้หัดคิด หัดมองให้เห็นธรรมดาว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" เมื่อเห็นว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" ก็จะได้รู้จัก "ปลง" คือไม่ยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นเกินกว่าเหตุ ก็ไม่มีความทุกข์

ความจริง ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความเศร้าโศก อะไรเหล่านี้ มันไม่มีความหมายอะไรสำหรับคนที่เข้าใจธรรมะและปลงได้ คนที่ไม่เข้าใจ ปลงไม่ได้ต่างหาก ที่จะเป็นจะตายวันละไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน

พระพุทธศาสนาจึงสอนให้คิดให้เข้าใจความเป็นไปของธรรมดาตั้งแต่ต้นมือ เพื่อเตรียมใจไว้ทัน เมื่อประสบเข้ากับตัวเอง ไม่ใช่รอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด แบบ "เห็นโลงศพ ค่อยหลั่งน้ำตา" ไม่ฝึกไว้ก่อน ถึงเวลาเข้าจริงๆ มันคิดไม่ทันดอกครับ

สุภาษิตเอย คำพังเพยเอย ล้วนเป็นอุบายสอนให้ฝึกคิดรู้เท่าทันธรรมดาทั้งนั้น เช่น "ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ชีวิตนี้ไม่แน่ไม่นอน ตายแล้วเอาไปไม่ได้" แม้กระทั้งไปฟังสวดศพที่วัด ก็ยังเห็นตาลปัตรพระ คำสอนเตือนใจคล้องจองตั้งแต่ต้นแถวถึงปลายแถว "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น"

ใครไม่รู้จักคิด และไม่ "ได้คิด" แต่ต้นมือ ถึงคราวประสบเข้ากับตัวเองจริงๆ จะตั้งตัวไม่ทัน กลายเป็นบ้าเป็นบอ หรือ "เบลอ" ได้ง่ายๆ ดังเรื่องนางกีสาโคตมีในสมัยพุทธกาล

นางมีบุตรน้อยกำลังน่ารักหนึ่งคน เคราะห์ร้ายที่ลูกน้อยเป็นไข้ตาย นางไม่ยอมรับว่าลูกตาย คือยังทำใจไม่ได้กับการตายของลูก จึงคิดหลอกตัวเองว่า "ไม่จริงๆ เป็นไปไม่ได้ ลูกข้ายังไม่ตาย" อะไรทำนองนั้น

นางอุ้มลูกน้อยเที่ยวตระเวนถามหายามาให้ลูกกิน เพื่อจะฟื้น ประชาชนต่างก็หาว่าผู้หญิงคนนี้บ้าแล้ว ลูกตายแล้วยังจะหายามาให้กิน ไม่มีคนตายที่ไหนมันฟื้นได้ดอก

นางเถียงว่า ลูกนางยังไม่ตาย เพียงแต่สลบไปเท่านั้น "จะรู้ว่าตายหรือไม่ ลองเอาสำลีแตะจมูกดูซิ มีลมหายใจออกมาไหม" ชาวบ้านคนหนึ่งแนะวิธี นางก็ไม่ยอมทำ กลัวว่าจะพบความจริง ปากก็เถียงว่า "ลูกข้ายังไม่ตาย ทำไมมาแช่งลูกข้า" ในที่สุดก็ไม่มีใครสนใจไยดีนาง เพราะเข้าใจว่านางบ้าแล้ว

วันหนึ่งบัณฑิตท่านหนึ่งบอกนางด้วยความสงสารว่า "เธอไปหาพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันวิหารสิ พระพุทธเจ้าท่าน อาจบอกยาให้ลูกเธอฟื้นได้"

ได้ยินดังนั้น นางจึงรีบอุ้มศพลูกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามว่า "พระองค์มียาทำให้ลูกชายหม่อมฉันฟื้นไหม"

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ถ้าจะสอนให้นางคิด ให้รู้เท่าทันธรรมดา ว่าทุกอย่างเมื่อถึงเวลามันก็ดับสลาย นางก็คงคิดไม่ได้ หรือไม่ได้คิด เพราะไม่เคยฝึกฝนมาก่อน จึงทรงหาอุบาย ให้นางคิดได้ด้วยประสบการณ์ตรงของตน จึงตรัสว่า

"ตถาคตรู้วิธีปรุงยาให้ลูกเธอ ขอให้เธอไปหาเม็ดพรรณผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง แล้วตถาคตจะปรุงยาให้"

นางแสดงสีหน้าดีใจเห็นได้ชัด กราบแทบพระบาทพระพุทธองค์ จะรีบไปหาเมล็ดพรรณผักกาดมาให้พระองค์ปรุงยา พระองค์ตรัส "ต้องไปเอามาจากเรือนที่ไม่มีคนตายเลยนะ เรือนไหนมีคนตายอย่าเอามา ใช้ทำยาไม่ได้"

นางอุ้มศพลูกน้อยเข้าไปในหมู่บ้าน ขอเมล็ดพรรณผักกาดจากเรือนแรก พอเขาเอามาให้นางก็ถามว่า ในเรือนนี้เคยมีคนตายบ้างไหม เจ้าของบ้านตอบว่า ปู่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อสามเดือนที่ผ่านมานี้เอง เมื่อรู้ว่ามีคนตายนางก็ไม่รับเมล็ดพรรณผักกาด

จากหลังคาเรือนที่สอง ที่สาม ที่สี่... จนกระทั่งหมดหมู่บ้านนางไม่ได้เมล็ดพรรณผักกาดแม้แต่เมล็ดเดียว เพราะถามบ้านไหนเขาก็ว่ามีคนตายมาแล้วทั้งนั้น ในที่สุดนางก็ "สว่างวาบ" ขึ้นในใจเป็นการ "ได้คิด" หรือ "ปลงตก" หรือ "ญาณหยั่งรู้" อะไรก็แล้วแต่จะเรียกเถอะครับ

เหมือนคนที่ตามืดบอดมาแต่กำเนิด มีหมอดีมารักษาหาย ลืมตาขึ้นมองเห็นแสงสีรอบตัว หรือเหมือนคนที่อยู่ในความมืด พอเปิดไฟสว่างจ้า ความมืดก็หายไปฉะนั้น

บัดนี้นางได้รู้ถึงธรรมดาของสังขารทั้งปวงแล้ว ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาแล้วก็แตกดับสลายไปตามกาล คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่ใช่ว่าตายเฉพาะบุตรชายของนาง ตัวนางก็จะตายด้วย

คิดได้ดังนี้ นางก็ตรงไปยังพระเชตวันวิหาร พระพุทธองค์ประทับรออยู่แล้ว นางเข้าไปก้มกราบแทบพระยุคลบาท ด้วยใบหน้าที่มีประกายสดใส

"ได้หรือเปล่า เมล็ดพรรณผักกาด" พระสุรเสียงตรัสถามเยือกเย็น

"ไม่ได้ พระเจ้าค่ะ"

"ทำไม ไม่มีใครมีหรือ" ตรัสถามอีก

"มิได้ พระเจ้าค่ะ ทุกครัวเรือนมีเมล็ดพรรณผักกาดทั้งนั้น แต่ทุกครัวเรือน เคยมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น" นางตอบแล้วกราบทูลต่อไปว่า

"หม่อมฉันเข้าใจแล้วว่า ทุกคนต้องตาย ไม่เฉพาะบุตรชายของหม่อมฉัน รวมถึงหม่อมฉันและคนอื่นๆ ด้วย"

ตอนแรกนางไม่เข้าใจธรรมดาของชีวิต จึงเศร้าโศกเสียใจกับการตายของบุตรชาย จนสติสตังค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ต่อมาเมื่อได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง คือเห็นว่าคนอื่นก็ตายเหมือนกัน ทั่วทั้งหมู่บ้าน ไม่มีครอบครัวไหนที่ไม่มีคนตายเลย เห็นดังนี้แล้ว ก็สามารถระงับความโศกได้ ปลงได้แล้ว ก็โล่งสบาย เป็นสุข

ร้องไห้จนน้ำตาจะเป็นสายเลือดอยู่หยกๆ พลันน้ำตาแห้งหาย ยิ้มได้อย่างมีความสุขเพียงชั่วไม่กี่อึดใจ ทุกข์โศกก็คลาย กลายเป็นความสุขโสมนัส

รวดเร็วอะไรปานนั้น

วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ท่านแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1.ขั้นแรกที่สำคัญที่สุดยอมรับความจริง คือให้ยอมรับว่า ความจริงมันเป็นเช่นนี้ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นจริงๆ และทุกคนก็จะพบพานอย่างนี้เหมือนๆ กันไม่มียกเว้น แม้ว่าขณะนี้ดูเหมือนว่าเราคนเดียวที่ได้รับอย่างนี้ คนอื่นก็เห็นเขาดีสบายอยู่ก็ให้เข้าใจว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาก็จะตกอยู่ในสภาพเหมือนกับเราเหมือนกัน

บางคนไม่ยอมรับความจริง หลอกตัวเองตลอดเวลาว่า เราไม่แก่ เรายังสาวยังสวย ด้วยความกลัวแก่ก็ไปดึงหน้าดึงหลังให้วุ่นวายไปหมดก็อย่างว่าแหละครับ "ธรรมดา" ของสังขารมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดึงยังไงๆ มันก็ยังหย่อนยานเหี่ยวย่นจนได้ กลุ้มอกกลุ้มใจที่ตัวเองแก่ลงทุกวัน เหี่ยวย่นมากขึ้นทุกวัน ไม่เหมือนสาวๆ วัยรุ่น ยิ่งดูก็ยิ่งสวย ก็เลยทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แทนที่มันจะดีขึ้น กลับแก่เร็วเข้าอีก

ถ้าเขายอมรับความจริงเสียว่า เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ไม่แก่เฉพาะเรา สาวๆ หน้าใสๆ ที่เราอิจฉานักหนานั้น ก็จะแก่ด้วยเมื่อถึงเวลา อย่างนี้ก็จะสบายใจ ไม่เป็นทุกข์

2.ขั้นที่สองแก้ไขไปตามเหตุปัจจัย คือ รู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้นก็ปฏิบัติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้วยใจที่เป็นอิสระ เช่น เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามกาล ก็แต่งเนื้อแต่งตัวให้เหมาะสมกับวัย จะเสริมเติมแต่งบ้างก็พองามๆ ไม่ขัดกับวัย อย่างนี้ก็จะไม่เป็นทุกข์


(มีต่อ 4)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบแก้ปัญหา

วันนี้ขอว่าด้วยเรื่อง "คิดเป็นตามนัยพุทธธรรม" ต่อครับ เอาให้จบทั้ง 10 วิธีคิดเลย ว่าไปทีละวิธีเดี๋ยวก็จบเองแหละน่า

วิธีที่ 4 เรียกว่า คิดแบบอริยสัจ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็ว่า คิดแบบแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาที่ถูกต้องเขามีแบบของเขาอยู่ ถ้าไม่แก้ตามแบบที่ว่านี้ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงแก้ปัญหาว่าอย่างนั้นเถอะ ทำไมเวลาแก้อะไรแล้วยุ่งจึงมักจะเปรียบกับลิงก็ไม่รู้ อาจเป็นเพราะลิงมันเป็นสัตว์ที่ชอบทำอะไรต่อมิอะไรเสมอไม่หยุดนิ่ง เนื่องจากสมองลิงมันก็แค่สมองลิง ไม่ได้ฉลาดเฉลียวอะไรนัก มันจึงมักทำอะไรสับสนวุ่นวายเสมอ มีนิทานมากมายเกี่ยวกับความยุ่งของลิง เช่น

ลิงทอดแห ว่ากันว่าลิงมันเห็นคนทอดแหได้ปลากินทุกวัน มันก็อยากจะทำตามบ้าง มันจึงไปเอาแหมาคลี่ๆ แล้วก็โยน หมายจะให้แหลงไปในน้ำ แต่เหวี่ยงอีท่าไหนไม่รู้ แหไปพันเอา มันก็ตกน้ำตูม ดิ้นตายในน้ำนั่นเอง เพราะแหวกแหออกมาไม่ได้

ลิงติดตัง ไอ้จ๋อแสนซนอีกนั่นแหละ เห็นคนเขาเอาตังไปวางไว้ สำหรับดักสัตว์ (ไม่ต้องการดักลิงดอกครับ) ด้วยความเป็นสัตว์มืออยู่ไม่สุข มันจึงเอามือข้างหนึ่งไปจับมือก็ติดตัง แกะไม่ออก เท้าซ้ายติดอีก เอาเท้าขวาถีบ เท้าขวาก็ติดอีก เหลือแต่ปาก จึงเอาปากกัด ปากเจ้ากรรมก็ติดอีก คราวนี้ก็ดิ้นใหญ่ กลิ้งหลุนๆ เหมือนลูกบอลถูกนักฟุตบอลดาวซัลโวเตะยังไงยังงั้น

ลิงล้วงมะพร้าว สมุนพระรามแสนซน เห็นคนเขาเฉาะมะพร้าวอ่อนขาย ด้วยความอยากจะกิน มันจึงแอบขโมยเวลาเจ้าของเขาเผลอ วิ่งขึ้นบนต้นไม้เอามือล้วงเนื้อมะพร้าวเต็มกำมือแล้วเอามือออกไม่ได้ มันตกใจเป็นการใหญ่ แปลกใจว่าเวลาเข้าทำไมเข้าได้ เวลาออกทำไมออกไม่ได้ มันจึงสลัดมือเร่าๆ สลัดยังไงก็ไม่หลุด จนกระทั้งพลัดตกต้นไม้ตายแหงแก๋

ลิง "หำแตก" ช่างไม้เขาเลื่อยไม้ยังไม่เสร็จ เอาลิ่มตอกไว้ กะว่าวันรุ่งขึ้นจะมาเลื่อยต่อ ไอ้จ๋อตัวหนึ่งไปดึงลิ่มสลักออกด้วยความซน ขณะที่นั่งดึงลิ่มสลักอยู่นั้น "หำ" (ลูกอัณฑะ) หย่อนลงตรงกลางพอดี พอลิ่มสลักหลุด ไม้สองซีกก็ดีดเข้าหากันหนีบ "หำ" แตกละเอียด แล้วมันจะเหลืออะไร

ลิงรดน้ำต้นไม้ เจ้านายสั่งให้พาบริวารลิงรดน้ำต้นไม้ขณะเจ้านายไม่อยู่หลายวัน เจ้าจ๋อมันสั่งให้บริวารถอนต้นไม้ทุกต้นมาดูว่า รากชุ่มน้ำหรือยังหลังจากรดน้ำแล้ว ชั่วเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ เจ้าของกลับมาดูสวน ลมแทบจับ เพราะต้นไม้เฉาตายเกลี้ยงสวน (เรื่องนี้เคยเล่าให้ฟังแล้ว)

นิทานก็คือนิทาน อ่านให้สนุกเฉยๆ ก็ย่อมได้ แต่ถ้าจะเอา "คติธรรม" จากนิทานก็ย่อมได้เช่นกัน เรื่องของลิงทั้ง 5 เรื่องนี้แสดงถึงการแก้ปัญหาไม่เป็นของลิง ลิงมันจึงประสบความยุ่งยาก บางตัวถึงกับเสียชีวิต ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ อยู่เฉยๆ ยังจะดีกว่า

ลิงมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ปัญหาจะต้องทำอย่างไร พูดให้เข้าหลักวิชาก็ว่า ลิงไม่รู้การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ

อริยสัจ คือ หลักคำสอนที่สอนให้รู้ว่าสภาพปัญหาคืออะไร

สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน อะไรบ้าง

ปัญหานี้มีทางแก้ไหม ถ้ามี มีกี่วิธี และวิธีไหนที่ดีที่สุด

นี่แหละครับคือขั้นตอนของการแก้ปัญหาแบบอริยสัจ ในกระบวนการแก้ปัญหาแบบอริยสัจนี้ ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่สำคัญที่สุด การกระทำ (กรรม) และความต่อเนื่องของการกระทำ (วิริยะ) เป็นส่วนประกอบทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สรุปให้ชัดๆ ก็คือ การจะแก้ปัญหาได้ จะต้องรู้สภาพปัญหา รู้สาเหตุของปัญหา รู้ว่าปัญหาต่างๆ นั้นหมดไปได้

และต้องลงมือทำหรือแก้ปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง

พระพุทธเจ้าของเรานั้น เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายสิตธัตถะ ทรงรู้ปัญหาที่รุมเร้าจิตใจมนุษย์ทั้งปวง คือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ตามแรงกรรมดีและชั่วที่แต่ละคนทำไว้ เบื้องแรกนั้นทรงรู้ว่าตัวปัญหาคืออะไร และรู้ด้วยว่าสาเหตุมาจากอะไร แต่ดูเหมือนว่า วิธีแก้ปัญหานี้ พระองค์ยังไม่ทรงทราบแน่ชัด

คือทรงคิดว่าการทรมานตนเองให้ลำบากด้วยตบะวิธีต่างๆ นั้นคือทางแก้ปัญหา ทางที่จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ พระองค์จึงทรงบำเพ็ญตบะ (ทรมานตน) ต่างๆ นานา ท้ายที่สุดทรงลดอาหารลงทีละนิดๆ จนกระทั่งไม่เสวยอะไรเลย จนร่างกายผ่ายผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก อันเรียกว่า "ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา"

เมื่อการกระทำเช่นนั้นมิใช่ทางแก้ปัญหา พระองค์จึงไม่ประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆ ว่าทรง "ล้มเหลว" โดยสิ้นเชิง แทบจะเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว ถ้าอาจถึงแก่ชีวิตก็ได้

เดชะบุญ พระองค์ทรง "ได้คิด" ว่าทางแก้ปัญหามิใช่อยู่ที่การอดอาหาร เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของจิตใจ การจะหลุดพ้นจากกิเลสที่รึงรัดใจ แต่ไปทรมานร่างกายย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่ถูกควร จะต้องฝึกฝนอบรมจิตใจ และร่างกายเองก็ต้องบำรุงให้มีพลังพอที่จะทำความเพียรต่อไป เมื่อร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง จิตใจก็มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย (ดังคำกล่าวว่า "จิตใจที่สมบูรณ์ ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง" อะไรทำนองนั้น)

ทรงค้นพบ "ความพอดี" ของร่างกายและจิตใจ ความพอดีของแนวความคิด ไม่สุดโต่งไปทางข้างใดข้างหนึ่ง และความพอดีของการปฏิบัติ ไม่ย่อหย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไปจนกลายเป็นความทรมาน

เราเรียกการค้นพบทางที่ถูกของพระองค์ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" (ทางสายกลาง) นี้แลคือทางแก้ปัญหาที่ว่ามาข้างต้น

เมื่อทรงรู้ชัดว่าทางแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไร จากนั้นพระองค์ "ลงมือปฏิบัติ" ด้วยวิริยะ อุตสาหะ จนในที่สุดก็แก้ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ อันเรียกตามศัพท์ศาสนาว่า "บรรลุนิพพาน" (บรรลุถึงความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล)

ที่ยกวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้มาให้ดูก็เพื่อแสดงความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าจะรู้ในเบื้องต้นว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุของปัญหาคืออะไร แต่ไม่รู้ทางแก้ที่ถูกต้อง ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดังเจ้าชายสิตธัตถะในตอนแรกนั่นแหละครับ

นี่ขนาดท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านยังพลาดพลั้งได้ในตอนแรก สำมะหาอะไรกับเราปุถุชนคนธรรมดา จะไม่พลาดพลั้งบ้าง อันนี้เท่ากับให้กำลังใจเรานะครับ อย่ากลัวเลย ถ้าเราจะผิดพลาดบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว ขอแต่ให้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาก็ใช้ได้แล้ว สักวันหนึ่งคงรู้วิธีแก้ และแก้ได้

บางครั้งถึงจะรู้ทางแก้แต่เป็นทางแก้ที่ไม่ค่อยดีนัก แม้ปัญหาจะแก้ได้ก็จริง การแก้ปัญหานั้นก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ไม่ควรที่วิญญูชนจะเอาเป็นแบบอย่าง

นึกตัวอย่างอื่นไม่ออก ขอยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนหนึ่งแก้ปัญหาก็แล้วกัน เรื่องนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว ขออนุญาตนำมาเล่าอีก เพราะมันจำเป็นจริงๆ หาเรื่องอื่นที่เหมาะสมกว่าไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์ใหญ่คนนี้ มีปัญหาคือรำคาญเสียงแมวที่ร่ำร้องขอเข้าออกห้อง ขณะแกทดลองวิทยาศาสตร์อยู่ในห้องแล็บ

แกรู้ว่าสาเหตุของปัญหาก็คือ แมวมันอยากเข้าอยากออกห้องทดลองเวลาที่มันต้องการ

แกรู้วิธีแก้เหมือนกัน คือรู้ว่าถ้าเจาะช่องให้แมวมันออกเสีย แมวมันก็จะได้เข้าออกตามต้องการ จะเข้าจะออกเวลาไหนมันก็ย่อมทำได้ตามที่มันต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็ไม่ต้องมาร้องเหมียวๆ ขอเข้าขอออกเสียงหนวกหูจะหมดไป พูดง่ายๆ ว่า ปัญหานี้แก้ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ

แต่วิธีแก้ปัญหาของแกไม่ชัดเจน แกจึงเจาะช่องสองช่อง ช่องใหญ่สำหรับแมวตัวใหญ่ ช่องเล็กสำหรับแมวตัวเล็ก

แก้ปัญหาได้จริง แต่การแก้แบบนี้คนฉลาดเขาไม่ทำกัน ยิ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใครๆ ยกย่องในมันสมองอันปราดเปรื่องด้วยแล้วทำอย่างนี้เขาจะหัวเราะเยาะเอา

ก็นำมาเล่าขานหัวเราะเยาะมาจนบัดนี้แหละครับ

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแบบอริยสัจ จะต้อง "รู้" ทุกขั้นตอน เมื่อรู้แล้วก็ลงมือทำ และทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าปัญหา ทั้งหมดจะได้รับการแก้ไข ฉะนี้แลโยมเอ๋ย


(มีต่อ 5)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 14 ก.ย. 2008, 7:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบสัมพันธ์หลักการกับความมุ่งหมาย

คราวนี้มาถึงวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "คิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์" แหมศัพท์เทคนิคทางพระเปี๊ยบเลย ฟังแล้วไม่เข้าใจ อรรถ แปลว่า ความหมาย, ความมุ่งหมาย ธรรม แปลว่า หลักการ เพราะฉะนั้น อรรถธรรมสัมพันธ์ น่าจะแปลความชัดๆ ว่า ความสัมพันธ์กันระหว่างหลักการกับความมุ่งหมาย

คิดอะไรก็ตาม ถ้าคิดให้หลักการกับความมุ่งหมายสัมพันธ์สอดคล้องกัน ความคิดนั้นจะนำไปสู่การกระทำที่ประสบผลสำเร็จ ไม่เขวออกนอกทาง

ขอยกตัวอย่างในทางพระศาสนา (ก็กำลังเขียนบทความทางพระศาสนา จะยกตัวอย่างนอกวัดก็ดูกระไรอยู่ ใช่ไหมครับ) คนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ถ้าถามตัวเองว่า การบวชคืออะไร บวชทำไม

คำตอบอาจมีว่า การบวชคือ การสละโลกียวิสัย มาบำเพ็ญสมณกิจ หรือครองเพศบรรพชิต ฝึกฝนอบรมตนตามหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) หรือถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ว่า "บวชเรียน" นี่คือ "หลักการ" ของการบวช

ถ้าคนบวชไม่สละ ไม่ละ ความเคยชินที่ฆราวาสเคยทำ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท การนุ่งห่ม การกิน แม้กระทั่งการพูดการจา เคยประพฤติตามใจอย่างไร เมื่อสมัยยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่า ผิดหลักการของการบวช

ถ้าบวชมาแล้ว อยู่เฉยๆ ไม่ใส่ใจฝึกฝนอบรมตนตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา เช้าก็บิณฑบาต บิณฑบาตมาแล้วก็ฉัน ฉันเสร็จก็พักผ่อน ไม่ทำอะไรเสียหายแก่พระศาสนาก็จริง แต่ก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรแก่พระศาสนา อย่างที่เขาพูดว่า "เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด" อย่างนี้ก็ผิดหลักการของการบวช

ถ้าถามต่อไปว่า บวชเรียนไปเพื่ออะไร ก็จะเป็นการถามถึง "ความมุ่งหมาย" ของการบวชทันทีครับ

คนที่คิดไม่สัมพันธ์กันระหว่างหลักการกับเป้าหมาย จะเขวและออกนอกทางได้ง่าย มีพระสูตรอยู่สูตรหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้น่าสนใจมาก

ทรงเล่าเปรียบเทียบว่า มีบุรุษคนหนึ่งอยากได้แก่นไม้ แบกขวานเดินเข้าป่าเพื่อหาแก่นไม้ บังเอิญว่าแกไม่รู้จักแก่นไม้ แกไปเอากิ่งและใบไม้มา เข้าใจว่าเป็นแก่นไม้ นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นไม้ตามปรารถนา

คนที่สองแบกขวานเข้าป่าด้วยจุดประสงค์เดียวกัน เข้าใจว่าสะเก็ดไม้เป็นแก่น จึงถากเอาสะเก็ดไม้มา นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นตามประสงค์

คนที่สามแบกขวานเข้าป่าเช่นเดียวกัน ถากเอาเปลือกไม้มาด้วย เข้าใจว่านี้แหละคือแก่นไม้ล่ะ นายคนนี้ก็เหลวอีก ไม่ได้แก่นไม้ตามประสงค์

คนที่สี่แบกขวานเข้าป่าเช่นกัน ถากเอากระพี้มา ด้วยเข้าใจผิดว่านี่แหละแก่นไม้ล่ะ นายคนนี้ก็ไม่ได้แก่นไม้ตามประสงค์

คนสุดท้าย เดินเข้าป่าพร้อมขวานในมือ โค่นต้นไม้ตัดเอาแก่นไม้มา นายคนนี้ได้แก่นไม้ตามประสงค์

เรื่องที่ทรงยกมาเล่านี้ สมมุติเอาเพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ทรงต้องการสอนเท่านั้น มิใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง เรื่องจริงคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักว่าแก่นไม้ดอกครับ

ทรงเปรียบกับคนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา บางคนบวชมาเอากิ่งและใบของพระศาสนา บางคนบวชมาเอาสะเก็ดไม้ บางคนบวชมาเอาเปลือกไม้ บางคนบวชมาเอากระพี้ไม้ บางคนบวชมาเอาแก่นไม้

บางคนบวชมาแล้ว มีญาติโยมเคารพนับถือมาก นำเอาลาภสักการะมาถวาย ก็ยินดีเพลิดเพลินในลาภสักการะนั้น ภูมิใจที่ตนมีชื่อเสียง เป็นพระดัง ใครๆ ก็รู้จัก คนเช่นนี้เรียกว่าบวชมาได้ "กิ่งและใบของพระศาสนา"

บางท่านไม่พอใจแค่นั้น ตั้งในการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ได้รับยกย่องชมเชยจากประชาชนว่าเป็นพระที่เคร่งศีล เคร่งวินัยอย่างยิ่งชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว รู้สึกภาคภูมิใจในความมีศีลเคร่งครัดของตน ไม่มีพระรูปใดเท่า ท่านผู้นี้เรียกว่าบวชมาได้ "สะเก็ดพระศาสนา"

บางรูปไม่พอใจแค่ชื่อเสียง หรือความมีศีลเคร่งครัด พยายามบำเพ็ญสมาธิภาวนา จนได้ญาณระดับต่างๆ ท่านรูปนี้เรียกว่าบวชมาเอา "เปลือกพระพุทธศาสนา"

บางรูปไม่พอใจแค่นั้น ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาจนกระทั่งได้ "ญาณทัสสนะ" (การรู้เห็น) ระดับต้นๆ คือเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน ท่านผู้นี้เรียกว่าบวชมาได้ "กระพี้พระศาสนา"

การบวชมาฝึกฝนตน หรือบวชเรียน เรียกว่า "หลักการ" ของการบวช

บวชมาเรียนเพื่อความมุ่งหมายอะไรนั้นเป็น "ความมุ่งหมาย" ของการบวชเรียน

ถ้าผู้บวชมามองความมุ่งหมายไม่ชัด ไม่สัมพันธ์กับหลักการก็จะเขวได้ คือแทนที่จะบรรลุถึงเป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ ก็จะออกนอกลู่นอกทางไป

ส่วนจะนอกทางไปใกล้ หรือไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนมองความมุ่งหมายชัดหรือไม่ชัดแค่ไหน

คนที่มองว่าบวชมาเพื่อแสวงหาลาภสักการะ และชื่อเสียงก็จะได้แค่ลาภสักการะและชื่อเสียง คนที่มองไกลกว่านั้น คือมองว่าบวชมาเพื่อรักษาศีล เพื่อได้ญาณ... ก็จะได้ศีล ได้ญาณ

การมีศีล มีญาณ ถึงจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีแล้ว ถือตนว่ามีศีล มีญาณมากกว่าคนอื่น เอาความมีศีล มีญาณนั้นมาข่มคนอื่น ก็มิใช่เรื่องดีอะไร กลับจะทำให้ "ติด" อยู่เพียงแค่นั้นไม่มีทางพัฒนาไปกว่านั้น

หลักการของการบวชในพระพุทธศาสนา คือการสละโลกียวิสัย เพื่อความมุ่งหมายคือการบรรลุการสิ้นกิเลส ผู้บวชเข้ามาบางคน มองหลักการกับความมุ่งหมายเขวไป ไม่สัมพันธ์กัน จึงทำให้การบวชของเขาแทนที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายนั้น กลับเห่อออกนอกทางไป ถึงกับกู่ไม่กลับ ตัวอย่างมีมากมาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ในอดีตเช่นพระเทวทัต บวชเข้ามาในตอนแรกก็ดีอยู่ ต่อมาเมื่อเห็นญาติโยมไม่ค่อยสนใจตน เวลามาวัดก็มักจะถามถึงแต่พระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ เช่นพระสารีบุตรอยู่ที่ไหน พระโมคคัลลานะอยู่ที่ไหน พระมหากัสสปะอยู่ที่ไหน ก็นึกไม่พอใจ เกิดทิฐิมานะขึ้นว่า ท่านเหล่านั้นเป็นใคร คนธรรมดาสามัญมาบวชแท้ๆ เราเป็นถึงขัตติยกุมารออกบวช จะมีใครให้ความสำคัญแก่เราสักคนก็ไม่มี

นี้คือจุดเขวจุดแรก คือแทนที่จะมั่นใน "ความมุ่งหมาย" ของการบวชว่า บวชมาฝึกฝนอบรมตนเพื่อบรรลุธรรมชั้นสูง มิใช่เพื่อการยกย่องสรรเสริญจากญาติโยม มิใช่เพื่อลาภสักการะ

เปลี่ยนความมุ่งหมายใหม่ว่า "ข้าจะต้องแสดงความสำคัญให้เขาเห็นว่า เทวทัตมิใช่พระกระจอก"

แล้วเทวทัตก็ไปเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูกุมารให้เป็นศิษย์ อชาตศัตรูกุมารยังเด็กเกินกว่าจะมองเจตนาอันเป็นอกุศลของเทวทัตออกจึงยอมมอบตนเป็นศิษย์ แล้วแต่ท่านอาจารย์จะสั่งสอนอบรม หรือสั่งให้ทำอะไรยินดีปฏิบัติตาม

จะโทษอชาตศัตรูก็ไม่ได้ เพราะเธอยังบริสุทธิ์เกินไป มี "ประสบการณ์ทางศาสนา" น้อยย่อมถูกหลอกได้ง่าย คนสมัยนี้ก็เถอะ อย่าไปนึกว่าจบเป็นบัณฑิต เป็นนักวิชาการทางโลกนี้ ปริญญาสูงๆ จะไม่ถูกอลัชชีหลอก คนพวกนี้หลอกง่ายกว่าโยมมีโยมมาธรรมดาๆ เสียอีก เพราะไม่มีประสบการณ์ทางศาสนา ไม่ค่อยรู้เรื่องศาสนา ไม่มี "ภูมิคุ้มกัน" มากเท่ากับโยมมีโยมมา ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการพระศาสนาตลอด ย่อมมองออกว่าอะไรเป็นอะไร ใครจะมา "ล้างสมอง" น่ะยาก ล้างสมองปัญญาชนง่ายกว่า

ในที่สุดเทวทัตก็ออกนอกลู่นอกทาง ไปไกลจน "สุดกู่" ประสบความวิบัติดังที่ทราบกันแล้ว นี้ก็เพราะมองหลักการไม่สัมพันธ์กับความมุ่งหมาย ไม่พยายามรักษาวิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้น

อลัชชีที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ ถูกไล่ให้นุ่งเขียวนุ่งขาว บ้างก็เข้าคุก บ้างก็เผ่นหนีไปเป็นโรบินฮู้ดต่างแดนนั้น ล้วนแต่คนไม่รู้จักคิดแบบ อรรถธรรมสัมพันธ์ ทั้งนั้นแหละครับ


(มีต่อ 6)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.ย. 2008, 7:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบคุณโทษและทางออก

วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า “คิดแบบคุณโทษและทางออก” เป็นวิธีคิดแก้ปัญหาได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะในกระบวนการคิดเช่นนี้ บุคคลจะได้ฝึกเป็นคนมองอะไรกว้างรอบด้าน และเห็นทางออกอันเป็นแนวปฏิบัติชัดเจน ไม่ตันว่าอย่างนั้นเถอะ

การให้การศึกษาอบรมตั้งแต่เด็กก็สำคัญ ถ้าพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ไม่เปิดโอกาสหรือไม่แนะให้เด็กรู้คิด คิดหลายๆ ทางแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาการคิดแบบคุณโทษและทางออกค่อนข้างจะยาก

สมัยยังเด็ก (ความจริงไม่เด็กแล้วล่ะ) เรียนวรรณคดีไทย ผู้รู้ท่านได้กำหนดให้เรียนสิ่งที่เรียกว่า “วรรณคดี” ครูบาอาจารย์ก็เอาหนังสือที่เขากำหนดมาให้เรียนนั้นมาสอนว่า หนังสือเรื่องนี้ดีอย่างไร เพราะอย่างไร ให้คติแง่คิดอย่างไร คนแต่งแต่งเก่งอย่างไร ล้วนแต่ดีๆ ทั้งนั้น เพราะว่าเป็นหนังสือ “วรรณคดี”

“วรรณคดี” ท่านให้คำจำกัดความว่า หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี เรียกว่าวรรณคดี ถ้าเป็นหนังสืออื่นที่ไม่ได้รับยกย่องตัดสินว่าแต่งดี ก็ไม่นับเป็นวรรณคดี ดูเหมือนจะเรียกรวมๆ ว่า “วรรณกรรม” อะไรทำนองนั้น

มีใครถาม หรือมีคนถาม แล้วมีใครตอบบ้างไหมว่า ที่ว่าแต่งดีนั้นใครเป็นคนกำหนด คำตอบก็คือ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่ง (บางทีอาจจะเป็นคนเดียวด้วยซ้ำ) เห็นว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้แต่งดี ความเห็นของท่านกำหนดให้คนอื่นๆ เห็นตามตนและบังคับให้เรียน

ถามต่อไปว่า สิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าดีนั้น คนอื่นมีสิทธิเห็นแย้งบ้างไหมว่า ยังไม่ดีหรือดีไม่ถึงขนาด นั่นสิครับ น่าสงสัย

ถามต่อว่าจะให้มองเห็นแต่สิ่งดีๆ เท่านั้นหรือ

มันน่าสงสัยว่าการ “ผูกขาด” ความคิดความอ่าน “ผูกขาด” การมองการตัดสินใจอย่างนี้มันดีหรือเปล่า ถ้าตอบตามหลักการของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ดีแน่ เพราะมิใช่แนวทางพัฒนาความคิดอ่านหรือพัฒนาสติปัญญาที่ถูกต้อง

แต่สังคมไทยก็มักจะยึดวิธีการให้การศึกษาแก่เด็กๆ แบบนี้ ทำกันมาตั้งแต่พอรู้เดียงสากันเลยทีเดียว เข้าโรงเรียนประชาบาล ก็ให้อ่านนิทานอีสป มันก็สนุกดีดอก

แต่พอตอนจบก็จะบอกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” กำหนดให้รู้ตามนั้นอย่างเดียวไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิดบ้างว่า มันสอนอย่างอื่นได้ไหม

ถามผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ท่านก็ว่าไม่ได้ดอก เด็กมันคิดไม่เป็น ถึงคิดออกมาก็ไม่เข้าท่า ให้ผู้ใหญ่คิดแทนเด็กน่ะดีแล้ว จะได้ไม่นอกลู่นอกทาง จริงหรือเปล่าครับ ที่ว่าเด็กน่ะคิดไม่เป็น สู้ผู้ใหญ่ไม่ได้ ถ้าสังเกตลูกหลานตัวเล็กๆ ของท่านดูจะรู้ว่าลูกหลานตัวน้อยๆ ของท่านนั้นมีวิธีคิดที่เฉียบคม มิใช่น้อย ถ้าได้รับการเอาใจใส่ประคับประคองส่งเสริมจากผู้ใหญ่ เด็กๆ เหล่านั้นจะโตมาพร้อมกับความเฉลียวฉลาดที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดาย สังคมไทยได้สกัดกั้นทางแห่งสติปัญญาของเด็กเสียหมด

เด็กจะคิดอะไรนอกเหนือจากที่ผู้ใหญ่คิดก็ถูกตวาด ห้ามคิด ห้ามพูด “แหกคอก” ห้ามซักโน่นถามนี่ ในที่สุดเด็กมันก็เลยไม่คิด ไม่ซัก ไม่ถาม โตมาก็เลยเป็นผู้ใหญ่ที่ซื่อบื้อ คิดอะไรก็ไม่เป็น ดังเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน

ผมมีเรื่องเล่าสองเรื่อง เรื่องแรกสั้นๆ พ่อกับลูกขับรถผ่านไปยังหมู่บ้านนอกเมืองแห่งหนึ่ง เห็นชาวบ้านกำลังโค่นต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ ลูกชายถามพ่อว่า “เขาตัดต้นไม้ทำไมพ่อ” พ่อตอบว่าคงเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์มั้งลูก

“ลูกว่าไม่น่าจะใช่” ลูกชายขัดคอ

“หรือไม่ก็เอาไปเลื่อยทำรั้ว ทำคอกหมูคอกม้าอะไรก็ได้” พ่อตอบ เสียงชักบ่งความรำคาญที่จะตอบ

“ไม่ใช่อีกนั่นแหละ” ลูกว่า

คราวนี้พ่อชักโมโหย้อนถามว่า “มึงรู้แล้วถามหาหอกอะไร เขาตัดไปทำไมวะ”

ลูกชายตอบเสียงดังฟังชัดว่า “ตัดให้ขาดสิพ่อ”

คำพูดของลูกชายทำให้พ่ออึ้ง เออ จริงสินะ เขาตัดไม้ทำไม ก็ต้องตัดให้มันขาด ส่วนตัดขาดแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง

นี้แหละครับ เป็นเครื่องชี้บ่งว่า เด็กๆ นั้นบางครั้งก็มีความคิดที่เฉียบคมอย่างยิ่ง จนผู้ใหญ่คิดไม่ถึง

จากเรื่องนี้ ถ้าเรารู้จักคิด เราก็นำเอามาคิดต่อ เอามาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ ปัญหาสารพัดในโลกเรานี้ที่มันแก้ไม่ค่อยตก แก้ไม่ได้ บางทียิ่งแก้ยิ่งยุ่งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้จักว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร เมื่อไม่รู้ว่ามันคืออะไรจริงๆ ก็แก้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านว่า ขั้นแรกก็ต้องรู้จักทุกข์ให้แน่ชัดเสียก่อนจึงจะแก้ทุกข์ได้ แปลไทยเป็นไทยก็คือ ต้องรู้จักปัญหาให้ชัด (รู้สภาพปัญหาและต้นตอของปัญหาด้วย) จึงจะแก้ปัญหาได้

เรื่องที่สองเคยเล่าไว้ในที่อื่นแล้ว เล่าอีกครั้งคงไม่ว่ากัน ขงจื๊อขับรถม้าผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พบเด็กกำลังเล่นทรายอยู่หลายคน จึงร้องบอกให้หลีกรถ เด็กๆ ต่างวิ่งหนีด้วยความกลัว เหลือเด็กน้อยคนหนึ่งไม่หนีเหมือนเพื่อนๆ กลับยืนเอามือเท้าสะเอว จ้องขงจื๊อ นักปราชญ์เฒ่าตวาดว่า “เจ้าเด็กน้อย ทำไมยังไม่หลีกรถอีก” เด็กน้อยตอบว่า “พวกผมกำลังสร้างกำแพงเมือง ไม่เคยเห็นกำแพงเมืองที่ไหนมันหลีกรถได้”

ขงจื๊อนึกชมวาทะอันเฉียบคมของเด็กน้อย จึงลงรถมาคุยด้วย ชวนให้ไปอยู่ด้วยกัน จะพาปกครองบ้านเมืองให้ “ราบเป็นหน้ากลอง” (ความหมายก็คือ ปกครองโดยยุติธรรม ประชาชนจะได้มีความสงบสุขทั่วหน้า) เด็กน้อยแย้งว่า เป็นไปไม่ได้ ถ้าโลกมันราบเป็นหน้ากลองน้ำก็ท่วมโลก คนและสัตว์จะจมน้ำตายหมด ขงจื๊ออึ้ง ไม่นึกว่าเด็กน้อยตัวแค่นี้จะมีวาทะคารมคมคายขนาดนี้

เมื่อเห็นผู้เฒ่านิ่งเด็กน้อยจึงถามว่า “ในทะเลมีปลากี่ตัว บนฟ้ามีดาวกี่ดวง” “ถามอะไรไกลหูไกลตานัก หลานเอ๋ยถามใกล้ๆ หน่อยสิ” ผู้เฒ่าบอก พลันเด็กน้อยชี้หน้าท่านผู้เฒ่า ถามว่า “ถ้าอย่างนั้น ขนคิ้วท่านมีกี่เส้น” ครับ ใกล้หูใกล้ตาที่สุดแล้ว ตกลงผู้เฒ่าตอบไม่ได้ จึงถอดหมวกคำนับเด็กน้อย สั่งให้รถม้าหลีก “กำแพงเมือง” ของเด็กน้อยไป

ใครว่าเด็กๆ มันคิดอะไรไม่เป็น เด็กๆ ลูกหลานเรานี้แหละมี “แวว” ฉลาดมาแต่ต้นแล้ว หากแต่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น โตมาแล้ว “แวว” นั้นก็เลยฝ่อไปเลย เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักคิด หรือคิดไม่เป็นหลายต่อหลายคน กลายเป็นคน “สิ้นคิด” ไปก็มี

ตามปกติ คนเรามักคิดอะไรทางเดียว อย่างเก่งก็คิดแค่สองทางคือ ทางบวก กับทางลบ ใครคิดทางไหนก็ยึดอยู่แต่ทางนั้น ว่าตนเท่านั้นคิดถูก คนอื่นที่คิดไม่เหมือนตนผิด ตราบใดที่ไม่คิดเห็นแนวทางที่สาม ที่สี่ ที่ห้าแล้ว ไม่แคล้วต้องทะเลาะขัดแย้งกันอยู่ชั่วนิรันดร

ยกตัวอย่างเรื่องพื้นๆ ที่เห็นกันอยู่ชนบทห่างไกล เมื่อราชการตัดถนนผ่าน มีน้ำ มีไฟฟ้า การคมนาคมสะดวกสบาย มีสินค้าบริโภคใหม่ๆ แปลกๆ เข้ามาเสนอขายมากมาย ชีวิตของชาวชนบทได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากมาย ถ้ามองในแง่บวกหรือด้านดีจะเห็นว่าหมู่บ้านชนบทแห่งนี้เจริญขึ้น พัฒนาขึ้น สิ่งที่ไม่เคยมีก็มี ถนนหนทางที่ทันสมัย มีน้ำประปา ไฟฟ้า มีตึกรามใหญ่ๆ มีโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านมีงานทำเพิ่มขึ้น เช่น ไปใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น

ถ้ามองในแง่ลบหรือด้านเสียก็จะเห็นว่า ถ้าคำว่า “เจริญ” หรือ “พัฒนา” หมายถึงการมีเครื่องอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว ก็น่าที่จะเรียกว่าเจริญหรือพัฒนาจริง แต่ท่ามกลางการเข้ามาของวัตถุอำนวยความสะดวกเหล่านี้ ความ “ดีงาม” ที่เคยมีได้เลือนหายไป เช่น บรรยากาศที่สงบไม่อึกทึก พลุกพล่าน

- ไมตรีจิตมิตรภาพฉันเพื่อนบ้านที่ขอกันกินได้ หรือแลกของกันกินได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินตราซื้อขาย

- การมีของอำนวยความสะดวกน้อย แต่ไม่มีหนี้สินด้วยการไปกู้สหกรณ์ เพื่อซื้อวัตถุอำนวยความสะดวกมาแข่งขันกัน

- ความพอใจในสภาพความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย แทนความฟุ่มเฟือยหรูหรา ตามแบบอย่างชาวเมือง

- การเห็นคุณค่าวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เป็นมรดกมาแต่ปางบรรพ์ แทนการนำเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามา แล้วดูหมิ่นวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปพร้อมกับการเข้ามาของการพัฒนาสมัยใหม่

คนที่มองแต่แง่บวกก็จะเห็นแต่ความดีงามของการพัฒนาแบบใหม่ คนที่มองแต่แง่ลบก็จะเห็นแต่ความเลวร้ายของการพัฒนาแบบใหม่ แต่ถ้าพิจารณาผลดี ผลเสียทั้งสองด้านแล้วอาจจะได้ทางออกว่าเราควรจะทำตัวอย่างไรต่อเรื่องนี้ ทางออกที่ได้ เช่น

1) เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นกระแสการพัฒนาทางวัตถุหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้สักวันหนึ่งก็จะไหลบ่าเข้าไปยังท้องที่ห่างไกล

2) จำเป็นต้องยอมรับให้มีการพัฒนาทางวัตถุ ยอมรับการไหลบ่าเข้ามาแห่งวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมพื้นถิ่นดั้งเดิม

3) แต่ควรรับด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการรู้ทัน รู้จักเลือกรับเฉพาะสิ่งที่ดีไม่เกิดโทษแก่ตนและท้องถิ่นของตน หรือปรับให้เข้ากับพื้นฐานของตนโดยไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง


(มีต่อ 7)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 7:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม

วันนี้ขอว่าด้วยแนววิธีคิดเป็นตามแนวพุทธธรรมแบบที่ 7 คือ “คิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม” วิธีคิดแบบนี้ว่าที่จริงแล้วมันเกี่ยวข้องกับ “ความต้องการ” และ “การประเมินคุณค่า” ถ้าคิดเพียงแต่จะสนองตัณหาของตน ไม่ว่ากับสิ่งใด ก็เป็นการคิดด้วยคุณค่าเทียมแต่ถ้าคิดถึงแก่นหรือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น ก็เรียกว่าคิดด้วยคุณค่าแท้

คนเรานั้นถ้าเอาความต้องการนำหน้า จะต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เชื่อก็เอาตัวเองวัดดูก็ได้ วันๆ อยากได้อะไรต่อมิอะไรจนนับไม่ถ้วน นั่งดูโทรทัศน์อยู่กับบ้าน เห็นโฆษณาขายนั่นขายนี่ รู้สึกอยากได้ไปหมด ไอ้นั่นก็ดี ไอ้โน่นก็ดี น่าซื้อ น่ากิน เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเห็นเสื้อผ้าสวยๆ เพชรนิลจินดาวูบวาบแวววาว แหมมันทำให้น้ำลายไหล อยากได้มาครอบครองทั้งนั้น

มีนิทานชาดกเรื่องหนึ่งชื่อ มันธาตุราชชาดก (ถ้าจำผิดก็ขออภัยไม่มีเวลาตรวจสอบ) ว่ากันว่าพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า มันธาตุราช เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เพียงแค่ปรบพระหัตถ์ ฝนรัตนะก็ตกลงมาจากนภากาศสูงเพียงเข่า อยากได้อะไรนิรมิตเอาได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ ว่ากันอย่างนั้น ครอบครองความยิ่งใหญ่เหนือพื้นปฐพีเป็นเวลายาวนาน

วันหนึ่งเกิดเบื่อเซ็งขนาดหนัก จึงถามพวกอำมาตย์ทั้งหลายว่ามีที่ไหนที่น่ารื่นรมย์กว่าเมืองมนุษย์บ้างไหม ข้าเบื่อเต็มทีแล้วอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง พวกอำมาตย์กราบทูลว่าก็มี เมืองสววรค์ชั้นฟ้าทั้งหลายนั้นแหละ น่ารื่นรมย์กว่าเมืองมนุษย์

มันธาตุราชจึงกระซิบสั่ง “จักรรัตนะ” (จักรแก้วกายสิทธิ์) ว่าจงนำเราไปยังสวรรค์ จักรแก้วก็นำไปสู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ก็พากันมาต้อนรับเชื้อเชิญให้อยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช พักหนึ่งมันธาตุราชก็เบื่อ จึงอำลาท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 เดินทางต่อไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี แบ่งราชสมบัติให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง

มันธาตุราชเสวยสุขบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลาเนิ่นนาน มีความสุขหาใดเปรียบปานมิได้ จึงคิดอกุศลว่า เรื่องอะไรเราจะครองราชสมบัติเพียงแค่กึ่งเดียว เราควรจะจัดการสำเร็จโทษท้าวสักกะเสีย ครอบครองสวรรค์ทั้งหมดแต่ผู้เดียวดีกว่า

ด้วยความโลภความอยากอันลามกนี้ มันธาตุราชก็เสื่อมทันทีคือร่างกายที่ไม่รู้จักแก่มาแต่ก่อนก็มีอันร่วงโรย ความชราภาพเข้ามา ค่อยกลายสภาพเป็นคนแก่หง่อม ทรุดโทรมลงตามลำดับๆ จนใกล้จะถึงกาลแตกดับ

ว่ากันว่าร่างมนุษย์จะแตกดับในเทวโลกไม่ได้ พระเจ้ามันธาตุราชจึงตกลงมายังพระราชอุทยานของพระองค์เอง

มันธาตุราชเป็นตัวแทนของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นต่อให้มีฤทธิ์เดชสามารถบันดาลอะไรๆ ต่อมิอะไรได้ดังปรารถนา ความปรารถนาก็ไม่มีที่สิ้นสุด คืออยากได้ไม่รู้จบสิ้น ขนาดขึ้นไปบนสวรรค์ ได้ครองราชสมบัติในสวรรค์ครึ่งหนึ่ง ยังไม่พอใจ โลภมากอยากได้ครอบครองทั้งหมด

พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้คิดว่า

“ถึงกหาปณะ (กษาปณ์ หรือเงินทอง) จะตกลงมาเป็นห่าฝน ความต้องการของคนก็หาถึงจุดอิ่มไม่ คนฉลาดเขารู้ว่า กามทั้งหลายมีความสุขเล็กน้อย แต่มีความทุกข์มาก จึงไม่ยินดีในกามแม้ที่เป็นทิพย์”

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ปุถุชนย่อมมีความต้องการ พระพุทธศาสนาเองก็มิได้ห้ามมิให้มนุษย์ต้องการและแสวงหาสิ่งที่ต้องการเพียงแต่สอนให้รู้จัก “จำกัด” ความต้องการลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องการฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น จนกลายเป็นแสวงหา “ส่วนเกิน”

ความจำเป็นขั้นพื้นฐานคือปัจจัย 4 เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะพึงแสวงหามาบำรุงชีวิต และในการบริโภคอุปโภคปัจจัย 4 นั้นก็ต้องบริโภคและอุปโภคด้วย “ปัญญา” มิใช่เพื่อสนองตัณหา

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ รู้จักใช้สอยปัจจัย 4 ด้วยคุณค่าแท้ มิใช่ด้วยคุณค่าเทียม คือเราไม่เอาความต้องการนำหน้า แต่ใช้ปัญญาประเมินค่าอย่างแท้จริงว่าเรากินเราใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อ “ประโยชน์ที่แท้จริง” อย่างไร

ยกตัวอย่างการกินอาหาร จะเห็นความแตกต่างกันระหว่างกินด้วยคุณค่าเทียม กับกินด้วยคุณค่าแท้ บางคนขับรถพาครอบครัวไปไกลๆ เพื่อกินก๋วยเตี๋ยวเพียงชามสองชาม บางทีไกลถึงร้อยสองร้อยกิโลเมตร

ก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียวกันนี้ สามารถหากินที่อื่นที่ใกล้ๆ บ้านมากมายหลายสิบร้าน แต่เขาไม่กิน ตั้งใจจะไปกินที่ร้านไกลๆ ดังกล่าวท่าเดียว

ถามว่า ทำไม ตอบว่า เพราะได้ทราบว่าร้านดังกล่าวก๋วยเตี๋ยวอร่อยที่สุด ได้รับการกล่าวขวัญถึงกว้างขวางแถม “เชลล์ชวนชิม” อีกต่างหาก บรรยากาศในร้านก็หรู ไม่กระจอกเหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไป คนใหญ่คนโต คนมีชื่อเสียงและมหาเศรษฐีหลายคนก็ไปกินที่ร้านนี้ทั้งนั้น

นี่แหละครับเรียกว่า กินก๋วยเตี๋ยวด้วยคุณค่าเทียม ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อยที่สุด ได้ตรา “เชลล์ชวนชิม” คนใหญ่คนโต รวมทั้งมหาเศรษฐีมากินประจำ บรรยากาศในร้านก็หรูไม่กระจอก

ราคาก็แพงกว่าที่อื่น เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวคนมีระดับอะไร ทำนองนั้น

ทั้งหมดนี้มิใช่วิธีที่คิดเกี่ยวกับการกินก๋วยเตี๋ยวที่ถูกต้องเลยที่ถูกนั้นคนจะกินอาหารน่าจะดูว่า

อาหารชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารหรือมีสารอาหารเพียงพอหรือไม่ เป็นประโยชน์แก่ร่างกายหรือไม่ ความอร่อยนั้นน่าจะเป็นเรื่องรอง มากกว่าอาหารที่มีคุณค่าสะอาด ถูกอนามัย ไร้สารพิษถึงจะไม่อร่อยมากนัก ก็น่าจะดีกว่า

ยิ่งความหรูหรา ราคาแพง กินแล้วรู้สึกโก้เก๋ เป็นเกียรติยศด้วยแล้ว ยิ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เพราะคุณค่าแท้ๆ ของการกินอาหารคือ เพื่อบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโตแข็งแรงปราศจากโรคภัย มีพลังในการดำรงชีวิต

ไม่เฉพาะแต่เรื่องการกินการใช้ปัจจัย 4 ในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องอาชีพก็เช่นกันคนที่คิดถึงคุณค่าแท้ของอาชีพ จะมองไปที่ “แก่น” ของอาชีพนั้นๆ มากกว่ามอง “ภาพลวงภายนอก” ถามเด็กหนุ่มสาวว่า หลังจากเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไร เด็กหนุ่มหลายคนบอกว่า อยากเป็นทหาร หญิงสาวหลายคนบอกว่า อยากเป็นแอร์โฮสเตส หลายคนอาจคิดถึงอาชีพทหารเพียงคุณค่าเทียมคือ เห็นว่าเป็นทหารนั้นโก้ เครื่องแบบสวยงามผึ่งผาย ยิ่งเครื่องแบบทหารเรือแล้วโก้เก๋เหลือเกิน แต่งเครื่องแบบเดินไปไหนมาไหนสาวๆ มองตาเป็นมันเชียว มียศสูงๆ เป็นนายพลมีอำนาจวาสนาเผลอๆ มีโอกาสปฏิวัติรัฐประหารได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็อาจเป็นได้

คิดอย่างนี้เรียกว่า คิดถึงอาชีพทหารด้วย คุณค่าเทียมมองเห็นแต่ภาพลวงภายนอก ไม่ใช่ “แก่นแท้” ของอาชีพที่ต้องฝึกฝนตนเองอย่างเผชิญต่ออันตรายทุกชนิด ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติและแผ่นดิน ยอมสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อเอกราชอธิปไตยของประเทศ คนที่คิดถึงอาชีพทหารแบบนี้ และอยากเป็นทหารเรียกว่า รู้คุณค่าแท้ของการเป็นทหาร สาวๆ หลายคนอยากเป็นแอร์โฮสเตส เพียงเพราะคิดว่าเป็นงานสบายเดินเตร่ไปเตร่มาบนเครื่องบิน ได้ไปเที่ยวต่างประเทศได้พบปะคนหลายชาติหลายภาษา มีโอกาสซื้อสินค้าแพงๆ ตามศูนย์การค้าต่างประเทศ ผ้าพันคอผืนละสองพันบาท ยี่ห้ออีฟส์แซงต์ ถือกระเป๋ากุชชี่สวยหรูใช้เครื่องสำอางมิลเลเนียม เผลอๆ บุญมาวาสนาส่งได้พบชายรูปหล่อร่ำรวยมีบ้านอยู่หุบเขาสวยหรู อยู่แถวๆ สวิตเซอร์แลนด์ โอ๊ยช่างสุขสบายอะไรเช่นนั้น

สาวๆ พวกนี้ “ฝันกลางวัน” กันทั้งนั้น เพราะคิดถึงอาชีพแอร์โฮสเตส ด้วยค่าเทียม หารู้ไม่ว่าคนจะเป็นแอร์ได้นั้น จะต้องได้รับการคัดสรรมาอย่างดี และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนัก ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ความสวยเป็นเพียงส่วนประกอบ ไม่ถึงกับสวยมาก แต่ดูดีมีความรู้ความสามารถ ขยันอดทน สามารถปรับตัวเองเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเวลา หรือสถานที่ ลมฟ้าอากาศ งานบริการบนเครื่องบินที่มีผู้โดยสารเป็นร้อยนั้นหนักยิ่งนัก ต้องเดินเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่มวันละหลายเที่ยวต้องเอาใจผู้โดยสาร ซึ่งมีสารพัดประเภท สารพัดอารมณ์ คนไม่มีอิทธิบาท 4 เป็นแอร์โฮสเตสที่ดีได้ยาก

คนที่มีวิธีคิดแบบคุณค่าแท้มักจะเป็นคนใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ มีความเข้าใจเหตุและผล มองอะไรรอบคอบครบวงจร สามารถเลือกและตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะเหตุฉะนี้แล พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ฝึกคิดแบบคุณค่าแท้เสมอๆ และนำไปปรับใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิต


(มีต่อ 8)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 05 ต.ค.2008, 7:02 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม

วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ตามศัพท์ทางศาสนาว่าคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม ความจริงคำเดิมของท่านคือ “อุปปาทมนสิการ” หรือ “อุปปาทกมนสิการ” แปลตามตัวอักษรว่า “คิดให้เกิดการกระทำ” นักวิชาการสมัยใหม่แปลว่า “คิดสร้างสรรค์”

แปลอย่างนี้ยังไม่ครอบคลุมนัก ถ้าจะให้ครอบคลุมน่าจะแปลว่าคิดให้เกิดการกระทำในทางดี หรือคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ที่ต้อง “ตีกรอบ” ไว้อย่างนี้กลัวว่าจะนำไปสู่การกระทำในทางไม่ดี หรือสร้างสิ่งไม่ดี

คนที่คิดทำระเบิดปรมาณู ก็เป็นคนคิดค้น คิดสร้างสรรค์ คิดทดลองวิธีการต่างๆ หลายวิธี กว่าจะสร้างมาเป็นระเบิดปรมาณูได้ คนที่คิดทำระเบิดปรมาณูขึ้นมาได้ใครๆ ก็ยอมรับว่าแกคิดให้เกิดการกระทำหรือคิดสร้างสรรค์

ทางโลกอาจถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่คนที่คิดได้รับยกย่องว่าเป็นคนเด่นคนดังของโลกด้วยซ้ำ ชื่อนายอะไรล่ะ นายอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรืออะไรทำนองนี้จำไม่ถนัด ถ้าจำผิดก็ขอ “อำไพ” ด้วยผมมันเป็นคน “คลำ” แต่พระไตรปิฎก เรื่องอื่นไม่ค่อยได้คลำ

แต่ในทางพระพุทธศาสนา คิดอย่างนี้ยังไม่นับว่าเป็นการคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดให้เกิดการกระทำ เพราะการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อการทำลายผู้อื่น เผลอๆ ท่านประณามว่าเป็นบาปอกุศลเสียอีกด้วย จะบอกให้

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้ให้คำจำกัดความวิธีคิดแบบนี้ พร้อมทั้งอธิบายประกอบไว้ชัดแจ้งดี ผมขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านกัน เพื่อความสบายใจ (สบายใจผมสิครับ ไม่ต้องคิดให้เปลืองสมองลอกผู้รู้ท่านมา แต่ยังไงๆ ก็บอกว่า “ลอกมา” ไม่บังอาจโกหกว่า ข้าคิดขึ้นเองดอก)

“วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม” อาจเรียกง่ายๆ ว่าวิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทา และขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่า เป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฐิที่เป็นโลกิยะ

หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้มีอยู่ว่าประสบการณ์ คือ สิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน บุคคลผู้ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่างสุดแต่โครงสร้างของจิตใจ หรือแนวทางความเคยชินต่างๆ ที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือสังขารที่ผู้นั้นได้สั่งสมไว้ หรือสุดแต่การทำใจ ในขณะนั้นๆ

ของอย่างเดียวกัน หรืออาการกิริยาเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็น แล้วคิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลเดียวกัน มองเห็นของอย่างเดียวกันหรือประสบอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ต่างขณะ ต่างเวลา ก็อาจคิดเห็นปรุงแต่งต่างออกไป ครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดีทั้งนี้ โดยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

การทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือโยนิโสมนสิการ แบบเร้ากุศลในที่นี้ โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลนี้มีความสำคัญทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความคิด และการกระทำที่ดีงาม เป็นประโยชน์ในขณะนั้นๆ และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆ ของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิมพร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีงาม ให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกันด้วย ในทางตรงข้ามหากปราศจากอุบายแก้ไขเช่นนี้ ความคิด และการกระทำของบุคคลก็จะถูกชักนำให้เดินไปตามแรงชักจูงของความเคยชินต่างๆ ที่ได้สั่งสมไว้เดิมเพียงอย่างเดียว และช่วยเสริมความเคยชินอย่างนั้นให้มีกำลังแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยไป

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งที่มีในคัมภีร์ คือการคิดถึงความตาย ถ้ามี อโยนิโสมนสิการ คือทำใจหรือคิดไม่ถูกวิธี อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่นคิดถึงความตายแล้วสลดหดหู่ เกิดความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความหวาดหวั่น กลัวหวาดเสียวใจบ้าง ตลอดจนเกิดความดีใจเมื่อนึกถึงความตาย ของคนที่เกลียดชังบ้าง เป็นต้น

แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ ทำใจหรือคิดให้ถูกวิธีก็จะเกิดกุศลธรรม คือ เกิดความรู้สึกตื่นตัวเร้าใจ ไม่ประมาทเร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร ท่านกล่าวว่า การคิดถึงความตายอย่างถูกวิธี จะประกอบด้วยสติ (ความกำหนดใจได้ หรือมีใจอยู่กับตัว ระลึกรู้ถึงสิ่งที่พึงเกี่ยวข้องจัดทำ) สังเวค (ความรู้สึกเร้าใจ ได้คิด และสำนึกที่จะเร่งรีบทำการ) และญาณ (ความรู้เท่าทันธรรมดา หรือรู้ตามเป็นจริง) นอกจากนั้นท่านได้แนะนำอุบายแห่งโยนิโสมนสิการ เกี่ยวกับความตายไว้หลายอย่าง

แม้ในพระไตรปิฎก ก็มีตัวอย่างง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงบ่อยๆ คือ เหตุปรารภ หรือเรื่องราวกรณีอย่างเดียวกัน คิดมองไปอย่างหนึ่งทำให้เกียจคร้าน คิดมองไปอีกอย่างหนึ่งทำให้เกิดความเพียรพยายาม (ดังความในพระสูตร) เช่น

1. ภิกษุมีงานที่จะต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เรามีงานที่จักต้องทำ เมื่อเราทำงาน ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เรานอน (เอาแรง) เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสียไม่เริ่มระดมความเพียรเพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่บรรลุเพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง...

2. อีกประการหนึ่งภิกษุทำงานเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำงานเสร็จแล้ว เมื่อเราทำงาน ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราจะนอน (พัก) ละ คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย...

กรณีเดียวกันทั้งหมดนี้ คิดอีกอย่างหนึ่ง กลับทำให้เริ่มระดมความเพียร ท่านเรียกว่า เรื่องที่จะเริ่มระดมเพียร เช่น

1. (กรณีที่จะต้องทำงาน) ...ภิกษุคิดว่า เรามีงานที่จะต้องทำ และขณะเมื่อเราทำงาน การมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลายก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง คิดดังนี้แล้ว ภิกษุนั้นจึงเริ่มระดมความเพียร...

2. (กรณีที่ทำงานเสร็จแล้ว) ...ภิกษุคิดว่าเราได้ทำงานเสร็จแล้ว ก็แล ขณะเมื่อทำงานเรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

เรื่องเดียวกัน ถ้าคิดแบบไม่สร้างสรรค์ กับคิดแบบสร้างสรรค์ผลจากการคิดจะออกมาไม่เหมือนกัน ดังตัวอย่างข้างต้น "เรื่องงาน" คนหนึ่งคิดว่าถ้าทำงาน ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย สู้นอนพักผ่อนดีกว่า สบายดี ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

ผลก็คือกลายเป็นคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่ง “เช้านอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด” อะไรทำนองนั้น

อีกคนคิดว่าเรามีงานต้องทำ การทำงานทำให้เราได้ปีติชื่นชม เมื่องานเสร็จแถมยังได้รับค่าตอบแทนจากน้ำพักน้ำแรงอันบริสุทธิ์มาเลี้ยงตนและครอบครัวอีก และงานของเราถ้าทำได้อย่างดีก็จะเป็นเกียรติยศ แก่วงศ์ตระกูลและอำนวยประโยชน์แก่คนทั่วไป ด้วยคนเราไม่มีค่า ถ้าไม่สร้างผลงานที่ดีฝากไว้อีกไม่กี่ปี เราก็จะลาโลกแล้วเกิดมาทั้งทีต้องทำดีฝากไว้ ถ้าคิดเช่นนี้ จะไม่มีวันเป็นคนเฉื่อยแฉะไม่เอาไหนแน่นอน

“ความคิดคนเรานี้สำคัญ เราจะเป็นอย่างไร เป็นผลมาจากว่าเราคิดอะไรมาก่อน” อย่าคิดว่านี้คือคำพูดของฝรั่ง ผมถอดมาจากพระพุทธวจนะบาลีว่า “มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา” ต่างหาก

“ความตาย” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนคิดในแง่มุมแตกต่างกัน มีพฤติกรรมแตกต่างกันไปด้วย คนหนึ่งคิดว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ชีวิตไม่แน่นอนแล้วเราจะขวนขวายไปทำไม ทำก็ตาย ไม่ทำก็ตาย ไม่ทำอะไรเลยดีกว่า

แต่อีกคนไม่คิดอย่างนั้น ไหนๆ ก็จะต้องตายแล้วอายุสั้นเหลือเกิน ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่เราต้องพยายามขวนขวายทำความดีไว้มากๆ

เห็นแล้วใช่ไหมครับ วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม เป็นสิ่งจำเป็นพระพุทธเจ้าตรัสย้ำให้พุทธศาสนิกฝึกคิดแบบนี้ให้มาก และคิดบ่อยๆ จะได้มีส่วนช่วยสร้างสรรค์จรรโลงสังคม


(มีต่อ 9)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
ชาญวิทย์
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 04 พ.ค. 2008
ตอบ: 152

ตอบตอบเมื่อ: 07 ต.ค.2008, 7:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณครับผม
สาธุ สาธุ
 

_________________
ธรรมะคือธรรมชาติ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 12 ต.ค.2008, 6:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งคือ คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน อันนับเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ว่ากันว่าชีวิตคนเรานั้น มีอยู่ชั่วขณะจิตเดียว ไม่ได้ยืนยาวอะไรดังที่เราหลงเข้าใจกัน อ้าวไม่ได้พูดเล่นนะครับ พระท่านว่า คนเราเกิดแล้วตาย เกิดแล้วตายสืบต่อเนื่องกันไปทุกขณะจิต ระยะเวลาระหว่างเกิดไปถึงตายนั้น กินเวลาชั่วขณะจิตเดียว อย่างนี้จะไม่เรียกว่า ชีวิตมีอยู่ชั่วขณะจิตเดียวอย่างไรได้ จริงไหม

ทั้งๆ ที่คนเราตายวันละไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหน แต่ที่ไม่ตายจริงๆ ยังดำรงอยู่ได้นั้น ก็เพราะเมื่อมันตายแล้ว มันเกิดใหม่ทันที “ความถี่” มันสูง มันติดต่อเป็นกระแสเดียว มันก็เลยดูเสมือนไม่มีเกิดไม่มีตาย ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้

ท่านยกตัวอย่างเหมือนเปลวไฟที่ลุกไหม้อยู่ต่อหน้าเรา (สมมุติว่าเราก่อกองไฟผิงในยามหนาว แหมยกบรรยากาศ “คันทรี” เชียว) เรานึกว่ามันเป็นเปลวเดียวแท้ที่จริงแล้วมันไม่รู้กี่เปลวต่อกี่เปลว ลุกแล้วดับ ลุกแล้วดับ อยู่อย่างนั้น ที่สายตาเราเห็นเป็นเปลวเดียวก็เพราะความถี่ของเปลวที่ลุกดับนั้นมันสูงมาก ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วจะไม่กังขาเลย เมื่อพระท่านว่าคนเรานั้นเวียนว่ายตายเกิด วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นพันชาติ ภายในวันเดียวท่านหมายเอาการเกิดและตายชั่วขณะจิตนี้เอง

และเมื่อเราเข้าใจการตายเกิดแบบนี้ เราก็จะเข้าใจถึงหลัก “อนัตตา” คือภาวะที่ไร้ตัวตน คือเข้าใจว่าเมื่อมันเกิดดับๆ อยู่อย่างนี้ตลอด แล้วมันจะหา “ตัวตน” ได้ที่ไหน ไอ้ที่เราเรียกกันว่า “ตัวตน” (แขกว่า อาตมัน, วิญญาณ, ฝรั่งว่าโซล) นั้นเรา “นึก” ว่ามันมีเท่านั้นเอง แท้ที่จริงมันไม่มี

พูดมาถึงตรงนี้บางท่านอาจแย้งว่า แล้วที่ว่าเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดในแง่ที่ตายจากโลกนี้แล้วเกิดในชาติหน้าก็ไม่มีละสิ ขอตอบว่า มีการตายและการเกิดชนิดที่ข้ามภพข้ามชาติอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็สอนไว้ เพียงแต่ว่าไม่ได้สอนว่าร่างกายตายแล้ว “ตัวตน” หรือ “วิญญาณ” มันไม่ตายด้วย มันออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ ไม่ได้สอนแบบนี้ เพราะ “วิญญาณ” ในทรรศนะพระพุทธศาสนามิใช่สิ่งที่เป็นอมตะดังที่เราเข้าใจ มันก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา มันเองก็หาตัวตนมิได้

และเวลาที่นาย ก. ตายไปเกิดเป็นนาย ข. มิใช่ว่านาย ก. (วิญญาณของนาย ก.) เป็นอมตะ ละร่างเก่ามาสิงร่างใหม่ ดุจดังคนถอดเสื้อตัวเก่า มาใส่เสื้อตัวใหม่ อะไรทำนองนั้น มันเป็นเพียงการสืบเนื่องระหว่าง นาย ก. กับ นาย ข.

นาย ข. สืบเนื่องมาจาก นาย ก. มิใช่คนเดียวกัน และมิใช่คนละคน

เอ๊ะ พูดยังไง ไม่รู้ฟัง รู้สิครับ ถ้าคิดให้ลึก

ในอดีตพระเถระนามว่า นาคเสน ได้วิสัชนาให้พระยามิลินท์ (กษัตริย์กรีก) เมื่อประมาณ พ.ศ.600 ฟังโดยยกอุปมาอุปไมยมาแถลงว่า

สมมุติว่า นายเบื๊อก (นามสมมุติ ผมสมมุติเอง) เอาเมล็ดมะม่วงเพาะไว้ ต่อมามันก็งอกขึ้นเป็นลำต้นใหญ่ให้ดอกให้ผล นายบ๊อง (สมมุติอีกครับ) แกย่องไปขโมยผลมะม่วงไปกินผลหนึ่งถูกจับได้ นายบ๊องก็แก้ตัวว่า เขามิได้ขโมยมะม่วงของนายเบื๊อก

นายเบื๊อกบอกว่า มะม่วงนี้เป็นของเขา เพราะเป็นคนปลูกมันไว้ นายบ๊องเถียงว่า เมล็ดที่นายเบื๊อกปลูกนั้นมันคนละเมล็ดกับมะม่วงผลที่เขาเอาไป จะหาว่าเขาขโมยมะม่วงของตนได้อย่างไร

พระนาคเสนหันมาถามพระยามิลินท์ว่า คำแก้ตัวของนายขี้ขโมยนั้นฟังขึ้นหรือไม่ พระยามิลินท์ตอบว่า ฟังไม่ขึ้น ก็ผลที่เขาขโมยก็สืบเนื่องมาจากเมล็ดที่เจ้าของเขาปลูกไว้นั้นเอง

พูดให้เป็นปรัชญาก็ว่า มะม่วงผลนั้นกับเมล็ดที่เขาปลูกไว้ จะว่าเป็นเมล็ดเดียวกันก็ไม่ใช่ คนละเมล็ดก็ไม่เชิง

เมื่อเข้าใจการตายเกิดแบบนี้แล้ว จะไม่มีข้อกังขาว่า นาย ก. ทำกรรมไว้ในชาติก่อน ทำไม นาย ข. ในชาตินี้จึงต้องมารับผลกรรมทั้งๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ถ้าเข้าใจแล้วก็ร้องได้คำเดียวอย่างที่อดีตนายกฯ นักซิ่งชอบพูดบ่อยๆ ว่า “ไม่มีปัญหา”

ผมก็ฝอยมาเสียยืดยาว เพียงแต่จะบอกว่าชีวิตเรานั้นสั้นนิดเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จัก “อยู่กับชีวิต” อันสั้นนี้ให้คุ้มค่า การจะอยู่กับชีวิตอย่างคุ้มค่า หรือรู้จักมีชีวิตอยู่อย่างคุ้มค่าก็คือ อยู่ปัจจุบันคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน

ท่านผู้รู้ได้อธิบายความหมายของการคิดแบบอยู่ในปัจจุบันไว้ลึกซึ้งมาก ขอนำมาถ่ายทอดดังนี้ (ต้องอ่านอย่างพินิจพิจารณาหน่อยนะครับ จึงจะแจ่มแจ้ง)

ข้อที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับวิธีคิดแบบนี้ก็คือ การที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของการเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือมีปัจจุบันธรรมเป็นอารมณ์ โดยเห็นไปว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คิดถึงสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า กำลังเป็นไปในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ให้คิดพิจารณาเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคต ตลอดจนไม่ให้คิดเตรียมการหรือวางแผนงาน เพื่อกาลภายหน้า เมื่อเข้าใจผิดแล้ว ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติผิดจากหลักพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นบุคคลภายนอกมองเข้ามา ก็เลยเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดจากความเป็นจริง กล่าวโดยสรุป ความหมายที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับปัจจุบัน อดีต และอนาคต สำหรับการใช้ความคิดแบบที่ 9 นี้มีดังนี้

ลักษณะสำคัญของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ความคิดที่เกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น หรือพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ว่า ตกอยู่ในอำนาจอารมณ์โดยมีอาการหวนละห้อยโหยหา อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว เพราะความเกาะติดหรือค้างคาในรูปใดรูปหนึ่ง หรือเคว้งคว้างเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปในภาพที่ฝันเพ้อปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพที่ประสบอยู่ ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบัน

ส่วนความคิดชนิดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะที่พูดสั้นๆ ได้ว่าเป็นการคิดในแนวทางของความรู้ ความคิดด้วยอำนาจปัญญาถ้าคิดในแนวทางของความรู้หรือคิดด้วยอำนาจปัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ในขณะนี้ หรือเป็นเรื่องล่วงไปแล้ว หรือเป็นเรื่องของกาลภายหน้า ก็จัดเข้าในการเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งนั้น ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ความรู้ การคิด การพิจารณาด้วยปัญญาเกี่ยวกับเรื่องอดีตปัจจุบันหรืออนาคตก็ตาม เป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีความสำคัญตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในทุกระดับ

ว่าโดยความหมายทางธรรมนั้น การฝึกอบรมทางจิตใจ ที่แท้จริง คำว่าอดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็ไม่ตรงกับความเข้าใจของคนทั่วไป คำว่าปัจจุบัน ตามที่คนทั่วไปเข้าใจ มักครอบคลุมกาลเวลาช่วงกว้างที่ไม่ชัดเจน ส่วนในทางธรรม เมื่อว่าถึงการปฏิบัติทางจิตปัจจุบันหมายถึง ขณะเดียวที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอยู่ ในความหมายที่ลึกซึ้งนี้เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายถึงมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้ เกี่ยวข้องหรือต้องทำอยู่ในเวลานั้นๆ แต่ละขณะทุกๆ ขณะ ถ้าจิตรับรู้สิ่งใดแล้วเกิดความชอบใจ หรือไม่ชอบใจขึ้น คิดข้องวนเวียนอยู่กับภาพของสิ่งนั้นที่สร้างขึ้นในใจก็เป็นอันตกไปอยู่ในอดีต ตามไม่ทันหลุดหลงไปจากขณะปัจจุบันแล้ว หรือจิตหลุดลอยจากขณะปัจจุบันเกาะเกี่ยวกับภาพสิ่งที่ยังไม่มา ก็เป็นอันฟุ้งไปในอนาคต โดยนัยนี้แม้แต่อดีตและอนาคตตามความหมายทางธรรมก็อาจยังอยู่ในขอบเขตแห่งเวลาปัจจุบัน ตามความหมายของคนทั่วไป

ตามเนื้อความที่กล่าวมาแล้วนี้ จะมองเห็นความหมายสำคัญแง่หนึ่งของคำว่าปัจจุบันในทางธรรมว่า มิใช่เพ่งเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกภายนอกแท้ทีเดียว แต่หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นๆ เป็นสำคัญ ดังนั้น มองอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ตามความหมายของคนทั่วไปว่า เป็นอดีต หรือเป็นอนาคต ก็อาจกลายเป็นปัจจุบันตามความหมายทางธรรมได้เช่นเดียวกับที่ปัจจุบันของคนทั่วไป อาจกลายเป็นอดีต หรืออนาคต ตามความหมายทางธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว

สรุปก็คือ การคิดแบบอยู่ในปัจจุบัน มิได้หมายถึงว่าไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต การนำอดีตมาเป็นบทเรียนและวางแผนในอนาคต ด้วยสติ ด้วยความรอบคอบนั้นแหละเรียกว่า คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน พระท่านจึงสอนว่า การจะอยู่ในปัจจุบันให้ได้ดี จะต้องมีสติสัมปชัญญะกับการเคลื่อนไหวทุกอย่าง

และคนที่อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นคนทำงานมีประสิทธิภาพ และเป็นคนมีความสุขอีกต่างหากด้วย


(มีต่อ 10)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 13 ต.ค.2008, 5:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อยากให้คนส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้

โปรดติดตามตอนต่อไป ใช่ไหมจ๊ะ ยิ้ม สู้ สู้
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง