Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ธาตุอันตรธานปริวัตต์ (พระพุทธศาสนาอันตรธานจากโลกมนุษย์) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2008, 5:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จากหนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ ของพระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์

ปริเฉทที่ ๒๙

ธาตุอันตรธานปริวัตต์
คำว่า อัตรธาน คือ ความเสื่อมสูญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มี ๕ ประการ คือ
๑.ปริยัติอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งพระปริยัติ
๒.ปฏิบัติอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งการปฏิบัติ
๓.ปฏิเวธอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งการสำเร็จมรรคผลนิพพาน
๔.ลิงคอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งเพศสมณะ
๕.ธาตุอันตรธาน การเสื่อมสูญแห่งพระบรมธาตุ

ปริยัติอันตรธาน

พระปริยัติ ได้แก่พระไตรปิฏกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฏก และพระอภิธรรมปิฏก ตราบใดที่พระไตรปิฏกยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่ตราบนั้น เพราะบุคคลจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ก็ด้วยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏก เมื่อพระปริยัติเสื่อมถอยหาบุคคลที่จะศึกษาเล่าเรียนน้อย ศาสนาก็เสื่อมถอยตามไปด้วย การเสื่อมถอยแห่งพระปริยัตินั้นจะมีสิ่งบอกเหตุให้ทราบเป็นลำดับคือ
เมื่อถึงกลียุคสมัย พระราชามหากษัตริย์มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมประเพณี อีกทั้งหมู่อำมาตย์ราชเสนาบดี รวมทั้งอาณาประชาราษฏร์ทั้งในเมืองและชนบท ต่างพากันงดเว้นจากการประพฤติธรรม พากันหาความสุขสำราญตามอัธยาศัย ข่มเหงเบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่าให้เดือดร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้ ดินฟ้าอากาศก็วิปริต ผิดปกติฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาก็หายาก หมู่มนุษย์และสัตว์พากันลำบากเดือดร้อนขาดแคลนอาหารทั้งทรัพย์สินเงินทอง เมื่อมนุษย์ทั้งหลายต่างพากันอดอยากยากเข็ญแล้ว จตุปัจจัยไทยทานที่จะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้อยู่ดีมีสุขก็หายาก ภิกษุสงฆ์ก็พลอยได้รับความลำบากไปด้วย เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถสงเคราะห์กุลบุตรให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติได้ ครั้นเมื่อพระปริยัติขาดผู้เล่าเรียนแล้วก็เสื่อมทรุดลงตามลำดับ ภิกษุทั้งหลายจะไม่รู้ความหมายแห่งพระปริยัติ จะเหลือแต่บาลีอย่างเดียวแต่ขาดผู้รู้ความหมาย

ในการเสื่อมสูญแห่งพระไตรปิฏกนั้น พระอภิธรรมปิฏกจะเสื่อมก่อน พระอภิธรรมนั้นมี ๗ คัมภีร์ ได้แก่
๑.พระสังคิณี
๒.พระวิภังค์
๓.พระธาตุกถา
๔.พระปุคคลบัญญัติ
๕.พระกถาวัตถุ
๖.พระยมก
๗.พระมหาปัฏฐาน

ในพระอภิธัมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้ เมื่อจะเสื่อมก็เสื่อมลงจากยอด คือคัมภีร์มหาปัฏฐานก่อน ลำดับต่อไปก็เป็นคัมภีร์ยมก กถาวัตถุ จนถึงสังคิณี โดยลำดับ

เมื่อพระอภิธรรมปิฏกเสื่อมแล้ว ถ้าพระสุตตันตปิฏกและพระวินัยปิฏกยังดำรงอยู่ ก็ชื่อว่าพระพุทธศาสนายังดำรงอยู่เช่นกัน

พระสุตตันตปิฏกนั้น เมื่อจะเสื่อมก็เสื่อมมาจากยอดคือ อังคุตรนิกายเสื่อมก่อน จากนั้นก็ถึง สังยุตนิกาย มัชฌิมนิกาย และทีฆนิกายเป็นสุดท้าย เมื่อทีฆนิกายเสื่อมแล้ว พระสุตตันตปิฏกจึงได้ชื่อว่าเสื่อมสูญ จากนั้นภิกษุทั้งหลายไม่สามารถจะทรงจำซึ่งชาดกต่างๆ ได้ และชาดกที่จะเสื่อมเป็นชาดกแรกก็คือ เวสสันดรชาดก

ต่อจากนั้น ภิกษุทั้งหลายก็จะทรงจำไว้ซึ่งพระวินัยปิฏกเพียงอย่างเดียว ครั้นเวลาล่วงไป พระวินัยปิฏกก็เสื่อมลงเป็นปิฏกสุดท้าย และเมื่อเสื่อมคัมภีร์บริวารจะเสื่อมเป็นคัมภีร์แรก ต่อจากนั้นก็เป็นคัมภีร์ขันธกะ คือ จุลวรรค คัมภีร์ภิกขุวิภังค์ ภิกขุณีวิภังค์ เสื่อมลงมาตามลำดับ จึงได้ชื่อว่าพระวินัยปิฏกเสื่อมสูญ

แม้กระนั้น พระปริยัติก็ชื่อว่าไม่เสื่อม ถ้าตราบใดที่ยังมีบุคคลสามารถจำคาถาแม้ไม่มากเพียง ๔ บาทเท่านั้น พระปริยัติก็ยังชื่อว่าไม่อันตรธาน แต่ถ้าเมื่อใด หาผู้รู้คาถาเพียง ๔ บาทนั้นไม่ได้แล้ว เมื่อนั้น พระปริยัติ ชื่อว่าอันตรธานสูญสิ้นหาเศษมิได้

ปฏิบัติอันตรธาน

กาลเวลาผ่านไป ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถจะบำเพ็ญเพียรปฏิบัติให้เกิดฌาน วิปัสสนาและ มรรคผลได้ จะยังคงรักษาอยู่แต่ปาริสุทธิศีล ๔ เท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านนานไปภิกษุทั้งหลายพากันเบื่อหน่ายต่อการที่จะรักษาให้บริสุทธิ์ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ในการรักษาพากันเลิกละความเพียร มีแต่ความเกียจคร้านล่วงละเมิดอาบัติน้อยใหญ่ หมดสิ้นความละอาย แม้กระนั้นถ้าหากยังมีภิกษุทรงไว้ ซึ่งปาราชิกสิกขาบทอยู่แล้วปฏิบัติ ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน ต่อเมื่อไม่มีภิกษุสำรวมรักษาปาราชิกสิกขาบทแล้ว จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติอันตรธาน

ปฏิเวธอันตรธาน

พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ถ้ายังมีบุคคลสำเร็จเป็นพระโสดาบันแม้เพียงผู้เดียว ก็ยังชื่อว่าปฏิเวธยังดำรงอยู่ แต่ถ้าโลกนี้หาผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลไม่มีเลยนั้น ปฏิเวธ ก็ได้ชื่อว่าถึงกาลอันตรธาน

ลิงคอันตรธาน

ต่อไปภายภาคหน้า ภิกษุทั้งหลายมีปฏิปทาไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใส จะอยู่ในอิรอยาบถใดก็ไม่สำรวมเหมือนพวกเดียรถีย์ไม่มีความสำรวม ประพฤตินอกรีดอนาจารต่างๆ ผิดเพศภิกษุซึ่งเป็นพุทธสาวก แม้กระนั้นก็ยังชื่อว่าเพศสมณะ ยังไม่ถึงกับอันตรธาน

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป ภิกษุทั้งหลายไม่ใช้ผ้าไตรจีวรมีสีอันควรแก่สมณเพศ เห็นว่าสีผ้ากาสาวพัสตร์ไม่มีความสำคัญ จากนั้นก็พากันละทิ้งบริขารแม้กระทั้งไตรจีวร พากันประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวทั้งบุตรและภรรยา จะมีก็แต่เศษผ้าเหลืองชิ้นน้อยๆ ห้อยอยู่ที่คอหรือผูกไว้ที่ข้อมือเท่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นพระภิกษุ สมดังพระดำรัสที่ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า

“ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จะหาภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งจีวรมิได้ จะมีก็แต่โครตภูสงฆ์ คือ พระสงฆ์รุ่นสุดท้ายในพระพุทธศาสนา ผู้มีผ้ากาสาวพัสตร์ผูกที่ข้อมือหรือห้อยอยู่ที่คอ หาศีลาจาวัตรมิได้ แม้กระนั้นถ้าหากจะมีทายกมีจิตศรัทธาปรารถนาจะทำบุญ ก็จงตั้งจิตอุทิศถวายเพื่อสงฆ์ แล้ววัตถุจตุปัจจัยถวายแก่ภิกษุผู้มีผ้ากาสาวพัสตร์ผูกที่ข้อมือหรือห้อยที่คอนั้น ก็จะเกิดผลานิสงส์มหาศาลเช่นกัน”

ถึงแม้ภิกษุทั้งหลายจะมีความเป็นอยู่ย่อหย่อนถึงเพียงนั้น ก็ชื่อว่าเพศภิกษุยังคงอยู่ไม่อันตรธาน แต่เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภิกษุเหล่านั้นพากันละทิ้งผ้าเหลืองชิ้นน้อยๆ ที่ติดตัวอยู่นั้นเสีย จึงได้ชื่อว่า ลิงคอันตรธาน คือเพศภิกษุสูญสิ้นไม่เหลือเศษอีกต่อไป

ธาตุอันตรธาน

ธาตุอันตรธานเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ พระบรมธาตุนิพพาน “ และคำว่านิพพานนั้นมี ๓ ประการ คือ
๑. กิเลสนิพพาน คือการตรัสรู้ที่โคนต้นศรีมหาโพธิ์
๒. ขันธนิพพาน คือการดับเบญจขันธ์ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
๓. ธาตุนิพพาน คือพระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้นไปจากโลก ซึ่งจักเกิดขึ้นในอนาคต

การนิพพานแห่งพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระบรมศาสดาที่ประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ เมื่อไม่มีผู้สักการะบูชาพระบรมธาตุก็จะเสด็จไปยังถิ่นประเทศที่มีคนเคารพสักการบูชา จวบจนวาระสุดท้ายมาถึง ทั่วทุกถิ่นประเทศหาผู้สักการบูชาไม่มีเลย พระบรมธาตุทั้งหลายจากโลกมนุษย์ เทวโลกและนาคพิภพ จะเสด็จมาสู่ต้นพระศรีมหาโพธิ์สถานที่ตรัสรู้ทั้งหมด แล้วรวมกันเป็นรูปของพระพุทธองค์ ทรงประดิษฐ์สถาน ณ โคนต้นศรีมหาโพธิ์นั้น ประหนึ่งว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ จะทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ในที่นั้น แต่ในครั้งนี้มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายจะมิมีผู้ใดได้เห็นพระองค์เลย

ฝ่ายเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล จะพากันมาประชุม ณ ที่นั้น ต่างก็กรรแสงโศกาอาดูรเหมือนเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ลำดับนั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้นที่พระสรีรธาตุเผาผลาญพระบรมธาตุจนหมดสิ้นหาเศษมิได้ เข้าถึงซึ่งความสูญหายไปจากโลก ได้ชื่อว่า “พระบรมธาตุนิพพาน”

อายุกาลแห่งพระพุทธศาสนาก็สิ้นสุดลง ในบัดนั้น
เมื่อพระบรมธาตุนิพพานแล้ว เหล่าเทพยดาพากันทำสักการบูชาแล้ว ทำประทักษิณสิ้น ๓ รอบเสร็จสิ้นต่างก็พากันกลับสู่วิมานของตนๆ ในเทวโลก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2008, 5:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มิลินทปัญหา
http://www.dharma-gateway.com/dhamma-milin-index-page.htm

ปัญหาที่ ๗ เรื่องอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี

สมเด็จพระบรมกษัตริย์ตรัสถามว่า "

ข้าแต่พระนาคเสน ด้วยสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า

" ดูก่อนอานนท์ บัดนี้พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปี เท่านั้น "

แต่ในเวลาจะปรินิพพาน สุภัททปริพาชก ทูลถาม ได้ตรัสอีกว่า

" ดูก่อนสุภัททะ ถ้าพระภิกษุเหล่านี้ยังปฏิบัติชอบอยู่ โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย "

คำนี้เป็นคำไม่มีเศษ เป็นคำเด็ดขาด

ถ้าสมเด็จพระบรมโลกนาถได้ตรัสไว้ว่า " โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย " ดังนี้เป็นคำจริงแล้ว คำที่ว่า " บัดนี้พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น " ก็ผิด

ถ้าคำว่า " พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น " เป็นคำถูก คำที่ว่า " โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น " ก็เป็นคำผิด

ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขให้โยมสิ้นสงสัยด้วยเถิด "

พระนาคเสนถวายวิสัชนาว่า

" ขอถวายพระพร ถูกทั้งสอง คือคำที่สมเด็จพระชินวรตรัสไว้ว่า พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น ก็เป็นคำที่ถูก ส่วนที่ตรัสไว้ว่า ถ้าภิกษุเหล่านั้นยังปฏิบัติชอบอยู่ โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นก็ถูก

คำทั้งสองนั้นมีอรรถพยัญชนะต่างกัน คำหนึ่งเป็น สาสนปริจเฉท คือ เป็นคำกำหนดพระศาสนา อีกคำหนึ่งเป็น ปฏิปัตติปริทีปนา คือ เป็นการแสดงซึ่งปฏิบัติ เป็นอันว่าคำทั้งสองไกลกันมาก ไกลกันเหมือนแผ่นดินกับแผ่นฟ้า เหมือนนรกกับสวรรค์ เหมือนกุศลกับอกุศล และเหมือนทุกข์กับสุขฉะนั้น

แต่ว่าอย่าให้พระดำรัสถามของมหาบพิตรเป็นโมฆะเลย อาตมาภาพจักแสดงคำทั้งสองนั้น ให้เข้าเป็นอันเดียวกันได้

คือคำที่ตรัสว่า " พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีนั้น " เป็นการกำหนดความตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม คือถ้าภิกษุณีไม่บรรพชา พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี เมื่อพระตถาคตเจ้าตรัสอย่างนี้ ชื่อว่าตรัสถึงความอันตรธานแห่งพระสัทธรรม หรือชื่อว่าปฏิเสธการบรรลุมรรคผล อย่างนั้นหรือ...มหาบพิตร ? "

" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร เมื่อสมเด็จพระชินวรจะทรงกำหนดสิ่งที่หมดไปแล้ว จะทรงกำหนดสิ่งที่ยังเหลืออยู่ ก็ได้ทรงกำหนดไว้อย่างนั้น เหมือนอย่างบุรุษกำหนดของที่หมดไป ถือเอาของที่เหลือขึ้นแสดงแก่ผู้อื่นว่า ของเราหมดไปแล้วเท่านั้น นี้เป็นส่วนที่ยังเหลืออยู่ฉันใด เมื่อสมเด็จพระจอมไตรจะทรงกำหนดพระศาสนาที่หมดไป ก็ได้ทรงแสดงส่วนที่ยังเหลืออยู่ในท่ามกลางเทพยดามนุษย์ทั้งหลายว่า บัดนี้พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น

คำว่า พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น เป็น สาสนปริจเฉท คือเป็นการกำหนดพระศาสนา ส่วนคำที่ตรัสไว้ในเวลาจะปรินิพพานว่า " ถ้าภิกษุเหล่านี้ยังปฏิบัติชอบอยู่ โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย " ดังนี้นั้น เป็น ปฏิปัตติปริทีปนา คือเป็นการแสดงซึ่งปฏิบัติ

ขอมหาบพิตรจงทรงกระทำ ปริทีปนา กับ ปริจเฉท ให้เป็นอันเดียวกัน ถ้ามหาบพิตรพอพระทัย อาตมาภาพจักแสดงถวายให้เป็นอันเดียวกัน ขอมหาบพิตรอย่ามีพระทัยวอกแวก จงตั้งพระทัยสดับให้จงดีเถิด "

อุปมาดังสระน้ำ

เมื่อพระนาคเสนถวายพระพรอย่างนี้แล้วจึงถวายพระพรต่อไปว่า

" เหมือนอย่างสระน้ำเต็มเปี่ยมด้วยน้ำใหม่มีน้ำเต็มเสมอปากขอบสระ เมื่อเมฆใหญ่ทำให้ฝนตกลงมาที่สระนั้นเนือง ๆ น้ำในสระนั้นจะแห้งจะหมดไปหรือไม่ ? "

" ไม่แห้งไม่หมด พระผู้เป็นเจ้า "

" เพราะอะไร มหาบพิตร "

" เพราะฝนยังตกลงมาอยู่เนือง ๆ น่ะซิ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสระใหญ่อันได้แก่พระสัทธรรมที่เป็นพระศาสนาของสมเด็จพระชินสีห์ เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใสสะอาด คือ อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ได้ตรัสมรรคภาวนาไว้แล้ว ผู้ใดกระทำให้ฝนคือ อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ ตกลงมาเนือง ๆ ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้อบรมมรรคภาวนาไว้แล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้นสระใหญ่ คือ พระสัทธรรม อันเป็นพระศาสนาสูงสุดของสมเด็จพระบรมสุคต ก็จักตั้งอยู่ตลอดกาลนาน โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายความอย่างนี้ จึงได้ตรัสไว้ว่าถ้าภิกษุเหล่านี้ยังปฏิบัติชอบอยู่ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย "

อุปมาเหมือนกองไฟใหญ่

" ขอถวายพระพร เมื่อกองไฟใหญ่กำลังลุกรุ่งเรืองอยู่ มีคนทั้งหลายเอาหญ้าแห้ง ไม้แห้ง มูลโคแห้ง มาทิ้งเข้าในกองไฟใหญ่นั้นเรื่อย ๆ ไป กองไฟใหญ่นั้นจะดับไปหรือไม่ ? "

" ไม่ดับเลย พระผู้เป็นเจ้า มีแต่จะลุกใหญ่เท่านั้น "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระศาสนาอันประเสริฐของพระศาสดา ได้สว่างรุ่งเรืองอยู่ในหมื่นโลกธาตุ ด้วย อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าศากยบุตรพุทธชิโนรสยังประกอบด้วยองค์ของผู้มีความเพียร ยังฝึกฝนดี ยังไม่ประมาท ยังเต็มใจใน ไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) ยังทำสิกขาให้บริบูรณ์ ทำจารีตและสีลสัมปทา ( ถึงพร้อมด้วยศีล ) ให้บริบูรณ์พระศาสนาก็ยังจักตั้งอยู่ตลอดกาลนาน โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายความอย่างนี้ จึงได้ตรัสไว้ว่า ถ้าภิกษุเหล่านี้ยังปฏิบัติชอบอยู่ โลกก็จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย "

อุปมาเหมือนกระจก

" อีกประการหนึ่ง กระจกอันบุคคลขัดดีแล้ว ทำให้ผ่องใสดีแล้ว และมีผู้ขัดอีกเนือง ๆ กระจกนั้นจะมัวหมองได้หรือไม่ ? "

" ไม่มัวหมอง พระผู้เป็นเจ้า มีแต่จะผ่องใสยิ่งขึ้นไป "

" ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละคือพระศาสนาของสมเด็จภควันบรมศาสดาผ่องใสอยู่เป็นปกติ คือไม่มัวหมองด้วยกิเลสตัณหาแต่อย่างใด ถ้าพระพุทธบุตรเหล่านั้นศึกษาพระศาสนาอันประเสริฐนั้นไว้ให้ผ่องใส ด้วย อาจารคุณ ศีลคุณ ข้อวัตรปฏิบัติ สัลเลข ( ขัดเกลา ) ธุดงคคุณ อยู่แล้ว พระศาสนาก็จะตั้งอยู่ตลอกกาลนาน โลกนี้จักไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย พระพุทธศาสนามีการปฏิบัติเป็นราก มีการปฏิบัติเป็นแก่น ตั้งอยู่ได้ด้วยการปฏิบัติ "

" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่า พระสัทธรรมอัตรธานนั้น มีอยู่กี่ประการ ? "

อันตรธาน ๓ ประการ

" ขอถวายพระพร อันตรธานนั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. อธิคมอันตรธาน ( มรรคผลสูญหายไป )

๒. ปฏิปัตติอันตรธาน ( ข้อปฏิบัติสูญหายไป )

๓. ลิงคอันตรธาน ( เพศสูญหายไป )

เมื่อ อธิคมอันตรธาน แล้ว ถึงมีผู้ปฏิบัติดี ก็ไม่มีธรรมาภิสมัย คือการได้รู้ยิ่งซึ่งธรรม

เมื่อ ปฏิปัตติอันตรธาน แล้ว สิกขาบทบัญญัติก็อันตรธาน ยังเหลือแต่เพศเท่านั้น

เมื่อ ลิงคอันตรธาน แล้ว ก็ขาดประเพณี คือความสืบต่อแห่งเพศบรรพชิตในพระพุทธศาสนา อันตรธานมีอยู่ ๓ ประการเท่านี้แหละ มหาบพิตร "

" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้ทำปัญหาอันลึกให้ตื้นแล้ว ได้ทำลายข้อยุ่งยากแล้ว ได้ทำให้ถ้อยคำของผู้อื่นหมดไปแล้ว พระผู้เป็นเจ้ามาถึงแล้ว ซึ่งความเป็นผู้องอาจในหมู่คณะอันประเสริฐ "

อธิบาย

ข้อความในวงเล็บ ผู้เรียบเรียงได้เพิ่มเติมไป เพื่อความเข้าใจ

ฎีกามิลินท์ อธิบายคำว่า "พระสัทธรรม "ได้แก่ อธิคมสัทธรรม คือ ปฏิเวธสัทธรรม อันได้แก่ มรรค ผล นิพพาน ส่วนผู้แปลหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า เมื่อท่านอ่านมาตาม อรรถกถา ฎีกาแล้วนี้ ยังไม่สิ้นสงสัย ก็ขอให้อ่านคำอธิบายต่อไปคือคำว่า สาสนปริจเฉท แปลว่า กำหนดพระศาสนานั้น อธิบายว่า ได้แก่การกำหนดอายุพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่ ๕,๐๐๐ ปี คำว่า ปฏิปัตติปรทีปนา แปลว่า กำหนดแสดงซึ่งการปฏิบัตินั้น หมายถึงผลแห่งการปฏิบัติ หรืออานุภาพแห่งการปฏิบัติว่า ถ้ายังปฏิบัติอยู่ตราบใด พระพุทธศาสนาก็จักยังตั้งอยู่ตราบนั้น คำทั้งสองนี้ถูกทั้ง ๒ คำ

เปรียบเหมือนคำว่า อายุของผู้นั้นมีกำหนด ๑๐๐ ปี อีกคำหนึ่งว่า ถ้าธาตุทั้ง ๔ ของผู้นั้นยังปกติอยู่ตราบใด ผู้นั้นก็จักมีอายุอยู่ตราบนั้น ดังนี้ คำทั้งสองนี้ คำหนึ่งแสดงกำหนดอายุ อีกคำหนึ่งแสดงอานุภาพของธาตุ ๔

แต่ขอให้เข้าใจว่า อายุของผู้นั้นจักตั้งอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปีเท่านั้น แล้วธาตุทั้ง ๔ ของผู้นั้นจะต้องวิปริตไป

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ก็ฉันนั้น

ข้อสำคัญในปัญหาข้อนี้มีอยู่อย่างหนึ่งคือข้อที่ว่า พระสัทธรรมจักตั้งอยู่เพียงแค่ ๕,๐๐๐ ปีนั้น ผิดจากที่กล่าวไว้ใน พระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ที่เป็นพระบาลีกับ อรรถกถาฎีกา คือ ในพระบาลีว่า

"ถ้าไม่มีภิกษุณี พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ ๑,๐๐๐ ปี เมื่อมีภิกษุณีแล้ว พระสัทธรรมจักตั้งอยู่ ๕๐๐ ปีเท่านั้น "อันนี้เป็นคำในพระบาลี ส่วนในอรรถกถาว่า

"เมื่อพระพุทธองค์ ทรงเล็งเห็นอย่างนั้น จึงได้ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ไว้ป้องกันเสียก่อน แล้วจึงทรงอนุญาตให้มีนางภิกษุณี "

เมื่อทรงป้องกันแล้วก็ได้อีก ๕๐๐ ปีรวมกับ อีก ๕๐๐ ปีที่ยังเหลืออยู่นั้น จึงเป็นพันปีเท่ากับไม่มีนางภิกษุณี

แล้วอธิบายไว้ตั้งแต่พันปีที่ ๑ ถึงพันปีที่ ๕ ( รายละเอียดของดไว้ ) เมื่อสิ้น ๕ พันปีแล้ว อธิคมสัทธรรม คือผู้บรรลุมรรคผลก็สิ้นไป พระปริยัติธรรมก็หมดไปทีละน้อย ลงท้ายก็เหลือแต่เพศภิกษุที่มีผ้าเหลืองน้อยห้อยหู ทำไร่ไถนาเลี้ยงบุตรภรรยา แล้วลงท้ายก็หมดผ้าเหลืองน้อยห้อยหู

แต่เมื่อผู้ใดยังมีผู้จำพระพุทธวจนะได้เพียง ๑ คาถา อันกำหนดด้วยอักขระ ๓๒ ตัว เมื่อนั้นก็ยังเรียกว่า พระปริยัติศาสนายังอยู่ เมื่อไม่มีมนุษย์ผู้ใดในโลก จะจำพระพุทธวจนะเพียงคาถาเดียวได้ เมื่อนั้นแหละจึงเรียกว่า หมดพระปริยัติศาสนาจริง ๆ

และมีกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธศาสนาครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ที่ต่าง ๆ กัน จะเสด็จมารวมกันที่ไม้ศรีมหาโพธิ แล้วปรากฏเป็นองค์สมเด็จพระบรมสุคตขึ้น ทรงแสดงธรรมแก่เทพยดาอยู่ตลอด ๗ ทิวาราตรี เทพยดาหรือ ยักษ์ นาค ครุฑ อินทร์ พรหม ผู้ใดเป็นธาตุเวไนย ผู้นั้นก็จักได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ในคราวนั้น แล้วจวนรุ่งอรุณในคืนที่ ๗ พระบรมสารีริกธาตุที่ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นนั้นก็จะมีเพลิงธาตุเกิดขึ้น ถวายพระเพลิงเผ่าให้ย่อยยับไปไม่มีเหลือ เมื่อนั้นแหละเรียกว่า " ธาตุอันตรธาน " ดังนี้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2008, 5:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๑๓. สัทธรรมปฏิรูปกสูตร

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=5846&Z=5888&pagebreak=0


[๕๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัสสป ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ
เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่
ตั้งอยู่ในพระอรหัตผลจึงน้อยเข้า สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป และสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อ
ใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใด
ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรม-
*ชาติจึงหายไป ฉันใด พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลก
ตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น
เมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป ฯ
[๕๓๓] ดูกรกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุ
น้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษใน
โลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะ
อัปปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๕๘๔๖ - ๕๘๘๘. หน้าที่ ๒๔๖ - ๒๔๗.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=5846&Z=5888&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=531
---------------------------------------------------------------
๗. อาณิสูตร
[๖๗๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า
ทสารหะได้มีแล้ว เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป สมัยต่อมา
โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก
มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม อยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง
จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษา
แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้ มี
อักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิต อยู่ จัก
ปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญ
ธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา ฯ
[๖๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว
อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธาน
ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเขา
กล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบ
ด้วยสุญญตธรรม อยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่ง
จิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ
จบสูตรที่ ๗

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๗๐๔๖ - ๗๐๖๖. หน้าที่ ๓๐๒.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=7046&Z=7066&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=16&i=672
-------------------------------------------------------------------


พระพุทธศาสนาต้องสูญหาย จากพุทธบริษัทที่เป็นโมฆบุรูษ หาได้เกิดจาก ศาสนิกชนอื่นไม่

เห็นการแสดงความเห็น การอธิบายธรรม ที่ยึดถือเอาอาจาริยวาทะ และ อัตตโนมติ ของตนเองเป็นใหญ่ การเสื่อมสลายย่อมเร็วขึ้น
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กรัชกาย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 24 ต.ค. 2006
ตอบ: 2348

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2008, 8:53 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ้างอิงจาก:
จากหนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ

ของพระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์


พระครูท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหมครับคุณเฉลิมศักดิ์ ยิ้ม
 

_________________
สติ-การนึกไว้,การคุมจิตไว้กับอารมร์,การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ-สัมปชัญญะ-การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้,การรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำนั้น-ท่านเรียกว่าผู้มีสติสัมปชัญญะหรือมีสติปัญญา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
คามินธรรม
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 29 พ.ค. 2008
ตอบ: 860
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 22 ส.ค. 2008, 11:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เฉลิมศักดิ์1 พิมพ์ว่า:
พระพุทธศาสนาต้องสูญหาย จากพุทธบริษัทที่เป็นโมฆบุรูษ หาได้เกิดจาก ศาสนิกชนอื่นไม่

เห็นการแสดงความเห็น การอธิบายธรรม ที่ยึดถือเอาอาจาริยวาทะ และ อัตตโนมติ ของตนเองเป็นใหญ่ การเสื่อมสลายย่อมเร็วขึ้น


- มันเป็นเรื่องธรรมดาของความคิดเห็น การแสดงธรรม
เขาคิดได้แค่ไหน อย่างไร เขาก็พูดกัน
ความเห็น .... ก็ไม่พ้นไตรลักษณ์
เขาเปลี่ยนความคิดได้เสมอ

- การเพ่งหาผู้กระทำผิด โดยเอาความเห็นตนเป้นใหญ่ ก็ไม่ใช่วิธีบำรุงพระศาสนาที่พระพุทธเจ้ายกย่องนะครับ คุณเฉลิมศักดิ์แน่ใจตัวเองได้อย่างไร ว่าที่คิดๆ อยู่นั้น ถูกต้องที่สุด เป็นปรมัตถะแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ดีขึ้นเลย จากการกระทำนี้

การใช้สมองคิด แล้วตัดสินว่าอะไรผิดถูก
คือเหตุความเสื่อมของศาสนาอย่างแท้จริง

ถ้าคุณเแลิมศักดิ์ต้องการบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา
ต้องหันไปปฏิบัติให้รู้แจ้ง หมดสิ้นความสงสัย
แล้วเผยแพร่ความถูกต้อง

ฝึกตนให้สิ้นสงสัยีเสียก่อน จึงฝึกสัตว์
จึงชื่อว่าได้ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าทำ
 

_________________
ฐิโต อหํ องฺคุลิมาล ตฺว ฺจ ติฏฺฐ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2008, 5:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรัชกาย พิมพ์ว่า:
อ้างอิงจาก:
จากหนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ

ของพระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์


พระครูท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหมครับคุณเฉลิมศักดิ์ ยิ้ม



คัดลอกบางส่วน คำปรารภ จากหนังสือจากหนังสือ พุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ


คำปรารภ

หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธินี้ ผู้เรียบเรียงได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนพุทธานุพุทธประวัติ หลักสูตรนักธรรมชั้นเอก ซึ่งมีหนังสือปฐมสมโพธิ อยู่ในหลักสูตรด้วย และโดยที่หนังสือปฐมสมโพธินั้น จัดเป็นวรรณคดีชั้นสูง ซึ่งสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส กวีเอกของไทย ทรงพระนิพนธ์ขึ้นโดยใช้สำนวนโวหารลึกซึ้งเข้าใจยาก ส่วนมากจะเป็นสำนวนภาษาบาลี สันสกฤต และคำไทยโบราณ

ด้วยเหตุนี้ จึงได้เรียบเรียงถ้อยคำสำนวนขึ้นใหม่ โดยยังคงเนื้อหาสาระของเรื่องเดิมไว้ตามเดิม

พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์
ธันวาคม ๒๕๔๑




คุณกรัชกายครับ ท่านพระครู ยังมีชีวิตอยู่ครับ และก็ได้สร้างผลงานออกมาเรื่อย ๆ ที่ผมสะสมไว้ก็มีหนังสือ พุทธบัญญัติ ๒๒๗ เพื่อความเข้าใจวินัยของพระให้ถูกต้อง


อ้างอิงจาก:
พระครูท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่ไหมครับคุณเฉลิมศักดิ์


คุณกรัชกาย สงสัยอะไรหรือครับ ?
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กรัชกาย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 24 ต.ค. 2006
ตอบ: 2348

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2008, 9:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ้างอิงจาก:
ด้วยเหตุนี้ จึงได้เรียบเรียงถ้อยคำสำนวนขึ้นใหม่ โดยยังคงเนื้อหาสาระของเรื่องเดิมไว้ตามเดิม

คุณกรัชกาย สงสัยอะไรหรือครับ ?



ปัจจุบันเห็นมีแต่งๆ กันหลายๆ สำนวน ร้อยคนร้อยสำนวน

พิจารณาสาระดีดีนะครับ อย่าให้หลงสำนวนคนแต่ง ยิ้ม
 

_________________
สติ-การนึกไว้,การคุมจิตไว้กับอารมร์,การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ-สัมปชัญญะ-การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้,การรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำนั้น-ท่านเรียกว่าผู้มีสติสัมปชัญญะหรือมีสติปัญญา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
dd
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 17 มิ.ย. 2008
ตอบ: 179
ที่อยู่ (จังหวัด): overseas

ตอบตอบเมื่อ: 23 ส.ค. 2008, 6:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ สาธุครับ คุณเฉลิมศักดิ์

เวลานี้กึ่งพุทธกาลแล้ว แนวโน้มของ "ธาตุอันตรธาน" สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีบุคคลที่พยายามจะกู้สถานการณ์ด้วยการนำข้อมูล คำเตือนมาเเสดงไว้อย่างที่คุณกำลังทำอยู่ ก็คงเหมือนกับพยายาม "ว่ายทวนกระแส" เทรนด์แห่งความเสื่อมของพระสัทธรรมครับ ผมยังไม่เคยเห็นใครพยายามทำมากเท่าคุณ ด้วยความกล้าหาญเลย

ผมเห็นวิริยะของคุณในด้านนี้แล้วทึ่งและนับถือครับ เท่าที่เห็นมีแต่ ธรรมตามกระแสโลกาภิวัฒน์ และการแพร่ลัทธิมิจฉาทิฏฐิระบาดไปทั่ว ดูเหมือนจะหาธรรมะแท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ยากขึ้นทุกทีแม้ในเวปที่เผยแพร่ธรรมะก็ตาม

สาธุ
 

_________________
ศีล ๕ รักษาตนไม่ให้เกิดในอบายภูมิ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 24 ส.ค. 2008, 5:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สัตว์ที่ได้ฟังพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตเจ้าประกาศไว้
มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมวินัย
ที่พระตถาคตเจ้าประกาศไว้ มีประมาณมากกว่า
โดยแท้

สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ทรงจำไว้ได้ มีเป็นส่วนน้อย
สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ทรงจำไว้ไม่ได้
มีประมาณมากมาก โดยแท้

สัตว์ที่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้
มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรม
ที่ตนทรงจำไว้ได้ดี มีประมาณมากกว่า โดยแท้

สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่รู้ทั่วถึงอรรถ
ไม่รู้ทั่วถึงธรรม ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมนั้น
มีประมาณมากกว่า โดยแท้

สัตว์ที่สลดใจ ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ
มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่สลดใจ ในฐานะเป็นที่ตั้ง
แห่งความสลดใจ มีประมาณมากกว่า โดยแท้

สัตว์ที่สลดใจ แล้วเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย
มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่สลดใจแล้ว ไม่เริ่มตั้ง
ความเพียรโดยแยบคาย มีประมาณมากกว่า
โดยแท้

สัตว์ที่กระทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว
ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต มีเป็นส่วนน้อย
สัตว์กระทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว
ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เอกัคคตาจิต มีประมาณมากกว่า
โดยแท้

สัตว์ที่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส มีเป็นส่วนน้อย
สัตว์ที่ไม่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
มีประมาณมากกว่า โดยแท้

เปรียบเหมือนในชมพูทวีปนี้ มีสวนที่น่ารื่นรมย์
มีป่าที่น่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์
มีสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ มีประมาณเพียง
เล็กน้อยเท่านั้น แต่ในชมพูทวีปนี้ มีที่ดอน
ที่ลุ่ม เป็นลำน้ำ เป็นที่ตั้งแห่งขวากตอและหนาม
เป็นที่มีภูเขาระเกะระกะ
มีประมาณมากกว่า โดยแท้ฉะนั้น

เพราะเหตุฉะนี้แล เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
"เราจักเป็นผู้ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส ให้จงได้"

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย!
ขอให้เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกดังนี้เถิด


-------------------------------------------------------

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=1003&Z=1058
-----------------------------------------------------


สาธุ สาธุครับคุณ dd

คุณ dd อยู่ยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่มิใช่พุทธศาสนา คุณdd คงได้เห็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ในยุโรป แม้ลัทธิที่ไปเผยแพร่ที่นั้น ผมเข้าใจว่าก็เป็นเพียงนิกายมหายาน ที่ยึดถือคำสอนของ อาจาริยวาท อัตตโนมติเป็นใหญ่ เช่น นิกายเซน เป็นต้น

คุณ dd ครับ มีโอกาสก็ศึกษาพระสัทธรรมจาก พระไตรปิฏก อรรถกถา ผู้ทรงพระไตรปิฏก (เถรวาท) หมั่นฝึกหัดปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 24 ส.ค. 2008, 5:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ้างอิงจาก:
คุณ dd อยู่ยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่มิใช่พุทธศาสนา คุณdd คงได้เห็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ในยุโรป แม้ลัทธิที่ไปเผยแพร่ที่นั้น ผมเข้าใจว่าก็เป็นเพียงนิกายมหายาน ที่ยึดถือคำสอนของ อาจาริยวาท อัตตโนมติเป็นใหญ่ เช่น นิกายเซน เป็นต้น

คุณ dd ครับ มีโอกาสก็ศึกษาพระสัทธรรมจาก พระไตรปิฏก อรรถกถา ผู้ทรงพระไตรปิฏก (เถรวาท) หมั่นฝึกหัดปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา


คุณ dd ครับ พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ วัตถุ (วัดวาอาราม) , คัมภีร์ ฯลฯ

สาธุ ขอให้คุณ dd อย่าได้ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา



http://www.abhidhamonline.org/Ajan/book.htm

ธรรมบรรยาย โดยหลวงพ่อเสือ

การพิทักษ์พระพุทธศาสนา
http://www.abhidhamonline.org/Ajan/Sua/pitak.doc

ถ้าไม่เข้าใจแล้ว จะไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน อะไรเจริญ บำรุงอย่างไร นี่แหละเป็นจุดเสื่อมเลย การศึกษาและการเล่าเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะตีวงของชีวิตให้แคบลงมา

การพิทักษ์พระพุทธศาสนา จะพิทักษ์อย่างไรจึงจะถูกต้อง ทุกวันนี้พุทธศาสนาเสื่อมหรืออะไรเสื่อม การทำลายล้างพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร พระพุทธศาสนาเป็นข้าศึกกับอะไร พระพุทธศาสนาเป็นข้าศึกกับกิเลส ไม่ได้เป็นข้าศึกกับศาสนาอื่นเลย แล้วใครล่ะ เป็นผู้ละกิเลส

ว่าโดยความหมาย “พระพุทธศาสนา” หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ ปัญญา ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วเห็นจริง ในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หรือปัญญาที่แจ้งในนิพพานนั่นเอง

ว่าโดยหลักฐาน ได้แก่ พระไตรปิฏก คือ พระวินัยปิฏก พระอภิธรรมปิฏก พระสุตันตปิฏก

ว่าโดยธุระ พระพุทธศาสนามี ๒ ธุระ คือ คันทธุระ และวิปัสสนาธุระ คือ การเรียน และ การปฏิบัติ

ว่าโดยการเข้าถึงพระพุทธศาสนา เข้าถึงได้ด้วยปัญญา 3 ได้แก่
รู้ได้ด้วยการศึกษาพระไตรปิฏกจนเข้าใจ ไม่ใช่ฟังจบจนเข้าใจ เรียกว่า ปริยัติศาสนา

รู้ได้ด้วยการปฏิบัติ ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา หมายถึง ปฏิบัติศาสนา
รู้แจ้งแทงตลอด มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า ปฏิเวธศาสนา


พระพุทธเจ้าได้สอนการปรากฏการณ์ธรรมชาติน้อยใหญ่มากมายหลายชนิด พระองค์ทรงค้นพบความจริงจากธรรมชาติเหล่านั้นว่า

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลาย(ไม่เที่ยง)
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
สพเพฺ ธมฺมา อนฺตตา ธรรมชาติทั้งหลายเป็นอนัตตา
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
dd
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 17 มิ.ย. 2008
ตอบ: 179
ที่อยู่ (จังหวัด): overseas

ตอบตอบเมื่อ: 24 ส.ค. 2008, 11:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ ขอบคุณครับคุณเฉลิมศักดิ์ ผมเองยังไม่เข้าถึงธรรมะจนสามารถพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง แต่ก็พยายามฝึกปฏิบัติไปตามความสามารถและเหตุปัจจัยประกอบ เป็นบุญของผมที่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะตามพระไตรปิฎกและได้เรียนพระอภิธรรมมาบ้างเล็กน้อยจึงพอทราบว่าอะไรเป็นคำสอนที่ถูก-ผิด ผมสามารถกล่าวรับรองตนเองได้ว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเฉพาะใน พุทธศาสนาเถรวาทเท่านั้น ครับ

ขอขอบคุณสำหรับลิงค์ความรู้ครับ อนุโมทนาครับ สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ศีล ๕ รักษาตนไม่ให้เกิดในอบายภูมิ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง

ตอบตอบเมื่อ: 30 ส.ค. 2008, 5:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

dd พิมพ์ว่า:
สาธุ สาธุ สาธุ ขอบคุณครับคุณเฉลิมศักดิ์ ผมเองยังไม่เข้าถึงธรรมะจนสามารถพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง แต่ก็พยายามฝึกปฏิบัติไปตามความสามารถและเหตุปัจจัยประกอบ เป็นบุญของผมที่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะตามพระไตรปิฎกและได้เรียนพระอภิธรรมมาบ้างเล็กน้อยจึงพอทราบว่าอะไรเป็นคำสอนที่ถูก-ผิด ผมสามารถกล่าวรับรองตนเองได้ว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเฉพาะใน พุทธศาสนาเถรวาทเท่านั้น ครับ

ขอขอบคุณสำหรับลิงค์ความรู้ครับ อนุโมทนาครับ สาธุ สาธุ สาธุ


เช่นกันครับ ที่เป็นบุญของผมที่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมะตามพระไตรปิฎกและได้เรียนพระอภิธรรมมาบ้างเล็กน้อย

และก็ยังไม่พ้นทุกข์เช่นกัน

แต่ได้เริ่มเห็นภัยของทุกข์ในวัฏฏะสงสาร และได้ศึกษา การกำหนดรู้ในทุกข์ และได้ฝึกหัดปฏิบัติวิปัสสนา เพียงเล็กๆ น้อยๆ

คุณ dd อย่าลืมฝึกหัดปฏิบัติวิปัสสนาด้วยนะครับ
http://www.geocities.com/toursong1/kam/ch.htm

ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจในพระอภิธรรมอย่างลึกซึ้งย่อมรู้สึกว่า การเกิดเป็นทุกข์ แม้จะเกิดในภพภูมิของมนุษย์ก็ตาม และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าชีวิตในภพชาติต่อๆ ไป จะไม่พลาดถลำลงต่ำไปเกิดในทุคติภูมิ นอกจากบุคคลผู้นั้นได้ปฏิบัติตนเข้าถึงพระอริยสัจธรรมนำชีวิตเข้าสู่พระอริยบุคคลแล้ว เพราะว่าบุคคลนับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้นที่อบายภูมิจะปิดสนิทสำหรับชีวิตของท่าน และการเวียนว่ายตายเกิดที่จะมีต่อไปในสุคติภูมินั้น ย่อมมีได้ไม่เกิน ๗ ชาติ จึงนับได้ว่าพระโสดาบัน ท่านเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่สร้างหลักประกันภัยในการเวียนว่ายตายเกิดให้กับชีวิตได้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนทุกคนต้องยอมรับว่าอนาคตชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตนนั้นต้องมีต่อไปเป็นอนันตังไม่มีที่สิ้นสุด เพราะปุถุชนคือบุคคลที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส และ กิเลส นี่เองที่เป็นตัวการ ผลักพาให้เกิดการกระทำกรรม เมื่อมีกรรมย่อมเป็นที่แน่นอนว่า วิบาก คือ รูปขันธ์ และนามขันธ์ ย่อมต้องเกิด ฉะนั้นวัฏฏะทั้งสาม คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ ที่หมุนวน ย่อมทำให้สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่อาจสิ้นสุดหยุดลงได้ และทุกภพชาติที่เกิด กำเนิดของสัตว์ย่อมวิจิตร เพราะจิตย่อมวิจิตรในการสั่งสมกรรม และกิเลส
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
dd
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 17 มิ.ย. 2008
ตอบ: 179
ที่อยู่ (จังหวัด): overseas

ตอบตอบเมื่อ: 31 ส.ค. 2008, 5:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ สาธุครับคุณเฉลิมศักดิ์ ผมสามารถกล่าวได้ว่าจากการศึกษาพระอภิธรรม ทำให้ผมเข้าใจเรื่องชีวิต จิตและกรรมมากขึ้น ผมเริ่มมีความสำรวมสังวรณ์กาย วาจาใจมากขึ้นกว่าเมื่อยังไม่ได้รู้เรื่องพระอภิธรรม การรักษาศีลเป็นไปด้วย ความรู้เข้ามิใช่ทำไปเพราะคนอื่นบอกว่าดีหรือทำเพราะเป็นทำเนียมพิธีการอย่างแต่ก่อน ผมรู้มากขึ้นเป็นลำดับว่าผมเกิดความรู้สึกเพราะผัสสะอะไร และต้องแก้ไขเช่นไร แม้ผมจะยังไม่สามารถแยกรูปนามได้ แต่ก็พยายามเดินบนเส้นทางที่พระพุทธองค์ตรัสสอนอยู่ครับ ผมอธิษฐานเสมอว่าขอให้พบแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น คำสอนใดที่ไม่ใช่ขอให้ผม "ไม่เก๊ท" ครับ ยิ้มเห็นฟัน

อนุโมทนาอีกครั้งครับคุณ เฉลิมศักดิ์1 สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ศีล ๕ รักษาตนไม่ให้เกิดในอบายภูมิ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
อิทธิกร
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 28 ส.ค. 2008
ตอบ: 137
ที่อยู่ (จังหวัด): ชลบุรี

ตอบตอบเมื่อ: 01 ก.ย. 2008, 4:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

?
 

_________________
ชีวิตที่รู้
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง