Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน (พุทธทาสภิกขุ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๑๙ เทวทัต


พระพุทธองค์ทรงมีสาวกองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง และในทำนองเดียวกัน สาวกองค์นั้นก็มีความเคารพและมีความรักใคร่พระองค์อย่างสูงสุด สาวกผู้นี้มีนามว่า “อานนท์” ซึ่งเป็นญาติลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๕๔ พรรษา และเริ่มทรงรู้สึกถึงความชรา ซึ่งทำให้ต้องมีผู้ช่วยเหลือพระองค์บางอย่าง จึงได้ทรงเลือกพระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากประจำพระองค์เป็นพิเศษ พระองค์ทรงติดต่อกับภิกษุทั้งหลายผ่านทางพระอานนท์ โดยพระอานนท์เป็นผู้นำกระแสพระดำรัสไปบอกกล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีกิจธุระเนื่องด้วยการกราบทูลพระพุทธองค์ ย่อมจะเข้าไปหาพระอานนท์ให้ช่วยกราบทูลแทน แม้การกราบทูลขอพระอนุญาตหรือโอกาสบางอย่างบางประการ ภิกษุทั้งหลายก็พอใจที่จะติดต่อกับพระอานนท์ แทนที่จะเข้าไปเฝ้าพระองค์โดยตรง

พระพุทธองค์ยังมีลูกเรียงพี่เรียงน้องของพระองค์มาบวชเป็นภิกษุซึ่งมาอยู่กับพระองค์ และมีอะไรๆ ที่ประพฤติและกระทำต่อพระองค์ทุกๆ อย่างตรงกันข้ามจากพระอานนท์ แทนที่จะยินดีรับใช้ปรนนิบัติและเชื่อฟังพระองค์ กลับเป็นผู้มีความคิดริษยา และแข่งดีต่อพระองค์ และพยายามทำลายหมู่สงฆ์ของพระองค์ด้วย

ลูกเรียงพี่เรียงน้องผู้มุ่งร้ายต่อพระองค์ผู้นี้ มีนามว่า เทวทัต ท่านผู้นี้หยิ่งและไว้ตัวว่า มีเชื้อกษัตริย์ในสายเลือด เพราะเกิดในตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุ ได้รับการยกย่องนับถือจากภิกษุทั่วไป ในฐานะเป็นอัครสาวกที่พระพุทธองค์โปรดปราน พระเถระทั้งสองซึ่งมิใช่เป็นเชื้อกษัตริย์และมิได้เป็นพระญาติ พระเทวทัตจึงหลบไปจากหมู่ภิกษุ ตรงไปยังนครราชคฤห์เพื่อแสวงหาความเป็นมิตรกับเจ้าชายอชาตสัตรู ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นองค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อยู่ในขณะนั้น เมื่อไปถึงนครราชคฤห์แล้ว ได้แสดงกิริยาอาการความรู้บางอย่างเป็นที่สนใจของเจ้าชายอชาตสัตรู จนมีความรักใคร่นับถือเป็นอย่างยิ่ง และมีความพอพระทัยในพระเทวทัต จนถึงกับได้สร้างวิหารอันสวยงามขึ้นแห่งหนึ่งใกล้ๆ นครราชคฤห์ ถวายให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระเทวทัตโดยเฉพาะ และเป็นผู้อุปัฏฐากโดยใกล้ชิดตลอดมา

เวลาได้ล่วงไปหลายปี จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปสู่นครราชคฤห์อีก พระเทวทัตได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ และทูลขออนุญาตที่จะจัดคณะสงฆ์ใหม่ มีพระเทวทัตเองเป็นประมุข พระพุทธองค์ก็ได้ทรงปฏิเสธคำขอของพระเทวทัต และทรงอธิบายว่า การแยกสงฆ์เป็นฝักฝ่ายนั้นไม่นำมาซึ่งผลดี แต่พระเทวทัตเชื่อมั่นในความคิดของท่านเองอย่างรุนแรง ได้ทูลขอแล้วขออีกอยู่ร่ำไป พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธทุกครั้งเช่นเดียวกัน บัดนี้ความริษยาและความแข่งดีของพระเทวทัตได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นการจองเวรต่อพระพุทธองค์ พระเทวทัตได้ปักใจที่จะตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่เป็นของท่านเอง โดยที่พระพุทธองค์จะทรงรับรองหรือไม่ก็ตาม ความคิดข้อนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายอชาตสัตรูอย่างเต็มที่ ส่วนพระเจ้าพิมพิสารพระบิดาของเจ้าชายนั้น ทรงปฏิเสธในความร่วมมือในการตั้งคณะสงฆ์ใหม่โดยเด็ดขาด และยังคงเป็นฝักฝ่ายของพระพุทธองค์โดยแน่นแฟ้น

พระเทวทัตได้หาวิธีทำให้เจ้าชายอชาตสัตรูหลงรักและเลื่อมใสโดยประการต่างๆ จนถึงกับยอมทำตามความประสงค์ทุกประการ เมื่อพระเทวทัตเห็นว่าท่านเองสามารถทำให้เจ้าชายอชาตสัตรูมีความเชื่อถือแน่นแฟ้นถึงเพียงนั้นแล้ว ก็ได้แนะนำให้เจ้าชายอชาตสัตรูกำจัดพระบิดาของพระองค์ออกไปเสียนอกทาง เพื่อยกพระองค์เองขึ้นเป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ จะทำอะไรได้ตามพอใจโดยไม่มีใครขัดขวาง และสามารถช่วยพระเทวทัต ในการตั้งคณะสงฆ์ใหม่ได้โดยสะดวก เจ้าชายอชาตสัตรูได้ทำตามคำแนะนำของพระเทวทัต แต่ไม่ถึงกับใช้ดาบหรือลูกศร เพราะยังหวาดกลัวต่อการทำโลหิตให้ไหลออกจากกายของบุคคลผู้เป็นบิดา แต่ถึงกระนั้นก็ได้ทำการปลงพระชนม์พระบิดาของพระองค์ ด้วยวิธีอันทารุณและโหดร้าย โดยรับสั่งให้จับพระบิดาของพระองค์ขังไว้ในคุก และเว้นจากการให้อาหารจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปเพราะขาดอาหาร ซึ่งแม้พระชนนีของพระองค์ได้พยายามทำความช่วยเหลืออย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในปีที่ ๓๗ นับแต่การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ซึ่งเจ้าชายอชาตสัตรูได้ประกอบกรรมอันชั่วร้ายยึดพระราชบัลลังก์แห่งแคว้นมคธ เป็นกษัตริย์แทนพระบิดาของพระองค์ ซึ่งพระองค์เป็นผู้กระทำการทรมานจนสิ้นพระชนม์ไปเอง ดังกล่าวแล้ว

บัดนี้พระเทวทัตมีกำลังครบถ้วนตามที่ท่านต้องการ กษัตริย์องค์ใหม่เป็นทั้งมิตรและทั้งผู้อุปถัมภ์ ที่ยอมพลีทุกๆ อย่าง และพร้อมที่จะทำตามคำขอร้องของท่านทุกวิถีทาง ดังนั้น พระเทวทัตได้ขอร้องให้พระเจ้าอชาติสัตรูจัดหาคนแม่นศรมาจำนวนหนึ่ง จ่ายรางวัลให้เป็นอย่างสูงและบอกให้ไปยังที่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ และให้ยิงพระพุทธองค์ให้ถึงพระชนม์ชีพ เมื่อคนรับจ้างเหล่านั้นได้ไปถึงที่ที่พระพุทธองค์ประทับ ได้เห็นพระองค์ทรงมีพระกิริยาอาการสงบรำงับอ่อนโยน สง่าผ่าเผยน่าเกรงขาม ก็กลายเป็นผู้ไม่สามารถทำสิ่งซึ่งตนตั้งใจจะมาทำขึ้นมาเสียเฉยๆ ทั้งที่ตนได้รับค่าจ้างล่วงหน้าแล้ว คนเหล่านั้นรู้สึกจับใจ ในพระพุทธลักษณะอย่างสูงสุดมีจิตใจเคารพบูชาพระองค์โดยสิ้นเชิง ดังนั้นแทนที่เขาจะปล่อยลูกศรของเขาไปยังพระพุทธองค์ เขาได้พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ หมอบกายลงแทบฝ่าพระบาท แสดงความเคารพสักการะอย่างสูงสุด พระพุทธองค์ได้ทรงปราศรัยแก่เขา ชั่วเวลาเล็กน้อย เขาก็พากันสารภาพในสิ่งที่เขารับจ้างมากระทำ และได้ทูลขอให้พระองค์ทรงยกโทษ ในความหลงผิดของเขา พระพุทธองค์ได้ประทานอภัยโทษโดยสิ้นเชิงในทันที คนเหล่านั้นพากันปฏิญาณเป็นสาวกของพระองค์จนตลอดชีวิต

เมื่อพระเทวทัตได้ทราบว่าบรรดาคนที่ถูกส่งไป เพื่อปลงพระชนม์ชีพพระพุทธองค์เหล่านั้น แทนที่จะปลงพระชนม์ชีพพระพุทธองค์ตามคำสั่งกลับกลายไปเป็นสาวกของพระพุทธองค์เสียเฉยๆ เช่นนั้น ก็เดือดดาลด้วยความโกรธและตั้งใจว่าจะไม่ส่งผู้ใดไปอีกแล้ว แต่จักไปประกอบการกระทำนั้นด้วยมือของตนเอง

มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งใกล้ๆ กับที่ประทับของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์เคยเสด็จดำเนินไปมาตามหนทางที่เชิงเขานั้น เย็นวันหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์กำลังทรงดำเนินอยู่บนทางนั้น พระเทวทัตซึ่งคอยจ้องหาโอกาสเพื่อจะปลงพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์อยู่ทุกขณะ ได้แอบซ่อนอยู่บนภูเขานั้นตรงกับทางเดินสายนั้น ซึ่งมีศิลาก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง พระเทวทัตได้งัดศิลาก้อนนั้นขึ้นจากพื้น เตรียมพร้อมไว้เพื่อรอเวลาจนกระทั่งพระพุทธองค์เสด็จมาถึงที่นั่นพอดี จึงได้ผลักก้อนศิลาก้อนนั้นโดยแรง ให้มันหล่นลงมาบดทับพระพุทธองค์ตรงเชิงเขานั้น แต่เมื่อศิลานั้นหล่นลงมายังพระพุทธองค์ มันได้บังเอิญกระทบศิลาก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ดังนั้นแทนที่มันจะตกลงไปยังพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า มันได้แตกกระจายออกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยเสียก่อน สะเก็ดมีคมอันหนึ่งได้กระเด็นถูกพระบาท ทำให้พระองค์เสด็จดำเนินไม่ได้ชั่วขณะ แต่มันมิได้กระทำอันตรายร้ายแรงอย่างไร พระองค์จึงเสด็จดำเนินไปสู่พระวิหารได้ และได้รับการรักษาพยาบาลจากหมอที่เชี่ยวชาญที่สุด มีนามว่า ชีวก เขาได้ใส่ยาและพันแผลด้วยความเชี่ยวชาญ พระบาทของพระองค์ก็หายเป็นปรกติในวันต่อมา พระเทวทัตได้ประสพความพ่ายแพ้ ในแผนการอันชั่วร้ายของท่านเองอีกครั้งหนึ่ง โดยอาการดังนี้

แต่พระเทวทัตยังไม่ยอมเลิกความพยายามที่จะปลงพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา ท่านได้ทำความพยายามอย่างอื่นต่อไปอีก เพื่อจะปลงพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ ให้ตนเองได้เป็นหัวหน้าแห่งหมู่ภิกษุ ท่านมีความมุ่งหมายว่าพอพระพุทธองค์สิ้นพระชนม์ลงไปเท่านั้น ท่านก็จักได้เป็นผู้ปกครองหมู่สงฆ์โดยไม่ต้องสงสัย ในครั้งนี้ท่านได้วางแผนการให้เป็นไปในทำนองที่ว่า พอพระพุทธองค์เสด็จออกบิณฑบาตตามถนนในนครราชคฤห์ในเวลาเช้า จะปล่อยช้างตกมันตัวหนึ่งออกมาตามถนนสายนั้นในขณะนั้น ให้ช้างตัวนั้นทำอันตรายพระพุทธองค์จนถึงพระชนม์ชีพ แต่พอทำเข้าดังนั้นจริง ช้างตัวนั้นหาได้กระทำตามที่พระเทวทัตมุ่งหมายไม่ มันกลับยืนนิ่งอย่างเงื่องหงอย ปล่อยให้พระพุทธองค์เสด็จไปโดยสะดวก นี่นับว่าเป็นครั้งที่ ๓ ที่ความพยายามอันชั่วร้ายของพระเทวทัตได้ประสพความพ่ายแพ้ลงไปอีก

ตกมาถึงตอนนี้ พระเทวทัตได้ล้มเลิกความคิดที่จะปลงพระชนม์ชีพพระพุทธองค์ เนื่องจากประสพความล้มเหลวมาแล้วถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ยังมีความคิดที่จะทำลายคณะสงฆ์ของพระพุทธองค์อยู่นั่นเอง พระเทวทัตได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ทำการราวกะว่าเหตุร้ายสิ่งใดไม่ได้เกิดขึ้น ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่าท่านมีความเห็นว่าคณะสงฆ์มีการปฏิบัติยังไม่เคร่งครัดเพียงพอ ท่านเองเห็นว่าจะเป็นผลดีกว่าที่เป็นอยู่ในบัดนี้มาก ถ้าหากว่าภิกษุทั้งหลายพากันปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการเป็นอยู่ เหมือนดังนักบวชนิกายอื่นบางนิกาย เพราะว่าประชาชนพากันเห็นว่าภิกษุของพระพุทธองค์เป็นอยู่อย่างสะดวกสบายมากเกินไป ในเมื่อเปรียบกับนักบวชนิกายอื่น

พระเทวทัตได้ทูลเสนอความคิดของท่านแด่พระพุทธองค์ว่า ขอให้พระพุทธองค์จงทรงบัญญัติวินัยอันเคร่งครัด คือตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่าให้ภิกษุทั้งหลายอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาเครื่องมุงเครื่องบังใดๆ แต่จะอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้หรือตามป่า หรืออยู่กลางแจ้ง ซึ่งปราศจากเครื่องมุงเครื่องบัง โดยประการทั้งปวง พระเทวทัตยังได้ทูลขอให้พระพุทธองค์บังคับอย่าให้ภิกษุทั้งหลายรับอาหารที่มีบุคคลจัดขึ้นเฉพาะ และนำมาถวายจนถึงที่อยู่ ให้ยินดีแต่ในอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตตามปรกติแต่อย่างเดียว ไม่รับเอาอาหารอื่นนอกจากนี้ และอย่าให้ภิกษุทั้งหลายใช้จีวรเนื้อดี และทำสำเร็จรูปมาเป็นอย่างดี ดังที่ประชาชนนำมาถวายอยู่เนืองๆ แต่ใช้จีวรที่ประกอบขึ้นเองจากผ้าหรือเศษผ้าที่รวบรวมมาจากกองขยะมูลฝอยหรือจากป่าช้า และข้อสุดท้ายได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติข้อห้ามไม่ให้ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อหรือปลาแม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ให้เป็นอยู่ด้วยอาหารที่เกิดจากพืช พระเทวทัตได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิ่งเหล่านี้ขึ้นเป็นข้อกฎอันเด็ดขาดสำหรับภิกษุสงฆ์ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็ต้องออกจากหมู่คณะไป

พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธคำขอร้องของพระเทวทัตอย่างเปิดเผย พระองค์ได้ตรัสว่า ถ้าภิกษุใดปรารถนาจะอยู่โคนไม้ หรือที่แจ้ง เป็นนิจก็ให้ทำได้ แต่ถ้าผู้ใดไม่ปรารถนา ก็อาศัยอยู่ในเสนาสนะอันสมควรที่มีผู้จัดถวายได้ ในเรื่องอื่นๆ พระองค์ได้ตรัสมีหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันคือ ถ้าภิกษุใดปรารถนาจะฉันแต่อาหาร ซึ่งได้มาจากการบิณฑบาตอย่างเดียว หรือใช้แต่จีวรที่ทำขึ้นเองจากเศษผ้าอันรวบรวมจากกองขยะหรือป่าช้าอย่างเดียว หรือจักไม่ฉันอาหารเนื้ออาหารปลา ฉันแต่อาหารพืชอย่างเดียว ตามความประสงค์ของตนก็ทำได้ แต่ถ้าผู้ใดไม่ปรารถนาจะปฏิบัติเช่นนั้น ก็ไม่ต้องปฏิบัติก็ได้ ในที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนพระเทวทัตว่า พระเทวทัตอย่างพึงพยายามกระทำให้ผิดแบบแผน อันจะเป็นทางให้คณะสงฆ์แตกแยกกันต่อไปอีกเลย มิฉะนั้น จะเกิดผลร้ายขึ้นแก่พระเทวทัตเอง

แต่พระเทวทัตไม่สนใจต่อคำตักเตือนของพระพุทธองค์ ได้กลับไปด้วยความโกรธแค้น พระเทวทัตยังได้พยายามชี้แจงให้พระอานน์เห็นดีด้วย ในข้อที่ภิกษุสงฆ์ควรจะมีข้อบังคับอันเคร่งครัดดังกล่าวแล้ว แต่พระอานนท์ได้ปฏิเสธในความคิดเห็นของพระเทวทัต และมีข้อคิดเห็นเป็นฝ่ายพระพุทธองค์ไปตามเดิมทุกประการ

พระเทวทัตได้เดินทางไปยังชนบทบ้านนอก อันเป็นที่ซึ่งภิกษุในถิ่นนั้น ไม่ได้เข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์เป็นเวลานาน และไม่ทราบเรื่องราวใดๆ ในที่นั้นพระเทวทัตได้ประสพความสำเร็จ ในการชักชวนภิกษุจำนวนหนึ่งให้มีความเชื่อและเลื่อมใสในข้อกฎอันใหม่ของท่าน และพากันตั้งเป็นหมู่คณะขึ้นใหม่มีพระเทวทัตเป็นหัวหน้าหมู่ พระพุทธองค์ได้ทรงทราบเรื่องนี้ ได้รับสั่งให้พระสารีบุตรไปทำความเข้าใจแก่ภิกษุเหล่านั้นเสียใหม่ เพื่อความปลอดภัยของภิกษุเหล่านั้นเอง พระสารีบุตรได้ไปถึงสถานที่นั้น บังเอิญในขณะที่พระเทวทัตกำลังจำวัตรอยู่ พระสารีบุตรได้บอกกล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้นตามที่เป็นจริงว่า พระพุทธองค์ทรงมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ และได้ชี้แจงความจริงต่างๆ อันเกี่ยวกับพระเทวทัตแก่ภิกษุเหล่านั้น ชั่วเวลาเล็กน้อยเท่านั้น ภิกษุเหล่านั้นได้พากันกลับใจ ในการที่จะปฏิบัติตามพระเทวทัตอย่างเคร่งครัดสืบไป และได้พากันลุกขึ้นจากที่นั่น ติดตามพระสารีบุตรมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันทั้งหมด

เมื่อพระเทวทัตตื่นขึ้นในตอนบ่าย ได้เห็นบริวารเงียบผิดปรกติ ก็ออกมาดู เพื่อทราบว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อได้สำรวจดูทั่วแล้ว ท่านก็ทราบได้ว่าไม่มีภิกษุเหลืออยู่ในที่นั้นแม้แต่รูปเดียว และต่อมาอีกเล็กน้อย พระเทวทัตก็ได้ทราบจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์ อันทำให้ทราบได้ว่า พระสารีบุตรได้มาที่นี่ในขณะที่ท่านหลับอยู่ และได้พูดจากับภิกษุทั้งหลายจนกระทั่งภิกษุเหล่านั้นได้ละทิ้งสำนักนี้ พากันไปกับพระสารีบุตรเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยกันหมดทุกรูป ก็มีความแค้นใจเป็นอันมาก ในขณะนี้พระเทวทัตมีความเหนื่อยอ่อน จนไม่สามารถจะเดินทางไกลได้ จึงสั่งให้คนรับใช้ของท่านจัดแคร่มีคานหาม มาหามท่านไปสู่สำนักของพระพุทธองค์โดยที่ท่านอยากจะทราบว่า พระพุทธองค์ทรงมีความมุ่งหมายอย่างไร ในการที่ให้นำภิกษุส่วนของท่านไปจนหมดจนสิ้นเช่นนั้น

เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวความโกรธของพระเทวทัตและทราบความที่พระเทวทัตกำลังเดินมาสู่สำนักของพระพุทธองค์ ด้วยความโกรธเช่นนั้น ได้พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์และทูลขอให้พระองค์ทรงหลบไปเสีย โดยถวายความคิดเห็นว่าพระเทวทัตมาด้วยความโกรธในคราวนี้ อาจจะทำอันตรายแก่พระพุทธองค์อย่างซึ่งหน้าก็ได้ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงหวั่นไหวในการมาของพระเทวทัต แม้แต่หน่อยเดียว พระองค์ได้ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า พระเทวทัตจะไม่สามารถทำอันตรายพระองค์ แม้แต่ประการใดเลย และทรงปฏิเสธที่จะหลบไปตามคำขอร้องของภิกษุ ทั้งทรงยืนยันว่าพระองค์ทรงรู้สึกปลอดภัยโดยประการทั้งปวง ในการกระทำของพระเทวทัต

พระองค์ทรงพิสูจน์ให้ภิกษุทั้งหลายเห็นว่า คำตรัสของพระองค์นั้นเป็นความจริงทุกประการ เพราะข่าวซึ่งภิกษุทั้งหลายได้ทราบในกาลต่อมานั้นมีว่า คนหามแคร่ของพระเทวทัตได้หยุดพักระหว่างทาง และพระเทวทัตได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้นโดยอาการที่ไม่มีใครเคยคาดฝัน ความจริงต้องเป็นความจริงอย่างถูกต้องตามความจริงทุกประการ ความตายได้ตกลงสู่พระเทวทัตเอง ในเวลาและในสถานที่ ซึ่งพระเทวทัตกำลังพยายามจะปลงพระชนม์ชีพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง

ต่อจากนั้นมา ไม่มีความระส่ำระสายอันใดเกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์อีก จนตลอดพระชนมายุของพระพุทธองค์ เว้นเสียแต่ความวินาศบางอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นแก่กลุ่มชนนอกคณะสงฆ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระองค์เป็นส่วนตัว พระราชาและเจ้าชายในราชตระกูลเป็นอันมากแห่งศากยวงศ์และแห่งแคว้นโกศลได้สูญเสียชีวิตในการทำสงคราม ซึ่งแม้พระองค์จะทรงทัดทานไว้ได้ ก็เพียงในคราวแรก ๒-๓ คราว เหตุการณ์อันนี้ได้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับปีที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพานนั่นเอง


มีต่อ >>>>> ตอนที่ ๒๐ ปรินิพพาน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 16 ก.ย. 2006, 6:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ตอนที่ ๒๐ ปรินิพพาน


บัดนี้พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า วันเวลาสำหรับการท่องเที่ยวสั่งสอนสัตว์ในโลกนี้จวนจะสิ้นสุดลงแล้ว ก่อนแต่จะเสด็จล่วงลับไป พระองค์ทรงประสงค์จะให้คำแนะนำแก่ภิกษุทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับจะได้คงอยู่เป็นเครื่องแนะนำตักเตือนภิกษุสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ไม่สามารถจะอยู่ตักเตือนด้วยพระองค์เองสืบไป ดังนั้นพระองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เรียกประชุมสงฆ์ทั้งปวง ณ ที่แห่งหนึ่งใกล้ๆ นครราชคฤห์ แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น

“ภิกษุทั้งหลาย ตลอดเวลาเพียงใด ที่พวกท่านยังคงสามัคคีกันดีอยู่และประชุมกันอยู่เสมอๆ ตลอดเวลาเพียงนั้น คณะสงฆ์จะยังคงรุ่งเรืองและเป็นปึกแผ่น ตลอดเวลาเพียงใดที่ภิกษุทั้งหลายยังคงพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนและคำสั่งที่เรากล่าวไว้ แสดงไว้ ไม่พากันบัญญัติข้อกฎอันขัดกันขึ้นมาใหม่ ตลอดเวลาเพียงนั้น คณะสงฆ์นี้จะไม่มีความเสื่อมโทรมและสาบสูญ

พวกท่านทั้งหลาย จงนอบน้อมต่อพระเถระผู้เฒ่าในสงฆ์ ยินดีเอาใจใส่ในคำแนะนำตักเตือนของท่านเหล่านั้น ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังตน ไม่เผลอตัว ไม่ลืมตัว จนตกอยู่ในอำนาจของความชั่ว แล้วจึงรู้สึกต่อภายหลัง จงอย่าคลุกคลีกันเป็นหมู่ จงแสวงหาความวิเวกเป็นส่วนตัวอยู่เสมอๆ เมื่อมีภิกษุมาจากที่อื่น จงเอาใจใส่ต้อนรับด้วยความเอื้อเฟื้อ ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่เขาประสงค์ เมื่อภิกษุรูปใดเจ็บป่วยลงให้ภิกษุนอกนั้นเอาใจใส่รักษาพยาบาล ผู้ใดพยาบาลภิกษุไข้ ก็เท่ากับผู้นั้นพยาบาลเรา อย่าเป็นคนอวดดีเย่อหยิ่ง เพ้อเจ้อลืมตัว จงคบหาสมาคมแต่กับคนดี หลีกห่างจากคนชั่ว จงหมั่นพิจารณาให้เห็นแจ้งอยู่เนืองนิจ ในความจริงของสิ่งทั้งหลายว่า สิ่งเหล่านั้นไม่มีความยั่งยืนและเป็นทางให้เกิดความทุกข์แก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือเอาอย่างจริงจัง และรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีแก่นสาร ว่างเปล่าจากตัวตน

ภิกษุทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติอยู่ตามที่เรากล่าวนี้ ก็จักยังเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพเลื่อมใสของประชาชนอยู่เพียงนั้น คณะสงฆ์จักยังคงรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น พวกท่านทั้งหลายจักปลอดภัยจากการตกต่ำและความเสื่อมทราม จักพ้นจากความเสียหาย และความไม่เหมาะสมแก่ผู้สละเหย้าเรือนมาบวชแล้วทุกประการ”

หลังจากนี้แล้ว พระองค์ได้เสด็จต่อไปยังหมู่บ้านนาลันทา แล้วเสด็จไปยังหมู่บ้านปาฏลิคาม ณ ที่นั้น ได้ตรัสพระธรรมเทศนาแก่พวกชาวบ้านว่า “ท่านทั้งหลาย ผู้ที่ไม่ประพฤติตามบทบัญญัติแห่งกุศลกรรมบถ ดังที่เราแนะนำไว้ หรือขาดความเอาใจใส่ในความประพฤติอย่างเคร่งครัด จักเป็นผู้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ในหมู่มนุษย์ ความผาสุกของเขาจะลดน้อยลงตามลำดับ และจักหมดไปในที่สุด เขาจักไม่มีความมั่นคงแน่วแน่ จักไม่ไว้ใจตัวเอง จักหม่นหมอง ไม่เป็นสุข และเมื่อตาย เขาจักตายอย่างมีความเศร้าและมีความทุกข์ทรมาน

แต่ผู้ที่ปฏิบัติในกุศลกรรมบถเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ไม่มีความประมาท เผอเรอ เลินเล่อ แต่ประการใดแล้ว จักเป็นผู้ได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนทั่วไป เขาจักมีความสุขกาย มีทรัพย์และสิ่งซึ่งพึงประสงค์อื่นๆ โดยครบถ้วน เขาจะได้รับการต้อนรับในที่ทุกหนทุกแห่ง แม้ในสำนักแห่งเจ้าชาย และราชอำมาตย์ กระทั่งในสำนักแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย ใจของเขาจักผ่องใสไม่ขุ่นมัว ปราศจากความลังเล กระวนกระวายและเป็นห่วง เขาจักตายอย่างเป็นสุขและกล้าหาญ หลังจากตายแล้วจักไปสู่ฐานะแห่งความสุขสืบไป”

บัดนี้พระพุทธองค์ทรงลุถึงชราภาพแล้ว พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ ปี ตลอดเวลา ๔๕ ปี พระองค์ได้เสด็จท่องเที่ยวไปด้วยพระบาท ปราศจากยวดยานพาหนะใดๆ ขึ้นลงตามแคว้นใหญ่น้อยต่างๆ แห่งประเทศอินเดียในสมัยนั้น ทรงแสดงธรรมและประกาศพระศาสนา ตลอดเวลาแห่งพระชนมายุของพระองค์ แม้ในฤดูฝน ก็ยังทรงทำการสั่งสอนประจำที่ ไม่เว้นแต่ละวัน บัดนี้พระองค์ทรงรู้สึกถอยพระกำลังในทางกาย แม้ว่ากำลังในทางจิตจะยังคงเข้มแข็งอยู่ดังเดิม พระองค์ทรงรู้สึกว่าชีวิตของพระองค์จะไม่ตั้งอยู่นานต่อไปอีกแล้ว และทรงตั้งพระทัยเสด็จไปทางทิศเหนือแถบเชิงเขาหิมาลัย อันเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดีในวัยหนุ่ม พระองค์มีพระประสงค์จะเสด็จปรินิพพานในถิ่นนั้น จึงได้เสด็จออกจากนครราชคฤห์ไปด้วยพระบาท ซึ่งบัดนี้อยู่ในสภาพที่อ่อนล้า ตรงไปยังนครน้อยๆ ชื่อว่า นครกุสินารา เพื่อปรินิพพานที่นั่น ในระหว่างทางพระองค์ได้เสด็จผ่านเมือง ปาตลีบุตร ซึ่งบัดนี้เรียกกันว่าเมืองปัตตนะ แล้วยังคงเสด็จไปทางทิศเหนือ ผ่าน นครเวสาลี อันเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์เคยประทับอยู่ และทรงรับวิหารแห่งหนึ่งซึ่งหญิงคณิกาชื่อ อัมพปาลี เป็นผู้ถวาย โดยการแข่งขันแย่งกันกระทำถวายทานในระหว่างหญิงคณิกาผู้นี้ กับบรรดาเจ้าชายจำนวนหนึ่งแห่งนครนั้น

เมื่อพระองค์เสด็จถึงหมู่บ้าน เวฬุวคาม พระองค์รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายแยกย้ายกันจำพรรษาตามพอใจ ส่วนพระองค์เอง ทรงตั้งพระทัยจำพรรษา ณ หมู่บ้านนั้นพร้อมทั้งพระอานนท์ ซึ่งเป็นผู้อุปัฏฐาก แต่เมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ประทับอยู่ที่นั่น ไม่ได้นาน เนื่องจากประชวรหนัก พระองค์ทรงประสงค์ที่จะพบภิกษุทั้งหลาย เพื่อกล่าวคำชี้แจงและสนับสนุนให้เกิดความบากบั่นอย่างสูงสุด ในการประพฤติพรหมจรรย์อีกครั้งหนึ่ง จึงได้เสด็จจากหมู่บ้านเวฬุวคามนั้น ไปด้วยความพยายามอย่างสุดกำลังของพระองค์ ด้วยความอดกลั้นอดทนต่อทุกข์เวทนาอันเนื่องด้วยความเจ็บป่วย

ครั้นพระองค์ทรงทุเลาขึ้นจากความเจ็บไข้ในระยะหนึ่ง ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ ณ เงาวิหารแห่งหนึ่ง ในเวลาเที่ยงวันบนอาสนะซึ่งพระอานนท์จัดถวาย พระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ในที่นั้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีความยินดีอย่างสูงสุดที่ได้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับทรงสบายดังเดิม จิตใจของข้าพระองค์มืดมัวแทบจะสิ้นสติไปในเมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประชวรหนัก เมื่อไม่นานมานี้ แต่ข้าพระองค์ยังคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จปรินิพพานเป็นแน่ จนกว่าจะได้ตรัสคำแนะนำสั่งสอนอันถึงที่สุดแก่พระภิกษุสงฆ์เสียก่อน พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจักได้ถือเป็นหลักปฏิบัติกัน ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว”

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ภิกษุจะพากันหวังอะไรจากเราอีกเล่า เราได้กล่าวธรรมวินัยโดยหมดจดสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแล้ว ข้อปฏิบัติอันใด ที่ภิกษุสงฆ์ควรจะรู้เพื่อการลุถึงนิพพานนั้น เรามิได้ปกปิดซ่อนเร้นเหลือเอาไว้แต่ข้อใดเลย เราเป็นผู้หวังดีโดยบริสุทธิ์ใจต่อภิกษุสงฆ์อย่างสิ้นเชิง เราได้กล่าวสอนทุกสิ่งทุกอย่างที่ภิกษุสงฆ์ควรจะรู้ เพื่อการทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่ประสงค์จะปกครองหมู่สงฆ์ควบคุมไว้ในอำนาจตลอดไป อาจจะวางกฎบังคับเพื่อการปกครองในอนาคต ส่วนเราไม่ประสงค์จะควบคุมคณะสงฆ์ไว้ในอำนาจของเราตลอดกาลเช่นนั้นเลย เราจึงไม่มีอะไรที่จะวางไว้สำหรับการคุมอำนาจคณะสงฆ์ ในอนาคต สงฆ์ต้องควบคุมกันเอง บัดนี้ เราเป็นคนชราและถอยกำลังแล้ว กาลเวลาของเราจวนจะถึงที่สุด เรามีอายุ ๘๐ ปีแล้ว เรามีอยู่เพียงอย่างเดียว ที่จะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า พวกท่านทั้งหลายจงมีแสงสว่างเป็นของตนเอง จงทุกคน, จงมีตนเองเป็นที่พึ่งของตนเอง จงทุกคน, จงอย่ามีผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เป็นแสงสว่างหรือที่พึ่งของตนเลย ดูก่อนอานนท์, เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปใดทำตนให้เป็นแสงสว่างของตนเอง ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง ไม่ถือเอาผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เป็นแสงสว่างหรือที่พึ่งแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นสาวกอันแท้จริงของเรา อยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้เดินไปในทางถูกโดยส่วนเดียว”

ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงรู้สึกสบาย จนถึงกับทรงสามารถเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในนครเวสาลี ในตอนเย็นรับสั่งให้พระอานนท์เรียกประชุมภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย บรรดาที่อยู่จำพรรษาในนครเวสาลี เพื่อมาฟังพระดำรัสของพระองค์พร้อมกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว พระองค์ได้ตรัสถ้อยคำซึ่งเป็นการกระตุ้นเตือนอย่างสำคัญที่สุด และเป็นการแสดงความหวังครั้งสุดท้ายของบุคคลที่จะจากไป อย่างแท้จริง เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นพากันประพฤติปฏิบัติตามทางที่ถูกต้อง อันพระองค์ได้ทรงสอนไว้ อย่างเคร่งครัด เพื่อเห็นแก่ชาวโลก เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นความดี และเป็นความเกื้อกูลแก่ชาวโลกทุกคน ผู้หวังในอันที่จะประพฤติตามตัวอย่างในการประพฤติพรหมจรรย์ อันสมบูรณ์และบริสุทธิ์ พระองค์ได้ตรัสว่า “ทุกอย่างที่อยู่ในวิสัยโลกย่อมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่ตั้งอยู่นาน จงแข็งข้อ จงบากบั่น เพื่อก้าวไปข้างหน้า จงเดินตามทางถูก จงเฝ้าระวังจิตของตัวเอง อย่างใกล้ชิด เมื่อเป็นดังนั้นพวกท่านจะประสบความรอดพ้นอันแท้จริง จากความเวียนเกิดและเวียนตายและความทุกข์ทั้งปวง”

ในวันรุ่งขึ้น พระองค์ได้เสด็จต่อไปยังนครกุสินารา ในระหว่างทาง ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง อันเรียกกันว่า หมู่บ้านปาวา พระองค์ได้รับนิมนต์ของบุตรนายช่างทองคนหนึ่งมีนามว่า จุนทะ เพื่อรับอาหารบิณฑบาต ด้วยอาหารชนิดหนึ่ง อันเรียกกันว่า สูกรมัททวะ (สูกะระมัดทะวะ) เป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งหมูป่าชอบกิน จึงทำให้มันได้ชื่อเช่นนั้น ซึ่งคำๆ นั้นแปลว่า “ของชอบของหมู” พระพุทธองค์เสวยอาหารบิณฑบาตซึ่งนายจุนทะจัดถวาย หลังจากเสวยแล้วพระโรคอย่างที่พระองค์ประชวรที่หมู่บ้านเวฬุวคามได้กลับมาอีก ในครั้งนี้พระโรคได้กำเริบแรงกล้ากว่าครั้งแรก แทบจะเหลือกำลังที่พระองค์ทรงอดทนอดกลั้นได้ พระองค์ก็ยังคงเสด็จต่อไป เพื่อมุ่งไปสู่เมืองกุสินารา ด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งมาถึงป่าไม้สาละนอกนคร อันเป็นที่เที่ยวเล่นของบรรดากษัตริย์แห่งนครนั้น

เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จมาในระยะใกล้กับป่านี้ และทรงรู้สึกว่าพระองค์ไม่สามารถจะทรงดำเนินได้ ต่อไปอีกแล้ว ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์, จงเตรียมที่สำหรับเราจะนอนพัก ที่ระหว่างแห่งต้นสาละใหญ่ทั้งสองนั้น เรารู้สึกอ่อนเพลียมากนัก”

พระอานนท์ได้พับผ้าสังฆาฏิของพระพุทธองค์เข้าเป็นสี่ชั้น แล้วปูลาดลงบนแผ่นดิน ในระหว่างแห่งต้นสาละใหญ่ทั้งสองต้นนั้น ซึ่งเมื่อพระองค์ประทับนอนแล้ว จะมีศีรษะผันไปทางเหนือ พระพุทธองค์ทรงเอนกายลงบรรทมบนที่ซึ่งพระอานนท์จัดถวาย พระองค์ไม่ได้บรรทมหลับ เป็นแต่เพียงพักผ่อนบรรเทาความไข้และความเมื่อยล้า พระหฤทัยของพระองค์ยังคงสงบ และแน่วแน่เช่นเคยปราศจากความกระสับกระส่ายแต่ประการใด เพราะว่าพระหฤทัยของพระองค์ จักต้องเป็นเช่นนั้นเสมอ พระองค์ได้เคยตรัสแก่พระสารีบุตรครั้งหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว ในขณะที่พระองค์ทรงสบายดีอยู่ว่า แม้พระองค์จักอยู่จนกระทั่งแก่ชรา หากำลังมิได้ ถึงกับไม่อาจจะดำเนินด้วยพระบาท ถึงกับเขาต้องหามไปด้วยแคร่ ก็ตาม แม้กระนั้น พระหฤทัยของพระองค์ก็จักยังคงสงบและแจ่มใส สามารถอธิบายธรรมอันลึกซึ้ง และตอบปัญหาใดๆ ซึ่งนักปราชญ์แลนักศึกษาที่ฉลาดที่สุดจะมาถาม ได้ตลอดเวลาที่เขาอยากจะถาม ความมืดมัวและอ่อนเพลียในส่วนพระหฤทัยของพระองค์เป็นสิ่งที่มีไม่ได้เลย

บัดนี้ พระอานนท์ได้รู้สึกว่า พระพุทธองค์กำลังจะทรงละจากท่านไป โดยแท้จริงแล้วก็มีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง จนไม่สามารถจะอดกลั้นได้ พระอานนท์ได้หลีกไปซ่อนตัวร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง และรำพันว่า “เรายังไม่เป็นเช่นกับภิกษุทั้งหลาย เรายังต้องศึกษาต่อไป ยังไม่บรรลุความเป็นพระอรหันต์ บัดนี้ พระศาสดาของเรากำลังจะล่วงลับไป โดยทิ้งเราไว้เบื้องหลัง เราจักอยู่แต่ผู้เดียวโดยปราศจากพระศาสดาผู้ซึ่งมีพระเมตตาต่อเรา ตลอดกาลเนืองนิจ” น้ำตาอันอุ่นได้ไหลนองเต็มหน้าพระอานนท์ในขณะนั้น

พระพุทธองค์ทรงลืมพระเนตรขึ้น ไม่เห็นพระอานนท์อยู่ ณ ที่นั้น ดังเช่นเคย ก็ตรัสถามภิกษุอื่นๆ ซึ่งนั่งอยู่ในที่ใกล้พระองค์ว่า “พระอานนท์ไปไหน ?” ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระอานนท์ได้หลบไปร้องไห้อยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง รำพันอยู่ว่า ท่านยังเป็นผู้ต้องศึกษา ยังไม่บรรลุธรรมอันสูงสุด และพระศาสดาผู้ทรงมีพระเมตตาอยู่ตลอดเวลานั้นกำลังจะล่วงลับไป พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ท่านจงไปบอกอานนท์ว่า พระศาสนารับสั่งให้หาดังนี้”

ภิกษุนั้นได้ไปบอกพระอานนท์ตามพระพุทธประสงค์ พระอานนท์ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์และนั่งอยู่ข้างๆ อย่างใกล้ชิด พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ท่านว่า “พอกันทีเถิดอานนท์, อย่าเศร้าโศกเลย อย่าร้องไห้เลย เราได้บอกแก่อานนท์หลายครั้งหลายหนแล้ว มิใช่หรือ ว่าวันหนึ่งเราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจของเรา ดูก่อนอานนท์ สิ่งนี้จักต้องมีเป็นเที่ยงแท้ ไม่มีทางป้องกันแก้ไขได้เลย มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน ในการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วจักไม่ดับไป ความปรารถนาเช่นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดูก่อนอานนท์ เป็นเวลานานแล้ว ที่อานนท์เฝ้าอุปัฏฐากเราด้วยความพากเพียรอย่างเต็มที่ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิต ด้วยความรัก ด้วยความเต็มใจ ด้วยความซื่อสัตย์เหลือที่จะเอาอะไรมาวัดได้ ความดีในการรับใช้เราด้วยความซื่อสัตย์ อานนท์ได้ทำแล้วเป็นอย่างมาก และเพียงพอแล้ว ต่อไปนี้จงบากบั่น จงตั้งหน้าทำลายสิ่งซึ่งกีดขวางต่อการบรรลุความเป็นพระอรหันต์ของตนเอง ในเวลาไม่นานเลย อานนท์จักลุถึงความสำเร็จอันนั้น”

ต่อแต่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน ล้วนแต่มีอุปัฏฐากอันเลิศ แต่ก็ไม่ยิ่งไปกว่าที่อานนท์ได้เป็นแก่เราในกาลนี้ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจักมีมาในอนาคต ก็ล้วนแต่จักมีอุปัฏฐากอันเลิศ แต่ก็จักไม่ยิ่งไปกว่าอานนท์ที่ได้เป็นแก่เราในกาลนี้ อานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากที่ดีที่สุด และฉลาดเฉลียวของเรา อานนท์ย่อมรู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม ที่จะให้แขกผู้มาเยี่ยมเยียนเข้ามาหาเรา อานนท์ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นด้วยถ้อยคำและท่าทางที่น่าปลาบปลื้มยิ่งนัก แขกทุกคนได้รับความพอใจอย่างสูงสุด จากการกระทำของอานนท์เสมอ เมื่ออานนท์กล่าวเรื่องราวใดๆ คนเหล่านั้นพากันสนใจฟังมากไปกว่าที่อานนท์ตั้งใจกล่าว อานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากอันเลิศของเราเช่นนี้ตลอดมา”

พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงอย่าได้เสด็จปรินิพพานในเขตของเมืองป่าเมืองดอนเมืองเล็กเมืองน้อย ณ ที่อันไม่สมควรเช่นนี้เลย นครใหญ่ๆ เช่นกรุงราชคฤห์ สาวัตถี เวสาลี และอื่นๆ ก็มีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงพอพระทัยที่จะเสด็จปรินิพพาน ณ เมืองใด เมืองหนึ่ง ในบรรดาเมืองเหล่านั้นเถิด ในเมืองเหล่านั้นมีเศรษฐี และผู้มีอำนาจวาสนา ซึ่งเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่เป็นอันมาก เขาเหล่านั้นจักเอาภาระในการจัดพระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้สมกัน”

พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า “อย่าเลยอานนท์ อย่ากล่าวดังนั้นเลย เธออย่าพึงกล่าวว่าเมืองนี้เป็นเมืองป่าเมืองดอน ในอดีตกาลนานไกลเมืองนี้เป็นนครอันมั่งคั่ง เป็นราชธานีที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิมาแล้ว ดูก่อนอานนท์ เธอจะไปบอกกล่าวแก่ผู้เป็นอธิบดีและชนชาวเมืองกุสินาราว่า ในคืนนี้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี ตถาคตจักปรินิพพานในป่านี้ คนเหล่านั้นควรจักเห็นตถาคตเสียแต่บัดนี้ ก่อนแต่ปรินิพพานจะมาถึง”

พระอานนท์ได้พาภิกษุบางรูปเดินทางเข้าไปนครกุสินารา และบอกกล่าวแก่บรรดาหัวหน้าและประชาชนตามที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งทุกประการ ประชาชนเหล่านั้นได้ฟังพระอานนท์กล่าวแล้ว พากันเศร้าโศกและคร่ำครวญว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเร็วเกินไปเสียแล้ว ดวงประทีปของโลกดับเร็วเกินไปเสียแล้ว” ชาวเมืองกุสินาราทั้งผู้หญิงผู้ชายและเด็กๆ พากันโศกเศร้าคร่ำครวญ ออกมาสู่สวนไม้สาละ อันเป็นที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในขณะนั้น เพื่อการเยี่ยมเยียนและกล่าวคำอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายต่อพระองค์ ชาวนครกุสินาราคณะหนึ่งๆ โดยผู้นำคนหนึ่งๆ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทีละคนๆ โดยลำดับกัน และกล่าวคำถวายความอาลัยในพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกันทุกคน

ในขณะนั้นมีปริพาชก เป็นนักบวชผู้จาริกเป็นนิจคนหนึ่งนามว่า สุภัททะ พักอยู่ในเมืองกุสินารานั้น เมื่อเขาทราบว่า พระพุทธองค์กำลังจะปรินิพพานในคืนนี้ ก็ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธองค์โดยทันที เพื่อถามปัญหาบางประการ ซึ่งทำความยุ่งยากให้แก่เขาในขณะนั้น เขาเชื่อว่าพระพุทธองค์เท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ ให้กระจ่างได้ ดังนั้น นักบวชชื่อสุภัททะได้ไปที่ป่าไม้สาละ และขออนุญาตกับพระอานนท์เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และทูลถามปัญหาของเขา ก่อนแต่ที่พระพุทธองค์จะเสด็จปรินิพพาน

พระอานนท์ได้ตอบแก่เขาว่า “อย่าเลย สุภัททะ อย่าเลย พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงอิดโรยเป็นอย่างยิ่ง อย่ารบกวนพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการถามปัญหาเลย” แต่นักบวชชื่อสุภัททะนั้นมีความร้อนใจมากเกินไป จึงไม่ฟังคำปฏิเสธของพระอานนท์ ได้รบเร้าแล้วรบเร้าอีก เพื่อให้พระอานนท์ยินยอมให้เขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าให้จนได้ พระอานนท์ได้ปฏิเสธแล้วปฏิเสธอีกโดยบอกว่า พระองค์กำลังประชวรหนัก ไม่ควรจะได้รับความรบกวนจากบุคคลผู้ใด

แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ได้ทรงสดับเสียงของคนทั้งสอง จนทราบความประสงค์ของนักบวชชื่อสุภัททะ จึงรับสั่งให้พระอานนท์มาแล้วตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ เธออย่าห้ามกันสุภัททะ เพื่อไม่ให้เขามาหาเราเลย จงปล่อยสุภัททะให้เข้ามาหาเราตามความปรารถนา ข้อที่เขาจักถามเรานั้น จักเป็นความดีแก่การศึกษาในธรรมวินัยของเรา หาใช่เป็นการรบกวนเราโดยไร้ประโยชน์แต่อย่างไรไม่ เขาเป็นผู้ที่มีความเข้าใจได้รวดเร็วและจักเข้าใจข้อความที่เรากล่าวได้ในทันที”

พระอานนท์ได้ยินยอม ให้นักบวชชื่อสุภัททะเข้าไปหาพระพุทธองค์ เมื่อสุภัททะได้กล่าวถ้อยคำแสดงความเคารพ และทำความคุ้นเคยกับพระองค์พอสมควรแล้ว ได้กล่าวถามปัญหาต่อหน้าพระองค์ว่า “ข้าแต่พระโคดม สมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะที่มีชื่อเสียงเหล่าอื่น นอกจากพระองค์ ได้บรรลุสัจธรรมจริงดังที่เขากล่าวหรือว่ามิได้บรรลุดังที่เขากล่าว หรือบางพวกที่ได้บรรลุ และบางพวกไม่ได้บรรลุ ?”

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “อย่าเลย สุภัททะ, อย่าคิดในปัญหาข้อนั้นเลย แต่จงฟังเรา จงสนใจในคำที่เราจะกล่าว เราจักทำให้ท่านเข้าใจในธรรมะของเรา ในบัดนี้ ดูก่อนสุภัททะ, ในธรรมวินัยของศาสดาองค์ใด ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมอันเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ๘ ประการ ในธรรมวินัยนั้นย่อมไม่มีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ในธรรมวินัยใด มีธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ๘ ประการดังกล่าวแล้ว ในธรรมวินัยนั้นย่อมมีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี อนาคามีและอรหันต์ ดูก่อนสุภัททะ, ในธรรมวินัยของเรานี้ประกอบอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ๘ ประการดังกล่าวนั้น ในธรรมวินัยนี้จึงมีบุคคลผู้เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ดูก่อนสุภัททะ, หากภิกษุสาวกของเรา ยังคงปฏิบัติในธรรมเป็นเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้อง ๘ ประการนี้เพียงใดแล้ว โลกนี้ก็จักยังไม่ว่างจากพระอรหันต์อยู่เพียงนั้น”

นักบวชชื่อสุภัททะ ได้ทูลขอพระพุทธานุญาตเพื่อบวชเป็นภิกษุในธรรมวินัยของพระองค์ พระพุทธองค์ได้ประทานโอกาส และตรัสสั่งให้พระอานนท์ประกอบการอุปสมบทให้แก่เขา โดยเหตุนี้ สุภัททะ จึงเป็นภิกษุผู้บวชเป็นองค์สุดท้าย ทำนองเดียวกันกับที่พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้ฟังธรรมในป่าอิสิปตนะได้เป็นภิกษุองค์แรกที่ได้รับการอุปสมบท ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ พระสุภัททะผู้บวชแล้ว ได้มีความพากเพียรในธรรมวินัยอย่างแรงกล้า จนกระทั่งบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้ในเวลาอันไม่นานเลย

พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์สืบไปอีกว่า “ดูก่อนอานนท์, อาจจะมีภิกษุบางรูปคิดไปว่า เราจักไม่ได้ฟังโอวาทของพระศาสดาอีกต่อแล้วแล้ว บัดนี้เราเป็นผู้ไม่มีพระศาสดาอีกต่อไปแล้วดังนี้ ดูก่อนอานนท์, ข้อนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ควรเห็นอย่างนั้นเลย ธรรมะและวินัยเหล่าใด ที่เราแสดงไว้บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติในกาลนี้ ธรรมะและวินัยเหล่านั้นเองจักอยู่เป็นองค์พระศาสดาของภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งในบัดนี้ ภิกษุทั้งหลายทักทายกันแลกันด้วยถ้อยคำว่า “อาวุโส” (มีความหมายเท่ากับว่า “เพื่อน”) แต่เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุผู้สูงอายุพึงทักทายภิกษุผู้หย่อนอายุกว่าว่า “อาวุโส” ไปตามเดิม แต่ภิกษุผู้หย่อนอายุ พึงทักทายภิกษุผู้สูงอายุ ด้วยคำว่า “ภันเต” (มีความหมายเท่ากับว่า “ท่านที่เคารพนับถือ”) ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ถ้าคณะสงฆ์มีความปรารถนา ก็พึงเลิกถอนข้อบัญญัติเล็กๆ น้อยๆ ได้ตามสมควรแก่เหตุการณ์”

ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรูปใดในพวกท่านทั้งหลายมีความสงสัยข้องใจ หรือกินแหนงอย่างใดอย่างหนึ่ง ในตถาคตนี้ ก็ดี ในธรรมวินัยที่เรากล่าวแล้วก็ดี หรือในหมู่สงฆ์นี้ก็ดี หรือในความผิดความถูกแห่งหนทางปฏิบัติก็ดี จงได้กล่าวความสงสัย หรือความกินแหนงนั้นออกมาเสียในบัดนี้เถิด เพื่ออย่าให้เธอทั้งหลายต้องเสียใจในภายหลังว่า เราไม่มีโอกาสจะแถลงความรู้สึกอันนี้ในขณะที่พระศาสดายังมีชีวิตอยู่” ต่อพระพุทธดำรัสอันนี้ไม่มีภิกษุใดได้ปริปากอย่างใดขึ้นมาเลย ไม่มีภิกษุรูปใดมีปัญหาใดที่จะทูลถาม ไม่มีภิกษุรูปใดซึ่งมีความกินแหนงแคลงใจใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ประการใดเลย

พระพุทธองค์ได้ตรัสประทานโอกาสเช่นเดียวกันนี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ และที่ ๓ แต่ก็ไม่มีภิกษุรูปใดกล่าวถ้อยคำใดๆ ออกมา เช่นเดียวกัน พระอานนท์ได้กล่าวขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า, เรื่องนี้น่าประหลาดใจ เรื่องนี้น่าอัศจรรย์จริง ข้าพระองค์มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่าในหมู่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่นี้ ไม่มีภิกษุแม้แต่รูปเดียวซึ่งมีความสงสัยแคลงใจจะกินแหนงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์, สำหรับเธอนั้น เธอกล่าวความข้อนี้เพราะความเชื่อและความไว้ใจในเรา แต่สำหรับเราตถาคตนั้น เรารู้ดีว่าไม่มีภิกษุแม้แต่รูปเดียวในภิกษุสงฆ์นี้ ที่มีความกินแหนงแคลงใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ข้อนี้ เพราะเหตุใด ? ดูก่อนอานนท์ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุว่า แม้ว่าภิกษุรูปนี้มีคุณธรรมล้าหลังเขาที่สุด ในที่ประชุมนี้ภิกษุรูปนั้นก็ยังเป็นโสดาบัน ผู้เที่ยงแท้ต่อการลุถึงนิพพาน มีอันไม่ถอยกลับเป็นธรรมดา”

พระพุทธองค์ได้ตรัสปราศรัยแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งประชุมกันอยู่ในที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง และการตรัสครั้งนี้เป็นพระดำรัสครั้งสุดท้าย ที่พระองค์ได้ตรัสแก่มนุษย์ในโลกนี้ พระองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้าย ที่เราจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุดด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ทรงเข้าสู่สมาบัติ และเลื่อนเข้าสู่สมาบัติอันลึกยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ตามลำดับๆ จนถึงที่สุดแห่งสมาบัติอันดับที่ ๙ แล้ว ทรงถอยหลังจากสมาบัติอันลึกนั้นมาตามลำดับ จนกระทั่งออกจากสมาบัติชั่วขณะหนึ่ง แล้วทรงกลับเข้าสู่สมาบัติอย่างเดิมอีก เพียง ๔ ลำดับ ครั้นออกมาจากสมาบัติอันดับที่ ๔ นั้นแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่สำหรับการเกิดขึ้นในโลกนี้ หรือโลกไหน อีกต่อไป พระพุทธองค์ได้เสด็จปรินิพพานด้วยอาการอย่างนี้

เวลาล่วงมาถึง ๒๕ ศตวรรษแล้ว นับตั้งแต่พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเสด็จปรินิพพานที่นอกเมืองกุสินาราในประเทศอินเดีย แต่คำสั่งสอนอันประเสริฐของพระองค์ หาได้ล่วงลับไปด้วยไม่ คำสั่งสอนเหล่านั้นยังคงอยู่ เป็นเครื่องนำบุคคลให้ข้ามขึ้นพ้นจากความมีชีวิตขึ้นไปสู่สิ่งซึ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต สำหรับคนจำนวนล้านๆ ในโลกนี้

หลังจากพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว สาวกของพระองค์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์และมิใช่พระอรหันต์ ได้ช่วยกันเผยแพร่กระแสพระพุทธวจนะอันประเสริฐนั้นไปจนทั่วประเทศอินเดีย และล่วงเลยออกไปนอกเขตประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันตก จนกระทั่งถึงประเทศอียิปต์ ทางทิศตะวันออกถึงประเทศธิเบต ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ทางทิศเหนือจนถึงประเทศแล็บแลนด์ ทางขั้วโลก ก็ยังมีพระสาวกนำคำสอนของพระองค์ไปเผยแพร่ และทางทิศใต้ถึงประเทศชวา และหมู่เกาะในทะเลใต้ทั่วๆ ไป จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว หนึ่งในสามของมนุษย์ที่อาศัยในโลก ได้เอ่ยพระนามของพระองค์ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ว่าพระองค์เป็นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระศาสดาผู้สั่งสอนเทวดาแลมนุษย์ ด้วยเรื่องแห่งพระนิพพาน และหนทางปฏิบัติเพื่อลุถึงนิพพานนั้น


>>>>> จบบริบูรณ์ >>>>>


คัดลอกมาจาก ::
http://www.manager.co.th/Dhamma/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
กรัชกาย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 24 ต.ค. 2006
ตอบ: 2348

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2007, 6:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

(สรุปพุทธประวัติด้วยพุทธอุทาน ดังนี้)

“นครของเราชื่อกบิลพัสดุ์

พระราชา พุทธบิดา พระนามว่าสุทโธทนะ

พระมารดาผู้ให้กำเนิดแก่เรา พระนามว่า มายาเทวี

เราครอบครองอาคารสถานอยู่ 29 ปี

มีปราสาทเลิศ 3 หลังชื่อ สุจันทะ โกกนุท และโกญจะ

มีสนมนารีกำนัลในล้วนประดับประดาสวยงามแปดหมื่นสี่พันนาง

มเหสีของเรานามว่า ยโสธรา

โอรสนามว่า ราหุล

เราเห็นนิมิต 4 อย่าง จึงออกบวชด้วยอัศวราชยาน

ได้บำเพ็ญเพียรประพฤติทุกรกิริยาอยู่ 6 พรรษา

เราประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

เราคือพระสัมพุทธเจ้าชื่อว่าโคตมะ เป็นสรณะของสรรพสัตว์ ฯลฯ

อายุของเราในยุคสมัยบัดนี้ น้อยเพียงชั่วร้อยปี

ถึงจะดำรงอยู่เพียงเท่านั้น

เราก็ได้ช่วยหมู่ชนจำนวนมาก ให้ข้ามพ้นความทุกข์

และได้ตั้งคบเพลิงธรรมไว้สำหรับปลุกประชาชนภายหลังให้ได้ตรัสรู้

ไม่นานเลย เรา พร้อมทั้งหมู่สาวก ก็จักปรินิพพาน เหมือนไฟดับเพราะสิ้นเชื้อ

ร่างกายนี้อันทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติ วิจิตรด้วยวรลักษณะทั้ง 32 ประการ

มีเดชหาที่เทียบเทียมมิได้

กับทั้งทศพลและประดาฤทธิ์ มีรัศมี 6 ประการ สว่างไสวทั่วทศทิศดุจดังดวงสุริยา

ก็จักอันตรธานไปหมดสิ้น สรรพสังขารล้วนไร้แก่นสาร ว่างเปล่าหนอ”


ขุ.พุทธ.33ไ26/544
 

_________________
สติ-การนึกไว้,การคุมจิตไว้กับอารมร์,การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ-สัมปชัญญะ-การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้,การรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำนั้น-ท่านเรียกว่าผู้มีสติสัมปชัญญะหรือมีสติปัญญา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กรัชกาย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 24 ต.ค. 2006
ตอบ: 2348

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.ย. 2007, 6:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

“ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน ล้วนเดินหน้าไปหาความตาย ทั้งหมด.

ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งสุกและดิบ ล้วนมีความแตกทำลายเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตายเป็นที่สุด ฉันนั้น.

วัยของเราหง่อมแล้ว ชีวิตของเรายังอยู่เพียงเล็กน้อย เราจะจากพวกเธอไป เราได้ทำสรณะให้แก่ตนแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีความประพฤติดีงาม มีความดำริมั่นคง จงตามรักษาจิตของตน.

ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ จักเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท ผู้นั้นจะละชาติสงสาร กระทำความจบสิ้นทุกข์ได้”

ที.ม. 10/108/141

“ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้ว ฯลฯ ผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ ย่อมประสบความสุขอันไพบูลย์”

ขุ.ธ.25/12/18

“เพราะฉะนั้นในชีวิตเหลืออยู่นี้ ทุกคนควรกระทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท”


ขุ.สุ. 25/387/465
 

_________________
สติ-การนึกไว้,การคุมจิตไว้กับอารมร์,การคุมจิตไว้กับกิจที่กำลังกระทำ-สัมปชัญญะ-การรู้ชัดสิ่งที่นึกไว้,การรู้ชัดสิ่งที่กำลังกระทำนั้น-ท่านเรียกว่าผู้มีสติสัมปชัญญะหรือมีสติปัญญา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
บัวหิมะ
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2008, 12:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนา ท่านสาวิกาน้อย สาธุ
 

_________________
ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง