Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ภาวะผู้นำ : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ภาวะผู้นำ
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)


ขอเจริญพร ท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมทั้งท่านผู้มีเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน

วันนี้ อาตมาภาพขอร่วมแสดงมุทิตาแก่ชาวคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในโอกาสคล้ายวันสถาปนาและขออำนวยพรแก่ท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์ อารี วัลยะเสวี ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นี้ พร้อมกันนั้น ก็ขอนุโมทนาท่านผู้จัดงานครั้งนี้ ที่ได้แสดงความมีน้ำใจอันประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม ระลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะขึ้น และได้ปูพื้นฐานให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีความเจริญงอกงามสืบมาจนบัดนี้ โดยได้อาศัยกำลังกาย กำลังใจ กำลังความร่วมมือร่วมแรงกันของทุกท่านสืบต่อกันมา

เป็นที่น่าอนุโมทนาที่ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมไทยเป็นอย่างมากในด้านบริการการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศชาติและสังคม

วันนี้ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีให้อาราธนาอาตมภาพให้พูดเรื่อง ภาวะผู้นำ

มีคาถาพุทธภาษิตแห่งหนึ่ง แสดงความได้ว่า

“เมื่อฝูงโคจ่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปคด โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปคดตามกัน เพราะมีผู้นำไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ฉันนั้น บุคลผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะประพฤติซ้ำเสียหาย แว่นแคว้นทั้งหมดก็จะยากเข็ญ หากผู้ปกครองเป็นผู้ไร้ธรรม”

“เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงตามกัน เพราะมีผู้นำที่ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติชอบธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะพลอยดำเนินตาม ทั้งแว่นแคว้นก็จะอยู่เป็นสุข หากผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม”

พุทธพจน์นี้แสดงให้เห็นความสำคัญของผู้นำต่อความอยู่รอด สวัสดิภาพ และสันติสุขของสังคมและประเทศชาติทั้งหมด

ในที่นี่ ท่านขอให้พูดเรื่อง “ภาวะผู้นำ” ก็มาดูกันว่า ภาวะผู้นำเป็นอย่างไร จะมีขึ้นได้และจะสัมฤทธิ์ผลอย่างไร



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 1
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำมีความหมายอย่างไร

ภาวะผู้นำนั้น พูดด้วยภาษาชาวบ้าน แปลง่ายๆ ก็คือ “ความเป็นผู้นำ” นั่นเอง

คนเรานั้นมาอยู่รวมกันเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม แต่ที่เราพูดว่าอยู่รวมกันนั้น ความจริง ถ้าดูลึกลงไปจะเห็นว่าตัวคนรวมกันจริง แต่มักจะรวมกันแค่เพียงภายนอก ส่วนข้างในนั้นค่อนข้างจะกระจัดกระจาย

ที่ว่ากระจัดกระจาย ก็คือ มีความแตกต่างกันหลายอย่างหลายประการ ต่างจิตต่างใจ ต่างความรู้สึก ต่างความนึกคิด ต่างความต้องการ ต่างความรู้ ความสามารถ ต่างระดับของการพัฒนาเป็นต้น เมื่อมีความแตกต่างและกระจัดกระจายอย่างนี้ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนทั้งหลายประสานกัน ทำการทำงานต่างๆ ไปด้วยกันได้ และพากันไปด้วยดี ให้ผ่านพ้นภัยอันตราย อุปสรรค ข้อติดขัดทั้งหลาย ดำเนินไปจนบรรลุถึงประโยชน์สุข หรือความสำเร็จที่เป็นจุดหมาย

ที่ว่านี้ก็หมายความว่า เราต้องการเครื่องมือหรือสื่อที่จะมาช่วยประสานให้คนทั้งหลายรวมกันหรือร่วมกัน ทั้งรวมกันอยู่และร่วมกันทำ เพื่อจะให้อยู่กันด้วยดี และทำการด้วยกันได้ผลบรรลุจุดหมาย ประสบความสำเร็จ

เมื่อพูดอย่างนี้ ก็มีคำตอบง่ายๆ ว่าเรา “ต้องการผู้นำ” นั้นเอง และเมื่อพูดตามสภาพของสังคมมนุษย์อย่างนี้ ก็จะได้ความหมายของผู้นำว่า คือบุคคลที่จะมาประสานช่วยให้คนทั้งหลายรวมกัน โดยที่ว่าจะเป็นการอยู่รวมกันก็ตาม หรือทำการร่วมกันก็ตาม ให้พากันไปด้วยดี สู่จุดหมายที่ดีงาม

ที่ว่าพากันไป ก็ให้พากันไปด้วยดีนั้น หมายความว่าไปโดยสวัสดี หรือโดยสวัสดิภาพ ผ่านพ้นภัยอันตรายอย่างเรียบร้อยและเป็นสุข เป็นต้น แล้วก็บรรลุถึงจุดหมายที่ดีงาม ซึ่งขอเติมอีกหน่อยว่า “โดยถูกต้องตามธรรม”

ข้อหลังบางทีเราอาจจะมองข้าม เราอาจจะนึกแต่เพียงว่าให้บรรลุจุดหมายที่เราต้องการก็แล้วกัน จุดหมายนั้นถ้าไม่ดีงามและไม่เป็นไปโดยถูกต้องตามธรรม ก็จะไม่ใช่ประโยชน์สุขที่แท้จริงซึ่งมั่นคงยั่งยืน แม้ว่าจุดหมายนั้นตามปกติเราย่อมต้องการสิ่งที่เป็นประโยชน์สุข แต่ประโยชน์สุขที่แท้ก็คือสิ่งที่เป็นธรรม หมายความว่า เป็นความจริงความแท้ ความถูกต้อง และได้มาโดยธรรม

เหมือนอย่างว่า ถ้าเป็นผู้นำคือหัวหน้าโจร นำหมู่โจรไปปล้นสำเร็จได้สิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์มา อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะไม่เป็นผลดีแก่ชีวิตแก่สังคมและแก่โลก หรือพาพวกไปทำสิ่งที่เป็นอบายมุขได้สำเร็จ พวกที่ไปด้วยกันทั้งหมดอาจจะสนุกสนานบันเทิงใจ และคนอื่นก็เหมือนจะไม่เดือดร้อนอะไร แต่ไม่เป็นผลดีแก่ชีวิตของตัวเองเลย ก็ไม่เป็นภาวะผู้นำที่กำลังพูดถึงนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องถูกต้องตามธรรมด้วย

โดยนัยนี้ ภาวะผู้นำ ก็คือคุณสมบัติ เช่น สติปัญญา ความดีงาม ความรู้ความสามารถของบุคคล ที่ชักนำให้คนทั้งหลาย มาประสานกัน และพากันไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น

เมื่อพูดถึงผู้นำอย่างนี้ จะเห็นว่ามีองค์ประกอบหลายอย่างในความเป็นผู้นำ หมายความว่า คุณสมบัติของผู้นำมีหลายอย่างหลายด้าน แยกไปตามสิ่งที่ผู้นำจะต้องเกี่ยวข้อง คือ ผู้นำจะต้องมีความสามารถในการที่จะไปเกี่ยวข้องหรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นทุกอย่างให้ถูกต้องและได้ผลดี องค์ประกอบเหล่านั้น คือ

1. ตัวผู้นำ จะต้องมีคุณสมบัติภายในของตนเอง เป็นจุดเริ่มและเป็นแกนกลางไว้

2. ผู้ตาม โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับผู้ตาม หรือเราอาจจะไม่เรียกว่า “ผู้ตาม” ในพุทธศาสนาก็ไม่ได้นิยมใช้คำว่า ผู้ตาม เราอาจจะใช้คำว่า “ผู้ร่วมไปได้ด้วย”

3. จุดหมาย โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กันกับจุดหมายเช่นจะต้องมีความชัดเจน เข้าใจถ่องแท้ และแน่วแน่ในจุดหมายเป็นต้น

4. หลักการและวิธีการโยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับหลักการ และวิธีการที่จะทำให้สำเร็จผลบรรจุจุดหมาย

5. สิ่งที่จะทำโยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำ

6. สถานการณ์ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่จะประสบ ซึ่งอยู่ภายนอก ว่าทำอย่างไรจะผ่านไปได้ด้วยดี ในท่ามกลางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ประสบ เช่น ปัญหา เป็นต้น

นี่คือ องค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้นำที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องบังเกิดผลดี

ในเวลาที่จำกัดนี้ อาตมภาพคงไม่สามารถพูดได้ครบทุกอย่าง แต่ข้อสำคัญจะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นผู้นำ ก็มีผู้ที่ร่วมไปด้วยหรือว่าเพราะมีผู้ร่วมไปด้วยจึงเป็นผู้นำได้ ฉะนั้น คุณสมบัติที่สำคัญมาก ก็คือ คุณสมบัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำเองกับผู้ที่ร่วมไปด้วยนั้น ซึ่งต้องถือเป็นหลักใหญ่ เราอาจจะพูดเน้นที่ข้อนี้ ส่วนคุณสมบัติข้ออื่นจะพูดประกอบไปก็ได้



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 2
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำสูงสุดนำเพื่อสันติสุขสู่มวลมนุษย์

ที่นี้ก่อนจะไปดูคุณสมบัติต่างๆ ลองไปดูที่พระพุทธเจ้าก่อนเพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงมีพระนามว่าเป็น “นายโก” หรือ วินายก ไวพจน์อย่างหนึ่งที่เรียกพระพุทธเจ้าก็คือ นายก ซึ่งแปลว่า “ผู้นำ” บัดนี้เรานำคำนี้มาใช้เรียกผู้นำ เช่น นายกรัฐมนตรี ตรงกับกับคำศัพท์ ที่นิยมเรียกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายก และเป็นวินายก

พระพุทุธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำหรือนายกนั้น ทรงมีคุณสมบัติอย่างไร เรื่องนี้ไม่อาจจะบรรยายได้โดยละเอียด แต่จะพูดถึงลักษณะที่เด่นๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เอง

ประการแรก ในที่แห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ทั้งหลายก็พ้นไปได้จากทุกข์ทั้งปวง”

พุทธพจน์นี้เป็นข้อที่แสดงความเป็นผู้นำ แต่ไม่มีคำว่า “ผู้นำ” อยู่ในคำตรัสนี้ พึงเข้าใจว่า ความเป็นกัลยาณมิตรนี่แหละคือลักษณะสำคัญที่เด่นของความเป็นผู้นำ

จุดเด่น หรือสาระสำคัญของพุทธพจน์นี้ก็คือว่า ผู้นำนั้นเป็นผู้นำเพื่อประโยชน์แก่เขา โดยเฉพาะ สำหรับพระพุทุธเจ้า ก็คือ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ หรือมนุษย์ชาติทั้งปวง ถ้ามองในวงแคบเข้ามา ก็คือ ผู้นำนั้นเป็นผู้ที่ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์แก่หมู่ชน แก่ญาติมิตร เพื่อนร่วมชุมชน เพื่อร่วมชาติ เพื่อร่วมสังคม หรือแก่องค์กรนั้นๆ (แต่องค์กรต่างๆ ที่มีขึ้น ก็เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ชาติแก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคมนั่นเอง) เพราะฉะนั้น หลักสำคัญก็คือ เป็นกัลยาณมิตรในสาระว่า “ทำเพื่อประโยชน์แก่เขา”

ประการที่ 2 ความเป็นผู้นำของพระพุทธเจ้านั้น แสดงออกในลักษณะอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ค้นพบมรรคา หรือค้นพบทางทรงเป็นผู้รู้ทาง และทรงบอกทางให้ ทางนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อไปสู่จุดหมาย หมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สามารถที่จะช่วยให้คนไปถึงจุดหมายได้ เพราะว่าคนทั้งหลายต้องการไปให้ถึงจุดหมายนั้นแต่เขาไม่รู้ทางไม่มีวิธี พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมรรคา คือทางที่ไปสู่จุดหมาย แล้วก็มาช่วยบอกกล่าวชี้นำ หรือบอกทางให้ เป็นเหมือนมัคคุเทศก์ ทำให้ผู้คนอื่นสามารถร่วมเดินทางหรือโดยสารไป ท่านใช้คำว่า “มาร่วมสมทบ” หรือ “ตามมาสมทบ” เดินทางไปสู่จุดหมาย ทั้งนี้หมายความว่า ผู้นำจะต้องรู้จุดหมายชัดเจน และรู้ทางที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายนั้น ข้อนี้เป็นลักษณะใหญ่ที่สำคัญ

ประการต่อไป พระพุทธเจ้าทรงมีลักษณะอีกประการหนึ่งแห่งความเป็นผู้นำ ซึ่งแสดงออกในคำตรัสเป็นบางครั้ง คือพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยให้คนทั้งหลายได้ศึกษา เรียนรู้ หรือฝึกฝนตนเอง จนกระทั้งเขาสามารถที่จะข้ามพ้นความทุกข์หรือปัญหาไปถึงจุดหมายได้ ข้อนี้หมายความว่า ผู้นำไม่ได้มาหยิบยื่นอะไรให้แก่ผู้อื่นโดยตรง แต่มาช่วยให้คนอื่นได้ฝึกตน ได้เรียนรู้ จนสามารถพึ่งตนเองได้ และช่วยตนเองให้พ้นปัญหาไป หรือทำได้สำเร็จบรรลุจุดหมาย



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 3
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำมาประสานให้พากันไป

เมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้าพอให้เห็นแนวกว้างๆ อย่างนี้แล้วก็ลองมาดูคุณสมบัติของผู้นำ หรือที่เรียกว่า “ภาวะผู้นำ” นั้น

ดังได้กล่าวแล้วว่า คุณสมบัติของผู้นำนั้น สัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ ในการนำ ซึ่งมีประมาณ 6 อย่างด้วยกัน ในที่นี้จะข้ามคุณสมบัติในตัวผู้นำเองไปก่อน โดยจะขอเน้นในแง่ของคุณสมบัติในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ที่ร่วมไปด้วย เพราะข้อนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดงถึงการนำอย่างแท้จริง ในตอนหลัง ถ้ามีเวลาจึงจะบรรยายถึงคุณสมบัติของผู้นำเอง โดยพูดเน้นที่ตัวของเขา

ในความสัมพันธ์กับผู้ที่มาร่วมไปด้วยนี้ ก็มีเรื่องของการประสาน เพราะว่าผู้นำนั้นมีหน้าที่ที่จะมาประสาน และไม่ใช่มาประสานเฉยๆ แต่มาประสานให้พากันไป โดยเดินหน้าหรือมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายให้ได้

ในการประสานตัวผู้นำเข้ากับคนที่ร่วมไปด้วยนั้นก็รวมถึงการประสานคนกับคน คือ ประสานคนที่อยู่ด้วยกันทั้งหมดนั้นมีหน้าที่ที่มาประสาน และไม่ใช่มาประสานเฉยๆ แต่มาประสานให้พากันไป โดยเดินหน้าหรือมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายให้ได้

ในการประสานตัวผู้นำเข้ากับคนที่ร่วมไปด้วยนั้นก็รวมถึงการประสานคนกับคน คือ ประสานคนที่อยู่ด้วยกัน ทั้งหมดนั้นให้เข้ากันและร่วมกันไปได้ และการประสานคนกับสิ่งที่จะทำแต่เริ่มต้นการประสานตัวผู้นำเองกับคนที่ร่วมไปด้วยเป็นสิ่งที่สำคัญมากเรียกว่าเป็นแกนทีเดียว ถ้าไม่มีคุณสมบัตินี้แล้วก็จะไม่สามารถประสานอย่างอื่นได้

การประสานตัวของผู้นำกับผู้ที่จะร่วมไปด้วยนี้จะทำอย่างไร ก็เริ่มด้วยการที่ตนเองจะต้องมีคุณความดี ความรู้ ความสามารถ เป็นต้น อย่างเพียงพอ จนเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่าง ซึ่งทำให้เขาเกิดศรัทธา ศรัทธานี้หมายความว่า ความมั่นใจ คือความมั่นใจในตัวผู้นำ ที่เชื่อว่าท่านผู้นี้จะสามารถแก้ปัญหา นำพาพวกเราไปได้ให้ถึงจุดหมาย ซึ่งทำให้พอใจ เต็มใจ และอยากร่วมไปด้วย

ถ้ามีความมั่นใจนี้ คือเกิดศรัทธาขึ้นมาแล้ว ศรัทธานั้นก็จะเป็นเครื่องนำเอาผู้ที่จะร่วมไปด้วยเข้ามาประสานกับตัวผู้นำ คือเขาพร้อมที่จะยอมรับฟัง และแม้แต่เชื่อถือเป็นต้น หมายความว่าศรัทธาเกิดขึ้นก็ทำให้เขายกบุคคลนั้นเป็นผู้นำ คือนำไม่ต้องไปแสดงตัวกับเขาว่าเป็นผู้นำ แต่จะเป็นผู้นำโดยเขาอยากให้มานำเขาไป ถ้าเป็นผู้นำโดยเขาอยากให้นำจะดีที่สุด หมายความว่าเขามีศรัทธาอย่างแท้จริงที่จะร่วมไปด้วย เท่ากับเขาร่วมกันยกขึ้นเป็นผู้นำ นี้เป็นประการที่ 1

ข้อต่อไป นอกจากว่าเขาจะศรัทธามีความมั่นใจในตัวผู้นำแล้ว ผู้นำก็จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเขาเอง ว่าเขามีศักยภาพ มีทุนแห่งความสามารถที่จะเอามาปรับมาจัดเอามาพัฒนาให้

สามารถทำกิจการงานนี้ให้สำเร็จ คือสามารถร่วมไปด้วยกัน (แต่ต้องระวังอย่าให้กลายเป็นมั่นใจแบบลำพองว่าเก่งดีสมบูรณ์แล้ว) ข้อนี้ก็สำคัญมากเหมือนกัน และถือว่าเป็นการประสานอย่างหนึ่ง โดยมุ่งที่ตัวเขาเอง ให้เขามีความมั่นใจในตนเองที่จะมาร่วมไปด้วยกัน

นอกจากนั้นก็คือ ช่วยให้เขาประสานกันเอง คือชักนำให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ทั้งประสานมือและประสานใจหรือร่วมมือร่วมใจกัน ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว คือการที่ว่าทำอย่างไรจะให้คนที่อยู่ร่วมกันในองค์กรหนึ่งๆ มีความสามัคคีกลมเกลียว มีความพร้อมเพรียง มีใจหนึ่งใจเดียวกัน รวมจิตรวมความคิดร่วมใจมุ่งสู่จุดหมายอันเดียว นี้เป็นหลักใหญ่ที่จะต้องใช้ธรรมมากมาย

ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวข้องกับการที่จะช่วยให้คนมาประสานกันและไปด้วยกันได้มีมากมายเหลือเกิด ซึ่งถ้ามีเวลาก็จะได้พูดข้างหน้า

ประการต่อไปก็คือ ประสานคนกับสิ่งที่จะทำหรือประสานคนกับงาน คือนอกจากให้เขามีความมั่นใจในตนเองแล้ว ก็ให้เขามีความมั่นใจในงานหรือในสิ่งที่ทำด้วยว่า สิ่งนี้ดีแน่งานนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงอย่างที่มุ่งหมายอย่างแท้จริง ให้เขาเกิดความมั่นใจคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่จะทำหรืองานนั้น จนเขาอยากจะทำและเกิดความรักงาน เมื่อเขาเกิดความรักงานแล้ว ก็จะตั้งใจทำงาน

นอกจากความรักงานและตั้งใจทำงานแล้ว ก็ประสานความตั้งใจทำงานนั้นเข้ากับความมีกำลังใจในการทำงานด้วย คือให้เกิดกำลังใจ ซึ่งจะทำให้มีความกระตือรือร้น มีความตื่นตัว ที่ทางพระเรียกว่า มีความไม่ประสาท ไม่ให้เป็นคนเฉื่อยชา ความจริง เมื่อรักงานแล้วก็ทำให้พร้อมที่จะมีกำลังใจ แต่บางทีถ้าไม่หนุนขึ้นไปก็อาจจะชักเหยาะแหยะลงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะต้องให้มีพร้อมทั้งรักงานตั้งใจทำงานและมีกำลังใจเข้มแข็งที่จะสู้งาน บุกฝ่าไปข้างหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอย ไม่ท้อแท้

อีกประการหนึ่งในการทำงาน ตลอดจนในการเป็นอยู่ทั่วๆ ไป ผู้นำนั้นมุ่งหวังประโยชน์สุขแก่คนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือคนที่ร่วมไปด้วยกันกับตน เพราะฉะนั้น ผู้นำจึงต้องพยายามให้คนที่มาร่วมงานหรือร่วมอยู่ ได้พัฒนาตัวของเขาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ใช่เพียงให้เขามาสละกำลังร่วมทำงาน แต่จะต้องหาวิธีการส่งเสริมสนับสนุนเอื้อโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญงอกงามขึ้น เช่น เก่งขึ้น ดีขึ้น ทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีชีวิตที่ดีงาม บรรลุประโยชน์สุขที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาตนเองของคนก็จะมีผลต่องานด้วย โดยมาช่วยให้เขาทำงานได้ผลดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ที่แท้ไม่ใช่แค่นั้น จะต้องไปให้ถึงประโยชน์สุขแห่งชีวิตของเขา คือ ให้ชีวิตของเขาก็ได้ด้วยทั้งได้ความดีงาม ได้ความเจริญ ได้ความสุข และได้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป ฉะนั้น การเป็นผู้นำจึงหมายถึงการมีสายตาที่มองทั้งที่งานและมองทั้งที่คนควบคู่กัน ซึ่งจะเข้าหลักที่สำคัญต่อไป



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 4
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:26 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำประสานคนภายในดุลยภาพแห่งธรรม

จะขอรวบรัดพูดถึงหลักธรรมสำคัญ ที่ชาวพุทธรู้จักกันดี ซึ่งผู้นำแน่นอนว่าจะต้องมี แม้จะจักกันเป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องพูดไว้ด้วย และที่จริงก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจกันดีเท่าไร หลักธรรมนั้นเรารู้กันดีว่า คือ พรหมวิหาร 4 ประการ

พรหมวิหารเป็นธรรมสำหรับทุกคนที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในฐานะเป็น “พรหม” คือ เป็นผู้มี ศักยภาพในการที่จะสร้างสรรค์และธำรงรักษาสังคมไว้ โดยเฉพาะสำหรับผู้นำนั้นแน่นอนว่าจะต้องเป็นแบบอย่างที่จะต้องมีพรหมวิหาร 4 ประการ เพราะพรหมวิหารนั้นเป็นธรรมประจำใจของคนที่มีจิตใจยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐ อันแสดงถึงความเป็นบุคคลที่มีการศึกษา ได้พัฒนาตนแล้ว

พรหมวิหาร 4 ประการ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องให้มีอยู่ประจำในจิตใจ และเป็นท่าทีของจิตใจที่จะทำให้แสดงออกหรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกต้องโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้ง 4 ที่เขาประสบ กล่าวคือ

1. ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ ความเป็นมิตรไมตรี ความมีน้ำใจปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุข ซึ่งหมายถึงความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทั้งแต่ละคนๆ ที่เราเกี่ยวข้อง ขยายออกไปจนถึงความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์หรือต่อสังคมทั้งหมดทั่วทั้งโลก เมตตานี้เป็นคุณธรรมพื้นใจประการแรกที่ต้องมี ซึ่งใช้ในยามปกติ คือ เมื่อคนอื่นเขาอยู่กันเป็นปกติ เราก็มีเมตตาปรารถนาดี คิดหาทางสร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้เขาเรื่อยไป

2. ในสถานการณ์ที่เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็มีกรุณาคือ ความพลอยรู้สึกไหวตามความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือปัญหาของเขา และต้องการช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนนั้น กรุณานี้ต่างไปจากเมตตา คือเมตตาใช้ในยามปกติ แต่เมื่อเขาตกต่ำลงไปกลายเป็นเดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็มีกรุณา ใฝ่ใจช่วยบำบัดทุกข์ให้

3. ในสถานการณ์ที่เขาขยับสูงขึ้นไปในความดีงาม ความสุขความสำเร็จ เราก็มีมุติตา หมายความว่า เมื่อเขาเปลี่ยนไปในทางขึ้นสูง ได้ดีมีสุข ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ประสบความสำเร็จ เราก็ย้ายไปเป็นมติตา คือพลอยยินดีด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุน

ในวงการงานตลอดจนการเป็นผู้ทั่วไปนั้น เรื่องที่สำคัญมากก็คือ เมื่อคนมีปัญหา มีทุกข์เดือดร้อน เช่น จับไข้ได้ป่วย หรือยากไร้ขาดแคลน ก็ต้องมีกรุณาที่จะเอาใจใส่แก้ปัญหา เมื่อมีคนประสบผลสำเร็จในการทำสิ่งดีงาม ทำให้อะไรต่ออะไรพัฒนาก้าวหน้าไป ก็ต้องมีมุติตาช่วยส่งเสริมสนับสนุน

แต่ในยามปกติก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลย ต้องเอาใจใส่ต่อการที่จะให้เขาอยู่ดีมีสุข เช่น มีสุขภาพดี อยู่ในวิถีทางของความสุขความเจริญ และการพัฒนาสืบต่อไป คือ ต้องมีเมตตาปรารถนาดี ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ก็จะทำให้กิจการงานและประโยชน์สุขที่มุ่งหมายพร้อมที่จะสำเร็จผลหนึ่งก็จะเกิดขึ้นในตัวผู้นำ คือ “ปิโย” แปลว่า “ผู้เป็นที่รัก” กล่าวคือผู้ร่วมงานหรือผู้ร่วมไปด้วยกัน หรือจะเรียกผู้ตามก็แล้วแต่ ก็จะมีความรัก มีความรู้สึกสนิทสนม สบายใจต่อผู้นำนั้น เสริมความรู้สึกอยากร่วมไปด้วยให้หนักแน่นมากขึ้น ทั้งร่วมใจและร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม ปิโย เท่านั้นไม่พอ ปิโยนั้นได้มาจากเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ยังต้องมีอีกข้อหนึ่ง คือพรหมวิหารข้อสุดท้ายได้แก่

4. ในสถานการณ์ที่เขาทำผิดหลักหรือละเมิดธรรม เราก็มีอุเบกขา หมายความว่า เมื่อใดเขาทำอะไรไม่ถูกต้อง โดยละเมิดธรรม คือ ละเมิดต่อหลักการ หรือละเมิดต่อความถูกต้อง ทำให้เสียหลัก เสียกฎเกณฑ์ เสียความเป็นธรรม เสียความชอบธรรม ทำลายกติกา เป็นต้น ผู้นำจะต้องอยู่ในหลักที่เรียกว่า อุเบกขา

อุเบกขาก็คือรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างหยุดการขวนขวายในการที่จะปฏิบัติตามข้อ 1 - 2 - 3 คือ จะต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ แล้วก็รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกา หรือรักษาตัวธรรมไว้

อุเบกขานี้เป็นตัวรักษาดุล เป็นตัวจำกัดหรือคุมการปฏิบัติตามข้อ 1 - 2 - 3 (เมตตา - กรุณา - มุทิตา) ไม่ให้เกินขอบเขตไปจนกลายเป็นเสียธรรม คือ การปฏิบัติต่อคน หรือช่วยเหลือคน จะต้องไม่ให้เสียความเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการทำลายหลักการ ไม่ให้เป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 5
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำที่ดีได้ทั้งคนได้ทั้งงานโดยไม่เสียหลักการ

การปฏิบัติตามหลักการแห่งพรหมวิหาร 4 ที่มีดุลยภาพ 2 ด้าน (เมตตา - กรุณา - มุทิตา ด้านหนึ่ง และอุเบกขาด้านหลังหนึ่ง) นี้ก็คือการที่ผู้นำนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ทั้งกับคนและกับงาน ทั้งกับคนและกับธรรม หรือทั้งกับคนและกับหลักการ คือต้องเอาทั้งคน และทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ

ถ้าเอาคนอย่างเดียวก็จะเอียงสุดไปข้างหน้า และจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา จนไม่มีขอบเขต แม้จะปิโย คือเป็นที่รัก แต่ก็เสียหลักการและทำให้เสียความเป็นธรรม นอกจากนั้น เมื่อพยายามทำตัวให้เป็นที่รักโดยเป็นกันเองเกินไปอย่างไม่มีขอบเขต ก็อาจจะเลยเถิดไปกลายเป็นเพื่อนเล่น หรือกลายเป็นที่ล้อเล่น จนกระทั่งคำพูดไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง อย่างนี้ก็หมดความหมาย พร้อมกันนั้นก็อาจจะกลายเป็นว่าแทนที่ตัวเองจะไปนำเขา ก็กลายเป็นว่าถูกเขาชักพาออกนอกลู่นอกทางไป เลยหมดความเป็นผู้นำ

เพราะฉะนั้น ปิโย “เป็นที่รัก” ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติในข้อเมตตา กรุณา มุทิตา ที่เอาคน จึงต้องมีขอบเขตโดยมีความสมดุลกับข้ออุเบกขา ที่เอาธรรม เอาหลักการ และเอาตัวงาม

ทีนี้ ถ้าเอาตัวงาน เอาหลักการ หรือเอาธรรม ก็จะได้ลักษณะที่เรียกว่าเป็น “ครุ” ซึ่งแปลว่า “น่าเคารพ” คือ เป็นคนมีหลักหนักแน่น จึงเป็นผู้ที่น่าเคารพ แต่ถ้าเอาหลักอย่างเดียวแม้จะน่าเคารพก็แห้งแล้ง บางทีไม่มีใครกล้าเข้าหน้าเลย อย่างนี้ลำบากเสียผลเหมือนกัน ครุ ก็จะเอียงข้างไป เพราะฉะนั้น จึงต้องพอดี ถ้าได้ทั้งข้อ 1 - 2 - 3 แล้วมาสมดุลกับข้อ 4 ก็จะได้ทั้ง ปิโย เป็นที่รัก หรือน่ารักด้วย และครุ เป็นที่เคารพด้วย หมายความว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ได้ทั้งคนได้ทั้งหลักการ และได้ทั้งคนได้ทั้งธรรม อันนี้เป็นหลักการสำคัญที่เป็นเรื่องของดุลยภาพ

เป็นอันว่า คนที่น่าเคารพ เป็นครู นั้นจะยึดถือหลักการเป็นใหญ่ เอางานเป็นสำคัญ เอาธรรมนำหน้า เมื่อเอาใจใส่ดูแลคนให้ดี ก็เป็นปิโยด้วย ก็ได้ดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้ แต่ข้อที่สำคัญก็คือ เมื่อมองกว้างออกไปถึงที่สุด การเอาคนกับเอาหลักการก็จะมาบรรจบกัน หมายความว่า ถ้าเอาคนที่เป็นบุคคล เป็นรายคน หรือเป็นคนๆ ไป ก็อาจจะขัดกับธรรม เพราะธรรมนั้นก็คือเอาคนทั้งหมดหรือทั้งสังคม ถ้าเราเอาบุคคลโดยยอมเสียธรรม ก็จะเสียแก่สังคมทั้งหมด เมื่อรักษาธรรมก็จะรักษาสังคมไว้ได้ เพราะในที่สุดสังคมดำรงอยู่ได้ด้วยธรรม เนื่องจากธรรมเป็นฐานที่รองรับสังคมไว้ เพราะฉะนั้น การเอาธรรม ก็ คือเอาทั้งหมด หรือรักษาสังคมของมนุษย์ชาติเอาไว้ มิใช่เห็นแก่บุคคลผู้เดียวแล้ว ยอมทำลายธรรมที่รักษาสังคมของมนุษย์ทั้งหมด

นอกจากนั้น การที่งานการและทุกสิ่งทุกอย่างจะบรรลุผลสำเร็จก็จะต้องเป็นอย่างถูกต้องหลักการ คือ ตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งพูดส้นๆ ว่า ตามธรรมนั่งเอ เพราะฉะนั้น ธรรมหรือหลักความจริงและหลักการจึงเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย ด้วยเหตุนี้ผู้นำจึงต้องเป็นผู้มั่นใจธรรม เป็นผู้ถือหลักการเป็นใหญ่ และเข้าใจชัดเจนในหลักการ



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 6
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำที่แท้เป็นสื่อที่แสดงตัวของธรรม

พระพุทธศาสนาได้แสดงคุณสมบัติสำคัญของผู้นำในแง่นี้เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” แปลว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดเอาธรรมเป็นสำคัญ เชิดชูหลักการ ปฏิบัติการตามและเพื่อเห็นแก่ความเป็นจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่เป็นอัตตาธิปไตย คือ ไม่ถือตัวเป็นใหญ่ แล้วก็ไม่เป็นกาธิปไตย คือ ไม่มุ่งหาคะแนนนิยมเป็นใหญ่ไม่ทำเพียงเพื่อหาเสียงหรือให้คนชอบ แต่เอาธรรม เอาตัวความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เอาหลักการเป็นใหญ่ ตัดสินกันด้วยหลักการ ตั้งแต่หลักการโดยการจัดตั้งของมนุษย์ ลงไปจนถึงหลักการที่เป็นนามธรรมซึ่งรองรับการหลักการจัดตั้งนั้น แม้เมื่อมีอะไรจะต้องวินิจฉัย ก็ทำตัวเป็นกระบอกเสียงหรือเป็นสื่อของธรรมหรือเป็นช่องทางแสดงตัวของธรรม คือหลักการ หรือกฎกติกา คุณสมบัติ ข้อนี้จะคล้ายๆ กับการวางตัวของผู้พิพากษา

ผู้พิพากษาเมื่อวินิจฉัยคดี ก็อาจจะต้องตัดสินลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้พิพากษามีความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับตัวเองว่าฉันจะลงโทษเขา ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้ศึกษาขุ่นมัวเศร้าหมองไม่สายใจ แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักธรรม ท่านผู้ตัดสินโทษก็เป็นเพียงกระบอกเสียงของธรรมหรือ เป็นเพียงช่องทางที่แสดงตัวของธรรม เมื่อมีการตัดสินลงโทษคน ก็จะเป็นการกระทำโดยไม่มีตัวตน แต่เป็นการกระทำของปัญญาบริสุทธิ์ที่เอาหลักการเข้าวินิจฉัย ตัดสินไปตามกฎกติกาตามความเป็นจริง ความถูกต้องดีงามที่ประชุมตัดสินก็ไมได้ถือว่าคนลงโทษ แต่ตัวธรรมหรือตัวหลักการลงโทษเขาเอง หมายความว่า บุคคลตั้งแต่ตัวประธานลงมาเป็นเพียงสื่อหรือกระบอกเสียงของธรรมเพื่อให้ธรรมปฏิบัติการออกมาได้เท่านั้นเอง

คนที่ทำด้วยจิตใจอย่างนี้จะมีความมั่นใจ และไม่มีความรู้สึกทุกข์ยากลำบากใจ ไม่หวั่นใจไปตามความรู้สึกที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ เพราะว่าตัวเองไม่เกิดมีตัวตนที่เป็นผู้ทำขึ้นมาเลย มีแต่เพียงการปฏิบัติไปตามหลักการโดยที่ตนเองมาเป็นช่องทางปรากฏตัวของธรรม หรือเป็นสื่อให้กับธรรมอย่างที่กล่าวแล้วเท่านั้นเอง อันนี้เรียกกว่าการถือธรรมเป็นใหญ่

อย่างไรก็ตาม จะต้องระลึกโดยตระหนักว่าธรรมจะปรากฏตัวออกมาและเป็นผู้ตัดสินหรือปฏิบัติการ ก็ต่อเมื่อบุคคลที่เป็นสื่อหรือกระบอกเสียงนั้น ทำการด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มุ่งความจริง ความถูกต้องดีงามแท้จริง และด้วยปัญญาที่ใสสะอาด ซึ่งแสวงหาความจริงและไตร่ตรองทั่วตลอดที่สุด คือทำด้วยเจตนา และปัญญาที่ดำเนินไปด้วยความไม่ประสาท

เมื่อทำได้อย่างนี้ผู้นำก็จะได้คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นผู้เที่ยงตรง ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ซึ่งเป็นแกนกลางของการรักษาดุลยภาพ และความสาสามัคคี พร้อมตั้งความมั่นคงของหมู่ชนที่ไปด้วยกัน เพราะถ้าเสียความเป็นธรรมแล้ว แม้แต่จะมีความรักใคร่กันอยู่หรือแม้แต่จะเอาอกเอาใจกัน ก็จะเกิดความกินแหนงและไม่เสียงสามัคคี

อคติ คือ ความลำเอียง หรือการเขวออกไปนอกทางที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ มี 4 ประการด้วยกัน คือ ลำเอียงเพราะชอบลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว

ลำเอียงเพราะชอบ เรียกว่า ฉันทาคติ
ลำเอียงเพราะชัง เรียกว่า โทสาคติ
ลำเอียงเพราะขลาด เรียกว่าภายาคติ
ลำเอียงเพราะเขลา เรียกว่า โมหาคติ

ผู้นำจะต้องเป็นผู้หลีกพ้นไป คือไม่มีอคติ 4 ประการนี้ ถึงตอนนี้ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้ที่ร่วมไปด้วย ก็ได้หลักการใหญ่ๆ แล้ว ถ้าผู้นำมีคุณสมบัติสำคัญแค่นี้ การปฏิบัติต่อผู้ที่ร่วมไปด้วย ก็จะได้ผลดีมากแล้ว ดังที่กล่าวเมื่อกี้ว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ก็จะพากันไปด้วยดีสู่จุดหมาย



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 7
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำสื่อสารให้ผู้โดยสารรู้เห็นทางสว่างตาสว่างใจไปด้วยกัน

ที่กล่าวมานี้ เป็นการพูดอยู่ในขอบเขตของหลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 ประการ โดยโยงเข้ากับคุณสมบัติที่เรียกว่า “ปิโย” หรือ “ครุ” ซึ่งอยู่ในหลักที่เรียกว่า “กัลยาณมิตรธรรม” หรือธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการ เป็นอันว่าในหลักคุณสมบัติของกัลยาณมิตรนี้ได้กล่าวไปแล้ว 2 ประการ คือ ปิโย และครุ น่าเคารพแล้ว โดยได้ย้ำว่าจะต้องให้ 2 อย่างนี้มาดุลกัน ในแง่คนกับงาน และคนกับหลักการ โดยเฉพาะจะต้องพยายามเอาทั้งคนทั้งงาน ให้ได้ทั้งสองประการมาประสานนั้น

นอกจากนี้ 2 ข้อนี้แล้งยังมีคุณสมบัติของกกัลยาณมิตรเหลืออยู่อีก 5 ประการ คือ ต่อจาก ปิโย น่ารัก และครุ เคารพแล้ว ยังมีภาวนีโย แปลว่า น่าเจริญใจ คือ เป็นแบบอย่างได้ ทำให้ผู้ที่ร่วมอยู่ร่วมไป เช่น คนทั้งหลายที่อยู่ในองค์กรนั้น มีความภาคภูมิใจ พอนึกถึงก็มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวผู้นำ ว่าเป็นผู้ที่มีการศึกษาจริงได้พัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีสติปัญญา มีความสามารถ มีคุณธรรมความดีงามอย่างแท้จริง น่าเอาอย่างข้อนี้ก็เป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้มีศรัทธาและเกิดความร่วมมือด้วย

ต่อจาก ภาวนีโย ก็คือ วัตตา เป็นผู้รู้จักพูด หมายความว่า รู้จักพูดให้ได้ผล รู้ว่าในสถานการณ์ไหน และกับใคร ควรพูดอะไร อย่างไร เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า เป็นนักสื่อสารที่ดี และเอาใจใส่สื่อสารกับผู้ร่วมไปด้วยอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เข้าใจกัน และรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ เป็นต้น แต่รู้จักพูดนั้น บางที่ยิ่งกว่าสื่อสารเก่งอีก คนที่รู้จักพูดนั้นจะพูดให้เข้าเข้าใจก็ได้ พูดให้เขาเห็นใจก็ได้ พูดให้เขาเชื่อก็ได้ พูดเข้าใจ พูดให้เขาได้ประโยชน์ และพูดให้เขาช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์ ต่างจากจิตวิทยาทุนนิยม ที่เน้นในแง่การพูดให้ตนเองได้ผลประโยชน์ หรือพูดหาผลประโยชน์ให้แกตน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของนักสื่อสารหรือสักสั่งสอนที่ดีไว้ 4 อย่าง คือ

1. พูดแจ่มแจ้ง คือ ชี้แจงอธิบายให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผลแจ่มแจ้ง หมดสงสัย เหมือนจูงมือไปเห็นกับตา (สันทัสสนา)

2. พูดจูงใจ คือ พุดให้เห็นคุณค่าและความสำคัญ จนเกิดความซาบซึ้งยอมรับ อยากลงมือทำหรือนำปฏิบัติ (สมาปนา)

3. พูดเร้าใจ คือ ปลูกใจให้คึกคัก เกิดความแข็งขันมั่นใจและมีกำลังใจหาญกล้า กระตือรือร้นที่จะทำให้สำเร็จโดยไม่หวั่นกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบาก (สมุตเตชนา)

4. พูดให้ร่าเริง คือ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งเมตตาไมตรี ความหวังดี และความรู้สึกที่สดชื่นร่าเริง เบิกบานผ่องใส แช่มชื่นใจด้วยความหวังในผลดีและทางที่สำเร็จ (สัมปหังสนา)

ต่อไปก็ วจนักขโม คือรู้จักฟังด้วย ท่านใช้คำว่า วจนักขโมแปลว่า ทนหรือควรต่อถ้อยคำ (ของคนอื่น) ไม่ใช่ว่าเอาแต่พูดแก่เราอย่างเดียวโดยไม่ยอมรับฟังใคร ต้องยอมรบฟัง เพราะการรู้จักรับฟังเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะสื่อสารให้ได้ผล แม้ว่าเขาพูดมาจะไม่ถูกใจอะไรก็ทนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้งานการและประโยชน์ที่จะทำนั้นสำเร็จ เช่น ครูอาจารย์ถูกลูกศิษย์ซักไซ้ไล่เลียงไต่ถาม ถามจุกจิก ถามเรื่องที่ครูคิดว่าน่าจะรู้แล้ว ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความอดทนในการับฟัง เดียวก็จะเบื้อ หรือรำคาญ ท่านบอกว่าต้องมีคุณธรรม ข้อนี้จึงจะแก้ไขได้ ต้องทำใจให้สบาย อดทนรับฟังเขาเพื่อให้เข้าใจเขาและช่วยเขาได้ดี

ต่อจากนั้นต้อง ค้มภีรัญจะ กะถึง กัตตา แปล รู้จักแถลงเรื่องราวต่างๆ ที่ลึกซึ้ง ปัญหาอะไรที่หนักและยาก ก็เอามาชี้แจงอธิบาย ช่วยทำให้คนที่ร่วมงานมีความกระจ่างแจ้ง เรื่องที่ลึกที่ยากก็ทำให้ตื้นให้ง่ายได้ และพาเขาเข้าถึงเรื่องที่ยากและลึกลงไปๆ อย่างได้ผล

ต่อไปข้อสุดท้าย คือ โน จัฎฐาเน นิดยชะเย แปลว่า ชักนำในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่อง ที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สาระ ที่ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย

ธรรมของกัลยาณมิตร 7 ประการ นี้เป็นคุณสมบัติที่มาประกอบเสริมนั้น และมาประสานเข้ากับพรหมวิหาร 4 ประการ ที่พูดไปก่อนแล้ว



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 8
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำช่วยให้คนพัฒนาความต้องการ

ปัจจัยสำคัญที่ยิ่งอย่างหนึ่งแห่งความสำเร็จของการทำหน้าที่ผู้นำ คือ การปรับเปลี่ยนความต้องการของคน ความต้องการเป็นตัวกำหนดเป้าหมายและทิศทางการตัดสินใจของคน ถ้าเปลี่ยนความต้องการของคนได้ ก็เปลี่ยนตัวของคนนั้นได้ ผู้นำที่ดีช่วยให้คนพัฒนาความต้องการของตน ทั้งในการปรับเปลี่ยนให้บุคคลมีความต้องการที่ถูกต้องดีงาม และให้หมู่ชนมีความต้องการที่ประสานเป็นอันเดียวกัน

การพัฒนาความต้องการ เป็นการพัฒนาความสุขของคนเพราะความสุขเกิดจากการสนองความต้องการ ถ้าเปลี่ยนความต้องการของคนได้ ก็เปลี่ยนวิธีการหาความสุขของเขาได้ด้วย เมื่อทำอะไร ตรงกับความต้องการของคน ก็ทำให้เขาสมใจและมีความสุข คนก็จะร่วมมือทำอย่างเป็นไปเองโดยประสานกลมกลืนและเต็มใจจะหาทางทำให้สำเร็จ จึงพร้อมที่จะทำและทำได้งาย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าผู้นำทำการที่ฝืนความต้องการของคน ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่มีความสุข และสิ่งที่ทำก็ยากจะสำเร็จ หรือคงอยู่ยั่งยืน

ความต้องการของคนพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้ และผู้นำที่ดีก็ควรคือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะช่วยให้คนพัฒนาความต้องการไปในทางที่ดีงามประณีตและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ความต้องการสำคัญที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนพัฒนา อย่างน้อยขัดเกลาให้ละเอียดละไมไม่ก้าวร้าวรุกราน ก็คือความต้องการแบบเห็นแก่ตัวในการที่จะบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน หรือความต้องการได้ผลประโยชน์จากการเอาเปรียบผู้อื่นหรือโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของใครที่ทางพระเรียกว่าตัณหา คือ ความใฝ่เสพ

คนควรจะพัฒนาความต้องการ โดยเปลี่ยนจากความต้องการแบบตัณหานี้ไปเป็นความต้องการต่อภาวะดีงามสร้างสรรค์ เช่น อยากให้ชีวิตของตนเองดีงามบริสุทธิ์ อยากให้ชีวิตมีคุณค่าเป็นประโยชน์ อยากให้ชุมชนหรือองค์กรของตนเจริญก้าวหน้ามีชื่อเสียงที่ดีงาม อยากให้ถนนหนทางสะอาดเรียบเรียบ อยากให้เพื่อนมนุษย์อยู่ดีมีสุข อยากให้สังคมร่วมเย็น อยากให้ธรรมชาติแวดล้อมงดงาม น่ารื่นรมย์ อยากให้ปัญญาความรู้เข้าใจความจริงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง อยากให้ผู้คนได้พบเห็นชื่นชมกับสิ่งดีงาม เป็นต้น ที่ทางพระเรียกว่าฉันทะคือความใฝ่ดีหรือใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์

ถ้าผู้นำสามารถช่วยคนให้พัฒนาความต้องการอย่างหลังนี้ขึ้นได้ ก็เป็นความสำเร็จอยู่ในตัวขั้นหนึ่งแล้ว และความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดพลังที่ช่วยให้การกระทำเพื่อจุดหมายที่ดีงามบรรลุความสำเร็จสมหมายด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำเองควรจะมีความใฝ่อย่างแรงกล้าในจุดหมายอันสูงส่งมีความชัดเจนในจุดหมายนั้น และทำให้ทุกคนมองเห็นและใฝ่ในจุดหมายยิ่งใหญ่นั้นร่วมกัน ให้เป็นจุดหมายรวมของสังคม ที่จะทำให้พลังแห่งความต้องการของทุกคนประสานเป็นอันเดียว ซึ่งจะทำให้แต่ละคนหลุดพ้นจากแรงรบกวนของความต้องการที่ไม่พึงประสงค์และมุ่งหน้าไปด้วยกันสู่จุดหมายร่วมของสังคมนั้น อ้นเป็นความสำเร็จของการทำหน้าที่ของผู้นำอย่างแท้จริง



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 9
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำรู้ทั้งเจ็ดด้านซึ่งทำให้พร้อมที่จะจัดการ

เรื่องคุณสมบัติของผู้นำในความสัมพันธ์กับผู้ร่วมไปด้วยนั้น ได้พูดไปพอสมควรแล้ว ตอนนี้จะพูดถึงคุณสมบัติในตัวผู้นำเองไว้บ้างเป็นตัวอย่าง ท่านกล่าวว่า บุคคลที่เป็นผู้นำจะต้องมีธรรม 7 ประการ ซึ่งก็เป็นการย้ำสิ่งที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง แต่ในที่นี้มาด้วยกันเป็นชุด อาตมภาพจะยังไม่บอกชื่อก่อน เพราะเป็นภาษาบาลีซึ่งอาจจะยากหน่อย จึงขอพูดเป็นภาษาไทยว่า คุณสมบัติในตัวของผู้นำมี 7 ประการ คือ

1. รู้หลักการ เมื่อดำรงตำแหน่ง มีฐานะ หรือจะทำอะไรก็ตาม ต้องรู้หลักการ รู้งาน รู้หน้าที่ รู้กฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวข้อง เช่น อย่างผู้ปกครองประเทศชาติก็ต้องรู้หลักรัฐศาสตร์ และรู้กฎกติกาของรัฐ คือกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา แล้วก็ยืนอยู่ในหลักการ ตั้งตนอยู่ในหลักการให้ได้ชุมชน สังคม องค์กร หรือกิจการอะไรก็ตาม ก็ต้องมีหลักการ มีกฎ มีกติกา ที่ผู้นำจะต้องรู้ต้องชัด แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ในหลักการนั้น

2. รู้จุดหมาย ผู้นำถ้าไม่รู้จุดหมายก็ไม่รู้ว่าจะนำคนและกิจการไปไหน นอกจากรู้จุดหมาย มีความชัดเจนในจุดหมายแล้ว จะต้องมีความแน่วแน่มุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงจุดหมายด้วย ข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก เมื่อใจมุ่งจุดหมาย แม้มีอะไรมากระทบกระทั่ง ก็จะไม่หวั่นไหว อะไรไม่เกี่ยวข้อง ไม่เข้าเป้า ไม่เข้าแนวทางก็ไม่มั่ววุ่นวาย ใครจะพูดวาว่าด่าเหน็บแนม เมื่อไม่ตรงเรื่อง ก็ไม่มัวถือสา ไม่เก็บเป็นอารมณ์ ไม่ยุ่งกับเรื่องจุกจิกไม่เป็นเรื่อง เอาแต่เรื่องที่เข้าแนวทางสู่จุดหมาย ใจมุ่งสู่เป้าหมาย อย่างชัดเจนและมุ่งมั่นแน่วแน่

3. รู้ตน คือ ต้องรู้ว่าตนเองคือใครมีภาวะเป็นอะไร อยู่ในสถานะใด มีคุณสมบัติ มีความพร้อม มีความถนัด สติปัญญา ความสามารถอย่างไร มีกำลังแค่ไหน มีข้อยิ่งข้อหย่อน จุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ซึ่งจะต้องสำรวจตนเอง และเตือนตนเองอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงตัวเอง ให้มีคุณสมบัติความสามารถยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ว่าเป็นผู้นำแล้วจะเป็นคนสมบูรณ์ไม่ต้องพัฒนาตนเอง ยิ่งเป็นผู้นำก็ยิ่งต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาให้นำได้ดียิ่งขึ้นไป

4. รู้ประมาณ คือ รู้จักความพอดี หมายความว่าต้องรู้จักขอบเขตขีดขั้นความพอเหมาะที่จะจัดทำในเรื่องต่างๆ ท่านยกตัวอย่าง เช่น ผู้ปกครองบ้านเมืองรู้จักประมาณในการลงทัณฑ์อาชญา และการเก็บภาษี เป็นต้น ไม่ใช่เอาแต่จะให้ได้อย่างใจ และต้องรู้จักว่าในการกระทำนั้นๆ หรือในเรื่องราวนั้นๆ มีองค์ประกอบหรือมีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ทำแค่ไหนองค์ประกอบของมันจะพอดี ได้สัดส่วนพอเหมาะ การทำการต่างๆ ทุกอย่างต้องพอดี ถ้าไม่พอดีก็พลาดความดีจึงจะทำให้เกิดความสำเร็จที่แท้จริง ฉะนั้นจะต้องรู้องค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องและจัดให้ลงตัวพอเหมาะพอดี

5. รู้กาล คือ รู้จักเวลา เช่น รู้ลำดับ ระยะ จังหวะ ปริมาณ ความเหมาะของเวลาว่า เรื่องนี้จะลงมือตอนไหน เวลาไหน จะทำอะไรอย่างไร จึงจะเหมาะ ดังจะเห็นว่าแม้แต่การพูดจาก็ต้องรู้จักกาลเวลา ตลอดจนรู้จักวางแผนงานในการใช้เวลา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เช่น วางแผนว่า สังคมมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนี้ในเวลาข้างหน้าเท่านั้น และเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้น เราจะวางแผนรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร

6. รู้ชุมชน คือ รู้สังคม ตั้งแต่ในขอบเขตที่กว้างขวาง คือ รู้สังคมโลก รู้สังคมของประเทศชาติ ว่าอยู่ในสถานการณ์อย่างไร มีปัญหาอะไรมีความต้องการอย่างไร โดยเฉพาะถ้าจะช่วยเหลือเขา ก็ต้องรู้ปัญหารู้ความต้องการของเขา แม้แต่ชุมชนย่อยๆ ถ้าเราจะช่วยเหลือเขา เราต้องรู้ความต้องการของเขา เพื่อสนองความต้องการได้ถูกต้อง หรือแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

7. รู้บุคคล คือ รู้จักบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนที่มาร่วมงานร่วมการร่วมไปด้วยกัน และคนที่เราไปให้บริการตามความแตกต่างเฉพาะตัว เพื่อปฏิบัติต่อเขาได้ถูกต้องเหมาะสมและได้ผล ตลอดจนสามารถทำบริการให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามความต้องการ รู้ว่าจะใช้วิธีสัมพันธ์พูดจาแนะนำติชมหรือจะให้เขายอมรับได้อย่างไร โดยเฉพาะในการใช้คน ซึ่งต้องรู้ว่าคนไหนเป็นอย่างไร มีความถนัดอัธยาศัย ความสามารถอย่างไร เพื่อใช้คนให้เหมาะกับงาน นอกจากนั้นก็รู้ประโยชน์ที่เขาพึงได้ เพราว่าในการทำงานนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาเขามาเป็นเพียงเครื่องมือทำงานได้ แต่จะต้องให้คนที่ทำงานทุกคนได้ประโยชน์ ได้พัฒนาตัวเอง ผู้นำควรรู้ว่า เขาควรจะได้ประโยชน์อะไรเพื่อความเจริญงอกงามแห่งชีวิตที่แท้จริงของเขาด้วย

ที่พูดมานี้ คือหลักธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 ประการ ซึ่งในที่นี้จะไม่บอกคำภาษาบาลี เพราะมีเวลาน้อย ถ้ามีคุณธรรม 7 ประการนี้ แม้จะไม่มีคุณสมบัติข้ออื่นก็เป็นผู้นำได้เพราะรู้องค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอที่จะจัดการให้ได้ผล สามารถจัดวางวิธีปฏิบัติการที่เหมาะให้บรรลุความสำเร็จได้ ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่นก็มาเสริม

เป็นที่น่าสังเกตอย่างมากกว่าธรรม 7 ประการ ซึ่งจัดลำดับข้อตามที่แสดงไว้นี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกรณีที่เป็นคุณสมบัติสำหรับสัปปุริสชน หรือบัณฑิตชนอย่างเป็นกลางๆ แต่ในกรณีที่ตรัสให้เป็นคุณสมบัติของผู้นำโดยตรง เช่น เป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ ทรงเปลี่ยนลำดับสลับข้อ 1 กับข้อ 2 ใหม่กล่าวคือ ตามปกติ ตรัสข้อรู้หลักการ ตามด้วยข้อรู้ความมุ่งหมายแต่ในกรณีของผู้นำโดยตรง ตรัสข้อรู้จุดหมายเป็นข้อแรก แล้วจึงตามด้วยรู้หลักการ เป็นการเน้นที่ความมีจุดหมาย และกำหนดจุดหมายหรือตั้งจุดหมาย เจาะลงไปให้ชัดแล้วจึงวางหลักการและหาวิธีการที่จะทำให้สำเร็จบรรลุจุดหมายนั้น



........................................................


ติดตามตอนต่อไป >> 10
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มองกว้าง คิดไกล และใฝ่สูง

อาตมาภาพได้พูดไปมาก ในแง่ของธรรมที่เกี่ยวกับผู้ที่มาร่วมไปด้วยกัน คือ ประสานระหว่างตัวผู้นำ กับผู้ที่จะตามหรือผู้ที่จะร่วมไปด้วย ส่วนคุณสมบัติด้านอื่นก็เลยแทบไม่ได้พูด นอกจากสัปปุริสธรรมซึ่งเป็นคุณสมบัติภายในสำหรับตัวเองที่ว่า รู้หลักการ รู้ความมุ่งหมาย รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้บุคคล ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เน้นด้านปัญญา

เนื่องจากเวลาจำกัด คิดว่าเท่าที่ได้พูดเรื่องภาวะผู้นำมาทั้งหมดนี้ ก็อยากจะเน้นข้อสำคัญบางอย่าง ซึ่งกระจัดกระจ่ายอยู่ในธรรมชุดต่างๆ กล่าวคือ

ประการแรก ตัวเองต้องดี ต้องเป็นแบบอย่างได้ คือ ต้องทำดีเป็นตัวอย่างแก่เขา และมีความรู้ความสามารถที่จะมานำเขาได้

ประการต่อไป นอกจากเป็นกัลยาณมิตรให้กับเขาแล้ว ตัวเองก็ต้องมีกัลยาณมิตรด้วย คือ ต้องเลือก ต้องหาที่ปรึกษา และเพื่อนร่วมงานที่ดี ลักษณะนี้แสดงถึงความเป็นคนที่ใฝ่แสวงปัญญาหมายความว่า ในการทำงาน หรือจะนำเข้าไปนั้น ไม่ใช่ว่าตัวผู้นำเองจะทำได้คนเดียว แต่จะต้องฟังเสียงผู้อื่น และใฝ่แสวงปัญญาอยู่เสมอ ข้อนี้สำคัญมาก แม้แต่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าต้องมีหลักข้อนี้ คือ ต้องมีที่ปรึกษาที่ไต่ถามจะได้แสวงปัญญาค้นคว้าหาความรู้ให้ทันต่อความเป็นไป และได้ความคิดที่จะมาใช้ในการปกครอง หรือดำเนินกิจการ เรียกสั้นๆ ว่ามีกัลยามิตร ตัวเองเป็นกัลยาณมิตรให้แก่คนที่ร่วมไปด้วย แต่พร้อมกันนั้น ตัวเองก็ต้องมีกัลยาณมิตร โดยรู้จักแสวงหากัลยาณมิตรด้วย

ต่อไปก็ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ มีสติ คอยตรวจตราสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงเป็นไป และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อองค์กร ต่อชุมชนต่อสังคม ไม่พลาดสายตา จับเอามาตรวจตราพิจารณาทั้งหมด แล้วดำเนินการทางลบ ก็ต้องรีบแก้ไข อะไรจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ก็ต้องใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปเปล่า ความตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ มีความกระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป ไม่ถลำพลาดและไม่ยอมเสียโอกาส อย่างนี้เรียกว่าความไม่ประมาท

รวมความว่า 3 ข้อนี้ ต้องมาด้วยกัน คือ

1. ตัวเองต้องดี ต้องเป็นแบบอย่างได้

2. ต้องมีกัลยาณมิตร ต้องหาที่ปรึกษาและผู้ร่วมการร่วมงานที่ดีมีความรู้ความสามารถ และแสวงหาปัญญาเพิ่มเติมอยู่เสมอ

3. ต้องเป็นคนไม่ประมาท

นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติอีกส่วนหนึ่งที่มาเสริม คือ

4. ต้องเป็นคนเข้มแข็ง นอกจากไม่ประมาท กระตือรือร้นเอาจริงเอาจังแล้ว ก็ต้องเข้มแข็งด้วย แม้จะมีอุปสรรค มีภัยอันตราย มีปัญหาก็ไม่ย่อท้อ วางตัวเป็นหลักได้ และอยู่ในหลักไม่หวั่นไหวไปตามเสียงขู่เสียงแคะไค้เป็นต้น

5. ต้องทำได้ และช่วยให้คนอื่นทำได้ ในสิ่งที่ต้องการจะทำ

6. สายตากว้างไกล ข้อนี้ขอสรุปด้วยคำว่า มองกว้าง คิดไกลใฝ่สูง ซึ่งเป็นลักษณะทางปัญญา คนที่เป็นผู้นำนั้นแน่นอนว่า ปัญญาสำคัญที่สุด คุณสมบัติข้อนี้อาจจะใกล้กับคำว่า มีวิสัยทัศน์ แต่คงไม่ใช้เท่านั้น

มองกว้าง คือ ไม่ใช่มองอยู่แค่องค์กรหรือชุมชนของตน แต่มองไปทั่ว ไม่ว่าอะไรที่เกี่ยวข้องมีผลส่งมา หรือมีอิทธิพลกระทบจากภายนอก จากสังคมอื่น จากคนพวกอื่น กลุ่มอื่น จากปัญหาของโลก จากกระแสโลกาภิวัฒน์ อะไรต่างๆ ก็รู้ทั่วรู้ทัน มองไปทั่วโลกทั้งหมด โลกเวลานี้เป็นอย่างไร มีกระแสไปทางไหน มีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร เราปรับตัวปรับองค์กรของเราให้เข้ากับมันได้ หรือรับมือกับมันได้ มี่ส่วนร่วมเกื้อหนุนมันได้หรือช่วยแก้ไขมันได้ มองเห็นโอกาสและช่องทางที่จะดำเนินการตามจุดหมาย อย่างน้อยถ้าไม่นำมันได้ ก็ไม่ให้ถูกครอบงำ หรือไม่ให้ล้าหลัง

คิดไกล หมายความว่า คิดในเชิงเหตุปัจจัย ทั้งสาวไปข้างหลัง และสืบไปข้างหน้า คือเอาภาวะหรือสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแล้วใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัยในอดีต ย้อนยาวไปให้เห็นว่า ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะอะไรและเป็นมาอย่างไร แล้วก็มองหมายอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไร โยงเหตุปัจจัยที่เป็นมาจากอดีตประสานเข้ากับปัจจุบันแล้วก็หยังเห็นอนาคต สามารถวางแผนเตรียมการเพื่ออนาคตให้บรรลุจุดหมาย

ใฝ่สูง หมายความว่าใฝ่ปรารถนาจุดหมายที่ดีงามสูงส่งจุดหมายที่ดีงาม คือความดีงามของชีวิต ความดีงามของสังคม ความเจริญก้าวหน้า มีสันติสุขของมวลมนุษย์ ผู้นำจะต้องมีความปรารถนาในสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่มัวปรารถนาหรือใฝ่ใน ลาภ ยศ ผลประโยชน์ซึ่งในทางธรรมไม่ถือว่าสูง แต่คนไทยคงเอามาใช้ผิด ความใฝ่สูง กลายเป็นความอยากได้ผลประโยชน์ อยากได้ลาภได้ยศ แล้วเอาไปรวมกับมักใหญ่ กลายเป็นมักใหญ่ใฝ่สูงหมายถึงอยากมั่งมีมหาศาล เป็นใหญ่เป็นโต

ที่จริงนั้น ใฝ่สูงหรือใฝ่ในสิ่งสูงที่แท้จริงก็คือ ปรารถนาสิ่งที่ดีงาม ประเสริฐ ซึ่งได้แก่ ความดีงามของชีวิต ประโยชน์สูงของสังคม ความเรียบร้อยดีงามของสภาพแวดล้อม ความร่มเย็นเป็นสุขน่าอยู่อาศัยของโลกทั้งหมด การได้อยู่ในโลกที่ดีงามทุกอย่าง อย่างนี้เรียกว่าสูง เราใฝ่ในสิ่งนี้ก็คือ “ใฝู่สูง”

ในวงแคบเข้ามาใฝ่สูงหมายถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานที่ดีเยี่ยม ซึ่งเป็นประโยชน์มากที่สุด หรือผลงานที่มีคุณค่าอย่างเลิศ ตลอดจนผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด

ผู้นำจะต้องมีแรงใจอันนี้ คือ ใฝ่สิ่งที่ดีงามประเสริฐอย่างสูงยิ่ง และด้วยใจที่ใฝ่สูง ใฝ่สิ่งที่ดีงามประเสริฐอย่างยิ่งนี้ ก็จะทำให้เกิดกำลังใจที่จะทำการสร้างสรรค์ทุกอย่าง นำหมู่ชนที่จะไปด้วยมารวมใจรวมกำลังประสานมือประสานใจทำด้วยกันไปด้วยกัน โดยมีจุดหมายใหม่ที่ใฝ่ปรารถนาอันชัดเจนร่วมกัน และนำเข้าได้ทางทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา ก็จะประสบผลสำเร็จบรรลุจุดหมายที่แท้จริง กล่าวคือ เพื่อประโยชน์แก่เขา แก่ประชาชน แก่สังคม และแก่โลกทั้งหมด

ทั้งนี้เข้ากับหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้เป็นอรหันต์ทั้งหลายนั้น เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตน หมายความว่าพัฒนาตนเองดีพร้อมแล้ว จึงเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่เพื่อจุดหมายอย่างเดียว คือ พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปานะ ซึ่งแปลว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลกนี้คือแห่งการบำเพ็ญกิจของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งผู้นำก็ดำเนินในแนวทางเดียวกัน

ถ้าปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมานี้ก็จะประสบความสำเร็จเรียกว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ชนได้ ความเป็นผู้นำนั้น มีฐานะอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าเป็นนาถะ คือเป็นที่พึ่ง เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ก็จึงเป็น “โลกนาถะ” แปลว่า เป็นที่พึ่งของชาวโลก ท่านผู้นำเมื่อนำได้ดีก็จะเป็นที่พึ่งของคนอื่น เป็นที่พึ่งของหมู่ชน จนกระทั่งเป็นที่พึ่งของมวลมนุษย์ชาติต่อไป

อาตมภาพได้กล่าวมาเกินเวลาไปมากแล้ว ขออนุโมทนาทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้จัดกิจกรรมวิชาการครั้งนี้ขึ้นโดยร่วมมือกันกับสมาคมศิษย์เก่าแพทย์รามาธิบดีและสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลรามาธิบดี นับว่าเป็นกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา มีจุดมุ่งหมายเป็นบุญเป็นกุศล จึงขอเป็นมงคลอยู่ในตัวนี้ จงเป็นปัจจัยนำมาซึ่งพรทั้ง 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติแก่ท่านศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี พร้อมทั้งชาวคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีดีทุกท่าน ตั้งแต่ท่านคณบดีเป็นต้นไป ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยพร 4 ประการ ดังได้กล่าวแล้ว สามารถบำเพ็ญกิจนำชีวิตของตนให้มีความเจริญงอกงามก้าวไปสู่คุณความดียิ่งขึ้นไป และสามารถดำเนินกิจการที่จะนำหมู่ชนสังคมและโลกไปสู่ประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางสมควรมุ่งหมายที่สูงประเสริฐทุกประการ



>>> จบ >>>


คัดลอกบางตอนมาจาก ::
หนังสือภาวะผู้นำ : ความสำคัญต่อการพัฒนาคน พัฒนาประเทศ
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2546


เทียน รวมคำสอน “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=48552
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง