Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา (ป.อ.ปยุตฺโต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 1:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพรหมคณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

*บรรยายแก่ผู้บริหารระดับสูงของกรมการศาสนา ที่กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541



หัวใจพุทธศาสนาคืออะไร ว่ากันไปหลายอย่าง ถูกทั้งนั้น อันไหนก็ได้



พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการที่เรียกกันว่า"หัวใจพระพุทธศาสนา " เป็นคำไทยที่เราพูดกันง่าย ๆ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีคือ " โอวาทปาฎิโมกข์ "



หลักที่ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาคือคำไทยที่สรุปพุทธพจน์ง่าย ๆ สั้นๆ ว่า" เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ " ภาษาพระ หรือ ภาษาบาลีว่า



"สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ "



แปลให้เต็มเลยว่า " การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพรียบพร้อม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย "



คำลงท้ายว่า " นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย " ทำให้เราคิดว่านี่แหละเป็นคำสรุป แสดงว่าเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ เราก็เลยเรียกว่า " หัวใจ " มาเป็นจุดเริ่มต้น







แต่กระนั้นชาวพุทธผู้ได้ฟังพระสอนมามาก ๆ พระอาจารย์หรือพระเถระผู้ใหญ่บางท่าน พูดถึงหลักการอื่นว่า อันโน้นสิ อันนี้สิ เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา บางทีโยมก็ชักงง จึงขอยกเอาเรื่องนี้มาพูดว่าอะไรกันแน่ที่เรียกว่าเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา



บางท่านบอกว่า " อริยสัจสี่ " เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร



พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่ง มีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่ ( จตูสุ อริยสจฺเจสุ ติปริวฎฺฎํ ทวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ) มีญาณทัศนะที่มีปริวัฎ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจสี่ เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า ได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้น จึงปฏิญาณได้ว่า ตรัสรู้ หมายความว่า ตรัสรู้อริยสัจสี่ครบ ๓ ด้าน คือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจสี่แต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปทุกข้อเรียกว่า ๓ ปริวัฎ อธิบายว่า รู้ในอริยสัจสี่แต่ละอย่างเริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อทุกข์ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์นั้นเราได้ทำแล้ว ถ้ายังไม่รู้อริยสัจด้วยญาณทัศนะครบทั้ง ๓ ในแต่ละอย่าง (รวมทั้งหมดเป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒) ก็ยังไม่สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ



ต่อเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจ โดยมีญาณในอริยสัจแต่ละข้อครบทั้ง ๓ รวมเป็น ๑๒ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ



เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ และการตรัสรู้อริยสัจสี่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อริยสัจสี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา



บางท่านไปจับเอาที่พระไตรปิฎกอีกตอนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้กระทัดรัดมากว่า



" ปุพฺเพจาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกขสฺส จ นิโรธํ"



ภิกษุทั้งหลายทั้งในกาลก่อนแลบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าจับตรงนี้ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งหมดนั้น หลักการของพระพุทธศาสนาก็มีเท่านี้ คือ ทุกข์และความดับทุกข์



ท่านพุทธทาสกล่าวถึงหลักอีกข้อหนึ่งให้ถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา คือ" สพฺเพ ธฺมมา าลํ อภินิเวสาย " แปลว่า " ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่น " คำว่า " นาลํ "แปลว่าไม่ควร หรือ ไม่อาจ ไม่สามารถ คำว่า " ไม่ควร " ในที่นี้หมายความว่า เราไม่อาจไปยึดมั่นมันได้ เพราะมันจะไม่เป็นไปตามใจเราแน่นอน เมื่อมันไม่อาจจะยึดมั่น เราก็ไม่ควรจะยึดมั่นมัน อันนี้ท่านถือว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เมื่อได้พังอย่างนี้ ก็ทำให้เราสงสัยกันว่าจะเอาหลักอันไหนดีเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาก็เลยขอให้ความเห็นว่าอันไหนก็ได้



แต่ต้องระวัง อันไหนก็ได้ จะทำให้พุทธศาสนาง่อนแง่น



ชาวพุทธต้องมีหลักที่แน่ชัด ให้ปฏิบัติเด็ดแน่วเป็นหนึ่งเดียว



แต่การพูดว่า " อันไหนก็ได้ " ก็ไม่ดีเหมือนกัน เพราะทำให้ชาวพุทธเหมือนว่าไม่มีอะไรลงตัวแน่นอน แล้วกลายเป็นคนที่เอาอย่างไรก็ได้ โงนเงนง่อนแง่น หรือ แกว่งไปแกว่งมา เหมือนไม่มีหลัก



ก็จะกลายเป็นไม่ได้เรื่อง เราต้องชัดเจนว่า ที่อันไหนก็ได้นั้น ทั้งหมดคืออันเดียวกัน เพราะการพูดถึงหลักคำสอนเหล่านี้นั้น เป็นการพูดโดยจับแง่มุมต่าง ๆ กันของคำสอน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบเดียวกัน โยงถึงกันมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน



ถ้าพูดว่าหัวใจพระพุทธศาสนาคือ " เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส " หัวใจที่ว่านี้เป็นหลักในเชิงปฏิบัติเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตว่า เราจะไม่ทำชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส



ทีนี้ลองไปดูหลักอริยสัจสี่ ซึ่งมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะเห็นว่าข้อที่ ๔ คือ " มรรค "เป็นข้อปฏิบัติ



มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย องค์ทั้ง ๘ นี้ ก็จำยาก จึงย่อง่าย ๆ เหลือ ๓ เท่านั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา



ศีล คือ เว้นชั่ว สมาธิ คือ ทำความดีให้ถึงพร้อม ปัญญา คือ ชำระจิตใจให้ผ่องใส พอแยกแยะอย่างนี้แล้วก็เห็นว่า เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ ที่ว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา นั้น ก็อยู่ในมรรค นี่เองเป็นอริยสัจ ข้อที่ ๔ คือ ข้อสุดท้าย



ทุกข์ คือตัวปัญหา เป็นสิ่งที่เราไม่เอา ยังไม่ต้องปฏิบัติ เราต้องรู้ให้ชัดว่าอะไรเป็นปัญหาที่เราจะต้องพ้นไป สมุทัย คือตัวเหตุแห่งทุกข์ ต้องสืบสาวให้รู้ตามหลักความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า ทุกข์เกิดจากเหตุ และเหตุนั้นคืออะไร เหตุนั้นเรารู้ว่าจะต้องกำจัด แต่เรายังไม่ได้ทำอะไร จากนั้นเราก็รู้ว่าเมื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์ได้ เราจะเข้าถึงจุดหมายคือ นิโรธ แต่ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำในข้อสุดท้ายคือ มรรค ฉะนั้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ สามอย่างนี้เราเข้าใจว่ามันคืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อมัน แต่เราปฏิบัติมันไม่ได้ สิ่งที่จะปฏิบัติได้คือ ข้อที่ ๔ ได้แก่ มรรค เมื่อเราปฏิบัติตาม มรรค เราก็กำจัด สมุทัย แก้เหตุแห่งทุกข์ได้เราก็พ้นทุกข์ หมดปัญหา และเราก็บรรลุนิโรธ เข้าถึงจุดหมายได้สามารถทำให้สำเร็จงานสำหรับ ๓ ข้อแรกทั้งหมด เป็นอันว่า สิ่งที่เราต้องปฏิบัติมีอยู่ข้อเดียวคือ ข้อ ๔ แต่เราต้องรู้ ๓ ข้อข้างต้นด้วย



ถึงตอนนี้กลับไปดูหลัก เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ จะเห็นว่าเป็นหลักในภาคปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ใน มรรค คือ ข้อที่ ๔ ของอริยสัจ เพราะมรรคเป็นฝ่ายลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ ในแง่ของหลักความจริงตามสภาวะว่าเป็นอย่างไร จุดหมายคืออย่างไร ก็อยู่ในข้อ ๑ - ๒ - ๓ ของอริยสัจ



เพราะฉะนั้น อริยสัจ กว้างกว่าและครอบคลุมหลัก เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ด้วย สำหรับชาวพุทธทั่วไป เริ่มต้นก็ให้เห็นก่อนว่าจะปฏิบัติอะไร เมื่อปฏิบัติไปได้ระดับหนึ่งก็จะต้องรู้หลักความจริงทั่วไปด้วย มิฉะนั้นการปฏิบัติก็ไปไม่ตลอด ถึงตอนนั้นต้องรู้หลักอริยสัจสี่



อย่าลืมว่า ได้หลักแน่ชัดแล้วนะ เริ่มด้วย " เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส " นี่แหละเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ก่อน แล้วก้าวต่อไปให้ครบ อริยสัจทั้ง ๔ ให้ได้จึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงและสมบูรณ์



ว่ากันไป กี่หลักกี่หัวใจ ในที่สุดก็หลักใหญ่เดียวกัน



ทีนี้ลองเทียบหลักอื่นอีก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ " ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น " อันนี้คือ อริยสัจ ๔ แบบสั้นที่สุด ย่อเป็น ๒ คู่ คือ



ทุกข์ และ สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ อันนี้ ๑ คู่



นิโรธ ความดับทุกข์ และ มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ ๑ คู่



ยังมีอีก คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตอนจะออกประกาศพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงพระดำริ ซึ่งมีความตอนนี้ในพระไตรปิฎกบอกว่า " อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม " ธรรมที่เราบรรลุนี้ ทุรนุโพโธ เป็นของที่รู้ตามได้ยาก กล่าวคือ หนึ่ง . อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท สอง. นิพพาน แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าต่อไปว่า พระองค์ทรงดำริว่า หมู่สัตว์ทั้งหลาย มักหลงระเริงกันอยู่ในสิ่งที่ล่อให้ติด ยากที่จะเข้าใจหลักการทั้ง ๒ นี้ จึงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอน



แต่ถ้าเราโยงดูก็บอกได้ว่าสาระไม่ไปไหน ที่แท้ก็อันเดียวกันนั่นแหละ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องทุกข์และสมุทัย แทนที่จะจับที่ปรากฏการณ์คือ ทุกข์ ก็จับที่กระบวนการของกฏธรรมชาติ เริ่มที่ข้อสมุทัย ดูเหตุปัจจัยที่เป็นไปจนปรากฏทุกข์เป็นผลขึ้น จึงรวมทั้งข้อทุกข์และสมุทัย ดังจะเห็นได้ว่าเวลาตรัส ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า " เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนธสฺส สมุทโย โหติ " แปลว่า " สมุทัย คือการเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ จึงมีด้วยประการฉะนี้ " หมายความว่า จากความเป็นไปตามกระบวนการของกฎธรรมชาตินี้ จึงเกิดมีทุกข์ขึ้น



เพราะฉะนั้น ข้อว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ก็คือตรัสเรื่อง ทุกข์ และ สมุทัย จากนั้นอีกอย่างที่ตรัสไว้ คือ นิพพาน ซึ่งก็คือข้อนิโรธ ซี่งเราจะต้องบรรลุถึงด้วยการปฏิบัติตามมรรค การที่จะบรรลุนิพพานที่เป็นจุดมุ่งหมาย ก็เรียกร้อง หรือ เป็นเงื่อนไขอยู่ในตัวให้ต้องปฏิบัติตามมรรค ดังนั้น การตรัสถึง นิพพาน คือข้อนิโรธ ก็โยงเอามรรคเข้ามาพ่วงไว้ด้วย



พูดให้ลึกลงไป ข้อแรก อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ก็คือ สังขตธรรม พร้อมทั้งกระบวนความเป็นไปของมันทั้งหมด ส่วนข้อหลัง นิพพาน ก็คือ อสังขตธรรม ที่พ้นไปจากสังขตธรรม นั้น



อริยสัจนั้นเป็นวิธีพูด หรือ วิธีแสดงกฎธรรมชาติในแง่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต หรือ แก้ปัญหาชีวิตของตน พระพุทธเจ้าตรัสวางไว้ในรูปที่ใช้การได้เรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ความจริงในกฎธรรมชาติก็คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และสภาวะที่เป็นจุดหมายคือ นิพพาน ก็มีเท่านี้ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ไม่ไปไหน



ส่วนอีกหลักหนึ่งคือ " สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย " แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น คือ เราไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นไว้ได้ เป็นการสรุปหัวใจของการปฏิบัติที่โยงไปหาความจริงของธรรมชาติ หรือ สภาวธรรม ว่า สิ่งทั้งหลายหรือปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง หรือสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเรา หรืออะไรก็ตามที่เราเกี่ยวข้อง มันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือ มีอยู่ดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นมันได้ เราจะต้องวางใจปฏิบัติต่อมันให้ถูก



หลักนี้เป็นการโยงธรรมดาธรรมชาติหรือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มาสู่ท่าทีปฏิบัติของมนุษย์ต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งรวมสาระสำคัญว่า เราต้องรู้ทันว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของเรานะ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจะไปยึดมั่นถือมั่นตามใจของเราไม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติด้วยปัญญา คือด้วยความรู้เท่าทันและให้ตรงตามเหตุปัจจัย เมื่อละความยึดมั่นได้ก็สงบเย็น นิพพาน คือข้อนิโรธ



ตกลงว่า การกล่าวถึง หัวใจพระพุทธศาสนา กันหลายแบบหลายแนวนั้น ทั้งหมดก็เป็นอันเดียวกัน ซึ่งในที่สุดหลักใหญ่ที่ครอบคลุม ก็คือ อริยสัจสี่ นี่แหละ ไม่ไปไหน



ที่พูดมาในตอนนี้ทั้งหมด ก็เป็นการแยกแยะและเชื่อมโยงให้เห็นชัดเจนลงไปว่า หลักหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พูดกันหลายอย่างนั้น ที่จริงก็อันเดียวกัน ต่างกันโดยวิธีพูดเท่านั้น และขอย้ำว่า





อย่ามัวพูดว่า อย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ ขอให้จับหลักลงไปให้ชัด และปฏิบัติให้มั่นให้เด็ดเดี่ยวแน่ลงไป อย่างที่ว่าแล้วข้างต้น



(มีต่อ)



 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 1:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



77487748.jpg


อริยสัจ คือ ธรรมที่นำเสนอเป็นระบบปฏิบัติการ



ให้มนุษย์บริหารประโยชน์จากความจริงของธรรมชาติ



อริยสัจนั้น แท้จริงเป็นหลักของเหตุและผล ธรรมดาเราจะพูดเหตุก่อนแล้วจึงพูดถูกผลใช่ไหม ให้สังเกตว่าพระพุทธเจ้ากลับทรงยก ผล ขึ้นแสดงก่อน แล้วแสดง ผล ทีหลัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น



ตามปกติพระพุทธเจ้าก็ตรัสเหตุก่อนผล แต่ในกรณีนี้กลับแสดงผลก่อนเหตุ เพราะเป็นเรื่องวิธีสอน ซึ่งต้องเริ่มด้วยสิ่งที่มองเห็นอยู่ เริ่มที่ปัญหาก่อน โดยชี้ปัญหาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำความเข้าใจปัญหาแล้วจึงค้นหาสาเหตุ เสร็จแล้วชี้ถึงจุดมุ่งหมาย หรือ สิ่งที่ต้องการ แล้วบอกวิธีปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงจุดหมายวิธีสอนอย่างนี้เป็นที่เร้าใจด้วย พอพูดถึงปัญหาโดยเฉพาะปัญหาของตัวเอง หรือปัญหาที่เกี่ยวกระทบถึงตัว คนก็สนใจอยากจะรู้ อยากจะแก้ปัญหานั้น แล้วจึงสืบว่าปัญหานี้เกิดจากเหตุอะไร เมื่ออยากกำจัดเหตุแล้ว พอพูดถึงจุดหมายว่าดีอย่างไร คนก็อยากจะไปถึงจุดหมายนั้น แล้วจึงบอกวิธีปฏิบัติ ถ้าเราไปบอกวิธีปฏิบัติก่อน วิธีปฏิบัติอาจยากมาก คนก็ท้อใจ ไม่อยากทำ ไม่อยากไป แต่ถ้าชี้จุดหมายให้เห็นว่าดีอย่างไร ใจเขาจะใฝ่ปรารถนา ยิ่งเห็นว่าดีเท่าไร ประเสริฐอย่างไร เขายิ่งอยากไปและเต็มใจที่จะทำ เราจึงค่อยบอกวิธีปฏิบัติ ตอนนี้เขาสนใจ ตั้งใจเต็มที่แล้ว เขายินดีพร้อมที่จะทำสุดแรงของเขา



ในการปลุกระดมก็ใช้วิธีนี้จึงจะได้ผล แม้จะไม่สุจริต เขามุ่งแต่จะให้สำเร็จ เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลคือตอนต้นพูดชี้ปัญหาก่อน. " เวลานี้มันแย่ มีปัญหาทั้งนั้น มีความยากจน มีความเดือนร้อน อะไร ๆ ก็ไม่ดี มันเลวร้ายอย่างนั้น ๆ " ถ้าจะปลุกระดมต้องชี้เรื่องที่ไม่ดีให้เห็นออกมาชัด ๆ ว่าเยอะแยะไปหมด ร้ายแรงอย่างไร ชี้ทุกข์ให้ชัดก่อนว่าน่าเกลียดน่ากลัวร้ายแรงจนคนไม่พอใจมาก อยากจะแก้ไข ทีนี้ก็ชี้สาเหตุว่า นี่ตัวการ ตัวร้ายอยู่นี่ เป็นเหตุให้เกิดปัญหา ถึงตอนนี้คนก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ใจก็เกิดพลัง เกิดความตื่นเต้น เกิดเรี่ยวแรงกำลังขึ้นมาว่าต้องจัดการ กำจัดมันละนะ เราเห็นตัวการแล้ว พอคนกระหายอยากจะจัดการแล้ว ก็ชี้เป้าหมาย จุดหมายนั้นต้องชี้ให้เห็นเด่นชัดว่าดีที่สุด ใจคนก็พุ่งเป้าพร้อมเต็มที่ พอบอกวิธีปฏิบัติว่า " ต้องทำอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ " ตอนนี้วิธีปฏิบัติถึงจะยากก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ว่าจะยากอย่างไร ก็เอาทั้งนั้น ระดมกำลังเต็มที่ มรรคมาได้เลย



รวมความว่า อริยสัจเป็นหลักที่เชื่อม ระหว่างความจริงของธรรมชาติ กับปฏิบัติการของมนุษย์



ถึงจะเล่าเรียนจบหลัก ถ้าไม่รู้จักหน้าที่ต่ออริยสัจ ก็ปฏิบัติไม่ถูก และไม่มีทางบรรลุธรรม



เราจะรู้อริยสัจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้หน้าที่อริยสัจและปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจให้สำเร็จด้วย การเรียนอริยสัจโดยไม่รู้หน้าที่ต่ออริยสัจอาจจะทำให้เข้าใจสับสน



พระพุทธเจ้าตรัสกิจ หรือ หน้าที่ต่ออริยสัจสี่ไว้ครบถ้วนแล้วแต่ละอย่าง ๆ



๑.หน้าทึ่ต่อทุกข์ คือ " ปริญญา " แปลว่า กำหนดรู้ รู้เท่าทัน จับตัวมันให้ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ทุกขัง ปริญเญยยัง " ภาษาพระแปลกันว่า " กำหนดรู้ " ทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน ปริญเญยยัง เป็นคุณศัพท์ ถ้าใช้เป็นคำนามก็เป็น ปริญญา เป็นชื่อของการสำเร็จการศึกษา ทุกข์นั้นเป็นตัวปัญหา เป็นปรากฏการณ์ ท่านเปรียบเหมือนกับ " โรค " ในทางร่างกายของเรา เมื่อเรามีโรคเราก็จะแก้ไขบำบัดหรือกำจัดโรค แต่พอเอาเข้าจริง เรากำจัดโรคไม่ได้ เราต้องเรียนรู้จักโรค เหมือนหมอจะแก้ไขโรค ต้องกำหนดรู้ให้ได้ว่าเป็นโรคอะไร เป็นที่ไหนตรงไหน และรู้ร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของโรคด้วย ทำนองเดียวกัน ทุกข์ จึงไม่ใช่เรียนเฉพาะปัญหา แต่เรียนชีวิตซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาด้วย ปัญหาเกิดที่ไหน มันเกิดที่ชีวิต หรือ เกิดในโลก เราก็ต้องรู้จักโลก รู้จักชีวิตและดูที่ชีวิต (นามรูป / ขันธ์ ๕ )



๒. หน้าที่ต่อ สมุทัย คือ " ปหานะ " แปลว่า ละ หรือ กำจัด พอรู้โรคว่าเป็นโรคอะไร จับได้แล้ว ต้องสืบหาสาเหตุของโรค ต้องจับให้ได้ เหมือนกับแพทย์ที่วินิจฉัยโรคให้ได้ สืบหาตัวสาเหตุของโรค อาจจะเป็นเชื้อโรค หรือ ความบกพร่องของอวัยวะ ไม่ใช่เชื้อโรคอย่างเดียว เมื่อมีโรคก็ต้องมี สมุฏฐาน หรือ สมุทัย นี่แหละเป็นตัวที่ต้องแก้ไข หรือ กำจัด



๓. หน้าที่ต่อ นิโรธ เรียกว่า " สัจฉิกิริยา " แปลว่า ทำให้ประจักษ์แจ้ง คือ บรรลุถึงนั่นเอง เราต้องมีเป้าหมายว่าเราจะเอาอะไร และทำได้แค่ไหน จุดหมายอะไรที่ต้องการ กำหนดให้ได้และรู้ความเป็นไปได้ในการแก้ไข คนที่ไม่มีความชัดเจนว่าต้องการอะไร มีความเป็นไปได้อย่างไร ก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ แพทย์ก็ต้องวางเป้าหมายในการรักษาโรคว่าเป็นไปได้แค่ไหน เอาอะไรเป็นจุดหมายในการรักษา แล้วทำให้ได้ ให้บรรลุจุดหมายนั้น



๔. หน้าที่ต่อ มรรค เรียกว่า " ภาวนา " แปลว่า บำเพ็ญ คือ ปฏิบัติ ลงมือทำ ทำให้เกิด ทำให้มีขึ้น พอวางเป้าหมายเสร็จก็มาถึงขั้นลงมือปฏิบัติ จะผ่าตัดให้ยา และให้คนไข้ปฏิบัติตัวบริหารร่างกายอย่างไร วิธีรักษาทั้งหมดมาอยู่ในข้อ ๔ คือ มรรค เป็นขั้นที่ต้องลงมือทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มีรายละเอียดมากมาย



เพราะฉะนั้น อริยสัจสี่ จึงเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์ จะใช้ในการสอนก็ได้ ในการรักษาโรคก็ได้ แพทย์ก็ใช้วิธีการนี้



สรุปความว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ไว้สำหรับปัญญารู้ แต่สอนเรื่องสุขสำหรับให้เรามีชีวิตเป็นจริงอย่างนั้น พูดอย่างสั้นว่า พุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์ และให้การอยู่เป็นสุข หรือให้สั้นกว่านั้นอีกว่า พุทธศาสนาสอนให้เห็นทุกข์ แต่ให้เป็นสุข คือ ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น



เพราะฉะนั้น ต้องมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาแห่งความสุข ไม่ใช่ศาสนาแห่งความทุกข์



มีต่อ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



58665866.jpg


แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา



เพราะได้พูดแล้วว่า อริยสัจสี่ครอบคลุมหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น



หลัก " เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ "



หลัก " ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น "



หลัก " เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์ " หรือ



หลัก " อิปัปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท กับ นิพพาน "



ทุกหลักรวมอยู่ในหลักอริยสัจสี่ ทั้งนั้น



ขอย้ำว่า " อริยสัจสี่ " คือหลักที่โยงความจริงในธรรมชาติมาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เพราะลำพังกฎธรรมชาติเอง ตามธรรมดาถ้าเราไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้ลำดับ เราก็สับสน



พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้เราได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติโดยสะดวก จึงนำมาจัดรูป ตั้งแบบ วางระบบไว้ให้ เรียกว่า อริยสัจสี่ โดยลำดับให้เห็นชัดเจน เป็นทั้งวิธีสอน วิธีแก้ปัญหา และวิธีลงมือทำ เมื่อทำตามหลักอริยสัจสี่ ความจริงของธรรมดาที่ยาก ก็เลยง่ายไปหมด



ความจริงมีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้ามีปัญญา ก็มาค้นพบและเปิดเผย



จุดเริ่มต้นนี้ชัดอยู่แล้วในพุทธพจน์ว่า " อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปปฺาทา วา ตถาคตานํ ฐิตา ว สา ธาตุ " มีเนื้อความว่า " ตถาคตคือพระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ความจริงก็คงอยู่เป็นกฎธรรมดา เป็นความแน่นอนของธรรมชาติ ว่าดังนี้ ๆ "



นี่คือการมองความจริงตามแบบของพระพุทธศาสนา พุทธพจน์นี้เป็นหลักพื้นฐาน เราควรเริ่มต้นด้วยหลักนี้ นั่นคือพระพุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องของธรรมชาติและกฎธรรมชาติ เป็นความจริงที่เป็นอยู่อย่างนั้นตามธรรมดาของมัน ไม่เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า



ในพุทธพจน์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า " ตถาคตมารู้ความจริง ค้นพบความจริงนี้แล้ว จึงบอกกล่าว เปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้ง่าย ว่าดังนี้ ๆ " พุทธพจน์นี้บอกฐานะของพระศาสดาว่า ฐานะของพระพุทธเจ้า คือผู้ค้นพบความจริง แล้วนำจริงนั้นมาเปิดเผย แสดงให้ปรากฏ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นผู้บัญญัติ หรือเป็นผู้สร้าง ผู้บันดาลขึ้นมาจากความไม่มี พระองค์เพียงแต่แสดงความจริงที่มีอยู่ การที่พระองค์บำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อตรัสรู้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่เป็นธรรมดาตลอดเวลา ไม่มีใครเสกสรรค์บันดาล ( ไม่มีผู้สร้าง เพราะถ้ามีผู้สร้าง ก็ต้องมีผู้ที่สร้างนั้น ถ้ามีผู้สร้างมีได้เอง ก็แน่นอนว่า สภาวธรรม ก็มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีผู้สร้าง ) มันไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครบิดผันเปลี่ยนแปลงมันได้ผู้ใดมีปัญญาจึงจะรู้เข้าใจและใช้ประโยชน์มันได้



เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงของธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราก็จะปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องเหมือนในทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ ที่ค้นพบความจริงคือกฎธรรมชาติบางอย่าง เมื่อค้นพบแล้วก็นำเอากฎธรรมชาติส่วนนั้นมาใช้ทำอะไรต่าง ๆ ได้ เช่น การสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เรือกลไฟ รถยนต์ รถไฟ เรือบิน คอมพิวเตอร์ ทางวิทยาศาสตร์เอาแต่ความจริงในโลกวัตถุ ส่วนพระพุทธศาสนามองความจริงของโลกและชีวิตทั้งหมดว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมดา เมื่อพระพุทธเจ้ามาค้นพบแล้วก็ทรงทำให้เข้าใจง่ายขึ้นโดยวิธีจุดรูปร่างระบบแบบแผนให้เรียนรู้ได้สะดวกและวางเป็นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นี่คือการจับเอาหลักความจริงทั้งหลายมาจัดเป็นระบบขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของเรา



ทีนี้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย หรือ กฎธรรมชาติเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดแล้วดับไปเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็น ทุกขัง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็น อนัตตา ไม่เป็นตัวตนของใครที่จะไปสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ เราจะยึดถือครอบครองไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน แต่แท้จริงแล้วตัวตนอย่างนั้นไม่มี มีแต่เพียงภาพปรากฎชั่วคราว ส่วนตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังคือกระบวนการแห่งความสัมพันธ์กันของสิ่งทั้งหลายที่คืบเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ภาพตัวตนที่ปรากฏนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป



ดังนั้นตัวตนที่แท้ยั่งยืนตายตัวที่จะยึดถือครอบครองบังคับบัญชาอะไร ๆ ได้ จึงไม่มี ( คำว่า อัตตา คือตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนตายตัวตลอดไป ) มีแต่ภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในกระบวนการของมัน เรียกว่าเป็นเพียง สภาวธรรม ไม่เป็นตัวตนของใคร



นี้คือความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่อง " ไตรลักษณ์ " เป็นหลักที่เด่นว่าสิ่งทั้งหลายนี้ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับหาย มีความเปลี่ยนแปลง ทุกฺขํ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อยู่ในภาวะขัดแย้ง ถ้าเราไปเกี่ยวข้องด้วยความอยาก มันก็ฝืนความปรารถนา แล้วก็ อนตฺตา ไม่เป็นตัวตนของใครได้ ใครจะยึดถือครอบครองสั่งบังคับไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน หรือ ดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน



เมื่อคนไม่รู้ทันความจริงของธรรม เขาก็นำทุกข์ในธรรมชาติมาสร้างให้เป็นทุกข์ของตน



สำหรับ ทุกฺขํ ในไตรลักษณ์นี้ เรามักมองคำว่าทุกข์เป็นความเจ็บปวด ที่จริงทุกข์เป็นสภาพตามธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือ สภาวะตามธรรมชาติ คืออาการที่สิ่งทั้งหลายไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิม บางทีแปลว่า stress หรือ confict คือภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย หรือ องค์ประกอบ



ต่าง ๆ ที่เกิดดับบีบคั้นขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา แล้วทุกข์ก็เป็นภาพรวมที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านั้น เมื่อองค์ประกอบแต่ละอย่างเกิดขึ้นดับไป เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์รวมนั้นไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ เกิดการขัดแย้งเป็นความกดดันภายในแล้วคงอยู่ไม่ได้



สภาพที่ขัดแย้ง ฝืน กดดัน คงอยู่ไม่ได้ทั้งหมดนี้ เรียกว่า " ทุกข์ " ซึ่งเป็นสภาวะธรรมชาติในสิ่งทั้งหลาย เมื่อเราใช้ศัพท์นี้กับภาวะในใจคน มีความหมายว่า เป็นภาวะที่จิตถูกกดดันบีบคั้น ก็มีความหมายคล้าย ๆ กับทุกข์ในใจเรา คือภาวะที่ถูกบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง ไม่สบาย ทนไม่ไหว ที่นี้ในสิ่งทั้งหลายทุกข์คือภาวะที่ต้องผันแปรเปลี่ยน เกิดความขัดแย้ง กดดัน ทนอยู่ไม่ได้



ส่วน อนตฺตา คือไม่เป็นตัวตนที่ยั่งยืนมั่นคงตลอดไป เป็นเพียงภาพรวมของปรากฏการณ์แห่งกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนั้น



เรื่องนี้ทำนองเดียวกับกฎทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่ ใครมีปัญญาสามารถค้นพบแล้วเอามาบอกกัน เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มาค้นพบเปิดเผย อธิบาย วางเป็นระบบไว้ ตรงนี้แหละมาโยงกับอริยสัจ คือสิ่งทั้งหลายทั้งโลกรวมทั้งชีวิตคนเรา เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความกดดันขัดแย้งภายในคงสภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กัน อย่างร่างกายเรานี้ก็เปลี่ยนไป ตอนเป็นเด็กหน้าตาอย่างหนึ่ง อายุมากขึ้นก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องคือจะปฏิบัติ หรือ สัมพันธ์กับธรรมชาติ กับโลก กับชีวิต ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน



อวิชชา คือ ภาวะที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ



ตัณหา คือ ความอยาก ความปรารถนาต่อสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ



อุปาทาน คือ การเข้าไปยึดมั่น ถือมั่น ให้เป็นอย่างที่ตัวต้องการเอาความปรารถนาของตนเป็นตัวกำหนด



ถ้ามนุษย์เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย หรือพูดง่าย ๆ ว่าสัมพันธ์กับโลกและชีวิต ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปทาน ก็จะเกิดปัญหาขึ้นกับชีวิตของตัวเองทันที ทุกข์ที่เป็นอยู่ในธรรมชาติตามธรรมดาของมัน คือเป็นความขัดแย้ง คงอยู่ไม่ได้ ในสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงคืบเคลื่อนนั้น ก็จะเกิดเป็นสภาวะที่กดดัน ขัดแย้งขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ตอนนี้ ทุกข์ในธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมดา กลายมาเป็น ทุกข์ ปรุงแต่งในใจเรา ที่จริงทุกข์มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ แต่เมื่อเราไปสัมพันธ์ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก จึงเกิดเป็นทุกข์ในใจของเราขึ้นมาและเมื่อสืบค้นดู ก็จะรู้ว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของเราในกรณีนี้ ตัวนี้แหละที่ท่านว่าเป็น "สมุทัย " คือเหตุแห่งทุกข์ ตอนนี้สมุทัยมาแล้ว สมุทัยนี้ ถ้าตรัสแค่บทบาทหน้าโรง ก็เอาตัณหาเป็นตัวแสดง แต่ถ้าตรัสแบบเต็มโรง ทรงยกเอาอวิชชาเป็นตัวกำกับหลังโรง ขอให้ดูเวลาตรัสว่า อะไรคือสมุทัย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒ แบบ



แบบที่ ๑ ตรัสว่า สมุทัย ได้แก่ ตัณหา คืออธิบายง่าย ๆ ว่า " สิ่งทั้งหลายมันไปเป็นไปตามใจอยากของคุณหรอก เมื่อคุณสัมพันธ์กับมันด้วยความอยาก คุณก็ต้องเป็นทุกข์เอง " แต่เบื้องหลังตัณหา คือความอยาก ความตามใจตัวนี้ ตัวการที่แท้คือความไม่รู้เท่าทันความจริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเปิดช่องให้ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาหนุนกันในการที่จะให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นเพราะฉะนั้น



แบบที่ ๒ จึงตรัสแบบกระบวนการที่เริ่มต้นจาก อวิชชา ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของปัญหา หรือ ทุกข์ สมุทัยที่แท้จริงเป็นกระบวนธรรม ( ธรรมปวัตติ ) ตามกฎปฏิจจสมุปบาทว่า อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา….. ซึ่งประมวลว่าทั้งหมดนี้ คือ สมุทัยแห่งทุกข์



ตอนนี้จะเห็นได้ว่า กฎธรรมชาติมาสัมพันธ์กับมนุษย์แล้ว ตอนแรกอาตมาพูดเริ่มจากฎธรรมฃาติก่อนว่า ความจริงของธรรมชาติ มันมีอยู่ตามธรรมดาของมัน สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามกฎธรรมชาตินั้น เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตอนนี้มาถึงคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นโดยมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวกำหนด ก็จะเกิดปัญหา มีทุกข์ขึ้นมา



อันนี้คืออริยสัจข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ คือการสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายซึ่งมีศักยภาพที่จะให้เกิดทุกข์ ด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นสมุทัยคือตัวเหตุ แล้วเกิดทุกข์ในตัวคนขึ้นมา คือก้าวจากทุกข์ในสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาเป็นทุกข์ในใจของเรา



นี่คือวิธีพูดแบบย้อนกลับโดยเอากฎธรรมชาติเป็นจุดเริ่มต้นโดยเริ่มที่ สมุทัย คือมนุษย์ไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง โดยสัมพันธ์ด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็เกิดเป็น ทุกข์ ขึ้นมา



เมื่อมีปัญญารู้ความจริง ก็เลิกพึ่งพิงตัณหา หันมาอยู่ด้วยปัญญา ที่เอาประโยชน์ได้จากธรรม



ในทางตรงข้าม ถ้าเรารู้ทันความจริงของโลกและชีวิต แล้วเปลี่ยนวิธีสัมพันธ์เสียใหม่ เราไม่สัมพันธ์ด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แต่เปลี่ยนจากอวิชชาเป็น วิชา และสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายด้วย ปัญญา สมุทัยก็หายไป กลายเป็นนิโรธ



ดังนั้น วิธีแก้ไขคือการพัฒนามนุษย์ให้มีปัญญา จนกระทั่งหมดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้เกิดวิชาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตโดยอาศัยตัณหาน้อยลงตามลำดับ จนกระทั่ง อวิชชา หมดไป เมื่อหมดอวิชชาแล้ว คือ นิโรธ ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นอีก



การที่จะมีปัญญา จนหมดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั้นมนุษย์ต้องพัฒนาตัวเอง ซึ่งคือ มรรค นั่นเอง มรรค คือกระบวนวิธีพัฒนามนุษย์ไปสู่การมีปัญญา จนกระทั่งไม่ต้องอาศัยอวิชชา ตัณหา อุปาทานในการดำเนินชีวิต แต่เป็นอยู่ด้วยปัญญา



เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาสอนเรื่องธรรมชาติกับการที่มนุษย์ไปสัมพันธ์กับธรรมชาติ คือ



๑. ความจริงของธรรมชาติ หรือ กฎธรรมชาติ



๒. การรู้เข้าใจความจริงนั้น แล้วนำมาใช้ประโยชน์ของตัวชีวิตเองที่จะให้ชีวิตเราหมดปัญหาอย่างแท้จริง



พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนามีเท่านี้คือ



๑. ความจริงของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ เราต้องเรียนรู้และใช้ประโยชน์โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง



๒. มนุษย์เป็นผู้เรียนรู้เข้าใจความจริงนี้ และใช้ประโยชน์จากความรู้นั้น เราต้องศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ด้วย



ธรรมชาติของมนุษย์นั้นพิเศษในแง่ดี คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ศึกษาให้มีปัญญาได้



เราต้องศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ คือ นอกจากรู้ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ทั้งโลก ทั้งระบบ ก็มารู้ธรรมชาติของตัวมนุษย์เองด้วย ซึ่งต้องพูดเป็น ๒ ระดับ



ระดับที่ ๑ มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น ชีวิตมนุษย์จึงต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับธรรมชาติอย่างอื่น ๆ ถ้าเราแยกเป็นโลกและชีวิต ชีวิตเราเป็นไปตามกฎธรรมชาติใหญ่ อันเดียวกับกฎธรรมชาติที่ครอบงำโลกคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเปลี่ยนแปลงไปคงอยู่สภาพเดิมไม่ได้และปรากฏรูปขึ้นมาตามกระบวนการของเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กันนั้น นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ด้านหนึ่งที่เป็นชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ



ระดับที่ ๒ ธรรมชาติพิเศษที่เป็นส่วนเฉพาะจุดสำคัญของมนุษย์ที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่สามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ คือ มนุษย์สามารถมีปัญญาที่จะมีชีวิต โดยไม่พึ่งพาอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้หรือไม่ ธรรมชาติของมนุษย์ตรงนี้ถือเป็นฐานของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ธรรมชาติส่วนพิเศษของมนุษย์ คือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พูดอย่างสมัยใหม่ก็ใช้คำว่า " เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ " ไม่จมอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงได้ในเชิงคุณภาพ หรือเรียกว่าเป็นสัตว์พิเศษก็ได้ คำว่า " ฝึก " นี้พูดอย่างสมัยใหม่คือคำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดตามหลักคำแท้ ๆ คือ ศึกษา หรือ สิกขา พูดรวม ๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือ เรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา พูดสั้น ๆ ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ถือเป็นแง่เด่นคือ พอฝึก เริ่มเรียนรู้ คราวนี้มนุษย์ก็เดินหน้า มีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น พูดได้ สื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์อะไร ๆ ได้สามารถพัฒนาโลกของวัตถุ เกิดเทคโนโลยีต่าง ๆ มีความเจริญทั้งในทางนามธรรม วัตถุธรรม ศิลปวิทยาการ เกิดเป็นวัฒนธรรม อารยธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นโลกของมนุษย์ซ้อนขึ้นมาท่ามกลางโลกของธรรมชาติ พระพุทธศาสนาจับความจริงของธรรมชาติข้อนี้เป็นหลักสำคัญ จึงให้กำลังใจกับมนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ ดังคาถาว่า



" มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ



เทวาปิ นํ นมสฺสนฺติ … … … … … … "



แปลว่า " พระพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยที่อบรมมาอย่างดี แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ " คาถานี้เป็นการเตือนมนุษย์และให้กำลังใจว่า ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น อยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น เราจึงพูดเต็มว่า " มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก " และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด



สัตว์อื่นแทบไม่ต้องฝึก เพราะมันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ พอเกิดมาปั๊บเรียนรู้จากพ่อแม่นิดหน่อย เดี๋ยวเดียวมันก็อยู่รอดได้ เรียนรู้ได้นิดเดียว แค่กินอาหารเป็น แต่ต่อจากนั้นฝึกไม่ได้ เรียนรู้ไม่ได้ อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น หมุนเวียนกันต่อไป



ฉะนั้นความประเสริฐเลิศของมนุษย์จึงอยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตนได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความเลิศประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มี สัตว์อื่นอย่างดีฝึกได้บ้างเล็กน้อย เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น





มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 2:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มันฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้มนุษย์ฝึกให้

ฝึกได้ในขอบเขตจำกัด เรียนรู้ได้ไม่มาก





บนฐานแห่งธรรมชาติมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ต้องศึกษา



พระพุทธเจ้าทรงตั้งหลักพระรัตนตรัยขึ้นมา



พระพุทธเจ้าทรงตั้งหลักพระรัตนตรัยขึ้นมา



หลักพระพุทธศาสนาตรงนี้สำคัญที่สุด



เพราะมนุษย์ฝึกตนเอง และเมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด การที่ยกพระรัตนตรัย ขึ้นมาตั้งเป็นหลัก เพราะความจริงข้อนี้คือ



ก ) พระพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแบบ โดยเป็นสรณะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกว่า ตัวเรานี้เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนที่จะทรงฝึก พระองค์ก็เป็นมนุษย์อย่างพวกเรานี้ เราจึงมีศักยภาพที่จะฝึกให้ประเสริฐอย่างพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ตรัสรู้สัจธรรม มีพระคุณสมบัติสมบูรณ์ทุกประการเพราะได้ทรงฝึกดังที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญบารมีมากมายจนเต็มสมบูรณ์ เราจึงตั้ง " พุทธะ " ขึ้นมาเป็นแม่แบบว่า ดูสิ มนุษย์ผู้ฝึกดีถึงที่สุดแล้ว พัฒนาดีแล้ว มีปัญญารู้สัจธรรม บริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นอิสระ อยู่เหนือโลกธรรม มีความสุข มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณธรรม ความดีงามที่สมบูรณ์ เป็นที่พึ่งของขาวโลก เลิศประเสริฐขนาดนี้ พอระลึกได้อย่างนี้ก็เกิดศรัทธาที่เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายต่อไปอีกว่า เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ เพราะฉะนั้นการที่ถือเอา พระพุทธเจ้าเป็นสรณะ นั้น ความหมายอยู่ที่นี่ คือ



๑. ทำให้เกิดศรัทธาที่โยงตัวเราเข้าไปหาพระพุทธเจ้าว่า จากความเป็นมนุษย์อย่างเรานี้ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีฝึกฝนพระองค์จนเป็นพระพุทธเจ้า เราก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ถ้าเราฝึกตนจริงจังให้ถึงที่สุด เราก็จะเป็นอย่างพระองค์ได้ ทำให้เราเกิดความมั่นใจว่า เรามีศักยภาพที่จะฝึกให้เป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้



๒. เตือนใจให้ระลึกถึงหน้าที่ของตนเองว่า เราเป็นมนุษย์ซึ่งจะดีเลิศประเสริฐได้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน การฝึกฝนพัฒนาตนเป็นหน้าที่แห่งชีวิตของเรา หรือ ของชีวิตที่ดี เราต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนอยู่เสมอ



๓. ให้เกิดกำลังใจว่า การฝึกฝนพัฒนาตนนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทำมาจนสำเร็จผลสมบูรณ์แล้วพระองค์ทำได้ แสดงว่าเราก็สามารถทำได้ แม้การฝึกศึกษาบางครั้งจะยากมาก อาจทำให้เราย่อท้อ แต่เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เคยประสบความยากลำบากมากกว่าเรานักหนา พระองค์ก็ก้าวฝ่าผ่านลุล่วงไปได้ เราก็จะเกิดกำลังใจที่จะฝึกฝนตนต่อไป



ได้วิธีลัดจากประสบการณ์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติลำบากยากเย็นยิ่ง ลองผิดลองถูก บำเพ็ญบารมีกว่าจะเป็นพุทธะได้ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงประมวลประสบการณ์ของพระองค์มาวางเป็นหลักสอนเราให้เข้าใจง่ายขึ้น เท่ากับบอกวิธีลัดให้เรา ซึ่งเราเอามาใช้ได้ทันที ไม่ต้องลำบากอย่างพระองค์



การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะได้ประโยชน์ถึง ๔ ประการ เราจึงตั้งพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกของรัตนตรัย เป็นสรณะข้อที่ ๑



ข ) เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแม่แบบแล้ว ก็คิดจะฝึกศึกษาพัฒนาตน ต้องรู้หลักรู้ความจริงของกฎธรรมชาติคือ ธรรมะ และต้องปฏิบัติตามธรรมนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นจุดเริ่มที่นำเราเข้าไปสู่ธรรมะ พูดง่าย ๆ ว่า จากพุทธะโยงไปหา " ธรรมะ " คือตัวความจริงของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องรู้และนำมาใช้ปฏิบัติ



ค ) การจะรู้ธรรมและปฏิบัติตามธรรมให้เป็นอย่างพระพุทธเจ้านั้น มนุษย์ทั่วไปไม่ได้ฝึกตนมามากมายถึงชั้นที่จะรู้และทำได้เองอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่จำเป็นต้องฝึกถึงขนาดนั้น เพราะเรามีพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้ธรรม รู้ทางและบอกวิธีให้แล้ว เราก็ฟังคำสอนจากพระองค์และปฏิบัติตามโดยถือเอาพระองค์เป็นแบบอย่าง แม้พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราก็ฟังคำสอนของพระองค์จากพระสงฆ์ที่รักษาสืบต่อคำสอนของพระองค์มาถึงพวกเรา ตามปกติมนุษย์ทั่วไปจะปฏิบัติธรรม ฝึกตนให้ก้าวหน้าโดยลำพังตนเองได้ยาก ต้องอาศัยบุคคลและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ช่วยเกื้อหนุนได้ดีที่สุด คือ ชุมชนที่จัดตั้งไว้อย่างดี ที่เรียกว่า " สังฆะ " ในชุมชนแห่งสังฆะ นอกจากมีผู้ได้ฟัง ได้รู้ ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาก่อน เช่น ครู อาจารย์ ที่จะเป็นกัลยาณมิตรช่วยแนะฝึกสอนเราแล้ว ระบบความเป็นอยู่ วิถีชีวิต การสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชุมชน การจัดสรรสิ่งแวดล้อม บรรยากาศของชุมชน ทุกอย่างช่วยเกื้อหนุนให้เราฝึกตนก้าวไปในการรู้และปฏิบัติธรรมได้อย่างดีที่สุด เมื่อเราก้าวหน้าไปแล้วก็เป็นกัลยาณมิตรเกื้อหนุนผู้อื่นด้วย



อนึ่ง มนุษย์ถึงจะมีศักยภาพที่จะเป็นอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ระหว่างปฏิบัติเราจะมีพัฒนาการในระดับต่าง ๆ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็เป็นพุทธะได้ทันที มนุษย์ที่ปฏิบัติโดยมีพัฒนาการในระดับต่าง ๆ ก็รวมกันเป็นชุมชนที่ดีงาม ประเสริฐ คือ สังฆะ ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบันคือ " สังคมอุดมคติ " ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรมีส่วนอาศัยและร่วมสร้างชุมชนนี้ขึ้นมาให้ได้ ด้วยการฝึกพัฒนาตัวเองของแต่ละคนขึ้นไป



เพราะฉะนั้น หลักพระรัตนตรัย คือ หลักอุดมคติ ที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมการณ์ เป็นหลักสำหรับชาวพุทธ ซึ่งต้องถือว่า



๑. เตือนใจระลึกถึงศักยภาพของตัวเองและปฏิบัติหน้าที่การพัฒนาตนเองให้เป็นอย่าง พุทธะ



๒. เตือนใจระลึกว่าการพัฒนาตนให้สำเร็จ ต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักความจริงของกฎธรรมชาติ คือ ธรรมะ



๓. เตือนใจระลึกว่า เราแต่ละคนจะร่วมอาศัย ร่วมสร้างสังคมอุดมคติ ด้วยการมี / เป็นกัลยาณมิตรและเจริญงอกงามขึ้นในชุมชนแห่ง อารยชน หรือ อริยบุคคล ที่เรียกว่า สังฆะ



นี่คือ หลักพระรัตนตรัย จะเห็นว่าทั้ง ๓ หลักโยงถึงกันหมด



ความจริงแห่งธรรมดาของโลกและชีวิตที่ต้องรู้ให้ทันและวางท่าทีให้ถูก



ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ จะเป็นนิวตันก็ได้ เป็นไอน์สไตน์ก็ได้ หรือจะเป็นกวีที่เก่งกาจ เป็นนักการศึกษา ฯลฯ เป็นได้หมด จนกระทั่งประเสริฐสุด เป็นพุทธะก็ได้เมื่อมนุษย์ผู้ฝึกตนได้ จะพัฒนาตนสำเร็จ ต้องรู้เข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติ



และปฏิบัติให้ถูกตามกฎนั้นในบรรดากฎธรรมชาติทั้งหลาย กฎใหญ่คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นอย่างหนึ่งในหลักใหญ่ที่สุดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒ หลัก คือ



๑. หลัก ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา



เบื้องหลังความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจุบัน ได้แก่ อิทัปปัจจยตา



ฉะนั้นต่อจาก ไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปทา หรือ ที่เรียกเต็มว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย



ถ้าเราเข้าถึงกระบวนการของเหตุปัจจัย หลักการต่าง ๆ โยงถึงกันแจ่มแจ้งหมดและเข้าสู่การปฏิบัติการที่จะฝึกตนได้ ถ้ารู้แค่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรายังทำอะไรไม่ได้ แค่รู้ทันว่าสิ่งทั้งหลายเกิดดับ เปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ได้แค่รู้และวางใจแต่ยังทำไม่ได้ แต่พอรู้ว่า กฎแห่งเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ อิทัปปัจจยตา ก็มาลงมือทำคือเอามาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ซึ่งเป็นการเชื่อมระหว่างธรรมชาติพิเศษของมนุษย์กับธรรมชาติสามัญของสิ่งทั้งหลาย พระพุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ว่าเกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกัน โดยสัมพันธ์กันเป็นระบบกระบวนการ เราจะเข้าใจต้องแยกดูองค์ประกอบ ตอนแรกก็แยกชีวิตออกก่อน สำหรับมนุษย์ การแยกอย่างง่ายที่สุดคือ รูปธรรม (กาย) กับ นามธรรม ( ใจ )



เมื่อแยกละเอียด ด้านรูปธรรม หรือร่างกาย ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า มี มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ และในแต่ละอย่างก็แยกย่อยออกไปอีก



ส่วนด้านนามธรรม หรือ ทางใจ ก็แยกออกเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ



เวทนา แยกย่อยเป็น เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ หรือ เวทนา ๖



สัญญา แยกย่อยเป็น สัญญา ๖



สังขาร แยกย่อยออกเป็นต่าง ๆ เช่น สัญเจตนา ๖ เจตสิก ๕๐



วิญญาณ แยกย่อย เป็น ๖ เป็น ๘๙ หรือ เป็น ๑๒๑



ซึ่งเป็นการจำแนกแยกแยะในระบบ ขันธ์ ๕ อย่างนี้เป็นระบบแยกซอย เป็นการศึกษาธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ เหมือนนักวิทยาศาสตร์แยกแยะองค์ประกอบด้านรูปธรรม แต่ในที่นี้แยกออกเป็นแบบง่าย ๆ คือ กาย กับ ใจ



ชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ต้องเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า ดำเนินชีวิต แม้รถยนต์ซึ่งไม่มีชีวิตก็มีการเคลื่อนไหว เมื่อแยกองค์ประกอบมันออกมาดู ก็ศึกษาตอนมันวิ่งแล่น ว่ามันทำงานอย่างไร โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยขณะทำงาน



ชีวิตของเราก็เช่นกัน เมื่อแยกส่วนออกดูองค์ประกอบตอนอยู่นิ่งเฉย ก็ต้องศึกษาขณะที่มันดำเนินไป หรือขณะทำงาน เหมือนแพทย์ศึกษาชีวิตด้านกาย ต้องศึกษา anatomy คือกายวิภาค แยกองค์ประกอบให้เห็นอวัยวะต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร แล้วก็ศึกษา physiology คือสรีรวิทยา ให้รู้ว่าอวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งเป็นกระบวนการและเป็นระบบ ในทางธรรมก็เริ่มด้วยแยกองค์ประกอบที่อยู่นิ่ง ๆ เป็น กาย กับ ใจ ต่อจากนั้นก็แยกให้เห็นการทำงานเป็นกระบวนการว่า องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันอย่างไร การแยกองค์ประกอบแบบนี้จะเห็นได้ในหลัก ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๒ ส่วน เป็นปัจจัยแก่กันหมุนเวียนไปเป็นวงจร



จะพัฒนาศักยภาพของคนให้มีชีวิตแห่งปัญญา



ก็ต้องรู้จักธรรมชาติของชีวิตซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษา



ระบบการทำงานของชีวิตมนุษย์พิเศษต่างออกไปจากระบบการทำงานของรถยนต์ คือ แม้รถยนต์จะเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่มีชีวิต ไม่มีเจตจำนงหรือเจตนา จะเคลื่อนไหวไปทางไหน ต้องมีคนมาขับขี่บังคับ ลำพังตัวมัน องค์ประกอบทั้งหลายทั้งระบบทำงานเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้น ๆ เท่าเดิม แต่ระบบการทำงานของมนุษย์ไม่อยู่ในวงจรเท่าเดิม มนุษย์มีเจตนจำนงหรือมีเจตนา มีคุณสมบัติพิเศษเช่นปัญญาเป็นต้น ทำให้การเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์มีการปรับตัว ปรับปรุงพัฒนาระบบการทำงานของตัวมันเอง และจัดการกับสิ่งอื่นภายนอกได้ด้วย



การทำงานขององค์ประกอบทั้งหลายของชีวิตมนุษย์ มีลักษณะพิเศษเรียกง่าย ๆ ว่า เป็น



ระบบการเป็นอยู่ หรือ การดำเนินชีวิต ซึ่งเราต้องศึกษาให้เห็นองค์ประกอบเหล่านั้นทำงานสัมพันธ์กันในการที่มันจะเป็นอยู่ เจริญงอกงาม พัฒนาไป และจัดการกับสิ่งอื่น ๆ ภายนอกให้ได้ผลดียิ่งขึ้น



ชีวิตมนุษย์ ที่เป็นอยู่หรือดำเนินไปทั้งระบบนี้ แยกองค์ประกอบได้ ๓ ส่วนใหญ่ คือ



๑. การเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการแสดงออกทางกายวาจา จะใช้คำภาษาสมัยใหม่ว่า "พฤติกรรม" ก็มีความหมายแคบไป ขอแต่งคำใหม่ว่า พฤติสัมพันธ์



๒. เบื้องหลังการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออก มีกระบวนการทำงานของจิตใจ เริ่มตั้งแต่เจตจำนง (ความตั้งใจ) เพราะการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์เกิดจากเจตนา คือมีความตั้งใจ จงใจ และแรงจูงใจ เป็นตัวกำหนดอีกชั้นหนึ่งว่าจะตั้งใจอย่างไร แรงจูงใจนี้มีทั้งฝ่ายชั่วและดี เช่น ความรัก ความโกรธ ความอยากรู้ ความลุ่มหลง ความเคารพ ความริษยา ความสุข ความทุกข์ใจ ซึ่งเป็นตัวกำหนด หรือ ชักจูงความตั้งใจนั้น เช่น เพราะอยากได้สุข จึงเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมแบบนี้ เพราะอยากหนีทุกข์ จึงเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง คือกระบวนการของจิตใจ เป็นด้านที่ ๒ ในกระบวนการทำงานของชีวิต เรียกสั้น ๆ ว่า จิตใจ



๓. การเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์ทำพฤติกรรมนั้น คนต้องมีความรู้ รู้เท่าไรก็ตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมได้เท่านั้น ถ้ารู้มากขึ้นการตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมก็จะซับซ้อนและได้ผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่รู้เลยความตั้งใจทำพฤติกรรมก็ส่งเดชเรื่อยเปื่อย ฉะนั้นความรู้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เป็นแดนใหญ่ด้านหนึ่งของชีวิต ได้แก่ ปัญญา ถ้าเราพัฒนาปัญญา เราก็ขยายมิติและขอบเขตทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมออกไปทั้งหมด



พฤติกรรมมนุษย์ที่พัฒนาออกเป็นกลุ่มเป็นหมู่รวม ๆ กัน เป็นวัฒนธรรมและอารยธรรมนั้น เกิดจากเจตจำนงตามอำนาจแรงจูงใจ เช่นความปรารถนาที่จะเอาชนะธรรมชาติ ทำให้อารยธรรมตะวันตกเจริญมาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่คือเจตจำนงด้านจิตใจ แต่เจตจำนงนั้นเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขของความรู้ความเข้าใจอะไรอย่างไร มีความเชื่อ ยึดถือ และคิดไปได้อย่างนั้นแค่นั้น แล้วตั้งเจตจำนงต่าง ๆ ที่จะทำพฤติกรรมภายในขอบเขตเท่านั้น เพราะฉะนั้น แดนปัญญา คือ ความรู้ จึงยิ่งใหญ่มาก



ลักษณะสำคัญของกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือการพัฒนาศักยภาพการดำเนินชีวิตให้สามารถอยู่รอดได้อย่างดีงาม มีความสุขยิ่งขึ้น หรือ พัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้น จนถึงความเป็นพุทธะ ในที่สุด







มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



75437543.jpg


ตกลงว่า ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวดำเนินไปท่ามกลางสิ่งแวดล้อม แยกเป็น ๓ ด้าน คือ



๑. พฤติสัมพันธ์ ๒. จิตใจ ๓. ปัญญา นี่คือการแยกองค์ประกอบของชีวิตแบบหนึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา เรามักติดอยู่แค่การแยก แบบกายกับใจ ซึ่งเป็นการแยกเพื่อความรู้เข้าใจ แต่เอามาใช้ปฏิบัติได้น้อย ถ้าเราจะนำพระพุทธศาสนามาใช้ในระดับปฏิบัติการ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์และสังคม ต้องก้าวมาถึงการแยกในระดับกระบวนการดำเนินชีวิต คือแยกเป็น ๓ ด้าน หรือ ๓ แดน อย่างนี้



ถึงตอนนี้เราได้ครบแล้ว ในตัวอย่างเรื่องรถยนต์ที่แยกแยะ ๒ ระดับคือ แยกตอนจอดอยู่นิ่ง ๆ ให้เห็นว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง และแยกตอนทำงานคือวิ่งแล่นว่า มันทำงานอย่างไร แต่ในเรื่องชีวิตมนุษย์ เราแยกส่วน หรือ องค์ประกอบ ๓ ระดับ คือ



๑.แยกองค์ประกอบตามสภาพหรือในภาวะอยู่นิ่งเฉย (เช่นแยกเป็น รูป+นาม, กาย+ใจ, ขันธ์ ๕)



๒.แยกให้เห็นการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในระบบวงจรความสัมพันธ์ (เช่น แยกแบบปฏิจจสมุปบาท )



๓. แยกให้เห็นระบบและกระบวนการดำเนินชีวิตที่ องค์ประกอบ ๓ ด้านมาร่วมกันขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นอยู่ได้ดียิ่งขึ้น ๆ ไปสู่จุดหมายที่จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ (แยกเป็น ๓ ด้าน หรือ ๓ แดน คือ ด้านสัมพันธ์ภายนอก ด้านจิตใจ และด้านปัญญา)



แก่นธรรมเพื่อชีวิต



การดำเนินชีวิตทั้งสามด้าน เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันในการศึกษา



เมื่อรู้ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย และธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ก็เอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์



สาระของพระพุทธศาสนา คือการนำเอาความรู้ในธรรมชาติและกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ สนองจุดหมายที่เราต้องการ คือการพัฒนามนุษย์จนสามารถเป็นอยู่ โดยไม่ต้องพึ่งพา อวิชชา ตัณหา อุปาทาน



กระบวนการของชีวิตที่เคลื่อนไหว นั้นแยกเป็น ๓ ด้าน คือ พฤติสัมพันธ์ ที่เรียกโดยอนุโลมว่า พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เราพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ ด้าน ให้ทำอะไรต่ออะไรได้สำเร็จตามต้องการ จนมีชีวิตที่สมบูรณ์ ข้อสำคัญที่สุดต้องพัฒนาปัญญาขึ้นไป เพราะในที่สุดทุกอย่างจะอยู่ในขอบเขตของปัญญา อย่างที่ว่า รู้เท่าใด ทำได้เท่านั้น



แต่ในทางกลับกัน คนจะพัฒนาปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่มีการสื่อสัมพันธ์ การทำพฤติกรรม และการทำงานของจิตใจมาเกื้อหนุน



หลักการมีอยู่ว่า องค์ประกอบทั้ง ๓ ด้านแห่ง กระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แม้ว่าจุดยอดจะอยู่ที่การพัฒนาปัญญา แต่ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยจิตใจ พร้อมด้วยพฤติกรรมการเคลื่อนไหวและการใช้อินทรีย์สัมพันธ์ ปัญญาอาศัยพฤติสัมพันธ์ ( อินทรีย์สัมพันธ์ และพฤติกรรม ) เช่น อย่างง่าย ๆ เราจะได้ความรู้ เราต้องอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา สื่อความรู้จากโลกภายนอกเข้ามา เราต้องเคลื่อนไหว เดินไปหาข้อมูล ใช้มือหยิบ ฉวย ค้น แยก เลือก เก็บข้อมูล ต้องใช้วาจาพูดสอบถาม รู้จักปรึกษา เริ่มตั้งแต่รู้จักตั้งคำถาม ถ้าถามไม่เป็น พูดกับเขาไม่รู้เรื่องว่าถามอะไร หรือถามด้วยคำพูดไม่ดี เขาก็เกลียดเอา ไม่ร่วมมือ ไม่อยากตอบ เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาพฤติกรรมให้รู้จักพูด รู้จักตั้งคำถามให้ชัดเจน รู้จักพูดให้น่าฟัง ใช้ถ้อยคำสละสลวย พัฒนาพฤติกรรมให้สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์อย่างได้ผลดี ให้เขามีไมตรีชื่นชม เต็มใจที่จะร่วมมือ



ปัญญาอาศัยจิตใจ เช่น จิตใจต้องเข้มแข็งอดทน มีความเพียรพยายาม แน่วแน่มั่นคง มีสติ มีสมาธิ ถ้าจิตใจเกียจคร้าน ท้อถอย ไม่สู้ พอเจอปัญหาก็ถอย ความคิดไม่ก้าว ปัญญาก็ไม่พัฒนา แต่ถ้าใจสู้เข้มแข็ง เดินหน้าต่อไปก็สามารถพัฒนาปัญญาได้ หรือถ้าไม่มีสมาธิ ใจฟุ้งซ่าน คิดอะไรสับสนไม่ชัดเจน ต้องให้ใจมีสมาธิด้วยจึงจะเกื้อหนุนต่อการพัฒนาของปัญญา



จิตใจเป็นฐานของพฤติกรรม อย่างที่พูดแล้วว่า การเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมของคนเรา เกิดจากความตั้งใจ มีเจตนา ซึ่งประกอบด้วยแรงจูงใจและความตั้งใจที่ดี พฤติกรรมที่แสดงออกไปก็จะดี



จิตใจก็ต้องอาศัยพฤติกรรม เป็นเครื่องมือสนองความต้องการของจิตใจอยากได้โน่นได้นี่ อยากเห็น อยากดู อยากฟัง หรือเกลียดชัง อยากหนี อยากทำลาย อยากไปให้พ้นจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อาศัยพฤติกรรม ต้องสำเร็จด้วยพฤติกรรมทั้งนั้น ปัญญาเป็นตัวชี้นำ บอกทาง ให้แสงสว่าง กำกับ ควบคุม ดูแล จัดปรับ แก้ไข ขยายขอบเขต พัฒนา และทำหน้าที่ปลดปล่อยช่วยให้เกิดอิสระภาพ ทั้งแก่พฤติกรรม และแก่จิตใจ



ปัญญาชี้นำพฤติกรรม ควบคุม กำกับ ขยายขอบเขต และปลดปล่อยพฤติกรรม อย่างที่พูดไปแล้วว่า พฤติกรรมจะทำอะไรได้แค่ไหน ก็ได้แค่เท่าที่มีปัญญารู้เท่าใด ถ้าไม่รู้เลย ก็ติดขัด ถ้ารู้เข้าใจ พฤติกรรมก็เดินหน้าต่อไป ยิ่งรู้เข้าใจมองเห็นกว้างไกลลึกซึ้ง พฤติกรรมก็ยิ่งกว้างขวาง ซับซ้อน และทำได้ผลมากขึ้น ๆ



ปัญญาบอกทางแก่จิตใจ รวมทั้งชี้นำ กำกับ จัดปรับ แก้ไข ขยายขอบเขต ตลอดจนปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เช่น พอเจออะไร ถ้าไม่รู้เรื่อง ก็ติดขัดอัดอั้นตันทันที ทำอะไรไม่ถูก เกิดทุกข์เป็นปัญหา แต่พอปัญญามา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไรเอามาใช้ทำอะไรได้ ก็โล่ง โปร่งสบายใจ หมดปัญหา ไม่บีบคั้นติดขัดคับข้องใจ เพราะฉะนั้น ปัญญามา ก็ทำจิตใจให้เป็นอิสระ มีความสุขโล่งโปร่ง แก้ปัญหาได้ เรียกว่าเป็นตัวปลดปล่อย คือ liberate จิตใจ





..............

มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



87578757.jpg


เพราะฉะนั้น ชีวิตทั้ง ๓ ด้านของมนุษย์ คือ พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา จึงคืบเคลื่อนไปด้วยกันเป็นระบบแห่งกระบวนการ ที่อาศัยซึ่งกันและกัน มนุษย์จึงต้องพัฒนาไปด้วยกันพร้อมทั้ง ๓ อย่าง



บนฐานแห่งหลักความสัมพันธ์ของชีวิตสามด้าน



ทรงตั้งหลักไตรสิกขาให้มนุษย์พัฒนาอย่างบูรณาการ



เมื่อรู้เข้าใจหลักความสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันของชีวิต ๓ ด้านแล้ว ก็นำหลักนั้นมาใช้ในการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่ พัฒนาพฤติกรรม ให้ดีขึ้น โดยฝึกด้วยความตั้งใจ และมีความเข้าใจ ให้เกิดพฤติกรรมที่ดีงาม เกื้อxxxลขึ้นมาติดตัว หรือ ประจำตัว เรียกว่า ศีล ในการฝึกให้เกิดศีลเราจะใช้ " วินัย " เป็นตัวกำหนดรูปแบบ เวลานี้สับสนกันระหว่างคำว่า วินัย กับ ศีล บางครั้งใช้เป็นอันเดียวกัน หรือไม่ก็แยกห่างกันไปคนละเรื่องเลย



ขออธิบายว่า วินัย คือการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผน รวมทั้งตัวลายลักษณ์อักษรที่เป็นข้อกำหนดว่า เราจัดวางระเบียบแบบแผนกำหนดพฤติกรรมกันไว้อย่างไร ส่วนคุณสมบัติของคนที่ตั้งอยู่ในวินัยนั้นเรียกว่า ศีล ก็แค่นี้เอง



วินัยก็คือการจัดตั้ง วางระบบ กำหนดระเบียบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ถ้าเราไม่มีระบบระเบียบแบบแผน พฤติกรรมของมนุษย์วุ่นวายมาก เราจึงใช้วินัยเป็นตัวกำหนด หรือ จัดระบบพฤติกรรม เมื่อพฤติกรรมของคนเป็นไปตามวินัยที่จัดตั้งวางกำหนดไว้ ก็เรียกว่า ศีล วินัยนั้นอยู่ข้างนอก เป็นเครื่องมือฝึกคนให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นตัวหนังสือ เป็นวาระแห่งความเป็นระเบียบ เป็นระบบแบบแผนที่กำหนดการฝึก ตลอดจนเป็นการปกครอง คือ การจัดการดูแลควบคุมคนให้ปฏิบัติ หรือฝึกตนตามระเบียบที่จัดตั้งไว้ เมื่อคนปฏิบัติตามวินัยจนกลายเป็นคุณสมบัติในตัวเขาแล้ว เราเรียกว่า ศีล เพราะฉะนั้น คำว่า " มีวินัย " ที่ใช้กันในสมัยนี้ ก็คือ " ศีล " นั่นเอง



การฝึกพฤติกรรม และการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกของมนุษย์ให้เป็นไปในทางที่ดีงาเกื้อxxxล จนเกิดเป็นคุณสมบัติขึ้นในตัวของเขา เรียกสั้น ๆ ว่า " ศีล " คือ การมีพฤติกรรมและการสื่อสัมพันธ์ที่พึงปรารถนา เรียกเต็มว่า " อธิศีล สิกขา " เป็นอันว่า ศีล คือกระบวนการฝึกพฤติกรรมและการติดต่อสัมพันธ์ของมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมหรือโลกภายนอก



การพัฒนาด้านจิตใจ มีคุณสมบัติมากมายที่พึงต้องการ เช่น เมตตา กรุณา ศรัทธา กตัญญูกตเวที ความเคารพ ความเพียร ความเข้มแข็ง อดทน มีสติ มีสมาธิ ความร่าเริงเบิกบานผ่องใส ความสุข ฯลฯ เรียกว่า " อธิจิตตสิกขา " แต่เรียกให้สั้นและง่ายโดยเอาคุณสมบัติแกนสำคัญมาเป็นตัวแทน จึงเรียกการพัฒนาด้านจิตทั้งหมดว่า " สมาธิ "



ทำไมจึงว่า "สมาธิ" เป็นคุณสมบัติแกน เป็นตัวแทน ที่ใช้เรียกชื่อการพัฒนาด้านจิตทั้งหมด ตอบว่า ในการพัฒนาจิตของคนนี้ มีคุณสมบัติสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าขาดไปเสีย คุณสมบัติอย่างอื่นก็จะต้องตั้งอยู่ไม่ได้และการพัฒนาด้านจิตใจก็จะดำเนินไปไม่ได้



เหมือนกับว่าเรามีของมากมายจะจัดเก็บตั้งมันไว้ หรือเราจะทำงานกับมัน หรือจะให้ของเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้นไป หรืออะไรแล้วแต่ มีสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง คือฐานที่ตั้ง หรือที่รองรับที่มั่นคง เช่น จะวางของบนโต๊ะ โต๊ะก็ต้องมั่น ถ้าโต๊ะสั่นไหว ของอาจจะล้มหรือหล่นหายไปเลย หรือจะทำงานกับของเหล่านั้น ก็ไม่สะดวกหรือไม่สำเร็จ แต่ถ้าโต๊ะที่ตั้งที่วางหรือที่รองรับนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหว ของนั้นก็ตั้งอยู่ จัดทำอะไรกับมัน หรือจะให้เกิดการเคลื่อนไหวงอกงามเจริญขึ้น ก็ทำได้



ในทางจิตใจก็เหมือนกัน คุณสมบัติที่เป็นแกนในการพัฒนาจิตใจ คือภาวะที่จิตใจอยู่ตัวได้ที่ ซึ่งช่วยให้คุณสมบัติอื่น ๆ ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามได้ ตลอดจนช่วยให้ปัญญาทำงานได้ดี คุณสมบัติตัวแกนนี้เรียกว่า สมาธิ แปลว่า จิตตั้งมั่น จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ไม่อยู่กับสิ่งที่ต้องการ หรืออยู่กับสิ่งที่ต้องการไม่ได้ เช่น อยู่กับหนังสือ อยู่กับงานไม่ได้เลยเดี๋ยวไป ๆ



สมาธินี่แหละเป็นตัวแทนของกระบวนการพัฒนาจิต เพราะฉะนั้นจึงเอาคำว่า สมาธิ มาเรียกแทนการพัฒนาคุณสมบัติด้านจิตทั้งหมด เรียกว่าเป็นวิธีเรียกแบบตัวแทน แต่ตัวแทนนี้เป็นตัวแกนด้วย



ส่วนการพัฒนาปัญญา เรียกชื่อเต็มว่า " อธิปัญญาสิกขา " แต่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า " ปัญญา " คือกระบวนการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ



เป็นอันว่า การพัฒนามนุษย์อยู่ที่ ๓ ด้าน หรือ ๓ แดน ซึ่งดำเนินไปด้วยกันอย่างเกื้อหนุนแก่กันเป็นระบบแห่งบูรณาการ



การฝึกฝนพัฒนามนุษย์ เริ่มตั้งแต่ การเรียนรู้ต่าง ๆ นี้ ศัพท์บาลีเรียกว่า " สิกขา " ฉะนั้นการฝึก ๓ ด้านที่พูดมาแล้วจึงเป็นสิกขา ๓ ด้าน คำว่า ๓ นั้น ภาษาบาลีคือ " ติ " ถ้าเป็นสันสกฤต ก็คือ " ไตร " ฉะนั้นจึงเป็น ไตรสิกขา



ไตรสิกขาก็แยกเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา คือกระบวนการพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา เพื่อให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ คือภาวะที่เป็นผู้มีวิชาแล้ว มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา ไม่ต้องมีชีวิตอยู่โดยพึ่งพาอาศัย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของมันอีกต่อไป คือพ้น ทุกข์ โดยกำจัด สมุทัย ได้ บรรลุจุดหมาย คือ นิโรธ เพราะปฏิบัติตาม มรรค ได้ครบถ้วน จะเห็นว่าอริยสัจสี่มาครบหมดเลยทีเดียว



เมื่อพัฒนาด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็เป็นอริยมรรค เพราะชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ศึกษา



ชีวิตต้องเป็นอยู่ดำเนินไปตลอดเวลา การที่ต้องเคลื่อนไหวพบประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งต้องรู้จัก ต้องเข้าใจ ต้องปฏิบัติ หรือ จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หาทางแก้ไขให้ผ่านรอด หรือ ลุล่วงไป ทั้งหมดนี้เรียกสั้น ๆ คือ สิกขา หรือ การศึกษา



เพราะฉะนั้น การที่ชีวิตเป็นอยู่ได้ ต้องศึกษา หรือสิกขา ตลอดเวลา พูดสั้น ๆ ว่า ชีวิตคือการศึกษา หรือ ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่มีการเรียนรู้ หรือมีการฝึกฝนพัฒนาไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การดำเนินชีวิตที่ดีจะเป็นชีวิตแห่งการสิกขาไปในตัว



เราเคยได้ยินฝรั่งบางพวกพูดว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ชีวิตเป็นความฝัน แต่ถ้าพูดตามหลักพระพุทธศาสนา " ชีวิตคือการศึกษา " ถ้าใช้ภาษาฝรั่งก็ต้องพูดว่า To live is to learn หรือ Life is Learning ตรงนี้เป็นการประสานระหว่างการพัฒนามนุษย์หรือการเรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนามนุษย์ ที่เรียกว่า สิกขา / ศึกษา กับการดำเนินชีวิตที่ดีของมนุษย์ที่เรียกว่า มรรค ให้เป็นอันเดียวกัน คือการดำเนินชีวิต ชนิดที่มีการศึกษาพัฒนาชีวิตไปด้วยในตัว จึงจะเป็นชีวิตที่ดี



ศีล สมาธิ ปัญญา คือการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจและปัญญา หรือ การศึกษา ๓ ด้านที่พูดไปแล้ว เมื่อขยายออกเป็น ข้อปฏิบัติ ก็มาเป็น มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อสรุปก็เป็น ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่าง ของไตรสิกขา กับมรรคมีองค์ ๘ ประการ จึงตรงกัน กล่าวคือ



ด้านศีล กระจายออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมนันตะ และ สัมมาอาชีวะ คือ การใช้กายวาจาให้ถูกต้องดีงาม ทั้งในการกระทำทั่วไป ในการสื่อสัมพันธ์ และในการเลี้ยงชีพให้ถูกต้อง



ด้านจิตใจ มีมากมาย แต่ตัวนำสำคัญมี ๓ คือ



มีความเพียรพยายาม เรียกว่า สัมมาวายามะ



มีสติเป็นตัวคอยจับกำหนดให้ทำงานได้ เป็นตัวเตือนไม่ให้เผลอพลาด และให้เดินหน้า ตลอดเวลา เรียกว่า สัมมาสติ



มีสมาธิ ให้จิตแน่วแน่ มีความสงบ ดำเนินไปอย่างมั่นคงเรียกว่า สัมมาสมาธิ







ด้านปัญญา แยกเป็น ๒ คือ



มีความเห็น ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ



มีความดำริถูกต้อง วางแนวทางความคิดที่จะนำชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ



พอเริ่มกระบวนการโดยมี ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้วางแนวความคิดถูกต้อง ทั้งเจตจำนง ความเพียรพยายาม และสติที่กำกับมาสนองแนวความคิดนี้ พฤติกรรมก็มาสนองเจตนำนงและความเพียรพยายามนั้น การดำเนินชีวิตจึงไปด้วยการเรียนรู้ ปฏิบัติต่อประสบการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างถูกต้องได้ผลดี ไตรสิกขา ก็มาประสานกับ มรรค



ไตรสิกขา คือการพัฒนามนุษย์ให้ดำเนินชีวิตดีงามถูกต้อง ทำให้มีวิถีชีวิตที่เป็น มรรค เป็นทางดำเนินชีวิต หรือ วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์ ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน คือ สิกขา มรรคกับสิกขาจึงประสานเป็นอันเดียวกัน เมื่อมองในแง่อริยสัจสี่ ก็เป็น อริยมรรค คือ วิถีชีวิตอันประเสริฐเมื่อเป็นมรรค ก็ดำเนินก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย โดยกำจัดสมุทัยให้หมดไป ช่วยให้เรามีชีวิตที่พึ่งพาอวิชชา ตัณหา อุปาทาน น้อยลงไป ไม่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของมัน พร้อมกับที่เรามีปัญญาเพิ่มขึ้น และดำเนินชีวิตด้วยปัญญามากขึ้น ทุกข์ก็น้อยลงไป สุขจะมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดพอ สมุทัยหมดทุกข์ก็หมด ก็บรรลุหมายเป็น นิโรธ โดยสมบูรณ์



จุดเริ่มของการศึกษา มีช่องทางชีวิตเตรียมไว้ให้ แต่ต้องใช้เป็น จึงจะเกิดการพัฒนา



เรื่องไม่จบเท่านี้ เมื่อแยกแยะออกไป ก็ถึงองค์ประกอบที่เราต้องการสุดยอดคือ ปัญญา ซึ่งมนุษย์จะตั้งจิตจำนงในใจ และจะทำพฤติกรรมได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตของปัญญา และปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหาที่แท้จริง แต่ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราต้องรู้กระบวนการพัฒนาของปัญญา การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปพูดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ใหม่อีก



..........

มีต่อ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 5:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หันมาดูที่ตัวมนุษย์เองว่า มนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร และพร้อมกันนั้น มนุษย์สัมพันธ์กับโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็ต้องดูที่เครื่องมือสื่อสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ



๑. มนุษย์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยสิ่งที่เรียกว่า อินทรีย์ หรือ อายตนะ ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อินทรีย์เหล่านี้เป็นทาง หรือ ประตูเข้ามา ของความรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เรียกว่า การรับรู้ เพราะฉะนั้น อินทรีย์พวกนี้ทั้งหมดเรียกว่า ทวาร ๖ ซึ่งแปลว่าประตูหรือช่องทางการที่เรียกว่า อายตนะ เพราะเป็นแดนต่อระหว่างชีวิตของเรากับโลก และที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะทำงานเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตัว เช่น ตาเป็นอินทรีย์ในการเห็น หูเป็นอินทรีย์ในการฟัง และเชื่อว่าทวาร เป็นประตู หรือ ช่องทางเชื่อมต่อระหว่างชีวิตกับโลก เป็นช่องทางเข้ามาของข้อมูลต่าง ๆ เป็นทางสัมพันธ์ซึ่งมี ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ



๒. เราติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกทาง ประตู หรือ ทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ เราสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดย



เคลื่อนไหวจับโน่นจับนี่ ด้วยกาย



ติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกับโลกมนุษย์ภายนอกด้วยวาจา คือถ้อยคำพูดจา



และมีเจตจำนงตั้งเจตนา ด้วยใจ ว่าจะเอาอย่างไรกับมัน



สรุปว่า การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในโลก ทั้งหมดมีช่องทางติดต่อ คือ ทวาร ๒ ชุด



ทวารประเภทช่องทางที่จะรู้ ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ



ทวาร ประเภทช่องทางที่จะทำ ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ



การเกี่ยวข้องกับโลกหรือสิ่งแวดล้อมในด้านการกระทำนี้เรียกว่า กรรม ซึ่งแยกเป็นการ กระทำทางกายเรียกว่า กายกรรม



การกระทำทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม



การกระทำทางใจเรียกว่า มโนกรรม



เมื่อจับหลักนี้ได้ เราก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนามนุษย์ที่จะต้องอาศัย ประตู หรือ ทวารทั้ง ๙ (๖+๓)



เริ่มด้วยทวารชุด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่า อินทรีย์ หรือ อายตนะ ๖ นั้น เราใช้มันเพื่ออะไร ทำหน้าที่อะไร ถ้าเราไม่รู้หน้าที่ หรือ การทำงานของมัน เราก็ใช้สะเปะสะปะ เรื่อยเปื่อย ใช้ไม่เป็น ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ไม่พัฒนา แต่ถ้าเรารู้เข้าใจและใช้มันให้ถูกต้อง เราก็จะพัฒนาได้อย่างดี



โดยสรุป หน้าที่ของอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แยกได้ ๒ อย่าง คือ



๑) หน้าที่รู้ คือรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ตาดู รู้ว่าเป็นอะไร เป็นนาฬิกา กล้องถ่ายรูป ดอกไม้ ใบไม้สีเขียว สีแดง สีเหลือง รูปร่างยาวสั้นใหญ่เล็ก หูได้ยินเสียงดัง เบา เป็นถ้อยคำ สื่อสารว่าอย่างไร เป็นต้น ทำให้ได้ data และ information



๒) หน้าที่รู้สึก หรือ รับความรู้สึก พร้อมกับรับรู้ข้อมูลเราก็มีความรู้สึกด้วย บางทีตัวเด่นกลับเป็นความรู้สึก เช่น เห็นแล้วรู้สึกสบาย หรือ ไม่สบาย ถูกตาไม่ถูกตา สวยหรือน่าเกลียด ถูกหูไม่ถูกหู เสียงนุ่มนวลไพเราะ หรือ ดังแสบแก้วหู รำคาญ เป็นต้นจะเห็นว่า อินทรีย์ หรือ อายตนะ หรือทวาร ๖ นี้ ทำหน้าที่ ๒ อย่างพร้อมกัน ทั้งรับรู้ข้อมูลด้วย และรับความรู้สึกด้วย พร้อมกัน



การรับด้านรู้ข้อมูล เรียกว่า ด้านศึกษา



การรับด้านความรู้สึก เรียกว่าด้านเสพ



เป็นอันว่า อายตนะทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ ศึกษา กับ เสพ



ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น ถ้าจะให้มนุษย์พัฒนา มนุษย์จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้ หรือ ศึกษาให้มาก ส่วนมนุษย์ที่ไม่พัฒนา จะใช้อินทรีย์เพื่อเสพเป็นส่วนใหญ่ บางทีแทบไม่ใช้เพื่อการศึกษาเลย เอาแต่หาเสพสิ่งชอบใจ ไม่ชอบใจ ถูกหู ถูกตา เอาสวยงาม สนุกสนานบันเทิงเข้าว่า



กุญแจสำคัญที่จะตัดสินว่ามนุษย์จะให้ชีวิตของตัวเองเป็นอย่างไร จะพัฒนาหรือไม่ จะช่วยให้โลกหรือสังคมไปทางไหน ก็อยู่ที่การใช้อินทรีย์นี้แหละ คนที่ไม่พัฒนาก็จะ ใช้อินทรีย์เพื่อเสพสนองความรู้สึก อยู่กับความรู้สึกสบายไม่สบาย สุขทุกข์ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น สุขทุกข์ของเขาอยู่ที่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ เจอสิ่งชอบใจก็เป็นสุข เจอสิ่งไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ แล้วก็หาทางหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ หาแต่สิ่งชอบใจ วนเวียนอยู่แค่นี้



แต่ถ้า ใช้อินทรีย์เพื่อศึกษาสนองความต้องการรู้ ก็จะใช้ตา หู ไปในทางการเรียนรู้ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ปัญญาจะเกิด รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วต่อไปก็ถึงจุดแยก คนที่อยู่กับการใช้อินทรีย์เพื่อเสพความรู้สึก ความสุขของเขาก็จำกัดอยู่กับสิ่งที่ชอบใจ แต่คนที่ใช้อินทรีย์เพื่อศึกษา จะพัฒนาความสุขให้ขยายขอบเขตกว้างขวางออกไป พร้อมกับแรงจูงใจที่เกิดขึ้นใหม่



เมื่อคนเริ่มศึกษา การพัฒนาก็เริ่มทันที ความต้องการอย่างใหม่ก็มี ความสุขอย่างใหม่ก็มา



ตอนนี้พึงทราบว่ามีแรงจูงใจ ๒ แบบ



แรงจูงใจแบบที่ ๑ คือแรงจูงใจในการเสพ เรียกว่า ตัณหา ซึ่ง มากับเรื่องของความรู้สึก



แรงจูงใจแบบที่ ๒ คือแรงจูงใจในการศึกษา (และสร้างสรรค์) เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งมากับเรื่องของความรู้



ตัณหา เป็นความต้องการประเภทความรู้สึก คือมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจสิ่งใดก็จะเกิด ตัณหา ปรารถนาจะได้เสพสิ่งนั้นอีก ถ้าไม่ชอบใจก็จะเกิด วิภวตัณหา อยากจะหนี อยากจะหลบ อยากจะทำลาย คนที่เป็นนักเสพก็วนเวียนอยู่กับแรงจูงใจที่เรียกว่า ตัณหา



แต่พอเราใช้อินทรีย์เพื่อศึกษา ก็เกิดการเรียนรู้ พอได้ความรู้มาก็เกิดความอยากรู้ยิ่งขึ้นไปว่าอะไรเป็นอะไร พอได้สนองความอยากรู้ก็เกิดความสุข



จากการสนองความต้องการในการรู้ ความสุขจะพัฒนาขึ้น ตอนนี้จะมีความสุขจาการสนองความใฝ่รู้ ยิ่งกว่านั้น พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาจะเริ่มแยกได้ว่า เออ…สิ่งนี้มันอยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นไหม ปัญญาที่รู้ที่แยกได้จะทำให้เกิดความอยาก หรือ ความต้องการคืบเคลื่อนก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คืออยากให้สิ่งนั้น ๆ อยู่ในภาวะที่มันควรจะเป็น ซึ่งเป็นธรรมดาของการศึกษาที่จะเป็นอย่างนั้นเอง เพราะความรู้ทำให้เราแยก หรือจำแนกได้ เราเห็นโต๊ะตัวนี้สมบูรณ์เรียบร้อย เราก็พอใจ พอเห็นตัวนั้นไม่สมบูรณ์บกพร่อง เราก็อยากให้มันสมบูรณ์



เมื่อความรู้แยกแยะได้แล้ว ก็จะเกิดความต้องการ หรือ เกิดความอยากชนิดใหม่ คืออยากให้มันอยู่ในภาวะที่ควรจะเป็น ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า อยากให้มันดี ถ้ามันยังไม่ดีก็อยากให้มันดี แล้วก็ก้าวไปสู่การอยากทำให้มันดี แล้วก้าวไปสู่พฤติกรรมในการกระทำเพื่อให้มันดี ตอนนี้แหละพฤติกรรมในการกระทำ (เพื่อให้มันดี) ก็เกิดขึ้นพอทำให้ดีได้ก็เกิดความสุข เพราะ ความสุขเกิดจากการสนองความต้องการ เมื่อเราพัฒนาความต้องการอย่างใหม่ขึ้นได้ ความสุขก็พัฒนาไปด้วย ถ้าเราไม่พัฒนาความต้องการ ความสุขของเราก็จำกัดอยู่กับการเสพ คือต้องการสิ่งชอบใจ และ ไม่ต้องการสิ่งไม่ชอบใจ แล้วก็วนเวียนอยู่กับ ตัณหา



พอเราพัฒนาในด้านความรู้ เราใช้ อายตนะ ในเชิงศึกษาเรียนรู้ ก็เกิดความอยากรู้ซึ่งเป็นความต้องการใหม่ เมื่อหาความรู้เพื่อสนองความต้องการที่จะรู้ ก็ได้ความสุขจากการเรียนรู้



เมื่อต้องการให้มันดี อยากให้มันดี และได้ทำเพื่อสนองความต้องการที่อยากให้มันดีนั้นได้ ก็เกิดความสุขจากการทำให้มันดี



..............

มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 6:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



54325432.jpg


การกระทำก็กลายเป็นความสุข



เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงพัฒนาด้วยการศึกษา คือ พัฒนาชีวิตของตน โดยพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา รวมทั้งพัฒนาความสุขด้วย



ตรงนี้เป็นจุดสำคัญคือ การพัฒนาความสุข ซึ่งเกิดจากการสนองความต้องการใหม่ ที่เรียกว่า ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำให้ดี หรือ ความอยากรู้และอยากทำให้มันดี ซึ่งทางพระเรียกว่า ฉันทะ เป็นแรงจูงใจชนิดใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีการศึกษาก็จะไม่มีแรงจูงใจชนิดนี้



ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงให้เรา ลดตัณหา พยายามทำตัณหาให้น้อยลง คืออาศัยมันและขึ้นต่อมันให้น้อยลง พร้อมกับพัฒนาและใช้ ฉันทะ ให้มากขึ้น



แต่เรามักจะพูดกันด้านเดียว บอกให้ลดละตัณหา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าความอยากความต้องการต้องลดละให้หมดกลายเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง



พระพุทธศาสนาแยก ความอยาก มี ๒ ประเภท คือ



ความอยากที่เป็น อกุศล เรียกว่า ตัณหา ความอยากแบบนี้ถ้าเราตกเป็นทาสของมันแล้วจะไม่พัฒนา ได้แต่จมอยู่กับความสุข และ ความทุกข์จากความชอบใจและไม่ชอบใจ



ความอยากที่เป็น กุศล เรียกว่า ฉันทะ ถ้าเราพัฒนาปัญญา ความปรารถนาที่เป็นแรงจูงใจชนิดใหม่ก็เกิดขึ้น ทำให้เราได้ความสุขชนิดใหม่ และจะนำเราก้าวหน้าไปในการพัฒนา ชีวิตพอเกิดฉันทะ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี้คือ แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ถ้าเด็กคนไหนเกิดฉันทะ เกิดความใฝ่รู้ เกิดความใฝ่ดี เกิดความใฝ่จะทำให้ดี หรือเกิดความใฝ่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว มั่นใจได้เลยว่าเด็กคนนั้นจะพัฒนาแน่ ๆ เพราะแสงเงินแสงทองมาแล้ว เราจึงเรียกมันว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เพราะฉะนั้นต้องให้คนเกิดความอยากที่เรียกว่า ฉันทะ และเลิกละความเข้าใจผิดที่บอกว่าความอยากเป็นตัณหาหมด ซึ่งทำให้เลยเถิดไป กลายเป็นว่าอยากอะไรไม่ได้ ต้องละ ต้องลด ต้องกำจัดหมด



ถ้าจะปฏิบัติให้ถูก ต้องไม่มัวลดละความอยาก แต่ต้องเปลี่ยนความอยากที่เป็น อกุศล มาเป็นความอยากที่เป็น กุศล คือฉันทะนี้ให้ได้ ชีวิตก็จะดี ชาติประเทศก็จะพัฒนา ใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ หรือ ใฝ่รู้ใฝ่ดีใฝ่ทำให้มันดี นี่คือ กุญแจดอกแรกที่จะไขเข้าไปสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และนำความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ ให้เป็นชีวิตที่ดีงาม และมีสังคมที่อยู่ในสันติสุข เริ่มแรก พอเกิดมา เราก็มีอินทรีย์ที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต ซึ่งใช้ติดต่อสื่อสารกับสิ่งแวดล้อม หรือโลกภายนอก ตอนนี้แหละการดำเนินชีวิตที่ถูกหรือผิด ก็เริ่มทันที



จากที่พูดมานี้ ก็เป็นอันว่า ช่องทางติดต่อสื่อสารกับโลกโดยทาง อายตนะ หรือ อินทรีย์ ๖ ที่เป็นทั้งแดนศึกษา และ แดนเสพนี้ ในการพัฒนาคน เราต้องใช้มันเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น ให้เกิดความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำให้ดี พูดสั้น ๆ คือ ใฝ่ศึกษา และ ใฝ่สร้างสรรค์ (ใฝ่รู้ คือใฝ่ศึกษา ใฝ่ดี และใฝ่ทำให้มันดี ก็คือใฝ่สร้างสรรค์ )



การพัฒนามนุษย์มีแหล่งใหญ่อยู่ในมโนกรรม จุดสำคัญนี้ถ้าพลาดไป ก็คือช่องทางใหญ่สู่หายนะ



ได้พูดแล้วว่า ทวาร คือช่องทางของการกระทำ การแสดงออกทางกายวาจาใจ เมื่อเกิดมีปัญญาและมีเจตจำนงที่ดีมากขึ้น เราก็พัฒนาการกระทำของเราทั้ง ๓ ทางนั้นให้ดียิ่งขึ้น คือ



มโนกรรม ความคิดของเราก็ดีขึ้น



วจีกรรม การพูดของเราก็ดีขึ้น



กายกรรม การกระทำทางกายของเราก็ดีขึ้น



กรรม ๓ ทางนี้ก็เป็นกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่ครบวงจร



จำไว้อย่างหนึ่งว่าพระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด คนทั่วไปมักเห็นว่ากายกรรมสำคัญที่สุด เพราะถึงขั้นลงมือลงไม้ เอาอาวุธไปฟันไปฆ่าเขาได้ แต่ขอให้พิจารณาดูหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” โลก ( สังคมมนุษย์ ) เป็นไปตามกรรมนั้น เงื่อนไขนี้มาจากมโนกรรมเป็นสำคัญ ทั้งโลกนี้ไม่ใช่ถูกขับเคลื่อนด้วยกายกรรมเป็นใหญ่ แต่มันมาจากมโนกรรม กระบวนการรู้สึกนึกคิดเชื่อถือในใจของคนนี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญ เจตจำนง แรงจูงใจมาจากไหน มาจากแนวความคิด ความเชื่อ ความยึดถือในค่านิยมหลัก อุดมการณ์ เป็นต้น ตรงนี้แหละสำคัญที่สุด



เมื่อมีความเชื่อ แนวความคิด การยึดถืออุดมการณ์ หรือ แม้เพียงค่านิยม ซึ่งทางพระใช้ศัพท์เดียวง่าย ๆ ว่า “ ทิฏฐิ ” ถ้าทิฏฐิ เป็นอย่างไรแล้ว แรงจูงใจจะมาสนอง แล้วต่อไปกระบวนการของกรรมก็ดำเนินไป โดยแสดงออกมาทางกายวาจา ซึ่งเป็นไปตามที่เชื่อหรือยึดถือนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้ามนุษย์เชื่อหรือ ยึดถือ หรือมีแนวความคิดว่า มนุษย์จะประสบความสำเร็จ สุขสมบูรณ์ต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อม หรือมีเศรษฐกิจมั่งคั่งที่สุด ถ้ามีความเชื่อ หรือ แนวความคิดแบบนี้ กระแสวัฒนธรรมอารยธรรมจะไปตามทั้งหมด สังคมจะเดินไปตามนี้



ด้วยอิทธิพลของความเชื่อนี้ มนุษย์จะมุ่งทำการทุกอย่างเพื่อสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ กระแสวัตถุนิยมจะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นบริโภคนิยม



สังคมบริโภคนิยม คือสังคมซึ่งมีฐานความคิดที่เชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์เมื่อวัตถุมีเสพพรั่งพร้อม กระแสวัฒนธรรมอารยธรรมปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นบริโภคนิยมเช่นนี้ เพราะมี ทิฏฐิ ที่เป็นฐานความคิด หรือ ความเชื่อ ซึ่งสืบมาจากตะวันตก ที่ได้สร้างสรรค์ความเจริญทางวัตถุขึ้นมา โดยเฉพาะที่เด่นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารับใช้สนองอุตสาหกรรม ทำการผลิตให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ



ตัวการสำคัญในกระบวนการนี้คืออุตสาหกรรม ซึ่งเดิมที่ฝรั่งมุ่งระดมกำลังทำการผลิตเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน ( scarcity ) แต่พออยู่ในวิถีชีวิตของการผลิสร้างวัตถุไปนาน ๆ และจิตใจครุ่นคิดมุ่งหมายที่จะมีความพรั่งพร้อมทางวัตถุไป ๆ มา ๆ โดยไม่ต้องรู้ตัว ฝรั่งทั่ว ๆ ไปก็กลายเป็นวัตถุนิยม หรือมีแนวคิดทิฏฐิวัตถุนิยมเป็นกระแสหลัก กลายเป็นแนวคิดทิฏฐิว่าคนจะมีความสุขมากที่สุด เมื่อมีวัตถุเสพบริโภคมากมายพรั่งพร้อมที่สุด แล้วก็เปิดทางแก่ลัทธิบริโภคนิยมความเป็นไปทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มที่โยงกับฐานความคิดใหญ่ คือ ความมุ่งหมายที่จะพิชิตธรรมชาติ Encyclopaedia Britannica เขียนไว้ในหัวข้อ “ History of Science ” ( ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ) บอกว่า เมื่อถอยหลังไปพันปีก่อนโน้น ตะวันตกล้าหลังตะวันออกในด้านการปฏิบัติจัดการกับธรรมชาติ คือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ด้วยความมุ่งหมายที่จะเอาชนะธรรมชาติ จึงทำให้ตะวันตกสามารถล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในด้านวิทยาศาสร์และเทคโนโลยีนั้น



มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า A Green History of the World เขียนโดย Clive Ponting ได้พยายามขบคิดในเรื่องการแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย หนังสือนั้นได้วิเคราะห์แนวคิดของตะวันตกให้เห็นว่า อารยธรรมที่ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสียนี่เป็นมาอย่างไร มีบทหนึ่งเขาได้สืบสาวความคิดของชาวตะวันตกตั้งแต่ Socrates, Plato, Aristotle จนมาถึงนักจิตวิทยาอย่าง Frseud รัฐบุรุษอย่าง Francis Bacon นักปรัชญาผู้นำที่เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ด้วยอย่าง Rene Descartes ตลอดจนนักคิดฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งหมด ล้วนมีวาทะที่พูดถึงความใฝ่ฝัน หรือความกระหายที่จะพิชิตธรรมชาติ



........

มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 13 มี.ค.2005, 1:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นักประวัติศาสตร์โซเวียตคนหนึ่งถึงกับเขียนไว้ว่า ต่อไปเมื่อมนุษย์เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมชาติจะเป็นเหมือนขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือที่เราจะปั้นให้เป็นอย่างไรก็ได้ Descartes ก็พูดไว้แรงมาก Plato, Aristotle ก็พูดแนวนี้ทั้งนั้น



นี่คือจุดมุ่งหมายที่นำทางความคิดความเชื่อของตะวันตกมาตลอดเวลาสองพันกว่าปี คือ ความเชื่อและมุ่งหมายใฝ่ฝันว่า เมื่อไรมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้สำเร็จ โลกมนุษย์จะพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์เป็นโลกที่เป็นสวรรค์บนดิน จึงทำให้มนุษย์ชาวตะวันตกได้เพียรพยายามแสวงหาความรู้ในความเร้นลับของธรรมชาติ แล้วพัฒนาวิทยาศาสตร์และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา มโนกรรมคือแนวคิด ความเชื่อที่ว่านี้ อยู่เบื้องหลังอารยธรรมปัจจุบันทั้งหมด นี่คือตัวอย่างความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด



การพัฒนาคน พัฒนาสังคม ไม่มีทางได้ผลจริงถ้าทอดทิ้งฐานของการพัฒนา คือมโนกรรม



เป็นอันว่า อารยธรรมปัจจุบันที่มีตะวันตกเป็นตัวแทนนี้ เจริญมาด้วยแนวคิดพื้นฐานคือความมุ่งหมายพิชิตธรรมชาติ ปัจจุบันนี้ตะวันตกกลับมาติเตียนแนวคิดนี้ ดังเช่นหนังสือเล่มที่กล่าวถึงได้ติเตียนบรรพบุรุษชาวตะวันตกเต็มที่ว่าล้วนแต่เชื่อผิด ถือผิด คิดเห็นผิดพลาดไป มุ่งหมายแต่จะเอาชนะธรรมชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด



ตามแนวคิดทิฏฐิของตะวันตกนั้น มนุษย์มองธรรมชาติเป็นศัตรู จึงพยายามเอาชนะมัน แล้วก็จัดการกับมันตามชอบใจ โดยไม่มีความรับผิดชอบอย่าง AlGore รองประธานาธิบดีอเมริกา ซึ่งเป็นนักสิ่งแวดล้อมคือ environmentalist ด้วยได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Earth in the Balance โลกในภาวะดุลยภาพ โดยบอกว่า เรายอมรับว่าตะวันตกมีแนวคิดที่ทำให้อารยธรรมของเรานี้ ไม่มีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ คิดจะทำอะไรกับธรรมชาติตามชอบใจ ความสำนึกผิด และ ความผิดหวังต่อแนวคิดทิฐิที่จะพิชิตธรรมชาติของตะวันตกนี้ เป็นเหตุให้ฝรั่งหาทางแก้ไข รวมทั้งการหันมาสำรวจและแสวงหาแนวคิดตะวันออก และแม้แต่ความคิดของ ชนอินเดียนแดงที่เคยถูกเหยียดหยาม กลับได้รับความชื่นชม ฝรั่งอเมริกันหลายคน เช่น AlGore ได้ยกวาทะของ Seattle หัวหน้าเผ่าอินเดียนแดง ( ซึ่งเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อเมือง Seattle ในอเมริกา ) ขึ้นมาเอ่ยอ้าง ตามเรื่องว่า เมื่อครั้งประธานาธิบดี Franklin Pierce ติดต่อขอซื้อที่ดินของอินเดียนแดง หัวหน้าเผ่าคนนี้ได้มีหนังสือตอบประธานาธิบดีไปว่า



“ อะไรกัน ผืนฟ้า และ แผ่นดิน ท่านจะเอามาซื้อขายได้อย่างไร นี่เป็นความคิดที่แปลกประหลาด ” ตอนนี้ คนอเมริกันยุคปัจจุบันหันมายกย่องสรรเสริญว่าอินเดียนแดงมีความคิดที่ถูกต้อง นี่แหละ…ความคิดพิชิตธรรมชาติเป็นเบื้องหลังอารยธรรมปัจจุบัน ซึ่งเฟื่องฟูเต็มที่ในยุคอุตสาหกรรม ที่มนุษย์ เอาความรู้วิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์อุปกรณ์เทคโนโลยี แล้วก็พัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างวัตถุให้พรั่งพร้อมตามความเชื่อว่า “ มีเสพบริโภคมากที่สุด จะเป็นสุขที่สุด ”แนวคิดทิฐิความเชื่อที่เป็นมโนกรรมนี้เป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและสังคม ถ้าคนในสังคมไทยมีความเชื่อว่า ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นจากการดลบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติ ถ้าคนไทยเชื่ออย่างนี้ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ขอให้พิจารณาแล้วขณะนี้เป็นหรือเปล่า



สังคมไทยจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ได้ตกอยู่ใต้แนวคิดความเชื่อว่า ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจดลบันดาลของสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ นี่คือจุดที่เราจะต้องแก้ปัญหาสังคมไทยถึงขั้นมโนกรรม เหมือนกับที่ฝรั่งขณะนี้กำลังหาทางแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ต้องลงไปถึงขั้นรากฐานความคิด ถึงขั้นต้องแก้ความเชื่อในการพิชิตธรรมชาติ ที่ถือว่า มนุษย์จะมีความสำเร็จและสุขสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีอำนาจจัดการกับธรรมชาติได้ตามต้องการ



แนวคิดทิฐิสองอย่างนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาที่สุดโต่งไปคนละด้าน แต่จุดที่เป็นตัวแท้ของปัญหาก็อยู่ที่ปมเดียวกัน คือมันบ่งชี้ว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด และที่ว่าโลกนี้เป็นไปตามกรรม คือ



เป็นไปตามมโนกรรมอย่างที่ว่านั่นแหละ



ตราบใดยังไม่ถึงจุดหมาย ยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องศึกษา



ความหมายของธรรมที่ปฏิบัติ จึงวัดด้วยไตรสิกขา



เกณฑ์วินิจฉัยความหมายของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ว่าปฏิบัติอย่างไรถูก อย่างไรผิด เวลาศึกษาหลักธรรมต่าง ๆ เรามักเน้นเรื่องความหมายกันแค่ว่า ธรรมข้อนี้คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไรแต่การให้ความหมายเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับระบบทั้งหมดได้



ธรรมทั้งหมดสัมพันธ์ส่งผลต่อกันเป็นกระบวนการ และอยู่ในระบบเดียวกันอย่างที่พูดถึงไตรสิกขา ก็เป็นระบบในตัวของมันแล้ว ระบบของไตรสิกขนั้นก็ยังไปเป็นส่วนย่อยที่รวมอยู่ในระบบใหญ่ของอริยสัจที่คลุมระบบใหญ่ของธรรมชาทั้งหมดอีกชั้นหนึ่ง คือว่าด้วยกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมทั้งความเป็นจริงของธรรมชาติทั่วไป และโยงมาถึงชีวิตมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งด้วย



เกณฑ์ที่จะใช้ตรวจสอบนี้ต้องให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงในระบบ เกณฑ์หนึ่งก็ คือ ไตรสิกขา เนื่องจากว่าคุณสมบัติและข้อปฏิบัติหรือหลักธรรมทุกอย่างก็อยู่ในกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่า ไตรสิกขาทั้งหมด ไม่เกินจากนี้ไปได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะต้องมีส่วนร่วมส่งผลอยู่ในกระบวนการของ ไตรสิกขา



ไตรสิกขา คือกระบวนการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ มีข้อปฏิบัติย่อย ๆ ที่ส่งผลต่อทอดกันคืบหน้าไปเรื่อยจนถึงจุดหมาย ถ้าไม่ถึงจุดหมายก็ไม่หยุด เท่ากับมีเกณฑ์ที่บอกว่า ข้อปฏิบัติ หรือ หลักธรรมทุกข้อ จะต้องชัดว่าส่งผลให้มีการก้าวหน้าไปในกระบวนการของไตรสิกขาอย่างไร คือจะต้องทำให้เราเดินหน้าและส่งผลต่อให้ข้ออื่นรับช่วงไปจนถึงจุดหมายสุดท้ายนั้น รวมความว่า ธรรมะต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในกระบวนการไตรสิกขานี้ ต้องมีลักษณะ ๒ อย่าง คือ



ทำให้คืบเคลื่อนหรือก้าวหน้าไป



ส่งผลต่อข้ออื่น



.....

มีต่อ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 13 มี.ค.2005, 1:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



890890.jpg


ในการปฏิบัติ สมาธิ เราได้ความหมายของสมาธิไว้แต่ต้นว่า จิตตั้งมั่น สงบ แน่วแน่ พอจิตตั้งมั่นสงบแน่วแน่ได้ตามความหมายแล้ว เราก็พอใจนึกว่าถูกแล้ว แต่ยังหรอก ลองเอาเกณฑ์มาตรฐานมาวัด ว่าถูกตามหลักไตรสิกขาหรือไม่ พอวัดด้วยเกณฑ์นี้ เราก็จะมองเห็นต่อไปอีกว่า อ้อ ถ้าปฏิบัติสมาธิถูกจะไม่ใช่หยุดอยู่แค่นั้น คือไม่ติดอยู่แค่สมาธิ แต่ต้องช่วยให้เราก้าวต่อไป แล้วก็ดูว่าสมาธิส่งผลต่อปัญญาอย่างไร ถ้าไม่ส่งผลต่อก็แสดงว่าพลาด



สมาธินั้นมีผลดีหลายอย่าง มีทั้งผลโดยตรงและผลข้างเคียง เช่น ทำให้จิตใจสงบ สบาย มีความสุข ทำให้จิตใสมองเห็นอะไรชัดเจน และทำให้เกิดกำลัง ทำให้มุ่งแน่วไปอย่างแรง เหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาวิ่งไปทางเดียว มีกำลังแรงมาก เจออะไรก็พัดพาไปได้



สรุปว่า จิตสมาธิมีคุณสมบัติ หนึ่ง…มีพลัง สอง…สงบสบาย มีความสุข สาม…ใส มองเห็นอะไร ชัดเจน เมื่อได้คุณสมบัติเหล่านี้ เราก็เอามาใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พอสงบสุขสบาย ก็อาจจะเอามาใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน เวลามีความทุกข์ก็มานั่งสมาธิให้จิตใจสงบ เพลินสบาย หายทุกข์ ซึ่งก็ได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกต้องตามหลักไตรสิกขา ถ้าใช้ประโยชน์เพียงแค่นี้ก็กลายเป็นหยุด ไม่ก้าวต่อไป อาจจะเขวออกเป็น มิจฉาสมาธิ ไม่แค่เป็นสิ่งกล่อม เหมือนยากล่อมประสาท เป็นต้น เอาแค่สบาย ไม่ต้องคิดทำอะไร มีทุกข์ก็เข้ามาหลบซึ่งมีทางพลาดได้มาก



วิสุทธิมรรค บอกว่า สมาธินั้นเข้าพวกกันได้กับความขี้เกียจ ( สมาธิสฺส โกสชฺชปกฺขตฺตา )เพราะว่ามันสงบสบาย โน้มเอียงไปทางเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไร กลายเป็นตกหลุมความประมาท นั่นก็คือเริ่มเขว ฉะนั้นการใช้ประโยชน์สมาธิจะต้องระวังถ้าใช้ไม่เป็นก็เกิด โทษ ได้



สังคมไทยบางทีศึกษาธรรมะไม่ตลอดกระบวนการ และไม่มีหลักในการวินิจฉัย คนไทยไม่น้อยเอาสมาธิมาใช้แค่หาความสุข สงบสบาย ซึ่งก็ใช้ได้ในระดับหนึ่ง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ จะเอามาใช้เป็นเครื่องพักผ่อนจิตใจ หรือ แก้ปัญหาความทุกข์ก็ได้ อย่างน้อยทำให้นอนหลับได้ ทำให้มีจิตใจสดชื่นขึ้น แต่ต้องมองต่อไปว่าประโยชน์ยังไม่จบแค่นั้น สมาธิช่วยให้เรามีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปด้วย



จึงต้องมองต่อไปอีกว่าจะมีองค์ธรรมอะไรมารับผลจากสมาธิเพื่อจะก้าวต่อไป ก็จะเห็นหลักไตรสิกขา ว่าต้องส่งผลต่อให้ ปัญญามารับช่วงทำงานเดินหน้าต่อไป



ประโยชน์ที่สำคัญของสมาธิ คือ ทำให้จิตเป็น “ กัมมนีย์ ” แปลว่า ควรแก่งาน หรือ เหมาะแก่งาน คือใช้เป็นที่ทำงาน ซึ่งปัญญาจะทำหน้าที่ได้ดี เช่น มองเห็นชัด สำรวจตรวจสอบได้เป็นลำดับ พิจารณาได้ลึกซึ้ง วิเคราะห์วิจัยได้ละเอียด จนเข้าถึง ความจริงแจ่มแจ้ง สมาธิที่ทำให้คนหยุดศึกษา แสดงว่าเป็นสมาธิที่ใช้ผิด



สมาธิเตรียมจิตพร้อมให้ปัญญาทำงานเดินหน้า ฉันใด



สันโดษก็เตรียมตัวพร้อมให้มุ่งเพียร ไม่พะวักพะวน ฉันนั้น



อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สันโดษ ซึ่งทำให้พอใจในวัตถุเสพบริโภคของตน มีเท่าไรก็ยินดีเท่านั้น หลายคนบอกว่าสันโดษแล้วจะได้มีความสุข ก็ถูกต้อง แต่ผิดด้วย ถ้าใครตอบว่าสันโดษเพื่อสุขก็ผิดแน่ ๆ พุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้นแค่นั้น



ความสุขเป็นผลพลอยได้ของสันโดษ ตามมาเอง แต่ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์ ผลที่ต้องการไม่ได้อยู่ที่นี่ ผลที่ต้องการจากสันโดษคืออะไร



เราสันโดษแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ที่จะเป็นความคืบหน้าและช่วยให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขา



พอสันโดษในวัตถุ เราก็สุขกับวัตถุที่มีอยู่หรือได้มาแล้ว สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย มีวัตถุแค่นี้ก็สุขแล้ว ตรงข้ามกับตอนที่ไม่สันโดษเราไม่สุขสักที ความสุขของเราไปอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ เราจึงกระวนกระวายโลดแล่นหาวัตถุเสพ เวลาของเราใช้หมดไปกับเรื่องนี้ ความคิดก็ครุ่นวุ่นวายกับการที่จะไปหาสิ่งเสพ ว่าทำอย่างไรจะได้อันนั้นอันนี้มา



ความไม่สันโดษจึงทำลายเวลา สิ้นเปลืองแรงงาน และสิ้นเปลืองความคิดที่จะใช้ในการสร้างสรรค์เพราะฉะนั้นท่านจึงให้สันโดษ เพื่อจะได้สุขกับวัตถุได้ง่าย พอสุขกับวัตถุได้ง่ายแล้ว เราไม่ใช่อยู่เฉย ๆ งานการหน้าที่ของเรามีอยู่แล้ว ตอนนี้เวลาแรงงานและความคิด เราออมไว้ได้ เราก็เอาเวลาเรี่ยวแรงความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการทำกิจหน้าที่ งานภารกิจหน้าที่นั้นก็เดินหน้าก้าวไปได้ดี



สรุปว่า สันโดษเพื่อเตรียมพร้อม สันโดษเป็นธรรมะขั้นเตรียมพร้อม คือให้พร้อมที่จะก้าวต่อไป ธรรมะนี่มีทั้งขั้นเตรียมตัวให้พร้อม และขั้นก้าวเดิน สันโดษเป็นธรรมะประเภทเตรียมตัวให้พร้อม พอเราพร้อมแล้ว เราไม่พะรุงพะรัง ไม่มัวกังวล ไม่มัวพะวักพะวนกับการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง ทีนี้จะทำงานการสร้างสรรค์อะไรก็ไปมุ่งหน้าแน่วดิ่งไปเลย



พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสันโดษไว้โดดเดี่ยว หรือลอย ๆ แต่ตรัสไว้กับการทำหน้าที่และความเพียรในการทำหน้าที่นั้น เช่นสำหรับพระสงฆ์ ทรงสอนให้สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เสร็จแล้วก็ให้ยินดีในการละอกุศล และพัฒนากุศล ทรงสอนให้ไม่สันโดษในการพัฒนากุศลนั้น



พูดสั้น ๆ ว่า ให้สันโดษในวัตถุเสพบริโภค แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าเป็นกุศลธรรม สิ่งที่ดีงาม การสร้างสรรค์คุณความดีที่ประเสริฐ พระองค์ทรงสอนไม่ให้สันโดษ พระพุทธองค์เองก็ไม่สันโดษและเพียรไม่ระย่อ หลักการนี้มีทั้งในพระสูตรและอภิธรรม ถ้าสอนสันโดษต้องสอน ความไม่สันโดษด้วยพร้อมกัน และต้องรู้ว่าให้สันโดษในอะไร ไม่สันโดษในอะไร คือ



ให้สันโดษในวัตถุเสพ ที่จะบำรุงบำเรอตนเอง หาความสุขส่วนตัว



ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ในการทำความดีงาม ในการทำการสร้างสรรค์



สันโดษกับ ไม่สันโดษ จึงไปด้วยกันได้อย่างดี สันโดษมาหนุนความไม่สันโดษ ช่วยให้เราก้าวต่อไปในไตรสิกขา ให้สามารถทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น ในการพัฒนาชีวิตและสังคม นี่เป็นตัวอย่างของเกณฑ์วินิจฉัย



ถ้าคนไทยตั้งอยู่ในหลักสี่ จะไม่ตกหลุมวิกฤติ ถึงแม้ถลำไป ก็จะถอนตัวขึ้นสู่วิวัฒน์ได้โดยพลัน



หลักธรรม ๔ ประการต่อไปนี้ เป็นหลักการใหญ่ขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสย้ำอยู่เสมอ แต่ตามปกติตรัสไว้เป็นอิสระจากกัน เพราะมีนัยโยงถึงกัน หรือครอบคลุมกัน ในที่นี้ขอยกมาย้ำไว้ในที่เดียวกัน ถือว่าเป็นแก่นแท้ที่ปฏิบัติได้ทันทีและเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย



.........

มีต่อ

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 13 มี.ค.2005, 2:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



88218821.jpg


หลักสำคัญเหล่านี้จะต้องใช้ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในการแก้วิกฤติของสังคมไทย และสร้างสรรค์ประเทศชาติต่อไปข้างหน้า คนไทยต้องอยู่กับหลักการ ๔ อย่างต่อไปนี้ให้ได้ คือ



๑. หลักการกระทำ คือมุ่งทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม โดยเฉพาะความเพียรของตนเอง หลักนี้เรียกว่า หลักกรรมและความเพียร พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราเป็นกรรมวาที เราเป็นวิริยวาที



พระองค์ไม่ได้ตรัสอย่างเดียว แต่ตรัสคู่กันว่า กรรมวาที และ วิริยวาที " เราเป็นผู้กล่าวหลักการกระทำ เราเป็นผู้กล่าวหลักความเพียร ” คนจะทำต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ก้าวไปในการทำไม่ได้



พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งกรรมและวิริยะ ให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงกำลังของตน ไม่มัวหวังผลจากการอ้อนวอนนอน รอผลดลบันดาลจากลาภลอย จากการรวยทางลัด การทุจริต การเสี่ยงโชค การพนัน เป็นต้น



สรุปว่า ต้องถือหลักการกระทำให้สำเร็จด้วยความเพียร ขอยกพุทธพจน์มาย้ำไว้ว่า



“ ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายแม้ที่ได้มีแล้วในอดีตกาล... พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายแม้ที่จักมีในอนาคตกาล… แม้เราเองผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะในบัดนี้ ก็เป็นกรรมวาท ( ตรัสหลักกรรม ) เป็นกิริยวาท ( ตรัสหลักการที่จะต้องทำ ) เป็นวิริยวาท ( ตรัสหลักความเพียร )”( องฺ.ติก.๒๐/๕๗๗/๓๙๖)



๒. หลักการศึกษาพัฒนาตน คือ ต้องถือเป็นหน้าที่โดยมีจิตสำนึกที่จะฝึกตนให้ก้าวหน้าต่อไปในการทำกุศลกรรมต่าง ๆ ที่จะให้ชีวิตและสังคมดีงมยิ่งขึ้น นี่เรียกว่า หลักไตรสิกขา



ตามหลักเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ดังนั้น ในการที่จะก้าวไปสู่ความดีงาม ความประเสริฐสมบูรณ์นั้น ชีวิตต้องพัฒนาด้วยไตรสิกขาเพื่อก้าวไปข้างหน้า ชีวิตจะต้องดีขึ้น ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องศึกษา ต้องพัฒนาเสมอไป จะต้องไม่มัวหยุดอยู่กับที่ขอยกคาถาพุทธพจน์แห่งหนึ่งมาไว้เตือนใจว่า “ เพราะฉะนั้นแล เป็นคนอยู่ในโลกนี้ พึงศึกษาตามหลักไตรสิกขาเถิด สิ่งใดก็ตามที่พึงรู้ได้ในโลกว่าเป็นสิ่งผิดร้ายไม่ดี ไม่พึงประพฤติผิดร้ายไม่ดี เพราะเห็นแก่มัน ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าชีวิตนั้นน้อยนัก " ( ขุ.สุ.๒๕/๔๐๙๔๘๕ ) พร้อมทั้งพุทธภาษิตว่า “ ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ ” ( ขุ.ธ.๒๕/๓๓/๕๗ )



๓. หลักไม่ประมาท ในการที่จะทำอะไร ๆ ด้วยความเพียรและในการที่จะพัฒนาตนนั้น จะต้องไม่ประมาท ต้องตระหนักในความสำคัญของกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงว่า ในขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้ สิ่งทั้งหลายรอบตัวเราและชีวิตของเราล้วนไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ มีอะไรที่ควรจะทำต้องรีบทำ ต้องเร่งขวนขวายไม่ประมาท ไม่ผิดเพี้ยน ไม่นอนใจ



หลักไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเหมือนกับ รอยเท้าช้าง ที่ครอบคลุมธรรมะของพระองค์ไว้หมด แล้วก็เป็น ปัจฉิมวาจา ของพระองค์ก่อนปรินิพพานด้วย จึงถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง



ในความไม่ประมาทนี้ แม้สังคมก็จะหยุดนิ่งไม่ได้ เพราะสังคมมีแนวโน้มว่า เมื่อไรมีความสำเร็จ เมื่อไรเจริญดีมีความพรั่งพร้อม เมื่อไรมีความสุขสบาย คนจะเริ่มเฉื่อยลงและเริ่มอ่อนแรงแล้วก็เริ่มประมาท



สังคมมักจะเป็นอย่างนั้น คือ พอสบายก็ประมาท หันไปฟุ้งเฟ้อมัวเมาหลงระเริง ติดในความสุขสบาย เพลิดเพลิน สำเริง สำราญ ลุ่มหลงในการบันเทิง ไม่เร่งรัดขวนขวายทำกิจหน้าที่ ผัดเพี้ยนเฉื่อยชา



เพราะฉะนั้น ผู้บริหารสังคมจะต้องคอยกระตุ้นเตือนปลุกเร้าประชาชนให้ไม่ประมาทมัวเมาทุกเวลาเครื่องพิสูจน์การพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่งคือ ทั้งที่สุขสบายก็ไม่ประมาท ถ้าใครทำได้สำเร็จอย่างนี้เมื่อไรก็มีคุณสมบัติที่จะเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเดียวที่จะไม่ประมาทเลยเป็นอันขาด คือพระอรหันต์ นอกจากนั้น แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ก็ยังประมาทได้ คือพอประสบความสำเร็จไปเท่านี้ ก็พอใจว่าเราได้ก้าวหน้ามามีความดีเยอะแล้ว ก็ชักเฉื่อย พอเฉื่อยลงพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเธอประมาทแล้ว



ในพระพุทธศาสนานี้ ท่านไม่ให้หยุดในการสร้างสรรค์กุศลธรรม ตราบใดยังไม่ถึงจุดหมาย ก็ต้องก้าวไปในไตรสิกขาโดยไม่ประมาท ต้องก้าวต่อไป ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรมทั้งหลาย เรายกย่องสรรเสริญอย่างเดียว แต่ความก้าวหน้าต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย ” ( องฺ.ทสก. ๒๔/๕๓/๑๐๑ )พุทธพจน์นี้แสดงหลักเดียวกัน คือความไม่ประมาท



๔. หลักพึ่งตนได้ ซึ่งทำให้มี อิสรภาพ การพึ่งตนคือ ต้องทำให้แก่ตัวเราด้วยตนเอง จึงต้องพัฒนาตัวเอง คือ เราพัฒนาตนเองเพื่อให้ทำได้ด้วยตนเอง เมื่อเราทำได้ด้วยตนเองเราก็พึ่งตนได้ ถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้



เราต้องพยายามพึ่งตนให้ได้ แต่เราจะทำได้ด้วยตนเองและพึ่งตนได้เราต้องทำตนให้พึ่งตนได้ โดยฝึกตนขึ้นไปให้ทำได้ทำเป็น



พระพุทธเจ้าเน้นเรื่องการทำตนให้พึ่งตนได้ หรือทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มากกว่าเน้นการพึ่งตนถ้าพูดว่าให้พึ่งตน แต่เขาไม่มีความสามรถที่จะพึ่งตนแล้ว เขาจะพึ่งตนได้อย่างไร ก็ได้แต่ซัดกันว่า นี่เธอยากจน เธอก็พึ่งตนสิว่าอย่างนั้น มันจะพึ่งตนอย่างไรในเมื่อไม่มีความสามารถที่จะพึ่งตนนั้น



เพราะฉะนั้น อย่าพูดแค่พึ่งตนซึ่งเป็นเพียงคำเตือนเริ่มต้นแต่ต้องก้าวต่อไปสู่การฝึกฝนปฏิบัติซึ่งเป็นคำสอนที่แท้ว่า จงพยายามพึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ แล้วทำอย่างไรจะให้ตนเป็นที่พึ่งได้ก็ต้องฝึกต้องศึกษาพัฒนาตน



พอพัฒนาตนก็เข้าไตรสิกขา ซึ่งทำให้ตนเองมีคุณสมบัติคุณภาพดีมากขึ้นสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ได้ผลดียิ่งขึ้น ก็พึงตนเองได้ พอพึ่งตนเองได้ ก็ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ก็เป็นอิสระ กลายเป็นว่าสามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่น



ความเป็นอิสระนี้ มิใช่เฉพาะการไม่ต้องคอยพึ่งพาขึ้นต่อคนอื่นเท่านั้น แต่หมายถึงการไม่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุมากเกินไปด้วย ดังนั้นอิสรภาพที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง จึงหมายถึงการมีความสามารถที่จะมีความสุขในตัวเองได้มากขึ้น โดยพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยลง คือเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเอาชีวิตไปขึ้นต่อวัตถุ ไม่ต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งเสพบริโภค ซึ่งจะทำให้ลดความแย่งชิงเบียดเบียนกันในสังคม



พร้อมกันนั้น เมื่อได้พัฒนาตนเองให้มีความสามารถมากขึ้นทั้งในการที่จะมีความสุขที่เป็นอิสระ และในการที่จะทำการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ก็จะทำให้ทั้งชีวิตของตัวเองก็ดีขึ้น และสามารถเกื้อxxxลแก่ผู้อื่นหรือแก่สังคมได้มากขึ้น พร้อมไปในคราวเดียวกัน ขอยกพุทธภาษิตมาย้ำเตือนอีกว่า



“ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน โดยแท้จริงคนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั้นแหละ คือ ได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก ” ( ขุ.ธ.๒๕/๒๒/๓๖ )หลัก ๔ ประการนี้สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน แต่แยกในเชิงปฏิบัติให้ใช้ได้เหมาะสม และได้ผลจริงจัง การปฏิบัติจากทุกหลักจะมาบรรจบประสานเป็นอันเดียวกันขอทวนอีกครั้งว่า หลัก ๔ ประการนี้ต้องย้ำอย่างที่สุด เพราะเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา และเหมาะสมยิ่งกับยุคปัจจุบัน



๑. ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม



๒. เรียนรู้ ฝึกศึกษาพัฒนาตน ให้ชีวิตและสังคมก้าวหน้าไปสู่ความดีเลิศประเสริฐยิ่งขึ้น



๓. มีความไม่ประมาท กระตือรือร้น ขวนขวายสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์



๔. พึ่งตนได้ มีอิสรภาพ พร้อมที่จะเผื่อแผ่ความสุข เป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้มีสี่ข้อนี้พอแล้ว ประเทศไทยพัฒนาได้แน่



แก่นแท้ของพุทธธรรม คือความหลุดพ้นพึ่งตนได้



ในสังคมของกัลยาณมิตร ผู้มีชีวิตที่เกื้อxxxลกัน



ขอจบด้วยคำสรุปตามหัวข้อที่ตั้งไว้ให้ว่า “ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ” นั้นมีอยู่ในพระสูตรหนึ่งชื่อว่า มหาสาโรปมสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องแก่นของพระพุทธศาสนาไว้ มีใจความตามพระสูตรนี้ว่า ชีวิตที่ประเสริฐ ( พรหมจริยะ ) คือตัวพระพุทธศาสนานี้ เปรียบได้กับต้นไม้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่าง ๆ คือ



ลาภสักการะ เหมือนกิ่งใบ



ศีล เหมือนสะเก็ดไม้



สมาธิ เหมือนเปลือกไม้



ปัญญา เหมือนกับกระพี้ไม้



วิมุตติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นแก่น



ตรงนี้แหละ มาถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระ เข้ากับหลักที่พูดสุดท้ายว่า จะต้องพัฒนาตนให้พึ่งตนเองได้ และเป็นอิสระ จนกระทั่งในที่สุดเป็นอิสระทางจิตใจและปัญญาเราพึ่งคนอื่น เช่น พึ่งพระพุทธเจ้า ก็เพื่อทำตัวเราให้พึ่งตนเองได้ พระพุทธเจ้าช่วยให้เราพึ่งตนเองได้นั่นเอง จุดหมายก็คือพึ่งตนเองได้เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นหลักพุทธศาสนาจึงมาถึง แก่นแท้ที่สูงสุด คือวิมุตติ ความหลุดพ้น เป็นอิสระ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ก็จบลงตรงนี้เอง



ตอนแรกเป็นอิสระทางพฤติกรรม ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นอิสระทางสังคม ทำอะไร ๆ พูดอะไร ได้โดยไม่ถูกบังคับครอบงำ ข่มเหง แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากจิตใจที่เป็นอิสระจากกิเลส จึงจะเป็นอิสระจากการเบียดเบียนกันแท้จริง อิสรภาพที่แท้จึงไม่ใช่เป็นพฤติกรรม แต่เป็นภาวะทางจิตใจและปัญญา และอิสรภาพที่สมบูรณ์คืออิสรภาพทางปัญญา



ด้านพฤติกรรมนั้น ท่านไม่สอนให้เป็นอิสระแบบแยกต่างหากจากกัน หรือต่างคนต่างอยู่ แต่พฤติกรรมนั้นท่านมุ่งให้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ให้เกื้อหนุนกันด้วยวัตถุและเรี่ยวแรงกำลังเป็นต้น โดยรู้เท่าทันว่าวัตถุทรัพย์สินภายนอก รวมทั้งลาภสักการะทั้งหลาย เราต้องอาศัยแต่มันเป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุน เหมือนเป็นกิ่งใบ ไม่ใช่เป็นแต่แก่นสาร







ด้านพฤติกรรมเกี่ยวกับชีวิตภายนอกนี้ ให้เราเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้ พร้อมกับเราต้องพึ่งคนอื่นด้วย ให้สังคมเป็นสังคมประเภทพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน โดยแต่ละคนก็มีอะไรให้คนอื่นได้พึ่งบ้าง ต่างก็เกื้อหนุนกัน ให้สังคมอยู่ผาสุก และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนายิ่งขึ้นไปในไตรสิกขา เพื่อให้แต่ละคนมีอิสรภาพที่พึ่งตนได้แท้จริงทางจิตใจและทางปัญญา อย่างนี้จึงจะเป็นสังคมที่ดี



ขอให้ดูวินัยของพระ คือชีวิตในสังฆะตามพุทธบัญญัติ จะเห็นชัดว่าเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงจัดวางเป็นแบบไว้ คือสังคมสงฆ์เป็นสังคมตัวอย่างแห่งการที่แต่ละคนพยายามพัฒนาตนให้มีอิสรภาพทางจิตใจและปัญญา โดยที่ชีวิตทางด้านพฤติกรรมนั้นพึ่งพาอาศัยเกื้อxxxลซึ่งกันและกัน เป็นการเกื้อหนุนกันให้ก้าวไป ไม่ใช่ช่วยให้เขาไม่ต้องทำแล้วคอยรอรับความช่วยเหลือคนที่มีอิสรภาพทางจิตใจและทางปัญญาเท่านั้น จึงจะสร้างสรรค์สังคมอย่างนี้ และอยู่กันด้วยดีในสังคมอย่างนี้ได้



เรื่องแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พูดมาถึง แก่นธรรมเพื่อชีวิต แล้ว ขอจบเพียงนี้ แม้ว่าที่จริงยังมีหัวข้อที่ควรพูดอีก ๒ เรื่อง หรือ ๒ บท คือ แก่นธรรมเพื่อสังคม กับ แก่นธรรมเพื่อโลก แต่จำเป็นต้องยุติเพราะความยาวที่เกินเวลา



ขออนุโมทนาท่านอธิบดี ท่านรองอธิบดี ท่านผู้อำนวยการและท่านผู้บริหารระดับสูงของกรมการศาสนา



ขอความเจริญผาสุกจงมีแด่ทุกท่าน



***********************************

บทความจาก
http://www.moe.go.th/webrad/book/buddha1.htm
http://www.tungsong.com/Modify-Lifetsgcity/Read/read_index.asp





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ping-105
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 19 พ.ย.2005, 10:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมวาทีคืออะไร
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง