Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ความเป็นมาของพระไตรปิฎก (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 พ.ย.2006, 7:45 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระอภิธรรมปิฎก


1. โครงสร้างพระอภิธรรมปิฎก

พระอภิธรรมปิฎก

สังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน


2. เนื้อหาสาระ

อภิธรรม แปลว่า ธรรมยิ่ง ธรรมวิเศษ ธรรมเลอล้ำ หรือหัวธรรม (เหมือนพูดกันว่าหัวน้ำหอม หัวน้ำนม หัวกะทิ เป็นต้น) หมายถึง คำสอนที่เป็นข้อสำคัญเป็นหลักใหญ่ เป็นเนื้อหาแท้ๆ ของพระพุทธศาสนา

ปิฎก แปลว่า ภาชนะที่บรรจุหรือเก็บรวบรวม (เช่น ตะกร้า กระบุง ปุ้งกี๋) คัมภีร์ ตำรา อภิธรรมปิฎกจึงแปลรวมกันว่า คัมภีร์ที่รวบรวมหลักคำสอนสำคัญที่เป็นเนื้อหาแท้ๆ ของพระพุทธศาสนา ท่านมักอธิบายโดยเทียบกับพระสูตร (สุตตันตปิฎก) ว่า

พระสูตรเป็นคำสอนที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ พระพุทธเจ้าแสดงโดยปรารภบุคคลและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทรงชี้แจง แนะนำ ให้พอเหมาะพอดีกับพื้นเพ อุปนิสัย สติปัญญา ความพร้อมของผู้ฟังและให้โอกาสนั้น เนื้อหาของพระธรรมที่ทรงอธิบายก็มักเป็นเพียงความหมายแง่ใดแง่หนึ่ง หรือบางส่วน บางด้านของข้อธรรมนั้นเท่าที่จะให้คนฟังเข้าใจและได้รับผลสำหรับคราวนั้นๆ หลักธรรมก็ปะปนอยู่กับเรื่องราว ความเป็นไปเกี่ยวข้องในการเทศน์ เช่น มีตัวอย่างแทรกอยู่บ้าง มีคำเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมยบ้าง เป็นต้น

ส่วนพระอภิธรรมนั้น แสดงแต่เนื้อธรรมล้วนๆ แท้ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อยกหลักธรรมใดขึ้นมาอธิบายก็อธิบายโดยสิ้นเชิง คือแจกแจงให้ละเอียดทุกแง่ทุมมุม ครบถ้วนเต็มที่ตามหลักวิชาการ ให้จบไปเป็นเรื่องๆ ไม่คำนึงว่าใครจะอ่านใครจะฟัง

รวมความว่า อธิธรรมปิฎก เป็นคัมภีร์รวบรวมและอธิบายหลักธรรมตามแนวหลักวิชาการหรือโดยวิธีนักวิชาการ พูดอย่างง่ายๆ ว่า พระสูตรว่าด้วยหลักธรรมที่นำมาให้คนใช้ อภิธรรมว่าด้วยธรรมในตำราของนักวิชาการ

อภิธรรมแบ่งออกเป็น 7 คัมภีร์ คือ สังคณี หรือธรรมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน

คนโบราณกำหนดเป็นอักษรย่อ ให้จำง่าย เรียกว่า "หัวใจอภิธรรม" ได้แก่ สัง. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. ป. และมักจะเรียกว่าพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ เพื่อแยกไว้ต่างหากมิให้สับสนกับคัมภีร์อภิธรรมรุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

ในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐของไทย 45 เล่ม อภิธรรมปิฎกพิมพ์เป็นหนังสือ 12 เล่มมีสาระสำคัญโดยย่อ ดังนี้


(มีต่อ 61)
 


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 01 ธ.ค.2006, 6:26 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 ธ.ค.2006, 6:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สังคณี หรือธรรมสังคณี แปลว่า ประมวลนับ หรือตรวจนับข้อธรรม คือ ยกหลักธรรมแม่บทขึ้นตั้งเป็นหัวข้อ ถามว่า หลักธรรมนี้ได้แก่อะไรบ้าง หรือประกอบด้วยข้อธรรมย่อยอะไรบ้าง แล้วนับคือแสดงให้ดูว่าหลักธรรมนี้ในกรณีนี้ๆ ได้แก่ธรรมข้อนี้ๆ เช่น ตั้งหัวข้อว่า ธรรมพวกไหนบ้างเป็นกุศลแล้วตอบชี้แจงว่าในกรณีนี้ ในเวลาที่จิตเป็นอย่างนี้ มีธรรมชื่อนี้ ชื่อนี้...เป็นกุศล

คัมภีร์สังคณี แบ่งออกเป็นตอนๆ ตอนต้นเสมือนบทนำ ของอภิธรรมทั้งหมด เรียกว่า "มาติกา" ต่อจากนั้นมีตอนที่เป็นตัวแท้ของธรรมสังคณีอีก 4 ตอน

มาติกา แปลว่า แม่บท หมายถึงหลักธรรมที่เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ชุดหนึ่งๆ ซึ่งสามารถนำเอาข้อธรรมต่างๆ ทั้งหลายมาสรุปลงได้ทั้งหมด เช่น กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม เป็นมาติกาหนึ่ง โลกียธรรม และโล

กุตตรธรรม เป็นมาติกาหนึ่ง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหลายมีอยู่เท่าใดก็ตาม ย่อมสรุปลงในมาติกาแต่ละมาติกาได้ทั้งหมด มาติกาที่มีข้อใหญ่ 3 หัวข้อเรียกว่า ติกมาติกา แปลว่า มาติกาชุดสาม (เช่น อกุศลธรรม กุศลธรรม และ อัพยากตธรรม เป็นติกมาติกาหนึ่ง)

มาติกาอย่างนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 164 มาติกา มาติกาเหล่านี้ ยังจัดแยกได้เป็น 2 ประเภท คือแม่บทแบบอภิธรรม เรียกว่า อภิธรรมมาติกา และแม่บทแบบพระสูตรเรียกว่า สุตตันตมาติกา ขอยกตัวอย่างมาติกาที่น่าสนใจให้ดู ดังนี้

ก. อภิธรรมมาติกา (112 มาติกา)

1. ติกมาติกา (22)

กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม

อดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ฯลฯ

2. ทุกมาติกา (100)

สังขตธรรม อสังขตธรรม

รูปิธรรม อรูปิธรรม

โลกียธรรม โลกุตตรธรรม

สาสวธรรม อนาสวธรรม

อุปาทินนธรรม อนุปาทินนธรรม ฯลฯ

ข. สุตตันตมาติกา (42 ทุกมาติกา)

พาลธรรม บัณฑิตธรรม

นาม รูป

สัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ

ขันติ โสรัจจะ

สติ สัมปชัญญะ

สมถะ วิปัสสนา ฯลฯ

อีก 4 ตอนที่เหลือของธรรมสังคณี ก็คือคำอธิบายของมาติกาที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง โดยเฉพาะ 2 ตอนแรกเป็นคำอธิบายของมาติกาแรก (คือกุศล-อกุศล-อัพยากตะ) เพียงมาติกาเดียวเท่านั้น ตอนทั้ง 4 นั้นเรียกเป็นกัณฑ์ๆ ดังนี้

1. จิตตุปปาทกัณฑ์ ตอนว่าด้วยจิตและเจตสิก อธิบายโดยยกมาติกาแรก (กุศล อกุศล อัพยากตะ) จับขึ้นตั้งเป็นแม่บทและตรวจนับเจตสิกต่างๆ ที่เป็นกุศล อกุศล อัพยากตะ ซึ่งเกิดขึ้นกับจิตประเภทต่างๆ ในแต่ละกรณีๆ ไปตามลำดับ

2. รูปกัณฑ์ ตอนว่าด้วยรูป ตรวจนับรูปประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นอัพยากตธรรม อยู่ในมาติกแรกทั้งสิ้น ตรวจนับทีละประเภทๆ ไปตามลำดับ ว่าประเภทนั้นมีรูปอะไรบ้าง ประเภทนี้มีรูปอะไรบ้าง ตามลำดับจนหมด ท้ายสุดกล่าวถึงนิพพานหน่อยหนึ่ง ในฐานะที่เป็นอัพยากตธรรมอย่างหนึ่งด้วย

3. นิกเขปกัณฑ์ อธิบายมาติกาทั้งหมดทั้ง 164 มาติกา แต่อธิบายสั้นๆ อย่างที่เรียกว่าให้คำจำกัดความ ไปตามลำดับจนครบทุกมาติกา

4. อัตถุทธารกัณฑ์ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอรรถกถากัณฑ์) อธิบายหรือให้คำจำกัดความแก่อภิธรรมมาติกา 122 ข้อใหญ่ อีกครั้งหนึ่งแต่ไม่อธิบายสุตตันตมาติกา วิธีการอธิบายหรือให้คำจำกัดความในอัตถุทธารกัณฑ์ เป็นอีกแนวหนึ่งต่างจากนิกเขปกัณฑ์ ตัวอย่างเช่น อธิบายมาติกาว่าด้วยสังขตธรรม และอสังขตธรรม

นิกขปกัณฑ์ว่า : "ธรรมเหล่าไหนเป็นสังขตะ ธรรมเหล่าใดมีปัจจัย ธรรมเหล่านั้นแลเป็นสังขตะ"

ธรรมเหล่าไหนเป็นอสังขตะ ธรรมเหล่าใดไม่มีปัจจัย ธรรมเหล่านั้นแลเป็นอสังขตะ"

อัตถุทธารกัณฑ์ว่า : "ธรรมเหล่าไหนเป็นสังขตะ กุศลในภูมิ 4 อกุศลวิบากในภูมิ 4 กิริยา อัพยากฤตในภูมิ 3 และรูปนั้นทั้งหมด, ธรรมเหล่านั้นเป็นสังขตะ

ธรรมเหล่าไหนเป็นอสังขตะ นิพพาน ธรรมเหล่านั้นเป็นอสังขตะ"

คัมภีร์สังคณีทั้งหมดนี้ รวมอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกันคือเล่มที่ 34


วิภังค์

วิภังค์ แปลว่า แจกแจง หรือจำแนกความ คืออธิบายหลักธรรมสำคัญๆ เช่น ขันธ์ อายตนะ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น โดยแยกแยะรายละเอียด กระจายออกให้เห็นทุกแง่ จนชัดเจนจบเป็นเรื่องๆ อธิบายเรื่องใดก็เรียกว่า วิภังค์ของเรื่องนั้น เช่น อธิบายเรื่องขันธ์ 5 ก็เรียกว่า ขันธวิภังค์ อธิบายเรื่องอริยสัจ 4 ก็เรียกว่า สัจจวิภังค์ เป็นต้น

1. ขันธวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ขันธ์ 5

2. อายตนวิภังค์ แจกแจงเรื่อง อายตนะ 12

3. ธาตุวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ธาตุ 18

4. สัจจวิภังค์ แจกแจงเรื่อง อริยสัจ 4

5. อินทรียวิภังค์ แจกแจงเรื่อง อินทรีย์ 22

6. ปัจจยาการวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท 12

7. สติปัฏฐานวิภังค์ แจกแจงเรื่อง สติปัฏฐาน 4

8. สัมมัปปธานวิภังค์ แจกแจงเรื่อง สัมมัปปธาน 4

9. อิทธิปาทวิภังค์ แจกแจงเรื่อง อิทธิบาท 4

10. โพชฌังควิภังค์ แจกแจงเรื่อง โพชฌงค์ 7

11. มัคควิภังค์ แจกแจงเรื่อง มรรคมีองค์ 8

12. ฌานวิภังค์ แจกแจงเรื่อง รูปฌาน อรูปฌาน

13. อัปปมัญญาวิภังค์ แจกแจงเรื่อง อัปปมัญญา 4

14. สิกขาปทวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ศีล 5

15. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ปฏิสัมภิทา 4

16. ญาณวิภังค์ แจกแจงเรื่อง ญาณประเภทต่างๆ

17. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจกแจงเรื่อง เบ็ดเตล็ด คือ อกุศลธรรมต่างๆ มากมาย

18. ธรรมหทัยวิภังค์ แจกแจงเรื่อง หัวใจธรรม คือหลักธรรมสำคัญต่างๆ ที่ควรรู้

วิธีอธิบายวิภังค์นี้ ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ พูดไปทีละแง่ๆ เพื่อให้ได้ความหมาย และทราบรายละเอียดต่างๆ ปรากฏออกมาชัดเจน แทบทุกเรื่องหรือแทบทุกวิภังค์จะมีการอธิบายตามลำดับขั้นตอนคล้ายคลึงกัน คือแบ่งเป็น

ก. สุตตันตภาชนีย์ จำแนกความแบบพระสูตรหรืออธิบายตามแนวพระสูตร

ข. อภิธรรมภาชนีย์ จำแนกความอภิธรรมหรืออธิบายตามแนวอภิธรรม

ค. ปัญหาปุจฉกะ ภาคถามปัญหา คือตั้งคำถามให้วินิจฉัยเรื่องนั้น ตามหลักมาติกา ที่กล่าวแล้วในสังคณี เช่น ในขันธวิภังค์ จะถามว่าในขันธ์ 5 กี่ขันธ์เป็นอกุศล กี่ขันธ์เป็นอพยากฤต กี่ขันธ์เป็นโลกียะ กี่ขันธ์เป็นโล

กุตตระ อย่างไรก็ตาม วิภังค์ท้ายๆ มักไม่มีภาคปัญหาปุจฉกะ

วิภังค์ทั้ง 18 อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกันคือ เล่มที่ 35


(มีต่อ 62)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2006, 1:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธาตุกถา

ธาตุกถา แปลว่า แถลงเรื่องธาตุ (เป็นชื่อที่ตัดให้สั้น ชื่อเต็มควรจะเป็นขันธายตนธาตุกถา แปลว่า แถลงเรื่องขันธ์ อายตนะ และธาตุ) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการสงเคราะห์คือ นำเอาข้อธรรมต่างๆ มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อไหนจัดเข้าได้ ข้อไหนจัดเข้าไม่ได้ จัดเข้าได้ในขันธ์ใด อายตนะใด หรือธาตุใด กี่อย่างจัดเข้าได้ กี่อย่างจัดเข้าไม่ได้ ข้อไหนประกอบกันได้ ข้อไหนประกอบกันไม่ได้ เช่น อิทธิบาท สงเคราะห์ได้ (คือจัดเข้าได้) ในขันธ์ 2 อายตนะ 1 ธาตุ 1 สงเคราะห์ไม่ได้ (คือจัดเข้าไม่ได้) ในขันธ์ 3 อายตนะ 10 ธาตุ 16 ดังนี้ เป็นต้น

ข้อธรรมที่นำมาพิจารณาจัดเข้า ได้แก่ ธรรมต่างๆ ในมาติกาทั้งหลาย และข้อธรรมอื่นๆ อีก 125 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 สัจจะ 4 อินทรีย์ 22 ปฏิจจสมุปบาท 12 สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 ฌาน 4 อัปปมัญญา 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต อธิโมกข์ มนสิการ


ปุคคลบัญญัติ

ปุคคลบัญญัติ แปลว่า การบัญญัติบุคคล หมายความว่าบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ เช่น บัญญัติความหมายของคำว่า พระโสดาบันว่า "บุคคลอย่างไหนเป็นโสดาบัน บุคคลใดละสังโยชน์ 3 แล้ว บุคคลนั้นเรียกว่าโสดาบัน"

คำว่า เสขะ ก็ว่า "บุคคลอย่างไหนเป็นเสขะ บุคคล 4 ที่ประกอบด้วยมรรค บุคคล 3 ผู้ประกอบด้วยผล ชื่อว่าเป็นเสขะ"

คำว่า ปัจเจกพุทธะ ก็ว่า "บุคคลอย่างไรเป็นพระปัจเจกพุทธะ บุคคลบางท่านในโลกนี้ย่อมตรัสรู้เองซึ่งสัจจะทั้งหลายในบรรดาธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แต่ไม่บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมเหล่านั้น ทั้งไม่ถึงความชำนาญในธรรมอันเป็นกำลังทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ" ดังนี้เป็นต้น

วิธีการอธิบายในปุคคลบัญญัติ ท่านเอาบุคคลประเภทต่างๆ มาจัดเรียงเป็นมาติกา คือแม่บทก่อน ตามลำดับเลขจำนวน คือหมวดบุคคล 1 หมวดบุคคล 2 หมวดบุคคล 3 หมวดบุคคล 4 หมวดบุคคล 5 หมวดบุคคล 6 เรื่อยไปจนถึงหมวดบุคคล 10 จากนั้นจึงทำนิทเทส คือขยายความหรืออธิบายแสดงความหมายไปตามลำดับ ทีละประเภทจนครบถึง 10 หมวด

ธาตุกถาและปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์สั้นๆ รวม 2 คัมภีร์ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน คือ เล่มที่ 36


กถาวัตถุ

กถาวัตถุ แปลว่า เรื่องสำหรับสนทนา เรื่องที่เป็นข้อพูดจาหรือเรื่องที่เอามาถกกัน เป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ผู้เป็นประธานแห่งการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.234 เพื่อแก้ทัศนะผิดพลาดทั้งหลายของนิกายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น (มีนิกายที่ถือผิดรวม 17 นิกาย รวมกับเถรวาทด้วยเป็น 18 นิกาย) และชี้มติที่ถูกต้อง อันเป็นการเชิดชูหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา ที่สืบมาในเถรวาท

เรื่องหรือหัวข้อที่นำมาถกหรือแถลงแก้ (เรียกว่า กถา) มีทั้งหมด 219 กถา เรียบเรียงเป็นบทสนทนา ถามตอบ หรือปุจฉาวิสัชนากัน จัดเป็นวรรคหรือหมวด ได้ 23 วรรค ยกตัวอย่างเรื่องที่น่าสนใจในบรรดา 219 เรื่องนั้น เช่น

- พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้หรือไม่

- กุศลมูลสืบต่ออกุศลมูลได้หรือไม่

- พระเสขะรู้จิตของพระอเสขะได้หรือไม่

- พระพุทธเจ้าเคยทรงดำรงพระชนม์อยู่ในโลกจริงหรือไม่

- พระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าด้วยกัน ยังมียิ่งหย่อนกว่ากันหรือไม่

- เทวดามีการประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่

- บุคคลส่งความสุขให้แก่กันได้หรือไม่

กถาวัตถุอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 37


ยมก

ยมก แปลว่า คู่ คือตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายธรรม ด้วยวิธีถามตอบ หรือปุจฉา วิสัชนา เพื่อให้มองเห็นความหมายและขอบเขตของธรรมนั้นๆ ได้ชัดเจนและเป็นวิธีทดสอบความรู้ความเข้าใจหลักธรรมที่ลึกซึ้งมาก คำถามที่ตั้งขึ้นมาทีละคู่ และมีเนื้อความย้อนกันเองตัวอย่างเช่น

- ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมด เป็นกุศลมูลหรือ หรือว่าธรรมที่เป็นกุศลมูล (ทั้งหมด) เป็นกุศล

- รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์หรือ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป

- ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจหรือ หรือว่าทุกขสัจ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์

- จิตของผู้ใดเกิดไม่ดับ จิตของผู้นั้นจักดับ จักไม่เกิดหรือ หรือว่าจิตของผู้ใดจักดับ จักไม่เกิด จิตของผู้นั้นจักไม่ดับ

- กุศลธรรมเกิดได้แก่ผู้ใด อกุศลธรรมก็เกิดได้แก่ผู้นั้นหรือ หรือว่า อกุศลธรรมเกิดได้แก่ผู้ใด กุศลธรรมก็เกิดได้แก่ผู้นั้น

ในการถาม-ตอบ ถือหลักธรรมสำคัญๆ เป็นหลัก เมื่อจะอธิบายหลักธรรมใดก็ตั้งคำถามเป็นคู่อย่างข้างต้นนั้น แล้วตอบไปตามแนวคำถามนั้น ถามตอบจนเห็นว่าครบทุกแง่ทุกด้านแล้วจึงจบ เรียกว่ายมกหนึ่งๆ ตั้งชื่อตามหลักธรรมที่อธิบายในบทหรือตอนนั้น เช่น ถามตอบเพื่ออธิบายเรื่องขันธ์ 5 ก็เรียกว่า ขันธมยก จบยมกนี้แล้วก็ถามตอบหลักธรรมอื่นขึ้นยมกต่อไป มียมกอย่างนี้ทั้งหมด 10 ยมก คือ

1. มูลยมก ว่าด้วย มูล เช่น อกุศลมูล

2. ขันธยมก ว่าด้วย ขันธ์ 5

3. อายตนยมก ว่าด้วย อายตนะ 12

4. ธาตุยมก ว่าด้วย ธาตุ 18

5. สัจจยมก ว่าด้วย อริสัจ 4

6. สังขารยมก ว่าด้วย สังขาร 3

7. อนุสยมก ว่าด้วย อนุสัย 7

8. จิตตยมก ว่าด้วย การเกิดดับของจิตต่างๆ

9. ธรรมยมก ว่าด้วย กุศล-อกุศล-อพยากตธรรม

10. อินทรียยมก ว่าด้วย อินทรีย์ 22

ยมก เป็นคัมภีร์ใหญ่คัมภีร์หนึ่ง มีความยาวกินเนื้อที่ในพระไตรปิฎก 2 เล่ม คือ เล่มที่ 38 และ 39


(มีต่อ 63)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ธ.ค.2006, 9:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปัฏฐาน

ปัฏฐาน แปลว่า ฐานทั่วไป หรือที่ตั้งอาศัยคือปัจจัยต่างๆ เป็นคัมภีร์แสดงเรื่องปัจจัย 24 คือแสดงให้เห็นว่าธรรม หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสัมพันธ์กัน โดยเป็นปัจจัยแก่กันด้วยปัจจัยอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง ในบรรดาปัจจัย 24 ประการ

ข้อธรรมที่นำมาพิจารณา เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างนี้ ก็คือข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายที่กล่าวกันมาแล้วข้างต้น ในตอนว่าด้วยคัมภีร์สังคณี ขอให้ดูปัจจัยบางข้อพร้อมด้วยตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์อย่างกว้าง ดังนี้

1. เหตุปัจจัย ปัจจัยโดยเหตุ เช่น เหตุ (คือโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโมหะ อโทสะ) เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่ประกอบด้วย และแก่รูปทั้งหลายที่เกิดจากธรรมที่ประกอบด้วยเหตุนั้น

2. อารัมมณปัจจัย ปัจจัยโดยความเป็นอารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นปัจจัยแก่วิญญาณธาตุ คือความรู้แจ้งทาง ตา หู เป็นต้น โดยอารัมมณปัจจัย

3. อนันตรปัจจัย ปัจจัยโดยความต่อลำดับ เช่น กุศลธรรมที่เกิดเป็นปัจจัย โดยอนันตรปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เกิดภายหลัง

4. สหชาตปัจจัย ปัจจัยโดยเกิดร่วมกัน เช่น มหาภูตรูปเป็นปัจจัยแก่อุปาทายรูป โดยสหชาตปัจจัย

5. อัญญมัญญปัจจัย ปัจจัยโดยอาศัยซึ่งกันและกัน เช่น นามขันธ์ทั้ง 4 (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นปัจจัยแก่กันโดยอัญญมัญญปัจจัย

6. นิสสยปัจจัย ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย เช่น ขณะที่ปฏิสนธิ นามและรูปเป็นปัจจัยกันโดยนิสสยปัจจัย

7. อุปนิสสยปัจจัย ปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัย เช่น ปฐมฌาน เป็นปัจจัยแก่ทุติยฌานโดยอุปนิสสยปัจจัย

8. กัมมปัจจัย ปัจจัยโดยกรรม เช่น กุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่ขันธ์ที่เป็นวิบากโดยกัมมปัจจัย

9. อัตถิปัจจัย ปัจจัยโดยการไม่มีอยู่ เช่น ตาเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณและธรรมที่ประกอบกับจักขุวิญญาณนั้น โดยอัตถิปัจจัย

10. นัตถิปัจจัย ปัจจัยโดยภาวะที่ไม่มีอยู่ เช่น จิตและเจตสิกที่ดับไปใหม่ๆ เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นโดยเป็นนัตถิปัจจัย

อย่างนี้เป็นการแสดงแบบหลักทั่วๆ ไป ต่อจากนี้ ท่านจะแสดงความสัมพันธ์แบบเฉพาะกรณีที่ลึกซึ้ง และซับซ้อนอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างมาให้ดูอีกทั้งแบบหลักทั่วไปและแบบเฉพาะกรณีจากที่ต่างๆ หลายแห่งดังนี้

- กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอนุสยปัจจัย (เช่น อาศัยศรัทธาจึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา...)

- กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น ปรารภทานที่ได้ทำ ศีลที่ได้สมาทาน เกิดความยินดีเพลิดเพลิน ยึดเป็นอารมณ์หนักแน่นจนเกิดราคะ ทิฐิ : มีศรัทธาหรือศีล หรือปัญญา เป็นต้น แล้วเกิดมาคือถือตัวว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิดทิฐิเห็นว่าต้องประพฤติอย่างนี้เท่านั้นจึงถูกต้อง)

- กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น มีศรัทธา จึงทำให้ตนลำบากเดือดร้อน ได้รับทุกข์ด้วยการแสวงหา; กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่วิบากของมัน เป็นต้น)

- อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น อาศัยโทสะจึงฆ่าสัตว์ พูดเท็จ พูดคำหยาบ...)

- อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น อาศัยความอยาก ความปรารถนา อาศัยมานะ อาศัยทิฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาอุโบสถ จึงทำฌานให้เกิดขึ้น กล่าวคำหยาบไปแล้ว เพื่อจะลบล้างผลของผรุสวาทนั้น จึงให้ทานรักษาศีล...)

- อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อัพยากตธรรม โดยอุปนิสสยปัจจัย (เช่น เพราะราคะ จึงทำให้ตนลำบาก เดือดร้อน ได้รับทุกข์ ด้วยการแสวงหา, ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ เป็นปัจจัยแก่สุขทางกาย หรือทุกข์ทางกาย เป็นต้น)

- ธรรมที่ไม่ใช่จิต เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่ไม่ใช่จิต โดยอารัมมณปัจจัย (เช่น ปรารภความดีที่ได้ทำไว้ เกิดความเพลิดเพลินอย่างยิ่ง)

- โลกียธรรม เป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอาศัย อารัมมณปัจจัย (เช่น พิจารณากุศลธรรมที่เคยสั่งสมไว้, อากาสานัญจายตนะ เป็นปัจจัยแก่วิญญาณัญจายตนะ...)

รวมความว่า เนื้อหาของคัมภีร์ปัฏฐาน ก็คือการนำเอาข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาของอภิธรรมทั้งหมด 122 มาติกา มาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ เป็นเหตุให้เป็นปัจจัยแก่กัน โดย ปัจจัย 24 ประการ

การอธิบายแม้จะยากและซับซ้อน แต่ก็มีขั้นตอนและระบบที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบ ระบบ การจัดลำดับ และโครงการอธิบายเป็นอย่างไรจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

ขอสรุปเพียงว่า ปัฏฐาน เป็นคัมภีร์ที่ใหญ่ มีเนื้อหามากและสำคัญมาก จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่าตำราใหญ่ หรือตำราสำคัญมาก กินเนื้อที่ในพระไตรปิฎกทั้งหมด 6 เล่ม คือ เล่มที่ 40 ถึง 45 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของพระไตรปิฎก ท่านกล่าวว่า ถ้าผู้ใดเข้าใจปัฏฐานหรือมหาปกรณ์นี้ดีแล้ว ก็เท่ากับเข้าใจอภิธรรมปิฎกทั้งหมด


(มีต่อ 64)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 15 ธ.ค.2006, 12:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย คำว่า "อภิธมฺม" ในที่นี้หมายถึงพระอภิธรรมนั้นเอง

(3) คำว่า ธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่า พระธรรมและพระวินัยนั้น คำว่า ธรรม มิได้หมายเพียงพระสุตตันติปิฎกเท่านั้น แต่หมายรวมถึงพระอภิธรรมปิฎกด้วย

(4) ถ้าปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก เพราะเหตุเพียงคำว่า วุตฺตญฺเหตํ ภควาตา เป็นต้น พระสูตรกับพระวินัยก็ควรปฏิเสธด้วย เพราะทั้งพระสูตรและพระวินัย ล้วนฟังมาจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระพุทธองค์มิได้ทรงขีดเขียนไว้ที่ไหน และในพระสูตรเองก็มีคำว่า "เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าสดับมาดังนี้" ในพระวินัยปิฎกก็มี คำว่า เตน โข ปน สมเยน ภาวตา โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ...เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดของพระสังคีติกาจารย์ทั้งสิ้น

(5) ยอมรับว่าในอภิธรรมปิฏก มีภาษิตของพระเถระอยู่คัมภีร์หนึ่ง คือ กถาวัตถุ ซึ่งแต่งโดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ แต่พระโมคคัลลีบุตร ก็แตงตามพุทธาธิบาย

การโต้แย้งหักล้างกันในเรื่องนี้มีมานานแล้ว และคงจะมีต่อไป กากรหักล้างกันด้วยวาทะ บางครั้งก็รุนแรง ดังใน อัฎฐสาลินี อรรถกถาที่แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ พระแห่งสำนักอภิธรรมเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10 ได้ว่าผู้ปฏิเสธอภิธรรมเสียเจ็บแสบ

"ผู้ปฏิเสธอภิธรรม ก็ย่อมเชื่อว่าปฏิเสธสัพพัญญุญาณในชินจักร์นี้ ชื่อว่า ทำเวสารรัชชาญาณของพระศาสดาให้หมุนกลับ ทำให้บริษัทผู้ใคร่จะฟังเข้าใจผิด กั้นทำนบในอริยมรรค (กีดขวางอริยมรรค) เขาผู้ปฏิเสธพระอภิธรรม จัดอยู่ในพวกที่ก่อเหตุแตกร้าว 18 จำพวก จำพวกใดจำพวกหนึ่ง เป็นผู้ควรลง อุกเขปนียกรรม นิยสกรรมและตัชนียกรรมโดยแท้ คนเช่นนี้พวกเราควรลงปัพพาชนียกรรม เป็นต้น แล้วขับไล่ไสส่งว่า พวกเจ้าจงไปเป็นคกินเดนเสียเถิด"

ถ้อยคำรุนแรงเช่นนี้เข้าใจว่า พระพุทธโฆสาจารย์ ท่านมุ่งเป้าไปยังพระสงค์นิกายอื่นที่ไม่นับถือพระอภิธรรม เช่น นิกายเสาตรานติก ซึ่งไม่ยอมรับว่าพระอภิธรรมเป็นพุทธวจนะ ยอมรับเฉพาะ "มาติกา" เท่านั้น

น่าประหลาดที่นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม เพราะนับถืออภิธรรมมาก กลับมีความเชื่อว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นบทนิพนธ์ของพระสาวกสำคัญ 3 รูป มิใช่พระวจนะของพระพุทธเจ้า พระสาวกสำคัญ 3 รูปนั้น คือ พระมหากัจจายนะ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ


4. เสถียร โพธินันทะ แสดงมติในเรื่องนี้ว่า

"อภิธรรมปิฎกนี้ไม่ใช่พระพุทธภาษิตทั้งหมด จะเป็นพระพุทธภาษิตก็เฉพาะแต่บทมาติกาและข้ออธิบายบางแห่ง นอกนั้นเป็นอาจริยภาษิต ซึ่งอรรถาธิบายมาติกาอย่างพิสดารตามพุทธมติ จึงไม่ควรถือว่าเมื่อไม่ใช่เป็นพระพุทธภาษิตทั้งหมด แล้วก็เฉยไม่นิยมนับถือ ความจริงพระอภิธรรมนั้นมิใช่อื่นไกลที่ไหน เนื้อแท้ก็เป็นธรรมะในพระสูตรนั่นเอง"


5. พุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของ "อภิธรรม" ว่า หมายถึงส่วนที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ ส่วนที่เกินก็ได้ ที่ว่าส่วนที่ยิ่งใหญ่นั้น อภิธรรมยิ่งใหญ่ไปในทางสำหรับโต้เถียงกันไม่ใช่ยิ่งใหญ่ในทางปฏิบัติ ที่ว่าเกินนั้น หมายความว่าเกินความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้หรือจะต้องปฏิบัติ มนุษย์เราจำเป็นต้องรู้แต่เรื่องที่ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

พุทธทาสภิกขุได้อ้างคำพูดของพระนักปราชญ์ตะวันตกท่านหนึ่ง คือ ญาณดิลก ว่า "ความแตกต่างระหว่างสุตตันตปิฎกกับอภิธรรมนั้น มิได้เกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่อง มันต่างกันแต่เพียงวิธีจัดคำวิธีให้คำ ส่วนใจความนั้นเพ่งเล็งถึงสิ่งเดียวกัน สุตตันตปิฎกพูดภาษาธรรมดาที่ชาวบ้านพูด ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องตามปรัชญาบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนคัมภีร์อภิธรรมปิฎกนั้นใช้ภาษาทางปรัชญาอย่างบริสุทธิ์ ในความหมายชั้นปรมัตถ์" แล้วสรุปด้วยคำพูดที่ครอบคลุมที่สุดว่า "อภิธรรมปิฎกไม่อยู่ในรูปเป็นพระพุทธพจน์"

วิวาทะเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาก ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงสองสามทัศนะ สรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นใครพูดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ตะวันตกหรือตะวันออก ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ต่างก็ลงรอยกันในประเด็นสรุปข้างท้ายนี้คือ

1. ที่พูดว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์ทั้งหมด หรือใช่พุทธพจน์เฉพาะบทมาติกาก็ดี พระอภิธรรมไม่อยู่ในรูปพุทธพจน์ก็ดี ผู้พูดมิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมปิฎกมิใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่ต้องการบอกว่าอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องที่ "แต่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง"

2. ทุกคนยอมรับว่าเนื้อหาในพระอภิธรรมปิฎก เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะสอดคล้องตามหลักตัดสินพระธรรมวินัย 8 ประการแล้ว โดยประการทั้งปวง


(มีต่อ 65)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ธ.ค.2006, 10:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระไตรปิฎกสองนาที

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์บันทึกคำสอนพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 3 หมวดคือ

1. พระวินัยปิฎก (พระวินัย) รวมศีลของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ตลอดถึงพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาต่างๆ

2. พระสุตตันตปิฎก (พระสูตร) รวมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญบางรูป มีเรื่องราวประกอบ

3. พระอภิธรรมปิฎก (พระอภิธรรม) รวมธรรมะที่รจนาเป็นหลักวิชาการล้วนๆ ไม่มีเรื่องราวประกอบ

พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน เดิมรวมเป็น "ธรรมวินัย" ต่อมาได้แบ่งเป็น 3 ปิฎก โดย "ธรรม" แบ่งเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก "วินัย" เป็นพระวินัยปิฎก ได้รับการถ่ายทอดต่อมาโดยการท่องจำ และได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อ พ.ศ. 450 ที่ประเทศศรีลังกา ภาษาพระไตรปิฎกเดิมเรียก มาคธี (ภาษามคธ) ต่อมาเรียกภาษาบาลี หรือตันติภาษา

พระไตรปิฎกภาษาบาลีมีทั้งหมด 45 เล่ม จำนวนหน้า 22,390 หน้า ไม่นับดรรชนีค้นคำ ปัจจุบันมีพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ CD-ROM ผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย


พระไตรปิฎกห้านาที

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า 3 หมวดใหญ่ๆ คือ

1. พระวินัยปิฎก

ว่าด้วยสิกขาบท หรือบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งย่อยออกเป็น 3 หมวดคือ

(1) วิภังค์ ส่วนที่ว่าด้วยสิกขาบทในพระปาติโมกข์ (ศีลสำคัญ) ของภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์

(2) ขันธกะ ส่วนที่ว่าด้วยสังฆกรรม พิธีกรรม ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ วัตรปฏิบัติและมารยาท เพื่อความงามของพระสงฆ์

(3) บริวาร สรุปความหรือคู่มือพระวินัยปิฎกทั้งหมด อธิบายในรูปคำถามคำตอบเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้งในประเด็นต่างๆ


2. พระสุตตันตปิฎก

ว่าด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า (มีของพระสาวกบางส่วน) ที่ตรัสแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะ และพื้นฐานความรู้ ต่างวาระโอกาส เป็นรูปคำสนทนาบ้าง คำบรรยายบ้าง เป็นรูปคาถา หรือบทกวีล้วนๆ บ้าง ร้อยแก้วล้วนๆ บ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง แบ่งเป็น 5 นิกายหรือหมวด คือ

(1) ทีฆนิกาย ประมวลพระสูตรขนาดยาว

(2) มัชฌิมนิกาย ประมวลพระสูตรขนาดปานกลาง

(3) สังยุตตนิกาย ประมวลพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ หรือ ธรรมะเรื่องเดียวกันไว้ในหมวดเดียวกัน เรียกว่า "สังยุตต์" หนึ่งๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับสัจจะรวมไว้ที่เดียวกัน เรียก "สัจจสังยุตต์"

(4) อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยหลักธรรมที่จัดลำดับหมวด จากจำนวนน้อยไปหาจำนวนมากเรียกว่า นิบาต เช่น เอกนิบาต (หมวดว่าด้วยธรรมหนึ่งข้อ) ทุกนิบาต (หมวดว่าด้วยธรรมสองข้อ)

(5) ขุททกนิบาต ประมวลเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่มิได้รวบรวมไว้ในสี่นิกายข้างต้นแบ่งเป็น 15 ประเภท เป็นพระสูตรสั้นๆ ก็มี เป็นบทร้อยกรองก็มี โดยเฉพาะคาถาธรรมบท มีเนื้อหาไพเราะกินใจมาก เป็น คัมภีร์เดียวที่ได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุด


3. พระอภิธรรมปิฎก

ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมต่างๆ ในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล ธรรมที่นำมาอธิบายก็นำมาจากพระสูตรต่างๆ นั้นเอง แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ คือ

(1) ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดๆ แล้วแยกออกอธิบายเป็นประเภทๆ

(2) วิภังค์ แยกแยะธรรมในข้อ (1) นั้นออกแสดงให้เห็นรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมเพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง

(3) ธาตุกถา จัดข้อธรรมต่างๆ มารวมในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่า ข้อใดเข้ากันได้หรือไม่อย่างไร

(4) ปุคคลบัญญัติ บัญญัติเรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรมที่มี เช่น เรียก "โสดาบัน" เพราะเข้าถึงกระแสนิพพาน ละสังโยชน์ 3 ได้

(5) กถาวัตถุ อธิบายทัศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ในยุคแรกเน้นวาทะของเถรวาทว่าถูกต้อง คัมภีร์นี้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระแต่งขึ้น

(6) ยมก ยกธรรมขึ้นเป็นคู่ๆ เช่น กุศลกับอกุศล แล้วอธิบายโดยวิธีถามตอบ

(7) ปัฏฐาน อธิบายปัจจัยหรือเงื่อนไขทางธรรม 24 อย่าง ว่าธรรมใดเป็นเงื่อนไขของธรรมใด


(มีต่อ 66)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 12:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภาษาพระไตรปิฎก

คนส่วนมากเข้าใจว่า ภาษาพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทก็คือ ภาษาบาลี หรือตันติภาษา เป็นภาษาเดียวกัน (หรือพัฒนามาจาก) ภาษามาคธี ที่พระพุทธเจ้าใช้ในการประกาศพระศาสนา หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธวจนะได้ถูกถ่ายทอดปากต่อปากด้วยภาษาบาลีนี้จนกระทั่งจารลงในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บรักษามาจนบัดนี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์อรรถกถาที่พระอรรถกถาจารย์แต่งขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10 อะไรทำให้พระอรรถกถาจารย์เชื่อมั่นและยืนยันเช่นนั้นยังไม่กระจ่างชัด แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้ไม่แน่ใจว่าภาษาในพระไตรปิฎกจะเป็นภาษาเดียวกับภาษามาคธี หรือภาษาใดๆ ในประวัติศาสตร์ชื่อของภาษาคือ ปาลิ (บาลี) ก็เป็นปริศนาสำคัญ ยังคงรอ "คำไข" ที่กระจ่างจากนักประวัติศาสตร์อยู่จนบัดนี้ว่า เป็นชื่อของภาษาใดภาษาหนึ่งหรือไม่ ถ้าไขปริศนานี้ได้ก็เท่ากับตอบปัญหาเกี่ยวกับภาษาพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทได้ด้วย

ในที่นี้จะขอประมวลทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเสนอดังต่อไปนี้


บาลีมิใช่ชื่อของภาษาใดภาษาหนึ่ง

ผู้มีทัศนะดังนี้ เช่น สุภูติเถระ ริส เดวิดส์ (Rhys Davids) วิลเลียม สเตเด (William Stede) เซอร์มอร์เนียร์ มอร์เนียร์-วิลเลียมส์ (Sir Monier Monier-Williams) เป็นต้น

สุภูติเถระ ผู้รวบรวมอภิธานัปปทีปิกาสูจิ ให้ความหมายของคำว่า ปาลิ (หรือปาฬิ) ไว้ 3 นัยคือ

1. ปาฬิธรรม หรือ ปริยัติธรรม ดังตัวอย่างว่า ปาฬิยา อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ = (ภิกษุทั้งหลาย) ย่อมพิจารณาอรรถแห่งปาฬิธรรม หรือปริยัติธรรม

2. ขอบ (เช่น ขอบสระ) ดังตัวอย่างว่า ตฬากสฺส ปาฬิ = ขอบแห่งสระ

3. แถว, แนว, ระเบียบ ดังตัวอย่างว่า ปาฬิยา นิสีทึสุ = (ภิกษุทั้งหลาย) นั่งเรียงแถว

ริส เดวิดส์ และ วิลเลียม สเตเด ผู้รวบรวม Pali-English Dictionary ฉบับสมาคมปาลีปกรณ์ให้ความหมายของคำว่า ปาลิ ไว้ 2 นัยคือ

1. แถว, แนว

2. ธรรม, ปริยัติธรรม ตำราธรรมของพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักดั้งเดิม ต่อมาภายหลังได้กลายมาเป็นภาษาหนังสือของพุทธศาสนิกชนในปัจจุบัน มีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษามาคธี

เซอร์มอร์เนียร์ มอร์เนียร์-วิลเลียมส์ ผู้รวบรวม Sanskrit-English Dictionary ให้ความหมายของคำปาลิไว้ 6 นัย คือ

1. ขอบหู, ใบหู (ศัพท์แพทย์ของอาจารย์สุศรุตะ)

2. ริม, ขอบ (ตรงกับนัยที่ ๒ ของสุภูติเถระ)

3. แถว, แนว, สาย เช่น รัตนปาลิ (ตรงกับนัยที่ 3 ของสุภูติเถระ และนัยที่ 1 ของเดวิดส์ และ สเตเด

4. คู, สะพาน

5. หม้อหุงต้ม

6. มาตราตวงเท่ากับ 1 ปรัสถะ

จากหลักฐานทั้งสามนี้จะเห็นว่า ไม่มีแห่งไหนที่ระบุชัดลงไปว่า ปาลิ เป็นภาษาที่ใช้พูดกันภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ และที่น่าสังเกตก็คือ พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ดังกล่าว ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ว่า "คำพูด, ถ้อยคำ (speech, language) โดยเฉพาะหมายเอาภาษาพื้นเมืองทั่วไป (ปรากฤต) ตรงกันข้ามกับภาษาพระเวทซึ่งภายหลังเรียกว่า สันสกฤต"


ปรากฤต หรือภาษาพื้นเมืองของชาวอารยันในอินเดียสมัยกลางแบ่งออกเป็น 5 สาขา (ปญฺจวิธา ภาสา) คือ

1. มหาราษฏรี ภาษาของชาวมหาราษฎร์

2. เศารเสนี ภาษาของชาวสุรเสน

3. มาคธี ภาษาของชาวมคธ

4. ปราจยา ภาษาของชาวตะวันออก

5. อวันตี ภาษาของชาวอวันตี

ในจำนวนภาษาพื้นเมืองของอารยันสมัยกลางทั้ง 5 สาขานี้ ไม่มี "ปาลิ" รวมอยู่ด้วย จากหลักฐานดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ทั้งสุภูติเถระ มอร์เนียร์-วิลเลียมส์ สเตเดและเดวิดส์ ต่างเห็นลงรอยกันว่า คำว่า "ปาลิ" มิใช่ชื่อของภาษา ถ้าใช้ในความหมายทั่วไปแปลว่า ขอบ, แถว, แนว, คู, สะพาน, ใบหู, หม้อหุงต้ม, มาตราตวงชนิดหนึ่ง ถ้าใช้ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ตำราหลัก หรือตำราชั้นต้นที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จะบันทึกด้วยภาษาอะไรหรืออักษรชนิดใดก็เรียกว่า ปาลิ หรือบาลีทั้งนั้น

ควรกล่าวแทรกไว้ตรงนี้ว่า ตำราทางพระพุทธศาสนานั้นมี 4 ชั้น หรือระดับคือ

1. ตำราชั้นต้น หรือชั้นปฐมภูมิ เรียกว่า ปาลิ

2. ตำราชั้นสอง หรือชั้นทุติยภูมิ เรียกว่า อฏฺฐกถา หรือวณฺณนา

3. ตำราชั้นสาม หรือชั้นตติยภูมิ เรียกว่า ฎีกา

4. ตำราชั้นสี่ หรือชั้นจตุตถภูมิ เรียกว่า อนุฎีกา

ส่วนระดับถัดจากนั้นไปอาจเรียกว่า อาจริยมติ เกจิอาจริยา ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวในบางเรื่องของอาจารย์รุ่นหลังๆ ไม่นับเข้าลำดับด้วย

เหตุที่เรียกตำราชั้นต้นว่า ปาลิ หรือบาลี เพราะมีความหมาย 3 นัย คือ

1. รักษาข้อความเดิมไว้ไม่ขาดตกบกพร่อง

2. มีแบบแผนขอบเขตอันแน่นอนและแข็งแรงพอ ดุจขอบสระกั้นน้ำไว้ฉะนั้น

3. มีการนำสืบต่อกันมาเป็นลำดับ ดุจของที่ส่งรับช่วงกันต่อไปฉะนั้น


(มีต่อ 67)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 26 ธ.ค.2006, 12:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เค.อาร์. นอร์แมน (K.R. Norman) นายกสมาคมปาลีปกรณ์คนปัจจุบัน เห็นด้วยที่ว่า คำว่าปาลิมิใช่ชื่อของภาษา หากแต่เป็นตัว "พระไตรปิฎก" ของพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาท (ของฝ่ายอื่นไม่เรียกว่าปาลิ) ดังนี้

"การที่คนทั่วไปในปัจจุบันใช้คำว่า "ปาลิ" ในความหมายที่เป็นชื่อภาษาของพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท แทนที่จะแปลว่า "พระไตรปิฎก" ตามความหมายเดิมนั้น ดูจะเนื่องจากความเข้าใจผิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้วก็ได้ ในพจนานุกรมภาษาบาลีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1875 ชิลเดอร์สกล่าวว่า คำแปลในภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในความหมายใหม่นั้น อาศัยแบบอย่างจากภาษาสิงหล ซึ่งใช้คำนี้ในความหมายเดียวกัน การใช้คำนี้ในลักษณะดังกล่าวอาจจะสืบสาวไปถึงชาวยุโรปก่อนชิลเดอร์สซึ่งอาศัยงานเขียนของสิงหลเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม บูร์นูฟ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งได้ทำการสำรวจงานค้นคว้ายุคแรกๆ ทางด้านบาลีศึกษา ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขา พิมพ์เมื่อ ค.ศ.1826 ว่า บุคคลแรกที่เขาพบว่าใช้คำว่า ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษานั้นได้แก่ เดอ ซิมอง ลาลูแบร์ ซึ่งมาเยือนเมืองไทยใน ค.ศ.1687-1688 และพิมพ์หนังสือพรรณนากรุงสยามใน ค.ศ.1693

ในพงศาวดารพม่าปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังกล่าวถึงปาลิในเนื้อความแวดล้อมซึ่งน่าจะหมายถึงชื่อภาษา และดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้เพียงแต่กล่าวย้ำข้อความที่พบในงานก่อนหน้านั้น ดังนั้น บางทีพม่าอาจใช้คำนี้ในความหมายดังกล่าวก่อนหน้านั้นเสียอีก ไม่น่าเป็นไปได้ที่ความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับคำ "ปาลิภาสา" ว่าหมายถึง "ภาษาบาลี" แทนที่จะเป็น "ภาษาของพระไตรปิฎก" เกิดขึ้นใน 3 ประเทศนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่สถานะความรู้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็ไม่เอื้ออำนวยให้เราบอกได้ว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศใดก่อน


บาลีเป็นภาษาหนึ่งอย่างแน่นอน

ชาวพุทธสายเถรวาทมีความเชื่ออย่างนี้ทั้งนั้น มีหลักฐาน คือ คัมภีร์ทางศาสนามากมายอ้างประเพณีการสืบทอดพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาอยู่ที่แคว้นมคธ ทรงใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร สั่งสอนประชาชน "มาคธิกโวหาร" นี้เอง พระพุทธโฆสาจารย์พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 10 อธิบายว่าเป็น "สกานิรุตติ" คือภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว คำสอนของพระองค์ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชได้อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 3 และส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนายังต่างประเทศ พระมหินทเถระนำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่ลังกา ครั้นล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 5 ในรัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พระพุทธวจนะได้รับการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษร

ฝ่ายที่เชื่ออย่างนี้ เมื่อมีผู้แย้งว่า ภาษาบาลีมิได้ปรากฏในครั้งพุทธกาล เพิ่งมาปรากฏเรียกกันที่ประเทศลังกาหลังพุทธกาลเป็นเวลานาน พระพุทธเจ้าเองพระอรรถกถาจารย์ก็ว่าตรัสภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร ดังอ้างมาแต่ต้น ไม่เห็นเกี่ยวกับภาษาบาลีแต่อย่างใด ก็จะอ้างตำนานสืบศาสนาอีกเช่นกันว่า ภาษามาคธีนั้น มีไวพจน์เรียกกันอยู่ 2 คำ คือ (1) มูลภาสา ภาษาดั้งเดิม (2) ตันติภาสา ภาษาแบบแผน และภาษาบาลีก็มีไวพจน์เรียก 2 คำนั้นเช่นกัน จึงสรุปได้ว่า ภาษามาคธีก็คือภาษาบาลี ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลภาสา หรือ ตันติภาสา นั่นเอง

นักปราชญ์ตะวันตกก็มีหลายท่านที่ยอมรับมตินี้ อาทิ เจมส์ อัลวิส, จอร์จ เกียร์สัน, วินเตอร์ นิทช์ อัลวิสถึงกับยืนยันว่า "มาคธีเป็นชื่อดั้งเดิมและถูกต้องของภาษาบาลีโดยไม่ต้องสงสัย" เกียร์สันกล่าวว่า "บาลีเป็นภาษาหนังสือของภาษามคธ" วินเตอร์ นิทช์ กล่าวว่า "บาลีกับมคธเป็นภาษาเดียวกัน"

เสถียร-โพธินันทะ นักการศาสนาของไทยยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า "ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ภาษามคธหรือบาลีที่พุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทใช้จารึกพระไตรปิฎกนั้น เป็นภาษาที่พระพุทธองค์ตรัสอย่างแน่นอนไม่มีข้อกังขาใดๆ"


เหตุใดภาษามาคธีจึงกลายชื่อมาเป็นภาษาบาลี ฉลาด บุญลอย ผู้แต่งประวัติวรรณคดีบาลีตอนที่ 1 ให้ทัศนะหลังจากประมวลหลักฐานมาสันนิษฐานแล้ว ดังนี้

(1) เนื่องด้วยหลักภาษาและถ้อยคำสำนวนของวัฒนธรรมบาลี ซึ่งกล่าวกันในทางตำนานว่า เป็นภาษามาคธีหรือภาษาของชาวมคธสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่นั้น มีส่วนแตกต่างจากภาษามาคธีที่ใช้พูดกันในปัจจุบัน เพราะระยะที่ผ่านมานานถึง 2,500 ปีเศษ ทำให้ภาษามาคธีที่ใช้ในวัฒนธรรมบาลีกลายเป็นภาษาโบราณไป ด้วยเหตุนี้แหละการจะถือว่าบาลีใช้ภาษามาคธีก็ไม่ถนัดนักจึงเรียกเสียใหม่ว่า ภาษาบาลี เพื่อตัดปัญหายุ่งยากในการที่จะนำไปเปรียบเทียบกับภาษามาคธีสมัยใหม่

(2) เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เมื่อทรงเลือกใช้ภาษา "สุทธมาคธี" เป็นภาษาหลักในการประกาศศาสนาของพระองค์ให้เข้าถึงชนทุกชั้นวรรณะ ก็ได้ทรงปรับปรุงแก้ไขภาษาสุทธมาคธี ซึ่งชั้นเดิมเป็นภาษาปรากฤตให้ดีขึ้น...เมื่อภาษามาคธีเป็นภาษาที่ดีและไพเราะขึ้นโดยอานุภาพพระพุทธเจ้าแล้วภาษามาคธีก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บาลี" ซึ่งแปลว่า "เป็นแบบแผน"

มีข้อน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ นักไวยากรณ์ฝ่ายบาลี แบ่งภาษามาคธีเป็น 2 คือ สุทธิกมาคธี (มาคธีบริสุทธิ์) กับเทสิยา (มาคธีท้องถิ่น) นักไวยากรณ์ฝ่ายสันสกฤตเพิ่มอรรธมาคธี (กึ่งมาคธี) อีกชื่อหนึ่ง แต่ปราชญ์ตะวันตกกล่าวถึง มาคธีเก่า (old Magadhi) ด้วย มาคธีเก่า หรือมาคธีดั้งเดิมนี้แหละที่พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า มูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) หรือภาษาบาลีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ประกาศศาสนา

จากร่องรอยของคำว่า "มูลภาสา" นี้เอง ทำให้น่าคิดว่า บาลีจะต้องเป็นภาษาดั้งเดิมของเผ่าอารยันที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภูมิภาคส่วนกลางของทวีปเอเชีย จนกระทั่งอพยพโยกย้ายเข้าไปยังแถบลุ่มแม่น้ำสินธุและขยายอาณาเขตเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร หรือถิ่นที่เรียกว่ามัธยมประเทศ จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ถ้าหากเชื่อว่าบาลีเป็นมูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) ของเผ่าอารยัน บาลีก็ต้องเป็นแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ถิ่นโน้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง และถิ่นที่อ้างนั้นบางแห่งก็ห่างไกลกันลิบลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะคิดว่าภาษาบาลี มาจากภาษาอารยันถิ่นต่างๆ น่าจะเป็นว่าภาษาถิ่นต่างๆ มาจากภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่หรือมูลภาสามากกว่า อีกประการหนึ่ง ถ้ายอมรับว่า บาลีเป็นภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าอารยัน และเป็นภาษาแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ก็แสดงว่า ภาษาบาลีเก่ากว่าภาษาสันสกฤต และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาไวทิกะ (ภาษาพระเวท) เพราะในวรรณคดีบาลีชั้นต้นกล่าวถึงเพียงภาษาพระเวท หรือภาษาฉันทสะเท่านั้น ไม่กล่าวถึงภาษาสันสกฤต ทั้งคำบาลีที่เรียกภาษาสันสกฤตว่า "สกฺกฏภาสา" ก็เพิ่งจะมาปรากฏหลังพุทธปรินิพพาน เมื่ออาจารย์ปาณินิได้แต่งไวยากรณ์แล้ว ชื่อว่า "สันสกฤต" (แปลว่า ทำใหม่ ปรับปรุงใหม่) ก็ฟ้องอยู่แล้วว่า ภาษานี้เกิดภายหลังปรากฤต หรือภาษาเดิมอื่นๆ

เมื่อเทียบกันดู ภาษาบาลีใกล้ชิดกับภาษาพระเวทมากกว่าภาษาสันสกฤต เช่น เยหิ เตหิ เยภิ เตหิ เหมือน เยหิสฺ เตหิสฺ เยภิสฺ เตภิสฺส ในภาษาาพระเวท ไม่เป็น ไย : ไต : อย่างภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีมี ตฺวาน ปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาพระเวท ซึ่งภาษาสันสกฤตไม่มีดังนี้เป็นต้น


(มีต่อ 68)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 05 ม.ค. 2007, 3:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

จากร่องรอยของคำว่า "มูลภาสา" นี้เอง ทำให้น่าคิดว่า บาลีจะต้องเป็นภาษาดั้งเดิมของเผ่าอารยันที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภูมิภาคส่วนกลางของทวีปเอเชีย จนกระทั่งอพยพโยกย้ายเข้าไปยังแถบลุ่มแม่น้ำสินธุและขยายอาณาเขตเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร หรือถิ่นที่เรียกว่ามัธยมประเทศ จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ถ้าหากเชื่อว่าบาลีเป็นมูลภาสา (ภาษาดั้งเดิม) ของเผ่าอารยัน บาลีก็ต้องเป็นแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ถิ่นโน้นบ้าง ถิ่นนี้บ้าง และถิ่นที่อ้างนั้นบางแห่งก็ห่างไกลกันลิบลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่จะคิดว่าภาษาบาลี มาจากภาษาอารยันถิ่นต่างๆ น่าจะเป็นว่าภาษาถิ่นต่างๆ มาจากภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่หรือมูลภาสามากกว่า อีกประการหนึ่ง ถ้ายอมรับว่า บาลีเป็นภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าอารยัน และเป็นภาษาแม่ของภาษาอินโด-อารยันอื่นๆ ก็แสดงว่า ภาษาบาลีเก่ากว่าภาษาสันสกฤต และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาไวทิกะ (ภาษาพระเวท) เพราะในวรรณคดีบาลีชั้นต้นกล่าวถึงเพียงภาษาพระเวท หรือภาษาฉันทสะเท่านั้น ไม่กล่าวถึงภาษาสันสกฤต ทั้งคำบาลีที่เรียกภาษาสันสกฤตว่า "สกฺกฏภาสา" ก็เพิ่งจะมาปรากฏหลังพุทธปรินิพพาน เมื่ออาจารย์ปาณินิได้แต่งไวยากรณ์แล้ว ชื่อว่า "สันสกฤต" (แปลว่า ทำใหม่ ปรับปรุงใหม่) ก็ฟ้องอยู่แล้วว่า ภาษานี้เกิดภายหลังปรากฤต หรือภาษาเดิมอื่นๆ

เมื่อเทียบกันดู ภาษาบาลีใกล้ชิดกับภาษาพระเวทมากกว่าภาษาสันสกฤต เช่น เยหิ เตหิ เยภิ เตหิ เหมือน เยหิสฺ เตหิสฺ เยภิสฺ เตภิสฺส ในภาษาาพระเวท ไม่เป็น ไย : ไต : อย่างภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีมี ตฺวาน ปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาพระเวท ซึ่งภาษาสันสกฤตไม่มีดังนี้เป็นต้น


ถิ่นกำเนิดภาษาบาลี

เมื่อยอมรับว่า ภาษาบาลีก็คือภาษามาคธี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาว่า ภาษาบาลีมีถิ่นกำเนิดที่ไหนเพราะชื่อ "มาคธี" (ภาษาที่พูดกันอยู่ที่แคว้นมคธ) ก็บ่งบอกถิ่นกำเนิดอยู่แล้วในตัว แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น ยังมีนักปราชญ์อีกหลายท่านมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่ในเชิงวิชาการในที่นี้จึงขอประมวลเพื่อศึกษาดังต่อไปนี้

1. บูร์นูฟ (Burnouf) และลาสเซน (Lassen) ไม่ยอมรับว่าภาษาบาลีเป็นภาษาเดียวกับ (หรือมีรากฐานมาจาก) ภาษามาคธี โดยให้เหตุผลว่า ภาษาทั้งสองมีความแตกต่างกันในลักษณะสำคัญหลายอย่างอาทิ

- ในภาษามาคธีมี ล อย่างเดียว เสียง ร เดิมในภาษาสันสกฤตจะกลายเป็น ล หมด แต่ในภาษาบาลีมีทั้ง ร และ ล ในบางกรณี ร อาจกลายเป็น ล ได้บ้าง แต่ก็มิใช่กฎตายตัว เช่น ลุชฺชติ เอลณฺฏ ลุทฺท อนฺตริกฺข มาลุต กุมฺภีล

- ในภาษามาคธีไม่มีเสียง ส เสียง ส ในภาษาสันสกฤตเมื่อเขียนเป็นมาคธีจะกลายเป็น ศ หมด แต่จะคงรูปเป็น ส ตามเดิมในภาษาบาลี

- นัยกลับกัน ศ ในภาษาสันสกฤตจะกลายเป็น ส ในภาษาบาลี แต่จะคงรูปเดิมในภาษามาคธี

- ย ระหว่างสระทั้งสอง (intervocalic ya) จะคงรูปไว้ในภาษาบาลี แต่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นในภาษามาคธี เช่น แปลงเป็น ช หรือลบทิ้งเสีย เช่น อริย แปลงเป็น อริช หรือลบ ย ทิ้งเป็น อริอ (เขียนเป็นอักษรโรมัน จะเห็นชัดขึ้นดังนี้ ari-y-a=ari-j-a or ari -a)

-อ การันต์ ปฐมาวิภัติ เอกพจน์ ทั้งปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์ ในภาษามาคธี จะลงท้ายด้วยเสียง เอ แต่ในภาษาบาลี ปุงลิงค์ เป็น โอ นปุงสกลิงค์ เป็น อํ นานๆ ครั้งจะปรากฏเสียง เอ บ้างแต่มิใช่กฎตายตัว

เมื่อภาษาทั้งสองนี้เข้ากันไม่ได้ในสาระสำคัญดังกล่าว นักปราชญ์ที่กล่าวนามมานี้จึงไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่ว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาเดียวกับภาษามาคธี หรือมีวิวัฒนาการมาจากภาษามาคธี


2. อีกพวกหนึ่งอาทิ เวสเตอร์การ์ด (Westergard) และคูห์น (Kuhn) สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดภาษาบาลีคือ เมืองอุชเชนี โดยอ้างศิลาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชที่ค้นพบที่คีรนา (Girma Inscription) ว่า ภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกละม้ายคล้ายคลึงกับภาษาบาลีในส่วนสำคัญๆ และตามประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็บ่งว่า พระมหินทเถระ ประสูติและเจริญเติบโตที่เมืองอุชเชนี ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อท่านไปสืบศาสนาที่ลังกา ก็จักต้องประกาศเผยแผ่ด้วยภาษา "น้ำนม" (mother ) ของตน


3. อาร์.โอ.ฟรังเก (R.O.Franke) มีความเห็นว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลีไม่ควรอยู่แคบๆ แค่เมืองอุชเชนี ควรจะเป็นบริเวณตั้งแต่ตอนกลางของเทือกเขาวินธัย ไปจนถึงด้านตะวันตกแห่งเทือกเขาเดียวกัน สเตน โกโนว์ (Sten Konow) เห็นว่ากำเนิดภาษาบาลีอยู่แถบเทือกเขาวินธัยเช่นเดียวกันฟรังเกมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ภาษาบาลีมีความใกล้เคียงกับภาษาไปศาจี


4. โอลเดนเบอร์ก (Oldenberg) นักปราชญ์เยอรมันมีความเห็นว่า ภาษาบาลีถือกำเนิดที่แคว้นกลิงครัฐ นักปราชญ์ท่านนี้ปฏิเสธพงศาวดารเรื่องพระมหินท์ไปสืบศาสนาที่ประเทศลังกาว่าไม่มีความจริงทางประวัติศาสตร์ ตามความคิดเห็นของเขา พระพุทธศาสนาและพระไตรปิฎกไปสู่ลังกาโดยการติดต่อกันอย่างธรรมดาระหว่างเกาะลังกา กับแคว้นกลิงครัฐของอินเดีย ดังนั้น ภาษาพระไตรปิฎกจึงน่าจะเป็นภาษาของแคว้นกลิงครัฐมากกว่า ทั้งยังเห็นว่าภาษาบาลี มีลักษณะร่วมหลายอย่างที่คล้ายกันกับภาษาในศิลาจารึก ที่ค้นพบที่ Khandagiri ในแคว้นกลิงครัฐ

ยังมีอีกหลายทัศนะที่แตกต่างออกไป ยกมาเท่านี้พอเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงว่ามติเกี่ยวกับกำเนิดของภาษาบาลียังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่ยุติลงได้ นักการศาสนาและนักประวัติศาสตร์ต่างก็ยกหลักฐานมาขัดแย้งกันคนละทางสองทาง ซึ่งล้วนมีเหตุผลน่ารับฟังทั้งนั้น ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งก็เห็นจะอยู่ที่ชื่อของภาษานี้ไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อเรียกภาษาถิ่นใดๆ มาก่อนในสมัยพุทธกาล เพิ่งปรากฏใช้เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่ไปสู่ลังกาแล้ว ขณะเดียวกันพระอรรถกถาจารย์ ท่านใช้คำนี้ในความหมาย 2 ประการคือ บางครั้งท่านใช้หมายถึงคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก (ดังตัวอย่างเช่น ปาลิมตฺตํ อิธานีตํ นตฺถิ อฏฺฐกถา อิธ - ที่นำมานี้มีแต่พระไตรปิฎกเท่านั้น ไม่มีอรรถกถา เป็นต้น) แต่บางครั้งใช้เป็นชื่อของภาษา และในความหมายหลังนี้ท่านว่า บาลีเป็นภาษาเดียวกับมาคธี หรือมาคธิกโวหาร ที่เข้าใจว่าเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส

ที่น่าพิจารณาก็คือ พระอรรถกถาจารย์ท่านใช้คำแปลกดังนี้ สมฺมาสมฺพุทฺเธน วุตฺตปฺปกาโร มาคธิโก โวหาโร - ภาษามาคธี แบบ ที่พระพุทธเจ้าตรัส (ปการ-แบบ, ชนิด, อย่าง, สไตล์) คงหมายความว่า พระพุทธองค์ ทรงใช้ภาษามาคธีแน่นอน แต่เนื่องจากพระองค์มิใช่ชาวมคธโดยกำเนิดสำเนียงของพระองค์อาจผิดเพี้ยนจากชาวพื้นเมืองมคธ และทรงใช้ศัพท์ ใช้คำอันเป็นอารามิกโวหาร บรรยายคำสอนของพระองค์เป็น แบบ หรือสไตล์ของพระองค์โดยเฉพาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายในปัจจุบันนี้ เวลาพระเทศน์โดยใช้ภาษาเดียวกันกับเรา เรายังเห็นว่าเป็นภาษาหนึ่งต่างหากที่มีวิธีการพูดและใช้คำศัพท์เฉพาะ ยากที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น มาคธีแบบที่พระพุทธเจ้าตรัส จึงเป็นอีกแบบหนึ่งของภาษาของชาวมคธ มิใช่มาคธีบริสุทธิ์ และได้กลายมาเป็นภาษากลางในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางต่อมา


>>>>> จบ >>>>>


ดอกไม้ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

ดอกไม้ ดาวน์โหลดฟรี !!..พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36115

ดอกไม้ พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48018
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ทศพล
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 10 ก.พ. 2008
ตอบ: 153
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2008, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 

_________________
"ธรรมทาน คือ ทานอันสูงสุด"
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"

http://www.wimutti.net
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง