Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เว้นวรรคชีวิต (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 08 มี.ค.2005, 8:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เว้นวรรคชีวิต
โดย พระไพศาล วิสาโล


“อาจารย์ชุนเรียวนั้น
ใจไม่ได้ขนหินด้วย
เพราะปล่อยวาง “หิน” ทุกชนิด
ใจถึงพักผ่อน
สามารถช่วยกายให้ทำงานได้ทั้งวัน”


การปลีกตัวมาอยู่ที่นี่ (วัดป่า) ถือว่าเป็นการเว้นวรรคให้แก่ชีวิต ชีวิตต้องมีการเว้นวรรคบ้าง เช่นเดียวกับลมหายใจของเรา มีหายใจเข้าแล้วก็ต้องมีหายใจออก เราไม่สามารถที่จะหายใจเข้าได้ตลอด ต้องเว้นจังหวะแล้วจึงหายใจออก เราไม่สามารถหายใจออกหายใจเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนสลับกันไป การทำงานก็เช่นเดียวกัน ทำงานแล้วก็ต้องรู้จักหยุดบ้าง ธรรมชาติให้เวลากลางวันคู่กับกลางคืน กลางวันทำงานเต็มที่ พอถึงตอนกลางคืนก็ต้องพักผ่อน

ขอให้สังเกตดู อะไรก็ตามเป็นไปได้ดีก็เพราะมีการเว้นจังหวะหรือมีช่องว่างที่เหมาะสม หนังสือที่อ่านง่าย ก็เพราะแต่ละประโยคมีการเว้นวรรคอย่างถูกจังหวะ ถ้าตัวหนังสือติดกันเป็นพรืด ไม่มีเว้นวรรคเลย จะน่าอ่านไหม ใครอ่านก็ต้องรู้สึกงงงวย ไม่อยากอ่าน ศิลปะอย่างหนึ่งของเขียนหนังสือให้น่าอ่านก็คือรู้จักเว้นช่องว่างระหว่างคำ ระหว่างประโยค และระหว่างย่อหน้า ทำนองเดียวกันดนตรีที่ไพเราะ ไม่ใช่เพราะมีเสียงดังเท่านั้น แต่เพราะมีช่วงที่เงียบแฝงอยู่ด้วย ถ้ากลอง กีต้าร์ไวโอลินส่งเสียงไม่หยุด ไม่รู้จักเว้นจังหวะเสียบ้าง เพลงนั้นก็คงไม่เพราะ

สำหรับคนเรา การเว้นวรรคหรือเติมช่องว่างให้กับชีวิตอย่างการมาปฏิบัติธรรมนี้จะเรียกว่าเป็นการพักผ่อนก็ได้ หรือจะถือว่าเป็น การชาร์จแบตเตอรี่ก็ได้ ชาร์จแบตเตอรี่เพื่อจะได้มีพลังสำหรับการทำงานในโอกาสต่อไป ที่จริงมันไม่สามารถแยกกันได้ระหว่างการหลีกเร้นเพื่อพักผ่อน กับการทำงาน สองอย่างนี้เสริมกันทำงานอย่างเดียวโดยไม่ได้พักเลย ก็ทำไปได้ไม่ตลอด หรือว่าเอาแต่ใช้ชีวิตอย่างเดียว โดยไม่ได้เติมอะไรให้กับชีวิตเลย ในที่สุดก็หมดแรง

มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการพักหรือการหยุดเท่าไหร่ หยุดเมื่อไหร่ก็รู้สึกว่ากำลังถอยหลัง ปล่อยให้คนอื่นแซงขึ้นหน้า หรือไม่ก็กลัวว่าดอกเบี้ยจะโตเอาๆ พักเมื่อไหร่ก็รู้สึกว่าชีวิตมันว่างเกินไป ถือว่าเป็นความฟุ่มเฟือยของชีวิต คนเหล่านี้เห็นว่า จะต้องใช้ชีวิตแข่งกับเวลาถ้ามีเวลาเหลืออยู่น้อยนิดก็อยากจะเอาไปใช้ทำงานทำการ หรือหาเงินหาทองให้ได้มากๆ

พูดมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของชายคนหนึ่งที่เลื่อยไม้อย่างเอาเป็นเอาตาย มีเพื่อนคนหนึ่งมาเห็นเข้าก็เลยถามว่าเลื่อยมานานหรือยัง เขาบอกว่าเลื่อยมาตั้งแต่เช้าจนนี่ก็ค่ำแล้ว เพื่อนถามว่าเหนื่อยไหม เขาตอบว่าเหนื่อยสิ เพื่อนถามต่อไปว่าทำไมไม่พักล่ะ เขาก็บอกว่ากำลงวุ่นอยู่กับการเลื่อยไม้ เพื่อนเป็นห่วง ก็เลยพูดว่าไม่ลองหยุดพักซักหน่อยเหรอ หายเหนื่อยแล้วค่อยมาทำงานต่อ อย่างน้อยก็จะได้เอาตะไบมาลับคมเลื่อยให้มันคมขึ้น จะช่วยให้เลื่อยได้เร็วขึ้น ชายคนนั้นก็ตอบว่า ไม่เห็นหรือไงว่า กำลังวุ่นอยู่ ตอนนี้ยังทำอย่างอื่นไม่ได้ทั้งนั้น ว่าแล้วก็เลื่อยหน้าดำคร่ำเครียดต่อไป

บางครั้งคนเราก็เหมือนกับชายคนนี้ คือเอาแต่เลื่อยอย่างเดียวไม่ยอมหยุด ทั้งๆ ที่การหยุดพักจะทำให้มีกลังดีขึ้น และถ้ารู้จักหยุดเพื่อลับคมเลื่อยให้คมขึ้น ก็จะทำให้เลื่อยได้เร็วขึ้น ทุ่นทั้งแรงทุ่นทั้งเวลา แต่เขาก็ยังไม่ยอมเลย เหตุผลที่เขาให้ก็คือกำลังวุ่นอยู่กับการเลื่อย เลยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ไม่สนใจแม้กระทั่งการทำให้เลื่อยคมขึ้น เขาหาได้เฉลียวใจไม่ว่า เพียงแค่เสียเวลานิดหน่อยก็จะทำให้การเลื่อยนั้นเร็วขึ้นดีขึ้นและเหนื่อยน้อยลง เขาไม่ยอมหยุดเพราะคิดว่าจะทำให้เสียเวลา ลึกๆ ก็เพราะคิดว่าทำอะไรมาก แล้วมันจะดี แต่ที่จริงแล้วทำน้อยลง แต่อาจได้ผลดีกว่าก็ได้ ในประสบการณ์ของเรา เราพบบ่อยไปว่าการทำอะไรให้ช้าลงกลับทำให้ได้ผลดีขึ้น นักเรียนที่ทำข้อสอบ ตอบทุกข้อโดยไม่ทันคิดถี่ถ้วนเพราะกลัวหมดเวลาก่อน บ่อยครั้งกลับได้คะแนนน้อยกว่าคนที่ทำเพียงไม่กี่ข้อ แต่คิดถี่ถ้วนทุกข้อ และตอบทุกข้อ

การที่เรามาปลีกวิเวกอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการมาลับคมเลื่อยก็ได้ เราวางเลื่อยเอาไว้ก่อน แล้วมาลับคมเลื่อย ก่อนที่จะเลื่อยต่อไป การพักผ่อนในตัวมันเองก็เป็นการลับคมเลื่อยอยู่แล้ว แค่พักผ่อนร่างกายก็สำคัญไม่น้อย เพราะว่าร่างกายชองเราก็คือตัวเลื่อยนั่นเอง แต่ตอนนี้มันบิ่นแล้ว ทำงานมากมันก็บิ่น มันไม่คมแล้ว เพียงแค่การมาพักร่างกายอย่างเดียวก็จะช่วยให้เลื่อยคมขึ้น แต่ที่นี่เราไม่ได้มาพักเพียงแค่กาย เรามาพักใจด้วยการฝึกจิตให้สงบมีสติมีความมั่นคง และทำให้ชีวิตมีสมดุล ก็เท่ากับว่าเลื่อยถูกลับให้คมขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเรากลับไปเลื่อยต่อเมื่อไหร่ ก็แน่ใจได้ว่าจะเลื่อยได้ดีขึ้นเร็วขึ้น แต่ถ้าเราไม่พักเสียเลย อย่างชายคนนั้นไม่พักเสียเลยแทนที่จะทำได้เร็วก็กลับทำได้ช้า หรืออาจจะทำไม่เสร็จเลยก็ได้เพราะว่าล้มพับเสียก่อน แทนที่จะเสร็จในตอนค่ำก็มาเสร็จวันรุ่งขึ้นช้าไปอีกตั้งหลายชั่วโมง เพราะว่าป่วยเสียก่อน หรือไม่มือไม้ก็พองทำต่อไม่ได้ ยิ่งอยากจะให้เสร็จไวๆ กลับเสร็จช้า แต่ถ้าเว้นวรรคให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนบ้าง ก็จะทำงานได้ดี การหยุดพักนั้นดูเผินๆ เหมือนจะทำให้เสร็จช้าลง แต่ที่จริงทำให้เสร็จไวขึ้น

คนเรามักไปเน้นเรื่องผลหรือความสำเร็จมากไป แต่ลืมต้นทุนที่จะเอาลงไปในงานนั้นๆ ผลสำเร็จหรือผลงานก็เหมือนกับผลไม้ ผลไม้ออกมาดีหรือไม่ต้องอาศัยต้นทุนคือต้นไม้ ถ้าต้นไม้นั้นเราเอาใจใส่ดูแล รักษา รดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ก็ย่อมให้ผลดี ทั้งดก และหอมหวาน

ทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝาก จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ฝาก ถ้าเงินต้นก้อนนิดเดียวดอกเบี้ยก็น้อยตามไปด้วย ถ้าสนใจแต่ดอกเบี้ย อยากได้ดอกเบี้ยเยอะๆ แต่ไม่สนใจต้นทุน ความอยากนั้นก็เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ แต่ว่าคนจำนวนมากก็ทำอย่างนั้นจริงๆ ก็คือว่าอยากจะให้งานออกมาดี ประสบความสำเร็จเต็มที่ แต่ว่าไม่ได้เอาใจใส่ต้นทุนคือร่างกายและจิตใจ ร่างกายและจิตใจเป็นต้นทุนสำคัญหรือปัจจัยพื้นฐานที่จำนำไปสู่งานที่ดีได้ ถ้าร่างกายอ่อนแอ จิตใจห่อ เหี่ยว ท้อแท้อารมณ์ไม่ดี ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ยาก

นิทานสอนเด็กบางครั้งก็มีคติเตือนใจเราได้มาก ถ้าเราจะลองพิจารณาดู อย่างเรื่องห่านออกไข่เป็นทองคำ เราเรียน และฟังมาตั้งแต่เล็ก เรื่องมีว่าชายคนหนึ่งโชคดีได้ห่านมา ห่านตัวนี้ออกไข่มาเป็นทองคำทุกวันๆ เจ้าของดีใจมาก แต่ตอนหลังรู้สึกว่าได้วันละฟองมันน้อยไป ยากจะได้มากกว่านั้น และก็เชื่อว่าในตัวห่านน่าจะมีไข่ที่เป็นทองคำอีกตั้งเยอะแยะ ถ้าจะรอให้มันออกมาวันละฟองๆ มันช้าไป อย่ากระนั้นเลยคว้านท้องเอาไข่ออกมาดีกว่า ก็เลยฆ่าห่านตัวนั้น ปรากฏว่าไม่ได้ไข่ทองคำแม่แต่ฟองเดียว ชายคนนั้นลืมไปว่าถ้าอยากจะได้ไข่ทองคำมาก ๆ ก็ต้องดูแลรักษาตัวห่านให้ดี แต่นี่กลับไม่สนใจ มิหนำซ้ำไปฆ่ามันเสีย ก็เท่ากับว่าไปฆ่าต้นทุนเสีย จะมีผลงอกงามได้อย่างไร

นิทานเรื่องนี้นอกจากจะสอนว่า “โลภมากลาภมักหาย” อย่างที่เราได้ยินครูสอนตอนเด็กๆ แล้ว ยังสอนผู้ใหญ่ด้วยว่า อยากได้ผล ก็ต้องสนใจที่ต้นทุนหรือเหตุปัจจัย ถ้าอยากได้ไข่เยอะๆ ก็อย่าไปใช้ทางลัด เช่น คว้านท้องห่าน วิธีที่ถูกต้องก็คือ ดูแลห่านให้ดีให้มันกินอิ่ม นอนนุ่ม มีสุขภาพดี ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตระหนักด้วยว่าห่านก็มีขีดจำกัดในการให้ไข่ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งๆ จะให้กี่ฟองก็ได้ตามใจเรา

นี้ก็เหมือนกับชีวิตของเราซึ่งมีขอบเขตจำกัดในการทำงานวันหนึ่งร่างกายของเราทำงานได้อย่างมากก็ ๑๘ ชั่วโมง ถ้าไปเร่งหรือบังคับทำงานมากกว่านั้น เช่น กินกาแฟหรือยาบ้าจะได้ไม่ต้องหลับ ไม่นานก็ต้องล้มพับ โรครุมเร้า เท่ากับเป็นการทำร้ายร่างกายของเรา ไม่ต่างจากชายที่ฆ่าห่านเพื่อจะได้ไข่เยอะๆ สุดท้ายก็ไม้ได้อะไรเลย ผลก็ไม่ได้ ต้นทุนที่เคยมีก็เสียไป

มีครูบาอาจารย์หลายท่านซึ่งน่าเสียดายว่า หากท่านได้พักผ่อนไม่เร่งงานเยอะไป ท่านก็อาจมีชีวิตยืนยาว ครูบาอาจารย์บางทาน นอกจากจะสอนธรรมแล้ว ท่านยังต้องคุมงานด้านการก่อสร้าง คุมรถที่มาทำทาง คุมคนงาตนที่มาสร้างกุฏิวิหาร ท่านอยากให้งานเสร็จไวๆ ทันใช้งาน แต่เนื่องจากไม่คอยได้พักผ่อน จึงล้มป่วยตอนหลังก็ลุกลามถึงขึ้นเป็นอัมพาต

อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าหากว่าท่านไม่เร่งงาน ไม่หักโหมเกินไป ก็ยังสามารถที่จะทำอะไรได้เยอะได้มากกว่าที่ท่านเป็น นี่ก็เป็น ข้อคิดบทเรียนที่สำคัญว่าคนเราจำเป็นที่จะต้องดูแลต้นทุนสุขภาพดีทั้งกายและใจ ขณะเดียวกันก็ให้โอกาสร่างกายกับจิตใจได้พักผ่อนด้วย

การพักผ่อนของจิตใจนั้นอาจจะแตกต่างจากร่างกายอยู่บ้างร่างกายนั้นพักผ่อนด้วยการไม่ใช้งานเบาๆ แต่จิตใจนั้นสามารถพกผ่อนด้วยการใช้งาน เป็นแต่ว่าไม่ได้ใช้งานด้วยการคิดๆๆ อย่างที่ใช้ในเวลาทำงาน เราผ่อนคลายจิตด้วยการทำสมาธิภาวนา คือฝึกจิตให้มีสติ สมาธิสัมผัสกับความสงบและความสว่างไสวภายในการฝึกจิตอย่านี้เรียกว่าเป็นการใช้งานจิตได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่ทำให้จิตเหนื่อย ตรงกันข้ามจิตมีแต่จะเข้มแข็งขึ้น เพราะสติ สมาธิ และปัญญานั้นเป็นสิ่งบำรุงเลี้ยงจิต จิตทีมีสติ สมาธิ และปัญญาเป็นจิตที่มีสุขภาพพลานามัยดี

ร่างกายคนเรานั้นมีข้อจำกัด นานวันร่างกายก็เสื่อมโทรมหากพ้นจุดหนึ่งไปแล้ว ก็ไม่มีทางที่จุทำให้ดีขึ้นได้ ทำได้อย่างมากเพียงแค่ประคับประคองเอาไว้ ไม่ให้มันทรุดเร็วเกินไป กล้ามเนื้อมีแต่จะเสื่อมลงไปๆ ส่วนเซลต่างๆ ก็มีแต่จะตายลง ไม่สร้างขึ้นใหม่ก็ไม่เท่าของเก่า แต่ว่าจิตใจนั้นถ้าใช้เป็นใช้ถูก ยิ่งใช้ก็ยิ่งดีขึ้น โดยเฉพาะสติและสมาธิ ถ้าเราใช้อยู่บ่อยๆ สติและสมาธิก็จะว่องไว และเข้มแข็งมั่นคงขึ้น

การมาปฏิบัติของเราจะว่าไปมันจึงไม่ได้เป็นแค่การพักใจ แต่ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพและความสามรถของจิตอีกด้วย เป็นการพัฒนาโดยไม่ทำให้เหนื่อยจิต ผิดกับการพัฒนาร่างกาย มักทำให้เหนื่อยกาย เพราะต้องออกแรงใช้กล้ามเนื้อ อย่างการเล่นกีฬา หรือเต้นแอโรบิค ทำแล้วร่างกายเหนื่อยทั้งนั้น แต่ก็เป็นของดี แม้กระนั้นก็ผิดกับการพัฒนาจิตซึ่งไม่ทำให้เหนื่อยอ่อน ถ้าพัฒนาหรือใช้จิตให้เป็น

แต่ถ้าใช้จิตไม่เป็น อาจทำให้เราเหนื่อยอ่อนยิ่งกว่าเวลาออกกำลังกายหรือออกแรงหนักๆ ด้วยซ้ำ อย่างทำงานแบกหามทั้งวัน เช่น ย้ายบ้าน ทำส่วน หากได้นอนเต็มที่ ตื่นขึ้นมาก็สดใส แต่เวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดมาก หรือว่าต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน ต้องกระทบกระทั่งกับใครต่อใครมากมาย แม้จะไม่ได้ใช้แรงกายเลย แต่เวลาทำอย่างนั้นตลอดวัน นอนหลับตื่นขึ้นมาก็ไม่รู้สึกสดใสหรือสดชื่นเท่าไหร่ เหมือนกับว่าร่างกายไม่ได้พักเท่าไหร่ ที่จริงร่างกายอาจจะได้พักแต่ที่ไม่ได้พักหรือยังพักไม่เต็มมี่คือจิตใจ เพราะตลอดวันที่ผ่านมา จิตใจเจอเรื่องกระทบกระทั่งต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังถูกอารมณ์ต่างๆ มากดทับบั่นทอน รวมถึงความเครียดจากการใช้ความคิด สิ่งเหล่านี้ทำให้จิตเหนื่อยอ่อน และความเหนื่อยอ่อนทางจิตมักจะก่อผลกระทบรุนแรงกว่าความเหนื่อยอ่อนทางร่างกายเสียอีก การที่อารมณ์ของคนเราแปรปรวนแค่ชั่วโมงเดียว เช่นเศร้าโศก เสียใจ อิจฉา เคียดแค้น ก็บั่นทอนจิตไปมาก

อย่าว่าแต่อารมณ์ฝ่ายลบเลย แม้แต่อารมณ์ฝ่ายบวก เช่น ความดีใจลิวโลดใจจากการได้สนุกสุดเหวี่ยง ก็ทำให้เหนื่อยใจได้เหมือนกัน เวลาดูหนังที่ตื่นเต้นเร้าใจหรือสยองขวัญ ดูจบจะรู้สึกว่าเหนื่อย เช่นเดียวกับดูฟุตบอลที่ ต้องลุ้นกันอย่างสุดขีด เวลาแค่ชั่วโมงครึ่งก็สามารถทำให้เราเหนื่อยได้ แต่เป็นความเหนื่อยที่ไม่รู้ตัวเพราะความตื่นเต้นมาบดบัง แต่พอดูจบความตื่นเต้นหายไป ก็อาจรู้สึกเหนื่อย โดยเฉพาะคนที่ผิดหวังกับผลการแข่งขัน หรือคนที่เชียร์ฝ่ายแพ้ ส่วนฝ่ายชนะ ความดีใจอาจกลบความรู้สึกเหนื่อยเอาไว้ แต่พอกลับถึงบ้าน คามดีใจคลายลงไป ทีนี้จะเริ่มรู้สึกเหนื่อยเพลียขึ้นมา

การเที่ยวหรือการพักผ่อนของคนสมัยนี้ ลองสังเกตดู ไม่ได้ช่วยให้สบายขึ้นเลย กลับทำให้เหนื่อย เพราะว่ามันเร้าจิตกระตุ้นใจมากเกินไป เช่น ใช้แสงสีวูบวาบ ๆ และสียงสนั่นในดิสโก้เธคแม้แต่เที่ยวป่า ก็ต้องหาอะไรมาทำให้สนุกเพื่อกระตุ้นจิตให้ลิงโลดไปเที่ยวแค่เสาร์อาทิตย์ พอกลับถึงบ้านก็เพลีย หมดเรียวหมดแรงยิ่ง พอนึกถึงวันจันทร์ต้องไปทำงานหรือไปโรงเรียน ก็ยิ่งละเหี่ยใจเข้าไปใหญ่ เฝ้าภาวนาให้เสร็จอาทิตย์มาถึงเร็ว จะได้ไป “พักผ่อน” อีก

จิตใจที่ถูกกระตุ้นเร้าขึ้นลงตลอดเวลาไม่เพียงจะเป็นจิตเหนื่อยอ่อนเท่านั้น หากยังฉุดกายให้เหนื่อยอ่อนตามไปด้วย เพราะอารมณ์ขึ้นลงไม่ว่าบวกหรือลบ ล้วนส่งผลกระตุ้นการทำงานของหัวใจกล้ามเนื้อ และอวัยวะส่วนอื่นๆ ในทางตรงกันข้ามหากเรารู้จักรักษาจิตประคองใจให้สงบ มั่นคง เป็นปกติ โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ จิตของเราจะมีพลัง ใช่แต่เท่านั้น ยังส่งผลต่อร่างกายของเรา อย่างน้อย ก็ไม่ทำให้ร่างกายของเราเหนื่อยอ่อนไปง่ายๆ

การมีสติประคองจิตให้เป็นปกติและสงบนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องหลีกเร้นไปอยู่ที่เงียบๆ ห่างไกลผู้คน หรือไกลจากงานการ ถ้ารู้จักใช้สติประคองใจ แม้อยู่ในที่อึกทึก พบปะผู้คนมากมาย หรือทำงานการ จิตใจก็ยังสงบอยู่ได้ เพราะสติช่วยให้เรารู้จักปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ ทันทีที่รู้ว่าโกรธ หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก็ละวางจากอารมณ์เหล่านั้น ทันทีที่รู้ว่าใจกำลังกังวลอยู่กับการนัดหมายข้างหน้า หรือหมกมุ่นกับความผิดพลาดในอดีต สติก็ดึงจิตกลับมาสู่การงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน การมีสติจดจ่อยู่กับงานที่ทำล้วน ไม่สนใจว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ใครจะว่าอย่างไร ก็ไม่คำนึงหรือยิ่งกว่านั้นคือมีสติจนปล่อยว่างจากความยึดถือในตัวตน ไม่ยึดถือว่างานนั้น เป็นงานของฉัน มีแต่งาน แต่ไม่มี “ฉัน” ผู้ทำงาน ก็ยิ่งจะทำให้ทำงานได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังช่วยให้ทำงานได้ดี และต่อเนื่องด้วย

ชุนเรียว ซูซูกิ เป็นอาจารย์เซนผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานพุทธศาสนาแบบเซนในสหรัฐอเมริกา เพื่อนของอาตมาเล่าว่า ตอนที่เริ่มสร้างวัดเซนในซานฟรานซิสโกนั้น อาจารย์ซุนเรียวต้องลงมือขนหินด้วยตัวเอง หินทั้งใหญ่และหนัก แถมต้องขนหินวันละหลายๆ ก้อน ลูกศิษย์ชาวอเมริกันเห็นก็สงสารอาจารย์ เพราะอาจารย์ตอนนั้นก็อายุ ๖๐ กว่าแล้ว แถมยังตัวเล็ก ลูกศิษย์จึงอาสาช่วยอาจารย์ขนหิน แต่ขนไปได้แค่ครึ่งวันก็หมดแรง ตรงข้ามกับอาจารย์กลับขนได้ทั้งวัน ลูกศิษย์จึงสงสัยมากว่าทำได้อย่างไร ขนาดคนอเมริกันซึ่งร่างใหญ่กว่าแถมหนุ่มกว่ายังทำได้แค่ครึ่งวัน พอลูกศิษย์ไปถามอาจารย์ก็ได้คำตอบว่า “ก็ผมพักผ่อนตลอดเวลานี่”

อาจารย์ชุนเรียวขนหินไป ก็พักผ่อนไปด้วย มีแต่กายเท่านั้นที่ขนหิน แต่ใจไม่ได้ขนด้วย ใจนั้นปล่อยวางจากงาน ไม่คาดหวังความสำเร็จ และไม่เร่งรัดให้เสร็จไวๆ แต่คนทั่วไปนั้น เวลาขนหินไม่ได้ขนด้วยกายเท่านั้น แต่ใจก็ขนไปกับเขาด้วย เวลาเหนื่อยก็ไม่ได้เหนื่อยแค่กาย แต่ใจก็เหนื่อยไปด้วย เพราะคอยเร่งว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ ยิ่งเร่งให้เสร็จไวๆ ก็ยิ่งเสร็จช้า ก็เลยยิ่งหงุดหงิดลึกลงไปกว่านั้น เวลากายเหนื่อย ก็ไม่ได้คิดว่ากายเท่านั้นที่เหนื่อยแต่ใจยังปรุงแต่งไปอีกว่า “ฉันเหนื่อย” ใจก็เลยเหนื่อยตามไปด้วย อาจารย์ซุนเรียวนั้น ใจไม่ได้ขนหินด้วย เพราะปล่อยวาง “หิน” ทุกชนิด ใจจึงพักผ่อน สามารถช่วยกายให้ทำงานได้ทั้งวัน

จิตที่มีคุณภาพระดับนี้ได้ต้องมีทั้งสติและปัญญา ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปรือ จิตฝึกปรือแบบนี้ได้ ต้องรู้จักเว้นวรรคชีวิตปล่อยวางจากกงานการและภารกิจในชีวิตประจำวันบ้าง หาเวลาให้แก่ตัวเองมาฝึกปฏิบัติ

อาจจะต้องยอมเสียเวลาไป ๑ วัน ๑ อาทิตย์ หรือ ๑ เดือนโดยที่ไม่ได้ทำงานเลย แต่ว่าเวลาที่เสียไปก็ไม่ได้เสียเหล่า เพราะเป็นการพักผ่อนและพัฒนาจิตไปด้วยในตัว เมื่อเอาจิตที่พักผ่อนและพัฒนาแล้วไปทำงานก็จะทำให้งานนั้นดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้นและบางครั้งก็มีปริมาณมากขึ้นด้วยอย่างกรณีอาจารย์ซุนเรียว อีกทั้งยังเสร็จได้เร็วขึ้นกว่าตอนที่ไม่ได้พัก

ฉะนั้นเวลาที่เราโหมงานหรือทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลังก็ขอให้นึกถึงคนเลื่อยไม้ที่ตะบี้ตะบันเลื่อยโดยไม่ยอมหยุดพัก ไม่ยอมแม้กระทั่งหยุดพักลับคมเลื่อย เราอยากจะเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเราเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่เกิดผลดีทั้งแก่ตัวเลื่อย ตัวงานและตัวเราเอง ขอให้ระลึกว่า คนที่เอาแต่เดินจ้ำเอาๆ เพราะอยากถึงไวๆ นั้น มักจะถึงช้ากว่า เพราะเหนื่อยเสียก่อนหรือขาแพลงเสียก่อน แต่คนที่ค่อยๆ เดิน เดินไปเรื่อยๆ ใจไม่เร่งรีบ ถือว่าพักทุกก้าวที่เดิน หรือถ้าเหนื่อยก็รู้จักพักเอาแรงในที่สุดกลับถึงที่หมายได้เร็วกว่า อย่างที่เขาว่าไปช้ากลับถึงเร็ว ดีกว่าไปเร็วกลับถึงช้า ขอให้เรามาเรียนรู้วิธีไปช้า แต่ถึงเร็วกันดีกว่า นี้ไม่ใช่แค่ศิลปะของการเดินทางเท่านั้น แต่เป็นศิลปะของการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสือชีวิตที่จิตใฝ่หา โดย พระไพศาล วิสาโล
 

_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง