Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระพุทโธ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2008, 11:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำอนุโมทนา

อาจารย์พิศ เงาเกาะ ได้พยายามถอดเทปคำเทศนาที่ข้าพเจ้าได้แสดงอบรมพระภิกษุสามเณรและพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ในที่ต่างๆ รวมจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้นเพื่อเผยแพร่ธรรม ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจธรรมปฏิบัติ เห็นว่าธรรมเทศนานั้นๆ อาจเกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย จึงอนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ได้ จึงขออนุโมทนาในผลงานของอาจารย์พิศ เงาเกาะ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

พระชินวงศาจารย์
วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา
26 เมษายน 2527
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 30 พ.ค.2008, 9:39 am, ทั้งหมด 8 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2008, 11:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำนำ

สืบเนื่องมาจากกระผมนายพิศ เงาเกาะได้เขียนหนังสือ สมาธิเพื่อชีวิตขึ้นจากประสบการณ์ของตนเอง อันเป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติสมาธิ หนังสือสมาธิเพื่อชีวิตได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และรวดเร็วเกินกว่าที่กระผมได้คิดไว้เป็นอันมาก หนังสือเล่มนี้ยังผลให้กระผมต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เพราะผู้ที่ได้อ่านหนังสือสมาธิเพื่อชีวิตกลายเป็นผู้ที่มีความทุกข์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทุกข์ ที่ไม่มีความทุกข์ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็พยายามคิดหาว่าตนมีความทุกข์อะไรบ้างเหมือนกับที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ และแล้วก็เกิดทุกขสัญญา มีความสำคัญมั่นหมายว่าตนมีความทุกข์ บางคนอยู่ที่จังหวัดเชียงราย นราธิวาส จันทบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ ถือหนังสือไปถามว่าผู้เขียนอยู่ที่ไหน มีทั้งจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ จำนวนคนไปติดต่อขอบรรเทาทุกข์มากมาย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องวิเศษ แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือผลพลอยได้ของการปฏิบัติธรรม ให้รู้กายกับใจของตนเองตามหลักแห่งสัจจธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทโธนั่นเอง

เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใจแจ่มชัด สามารถที่จะศึกษาธรรมะขั้นพื้นฐาน ได้เพียงพอแก่การปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อความสุขกายสุขใจ ในขณะที่ยังมีกายกับใจรวมกันอยู่ ให้กายกับใจอยู่ได้ด้วยความสุขสบาย ป้องกันตนเองทำให้เกิดทุกข์กับตนและผู้อื่น กระผมจึงได้กราบขอคำสอนธรรมะของหลวงพ่อพระชินวงศาจารย์ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา มาจัดพิมพ์ กระผมมีความซาบซึ้ง และเห็นคุณค่าของคำสอนของหลวงพ่อเป็นอันมาก หากท่านผู้สนใจนำไปประพฤติปฏิบัติ ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตแล้ว ผลของการปฏิบัตินั้นย่อมเกิดกับท่านและครอบครัวของท่านแน่นอน

ผู้เขียนขอเรียนว่าผลแห่งการปฏิบัติตามคำสอนธรรมะนี้ หากท่านคิดว่าท่านแก่แล้วจึงค่อยทำ ท่านจะทำสมาธิเมื่อท่านมีความทุกข์ ท่านจะทำสมาธิเมื่อท่านมีความพร้อม หรือท่านเคยคิดว่าท่านลืมตาท่านยังทำงานไม่ได้ดี เมื่อท่านหลับตาจะทำงานดีได้อย่างไร ท่านจะเสียใจ เมื่อท่านเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แต่ท่านยังมิได้เห็นพระพุทธศาสนา

ขออานิสงส์แห่งทานนี้ จงบังเกิดผลแก่ท่านทั้งหลาย

พิศ เงาเกาะ
วันมาฆะบูชา พุทธศักราช 2527
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 30 พ.ค.2008, 9:42 am, ทั้งหมด 5 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 28 พ.ค.2008, 11:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความคิดคือธรรมะ

การฟังธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่เราท่านทั้งหลายจะต้องสนใจ แต่ธรรมะคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฎว่ามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ เราได้ศึกษาเล่าเรียนมาเป็นวิชาความรู้เรียนจนชั่วชีวิตก็ไม่จบ เพราะคัมภีร์พระไตปิฎกตัวบาลีมีถึง 45 เล่ม ถ้าแปลคำต่อคำก็ได้ 45 เล่มเหมือนกัน ถ้ารวมทั้งอรรถกถาฎีกาด้วยก็ได้หลายสิบเล่ม วิชาความรู้ทั้งหลายที่มีจารึกในคัมภีร์พระไตรปิฎก ถ้าเราจะทำความเข้าใจเพียงสักแต่ว่าเป็นทฤษฎีหรือเป็นวิชาที่ให้เราศึกษา เป็นเครื่องมือค้นคว้าหาความจริง ดังนั้นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าจะว่ากันแล้วเป็นเพียงหลักวิชา เป็นสูตรเป็นเครื่องมือให้เราเข้าไปหาสิ่งที่เรียกว่า รู้ธรรมะของจิตเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส แต่สิ่งที่เป็นของจริงหรือเป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด

ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ทุกข์ สมุทัย ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่จริงทั้งหลายเหล่านั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ คนที่เกิดก่อนพระพุทธเจ้าอย่างดีก็เพียงแต่รู้ว่าเรามีทุกข์ตามสัญญาและเรามีทุกข์เพราะความทะเยอทะยานตามสัญญา คือเป็นเพียงคำพูดที่พูดติดต่อกันมาเท่านั้น แต่ความรู้จริงเห็นจริงหรือซึ้งในจิตใจนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ทรงค้นพบ และทรงบรรลุก่อนใครในยุคพุทธกาลนี้

แต่สิ่งที่เป็นความจริงเหล่านั้น มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วประจำโลก ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “บาป” เป็นชื่อของความชั่ว คำว่า “บุญ” เป็นชื่อของความดี ถ้าจะว่าโดยกฎของธรรมชาติเป็นของจริงแล้ว คำว่าบาป คำว่าบุญเป็นชื่อของธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในโลกเป็นของจริง ธรรมชาติคือบาปกับบุญนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทำประกอบขึ้น

เรามีกายกับใจ ภายในกายของเรามีใจเป็นใหญ่ กายเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของใจเมื่อใจบงการให้กาย วาจาพูดอะไรทำอะไรลงไป ใจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หมายถึงการทำบาปก็ดีทำบุญก็ดี ในเมื่อใจสั่งการให้กายทำอะไรลงไปแล้ว ไม่ว่าสิ่งนี้เป็นของดี หรือของไม่ดีก็ตาม แล้วจะมากลับจิตกลับใจว่าฉันทำเล่นๆ ไม่ต้องการผลตอบแทน แต่แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะกฎของบุญและบาปนี้เป็นของจริง ใครทำมาแล้วต้องได้รับผลจริง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อันนี้ก็คือความจริงและความจริงอันนี้ไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างบุญ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างบาปดังเช่นคนบางพวกเขาเข้าใจกัน ถ้าหากใครจะกล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ดีสร้างบาปไว้สำหรับลงโทษบุคคลที่ทำไม่ถูกใจ และสร้างบุญไว้สำหรับบุคคลที่ทำถูกใจ ใครกล่าวเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า แต่แท้ที่จริงบุญบาปไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้าสร้าง หากเป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่แล้วประจำโลก พระพุทธเจ้าของเรานี้อย่างดีก็เพียงแต่รู้ อันนี้ก็คือความจริงอันหนึ่ง ความจริงอีกอันหนึ่งคือ นรก สวรรค์

นรกเป็นแดนรองรับบุคคลที่ทำบาป สวรรค์เป็นแดนรองรับบุคคลผู้ทำบุญทำความดี อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้น อย่างดีพระพุทธเจ้าก็รู้ว่านรกมีสวรรค์มี และรู้แนวทางที่จะเป็นเหตุให้มนุษย์และสัตว์ลงนรกหรือขึ้นสวรรค์เท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ประจำโลก

ความจริงอีกอันหนึ่งคือ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นของเก่าแก่โบราณ ใช่ว่าจะมีแต่สมัยของพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมไม่ แม้พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ที่นิพพานไปแล้วนับไม่ถ้วนพระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี้ไม่รู้แตกต่าง สิ่งที่พระองค์รู้ที่เรียกว่าเป็นสัจธรรมหรืออริยสัจ เป็นกฎธรรมชาติความจริงที่มีอยู่แล้วประจำโลก อย่างดีพระพุทธเจ้าก็เพียงแต่รู้และบรรลุคุณธรรมนั้นๆ

ดังนั้นความจริงทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ บาป บุญ นรก สวรรค์ ไม่ใช่แต่ชาวพุทธจะยึดผูกขาดว่าเป็นของพระพุทธเจ้าแต่เพียงองค์เดียว แม้ศาสนาอื่นๆ เขาก็รับรองว่ามีบาป บุญ นรก สวรรค์ เขาสามารถที่จะค้นคว้าพบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับเราชาวพุทธ ที่เป็นกรณีพิเศษก็คือว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบแนวทางที่จะปฎิบัติให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ในศาสนาพราหมณ์อย่างดีก็บำเพ็ญภาวนาไปได้แค่สมาบัติ 8 ไม่มีใครสำเร็จถึงพระนิพพานได้เลย จะมาสำเร็จพระนิพพานได้ก็เฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียว ซึ่งเบื้องต้นก็อาศัยการศึกษาปฏิบัติตามแบบศาสนาพราหมณ์ แต่เพราะอาศัยที่พระองค์เป็นศาสดาที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมสามารถที่จะค้นคว้าสิ่งที่ละเอียดเหนือความรู้นักปราชญ์ ในสมัยนั้นจึงสามารถค้นพบแนวทางปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน ดังนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นศาสดเอกของโลก ไม่เฉพาะแต่ชาวพุทธแม้ศาสนาอื่นๆ ก็ยอมรับว่าพระองค์เป็นศาสดาที่ประเสริฐที่สุด แต่ที่มีมติขัดแย้งกันหรือไม่ยอมลงรอยกันเพราะเหตุว่าอาศัยความมีทิฏฐิมานะไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงก็น่าเห็นใจเพราะสติปัญญาของศาสนาอื่นเขามีกันแค่นั้น แต่สติปัญญาของพระพุทธเจ้าของเรานี้เลิศกว่าเขาทั้งหลาย จึงสามารถบัญญัติหลักคำสอนเอาไว้สูงสุดถึงนิพพาน ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแค่สวรรค์ ศาสนาพราหมณ์บัญญัติคำสอนสูงสุดเพียงแต่พรหมโลก แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติคำสอนสูงสุดถึงพระนิพพาน ดังนั้นในฐานะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย พระองค์ได้นามว่าเป็นพุทโธ

คำสอนที่เราฟังกันมาทั้งหมด บางท่านเรียนจบพระไตรปิฎกความทรงจำทางปริยัติหรือทางสัญญาไม่มีใครจะสู้จะนั่งเถียงกันตลอดวันก็ไม่มีจบสิ้น ถ้าพิจารณาดูกันอีกครั้งหนึ่ง การเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทย หรือการสอนธรรมะในเมืองไทย คล้ายกับว่าคำสอนนั้นมันเฟ้อ เฟ้อเสียจนผู้ฟังไม่สามารถจะจับต้นชนปลายถูก เปรียบเสมือนสินค้าที่ล้นตลาด เข้าใจว่าผู้ฟังผู้ศึกษามีความรู้มากพอสมควร แต่สิ่งที่น่าคิดมากก็คือเราจะเอาธรรมะคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันได้อย่างไร การเข้าถึงธรรมะหรือการที่จะเอาธรรมะมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันก็ไม่มีทางใดดียิ่งไปกว่าการภาวนา การภาวนาก็คือการเจริญกัมมัฏฐาน การเจริญสมถกัมมัฏฐานวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลักของการเจริญกัมมัฏฐานมีอยู่ 2 ขั้นตอน

ขั้นแรกคือการเจริญสมถะ คิอการทำจิตตั้งมั่นให้สงบเป็นสมาธิให้เกิดมีปีติมีความสุขทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ เพื่อเป็นอุบายระงับนิวรณ์ 5 ให้สงบลงไปชั่วขณะหนึ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสทำจิตทำใจให้สงบนิ่ง

ขั้นที่สองคือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานคืออุบายสำหรับใช้ความคิด ใช้ความคิดเพื่อฝึกจิตให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาด ในปัจจุบันก็น่าเห็นใจผู้ที่เริ่มตั้งใจปฏิบัติ ขอพูดกันตรงไปตรงมาว่าคณาจารย์สอนกัมมัฏฐานในปัจจุบันนี้มีหลายแบบหลายอย่าง ผู้บรรยายขอยืนยันว่าทุกแบบอย่างเป็นแบบที่ถูกต้องที่สุดและถ้าปฏิบัติตามแต่ละแบบละอย่างด้วยความจริงใจสามารถที่จะยังผลให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติได้โดยไม่ผิดหวัง แต่ถ้าท่านจะยังสงสัยอยู่ว่าแบบไหนดีแบบไหนไม่ดี แบบไหนทำให้ถึงพระนิพพานได้ง่ายแบบไหนถึงพระนิพพานช้า มัวแต่มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจอยู่ ท่านก็ไม่พบจุดแห่งความสำเร็จ เพราะแบบอย่างการทำสมาธิภาวนาทุกแบบสามารถทำให้จิตสงบลงเป็นสมาธิได้เหมือนกันหมด ขอเสนอแนะวิธีบำเพ็ญสมาธิแบบพุทโธ

ขอทำความเข้าใจว่าคำกล่าวของบางท่านว่าการภาวนาพุทโธจิตของท่านจะถึงแค่สมถกัมมัฏฐานไม่ถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้ที่ได้ฟังอาจเกิดความกลัวจะไม่ได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้แค่สมถะคือติดแค่ความสงบ คิดๆ ไปตามคำกล่าวนี้ก็น่าสงสารผู้คิดกลัวความที่เรายังไม่เคยเห็น ถ้าหากว่าท่านผู้ใดจะตั้งใจแน่วแน่ลงไป ลองดูว่าเราจะตั้งใจภาวนาอย่างจริงจัง แล้วจิตของเราจะไปติดแค่สมถะเท่านั้นหรือ จะไม่มีโอกาสที่จะเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานได้เชียวหรือ แล้วก็ตั้งใจภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธลงไป ภาวนาจนกระทั่งจิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ดังตำราที่ท่านเขียนไว้ ทำให้มันจนคล่องตัว ทำให้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ จนสามารถตั้งใจทำสมาธิเมื่อใด จิตสงบได้ทันที หรือบางทีพูดคุยกันอยู่จิตมันสงบลงเป็นสมาธิได้ ยืน เดืน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกอิริยาบถทำจิตเป็นสมาธิได้ทำให้มันคล่องตัวจนถึงขนาดนั้นแล้วพิจารณาดูว่าจะติดอยู่เพียงแค่สมถะเท่านั้นหรือ ใคร่จะให้ท่านพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ได้ช่วยกันพิจารณาดูว่าแต่เท่าที่มีประสบการณ์มา การภาวนาแบบไหนอย่างใดก็ดีจะเป็น พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอะระหัง ก็ดีเป็นกัมมัฏฐานที่เนี่องด้วยการบริกรรมภาวนาเรียกว่า ปฏิบัติตามแบบสมถกรรมฐานทั้งนั้น

หากเราจะไปพิจารณาตามพระโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ในเมื่อเรามาพิจารณาถึงพระโอวาทในข้อนี้แล้วได้ความว่า ถ้าสมาธิไม่มี ฌานจะมีไม่ได้ เมื่อฌานไม่ได้ ญาณจะมีไม่ได้ เมื่อญาณไม่มี ปัญญาจะมีไม่ได้ ปัญญาไม่มีวิปัสสนาจะมีไม่ได้ ในเมื่อวิปัสสนาไม่มี วิชชาก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นคุณธรรมที่หนุนเนื่องกัน
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 30 พ.ค.2008, 9:43 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ค.2008, 11:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การปฏิบัติสมาธิที่จะเอาจริงเอาจัง คือ

เมื่อท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติตนถึงพระไตรสรณาคมแล้วก็ได้สมาทานศีล 5 ศีล 8 เป็นการชำระกายวาจาของตนเองให้บริสุทธิ์ เป็นการปรับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ตรงที่มีศีล 5 ข้อ เมื่อทุกท่านได้สมาทานศีล 5 ข้อแล้ว และยังไม่ได้ละเมิดล่วงเกินข้อใด ข้อหนึ่ง ท่านก็เป็นผู้มีศีลบริสุทธ์และเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ดังนั้นจึงเตรียมตัวให้พร้อมที่จะนั่งสมาธิภาวนา ท่านจะนั่งท่าไหน อย่างไร ก็สุดแท้แต่ที่ท่านถนัดที่สุด นั่งในที่ที่สบายอย่าเกร็งร่างกายหรือกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งนั่งให้สบาย หายใจให้สบาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้เตรียมพร้อมแล้ว ขอได้โปรดประนมมือขึ้น น้อมนึกในใจว่า บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิเพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธพระธรรมและพระอริยสงฆ์ ให้จิตของข้าพเจ้าแน่วแน่เป็นสมาธิ มีสติปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสภาวะธรรมตามความเป็นจริง นึกในใจ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ น้อมจิตน้อมใจเชื่อมั่นลงไปว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่ใจ พระธรรมก็อยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ใจ อาการที่พระพุทธเจ้ามีอยู่ที่ใจคือใจรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี อาการที่มีธรรมอยู่ในใจคือ การทรงไว้ซึ่งความรู้สึกสำนึกเช่นนั้นตลอดเวลา อาการที่พระสงฆ์อยู่ในใจคือความมีสติกำหนดจิตนึกบริกรรมภาวนาพุทโธไว้ตลอดเวลา ไม่ให้พรากจากกัน แล้วเอามือลงวางบนตัก กำหนดรู้ลงที่จิต นึกพุท พร้อมลมเข้า โธ พร้อมลมออกก็ได้ ถ้านึกพุทโธพร้อมลมเข้าลมออกช่วงหายใจยังห่างจิตสามารถส่งกระแสออกไปทางอื่นได้ให้ปล่อยความรู้ลมหายใจเสีย นึกพุทโธเร็วๆ เข้า โดยนึกพุทโธด้วยความเบาใจอย่าไปข่มความรู้สึกอย่าไปบังคับจิตให้สงบ นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธเอาไว้ อย่าไปนึกว่าเมื่อใดจิตจะสงบ จิตจะรู้ เมื่อใดจิตจะสว่าง ให้กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็อยู่กับจิตจิตก็อยู่กับพุทโธ เมื่อมีการตั้งใจนึกพุทโธสติสัมปชัญญะมาเอง ทำหน้าที่เพียงนึกพุทโธ พุทโธ พุทโธไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร จิตจะสงบหรือไม่สงบไม่สำคัญให้เรานึกพุทโธไว้ โดยไม่ขาดระยะเป็นเวลานานๆ จนกระทั่งจิตมันคล่องตัวต่อการนึกพุทโธ ในที่สุดจิตจะนึกพุทโธ พุทโธเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อจิตนึกพุทโธเองโดยไม่ได้ตั้งใจ แสดงว่าการภาวนาของเรากำลังจะได้ผลแล้ว
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 30 พ.ค.2008, 9:43 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ค.2008, 11:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในเมื่อจิตใจนึกอยู่ที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตมีเครื่องรู้เครื่องระลึก ผู้ปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติให้มากๆ กระทำให้มากๆ ในที่สุดจิตจะเกิดความสงบนี้ มีอาการหลายๆ อย่างที่จะพึงเกิดขึ้น ในบางครั้งจะรู้สึกว่าง่วงนอน อาการเคลิ้มๆ เหมือนจะหลับ ในตอนนี้ผู้ภาวนาเกิดกลัวว่าเรานอนหลับ เลยไปฝืนความรู้สึกเช่นนั้น ในเมื่อฝืนแล้วความรู้สึกก็ตื่นมาสู่ภาวะธรรมดา แล้วเราก็บริกรรมภาวนาไปใหม่ ถ้าหากว่าผู้ใดภาวนาแล้วมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปเหมือนกับจะง่วงนอน ขอให้ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นอย่าไปฝืนถ้าจะเกิดความหลับขึ้นมาก็ปล่อยให้หลับอยู่ในขณะที่นั่งอยู่นั่นแหละ เพราะอาการที่จิตจะก้าวลงสู่สมาธิในเบื้องต้นมีอาการคล้ายกับจะนอนหลับ สำหรับผู้หัดภาวนาใหม่ๆ เมื่อภาวนามากเข้าจิตจะมีอาการเคลิ้มๆ เคลิ้มลงไป ถ้าเราปล่อยประคองลงไปให้มันเป็นไปตามเรื่องตามราวของมัน แล้วในที่สุดจิตของเราจะเกิดอาการหลับขึ้นมา บางทีมีอาการวูบลงไป บางทีค่อยเคลิ้มๆ ไปเกิดอาการหลับลงไปจริงๆ เมื่อมีอาการอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นจิตจะเกิดความสว่างขึ้นพอจิตเกิดความสว่างจิตจะบรรลุถึงคำว่า พุทธะผู้รู้ พุทธะผู้ตื่น พุทธะผู้เบิกบาน ในตอนนี้คำบริกรรมภาวนาจะหายไป ยังเหลือแต่จิตผู้รู้ ปรากฎสว่างอยู่เท่านั้น

ในระยะแรกๆ เราจะรู้สึกว่าความสว่างพุ่งออกมาทางสายตาเมื่อกระแสจิตส่งออกไปข้างนอกตามแสงสว่างจะเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมา เมื่อเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมาแล้วให้ผู้ภาวนากำหนดรู้อยู่ที่จิตเพียงอย่างเดียว อย่าไปเอะใจหรือตื่นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ก็ให้กำหนดว่านิมิตนี้เป็นเพียงแต่เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ และนิมิตนี้เกิดขึ้นจากตอนที่จิตสงบเป็นสมาธิแล้วประคองจิตให้อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งสว่างอยู่ตามเดิม ในตอนนี้สำหรับผู้ภาวนาใหม่สติสัมปชัญญะยังตามเหตุการณ์ไม่ทัน ในเมื่อเกิดนิมิตขึ้นมาแล้วมักจะหลง หลงติดบางทีก็เกิดความดีใจ บางทีก็เกิดความกลัวและเกิดความเอะใจขึ้นมา สมาธิถอน นิมิตนั้นหายไปแต่ถ้าสมาธิไม่ถอนจิตไม่อยู่ที่นิมิตนั้น ถ้าหากนิมิตนั้นแสดงความเคลื่อนไหวไปมา เช่นเดินไปวิ่งไป จิตของผู้ภาวนาจะละฐานที่ตั้งเดิม ละแม้กระทั่งตัวเองและจิตจะตามนิมิตนั้นไปคิดว่ามีตัวมีตนเดินตามเขาไปเขาพาไปขึ้นเขาลงห้วยหรือไปที่ไหนก็ตามเขาไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าผู้โชคดีไปเห็นเทวดาบ้างเทวดาก็ไปเที่ยวสวรรค์ ถ้าหากว่าผู้โชคไม่ดีจะไปเห็นสัตว์นรกสัตว์นรกก็พาไปเที่ยวนรก อันนี้เพราะผู้ภาวนามีสติยังอ่อนยังควบคุมจิตของตนเองให้รู้อยู่ภายในยังไม่ได้และในเมื่อเห็นนิมิตต่างๆ อย่างนั้น อย่าไปสำคัญว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นของดีวิเศษ แท้ที่จริงเป็นแต่เพียงเครื่องรู้ของจิตเครื่องระลึกของสติเท่านั้น

ถ้านักภาวนาที่ฉลาดกำหนดรู้อยู่ที่จิตถึงความรู้สึกว่านิมิตสักแต่ว่านิมิตไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาแล้วก็ประคองจิตให้อยู่ในสภาวะเดิมไม่เปลื่ยนแปลงสมาธิจิตจะสงบนิ่งอยู่ นิมิตเหล่านั้นจะทรงตัวอยู่ให้เราพิจารณาได้นาน บางทีนิมิตนั้นอาจจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติทำให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันเหตุการณ์ภายใน แต่แท้ที่จริงนิมิตนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่เห็นในสมาธิก็ตาม เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติเหมือนมองเห็นรูปด้วยตาในภายนอกเมื่อเรายังไม่ได้กำหนดจิตทำสมาธิ จะมีค่าเหนือกว่ากันหน่อยก็ตรงที่อันหนึ่งเห็นด้วยตาธรรมดา แต่อีกอันหนึ่งเห็นด้วยอำนาจสมาธิแต่ถ้าไปหลงติดนิมิตนั้นก็เป็นผลเสียสำหรับผู้ปฏิบัติ

บางครั้งไปเข้าใจว่านิมิตนั้นเป็นวิญญาณมาจากโลกอื่น เข้ามาเพื่อจะขอแบ่งส่วนบุญ และเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นเราก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ในเมื่อคิดแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลเพราะความคิดทำให้สมาธิถอน ในเมื่อสมาธิถอนขึ้นมาแล้ว นิมิตนั้นก็หายไปหมดวิญญาณเหล่านั้นเลยไม่ขอรับบุญกุศลที่เราให้ ขอทำความเข้าใจกันกับท่านผู้ฟังอีกครั้งว่า นิมิตทีเกิดขึ้นภายในสมาธินั้นให้ทำความเข้าใจเพียงแต่ว่าเป็นมโนภาพเอาไว้ก่อน อย่ารีบไปตัดสินว่าเป็นของจริงของแท้ ให้นึกว่าเป็นมโนภาพของเราที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง ให้ทำความรู้สึกไว้อย่างนี้ ท่านจะเกิดความเฉลียวฉลาด

ถ้าสมมติว่าในเมื่อภาวนาแล้วจิตมีวิตก วิจาร ปีติ มีความสุขและมีความละเอียดสงบนิ่งลงไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิ และผู้ภาวนาสามารถที่จะฝึกฝนอบรมกาย ทำวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาให้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ ฝึกฝนจนมีความคล่องตัว นึกอยากจะเข้าฌานเมื่อใดก็เข้าได้ ในเมื่อเข้าฌานไปแล้วจิตมันจะรู้อยู่ในสิ่งๆ เดียว หรือในจุดๆ เดียว ความรู้อะไรต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น ถึงแม้ว่าความรู้อะไรจะไม่เกิดขึ้นผู้ภาวนาก็ไม่ควรจะไปเสียอกเสียใจและไม่ควรเกรงกลัวว่าจิตของเราจะไปติดสมถะ ความจริงเมื่อจิตนิ่งสงบลงไปสู่ความเป็นสมถะในขั้นอัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นฌานที่ 4 โดยธรรมชาติของจิตที่อยู่ในฌานขั้นนี้ จะไม่มีความรู้ความเห็นอันใดปรากฎขึ้น นอกจากจิตจะไปรู้อยู่ในสิ่งๆ เดียว คือรู้เฉพาะในจิตอันเดียวเท่านั้นประกอบพร้อมด้วยความเบิกบานแจ่มใส สว่างไสว อยู่ภายในจิต จิตจะไม่มีความรู้เกิดขึ้น

ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าผู้ภาวนาสามารถทำจิตให้เป็นไปตามเช่นกล่าวนี้บ่อยๆ ครั้งเข้าถ้าต้องการให้จิตของท่านก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา โดยไม่ต้องไปหยิบยกอะไรมาเป็นเครื่องพิจารณา ในเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิขั้นฌาน เมื่อจิตถอนออกมาแล้วจะมีความรู้สึกสัมผัสรู้ว่ามีกาย ในเมื่อกายมีปรากฎขึ้นจิตจะมีความคิดเมื่อเกิดความคิดขึ้นมา ผู้ภาวนารีบกำหนดรู้ตามความคิดนั้นไป ในตอนนี้จิตเราจะคิดเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องกุศล เรื่องโลก เรื่องธรรมปล่อยให้เขาคิดไปตามลำพังของเขาอย่าไปห้าม หน้าที่ของเรามีเพียงทำสติตามรู้ไปโดยถือเอาความคิดเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อเราหมั่นอบรมทำสติตามรู้ความคิดหลังถอนจากสมาธิแล้วทำจนคล่องแคล่ว ทำจนชำนิชำนาญ จนสามารถทำสติตามทันความคิด เมื่อสติตามทันความคิดขึ้นมาเมื่อใด จิตก็จะสงบเป็นสมาธิ มีปีติมีความสุข แล้วก็จะสงบละเอียดลงไปเป็นเอกัคคตาเช่นเดียวกับการภาวนาในเบื้องต้น

ข้อที่ควรสังเกตมีอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อจิตถอนออกจากอัปปนาสมธิพอสัมผัสรู้ว่ามีกาย จิตจะมีความรู้ขึ้นมาเมื่อเราทำสติตามรู้ความคิดนั้นไปสติจะตามความคิด และตามจ้องดูกันไปตลอดเวลาจิตเมื่อยิ่งคิดมากก็ยิ่งมีความสบาย เพราะจิตคิดด้วยพลังสมาธิที่ผ่านมาแล้ว แล้วเมื่อเราทำสติตามรู้ ตามทันความคิดนั้นความคิดก็กลายเป็นตัวปัญญา ปัญญาคือความรู้ที่เกิดขึ้น ธรรมชาติของความรู้สึกนึกคิดย่อมมีเกิดมีดับ เมื่อผู้ภาวนาทำสติตามรู้ความคิดอยู่อย่างนั้น หนักๆ เข้าจิตก็จะรู้ความเกิดความดับ อะไรเกิด อะไรดับก็คือความคิดนั้นเอง จิตเป็นผู้เกิดจิตเป็นผู้ดับ ในเมื่อจิตตามรู้ทันความเกิดดับของจิต จิตก็จะเกิดปัญญาขึ้นมามีความรู้ มีความสำคัญมั่นหมายในสภาวะที่เกิดดับ เกิดดับนั้นด้วยอนิจจสัญญา คำว่าอนิจจสัญญาคือ ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ในเมื่อจิตรู้สภาวะความไม่เที่ยงที่เกิดดับจิตก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2008, 11:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดังนั้นในเมื่อผู้ภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งเป็นสมาธิบ่อยๆ จิตก็ได้รับผลจากสมาธิได้รับความสุขจากสมาธิ ถ้าหากพอจิตถอนออกจากสมาธิ ก็รีบลุกออกจากที่นั่ง ถ้าทำไปอย่างนี้แล้วจิตก็ไปติดอยู่แค่ขั้นสมถะ ในงานที่เคยทดสอบและทดลองมาแล้วควรจะได้ใช้สติกำหนดตามความคิดที่เกิดขึ้นหลังจากที่จิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ดังที่กล่าวแล้ว

การกระทำสติตามกำหนดรู้ความคิด ผู้ภาวนาจะต้องมีความตั้งใจจดจ้องเป็นการพิจารณาสภาวะธรรมในแง่วิปัสสนากัมมัฏฐาน ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพึงทำความเข้าใจอย่างนี้

เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิมีปีติมีความสุขมีเอกัคคตามีความสงบ จิตไปนิ่งว่างวางเฉยอยู่ อย่าไปภูมิอกภูมิใจความเป็นเพียงแค่นั้น เดี๋ยวจิตมันก็ติดสมถะไม่ก้าวขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าท่านจะถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไรก็ทำอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว คือเมื่อจิตถอนออกจากฌานมาสัมผัสรู้ว่ามีกาย ก็รีบทำสติตามรู้ความคิดนี้ทันทีความคิดเรื่องทางโลก เรื่องบาป เรื่องบุญอะไร ปล่อยให้เขาคิดไป อย่าไปห้าม ตามรู้ไปกว่าสติจะตามทันความคิด แม้ว่ามันจะคิดจนไม่หยุดไม่เกิดความสงบอีกสักทีก็ตาม แต่ถ้าหากว่าสติตามทันกันไปเรื่อยๆ เป็นการใช้ได้ ถ้าความคิดที่เป็นจิตฟุ้งซ่านคือจิตธรรมดาที่เราไม่มีสติยิ่งคิดไปยิ่งยุ่งในสมอง คิดไปเท่าไหร่ยิ่งหนักอก คิดไปมากเท่าใดยิ่งวุ่นวาย แต่ถ้าความคิดที่คิดด้วยความมีสติสัมปชัญญะโดยอาศัยพลังของสมาธิ ยิ่งคิดก็ยิ่งปลอดโปร่งยิ่งคิดก็ยิ่งมีความเพลิดเพลิน คิดไปเสวยปีติและความสุขไปอีกอันนี้เป็นลักษณะของจิตที่เดินวิปัสสนากัมมัฏฐาน

และมีปัญหาที่จะพึงทำความเข้าอีกอย่างหนึ่งนักภาวนาทั้งหลาย ในการเริ่มต้นภาวนาในตอนต้นๆ นี้ เช่นการบริกรรมภาวนา “พุทโธ” เป็นต้น ทำไปแล้วจิตมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตสงบลงเป็นสมาธิ มีความสุข สบายเหลือล้น พอทำจิตไปเรื่อยๆ แล้วภายหลังจิตไม่เป็นเช่นนั้น พอกำหนดลงไปนิดหน่อยมันมีแต่ความคิด บางท่านก็เข้าใจว่าภูมิจิต ภูมิใจของตัวเองเสื่อมแล้ว ภาวนาจิตสงบแล้วเมื่อก่อนนี้แต่ขณะนี้จิตไม่สงบจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงขอให้สังเกตให้ดี ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ในเมื่อศีลดีสมาธิเกิดขึ้นแล้ว สมาธิก็พลอยดีไปด้วย เรียกว่าสัมมาสมาธิ ในเมื่อสมาธิเป็นสัมมาสมาธิเป็นอุบายให้เกิดปัญญา ดังนั้นผู้ภาวนาเมื่อมีจิตสงบนิ่งเมื่อก่อนทำไปมากๆ แล้วภายหลังมาทำสมาธิไม่เกิด เพียงเป็นสมาธิเพียงนิดหน่อยสงบนิดเดียวเท่านั้น แล้วก็มีแต่ความคิดเกิดขึ้นๆ ไม่หยุดหย่อน แล้วก็ไปเข้าใจว่า การทำสมาธิของตนเองนั้นเสื่อมแล้ว บางท่านก็ไปพยายามบังคับจิตให้มันหยุดคิด เมื่อเกิดมีการบังคับขึ้นก็เกิดอาการปวดศีรษะเพราะเป็นการฝืนกฎธรรมชาติที่มันจะมีอันเป็นไป เพราะฉะนั้นขอให้ท่านพึงสังเกตให้ดี เพราะเมื่อทำจิตเป็นสมาธิเมื่อใด ก็มีแต่จิตนิ่งเป็นสมถะ มันก็ไม่มีความก้าวหน้า กำหนดจิตพิจารณาลงไปนิดหน่อยจิตสงบ เมื่อสงบแล้วมันมีความคิด อาการเช่นนี้แสดงว่าจิตมันกำลังก้าวหน้า มันกำลังอยากค้นคว้าหาความจริงในความเป็นไปของสภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากจิตฟุ้งซ่านเป็นเรื่องของปัญญาที่เกิดมาจากสมาธิ

เพราะเราไม่เห็นว่าจิตของเรานี้ฝึกไปได้สารพัดอย่างไม่มีขอบเขต เพราะจิตของเราไม่ได้คิดเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจึงสำคัญว่าจิตของเราฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริงการพิจารณาธรรม รู้ธรรม เห็นธรรมนี้ก็หมายถึงเห้นความคิดรู้ความคิดของตนนั่นเอง คือความมีสติสัมปชัญญะ เมื่อกำหนดจิตลงไปแล้วมันเกิดความคิดขึ้นมา คิดไม่หยุดเราก็ทำสติตามรู้ความคิดดังที่กล่าวแล้ว นี้แสดงว่าจิตมันต้องการก้าวหน้า ต้องการเดินหน้า ต้องการพิจารณาค้นคว้า ผู้ที่ปฏิบัติรู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่าจิของตัวเองฟุ้งซ่าน ก็พยายามบังคับจิตของตนเองอยู่อย่างนั้นแหละ บังคับให้มันหยุดคิดด้วยการบังคับ ในเมื่อบังคับมันอยู่แล้วมันจะไม่คิด ไม่คิดกลายเป็นจิตที่โง่ คำว่าสมาธิอบรมปัญญานั้นก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นอย่าพยายามไปบังคับจิตให้มันหยุดคิด หน้าที่ของเราทำสติตามรู้ไป ทำสติตามรู้ไป ความคิดนั่นแหละคือเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติความคิดเป็นพื้นฐานที่ตั้งอันมั่นคงของสติ ตราบใดที่จิตยังมีความคิดสติยังมีความระลึก สิ่งที่เราจะพึงได้จากการภาวนา คือความที่สติมีพลังแก่กล้าขึ้น จนเป็นมหาสติเป็นสติที่มีฐานที่ตั้งอย่างมั่นคงแล้วกลายเป็นสติพละ เป็นสติที่มีพละกำลังอันเข้มแข็ง กลายเป็นสตินทรีย์สติเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวงเมื่อเป็นสติพละเป็นสตินทรีย์ เมื่อสติตัวนี้เพิ่มพลังแก่กล้าขึ้นจิงกลายเป็นสติวินโย จิตของเราจะมีสติเป็นผู้นำแม้จะตั้งใจก็ตามไม่ตั้งใจก็ตาม จิตจะมีความสำนึกรับผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตกระทบอารมณ์อันใดขึ้นมาสติตัวนี้จะออกไปรับและพิจารณาให้เกิดรู้เหตุรู้ผลขึ้นมา เมื่อรู้เหตุรู้ผลแล้ว จิตมันก็จะปล่อยวางไปเอง
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2008, 9:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การรู้ธรรม เห็นธรรม

การรู้ธรรม เห็นธรรมหมายถึงการเห็นการรู้อะไร ส่วนมากเรามักจะไปเข้าใจกันว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมคือต้องการเห็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้รูปโครงกระดูก เห็นโครงกระดูกแล้วรู้ว่าเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปหมายเอาหมวดใหญ่ที่ท่านเขียนเอาไว้ในคัมภีร์

การตีความหมายอย่างนั้นก็ไม่ผิดเป็นการถูกต้อง กับการรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติที่จิตมันจะรู้จะเห็นด้วยพลังของสติสัมปชัญญะเราจะไปรู้ในกฎเกณฑ์ที่ท่านวางไว้เป็นแบบฉบับไม่ได้ การรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติมันจะต้องรู้ขึ้นมาเองเป็นกระท่อนกระแท่นไม่ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นเรื่องยืดยาว

การรู้ธรรมเห็นธรรมขอกำหนดหมายอย่างนี้
1. คือการรู้ว่าจิตของเราคืออะไร เห็นว่าจิตของเราคืออะไรเป็นเบื้องต้น
2. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์ก็รู้ว่าจิตสัมผัสรู้อารมณ์
3. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์แล้วมีอะไรเกิดขึ้น จิตของเรายินดีไหม จิตของเรายินร้ายไหม จิตของเราพอใจไหมหรือเกลียดในอารมณ์นั้น ในเมื่อรู้ว่ายินดี หรือยินร้าย เกลียดหรือชอบ ก็ดูต่อไปอีกว่าความเกลียดแล้วความชอบบังเกิดขึ้นในกายในจิตเป็นอย่างไร ทำให้จิตร้อนหรือเย็น ทำให้จิตสุขหรือทุกข์ ถ้าหากว่าจิตรู้สึกสุขก็ผ่านไป แต่ถ้าจิตของเรารู้สึกทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นความร้อนภายในจิต เรารู้ความร้อนของจิตในเมื่อเรารู้ความร้อนของจิตแล้ว ความร้อนเป็นทุกข์เราจะต้องถามหาเหตุว่า ทุกข์นั้นเกิดมาจากอะไร

ในเมื่อจิตรู้ว่าความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นมาจากอำนาจของราคะ เกิดมาจากอำนาจของโทสะเกิดมาจากอำนาจของโมหะ จิตมันก็จะรู้และยอมรับว่า ไฟคือ โลภะ โทสะ โมหะอันนี้เป็นอันว่าจิตรู้ธรรมเห็นธรรม คือเห็นทุกข์ในจิต เห็นสุขในจิต

ในเมื่อจิตเห็นทุกข์คือจิตร้อนเพราะไฟโลภะ โทสะ โมหะ ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไรเราจะไล่ความร้อนของไฟ โลภะ โทสะ โมหะ ให้มันหายไปอย่างนั้นหรือเราจะไปตั้งใจไล่ไม่มีทาง เพระจิตของเรามันเกิดความเคยชินชาต่อการปรุงกิเลสให้เกิดไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ แล้ว ถ้าไม่มีทางที่จะขับไล่ไม่มีทางที่จะละเราจะทำอย่างไร เราก็ทำสติกำหนดรู้คือรู้ว่ามันเป็นไฟราคะ โลภะ โทสะ โมหะ รู้ว่าฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ มันทำจิตให้ร้อนให้ดูแลความร้อนที่มีอยู่ในจิตดูความเย็นที่มีอยู่ในจิตจนกระทั่งจิตมันรู้ซึ่งเห็นจริงลงไปแล้ว จิตมันยอมรับความเป็นจริงว่า ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะนี้มันเป็นไฟเผาให้ร้อน มันร้อนอย่างนี้หนอ จนกระทั่งจิตมันยอมรับความจริงแล้วก็เกิดความเข็ดหลาบในตัวของมันเอง ภายหลังมันก็จะไม่สร้างเหตุเดือดร้อนให้เกิดขึ้นมาอีก เปรียบเหมือนคนเราที่รู้ว่าถ่านไฟมันร้อน เมื่อมีใครนำถ่านไฟร้อนมาวางไว้ตรงหน้าเรา เขามาบอกกับเราว่าดูซิถ่านไฟนี้มันสวยดูซิมันเย็น แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าถ่านไฟนี้มันร้อน แล้วเราก็จะไม่ไปจับถ่านไฟนั้น ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อจิตมันรู้ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะอย่างแท้จริงแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันก็จะไม่ก่อเรื่องให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะขึ้นมาอีก มีแต่คอยพิจารณาปลดเปลื้อง โลภะ โทสะ โมหะ ของเก่าที่มีอยู่ให้ลดน้อยลงเบาลงบางลงไป
การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการทำจิตให้มีสิ่งรู้สติให้มีสิ่งระลึก การภาวนาพุทโธก็ทำพุทโธให้เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ การภาวนายุบหนอพองหนอก็ทำยุบหนอพองหนอให้เป็นสิ่งรู้ของจิตสิ่งระลึกของสติ การภาวนาสัมมาอะระหังก็ทำสัมมาอะระหังเป็นสิ่งรู้ของจิตสิ่งระลึกของสติทั้งสามอย่างนี้หรืออย่างอื่นๆ ก็ตามใครภาวนาแล้วเมื่อจิตจะเป็นสมาธิก็ต้องทำจิตให้เป็น วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาเหมือนกัน

สมาธิเป็นสัจจธรรมเป็นของจริง ในเมื่อสัจจธรรมของจริงคือสมาธิมีอยู่ ใครจะรู้แตกต่างกันไม่เหมือนกันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าไปยึดมั่นอยู่เพียงวิธีการเท่านั้น ขอให้ท่านพิจารณาดูความจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราในขณะที่เราภาวนา สมาธินี้เป็นของจริงใครจะภาวนาแบบไหนอย่างไรจะเกิดมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด และขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งว่าการรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ก็ดี สิ่งที่เราเห็นในระหว่างจิตมีสมาธิสงบสว่าง เราเห็นมีนิมิตต่างๆ เกิดอุทานธรรมขึ้นมาก็ดีสิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นได้เกิดขึ้นแล้วเราทำสติไว้ให้ดี

 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 01 มิ.ย.2008, 3:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมัยนี้ มรรค ผล นิพพาน หมดไปแล้วจะภาวนาไปทำไม

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูญาณวิจิต (มานิต) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประชาอุทิศและเป็นบูรพาจารย์ของบรรดาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านผู้นี้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณนามความดีเป็นที่ประจักษ์แก่ความทรงจำของบรรดาท่านทั้งหลาย ว่าโดยกำเนิดของท่าน ท่านเป็นชาวจังหวัดสกลนครโดยกำเนิดและเป็นเพื่อนสหธรรมมิกร่วมสำนักครูบาอาจารย์เดียวกันกับท่านอาจารย์วัน คือท่านเจ้าคุณอุดมสังวรญาณ และเจ้าคุณชินวงศาจารย์เจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน เราทั้งสามได้เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่เล็กและเมื่อได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนาได้มาร่วมสำนักอาจารย์เดียวกัน คือพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทาวาสจังหวัดสกลนครเป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารอดีต ซึ่งปัจจุบันคือมหาเส็งเปรียญ 6 ประโยค ซึ่งละเพศเป็นคฤหัสและเสียชีวิตแล้วที่วัดป่าสาละวัน ได้เดินธุดงค์และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมร่วมกันมา และได้ปฏิญาณตนว่าเราจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ครั้งอยู่มาเมื่อมีอายุพรรษาพอสมควรก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะ เจ้าอาวาสและเป็นพระสมณศักดิ์ ท่านผู้มาประกอบกองการกุศล ณ ปัจจุบันนี้ก็ได้เป็นพระครูญาณวิจิต และท่านอาจารย์วันได้เป็นพระราชาคณะ คือพระอุดมสังวรญาณและผู้บรรยายได้เป็นพระชินวงศาจารย์ผ่านตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะจังหวัดมาโดยลำดับ แต่ปัจจุบันนี้เป็นกิติมศักดิ์ ท่านอาจารย์วันก็ดี ท่นพระครูญาณวิจิตก็ดี ก็ได้ถึงมรณภาพไปแล้ว ได้ทิ้งแต่ความเสียดาย อาลัยไว้แก่สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกา ตลอดศิษยานุศิษย์ ที่มีความเคารพเลื่อมใสทั้งหลาย

บัดนี้เราท่านทั้งหลายได้มาประกอบการกุศลของท่านพระครูญาณวิจิต โดยฐานะที่ท่านก็ได้เป็นอาจารย์ของบรรดาเราทั้งหลายท่านหนึ่ง ได้ปลูกฝังคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่จิตใจของบรรดาเราทั้งหลาย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่นอกจากจะได้เป็นผู้นำทัศนาสร้างวัด สร้างวา สร้างบ้าน สร้างเมือง มีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับแล้วก็ยังได้เป็นผู้สั่งสอนศิษยานุศิษย์ตลอดทั้งอุบาสกอุบาสิกาให้ดำรงอยู่ในความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทางแห่งกัมมัฏฐานโดยทั่วไป

ท่านผู้มีจริยวัตรเคร่งครัดไปในทางธุดงคกัมมัฏฐานซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านอาจาย์เสาร์ อาจารย์มั่น และครูบาอาจารย์เป็นลำดับๆ มา โดยฐานะที่ท่านเป็นลูกศิษย์พระกัมมัฏฐานเป็นการสนับสนุนนโยบายมุ่งอบรมบรรดาศิษยานุศิษย์ไปในทางสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ผู้บรรยายจึงใคร่ที่จะนำปฏิปทาของพระกัมมัฏฐานมาแสดงโดยย่นย่อพอเป็นเครื่องพิจารณา กัมมัฏฐานในสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมทีเดียวนั้นมีกำเนิดเกิดขึ้นที่ท่านอาจาย์สีทา สยะเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี ครั้นอันดับต่อมาก็มีเจ้าพระคุณอุบาลี อุปทาจารย์สิริจันโท (จันทร์) ท่านพระคุณองค์นี้มีปฏิปทาดำเนินชีวิตในทางศาสนามาทั้งในด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ มีหน้าที่ปกครองบริหารหมู่คณะ จัดทั้งการศึกษา การปกครองและเป็นผู้นำในทางปฏิบัติสมถะ-กัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยครั้นอยู่มาภายหลังท่านผู้นั้นได้มีลูกศิษย์ผู้ใหญ่เกิดขึ้น 2 ท่าน ท่านหนึ่งคือ เจ้าคุณสมเด็จปู่พระมหาวีระวงศ์จิตมหาเถระ ท่านผู้นี้มีปฏิปทาการศึกษา การปกครอง มีอำนาจปกครองคลุมไปทั่วภาคอีสานเป็นพระเถระผู้หลักผู้ใหญ่ มีอำนาจราชศักดิ์สูงส่ง และเป็นสมเด็จของภาคอีสานองค์แรกและสังฆนายกองค์แรกของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย นับว่าแผ่บารมีปกป้องคุ้มครองสังฆมณฑลและตลอดจนอุบาสกอุบาสิกามีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วภาคอิสานและภาคอื่นๆ นี้ก็เป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอุบาลีสิริจันโทท่านหนึ่ง

และอีกท่านหนึ่งนั้นคือท่านอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล ท่านอาจาย์เสาร์ กันตะสีโลเป็นลูกศิษย์ของท่านเจ้าคุณอุบาลีเพราะว่าได้เคยศึกษาปฏิบัติในสำนักของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีแต่ท่านผู้นี้ได้มีปฏิปทาดำเนินเน้นหนักไปในทางฝ่ายคณะวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยเฉพาะ ได้นำลูกศิษย์ลูกหาหมู่คณะบำเพ็ญเพียรภาวนาน้อมไปในทางความสงบ และพิจารณาแสดงหาสัจจธรรมความจริงเพื่อความพ้นทุกข์ในวัฏสงสารโดยตรง ดังนั้นในฐานะที่เราทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจาย์เสาร์ กันตสีโล จึงจะนำปฏิปทาของอาจารย์เสาร์ที่ท่านสอนพระกัมมัฏฐานมาเล่าสู่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย

โดยปกตินั้นท่านอาจารย์เสาร์เป็นพระเถระที่ไม่ค่อยมีปฏิปทาเทศน์ก็ไม่เป็น แต่ว่าการนำในทางการปฏิบัติเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนานั้นพระเณรสู้ไม่ได้ ถ้าใครคิดจะเดินจงกรมแข่งท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นต้องแพ้ท่านพระอาจารย์เสาร์ทุกที นี่คือปฏิปทาอันเข้มแข็งของท่าน

ท่านพระอาจารย์เสาร์ สอนกัมมัฏฐานอย่างไร สมมติว่าท่านผู้ใดผู้หนึ่งอยากอยู่สำนักอาจารย์เสาร์ ไปขอเรียนกัมมัฏฐานแล้วไปบอกความประสงค์ว่าอยากจะเรียนกัมมัฏฐานโดยปกติแล้วคนชราอิสานเรียกท่านอาจารย์เสาร์ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า “ยาทาน” ถ้าท่านผู้ใดจะไปเฮียนกัมมัฏฐานในสำนักอาจารย์เสาร์ ไปบอกกับท่านว่า ยาทาน ข้าน้อยอยากเฮียนกัมมัฏฐานเฮ็ดจังใด อาจารย์เสาร์จะบอกว่า “ภาวนาพุทโธ-ตี๊” พุทโธแปลว่าจังได๋ ข้าน้อยอยากถาม ครั้นภาวนาพุทโธแล้วมันซิเป็นจังใด ซิมีอีหยังเกิดขึ้น ถามหาซิแตกอีหยัง นี่เป็นความจริงที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนกัมมัฏฐานมาแล้วท่านจะบอกว่า “ให้ภาวนาให้มากๆ ทำให้มากๆ” และถ้าใครขยันทำกันจริงจังแล้วรับรองว่าภาวนาพุทโธนั้นต้องมีผลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ท่านสอนอย่างนี้

เพราะฉะนั้นการที่ท่านล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากท่านอาจารย์เสาร์เทศน์ไม่มีปฏิภารโวหาร ไม่ปรากฎว่ามีคำเทศนาของท่านทิ้งเอาไว้เป็นมรดกเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าจะมีบ้างก็กระท่อนกระแท่น ไม่พอที่จะจับเป็นเรื่องเป็นราวได้ นอกจากลูกศิษย์ลูกหาจะจำมาเท่านั้น อันนี้คือปฏิปทาของท่านอาจารย์เสาร์

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ประชาชนพลเมืองก็ดี พุทธบริษัทก็ดีมีความนิยมชมชอบที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐานและสอนกัมมัฏฐานกันจำนวนมาก สมัยเมื่อท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ยังเดินธุดงค์สอนประชาชนให้หลับตาภาวนาอยู่นั้น ยังเคยมีผู้กล่าวว่า สมัยนี้มรรคผล นิพพานมันหมดไปแล้วไม่ทราบว่าจะภาวนากันไปทำไม แล้วพระกัมมัฏฐานพระป่าทั้งหลายมักถูกประณามว่า พากันนั่งหลับหูหลับตาไม่ลืมตาดูโลกดูอะไรกับเขามักจะถูกกล่าวอย่างนั้น แต่มาสมัยปัจจุบันนี้นั้นจะเป็นเพราะเหตุใดไม่ขอนำมากล่าว แต่รู้สึกว่าทั้งคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองก็พากันสอนและพากันปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเป็นจำนวนมากและนักปฏิบัติในสมัยปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าจะสำเร็จ มรรค ผล นิพพานเร็วกว่าการปฏิบัติกัมมัฏฐานในสมัยท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่นเสียอีก เพราะอาศัยเหตุที่สอนกัมมัฏฐานกันมากๆ ขึ้น มติขัดแย้งระหว่างครูบาอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องของธรรมดา บางท่านก็กล่าวว่า การภาวนาพุทโธอย่างดีก็ถึงแค่สมถะไม่ถึงขั้นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ จึงจะถึงวิปัสสนากัมมัฏฐาน สำเร็จมรรคผล นิพพานได้ ท่านผู้ที่ภาวนาพุทโธแล้วจิตถึงสมถะกัมมัฏฐานคือจิตไม่ถึงวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ยังรู้สึกว่าผู้ภาวนาพุทโธ ยังได้รับเกียรติ เมื่อภาวนาพุทโธแล้วจิตถึงสมถะกัมมัฏฐานคือจิตไม่ถึงอัปปนาสมาธินั้นเอง ทำไมจึงว่าอย่างนั้น อนุสติ 10 ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 8 ใครๆ ภาวนาแล้วจิตจะต้องลงไปสู่แค่อุปจารสมาธิ ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ทำไมจึงว่าอย่างนั้นผู้ฟังอาจจะเกิดความสงสัย ลองท่านพิจารณาดูเมื่อท่านพิจารณาเป็นกันจริงๆ ในขั้นแรกท่านนึกบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตสงบมีอาการเคลิ้มๆ ลงไปแล้วก็เกิดสว่างขึ้นแล้วจิตก็เกิดมี ปีติ มีสุข จิตที่นึกว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ หายไปใช่หรือเปล่า ขอท่านสังเกตให้ดี เมื่อภาวนาพุทโธ จิตสงบลงไปแล้วจิตท่านเกิดปีติ คำภาวนาพุทโธนั้นจะหายไปจะไม่นึกพุทโธต่อไปอีก การนึกพุทโธนี้จึงไม่ถึงขั้นสมถะหรืออัปปนาสมาธิ

เมื่อเป็นจริงนั้นทำไมจิตจึงปล่อยวางคำว่า พุทโธ ก็เพราะในขั้นต้นนั้นจิตยังไม่ถึงพุทโธ ขณะจิตยังไม่สงบและจิตก็ยังไม่เห็นพุทโธถ้าเปรียบเทียบเหมือนกับว่าเราอยากจะพบใครสักคนหนึ่ง แต่เรามองไม่เห็นเขาเมื่อเราอยากจะพบเขาก็ต้องตะโกนเรียกชื่อเขา เมื่อผู้นั้นมาหาเราและมาพบเราแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อบุคคลนั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการภาวนาพุทโธในขณะจิตยังไม่ถึงพุทโธ เราก็บริกรรมภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตสงบสว่างลงไป เกิดปีติ มีความสุขนั้นจิตถึงพุทโธแล้วจิตไม่เรียกหาท่านพระพุทธเจ้าคือพุทโธอีก ถ้าหากเรายังเรียกพุทโธคือท่านพระพุทธเจ้า ท่านก็จะหนีเราไปอีก ในเมื่อพูดมาถึงตอนนี้ท่านผู้ภาวนาคววรจะเข้าใจแล้วว่าเมื่อภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตสงบสว่างลงไปแล้ว จิตมีปีติ มีความสุขคำว่า พุทโธ หายไปความสงบของจิตนั้นมีสภาวะผู้รู้ปรากฎขึ้นในจิต ผู้รู้ที่ปรากฎขึ้นในจิตนั้นย่อมเกิดความสว่างไสว ความสว่างไสวนั้นเป็นความตื่นของจิตความเบิกบานของจิต เรียกว่าเป็นพุทโธ ผู้ตื่นและพุทโธผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบานย่อมบังเกิดขึ้นในจิตของผู้ภาวนาพุทโธ พุทโธ เริ่มต้นตั้งแต่จิตสงบลงไปสว่างแล้วก็เกิดปีติ และสุข ในเมื่อจิตมีปีติ และสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตก็อิ่มไม่ดิ้นรนกระวนกระวายมุ่งหน้าต่อความสงบเรื่อยไป ในตอนนี้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้อยู่ที่จิตสว่างไสวอยู่เฉยๆ เท่านั้น ไม่ต้องไปนึกคิดอะไรขึ้นมาอีก ถ้าท่านเผลอนึกอะไรขึ้นมาจิตของท่านจะถอนออกจากสมาธิแล้วความสงบสว่างไสวก็จะหายไป นี่คือคติที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรจะทราบไว้พิจารณา เป็นประสบการณ์ของนักภาวนาจะต้องผ่าน
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 21 มิ.ย.2008, 8:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในเมื่อจิตของท่านไปสงบสว่างอยู่เฉยๆ ไม่เกิดภูมิความรู้อะไรขึ้นมา ถ้าหากในตอนนี้ท่านเผลอไปถ้าปล่อยให้จิตนั้นส่งกระแสออกไปข้างนอก จิตมองไปไกลๆ จะไปเห็นภาพนิมิตต่างๆ เกิดขึ้น ภาพนิมิตในตอนนี้คล้ายกับเห็นด้วยตา และรู้ด้วยใจบางทีจะไปเห็นภาพเปรต ภาพผี ภาพคน นักภาวนาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไปสำคัญว่าภูตผีเหล่านั้นมาขอส่วนบุญ แล้วก็ตั้งใจแผ่ส่วนบุญให้เขาเหล่านั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้นสภาพจิตก็เปลี่ยนสมาธิก็ถอน ภาพนิมิตทั้งหลายเหล่านั้นก็เลยหายไป เราก็เลยมัวแต่นั่งแผ่ส่วนกุศลให้เขาอยู่

ถ้าหากนักภาวนาที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบ เมื่อจิตถึงสภาวะตอนนี้แล้วจิตอยู่ว่างเฉยๆ แล้วถ้าหากว่าจะดำเนินจิตให้ละเอียดสงบ หรือละเอียดยิ่งขึ้นไปควรจะมองหาลมหายใจ เมื่อจิตพบลมหายใจแล้วกำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งนั้น แม้ว่าลมหายใจจะเล็กละเอียลงไป ก็อย่าไปตกอกตกใจกำหนดตามรู้ให้ดี และในที่สุดถ้าเราไม่ตื่นในความเปลี่ยนแปลงในอาการที่เกิดขึ้นภายในจิต จิตจะมีสติสัมปชัญญะรู้ตลอดเวลา จิตจะดำเนินไปสู่ความสงบละเอียดยิ่งขึ้น ในเมื่อสงบละเอียดยิ่งขึ้นแล้ว ลมหายใจก็หายขาดไป ร่างกายที่ปรากฎว่ามีอยู่ก็หายขาดไปด้วย ตอนนี้สภาวะจิตยังเหลือแต่ตัวผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ มีความสงบนิ่งเด่นอยู่อย่างนั้น อันนี้คือจิตก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิ จิตในตอนนี้ยังใช้การไม่ได้เป็นเพียงฐานที่พักจิต เป็นเหตุให้ผู้ภาวนานั้นทราบความเป็นจริงของจิตัวเอง คือรู้ว่าเมื่อจิตไม่มีความนึกคิดมีแต่ความว่างเฉยอยู่ มีสภาพอย่างไร เมื่อจิตรับรู้อารมณ์แล้ว จิตมีสภาพอย่างไร ทราบขั้นตอนของความเป็นจิตได้ทันที จิตในตอนนี้ท่านเรียกว่าปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนชาติ ถ้าจิตไม่น้อมออกไปรับรู้อารมณ์ จิตจะมีลักษณะว่างสว่างอยู่เฉย ท่านเรียกจิตเช่นนี้ว่าจิตดั้งเดิมประภสสร แต่ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์สะอาดโดยสิ้นเชิง เป็นแต่เพียงจิตปราศจากเมฆหมอกบังเพียงชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ผู้ปฏิบัติมองเห็นสภาพความเป็นจริงของจิตในขณะนั้น

เมื่อเรารู้ว่าจิตดั้งเดิมของเรามีสภาพอย่างไร ถ้าเรารักษาจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ตลอดไป ความสุข ความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างไร ผู้ปฏิบัติจะรู้ทันที อันนี้คือวิถีทางของผู้ปฏิบัตพุทโธ และเป็นประสบการณ์ที่ผู้ปฏิบัติทุกคนจะต้องพบอย่างนี้

การบริกรรมภาวนานั้นอย่าว่าแต่ศาสนาพุทธหรือชาวพุทธ จะมาภาวนาเลย แม้แต่ศาสนาคริสต์หรือชาวคริสต์เขาจะบริกรรมภาวนา นึกถึงชื่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเพียงอย่างเดียวคำเดียว คำเดียวเท่านั้น เมื่อจิตสงบลงไปก็ต้องเป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเหมือนกัน อันนี้คือความจริง สมาธินี้ใครทำเมื่อผลมันเกิดขึ้นมันเป็นอย่างเดียวกันหมด อาศัยหลักคือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาด้วยกันทั้งสิ้น และผลทีเกิดขึ้นจะตรงกันหมด ถ้านักปฏิบัติทั้งหลายพากันเอาผลทีเกิดขึ้นภายในจิตในใจกันจริงๆ มาเปรียบเทียบกันโดยตัดทิฏฐิมานะ เรื่องตำรับตำราออกไปให้หมด มติความเห็นจะลงรอยเดียวกันหมด นี่คือความเป็นจริงของนักภาวนา แต่จุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนานั้นย่อมไม่เหมือนกัน ศาสนาอิสลามเมื่อภาวนาจิตสงบสว่างจิตอยู่ในการควบคุมได้พอสมควรแล้วเขาส่งจิตของเขาจะติดต่อกับวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ เมื่อเขาอธิษฐานขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองหรือบันดาลให้เขามีความสุขสมความปรารถนา ชาวศาสนาคริสต์จะส่งจิตไปติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ อธิษฐานจิตให้พระผู้เป็นเจ้าช่วย แต่ศาสนาพราหมณ์นี่พิสดารกว่าเขามาก นอกจากจะทำจิตให้เป็นสมาธิมุ่งต่อสมาบัติ ๘ แล้วยังมีปลีกย่อยที่จะให้ประโยชน์ได้มาก เช่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องลางของขลัง การเป็นหมอดู การรักษาคน ทักทายทายทักและหมอปลุกเสกอะไรต่างๆ ดังนั้นเนื่องจากศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์นั้นศาสนาพุทธเกิดอยู่ท่ามกลางของศาสนาพราหมณ์ พุทธบริษัทเราจึงไปหยิบยืมเอาลัทธิศาสนาพราหมณ์มาใช้เป็นเครื่องมือ ใช้เป็นเครื่องมือทำไม ก็เป็นเครื่องมือหาอยู่หากิน เพราะการที่จะมาดำเนินตามหลักของศาสานาพุทธหลักธรรมะเป็นของละเอียดสุขุมมากยากที่เราจะค้นพบของจริง และเมื่อไปหยิบยืมเอาคาถาบริกรรมภาวนาเล็กๆ น้อยๆ เช่นคาถาพระเจ้าเปิดโลก คาถาปลุกพระ คาถาส่องอะไรต่ออะไรให้รู้ให้เห็น หรือคาถาภาวนาแล้วเกิดพรายกระซิบกระซาบอะไรขึ้นมาบอกเหตุบอกเรื่องอะไรให้รู้อย่างนี้เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ทั้งนั้น
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 22 มิ.ย.2008, 10:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แต่สำหรับผู้ภาวนาตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้น ผลพลอยได้บังเกิดขึ้นจากการทำสมาธินั้นย่อมมีตามแบบของศาสนาพรามหมณ์นั่นแหละ ใครภาวนาเป็นอย่างดีแล้วจะกดให้เครื่องยนต์มันดับก็ได้ อย่างเช่นอาจารย์ฝั้นท่านเคยเล่าให้ฟัง เวลาท่านนั่งไปในรถยนต์ ท่านก็กำหนดอาการ ๓๒ พอกำหนดไปถึงหัวใจ เกิดจิตสงบ สว่างขึ้นมาทันทีแล้วจิตมันจะวิ่งเข้าไปเกาะอยู่ที่หัวเทียนของรถยนต์ เครื่องยนต์มันก็ดับ อันนี้คือผลพลอยได้จากการภาวนา หรือบางท่านเมื่อภาวนาจิตสงบดีแล้วไปเที่ยวชี้ต้นมะพร้าว กิ่งไม้ให้หักลงมาอะไรทำนองนี้ก็สามารถทำได้ เป็นสมถะนี้สามารถจะทำอะไรแปลกๆ ได้หลายอย่างแม้จะเป็นอาจารย์ให้หวยเบอร์ก็ได้ จะปลุกเสกเป่าอะไรก็ยิ่งขลัง จะปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ก็ยิ่งขลังกันไปใหญ่ เพราะเป็นอำนาจจิตซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการภาวนา

ในศาสนาพุทธโดยตรงนั้นทำอย่างไร ในเมื่อนักปฏิบัติทั้งหลายมาฝึกฝนอบรมจิตให้เป็นสมาธิจิตสงบพอสมควรแล้ว ถ้าหากภาวนาพุทโธ พุทโธ จิตนิ่งสงบอยู่เพียงแค่สมถะ หรืออัปปนาสมาธิเท่านั้น ไม่มีทางก้าวหน้าไปทางไหนอีกเลย ทำเมื่อใดจิตจะมีวิตก วิจาร ปีติ สุข สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น ภูมิความรู้ไม่เกิด เรียกว่าจิตติดสุขแค่สมถะ ต่อไปเราจะทำอย่างไร อาจารย์เสาร์ท่านสอนให้แก้จิตสมถะได้อย่างนี้

เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว คือขณะทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่เคยกระทำมา เมื่อจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิเราจะป้อน จะน้อม จะนึก จะคิด จะพิจารณาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะจิตเป็นหนึ่งแล้ว มันจะเป็นหนึ่งอย่างแท้จริง ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับอายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เกี่ยว กายหายไปหมดแล้ว มีแต่จิตดวงเดียวทำอะไรไม่ได้ มีแต่สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น นักปฏิบัติเมื่อพบอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร

ผู้ปฏิบัติจะต้องคอยสังเกตเมื่อจิตมันถอนออกมาจากอัปปนาสมาธิ เมื่อมันถอนออกมาสู่ขั้นระหว่างอุปจารสมาธิ ความรู้สึกนึกคิดมันจะเกิดขึ้นมาทันที ถ้าไม่คิดลมหายใจจะปรากฎขึ้นมาอีก ในเมื่ออะไรเกิดขึ้นมา ความคิดอะไรที่แปลก นักปฏิบัติก็ควรจะกำหนดรู้ความคิดนั้น กำหนดรู้เฉยๆ เมื่อความคิดนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดมาแล้วก็รู้ รู้แล้วก็ปล่อยวางไป ไม่ต้องไปนั่งพิจารณาหรือวิพากษ์วิจารณ์อันใด อะไรเกิดขึ้นมารู้อะไรเกิดขึ้นมารู้ อย่าไปเพิ่มเติม อย่าไปวิจารณ์ รู้แล้วปล่อยวางไป รู้อยู่เฉยๆ ตั้งสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ ในเมื่อกำหนดรู้ตามไปเรื่อยๆ แล้ว จิตจะเริ่มสงบลงไปอีกทีหนึ่ง ในเมื่อจิตสงบขึ้นมาอีกครั้งนี้ภูมิความรู้มันจะเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อภูมิความรู้มันเกิดขึ้นมาตอนนี้ ภูมิความรู้กับจิตจะมีลักษณะความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อจิตรู้อะไรความรู้อันนั้น ความรู้ในตอนนี้มีสมมติบัญญัติ เมื่อรู้อะไรก็เรียกชื่อได้ถูกต้อง ตามภาษานิยมเพราะจิตในขณะนี้ยังมีสมมติบัญญัติอยู่
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 22 มิ.ย.2008, 10:34 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 22 มิ.ย.2008, 10:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าหากสมมติว่าจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิแล้ว มันถอนออกมาอย่างรวดเร็วไม่สามารถยับยั้งได้ ตอนนี้อาจารย์เสาร์ท่านสอนว่าให้น้อมไปพิจารณากายคตาสติ กำหนดพิจารณาลงไปตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนครบอาการ ๓๒ โดยน้อมจิตให้รับรู้ไปในแง่ที่เป็นของปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม น่าเกลียด โสโครก จิตมันจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เห็นก็ตามไม่เห็นก็ตามให้นึกพิจารณาอยู่อย่างนั้น พิจารณาบ่อยๆ ค้นคว้าบ่อยๆ โดยตั้งใจ โดยคิดว่าผมนี้มันไม่สะอาด เป็นของน่าเกลียด โสโครก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ก็เหมือนกัน มันเป็นของปฏิกูล โสโครก น่าเบื่อ น่าหน่าย แม้ว่ามันตายไปแล้วมันก็เน่าเปื่อย ผุพังไปตามธรรมชาติของมัน อันนี้ท่านให้น้อมนึกพิจารณาเอา ในเมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้วให้หยุด แล้วก็มากำหนดจิตพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง จนจิตเกิดความสงบขึ้นมา เมื่อจิตมีความสงบลงไปแล้ว จิตจะปฏิวัติตามไปสู่ภูมิความรู้ที่ได้ค้นคิดมานั้น บางทีก็จะรู้ซึ้งเห็นจริงลงไปโดยมีภาพนิมิตปรากฎแสดงความปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพังลง อันนี้สุดแท้แต่อุปนิสัยของท่านผู้ใด ถ้าทำเพียงครั้งหนึ่งสองครั้งไม่เกิดผล ก็ต้องเพียรพยายามทำบ่อยๆ เช่นเคยได้ยินคำเทศน์ของท่านอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเทศน์ว่าเราต้องการจะโค่นต้นไม้เราก็ใช้ขวานฟันมันลงไป ฟันมันลงไปที่เก่านั่นแหละแล้วลงผลสุดท้ายต้นไม้มันจะหักโค่นลงมาเอง เพราะฉะนั้นการพิจารณากายคตาสติ แม้ว่าจิตเราจะไม่สงบไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็ตาม พิจารณาค้นคว้ามันอยู่อย่างนั้น พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ ความรู้ความเข้าใจมันจะเกิดขึ้นมาเอง เมื่อจิตยอมรับให้เมื่อใด เมื่อนั้นจิตจะเกิดความสงบขึ้น

เมื่อพิจารณาอสุภกัมมัฏฐานจนชำนิชำนาญจนเห็นอสุภะดีแล้ว อาจารย์เสาร์ท่านสอนต่อไปอีกว่า ท่านอาจารย์เสาร์ท่านสอนอย่างนี้ พิจารณาอสุภกัมมัฏฐานให้รู้ ให้เห็น ให้แจ้ง เห็นจริง ท่านสอนให้พิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน โดยให้พิจารณาแยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วนคือ แยกออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ด้วยการน้อมนึกเอาโดยเจตนาและความตั้งใจจนกระทั่งจิตยอมรับความเป็นจริงไปว่าร่างกายมีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่มี ชีวิตมีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น ในเมื่อสภาพจิตยอมรับความเป็นจริงลงไปอย่างนี้ จิตนั้นก็รู้ว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไรมีแต่อนัตตาทั้งสิ้น สูญจากความเป็นคน สูญจากความเป็นสัตว์ สูญจากความเป็นชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้นภูมิจิตของผู้ปฏิบัติก็จะก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาเอง โดยไม่ได้ตั้งใจเพราะว่าพวกเราพยายามปฏิบัติไปตามขั้นตอน ตามแนวของท่านอาจารย์ใหญ่ โดยไม่ได้ตั้งแนวทางเอาไว้ให้บริกรรม การมาทำจิตให้สงบพอสมควรถ้าสามารถทำจิตให้สงบให้บรรลุฌานได้ยิ่งดี
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 23 มิ.ย.2008, 11:44 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 23 มิ.ย.2008, 11:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิได้พอสมควรแล้วท่านสอนให้พิจารณากายคตาสติ ไปในแง่อสุภกัมมัฏฐานเมื่อพิจารณาอสุภภกัมมัฏฐานได้ และมีความรู้ความเห็นดีแล้ว จึงมาพิจารณาธาตุกัมมัฏฐาน โดยพิจารณาว่าร่างกาย คนสัตว์เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อนึกภาวนา มาพิจารณาธาตุ ๔ โดยพิจารณาว่ากายเป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในเมื่อนั้นมองเห็น อนัตตา ความเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นชีวิตไม่มี ภายหลังจากนั้นจิตมันก็จะเกิดความสงบละเอียด นิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มองเห็นอยู่นั้นก็สลายตัว ร่างกายสาบสูญไปหมด เหลือสภาพจิตที่ว่างอยู่เท่านั้น

เมื่อสภาพจิตเกิดความว่างขึ้น หากกำลังของอริยมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญาพร้อมรวมลงเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "เอกายโนมัคโค" อริยมรรค ๘ รวมลงเป็นหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงเป็นหนึ่ง คือ ตัวปกติธาตุตั้งนิ่งเด่นอยู่ภายในจิตของตนตลอดเวลา หลังจากนั้นปัญญาความรู้ย่อมจะเกิดขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นกับจิตของตน ในขั้นละเอียดนั้น ท่านจะรู้สึกว่าไม่มีร่าง ไม่มีตัว ไม่มีตน มีแต่ตัวพุทธะผู้รู้เด่นอยู่ตลอดเวลา ความรู้ในขั้นนี้ที่เกิดขึ้นนั้น จะปรากฎคล้ายๆ กับว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สภาวะจิตของผู้รู้ก็จะจดจ้องดูความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างนั้นตลอดไป และความรู้ก็เพียงแต่รู้ว่ามีสิ่งเกิดดับ เกิดดับ อยู่ภายใจจิตเท่านั้น อันนี้เป็นภูมิความรู้ชั้นสูงของนักปฏิบัติเรียกว่า เจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด

ภูมิความรู้ของนักวิปัสสนาอย่างละเอียดที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ มีแต่สิ่งที่มีอยู่ในจิตตอนนี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านเทศน์ไว้ในมุตโตทัย เทศน์ว่าเป็น ฐีติภูตัง ฐีติภูตัง ฐีติ คือ ความตั้งเด่นอยู่ของจิตซึ่งประชุมพร้อมด้วยอริยมรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันลงที่นี่แล้วสำเร็จความเป็นหนึ่ง เรียกว่าเอกายโนมัคโค เมื่อเอกายโนที่ประชุมพร้อมแล้วเป็นหนทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ เน้นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้ของความทุกข์ และโทมนัส ที่คัมภีร์ท่านกล่าวไว้อย่างนี้
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 23 มิ.ย.2008, 8:51 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 23 มิ.ย.2008, 8:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในขณะเมื่อจิตของเราจดจ้องดูสิ่งที่เกิดขึ้นดับไปเกิดขึ้นดับไปอยู่ตลอดเวลานั้น นักศึกษาปริยัติทั้งหลายลองพิจารณาเทียบดูซิว่า พอจะไปเทียบกับหลักธัมมจักกัปปวัตตนสูตรในข้อที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นให้ในปัญญาของท่านโกณทัญญะ และพระพุทธเจ้าก็รับรองความรู้อันนี้ และได้รับรองว่าพระอัญญาโกณทัญญะเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา เป็นพระสาวกองค์แรก เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันได้ใจความว่า ธรรมะอันละเอียดหรือซึ่งเป็นสัจจธรรมปรากฎขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา หากสมมติบัญญัติที่จะเรียกชื่อว่าสิ่งนั้นชื่อนั้น ชื่อนี้ไม่มี พระพุทธเจ้าก็เรียกไม่ถูก ท่านจึงเรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เพราะหาชื่อที่จะเรียกไม่มี อันใดที่เราเรียกชื่อได้อยู่ อันนั้นไม่ใช่สัจจธรรมเพราะมันยังไม่เหมือนสมมติบัญญัติสัจจธรรมที่ปรากฎขึ้นกับจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ดังที่กล่าวมาแล้ว

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อผู้ปฏิบัติทำจิตได้มาถึงขนาดนี้ เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฎอยู่บ่อยๆ ในขณะใดจิตถูกอวิชชาโมหาครอบงำ เมื่อมันรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้วเกิดความพอใจหรือเกิดความยินดีกลายเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเกิดความเบื่อก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้ายินดีเป็นกามตัณหา ถ้ายึดถือเป็นภวตัณหา ถ้าปฎิเสธสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นวิภวตัณหา เมื่อจิตอยู่ในสภาวะปกตินั่งเดินอยู่ตลอดเวลา จะเป็นอะไรก็หยุดเป็นนิโรธะ คือความดับกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาไม่มีไม่ปรากฎขึ้นใจจิตของผู้ปฏิบัติ มันจะเป็นอะไร นอกจากนิโรธะคือความดับ ในเมื่อที่นิโรธะคือความดับ จิตก็เป็นปกติ จิตก็จ้องหาทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตของนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านผู้ใดตั้งใจจะเป็นนักปฏิบัติต้องการให้จิตมีความสงบและรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็นตามความเป็นจริงอย่าได้ไปทำความลังเลสงสัยใดๆ ขอให้คติเตือนใจ บรรดาท่านทั้งหลายไว้ว่า จะภาวนาอะไร อย่างใด แบบใดก็ตาม เมื่อจิตสงบไปแล้ว ความเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิ มีสภาพเหมือนกันหมดไม่มีแตกต่างกัน ถ้านักปฏิบัติเอาความเป็นจริงมาเทียบเราจะไม่มีข้อขัดแย้งกันเลย ที่เราขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพราะเหตุว่า ๑. ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เป็น ๒. ฝ่ายหนึ่งรู้ ฝ่ายหนึ่งเห็น ฝ่ายหนึ่งเป็น อีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ไม่เห็น และไม่เป็น เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ ต่างเห็น ต่างเป็น ไม่มีการขัดแย้ง เช่นพระอรหันต์ไม่เคยทะเลาะกัน
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 27 มิ.ย.2008, 9:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร อยู่ที่ไหน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ว่าด้วยสัจจธรรมของจริง ของจริงที่อยู่ภายในกายในใจของทุกคน สภาพความเป็นจริงของกายโดยพื้นฐานแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีอาหารเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องกินอาหาร อันนี้คือความจริงอันหนึ่ง ส่วนทางจิตใจนั้น ก็มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร แต่อาหารของจิตของใจนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท

ประเภทที่ ๑ เมื่อจิตได้ลิ้มรสของอาหารนั้นเข้าไปแล้วทำให้จิตเดือดร้อนวุ่นวายเกิดความทุกข์

ประเภทที่ ๒ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วเกิดความสุข สิ่งที่ทำให้จิตสงบเยือกเย็นมีความสุขนั้น ได้แก่ ธรรมะนั่นเอง

ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่มีความจริง และอีกอย่างหนึ่งพุทธะก็คือ สัจจธรรมเป็นวิสุทธิธรรมเป็นความจริงอย่างสูงสุด สัจจธรรมคือความจริงนั้นย่อมไม่สังกัดในลัทธิหรือศาสนาใด แต่เมื่อใครได้ดำเนินจิตของตนเองเข้าไปสู่จิตแห่งความเป็นสัจจธรรมอย่างแท้จริงหรือธาตุแท้แห่งความจริงที่มีอยู่ภายในจิตใจ สัจจธรรมแห่งพุทธะอันเป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสมบัติของผู้นั้น ท่านเจ้าชายสิทธัตถะดำรงพระชนม์ชีพเป็นมนุษย์ และเป็นมนุษย์ธรรมดาก็โดยอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์และก็มีปัจจัยเหมือนกับเราท่านทั้งหลาย ที่ท่านสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะอาศัยกายกับใจเป็นหลัก โดยที่เอากายและใจไปพิจารณาดูความเป็นจริงของร่างกายและทรงพบว่าความจริงของร่างกายนั้นมีอะไรบ้าง ร่างกายจะต้องมีอาหารเป็นที่ตั้งเพระความเป็นไปของร่างกายโดยกฎธรรมชาตินั้นย่อมมีความแตกดับ เน่าเปื่อยผุพัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่เป็นไปตามหลักวิชาที่ท่านกล่าวเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้แสวงหาคุณธรรมเราเคยได้ยินคำสอนในศาสนาพุทธว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" คือพระพุทธเจ้าสอนให้เราละความชั่วประพฤติความดี แล้วก็ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า "การละความชั่ว" โดยสาธารณะทั่วไปได้แก่อะไร โดยสาธารณะทั่วไปได้แก่การงดเว้นจากความชั่ว ๕ ประการ ซึ่งได้แก่ ศีล ๕ ดังนั้นเราตั้งใจกระทำความดีจึงมีศีล ๕ เป็นหลักประกัน ในเมื่อเรามีศีล ๕ เป็นหลักประกันความปลอดภัย ภัยเวรที่จะพึงเกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นผู้ที่ตั้งใจจะละเว้นความชั่วกันอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นขอให้มั่นคงในการยึดศีล ๕ เป็นหลัก ศีล ๕ นี้ โดยความมุ่งหมายของผู้บัญญัติมุ่งหมายที่จะป้องกันที่จะไม่ให้มนุษย์ต้องฆ่ากัน ปาณาติบาต บ่งถึงเจตนาที่จะฆ่าโดยตรง สิ่งที่สนับสนุนปาณาติบาต ยั่งมีอยู่เช่น อทินนาทาน คือการลักขโมยของคนอื่น โดยปกติแล้วคนที่มีข้าวของเขาต้องมีความรักหวงแหนทรัพย์สมบัติ ถ้าเราไปขโมยของเขา เขาโกรธเขาก็ฆ่าเอา กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดสิทธิของท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา มุสาวาท พูดปดมดเท็จกล่าววาจาส่อเสียดยุยงหรือพูดคำหยาบให้ท่านได้รับความเสียหาย ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา สุราดื่มเข้าไปแล้วมึนเมาคุมสติไม่อยู่เกิดทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็ต้องฆ่ากัน เพราะฉะนั้นเหตุผลในการบัญญัติศีล ๕ เอาไว้เป็นหลักในการปฏิบัตินั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากันโดยตรง

นอกจากเราจะมีศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้มีความมั่นคงอยู่ภายในจิตใจไม่ให้รู้จักเสื่อมคลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พร่ำสอนให้บำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นหลัก การบำเพ็ญสมาธิภาวนา ท่านทั้งหลายได้เคยได้ฟังและได้ปฏิบัติมามากแล้ว ดังนั้นจึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้แต่จะขอย้ำเตือนว่า การประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นอยู่ที่ความตั้งใจจริง การปฏิบัติแบบไหนอย่างไร ขอให้ยึดในสิ่งนั้นจริงๆ เช่นอย่างท่านจะบำเพ็ญกัมมัฏฐานหรือจะภาวนาพุทโธหรืออะไรก็ได้ เมื่อเราตั้งใจให้แน่วแน่ลงไปแล้ว ท่านอาจจะนึกในใจว่าเราจะนั่งสมาธิให้ได้ครั้งละ ๑ ชั่วโมงและนั่งสมาธิให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วตั้งใจอย่างจริงจังแล้ว ตั้งใจบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไว้ ให้จิตอยู่กับพุทโธแน่วแน่ไม่พรากจากไป แม้ว่าจิตจะไม่มีอาการสงบก็ตาม เมื่อเรานึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ ติดต่อกันไม่ขาดสาย พุทโธนั่นแหละจะเป็นสิ่งกางกั้นไม่ให้กระแสจิตของเราส่งกระแสออกไปสร้างบาปสร้างกรรมที่อื่น อีกอย่างหนึ่งพุทโธจะเป็นที่พึ่งของจิตจะเป็นวิหารธรรมในเมื่อเรานึกพุทโธจนชำนิชำนาญจิตติดอยู่กับพุทโธ ในบางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจไว้ แต่จิตจะยึดพุทโธเองโดยไม่ตั้งใจจนกลายเป็นอัตโนมัติ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราจะพบอุบัติเหตุที่สำคัญขึ้นมา จิตของเราจะวิ่งเข้าสู่พุทโธโดยไม่ตั้งใจ เมื่อจิตเข้าถึงพุทโธจิตก็มีที่พึ่ง พุทโธเป็นที่พึ่งที่ระลึกของจิตเป็นคุณสมบัติของความเป็นพุทธะ ความเป็นพุทธะนั้นสามารถจะเป็นได้กับทุกคน ถ้าเราคิดว่าพุทธะคือผู้รู้เป็นได้เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว เมื่อพระองค์เสด็จพระนิพพานไปแล้วพุทธะย่อมสาบสูญไป แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วธาตุแท้ความเป็นพุทธะยังสิงสถิตย์อยู่ในจิตใจของเราทุกคน พุทธะคือเป็นสัจจธรรม พุทธะที่เป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสิ่งรับรอง นักปฏิบัติทุกท่านจะสามารถที่จะเหนี่ยวเอาคุณสมบัติอันนี้เข้าไปอยู่ในจิตใจของตนเองถึงความบริสุทธิ์สะอาดและเข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 29 มิ.ย.2008, 2:30 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 29 มิ.ย.2008, 2:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาการเกิดขึ้นของสภาวะจิต จะเกิดขึ้นตามสภาวะของจิตไม่ต้องมีอำนาจอื่นใดมาบังคับให้เกิด ความรู้ก็ไม่มีอะไรมาบังคับให้รู้ อาการรู้จะเป็นไปโดยลำพังของจิตเอง หลักการมีอยู่ว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ผู้ที่ตั้งใจปรารถนาที่จะเว้นความชั่วประพฤติดีให้ยึดมั่นอยู่ในหลักศีล ๕ ข้อ
๑. ห้ามฆ่าสัตว์
๒. ห้ามลักขโมย
๓. ห้ามผิดประเวณี
๔. ห้ามพูดปดมดเท็จ
๕. ห้ามดื่มของมึนเมา

การกระทำบาปทุกสิ่งทุกอย่างถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หรือเป็นผลบาปผลกรรมแต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับการละเมิดศีล ๕ ข้อ ผู้ที่ตั้งใจสมาทานศีล ๕ สังวรระวังอยู่ในศีล ๕ ได้ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม บาปกรรมที่ว่าจะทำให้ผู้กระทำไปตกนรกนั้น หมายถึงการละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น บาปกรรมอื่นๆ ถึงแม้จะมีบ้างก็มีแต่ความหมองใจ ไม่ถึงกับยังผลให้ผู้ทำไปตกนรก ผู้ใดมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็เป็นการตัดผลเพิ่มของบาปกรรม เราเคยทำบาปกรรมอันใดแต่ในอดีต เมื่อมาบำเพ็ญศีล ๕ ก็เป็นอันว่ายุติกันเพียงแค่นี้ ชาติก่อนในอดีตมันมีบาปกรรมอยู่เท่าใดมันก็มีอยู่เท่านั้น เมื่อเรามีศีล ๕ แล้วผลเพิ่มย่อมไม่มี และศีล ๕ นี่แหละเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ ผู้ที่ภาวนาจะสำเร็จมรรคผลนิพพานก็ต้องอาศัยศีลเป็นหลักสำคัญ สมาธิที่ไม่มีศีลก็สามารถที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิได้แต่ไม่เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน สมาธิที่จะยังผู้ปฏิบัติให้สำเร็จมรรค ผล นิพพานก็ขึ้นต้นด้วยการมีศีล ๕ ถ้าหากไม่มีความจำเป็นอย่าไปสมาทานศีลเพิ่มขึ้นให้มากๆ ศีลที่ว่าจะเป็นบาปเป็นกรรมกันจริงๆ คือศีล ๕ ข้อ ส่วนใหญ่เราสมัครใจอยากจะมีศีลสองชั้น และเพิ่มอีกสามข้อข้างท้าย (ศีล ๘) แต่เมื่อพูดขึ้นมาแล้วเรารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้ มันเป็นการสร้างบาปสร้างกรรมให้กับตัวเองโดยไม่มีเหตุผล คฤหัสถ์ผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ รับประทานข้าวเย็นก็ได้ จะตกแต่งด้วยเครื่องประดับต่างๆ ก็ได้ ประดับด้วยของหอมเครื่องย้อม เครื่องทาก็ได้ จะฟังขับร้องประโคมดนตรีหรือตนเองจะประโคมเองก็ได้ ไม่ผิดศีลธรรม แต่ถ้าเราไปสมาทาน ๓ ข้อข้างปลายและรักษาไม่ได้เป็นการสร้างบาปให้แก่ตัวเอง ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจอย่างนี้

ในเมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์แล้ว บริบูรณ์แล้ว ศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ก็ดี ศีล ๒๒๗ ก็ดี จะเพิ่มขึ้นเองโดยอัตโนมัติโดยเราไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่มุ่งจะละชั่วประพฤติดีต้องตั้งใจมั่นคงอยู่ในศีล ๕ ข้อ ความดีที่จะเป็นที่พึ่งอย่างแน่นอนก็คือการทำสมาธิ การปฏิบัติสมาธิเป็นหลักการที่จะทำจิตของผู้ปฏิบัติให้เป็นสมาธิ คือการตั้งมั่น คือความมั่นคงโดยการบุญการกุศล เมื่อสมาธิมีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นเอง ถ้าหากว่าท่านผู้ใดจะตั้งใจแน่วแน่ลงไปว่า ฉันจะภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธวันนี้ให้ได้วันละสามครั้งๆ ละ ๑ ชั่วโมงทุกครั้งไป ในเมื่อตั้งใจทำลงไปแล้วก็ตั้งใจไปให้ถึง ๑ ชั่วโมง จิตจะสงบก็ตามไม่สงบก็ตาม อดทนทำไปเรื่อยๆ ตั้งใจจริงแล้วผลย่อมจะเกิดขึ้นมาเอง จิตเป็นสมาธิดีแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าวิปัสสนากัมมัฏฐานมันจะไม่เกิด ขอให้มีสมาธิคือสมถะอย่างเดียวเป็นพอ เพราะสมาธิทำให้เกิดปัญญา ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต เพราะฉะนั้นเมื่อมีศีลบริสุทธิ์จิตก็สงบเป็นสมาธิเอง ถ้ามีสมาธิดีแล้วปัญญาก็ย่อมเกิดเอง ปัญญาเกิดขึ้นแล้วจิตย่อมรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก จิตก็จะมีความบริสุทธิ์สะอาดขึ้นเอง มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวเท่าใด จิตก็ย่อมจะใสจะสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น จิตจะรู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งภายนอกและภายใน นี่คือหลักการปฏิบัติเบื้องต้น
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 29 มิ.ย.2008, 8:37 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 29 มิ.ย.2008, 8:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บัดนี้เรามีโอกาสได้มาพบกันในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทในศาสนาเดียวกัน เรามีพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมะประจำจิตใจ เมื่อเราไหว้พระได้อ้างถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ โดยยึดถือว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก และขอทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายก่อนว่า บางท่านอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระธรรมอยู่ที่ไหน พระสงฆ์อยู่ที่ไหน และพระพุทธเจ้าคืออะไร พระธรรมคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร เราไหว้พระกันอยู่ทุกวันนี้เราอาจนึกว่าพระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป พระธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้าอาจจะนึกถึงพระคัมภีร์ที่อยู่ในตู้ในวัด พระสงฆ์ก็คือลูกหลานของชาวบ้านที่สละฆราวาสไปบวช คิดไปอย่างนั้น

ถ้าหากเราคิดกันไปอย่างนั้น เราก็จะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์นั้นอยู่ห่างจากตัวเรา ดังนั้นพึงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี อยู่ที่จิตใจของเราเอง อยู่ที่ใจของเราทุกๆ คน คำว่าพระพุทธเจ้ามาจากคำบาลีว่า "พุทโธ" พุทโธนี้แปลออกมาว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ท่านผู้ฟังลองคิดดูซิว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่ารู้นี้รู้ยิ่งพอเราได้ยินได้ฟังแล้วเราก็จะนึกได้ทันทีว่าเป็นกิริยาของใจ เพราะฉะนั้นคำว่า "พุทโธ" คือพระพุทธเจ้าแปลว่าแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเป็นกิริยาของใจ ดังนั้นเราจึงมีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจกันทุกคน เมื่อเรารู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจของเรา เราก็รู้ได้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าคืออะไร

โดยธรรมชาติของจิตนั้นมันเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง ถ้าหากว่าจิตดวงนี้มันรู้อยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ถ้าหากสมมติว่าท่านจะเชื่อก็ตามไม่เชื่อก็ตาม แต่ขอบอกว่ากายกับใจมันคนละอย่าง กายได้แก่รูปร่างที่เรามีกันอยู่ทุกคน ใจก็คือความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่กันโดยทั่วไป ทั้งสองอย่างนี้เมื่อมันมาประกอบกันเข้าเมื่อใด เราก็มีกายกับใจขึ้นมาเมื่อนั้น แต่หากว่าใจดวงนี้มันออกจากกายไปมันไม่มีตัวตน มีธาตุรู้ เมื่อมันมาประกอบเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา มันหามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ ตาเป็นเครื่องมือของใจ หูเป็นเครื่องมือของใจ ทีนี้สิ่งที่เรารู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น ใจเป็นผู้จดจำเอาไว้ ถ้าหากสมมติว่าใจของเราคือธาตุแท้แห่งพุทธะคือผู้รู้ เพื่อให้เกิดความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์เราจึงจำเป็นต้องฝึกหัดจิตของเราให้เป็นผู้มีความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี โดยสำนึกจิตหรือมโนธาตุอย่างเดียวนั้นเป็นแต่เพียงธาตุรู้อยู่เฉย เลยไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว และมันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้นถ้ามันไม่มีตัว แต่ถ้าเกิดมีตัวขึ้นมาแล้วมันก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เองจึงเป็นเครื่องมือของใจ เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้ประกอบกันคือ กายกับใจ ถ้ามีรูปร่างหน้าตาเหมือนอย่างพวกเรานี้ คนเกิดก่อนเขาก็มาเรียกกันว่า มนุษย์ โดยสัญชาตญาณศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้น เราถือกันว่ามนุษย์มีใจสูง เมื่อมนุษย์มีใจสูง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องพยายามทำให้มันมีระเบียบ มีกฏเกณฑ์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามเมื่อมีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ในจิตและก็มีความรู้สึก สำนึก ผิดชอบ ชั่วดีอยู่ในจิตในใจความรู้สึกของตัวเอง ผู้นั้นได้ชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ เพราะพุทธะแปลว่าผู้รู้เป็นกริยาของใจ ใครก็ตามที่ทรงความดีเอาไว้โดยพยายามให้มีความรู้สึกสำนึก ผิดชอบ ชั่วดี มีสติสัมปชัญญะ รู้สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดควร รู้สึกสำนึกอยู่อย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรม กิริยาที่สังวรระวังรำลึกอยู่เสมอว่า เราจะละความประพฤติชั่วเราจะทำแต่ความดี เราจะทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด ความตั้งใจหรือความรู้สึกสำนึกอย่างนี้คือคุณของความเป็นพระสงฆ์

เพราะฉะนั้นปัญหาที่ว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร พระธรรมคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร และพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระธรรมอยู่ที่ไหน พระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็พอที่จะเข้าใจได้แน่ชัดว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์คืออะไรอยู่ที่ไหน พอสรุปได้แน่ชัดว่าอยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นเอง

หากท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูปเมื่อท่านกราบลงไปก็ถูกแต่อิฐแต่ปูน และถ้าคิดว่าพระธรรมคือคัมภีร์เมื่อกราบลงไปมันก็ถูกแต่ตู้กับใบลาน ถ้าคิดว่าพระสงฆ์อยู่ที่วัดกราบไหว้ลงก็ถูกแต่ลูกหลานชาวบ้าน เราท่านทั้งหลายจงทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ที่ใจและเกี่ยวเนื่องกับเราทุกลมหายใจ
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 04 ก.ค.2008, 9:02 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 04 ก.ค.2008, 9:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การที่เราน้อมเอาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นสรณะที่พึ่ง เราต้องพยายามปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ คืออะไร

หน้าที่ของความเป็นลูกของพ่อแม่ในบางครั้งเราเคยได้เห็นว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกมนุษย์ พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ เราจะเชื่อหรือไม่ก็ตามโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้จะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเพราะน้ำมือของมนุษย์ สิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ มนุษย์ทั้งนั้นเป็นผู้สร้างไม่ใช่พระพรหมหรือพระเจ้าเป็นผู้สร้างแต่ปัญหาที่ว่ามนุษย์สร้างมนุษย์ มนุษย์สร้างพระพรหม มนุษย์สร้างพระผู้เป็นเจ้าแม้แต่พระพุทธเจ้ามนุษย์ก็สร้าง

มนุษย์สร้างมนุษย์อย่างไรนั้นจะไม่ขอกล่าวถึง ให้นึกถึงพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่สร้างเรามา

มนุษย์สร้างพระพรหมเรามองเห็นได้ง่ายที่สุด บิดามารดาเป็นพระพรหมของลูกเพราะบิดามารดามีคุณธรรม คือ เมตตาความรักใคร่ปรารถนาดี กรุณาความสงสารคิดถึงหนทางให้พ้นทุกข์ มุทิตาความยินดีเมื่อลูกของเราเจริญเติบโตมีวิชาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ อุเบกขาวางใจได้ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างของลูกเราพร้อมแล้ว ทั้งหลายที่ว่าไปนี่แหละคือพระพรหมของลูก

มนุษย์สร้างพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระพรหมได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้าได้อย่างไร มนุษย์สร้างพระอรหันต์ได้อย่างไร มนุษย์สร้างเทวดาได้อย่างไร

พูดถึงมนุษย์สร้างเทวดาก่อน ในคัมภีร์ที่เคยเล่าเรียนมาพอที่จะยกมาเป็นนิยายประกอบ

ในกาลครั้งหนึ่งขณะอุบาสก อุบาสิกาเขาถือดอกไม้ ธูปเทียน จะไปดูพระสถูปอันเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นมีเด็กหญิงสาวคนหนึ่งเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ถือดอกไม้อยู่ในมือ จึงถามและได้ความว่าเขาจะไปบูชาพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสและพูดว่า หนูจะไปด้วยคน ในขณะนั้นสายตาของนางก็เหลือบไปเห็นดอกบวบโผล่อยู่สี่ดอก แล้วก็วิ่งไปเก็บเอาดอกบวบสี่ดอกนั้นมา กว่านางจะเด็ดดอกบวบได้ก็เสียเวลาไปหลายนาที คนเฒ่าคนแก่เขาก็เดินไปไกลแล้ว พอนางได้ดอกบวบพร้อมแล้วก็วิ่งตามไปให้ทันคนแก่ แต่ไม่ได้พิจารณาอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างทาง แต่ในขณะนั้นโคที่ปล่อยอยู่ก็วิ่งมาขวิดนางจนตายไปในกลางทาง แต่จิตใจของเธอขณะนั้นพุ่งตรงพระสถูปด้วยความเลื่อมใส ครั้นตายแล้วตำนานกล่าวว่านางไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ มีวิมานทองสูงถึง ๑๒ โยชน์ มีเครื่องประดับตกแต่งล้วนแต่เป็นทองเหลืองอร่าม อยู่ต่อมาท่านโมคคัลลาน์ไปเที่ยวแล้วก็ไปเห็นนางนั่งอยู่ในวิมาน ก็เลยเข้าไปถามว่า "นางทำบุญอะไรจึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในวิมานอันสวยงามใหญ่โตเช่นนี้" นางก็อิดเอื้อนไม่อยากบอกเพราะนางได้ทำบุญเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่แล้วก็ทนความคะยั้นคะยอของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ จึงบอกความจริงว่าเอาดอกบวบไปบูชาอัฐิพระพุทธองค์ ตายแล้วก็ได้มาเกิดเป็นเทวดา นี้ก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งมนุษย์สร้างเทวดา

มนุษย์สร้างพระพรหมอย่างไร มนุษย์สร้างพระพรหมต้องอาศัยการปฏิบัติ ในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าอย่างเราที่นั่งฟังเทศน์กันอยู่นี่ทำจิตนั่งบริกรรมภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่ตลอดไปต้องทำจิตให้เกิดมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มีสมาธิเกิดขึ้น มีความสงบเยือกเย็น แล้วมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิสว่างไสว รู้อยู่เฉพาะที่จิต ตายไปในความรู้ก็ไปเกิดเป็นพระพรหม ถ้าจิตของผู้ภาวนาละวิตก วิจาร ปีติ และสุข เอกัคคตา อันนี้เป็นภาษาพระเมื่อตายไปในขณะนั้นก็เป็นพระพรหม ดังนั้นรวมความแล้วว่าผู้ภาวนาทำให้เป็นสมาธิบรรลุฌานขั้นที่ ๑-๒-๓-๔ ตายไปในฌานสี่ขั้นนี้ก็จะไปเกิดเป็นองค์พระพรหม คือพรหมที่มีรูปร่าง นี่คือมนุษย์สร้างพระพรหมขึ้นมา ทีนี้ถ้ามีภูมิจิตละเอียดขึ้นไปกว่านั้น สามารถทำจิตให้บรรลุฌาน ๕-๖-๗-๘ ได้สมาบัติ ๘ ถ้าตายไปในฌานสมาบัติก็จะไปเกิดเป็นพรหมไม่มีรูปเรียกว่า "อรูปพรหม" นี่มนุษย์สร้างพระพรหมขึ้นมา
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 06 ก.ค.2008, 2:11 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ค.2008, 2:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นลูกเต้าเหล่ากอของใคร พระพุทธเจ้ัาเดิมชื่อท่านชายสิทธัตถะ ขอพูดอย่างชาวบ้านว่า พระพุทธเจ้าเป็นลูกชายของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา เจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ในประเทศอินเดีย และพระพุทธเจ้าก็เป็นเชื้อสายของมนุษย์โดยตรง ต่างจากผู้อื่นก็ตรงที่เกิดในตระกูลกษัตริย์ มาภายหลังเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษาก็ออกบวชแล้วบำเพ็ญกิจภาวนาได้เป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อรู้แล้วสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นี้มนุษย์สร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ไปเทศน์ให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นหัวหน้าภิกขุเบญจวัคคีย์ฟัง ผลสุดท้ายภิกขุเบญจวัคคีย์ก็ได้สำเร็จเป็นอรหันต์และบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งห้าได้สร้างพระอรหันต์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นมนุษย์นี้มันสุดวิเศษ อย่าไปดูถูกความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์จะนึกถึงศักดิ์ศรีของตัวเองหรือเปล่า เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่

ดังนั้นมนุษย์เรานี้เป็นได้ทั้งพระพุทธเจ้าเป็นได้ทั้งพระพรหม เทวดา สัตว์ แม้แต่เปรตก็เป็นได้ และที่เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์นั้นได้แก่ มนุสส มนุสโส คือกายเป็นมนุษย์จิตใจก็เป็นมนุษย์ด้วย ในขณะใดที่เรามีจิตใจ กาย มีศีล ธรรม มีความโอบอ้อมอารี มีความรักใคร่ปรารถนาดี ต่อเมื่อมนุษย์ไม่คิดที่จะข่มเหงรังแกใคร ในขณะนั้นกายของเราเป็นมนุษย์ จิตใจของเราก็เป็นมนุษย์ เรียกว่า มนุสส มนุสโส แต่ขณะใดที่เรามีจิตใจเหี้ยมโหด เกิดโมโหโกรธาขึ้นมาแล้ว คิดจะฆ่าจะแกงเบียดเบียน โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายและศีลธรรม โกรธขึ้นมาครั้งใดก็จะต้องทำร้ายผู้อื่นๆ ให้ได้รับความเจ็บแค้น อยากได้อะไรจะลักขโมยเอา ลูกเมียใครก็ไม่ละเว้น พูดจาโกหกมดเท็จ ส่อเสียด ดื่มของมึนเมาเป็นนิสัย ในขณะนั้นหากความรู้สึกของเราเป็นอย่างนี้แสดงว่ากายของเราเป็นมนุษย์จิตใจของเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานมันไม่มีกฎหมายไม่มีศีลธรรม หากในจิตใจเรายังเป็นห่วงกฎหมายห่วงศีลธรรมอยู่เรายังเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ถ้าไม่มีกฎหมาย ศีลธรรม ระเบียบ บังคับในจิตใจต่างๆ เราเป็นมนุษย์แต่ร่างแต่จิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี้คือเครื่องวัดความเป็นมนุษย์ของเรา

และอีกข้อหนึ่งนั้นร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นเปรต จะเป็นใครก็ตามจะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่สนใจการงาน ใครจะทำอะไรช่างใครฉันหลบได้หลบเอา ไม่มีความรับผิดชอบ แม้ว่าร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นเปรต

มนุสสเทโว มนุสสเทโวเป็นมนุษย์อยู่ในระดับ ๔ ถือว่าเป็นมนุษย์อยู่ในระดับพิเศษพอสมควร ร่างกายเป็นมนุษย์แต่จิตใจเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม คือมีความ่ละอายแก่ใจประกอบความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง แม้ว่าคนจะเห็นก็ตามไม่เห็นก็ตาม ใครรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ไม่กล้าที่จะทำความชั่ว อันนี้เรียกว่ามีคุณธรรมความเป็นเทวดา ผู้ใดมีคุณธรรมอันนี้แม้ร่างกายจะเป็นมนุษย์ จิตใจของเราเป็นเทวดา นี้คือเครื่องวัดกิเลสของมนุษย์

ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทเป็นลูกศิษย์ เรามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งและพระพุทธเจ้าคืออะไร อยู่ที่ไหนนัยดังที่ได้บรรยายมาแล้วเบื้องต้น

ถ้าหากว่าสมมติว่าใครก็ตามมุ่งที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ข้อปฏิบัติดีโดยสาธารณะทั่วไปเรียกว่าไม่อยากทำบาปนั้น มีหลักการทั่วไปจะหนีหลักศีล ๕ ไปไม่ได้ ศีล ๕ ที่นักปราชญ์ได้ชักชวนให้เราปฏิบัตินั้นเพื่อป้องกันมิให้มนุษย์ฆ่ากันโดยเฉพาะ บางทีอาจไปถึงกับห้ามฆ่าสัตว์เดรัจฉานด้วย
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 06 ก.ค.2008, 2:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ในสมัยปัจจุบัน รู้สึกว่าประชาชนชาวพุทธทุกระดับชั้น มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคงจะเป็นที่เข้าใจ และคงจะมีผู้พิสูจน์ เห็นผล กันมาแล้วว่า การทำสมถะนั้นมี ความจำเป็น คือมีความสำคัญ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ความจริง การปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้น เป็นหลัก และวิธีการ ที่เราจะต้องศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจ และจะได้ยึดเป็นหลัก แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน

เมื่อพูดถึงเรื่องสมถะ ก็คือเรื่องการทำสมาธินั่นเอง สมาธิก็คือการภาวนานั่นเอง บางทีก็เรียกกัมมัฏฐาน บางทีก็เรียกวิปัสสนา บางทีก็เรียกว่าการทำสมาธิ มีคำพูดที่จะใช้เรียกแทนกันหลาย ๆ อย่าง การปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในสมัยปัจจุบันนี้ เกิดปัญหายุ่งยาก และนักปฏิบัติทั้งหลาย มีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุชาวพุทธไปติดภาษา ยกตัวอย่างเช่น บางท่าน ในเมื่อฝึกฝนอบรม บรรดาพุทธบริษัทให้ปฏิบัติ ก็ใช้คำว่า จงทำใจให้เป็นสมาธิ และบางท่านก็ว่า จงทำใจให้ว่าง เพียงคำพูด ๒ ประโยคนี้ นักปฏิบัติก็ยังต้องขัดแย้งกัน แต่ความจริงนั้น ทั้ง ๒ คำนี้ เมื่อพูดถึงผลลัพธ์ ที่เกิดจากการปฏิบัติแล้ว มีผลเป็นอย่างเดียวกัน

ในสายของท่านอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ มักใช้คำว่าจงภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าจงทำจิตให้ว่าง แล้วลองคิดดูซิว่า ทั้ง ๒ ท่านนี้ มีบุคคลบางคนเขายกปัญหาขึ้นมาโต้แย้งกัน ถึงขนาดที่ว่าพิมพ์เป็นเอกสารโจมตีกันขนาดหนัก เท่าที่ได้หยิบยกเอาปัญหา ๒ ข้อนี้ไปพิจารณาแล้วได้ความว่า การทำจิตให้เป็นสมาธิกับการทำจิตให้ว่างนั้นมันมีผลเท่ากัน เพราะเหตุว่า การทำจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตก็ย่อมปราศจากอารมณ์ ถ้าหากว่าจิตยังมีอารมณ์ จิตมันก็ไม่นิ่ง ในเมื่อนิ่ง เป็นจิตที่ ปราศจากอารมณ์แล้ว ก็เป็นจิตว่าง ท่านที่ใช้คำว่าจงทำจิตให้ว่าง เมื่อบริกรรมภาวนา หรือกำหนดอารมณ์ ของกัมมัฏฐาน อย่างใด อย่างหนึ่ง เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว ก็เกิดความว่าง เป็นความหมายที่ตรงกัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติอย่าไปติดภาษา การพูดภาษาสมมติบัญญัตินั้น ในธรรมะข้อเดียวกัน หรือผลที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างเดียวกัน เราอาจจะใช้โวหารคนละคำพูดได้ เช่นอย่างจิตเป็นสมาธิกับจิตว่าง เป็นต้น

การเจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราปฏิบัติธรรมะ เราจะเอาธรรมะ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และปฏิบัติเพื่อจะให้รู้ความจริง ที่อยู่ในกายในใจของเรานี้ ส่วนความรู้ ความเห็น อะไรต่าง ๆ นั้น เป็นเพียงเครื่องรู้ของจิต เป็นเพียงเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องทำจิตให้มีความเจริญ เจริญด้วยพละ เจริญด้วยอินทรีย์ ทำสติให้มีพลัง ทำสติให้เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง อันนี้คือวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติที่เราจะนึกเอาเป็นผลงาน
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 07 ก.ค.2008, 11:29 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ramsat
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 28 พ.ค. 2008
ตอบ: 34

ตอบตอบเมื่อ: 07 ก.ค.2008, 11:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การปฏิบัติในทางกัมมัฏฐาน ท่านได้แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ สมถกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง และวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง สมถะเป็นเครื่องอุบายความสงบใจ วิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา ความย่อ ๆ มีอยู่เพียงแค่นี้

การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน เฉพาะในตำราท่านได้เขียนไว้ถึง ๔๐ อย่าง ซึ่งจะไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงเฉพาะการทำสมถะ ด้วยการ เจริญพุทธานุสติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในสายสมาธิ ของท่านอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น ส่วนมาก ท่านจะสอนให้ลูกศิษย์ลูกหา เจริญพุทธานุสติ เป็นเบื้องต้น เคยได้เรียนถามท่านว่า ทำไมจึงสอน ให้เจริญพุทธานุสติเป็นเบื้องต้น ท่านก็ให้ความเห็นว่า พุทธานุสติคือ พุทโธ แปลออกมาว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของใจ เมื่อใครทำใจให้สงบนิ่ง สว่าง จิตเป็นสมาธิได้ ใจของผู้นั้น จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาที่เข้าถึง จิตพระพุทธเจ้า ยึดพระคุณ ของพระพุทธเจ้า เป็นสรณะที่พึ่ง นี้คือความหมายของพุทโธ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ขอแนะนำให้นักปฏิบัติ ได้บริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ” ขอให้ทุกท่าน ตั้งจิตให้แน่วแน่ พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่จิต พระธรรมเจ้าก็อยู่ที่จิต พระอริยสงฆ์เจ้าก็อยู่ที่จิต พระพุทธเจ้าอยู่ที่จิต ก็คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี พระธรรมอยู่ที่จิต ก็คือกิริยา ซึ่งทรงไว้ ซึ่งความรู้สึกสำนึกเช่นนั้น ตลอดเวลา พระอริยสงฆ์อยู่ที่จิต ก็คือกิริยาที่จิต มีสติ สังวร ระวัง ตั้งใจที่จะละความชั่ว ประพฤติความดี ปลูกความเชื่อมั่นลงในจิต อย่างแน่วแน่

เมื่อพระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิต พระธรรมก็อยู่ในจิต พระสงฆ์ก็อยู่ในจิต แล้วก็นึกในใจว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ แล้วก็มานึกเอาพุทโธ ๆ ๆ เพียงคำเดียว แล้วก็มานึกพุท พร้อมกับลมหายใจเข้า โธ พร้อมกับลมหายใจออก ช่วงของการหายใจ เข้าออก นั้นยังห่าง จิตยังสามารถส่งกระแสไปทางอื่นได้ ก็ให้ปล่อย ความรู้ลมหายใจเสีย แล้วให้นึก พุทโธ ๆ ๆ ติดต่อกัน นึกในใจเบา ๆ อย่าให้จิตมันส่งความรู้สึกออกไปข้างนอก และอย่าไปนึกว่า เมื่อใดจิตจะสงบ เมื่อใดจิตจะรู้จะเห็นอะไร นึกพุทโธคล้าย ๆกับนึกเล่น ๆ เหมือนกับเราไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่พยายามนึกติดต่อกัน ถ้าจิตส่งกระแสไปทางอื่น รู้สึกว่าจิตส่งกระแสไป ให้รีบเอาจิตมาไว้ที่พุทโธ ถ้าหากจิตปล่อยวางคำว่าพุทโธ แล้วก็มีอาการสงบนิ่ง ไม่นึกพุทโธ ให้กำหนดลงที่จิต ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตอยู่ที่นั่น กำหนดรู้จิต ประคองจิตเอาไว้เฉย ๆ เว้นเสียแต่ว่า จิตส่งกระแสออกไปนึกถึงสิ่งอื่น แล้วก็ให้นึกพุทโธตามเดิม ให้คอยสังเกตความเป็นไปขณะที่นึกพุทโธ

ในเบื้องต้น เรานึกถึงพุทโธ เรียกว่า วิตก เมื่อจิตจดจ้องอยู่กับพุทโธ ไม่พรากจากกัน แล้วก็มีความซึมซาบ จิตมีความดูดดื่ม ในบริกรรมภาวนาพุทโธ ทำให้จิตมีความสงบ ไม่ส่งกระแสไปในทางอื่น ในเบื้องต้นนี้เรียกว่า วิจาร เมื่อจิตมีความดูดดื่ม กับคำว่า พุทโธหนัก ๆ เข้า ปีติ คือความดีใจ ความเบิกบานใจ ย่อมจะเกิดขึ้น ในขณะที่จิตมีปีติเกิดขึ้นนั้น ผู้ภาวนามีอาการต่าง ๆ บางท่านก็รู้สึกว่า ตัวสั่น สั่นนิด ๆไม่สั่นมาก แล้วแต่นิสัยของใคร บางท่านก็รู้สึกว่าตัวใหญ่พองโตขึ้น บางท่านก็รู้สึกว่าตัวเล็กลง บางท่านก็รู้สึกว่า ตัวเบาเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ อันนี้เป็นลักษณะของปีติ บังเกิดขึ้นในขณะบริกรรมภาวนา เมื่ออาการดังกล่าวข้างต้นบังเกิดขึ้น ผู้ภาวนาไม่ควรตกใจ ให้กำหนดบริกรรมภาวนาเรื่อยไป ถ้าหากจิตปล่อยวางคำบริกรรมภาวนา ก็ให้กำหนดรู้ลงที่จิต จิตตัวผู้รู้ความรู้สึก อยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่นั่น เมื่อปีติบังเกิดขึ้น ความสุข อันเป็นผลพลอยได้ย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตมีปีติ และความสุข เป็นภักษาหาร เป็นเครื่องยึด จิตย่อมอยู่ในลักษณะแห่งความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย ไม่ดิ้นรน ผู้ภาวนาจะมีความสุขอย่างเยือกเย็น ซึ่งจะหาความสุขอันใด เสมอเหมือนมิได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะเข้าสู่ความสงบทีละน้อย ๆ จนกระทั่งปล่อยวางวิตก วิจาร ปีติ และสุข เข้าไปสู่ความสงบนิ่งเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกัคคตา มีความวางเฉย เป็นลักษณะจิตอยู่ในสมาธิ ขั้นนี้ นอกจากจะมีความเป็นหนึ่ง และความวางเฉยแล้ว ยังจะต้องมี ความสว่าง เป็นเครื่องหมาย เมื่อจิตสงบลงไปถึงขั้นนี้ ความรู้ว่ามีกายก็หายไปในความรู้สึก เมื่อกายหายไปแล้ว ลมหายใจก็หายไป ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ นิ่ง สงบ เด่นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา อันนี้เป็นลักษณะของจิตสงบลงไป ด้วยการบริกรรมภาวนา

ในขั้นต้น ๆ นี้ เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว จิตจะไปติดกับความสุข และความสงบ ซึ่งเกิดในสมาธิ แต่ท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ควรไปวิตก หรือกลัวว่าจิตไปติดอยู่ในสมถะ ถ้าท่านใดสามารถทำความสงบ ได้ถึงขนาดนี้บ่อย ๆ ทำหลาย ๆ ครั้ง อย่างที่เรียกว่าทำให้มาก อบรมให้มาก ทำจนชำนิชำนาญ เมื่อจิตมีสมาธิขั้นสมถะ หรืออัปปนาสมาธิบ่อยเข้า สิ่งที่จะพึงได้จากจิตสงบ นั้นคือตัวสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะเพิ่มพลังขึ้นทุกที ๆ เพียงแต่ท่านผู้ภาวนา ทำจิตให้สงบลงถึงขั้นปีต ิและความสุขเท่านั้น พละในตอนต้น ๆ คือ ศรัทธาพละ ย่อมจะเกิดขึ้น จิตของท่านก็จะเกิดความรู้สึกว่า อยากปฏิบัติ อยากทำ ในเมื่อมีศรัทธา ความพากเพียร อันเป็นพละข้อที่ ๒ ก็บังเกิดขึ้น เมื่อมีพละแล้ว ตัว สติ ความระลึก ก็ย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อมีศรัทธา วิริยะ สติ เป็นคุณธรรมเกิดขึ้นในจิต จิตเป็น สมาธิ ในเมื่อจิตสงบ เป็นสมาธิ มีพลังแก่กล้าขึ้น ย่อมเกิดเป็น ปัญญา อย่างน้อยก็มีความรู้ว่าสมาธิคืออะไร

ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ สิ่งที่เราจะรู้เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ความว่างของจิต ไปตรงกับคำที่ท่านพระพุทธทาส ท่านสอนว่า จงทำจิตให้ว่าง เมื่อผู้สอนว่าทำจิตให้ว่าง ถ้าผู้ภาวนาทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้เป็นสมาธิได้แล้ว จะเกิดความสว่างขึ้นมา ผู้ภาวนาไม่ต้องคอยฟังคำอธิบาย เมื่อจิตสงบ นิ่ง ว่างลงไป ก็เป็นอันเข้าใจ
 

_________________
สอนเขาอย่างไร ทำให้ได้อย่างนั้น

แก้ไขล่าสุดโดย ramsat เมื่อ 08 ก.ค.2008, 10:51 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง