Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ให้จิตมีวิหารธรรม : ท่าน ก. เขาสวนหลวง อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:26 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ใ ห้ จิ ต มี วิ ห า ร ธ ร ร ม
ท่าน ก. เขาสวนหลวง

ในคืนวันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องการศึกษาภายใน
ถ้าเรารู้เรื่องของความมีหมายหรือไม่มีหมาย
อยู่ภายในนี้แล้ว
การศึกษาจึงจะเข้าใจในด้านลึกได้

ถ้าว่าเรายังไม่รู้ในลักษณะของมันแล้ว
เราก็ยังศึกษาอยู่แต่เรื่องข้างนอก

เพราะเรื่องข้างนอกนั้นเพียงแต่สมมุติ
มีความหมายดีชั่ว ตัวตนอะไรสารพัดอย่าง

นั่นก็คือว่ายังไม่รู้เรื่องข้างใน
แล้วบางคนที่เขาทำข้อปฏิบัติ
ทำไม เขารู้เรื่องข้างใน รู้เรื่องของสมมุติบัญญัติ
ทีนี้จะต้องอ่านมันให้ออก

สำหรับผู้ปฏิบัติที่ยังเข้าไม่ถึงข้างใน
ก็พูดกันอยู่แต่เรื่องข้างนอกเป็นส่วนมาก
เพราะยังไม่ได้ อ่านตัวจริงเข้าไป
มันก็เลยยังไม่รู้อะไร

เพียงแค่เรื่องทุกข์เรื่องกิเลสเหล่านี้ก็ยังรู้ไม่ทั่วถึง
แล้วมัน จะเข้าไปพบสภาวะของสิ่งที่เรียกว่าเป็น สุญญตา
คือความว่างจากตัวตนได้อย่างไร


มันก็เลยมา เล่นอยู่กับพวกสมมุติหมายอะไรต่ออะไร
ทำให้วนเวียนอยู่นี่เอง

ถ้าหยุดมองเข้าข้างใน
มันจะได้ เห็นรุ้งแววของความว่าง
แม้แต่การว่างจากกิเลส
ก็ยังเป็นความรู้สึกได้ว่ามันดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ได้

ทีนี้ต้องมองในเรื่องนี้ให้ลึกเข้าข้างใน
อย่าให้มันติดอยู่กับการคิดนึกปรุงแต่ง
หมายดีชั่วอะไร ชุลมุนวุ่นว่ายอยู่กับพวกสังขารความปรุงนี่เสีย

ถ้าจิตนี่มันหยุดคือว่ามันสงบ
แล้วก็มองเข้าไป อย่าให้มันมาติดอยู่กับความสงบ
เมื่อสงบความปรุงความคิดได้ชั่วครั้งชั่วคราวนิดๆ หน่อยๆ
มันยัง ไม่เพียงพอ จะต้องมีสติปัญญา มองเข้าด้านในอย่างเดียว

เพราะความปรุงนี่มันคอยปรุงอยู่เรื่อย
จึงต้องคอยดูความปรุงทุกลักษณะหมด
ให้รู้ลักษณะความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทุกๆ ขณะ เป็นปัจจุบันธรรม
ฉะนั้น ความรู้ที่มันยืนรู้ และสภาพที่ยืนรู้อยู่นั้น ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ


เพราะมันจะไปมีความหมายขึ้นมาว่าเป็นตัวเป็นตน
นั่นมันไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน
มันสักแต่ว่า เป็นความรู้ ไม่ว่าจะรู้อะไรทั้งหมดนี้
ขอให้สักแต่เป็นความรู้

แล้วก็อย่าไปมีความหมาย ว่าเป็นตัวเป็นตน
มันต้องมองย้อนเข้าข้างในอย่างเดียว


แม้ว่าจะรู้สึกอะไรขึ้นมาในลักษณะไหน
ก็ไม่ให้ไปหมาย ที่ให้ดูไม่ให้มีหมายนี้
มันก็ไม่ใช่ของง่ายนัก
เพราะว่ามันจะต้องหมายขึ้นมาหลอก
คือ หมายดีหมายชั่ว แล้วมันก็ปรุงแต่งเรื่อยไป


สัญญา คือความจำหมาย ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ปรุงแต่ง
มันก็มีเป็นเครื่องแก้กันอยู่ในพวกสัญญา
เหมือนกับ นิจจสัญญา คือ ความจำหมายว่าเที่ยง
ทีนี้สัญญาที่ตรงข้ามกัน เช่น สัญญาในความ
ไม่เที่ยง อย่างนี้มันก็ต้องมาแก้กันได้

ถ้ามันมีสัญญาความจำหมายว่าเที่ยง
ก็มีความรู้ของ สติปัญญาขึ้นมาว่า มันไม่เที่ยง
อ่านกันตรงตัวตรงจุดอย่างนี้เข้าไปก่อน
แม้ยังไม่ถึงขั้น ที่จะอ่าน ในเรื่องสัญญาล้วนๆ

ความจำ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มันก็อยู่ในลักษณะความจำได้หมายรู้
และทีนี้จะอ่านสัญญา ความจำหมายนั้นว่า
มันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน
เพื่อเป็นเครื่องแก้ทำลาย ถ่ายถอนความจำผิด คิดผิด เห็นผิด
ในเรื่องของความเที่ยง สุข ตัวตน นี้เสีย

เพราะฉะนั้นจะต้องมองกันให้ลึกเข้าไป
อย่าให้ มันมาติดอยู่ในขั้นของความหมาย
โดยเฉพาะก็จะต้องมองให้รู้ลักษณะของสัญญาที่ปรากฎ
ให้เป็นของว่างจากตัวตนไปเสียทีเดียว

ให้เพียงแต่ว่าเป็นความรู้สึกจำได้ แล้วก็ดับไป
ถ้าไม่ยึดถือมันก็มีลักษณะอย่างนี้
เพราะว่ามันเป็นสัญญาขันธ์
จะไปห้ามไม่ให้มีการจำก็ห้าม ไม่ได้


แต่ต้องพิจารณาให้รู้ว่า
สัญญามันเป็นของเปลี่ยนแปลงแล้วก็ว่างจากตัวตนเสียเอง
ไม่ว่า จะจำหมายอะไรขึ้นมาทั้งหมด ให้เพ่งดับสัญญา
ไม่ว่าสัญญาในความเที่ยงหรือไม่เที่ยงนี้ก็ให้ปล่อย
ให้เห็นว่าสัญญานี้มีลักษณะเกิดดับเปลี่ยนแปลงไม่มีตัวตน

ในการมองสัญญาต้องพยายามให้เห็นชัด
ถึงมันจะรู้ยากเพราะความจำหมายนี่มันคอยสอพลอ ก่อเกิด
ก็ต้องมองมันอยู่ดี
ถ้าไม่มองให้รู้ว่ามันว่างจากตัวตนแล้ว
มันก็ถูกหลอกอยู่เรื่อย คือ จำดี จำชั่ว รูป เสียง กลิ่น รส
อะไรก็อยู่ในพวกสัญญาทั้งนั้น

ฉะนั้น สัญญานี่จึงเป็นตัวสำคัญ
ทำให้ เกิดการปรุงการคิดเป็นน้ำไหลไป
เพราะว่าหลงสัญญา ยึดสัญญา
ถ้าจะมองดูสัญญาให้เห็นเป็น ของเปลี่ยนแปลงเกิดดับแล้ว
ก็จะว่างจากตัวตนได้ทุกขณะหมด

สังขารมันก็ระงับไป เพราะว่าดับ สัญญาได้แล้ว
สังขารมันก็ดับ ถ้ายังดับสัญญาไม่ได้ สังขารก็ปรุงเรื่อย


ทั้งสองลักษณะนี้ มันปรุง จิตอยู่ตลอดเวลา ทั้งดีชั่ว
รวมความว่า มันต้องจำ แล้วมันก็ต้องปรุงไป
ทำให้จิตหรือวิญญาณ ไม่สงบ

เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาดูว่า
ความจำเริ่มแรกที่มันจะจำอะไรขึ้นมา
ก็ดับหรือ ปล่อยวางมันเสีย
แล้วกำหนดรู้จิตให้ติดต่อ
และก็ดูสัญญาความจำนั้นเป็นของเกิดดับ
ถ้าดับสัญญาได้ มันก็ดับสังขารได้


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การจะกำหนดให้จิตรู้ติดต่อ
ก็ให้เอาสัญญามากำหนดรู้จิตเสีย แล้วก็สังเกตดู

เมื่อเอา สัญญามากำหนดรู้จิต
จิตก็ไม่ไปจำหมายในอะไรขึ้นมาหลอกมาปรุง
เพราะฉะนั้นจะต้อง มีการกำหนด
ถ้าไม่กำหนดแล้ว มันไม่หยุด
มันจะต้องมีการจำการคิดเรื่อยเปื่อยไป


เมื่อกำหนด ให้มันหยุดได้แล้ว
ถ้ามันเผลอไป ก็กลับมากำหนดรู้ใหม่ซ้ำเอาไว้
ให้มันมาทำหน้าที่อย่างนี้ไปก่อน
เพราะยังไม่สามารถจะไปดับหรือปล่อยวางได้
แม้ว่าพิจารณาอะไรก็ยังทำไม่ได้
ก็เพียงแต่ว่าเอามา กำหนดให้เป็นการรู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างนี้ก็ได้

ต้องฝึกกำหนดไว้ก่อน กำหนดรู้อยู่
ถ้าว่ามันรู้ได้ติดต่อ ตามปรุงความคิดอะไรก็ไม่ก่อเรื่อง
เพราะว่ารู้จิตเสียแล้ว มันก็หยุด


หรือว่ารู้ลมหายใจเสีย มันก็หยุด
หยุดอยู่แค่นั้นก่อน ยังไม่ต้อง ไปรู้อะไรมาก
เพียงแต่ให้มันหยุด รู้หลักทรงตัวไว้ให้ได้
อย่าให้มันปรุงคอยระงับความจำความคิด
ให้มันดับลงไปให้ได้ก่อน
ต้องกำหนดรู้อยู่อย่างเดียวแล้ว จิตจะสงบได้

แต่ว่ามันก็อาจจะ มีเรื่องแทรกแซงขึ้นมาทุกๆ ขณะ
ที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง และสัมผัสทางกาย
ต้องยืนหลักกำหนดรู้ เอาไว้


ถึงมันจะเผลอไผลไปก็อยู่ในระยะสั้น
ยังไม่ปรุงแต่งอะไรยังรู้อยู่ กำหนดรู้จิตอยู่
แล้วก็กำหนด รู้ลมอยู่
ต้องสังเกตไปพร้อมและต้องทำให้ติดต่อทุกอิริยาบถ

เฝ้าสังเกตดูให้เป็นความรู้ล้วนๆ ทีเดียว
การฝึกหัดอบรมจิตมันไม่ใช่ทำอยู่อย่างเดียว
เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวเองทั้งนั้น

ในขั้นรูปธรรมนามธรรม
มันก็มีลักษณะเกิดดับเปลี่ยนแปลง
แต่ว่าต้องอ่านมัน ต้องยืนรู้เอาไว้
มันจะเกิดดับเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ก็เพียงแต่ดูอยู่เฉยๆ อย่าไปหมายดีหมายชั่วขึ้นมาก็แล้วกัน
ยืนหลักปกติวางเฉยเอาไว้ให้ได้


ถ้ายืนหลักได้ติดต่อก็พิจารณาได้
การพิจารณามันต้องได้มาตรฐาน ของจิต
ที่กำลังมีการทรงตัวสงบอยู่ จึงจะพิจารณาได้
ถ้าจิตนี้มันแส่ส่ายไปตามอารมณ์ มันก็ยัง ไม่สงบ
การพิจารณามันก็ไม่มีหลัก
เมื่อจิตไม่สงบแล้วก็ไม่รู้เรื่อง
ก็ตกไปกับอารมณ์ซ้ำๆ ซากๆ

จิตนี้เป็นของฝึกยาก
ถ้าไม่เพียรแล้วจับมันไม่อยู่เหมือนกัน
มันกลับกลอกหลอกหลอนอยู่หลายๆ อย่าง
ทั้งดีทั้งชั่วและปรุงแต่ง จำหมายอะไรขึ้นมา
มันอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยจะได้
เพราะฉะนั้นที่ต้องฝึกกัน มากๆ
ต้องให้ทำกรรมฐานเพื่อเป็นวิหารธรรมของจิตไว้ก่อน

ถ้าจิตนี้ไม่มีวิหารธรรมให้อยู่ มันก็ท่องเที่ยว
ไปตามอารมณ์ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะฉะนั้น
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้มีสติกำหนด รู้กาย รู้เวทนา รู้ธรรม
ทีนี้การที่จะฝึก ให้สติมารู้อยู่ในกาย ในเวทนา
ถ้าว่ามันยังไม่ยอมอยู่ ก็ต้องยึดหลักของสติเอาไว้ให้มั่นคง

เช่น กำหนด ลมให้ติดต่อเอาไว้ก่อน
มันจะไปบ้างอยู่บ้างก็ดูมันไป
พอมันรู้ได้ติดต่อจนมั่นคงหนักแน่นแล้ว
ความ เผลอเพลินก็น้อยลง หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้
คือว่าสตินี้จะตั้งหลักได้ติดต่อตลอดครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมง หนึ่งก็ได้
แต่ว่าต้องยืนหลักให้มั่นคง

ถ้าไม่มั่นคงแล้วมันเผลอเพลินคือว่า เผลอสติ
แล้วก็มีนิวรณ์เข้ามา ครอบงำ


เพราะในการฝึกเราไม่ค่อยสังเกตดูความแยบคายภายในจิต
แม้ว่าจะฝึกทำกรรมฐานมันก็ไม่ได้ อยู่กับกรรมฐาน
เพราะว่าเรือนที่จะให้อยู่นี้มันไม่คุ้นเคย

เหมือนกับคนที่เคยท่องเที่ยวเรื่อยเปื่อยไป มันอยู่บ้านไม่ติด
จิตมันก็เที่ยวปรุงเที่ยวคิดเผลอเพลินไปกับพวกนิวรณ์
คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย
ที่จะควบคุมให้มันมารู้กายรู้จิตนี้จึงต้องฝึก
แล้วก็ต้องสังเกตดูด้วย กว่าจะจับเอาตัวมันมา อยู่กับหลักสตินี้
ก็ไม่ค่อยจะอยู่ได้ง่ายๆ เพราะว่ามันเคยท่องเที่ยวนั่นเอง

แต่ก็ต้องพยายามฝึก ถ้าไม่พยายามฝึกแล้ว
มันก็ไม่มีเรือนจะอยู่ แล้วมันก็ท่องเที่ยวหาเรื่องเรื่อยไป


พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ ได้ทรงบอกอยู่แล้วว่า

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุด ก็คือ อานาปานสติ
ซึ่งเป็นวิหารธรรมที่อยู่ของจิต
แต่เรายังไม่ชำนิชำนาญที่จะฝึกให้จิตมีวิหารธรรม เป็นที่อยู่
จิตก็เลยคุ้นเคยกับการท่องเที่ยวไปตามอารมณ์


แม้จะสงบบ้างก็เล็กๆ น้อยๆ ถ้าจิตนี้ยืนหลักเป็นปกติได้
มันจะอยู่ในวิหารธรรมอย่างนี้ไปก่อน
เป็นการพักผ่อนไม่เที่ยวไปยินดียินร้าย
ชอบไม่ชอบ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย
ก็ยังนับว่าปกติเป็นวิหารธรรมได้

จนกระทั่งมีการ กำหนดลมหายใจให้ติดต่อ
เป็นการสงบ รู้ทั่วทั้งกายทั้งจิตให้ติดต่อ ไม่ปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา
ต้องหมั่นสังเกตพิจารณาเอาไว้
บางทีมันจะต้องการความสุข ก็อย่าไปเอาเลยความสุข
ดูมันไปก่อน ว่าเวทนาทั้งหลายนี้
มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง
จะมีสุขก็นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเป็นทุกข์ไปบ้าง
ความไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง
มันก็เปลี่ยนแปลงยักย้าย อยู่กับเรื่องของเวทนา

ทีนี้เมื่อเราพิจารณาเวทนา
เราก็ต้องรู้แล้วว่าเวทนานี่
มันสับปลับกลับกลอกหลอกลวงอยู่ทุกขณะไปหมด


เมื่อจะกำหนดพิจารณาเวทนา
ก็ต้องให้รู้เรื่องของเวทนา แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนา
พยายาม ให้จิตนี้มีความเป็นอิสระเหนือเวทนาให้ได้
พอมันเหนือได้ก็รู้แล้วว่า
จิตอยู่ในลักษณะ ของความสงบ
คือว่า ไม่มีความยินดียินร้าย เพลิดเพลินไปกับอะไร


แล้วก็มาควบคุมรู้จิต ให้ติดต่ออีก
ให้มันอยู่ในภาวะของความเป็นปกติ
เป็นอันว่าเหนือเวทนาได้ จึงเป็นการดับ ตัณหาไปในตัว


เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกหัดอบรมจิต
ให้มีวิหารธรรมสำหรับเป็นที่อยู่ของจิต
จะต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ พอระลึกได้ก็หยุดเป็นปกติ
ถ้ามันปรุงอะไรวุ่นๆ วายๆ ขึ้นมา

เมื่อรู้สึก หยุด! จิตก็เป็นปกติและ หยุดได้ทันที
ถ้ามีการซ้ำๆ ไว้อย่างนี้ จิตนี้จะคุ้นเคย
พอหยุดก็หยุดได้ทันที หรือว่าพอกำหนด ลมหายใจ
ก็กำหนดได้ติดต่อ

แม้จะมีการกำหนดรู้เวทนา ในลักษณะสุข ทุกข์ อุเบกขา ก็ได้
แล้วก็นั่นแหละหัดเอาไว้ให้ชำนาญ
มันเป็นวิหารธรรมของจิต
คือว่าสตินี้จะต้องอยู่ในลักษณะอย่างนี้
จะได้ไม่ท่องเที่ยวไปกับอารมณ์ แล้วก็ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ
ถ้าเราจะฝึกจะสังเกตกันจริงๆ มันก็ทำได้

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าเราไม่ได้พิจารณาประกอบหรือไม่ได้สังเกตแล้ว
มันก็เป็น นันทิราคะสหคตา
คือ ความเพลิน ความกำหนัดในรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ เราจะต้องย้ำให้มากในเรื่องความรู้สึก

ที่มันเป็นนันทิราคะว่ามีลักษณะอย่างไร
มันเพลินต่ออารมณ์ไปอย่างไร
ถ้าเราไม่รู้เรื่องนันทิราคะนี้แล้ว
การทำความสงบนี้ก็ไม่ได้อ่านความจริงได้เลย เพราะสิ่งนี้มันสำคัญ

ถ้าเป็นการรู้ลักษณะนี้ได้ มันไม่เพลิน
มันเป็นการเพิ่งดูพิจารณาดูอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่


แม้จะเผลอไผลไปก็กลับมารู้ใหม่
กลับมายืนหลักรู้ให้ได้ แล้วก็ฝึกซ้อมไป
ถึงว่ามันจะอยู่บ้างไปบ้าง ก็ฝึกไปสังเกตไป
ให้จิตนี้มันเปลี่ยนมาเป็นความรู้ตัว
พอรู้สึกอะไรขึ้นมา เมื่อมีสติมันก็หยุดได้

เพราะว่า มันเชื่อฟัง
มันไม่เที่ยวพลุ่งๆ พล่านๆ ไปตามอารมณ์

แต่นี่มันก็ไม่ใช่ของง่าย ถึงกระนั้นก็ต้องพยายามฝึก
เพราะถ้าไม่พยายามแล้วสติไม่ติดต่อ
จิตก็จะไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบ มันก็เรื่องของทุกข์
และทำจิตให้วุ่นวายส่ายแส่
กิเลส ตัณหาก็เข้าปรุงแต่งจิตง่ายที่สุด


เมื่อมันปรุงก็ทำให้จิตนี้มืดมัวหม่นหมองไม่ผ่องใส
นี่ต้องคอย สังเกตดูในขณะที่จิตกำลังปกติอยู่
ที่มันยังไม่แจ่มแจ้งมันยังมืดมัว
แต่ว่ามันทรงอยู่ได้ในลักษณะ เป็นปกติ
คือยังไม่ยินดียินร้ายกับอะไร
แต่ว่ามันยังมองไม่เห็นความจริง มันก็ยังมืดมัวอยู่

ทีนี้ต้องพิจารณาให้มันรู้ความจริง
มันจึงจะคลายออกไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเป็นการคลายออกได้ จิตนี้มันก็ค่อยมีความสงบ
แล้วก็ค่อยคลายออกจากความมืดมัว


ความมืดมัวของจิตในลักษณะ ของโมหะนั้น
ถ้าเราไม่ได้เพียรเพ่งดูให้เป็นเครื่องทำลายมันแล้ว
มันจะมืดมัวหนักเข้าทุกที
แล้วก็กลายเป็นง่วงเหงาหาวนอนไป

ลักษณะของโมหะประเภทนี้ มันจะต้องมีขึ้น
แต่ว่าจะต้องรู้จักแก้ไข อย่าให้มันมืดมัว
ต้องให้รู้ว่า ลักษณะของนิวรณ์ทั้งห้านี้มันเกิดขึ้นอย่างไร
แล้วจะเพ่งดูอยู่อย่างไร
จะเป็นเครื่อง ป้องกันไว้ได้อย่างไร

เหมือนในขณะนี้ยังไม่มีความง่วง
ก็เป็นการรู้ได้ว่าจิตนี้มันอยู่ในลักษณะ ของความวางเฉย
แต่อย่าไปเฉยๆ เพลินๆ อยู่ก็แล้วกัน
เพราะความเพลิน คือ ตัว นันทิราคะ ที่สำคัญที่สุด

ถ้ามันเพลินก็นั่นแหละตัวนันทิราคะ
มันมาแล้ว มันจะมาครอบงำ
เริ่มแรก มันต้องเป็นอย่างนี้ก่อน
แล้วนิวรณ์มันก็เข้ามาแทรก
ถ้าเพลินไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย
ก็เรียกว่า กามฉันทนิวรณ์


นี่ต้องคอยสังเกตดู
จะรู้บ้างไม่รู้บ้างก็คอยสังเกตดูไป ก่อนว่า
ลักษณะของจิตที่เพลินนี้มันมีนิวรณ์ประเภทไหนเข้ามา
แล้วก็จะต้องเพ่งพิจารณาดูให้รู้เสีย จะได้ทำลายมันได้
อย่าปล่อยให้มันครอบงำ
ทำให้จิตนี้มืดมัวหม่นหมองไป

เพราะว่าสตินี้ มันยังอ่อน
ถ้ามันมีสติเข้มแข็งขึ้นมา
พวกนิวรณ์เหล่านี้มันก็ถอยกำลังไป
ฉะนั้นต้องหมั่นสังเกต ให้รู้แยบคายเอาไว้
จะได้เป็นเครื่องทำลายนิวรณ์
เพราะว่ามันทำให้จิตมืดมัวหม่นหมองไม่ผ่องใส ทั้งนั้น

ฉะนั้นจิตนี้จะต้องมีสติให้เต็มที่
อย่าปล่อยให้มันเพลินได้เป็นการดี


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เหมือนกับเริ่มแรก เราจะนั่งสักชั่วโมงหนึ่ง
ก็จะต้องควบคุมจิตนี้ให้อยู่ในลักษณะของความวางเฉยต่ออารมณ์
คือว่าไม่ยินดียินร้ายไปใน รูป เสียง กลิ่น รส
ต้องคุมให้มันอยู่ แล้วก็ต้องกำหนดให้มันรู้อยู่
จะกำหนดลมก็กำหนดให้แน่วอยู่กับลม
คอยสังเกตไปรู้ไป

แล้วก็คอยสังเกตว่ามันจะทรงตัว ได้นานไหม
หรือว่ามันหนีไปเสียก่อน
ไปปรุงไปคิดไปจำหมายอะไรขึ้นมา

เพราะฉะนั้น การคอยสังเกตมัน
เหมือนกับเป็นการตรวจการจับอยู่ในตัวทั้งหมด
แต่ถ้าไม่ได้สังเกตแล้ว
มันจะเผลอเพลินไปกับอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็แก้ไม่ได้

ถ้าปล่อยให้เผลอเพลินไปมันก็ถูก นิวรณ์ครอบงำ
จึงต้องคอยสังเกตเอาไว้ ดูเอาไว้รู้เอาไว้
บางทีควรจะแก้อย่างไร ก็ต้องแก้ไขเหมือนกัน


และการนั่งอย่าให้มันเพลิน
ไม่ว่าจะเพลินไปในเวทนา
หรือเพลินไปกับความว่าง หรือความสงบก็ตาม
สตินี้ต้องรู้อยู่ เห็นอยู่ กำหนดรู้ให้ติดต่อให้ได้
จะได้เป็นเครื่อง อ่านออกในตัว ให้ชัดเอาไว้ อย่าให้มันเพลินไป


แล้วการทำความสงบทุกครั้งทุกคราว
มันจะได้หลักฐานมั่นคงขึ้น
มิฉะนั้นแล้วมันทำรวนๆ เรๆ
มันจะเอาแต่ความสุขความเพลิน
แล้วมันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

เพราะฉะนั้นการอบรมจิตนี้
จะต้องรู้ว่านิวรณ์ประเภทไหนเกิดขึ้นมาอย่างไร
และจะต้อง ทำลายมันได้อย่างไร
ควรเพ่งดูให้มันรู้ ให้มันเห็นให้จงได้
นั่นแหละมันจึงจะเกิดสติปัญญาขึ้นมา
เป็นการดับทุกข์โทษจากขั้นหยาบ


แล้วก็มาถึงขั้นกลางคือนิวรณ์
เมื่อดำรงสติได้ติดต่อก็จะละ นิวรณ์ได้ในตัว
เพราะว่าความรู้สึกที่เป็นเวทนาทั้งสาม
ถ้าดำรงสติได้มันไม่เพลิน
คือว่าขณะที่ มีความทุกข์เกิดขึ้น
จะเป็นทุกข์กายทุกข์ใจก็ตาม
แต่ถ้าดำรงสติให้อยู่ในความวางเฉย

แม้ว่า สุขเวทนาจะปรากฎขึ้นก็ดำรงสติให้อยู่ในความวางเฉย
หรือลักษณะของอุเบกขาเวทนา
ก็รู้อยู่ วางเฉยอยู่ อ่านเวทนาอยู่ตลอด
แล้วจิตนี้มันจะได้ไม่เพลินกับเวทนานั่น ไม่ว่าลักษณะไหน
จะต้องดำรงสติให้เป็นการรู้อยู่ วางเฉยอยู่ เป็นปกติอยู่


ความตื่นของสติย่อมทำให้ ตัณหาเข้าปรุงไม่ได้
เพราะว่ามีความรู้อ่านเวทนาอยู่นั่นแหละ
เป็นการละตัณหาไปในตัว


ทีนี้ตัณหาที่จะมาในรูปอย่างละเอียด คือว่า นันทิราคะ
เมื่อมีการรู้อยู่ไม่เผลอ ไม่เพลิน แล้ว นันทิราคะก็ดับ ก็ดำรงสติอยู่ได้
ไม่ว่าจะมีการยั่วแหย่ของสัมผัส เช่น ยุง หรืออะไรมาตอมมากัด
ต้องรู้สึกมีอาการคันเป็นต้น
ก็ให้ดำรงสติอยู่ในความวางเฉย
เพราะว่าลักษณะของความคันนี่ มันเกิดกามตัณหา

ให้ดำรงสติวางเฉยไว้โดยไม่ต้องทนมาก
เพียงแต่ว่าวางเฉยให้รู้ว่าลักษณะนี้ มันเป็นการสัมผัส
มันจะเกิดอาการคันอะไรขึ้นมาก็วางเฉยไว้
โดยไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งนั้น

เป็นอันว่าวางเฉยต่อความรู้สึกเวทนาทุกข์
ดูว่าความทุกข์นี้มันได้ผ่อนคลายลงไปหรือไม่
ถ้ามันคลายก็วางเฉยอีก

(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 11 พ.ค.2008, 10:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าดำรงสติวางเฉยเป็นการอ่านเวทนาได้
ก็เรียกว่าเหนือเวทนา ได้ตลอดเวลาที่นั่ง
ถ้าจะเผลอเพลินไปกับอะไรบ้างก็น้อยที่สุด

เพราะว่าดำรงสติในความรู้อยู่
เห็นอยู่ ที่เวทนานี้ ว่ามันเป็นของธรรมดา
จะต้องมีความรู้สึกเฉพาะนามกับรูป
แต่ที่ไปรู้สึก กำหนดต่อเวทนานั้นก็ต้องวางเฉยเสีย
แล้วมันก็เป็นการตัดตัณหา


ถ้าไม่มีตัว นันทิราคะสหคตา แล้ว
จิตนี้จะเหนือเวทนาได้
เพราะว่าที่มันเสียหลักไปไม่เป็นอิสระไม่เหนือเวทนา
ข้อสำคัญอยู่ที่ นันทิราคะ


คือ มันเป็นความเพลิน เป็นความกำหนัด
เมื่อมีสติดำรงอยู่ คือว่า ไม่เพลิน
โดยดำรง สติรู้อยู่ เห็นอยู่
ให้ลักษณะของจิตเป็นปกติ
ตัณหาก็เข้าปรุงไม่ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องการเจริญภาวนา
มันสำคัญอยู่ที่ตรงอ่านเวทนานี่เอง
เพราะว่า ตัณหามันจะเกิดขึ้นในขณะที่มีเวทนา
เมื่อดำรงสติได้ติดต่อมันจะดับตัณหาได้ แล้วก็ ดับเวทนาได้

เวทนาก็เป็นสักแต่ว่าเวทนา
ไม่ได้มีความกำหนัดต่อเวทนา
เป็นการมีสติรู้ทั่วถึงอยู่
ในการที่จะดำรงสติให้เหนือเวทนา
ถ้าดำรงสติได้ติดต่อจิตจะไม่มีนิวรณ์เข้าปรุง


ถ้ามันจะปรุงได้ ก็เมื่อขณะเผลอสติไปมีความเพลินเท่านั้น
ฉะนั้นถ้าเรารู้ลักษณะว่านันทิราคะมันมีความเพลิน

และมีความกำหนัดประกอบอยู่ด้วย มันเป็นของละเอียด
ถ้าว่าอ่านออกแล้วจะละนิวรณ์ได้ตลอด ชั่วโมงหนึ่ง
โดยมันจะรู้ตามความเป็นจริงว่า
สัมผัสที่มันเกิดๆ ขึ้นมานี้
มันสัมผัสกันเฉพาะนามรูป

ทีนี้มันว่าง ว่างจากตัวเราของเราไป
เป็นความรู้สึกล้วนๆ ของขันธ์
ฉะนั้นจะต้องคอยหัดสังเกตดู


ถ้ามันไม่หลับไหล ไม่เพลินแล้ว ก็ดำรงสติได้ติดต่อ
ควรจะหัดสังเกตเอาไว้ให้เป็นหลักฐานของจิต อยู่เสมอทีเดียว
ที่เผลอไผลไปยึดถืออะไรขึ้นมาในเวทนา สุข ทุกข์
นั่นแหละตัณหามันเข้าปรุง มันทำให้ดิ้นรนขึ้นมา
ถ้ามันดิ้นรนมากๆ มันก็ทนไม่ไหว
ทีนี้เริ่มแรกจะต้องรู้อยู่ก่อน ไม่ทันให้มันดิ้นรน

พอรู้สึกอะไรขึ้นมาเป็นเวทนาทุกข์
หรือเวทนาสุขก็ดูมัน มีสติดำรงรู้อยู่
ต้องป้องกันไว้เสียก่อน


เพราะฉะนั้นเรื่องมีสติกำกับรู้อยู่ที่จิตได้
ย่อมเป็นการอ่านเวทนาออก
มันจะเกิดขึ้นมาในลักษณะ
ไหนนิดๆ หน่อยๆ ก็รู้ทีเดียว
รู้แล้วก็ดำรงสติอยู่ในความวางเฉย
ซึ่งไม่ต้องอดทนมากเกินไป

ถ้าว่า ตัณหามันเกิดแล้วมันต้องอดทนมา
เหมือนกับมันคันขึ้นมายิบๆ
นี้มันอยากจะเกามันอยากจะแก้

ถ้าหากดำรงสติไว้ก่อนรู้สึก
อาการทุกข์หรืออาการคันจะเป็นของธรรมดา
เพราะว่าสติยืนหลักได้ อย่างเดียวแล้ว
มันละนิวรณ์ทั้งห้าประการนั้นได้
ตั้งแต่กามฉันทนิวรณ์ และพยาบาทนิวรณ์


เราต้องอ่านมันออกในขณะที่มันมีการผัสสะ
เฉพาะ กามฉันทนิวรณ์ นี้สำคัญที่สุด
แล้วก็ระวังให้ดีเถอะ กามฉันทนิวรณ์
ความพอใจใ นรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย จะต้องเกิด

ฉะนั้นเมื่อมีสติดำรงอยู่ได้ กามฉันทนิวรณ์ก็ไม่มี
เริ่มแรกที่จะมีก็ต้องรู้ว่าเป็นความวิการของจิต
เหมือนกับจิตที่มีตัณหานี้ เรียกว่าจิตนี้เป็นโรค เกิดโรค

เช่น ความพอใจ ไม่พอใจ
เพราะฉะนั้นต้อง ป้องกันเหมือนกับเขาป้องกันเชื้อโรค
คือต้องมีสติเอาไว้ก่อน

เชื้อโรคของกิเลสนี้มันจะเกิดตัณหา
หรือว่าเป็นลักษณะของความไม่พอใจในทุกข์ก็ตาม
พอมันเกิดขึ้นมาในระยะแรกจะต้องรู้ว่า
นี่เป็นความวิการของจิต
แล้วจิตนี้จะเกิดโรคคือตัณหา

ทีนี้เมื่อรู้ลักษณะการเกิดแล้ว
จิตนี้ก็เป็นอิสระอยู่ได้ไม่มีอะไรแฝงเข้ามา
และมีสติคอยประคับประคอง เอาไว้
อย่าให้มันเผลอเพลินออกไป
ให้เพ่งพิจารณาประกอบอยู่ทุกขณะเป็นการตรวจเชื้อโรคไปในตัว
และจะดับมันได้ทุกๆ ขณะไปทีเดียว


ขอให้พยายามตรวจให้ละเอียด
จะเป็นการดับทุกข์ได้อย่างถูกต้องเสมอ
ทุกข์โทษทั้งหลาย จะเบาบางไปตามลำดับโดยไม่ต้องสงสัยเลย.


สาธุ สาธุ สาธุ

(ที่มา : "ให้จิตมีวิหารธรรม" โดย ท่าน ก. เขาสวนหลวง :
๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ (กลางคืน), พิมพ์และโพสต์ในอินเตอร์เนท โดย คุณอรนุช สันตยากร :
http://www.geocities.com/tanarlp/Kor1.htm)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ทศพล
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 10 ก.พ. 2008
ตอบ: 153
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2008, 5:16 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณครับที่ได้ให้ความรู้ สาธุ สาธุ
 

_________________
"ธรรมทาน คือ ทานอันสูงสุด"
"ผู้ที่ฝึกจิต ย่อมนำความสุขมาให้"

http://www.wimutti.net
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง