Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พุทธเถรวาทกับพุทธมหายาน : นพ.สุวัฒน์ จันทรจำนง อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 15 ก.ย. 2007, 6:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พุทธเถรวาทกับพุทธมหายาน
เรียบเรียงโดย นายแพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง


ทัศนะของนักศาสนศาสตร์หลายคนมักจะมองว่า
พุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นเป็นเพียงปรัชญาหรือเป็นหลักจริยธรรม
ที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

สำหรับ พระธรรมปิฎก (สมณศักดิ์ปัจจุบันที่พระพรหมคุณาภรณ์)
ท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องไว้ในหนังสือพระพุทธธรรมว่า

คำสอนในพุทธศาสนาดั้งเดิมหรือพุทธเถรวาทนั้นไม่ใช่ปรัชญา
แต่เป็นพุทธธรรม ที่มีลักษณะทั่วไปอันพอสรุปได้ ๒ ประการ ดังนี้


๑. แสดงหลักความจริงตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชเฌนธรรม
ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการธรรมชาติ
นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น
ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้น
เพื่อความยึดมั่นหรือปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา

๒. แสดงข้อปฏิบัติตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
อันเป็นหลักครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ให้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย
มุ่งผลสำเร็จคือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ
เป็นอิสระที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้
และการปฏิบัติความสายกลางนี้ควรเป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ
เช่นสภาพชีวิตของบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ เป็นต้น

๓. พุทธรรมฝ่ายเถรวาทนั้น เน้นในเรื่องการกระทำ (กรรมวาทและกิริยวาท)
เน้นความเพียร พยายาม (วิริยวาท) มุ่งผลในทางปฏิบัติโวยตนเอง
ภายใต้หลัก อัปปมาทธรรม และ หลักแห่งกัลยาณมิตร

พุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา
หรือศาสนาแห่งความความห่วงหวังกังวล
หากจะถือว่า พุทธธรรมดังกล่าวเป็นปรัชญา
ก็เป็นปรัชญาที่สอนให้มนุษย์พึงพิงตนเองแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนปรัชญาพุทธแบบมหายานนั้น มีหลักปรัชญาอันหลากหลาย
นิกายมหายานจึงมีลักษณะของความเชื่อและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
ดังเช่นนิกายที่อิงอาศัย ปรัชญามาธยมิก
ย่อมแตกต่างจากมหายานที่ยึดถือ ปรัชญาโยคาจาร และ มหายานสุขาวดี
ย่อมแตกต่างจาก มหายานเซน ดังนี้ เป็นต้น


ข้อสรุปความแตกต่างในปรัชญาอันเป็นหลักคำสอนระหว่าง ๒ นิกาย *

๑. ความแตกต่างในเป้าหมายสูงสุด

มหายานยึดในหลักโพธิจิต สอนให้มนุษย์ตั้งความปรารถนาในโพธิญาณ
ไม่ใช่มุ่งปรารถนาในอรหัตญาณดังความเชื่อในฝ่ายเถรวาท
มหายานเชื่อในพุทธการกธรรม ยึดหลักของพุทธบารมีเป็นประทีปนำทาง
แทนการเน้นในเรื่องอริยสัจ ๔ เช่นของฝ่ายเถรวาท

๒. หลักการเชิงคุณภาพและปริมาณของศาสนิกชน

ของฝ่ายเถรวาท คือเอาคุณภาพของศาสนิกชนเป็นสำคัญ
ยึดถือและคงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยแลสิกขาบททุกข้อ
ที่พระพุทธองค์เคยบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด

ส่วนมหายานถือเอาทางด้านปริมาณ
ดังนั้นปรัชญามหายานจึงลดหย่อนผ่อนปรนพระธรรมวินัย
เช่นในเรื่องสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เป็นเหตุ อปยคมนีย
ที่นำไปสู่อบายภูมิลง คงไว้แต่สิกขาบทที่สำคัญส่วนใหญ่

๓. เงื่อนไขของปณิธานในความปรารถนาพุทธภูมิ

มหายานมีความเชื่อมั่นต่อปณิธานที่ปรารถนาในพุทธภูมิ
ผู้ที่บรรลุโพธิจิตหากมีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติสิ่งใดแม้จะขัดกับพระธรรมวินัย
หากแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของพระศาสนา

แม้จะเป็นการกระทำถึงขั้นปาณาติบาตด้วยการเผด็จชีวิตต่อผู้ทรยศต่อพระศาสนา
ก็พร้อมที่จะทำ แม้กรรมนั้นจำต้องทำให้พระโพธิสัตว์ต้องตกนรก
ทั้งนี้เพื่อแลกกับบุญกุศลที่ได้คุ้มครองพระศาสนา

แต่การกระทำนั้นต้องปราศจาก วิหิงสาพยาบาท
เป็นการกระทำที่มหายานถือว่าให้ความเมตตาต่อผู้ที่สร้างอกุศลกรรม
คติธรรมที่ว่านี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์

ส่วนฝ่ายเถรวาทถือว่า
การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ว่าด้วยเหตุผลใดใด
ย่อมเป็นบาป ผิดหลัก เบญจศีล
เถรวาทสอนแต่เพียงว่า
ให้กล้าที่จะเสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรม

เถรวาทไม่เชื่อและสอนให้เชื่อว่า
ปาณาติบาต ไม่ว่ากรณีใดใด จะก่อให้เกิดกุศลกรรมต่อตนเองหรือต่อพระศาสนา


๔. การพัฒนาการเรียนการสอนพระธรรม

มหายาน พัฒนาการเรียนการสอนพระธรรม
เพื่อเพิ่มสมาชิกด้วยลัทธิและพิธีกรรมต่างๆ
รวมทั้งการจัดธรรมสังคีตเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศพระศาสนา
ขับกล่อมชักจูงศรัทธาของประชาชน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่มีในฝ่ายเถรวาท

๕. อรรกถาธิบายพุทธมติ

คณาจารย์ที่มีความรู้ในปรัชญามหายาน เช่น ท่านนาคารชุน ท่านอสังคะ ฯลฯ
ได้เพิ่มอรรกถาธิบายพุทธมติออกไปอย่างกว้างขวาง
มหายานจึงมีกิ่งนิกายหรือนิกายย่อยออกไปเป็นจำนวนมาก มีปรัชญาเฉพาะเป็นของตนเอง
ทำให้พุทธศาสนามหายานมีปรัชญาหลากหลายเหมาะต่อการเลือกเชื่อ เลือกศรัทธา
มีลักษณะที่เป็นทั้ง หลักปฏิฐานนิยม สัจจนิยม อภิปรัชญาและตรรกวิทยา

ส่วนทางเถรวาทยังยึดหลักปรัชญาพุทธตามที่ปรากฏในคัมภีร์ดั้งเดิม
คือพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด จะมีเป็นเพียง อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
ที่มีผู้รู้แต่งขึ้นภายหลังเพื่อการขยายความเพิ่มเติมในอรรถรสที่ไม่ชัดเจนในพระไตรปิฎก

๖. พระสูตร

คณาจารย์มหายานได้พระสูตรขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก
โดยอิงอาศัยพุทธมติ พุทธปรัชญาเดิม
ก็ด้วยเจตนาที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่แพร่หลาย
ต่อชนทุกชั้นทุกระดับปัญญา ที่สามารถเลือกเชื่อเลือกนับถือ

คณาจารย์เหล่านี้ประกอบด้วยบุคคลทั้งที่อยู่ในเพศบรรพชิตและฆราวาส
ที่แตกฉานในรสพระธรรม มีการใช้สำนวนกวีชวนอ่านชวนฟังกว่าพระสูตร
ที่ปรากฏในฝ่ายเถรวาทเป็นอย่างมาก

ผู้ที่เคยอ่าน สัทธรรมปุณฑริกสูตร
ที่ อาจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปลมาจากภาษาฝรั่ง
หรือ หนังสือกามนิต วาสิฏฐี
ที่ ท่านเสถียรโกเศศ และนาคะประทีป แปลมาจากเรื่องที่
คาร์ล เลอ รุป แต่งสดุดีปรัชญาพุทธมหายาน
ย่อมเป็นพยานในความไพเราะเพราะพริ้งของภาษาที่แฝงอยู่
ในอรรถรสแห่งพุทธธรรมแบบมหายานได้เป็นอย่างดี

๗. การดำเนินนโยบายเผยแผ่พระศาสนา

มหายานดำเนินนโยบายการเผยแผ่พระศาสนาโดยมุ่งสามัญชนเป็นเป้าหมายหลัก
เพราะเชื่อว่าปรัชญาพุทธนั้นลึกซึ้งยากต่อการทำความเข้าใจ
แม้แต่ในปัญญาชนที่รับการศึกษาทางโลกมามากแล้วก็ตาม

นอกจากนั้นมหายานยังปรับความเชื่อให้เขากับลัทธิธรรมเนียมดั้งเดิมของสามัญชน
ที่เคยเชื่อถือมาเป็นเวลานาน
ความเชื่อเดิมที่ไม่ขัดกับหลักธรรมใหญ่
หรือแม้ขัดกับหลักธรรมเดิมของพุทธศาสนาเป็นบางส่วน
มหายานจะรับเข้าไว้โดยไม่รีรอ

จึงทำให้ความเชื่อเดิมของชาวมหายานที่เป็นอเทวนิยม
กลายเป็นเทวนิยมไปโดยปริยาย มีพระพุทธเจ้ามากมาย
องค์ที่สำคัญที่ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์


จนเป็นเหตุให้นักปราชญ์ชาวอินเดียที่ศึกษาพระพุทธศาสนายังไม่แตกฉานทึกทักเอาว่า
พุทธศาสนาคือนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดู
พระพุทธเจ้าคือปางที่ ๙ ของพระวิษณุที่อวตารลงมาช่วยแก้ปัญหาให้กับมนุษย์

หากจะลองมาพิจารณาด้วย อหังการ มมังการ
อาจจะตั้งสมมติฐานได้ว่า
มหายานพยายามปรับความเชื่อของตนเองเพื่อจะดึงศาสนิกชาวฮินดูสมัยนั้น
ให้เข้ามายอมรับนับถือในศาสนาของตน
หรือมิฉะนั้นก็อาจเป็นเพราะแนวคิดของมหายาน
ถูกกลืนอย่างไม่รู้ตัวโดยปรัชญาฮินดู


หมายเหตุ :

เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในประเด็นความแตกต่างระหว่าง ๒ นิกายนี้โดยง่ายขึ้น
ผู้โพสต์จึงได้จัดทำเป็นหัวข้อขึ้นเพิ่มเติม
โดยคำอธิบายในแต่ละหัวข้อนั้น ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาเดิมตามต้นฉบับทุกประการ


(มีต่อ)
 


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 15 ก.ย. 2007, 7:03 pm, ทั้งหมด 7 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 15 ก.ย. 2007, 6:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาจารย์สมภาร พรมทา สรุปแนวความคิดพื้นฐานของฝ่ายมหายานว่า
มีความแตกต่างจากฝ่ายเถรวาทอยู่ ๒ ประการ

คือ ทัศนะต่อพระพุทธเจ้า กับ ทัศนะต่ออุดมคติสูงสุดในชีวิต ดังนี้

๑. ทัศนะต่อพระพุทธเจ้า

ชาวเถรวาทเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ
พระองค์คือผู้ที่ได้ทุ่มเทสติปัญญา
และความเพียรพยายามเพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ทรงมุ่งหวังคือ นิพพาน

ในทางรูปธรรมพระองค์ทรงมีเนื้อหนังร่างกาย
ที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกับคนธรรมทั่วไป

คัมภีร์เถรวาทกล่าวว่า ความเป็นพระพุทธเจ้ามิได้อยู่ในเนื้อหนังร่างกาย
หากอยู่ที่ธรรม อันหมายถึงปรัชญาที่เป็นคำสั่งสอนของพระองค์
พุทธธรรมเท่านั้นคือแก่นหรือสาระของความเป็นพระพุทธเจ้า
ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ส่วนชาวมหายานเชื่อว่า พระพุทธเจ้ามิได้มีฐานะเป็นมนุษย์ธรรมดา
พระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้นเป็นเพียง นิรมาณกาย อันเป็นปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งของ
ธรรมกาย และ สัมโภคกาย ซื่งถือว่าเป็นอมตะ นิรันดร

ปรัชญาโยคาจาร และ ปรัชญาจิตอมตะวาทะ ของฝ่ายมหายาน
มีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระกาย ๓ ภาค คือ
ภาคธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย
เช่นเดียวกับที่ ปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่ามี ปรมาตมัน
มีพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ


หากจะลองเปรียบเทียบกันดูจะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น ดังนี้ คือ

ธรรมกายของฝายมหายานเปรียบได้กับ ปรมาตมัน ซึ่งเป็นอรูปเทวะ
สัมโภคกายเปรียบได้กับองค์พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ชาวมหายานเชื่อว่า
สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์อันเป็นรูปเทวะ
เช่นเดียวกันกับพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ในศาสนาพราหมณ์

ส่วนพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น
มหายานเชื่อว่าเป็นเพียง นิรมาณกาย ของพระพุทธเจ้า
เช่นเดียวกับที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเชื่อว่า
พระนารายณ์ หรือพระราม เป็นเพียงภาคหนึ่งขอองค์พระวิษณุ
ที่อวตารแปลงร่างลงมาช่วยปราบยุคเข็ญให้กับชาวโลก


๒. ทัศนะต่ออุดมคติสูงสุดของชีวิต

พุทธศาสนาดั้งเดิมของชาวเถรวาทเชื่อว่า
จุดหมายสูงสุดในชีวิตก็คือ พระนิพพาน
การเข้าถึงพระนิพพานมีได้ ๒ วิธี คือ

(๑) เพียรพยายามหาหนทางด้วยตัวเอง
ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบโดยการตรัสรู้

(๒) การดำเนินตามแนวโพธิปักขิยธรรม
ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้พึงปฏิบัติด้วยตนเอง
ดังที่พระสาวกทั้งหลายที่ได้บรรลุอรหัตผล


ดังนั้น การที่มนุษย์จะเข้าถึงการหลุดพ้นด้วยวิธีการใดนั้น ถือว่าขึ้นอยู่กับกรรม
และการสร้างสมบำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติที่เรียกว่า “พระโพธิสัตว์”


ปรัชญาพุทธเถรวาทถือว่ามนุษย์มีทางเลือกได้ทั้ง ๒ ทาง ตามความสามารถของตน
บางคนอาจจะเหมาะในการบำเพ็ญเพียรเยี่ยงพระโพธิสัตว์เพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
บางคนเหมาะที่จะเป็นพุทธสาวกเพื่อบรรลุพระอรหัตผล

ส่วนฝ่ายมหายานมองว่า
การรีบเร่งบรรลุอรหัตผลแบบพระอรหันต์ทางฝ่ายเถรวาทนั้น
เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว เป็นการเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน

การบำเพ็ญเพียรเพื่อเสียสละช่วยมนุษย์แบบพระโพธิสัตว์
โดยยอมบรรลุนิพพานเป็นคนสุดท้ายเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง


ด้วยเหตุนี้มหายานจึงเน้นให้ศาสนิกบำเพ็ญ โพธิสัตวธรรม
ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมโลก เท่าที่จะสามารถทำได้
มหายานเชื่อว่าการเข้าถึงการหลุดพ้น
ไม่ควรทำแบบตัวใครตัวมันดังความเชื่อของฝ่ายเถรวาท

แนวคิดเรื่อง โพธิสัตวธรรม ของฝ่ายมหายานเช่นนี้
หากคิดอย่างผิวเผินก็ดูจะมีเหตุผลที่สอนให้มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ในฐานะของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ
ซึ่งในที่สุดน่าที่จะไม่มีผู้ใดบรรลุนิพพาน
เพราะคนที่รอคอยขอความช่วยเหลือมีมากกว่าผู้ให้ความช่วยเหลือ
แนวความคิดให้โพธิสัตว์ช่วยเหลือคนที่รอคอยขอความช่วยเหลือดังกล่าวนี้

หากพิจารณาให้ดีน่าที่จะขัดกับแนวคิดพื้นฐานเดิมของฝ่ายมหายานที่เชื่อว่า
มนุษย์ทุกคนมีความสามารถเท่าเทียมกันที่จะเข้าถึงพุทธภูมิ
เพราะตามความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
มีคนจำนวนไม่น้อยชอบกราบไหว้อ้อนวอนรอรับความช่วยเหลือ
มากกว่าที่จะบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์
จึงยังมองไม่เห็นว่าศาสนิกมหายานเหล่านั้น
จะบรรลุพุทธภูมิด้วยตนเองได้อย่างไร

กลับมาพิจารณาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม
ปรัชญาเถรวาทมีทัศนะว่า ในการช่วยเหลือให้ผู้อื่นบรรลุอุดมคติสูงสุดในชีวิตนั้น
ก็ด้วยการให้คำแนะนำสั่งสอนหรือชี้ทางให้เท่านั้น
ทุกคนต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จะหวังพึ่งจากผู้อื่นหาได้ไม่

แม้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นพร้อมกันสักกี่ร้อยพระองค์
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะช่วยบำเพ็ญกิจเหล่านั้นแทนเราได้
ดังพุทธพจน์ที่ว่า ตนเองเป็นที่พึ่งของตนเอง
ปรัชญาเถรวาทศรัทธาตัวมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคน
มีศักยภาพในการเขาถึงสัจธรรมได้เท่ากัน
แต่อาจจะแตกตางกันที่การใช้เวลาทำความเข้าใจหลักธรรมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปรัชญาพุทธของชาวเถรวาท
จะยังคงยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมดั้งเดิมมาโดยตลอด
แต่น่าเสียดายที่ความเป็นจริงในปัจจุบัน
ศาสนาของพุทธศาสนาในประเทศไทยที่อ้างตนเองว่าเป็นเถรวาทในขณะนี้
กลับมีความเชื่อความศรัทธาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม

พุทธศาสนิกชนถูกสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมเก่า
เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์
เรื่องทำบุญหวังผลชาติหน้า เชื่อในอำนาจในการดลบันดาลและการพึ่งพึง
จนทำให้พุทธธรรมผิดเพี้ยนไปจากเดิม

ดังที่มีผู้รู้หลายท่านแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในศาสนา
ดังเช่น ดร.พระมหาสิงห์ทน นราสโภ
กล่าวไว้ในหนังสือนานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก ว่า

“พระธรรม คือคำสั่งสอนทางพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ได้ผิดเพี้ยนไปจากองค์ธรรมดั้งเดิมเป็นอย่างมาก
จนอาจกล่าวได้ว่า เป็น “สัทธรรมปฏิรูป”
เนื่องจากชาวพุทธในประเทศไทยส่วนหนึ่ง
ขาดการศึกษาหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา
พอๆ กับความหย่อนยานในพระธรรมวินัย
และความอ่อนแอในทางปริยัติทางปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์
ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาพุทธ
หวังบวชเรียนเพียงเพื่อลาภสักการะ”


พระชยสาโรภิกขุ ให้ความเห็นไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า

“เป็นเพราะชาวไทยจำนวนมิใช่น้อยเป็นพุทธแต่เพียงโดยกำเนิด โดยประเพณี
เป็นพุทธโดยธรรมเนียม เมืองไทยยังไม่เป็นเมืองพุทธ แต่มีเพียงศักยภาพที่จะเป็นพุทธ”


อาจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี
มีความเห็นเกี่ยวกับการที่พุทธศาสนิกชนคนไทยส่วนหนึ่งเชื่อ
และเข้าใจในหลักพุทธธรรมที่ผิดๆ ว่า

“เป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีวัฒนธรรมในการเรียนรู้
ไม่มีฉันทะในการเรียนรู้ ไม่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้
และไม่ใช้ความรู้ในการดำรงชีวิตและการงาน”


อาจารย์ระวี ภาวิไล มีความเห็นว่า

“คนทั่วไป ยังเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เพียงพอ
ในการที่จะนำมาใช้นำทางชีวิตในอย่างถูกต้องไม่ว่าระดับไหน
และที่น่าเป็นห่วงคือ ในระดับของผู้ที่ได้รับการศึกษาทางตะวันตก
มามากที่รู้และเข้าใจในพระพุทธศาสนายังไม่เพียงพอ
รวมทั้งผู้ที่มีบทบาทในการบริหารสังคม”


อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก มีความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า

“เป็นเพราะสังคมพุทธ ขาดสติ ขาดการตื่นตัว
คณะสงฆ์อยู่ในสภาพที่ไม่รู้ปัญหา หรือรู้แต่ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา
การปกครองหย่อนยานขาดการเอาใจใส่ที่เนื่องมาจากเหตุ ๒ ประการ
คือ ผู้ที่มีหน้าที่ปกครองขาดความเข้มงวดในตัวเอง
ทำให้ไม่สามารถที่จะว่ากล่าวดูแลคนอื่นได้
พระผู้ใหญ่ไม่เป็นหลักในการดูแลพระ หรือผู้ที่มาบวชเรียน
โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษา มีประสบการณ์ทางโลกมาบวช
พวกนี้เป็นอันตรายแก่พระศาสนามาก
เพราะมีความเชื่อว่าตนเองมีความรู้มีประสบการณ์มากมาก
ทิฏฐิมานะจึงมีมาก บวชเรียนอย่างที่ไม่ยอมเป็นลูกศิษย์ใคร
ถ้าระบบอุปัชฌาย์ไม่เข้มงวด พระประเภทนี้จะตั้งตนเป็นอาจารย์ทันที”


นี่คือความเห็นของท่านผู้รู้
ที่มีความห่วงใยในพระศาสนาที่มองสังคมไทยในขณะนี้ว่า
แก่นของพระพุทธศาสนายังคงเหลืออยู่อีกหรือไม่
ฐานะของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
จะยังสามารถคงความเชื่อดั้งเดิมแห่งพุทธธรรมไว้ได้อีกนานเท่าใด ?
และสถาบันใดจะเป็นแกนนำในการปรับปรุงแก้ไข ?


สาธุ สาธุ สาธุ

ที่มา : “ปรัชญาพุทธเถรวาทและปรัชญาพุทธมหายาน”
ใน ความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา
(Faith and Believe toward Philosophy and Religion),

เรียบเรียงโดย : นายแพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง, หน้า ๒๔๖-๒๕๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ใบโพธิ์
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2007
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 17 ก.พ.2008, 4:37 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ทำความดีทุกๆ วัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง