Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 การให้ผลของกรรมตามวาระ (อาจารย์บุญมี เมธางกูร) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

การให้ผลของกรรมตามวาระ
โดย อาจารย์บุญมี เมธางกูร

กำหนดเวลาในการให้ผลของกรรมนั้น ย่อมจะมีอยู่ตามอำนาจของกรรมตามอำนาจของเจตนารมณ์ที่เกิดขึ้นมา ในขณะที่เสพอารมณ์ที่เป็นชวนะในวิถีจิตต่างๆ

เพราะชวนะที่เสพอารมณ์ดังกล่าวนั้น ย่อมจะมีความหนักเบาไม่เหมือนกัน ดังนั้นกรรมที่มีกำลังน้อยจึงให้ผลได้แต่ในชาตินี้.. ให้ผลไปในชาติข้างหน้าไม่ถึงเพราะกำลังไม่พอ.. กรรมบางประเภทให้ผลในชาติหน้าเท่านั้น... และกรรมบางประเภทมีกำลังมากที่สุด จึงสามารถให้ผลได้ตั้งแต่ในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป (นับชาตินี้เป็นชาติที่ ๑) และกรรมบางประเภทยกเลิกการไม่ส่งผลเลยก็มี

วิถีจิตเพื่อประกอบการอธิบายการให้ผลของกรรมตามวาระ มีดังนี้ คือ

อติมหันตารมณ์ปัญจทวารวิถี
(วิถีที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย)
. อตีตภวังค์ (ภวังค์เก่า)
. ภวังคจลนะ(ภวังค์ไหว)
. ภวังคุปัจเฉทะ(ภวังค์ตัด)
. ปัญจทวาราวัชชนะ (ประตูรับอารมณ์ทั้ง ๕)
. ปัญจวิญญาณ(วิญญาณทั้ง ๕)
. สัมปฏิจฉนะ(รับอารมณ์ทั้ง ๕)
. สันตีรณะ(พิจารณาอารมณ์)
. โวฏฐัพพนะ(ตัดสินอารมณ์)
. ชวนะ(เสพอารมณ์)
. ชวนะ
. ชวนะ
. ชวนะ
. ชวนะ
. ชวนะ
. ชวนะ
. ตทาลัมพณะ (ยึดหน่วงอารมณ์จากชวนะ)
. ตทาลัมพณะ
..ภวังค์
= ตี น ท ป วิ สํ สัน วุ ช ช ช ช ช ช ช ต ต =
วิภูตารมณ์
ภวังคจลนะ(ภวังค์ไหว)
ภวังคุปัจเฉทะ(ภวังค์ตัด)
มโนทวาราวัชชนะ
ชวนะ(เสพอารมณ์)
ชวนะ
ชวนะ
ชวนะชวนะ
ชวนะ
ชวนะ
ตทาลัมพณะ (ยึดหน่วงอารมณ์จากชวนะ)
ตทาลัมพณะ
ภวังค์
= น ท มโน ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ =

การให้ผลของกรรมตามวาระที่จะให้ผลได้นั้นมี ๔ ประการ คือ
๑ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ให้ผลได้ในชาติปัจจุบัน
๒ อุปปัชชเวทนียกรรม ให้ผลได้ในชาติหน้า
๓ อปราปริยเวทนียกรรม ให้ผลได้ตั้งแต่ในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป
๔ อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่ให้ผล
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่ให้ผลได้ในชาตินี้เท่านั้น จะไม่ติดตามข้ามไปยังชาติหน้าอันเป็นชาติที่ ๒ เลย เพราะมีกำลังไม่เพียงพอ คือ มีกำลังอ่อน

ผม (ท่านอาจารย์ บุญมี เมธางกรู) ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การเกิดอารมณ์ขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่เรียกว่าปัญจทวาร การเกิดอารมณ์ขึ้นทางใจ ที่เรียกว่า มโนทวารนั้น จะต้องเป็นไปตามลำดับตั้งแต่เริ่มต้น แล้วผ่านชวนะทั้ง ๗ ดวง

อารมณ์ที่เข้ามากระทบตั้งแต่เริ่มต้นเป็นลำดับมาจนถึงโวฏฐัพพณะ และมโนทวาราวัชชนะ ซึ่งเป็นตัวตัดสินว่าเป็นอารมณ์อะไร ดีหรือเลว ชอบหรือไม่ชอบ แล้วชวนะทั้ง ๗ ดวงก็จะเป็นตัวเสพอารมณ์นั้น นั่นก็คือ มีความยินดี ยินร้าย ทุกข์หรือสุข และชวนะทั้ง ๗ ดวงนี่เอง ที่จะเกิดบุญหรือบาปได้ตามแต่อารมณ์ที่ได้รับมาแต่ตอนต้นตามลำดับจนถึงการตัดสินอารมณ์ วิถีจิตทั้งปัญจทวารและมโนทวารก็เกิดขึ้นตามลำดับดังกล่าวนี้มากมาย

ในชวนะทั้ง ๗ ดวงซึ่งเป็นกรรม เป็นตัวบุญหรือบาปนี้ มีกำลังไม่เท่ากัน ชวนะดวงที่ ๑ นั้นมีกำลังน้อยที่สุด ชวนะดวงอื่นก็มีกำลังลดหลั่นกันออกไป ฉะนั้น จึงมีความสามารถให้ผลได้ในเวลาต่างกัน

ชวนะดวงที่ ๑ให้ผลในชาตินี้ ชวนะดวงที่ ๗ ให้ผลในชาติหน้า และชวนะดวงที่ ๒ถึงที่ ๖ จะให้ผลในชาติต่อๆไปเมื่อได้โอกาส คือ ตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป

การให้ผลของกรรมตามชวนะต่างๆนั้น ถ้ายกตัวอย่างของจริงบางเรื่องขึ้นมาก็คงจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเช่น...

ถ้าเราขว้างก้อนดินก้อนหนึ่งไปข้างหน้า เราก็ขว้างไปได้ไกล เพราะเป็นผู้ใหญ่มีกำลังมาก แต่ถ้าจะให้เด็กเล็กๆขว้างก้อนดินดังกล่าวแล้ว ก็จะขว้างไปได้ไม่ไกลเลย .ทั้งนี้ก็เพราะเด็กมีกำลังน้อย

การที่เราจะไปทำราชการ หรือ ประกอบการงานธุรกิจใดๆก็ดี ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นฐานของตนขึ้นมาให้ดี... หาไม่แล้ว จะทำราชการหรือธุรกิจการงานได้อย่างไร.. จะต้องเล่าเรียนหนังสือแล้วก็ต้องใช้เวลาหลายปี.... จะต้องฝึกหัดการงานนั้นๆจนมีความสันทัดจัดเจนพอสมควร ไม่มีใครเลยที่ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องฝึกฝนการงานแล้วก็ทำงานได้

ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถเพียงพอนั่นเอง แม้ว่าจะต้องเล่าเรียน จะต้องฝึกฝนการงาน ก็จะต้องอาศัยเวลา บางทีจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆหรือตั้ง ๑๐ ปี จะให้เล่าเรียนหนังสือปีนี้แล้วปีหน้าทำงานได้ดีกระไรได้
ถ้าเราปลูกต้นผลไม้ เช่นต้นมะม่วงก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องคอยเวลาจนกว่ามันจะออกผล ซึ่งแน่ละ ก็ต้องใช้เวลานานหลายปีเหมือนกัน

แต่เมื่อมันออกผลแล้ว ผลที่มันออกมาปีแรกมันก็จะออกมาไม่กี่ผล จะให้มันดก คือออกผลมากตามใจเราก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ เราจึงมักพูดกันว่า.... ต้นมะม่วงมันสาว แล้วจะให้ออกผลมากได้อย่างไร กำลังความสามารถของมันยังไม่เพียงพอที่จะให้เป็นเช่นนั้นได้ แม้เราจะปรนนิบัติมันอย่างไรก็ตาม

ชวนจิตดวงที่ ๑ ก็เช่นกัน จะให้ผลได้ในชาตินี้เท่านั้น จะเลยไปถึงชาติหน้าชาติโน้น มันก็ไม่มีกำลัง การที่ให้ผลน้อยเพราะมันมีกำลังของการให้ผลอ่อน บางทีก็มองไม่เห็นเลย และบางทีก็ให้ผลในชาตินี้ยังไม่ได้

เช่นผู้กระทำกรรมนั้นได้ตายไปเสียก่อนก็มี ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผู้คนเป็นอันมากกระทำบาปอกุศล แต่ไม่เห็นได้รับผลร้ายอะไรเลย กลับอยู่ดีมีความสุขความสบาย ส่วนคนที่ทำแต่ความดีเป็นบุญเป็นกุศล แต่เห็นได้รับความลำบากทุกข์ยากเหลือหลาย หาความสุขความสบายไม่ค่อยได้ก็มีมาก แล้วเราก็พากันพูดว่า ทำดีไม่ได้ดี แต่ทำชั่วกลับได้ดี

เราจะให้ผลกรรมเห็นทันตาในชาตินี้กระไรได้ มันจะเป็นไปได้อย่างไรเล่า เหมือนเราจะให้เด็กอ่านออกเขียนได้ภายในไม่กี่วัน เราจะให้คนทำงานได้โดยไม่ต้องศึกษาหาความรู้ให้เพียงพอเสียก่อน และเราจะพยายามปลูกต้นมะม่วงวันนี้ แล้วรุ่งขึ้นพรุ่งนี้จะให้มันออกผลเต็มต้น

ทั้งนี้ก็เพราะกรรมที่ให้ผลในชาตินี้ คือชวนะดวงที่ ๑ เรียกชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม นั้นมีกำลังน้อย ทั้งไม่มีกำลังเพียงที่ให้เลยไปถึงชาติหน้าได้ด้วย

เหตุนี้ถ้าความตายได้เกิดขึ้นแก่บุคคลใดแล้ว ชวนะดวงที่ ๑ที่ยังไม่ให้ผล จึงได้เป็นอโหสิกรรมไป คือเลิกให้ผล ข้อยกเว้นสำหรับชวนะดวงที่ ๑ ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่มากทั้งทางฝ่ายกุศลและอกุศลซึ่งผู้กระทำที่ได้รับผลทันตาเห็นภายใน ๗ วัน เรียกว่า อปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เช่นถวายอาหารแก่พระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ เป็นต้น

สำหรับชวนะดวงที่ ๗ เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม เป็นกรรมที่มีกำลังมาก
ดังนั้น จึงมีความสามารถส่งผลให้ได้ในชาติหน้า ให้ผลทั้งในปฏิสนธิกาล คือในขณะเกิดในภพใหม่ และให้ผลทั้งในปวัตติกาล คือเกิดขึ้นมาในภพใหม่แล้ว แต่ก็เพียวชาติหน้าชาติเดียวเท่านั้น กำลังอำนาจไม่เพียงพอสำหรับชาติที่ ๓ และชาติต่อๆไป อำนาจที่ว่ามากนั้น มีกำลังเพียงพอที่จะให้ผู้ตายเกิดขึ้นในชาติใหม่ คือชาติที่ ๒ ได้... เราเรียกกันว่า ให้อำนาจในการปฏิสนธิในขณะกำลังเกิดและให้ผลในปวัตติกาล คือ เกิดขึ้นมาแล้วจึงให้ผล
ผู้ตายได้อารมณ์ที่มีกำลังมาก เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตาย เพราะทำบุญกุศล หรือทำบาปอกุศลครบองค์ เช่น

การกระทำบาปลักทรัพย์มีองค์ ๕ คือ
ทรัพย์ของผู้อื่น
รู้ว่าเป็นทัพย์ของผู้อื่น
มีเจตนาจะลัก
มีความพยายาม
ลักทรัพย์ได้สำเร็จ

และอำนาจของกรรมในชวนะดวงที่ ๗ นั่นเอง เป็นตัวการสนับสนุนให้บังเกิดจิต เจตสิก และกรรมชรูปในถพใหม่ ถ้าทำบุญหรือทำบาปครบองค์ก็มีอำนาจมาก สามารถให้ผลในปฏิสนธิกาลได้ ถ้าไม่ครบองค์ เช่นลักทรัพย์ไม่ครบองค์ทั้ง ๕ เป็นต้น กำลังก็มีน้อย จะให้ผลในปวัตติกาล คือเกิดขึ้นมาเสียก่อน

การที่ชวนะดวงที่ ๗ อันเป็นดวงสุดท้าย..ให้ผลได้ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลดังกล่าวแล้ว... หรือมีกำลังความสามารถที่จะให้ผลได้จนถึงในชาติหน้าก็ดี.... ก็ให้เพียงชาติหน้าชาติเดียวเท่านั้นเองที่เราเรียกว่าชาติที่ ๒ แต่ก็หมดความสามารถที่จะให้ผลในชาติที่ ๓ หรือชาติต่อๆไปได้...ทั้งนี้ก็เพราะกำลังไม่เพียงพอที่จะให้ผลไปไกลได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสิ้นชีวิตลงไปในชาติที่ ๒ แล้ว ตัวกรรมอันเป็นชวนะดวงที่ ๗ ก็เลิกให้ผลเป็นอโหสิกรรมไป การที่ชวนะดวงที่ ๗นี้ ให้ผลได้มาก แต่ก็ไม่มากจริงจนไปถึงชาติที่ ๓ หรือชาติต่อๆไปได้นั้น เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่จะให้ผลน้อยมี ๒ ตอน คือ ตอนต้นยังสาวอยู่ก็ให้ผลน้อย แล้วตอนแก่ก็ให้ผลน้อยเหมือนกัน แต่ก็ยังดีกว่าในตอนต้น ทั้งนี้ก็เพราะกำลังของการให้ผลไม่เพียงพอ

ชวนะดวงที่ ๒ถึงที่ ๖ นั้นเรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม ให้ผลได้ตั้งแต่ในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป เพราะมีกำลังมากจึงให้ผลยาว สามารถให้ผลได้ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล

แต่อย่างไรก็ดี ในวิถีเดียวกันนั้น ดวงใดดวงหนึ่งให้ผลปฏิสนธิเสียดวงหนึ่งแล้ว เหลืออีก ๔ ดวง จะให้ผลในปฏิสนธิในอีก ๔ไม่ได้ เพราะในวิถีเดียวกันจะให้ปฏิสนธิดวงเดียวเท่านั้น ที่เหลือต้องให้ผลในปวัตติกาล ให้ความทุกข์ ให้ความสุข หรือแม้จะเข้ามาสนับสนุน หรือตัดรอนการปฏิสนธิก็ได้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
kerpam
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ก.พ. 2008
ตอบ: 14

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2008, 1:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บุคคล สถานที่ และจิตใจ ที่เกิดขึ้นมาในภพชาติใหม่

ในบรรดากิจการงานทั้งหลาย ถ้าเป็นกิจการงานที่ใหญ่ ก็จะต้องมีผู้ทำการงานนั้นๆหลายคนด้วยกัน และคนหลายคนที่เข้ามาทำงานนั้น มีหน้าที่การงานต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องตั้งชื่อบุคคลเหล่านั้นไว้เพื่อจะได้พูดหรือเรียกขานกันได้ถูกต้อง เช่น ในธุรกิจการค้า มีห้างร้านค้าขายเป็นต้น ก็จะต้องมีผู้จัดการ คนขายของหน้าร้าน เสมียนพนักงานและภารโรง

ในเรื่องปฏิสนธิจุติก็เหมือนกัน มีจิตใจหลายประเภท มีบุคคลหลายพวกที่จะต้องทำความเข้าใจจึงต้องตั้งชื่อจิตใจ ตั้งชื่อบุคคล สถานที่ ตลอดจนประเภทการงานต่างๆออกไป เพื่อจะได้เรียกขานกันได้ถูกต้อง แล้วทราบได้ว่าทำการงานอะไรหรือใครทำอะไรอยู่ที่ไหน

บุคคลทั้งหลายเมื่อแยกออกตามสภาวธรรมแล้วก็มีอยู่ ๑๒ บุคคลคือ
ทุคติบุคคล ๑
สุคติอเหตุกบุคคล ๑
ทวิเหตุกบุคคล ๑
ติเหตุกบุคคล ๑
รวมเรียกบุคคลทั้ง ๔ ว่า ปุถุชน ๔
โสดาปัตติมรรคบุคคล ๑
สกทาคามิมรรคบุคคล ๑
อนาคามิมรรคบุคคล ๑
อรหัตมรรคบุคคล ๑
โสดาปัตติผลบุคคล ๑
สกทาคามิผลบุคคล ๑
อนาคามิผลบุคคล ๑
อรหัตผลบุคคล ๑
รวมเรียกบุคคลทั้ง ๘ นี้ ว่า พระอริยบุคคล ๘
และรวมเรียกปุถุชน ๔ และพระอริยบุคคล ๘ นี้ว่า บุคคล ๑๒

ภพภูมิที่สัตว์เกิดขึ้นมาในกามภูมิ ๑๑ คือ
สัตว์นรก ๑
สัตว์เดรัจฉาน ๑
เปรต ๑
อสูรกาย ๑
รวมเรียก ๔ ภูมินี้ว่า อบายภูมิ ๔
มนุษยภูมิ ๑
เทวภูมิ ๖
รวมเรียก ๔ ภูมินี้ว่า กามสุคติภูมิ ๗
รวมเรียก อบายภูมิ ๔ และ กามสุคติภูมิ ๗ ว่า กามภูมิ ๑๑


จิตของสัตว์ที่จะปฏิสนธิในภพภูมิต่างๆ
๑. จิตที่ชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง
นำปฏิสนธิในทุคติภูมิ คือเกิดเป็น สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย
๒. จิตที่ชื่อว่า อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง
นำปฏิสนธิเป็นมนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นต่ำสุด และเป็นบุคคลที่ไม่สมประกอบ
๓. จิตที่ชื่อว่า มหาวิบากจิต ๘ ดวง
นำปฏิสนธิในมนุษย์ ๑ ภูมิ กับเทวภูมิ ๖ ภูมิ
๔. จิตที่ชื่อว่า มหัคคตวิบาก ๙
นำปฏิสนธิในรูปพรหมและอรูปพรหม

ตามธรรมดาเมื่อเราต้องการทราบว่า กิจการงานของใครดีเด่น หรือบังเกิดความเสียหายอย่าร้ายแรงจนเป็นที่เลื่องลือ เราก็จำเป็นจะต้องค้นหาความจริงของเรื่องนั้นหลายทางด้วยกัน เช่นบุคคลนั้นคือใคร เป็นคนดีหรือไม่ดีอย่างไร อยู่ที่ไหน ในสถานที่นั้นเป็นอย่างไร และบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลประเภทไหน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ในการแสดงเรื่องจุติปฏิสนธิก็เหมือนกัน ก็จำเป็นที่จะต้องแสดงให้ท่านทั้งหลายทราบวา บุคคลผู้เกิดขึ้นมานั้นเป็นบุคคลชนิดไหน ทำไมถึงได้เกิดมาในสถานที่นั้น ในสถานที่นั้นเป็นอย่างไร และมีความเป็นมาประการใดบ้างทั้งในอดีตและปัจจุบัน

คำว่า บุคคล นั้น ตามสภาวธรรม มิได้มีความหมายเฉพาะเจาะจง คน เท่านั้น หากแต่หมายถึงสัตว์ทั้งหลายทั่วไปด้วย เช่น สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย มนุษย์ เทวดา หรือแม้พระอริยบุคคลเบื้องต้นไปจนพระอรหันต์
สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น พื้นแผ่นดิน ภูเขา บ้านเรือน หรือ ต้นไม้ ไม่เรียกว่าบุคคล
คำว่า ปุถุชน นั้น หมายถึงผู้ที่หนาไปด้วยกิเลส มี โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ในจิตพร้อมบริบูรณ์ ได้แก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิต่างๆ แต่ยกเว้นอริยบุคคล เพราะพระอริยบุคคลไม่ใช่ปุถุชน ด้วยท่านได้ทำลายกิเลสออกไปไปได้เด็ดขาดเป็นบางส่วน จนถึงทำลายจนหมดสิ้นเชิงแล้ว

๑. บุคคลที่ได้ทำอกุศลกรรมไว้เป็นส่วนมากในชาตินี้ หรือทำอกุศลกรรมไว้มากในอดีตชาติ เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตาย ก็จะระลึกได้ถึงอกุศลที่ตนได้เคยทำมาราวกับว่าเป็นความฝัน หรือรู้สึกว่าได้เห็น ได้ยินจริงๆ เช่น เห็นสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า หรือได้ยินเสียงสัตว์กำลังร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดอย่างสุดแสน เห็นไฟลุกหรือเห็นป่าเปลี่ยว เห็นเหวลึกที่น่าหวาดเสียว เห็นถ้ำที่น่ากลัว ตลอดจนเห็นสัตว์เดรัจฉานชนิดต่างๆ

การระลึกถึงกรรมในอดีตก็เพราะว่า บางท่านไม่ได้ทำบาปหรือทำบุญไว้ในชาตินี้เด่นชัดมากนัก จึงได้ล้วงเอากรรมในอดีตชาติมาเป็นอารมณ์ ก็เป็นไปได้ เมื่อเวลาใกล้จะถึงแก่ความตาย บุคคลดังกล่าวนี้ จะถูกผลักส่งให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และเมื่อเกิดในสถานที่ดังกล่าวนี้แล้วก็เรียกว่า อบายภูมิ ๔ อันเป็นที่เกิด อันไม่มีความสุขความสบาย ได้รับความเดือดร้อน และตัวผู้เกิด ณ. อบายภูมิทั้ง ๔ นี้เรียกว่า ทุคติบุคคล

อบายภูมิทั้ง ๔ นี้ ผู้เกิดเป็นบุคคลที่มีกายอันละเอียดเป็นปรมาณู เห็นไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ด้วยกายของเรา เรียกว่า โอปปาติกปฏิสนธิ เกิดขึ้นมาตัวใหญ่โตเต็มที่ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หทยวัตถุ เพศหญิงหรือเพศชายพร้อม (ยกเว้นสัตว์นรกไม่มีเพศ) สัตว์เดรัจฉานที่มีกายหยาบที่เห็นในโลกนี้ ก็รวมเป็นสัตว์ที่อยู่ในอบายภูมิด้วย (สัตว์เดรัจฉานชนิดต่างๆที่มีกายละเอียดเป็นรูปปรมาณูในโลกนี้ก็มี)

จิตของผู้ที่ปฏิสนธิในอบายภูมินั้น เรียกว่า อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นวิบาก คือ ผลของกรรมที่ได้กระทำอกุศล มี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิตนี้มี ๑ ดวงเท่านั้น เป็นตัวปฏิสนธิในภูมิที่ไม่มีความสุขความสบายในภพภูมิทั้ง ๔ ไม่ว่า สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสูรกาย ก็ตาม แต่ตัวการที่ส่งสัตว์ไปเกิดหรือตัวการที่ให้อำนาจนั้น ได้แก่อารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะถึงแก่ความตาย อารมณ์ที่ใกล้จะถึงแก่ความตายเป็นตัวบ่งชี้ว่าสัตว์นั้นจะเกิด ณ ที่ใด

ตามธรรมดา ถ้าจิตของบุคคลใดจับอยู่ในอารมณ์ใดต่อๆกันไปเป็นเวลานานแล้ว เราก็พูดกันว่า จิตจับอารมณ์ได้มั่นคง เราก็ถือว่าจิตนั้นมีกำลังมาก จะคิดอ่านจดจำหรือจะศึกษาเล่าเรียนอะไรก็จะได้ผลดี ซึ่งแตกต่างกับจิตของคนที่จับอารมณ์ไม่มั่นคงซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ เหมือนไฟเทียนที่อยู่ในที่ๆลมพัด จิตชนิดนี้มีกำลังน้อย จะคิดอ่านจดจำหรือจะศึกษาเล่าเรียนวิทยาการอะไรก็จะจำไม่ค่อยได้ จิตของบุคคลที่ใกล้จะถึงแก่ความตายก็เหมือนกัน มีเหตุหลายประการที่มาทำให้จิตจับอารมณ์ที่เป็นกุศลได้ไม่มั่นคง จึงทำให้บังเกิดความเสียหายเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ในชาติหน้า


๒. บางคนทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาไปตามคนอื่นที่เขาว่าดี ไม่เคยศึกษา ไม่เคยพิจารณาว่าจะเท็จจริงอย่างไร จิตใจในการทำกุศลจึงไม่มั่นคง บางคนทำกุศลตามธรรมเนียม หรือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่หวังจะชักนำผู้อื่นที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเท่านั้น แต่ตนเองไม่เคยเชื่อผลของการกระทำหรือเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ได้ บางคนทำกุศลต่างๆไปด้วย มี โลภะ มีโทสะ มีโมหะ เข้าประกอบปะปนอยู่เสมอ เช่น ทำกุศลด้วย โกรธ ทุกข์ร้อน กังวล ห่วงใยไปด้วย หรือทำกุศลเพราะอยากได้ผลดีในชาติหน้า ทำกุศลไปด้วยดื่มสุรามึนเมาไปด้วย บุคคลเหล่านี้มีกำลังของกุศลน้อยเพราะมีอกุศลเข้าไปพัวพันเสีย

บุคคลดังกล่าวนี้ เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตาย จิตจับอารมณ์ที่เป็นกุศลที่ตนเคยทำมาไม่มั่นคง เพราะจับอารมณ์ไม่เป็นแถวเป็นแนว มีอกุศลเกิดขึ้นมาสลับกันเสีย เช่น จิตเป็นกุศล แล้วเกิดเห็นที่ตัวเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาแต่สมัยหนุ่มๆ เป็นอันมาก กุศลจิตพัวพันกับอกุศลจิตดังนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาในภพใหม่ชาติใหม่ เพราะกุศลเป็นตัวนำ จึงได้เกิดเป็นคนหรือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาต่ำสุด จึงเป็นคนหรือเทวดาที่ไม่สมประกอบ เช่น แข้งขาหรือตาพิการมาตั้งแต่ปฏิสนธิ (ถ้าผลนั้นเกิดในปวัตติกาล คือภายหลังปฏิสนธิแล้ว เป็นกรรมอีกอย่างหนึ่ง)

บุคคลที่ใกล้จะถึงแก่ความตาย ระลึกกุศลที่ตนทำเอาไว้ได้ แต่ไม่มั่นคงเพราะมีอกุศลโมหะเข้ามาพัวพัน เพราะเคยดื่มสุราเมามายมาเป็นเวลานาน แม้กุศลจะเป็นผู้นำเกิดก็จริงแต่ก็ระลึกถึงเรื่องการเมามายที่ตนได้ทำมาเป็นอันมากสลับกันเสีย ทำให้กำลังของกุศลตกไป ดังนั้นจึงไปเกิดเป็นคนหรือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาต่ำสุด เป็นผู้ไม่สมประกอบทางจิตใจ เป็นผู้มีปัญญาทึบ มีโมหะครอบงำมาก เป็นบ้า เป็นผู้ที่เรียกว่าไม่ค่อยเต็มบริบูรณ์ และปัญญาอ่อน เราเรียกบุคคลดังกล่าวนี้ว่า เป็นพวกสุคติอเหตุกบุคคล เพราะปฏิสนธิด้วยกุศลที่มีกำลังน้อย และชื่อจิตที่ปฏิสนธิเรียกว่าอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก อันเป็นจิตซึ่งเป็นผลของกรรม


๓. บุคคลบางคนทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา ก็มีจิตใจมั่นคง เพราะความเชื่อในผลของกรรมว่ามาตอบสนองได้ เชื่อมั่นว่า เมื่อชีวิตได้สิ้นสุดลงเมื่อใด จะต้องไปเกิดอีกในภพชาติใหม่ แม้ความเชื่อนี้จะเป็นความเชื่อตามๆกันมาไม่ประกอบด้วยเหตุผลข้อเท็จจริง เพราะมิเคยได้ศึกษาเล่าเรียนสภาวธรรมมาก่อนก็ตาม แต่ก็ตั้งใจทำจริงๆ เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตาย ผลกุศลของบุคคลดังกล่าวจึงจัดว่ามีกำลังมาก (นอกจากจะมีเหตุมารบกวนใจ) ทั้งในขณะจิตนั้น จิตก็เป็น อโลภเหตุ อโทสเหตุ คือไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ความเสียใจ ในเวลาที่ทำกุศลอยู่ อกุศลมิได้เข้ามาพัวพันเลย ดังนั้น การปฏิสนธิของบุคคลนี้จึงไปเกิดในภพภูมิใหม่เป็นทวิเหตุกบุคคล คือบุคคลผู้มีสองเหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ ไม่มีเหตุโลภ และอโทสเหตุ ไม่มีเหตุโกรธหรือเสียใจ

บุคคลนี้จะปฏิสนธิ เป็นทวิเหตุกบุคคล ปฏิสนธิ เป็นมนุษย์หรือเทวดาได้ทั้ง ๖ ชั้น ทั้งเป็นบุคคลที่สมประกอบทั้งกายและใจในขณะปฏิสนธิ (ถ้าขาดตกบกพร่องก็จะเป็นในปวัตติกาล ภายหลังจากเกิดแล้ว และเป็นกรรมอย่างอื่น) และชื่อจิตที่ปฏิสนธิเรียกว่า มหาวิบากญาณวิปยุต ๔ ดวง เป็นจิตอันเป็นผลของกรรมที่มาจากมหากุศลที่มิได้ประกอบด้วยปัญญา


๔ บุคคลบางคนเป็นผู้ช่างคิดช่างพิจารณาในเรื่องปัญหาของชีวิต จึงพอจะมีความเข้าใจในเรื่องของกรรมกับผลของกรรม ตลอดจนเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด แต่บางคนมิใช่เพียงเป็นคนช่างคิดพิจารณาเท่านั้น หากแต่ได้ศึกษาหาความจริงจาสภาวธรรมเลยทีเดียว กุศลของบุคคลดังกล่าวนี้จึงประกอบด้วยกุศลที่มีปัญญาเจตสิกเข้ามาประกอบคนโดยมากเรียกว่า ปัญญาบารมี
บุคคลดังกล่าวนี้ เมื่อทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะพิจารณาให้จิตของตนเกิดเป็นมหากุศลญาณสัมปยุต โดยพิจารณาเรื่องกรรมและผลของกรรมว่าสามารถให้ผลแก่ผู้กระทำได้ ความทุกข์หรือความสุขที่เกิดขึ้นกับใครๆนั้นก็มาจากอดีตและปัจจุบันกรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังพิจารณาให้เป็นวิปัสสนาญาณโดยพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายและสรรพสิ่งสารพัดทั้งปวงไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งสิ้น เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนคนสัตว์ สักแต่ว่ามาประชุมกันชั่วคราว แล้ก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหาได้เป็นแก่นสารพอที่จะเนามาเป็นที่พึ่งได้จริงๆไม่

ผู้ทำกุศลแล้วพิจารณาให้เกิดปัญญาดังกล่าวนี้อยู่เสมอๆ เมื่อใกล้จะถึงแก่ความตาย อารมณ์ที่เป็นกุศลนี้ก็จะเกิดขึ้น และจะเป็นกุศลที่มีปัญญาเข้าประกอบด้วย ยิ่งศึกษาเล่าเรียนให้มากๆก็ยิ่งจะเป็นการดี เมื่อสิ้นชีวิตลงไปก็จะได้เกิด คือปฏิสนธิด้วยจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่าติเหตุกบุคคล ผู้ปฏิสนธิพร้อมด้วยเหตุทั้ง ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ไม่มีความโลภไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลงเข้ามาพัวพันใจขณะทำกุศลนั้น ก็มีหวังว่าในการเกิดขึ้นชาติหน้าจะได้รับผลดีมาก และมีปัญญาบารมีสามารถเดินไปในหนทางที่ดีที่สุด ปัญญาจะเป็นผู้คัดท้ายให้ตรงไปสู่เป้าหมาย คือ ความพ้นทุกข์ การเดินทางไกลสะดวกสบาย และจะไม่เถลไถลออกไปนอกทางได้ง่าย (เกิดในชาติใหม่)

ผู้ที่ปฏิสนธิเกิดในภพภูมิที่ดี คือ กามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดาที่สมประกอบทั้ง ๖ ชั้น เรียกบุคคลชนิดนี้ว่า ติเหตุกบุคคล จะมีความสุข ความเจริญ พร้อมทั้งมีปัญญามาก และจิตที่ปฏิสนธินี้ชื่อว่า มหาวิบากญาณสัมปยุตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง

ท่านสาธุชนทั้งหลาย เรื่องการตายการเกิดที่ผม (ท่านพระอาจารย์ บุญมี เมธางกูร) ได้บรรยายมานั้นเป็นการบรรยายโดยรวบรัด เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดละออมากเหลือเกิน

แต่ก็หวังว่าคงจะช่วยให้ท่านบังเกิดความเข้าใจได้บ้าง อย่างน้อยก็พอให้ท่านได้บังเกิดความมั่นคงในใจสักนิดว่า ชีวิตภายหลังความตายนั้นมีจริงๆ
เพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นกุศลอย่างยิ่งแล้ว ขอความเจริญความผาสุก จงมีแก่ท่านทั้งหลาย
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง