Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร (อ.วศิน อินทสระ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 25 ม.ค. 2008, 4:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เรื่องนี้จะรับกันกับเรื่องก่อน
ในเรื่องการฝึกจิตและความเข้มแข็งในการต่อสู้อุปสรรค

พระพุทธภาษิตที่เราได้ฟังกันอยู่เสมอ
ก็คือ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
พระพุทธภาษิตนี้แสดงถึงคุณค่าของความเพียร

มีความทุกข์อะไรบ้างที่จะล่วงพ้นได้ด้วยความเพียร

ก็ตอบว่า ความทุกข์ทุกอย่างล่วงพ้นได้ด้วยความเพียร ยกตัวอย่าง

1. ความทุกข์จากความยากจน

หลายคนยากจน เพราะความเพียรน้อย หรือเกียจคร้าน
ฝักใฝ่ในอบายมุข ทำให้ชีวิตตกต่ำ
แต่พอรู้สึกตัวเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ กลับหาทรัพย์ได้มั่งมีขึ้น
สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
แปลว่า ผู้มีความเพียรขยันลุกขึ้น มีธุระอยู่เสมอ ย่อมหาทรัพย์ได้
ไม่อยู่ว่าง ไม่เกียจคร้าน ทำการงานให้เหมาะสมย่อมจะหาทรัพย์ได้


อันนี้ก็ไม่ได้ว่าทุกคนที่จนว่าขี้เกียจ
มันมีสาเหตุเยอะแยะของความยากจน
และก็ไม่ใช่คนขยันแล้วจะไม่จน
คนขยันจนก็มี คือว่า เขาทำทุกอย่างแล้ว
แต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย หรือว่าเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ
ระบบไม่เอื้ออำนวยให้เขาพออยู่พอกินได้
อันนี้ต้องดูหลายๆด้านด้วย
แต่ถ้าทุกด้านดีแล้ว แต่เขายังลำบากอยู่
อาจจะเป็นเพราะเขาเกียจคร้าน ฝักใฝ่อบายมุข
เล่นการพนันเสเพล ไม่เอาเรื่องเอาราวกับการงาน
อย่างนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

สาเหตุของความขัดสนจนทรัพย์นี่มันมีเยอะ
พอพูดกันถึงเรื่องทรัพย์ เคยคุยกับใครหลายคนว่า
ดูเหมือนว่าเวลานี้และในอนาคตเรื่องทรัพย์
เป็นเรื่องที่ทำให้คนวุ่นกันเหลือเกิน หาทรัพย์กันวุ่นไปหมด
บางคนหาเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ไม่พอจ่าย
บางคนก็หาเท่าไหร่ก็ไม่พอใจ บางคนไม่พอจ่าย
เพราะรายจ่ายมากรายได้น้อย มีคนในความรับผิดชอบมาก

ผู้หญิงในสังคมของเราเวลานี้ ต้องทำงานหนักมาก
ทั้งทำงานนอกบ้านทั้งทำงานในบ้าน
ดูแลคนรอบข้าง ดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
หลานเหลน เยอะแยะเลย
ยังต้องทำงานในบ้านนอกบ้านลำบากมาก
ขยันเหลือเกินทำงานไม่มีวันหยุดแล้ว
บางคนก็ยังไม่พอจ่าย
เพราะว่ามีคนที่อยู่ในความรับผิดชอบมาก ก็น่าเห็นใจ

ในสังคมเอเชียเรา ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานเลี้ยงคน
ตั้งหลายคน 3-4 คน โดยเฉพาะในเมืองไทย
ถ้าเขาล้มลงเสียคนหนึ่ง ก็แปลว่า ล้มกันไปเยอะเลย
ก็อยู่ในความรับผิดชอบ อันนี้น่าเห็นใจ

ผู้ชายรุ่นนี้เวลานี้ไม่ค่อยจะรับผิดชอบเท่าไหร่
เป็นวัยรุ่นก็มัวแต่เล่นมัวแต่เที่ยว พอโตขึ้นมาหน่อย
เวลามันไม่ทันกับเรื่องอะไรต่างๆที่เป็นธุระของเขา
ความสามารถมันไม่พอ เพราะไปมัวใช้เวลาเล่น
เปลืองไปกับการเล่นเสียเยอะ หาความสุขสนุกสนาน
เพราะมันมีสิ่งยั่วยวนเยอะ นี่ก็ไปโทษสิ่งภายนอก
ความจริงก็คือ ตัวของตัวเองนั่นแหละไม่เอาเรื่อง
คือ ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น

เด็กวัยรุ่นของเราเวลานี้น่าสงสาร
ผู้ใหญ่นั่นแหละสร้างสิ่งยั่วตายั่วใจขึ้นมาเยอะ
ทำให้เขาต้องไปแสวงหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้น ก็หาเงินนั่นแหละ
ผู้ใหญ่หาทรัพย์กับเด็ก
อะไรที่ทำให้เด็กลุ่มหลงได้ก็รวย
แต่ว่ามันเป็นบาป รวยแต่เป็นบาป
อยู่อย่างจนๆและได้บุญดีกว่า

แต่คนที่มาฟังรายการอย่างนี้ก็เป็นคนที่ไม่ทำบาป
ส่วนมากใฝ่ในบุญ คนที่เดินทางบาปก็ไม่ได้มาฟัง
เคยพูดกับหลายคนว่า ในสังคมเรา
ถ้าผู้หญิงทำงานน้อยกว่านี้สักหน่อย
แล้วให้ผู้ชายขึ้นมารับผิดชอบมากขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องรายได้รายจ่ายในครอบครัว
หรือถึงเขาจะทำงาน แต่ไม่ใช่ให้เขาทำงาน
เพื่อเป็นภาระรับผิดชอบในครอบครัวที่มากเกินไป
ให้เขาทำงานเพื่อบริหารสมอง บริหารร่างกาย บริหารจิตใจ
ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างนั้น
ไม่ใช่ให้ทำงานแบบเป็นภาระที่หนักเหลือเกิน
ก็ขอฝากเอาไว้เผื่อมีทางที่จะถ่ายทอดกันไปได้
เพื่อว่าสังคมเราจะได้ดีขึ้น


มีพุทธศาสนสุภาษิตอยู่ว่า กาลาคตญฺจ น หาเนติ อตฺถํ
คนขยันย่อมไม่ทำประโยชน์ที่มาถึงเขาแล้วให้เสื่อม


บางทีประโยชน์มาถึงแล้ว แต่ว่าไม่ขยันก็เลยทิ้งไป
คือ ไม่อยากทำ เล่นสนุกดีกว่า เรียนก็ไม่เรียน
มีเด็กหลายคนพ่อแม่มีเงินทองส่งเรียนได้ แต่เด็กไม่เรียน
นี่เรียกว่า ทำประโยชน์ที่มาถึงแล้วให้เสื่อม

มีเด็กเป็นอันมากที่ดิ้นรนขวนขวาย ทั้งเรียนทั้งทำงาน
ทั้งรับจ้างเพื่อจะให้ได้เรียน
เด็กพวกนี้น่าสงสารน่าเห็นใจ น่าช่วยเหลือ

แต่มีเด็กบางพวกเหลวไหล เอาแต่เที่ยวเอาแต่เล่น
เรียกว่า ทำประโยชน์ที่มาถึงแล้วให้เสื่อม
พออายุมากขึ้น พ่อแม่ก็มีฐานะเพื่อนฝูงก็ฝากงานให้ทำได้
แต่เรียนก็ไม่สำเร็จ ความสามารถก็ไม่มี
แล้วเขาจะช่วยได้อย่างไร

ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ก็รีบทำ
อย่าให้ประโยชน์ที่มาถึงแล้วให้เสื่อม
และในบรรดาสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยกัน
ต้องมีปัญญาไตร่ตรองว่า อะไรมันมีประโยชน์มากกว่า
ก็ขวนขวายทำสิ่งนั้นให้มาก
อะไรที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า ก็ทิ้งเสียบ้าง
เพราะเราไม่สามารถจะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งหมด
บางคนโอกาสดีแต่ไม่จับฉวยเอาไว้ได้ก็น่าเสียดาย

เมื่อทำกิจโดยเบื่อหน่าย ประโยชน์ย่อมจะไม่สำเร็จโดยชอบ
ท่านต้องการให้ทำกิจโดยไม่เบื่อหน่าย
โดยมีฉันทะ วิริยะ มีความพอใจ
มีความชอบที่จะทำ เรียกว่า กัตตุกัมมยตา
ฉันทะนั้นคือ กัตตุกัมมยตา
ใคร่ที่จะทำ ปรารถนาที่จะทำ อยากที่จะทำ
อย่างที่ท่านพยอมพูดว่า เห็นงานแล้วมือไม้มันสั่นอยากจะทำ

พึงได้ประโยชน์ในที่ใดโดยประการใด
บุคคลพึงบากบั่นในที่นั้นโดยประการนั้น
นี่ก็ต้องใช้ปัญญาสอดส่องว่า ประโยชน์มันเกิดขึ้นในที่ใด โดยประการใด
ก็บากบั่นโดยประการนั้นให้สำเร็จประโยชน์


มีคนยากจนไม่น้อย ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียง
มีคนนับถือ มีทรัพย์สินสมบัติ
บางคนมั่งมี เพราะขยัน ประกอบการงานเหมาะสม
ผมยังเชื่อว่า ถ้าเป็นคนฉลาด หมั่นสะสมปัญญา
หมั่นแสวงหาปัญญา ทำกิจให้เหมาะสม
ทำการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ก็สามารถสร้างตัวได้
และให้มีความมั่นใจอย่างนั้น อย่าลังเลและอย่าโลเล
ความมั่นใจนั่นแหละจะทำให้ท่านประสบความสำเร็จ

นี่พูดถึงความยากจน ก็สามารถที่จะเอาชนะได้
เรียกว่า ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 25 ม.ค. 2008, 5:09 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 25 ม.ค. 2008, 5:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

2. ความทุกข์จากความเจ็บป่วย

อันนี้ก็ค่อนข้างล่วงได้ยาก แต่ถ้ามีความเพียรดี
ก็สามารถจะเอาชนะได้เหมือนกัน


บางคนเกียจคร้าน เอาแต่นั่งๆนอนๆจนป่วย
เรียกว่า ป่วยทั้งทางกายและทางจิต คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ
ทำให้มีความเครียด ร่างกายเจ็บป่วย
อันสืบเนื่องมาจากป่วยทางจิตก่อน
ท่านเรียกในภาษาจิตวิทยาว่า Psychopatic illness
ซึ่งหมายถึง ความทุกข์ที่มาจากโรคทางใจ และมีอาการออกมา
ก็ทำให้ตื่นเต้นง่าย ตกใจง่าย กระวนกระวายไม่มีความสุข ไม่สงบ
ถ้าคนประเภทนี้ใช้ความเพียรไปทางใดทางหนึ่งให้สม่ำเสมอเป็นระบบ
ก็จะหายจากความเจ็บป่วยเหล่านี้ได้ หรือทำให้บรรเทาลงได้

ส่วนคนที่ป่วยทางกายจริงๆ โดยไม่เกี่ยวกับทางจิตเลยนั้น
ถ้ามีความเพียร ก็มีความบากบั่นมั่นคงในการรักษาตัว
ให้แพทย์ช่วยดูแลบ้าง ช่วยตัวเองให้มาก ช่วยตัวเองให้ดี
ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารและยา
เว้นของแสลงแก่โรค บริโภคแต่ของที่เป็นสัปปายะ
คือ สิ่งที่เหมาะสมแก่โรคแล้ว
ต่อไปอาจไม่ต้องไปหาหมอหรือหาแต่น้อย
แต่ต้องยอมรับความจริงว่า เราเป็นโรคอะไรอยู่
แม้จะไม่บอกกับคนอื่น แต่ต้องยอมรับกับตัวเองว่าเราเป็นโรคอะไร

และต้องยอมรับความจริงว่าโรคบางอย่าง มันรักษาไม่หาย
เพียงแต่คุมไว้ได้เท่านั้น ต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต
ทำใจให้สบาย เป็นเพื่อนกันไป ตายไปด้วยกัน
แล้วก็ไม่เป็นไรเพราะว่า เรายอมรับมันแล้ว

คนป่วยต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งสักหน่อย และควบคุมตัวเองให้ได้
ดูแลตัวเองให้ได้ ยอมรับความจริง ไม่ใช่ไปกินยาบางอย่าง
โรคมันทุเลาลงไป ก็คิดว่า หายแล้ว
อยู่อย่างคนไม่มีโรคอย่างนี้ก็ไม่ได้
ต้องยอมรับว่า มันเพียงทุเลา มันรักษาไม่หาย
เราต้องระวังดูแลต่อไป ต้องยอมรับความจริง


ความทุกข์จากความเจ็บป่วยเช่นนี้
ล่วงพ้นได้ด้วยความเพียรเหมือนกัน
มีความเพียรที่จะรักษาโรคสม่ำเสมอ
ไม่ประมาทโรค แต่ก็ไม่กลัวมันเกินไป

มาถึงเรื่องความทุกข์ในสังสารวัฏ ความทุกข์ในอบายภูมิ
นี่ก็เป็นความทุกข์ใหญ่เหมือนกัน
ความทุกข์ในอบายภูมิต้องเกิดในนรก
ในภพของเปรต อสุรกายหรือสัตว์เดรัจฉาน
ซึ่งมีบาปเป็นแดนเกิด มีบาปเป็นต้นเหตุ

ผู้ใดที่มีความเพียรพยายามเว้นบาป
เพียรในการบำเพ็ญบุญกุศล มันก็มีช่องทาง
ผู้นั้นก็จะพ้นจากความทุกข์ในอบายภูมิ

แม้แต่ความทุกข์ในโลกมนุษย์นี้ก็จะเบาบาง
คือ จะเป็นคนอีกแบบหนึ่งในโลกมนุษย์
เหมือนกับเป็น มนุสสเทโว เป็นมนุษย์เทวดา
เป็นมนุษย์พรหม ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา,
หรือมนุษย์ที่ต่ำกว่ามนุษย์ที่เรียกว่า มนุสสเนรยิโก มนุษย์นรก,
มนุสสตีรจฺฉาโน มนุษย์เดรัจฉาน,
มนุสสเปโต มนุษย์เปรต ไม่ใช่อย่างนั้น
และก็พ้นจากมนุสสมนุสฺโส ขึ้นไปอีก
พ้นจากมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ เป็นอภิมนุษย์ เป็น superman
ในทางที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ด้วยคุณงามความดี
มนุษย์เหนือมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา

ถ้าถึงขั้นที่ก้าวเข้าสู่อริยภูมิ ตั้งแต่โสดาปัตติผลขึ้นไปแล้ว
ก็จะยิ่งสบายใหญ่ เรียกว่า ปิดอบายภูมิ 4 ได้หมดปิดสนิท
พากเพียรต่อไปจนถึงอรหัตผล
ทุกข์ในสังสารวัฏอันยืดเยื้อยาวนานก็เป็นอันสิ้นสุดลง

ความทุกข์ในสังสารวัฏ ความทุกข์ในอบายภูมิ
ก็ล่วงได้ด้วยความเพียรเหมือนกัน

ขอสรุปในเรื่องนี้ว่า ขอให้เราใช้ความเพียรให้เต็มที่
ความสามารถของมนุษย์เรานี่มีมาก
สมองก็มีความสามารถมาก พลังของมนุษย์ก็มีมาก
แต่ส่วนมากเราใช้สิ่งที่เรามีอยู่ ไม่มากเท่าที่มันมีอยู่
สมมุติว่าเรามีพลังความเพียร 90 แต่เราใช้มันจริงๆถึง 30 หรือเปล่า
ส่วนมากไม่ถึง แล้วก็มาคิดว่าเราไม่สามารถ โดยที่ยังไม่ได้ลองทำ

พอคิดว่าเราไม่สามารถ ความเพียรพยายาม ความคิดที่จะทำ
ความคิดที่จะต่อสู้ มันก็จะไม่มี
ก็ดูเสมือนเป็นผู้ที่ไร้ความสามารถ เพราะขาดความเพียร


ปโยคสมบัตินี่สำคัญมากเลยในเรื่องสมบัติ 4
คือ คติสมบัติ ได้กำเนิดดี ได้ร่างกายดี ได้กาลเวลาดี
ถึงจะได้ 3 อย่างดี แต่ถ้าขาดความเพียรที่เพียงพอ
แล้วสิ่งเหล่านั้นก็อำนวยประโยชน์ให้น้อยกว่าที่มันมี

แต่คนที่ขาดสิ่งเหล่านั้น ขาดทั้งคติสมบัติ ขาดทั้งกาลสมบัติ
ขาดทั้งร่างกาย ก็ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่
แต่ว่ามีความเพียรมาก เขาก็จะได้
และเขาจะก้าวหน้ากว่าคนที่มีสมบัติ 3 อย่าง
แต่ขาดสมบัติที่ 4 คือ ปโยคสมบัติ

เพราะฉะนั้น ความเพียรนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
ต้องใจเย็น และรอคอยได้


ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 25 ม.ค. 2008, 5:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรม

กรรมในอดีตสร้างเรามาก็จริง แต่ผู้ที่มีความรู้เรื่องชีวิตดี
ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้ดีขึ้นได้
ด้วยการสร้างกรรมใหม่ให้ดี
เปรียบไปก็เหมือนเราเข้าอยู่อาศัยในบ้าน ซึ่งเขาสร้างไว้แล้ว
แต่ถ้าเรามีความรู้เรื่องการก่อสร้าง
เราก็จะสามารถดัดแปลงแก้ไขส่วนบกพร่องให้ดีขึ้น
ตามความต้องการของเรา ให้เหมาะสมกับกิจการของเรา
แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในการก่อสร้าง
หรือสามารถให้ช่างมาดัดแปลงได้ ก็ต้องทนอยู่ไปอย่างนั้น

เรื่องของชีวิตก็เหมือนกัน แม้ว่ากรรมในอดีตจะสร้างเรามาบ้างแล้ว
ก็ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องชีวิต
ไม่ควรท้อถอย บางคนก็โยนไปให้กรรมในอดีตเสียหมด
หรือว่าเชื่อดวงเชื่อโชคชะตา แล้วแต่ชะตาชีวิตจะให้เป็นไป

ที่จริงชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่เราสร้างเอง
ไม่ใช่ชะตาชีวิตสร้างคน แต่คนเป็นผู้สร้างชะตาชีวิต
ชะตาชีวิตจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็แล้วแต่เราจะสร้าง
กรอบในอดีตนั้นมีส่วนอยู่บ้างก็จริง
แต่ว่าเหตุในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
การตั้งตนไว้ชอบ ความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน
ในการประกอบคุณงามความดี
รู้จักเข้าหาคนดี คบหาสมาคมกับคนดี
สิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญยิ่งกว่ากรรมในอดีตเป็นอันมากเลยทีเดียว

ท่านลองดูเรื่องนี้อีกสักเรื่องหนึ่งก็ได้
ผมบันทึกเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2534
เป็นข่าวทางวิทยุบันทึกเอาไว้ว่า

คนชาวหรรษา แถบเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย
มีอายุยืนโดยเฉลี่ยถึง 140 ปี
มันเกินอายุกัปป์ของคนในสมัยพุทธกาลเสียอีก
ในสมัยพุทธกาล ท่านให้อายุคนอายุกัปป์ 120 ปี
พระอานนท์ พระมหากัสสป ผู้มีอายุยืนก็อายุ 120 ปี
พระพุทธเจ้าไม่ถึง แค่ 80 ปี

ฉะนั้น อายุของคนชาวหรรษานี่
ใน 100 คนมีอายุยืน 140 ปีถึง 60 คน เท่ากับ 60%
ทั้งนี้ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ

กินอาหารธรรมชาติที่ปลูกเอง
ไม่มีสารพิษในพืชผัก กินปลาเป็นส่วนใหญ่
ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์อย่างอื่น ปลาก็เป็นอาหารดี

หันมาดูคนไทย โดยเฉลี่ยในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 65 ปี
ทั้งๆที่การแพทย์ การสาธารณสุขเจริญกว่าชาวหรรษา
และน่าแปลกที่ว่าอายุยืนถึง 100 ปีเศษ
มีเพียง 16 คนในจำนวน 57 ล้านคน (เมื่อ พ.ศ. 2534)
จำนวนนี้เป็นคนภาคอีสาน 50%
ภาคที่เราพูดกันว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง
อดอยากหรือค่อนข้างฝืดเคือง
แต่คนกลับมีอายุยืนถึง 50%
ภาคใต้และภาคเหนือ ภาคละ 25%
ภาคกลางไม่มีเลย
โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า เจริญรุดหน้า ทุกอย่าง

ท่านจะเห็นว่า เหตุที่ทำให้อายุยืนเป็นเหตุของปัจจุบัน เป็นส่วนมาก
พวกเราแทบทุกคนก็คงเคยได้ยินที่เทศน์กัน
สอนกันเสมอในเรื่องว่า ที่อายุสั้น เพราะกรรมในอดีตไม่ดี
อายุยืน เพราะกรรมในอดีตดีก็เอาเถอะ ไม่เถียงละครับ
แต่ว่าอย่าละเลยการกระทำในปัจจุบัน
เพราะการกระทำในปัจจุบันนี้
มีความสำคัญมากกว่าเรื่องในอดีตเป็นอันมาก
อย่าโยนไปให้กรรมในอดีตเสียหมด จะทำให้ขาดกำลังใจ
หรือขาดการกระทำที่เหมาะที่ควรในปัจจุบัน


ลองดูที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้
เรื่องเหตุที่ทำให้อายุสั้น อายุยืน
เป็นเหตุในปัจจุบันทั้งนั้นเลย 5 อย่าง
นี่เป็นข้อความจากพระไตรปิฎก
อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม 22 หน้า 163 ข้อ 166

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้อายุสั้น 5 อย่าง คือ

1. ชอบทำในสิ่งที่แสลงแก่ตน เรียกว่า อสัปปายะการี
ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะ กินของแสลง ได้อากาศที่แสลง
ทำอะไรที่มันไม่ถูกกับสุขภาพ เป็นสิ่งแวดล้อมไม่ดี ทำให้อายุสั้น

2. ไม่ประมาณในสิ่งที่ไม่แสลง เช่น อาหาร
แม้จะไม่แสลงกินได้ แต่ไม่รู้จักประมาณในการกิน
ไปไหนก็ไปได้ เที่ยวได้แต่ก็ไม่รู้จักประมาณในการเที่ยว
อย่างนี้ก็ทำให้อายุสั้นเหมือนกัน

3. ชอบบริโภคอาหารที่ย่อยยาก
ทำให้ร่างกายต้องใช้กำลังมากเป็นพิเศษ

4. เที่ยวไปรู้จักกาล อกาลจารี ไม่รู้จักกาลเวลา
ไม่ได้หลับได้นอน
เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อายุสั้นเหมือนกัน

5. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
สังเกตดูผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์
จะอายุยืนมากกว่าผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
อย่างพระโดยเฉลี่ยแล้วอายุจะยืน เพราะว่า ประพฤติพรหมจรรย์
และถ้าไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ก็รู้จักประมาณในการประพฤติ
ในการใช้ชีวิตเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เป็นพรหมจรรย์

ทั้ง 5 ข้อ เป็นเหตุปัจจุบันทั้งนั้นเลย
เหตุที่ทำให้อายุยืนก็ทำตรงกันข้าม คือ ชอบทำสิ่งที่เหมาะสม
คือ ไม่แสลงแก่ตน รู้จักประมาณในสิ่งที่ไม่แสลง
บริโภคอาหารที่ย่อยง่าย รู้จักกาลเวลาในการเที่ยวไป
และประพฤติพรหมจรรย์ตามสมควร


นี่ก็เป็นข้อคิดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเรื่องกรรม
คือ การกระทำของคนเราแต่ละคน
ซึ่งเรามีสิทธิ์ในชีวิต จะทำอย่างไรกับชีวิตของเราได้
เราจะหมุนชีวิตไปทางใด หรือว่าต้องการให้ชีวิตเป็นอย่างไร
เราก็หันเหเข็มของชีวิตไปทางนั้น แล้วก็จะได้

พูดถึงเรื่องนี้ แล้วก็ขอพูดต่อมาถึงเรื่องช่วงของชีวิตช่วงละ 10 ปี
ก็มีช่วงเด็กอ่อน ช่วงวัยคึกคะนอง วัยสวยงาม
วัยมีกำลังสมบูรณ์ วัยมีปัญญา วัยเสื่อม
วัยที่ร่างกายเงื้อมไปข้างหน้า วัยคดงอ วัยหลง วัยนอน เป็นต้น

ท่านใช้คำบาลีว่า มันททสกะ แปลว่า 10 ปีของเด็กอ่อน
กีฬทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยคะนอง
วรรณทสกะ แปลว่า 10 ปีของที่สวยงาม
พลทสกะ แปลว่า 10 ปีของที่มีกำลัง
ปัญญาทสกะ แปลว่า 10 ปีของที่ปัญญาสมบูรณ์
หานิทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยเสื่อม
ปภารทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยที่มีร่างกายเงื้อม
ไปข้างหน้า
วังกทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยคดงอ
โมหทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยหลง
ไสยนทสกะ แปลว่า 10 ปีของวัยนอน

ถ้าพูดเป็นปีก็ตั้งแต่ 1-10 ปี เป็นวัยเด็กอ่อน
11-20 ปี เป็นวัยคึกคะนอง
21-30 ปี เป็นวัยสวยงาม
31-40 ปี เป็นวัยที่มีกำลังสมบูรณ์
41-50 ปี เป็นวัยที่มีปัญญาสมบูรณ์
51-60 ปี เป็นวัยเสื่อม
61-70 ปี เป็นวัยที่ร่างกายโน้มไปข้างหน้า เดินไม่ตรง
71-80 ปี เป็นวัยที่ร่างกายงอคดโค้ง
81-90 ปี เป็นวัยหลง กินแล้วว่ายังไม่ได้กิน
91-100 ปี เป็นวัยนอน

แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยที่ดี อย่างชาวหรรษาที่กล่าวแล้ว
100 ปียังขึ้นภูเขาได้ นี่ก็เหตุปัจจัยทำให้เป็นอย่างนั้น
ถ้าเป็นคนทำงานหนัก ชนิดที่ออกแรงมากอย่างชาวนา
เคยเห็นชาวนาหลายหมู่บ้านอายุแค่ 40 ปี ก็แย่แล้วครับ
ดำเกรียม ฟันหักหมดแล้ว

ข้อความในช่วงวัยละ 10 ที่พูดมานี้
ได้นำมาจากอรรถกถาจิตสัมภูตะชาดก อสีตินิบาต อรรถกถาเล่ม 3 ภาค 7 หน้า 48
ฉบับของมหามกุฎราชวิทยาลัย ฉบับภาษาไทย

คัดลอกจาก...คติชีวิต (วศิน อินทสระ)
บ้านเรือนธรรม

http://www.ruendham.com


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง