Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
อิทธิปาฏิหาริย์
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 26 ก.ค. 2007
ตอบ: 14
ที่อยู่ (จังหวัด): 529 คลองสาน กทม. 10600

ตอบตอบเมื่อ: 20 ธ.ค.2007, 11:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
พระครูนิวาสธรรมขันธ์
(หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)


วัดหนองโพ
ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์



๏ ต้นตระกูลของหลวงพ่อเดิม

ต้นตระกูลของ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) เป็นชาวนาอยู่ในหมู่บ้านหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ต้นรากเดิมโยมบิดาของท่านได้ถือกำเนิดที่บ้านเนินมะกอก (อยู่เลยหมู่บ้านหนองโพไปประมาณสองสถานี) ต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับโยมมารดา ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองโพ และย้ายมาประกอบการอาชีพอยู่ที่บ้านหนองโพ โยมบิดาของท่านชื่อ นายเนียม ภู่มณี ส่วนโยมมารดาชื่อ นางภู่ ภู่มณี โยมมารดาของท่านเป็นลูกของนางสีและนายนาค นางสีเป็นลูกของนายเชียงและนางแก้ว ซึ่งนางแก้วเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้หนึ่งในบรรดาบรรพบุรุษ ๗ ครัวเรือนที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านหนองโพ ในระยะที่โยมบิดา-มารดาของท่านประกอบอาชีพอยู่นั้น ตรงกับสมัย “หลวงตาชม” เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ


๏ หลวงพ่อเดิมถือกำเนิด

ในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ วันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๐๓ ฟ้าก็ได้ส่งให้หลวงพ่อมาจุติในโลกมนุษย์เพื่อยังความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พุทธศาสนิกชนคู่วัดหนองโพ และจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อท่านถือกำเนิดมาเป็นลูกผู้ชายคนแรกของตระกูล ย่อมเป็นที่ยินดีปรีดาของโยมบิดา-มารดาเป็นยิ่ง จึงขนานนามท่านว่า “เดิม” สำหรับนามของท่านนี้มีนัยสันนิษฐานได้สองทางซึ่งจะยกมากล่าวได้คือ

(ก) ประการแรก ด้วยท่านเป็นบุตรชายคนหัวปีของโยมบิดา-มารดาสมใจที่ตั้งไว้ จึงมีจิตนิยมยกย่องว่า เป็นประเดิม แต่ครั้นจะตั้งชื่อว่า “ประเดิม” ก็จะยาวไป จึงตั้งเสียว่า “เดิม” ซึ่งชาวบ้านเชื่อประการนี้มากที่สุด

(ข) ประการที่สอง มีเรื่องเล่ากันว่าท่านเคยเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง เป็นบุตรชายของโยมบิดา-มารดาท่าน แต่หากเสียชีวิตเสียแต่เมื่อยังเด็ก โยมบิดา-มารดาเสียใจมาก ก่อนจะนำไปฝังได้นำเอามีดมากรีดที่ฝ่าเท้าไว้เป็นตำหนิ เพื่อว่าถ้ากลับมาเกิดอีกจะได้จำได้ ซึ่งเมื่อเกิดมาก็มีรอยอย่างนี้จริงๆ สำหรับประการหลังนี้ขัดข้อเท็จจริง เพราะบิดามารดานั้นรักบุตรและธิดามากแม้เมื่อมีชีวิตอยู่และตายแล้ว ดังนั้น การจะเอามีดคมๆ มากรีดมาเฉือนเท้าของลูกนั้นเป็นไปได้ยาก และคำเล่าลืออันนี้คงจะเป็นเพราะรอยเท้าของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นได้ เลยกลายเป็นเรื่องเล่าให้เขวไปอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นได้


๏ พี่น้องร่วมท้องของหลวงพ่อเดิม

หลวงพ่อมีพี่น้องร่วมท้องดังลำดับได้คือ

๑. หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร
๒. นางทองคำ คงหาญ
๓. นางพู ทองหนุน
๔. นายดวน ภู่มณี
๕. นางพันธ์ จันทร์เจริญ
๖. นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น


๏ ชีวิตเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิม

เนื่องจากหลวงพ่อเดิมเกิดในตระกูลชาวนา เมื่อเยาว์วัยท่านก็ได้รับการนำเข้าไปหาพระหาวัด โดยการศึกษาของชาวนาหนองโพในตอนนั้นมีศูนย์กลางคือ วัดหนองโพ เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกของตัวมีความรู้ก็นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายเจ้าอาวาส น้อมถวายบุตรแห่งตนเข้าเรียนในสำนักโดยกล่าวคำปวารณาว่า “ขอฝากลูกของกระผมหรือดิฉันไว้ในปกครองดูแล จะดุด่าว่าตี สั่งสอนอย่างไร ก็แล้วแต่ขรัวเจ้าจะเห็นสมควร” ระยะที่จะนำบุตรมาฝากวัดก็อยู่ในฤดูแล้ง คือระหว่างเดือน ๙ เดือน ๑๐ และเดือน ๑๑ เพราะว่าระยะนั้นว่างจากงานไร่นา เด็กจะได้ไม่เอาเวลาว่างไปเที่ยวเกะกะเกเรเข้าพวกพ้อง

การศึกษาในสมัยนั้นจากบันทึกกล่าวไว้ว่า กระดานชะนวนหายาก พ่อแม่จึงหาไม้กระดานใสให้เรียบแล้วทำกรอบให้ถือถนัดมือ ลมไฟให้ดำ แล้วเอาเขม่าดินหม้อทาให้ดำ และใช้ดินสอพองอย่างชนิดผสมคล้ายๆ ชอล์คในปัจจุบัน เขียนลงไป เมื่อเวลาพระให้เขียนแล้วอ่าน เมื่อเขียนเต็มแล้วก็เอาน้ำลายลบเวลาลบถ้าสีดำที่ทาไว้ลอก ก็ต้องหาดินหม้อผสมกันแล้วทาทับตากให้แห้งจึงนำเอามาเขียนต่อ การเรียนเขียนอ่านมักจะทำเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีพระบ้าง ฆราวาสบ้าง ช่วยกันสอนให้เขียนอ่าน

ตกเย็นถึงกลางคืนหลังจากกลับบ้านไปกินข้าวกินปลาแล้ว พระทำวัตรเย็นเสร็จก็พากันมาวัดต่อการเรียนกับพระที่วัด สิ่งที่สอนกลางคืนก็คือ การสวดมนต์บทต่างๆ อันเป็นพระพุทธมนต์ เช่น พระอิติปิโสถวายพรพระ และพระคาถาต่างๆ วิธีการเรียนก็คือเข้าไปหาพระตามกุฎิแล้วขอเรียน โดยท่านจะสอนให้วันละท่อนสองท่อนแล้วแต่สติปัญญาของเด็กแต่ละคน ใครหน่วนก้านดีก็ต่อมากหน่อย ใครท่าทางปัญญาทึบก็สอนน้อยหน่อย ท่องต่อหน้าท่านแล้วก็กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็มาใหม่เมื่อได้เวลาก็มาหาท่านแล้วท่องตอนที่สอนให้ไปท่องให้คล่องไม่ผิดอักขระวิธีแล้ว ก็ต่อท่อนต่อไปให้ ถ้าท่องไม่ได้ก็ต้องท่องให้ได้ หรือไม่ก็ต้องกินไม้เรียวแทน เรียกว่าใครไม่เอาใจใส่ก็มีแนวโน้มไม้เรียวไปอวดพ่อแม่แน่ แต่สิ่งที่ดีก็คือจะได้รับการอบรมจากพระให้มีจิตใจสะอาด ไม่ข่มเหงใคร ให้รู้จักศีล รู้จักธรรม บางครั้งท่านก็เล่านิทานธรรมะให้ฟัง เช่น เรื่องในนิทานชาดกต่างๆ สนุกสนานจนลืมนอนก็มี

การสอนนั้นพระบางองค์ก็ใจดี เด็กๆ ชอบเรียน บางองค์ก็ดุเพราะวิชาอาคมแข็งเรียกว่าร้อนวิชา เด็กก็มักจะกลัว แต่พ่อแม่ชอบว่าพระดุดี กำหราบจอมแก่นแทนพ่อแม่ได้ และมักจะสอนดี มีคนมาฝากลูกหลานเข้าเรียนกันมากจนรับไม่ไหว การสอนหนังสือไทยสอนจนอ่านออกเขียนได้ตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต จึงให้หัดหนังสือขอม (หนังสือใหญ่) คือ หัดเขียน-หัดอ่านหนังสือขอม อันเป็นภาษาที่จารึกพระเวทย์วิทยาดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ท่องสูตร สนธิ การเรียกนาม-เรียกสูตร มูลกัจจาย์เป็นช่วงๆ ไป

พอถึงหน้าทำนาทำไร่ คือ เดือน ๖ เป็นต้นไป ก็เรียกลูกกลับจากวัดมาช่วยงานในไร่ในนา เพราะลูกชายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานตั้งแต่ตัวเล็กๆ เพราะพ่อแม่ก็ต้องทำมาหากินควบไปด้วย เรียกว่าช่วยกันทำช่วยกันกิน เป็นอยู่อย่างนี้ทำให้การศึกษาไม่ติดต่อเหมือนปัจจุบันนี้ เรียนบ้างหยุดบ้าง พอจะเรียนได้ก็ลืมเสีย กลับมาเรียนใหม่ก็ต้องเริ่มใหม่ เรียกว่ายากลำบากเหลือเกินในการหาความรู้ บางคนเรียนมาถึงอายุ ๑๕-๑๖ ปี พ่อแม่ก็ให้บวชเณรเป็นระยะเพื่อเรียนวิชา ที่บวชแล้วเรียนเรื่อยไปถึงบวชพระก็มี

เมื่อได้บวชเป็นพระในวัด ก็แบ่งออกเป็นสองแผนก คือ พระองค์ไหนบวชใหม่แล้วมีปัญญาดีชอบทางอักษรศาสตร์ ก็จะเล่าเรียนบาลี การแปรพระธรรมบท อักขระเลขยันต์ คาถาอาคม ตลอดจนการปลุกเสก วิปัสสนากรรมฐาน พระเวทย์วิทยามนต์ การแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น เรียกว่าเรียนเพื่อเป็นพระอาจารย์เขา มีทั้งลบผง เสกผง และอุปเทห์ต่างๆ ตามคำภีร์โบราณ ซึ่งการเรียนอย่างนี้ส่งผลให้เกิดพระอาจารย์เจ้าสำนักที่มีอาคมขลังมามากต่อมากแล้ว ประเภทนี้โดยมากบวชแล้วไม่ยอมสึกตลอดชีวิต

อีกแผนกหนึ่งบวชแล้วปัญญาไม่ดีหรือไม่ประสงค์จะเรียนทางวิชาอักษรศาสตร์ ก็เรียนทางการช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างปั้น การช่างฝีมือสารพัด เป็นต้น เรียกว่าเมื่อครบพรรษาแล้ว สึกออกมาก็มีความรู้ติดตัวออกมาประกอบอาชีพได้สารพัด ประเภทหลังนี้มักจะบวชชั่วคราวเพียงพรรษาเดียวหรือสองพรรษา แล้วก็สึกไปทำมาหากิน ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น คือ การให้ศึกษาของวัดหนองโพต่อบุตรหลานของบ้านหนองโพ แต่หลวงพ่อเดิมมิได้ไปศึกษาดังเช่นเขาอื่นเพราะเป็นบุตรคนหัวปีของโยมบิดา-มารดา จึงไม่ค่อยจะได้เข้าวัดเรียนหนังสือ อาจจะเรียนบ้าง แต่เนื่องจากความลำบากในการเรียนที่กล่าวมาแล้ว หลวงพ่อเลยไม่ยอมเข้าเรียนก็เป็นได้


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 24 ต.ค.2010, 12:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)


๏ ชีวิตในวัยรุ่นของหลวงพ่อเดิม

เมื่อกล่าวถึงชีวิตในเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิมแล้ว ก็จะขอว่าถึงชีวิตในวัยรุ่นของหลวงพ่อดังปรากฏในบันทึกว่า

๑. ชอบเลี้ยงสัตว์ เมื่อท่านอยู่ในวัยรุ่นท่านชำนาญในเรื่องนกเขามาก เรียกว่าดูลักษณะและฟังเสียงได้คล่อง เข้าใจว่าเรียนมาจากนายพรานดักนกในหมู่บ้าน ท่านชอบดักนก และต่อนกเขามาก มีนกต่อเสียงดีหลายตัว ทำการต่อนกเขามาเลี้ยง มีบางครั้งท่านเห็นใครมีนกดีก็เอาของไปแลกกับเขา ถ้าชอบใจแล้วเป็นไม่บ่น รักสัตว์ทุกชนิดมาแต่รุ่นหนุ่ม จึงติดมาถึงเมื่อบวชแล้วก็รักสัตว์และเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานก็ไปแลกนกเขา เรื่องรักสัตว์นี้ มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ครั้งหนึ่งโยมบิดาได้ซื้อตุ้มหูระย้าให้ข้างหนึ่งให้ใส่หู ท่านได้นำตุ้มหูไปแลกนกเขา ความรู้ไปถึงหูโยมบิดา-มารดา จึงถูกว่ากล่าวเอาบ้าง ท่านก็ลงทุนไปเหลาเพลาเกวียนขายเพื่อรวบรวมเงินมาคืนให้โยมบิดา-มารดาจบครบ ไม่ยอมเสียนกเขา

๒. ลักษณะพิเศษประจำตัว (ผ้าขาวม้าโพกศรีษะ) ปกติหลวงพ่อเดิมเมื่อรุ่นหนุ่มจะไปไหน มักจะเอาผ้าขาวม้าโพกศีรษะอยู่เสมอ เรื่องนี้เล่าว่า โบราณเขาว่าคนผมหยิก หน้ากร้อ คอสั้น ฟันขาว มักจะไม่มีใครคบ แต่หลวงพ่อเดิมเองแม้จะมีผมบนศีรษะหยิก แต่ท่านกลับมีผิวขาว สูงโปร่ง หน้ายาว ศีรษะนูนอันผิดกับตำรา แต่เมื่อท่านมีผมหยิกท่านจึงเอาผ้าขาวม้าโพกเสียเพื่อไม่ให้ถูกล้อเลียน อาจจะเป็นปมด้อย หลวงพ่อเดิมท่านอาจจะคิดไปว่าคนคงจะไม่ชอบ จึงตัดปัญหาเสียด้วยการปิดบังศีรษะ

๓. ไม่มีนิสัยติดโลกีย์ ในวัยหนุ่มสาวนั้นหนุ่มสาวในหมู่บ้านหนองโพมักจะไปร่วมงานต่างๆ เช่น ช่วยบ้านสาวปั่นด้าย ทอผ้า ช่วยทำนา ช่วยทำงานรอบกองไฟในเวลากลางคืน หมายตาสาวๆ ไว้เพื่อเป็นคู่หมั้นคู่หมายต่อๆ ไป เรียกว่า มีโอกาสก็เกี้ยวพาราศีกันตามทำนอง อยู่ในศีลธรรมอันดี ซึ่งสมัยโบราณเขารักษาประเพณีอันดีงามไว้ ผิดกับสมัยนี้มาก แต่ในจำนวนนั้นไม่มีหลวงพ่อเดิมอยู่ด้วย เพราะท่านไม่ชอบ คือ อาจะเป็นกุศลประจำตัวของท่านที่จะได้บวชเรียนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้วท่านอาจจะไม่ได้เป็นหลวงพ่อเดิมให้เราได้พึ่งบารมีก็ได้ ในระหว่างที่หนุ่มสาวเขานั่งคุยกัน ช่วยกันทำงานนั้น หลวงพ่อจะทำบ้างก็คือ มักจะแอบเข้าไปใกล้ๆ แล้วเอาก้อนดินบ้าง คันยิงกระสุนบ้าง หรือท่อนไม้บ้าง มาปาใส่กองไฟ เพื่อให้เขาตกใจเอะอะกันพอเขาวุ่นวายท่านก็ชอบใจแอบไปหัวเราะคนเดียวใครๆ เขาก็รู้ว่าเป็นฝีมือท่านเขาก็ให้อภัย เพราะรู้ว่าท่านชอบสนุกและไม่มีเจตนาจะทำให้ใครแตกกับใครหรือหันมารักท่าน

๔. ไม่เคยศึกษามาก่อนเลยในวัยรุ่น เป็นการแน่นอนว่าเมื่อท่านยังอยู่ในวัยรุ่นนั้น ท่านมิได้เล่าเรียนมาก่อนเลย แต่หากเรียนทีหลังทั้งนั้น (เมื่อบวชแล้ว) ท่านศึกษาเอาจากประสบการณ์ทั้งทางด้านช่างด้านการเลี้ยงสัตว์ ด้านการทำของต่างๆ ที่จำเป็น เรียกว่าแม้จะไม่เรียนหนังสือแต่ก็หาประสบการณ์เอาไว้หลายด้าน

สรุปแล้วหลวงพ่อเดิมท่านออกจะแปลกกว่าคนอื่นในรุ่นเดียวกัน คือ ไม่ติดในกิเลสความรักของหนุ่มสาวในวัยอันสมควร ไม่ยินดียินร้าย จึงเป็นสาเหตุให้ท่านบวชได้นานจนตลอดชีวิต โดยมิได้เคยมีความรักหรือรู้จักความรักมาก่อนเลยในชีวิต เรียกว่าบริสุทธิ์ผุดผ่องมาก่อนจะเข้าอุปสมบท มีบุญเก่ามาเกื้อหนุนให้ท่านได้ดำเนินตามรอยพระพุทธบาทจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน


๏ สู่ความเป็นพระพุทธบุตร

เมื่อท่านอายุครบบวชแล้ว โยมบิดา-มารดาได้สอบถามความสมัครใจของท่านในการจะอุปสมบท ท่านไม่ขัดข้อง โยมบิดา-มารดาจึงจัดเตรียมอัฐบริขารการอุปสมบทเข้าเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา

ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยมี

(๑) หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน)
ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์
(๒) หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง
ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระคู่สวด
(๓) หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล
ต.สระทะเล อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระคู่สวด

ได้รับนามฉายาว่า “พุทฺธสโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า”


ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามทางที่พระนวกะจะพึงได้รับ


๏ ความยิ่งยงแห่งพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด

๑. หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเถระที่มีความคงขลังเป็นที่เคารพนับถือของชาว จ.นครสวรรค์ เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาการ วิปัสสนากรรมฐาน อิทธิปฏิหารย์มากมาย หลวงพ่อเดิมไปศึกษากับหลวงพ่อแก้วหลายอย่าง (โดยเฉพาะ วิชานะปัดตลอดหรือคาถากันระเบิด)

๒. หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ในขณะนั้นท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นผู้มีความยิ่งยงในพุทธาคมเป็นอันมาก โดยเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งของ หลวงพ่อเฒ่า (รอด) วัดหนองโพ เชี่ยวชาญทางด้านอาคม ด้านวิปัสสนากรรมฐาน มีวิชาที่ยอดเยี่ยมเป็นเอก คือ น้ำมนต์มหาจินดามณีสารพัดนึก ใครได้รดน้ำมนต์จากท่านแล้วจะมีโชคชัย เคราะห์ร้ายกลายเป็นดี ปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ เมื่อคราว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทรงแวะที่วัดพระปรางค์เหลืองและโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวาย ดังมีพระราชหัตถ์จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๔๙

๓. หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระเถระที่เป็นอมตะ อาคมขลัง วาจาสิทธิ์เป็นที่ยำเกรง เชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน น้ำมนต์ ตลอดจนมหาอุตม์ ไม่เคยออกของมงคลเป็นรูปท่านนอกจากพระเครื่องบ้างเป็นครั้งคราว ว่ากันว่าเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว รูปหล่อก็ถ่ายรูปไม่ติด และมีการแห่รูปของท่านไปดูงิ้วในงานประจำปีของ จ.นครสวรรค์เป็นประจำ มีเรื่องเล่าว่า ทางกรรมการวัดทำเหรียญของท่านไปให้หลวงพ่อเดิมปลุกเสกเพื่อให้เกิดความขลัง เอาใส่ห่อผ้าขาววางไว้บนพานนำไปถวาย หลวงพ่อเดิมรับมาแล้วไม่ได้แก้ห่อออก ยกขึ้นเหนือศีรษะของท่านแล้วส่งคืน พร้อมกำชับว่า “ของดีแล้วไม่ต้องปลุกเสก ดีอยู่ที่ตัว” ทั้งๆ ที่กรรมการวัดไม่ได้บอกท่านเลยว่าเป็นของหลวงพ่อเทศ กรรมการวัดไม่เชื่อเอากลับไปลองยิง ปรากฏว่าปืนด้านหมด

Image
พระมหาธาตุเจดีย์และพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม
ณ วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์


Image
ศาลาอนุสรณ์หลวงพ่อเดิม
ณ วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ที่มาของทั้ง ๒ รูปภาพ : http://www.thaipixstories.com/



(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 ต.ค.2010, 6:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)


๏ การศึกษาหาความรู้ของหลวงพ่อเดิม

ดังได้กล่าวไว้แต่ต้นไว้แล้วว่า ตั้งแต่วัยเด็กมาจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม หลวงพ่อเดิมมิเคยได้รับการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อนจนกระทั่งได้บวชเรียน ครั้นได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ท่านจึงมาเรียนเป็นล่ำเป็นสัน ท่านมีความมานะพยายามเล่าเรียนศึกษาดังได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า

๑. เล่าเรียนคัมภีร์พระธรรมวินัย และท่องคัมภีร์พระธรรมวินัย ๑๐ ผูก อันเป็นหลักสำคัญของพระนวกะในสมัยนั้นจะต้องเรียน เป็นรากฐานการศึกษาต่อไปในการเป็นนักเทศนา แตกฉานในภาษาบาลีอันเป็นแกนไปสู่การกระทำวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการนี้กับ หลวงตาชม เจ้าอาวาสวัดหนองโพ (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อเฒ่า (รอด) หลวงตาชมชื่นชอบความมานะพยายามของหลวงพ่อเดิมมาก จึงได้ทุ่มเทพลังการอบรมวิชาความรู้ที่มีอยู่ให้หลวงพ่อเดิมอย่างหมดไส้หมดพุง อีกทั้งยังแนะนำสถานศึกษาให้ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย รวมเวลาเรียน ๗ พรรษานับแต่บวชพรรษาแรก

๒. เล่าเรียนพระปริยัติธรรม และคาถาอาคมเบื้องต้น นอกจากจะศึกษากับหลวงตาชมแล้ว หลวงพ่อเดิมยังได้ไปมอบตัวเป็นศิษย์ของ อาจารย์พันธ์ ชูพันธ์ ซึ่งเป็นฆราวาสและเป็นลูกศิษย์สายตรงของหลวงพ่อเฒ่า (รอด) ดังกล่าวแล้วเบื้องต้น อาจารย์พันธ์เชี่ยวชาญมากทางพระปริยัติธรรมในสมัยนั้น ในละแวกใกล้เคียงหาตัวจับยาก เมื่อหลวงพ่อเดิมได้รับการศึกษาจากอาจารย์พันธ์ (ฆราวาส) เป็นบันไดก้าวแรก ก็ทำให้หลวงพ่อเดิมแตกฉานยิ่งขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียด้ายว่า เมื่อหลวงพ่อเดิมได้เล่าเรียนได้ไม่นานนัก อาจารย์พันธ์ก็ถึงแก่กรรม หลวงพ่อเดิมจึงคงเล่าเรียนกับหลวงตาชม จนในที่สุดก็ได้รับการแนะนำให้ไปศึกษาเรียนกับครูบาอาจารย์ดังต่อไปนี้

๓. หลวงพ่อมี วัดบ้านบน ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทางด้านพระปริยัติธรรมต่อกับหลวงพ่อมี วัดบ้านบน โดยได้รับการถ่ายทอดจนก้าวหน้าแตกฉานออกไปอีกจนสิ้นความรู้ของหลวงพ่อมี ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านก็ไม่ละความเพียรพยายาม ได้เสาะแสวงหาสำนักเรียนต่อ หลังจากได้ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ๒ พรรษา ท่านก็ได้ย้ายไปศึกษาเล่าเรียนต่อไป

๔. อาจารย์แย้ม (ฆราวาส) วัดสระทะเล ได้เข้าเรียนพระปริยัติธรรมขั้นสูงต่อไปกับอาจารย์แย้ม (ฆราวาส) ซึ่งหลวงพ่อเดิมได้ตั้งอกตั้งใจเรียนจนเข้าใจแจ่มแจ้ง สามารถแปลเข้าสอบเปรียญในสนามหลวงได้ทีเดียว แต่ท่านกลับหลีกเลี่ยงการแปลธรรมในสนามหลวง ท่านเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้นมิได้หวังเปรียญหรือเป็นมหาแต่อย่างใด เมื่อเรียนพระปริยัติธรรมได้สมบูรณ์แล้ว ท่านได้รับคำแนะนำให้ไปเรียนการเทศนาเพื่อเผยแผ่ความรู้ให้แก่ญาติโยมสาธุชน พ่อแม่ พี่ป้า น้าอา ท่านได้ไปศึกษาวิชาการเป็นนักเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง

๕. พระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง ครั้นได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทองแล้ว หลวงพ่อเดิมก็ได้รับการสั่งสอนถึงการเทศน์ การอ่านใบลานเทศน์ และทำนองเทศน์อันเป็นอักขระภาษาบาลีเป็นหลักสำคัญ เนื่องจากท่านมีพื้นฐานความมั่นคงอยู่แล้วทำให้ง่ายแก่การเรียน ท่านเล่าเรียนอย่างเอาใจใส่จนสิ้นความรู้ของพระอาจารย์นุ่ม ต่อมาท่านจึงเดินทางกลับสู่วัดหนองโพตามเดิม

๖. หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เมื่อหลวงพ่อเดิมเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ต่อมาก็ได้ไปศึกษาหาความรู้ทางวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ซึ่งเป็นพระคู่สวดของท่าน หลวงพ่อเดิมได้รับการถ่ายทอดวิชาการทางวิปัสสนาคาถาอาคม การปลุกเสกเครื่องรางของขลังตามที่หลวงพ่อเทศถนัดทุกประการ จะเรียนอะไรบ้างนั้นหลวงพ่อเดิมไม่ได้บอกไว้โดยละเอียด คงรู้แต่เพียงว่าท่านเรียนกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล

๗. หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง หลวงพ่อเดิมได้ไปศึกษาหาความรู้ทางวิปัสสนากรรมฐานและการเจริญกสิณกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง และที่แน่นอนก็ได้ศึกษาวิชา “น้ำมนต์จินดามณีสารพันนึก” ด้วย เพราะน้ำมนต์ของหลวงพ่อเดิมต่อมามีความคล้ายคลึงกับของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง

๘. หลวงพ่อวัดเขาหน่อ ต.ชนแดน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ไม่ทราบชื่อหลวงพ่อแน่นอนแต่ท่านได้ศึกษาวิชาด้วย ส่วนจะเป็นวิชาใดนั้นไม่ปรากฏชัดแน่นอน เพียงแต่หลวงพ่อเดิมท่านพูดถึงอยู่เสมอ

๙. หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ได้ทราบมาจากบางแหล่งว่า ท่านได้ไปเรียนวิชามีดหมอกับหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เพราะต่อมาหลวงพ่อเดิมมีความชำนาญในเรื่องมีดหมอและมีชื่อเสียงมาก พอท่านเรียนสำเร็จหลวงพ่อขำก็มรณภาพขาดทายาทสืบต่อไประยะหนึ่ง ต่อมา หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว จึงตามมาเรียนกับหลวงพ่อเดิม แล้วกลับไปทำมีดหมอที่วัดเขาแก้ว

การศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ ของหลวงพ่อเดิม นับแต่พระปริยัติธรรม คาถาอาคม วิปัสสนากรรมฐาน และการทำของขลัง สรุปรวมแล้วกินเวลาถึง ๑๒ ปีนับแต่บวชมา ทำให้ท่านมีความรู้มากมาย เป็นที่เคารพรักของชาวหนองโพทุกคน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่มักจะคิดกันว่า “หลวงพ่อเฒ่า (รอด) กลับชาติมาเกิดเพื่อดูแลวัดของท่าน”

Image
มีดหมอของหลวงพ่อเดิม ที่มา : http://www.watkositaram.com/

Image
มีดหมอของหลวงพ่อเดิม ที่มา : http://www.easyamulet.com/

Image
ผ้ายันต์รอยเท้าของหลวงพ่อเดิม ที่มา : http://www.thaprachan.com/


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 ต.ค.2010, 6:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)


๏ ปฏิปทาวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเดิม

เมื่อได้กล่าวถึงการศึกษาเล่าเรียนของหลวงพ่อเดิมแล้ว จะได้กล่าวถึงปฏิปทาวัตรปฏิบัติขององค์ท่านต่อไปอีก เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพพจน์ของหลวงพ่อเดิมได้ถนัดยิ่งขึ้น

หลวงพ่อเดิม ท่านเป็นพระภิกษุที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างขาว ศีรษะของท่านยาวและเป็นสง่า ไม่ว่าท่านจะนั่ง ยืน เดิน ดูแล้วน่าเลื่อมใส เจรจาพาทีมีแต่คำหวานหู ไม่แช่งด่าใคร เมตตาปราณี แววตาของท่านฉายแววสันติและเปี่ยมด้วยความกรุณาต่อสัตว์ผู้ยากทุกตัวตน ลักษณะพิเศษของท่าน คือ นั่งยืดตัว ลำตัวตรง ไม่ค้อมเอียงไปด้านใดหรือหลังค่อม ยิ้มแย้มแจ่มใส่เป็นนิจ ไม่เคยเห็นท่านหน้าบึ้งเลยแม้ว่าจะมีอารมณ์โกรธ ขอให้ดูภาพถ่ายของท่านประกอบ ต่อไปจะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่าน ดังนี้

(ก) มานะ อดทน พากเพียร เรื่องนี้จะเห็นได้จากการเล่าเรียนของท่านในพรรษาต้นๆ ดังที่ท่านผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวมาแล้ว ว่าหลวงพ่อเดิมไม่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก่อนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พึ่งจะเริ่มเรียนเอาเมื่อบวช คนที่ไม่มีรากฐานมาก่อนเลยตั้งแต่เด็ก แม้แต่เณรก็มิได้บวชเพื่อเล่าเรียนเสียก่อน ท่านจึงใช้ความวิริยะ อุตสาหะ พากเพียรมาก เมื่อเรียนพระคัมภีร์กับหลวงตาชม วัดหนองโพ และเรียนพระปริยัติธรรมกับอาจารย์พันธ์ ชูพันธ์ (ฆราวาส) ท่านหมั่นท่องจำตามคำสอนของอาจารย์ผู้สอน หนักเอาเบาสู้ ไม่ให้เป็นที่อิดหนาระอาใจต่ออาจารย์ผู้สอน สอนอะไรก็จดจำเอาไว้ คิดไปค้นไป ไม่เข้าใจก็ถาม ถามแล้วก็ไม่ถามอีก พยายามจดจำ ซึ่งท่านเคยพูดให้ลูกหลานของท่านฟังว่า “ท่านมีนิสัยทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จเป็นไม่ละ คิดอะไรไม่ได้ก็ต้องคิดไปจนคิดได้ เห็นอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ความก็คิดค้นดัดแปลงแก้ไขไปจนกระทั่งสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง” ซึ่งความอดทนของหลวงพ่อเดิมทำให้ท่านได้รับความรู้ความชำนาญจากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งถ้าท่านไม่มีความอดทนแล้ว ท่านคงจะเลิกเรียนกลางคันเป็นแน่ หลักฐานพิสูจน์ความมานะพยายามของท่าน ก็คือ ระยะเวลา ๗ ปีแห่งความพากเพียรเรียนหนังสือของท่าน

(ข) เป็นพระธรรมกถึกเอก เมื่อท่านได้เล่าเรียนมา ๗ พรรษากระทั่งมีความชำนาญในพระธรรมวินัย จึงเริ่มเป็นนักเทศน์ ทั้งเทศน์เดี่ยวและปุจฉาวิสัชนา ฝีปากของท่านในการเทศน์ว่ากันว่าเป็นเยี่ยม ไปเทศน์ที่ใดญาติโยมมาฟังกันแน่น ทั้งเข้าใจง่ายทั้งสนุกไม่ชวนเบื่อ เนื่องจากหลวงพ่อเดิมท่านมีพระอาจารย์ดี ไม่ว่าจะเป็นเทศน์มหาชาติ เทศน์ชาดก หรืออะไรก็ตาม ท่านได้รับนิมนต์ไม่ว่างเว้น พอกลับมาถึงวัดเจ้าภาพก็มาคอยอยู่แล้ว ถวายของเพื่อให้รับนิมนต์ เรียกว่าไม่ได้อยู่ติดวัด ใครๆ ก็อยากฟังหลวงพ่อเดิมเทศน์ หาพระธรรมกถึกมาเทียบท่านได้ยากในสมัยนั้น ท่านเทศนาสั่งสอนเขามากเข้าๆ ในที่สุดบารมีเก่าของท่านก็ตามมาส่งเสริม

(ค) เทศน์สั่งสอนเขา สอนตัวเราบ้าง วันหนึ่งจะเป็นด้วยกุศลของท่านที่จะส่งให้ท่านเป็นพระอาจารย์ที่เป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งประเทศก็เป็นได้ บุญเก่าของท่านตามมา ท่านได้หยุดรับนิมนต์เทศน์เสียเฉยๆ ทำให้ญาติโยมที่มานิมนต์ท่านผิดหวัง แต่ท่านก็ได้จัดพระที่วัดหนองโพไปเทศน์แทนท่านทุกคราวไป เมื่อท่านเลิกเทศน์แล้ว มีลูกศิษย์ลูกหามาถามท่านว่าทำไมไม่เทศน์เหมือนเก่าเล่าขอรับ ท่านตอบเป็นปริศนาว่า “สอนคนอื่นให้เขาทำดีมามากแล้ว ต้องหันมาสอนตัวเองเสียบ้าง” หลังจากนั้นท่านจึงได้เดินทางรอนแรมไปศึกษาวิชาด้านวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ที่เคยอุปสมบทท่าน เช่น หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) เป็นต้น เพื่อสอนตัวเอง คือทำให้ท่านมีความลุ่มลึกในพระธรรมวินัย และญาณอันแก่กล้าตามแนวทางที่พระเถราจารย์เจ้าแต่โบราณาได้ใช้ให้เป็นประโยชน์สืบต่อมา เพราะถ้าท่านยังเป็นนักเทศน์อยู่ เราท่านอาจจะไม่ได้รู้จักหลวงพ่อเดิมเหมือนที่เราได้รู้จักท่านอยู่เดี๋ยวนี้ก็เป็นได้

(ง) สันโดษ ไม่ลุ่มหลงในลาภยศ สรรเสริญ เมื่อหลวงพ่อเดิมได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพสืบต่อจากหลวงตาชมนั้น ท่านก็ดำรงตนเป็นไปตามธรรมดา ไม่มุ่งหวังในยศศักดิ์ ครองจีวรเก่าคร่ำคร่า ไม่ชอบครองจีวรใหม่ จะครองต่อเมื่อมีญาติโยมมาถวายเพื่อให้ญาติโยมเหล่านั้นได้ชื่นใจในกุศลที่ตั้งใจถวาย พอลับหลังแล้วท่านก็ถอดเก็บเอาไว้ เมื่อมีพระในวัดของท่านหรือวัดอื่นขาดแคลน ท่านก็ถวายให้ต่อไป จีวรของท่านบางครั้งถึงกับปะชุนก็มี ลาภสักการะ ของถวาย-ของทานต่างๆ ที่คณะศรัทธาญาติโยมเขาถวายมา ท่านก็ไม่แยแส ใครมาขอก็ให้ไป ของนั้นจะมีค่ามากหรือน้อยไม่สำคัญ ใครขอเป็นให้ อาทิ นาฬิกา ตะเกียงลาน ปั้นน้ำชา กระโถน ถ้วยชามลายคราม ของกินของใช้ต่างๆ หมอนปัก หมองอิง เป็นต้น มาถึงวัดใครมาขอก็ให้ แต่มีกฎว่าขอแล้วต้องเอาไปเลย เพราะถ้าทิ้งไว้กับท่านแล้วมีคนมาขอต่อ ท่านก็ให้ไป เมื่อมีเจ้าของที่ขอท่านแล้วกลับมา ท่านก็บอกว่าให้คนอื่นไปแล้วก็นึกว่าจะไม่เอา เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านแจกก็ไม่มีใครจะกล้าทัดทานเพราะเกรงใจในองค์ท่าน

จากคำบอกเล่าของ ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต เจ้าอาวาสวัดหนองโพองค์ปัจจุบัน กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนนั้นหลวงพ่อเดิมแจกของไปจนเกือบจะหมดอยู่แล้ว ท่านจึงได้ขอเอาไว้บ้างซึ่งไม่ใช่เพื่อท่านเอง แต่เพื่อจะเหลือของไว้เป็นอนุสรณ์ เป็นตู้ไม้สักแกะลายแบบเก่าหนึ่งตู้ภายในบรรจุของที่มีผู้มาถวาย เขียนไว้ที่ตู้ว่า “ต้นทานของท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์” ในขณะนี้อยู่ที่กุฏิของท่าน ถ้าท่านไม่ขอคงจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว

อีกอย่างหนึ่งที่ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังเพิ่มเติมก็มีว่า มีคุณหลวงทางกรุงเทพฯ ท่านหนึ่งถวายโต๊ะหมู่ไม้ชิงชันประดับมุกไฟอย่างดีหนึ่งชุด พร้อมนาฬิกาปารีสประดับมุกเหมือนกัน หลวงพ่อเดิมรับถวายไว้ยังไม่มีใครมาขอ วันหนึ่งท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุตจึงคลานเข้าไปกราบหลวงพ่อเดิมแล้วเอ่ยปากว่า “หลวงพ่อขอรับ ผมขอโต๊ะหมู่และนาฬิกาเป็นสมบัติของวัดหนองโพ” หลวงพ่อเดิมท่านถอนหายใจ มีสีหน้าแช่มชื่นกล่าวตอบว่า “อ้ายพ่อคุณเอ๋ย อยากให้ขอมานานแล้ว” ถ้าช้าไปวัดอื่นที่เขายากจนมาขอก่อนก็จะให้เขาไป ของที่กล่าวมานี้ปัจจุบันท่านผู้อ่านไปดูได้ที่วัดหนองโพ ให้เห็นเท็จและจริง

แม้แต่เงินทองที่เขามาถวายหรือมาเช่าวัตถุมงคล หลวงพ่อเดิมท่านก็ไม่ใส่ใจ ท่านมีหน้าที่อย่างเดียวคือแจกและปลุกเสก เงินทองที่เขาถวายก็เอาใส่ตู้ไว้ ท่านไม่หยิบไม่ต้อง ไม่เกี่ยว กรรมการวัดจัดการเอาเอง ท่านพระครูเจ้าอาวาสกล่าวว่า วันหนึ่งๆ มีรายได้เข้าในตู้ประมาณไม่ต่ำกว่าหมื่นกว่าบาททุกวัน เมื่อท่านต้องการเงินไปช่วยเหลือวัดอื่นๆ สร้างถาวรวัตถุ ท่านจะขอจากกรรมการวัดไปมอบให้วัดนั้นๆ หรือไม่ท่านก็ไปเป็นประธานแล้วทำวัตถุมงคลออกเช่าจำหน่ายจ่ายแจกที่วัดนั้นๆ เอาเงินมาสร้างถาวรวัตถุต่างๆ

นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้อย่างเหมาะสมที่สุดว่า “เงินทองกระทบเพียงแต่นัยน์ตาของหลวงพ่อเท่านั้น มิได้กระเทือนเข้าไปถึงข้างใน (จิตวางเฉยไม่ยินดี)”

(จ) ยศศักดิ์ไม่ยินดี เรื่องนี้หลวงพ่อเดิมมีความสมถะแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ครั้นเมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้วก็ยังคงเหมือนก่อนที่เคยเป็นมา แม้แต่เมื่อทางราชการได้เห็นคุณงามความดีของท่าน ที่ได้ช่วยเหลือกิจการพระพุทธศาสนา ต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ท่านมีสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” เจ้าอาวาสวัดหนองโพและเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี แทนที่พระครูพยุหานุศาสก์ (สิทธิ์) ซึ่งได้มรณภาพลง ท่านก็วางเฉย ลูกศิษย์ลูกหาและคณะศรัทธาญาติโยมต้องเป็นธุระไปรับพัดยศ และแห่แหนไปให้ท่านถึงวัด ซึ่งท่านก็วางเฉยไม่ยินดียินร้าย เมื่อได้มาก็เอาไว้เป็นที่ชื่มชมของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย ส่วนหลวงพ่อเดิมคงยินดีแต่จะให้เรียกท่านว่า “ท่านอธิการเดิม” “หลวงพ่อเดิม” หรืออย่างมากที่สุดก็แค่ “พระครูเดิม” เท่านั้น ท่านถือว่าสมณศักดิ์เป็นของทางโลกกีดขวางทางสงบ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” นั้นคือพัดยศ แต่ท่านก็คือหลวงพ่อเดิม แม้แต่ในเหรียญรุ่นแรกที่ท่านอนุญาตให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็ระบุเพียง “หลวงพ่อพระครูเดิม วัดหนองโพ” ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงรู้จักท่านในนามของ “หลวงพ่อเดิม” มากกว่ายศของท่านคือ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์”

(จ) มีความเป็นอยู่เรียบง่ายไม่ชอบความสบาย จำเดิมแต่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพสืบต่อจากหลวงตาชมนั้น หลวงพ่อเดิมไม่ชอบอยู่กุฏิ ท่านชอบอยู่ที่ศาลาเล็กของท่าน ซึ่งโปร่งทั้งสี่ด้าน มีเพียงเสื่อลำแพนกั้นกันลมกันฝนเท่านั้น สมบัติมีค่าของท่านไม่มี เพราะมีก็แจกให้เขาหมด มีญาติโยมศรัทธาปลูกกุฏิให้ ท่านก็ไม่อยู่ท่านบ่ายเบี่ยง ครั้นเมื่อสร้างศาลาการเปรียญก็มาอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ในที่สุดท่านก็กลับไปศาลาเล็กของท่านอีกไม่อยู่กุฏิ จนในที่สุดช่วงพรรษาหลังๆ ที่ท่านชราภาพมากแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาขอร้องและรบเร้า ท่านจึงใจอ่อน ด้วยลูกศิษย์ลูกหาใช้วิธีขออนุญาตรื้อศาลาเล็กของท่านไปเป็นศาลาข้างเมรุเผาศพเสีย เพื่อให้ประโยชน์แก่บรรดาญาติผู้ตายในการทำฌาปนกิจ แล้วได้ช่วยกันนิมนต์ท่านไปอยู่กุฏิที่ปลูกให้จนกระทั่งมรณภาพ อันที่จริงหลวงพ่อเดิมบอกว่าท่านไม่ค่อยได้อยู่วัดเพราะต้องไปช่วยเขาก่อสร้างมากกว่า และอีกประการหนึ่งท่านพอใจในความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายๆ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “บุตรตถาคถต้องเป็นคนเลี้ยงง่าย”

(ช) พุทโธวาทเตือนตนจนชั่วชีวิต เรื่องนี้ยืนยันได้จากหลายคนที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดปรนนิบัติหลวงพ่อเดิม จะเห็นว่าตอนเช้าเวลาประมาณตีสี่ตีห้า อันเป็นเวลาเงียบสงบสงัด ท่านจะตื่นขึ้นมาทำวิปัสสนา และก่อนนั้นท่านจะอ่านหนังสือใบลานสั้นๆ อยู่เล่มหนึ่ง ที่ว่าเป็นเล่มนั้นมิใช่เล่มหนังสือปัจจุบัน แต่หากว่าเป็นการเอาใบลานมาตัดแล้วจารอักษรลงไป ท่านอ่านอยู่อย่างนั้นตั้งแต่หนุ่มๆ จนกระทั่งถึงพรรษาสุดท้าย นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้สอบถามจากคนรุ่นก่อนตัวเขาเอง หลังจากที่ได้ไปเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม นอนอยู่ปลายเท้าท่าน เมื่อตื่นมาเห็นหลวงพ่อเดิมอ่านหนังสือใบลานสั้นๆ อยู่ ก็ได้ความตรงกันว่า ไม่ว่าหลวงพ่อเดิมจะอยู่วัดหรือเข้าป่าไปตัดไม้ ไปธุดงค์ หรือไปกิจนิมนต์ที่ใดก็ตาม ท่านจะนำหนังสือนี้พกติดตัวไปตลอดเวลาเสมือนเป็นคู่ชีวิตของท่าน แต่ไม่มีใครกล้าขอท่านดูเพราะเกรงใจ จนกระทั่งหลวงพ่อเดิมได้มรณภาพแล้วรดน้ำศพของท่าน นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้ขึ้นไปค้นดู พบหนังสือนี้เข้าจึงนำมาเปิดดูโดยขอขมาลาโทษดวงวิญญาณของท่าน จึงได้ความจริงว่าหนังสือที่หลวงพ่อเดิมอ่านทุกเมื่อเชื่อวันจนตลอดชีวิตนั้นคือ คัมภีร์ปริศนาธรรมสำนวนเก่าทั้งปุจฉาและวิสัชนาเกี่ยวกับคำสอนอันลุ่มลึกขององค์พระชินสีห์ มีอยู่ ๖๒ ลาน (จารลงในใบลานสั้น ๖๒ ใบ) คือ มูลกัมมัฏฐานและวิปัสสนา อีกคัมภีร์หนึ่งคือ พระอภิธรรม ภายในมีอยู่ ๑๖ ลาน จึงแจ่มแจ้งว่าหลวงพ่อท่านสอนตัวท่านเองด้วยพุทโธวาทจนตลอดชีวิต สมดังที่ท่านกล่าวกับลูกศิษย์ลูกหาก่อนจะเลิกเป็นพระธรรมกถึกเอกว่า “สอนคนอื่นมากมาย ต้องสอนตัวเองเสียทีหนึ่ง และมิใช่ว่าสอนเพียงวันสองวันแต่หากตลอดชีวิตของท่านเลยทีเดียว”

เมื่อสรุปความจากปฏิปทาวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเดิมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าหลวงพ่อเดิมเป็นพระภิกษุผู้มีความเพียรเป็นเลิศ บำเพ็ญเพียรจนเบื่อหน่ายต่อกิเลส ไม่ติดในลาภสักการะ โลกธรรมแปด เป็นผู้มีความสำรวมระวังในศีลาจารวัตรจนตลอดชีวิต เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์โดยแท้จริง เป็นผู้ให้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เป็นผู้ที่ชอบรับ ถึงรับมาก็ให้ต่อเขาไปหมด เงินทองท่านไม่ยินดี ลาภยศสรรเสริญไม่ยึดติด ความเป็นอยู่เรียบง่าย เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงทำให้พระกิตติคุณของท่านขจรขจายมาถึงปัจจุบันนี้

Image
รูปหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)
ภายในวิหารหลวงพ่อเดิม ณ วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ที่มา : http://www.watkositaram.com/



(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 ต.ค.2010, 6:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)


๏ หลวงพ่อรับสมณศักดิ์

เนื่องจากคุณงามความดีของหลวงพ่อเดิมเป็นที่เลื่องลือมาก ทางราชการจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการนี้ท่านมิได้ไปรับพัดยศเอง คงให้ลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือ เช่น นายอำเภอและกรรมการวัดไปรับมา เมื่อมาถึงสถานีรถไฟมีการแห่แหนสัญญาบัตรพัดยศด้วยขบวนช้างม้า ตลอดจนพ่อค้าประชาชนและลูกศิษย์ลูกหาที่พากันชื่นชมยินดี หลวงพ่อเดิมรับพัดเก็บไว้ในที่อันสมควรแล้ว จึงให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายรดน้ำท่านเป็นการแสดงมุทิตาจิต และแจกของที่ระลึกให้ทั่วกัน ท่านย้ำให้ลูกศิษบ์ลูกหาทราบทั่วกันว่า ท่านยินดีที่ได้มาแสดงมุทิตาจิตกัน แต่สำหรับท่านแล้วคือ พระครูเดิม หรือหลวงพ่อเดิม หรือหลวงปู่เดิม ของลูกศิษย์เหมือนเดิมที่เคยมา “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” นั้นคือสัญญาบัตรพัดยศเท่านั้น หลวงพ่อเองก็ดำเนินชีวิตตามธรรมดาของท่านไปโดยมิได้ใยดีในลาภยศแต่ประการใด

ต่อมา ท่านพระครูพยุหานุศาสก์ (สิทธิ์) เจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรี ได้มรณภาพลง ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจึงว่างลง ทางราชการได้ประชุมเจ้าคณะสงฆ์ประจำจังหวัดเพื่อเสาะหาพระครูสัญญาบัตรที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน มติของที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ให้ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ เจ้าอาวาสวัดหนองโพ ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทย์และมีพระกิตติคุณเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาสาธุชนทั้งในและนอกจังหวัด เป็นเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรีสืบต่อไป เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอแล้วก็ได้สร้างความเจริญเป็นเอนกประการ

ครั้นเมื่อหลวงพ่อเดิมได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพยุหะคีรีไม่นานนัก พระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอพยุหะคีรีมีไม่เพียงพอกับจำนวนกุลบุตรที่จะอุปสมบท อีกทั้งหลวงพ่อเดิมมีอายุพรรษามากและได้รับความเคารพนับถือจากบรรดาสาธุชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ทางคณะสงฆ์ประจำจังหวัดมอบตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ให้กับท่านเพื่อทำการอุปสมบทกุลบุตร นับแต่ท่านได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปนั่งอุปัชฌาย์ไม่เว้นว่าง ทำให้หลวงพ่อเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก การให้อุปสมบทตั้งแต่รุ่นพ่อมาจนกระทั่งถึงรุ่นลูกก็มีด้วยท่านมีอายุพรรษากาลมาก ท่านได้รับการยกเป็นกิติศักดิ์เมื่อมีอายุล่วงมาถึง ๙๐ ปี


๏ ล่วงรู้วาระสุดท้าย

ด้วยเหตุที่หลวงพ่อเดิมท่านชราภาพมากแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนก็พยายามประคับประคองหลวงพ่อเพื่อให้ท่านอยู่เป็นมิ่งขวัญให้นานที่สุด ถึง ๑๐๐ ปีได้ยิ่งดีใหญ่ ซึ่งหลวงพ่อก็ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีไม่มีวี่แววจะเจ็บป่วยแต่อย่างใด ลูกศิษย์ลูกหาทุกคนก็ไม่มีใครคาดคิดว่าหลวงพ่อจะจากไปในเวลาอันใกล้นี้

ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อเดิมมีอายุได้ ๙๒ ปีพอดี วันหนึ่งหลวงพ่อเดิมได้เรียกกรรมการวัด ตลอดจนถึงคณะศรัทธาญาติโยมที่ใกล้ชิดของท่านมาประชุมพร้อมกัน เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้ากันแล้ว หลวงพ่อได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมปรารภถึงมรณสัญญาณของท่าน ซึ่งทำให้ทุกคนตะลึง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าหลวงพ่อจะมรณภาพเร็วถึงปานฉะนี้ หลวงพ่อเดิมมีคำขอร้องต่อผู้ที่มาร่วมประชุมทุกคนว่า

๑. ขอมอบภารกิจในการบริหารกิจการของวัดหนองโพตามที่หลวงพ่อได้กระทำมา (เป็นการปลงบริขาร) ให้กับ หลวงพ่อน้อย (ต่อมาได้เป็น ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต เจ้าอาวาสวัดหนองโพรูปถัดมา) ให้ช่วยดูแลรักษาแทนท่านให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ขอให้ชาวบ้านญาติโยมช่วยกันอุปถัมภ์หลวงพ่อน้อย ช่วยกิจการวัดตามเคยที่ช่วยท่านมาเพื่อให้เกิดความประสานสามัคคีระหว่างวัดและชาวบ้านญาติโยม

๒. หลวงพ่อจะมรณภาพในไม่ช้านี้แล้ว อย่าเสียใจในมรณกรรมของท่านเพราะเป็นกฎแห่งกรรม ขอให้ช่วยกันต่อโลงศพให้หลวงพ่อเพื่อจะได้ไม่เป็นธุระรบกวนหรือยุ่งยากจัดหาเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว คนข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อน เพราะการเตรียมล่วงหน้าเป็นการไม่ประมาทในการทั้งปวง ดังพระดำรัสแห่งพระบรมศาสดา

๓. ให้ช่วยกันสร้างเมรุเพื่อพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อตามกำลังศรัทธาของญาติโยม เวลาท่านมรณภาพแล้วจะได้สะดวก ไม่ต้องมาทำทีหลังให้เป็นการเร่งรีบและเหน็ดเหนื่อย โดยใช้เหตุสำหรับข้อ ๓ นี้ กรรมการวัดคิดว่าหลวงพ่อคงจะไม่มรณภาพในเวลาอันใกล้ จึงมิได้สั่งจัดสร้างเมรุพร้อมกับโลงศพ จนหลวงพ่อแสดงอาการว่าจะมรณภาพแน่แล้ว จึงสั่งจัดสร้างเมรุนั้นจึงแล้วเสร็จหลังจากหลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว


๏ มรณสัญญาณมาถึงหลวงพ่อ

จากเดือนมกราคมเรื่อยมาจนถึงเดือนเมษายน งานวันสงกรานต์สรงน้ำหลวงพ่อผ่านไปแล้ว หลวงพ่อก็ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังไปเป็นประธานในการก่อสร้างอุโบสถวัดอินทราราม (วัดใน) หลวงพ่อเคยพูดแย้มๆ ว่างานนี้จะเป็นงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของท่าน เพื่อสนองคุณของ หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ล่วงมาถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ เมื่อหลวงพ่อเดิมกลับมาจากการเป็นประธานในการก่อสร้างอุโบสถวัดอินทราราม (วัดใน) พอมาถึงวัดหนองโพ ท่านก็มีอาการโรคลมปัจจุบันเข้าแทรก ทำให้หลวงพ่อถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ และมีอาการโรคชราเข้าแทรกด้วย ลูกศิษย์ลูกหาและคณะศรัทธาญาติโยมได้จัดหาหมอทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณมารักษาอาการของท่าน ต่อมาเมื่อสาธุชนโดยทั่วไปทราบข่าวหลวงพ่อเดิมอาพาธหนัก ก็ต่างพากันมากราบเยี่ยมเยียน ซึ่งหลวงพ่อท่านมีอาการทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา ไม่ดีขึ้นจนกระทั่งมรณภาพในที่สุด

Image
วิหารหลวงพ่อเดิม ณ วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

Image
รูปหล่อหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร ภายในวิหารหลวงพ่อเดิม
ที่มาของทั้ง ๒ รูปภาพ : http://www.watkositaram.com/



(มีต่อ ๕)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 ต.ค.2010, 6:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) ในอิริยาบทสบายๆ
ภาพนี้ถ่าย ณ วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ ในช่วงพรรษาท้ายๆ ของท่าน



๏ หลวงพ่อเดิมมรณภาพ

ครั้นถึงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ตรงกับวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ อาการของหลวงพ่อเดิมทรุดหนักลงตั้งแต่ตอนเช้า ลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมได้เฝ้าพยาบาลท่านอยู่อย่างใกล้ชิด มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น คือ วันนั้นช้างของหลวงพ่อที่ทำงานอยู่ในป่าได้ดิ้นรนไม่ยอมทำงาน ทั้งๆ ที่ควาญช้างก็บังคับอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้มันทำงาน แต่มันกลับหันหลังมุ่งหน้าเดินจะมาวัดหนองโพ ควาญช้างซึ่งทราบอาการของหลวงพ่อดี ก็ปรึกษากันแล้วเลิกงาน ช้างก็พากันเดินดุ่มมาวัดหนองโพอย่างรีบร้อน มาถึงวัดก็ตอนที่หลวงพ่ออาพาธหนักหมดทางเยียวยารักษาแล้ว มันหงอยเหงาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ยอมกินหญ้ากินอะไรทั้งนั้น คงวงเวียนอยู่ใกล้ๆ กับกุฏิที่หลวงพ่อนอนป่วยอยู่ ไม่ได้ส่งเสียงร้องให้ได้ยินถึงหลวงพ่อเหมือนมันจะรู้วาระมรณภาพของหลวงพ่อ ว่าหลวงพ่อผู้ชุบเลี้ยงมันมาดุจบิดานั้น กำลังจะจากมันไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีกในเวลาอันใกล้นี้


๏ อภินิหารครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อ

ในวันนั้นหลวงพ่อมีอาการเพียบหนัก แต่สติของหลวงพ่อยังดีอยู่ คงหลับตานอนอยู่กับที่พร้อมกับเจริญภาวนาเป็นลำดับ สลับกับการลืมตาถามเวลาว่าเวลาเท่าใดแล้วเป็นระยะๆ ไป ไม่แสดงอาการกระสับกระสายให้เห็นเลย คงมีความอดทนอย่างเยี่ยมยอดสมกับเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นเยี่ยม เมื่อเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. หลวงพ่อลืมตาแล้วถามเวลาเป็นครั้งสุดท้าย คราวนี้หลวงพ่อถามว่าน้ำในสระทั้งสองลูกมีระดับเป็นอย่างไร พอกินกันไหม เพราะหลวงพ่อไม่ได้ออกไปตรวจตรา จึงเป็นห่วง ด้วยน้ำในสระนั้นคือเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านหนองโพด้วย เป็นที่ดอนกันดารน้ำ หลวงพ่อพยายามขยายสระให้กว้างขึ้นเป็นลำดับเพื่อเก็บกักน้ำ ผู้ดูแลท่านจึงตอบว่าแห้งขอดลงไปแล้วเพราะฝนไม่ตกมาเป็นระยะนาน แล้งมาก ถ้าฝนไม่ตกลงมาในวันสองวันนี้น่ากลัวจะอดน้ำกันแน่นอน เมื่อหลวงพ่อได้ยินดังนั้นก็ไม่กล่าวว่าอะไร สองมือของท่านประคองขึ้นไว้บนหน้าอกของท่าน นัยน์ตาของท่านหลับสนิทมองเห็นทรวงอกของท่านสะท้อนขึ้นลงแผ่วๆ ในลักษณะการเข้าสมาธิเป็นลำดับ ทันใดนั้นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเป็นที่เล่าสืบกันมาถึงทุกวันนี้

กล่าวคือ ฟ้าที่สว่างไม่มีเค้าแห่งเมฆฝนเลยแม้แต่น้อย กลับมืดครึ้มลงเป็นลำดับด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้า พร้อมกับสายลมกระโชกแรงขึ้น และฝนก็พร่างพรมลงมาจากฟากฟ้าดุจเทพมนต์ ตกหนักมากตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นไม่มีใครคิดเหนือความคาดหมาย ว่าฟ้าที่สว่างๆ ไม่มีวี่แววฝนนั้นจะมีเมฆฝนและฝนตกลงมาก่อนเลย ฝนตกลงมาจนกระทั่งน้ำไหลลงไปในสระได้ครึ่งสระทั้งสองลูกเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๐ นาที ฝนจึงเริ่มขาดเม็ดลง พร้อมกันนั้นลมหายใจของหลวงพ่อก็ขาดหายไปพร้อมกับสายฝนเป็นอัศจรรย์ อันเป็นสิ่งที่แสดงว่าหลวงพ่อได้บันดาลให้ฝนตกลงมาเพื่อต่อชีวิตชาวหนองโพไม่ให้อดน้ำ โดยอาศัยบารมีศีลอันบริสุทธิ์ของท่าน และอำนาจฌาณสมาบัติอันสูงส่งของหลวงพ่อเป็นอภินิหารครั้งสุดท้าย ที่หลวงพ่อแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดถึงบารมีของท่าน ด้วยเมตตาบารมีที่ท่านมีต่อสัตว์ผู้ยากคือชาวหนองโพที่จะอดน้ำกันเดือดร้อน นี่แหละเมตตาธรรมของท่าน แม้ชีวิตท่านจวนจะดับสูญแล้วยังอุตส่าห์เป็นห่วงเป็นใยในผู้ที่อาศัยบารมีท่าน ร่มโพธิ์ใหญ่ในวัดหนองโพล้มลงแล้ว ร่มโพธิ์ที่เคยให้ร่มเงากับศิษยานุศิษย์ได้ถูกพายุแห่งการเวลาพัดกระโชกจนถึงการล่มสลายเป็นที่น่าเสียดาย


เมื่อผู้ใกล้ชิดจับชีพจรดูจนแน่ใจว่าหลวงพ่อมรณภาพแล้ว จึงแจ้งข่าวกับผู้อยู่ข้างนอกและต่อกันออกไปจนถึงในหมู่บ้าน วงปี่พาทย์ประจำวัดประโคมขึ้นพร้อมกัน กลองเภรีประจำวัดลั่นตูมขึ้นรัวกระหน่ำ ช้างของหลวงพ่อส่งเสียงร้องกันลั่นราวแผ่นดินจะถล่มทลาย น้ำตาไหลพรากทุกตัว ต่างเดินมาเอางวงจับหน้ากุฏิของหลวงพ่อเหนี่ยวไว้ ร้องระรัวอาลัยในมรณกรรมของหลวงพ่อที่เคยดูแลมันมาแต่น้อยคุ้มใหญ่

ขณะนั้นชาวบ้านกำลังง่วนอยู่กับงานในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงกลองเภรีดังรัวขึ้น และมีเสียงบอกกันต่อๆ ไปว่า หลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว เท่านั้นเองทุกคนทิ้งงานทุกอย่างเหมือนนัดกันไว้ พากันรีบมาที่วัดหนองโพเพื่อแสดงความไว้อาลัยในการมรณภาพของหลวงพ่อ ที่เป็นหญิงก็ร้องไห้โฮอย่างไม่อายใคร ที่เป็นชายใจแข็งก็ได้แต่ตาแดงๆ แต่ในส่วนลึกของหัวใจอาลัยหลวงพ่อยิ่งนัก ทางคณะกรรมการวัดได้จัดศพหลวงพ่อไว้ในกุฏิเพื่อจะจัดพิธีอาบน้ำศพในวันรุ่นขึ้น ชาวบ้านก็ได้แต่เข้าไปกราบศพของหลวงพ่อ

คณะกรรมการวัดได้จัดกุฏิของหลวงพ่อให้เข้ารูป พร้อมทั้งค้นดูสิ่งของต่างๆ ของหลวงพ่อว่ามีอะไรเป็นของมีค่า ที่จะเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของวัดต่อไป จากการค้นตรวจสอบทั่วทุกตารางนิ้วไม่ปรากฏว่ามีของมีค่าหรือเงินทองอยู่แม้แต่สลึง ในย่ามของหลวงพ่อก็ไม่มี มีอยู่สิ่งเดียวที่นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่ามีค่าที่สุดของหลวงพ่อก็คือ คัมภีร์ใบลานเก่าๆ เล่มเล็กๆ ที่หลวงพ่อใช้อ่านสอนตัวเองอยู่จนตลอดชีวิต จากการนี้เองทำให้ทุกคนประจักษ์แจ้งในความจริงว่า หลวงพ่อเป็นพระแท้ เป็นพระที่เป็นผู้ให้ไม่สะสม ไม่ติดในลาภสักการะและโลกธรรมแปด เป็นพระพุทธบุตรที่ซื่อตรงต่อคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดา และดำเนินตามทางมรรคผลนิพพานที่องค์พระบรมครูวางไว้ทุกประการ


๏ จีวรไม่พอครองศพหลวงพ่อ

วันรุ่งขึ้นคณะกรรมการวัดได้จัดพิธีอาบน้ำศพหลวงพ่อเดิมขึ้น เมื่อเริ่มพิธีผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ มีทั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ นายเกษม บุญศรี ตลอดจนพ่อค้าคหบดีชาวกรุงเทพฯ และชาวบ้านใกล้เคียง เมื่อรดน้ำศพแล้วต่างพากันแย่งชิงฉีกจีวรที่ครองศพหลวงพ่ออยู่ คณะกรรมการวัดสุดจะโต้แย้งเพราะผู้คนมากมาย ก็ได้แต่ขอเวลาเปลี่ยนจีวรหลวงพ่อใหม่ กี่ชุดๆ ก็ไม่พอเพราะคนรุมฉีกทิ้งกันเพื่อเอาไปเป็นที่ระลึก จนในที่สุดเห็นว่าจีวรจะไม่พอครององค์หลวงพ่อจึงได้ประกาศห้ามฉีก จึงสามารถรักษาจีวรให้ครองติดศพหลวงพ่อได้ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อหลวงพ่อแม้ยามที่มรณภาพไปแล้ว


๏ น้ำอาบศพเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์

ในตอนรดน้ำศพหลวงพ่อเดิมนั้น พวกหนุ่มๆ และคนแก่ที่นับถือท่านได้พากันไปอยู่ใต้ถุนศาลาอาบน้ำศพหลวงพ่อ พร้อมทั้งเอาขัน เอาแก้ว หรือบางคนก็แหงนหน้ารองน้ำอาบศพหลวงพ่อต่างน้ำมนต์ กลืนกินเข้าไปอย่างไม่รังเกียจด้วยศรัทธาสูงสุด ข้างบนก็ฉีกทิ้งจีวรหลวงพ่อให้ชุลมุน ข้างล่างก็รองน้ำศพให้วุ่นไปหมด ลานวัดคนเดินกันเกลื่อนแทบจะหลีกกันไม่พ้น เหมือนหลวงพ่อจะแสดงปาฏิหารย์ คนที่กินน้ำอาบศพหลวงพ่อกลุ่มหนึ่ง เมื่อเดินออกมานอกวัด ก็เจอกับอริอีกกลุ่มหนึ่งพอดี ได้เข้าตะลุมบอนกันเป็นพักใหญ่ กลุ่มที่กินน้ำอาบศพหลวงพ่อไม่เป็นอะไรเลย เป็นแต่หัวร้างข้างโน บวม ปูด ส่วนอริหัวร้างข้างแตกกันเป็นระนาว พอข่าวแพร่ คนก็ไปกินน้ำอาบศพหลวงพ่อกันอีก ท่านผู้อ่านก็ลองวาดภาพดูก็แล้วกันครับว่าเป็นอย่างไร นี่แหละครับบารมีหลวงพ่อ


๏ ต้องมีเวรยามรักษาศพหลวงพ่อ

หลังจากรดน้ำศพก็ได้มีการตั้งศพสวดพระอภิธรรม มีเจ้าภาพจองกันยาวยืดจนครบร้อยวันในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๙๔ และได้เก็บศพของหลวงพ่อไว้เพื่อรอพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในตอนนี้ได้มีผู้ศรัทธาในหลวงพ่อต้องการได้อัฐิของท่าน ได้พยายามลอบเข้าไปเพื่อจะดึงอัฐิก่อนที่ยังมิได้พระราชทานเพลิงศพ ด้วยความเลื่อมใสถือเป็นเครื่องรางของขลัง คณะกรรมการวัดรู้เข้าก็ต้องจัดเวรยามดูแล เพราะไม่เช่นนั้นกว่าจะพระราชทานเพลิงศพแล้วสรีระของหลวงพ่อคงไม่เหลืออยู่แน่ เป็นที่น่าเศร้าสลดใจของผู้ที่จะได้รู้ข่าวจึงได้ป้องกันไว้ก่อนจะสายไป ครั้นจะห้ามเสียเลยก็จะเป็นการทำลายน้ำใจผู้ศรัทธา จึงหาทางอื่นที่นุ่มนวลคือเฝ้าระวังกันเอา


๏ อัฐเถ้าอังคารคนแย่งกันทั้งยังร้อนระอุ

ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเดิม มีมหรสพทุกชนิดที่ลูกศิษย์ลูกหาพากันมาแสดงเพื่อเป็นการไว้อาลัยหลวงพ่อเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อไฟพระราชทานมาถึงแล้ว ประธานในพิธีได้จุดไฟพระราชทาน ต่อจากนั้นก็เป็นขบวนของชาวบ้านร้านตลาด ตั้งแต่บ่ายยันค่ำคนไม่ลดน้อยลงไปเลย ใส่ไฟแล้วก็ไม่ไปไหนคงซุ่มอยู่แถวนั้น เมื่อไฟพระราชทานได้เผาสรีระของหลวงพ่อมอดไหม้ไปแล้วท่ามกลางฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นละอองเบาๆ ก่อความเย็นให้แก่ผู้คนที่เบียดเสียดยัดเยียดกัน คณะกรรมการวัดได้ขึ้นไปเก็บอัฐิและเถ้าอังคารส่วนหนึ่งเพื่อนำไปบรรจุในเจดีย์ เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านหนองโพและผู้ได้มาเยี่ยมเยือนในภายหลัง เมื่อคณะกรรมการวัดเก็บอัฐิแล้ว ไฟยังไม่ทันจะหายร้อน บรรดาชาวบ้านและผู้เคารพนับถือต่างก็เฮละโลกันขึ้นไปบนเมรุเบียดเสียดยัดเยียดกัน เหยียบกัน ล้มคว่ำคะมำหงาย เพื่อแย่งชิงอัฐิของหลวงพ่อเดิมเพื่อนำไปสักการบูชา ที่แข็งแรงไปถึงก่อนก็ได้อัฐิไป ที่มาทีหลังหรือเข้าไม่ถึงก็ได้เถ้าอังคารตามแต่จะเก็บได้ หลังจากคลื่นฝูงชนซาลงไปแล้ว ปรากฏว่าไม่มีอัฐิหรือเถ้าอังคารของหลวงพ่อติดเมรุอยู่เลยแม้แต่น้อย เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าทั้งๆ ที่ไฟบนเมรุยังร้อนอยู่ แต่คนที่แย่งชิงกันนั้น ไม่มีใครมือพองเพราะความร้อนของเมรุแม้แต่น้อยเลย


๏ สรุปความท้ายประวัติ

สิ้นไปแล้วดวงประทีปแห่งวัดหนองโพ หลวงพ่อผู้ทรงความเมตตากรุณา หลวงพ่อผู้เป็นผู้ให้แต่อย่างเดียว ถึงแม้จะรับบ้างแต่ก็ให้ไปจนหมดสิ้น หลวงพ่อผู้ช่วยปลดทุกข์ของสัตว์ผู้ยากที่บากหน้ามาหา หลวงพ่อที่ถือเอาพระพุทธพจน์เป็นหลักประจำใจจนตลอดชีวิต หลวงพ่อผู้มีเวทย์มนต์อันเรืองรองด้วยพระพุทธคุณ หลวงพ่อผู้สรรสร้างความเจริญทั้งในพระพุทธศาสนาและแก่ชาวบ้าน หลวงพ่อผู้ถือคติทำดีกว่าพูด ผลงานคือข้อพิสูจน์คุณงามความดีของท่าน และสิ่งที่ยังคงเหลือเตือนใจคนรุ่นหลังให้ระลึกถึงท่านก็คือ คุณงามความดีและคำสั่งสอน รูปหล่อครั้งเมื่อมีชีวิตอยู่ ตลอดจนวัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกแจกให้กับศิษยานุศิษย์เพื่อช่วยคุ้มครองป้องกันชีวิตพวกเขาเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้

พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร) ชาตะเมื่อวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๓

มรณภาพเมื่อวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๓๑๓ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๗.๔๕ น. สิริรวมอายุได้ ๙๒ ปี พรรษา ๗๐


Image
อานช้างหลวงพ่อเดิม ภายในวิหารหลวงพ่อเดิม
ณ วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ที่มา : http://www.watkositaram.com/


Image
ที่บรรจุร่างหลวงพ่อเดิม ภายในวิหารหลวงพ่อเดิม
ที่มา : http://www.thaipixstories.com/




.............................................................

คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.buddhakhun.org/
ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ต.ค.2010, 6:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)
วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์


Image
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
วัดอัมพวัน ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี



หลวงพ่อจรัญ เล่าเรื่องหลวงพ่อเดิม
เมื่ออาตมาไปเล่าเรียนวิชากับ “หลวงพ่อเดิม”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35214

หลวงพ่อเดิม กับ ตาแป๊ะไล่ห่าน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35318

ประมวลภาพ “หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร” วัดหนองโพ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=19652
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 ต.ค.2010, 6:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=27108
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง