Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แสงส่องใจ ว่าด้วยขันติ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

แสงส่องใจ

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


พระชนมายุ ๙๑ พรรษา
วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:23 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สตฺถุโน วจโนวาทํ กโรติเยว ขนฺติโก
ปรมาย ปูชาย ชินํ ปูเชติ ขนฺติโก


ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำทรงสอนของพระศาสดา
และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้า ด้วยบูชาอันยิ่ง
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O นี้เป็นพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ควรอย่างยิ่งที่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลายจะให้ความสนใจให้มีความเข้าใจประจักษ์อย่างชัดแจ้งแก่จิตใจ เพื่อสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ได้มีโอกาสสร้างมหามงคลแก่ชีวิตตน เพราะการได้บูชาสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นมงคลใหญ่ยิ่งจริงแท้แก่ชีวิตผู้ปฏิบัติทั้งปวง

O ขันติ หมายถึงความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่เป็นที่ชอบใจ อดทนอดกลั้นคืออย่างไร ดูเหมือนแทบทุกคนจะเข้าใจความหมายของคำว่าขันติดี เพราะแทบทุกคนจะพูดถึงขันติอยู่เสมอ ไม่เว้นแต่ละวันก็ว่าได้ มีขันติบ้าง ไม่มีขันติบ้าง หรือบางทีก็ขันติแตกบ้าง

พูดกันจนเคยปากเคยหู แต่มิได้ให้ความสนใจแก่ขันติเพียงพอ จึงมิได้มีบุญได้ทำบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยบูชาอันยิ่ง อีกนัยหนึ่งก็คือมีขันติอยู่เพียงที่ปาก มิได้มีขันติที่ใจ ที่ความประพฤติปฏิบัติ อาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจคำว่าขันติเพียงพอ จึงมิได้ปฏิบัติให้จริงจัง

ถ้าเข้าใจเพียงพออาจจะปฏิบัติจริงจัง จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีขันติได้ชื่อว่าเป็นผู้บูชาสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งควรเป็นความภูมิใจที่ชื่นใจที่สุดสำหรับผู้ได้ความรับรู้ความประจักษ์ในคุณค่าสูงส่งแห่งจิตใจตน ที่ได้เป็นผู้บูชาสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยบูชาอันสูงส่งยิ่ง

O ความไม่มีขันติความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือเมื่อไม่มีขันติ หรือเมื่อขันติแตก ที่ภาษาเราพูดกันแบบชาวบ้านว่าขันแตก คือเมื่อได้ยินได้ฟังถ้อยคำเรื่องราวที่ไม่เป็นที่ชอบใจอย่างยิ่ง ระเบิดความไม่อดกลั้นต่อเหตุที่ให้เกิดความไม่พอใจถึงขนาดที่อดกลั้นไม่ไหว

ขันติเกิดไม่ทัน ขันแตกเสียก่อน ความโกรธค่อนข้างจะเป็นเหตุสำคัญกว่าเหตุอื่นที่ทำให้ขันติเกิดไม่ได้ เกิดไม่ทัน ขันแตกเร็วกว่า แรงกว่า ดังเป็นที่รู้เห็นกันอยู่มิได้เว้นแต่ละวัน ทั้งที่เกิดแก่ตนเอง และทั้งที่เกิดแก่ใครๆ ทั้งหลาย ขันติแตกด้วยเหตุอื่นโดยทั่วไปเกิดขึ้นน้อยกว่าขันติแตกด้วยความโกรธ

O ขันติ ยากจะมีอยู่ได้เมื่อความโกรธเกิดเมื่อความโลภเกิด ซึ่งความโลภก็เกิดอยู่ไม่น้อยไม่ว่างเว้น แต่ถึงอย่างไรเมื่อความโลภเกิดขันติย่อมไม่เป็นขันแตกง่ายเสมอกับเมื่อความโกรธเกิด มีตัวอย่างให้รู้ให้เห็นอยู่เนืองๆ ว่าที่ขันติจะแตกเพราะความโลภก็มิใช่ว่าไม่มี มีขันติแตกเพราะความโลภมี แต่ก็ไม่มากเท่าขันติแตกเพราะความโกรธ

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็เพราะความโกรธมีความหลงยึดติดอยู่กับความเป็นตัวเราของเรารุนแรงมากแทบทุกคน หรือทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนก็ว่าได้ เมื่อตัวเราของเราหรือที่ท่านใช้กันทั่วไปตามคำของท่านพุทธทาสภิกขุว่าตัวกูของกู ถูกแตะต้อง

หรือกระทบกระทั่ง ขันติก็จะแตกได้ง่ายๆ กลายเป็นขันแตกอย่างเจ้าตัวไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้สนใจที่จะรักษาขันติไว้ให้ดีที่สุด ก็ต้องระวังเรื่องความโกรธให้มากที่สุด ให้ยิ่งกว่าให้ระวังเรื่องความโลภ

O ญาติโยมผู้หนึ่งเคยเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ทำให้ต้องนึกถึงเรื่องขันติขันแตก เพียงแต่ว่าเรื่องที่ญาติโยมผู้นั้นเล่า มีสัตว์เกี่ยวด้วยเป็นสำคัญ คือญาติโยมผู้นั้นเล่าว่าเลี้ยงสุนัขพันธุ์ต่างประเทศไว้ตัวหนึ่ง ตัวไม่โต จะพันธุ์อะไรก็จำไม่ได้แล้ว

ญาติโยมผู้นั้นเล่าว่าสุนัขตัวนั้นติดตามเธอไปทุกแห่งในบ้าน ไม่เคย แสดงความดุร้าย ไม่กัดไม่ขู่ และไม่เคยเห่าให้ได้ยินแต่เช้า เจ้าของตั้งชื่อให้ว่าบ๊อบบี้ ที่อยู่มาตั้งแต่แรกเกิดจนแก่ และยิ่งแก่ก็ยิ่งรู้ภาษา ไม่แตกต่างกับคนที่เมื่ออายุมากขึ้นก็จะรู้เรื่องรู้ราวมากขึ้นเป็นลำดับ

แต่วันหนึ่งขณะที่นอนหมอบอยู่ห่างจากเก้าอี้ที่เจ้าของนั่งเขียนหนังสืออยู่ไม่เท่าไร เด็กชายผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับเจ้าบ๊อบและเจ้าของของมัน เดินเข้าไปเพื่อพูดธุระกับญาติโยมเจ้านายของเจ้าบ๊อบ และแวะเข้าไปทักทายเจ้าบ๊อบด้วยวิธีสนุกสนานแบบเด็กที่ชอบเล่นสนุก โดยเข้าไปจับหน้าเจ้าบ๊อบจนแน่น บีบปากอย่างเล่นสนุก

แต่ก็คงแรงสำหรับเจ้าบ๊อบจนทำให้เจ้าบ๊อบอาจจะเจ็บมากๆ ขณะเดียวกันก็คงหงุดหงิดโกรธเกรี้ยวตามประสาหมา จึงน่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เจ้าบ๊อบผู้สงบสำรวมอารมณ์เย็นเสมอมาเป็นสิบปี แผดเสียงใส่ผู้ที่เป็นเหตุให้มันขันติแตก

ผู้ที่เป็นเหตุให้เจ้าบ๊อบแผดเสียงขู่คำรามขนลุกขนพอง หัวเราะชอบใจ และตั้งปัญหาถามญาติโยมที่อยู่ในเหตุการณ์ ว่าเข้าใจภาษาเจ้าบ๊อบหรือเปล่าว่ามันพูดว่าอย่างไร ครั้นได้รับคำปฏิเสธจริงใจจากผู้ถูกถาม

ผู้ถามก็ตอบทันทีอย่างมั่นใจที่สุด “มันบอกว่า ตัวกูของกู อย่ามายุ่งกับกู” ผู้ได้ฟัง แม้ต่อมาอีกนานปีนักแล้ว ก็อดขันไม่ได้ มันน่าจะจริง เจ้าบ๊อบอาจจะพูดเช่นนั้นจริง ตัวกูของกู อย่ามายุ่งกับกู ประโยคนี้ของเจ้าบ๊อบที่ได้ฟังผู้แปลภาษาเจ้าบ๊อบแล้ว ให้ความคิดที่เป็นประโยชน์เป็นธัมมะ ที่สำคัญไม่น้อย

อย่าว่าแต่คนเลย แม้หมาก็ยังมีตัวกูของกู ยังมีขันติแตก เช่นเจ้าบ๊อบตัวเราของเราที่มีกันท่วมท้นแบบทุกผู้ทุกคนจึงสำคัญนัก ทำขันติให้แตกได้ง่ายนัก บุญวาสนาที่จะได้ทำบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยบูชาอันยิ่ง จึงยากจะมีกันได้ เป็นการปิดกั้นมหามงคลมิให้เกิดแก่ชีวิตอย่างน่าเศร้าใจเป็นที่สุด มงคลใดเล่าจะเสมอด้วยการได้บูชาสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยบูชาอันยิ่ง

O พระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่อัญเชิญมาข้างต้น ควรจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่จิตใจไม่น้อย “ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำทรงคำสอนของพระศาสดา และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้า ด้วยบูชาอันยิ่ง” แม้เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญที่สุดของชีวิตว่าคือการบูชาสมเด็จพระบรมศาสดา

ย่อมจะเห็นความสำคัญของการทำจิตใจให้มั่นคงด้วยธรรมสำคัญ คือขันติเพื่อจะได้สามารถทำบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาพระผู้ทรงสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าทุกเวลานาทีด้วยการบูชาอันยิ่ง

O ที่จริงคุณของขันตินั้น พระพุทธศาสนาแสดงไว้มาก ล้วนแสดงถึงความสำคัญของขันติที่ควรสนใจด้วยกันทุกถ้วนหน้า เพราะความสำคัญของขันติธรรมนั้นล้วนเป็นประโยชน์แก่ผู้มีธรรมข้อสำคัญนี้อย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น “ผู้มีขันติชื่อว่านำประโยชน์มาให้ ทั้งแก่ตน ทั้งแก่ผู้อื่น ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์ และนิพพาน”

เพียงขันติเป็นทางนำขึ้นสวรรค์ ขันติก็สำคัญนักแล้ว แต่ขันติเป็นทางนำไปสู่ความสูงสุดยิ่งกว่าสวรรค์ นั่นก็คือที่พระศาสนสุภาษิตแสดงไว้ด้วยว่า “ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสวรรค์ และนิพพาน”

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาแม้เพียงสมควร ก็รู้ด้วยกันทั้งนั้นว่านิพพานเป็นจุดสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือเป็นที่ไกลกิเลสสิ้นเชิง ซึ่งก็คือเป็นที่ไกลความทุกข์สิ้นเชิง จุดสูงสุดที่ขันติธรรมสามารถนำไปถึงคือพระนิพพาน ไม่มีผู้ใดค้นพบทางไปสู่จุดสำคัญสูงสุดนี้ นอกจากสมเด็จพระบรมครูของพวกเราชาวพุทธทั้งหลายเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

น่าจะพากันสำนึกในความจริงนี้ ที่ควรเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของพวกเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา ผู้มีพระพุทธศาสนาเป็นที่รัก

O เราผู้นับถือพระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นที่รัก มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีสมเด็จพระบรมครูที่สูงส่ง ที่เหนือที่สุด น่าจะพากันคิดให้จงหนัก คิดให้สามารถขจัดความไม่เห็นความมีบุญยิ่งใหญ่ของเราที่ได้พบพระพุทธศาสนา

ได้มีสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นสมเด็จพระบรมครู น่าจะไม่พากันละเลยไม่คิดให้ซาบซึ้งเป็นที่สุดในความจริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้

พากันคิดเถิดให้ได้มีความสุขท่วมท้นจิตใจ ก็น่าจะพยายามคิดให้เกิดความภูมิใจในสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมครูของเราเถิด จะได้พบความสุขพ้นพรรณนาแน่นอน จะทำให้ความทุกข์ความร้อน ความวุ่นวายอย่างไม่เคยมีไม่เคยเป็นเช่นทุกวันนี้ ห่างไกลจากชีวิตจิตใจเราได้แน่นอน


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O ไม่มีผู้ใดอีกแล้ว ทั้งพรหมเทพและมนุษย์ที่จะเสมอด้วยสมเด็จพระบรมศาสดา ธัมมะในพระพุทธศาสนาที่สมเด็จพระบรมครูทรงแสดงนั้น แม้ศึกษาด้วยปัญญาเพียงพอสมควร ย่อมจะเห็นถึงพระพุทธหฤทัยว่ายิ่งใหญ่สูงสุด

ไม่มีใจเทพใจมนุษย์เปรียบได้ ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า วาจาต้องเกิดจากใจ พระพุทธหฤทัยปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนา ในพระธรรมคำทรงสอน อ่านพบธัมมะใดเป็นที่ประทับจับใจเพียงไร ขออย่าละเลยความสำคัญอย่างยิ่งเสีย

คืออย่าลืมคิดถึงพระพุทธหฤทัย ว่าต้องเป็นความประทับจับใจเพียงนั้น อย่าเพียงแต่อ่านพบธัมมะข้อนั้นบ้างข้อนี้บ้าง ชอบใจ ถูกใจ อยู่เพียงเท่านั้น

แต่จงนึกให้ลึก ให้ไกล ให้ไปถึงพระพุทธหฤทัย ให้ซาบซึ้ง ให้เทิดทูน ธัมมะจับใจเพียงใด เพียงนั้นก็ต้องพยายามนึกให้ไปถึงสมเด็จพระบรมศาสดาของเราให้มากที่สุด ให้ประทับอยู่ในจิตใจ ในความรู้สึกให้นานที่สุด ให้บ่อยที่สุด

เพราะนอกจากสมเด็จพระบรมครูของเราพระองค์นี้แล้ว ไม่มีผู้ใดจะมีธัมมะที่ไพเราะลึกซึ้งสูงส่งยิ่งด้วยคุณเช่นที่เรากำลังได้รับอยู่ แสดงถึงพระพุทธหฤทัยที่แท้จริง ว่าประเสริฐสูงส่งนัก ไม่เช่นนั้นพระธรรมะหรือจะสูงส่ง ทรงคุณวิเศษดังเป็นที่ปรากฏ

O พระธรรมคำทรงสอนในสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น แสดงชัดแจ้งว่าทรงเป็นพระผู้ทรงตรัสรู้แล้วจริง ทรงรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งทรงรู้แจ้งหัวใจสัตว์โลกทั้งปวง มิได้ยกเว้นแม้หัวใจมนุษย์ทั้งนั้น ทรงแสดงพระธรรมคำทรงสอนไว้มากมายนัก เพื่อให้เหมาะกับทุกจิตใจ

สำคัญเพียงเจ้าของจิตใจต้องให้ความสนใจจริงที่จะศึกษาและปฏิบัติและเลือกข้อคำธัมมะที่ทรงแสดงสอนให้ถูกกับจริตนิสัยสติปัญญาของตน ก็จะสามารถอัญเชิญผลแห่งพระธรรมที่ทรงสอนให้เกิดแก่ตนได้ มากน้อยตามควรแก่ความมุ่งมั่นปฏิบัติของตน ซึ่งอาจโดยเสด็จพระพุทธองค์ถึงความไกลกิเลสอย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องพบทุกข์ของความเกิดอีกต่อไป

O ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์โดยเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดาในสมัยพุทธกาล นับว่ามีบุญสูงสุดเสริมส่งอยู่ เพราะมีสมเด็จพระบรมครูทรงยกพระธรรมขึ้นทรงแสดงโปรดด้วยพระองค์เอง ลองนึกดูทุกวันนี้ก็อดชื่นใจภูมิใจแทนพระอริยสาวกทั้งหลายในสมัยพุทธกาลไม่ได้

พระพุทธองค์ทรงสอนด้วยพระองค์เอง ด้วยพระสุรเสียงที่กล่าวว่าไพเราะเพียงเสียงนกการะเวก และด้วยพระธรรมที่ทรงรู้แจ้ง ลึกซึ้ง ชัดเจน แจ่มใส เหมาะแก่จิตใจท่านผู้ทรงโปรด ชนิดที่กล่าวได้ว่าแทงจิตใจนั่นเอง ดังนั้นทรงเทศน์โปรดผู้ใด ผู้นั้นก็หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดในทันที ถึงความเป็นผู้พ้นทุกข์ เป็นผู้ชนะที่ไม่กลับแพ้ได้ในทันทีที่ทรงจบพระธรรมเทศนา

เราทั้งหลายไม่มีบุญได้รับฟังพระ สุรเสียงทรงแสดงพระธรรมแต่เราก็ยังมีบุญที่เกิดทันพบพระพุทธศาสนาได้ฟังได้อ่านพระธรรมคำทรงสอน ที่แม้เราพินิจพิจารณาด้วยดี เลือกให้ได้พระธรรมที่เหมาะกับสติปัญญาของเรา ก็มีทางเป็นไปได้ที่วันหนึ่งเราจะสามารถโดยเสด็จพระพุทธองค์ ถึงความพ้นทุกข์สิ้นเชิง

O พระพุทธภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้เกี่ยวกับขันติ มีว่า “รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์นั้น ล้วนเป็นโลกามิสอันร้ายกาจ สัตว์โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้” โลกามิสคือเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่กับโลก นั่นก็คือทรงมีพระพุทธภาษิตเตือนว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เป็นเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่กับโลก

ขันติย่อมเป็นขันแตกได้เพราะเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจ นี้เป็นความจริงที่ย่อมเป็นที่ยอมรับแน่นอน แม้ไม่ต้องอธิบายก็คงจะเข้าใจกันดีพอสมควร ที่ไม่เคยสนใจในความจริงนี้เลย ก็เป็นเพราะไม่เคยนึกได้ถึงพระพุทธภาษิตสำคัญบทหนึ่งนี้

ที่แม้จะมิได้ทรงยกคำว่าขันติมาเอ่ยถึงไว้ แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาย่อมเข้าใจดีด้วยกัน ว่าคำทรงสอนในสมเด็จพระบรมศาสดานั้นประณีตและลึกซึ้งมาก จำเป็นที่ผู้ศึกษาต้องให้ความประณีตในการอ่านในการแปลความ

มิฉะนั้นย่อมยากจะเข้าใจให้ลึกซึ้ง การศึกษาพระพุทธภาษิตบทนี้อย่างประณีตลึกซึ้ง ก็จะได้ความว่าสมเด็จพระบรมครูทรงชี้ชัดว่าสัตว์โลกย่อมยากจะมีขันติได้ เพราะหมกหมุ่นอยู่ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อันเป็นเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจ ที่จะทำให้ติดอยู่กับโลกและยากที่จะมีขันติอดทนอดกลั้นเอาชนะเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกที่ร้ายกาจนั้นได้

O รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เป็นเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่กับโลกอย่างไร จริงหรือไม่ น่าจะพิจารณาให้ได้คำตอบด้วยตนเองให้ถูกต้อง

O รูป ตาเห็นรูป อันเป็นรูปที่ต้องตาต้องใจก็ย่อมรู้ดีด้วยกัน ว่าเมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้นรุนแรง ย่อมพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งอันเป็นที่ปรารถนาต้องการอย่างที่สุดนั้น อาจถึงขึ้นที่พร้อมจะทำทุกสิ่งได้โดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมเสียความควรไม่ควร

คงจะได้พบข่าวเรื่องราวที่เกี่ยวกับความพ่ายแพ้ถึงขันติแตก เมื่อเกิดความปรารถนาต้องการของสวยของแพงของที่ผู้มีเงินมากๆ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีเท่านั้นจะเป็นเจ้าของได้ และเมื่อความปรารถนาต้องการเกิดขึ้นเต็มที่ ขันติแตกก็คือไม่อาจอดทนรับความไม่สมใจปรารถนาได้

ยอมพ่ายแพ้ต่อโลกามิสเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกที่ร้ายกาจ มีการยอมลักขโมยปล้นจี้ ฆ่า แม้จนถึงขายตัว ที่เสื่อมเสียศักดิ์ศรีชื่อเสียงเกียรติยศหมดสิ้นก็ทำได้ การยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจเช่นกล่าวมาคือความไม่มีขันติหรือขันติแตกนั่นเอง นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมจริงแท้ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมแน่นอน

O เสียง หูได้ยินเสียง แม้รู้สึกว่าเป็นเสียงที่ไพเราะจับจิตจับใจ ความปรารถนาต้องการให้ได้ยินเสียงนั้นก็ย่อมเป็นไปได้ที่อาจรุนแรง ถึงระดับที่ไม่อาจมีขันติต่อต้านโลกามิสเครื่องล่อใจอันร้ายกาจให้ติดอยู่กับโลก คือเสียงนั้น ความไม่รู้ผิดไม่รู้ชอบอันเป็นเหตุผลสำคัญให้มีขันติธรรม ย่อมเป็นเหตุให้พ่ายแพ้ ย่อมเป็นเหตุให้ทำความผิดความไม่ถูกไม่ชอบได้ทุกอย่างเพื่อได้เป็นผู้ได้ยินเสียงที่ต้องหูต้องใจนั้น ตลอดไป

นั่นเป็นไปในทางชื่นชอบในเสียงที่ได้ยินได้ฟัง แต่เสียงที่ไม่เป็นที่ต้องหู ไม่เป็นที่ต้องใจ ก็มีอยู่แตกต่างกันระหว่างเสียงสองอย่างนี้ คือเมื่อเป็นเสียงต้องหูต้องใจก็ทำให้ขันติพ่ายแพ้ต่อการมุ่งมั่นเป็นผู้มีสิทธิได้ยินได้ฟังตามต้องการ

แต่ถ้าเป็นเสียงไม่ต้องหูไม่ต้องใจอย่างรุนแรง ก็อาจทำให้พ่ายแพ้ต่อการมุ่งทำลาย ไม่ให้ต้องได้ยินได้ฟังขันติเป็นฝ่ายแพ้ได้ทั้งในทางดีและในทางร้าย นั่นก็คือเสียงเป็นโลกามิสเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกอย่างร้ายกาจประการหนึ่ง จึงพึงระวังภัยของเสียงให้อย่างยิ่ง ขันติพ่ายแพ้แก่เสียงเมื่อใด ไม่มีที่เมื่อนั้นจะพ้นจากภัยของโลกนี้ได้แน่นอน นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมจริงแท้ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมแน่นอน

O กลิ่น จมูกได้กลิ่น แม้รู้สึกว่าเป็นกลิ่นที่ชื่นจิตชื่นใจ ความปรารถนาต้องการให้ได้กลิ่นนั้นตลอดเวลา แม้รุนแรงถึงระดับที่ไม่อาจอดทนเมื่อไม่ได้กลิ่นนั้น ขันติต่อโลกามิสเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกคือกลิ่นนั้นย่อมพ่ายแพ้ ย่อมทำได้ทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะความควรหรือไม่เหมาะไม่ควร

มุ่งไปเพียงให้ได้กลิ่นนั้นเป็นที่ชื่นอกชื่นใจไม่ห่างหายเท่านั้น เหตุผลใดก็ไม่อาจยับยั้งได้ คือขันติพ่ายแพ้ต่อกลิ่น เป็นชัยชนะของโลกามิสประการนี้ ที่มีทั้งสองลักษณะคือทั้งที่เป็นกลิ่นชื่นจิตชื่นใจ และทั้งที่เป็นกลิ่นที่รับไม่ไหว เป็นที่รังเกียจรุนแรงนักหนาของจมูกของความคิดและชีวิตจิตใจ

จุดนี้ที่จะเป็นเหตุให้ขันติพ่ายแพ้ต่อโลกามิสคือกลิ่น คิดพูดทำที่รุนแรงหยาบช้าได้ตามอำนาจของความรู้สึกที่พ่ายแพ้ นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมแท้ๆ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมแน่นอน

O รส ลิ้นได้รับรส แม้รู้สึกว่าเป็นรสที่เอร็ดอร่อย ถูกลิ้นถูกใจ ความปรารถนาต้องการรสนั้นย่อมเกิด แม้รุนแรงถึงระดับที่ไม่อาจอดทนเมื่อได้รับรสเช่นนั้น ความต้องการรสนั้นที่รุนแรง ไม่อาจอดทนอดกลั้นต่อความอยากความปรารถนาต้องการ ก็ย่อมพ่ายแพ้ต่อโลกามิสเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกที่ร้ายกาจนัก

การแสวงหารสนั้นแม้จะต้องทุ่มเทเงินทองมากกว่าที่ตนมี หรือจนกระทั่งที่ตนไม่มี ก็จะทำทุกวิถีทางไม่เลือกผิดไม่เลือกชอบ ปล้นจี้ฆ่าแกงเขาก็ทำได้ทั้งสิ้น มีข่าวการปล้นฆ่าอย่างโหดร้ายรุนแรงอยู่บ่อยมากในทุกวันนี้

เมื่อถูกจับได้ ผู้ผิดผู้กำลังจะต้องได้รับโทษ แทบทุกรายให้การว่าจะนำเงินไปเที่ยวเตร่ตามสถานที่ที่ต้องใช้เงินทองมากในการดื่มกินทั้งเหล้ายาปลาปิ้ง เพื่อความได้รับรสเอร็ดอร่อยลิ้น เป็นความพ่ายแพ้แก่โลกามิส

แต่ไม่ว่ารสที่ลิ้นได้รับจะเป็นที่ชื่นชอบหรือเป็นที่รังเกียจ เมื่อแสดงออกหนักหนารุนแรงเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึก เช่น มีการลักขโมยปล้นฆ่าเพื่อแสวงหาหรือเพื่อหลีกหนีให้พ้นสิ่งเป็นที่ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่งนั้นๆ ก็นับว่าเป็นการพ่ายแพ้ต่อโลกามิส นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมจริงแท้ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมแน่นอน

O สัมผัส กายได้ถูกต้อง แม้รู้สึกว่าสิ่งที่กายได้ถูกต้อง ให้ความสุขความสบายทั้งกายใจ ความปรารถนาต้องการความสัมผัสนั้นย่อมเกิดสัมผัสอื่นที่ไม่ให้ความสุขสบายกายใจ ทั้งอาจจะให้ความรังเกียจ ความสัมผัสนั้นย่อมไม่เป็นที่ปรารถนา

เมื่อความปรารถนาต้องการรุนแรง มีระดับสูง ก็จะดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้สมปรารถนา จะคิดพูดทำทุกอย่างได้แม้เป็นความผิดความไม่ถูกไม่ชอบทั้งปวง เป็นความพ่ายแพ้แก่โลกามิสหรือเครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกที่ร้ายกาจ สัมผัสที่ชอบใจเป็นเหตุให้ขันติแตก พ่ายแพ้แก่โลกามิส และสัมผัสที่ไม่ชอบใจก็เป็นเหตุให้ขันติแตกได้เช่นกัน พ่ายแพ้แก่โลกามิสได้เช่นกัน นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมจริงแท้ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมแน่นอน


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O ธรรมารมณ์ ความรู้สึกความคิดนึกที่เกิดในใจเป็นธรรมารมณ์ อาจให้ความเพลิดเพลินยินดีมากมายเพียงใดก็ได้ หรืออาจให้ความขุ่นมัวเศร้าหมองโกรธเกรี้ยวเพียงใดก็ได้ นั่นก็เท่ากับจะให้ความสุขเพียงใดก็ได้ หรือจะให้เป็นทุกข์เพียงใดก็ได้ ได้ทั้งที่ดี และได้ทั้งที่ร้าย เช่นเดียวกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเอง

กล่าวได้ว่าอายตนะภายนอกทั้ง ๖ หรืออารมณ์ ๖ นี้ เมื่อสัมผัสกับอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมเกิดอารมณ์ได้ทั้งที่ให้ความสุขและให้ความทุกข์ แต่ไม่ว่าจะให้ความสุขหรือให้ความทุกข์ก็ตามแก้เกินขอบเขตทำให้ขาดจากความถูกต้อง ขาดจากความอดกลั้น

คือไม่สามารถควบคุมไว้ให้เป็นอารมณ์ในใจได้ ให้เป็นขันติได้ ทำความไม่ชอบความเสื่อมเสียให้เกิด เรียกว่าไม่มีขันติ หรือขันติแตก ขันแตกนั่นเอง นี้เป็นกรรม เป็นเรื่องของกรรมจริงแท้ เป็นเรื่องของการแพ้กรรมนั่นเอง

O ขันติ จะเป็นขันติแตกนั้นเกิดเพราะขาดสติเป็นสำคัญ ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมผัสของอายตนะภายนอกกับภายในรุนแรงไปในทางสุขหรือทางทุกข์ก็ตาม แม้ขาดสติ ไม่รู้ความควรไม่ควรแสดงออก

ย่อมไม่ได้รับความสุขเป็นผลแห่งการขาดสติและขาดขันติพระพุทธศาสนาสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวได้ว่า “คนมีสติย่อมได้รับความสุข” ผู้ขาดสติจนถึงไม่สามารถรักษาขันติไว้ได้ มีหรือจะได้รับความสุขดังปรารถนา ต้องมีสติรักษาขันติไว้ให้ได้จึงจะได้รับความสุข

O เราเคยได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นกันอยู่เนืองๆ เมื่อมีผู้ขาดสติ ทำอะไรลงไปให้ผู้รู้ผู้เห็นกล่าวถึงว่าขาดสติ จึงทำผิดๆ ถูกๆ วุ่นวายอยู่ และที่ผู้อื่นจะรู้ว่าคนนั้นคนนี้ขาดสติขาดขันติ ก็ด้วยเห็นจากกิริยาอาการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าวุ่นวาย ไม่ถูกไม่ชอบ ไม่สมควร

นั้นก็แสดงว่ามีความไม่สงบปรากฏออกให้คนภายนอกรู้เห็นความรู้สึกในจิตใจเขา อันเป็นเหตุให้รักษาขันติไว้ไม่ได้ ไม่มีความสุข เพราะผู้มีความสุขภายในนั้น ภายนอกย่อมสงบ ดังพระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวได้ว่า “ผู้สงบระงับย่อมอยู่เป็นสุข”

O พระพุทธศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” และ “ศรัทธาตั้งมั่นแล้วนำสุขมาให้” ก่อนอื่นก็น่าจะต้องมีศรัทธาเชื่อพระพุทธศาสนสุภาษิต ๒ บทนี้ให้พอสมควรเสียก่อน

จึงจะเป็นเหตุให้มีศรัทธาในพระพุทธภาษิตสำคัญที่อัญเชิญมาแล้วว่า “รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์นั้น ล้วนเป็นโลกามิสอันร้ายกาจ สัตว์โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้”

มีศรัทธาเชื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสูงสุดของเราของโลก ก็จงตั้งสติพยายามจำที่ทรงมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เป็นโลกามิส คือเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่ในโลก เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส ใจเกิดความคิดเกิดอารมณ์ให้นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ทรงเตือนไว้นี้บ้าง

เพียงนึกถึงไว้บ้างก็ยังดีกว่าไม่นึกเสียเลย นึกว่าล้วนเป็นเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่ในโลก ไม่อาจพ้นได้ง่ายๆ นอกเสียจากว่าจะมีสติ มีศรัทธาให้มากที่สุดในพระพุทธภาษิตดังกล่าว ที่ไม่เพียงทรงแสดงให้รู้ว่ารูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและธรรมารมณ์เป็นโลกามิสเครื่องล่อให้ติดอยู่กับโลกเท่านั้น แต่ยังทรงชี้ให้รู้ด้วยว่า “สัตว์โลกหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้” และมีเรานี้แหละเป็นหนึ่งในสัตว์โลกผู้หมกหมุ่นในอารมณ์เหล่านั้น

O สมเด็จพระบรมครูของพรหมเทพและมนุษย์ของเรา พุทธศาสนิกชนผู้มีพระพุทธศาสนาเป็นที่รักทั้งหลาย ทรงมีพระมหากรุณาชี้ชัดให้เราได้สำนึกรู้ว่าเราเป็นผู้หมกหมุ่นอยู่ในอารมณ์ที่เกิดแต่รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและธรรมารมณ์

ฟังพระพุทธภาษิตตรัสเตือนนี้แล้วพึงได้คิดบ้างว่าเราหมกมุ่นอยู่ในโลกามิสแน่นอน รูปที่เราได้เห็นแต่ละวันเวลานั้นเราก็ไปหมกมุ่นติดอยู่แน่นอน โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังหมกหมุ่นติดอยู่กับรูปเป็นต้น

รูปนั้นรูปนี่ รูปคนนั้น รูปคนนี้ เพลิดเพลินอยู่ด้วยความยินดีปรีดาถูกอกถูกใจ เกิดความใคร่ความปรารถนาบ้างไม่ถูกตาไม่ถูกใจ เกิดความเร่าร้อนรังเกียจชิงชังบ้าง ทั้งหมดนี้แม้เป็นผู้ไม่มีขันติดความอดกลั้นเพียงพอ ก็ย่อมปรากฏออกมาภายนอกพ้นจากจิตใจ เป็นกิริยาวาจาที่น่าเกลียด น่ากลัว น่ารังเกียจได้ต่างๆ กัน

ตามลักษณะของอารมณ์ เรียกว่า โลกามิสชนะ หรือจะเรียกว่า กรรมชนะก็ไม่ผิด เพราะเราปฏิบัติไปตามแรงอำนาจของกรรม กรณีข่มขืนที่เกิดขึ้นค่อนข้างไม่น้อยทุกวันนี้ ที่ไม่เคยมีเสมอเหมือนมาก่อนก็แน่นอนล้วนเกิดแต่ความระงับขันติไม่ได้ ตกเป็นเหยื่อของโลกามิส เครื่องล่อใจให้ติดอยู่กับโลกที่ร้ายกาจ

เช่นนี้ก็เป็นความแพ้แก่อำนาจกรรม แพ้กรรมหรือแพ้โลกามิสนั่นเอง รู้เช่นนี้แล้ว อย่ายอมแพ้โลกามิส อย่ายอมแพ้กรรมง่ายๆ จงสู้ จงเป็นผู้ชนะกรรม ชนะโลกามิสที่แม้จะชนะยาก

O มีศรัทธาในพระพุทธภาษิตเถิด ดูจิตใจความคิดนึกของตนเอง ดูให้เห็นว่าที่เราว่านับถือพระพุทธศาสนานั้น เรานับถือเพียงที่ปาก หรือว่านับถือด้วยมีศรัทธาเคารพเทิดทูนสมเด็จพระบรมศาสดาจริง และจะดูให้เห็นตามความเป็นจริง ก็ไม่ยาก เพราะถ้าจริงคือเรานับถือพระพุทธศาสนาไม่เพียงที่ปาก แต่นับถือด้วยใจที่เคารพศรัทธาในสมเด็จพระบรมศาสดาจริง

อะไรที่ทรงสอน แม้จะมากมายนักหนา แต่ก็มีอยู่ไม่น้อย ที่ทรงมุ่งตรงมาที่เราแต่ละคน ดังที่ทรงกล่าวถึงสัตว์โลก อันหมายถึงเราทุกคนนี้เองว่าหมกหมุ่นอยู่ในเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและธรรมารมณ์ ที่ไม่อาจพาเราให้พ้นเครื่องผูกมัดของโลกไปได้ง่ายๆ

อ่านให้เข้าใจ ให้เห็นว่าแม้ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่สัตว์โลกแล้ว สมเด็จพระบรมครูย่อมไม่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นพระพุทธภาษิต คิดให้ดี และพยายามแลให้เห็นว่าตนกำลังทำผิดฝ่าฝืนคำทรงสอนในพระพุทธศาสนา

ทุกวันนี้เราหมกหมุ่นอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและธรรมารมณ์จริง ไม่เคยคิดถึงคำทรงสอน เมื่อความหมกหมุ่นในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสและธรรมารมณ์รุนแรงถึงที่สุด มักจะลงท้ายด้วยขันติดความอดกลั้นแตก ทำผิดทำชั่วได้ให้เป็นการยอมแพ้แก่โลกามิส และเป็นการยอมแพ้แก่กรรม

O รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์นั้น ที่จริงก็เช่นเดียวกับกิเลส คือไม่มีมือไม่มีเท้าที่จะพาเข้าไปสู่จิตใจผู้ใดได้ มือเท้าของจิตใจเราแต่ละคน ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชน นั่นต่างหากที่นำให้เกิดความหมกหมุ่นในรูปเสียงเป็นต้น และมือเท้าของจิตใจคือความคิดปรุงแต่งเมื่อตาเห็น รูปหูได้ยินเสียงเป็นต้น เป็นเหตุให้รูปเสียงเป็นต้นนั้นเป็นโลกามิส เครื่องล่ออันร้ายกาจให้พากันติดอยู่กับโลก

O เมื่อตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงเป็นต้น จงมีสติ ควบคุมความคิดปรุงแต่งให้ดีที่สุด นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ทรงชี้ว่าเราหมกมุ่นในรูปในเสียงเป็นต้น จนยอมอยู่ในอำนาจของเครื่องล่อใจที่ร้ายกาจให้ติดอยู่กับโลก นึกถึงคำทรงเตือนให้ทันเวลา คือมีสติให้เร็วที่สุดเมื่อตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงเป็นต้น

เพราะแม้สติช้าเพียงไร ผลร้ายที่จะเกิดตามมาก็จะเร็วและรุนแรงมากขึ้นเพียงนั้น ถึงขนาดขันติแตกก็ปรากฏอยู่ไม่น้อย คดีเด็กหญิงถูกข่มขืน ที่ปรากฏค่อนข้างบ่อยกว่าเคยมีมาในอดีต ก็หาได้เกิดจากอะไรอื่นไม่ เกิดจากความคิดปรุงแต่งเมื่อตาเห็นรูปเป็นสำคัญ

จึงนำให้ไม่อาจมีขันติทนความรู้สึกที่ไม่ถูกไม่ชอบได้ ผลที่เกิดตามมาจากความหมดขันติ จึงเป็นผลแห่งกรรมโดยแท้ ตราบใดที่ขันติดยังดำรงอยู่ได้ ตราบนั้นการคิดพูดทำที่มิชอบ ที่ผิดร้ายต่างๆ จะไม่เกิด

ถือได้ว่าเป็นการไม่แพ้กรรมไม่อาจชนะผู้ที่ขันติไม่แตก ขันติที่มั่นคงอยู่สามารถเอาชนะกรรมได้ วิธีหนึ่งที่จะทำให้สามารถรักษาขันติไว้ได้ โดยนึกให้ทันก่อนที่จะพูดทำอะไรที่ไม่ชอบไม่ควร ที่ทำความเสียหายร้ายแรงนานาประการให้เกิดแก่ตนเองก่อนผู้ใดอื่นทั้งหมด ว่ากรรมจะชนะไม่ได้ เราต้องชนะกรรม ต้องรักษาขันติได้

O ความโลภ ความโกรธ ความหลง สามประการนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ที่สำคัญว่าเรามีขันติมากน้อยเพียงไหน ถ้าไม่โลภหนักหนาก็จะไม่รู้สึกว่าขันติถูกนำมาใช้ ถ้าไม่โกรธหนักหนาก็เช่นกัน ก็จะไม่รู้สึกว่าขันติถูกนำมาใช้

หรือถ้าไม่หลงความเป็นตัวเราของเรามากนักหนา ก็จะไม่รู้สึกว่าขันติถูกนำมาใช้ ด้วยเหตุนี้ขันติจึงไม่ค่อยได้ทำหน้าที่สำคัญส่งเสริมมนุษย์ ดังพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่ว่า “ขันติย่อมตัดรากแห่งบาปทั้งสิ้น, ผู้มีขันติชื่อว่าย่อมขุดรากแห่งความติเตียนและการทะเลาะกันเป็นต้นได้”


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O ผู้มีขันติคือผู้ที่แม้มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ในใจมากมายเพียงใดก็ตาม เมื่อมีขันติ ไม่แสดงความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกมาอย่างรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิด ความหนักความเบา ขันติเป็นความมีใจอดทนอดกลั้น

หรือจะกล่าวว่าทนเก็บความรู้สึกไม่ว่าโลภ ไม่ว่าโกรธ ไม่ว่าหลง ที่เกิดขึ้นรุนแรงเพียงใดก็ตาม ให้อยู่แต่ภายในใจตน ไม่ให้พ้นใจออกปรากฏเป็นการติเตียนทะเลาะวิวาท ฆ่าฟันกันถึงเป็นถึงตายอันเป็นบาปกรรมทั้งหลาย เป็นไปตามพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาจริงที่ว่า “ขันติตัดรากแห่งมารได้”

O ผู้ที่ไม่ได้แสดงความมีขันติให้กลายเป็นความไม่มีขันติหรือขันติแตก อาจไม่ใช่ผู้มีขันติจริง เมื่อเกิดอะไรขึ้นที่น่าจะก่อให้เกิดความโลภความโกรธความหลง ผู้มีขันติอดทนอดกลั้นจริงไม่ต้องใช้กำลังใจมากมาย เป็นไปง่ายๆ สบายๆ แต่ก็เป็นขันติ จึงน่าจะแบ่งขั้นได้ว่าเป็นชั้นสูงเหนือขันติธรรมดาทั่วไป

ผู้มุ่งมีขันติทั้งหลายอาจต้องข่มใจมาก ถ้าข่มได้สำเร็จ ขันติก็จะเป็นขันติ ไม่เป็นขันแตกให้น่ากลัว ขันติจะเข้าสู่ระดับไม่ต้องข่มใจหนักหนาได้ต้องอยู่ที่การพยายามฝึกเสมอ เมื่อกระทบอารมณ์ใดก็ให้ระวังใจให้ดีที่สุด

คือนึกให้เกิดมงคลสูงสุดแก่ชีวิต ว่าเราจะบูชาสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยบูชาอันยิ่ง คือด้วยการมีขันติ ดังในพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า “ผู้มีขันติชื่อว่าทำตามคำทรงสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา” นี้เป็นคำทรงสอนท่ให้คุณแก่ชีวิตสัตว์โลกเป็นอย่างยิ่ง

O อีกบทหนึ่งของพระศาสนสุภาษิตในพระพุทธศาสนาที่แสดงรับรองความยิ่งใหญ่แห่งคุณของขันติ ก็คือ “ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ, ผู้มีขันติเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” แม้จะข้องใจว่าเป็นจริงตามพระศาสนสุภาษิตนี้หรือขันติมีคุณยิ่งใหญ่เพียงนี้จริงหรือ

ก็ย่อมสามารถพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นความจริงได้ ว่าเป็นเช่นไร คุณของขันติมีเช่นที่กล่าวไว้ในพระศาสนสุภาษิตเห็นได้อย่างไร ก็อย่างนี้

ผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา อันดับแรกนี้น่าจะมีผู้เห็นด้วยเป็นอันมาก เพราะมีเมตตา ไม่อาจระเบิดอารมณ์แรงร้ายด้วยความโกรธความเกลียดใส่ผู้ใดผู้หนึ่งต้องเก็บกดไว้ภายในใจ ด้วยยังมีเมตตาเพียงพอจะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกระเทบกระเทือนใจจากการแสดงออกของตน

หรือไม่เมตตาผู้เป็นเหตุให้เกิดความโกรธความเกลียด ก็อาจเมตตาไปถึงผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้เป็นต้นเหตุนั้น ไม่อยากจะทำให้ต้องเดือดร้อน ความพยายามพยายามเก็บกดความรู้สึกไม่แสดงออกเช่นนี้ที่เป็นขันติ ที่กล่าวว่าผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา เช่นนี้ก็ทำให้อาจรู้อาจเข้าใจได้ว่าผู้ใดมีเมตตา ผู้ใดไม่มีเมตตา แม้ได้พบได้เห็นการแสดงออกดังกล่าว

O ที่ว่าผู้มีขันตินับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และมีสุขเสมอ ควรจะเข้าใจได้แม้นึกไปให้ถึงผลของเมตตาว่า ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ เมตตาสร้างสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในโลกได้ เช่นนี้จะไม่เรียกว่าผลของเมตตายิ่งใหญ่มหัศจรรย์ได้อย่างไร

เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระเมตตาเป็นล้นพ้นต่อสัตว์โลกทั้งปวง พระเมตตาทำให้ทรงทนรับรู้รับเห็นสภาพไม่เป็นสุขของคนแก่คนเจ็บคนตายไม่ได้ ทรงดิ้นรนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากความแก่ความเจ็บความตาย ซึ่งด้วยพระปัญญายิ่งทรงทราบว่าความทุกข์ทั้งหมดนั้นมีเพราะความเกิด

ดังมีพระศาสนสุภาษิตรับรองว่า “ความเกิดเป็นทุกข์” ซึ่งคงจะเห็นจริงเห็นด้วยกันทุกคน ไม่เกิดก็จะแก่จะเจ็บจะตายได้อย่างไรเล่า พระผู้ทรงยิ่งด้วยพระเมตตายังทรงได้สำเร็จผลถึงเกิดมีสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไฉนเล่าความมีลาภ มียศ มีสุข จะเกิดไม่ได้ด้วยอำนาจของเมตตา

O นึกให้ลึกลงไปจริงๆ เมตตาให้ผลได้ใหญ่ยิ่งนัก สร้างได้ถึงสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมา สัมพุทธเจ้า ขันติสร้างเมตตา จะไม่ยิ่งใหญ่จนประมาณมิได้หรือ ควรหรือไม่ที่จะพยายามอบรมขันติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ได้เสวยผลยิ่งใหญ่ในชีวิต

O พระศาสนสุภาษิตบทหนึ่งที่เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของขันติ มีว่า “ขันติความอดทนเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์” รู้สึกว่าขันติจะมีค่าสูงส่งงดงามยิ่งนัก คำว่านักปราชญ์ก็งดงามอยู่แล้ว แต่จะงดงามยิ่งขึ้นด้วยมี “ขันติเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์”

รู้สึกว่าขันติจะมีค่าสูงส่งงดงามยิ่งนัก คำว่านักปราชญ์ก็งดงามอยู่แล้ว แต่จะงดงามยิ่งขึ้นด้วยมีขันติเป็นเครื่องประดับ ท่านผู้เป็นปราชญ์คงจะให้ความสำคัญกับขันติเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าที่เคยมีเคยเป็นอยู่แล้ว

O พระขันติเป็นเหตุให้พระเมตตาของเจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จสัมฤทธิ์ผล ขณะเดียวกันพระเมตตาก็เป็นหตุให้พระขันติของเจ้าชายสิทธัตถะสำเร็จสัมฤทธิ์ผล และทั้งขันติและเมตตาเป็นคำทรงสอนในสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราทั้งหลายต่างก็ได้รับผลของขันติของเมตตาไม่มากก็น้อยด้วยกัน ไม่ควรจะไม่ระลึกไว้เสมอถึงพระมหากรุณาคุณยิ่งใหญ่นี้ ควรจะระลึกไว้เสมอ ให้คู่กับลมหายใจก็วิเศษ ก็ไม่มากเกินไป ที่ส่วนมากรู้จักคำว่า “พุทโธ” และนำไปใช้เป็นคำภาวนาเวลาปฏิบัติ

โดยที่คงมีบ้างที่มิได้นึกไปให้ไกลถึงสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อัญเชิญคำพุทโธมากล่าวแทน นึกเสียเถิด อย่าเพียงแต่คิดว่าคำ “พุทโธ” จะช่วยให้การปฏิบัติสมาธิได้ผล เป็นการถูกต้องในการปฏิบัติสมาธิ คิดเพียงเท่านี้ก็ไม่ผิด แต่เป็นมงคลแก่จิตใจน้อยไปมาก

“พุทโธ” เป็นคำที่อัญเชิญมาแทนพระองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรื่องของใจสำคัญมาก เรื่องของใจก็คือเรื่องราวของความคิดนั่นเอง ท่อง “พุทโธ” ใจต้องน้อมนึกไปถึงพระผู้ทรงเป็นพระพุทโธ จึงจะถูกต้อง จึงจะเกิดมหามงคลแก่การปฏิบัติ ฉะนั้นอย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านไปโดยไม่เกิดมหามงคลแก่ชีวิต แก่การปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร ท่องพุทโธโดยใจรับรู้อยู่ว่าคือพระพุทธเจ้าสมเด็จพระบรมครูของเรา


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 12 ธ.ค.2007, 8:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O เรื่องการใช้คำ “พุทโธ” ในการภาวนา เมื่อคิดดูจริงๆ แล้ว อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระบรมครูมาเป็นคำภาวนา ก็งดงามมาก เป็นมงคลมาก ทีแรกหรือเมื่อก่อนหน้านี้นานนักไม่ได้คิดให้ลึกลงไปให้สมควรว่า “พุทโธ” ที่เป็นพระนามพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำบาลี แต่คนไทยส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็นคำไทย

ดังนั้นคำภาวนา “พุทโธ” จึงน่าจะเป็น “พระพุทโธ” เพราะผู้ภาวนาส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็นคำไทยอย่างว่า ดังนั้นเมื่อพุทโธเป็นพระนามแทนพระองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นพระพุทโธ ไม่ใช่พุทโธเท่านั้น พุธโธ ธัมโม สังโฆ ใช้ได้ถูกดี
แต่แม้ใช้ลำพัง “พุทโธ” อยากให้ใช้ “พระพุทโธ” มากกว่าเป็นคำไทยที่ถูกต้องสำหรับแทนพระพุทธองค์

ทุกวันนี้ หลายครั้งได้ยินสื่อใช้คำว่า พุทธองค์ ไม่ใช่พระพุทธองค์ คือไม่เข้าใจคามสำคัญของคำ “พระ” นั่นเอง เป็นอีกแบบหนึ่งของคนสมัยใหม่ แต่ก็นึกโทษตัวเองเหมือนกันว่าที่ไม่ใช้คำ “พระพุทโธ” ใช้ “พุทโธ” อยู่นานหนักหนา โดยมิได้เฉลียวคิดว่าน่าจะให้เป็นคำไทย เพื่อคนไทยส่วนใหญ่

บัดนี้มีความมุ่งมั่นจริงใจที่อยากให้พุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาและมีพระพุทธศาสนาเป็นที่รัก คือเป็นพุทธมามกะ มาพร้อมใจกันเทิดทูนสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมครูผู้สูงสุด

ให้สมกับความประเสริฐเลิศล้ำหาที่เสมอเหมือนมิได้ “พุทโธ” เป็นบาลี ใช้ภาษาไทย “พระพุทโธ” นั้นถูกต้อง “พุทโธ” ก็เช่นเดียวกับ “พุทธองค์” ที่สื่อใช้อยู่บ่อยๆ ไม่สนิทหู ไม่สนิทใจอย่างมากที่ถูกที่ควรนั้นต้อง “พระพุทธองค์” ไม่ใช่ “พุทธองค์”

O คำพระพุทโธเป็นคำมีมงคลสูงสุด แน่นอน ไม่ควรละเลยการเทิดทูนให้ถูกต้อง เพราะเป็นคำแทนพระองค์สมเด็จพระบรมครู พระผู้ทรงพระคุณไม่มีเสมอแก่สัตว์โลก ไม่เช่นนั้นก็จะเท่ากับปฏิเสธมหามงคลที่ควรได้ควรมี

ดังที่มุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกคน มาใช้คำ “พระพุทธองค์” และมาใช้คำ “พระพุทโธ” เถิดไม่ยากลำบากไปกว่าใช้คำ “พุทธองค์” หรือ “พุทโธ” เช่นที่ใช้อยู่ ก็เข้าใจกันได้ชัดๆ อย่าผัดวันประกันพรุ่งให้มหามงคลมาถึงชีวิตตน ตลอดถึงชีวิตประเทศชาติกันต่อไป

การล่วงล้ำก้ำเกินสมเด็จพระบรมศาสดาของเราทุกวันนี้หนักขึ้น แรงขึ้น มากขึ้น บ่อยขึ้น ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยเรานี้เอง การประพฤติปฏิบัติเทิดทูนสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยใจจริง มีผลดีแน่นอน การเสด็จดับขันธปรินิพพานมิใช่เช่นการสิ้นชีวิตของพวกเรา

ลองคิดดูด้วยเหตุผล ก็น่าจะเขาใจ เราหรือจะไปเปรียบได้ดั่งสมเด็จพระบรมครู ถ้าการเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่แตกต่างกับการสิ้นชีวิตของเรา ความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอริยะ จะแตกต่างกับความเป็นปุถุชนได้อย่างไร

แต่ตามความเป็นจริง พระพุทธองค์ พร้อมพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย แตกต่างห่างไกลกันนักหนา กับเราผู้เป็นปุถุชน สุดจะหาคำมาเปรียบให้ใกล้ความเป็นจริงได้ เราปุถุชนละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปเกิดไปอยู่ในภพภูมิต่างๆ กัน ไปเป็นผีบ้าง สัตว์บ้าง คนบ้าง เทวดาบ้าง ความรู้ความสามารถ ความเป็นอยู่ในภพภูมิมนุษย์จบสิ้นไปพร้อมกับการจบสิ้นของชีวิต แต่สมเด็จพระบรมศาสดาและพระอริยสงฆ์ท่านหาเป็นเช่นนั้นไม่แน่นอน

O การภาวนา “พระพุทโธ” ที่จะเปลี่ยนจากการภาวนาพุทโธที่เคยทำมานั้น ครูอาจารย์นักปฏิบัติสำคัญๆทั้งหลายท่านก็สอนตรงกัน ดังเช่นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านยังใช้อุบายสอนชาวป่าชาวเขาให้รู้จักภาวนาคำ “พุทโธ” โดยให้เขาช่วยหา “พุทโธ” ของท่าน ที่ท่านบอกว่าท่านทำหาย ให้เขาช่วยหา และผลดีก็เกิดแก่ชาวป่าชาวเขาผู้นั้น แสงสว่างเกิดขึ้นธัมมะเกิดขึ้น เขาได้เบิกบานเป็นสุขเพราะหาพุทโธพบ

O ภาวนาพระพุทโธในการปฏิบัติ อาจเปรียบได้กับกำลังเดินอยู่บนทางสายพระพุทโธ ทางสายนี้มีจุดหมายสำคัญมากมายหลายจุดเป็นธัมมะก็เช่นเห็นเกิดดับ เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้น

ถ้าเดินอยู่บน “ทางสายพระพุทโธ”
คือภาวนาพระพุทโธไว้ให้ทุกเวลา
ไม่ต้องเจาะจงเฉพาะนั่งสมาธินั่งปฏิบัติเท่านั้น
แต่ให้ถือเป็นกิจวัตร
คือหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำทุกเวลาที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่
จะยืนเดินนั่งนอนกินข้าวอาบน้ำ
หรือทำงานด้วยกายมิใช่ด้วยใจ
ใจว่างจากงานอยู่
ภาวนา “พระพุทโธ” ไว้


อย่าทิ้งไปใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งใดอื่น เปรียบการภาวนา “พระพุทโธ” ก็เพื่อให้เข้าใจความจริงอย่างชัดแจ้งว่า ถ้าเดินอยู่บน “ทางสายพระพุทโธ” ไม่หยุดแวะเวียนไปคิดนั้นคาดนี่ ก็จะถึงจุดหมายอันควรถึงอันปรารถนาถึงแน่นอน “ทางสายพระพุทโธ” จะนำไปถึงหลายต่อหลายจุดดังกล่าวมาแล้ว

ถ้ายังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น จะคิดสร้างภาพเอาเองอย่างไรก็ย่อมยากจะเป็นไปถูกตรงตามความจริง ก็เช่นเดียวกับถ้าเราไม่เคยเห็นที่ทรงตรัสรู้ เพราะไม่เคยไป เราจะนึกภาพเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ โดยนั่งนอนอยู่กับที่บ้านเรือนของตนในเมืองไทยเรานี้ จะเห็นถูกต้องได้อย่างไรถึงที่ทรงตรัสรู้

การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน จะไปให้ถึงจุดนั้นจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่เดินทางไปให้ถึงจุดที่ปรารถนาจะรู้เห็นเสียก่อน “ทางสายพระพุทโธ” พาไปถึงแน่ เมื่อไปถึงแล้ว นั่นแหละเราจะเห็นป้ายบอกว่าที่นั่นที่นี่ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่เป็นงานสำคัญของเราที่จะต้องพินิจพิจารณาให้เห็นชัดเห็นแจ้ง

ทุกจุดที่ “ทางสายพระพุทโธ” จะพาผ่านไปถึงนั่นแหละ อย่าประมาทว่า “ทางสายพระพุทโธ” ไม่พาไปถึงจุดที่ต้องการรู้ต้องการเห็น อย่าท้อแท้ปฏิเสธที่จะเดิน “ทางสายพระพุทโธ” เพราะคิดว่าคงย่ำอยู่กับที่ไม่ใช่เช่นนั้น “ทางสายพระพุทโธ” ยาวมากพาผ่านจุดสำคัญมากมาย ล้วนแต่ที่ปรารถนาต้องการจะรู้จะเห็นกันทั้งสิ้น จุดเกิดดับก็มี จุดไตรลักษณ์ก็มี จุดอริยสัจ ๔ ก็มี

“ทางสายพระพุทโธ” พาไปถึงแต่ละจุดทั้งสิ้น เมื่อถึงแล้วก็ดูเอาเองเถิด จะแตกต่างกับการเดาทั้งที่ยังไม่ได้เดินทางสายที่ผ่านแต่ละจุดเลย แล้วจะท้อแท้ได้อย่างไร มาเริ่มต้นใหม่ ใจเย็นๆ มีความเพียรให้พอกับความอยากได้ถึง แล้วเดินไปตาม “ทางสายพระพุทโธ” นี้แหละ

อย่าออกจากทางเสียก่อน อย่าลังเล เปลี่ยนทางนั้นทางนี้ แล้วเมื่อไรจะเดินไปถึงจุดแต่ละจุดที่มุ่งมาดปรารถนาแสวงหาอยู่ เมื่อยังไปไม่ถึงที่ คิดอย่างไรจะเห็นถูกเห็นตรงตามความเป็นจริง

ในเมื่อยังเป็นปุถุชนผู้สติปัญญา ยังหาได้พรั่งพร้อมจนมีความสามารถดั่งตาทิพย์ที่จะให้เห็นได้โดยอยู่ไกลแสนไกล ไมต้องอาศัย “ทางสายพระพุทโธ” ที่ศักดิ์สิทธิ์พาไป แต่ถ้าเรายังต้องอาศัยทางสายหนึ่งสายใดอยู่ ก็มาอาศัยทางสายยอดมงคล คือ “ทางสายพระพุทโธ” เถิดเริ่มเสียบัดนี้เถิด จะช่วยตนเองได้ ช่วยเพื่อน ร่วมทุกข์ได้ ช่วยประเทศชาติได้ ไม่มากก็น้อยให้พ้นจากความเร่าร้อนวุ่นวายด้วยอำนาจของกิเลสท่วมท้น ที่ทำให้น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง

น่าช่วยกันคิด ช่วยกันทำทุกอย่าง ที่เป็นสิริเป็นมงคล ให้เต็มสติปัญญาความสามารถ ให้มากที่สุด และให้รวดเร็วที่สุด ทำเดี๋ยวนี้ ทันทีนี้อย่ามัวรีรอลังเล เวลาไม่คอยท่าอีกต่อไปแล้ว


ขออนุโมทนาอำนวยพร
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ตุลาคม ๒๕๔๗


สาธุ สาธุ สาธุ

..เจริญธรรมครับ...
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง