Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ลอยกระทง “วัดสุวรรณ” - ชมขันลงหิน “บ้านบุ” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ย.2007, 10:58 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม งามโดดเด่นด้วยหลังคาทรงสำเภา


ลอยกระทง “วัดสุวรรณ” - ชมขันลงหิน “บ้านบุ”

ประเพณีลอยกระทง กำลังจะเวียนมาถึงในวันเสาร์สุดสัปดาห์นี้พร้อมๆ กับลมหนาวที่กำลังพัดผ่านกรุงเทพฯ คิดไหมว่าเทศกาลนี้มันช่างเหมาะกับหน้าหนาวเสียจริง เพราะนอกจากน้ำจะนองเต็มตลิ่งแล้ว การได้มองเห็นแสงไฟในกระทงของเราลอยวิบๆ วับๆ อยู่ในแม่น้ำท่ามกลางอากาศหนาวๆ นั้นมันช่างโรแมนติกดีแท้

และถ้าปีนี้มีคนกำลังมองหาที่ลอยกระทงใหม่ๆ เหมาะๆ กันอยู่ ก็มีสถานที่หนึ่งอยากจะขอแนะนำ นั่นก็คือที่บริเวณท่าน้ำวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรีนี่เอง เพราะที่นี่เขามีประเพณีลอยกระทงที่เรียกว่า “เวียนกระทง” ซึ่งเป็นประเพณีที่น่าสนใจไม่น้อย

หากใครตั้งใจจะมาลอยกระทงที่นี่ ขอแนะนำให้มาแต่หัววัน เพื่อใช้เวลาระหว่างรอให้ถึงช่วงพลบค่ำซึ่งเป็นเวลาเหมาะที่จะลอยกระทงลงน้ำนั้น เข้าไปเยี่ยมชมภายใน “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า “วัดทอง” ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ความเก่าแก่ของวัดทองนี้นับอายุไปได้ถึงปลายสมัยอยุธยา และต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ได้ทรงใช้บริเวณวัดแห่งนี้เป็นลานประหารชีวิตเชลยพม่า แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นสมัยที่วัดทองได้เปลี่ยนรูปโฉมไปมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่แทบทั้งหมด และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดสุวรรณาราม”

Image
หลวงพ่อศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ


สำหรับสิ่งที่ถือว่าเป็นความโดดเด่นของวัดสุวรรณารามแห่งนี้ก็คือ “พระอุโบสถ” ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายอันงามโดดเด่น ที่นิยมสร้างหลังคาโค้งแอ่นเหมือนท้องเรือสำเภา หน้าบันจำหลักลายรูปเทพพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง ภายในพระอุโบสถมี “พระศาสดา” หรือที่ชาวบ้านเรียกด้วยความเคารพกันว่า “หลวงพ่อศาสดา” เป็นพระประธาน ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และที่เคารพบูชาอย่างสูงสุดอย่างหนึ่งของชาวบ้านบุ ซึ่งองค์หลวงพ่อศาสดานั้นมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย สง่างามด้วยทรวดทรงอันอ่อนช้อย องค์พระมีความสูงถึงรัศมี 8 ศอก 1 คืบ 8 นิ้ว หน้าตักกว้าง 6 ศอก 1 คืบ

การสร้างหลวงพ่อศาสดานั้น มีปรากฏเรื่องเกี่ยวกับการสร้างเป็น 2 นัยคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏเรื่องราว แต่พิจารณาจากลักษณะแล้วเห็นว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัยครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงเห็นว่าคงจะเชิญพระศาสดามาในคราวเดียวกัน

ส่วนหนังสือประวัติวัดสุวรรณาราม กล่าวว่า พระศาสดาองค์นี้ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คงจะทรงหล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามขึ้นใหม่ โดยพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏนามเฉพาะ มีเพียงชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “พระศาสดา”

Image
หลวงพ่อศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ อีกมุมหนึ่ง


ทั้งนี้ ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาองค์หลวงพ่อศาสดาเป็นอย่างมากมาหลายชั่วอายุคน โดยมักมีคนมากราบไหว้นมัสการขอพรหรือบนบานศาลกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทหาร ซึ่งการบนนั้นก็นิยมแก้บนด้วยการวิ่งม้า แต่ไม่ได้ใช้ม้าจริงๆ เพียงแค่ใช้คนวิ่งและมีผ้าขาวม้าเป็นสัญลักษณ์แทนม้าเท่านั้น โดยประเพณีการแก้บนเช่นนี้ก็ยังคงมีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

มีเรื่องเล่าว่า “หลวงพ่อศาสดา” โปรดวิ่งม้ามาก (วิ่งม้าในสมัยนั้น คือ ให้เด็กขี่ม้าก้านกล้วยแล้ววิ่งรอบพระอุโบสถ) หลังจากที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อมาจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ วัดสุวรรณารามแล้ว มีคนมาบนบานสานกล่าวเรื่องของการงานและการค้าขาย เมื่อสำเร็จผลก็ได้ฝันว่า มีพราหมณ์ท่านหนึ่งมาบอกว่าให้แก้บนด้วยการวิ่งม้า ก็เลยเป็นที่มาของการวิ่งม้าแก้บนที่วัดแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า มีคนมาวิ่งม้าแก้บน แต่แกล้งวิ่งม้าหลอกๆ ไม่ยอมวิ่งจริงๆ เขาทำได้แป๊บเดียวเท่านั้นเอง จู่ๆ ก็มีมือขนาดยักษ์มาเขกหัว ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นไม่มีใครเลย ซึ่งนับแต่นั้นมาทำให้หลายๆ คนไม่กล้าวิ่งม้าหลอกๆ แก้บนที่วัดแห่งนี้อีก เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรคงไม่อาจรู้ได้ แต่ที่รู้ก็คือ “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”

Image
การวิ่งม้าแก้บน มีคนวิ่งม้าและม้าที่ใช้คือผ้าขาวม้า

Image
ก่อนออกวิ่งม้าต้องมานั่งคุกเข่าไหว้ก่อน
ตรงใบเสมาใบแรกทางด้านหน้าของพระอุโบสถ



วิ่งม้าแก้บน เป็นคติความเชื่อที่สืบทอดกันมาของชาวบ้านบุ ชุมชนในบริเวณวัดสุวรรณาราม อันเกิดจากความเคารพศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อศาสดา ในอดีตการแก้บนวิ่งด้วยม้าก้านกล้วย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ผ้าขาวม้าแทน การบนวิ่งม้าที่วัดแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการบนบานเพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร ตลอดจนบนให้ประสบความสำเร็จในด้านอื่นๆ โดยมีข้อห้ามมิให้พูดคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด โดยการแก้บนจะทำที่ใบเสมาแรกทางด้านหน้าของพระอุโบสถ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับหลวงพ่อศาสดาพอดี ก่อนที่จะทำการวิ่งม้าแก้บน จะต้องนำผ้าขาวม้ามาวางหน้าใบเสมาและต้องขมวดปมให้เรียบร้อย ผ้าขาวม้าผืนเล็ก-ใหญ่ตามขนาดตัว

ในการวิ่งม้าแก้บนจะต้องวิ่ง 3 รอบขึ้นไป โดยวิ่งวนทางขวารอบพระอุโบสถ และในระหว่างที่วิ่งม้าไปรอบๆ พระอุโบสถนั้น ต้องร้องเสียงม้าฮี้ๆๆ ไปพร้อมกันด้วย เมื่อวิ่งเสร็จก็จะนำผ้าขาวม้ามาวางกับพื้นตรงหน้าใบเสมาใบแรกแล้วกราบลา เป็นอันเสร็จพิธี ปัจจุบัน วัดสุวรรณารามมีการบริการให้เยาวชนในชุมชนวิ่งม้าแก้บนแทนผู้บนบานด้วย

Image
ศาลที่สร้างให้แก่ดวงวิญญาณทหารพม่า


กล่าวถึงครั้งในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ได้ทรงใช้บริเวณวัดแห่งนี้เป็นลานประหารชีวิตเชลยพม่าโดยการตัดคอ ซึ่งก็มีเรื่องเล่ากันว่ามีคนเคยเห็นร่างของผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าโจงกระเบน แต่ไม่มีหัว มายืนอยู่ให้เห็น ส่วนสถานที่ที่นำศพเหล่านั้นมาฝังไว้ก็คือบริเวณที่เป็นสนามโรงเรียนวัดสุวรรณารามและบริเวณลานวัดสุวรรณารามปัจจุบัน

ที่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ฝังศพก็เนื่องจากว่า เมื่อครั้งที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่บริเวณนี้ ก็มีคนพบกระดูกคนอยู่มากมาย และมีเรื่องเล่าน่ากลัวๆ อีกว่า เคยมีคนพบกระดูกท่อนขาหรือท่อนแขนก็ไม่ทราบ แต่ก็มีกำไลทองคล้องอยู่ แสดงว่าเจ้าของกำไลนั้นน่าจะเป็นทหารพม่าระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่พอควร คนที่ขุดเจอกำไลก็เอาไปขาย นำเงินมาซื้ออาหารให้ภรรยาที่กำลังท้อง แต่คืนนั้นก็ฝันเห็นทหารพม่ามาบีบคอทวงกำไลคืน และภรรยาก็เสียชีวิตแบบที่เรียกว่าตายทั้งกลม ต่อมาจึงมีการตั้งศาลเพียงตาไว้ที่บริเวณโรงเรียนวัดสุวรรณแห่งนี้

และที่น่าสนใจก็คือ หากใครที่มาไหว้ศาลศาลเพียงตาแห่งนี้ แล้วมองเข้าไปด้านในศาล ก็จะเห็นภาพวาดเป็นรูปนายกองทหารพม่าไว้สามรูป แทนที่จะมีเจว็ดอยู่ด้านในแบบศาลพระภูมิทั่วไป คงเพื่อเป็นการระลึกถึงดวงวิญญาณทหารพม่าที่เสียชีวิตในอดีต อีกทั้งด้านหน้าศาลก็ยังมีปิรามิดเล็กๆ ตั้งไว้ด้วย โดยมีความเชื่อกันว่า สถานที่ตรงไหนที่มีความอาถรรพ์มากๆ ก็จะใช้ปิรามิดสะท้อนสิ่งอาถรรพ์นั้นออกไป

Image

Image
ภาพจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ภายในพระอุโบสถ


ภายในพระอุโบสถของวัดสุวรรณารามยังมีสิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่จะพูดข้ามไปไม่ได้เลย นั่นก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านใน ที่ถือว่าโดดเด่นและสมบูรณ์ที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์วัด ก็โปรดเกล้าฯ ให้ช่างมาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้วย โดยช่างที่มาเขียนภาพนั้นก็เป็นสองสุดยอดช่างในสมัยนั้น ซึ่งก็คือ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) เขียนประชันกับ หลวงเสนีย์บริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ)

ภาพจิตรกรรมของทั้งสองท่านนั้นก็มีเอกลักษณ์ต่างกันไป ภาพเขียนเรื่องทศชาติตอนเนมิราชชาดกของครูทองอยู่จะเป็นแบบไทยๆ มีการตัดเส้น แต่ภาพเขียนทศชาติตอนมโหสถชาดกของครูคงแป๊ะจะเน้นรายละเอียดของผู้คน ทั้งคนไทย จีน ฝรั่ง และใช้สีสดใสในภาพ

Image
พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม อีกมุมหนึ่ง


นอกจากนั้น ภายในวัดก็ยังมี “พระวิหาร” ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยกระจก และหน้าบันจำหลักลายรูปเทพนม อีกทั้งยังมี “หมู่กุฏิสงฆ์” ที่เป็นเรือนไม้ฝาปะกนเก่าแก่และงดงามมาก

ไหนๆ ก็มาไหว้พระและชมวัดสุวรรณารามกันไปแล้ว ก็ไม่อยากให้เสียเที่ยว อยากจะแนะนำให้ไปเดินชม “ชุมชนบ้านบุ” ชุมชนเล็กๆ เก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับสถานีรถไฟธนบุรี เป็นอีกหนึ่งชุมชนในกรุงเทพฯ ที่มีงานหัตถกรรมอันเป็นมรดกของชุมชนสืบสานกันมาเป็นเวลานาน นั่นก็คือการทำ “ขันลงหินบ้านบุ” โดยมีปรากฏหลักฐานในเอกสารสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลือบรรยากาศในอดีตตกค้างมาให้คนปัจจุบันได้สัมผัสกัน โดยชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ก็คือ กลุ่มช่างฝีมือชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพหนีภัยสงครามกับพม่ามา ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปีพุทธศักราช 2310

Image
“ขันลงหินบ้านบุ” ที่ลือชื่อทั้งในด้านความทนทานและความงดงาม

Image
“ขันลงหินบ้านบุ” ที่ลือชื่อทั้งในด้านความทนทานและความงดงาม


ชุมชนบ้านบุจึงสืบเชื้อสายต่อเนื่องจากกรุงศรีอยุธยามาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพช่างบุทำเครื่องทองลงหินหรือเครื่องทองสัมฤทธิ์ ได้รวมกลุ่มกันเลือกที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นในทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี บริเวณปากคลองบางกอกน้อย โดยมีวัดอมรินทราราม (วัดบางหว้าน้อย) และวัดสุวรรณาราม (วัดทอง) วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวบ้านยังคงดำรงชีพด้วยการทำภาชนะเครื่องทองลงหินอยู่เช่นเดิม และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาในชุมชนหลายชั่วอายุคน จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนบ้านบุ เพราะคำว่า “บุ” นั้นก็หมายถึง ขึ้นรูปชิ้นโลหะด้วยการตี และบีบอัดเนื้อโลหะให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการเป็นภาชนะต่างๆ

ชุมชนบ้านบุจึงเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะยังคงมีการสืบทอดการทำขันลงหินมาจนถึงปัจจุบันกว่า 200 ปี ซึ่งในตอนนี้ก็ยังมีผู้ที่สืบทอดอาชีพนี้ต่อมาอยู่สองเจ้าด้วยกันคือ บ้านขันลงหิน (เจียม แสงสัจจา) กับ บ้านบุคอลเลคชั่นของบ้านขันธ์หิรัญ ซึ่งหากใครผ่านมาผ่านไปก็จะได้เห็นชาวบ้านกำลังทำขันลงหินกันอยู่ แถมใครสนใจอยากจะได้ขันลงหินไปใช้ ก็ยังสามารถเลือกซื้อขันลงหินจากแหล่งผลิตกันได้ด้วย

Image
ไฟในเตาหลอมโลหะยังลุกโชนในชุมชนบ้านบุ


ชุมชนบ้านบุคือแหล่งทำขันลงหินชั้นยอดหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว ที่มีชื่อเสียงลือชื่อทั้งในด้านความทนทานและความงดงาม เมื่อลองเคาะดูจะมีเสียงที่ดังกังวานจึงนิยมทำเป็นเครื่องดนตรีอย่างฉิ่ง ฉาบ หรือฆ้อง ฯลฯ ขันลงหินเป็นภาชนะที่ใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่มเนื่องจากขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือใช้เป็นขันใส่ข้าวตักบาตรเพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอมก็ได้เช่นกัน

และหากอยากจะชมบรรยากาศของตลาดเก่า ที่ชุมชนบ้านบุก็มี “ตลาดวัดสุวรรณาราม” หรือ “ตลาดวัดทอง” ตลาดเก่าแก่กว่าร้อยปีที่ชาวบ้านบุยังคงมาจับจ่ายซื้อสินค้ากันอยู่ในปัจจุบัน ก่อนนี้ตลาดวัดทองคึกคักมากทีเดียวเพราะมีชาวบ้านชาวสวนจากละแวกปากคลองบางกอกน้อยจนถึงคลองมหาสวัสดิ์มาหาซื้อของที่นี่ ในด้านความเก่าแก่ของตลาดวัดทองยังคงมีร่องรอยให้มองเห็นอยู่ตรงที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีหลังคาโค้งขนาดใหญ่ทำด้วยไม้โดยไร้คานรองรับ ถือว่าเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์หาดูได้ยากในปัจจุบัน

Image
ตลาดวัดทอง ตลาดเก่าแก่คู่ชุมชนบ้านบุ


ถัดจากตลาดวัดทองเลยไปด้านหลังไม่ไกลนัก ก็จะมีร้านขายยาเก่าแก่ที่ชื่อว่า “สงวนโอสถ” เป็นร้านขายยาโบราณอายุกว่า 75 ปีที่ก่อตั้งโดย “หมอหงวน” หรือนายสงวน เหล่าตระกูล ที่มีความเชี่ยวชาญในการปรุงยา และคิดค้นตำรายาเองเพื่อใช้รักษาคนไข้ในย่านบ้านบุ ซึ่งปัจจุบันนี้ร้านสงวนโอสถก็ยังคงมีลูกหลานสืบทอดกิจการกันต่อมาจนปัจจุบัน ภายในร้านนอกจากจะมีตู้ไม้เก็บยาหน้าตาโบราณแล้ว ก็ยังมีเครื่องบดยาที่ใช้กันในสมัยก่อนอีกด้วย และหากใครอยากจะลองใช้ยาแผนโบราณของร้านสงวนโอสถก็สามารถหาซื้อกันได้ โดยยาที่ขึ้นชื่อก็เช่น ยาหอมอินทรจักร ยานิลโอสถ ยาหอมสมมิตรกุมาร ฯลฯ

ในบริเวณชุมชนบ้านบุใกล้วัดสุวรรณารามนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านกระบี่กระบอง ที่สืบทอดกันมาจากทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าเก่าแก่กว่าร้อยปี โรงรถจักรธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บและซ่อมบำรุงรถจักรไอน้ำ อีกทั้งบริเวณนี้ยังมีความทรงจำเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพสัมพันธมิตรทิ้งลูกระเบิดลงที่บริเวณนี้จนเกิดความสูญเสียและเสียหายไปทั่วบริเวณ

Image
ร้านขายยาสงวนโอสถในบรรยากาศเก่าๆ


และในเทศกาลลอยกระทงอย่างนี้ ชาวบ้านบุเขาก็ยังมีประเพณีดีงามอย่าง “ประเพณีเวียนกระทง” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวบ้านบุปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในวันลอยกระทง ชาวบ้านจะนำกระทงมาที่วัดสุวรรณารามเพื่อทำพิธีสวดมนต์บูชา โดยจะมีพระมานำสวดที่พระอุโบสถ ก่อนจะเดินถือกระทงเวียนรอบพระอุโบสถสามรอบเพื่อเป็นการบูชาพระจุฬามณี และในขบวนเวียนกระทงนั้นก็จะมีการควงกระบองไฟเดินนำขบวน มีขบวนกลองยาวและมีชาวบ้านมาร่ายรำในขบวนเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน เมื่อเวียนครบสามรอบแล้วจึงนำกระทงไปลอยในคลอง

ในปีนี้ วัดสุวรรณารามและชาวบ้านบุ เขาก็จะเวียนกระทงกันในคืนวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 นี้ ก่อนวันลอยกระทง (วันที่ 24 พฤศจิกายน) หนึ่งวัน โดยในเวลาห้าโมงเย็นก็จะมีการสวดพุทธชัยมงคลคาถาและเวียนกระทงกัน หากใครอยากจะสัมผัสกับประเพณีเวียนกระทงของชาวบ้านบุ และอยากมาสนุกสนานกับงานลอยกระทงของทาง “วัดสุวรรณาราม” ก็มาเจอกันในงานลอยกระทงวันเสาร์นี้ได้เลย

Image
ประเพณีเวียนกระทงของชาวบ้านบุ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * *

“วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” ตั้งอยู่เลขที่ 33 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 โทรศัพท์ 0-2434-7790 ถึง 1 บริเวณวัดเปิดทุกวันตั้งแต่ 05.00-21.00 น. พระอุโบสถไม่เปิดให้เข้าชม ยกเว้นจะขอเข้าชมเป็นกรณีพิเศษต้องโทรแจ้งล่วงหน้า

ส่วน “ชุมชนบ้านบุ” ตั้งอยู่ในซอยข้างสำนักงานเขตบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม มีรถประจำทางสาย 42, 68, 79, 83, 103, 108, 146 ผ่านหน้าปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 แล้วจึงเดินเข้ามาในซอยอีกประมาณ 700 เมตร ก็จะถึงวัดสุวรรณาราม หรือจะเดินมาทางด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช ผ่านเข้าชุมชนบ้านบุเลยก็ได้เช่นกัน

บ้านขันลงหิน (เจียม แสงสัจจา) ตั้งอยู่เลขที่ 133 ตรอกบ้านบุ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 โทรศัพท์ 0-2424-1689


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * *

- ผู้จัดการออนไลน์ 21 กุมภาพันธ์ 2549 18:15 น.
- ข่าวสดรายวัน หน้า 32 คอลัมน์ ไหว้พระประธาน 76 จังหวัด
วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6309
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง