Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สามเณรโสปากะ [สามเณร] อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 ต.ค.2007, 7:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สามเณรโสปากะ
ผู้เกือบตกเป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



เขียนเรื่องสามเณรสมัยพุทธกาลมาแล้ว 2 รูป วันนี้ขอเล่าอีกรูปหนึ่ง นามว่า “โสปากะ” เพื่อเจริญศรัทธาแด่ญาติโยมทั้งหลายในโอกาสสำคัญที่สุดในปีนี้

โอกาสสำคัญอะไร ? ก็โอกาสที่ สนช. รัฐบาล และมหาเถรสมาคม ร่วมกับประชาชนชาวพุทธทุกหมู่เหล่า จะจัดการบวชสามเณรจำนวน 84,000 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550 นี้

ทำไมจึงว่า เล่าเรื่องบวชเณรแล้วจะเป็นการเฉลิมศรัทธาของญาติโยม อย่างน้อยโยมจะได้ทราบว่า เณรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “สามเณร” ตามศัพท์แปลว่า “ผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะ (พระ)” หรือ “หน่อเนื้อ หรือรากแก้วของพระ”

ถ้าเปรียบกับต้นไม้ เณรก็คือรากของต้นไม้ พระก็คือลำต้น ลำต้นจะงอกงามไม่ได้ ถ้าไม่มีราก หรือมี แต่เป็นรากเน่า พระภิกษุจะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีเณร เพราะเหตุนี้แหละ เณรจึงนับเป็นรากเหง้าของความเป็นพระ

พูดมาถึงตรงนี้ ใคร่ขอเตือนสติพระเดชพระคุณทั้งหลายที่มัวแต่เจริญ “สุขวิหารธรรม” (ไม่แปลละครับ) อยู่ในวัดให้ทราบด้วยว่า ปัจจุบันนี้จำนวนสามเณรในวัดต่างๆ ลดลงอย่างน่าใจหาย บางวัดผมถามว่ามีพระเณรเท่าไร ท่านตอบว่า มีสี่ห้ารูป ถามท่านต่อว่า เณรล่ะครับ ท่านตอบว่า เณรมีรูปเดียวบ้าง ไม่มีบ้าง สัญญาณอันตรายว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า วัดจะร้างพระร้างเณรแล้วนะครับ ทำเป็นเล่นไป

ผมยังไม่อยากนำสถิติพระเณรทั่วราชอาณาจักรมาให้ท่านตกใจ เพราะสถิติไม่ค่อย “อัพเดต” ไว้ได้จำนวนแน่นอนเมื่อไรจะแจ้งอีกที

เณรน้อยชื่อโสปากะ พ่อตายตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ จึงตกอยู่ในความดูแลของ จูฬบิดา (พ่อน้อย) พิเคราะห์ดู นายคนนี้น่าจะเป็น “พ่อเลี้ยง” หรือสามีใหม่ของแม่ (ไม่ใช่พ่อเลี้ยงในความหมายของชาวเหนือ) เพราะปรากฏว่าพ่อเลี้ยงคนนี้มีเรือพ่วงติดมาด้วย

จึงถูกพ่อเลี้ยงดุด่า ทุบตีเสมอ เวลาทะเลาะกับลูกๆ คนอื่น ความผิดก็มักจะตกมาที่เด็กน้อยโสปากะเสมอ ลูกคนอื่นๆ ถูกหมด อะไรประมาณนั้น

วันหนึ่งพ่อเลี้ยงโกรธจัด จึงนำโสปากะไปปล่อยไว้ที่ป่าช้า มัดแขวนไพล่หลังติดกับศพทิ้งไว้ เด็กน้อยร้องไห้โหยหวนด้วยความกลัว เสียงร้องของเด็กกลับเร่งความตายมาหาตนยิ่งขึ้น เพราะเหล่าสุนัขจิ้งจอกได้ยินก็พากันมา เห็นเหยื่ออร่อยปาก ก็กรูเข้ามา หมายทึ้งกินไม่ให้เหลือซาก เด็กน้อยร้องและดิ้นสุดแรงเกิด แต่ก็ไม่สามารถจะหลุดจากพันธนาการได้

ว่ากันว่า เสียงร้องไห้ได้ยินไปถึงพระพุทธองค์ พระองค์ทรงทราบกำลังเกิดอะไรขึ้น ด้วยพระมหากรุณาอันหาที่สุดมิได้ พระพุทธองค์ทรงแผ่พระรัศมีไปยังเด็กน้อยโสปากะ ตรัสว่า “โสปากะ ไม่ต้องกลัว” และแล้วด้วยพุทธานุภาพ เชือกที่มัดเธออยู่ก็ขาดออก โสปากะก็เป็นอิสระ เหตุการณ์ผ่านไปรวดเร็วมาก เด็กน้อยโสปากะก็มึนงงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง มารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมต่อพระพักตร์พระพุทธองค์แล้ว เข้าใจว่า เธอคงร้องให้ด้วยความหวาดกลัว จนสลบไสลไป ได้รับการช่วยเหลือจากพระพุทธองค์

ฝ่ายมารดา เมื่อบุตรหายไปก็เที่ยวตามหาจนทั่ว เมื่อไม่พบจึงเข้าไปในพระอาราม คิดอย่างเดียวว่า พระพุทธองค์คงรู้ว่าบุตรชายของเธออยู่ที่ไหน จึงเข้าไปเพื่อหวังพึ่งพระมหากรุณา

เข้าไปกราบแทบพระบาทของพระพุทธองค์ ทูลว่า ขอพระองค์โปรดช่วยชีวิตโสปากะบุตรข้าพระพุทธองค์ด้วยเถิด พระพุทธองค์ตรัสเทศนาสอนว่า

“ไม่มีใครช่วยใครได้ดอก บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้
บิดาและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้
คนเราถ้าถึงคราวตาย ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้”


นางได้ฟังก็ได้คิด และเมื่อคิดตามไปก็ยิ่งเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หารู้ไม่ว่าขณะที่ฟังเทศน์จากพระพุทธองค์อยู่นั้น สามเณรโสปากะ ก็นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธองค์นั่นเอง หากแต่ด้วย “อิทธาภิสังขาร” (การบันดาลด้วยฤทธิ์) สองแม่ลูกจึงมองไม่เห็นกัน

ขณะที่แม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล เณรน้อยลูกชายก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ทันทีที่จบพระธรรมเทศนา พูดเป็นภาษาหนังสือโก้หรูเชียว ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ แม่ได้เป็นโสดา ลูกได้เป็นอรหันต์ นั่นแหละครับ

ตำราไม่ได้บอกว่า มารดาของเณรน้อยบวชเป็นภิกษุณีหรือไม่ แต่เณรโสปากะนั้นที่ได้บรรลุพระอรหัตตผลแต่อายุยังน้อยได้ เพราะบุญเก่าส่งเสริม ว่ากันว่าในชาติปางก่อนโน้น มีชาติหนึ่งโสปากะเกิดเป็นพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตในป่า ได้รับฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าในอดีต ได้เจริญอนิจจสัญญา (ความระลึกว่าไม่เที่ยงแท้) สิ้นชีวิตแล้วไปเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่สังสารวัฏภพแล้วภพเล่า จนนับชาติไม่ถ้วน มาชาตินี้จึงมาเกิดเป็นเณรน้อยโสปากะ บุญเก่าที่ทำไว้สมัยเป็นฤๅษี ก็ช่วยหนุนส่งให้โสปากะ บรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุยังน้อย

เล่ากันว่า วันหนึ่งเณรน้อยโสปากะตอบปัญหาที่พระพุทธเจ้าตรัสถามได้ฉาดฉาน จนได้รับคำสรรเสริญจากพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสถามปริศนาว่า “อะไรชื่อว่าหนึ่ง จนถึง อะไรชื่อว่าสิบ”

เณรน้อยตอบว่า “สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร นี้ชื่อว่าหนึ่ง”

“อะไรชื่อว่าสอง” ตรัสถามอีก

“นาม กับ รูป ชื่อว่าสอง” เณรน้อยตอบอย่างฉาดฉาน ฯลฯ

คล้ายกับที่เราทายกันว่า “อะไรเอ่ย” จัง ไม่นึกว่าพระพุทธองค์จะทายปริศนากับเณรน้อย น่ารักอะไรปานนั้น เณรน้อยถวายวิสัชนาได้แจ่มแจ้งทุกข้อ พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย แล้วประทานอุปสมบทให้เธอ ด้วยการอุปสมบทที่เรียกว่า ปัญหาพยากรณูปสัมมปทา (การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหา)

เมื่ออ่านพุทธศาสนานิกายเซ็น ก็รู้ว่าวิธีการอย่างนี้ เขาถือกันมาก เขาจะมี “โกอาน” (จีนออกเสียง กงอั้น) ให้ลูกศิษย์นำไปคิด ลูกศิษย์นำไปนั่งคิดนอนคิด จนกระทั่งได้คำตอบด้วยตนเองบรรลุ “ซาโตริ” มานักต่อนักแล้ว ว่าไปแล้วก็คือวิธีฝึกกรรมฐานแบบหนึ่งนั้นเอง

ข้อที่พึงทราบเพิ่มเติมในเรื่องการบวชนี้ก็คือ สมัยแรกๆ พระพุทธเจ้าประทาน “เอหิภิกขุ” ให้ผู้มาขอบวชโดยทั่วไป บางครั้งก็บวชให้บางคน (เช่นพระมหากัสสปะ) ด้วยการประทานโอวาท (โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา) บางครั้ง (ในกรณีสามเณรโสปากะนี้) ก็บวชให้ด้วยวิธีการถามตอบปัญหา

สมัยแรกๆ นั้น ไม่ว่าจะบวชพระหรือบวชเณร พระพุทธองค์ทรงใช้คำเดียวว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ต่อมาเมื่อทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์ทำพิธีบวชแทนพระพุทธองค์แล้ว คำว่า “บรรพชา” (ปัพพัชา) จึงใช้เฉพาะบวชเณร คำว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ใช้เฉพาะบวชพระภิกษุ เนื่องจาก คนจะบวชภิกษุจะต้องผ่านขั้นตอนการบวชเณรก่อน จึงเรียกรวมกันว่า “บรรพชาอุปสมบท”

สามเณรโสปากะผู้เกือบตกเป็นเหยื่อของสุนัขจิ้งจอก นึกถึงชะตากรรมของตนเองที่รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้เพราะพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ จนได้เป็นพระอรหันต์แต่อายุยังน้อย จึงประพันธ์คาถาประพันธ์ว่า

“...พระพุทธองค์ตรัสถามปัญหาเรา เรารู้ความของปัญหานั้น วิสัชนาปัญหานั้นไม่สะทกสะท้าน พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาแล้ว หันไปตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า โสปากะนี้ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ของชาวอังคะและชาวมคธ นับเป็นลาภของชาวอังคะ และชาวมคธ เป็นลาภของพวกเขาที่ได้ต้อนรับ และทำสามีจิกรรม แก่โสปากะ พระองค์ตรัสกับเราว่า การพยากรณ์ปัญหานี้เป็นการอุปสมบทของเธอ เราอายุเพียง 7 ขวบ ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ มีชีวิตและร่างกายนี้เป็นชาติสุดท้าย”


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10802
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง