Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 บัณฑิตในระบบกับบัณฑิตโดยสาระ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2007, 6:40 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

บัณฑิตในระบบกับบัณฑิตโดยสาระ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ผมได้ยินคำ “บัณฑิต” บ่อยจนขี้เกียจฟัง เพราะขณะใดที่ได้ยินคนเขาพูดคำนี้ออกมา มักจะมีรังสีแห่งอหังการ มมังการ (คำพระ หลวงพ่อพุทธทาสแปลได้สะใจว่า ตัวกู ของกู ผมแถมคำ ตัวมึง ของมึง ด้วยละกัน) แผ่เข้ามาจนน่าเกรงขาม

เดี๋ยวนี้บัณฑิตมีแบ่งระดับกันแล้ว เรียนจบในระบบธรรมดา เป็นได้แค่ “บัณฑิต” สูงขึ้นไปอีกขั้นมักจะเรียนในห้องแล้ว มีความสามารถในการ “ตัดต่อ” ข้อมูลมารวมเล่มได้ประมาณหนึ่ง เรียกว่า “มหาบัณฑิต” สูงขึ้นไปอีก สามารถทำอย่างที่ว่าได้ดีกว่า เรียกว่ามีศิลปะในการตัดต่อข้อมูลดีกว่ามหาบัณฑิต ก็ได้เป็น “ดุษฎีบัณฑิต”

สังเกตไหมครับ การจะเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต นี้เป็นได้ด้วยการเรียน “ในระบบโรงเรียน” ผู้ไม่ผ่านระบบโรงเรียน ก็อาจจะเป็นบัณฑิตทั้งสามระดับนั้นได้เหมือนกัน ไม่ถึงกับปิดกั้น โดยยกย่องกันขึ้นมา เรียกว่า บัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แต่ไม่ว่าอย่างไหน ก็เป็นขึ้นมาจากการ “เล่าเรียน” เพราะสังคมปัจจุบันนี้ เน้นความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียน ไม่ว่าเรียนในระบบ หรือนอกระบบ

แม้พูดถึงศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม ก็ต้องพูดถึงการเล่าเรียน ไปเอาศีลธรรม จริยธรรมไปผูกไว้กับการเล่าเรียน หรือไปคิดว่า เป็นผลมาจากการเล่าเรียน มันจึงหลงประเด็น ดุจ (คัมภีร์ศาสนาชอบอุปมาบ่อย) พยายามบอกว่า การจะได้น้ำมัน ต้องคั้นเอาจากเมล็ดทรายฉะนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า บัณฑิต (ไม่จำต้องแบ่งระดับด้วยแจกใบประกาศดอก) คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตจนลุถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ขออ้างพุทธพจน์ได้ไหม เพื่อความขลัง

“ทิฏเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ

ผู้มีปัญญา เข้าถึงจุดหมายทั้งสอง คือจุดหมายในสิ่งที่ตาเห็น
และจุดหมายที่เลยตาเห็น ชื่อว่า “บัณฑิต” เพราะเขาได้บรรลุ
เป้าหมายของชีวิตแล้ว”


บัณฑิต ในความหมายของพระพุทธองค์ ไม่ได้เกิดจากการเล่าเรียน เรียน เรียน และเลียน จริงอยู่การเรียนและเลียนนั้นอาจมีส่วนบ้าง แต่มิได้เป็นแนวทางเดียวที่สร้างความเป็นบัณฑิต ดังที่สังคมสมัยนี้เชื่อและกระทำกัน

แล้วความเป็นบัณฑิตได้มาโดยวิธีใดละครับ ขอให้อ่านคำจำกัดความของพระพุทธองค์ที่ยกมาข้างต้น และจับความหมายระหว่างบรรทัดให้ดีจะเห็น

1. บัณฑิตจะต้องเป็นคนมีปัญญา ฉลาด รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

2. บัณฑิตต้องดำเนินชีวิตหรือพัฒนาตน จนลุเป้าหมาย “อย่างน้อย” 2 ระดับคือ ระดับที่ตามองเห็น และระดับเลยตามองเห็น
(สองระดับคืออะไร ไว้ค่อยพูดถึงภายหลัง)

ที่ผมใช้คำว่า “อย่างน้อย” แสดงว่ามีนัยกว้างและลึกกว่านั้น ดังที่ตรัสไว้ในอีกที่หนึ่งว่า

“บุคคลที่เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตัวเอง,
ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น, ไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย,
ย่อมคิดการเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน, แก่ผู้อื่น, แก่ทั้งสองฝ่าย,
ย่อมคิดการเพื่อประโยชน์แก่โลกทั้งหมดทีเดียว” ด้วยเหตุนี้แล
บุคคลจึงเรียกว่าเป็น “บัณฑิต”

จากนิยามความหมายและขอบเขตของบุคคลที่นับว่า เป็นบัณฑิต ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ จ้างก็หาไม่พบสักคน ไม่ว่า ที่เรียกตัวเองว่า บัณฑิต หรือมหาบัณฑิต หรือดุษฎีบัณฑิต

ล้วนแต่มิค่อยได้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หากดำเนินด้วยอวิชชา ทิฐิ มานะเป็นส่วนใหญ่

คิดทำการ (ที่นึกว่าเพื่อประโยชน์ตนและครอบครัว) แต่โดยสาระแล้วกลับเป็นการเบียดเบียนตน เช่นสะสมเงินทองเพื่อตนเองและครอบครัว แท้ที่จริงก็เท่ากับสร้างโทษให้ตัวเอง ไม่รู้จะรอดคุกหรือเปล่า ประมาณนั้น ลูกหลานก็ไม่สามารถแจงที่มาที่ไปของเงินได้ เพราะไม่ได้ทำเอง พ่อทำให้ ประมาณนั้น, คิดการเพื่อประโยชน์คนอื่น เพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ยิ่งมองไม่เห็น เพราะวันๆ ก็คิดแต่เพื่อตัวเองทั้งนั้น

ยิ่งคิดการเพื่อประโยชน์แก่โลกทั้งโลก ยิ่งมองไม่ออก มองไม่เห็นใหญ่

“บัณฑิต” ในนิยามของพระพุทธเจ้าจึงมิใช่อย่างที่พวกเราคิดกัน

ที่พูดนี้เป็นเรื่อง “อุดมคติ” ที่ไม่สามารถเกิดมีขึ้นจริงได้ใช่หรือเปล่า

ช้าก่อนครับ มิใช่แน่นอน เป็นเรื่องที่เกิดมีขึ้นจริงได้ สามารถสร้างขึ้นมาได้

บัณฑิตในความหมายนี้ สร้างขึ้นมาได้ง่าย และกระบวนการสร้างบัณฑิตในแนวนี้ก็เป็นขั้นเป็นตอน สนุกสนาน เห็นผลสัมฤทธิ์ทีละขั้นๆ ตามลำดับ พิสูจน์และวัดผลได้

เพียงแต่...เพียงแต่ต้องเลิกคิดแบบที่ทำอยู่ หันมา “คิดเสียใหม่” คือให้เข้าใจว่า

- ความเป็นบัณฑิตที่ว่านี้ มิได้มีได้ด้วยการเล่าเรียน ท่องทฤษฎีบ้าหอบฟางของนักวิชาการต่างๆ ความเป็นบัณฑิตที่ว่านี้ จะเกิดมีเกิดเป็นได้ด้วยการฝึกฝน (สิกขา) ด้วยการพัฒนาชีวิตตามขั้นตอน (ภาวนา) เมื่อพูดคำว่า สิกขา (ต้องฝึกฝน) ภาวนา (ต้องอบรม, ต้องพัฒนา) ก็เห็นได้ว่า นี่แหละคือแนวทางทำให้เกิดเป็นบัณฑิตแท้จริง

เพราะเมื่อพูดถึง “การฝึกฝนอบรม” ย่อมหมายถึงการกระทำ หรือกระบวนการพัฒนา ปลูกฝัง สร้างให้เกิดมีขึ้นในตัวตนจริงๆ

ทีนี้ย้อนไปพูดถึงเป้าหมาย 2 ระดับที่พูดถึงข้างต้นคืออะไรบ้าง

เป้าหมาย หรือคุณค่าที่เป็นเป้าหมายของชีวิต มี 2 ระดับ (ถ้าแบ่งละเอียดมี 3 ระดับ) คือ

1. เป้าหมายระดับที่ตามองเห็น (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) คือที่มองเห็นด้วยตานี่แหละ ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เช่น

- ความมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง สง่างาม ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนมีอายุยืนยาว (สมัยนี้คนอยากมีอายุยืนยาว และปราศจากโรค มากขึ้น)

- ความตั้งตัวได้ทางเศรษฐกิจ มีทรัพย์สินเงินทอง สามารถเลี้ยงคนควรเลี้ยง อย่างน้อยก็มีอาชีพการงานดี พึ่งตัวเองได้ทางเศรษฐกิจ

- การมีครอบครัวเป็นสุข ไม่ทะเลาะระหองระแหง ตลอดจนความสมัครสามัคคีในหมู่ญาติในวงศ์สกุล

- ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีสถานภาพดี มีชื่อเสียงเกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามปรารถนาจะพึงมีพึงได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมาเอง ต้องฝึกฝนอบรมตน สร้างสรรค์ให้เกิดมี

2. เป้าหมายขั้นเลยตามองเห็น (สัมปรายิกัตถะ) ที่ลึกไปกว่านั้น เช่น

- ความมีสุขภาพทางจิตดี ด้วยความมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ซาบซึ้งในบุญกุศล และมั่นใจในการทำความดี

- ความอิ่มใจในชีวิตของตน ที่มีความประพฤติสุจริตดีงาม ไม่ทำสิ่งผิด ทำแต่สิ่งถูกต้องดีงาม

- ความภูมิใจในความมีชีวิตมีคุณค่าเป็นประโยชน์ ที่ได้เสียสละ สร้างสรรค์ เกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์

- ความปลอดโปร่งเบิกบานใจ เนื่องจากมีความรู้ มีปัญญาแก้ปัญหา ดำเนินกิจการต่างๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี

- ความสบายใจในกรรมที่ประกอบไว้ เป็นบุญกุศลดีงามสุจริต ประกันชีวิตในภพหน้า สามารถจากโลกนี้ไปได้ โดยไม่หวาดหวั่นกลัวภัยแห่งทุคติ

3. จุดหมายสูงสุด (ปรมัตถะ) ในความหมายอย่างสูงสุดคือมีจิตใจหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง บรรลุภาวะที่เรียกว่านิพพาน สื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ก็คือ ถึงอิสรภาพที่แท้จริง มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ฟู ไม่ฟุบ เมื่อยามประสบลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ประคับประคองใจให้หนักแน่นตลอดเวลา มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาแท้จริง

ใครก็ตามที่สามารถพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เรียกว่าเป็นบัณฑิตโดยสาระแท้จริง ไม่ว่าจะต้องผ่านการเล่าเรียนในระบบหรือไม่ก็ตาม เผลอๆ การศึกษาในระบบนั่นต่างหาก ที่ไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิตโดยสาระแท้จริง

Image

คัดลอกมาจาก
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10795
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 30 ก.ย. 2007, 11:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้มีปัญญา เข้าถึงจุดหมายทั้งสอง
คือจุดหมายในสิ่งที่ตาเห็น และจุดหมายที่เลยตาเห็น

ชื่อว่า “บัณฑิต” เพราะเขาได้บรรลุ เป้าหมายของชีวิตแล้ว”


สาธุ สาธุ ด้วยนะคะ คุณก้อนดิน สาธุ สู้ สู้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 03 ต.ค.2007, 3:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณก้อนดิน สู้ สู้

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง