Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2006, 11:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ


วัดไตรสิกขาทลามลตาราม
บ้านฝาง ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร



๏ ชาติภูมิ

“พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ” ประธานสงฆ์แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม และวัดนิพเพธพลาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ท่านเป็นพระนักปราชญ์ พระนักปฏิบัติ พระนักเทศน์ พระผู้เป็นพหุสูตร และพระผู้เสียสละเพียรอุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาแห่งภาคอีสานรูปหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การยกย่องอย่างยิ่ง

พระอาจารย์สมภพ มีนามเดิมว่า สมภพ ยอดหอ เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู ณ บ้านแพด ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายจูม และนางสอน ยอดหอ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๒ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นายสุพัฒน์ ยอดหอ
๒. ด.ญ.สำราญ ยอดหอ (เสียชีวิตเมื่ออายุ ๑๔ ปี)
๓. นางบัวเรียน ยอดหอ
๔. นายวิจิตร ยอดหอ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
๕. พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
๖. นางคำมวล ป้องแสนกิจ
๗. นายบุญฮงค์ ยอดหอ
๘. ไม่ทราบชื่อ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๙. ไม่ทราบชื่อ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๑๐. ไม่ทราบชื่อ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๑๑. ไม่ทราบชื่อ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๑๒. ไม่ทราบชื่อ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)

ครอบครัวของพระอาจารย์สมภพ มีต้นกำเนิดที่บ้านนาผาง อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ครั้นเมื่อครอบครัวประสพกับภาวการณ์ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขัดสน โยมบิดา-โยมมารดาของท่านจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ ที่บ้านวังชมพู ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร

เป็นที่น่าสังเกตว่าการอพยพครอบครัวมาที่จังหวัดสกลนครนั้น ก็เพื่อให้บุตรธิดามีชีวิตที่สดใส คล้ายๆ กับเป็นนัยยะว่า บุตรชายจะได้เป็นประทีปธรรมที่ส่องแสงสว่างแก่บุคคลผู้มืดมนในกาลข้างหน้า เมื่อคุณพ่อจูมและคุณแม่สอน ได้เล็งเห็นพื้นที่เหมาะแก่การประกอบอาชีพแล้ว จึงได้อพยพครอบครัวมาที่บ้านวังชมพู จนถึงปัจจุบันนี้

Image
หลวงปู่จูม สุจิตฺโต หลวงพ่อของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ


๏ หลวงปู่จูม สุจิตฺโต

โยมบิดาของพระอาจารย์สมภพ คือ คุณพ่อจูม ยอดหอ เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ท่านเป็นผู้มีจิตใจใฝ่ในทางธรรม ปฏิบัติตนเองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น การไปทำบุญตักบาตร รักษาศีล ๕ และอุโบสถศีลในช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และอุดมการณ์ของพุทธศาสนิกชนที่พึงปฏิบัติ

เมื่อท่านเลี้ยงดูบุตรธิดาจนกระทั่งเติบโตสามารถเลี้ยงชีพด้วยตนเองได้แล้ว ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับนามฉายาว่า “สุจิตฺโต” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีจิตดี, ผู้มีความคิดดี”

หลวงปู่จูม สุจิตฺโต ได้ดำเนินชีวิตในเบื้องปลายที่พอเพียงอันควรแก่สมณวิสัย พูดน้อย มักน้อย สันโดษ เพียรแสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม ปฏิบัติกรรมฐานอย่างมุ่งมั่น จนกระทั่งหลวงปู่ท่านได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดนิพเพธพลาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร โดยอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของพระอาจารย์สมภพ ซึ่งเป็นทั้งประธานสงฆ์และบุตรชาย

พระธรรมคำสอนอันเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายของหลวงปู่จูม สุจิตฺโต ที่ท่านได้ทิ้งมรดกธรรมไว้ให้แก่อนุชนชาวพุทธได้คบคิดนั้น มีใจความว่า “.....ที่สิ้นสุดของกายคือ สิ้นลมหายใจ ที่สิ้นสุดของจิตคือ ตัวเราไม่มี ของเราไม่มี เมื่อใดพรหมวิหารของเรายังไม่ครบสี่ เมื่อนั้นเรายังวุ่นวายอยู่ เพราะยังวางมันไม่ลง ปลงมันไม่ได้ คนเราเป็นทุกข์อยู่กับธาตุสี่เพราะยังไม่เห็นธาตุรู้ รู้อย่างเดียว ไม่สุข ไม่ทุกข์ จิตนี้มันคือ (เหมือน) น้าม (น้ำ) น้ามมันชอลไหลลงสู่ทางต่ำ ถ้าคนสะหลาด (ฉลาด) กั้นมันไว้ มันก็จะไหลขึ้นที่สูง.....”

นี้คือคำสอนของหลวงปู่จูม ที่ท่านได้เขียนไว้ก่อนสิ้นลมหายใจ ซึ่งค้นพบใต้หมอนหลังจากท่านมรณภาพแล้ว ทั้งนี้ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัยชรา เพื่อหาทางพ้นทุกข์ ไม่มุ่งสอนผู้อื่น พูดน้อย มักน้อย สันโดษ ท่านเป็นลูกศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลังจากฌาปนกิจศพแล้ว อัฐิของท่านมีสีขาวบริสุทธิ์ดุจปุยฝ้าย

ปัจจุบัน วัดไตรสิกขาทลามลตาราม ได้จัดงาน “วันบูรพาจารย์” เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่จูม สุจิตฺโต ช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อทำบุญถวายทักขิณาทาน อุทิศบุญให้แด่หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่จูม สุจิตฺโต และทำสามีจิกรรม ทำการคาราวตาแด่พระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ เป็นประจำทุกปี

ส่วนโยมมารดาคือ คุณแม่สอน ยอดหอ ก็ได้ประพฤติปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตเฉกเช่นสามีและบุตรชาย กล่าวคือ ทำบุญตักบาตร ให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา ตามสมควรแก่โอกาส จึงเป็นที่รู้จักกันดีของเพื่อนบ้านในตำบลแพดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

Image
(จากซ้าย) พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ-หลวงปู่จูม สุจิตฺโต


๏ ชีวิตปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

พระอาจารย์สมภพ เมื่อครั้งยังเยาว์วัยเป็นเด็กที่ระลึกชาติได้ เมื่ออายุได้ ๔ ปี ได้รบเร้าโยมบิดา-โยมมารดาให้พากลับไปยังบ้านเกิดเดิม ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไปถึงท่านก็ทักทายคนแก่เหมือนกับเป็นรุ่นเดียวกัน โดยใช้คำพูดว่า “กู มึง” ทำให้เป็นที่แปลกใจของคนทั่วไป สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าท่านจำเรื่องราวในอดีตได้คือ ท่านถามถึงเหล็กขอที่ใช้บังคับช้างที่ท่านเคยในอดีต และเก็บไว้บนหิ้งพระ ถามใครก็ไม่มีใครรู้ ทุกคนจึงบอกให้ท่านค้นหาเอง ท่านก็เจออยู่ที่เดิมบนหิ้งพระ คนทั่วไปจึงเชื่อว่าท่านระลึกชาติได้เพราะชาติก่อนท่านเป็นคนเลี้ยงช้าง

ครั้นเมื่อเติบโตถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน ท่านก็ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ตามยุคของการศึกษาในขณะนั้น เมื่อจบการศึกษาแล้วท่านก็ได้ทำงานช่วยโยมบิดา-โยมมารดา ต่อมาท่านก็ได้ไปเป็นนักมวยสมัครเล่นเพื่อหาประสบการณ์ชีวิต เพราะการศึกษาในยุคนั้นยังลำบาก ไม่มีความเจริญด้านสื่อและอุปกรณ์ทางการศึกษาเหมือนในปัจจุบันนี้ การได้รับการศึกษาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก็นับว่ามีการศึกษาสูงแล้ว รัฐไม่ได้บังคับให้ศึกษาดังปัจจุบันนี้ แต่ถึงกระนั้นท่านพระอาจารย์สมภพก็มิได้ย่อท้อ ได้พยายามพากเพียรจนสามารถนำความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ตลอดจนประสบการณ์ในชีวิต มาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและพระพุทธศาสนาในกาลเวลาต่อมา


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 29 เม.ย.2007, 5:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ การบรรพชา

ท่านได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่รุ่นทวด เพราะต้นกำเนิดบรรพบุรุษของท่านยึดมั่นในการทำบุญ ปฏิบัติธรรม รักษาศีล เป็นประจำ จึงนับได้ว่าเป็นครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฎฐิ ที่ใฝ่ในการปฏิบัติในครองแห่งสัมมาปฏิบัติ มีความใกล้ชิดและซาบซึ้งในหลักคำสอน

ดังนั้น เมื่อท่านจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้ว ท่านก็ได้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า เข้าบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ ขณะนั้นอายุ ๑๓ ปี เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างจริงจัง ณ วัดสระแก้ววารีราม ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โดยมี พระครูคัมภีร์ปัญญาคม เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อสามเณรสมภพ ยอดหอ ได้รับการบรรพชาแล้ว ก็ได้ศึกษาหลักคำสอนและฝึกหัดปฏิบัติธรรม ศึกษาเล่าเรียนตามโอวาทของพระอุปัชฌาย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาท่องบทสวดมนต์ หรือเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เมื่อท่านบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๔ ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ขณะนั้นอายุ ๑๗ ปี เพื่อไปประกอบอาชีพโดยได้ไปทำงานยังต่างประเทศ แถบทวีปแอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง ถึง ๑๓ ประเทศ มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้ารับเหมาก่อสร้างถนนและสนามบิน รวมทั้ง ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาด้วย ถึงขั้นอยู่ในระดับแนวหน้าจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบาทหลวง

เมื่อท่านจะเข้าพิธีล้างบาปเพื่อเป็นบาทหลวง ก็เกิดเหตุอัศจรรย์คือน้ำที่จะใช้ในการประกอบพิธีได้เหือดแห้งไปถึง ๓ ครั้ง ทำให้ท่านได้พิจารณาโดยถ้องแท้ว่าเป็นหนทางที่ไม่ใช่และไม่เหมาะสมกับตนเองแต่อย่างใด

ท่านจึงเริ่มหันชีวิตกลับเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาอีกครั้ง ซึ่งเป็นศาสนาแรกที่ท่านดำเนินรอยตาม จากนั้นท่านก็ได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกด้วยตนเอง ควบคู่กับการทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย โดยใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎกเป็นเวลานานถึง ๑๑ ปี จนเข้าใจในพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งแจ่มแจ้ง

หลังจากนั้นท่านก็ได้รวบรวมปัจจัยจากค่าจ้างการทำงาน มาชื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดบนเนื้อที่ ๕๐ ไร่ เพื่อจัดทำเป็นที่พักสงฆ์ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ให้มาพำนักจำพรรษา แต่การทำประโยชน์ก็ไม่มากเท่าที่ควรตามเจตนารมณ์ ท่านเลยตัดสินใจลาออกจากงานเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อทำหน้าที่ศาสนทายาทและพุทธบุตร ดังปรากฏอย่างประจักษ์แจ้งในปัจจุบันนี้

Image
พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (บุญส่ง โกวิโท)
พระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ



๏ การอุปสมบท

ครั้นเมื่อนายสมภพ ยอดหอ มีอายุได้ ๓๘ ปี ก็เกิดความคิดขึ้นว่า “การที่เราลงทุนไปสร้างวัดจะให้ได้ประโยชน์มากเราจะต้องบวช” จึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอันเป็นมาตุภูมิ เพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเนินพระเนาวนาราม (วัดเนินพระเนาว์) ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ โดยมี พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (บุญส่ง โกวิโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติปัญโญ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีปัญญาอันโชติช่วงประดุจดวงประทีป”

หลังจากอุปสมบท ก็ได้เข้าปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา ๑ ปี (กล่าวคือ ปิดวาจา ไม่พูดคุยกับใคร นั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติกรรมฐานตลอดเวลา) ครั้งแรกตั้งใจว่าจะปฏิบัติอย่างน้อย ๓ ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามความประสงค์ เพราะพอครบ ๑ ปี หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ก็ได้เรียกท่านให้ไปแปลธรรมะภาคภาษาอังกฤษเป็นเล่ม และเทศน์ให้ชาวต่างชาติฟัง ทีแรกปฏิเสธ หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ก็ว่า “เฮา (เรา) กินข้าวเขาอยู่เด้” ก็เลยต้องปฏิบัติตามหลวงพ่ออย่างขัดไม่ได้ ในช่วงนั้นชาวฝรั่งได้ให้ความสนใจจะปฏิบัติธรรมเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครั้นต่อมา มีชาวไทยที่มีความประสงค์จะฟังธรรมและปฏิบัติธรรม เข้าไปกราบหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูภาวนาปัญญาภรณ์ (บุญส่ง โกวิโท) จะขอนิมนต์พระอาจารย์สมภพให้แสดงธรรมแก่ชาวไทยบ้าง มีชาวบ้านพูดกันว่า “พูดกับชาวฝรั่งก็ยังพูดได้ ทำไมไม่สั่งสอนคนไทยบ้าง” ก็เลยขัดศรัทธาญาติโยมไม่ได้ หลังจากนั้นท่านก็ได้รับภาระและธุระในพระพุทธศาสนา ด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระอุปัชฌาย์ในสถานที่ต่างๆ ดังนี้

- พรรษาที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๒๘) ณ วัดเนินพระเนาวนาราม (วัดเนินพระเนาว์)
- พรรษาที่ ๒-๑๘ (พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๔๐) ณ วัดนิพเพธพลาราม
- พรรษาที่ ๑๙-ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๑-ปัจจุบัน) ณ วัดไตรสิกขาทลมลตาราม

Image
วัดเนินพระเนาวนาราม (วัดเนินพระเนาว์) จ.หนองคาย


๏ สร้างวัดไตรสิกขาทลามลตาราม

พระอาจารย์สมภพ ได้เริ่มการประกาศตนเองในการเป็นผู้นำปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยได้ดำเนินตามรอยพระบาทพระศาสดาอย่างน่าอนุโมทนา ท่านยอมละทิ้งความสุข ความสบาย ที่ได้รับอย่างพรั่งพร้อมในชีวิตฆราวาส โดยไม่มีความอาลัยในสิ่งเหล่านั้น หันหลังให้กับโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา อย่างไม่ท้อถอย ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เฉกเช่นพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จหนีออกจากพระราชวัง เพื่อค้นหาพระสัจจธรรมท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร

สำนักแรกที่ได้เริ่มการเผยแผ่พระธรรมคำสอน คือ วัดนิพเพธพลาราม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ที่ท่านได้มาซื้อไว้ด้วยน้ำพักน้ำแรงจากค่าจ้างในการทำงาน ปัจจุบันท่านได้มาสร้างสำนักป่าแห่งใหม่ เพื่อปลูกป่าและอนุรักษ์ธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากวัดนิพเพธพลาราม ห่างกันประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เพื่อให้เหมาะกับการประพฤติปฏิบัติธรรม คือ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๓๐๐-๔๐๐ ไร่ ด้วยอุดมการณ์ที่ว่า

“เพียงแมกไม้ฉ่ำชื่นในผืนป่า เพียงธาราเจิ่งขังทั้งเย็นใส
เพียงเสียงสัตว์ เริงร้องก้องพงไพร
เพียงเพื่อให้ ผองมวลมิตร ใกล้ชิด พุทธธรรม”


ด้วยเหตุนี้เอง พระอาจารย์สมภพจึงได้ตั้ง “วัดไตรสิกขาทลามลตาราม” ขึ้นมา โดยมีการปลูกป่าตามอุดมการณ์ เนื้อที่ผืนป่าที่ปลูกแล้วกว่า ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ ไร่ ฉ่ำชื่นด้วยผืนป่า แต่ธาราที่เจิ่งขังยังไม่พร้อม ทางคณะสงฆ์จึงเห็นพ้องกันว่าต้องขุดแหล่งน้ำ นำดินที่ขุดขึ้นมากองเป็นภูเขาจำลอง ปลูกต้นไม้ให้เขียวเป็นภูเขาอันสดชื่น เป็นที่ช่วยดูดฟ้าดึงฝนให้เกิดความชุ่มชื่น ให้สมกับชื่อที่เป็นภาษาบาลีว่า “ไตรสิกขาทลามลตาราม” ซึ่งแปลว่า อารามอันทรงไว้ซึ่งความสดชื่น สำหรับผู้บำเพ็ญไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา)

ภาพของภูเขาลูกย่อมๆ อันเขียวสดชื่น ท่ามกลางความแห้งแล้งแห่งภาคอีสาน ประดับประดาไปด้วยภาพสระโบกขรณีนทีธาร พร้อมทั้งอุทยานอันชื่นใจ แมกไม้และผืนน้ำที่แผ่ล้อมลูกภูเขา พรั่งพร้อมไปด้วยปทุมชาติอันมายมากหลากสีบนผิวน้ำ ท่ามกลางสายลม แสงแดด ณ ภูมิภาคแห่งนี้จะเป็นเสมือนขุมทรัพย์กลางทะเลทราย จากพื้นดินถิ่นที่แห้งแล้งลำเค็ญ อาจกลายเป็นแคว้นศักดิ์สิทธิ์แห่งจิตใจ ซึ่งอาจจะกลายเป็น โอเอซิสธรรม (dhamma Oasis) แห่งภาคอีสาน ทั้งนี้ เป็นการสนับสนุนโครงการของรัฐบาลปัจจุบัน อันว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งช่วยได้ทั้ง ๒ ด้าน

การขุดดินขึ้นได้สระน้ำ ทิ้งดินถมเป็นภูเขาปลูกต้นไม้ให้สดชื่น อุโภ อตฺเถ อธิคณฺหาหิปณฺฑิโต องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แล้วว่า บัณฑิตผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ไม่ประมาท ย่อมถือเอาประโยชน์ได้ทั้งสอง ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ฟ้า ประโยชน์ดิน ประโยชน์ศีล ประโยชน์ธรรม ปลูกดงปลูกป่า คือ ปลูกฟ้าปลูกดิน ปลูกศีลปลูกธรรม ช่วยค้ำจุนโลกให้ร่มเย็น ขุดสระน้ำได้ภูเขาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางตรัสรู้ ประทับบนภูเขาแล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์พระปฏิมากร ภูเขากลายเป็นเจดีย์ที่มีคุณค่ามาก ถึงจะมีมูลค่าน้อย แต่มากไปด้วยคุณค่าอย่างหาประมาณมิได้ พระพุทธรูปท่านเรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์ ภูเขาจากดินที่ขุดกลายเป็นอุทเทสิกเจดีย์เช่นเดียวกัน เพราะเป็นภูเขาซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ยํ ฐานํ ชเนหิ อิฏฐกาทีหิ เจตพฺพํ ตสฺมา ตํ ฐานํ เจติยํติ สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นสำหรับบรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ สิ่งนั้นนับว่าเป็นเจดีย์

ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เป็นการสร้างสรรค์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ ครบรอบคอบคลุมเกือบทุกด้าน เป็นการส่งเสริมด้านเกษตรกรรม ด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้เกิดดุลยภาพทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมด้านการศึกษาตามแนวทางของพระพุทธศาสนาให้ครบทั้ง ๓ ด้านพฤติกรรม คือ ศีล จิตใจ สมาธิ ขบวนการรับรู้ด้านปัญญา นี้คือ ไตรสิกขาในภาพรวม

การขุดสระเก็บกักน้ำบริเวณนี้ จะเป็นการพัฒนาต้นน้ำห้วยก้านเหลือง ผืนป่าที่ปลูกในอารามเกือบ ๔๐๐ ไร่ ได้รับน้ำหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ จะกลายเป็นเขื่อนสีเขียวช่วยดูดฟ้าดึงฝนให้เกิดความชุ่มชื่น สดชื่นอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารของหมู่สัตว์ หมู่มวลสรรพชีพทั้งมวลทั้งสัตว์ปีกสัตว์กีบ พวกเขาจะได้แอบอิงอาศัยให้ปลอดภัย จากการถูกล่าทำลายจากมนุษย์ผู้ไร้เมตตาธรรม เหล่าสัตว์น้ำจะได้แอบอิงอาศัย สืบเผ่าพันธุ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยธรรมชาติ น้ำห้วยก้านเหลืองจะทรงตัวไม่เหือดแห้งตลอดปี

ชาวนาทั้งสองฝั่งจะได้ทำการเกษตรอย่างไม่ฝืดเคือง แม้ไม่มีระบบชลประทานเข้ามาช่วย ก็ยังพอทำการเกษตรไปได้อย่างสะดวกตามฤดูกาล เพราะเหตุปัจจัยของต้นน้ำได้รับการฟูมฟักทนุถนอมอย่างสมดุลด้วยผืนป่าและผืนน้ำ แม้จะเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย ประโยชน์นี้บูรณาการไปถึงภาคเกษตรกรรม โยงใยไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อธรรมชาติถึงพร้อม จิตก็น้อมเข้าสู่ธรรม

Image
Image
การปฏิบัติธรรมเนื่องในงานวันบูรพาจารย์ ณ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.ย. 2007, 10:32 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ ระเบียบในการปฏิบัติธรรม

พระอาจารย์สมภพท่านสอนปฏิบัติธรรมแนวอานาปานสติกรรมฐาน โดยมีหลักเกณฑ์และขอบเขตของระเบียบในการปฏิบัติธรรมภายในวัด ดังนี้

เวลา ๐๒.๐๐ น. สัญญาณระฆังให้ตื่น ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา
เวลา ๐๔.๐๐ น. สวดมนต์ ทำวัตรเช้า
เวลา ๐๔.๓๐ น. แสดงธรรม “ธรรมะก่อนฟ้าสาง”
เวลา ๐๙.๐๐ น. ฉันอาหารมื้อเดียว
เวลา ๑๕.๐๐ น. ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา
เวลา ๑๗.๐๐ น. สวดมนต์ ทำวัตรเย็น แสดงธรรม “ธรรมะก่อนฟ้าสนธยา”
เวลา ๒๑.๐๐ น. จำวัด


๏ งานปกครองคณะสงฆ์

หลังจากที่พระอาจารย์สมภพได้อุปสมบทแล้ว ท่านก็ได้ทุ่มเทกำลังในการพัฒนาผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ตามปณิธานที่ตั้งไว้ทั้ง ๒ แห่ง จนปัจจุบันนี้เป็นอารามที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์เหมาะแก่การปฏฺบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์สมภพได้สละลาภ ยศ ทุกอย่าง ไม่ได้เป็นพระครู, พระมหา หรือแม้แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านก็ปฏิเสธไม่ขอรับ โดยท่านเป็นเพียงประธานสงฆ์ที่มีอายุพรรษามากตามหลักธรรมวินัยเท่านั้น

ต่อมาในภายหลัง เมื่อมีผลงานทางด้านการเผยแผ่ธรรมออกไปอย่างแพร่หลายในวงกว้าง เป็นที่รู้จักของสาธุชนและบุคคลทั่วไป เจ้าคณะจังหวัดสกลนครจะขอพระราชทานสมณศักดิ์ถวาย ท่านก็ปฏิเสธไม่ขอรับ โดยกราบเรียนเหตุผลแก่เจ้าคณะจังหวัดสกลนครว่า “ผมไม่อยากได้ สิ่งที่ผมอยากได้ผมได้แล้ว”


๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ผลงานของท่านส่วนมากจะเป็นการเทศนาแล้วบันทึกเสียงไว้ ในเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และปาฐกถาในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่รวบรวมได้เป็นเรื่องเป็นหัวข้อจำนวน ๔๑๗ เรื่อง จะขอนำเสนอเรื่องที่เด่นๆ ที่จัดเป็นประเภทไว้ พอสรุปสังเขปดังนี้

๑. เวสสันดรปริทัศน์ (บุญมหาชาติ)
๒. อบรมพระหนุ่ม
๓. พุทธทำนาย (ความฝันที่เป็นจริง)
๔. ชีวิตเจียระไน
๕. สถานการณ์พุทธศาสนาในโลกยุคปัจจุบัน
๖. วิศกรรมห่าก้อม
๗. ปลดชนวนระเบิด
๘. ธรรมิกถาหน้าเชิงตะกอน
๙. บุญแจกข้าว กองหด
๑๐. วิสาขะรำพึง (เสียงอีสาน)

Image
(ซ้าย) พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ขณะพักรักษาอาการอาพาธ
ณ โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑



นอกจากนี้แล้ว ท่านยังรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมในสถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้ทั้งไกลทั่วประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศด้วย ชีวิตจึงอยู่กับการเดินทางเป็นส่วนมาก การพักผ่อนไม่ค่อยเพียงพอ ประกอบกับสุขภาพไม่ค่อยจะดี จึงเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ในขณะนั่งแสดงธรรมอยู่นั้นปรากฏว่าท่านสลบฟุบลงกับพื้น คณะศิษยานุศิษย์ได้นำท่านส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจเช็คร่างกายพบว่าเส้นเลือดฝอยในสมองแตก ทำให้ท่านเป็นอัมพาตระยะหนึ่ง

พอพื้นขึ้นมาก็พูดไม่ได้เพราะหลอดเสียงอักเสบ หูนั้นได้ยินคนพูดรู้เรื่องหมด แต่ท่านสื่อกับคนอื่นไม่ได้ เพราะร่างกายไหวติงส่วนแขนขาไม่ได้ หลังจากเวลาผ่านไปหลายวันมือเริ่มใช้งานได้ หมอก็เลยตรวจเช็คว่าท่านยังจำอะไรได้เป็นปกติหรือไม่ ก็เอาปากกากับกระดาษให้ท่าน ปรากฏว่าท่านเขียนได้ ทางด้านญาติโยมและคณะศิษย์ก็ดีใจที่พระอาจารย์ฟื้นขึ้นมาได้ เพราะปกติแล้วโอกาสที่จะฟื้นเป็นไปได้น้อยมาก

ปัจจุบันท่านสามารถพูดได้แล้ว แต่พูดได้ไม่ชัดถ้อยคำนัก ถ้าพูดเร็วก็จะรัวฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องนั่งรถวินแชร์ในการไปมา ซึ่งก็สามารถเดินได้บ้างแต่ต้องใช้ไม้เท้าช่วย บทบาทที่เคยเดินทางไปแสดงธรรมตามกิจนิมนต์ก็ไม่มีมากเหมือนแต่ก่อน เพราะสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ยังคงเหลือแต่ผลงานการแสดงธรรมเก่าๆ ที่จัดทำเป็นเทป ซีดี วีซีดี เอ็มพี ๓ ฯลฯ ซึ่งมีความหลากหลาย ท่านแสดงธรรมได้ทุกระดับ ทั้งโวหารสำนวนและไหวพริบดีมาก เมื่อได้ฟังแล้วจะเห็นความแปลกใหม่อย่างน่าทึ่งมาก ท่านมีความเป็นพหุสูตรอย่างแท้จริง

พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) แห่งวัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ครั้งหนึ่งยังเคยโทรศัพท์ไปนิมนต์พระอาจารย์สมภพให้ไปหาที่วัดสวนแก้ว พระพยอมบอกว่า “ถ้าท่านไม่มาหาผม ผมจะเป็นฝ่ายไปหาท่าน” เรื่องนี้ได้ยินในกลุ่มลูกศิษย์ลูกหาของท่านพูดคุยกัน

พระอาจารย์สมภพ ท่านเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา, หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และ หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโท แห่งวัดสิงหารินทาราม ต.ท่าดอกคำ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ในอดีตก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านเคยเป็นโฆษกนักจัดรายการวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียง ๙๐๙ จ.สกลนคร ชื่อว่า รายการธรรมะเพื่อชีวิต ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนในเขตนั้นเป็นอย่างมาก

Image
พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) แห่งวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี

Image
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

Image
หลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

Image
หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโท แห่งวัดสิงหารินทาราม จ.บึงกาฬ


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 27 ต.ค.2008, 8:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ คุณสมบัติพิเศษและความเชี่ยวชาญ

๑. เป็นผู้ที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง

๒. นอกจากจะเก่งภาษาอังกฤษแล้ว ยังเก่งภาษาแขกด้วย คือพอพูดถึงประเทศอะไร ท่านก็สามารถที่ยกตัวอย่างเป็นภาษานั้นๆ ได้อย่างน่าทึ่งมาก

๓. แตกฉานในพระไตรปิฎกทั้งบาลีและอรรถกถา เรียกว่าเป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่

๔. ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานอยู่ที่ท่าน เรียกว่าเป็นขุมคลังแห่งปัญญาท้องถิ่นได้เลย เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมาก

๕. แตกฉานเรื่องนิรุกติภาษา คือเวลาแสดงธรรมนั้น ท่านจะใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่และก็จะใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปด้วย เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับกาลสมัย

๖. จากเหตุผลข้อที่ ๕ จึงทำให้ท่านแสดงธรรมได้อย่างชนิดที่กินใจ เข้าถึงอารมณ์ทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะไทยอีสาน ท่านแสดงธรรมได้ทุกระดับ ทั้งโวหารสำนวนและไหวพริบดีมาก

๗. เรียกว่าถ้าพูดถึงพระที่เพียบพร้อมไปด้วยปริยัติและปฏิบัติที่สมบูรณ์นั้น ท่านก็อยู่ในระดับแถวหน้า

๘. คุณธรรมของท่าน คือ มีเมตตา กรุณา มีความเที่ยงตรง อดทน ยอมตายเพื่อธรรมะ มีเป้าหมายและหลักการที่ชัดเจน มีอุมการณ์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างชนิดที่ตัวตายก็ยอม

๙. ไม่สนใจในยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีตำแหน่งอะไรทางการปกครอง ไม่ได้เป็นมหา หรือพระครูใดๆ เป็นขวัญใจ และเป็นเพชรเม็ดงามของวงการพระพุทธศาสนารูปหนึ่งโดยแท้


๏ พระนักเผยแผ่ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม

จากการศึกษาประวัติ ปฏิปทา และผลงานของพระอาจารย์สมภพ จะเห็นว่าท่านเป็นพระนักเผยแผ่ธรรมที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม ๗ ประการ คือ

๑. ปิโย เป็นที่รัก คือ เข้าใจถึงจิตใจของผู้ฟัง

๒. ครุ เป็นที่น่าเคารพ คือ มีปฏิปทา จริยาวัตร ที่งดงาม

๓. ภาวนีโย เป็นที่น่าเจริญใจ คือ มีภูมิปัญญาที่แท้จริง

๔. วัตตา รู้จักพูดชี้แจงเผยแผ่ให้ได้ผล คือ สามารถอธิบายธรรมให้ง่ายได้

๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำติชม

๖. คัมภีรัญจ กถ กัตตา คือ ฉลาดในการเทศน์

๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย คือ นำทางศิษยานุศิษย์ตามรอยบาทพระพุทธเจ้าทุกประการ


๏ งานเสขปฏิปทา

งานเสขปฏิปทา เป็นงานปฏิบัติธรรมประจำปี จัดขึ้นประมาณวันที่ ๘-๑๘ มกราคม ของทุกๆ ปี เป็นเวลา ๑๐ วัน ณ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม เพื่อให้การศึกษาอบรมภาคปฏิบัติแก่พระนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาลัยสงฆ์นครพนม วัดพระธาตุพนม อ. ธาตุพนม จ.นครพนม โดยจะมีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จากทั่วทุกสานุทิศ รวมทั้งพระนิสิตจาก มจร. วิทยาลัยสงฆ์นครพนม เดินทางมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากกว่าสองพันชีวิต จึงถือได้ว่าท่านเป็นศูนย์รวมทางจิตใจให้กับพระภิกษุ สามเณร และสาธุชนทั่วไป ทั้งๆ ที่วัดของท่านตั้งอยู่บนภูเขา อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านค่อนข้างกันดาร อีกทั้ง ท่านก็ยังป่วย สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย ท่านจึงมักจะพูดว่า “ต้องให้คนพิการมาสอนคนปกติดีๆ”

พระอาจารย์สมภพ ท่านมักกล่าวกับเหล่าพระภิกษุ สารเณร ญาติธรรม และสาธุชนทั่วไป เสมอๆ ว่า “การศึกษาทางโลก อาตมาจบ ป. ๔ การศึกษาทางธรรม อาตมาไม่ได้จบอะไรเลย นักธรรมตรีก็ไม่จบ จะไปเป็นเจ้าอาวาสก็ไม่ได้ จะไปเป็นพระอุปัชฌาย์ก็ไม่ได้ เป็นได้เพียงประธานสงฆ์ที่มีอายุพรรษามากตามหลักธรรมวินัยเท่านั้น”


๏ โครงการก่อสร้าง “ภูเขาตุงคะวารีศรีวนาลัยไตรสิกขาทลามลตาราม”

ปัจจุบัน พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ได้มีโครงการก่อสร้างภูเขา (แมกไม้, สายน้ำ) คือ โครงการก่อสร้าง “ภูเขาตุงคะวารีศรีวนาลัยไตรสิกขาทลามลตาราม” (ตุง-คะ-วา-รี-สี-วะ-นา-ลัย-ไตร-สิก-ขา-ทะ-ลา-มะ-ละ-ตา-ราม) เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และใช้เป็นสถานที่ฝึกตนปฏิบัติธรรมของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย บนเนื้อที่ในการสร้างทั้งหมด ๓๔๒ ไร่ โดยแบ่งเนื้อที่ขุดสระน้ำรอบภูเขา ๒๘๒ ไร่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง จำนวนเนื้อที่สร้างภูเขา ๖๐ ไร่ โดยจะพูนดินเสริมสร้างภูเขาให้สูง ๓๐ เมตร (หมายถึงบารมี ๓๐ ทัศ) เพื่อปลูกต้นตะกูยักษ์ ต้นไทร ต้นขนุน ต้นพิกุล ยางนา เป็นต้น ให้เป็นสวนป่าอันร่มรื่น

ปลูกดงปลูกป่า คือ ปลูกฟ้าปลูกดิน ปลูกศีลปลูกธรรม คือค้ำจุนโลกทั้งโลกให้ร่มเย็น การก่อสร้าง “ภูเขาตุงคะวารีศรีวนาลัยไตรสิกขาทลามลตาราม” ขณะนี้ได้ขุดสระน้ำโดยรอบแล้ว คงเหลือแต่พูนดินให้สูง ๓๐ เมตรเพื่อทำการปลูกป่าไม้บนเนื้อที่สร้างภูเขาดังกล่าว ดังนั้น “ภูเขาตุงคะวารีศรีวนาลัยไตรสิกขาทลามลตาราม” จึงเสมือนหนึ่งขุมทรัพย์กลางทะเลทราย คือ โอเอซิสธรรม (dhamma Oasis) แห่งภาคอีสาน นั่นเอง

Image
ศาลาปฏิบัติธรรม ณ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม

Image
สื่อการเผยแผ่ธรรมของพระอาจารย์สมภพ ในรูปแบบของซีดี วีซีดี ฯลฯ

Image
ภาพจำลอง “ภูเขาตุงคะวารีศรีวนาลัยไตรสิกขาทลามลตาราม”



.............................................................

สาธุ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
(๑) ศึกษาบทบาทและผลงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ของพระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ (พุทธศักราช ๒๕๔๙)
ผู้วิจัยวิทยานิพนธ์ : พระมหาสุริยัน จนฺทนาโม (จันทะนาม)
(๒) ถอดความจากซีดีและวีซีดีธรรมบรรยาย
ของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ในวาระโอกาสต่างๆ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 พ.ย.2010, 3:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19971

การทำวัตร-สวดมนต์ (พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=18485

ประมวลภาพ “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21521
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง