Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แสงส่องใจ ว่าด้วยความโกรธ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:12 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

แสงส่องใจ
(สมเด็จพระญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



พระชนมายุ ๘๙ พรรษา
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 23 ส.ค. 2007, 7:38 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

“น หิ สาธุ โกโธ” ความโกรธไม่ดีเลย

O นี้เป็นพระพุทธศาสนสุภาษิต ภาษิตในพระพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติไทยที่มีความประเสริฐสุด ไม่มีที่เปรียบเสมอ เหตุเพราะเป็นศาสนาเพียงหนึ่งเดียวที่เกิดแต่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมครู ที่ทรงแสดงสอนทางไปถึงความพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ไม่กลับต้องมีความทุกข์อีกเลยแม้แต่น้อย

O ทางไปถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้จริงที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสอนไว้ให้แก่สัตว์โลกทั้งปวงนั้น สมเด็จพระบรมครูได้ทรงพระพุทธดำเนินทางสายนั้น ได้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง แล้วด้วยพระองค์เอง

O สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก เมื่อ ๒๕๙๐ ปีมาแล้ว ได้ทรงแสดงไว้แจ้งชัดว่าความทุกข์ของโลกเป็นเหตุให้ทรงมีพระมหากรุณาท่วมท้นพระพุทธหฤทัย นำให้ทรงดิ้นรนแสวงหาทางดับทุกข์นั้น จึงทรงพบพระพุทธศาสนา

ได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ให้เป็นแสงส่องโลกขจัดความทุกข์อันเกิดเป็นความมืดครอบงำโลกอยู่ หรือจะกล่าวก็ได้ว่าความมืดที่ครองโลกอยู่นั้นเกิดแต่ความทุกข์ของสัตว์โลกทั้งปวง ที่มากมายท่วมท้นพ้นจะพรรณนา

รวมทั้งเหตุหนึ่งคือความโกรธที่พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ มีความว่า “ความโกรธครอบงำนรชนใด ความมืดมนย่อมมีเมื่อนั้น”

O คำทรงสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาไม่มีผิด ก็เพราะได้ทรงปฏิบัติแล้วด้วยพระองค์เอง ทรงได้รับผลแล้วด้วยพระองค์เอง จึงได้ทรงนำมาสอนให้สัตว์โลกทั้งหลายได้รู้ตามพระองค์

คำสอนของผู้รู้จริงด้วยปัญญา ที่สอนด้วยความมีกรุณาปรารถนาจะให้ความรู้แก่ผู้อื่นจริง ย่อมไม่มีผิด คำทรงสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เช่นเดียวกัน ไม่มีผิด ย่อมให้ผลดีแก่ผู้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม โดยปราศจากผลเสียแน่นอน

O ผู้รู้จริงในเรื่องใดสิ่งใด มีเจตนาจริงที่จะแสดงความจริงนั้นให้มีผู้รู้ตาม มีความรู้ความเข้าใจภาษาที่พูดที่เขียนเพียงพอ ย่อมสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องได้ แต่มิใช่ว่าผู้ได้ยินได้ฟังจะสามารถรับได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ทุกคนไป

ด้วยเหตุนี้เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ ได้ทรงลังเลพระพุทธหฤทัย ที่จะทรงแสดงที่ทรงรู้ให้แก่ผู้คนทั้งหลาย ธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นลุ่มลึก ยากแก่ความเข้าใจ ทรงท้อพระพุทธหฤทัย ที่จะทรงถ่ายทอดต่อไป

แต่ด้วยพระมหากรุณาพ้นกรุณาของผู้ใดทั้งสิ้น ทำให้ทรงคิดว่าอาจจะมีบ้างที่พอจะเข้าใจ และได้ประโยชน์ จึงทรงตัดสินพระพุทธหฤทัยที่จะทรงแสดงธรรมที่ทรงตรัสรู้ พระพุทธศาสนาจึงเริ่มเค้าขึ้นในบัดนั้น

O พระพุทธศาสนาได้เริ่มต้นก่อเค้าแล้ว เมื่อทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ในพระปฐมเทศนา คือพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่ทรงแสดงโปรดท่านปัญจวัคคีย์ โยคีทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ในเมื่อฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธองค์จบลง โดยได้ทรงมีพระพุทธดำรัสบอกว่าท่านโกณฑัญญะได้รู้แล้ว คือได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว

ต่อจากนั้นอีก ๕ วัน ทรงแสดง พระอนัตตลักขณสูตร แก่ท่านปัญจวัคคีย์ และทุกองค์ได้ความบริสุทธิ์ไกลกิเลสสิ้นเชิงตามเสด็จสมเด็จพระบรมครูในกาลนั้น พระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ ทั้งพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ

O น หิ สาธุโกโธ ความโกรธไม่ดีเลย เป็นหนึ่งในพระพุทธศาสนสุภาษิต ที่ย่อมเห็นด้วยกันทุกคนแน่นอน ความโกรธไม่ดี ทุกคนรู้ แต่แทบทุกคนเหมือนไม่รู้ แทบทุกคนมิได้ให้ความสนใจที่จะไม่โกรธ

อีกนัยหนึ่งก็คือแทบทุกคนก็ว่าได้ ไม่สนใจที่จะขจัดความไม่ดีให้พ้นชีวิตจิตใจตน ให้จริงจัง แต่มักจะมุ่งไปจัดการกับความโกรธ คือความไม่ดี ที่มีในผู้อื่นเสียมากกว่า เห็นได้จากที่มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าคนนั้นขี้โกรธ ไม่ดี คนนี้ขี้โกรธ ไม่ดี

มักไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงความโกรธของตนเองอย่างจริงใจ ว่าเป็นความไม่ดี และก็เพราะพากันไปเพ่งเล็งความโกรธ หรือความไม่ดี ของผู้อื่น ความโกรธจึงยังเต็มไปแทบทุกชีวิตจิตใจ

ก่อให้เกิดความทุกข์ความร้อนแผดผาอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลานาที ในทุกผู้ทุกคน เพราะกิเลสนั้น ไม่ว่าความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง ต้องแก้ของตนเอง ที่ตนเอง ไปแก้ของผู้อื่น ที่ผู้อื่น หาเกิดผลได้ไม่

O “ความโกรธทำจิตให้กำเริบ” นี้เป็นโทษอีกประการหนึ่งของความโกรธที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนสุภาษิต จิตกำเริบก็คือจิตรุนแรงขึ้นกว่าปกติ กล่าวได้ว่าโกรธเกิดขึ้นเมื่อใด ในผู้ใด ในเรื่องใด ด้วยเหตุใด

จิตของผู้นั้นจะร้อนรุนแรง ร้ายกาจรุนแรง ขึ้นพร้อมกันในทันที การทำร้ายกัน ถึงการทำลายชีวิตกัน มีความโกรธเป็นเหตุอยู่มากมาย เช่นนี้น่าจะเห็นชัดตามความในพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ความโกรธไม่ดีเลย”


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 21 ส.ค. 2007, 8:22 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:16 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O “ความโกรธไม่ดีเลย” ด้วยเหตุผลประการหนึ่งก็คือ เพราะ “ความโกรธทำจิตให้กำเริบ” คือรุนแรงหนักหนาในทางไม่ดี ความโกรธที่รุนแรงขึ้นเมื่อใด สามารถทำความร้ายรุนแรงได้นานาประการเมื่อนั้น

ดังที่ท่านแสดงไว้ในพระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่ง ความว่า “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยาก ก็เหมือนทำง่าย” ฟังความนี้แล้วให้พึงกลัว คือกลัวโทษของความโกรธให้จงหนัก ด้วยความโกรธเพียงวูบเดียว ก็ต้องกลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนได้

อาจต้องต้องรับโทษประการชีวิตได้คนดีๆ คนหนึ่งกลายเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตายต้องโทษประหารได้ ก็เพราะดังความในพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย” จริงหรือมิใช่ที่ว่า “ความโกรธไม่ดีเลย”

O นึกถึงผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธจนทำสิ่งที่ทำยากเหมือนทำง่าย ฆ่าได้แม้บุตรธิดาภริยาหรือสามีผู้เป็นที่รัก ฆ่าได้แม้มารดาบิดาที่มีพระคุณเหนือเศียรเกล้าเหนือชีวิตจิตใจ เมื่อวูบหนึ่งของความโกรธผ่านพ้นไปแล้ว จิตสงบจากความกำเริบแล้ว

ร่างไร้ชีวิตไร้วิญญาณของผู้เป็นที่รักที่มีพระคุณท่วมท้น ก็นอนสงบนิ่งอยู่เบื้องหน้าแล้ว พระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่งก็มีความหมายรับรองโทษของความโกรธไว้ชัดเจนดังนี้คือ “ภายหลังเมื่อความโกรธหายแล้ว เขาย่อมเดือดร้อน เหมือนถูกไฟไหม้”

O ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ อยู่จำนวนไม่น้อย ทุกคนรู้แน่ แต่มักจะเพียงรู้มิได้คิดให้ลึกซึ้งลงไป ว่าคนพวกนั้นร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ด้วยเหตุใด ความรู้นี้จึงไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควรแก่ผู้รู้ทั้งหลาย

คือไม่เป็นเครื่องเตือนสติให้เห็นโทษของความโกรธ ไม่เป็นเครื่องสอนใจตนเองให้กลัวโทษของความโกรธ ไม่เร่งหลีกหนีให้พ้นโทษที่น่ากลัวนั้น ความโกรธจึงยังมีอำนาจเหนือจิตใจตน โดยมิได้ลดน้อยถอยลงด้วยความกลัว อันเกิดแต่ความโกรธ

O “ความโกรธไม่ดีเลย” และไม่ใช่ความโกรธของผู้อื่นเท่านั้นที่ไม่ดี ความโกรธของตนเองก็ไม่ดี และสำหรับตนเอง ความโกรธของผู้อื่น แม้ไม่ดีเพียงไร ความโกรธของตนเองยิ่งไม่ดีกว่ามากมายนัก เป็นโทษกว่ามากมายนัก

แน่นอน แต่พากันคิดผิดเข้าใจผิดไปเสียหมด เวลาตนเองโกรธจึงลืมคิดไปว่าเป็นความไม่ดี เพราะไปมุ่งเพ่งเล็งปรุงแต่งไปว่า เขาทำอย่างนั้น เขาพูดอย่างนั้น ซึ่งล้วนทำให้เราเกิดความโกรธ เป็นความผิดความไม่ดีของเขาพุ่งความคิดไปโทษผู้อื่น

จนไม่มีความคิดหลงเหลือให้เห็นความโกรธในตนเอง จึงลืมคิดไปด้วยว่าความโกรธของตนก็คือความไม่ดีของตน และลืมคิดให้รู้แก่ใจว่า ความโกรธที่เกิดแก่ตนทุกครั้งไป ไม่ใช่ความไม่ดีของผู้ใดอื่น แต่เป็นความไม่ดีของตนเอง

แน่นอน ใคร่ขอให้จำไว้ให้มั่นว่าความโกรธไม่มีคุณ มีแต่โทษ ใครโกรธคนนั้นมีความไม่ดีเกิด เสมอไป

O ผู้ที่ขาดสติ แม้ความโกรธเกิดขึ้นนักหนาเพียงใด ก็จะไม่รู้สึกตัว ว่าความโกรธเกิดแล้ว และความโกรธแม้ยิ่งมาก โทษก็ยิ่งมาก ความไม่ดีก็ยิ่งมาก จิตก็ยิ่งกำเริบรุนแรงมาก จะผลาญสิ่งใดก็ทำได้ง่ายๆ

แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ใหญ่โตมีโทษหนักหนาเพียงใดก็ตาม ความโกรธที่มากมายย่อมทำลายได้ง่ายๆ ย่อมผลาญได้ง่ายๆ แต่เมื่อทำลงไปแล้วนั่นแหละจะเหมือนถูกไฟไหม้

เมื่อความโกรธสงบลงหายไปแล้วจากจิตใจ ความร้อนใจที่เกิดแต่ความสำนึกผิดในสิ่งที่ได้กระทำลงไปด้วยความโกรธ ก็เพียงพอทำเนา กาลเวลาพอทำให้บรรเทาเบาบางถึงสงบสิ้นได้ แต่ความร้อนใจที่เกิดแต่อาญาที่จะได้รับเพราะโทษที่กระทำลงไปแล้ว จะไม่มีทางแก้ไขได้เลย

O โกรธเขา ฆ่าเขา เราก็ย่อมสิ้นอิสรภาพเมื่อถูกจับได้ เราก็อาจต้องคำพิพากษาให้ต้องตายตกตามเขาไป ก่อนตาย ความร้อน จะแผดเผาจิตใจให้ทนทุกข์ทรมานเพียงใด แม้เคยได้พบความรู้สึกนั้นด้วยตนเอง

แต่แม้ลองนึกดูก็น่าจะเข้าใจ น่าจะหวาดกลัวพยายามอย่าให้ต้องได้รับความร้อนแผดเผาจะดีกว่า นั่นก็คือขณะนี้ที่ความโกรธยังไม่เกิดแก่จิตใจ ความคิดปรุงแต่งให้ความโกรธเกิดยังไม่มีก็ให้เตรียมตัวเตรียมใจให้เต็มที่เถิด

ง่ายๆ ก็คือรับรู้วิธีสำคัญที่ให้เกิดผลเป็นความไม่ตกเป็นทาสของความโกรธเกิดยังไม่มี ก็ให้เตรียมตัวเตรียมใจให้เต็มที่เถิด ง่ายๆ ก็คือรับรู้วิธีสำคัญที่ให้เกิดผลเป็นความไม่ตกเป็นทาสของความโกรธ

วิธีนั้นก็คือให้ควบคุมความคิดของตนให้ดี เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัสถูกต้อง ใจได้รู้อารมณ์ ให้ควบคุมสติให้มั่น ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งไปในทางที่จะก่อให้เกิดความโกรธนั่นก็คือคิดอย่างไรจะโกรธก็พยายามควบคุมสติอย่าคิดอย่างนั้น

O ความคิดสำคัญนัก แต่สติก็สำคัญที่สุด เพราะต้องมีสติจึงจะรู้ทันความคิดของตนว่าเป็นไปอย่างไร คิดปรุงแต่งไปให้ความโลภเกิด หรือให้ความโกรธเกิด หรือให้ความหลงเกิด สติจะทำให้รู้ได้ถึงความคิดดังกล่าว

ไม่มีสติจะทำให้ไม่รู้ ดังนั้นพึงอย่าลืมว่าสติสำคัญพึงรักษาสติมั่น และวิธีรักษาสติที่ง่ายประการหนึ่ง ก็คือให้หาหลักผูกสติไว้ อย่าให้หลุดลอยเลื่อนไหลไปตามสบาย หลักสำคัญที่สุดเป็นหลักแห่งมหามงคลที่แท้จริง คือหลักพระพุทโธ

นั่นก็คือพยายามให้ใจ คือให้สตินั่นเอง ติดอยู่กับหลักพระพุทโธ คือท่องพุทโธไว้ให้ทุกเวลานาที ที่ไม่วุ่นวายหนักหนาอยู่ด้วย ธุรกิจการงานที่ต้องใช้ความคิด ใช้สมอง นั่นแหละคือการฝึกสติ หรือฝึกใจให้อยู่กับที่ อยู่กับหลักพระพุทโธ

ทำไปเถิด สติจะมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ การรู้ทันความคิดจะเกิดตามมาพร้อมกัน เป็นคุณสำคัญแก่ชีวิต อย่างแท้จริง


O สติมีมากเพียงไร การควบคุมระวังความคิดปรุงแต่งมิให้เป็นไปอย่างไม่ถูกไม่ควรจะทำได้ดีขึ้น นั่นก็คือจะไม่วุ่นวายมืดมนเศร้าเหมองด้วยกิลเลสสามกองสำคัญ คือโลภะ โทสะ โมหะ

เพราะกิเลสสามกองนี้แม้มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลก ก็หาได้มีขามีเท้าที่จะวิ่งไปหาใครได้ไม่ ต้องถูกยื้อยุดฉุดเข้าไป จึงจะเข้าไปได้ นั่นก็คือต้องมีความคิดปรุงแต่งยื้อยุดฉุดเต็มแรง ความเดือดร้อนเศร้าหมองจึงจะเกิดได้

พ้อมกับที่ความโลภความโกรธความหลงถูกกระชากลากถูเข้าสู่จิตใจ ที่วุ่นอยู่กับความคิดปรุงแต่งมากมาย

O พระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่ง มีความว่า “ความโกรธก่อความพินาศ” คิดให้เห็นจริงตามความหมายของพระพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้เถิด แล้วจะเห็นภัยอันแรงร้ายน่าสะพรึงกลัวยิ่งนักของความโกรธ ที่ไม่ดีเลยเพราะความโกรธก่อความพินาศ

เป็นโทษที่รุนแรงหนักหนาของความโกรธกันอยู่เป็นประจำ จนเป็นเรื่องธรรมดา โดยหาได้นึกให้ลึกลงไปถึงโทษที่แท้จริงของความโกรธไม่ น่าจะพยายามนึกไว้ดังได้นำมาแสดงไว้บ้างในหนังสือเล่มนี้

เพราะทุกวันนี้อำนาจแรงร้ายของความโกรธกำลังครอบงำโลก ครอบงำบ้านเมือง อยู่อย่างมากมายไม่เคยปรากฏมาก่อน โทษของความโกรธจึงรุนแรงหนักหนา

ที่หาได้มีผู้รู้ผู้เห็นเท่าไรนักว่า ความเดือดร้อนวุ่นวายที่ทำความเดือดร้อน ทำความเสื่อมเสีย ทำความหายนะให้เกิดอยู่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น เกิดแต่เหตุที่แท้จริงประการหนึ่ง คือความโกรธ ที่ไม่ดีเลย

O ความเคยชินกับคำว่าความโกรธทำให้ไม่เห็นเป็นความสำคัญ คือ ไม่เห็นว่าความโกรธเป็นความสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไม่เห็นความสำคัญของความโกรธ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่สนใจกับความโกรธ โดยเฉพาะของตนเอง

ไม่สนใจให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ จะเรียกว่าไม่สนใจกับความโกรธ โดยเฉพาะของตนเอง ไม่สนใจให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ จะเรียกว่าไม่สนใจเลยกับความโกรธของตนก็ไม่ผิด อยากโกรธก็โกรธ อยากทำอะไรเพราะความโกรธก็ทำ ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลร้ายที่จะตามมา

ทำไปง่ายๆ ไม่ว่าหนักว่าเบา ไม่ว่ารุนแรงเพียงไหน ตรงตามพระพุทธศาสนสุภาษิตที่มีความว่า “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย” คิดสักนิดเท่านั้นก็จะเห็นว่าโทษของความโกรธ หรืออำนาจของความโกรธร้ายแรงนัก น่ากลัวนัก


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:18 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย” ความหมายของคำว่า “ทำยาก” ในที่นี้ น่าจะมุ่งถึงที่ว่า “ไม่ควรทำอย่างที่สุด ไม่น่าทำอย่างที่สุด” จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความไม่น่าทำอย่างที่สุด ก็คือสิ่งทีทำยาก

ดังเช่นการทำร้ายมารดาบิดา จนกระทั่งถึงประหัตประหารผลาญชีวิต พระพุทธศาสนาก็มีว่า “ผู้โกรธย่อมฆ่ามารดาของตนได้” ทุกคนย่อมรู้ดีว่า เป็นสิ่งไม่น่าทำที่สุด เป็นสิ่งไม่ควรทำที่สุด แต่ก็ปรากฏว่ายุคนี้สมัยนี้ทำกันได้ ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

มิได้เกิดแต่เหตุใด เกิดแต่ความโกรธทั้งสิ้น เช่นนี้แล้วจะไม่ควรกลัวอำนาจของความโกรธหรือ เช่นนี้แล้วจะไม่เห็นชัดแก่จิตใจอีกหรือ ว่า “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใดสิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย”

O เราเป็นพุทธศาสนิก นับถือพระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นที่รัก ได้รับการอบรมสั่งสอนเสมอมา ให้กลัวกิเลสสำคัญ ๓ กอง คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือความโลภ ความโกรธ ความหลง และจริงๆ แล้วจะพากันรู้สึกว่าที่เกิดง่ายที่สุด เกิดบ่อยที่สุด คือ ความโกรธ

ซึ่งทั่วๆ ไปส่วนมากไม่สนใจในเรื่องนี้เท่าไรนัก เห็นเป็นเรื่องเล็ก ไม่สำคัญ ไม่น่าเป็นห่วง จึงไม่มีผู้สนใจจริงจังที่จะแก้ไขที่จะรอบคอบในการจัดการกับความโกรธที่เกิดขึ้นในใจตน เกี่ยวกับผู้นั้นบ้างผู้นี้บ้าง เรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง

สำคัญบ้างไม่สำคัญบ้าง เป็นเรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้าง ความรู้สึกเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือจะนำภัยอันตรายให้เกิดได้ ทั้งหนักเบา ทั้งแก่ตน และทั้งแก่ผู้เกี่ยวข้องทังหลาย ตลอดถึงแก่ประเทศชาติพระพุทธศาสนา จึงพึงคิดให้ดี

O อย่าเห็นเรื่องของความโกรธเป็นเรื่องเล็ก ที่ไม่สำคัญ เพราะความโกรธเป็นเหตุให้เกิดโทสะ กิเลสสำคัญกองหนึ่ง ความโกรธจึงสำคัญมิได้น้อยกว่ากิเลสอีก ๒ กอง คือ โลภะ ความโลภ และโมหะ ความหลง และอาจจะให้โทษหนักหนากว่าก็เป็นได้

เพราะความโกรธไดรับความใส่ใจน้อยมาก ปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้นมิได้ว่างเว้น มิได้คำนึงถึงให้รอบคอบเพียงพอ ยอมให้ความโกรธฉุดกระชากไปให้ทำความไม่ควรได้ต่างๆ นานา จนกระทั่งแม้สิ่งที่ทำยาก ไม่ควรทำ ไม่น่าทำ

หรือกระทั่งไม่ควรทำที่สุด ไม่น่าทำที่สุด ก็ยังทำได้ด้วยอำนาจของความโกรธ ในขณะเป็นผู้โกรธอย่าลืม พึงระลึกไว้เสมอว่า “ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย”

O พระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่ง ซึ่งชี้ชัดถึงโทษของความโกรธ มีความว่า “ผู้เกิดความโกรธแล้ว เป็นผู้ฉิบหาย” อันคำว่าฉิบหายที่ท่านนำมาใช้แสดงแจ้งชัดทีเดียวถึงโทษที่รุนแรงอย่างยิ่ง

คำที่นำมาใช้อธิบายโทษนั้น จึงเป็นคำที่หยาบแรง ที่นำมาพูดถึงนี้มิได้มีเจตนาอื่น นอกจากเจตนาจะเตือนให้แรงเหมือนกัน ว่าให้ระวังโทษของความโกรธให้จงหนัก อย่าปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ จนลืมตัว ลืมเขา ลืมเรา ความลืมตัวหรือลืมเขาลืมเรานี้มีโทษหนักหนานัก หนักหนาจริงๆ

O ความลืมตัว ลืมเขาลืมเรา ก็เช่นลืมว่าเมื่อเปรียบกับท่านผู้เป็นใหญ่ ตนต้องไม่ลืมว่าตนเป็นคนเล็ก ที่ต้องให้ความเคารพคารวะในความเป็นใหญ่ของท่าน ไม่ก้ำเกินด้วยกิริยาวาจา หรือการกระทำคำพูด แม้เมื่อความโกรธเกิด ไม่ว่าจะโกรธเพราะคิดว่าท่านผู้เป็นใหญ่ทำผิดคิดร้ายต่อตนเพียงใด ก็ต้องไม่ลืมตัว

ต้องรู้ภาวะฐานะของตัว และภาวะฐานะของท่านผู้เป็นใหญ่ หยุดยั้งกิริยาวาจาที่ไม่ดีไม่งาม ที่เป็นการก้ำเกินความใหญ่ของท่านให้ได้ นี้เป็นความยาก เพราะความโกรธมีอิทธิพลรุนแรง ต้องอาศัยการอบรมจิตใจตนเองไว้เสมอ

ก่อนความโกรธจะครอบงำใจ เพราะเมื่อความโกรธเกิดแล้ว คือผู้โกรธแล้วย่อมรู้เหตุไม่รู้ผล ไม่รู้ความผิดความถูก นอกจากจะอบรมใจตนไว้อย่างดีพอสมควร ตั้งแต่ยังมีใจที่ไม่มีความโกรธเท่านั้น

O ผู้น้อยก้ำเกินผู้ใหญ่ด้วยเหตุใดก็ตาม รวมทั้งเหตุคือความโกรธ มีภาษาเรียกกันว่าล่วงล้ำก้ำเกินผู้ใหญ่ แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่ความโกรธ เป็นต้น ทำให้คิดพูดทำต่างๆ ต่อผู้น้อย ผู้ด้อยอำนาจวาสนาบารมีกว่า มีภาษาเรียกว่าเบียดเบียน รังแก ขาดเมตตา

ใช้อำนาจที่ไม่ถูกไม่ควร ต่อผู้ไม่มีทางสู้ ผู้ใหญ่รังแกผู้น้อยนั้น ปกติแล้วมีผู้ตำหนิผู้ใหญ่ที่ทำเช่นนั้นด้วยอำนาจของความโกรธ เป็นต้น ยิ่งกว่าตำหนิผู้น้อยที่ล่วงล้ำก้ำเกินผู้ใหญ่ด้วยอำนาจของอารมณ์ต่างๆ เช่นความโกรธ

ที่จริงถึงแม้ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ได้เปรียบในการใช้อำนาจวาสนาเหนือผู้น้อย แต่ผู้น้อยได้เปรียบกว่าผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติอย่างขาดเมตตา มีการข่มขู่เบียดเบียนด้วยวิธีต่างๆ เพราะผู้น้อยจะได้รับความเห็นใจ

ผู้ใหญ่จะได้รับคำครหานินทาตำหนิติเตียนด้วยความเห็นใจผู้น้อย เหตุหนึ่งก็เพราะผู้น้อยไม่มีทางสู้ หรือมีทางสู้ก็ไม่กล้าสู้ เพราะกลัวภัยที่ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก จากผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจวาสนาบารมีสูงกว่าผู้น้อย

แม้ต้องระวังตัวอย่างยิ่งเพียงไร มิให้ตกอยู่ใต้อำนาจความโกรธ ผู้ใหญ่ยิ่งต้องระวังตัวยิ่งกว่า ยิ่งต้องอบรมจิตใจให้หนักให้ไม่ลืมตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่รังแกผู้น้อย แม้จะรู้จะเห็นการปฏิบัติอย่างขาดคารวะ อย่างไม่ถูกไม่ชอบสมควรเพียงใดของผู้น้อย

O พระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่งแสดงถึงความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือความถูกความผิดของผู้ถูกความโกรธครอบงำ ว่าดังนี้ “ผู้โกรธย่อมไม่เห็นธรรม” คือ ไม่รู้ผิด ไม่รู้ถูก ไม่รู้ชั่ว ไม่รู้ดี

ซึ่งหมายถึงด้วยว่าไม่รู้ผลดีผลร้ายที่จะเกิดตามมาจากการคิดพูดทำด้วยความโกรธ ใครจะได้รับผลดีผลร้ายเพียงใดก็ไม่รู้ ตนจะได้รับผลร้ายหนักหนาเพียงไร ก็จะไม่รู้ มุ่งแต่จะให้กิริยาวาจาเป็นไปตามอำนาจของความโกรธเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีพระพุทธศาสนสุภาษิตเตือนไว้ว่า “ความโกรธก่อความพินาศ” และ “ผู้เกิดความโกรธแล้วเป็นผู้ฉิบหาย” เห็นได้ว่าโทษของความโกรธมิใช่เบาอย่างที่เข้าใจกัน อันเป็นเหตุให้พากันปล่อยปละละเลยความโกรนธที่เกิดแก่ตนมิได้ว่างเว้น เห็นเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีความหมาย ซึ่งผิดนัก ผิดที่สุด


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O อันที่จริง ก็น่าเห็นใจผู้โกรธที่ถูกล่วงล้ำก้ำเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่ต่ำต้อยกว่า แต่เมื่อพูดกันด้วยธัมมะ ธัมมะซึ่งผู้นับถือพระพุทธศาสนามีบุญยิ่งนัก ที่ได้มาศึกษา มารู้จักคำทรงสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระผู้ทรงไกลแล้วสิ้นเชิงจากความเศร้าหมองของความโกรธ ก็ควรจะพยายามเชื่อพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ความโกรธไม่ดีเลย”

O ความโกรธนั้นเป็นเหตุแห่งโทสะ หนึ่งในกิเลสสำคัญ ๓ กอง คือ โลภะ โทสะ โมหะ พระพุทธศาสนสุภาษิตจึงมีแสดงไว้ว่า “โทสะมีความโกรธเป็นสุมุฏฐาน” ผู้จะพ้นความเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในความทุกข์ได้ จะต้องเป็นผู้ไกลกิเลสทั้ง ๓ กองได้อย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นความโกรธจึงเป็นสิ่งต้องกำจัด ก่อนจะสามารถไกลกิเลสกองโทสะได้อย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้มีผู้แสดงความปรารถนาจะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดค่อนข้างมาก ก็ขอหวังว่าจะเข้าใจถึงความสำคัญอันเป็นโทษของความโกรธ และพยายามกำจัดให้บรรเทาเบาบาง จนหมดสิ้นไปให้ได้ เพื่อถึงเป้าหมายสูงสุดคือความไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

O ทุกวันนี้พากันมีทุกข์ พระพุทธศาสนาแสดงทางแห่งความสุขไว้ในพระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งขอเชิญมาเป็นกำลังงใจให้กำจัดความโกรธ นั่นคือ “ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข”

O นอกจากที่ว่า “ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข” พระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่งก็กล่าวไว้มีความว่า “ฆ่าความโกรธได้ ไม่เศร้าโศก” คิดถึงเล็กน้อยย่อมจะเห็นความยิ่งใหญ่ของคุณแห่งความไม่โกรธ

อาจจะมีผู้ไม่แน่ใจในพระพุทธศาสนสุภาษิตต่างๆ นี้ ก็น่าจะทดลองพิสูจน์ด้วยตนเอง และน่าจะนึกถึงสรณะทั้ง ๓ ในพระพุทธศาสนา คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ สรณะที่ไม่มีที่อื่น

นอกจากทั้ง ๓ รัตนะนี้เท่านั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นอริยสงฆ์ มิใช่สมมติสงฆ์ สามรัตนะนี้เท่านั้นเป็นสรณะที่พึ่งที่แท้จริง

นั่นก็คือ การเชื่อถือปฏิบัติตามรัตนะทั้ง ๓ นี้ ให้คุณให้ความถูกต้องสถานเดียว ไม่มีให้โทษ ไม่มีผิด ท่านจึงใช้คำสรณะสำหรับเฉพาะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช้กับผู้ใดอื่น หรืออะไรอื่นทั้งสิ้น

O ในพระพุทธศาสนา หรือผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่นำคำสรณะไปใช้หมายถึงใครอื่น หรือสิ่งใดอื่น นอกจากพระรัตนตรัย ที่ประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์

เพราะรัตนะทั้งสามนี้เท่านั้นที่ไม่ให้ทุกข์โทษภัยใดเลย ทุกยุคสมัยทุกกาลเวลา สรณะทั้งสามนี้ไม่มีโทษภัย มีแต่คุณยิ่งใหญ่พ้นพรรณนา ด้วยเหตุที่มีแต่ความใสสะอาดบริสุทธิ์จริงในสามรัตนะนี้ ความอยุติธรรมลำเอียงหามีไม่

ความรู้ถูกบ้างผิดบ้างก็ไม่ใช่เป็นคุณสมบัติของทั้งสามรัตนะนี้ โลภ โกรธ หลง ไม่มีแล้ว ซึ่งอิทธิพลที่จะก่อผลเป็นทุกข์โทษภัยแก่ผู้เข้าใกล้เกี่ยวข้อง

มีแต่ความเมตตาปรารถนาดี มีความจริงใจให้แก่สัตว์โลกทั้งปวง นี้เป็นคุณสมบัติที่เป็นสรณะได้ จึงกล่าวว่าไม่มีอื่นที่เป็นสรณะในโลกนี้ นอกจากพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

O พระพุทธเจ้าก็ตาม พระธรรมคำทรงสอนของพระองค์ก็ตาม พระอริยสงฆ์ผู้ไกลแล้วจากความโลภโกรธหลงก็ตาม ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งเป็นคนสูงและเป็นคนต่ำ ทั้งเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีและเป็นยาจกยากจนเข็ญใจ

ทั้งเป็นคนดีและเป็นคนเลว ไม่ว่าเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูมุ่งร้ายทำลายก็ตาม ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนจากพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ด้วยร้ายแม้เพียงเล็กน้อยนัก วางใจได้ทุกขณะจิต ทุกเวลานาทีในสรณะที่แท้จริง คือพระรัตนตรัย

O พระพุทธองค์ไม่เคยทรงยุงยงนินทาว่าร้ายกล่าวโทษผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูเป็นผู้ผิดหรือเป็นผู้ถูก ทรงมีให้แต่พระเมตตาอย่างท่วมท้น

พระธรรมคำทรงสอนอันเป็นผลงานของพระพุทธองค์เกิดแต่ความทรงตรัสรู้ จึงเป็นไปเช่นเดียวกับองค์พระผู้ทรงตรัสรู้พระผู้ได้ทรงแสดงพระธรรมนั้น ไว้ให้ประดิษฐานอยู่คู่โลกคู่แผ่นดิน

พระอริยสงฆ์ผู้สาวกของพระพุทธองค์รับพระธรรมคำทรงสอนไว้เป็นครู ดูแลรักษาเทิดทูนคำทรงสอนไว้ได้อย่างสะอาด หมดจดห่างไกลความผิดศีล ผิดพระธรรมวินัย จนทุกวันนี้

ใครหรือจะไม่ยอมรับว่าพระรัตนตรัยเท่านั้นที่ท่านเป็นสรณะได้ ผู้คนทั้งหลาย เทพยดาทั้งหมด แม้ยังไม่ไกลกิเลสแล้วสิ้นเชิง ก็หาอาจเป็นสรณะได้ไม่ นี้เป็นความจริงแท้ แน่นอน

O สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมครู พระผู้ประเสริฐเหนือใครทั้งหลาย พระผู้ทรงตรัสรู้โลก คือทรงรู้แจ้งชัด ทรงรู้ถูก ทรงรู้จริง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทั้งปวง ความทุกข์ความร้อนเกิดแต่อะไรก็ทรงทราบสิ้น

ทรงชี้ทางไปสู่ความไกลทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เพียงเล็กน้อย จนถึงทุกข์ที่ใหญ่ใหญ่ยิ่งที่สุด ตั้งแต่ไกลได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว จนถึงไกลได้สิ้นเชิง คือตลอดกาล จักไม่มีความทุกข์ใดอีกต่อไป

พระพุทธศาสนาพาไปสู่ชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ เหนือชัยชนะทั้งปวง จึงเป็นที่ปรารถนาของผู้มีปัญญาทั้งปวงในชัยชนะนั้น อันจักให้ความสุขเป็นที่สุด จึงเป็นการชี้ให้เห็นชัดเจนว่าพระพุทธศาสนา หรือพระรัตนตรัย ให้แต่ความสุข ไม่ให้ความทุกข์แก่ผู้ใดแม้แต่น้อยแน่นอน


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก

แก้ไขล่าสุดโดย I am เมื่อ 21 ส.ค. 2007, 8:31 am, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 21 ส.ค. 2007, 8:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

O สรณะของเราผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่สูงส่งที่สุด คือสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีผู้เปรียบเสมอพระองค์ได้ในโลกทั้งสาม ความทรงไกลกิเลสเครื่องเศร้าเหมองอย่างสิ้นเชิงทั้ง ๓ กอง คือทั้งกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ

ทำให้ทรงสูงสุดงดงาม เหนือความสูงทั้งปวง เหนือความงามทั้งปวง พระปัญญาสว่างเจิดจ้า ปราศจากเครื่องบดบังให้เศร้าหมองแม้แต่น้อย อันปัญญานั้นเป็นคุณสำคัญสำหรับความเป็นมนุษย์

พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนฉลาดสำคัญอย่างยิ่ง และคนจะฉลาดได้มากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับความโกรธด้วยเหมือนกัน พระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวถึงความโกรธกับปัญญาว่าดังนี้ “ความโกรธเป็นอารมณ์ของคนมีปัญญาทราม”

หมายความว่าผู้มีปัญญาทรามมีความโกรธอยู่เสมอ อยู่เป็นนิตย์ ในทางตรงกันข้ามก็คือผู้มีปัญญายิ่งมีความโกรธที่เบาบาง นั่นก็คือพยายามลดละความโกรธให้มากที่สุด จะมีปัญญามากขึ้นได้ตามกำลังที่เบาบางของความโกรธ

O พระพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้มีความว่า “ผู้โกรธย่อมไม่รู้อรรถ” ก็คือไม่รู้จักประโยชน์ ผู้โกรธ ผู้ไม่รู้จักประโยชน์ ก็คือผู้ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา จะเรียกว่าผู้โง่ คนโง่ ก็ไม่ผิด

การจะทำตนให้เป็นคนฉลาดก็มีวิธีดังกล่าว คือพยายามอย่าโกรธ โกรธให้น้อยลง น้อยลง มีสติรู้ไว้ให้เสมอ ว่าโกรธเมื่อใด ให้พยายามจัดการกับความโกรธนั้น อย่าให้มากขึ้น อดทนไว้ให้เต็มที่ อย่าให้โกรธน้อยกลายเป็นโกรธมาก

แต่จงพยายามให้โกรธมากลดลงเป็นโกรธน้อย ด้วยการใช้เหตุผลคือใช้ปัญญานั่นเอง ช่วยไม่ให้โกรธมากขึ้น แต่ให้โกรธน้อยลง คาถาศักดิ์สิทธิ์ที่น่านำมาใช้สู้กับความโกรธ ที่ไม่ยากนักก็มีอยู่ จะสำเร็จผลแม้ตั้งใจจริงที่จะใช้คาถาศักดิ์สิทธินี้

นั่นก็คือเกิดความโกรธเมื่อใด ให้ท่องคาถานี้ทันทีว่า

“เราโง่ เราโง่ เราโง่ คนขี้โกรธ เป็นคนโง่
เราโกรธ เราก็โง่ เราก็โง่ เราก็โง่”


O ความโกรธจะเกิดได้เมื่อต้องพบกับความไม่ได้ดังใจ คนทำไม่ถูกใจ พูดไม่ถูกใจ ทั้งที่ไม่สมควรจะทำเช่นนั้น ไม่สมควรจะพูดเช่นนั้น เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ ให้มีเมตตามาเป็นเครื่องช่วย พร้อมกับให้ใช้เหตุผลที่ถูกที่เป็นจริง

คือคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน เกิดด้วยกรรมที่ต่างกัน จะให้ทุกคนคิด พูด ทำ ให้เหมือนใจเราได้อย่างไร บางคนเกิดในเครื่องแวดล้อมที่ดีงาม บางคนเกิดในเครื่องแวดล้อมที่ต่ำต้อย การอบรมไม่เสมอกัน กิริยาวาจาแตกต่างกัน

จะไปหวังให้ได้ดังใจเสมอไป ก็เท่ากับขาดเหตุผลอย่างยิ่ง ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง เพราะไม่มีทางจะเป็นไปได้ มีแต่จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง ไม่เป็นสุข ขาดเมตตาแม้แต่ต่อตัวเอง และต่อเพื่อนร่วมทุกข์ ที่คิดพูดทำไม่ได้ดังใจเราด้วย

ไม่เมตตาตัวเองนั้นตรงที่สุด เพราะพระพุทธศาสนาสุภาษิตบทหนึ่งก็ยังกล่าวว่า “ความมักโกรธย่อมอยู่เป็นทุกข์” ทำตัวให้เป็นทุกข์ด้วยการไม่ลดละความโกรธ ก็คือการไม่เมตตาตนเองก่อนไม่เมตตาใครอื่น

O “ญาติมิตรและสหายย่อมหลีกเลี่ยงคนมักโกรธ” นี้ก็เป็นพระพุทธศาสนสุภาษิตอีกบทหนึ่ง ที่ชี้โทษของความโกรธ ไม่มีผู้ใดชอบสมาคมกับคนขี้โกรธ เพราะไม่ทำให้เกิดความสบายใจได้เลย และใครเล่าปรารถนาความไม่สบายใจ ไม่มีแน่

แม้ตัวเองจะก่อนกวนให้ผู้อื่นไม่สบายใจมากมายเพียงไร ตนเองก็ไม่อยากไม่สบายใจด้วยกันทุกคน แต่ยากนักที่จะหนีพ้นความไม่สบายใจจากคนมักโกรธ คนมักโกรธมีอยู่ทุกที่ ทุกสังคม อาจจะเป็นตัวเราเอง

หรืออาจจะเป็นคนใดคนหนึ่งที่รวมอยู่เป็นพวกเราหมู่เรา ถ้าต้องการจะรักษาใจตนเองมิให้เกิดความโกรธตามผู้ที่ต้องประสบพบผ่านท่านก็แสดงสอนไว้ในพระพุทธศาสนสุภาษิตว่า “พึงตัดความโกรธด้วยความข่มใจ พึงตัดความโกรธด้วยปัญญา”

O อีกวิธีหนึ่งที่พึงนำมาใช้เพื่อตัดความโกรธ ตั้งแต่ให้ลดน้อย จนถึงให้หมดได้สิ้นเชิง คืออบรมเมตตาให้มากที่สุด เพราะเมตตาเป็นเครื่องหยุดยั้งความโกรธอันเกิดแต่การกระทำคำพูดที่ไม่ถูกไม่ควรของคนทั้งหลายได้

ความโกรธนั้นดังพระพุทธศาสนสุภาษิต ที่ว่า “ความโกรธก่อความพินาศ” และจะเป็นความพินาศเฉพาะตัวผู้โกรธก็หาไม่ แต่จะเป็นความพินาศของหลายผู้หลายคน แม้ความพินาศของบ้านของเมืองก็เกิดได้

เมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว และมากมายขึ้นแล้วด้วยความคิดปรุงแต่งอย่างมืดมนของผู้โกรธ ที่ถูกความโกรธครอบงำอย่างเต็มที่ เพราะ “ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด ความมืดมนย่อมมีเมื่อนั้น” นั่นก็คือผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้วปัญญาย่อมมืดมิด ทำให้ไม่รู้อรรถ คือประโยชน์ ไม่รู้ธรรม คือไม่รู้ความถูกต้อง

เมื่อปัญญามืดมิดแล้ว ประโยชน์ไม่รู้แล้ว ความเสียประโยชน์ก็ย่อมไม่รู้เช่นกัน ไม่รู้ธรรมคือไม่รู้ความถูกต้องเป็นต้นว่าไม่รู้ว่าใครดีใครชั่ว ใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรู ใครมุ่งร้ายใครมุ่งดี ไม่รู้ทั้งสิ้น

เพราะความมืดมิดแห่งจิตใจ แห่งปัญญาย่อมให้ผลร้าย แม้รุนแรงที่สุดได้ ดังที่ว่าให้ความพินาศได้ ความโกรธจึงไม่ดีเลย เปลี่ยนความโกรธให้เป็นเมตตาให้ทันเวลาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปเถิด

O ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ใครจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เพราะความตายเกิดกับทุกคนได้ทุกเวลานาที ผู้ที่ตายไปทั้งที่ความโกรธยังไม่บรรเทาเบาบาง ชีวิตข้างหน้าย่อมมืดมิดปัญญาย่อมต่ำทราม

จะอยู่ในสภาพใดก็ต้องเป็นสภาพที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา เป็นที่รังเกียจของคนทั้งปวง จักมีแต่ความทุกข์ ไร้ยศศักดิ์ เสื่อมทั้งทรัพย์ สิ้นทั้งปัญญา จะหาความสุขได้ที่ไหน เริ่มต้นฆ่าความโกรธที่คุกรุ่นอยู่ไม่ว่างเว้นเสียเถิด อย่าให้ลุกลามเป็นไฟแผดเผาให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่อไปเลย

จะเผากว้างใหญ่ไพศาลออกไปเพียงไรก็ได้แน่นอน ถ้าเราไม่ใช่คนอำมหิตโหดเหี้ยมจนเกินไป อาฆาตพยาบาทด้วยความโกรธจนเกินไป จนทนเห็นผลร้ายแรงอันเกิดแต่ความโกรธของเราไม่ได้

O “พึงตัดความโกรธด้วยปัญญาเถิด” ปัญญาที่สำคัญก็คือ มีสติเตือนตนเอง ว่าเราจะรักษาตัวเรามิให้เศร้าโศก รักษาคนทั้งโลกด้วยมิให้ถูกไฟแห่งความโกรธของเราเผาไหม้

เพราะใครก็ตาม เมื่อความโกรธเกิดแล้วย่อมเป็นไฟเผาไหม้ทั้งตนเอง ทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เป็นบาปกรรมที่ไม่ทำย่อมดีกว่า ย่อมไม่พาไปสู่ภพชาติใหม่ที่น่าสะพรึงกลัว และย่อมไม่ทำให้ภพชาติปัจจุบันเป็นภพชาติที่อ้างว้างว้าเหว่

เพราะดังพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ญาติมิตรและสหายย่อมหลีกเลี่ยงคนมักโกรธ” มาเป็นคนที่แวดล้อมด้วยญาติมิตรที่รักเถิดจะดีกว่า ด้วยการ “ฆ่าความโกรธ” เสียเดี๋ยวนี้

O เราคนไทย มีสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ มีสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สองพระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นแบบอย่างอันงามเลิศ จงน้อมรับมหามงคลแห่งองค์สรณะ และแห่งพระผู้ทรงเป็นแบบอย่างอันงามเลิศนี้เถิด


ขออำนวยพร
วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ สาธุ

...เจริญธรรมครับ... ยิ้มเห็นฟัน
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.ย. 2007, 12:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ I am

ขออนุญาตแบ่งปันนะคะ

เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะคะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ยิ้ม ยิ้มแก้มปริ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง