Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 แนะวิธีหนีนรกแบบง่ายๆ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2007, 6:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๑๘ อานิสงส์ของกรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๔

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
ตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๘ ของรายการหนีนรก
ก่อนจะพูดถึงอย่างอื่นก็ขอย้ำไว้ก่อน
เพราะว่าจะฟังแต่ละตอนก็หลายวัน
วิธีการหนีนรกจริง ๆ เป็นของไม่ยาก
แค่ใช้อารมณ์ตัดสังโยชน์ ๓ ประการเท่านั้น
สังโยชน์ ๓ ประการมีความรู้สึกว่า

ข้อที่ ๑ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้มันจะไม่ตาย
หรือไม่คิดถึงความตายเสียเลย

ข้อที่ ๒ ไม่ยอมเชื่อหรือเลื่อมใสนับถือพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระอริยสงฆ์

ข้อที่ ๓ ไม่ยอมทำความดี
สร้างแต่ความชั่ว ๕ ประการคือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดมุสาวาท ดื่มสุรา และเมรัย
ถ้าจะสมาทานศีลกันบ้างก็สมาทานแบบเสียไม่ได้
หรือว่าสมาทานเป็นประเพณี
เขาว่า ปาณาก็ปาณาตามพระ เป็นต้น
อย่างนี้การสมาทานแบบนั้นไม่เป็นผล
ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังโยชน์
คือ ร้อยรัดบรรดาท่านพุทธบริษัทให้ตกอบายภูมิ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าไม่ต้องการลงอบายภูมิมีนรก เป็นต้น
ก็ให้มีความรู้สึกไว้เสมอ และก็สร้างความดี
คือ ยึด พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
ถ้ายึดไว้อย่างนี้เมื่อไร ตายแล้วเมื่อไรไม่ลงนรก
และก็ยังไม่แน่นอนนัก ชาตินี้ไม่ลงชาติหน้าอาจจะลงก็ได้
ต่อไปก็ทรงศีลห้าให้บริสุทธิ์
เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ตรัสว่า
ไม่มีทางลงอบายภูมิเลย
จะไม่มีโอกาสเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต
เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
หากว่าท่านจะต้องเกิดอีกกี่ชาติก็ตาม
แดนทั้ง ๔ ประการนี้จะไม่ยอมเด็ดขาด
แดนที่จะไปก็คือ

สีเลนะ สุคติง ยันติ ท่านจะมีแต่ความสุข
ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่มีความสุข
ไม่อย่างนั้นก็เป็นเทวดาหรือพรหม

สีเลนะ โภคสัมปทา จะเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม
ก็มีทิพยสมบัติมาก ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคนร่ำรวย
มีโภคทรัพย์สมบัติมาก คือ เป็นคนรวย

สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ในที่สุดท่านก็จะมีแต่ความสุขมากกว่าความทุกข์ ความทุกข์จะมีบ้างก็เล็กน้อยแค่ขันธ์ ๕ มันเจ็บป่วยเท่านั้น
การปฏิบัติอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
ทุกคนบอกว่าไม่ต้องการลงนรก
แต่ขอให้มีกำลังใจจริง ๆ สามารถจะพ้นนรกได้จริง


สำหรับตอนที่ ๑๘ นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ขอพูดอานิสงส์สักหน่อย
เพราะว่ากรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๔ พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด
เพ้อเจ้อ เหลวไหล ยังไม่ได้กล่าวถึงอานิสงส์ การไม่ดื่มสุราและเมรัย
ยังไม่ได้กล่าวถึงอานิสงส์ในการเว้นจากคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติ
ของบุคคลอื่น ยังไม่ได้พูดถึงอานิสงส์
แต่ก็จะพูดถึงอานิสงส์ย่อ ๆ พอจำได้ง่าย ๆ การที่ท่านมีวาจาดี
๑. ไม่พูดปด
๒. ไม่พูดคำหยาบเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง
๓. ไม่พูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน
๔. ไม่พูดจาเหลวไหลไร้ประโยชน์

พูดแต่วาจาที่เป็นประโยชน์
คือกลับมาพูดใหม่คือ
๑. พูดแต่ความเป็นจริง
๒. พูดวาจาอ่อนหวานเป็นที่ชอบใจของบุคคลผู้รับฟังและก็
๓. พูดให้เขาก่อเกิดความรักซึ่งกันและกันไม่แตกความสามัคคี
๔. พูดเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์


ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทท่านใดสามารถใช้วาจาทั้ง ๔ ประการนี้
ให้ขึ้นใจจะไปในสถานที่ใด จะอยู่ที่ไหนก็ตาม
เราก็จะพูดแต่ความเป็นจริง ใช้วาจาเป็นที่รักของบุคคลผู้รับฟัง
แล้วเวลาจะพูดไปใครเขายุแยงตะแคงแสะกัน
แล้วมายุเราส่งข่าวบอกว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้คิดร้าย เราต้องใช้ปัญญา
อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าคล้อยตามไปตามเขา
และเราก็จะไม่พูดวาจาเช่นนั้น
วาจาใดที่เป็นปัจจัยทำให้คนแตกร้าวกัน เราไม่พูด
พูดให้เขามีแต่ให้ความรักกัน สามัคคีกัน กลมเกลียวกัน
และวาจาประเภทใด พูดไปแล้วไม่มีประโยชน์
เราจะไม่พูดวาจานั้น พูดเฉพาะวาจาที่มีประโยชน์
โดยเฉพาะเมื่อท่านทั้งหลายใช้วาจาทั้ง ๔ ประการนี้ได้เป็นปกติ
อย่างนี้อาตมาขอยืนยันว่า ในชาติปัจจุบันนี้ไม่ต้องชาติหน้า
ทุกท่านมีวาจาเป็นทิพย์ มีเสียงเป็นทิพย์ คำว่า ทิพย์
ท่านแปลว่า ยังไงก็ช่างเถอะ
แต่คำว่า ทิพย์เกิดขึ้นแล้วที่ไหน ที่นั่นก็ชอบใจ
อย่างมีร่างกายเป็นทิพย์ คนก็ชอบ
มีเครื่องประดับเป็นทิพย์ คนก็ชอบ
มีที่อยู่เป็นทิพย์ก็ชอบ
ก็รวมความว่า วาจาของท่านเป็นวาจาดี เป็นวาจาทิพย์
จะไปคุยกับใครที่ไหน จะออกปากขอความช่วยเหลือบุคคลใด
จะไม่มีใครเขารังเกียจเลย
ท่านจะคุยกับใครที่ไหนจะไม่มีใครเบื่อหน่าย
มีแต่คนหวังดีชอบใจในวาจาของท่าน
รวมความว่า คนประเภทนี้ก็มีวาจาเหมือนวาจาทิพย์
พูดเป็นที่ถูกใจคน ผลที่จะได้รับก็คือ เรามีความสุข
จะออกปากขอความช่วยเหลือกับใครสักครั้งไม่ต้องวิตกกังวล
หวังว่าได้ทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะอะไร
เพราะว่าเราพูดที่ไหนใครเขาก็เชื่อ พูดที่ไหนใครเขาก็ชอบใจ
พูดที่ไหนก็มีแต่คนรักกันกลมเกลียวกัน
พูดที่ไหนก็มีแต่ประโยชน์ ไม่กล่าววาจาที่เป็นโทษให้เกิดกับใคร
ไอ้การที่เราพูดดีให้เขา
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเขาก็พูดดีกับเรา
ถ้าเราด่าเขา เขาก็ด่าเราอย่างนี้เป็นต้น

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทราบถึงอานิสงส์ปัจจุบัน
ว่าท่านจะมีความสุข เพราะวาจาของท่าน
ถ้าตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ต้องห่วง
อานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้จะทวีขึ้นคูณเป็นแสน
ผลประโยชน์ที่พึงจะได้คูณด้วยแสน
เกิดชาติต่อไป ๆ อานิสงส์ก็ใหญ่ขึ้น
แค่ได้ยินเสียงพูดได้ยินเสียงร้องจากความเป็นเด็กคนก็รักแล้ว

และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทคงสังเกตได้ว่า
คนบางคนยังไม่ทราบเขาพูดอะไรเลย
เป็นแต่เพียงได้ยินเสียงเขาพูดแว่ว ๆ เสียงดังมาแต่ไกล
เราชอบใจในเสียงเขาแล้ว อย่างนี้หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัท
แรงความความดีในการควบคุมวาจาของเขา
แต่อาจจะควบคุมไม่ได้ตลอดกาลตลอดสมัยก็ได้
สมัยใดที่อานิสงส์วาจาดีให้ผล
เวลานั้นพูดไปกับคนใดก็ตามเขาเชื่อทุกประการ
แต่ว่าเรื่องของคน บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
คนเราเกิดมาแล้วนี่มันมี กุศล และ อกุศล ให้ผล
เพราะเกิดมาแต่ละชาติเขาคงไม่พูดจริง ไม่พูดดีเสมอไป
ในกาลบางครั้งอาจจะมีการโกหกมดเท็จบ้าง พูดวาจาหยาบไปบ้าง
อาจจะเผลอเข้าใจผิดคิดว่า เขาทะเลาะกันยุให้แตกกันเสียบ้าง
บางครั้งก็เผลอพูดวาจาที่ไร้ประโยชน์อย่างนี้มันเป็นโทษ
ถ้ากฎของกรรมประเภทนี้เข้ามาสนองเราเวลาที่เราเป็นคน
ตอนนั้นวาจาของเราไม่มีผลในการพูดเลย
ไปพูดกับใครใครเขาก็ไม่อยากฟัง มีแต่คนรังเกียจ
คนที่พูดแล้วมีแต่คนรังเกียจหรือท่านทั้งหลายรังเกียจมีบ้างไหม
เข้าใจว่ามี แต่ขณะใดอานิสงส์ของวาจาดีให้ผลขณะนั้น
ทุกคนอยากฟังคำพูดของท่าน นี่เป็นอานิสงส์ของการพูดดี

แล้วมาประการข้อที่ ๒ ด้านสุราแลเมรัย
พูดไปแล้วโทษของการดื่มสุราและเมรัยแต่คุณล่ะ
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เอากันชาตินี้ก็แล้วกัน
ก็มีหลายท่านที่เคยดื่มสุราแลเมรัยเป็นปกติ
และต่อมาขณะที่ดื่มสุราและเมรัย
อาตมาเคยพบเอง ได้ยินเอง ได้เห็นเอง
มีคนรังเกียจเขา ว่าเขาเป็นคนกินเหล้าเมายา พูดไม่เป็นภาษาคน
การประพฤติปฏิบัติการเลวทราม ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม
ที่เขาต้องคบบ้างก็คบด้วยความจำเป็น
บางทีก็ใช้อำนาจความเมา อำนาจป่าเถื่อน
เอาความเมาเข้ามาผสม ทำให้เขาเกรงกลัวแต่เขาเกลียด
เรียกว่าทั้งเกลียดทั้งกลัวประเภทนี้ เป็นต้น
แต่ถ้าว่าพอบุคคลนั้นเลิกกินเหล้าเมายาในปัจจุบันนี้มีเยอะ
ที่มาหาอาตมาก็มาก แล้วก็มีหลายท่านมารายงานให้ทราบ
เรียกว่า หลายร้อยท่านไม่ใช่หลายท่าน มารายงานให้ทราบ
ขออภัยนะ ไม่ได้โฆษณาขายหนังสือ
เพียงแค่อ่านประวัติหลวงพ่อปานเล่มเดียวจบ
ผลก็เลิกในการดื่มสุราและเมรัยทันที
ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทที่เป็นสตรี
ถ้าเผชิญสามีของท่านหรือภรรยาของท่านชอบดื่มสุราและเมรัย
ก็จงอย่ามั่นใจว่า ซื้อหนังสือหลวงพ่อปานไปให้เขาอ่าน
เขาจะเลิกดื่มสุรา ที่พูดมานี่ไม่ใช่โฆษณาขายหนังสือ
และก็ไม่ได้ขอยืนยันว่าเป็นอย่างนั้น
แต่ว่าหลายร้อยท่านที่มาในงาน เขารายงานบอก
ผมอ่านหนังสือ ประวัติหลวงพ่อปานจบ
เท่านี้ผมเลิกดื่มสุราและเมรัยทันที
ที่เป็นอย่างนี้เพราะอาศัยหนังสือหลวงพ่อปานหรืออะไรเป็นเหตุ
อาตมาก็ต้องขอตอบว่า ความดีของท่านผู้นั้นเป็นเหตุ
อาการที่ท่านยังดื่มสุราและเมรัยอยู่
มีความรู้สึกว่า การดื่มสุราและเมรัยเป็นของดี
ทั้ง ๆ ที่มันทำลายทรัพย์สิน ทำลายศักดิ์ศรี
ท่านก็ยังว่าดีอยู่นั่น ทั้งนี้เพราะอกุศลในชาติก่อนที่ทำไว้
เข้าสอนใจท่าน ทำให้เห็นว่าความชั่วเป็นความดี
แต่ว่าพอหยิบหนังสือหลวงพ่อปานขึ้นมาอ่านจบ
ตอนที่กำลังอ่านไปอำนาจของกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะนั้นพอดี
กุศลเกิดขึ้น กุศลเก่าที่ทำไว้ในชาติก่อนก็จ่ออยู่แล้วทั้ง ๒ อย่าง
นี่ผลของบุญและผลของบาปมาจ่ออยู่ข้างใจเรา
ถ้าผลของบาปเข้ามาทับใจก่อน ผลของบุญก็เข้ามาไม่ได้
คอยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล นี่พออ่านหนังสือเรื่องนั้นเข้าชอบอกชอบใจ
เพลิดเพลินในหนังสือ จิตเป็นกุศล จิตน้อมเข้ามาหากุศล
ถ้าจิตเป็นกุศลเกิดขึ้นมา อกุศลก็ต้องถอย
เมื่ออกุศลถอยไปแล้วกุศลใหม่ยังครองจิตอยู่กุศลเก่าเข้าผสมทันที
ตอนนี้เป็นกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท
ให้ตัดสินใจเลิกดื่มสุราและเมรัยทันที

ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทั้งหลายเข้าใจตามนี้นะ
แต่ว่าอาการอย่างนี้จะให้เป็นทุกคนอาตมาคิดว่า เป็นไปไม่ได้
ฟังแล้วจะพากันมาซื้อหนังสือหลวงพ่อปานไปให้สามีหรือภรรยาอ่าน
ที่ติดสุราและเมรัย ถ้าเลิกไม่ได้อย่ามาด่าอาตมา
มาว่าโฆษณาขายหนังสือ "ไม่เห็นจะเลิกได้เลย"
อันนี้ไม่ขอยืนยันว่าเลิกได้นะ
ต้องขอตอบว่า อกุศลของท่านถอยไป
กุศลใหม่ที่อ่านหนังสือเกิดขึ้น เกิดศรัทธา
กุศลเก่าที่ทำมาแล้วในชาติก่อนคอยอยู่แล้วเข้าผสมทันที
กุศลทั้ง ๒ ประการนี้ ๒ อันดับนี้เข้ามาประสานกัน มีกำลังมาก
ตีกุศลให้ถอยไป อกุศลก็หนีไป ท่านจึงตั้งใจเลิกการดื่มสุราและเมรัย
ถ้าท่านที่เอาหนังสือหลวงพ่อปานไปอ่าน
ถ้ากุศลใด ๆ ไม่เกิดขึ้นกับใจ อ่านกี่ร้อยเที่ยว
กี่พันเล่มมันก็เลิกสุราและเมรัยไม่ได้ ขอบอกไว้เสียก่อน

ทีนี้การไม่ดื่มสุราและเมรัยสติสัมปชัญญะก็สมบูรณ์แบบ
สติ นึกไว้ว่าอะไรมันดีมันชั่ว
สัมปชัญญะ รู้ตัวว่าอะไรดีอะไรชั่ว
เลือกทำแต่ความดี ละความชั่ว
อันนี้เกิดขึ้นแน่หลังจากนั้นต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ก็มหากุศล
มหากุศลคือ กุศลใหญ่
เริ่มตั้งใจทำแต่ความดี ความประมาทไม่มีในชีวิต
จิตก็คิดอย่างเดียวว่า อยากจะพ้นจากอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น
ถ้าเป็นอย่างนี้บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
ความรู้สึกว่าชีวิตนี้จะต้องตายก็เกิดขึ้น
เพราะอารมณ์เป็นกุศลและยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระอริยสงฆ์ อารมณ์นี้ก็เกิดขึ้น
การทรงศีลห้าให้บริสุทธิ์อารมณ์นี้ก็เกิดขึ้น
จิตตั้งหวังไว้เพื่อนิพพานอารมณ์นี้ก็เกิดขึ้น
ถ้าอารมณ์ทั้ง ๔ ประการเกิดขึ้นเมื่อใด
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย และอารมณ์นั้นไม่สลายตัว
ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ไม่มีแก่ท่านแน่ในชาติต่อ ๆ ไป
นี่ว่ากันถึงอานิสงส์ ไม่ดื่มสุราและเมรัย
เอาย่อ ๆ มากนักจำไม่ได้มันก็อาจจะมากไปหน่อย


ตอนนี้ว่าถึงอานิสงส์ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น
ได้มาเป็นของตนอารมณ์อย่างนี้
ศีลทุกข้อบรรดาท่านพุทธบริษัท กรรมบถ ๑๐ ก็ดี
ก็ต้องมีธรรมะแทรกเป็นยาดำ
ธรรมะที่แทรกเข้ามานี้เราไม่ต้องหาเกิดขึ้นเองกับใจ
ท่านก็ลองคิดดูว่า ทำยังไงเราจึงจะไม่คิดถึงเหตุนั้น
ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เราไม่เคยมีแหวนเพชร
เขามีแหวนเพชรมองเห็นแล้วก็ชอบใจ
ไอ้เรื่องอยากจะได้แหวนเพชรมีอยู่
แต่ก็เชื่อในองค์สมเด็จพระบรมครู
อยากได้แหวนเพชร แต่ไม่ใช่อยากได้อยากจะขโมยเขา
ไม่ใช่โกงเขา ไม่ใช่ยื้อแย่งเขา
อยากจะซื้อแหวนเพชรมาใช้
อยากจะหามาด้วยทุนของตัวเอง
อันนี้ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม
ไม่ผิดทั้งศีลไม่ผิดทั้งกรรมบถ ๑๐
อยากได้เพราะเห็นว่าสวย
แต่ไม่ใช่อยากจะแย่ง อยากจะซื้อ
อยากจะหาเงินซื้อมาเอง อย่างนี้ใช้ได้
อารมณ์มีอยู่และอาการไม่อยากได้ของเขา
อยากจะซื้อเองอย่างนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้นบ้าง
อะไรทำให้เกิดแบบนี้ ก็ต้องตอบว่า ธรรมะที่สิงอยู่ในใจ
เราเองอาจจะไม่สามารถจะเห็นไว้ก่อนได้
นั่นก็คือ เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
สันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่ตนหามาได้
โดยชอบธรรมธรรมะทั้ง ๓ ประการนี้ควบคู่กันมาตลอด
สิงอยู่ในใจประจำท่านนานแล้ว
ตัวท่านเองท่านอาจจะไม่ได้คิด
ท่านจะคิดหรือไม่คิดก็ตาม
ในเมื่อทรัพย์สมบัติหรือเงินทองอยู่ในกระเป๋า
จะถือว่า เราเป็นคนไม่มีเงินไม่มีทองไม่ได้
และที่เราไม่รู้ว่า เรามีเงินมีทอง เพราะเราลืมค้น
หรือควานหาหรือพิจารณา ลืมดูว่าในกระเป๋าเรามีอะไรบ้าง

สมมุติว่าท่านเป็นคนมีกำลังมากกว่า
ไปเจอะคนที่มีกำลังอ่อนแอกว่าอย่างคนป่วยมาก ๆ
หรือเด็กตัวเล็ก ๆ คล้องสร้อยเพชรติดทับทรวงเพชร
มีจั่นเพชร มีแหวนเพชรทั้งหมด เป็นต้น
มีในร่างกายหรือมีทรัพย์สินทั้งหลาย
ราคาเป็นแสนเป็นล้านอยู่ในร่างกาย
เราสามารถจะหยิบเอาต่อหน้าก็ได้ลับหลังก็ได้
ไม่ต้องลับหลังหยิบเอาต่อหน้า คนพวกนี้ก็ไม่สามารถจะต่อสู้เราได้
ยิ่งเป็นคนป่วยไข้ไม่สบายอย่างหนักยิ่งดีมาก
โอกาสที่ยับยั้งการกระทำของเราไม่ได้
หรือเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่สามารถจะต่อกรเราได้
เราจะปลดเปลื้องเอาของประเภทนี้เสียเมื่อไรก็ได้
แต่ว่าทำไมเราจึงไม่ทำ
เห็นเข้าก็นึกคิดว่า เอ้อ คนป่วยนี่นะเขาป่วย
อาการใกล้จะตายอยู่แล้ว
แต่ทว่าเจามีทรัพย์สมบัติมากน่าภูมิใจ
น่าดีใจ เด็กเล็ก ๆ คนนี้เด็กแท้ ๆ
แต่ดีกว่าเรา มีทรัพย์สมบัติมากขนาดนี้
แต่แทนที่จะยื้อแย่ง เราไม่เอา ข้อนี้มีอะไรเป็นเบื้องต้น มีสันโดษ

ธรรมะที่มีความสำคัญข้อหนึ่ง คือสันโดษประจำใจท่านอยู่แล้ว
ก็มีความรู้สึกนึกคิดว่า นี่มันเป็นสมบัติของเขา
เราไม่ควรจะยื้อแย่งเอา และจิตใจก็ไม่อยากได้เสียด้วย
ถ้าบังเอิญมาเห็นว่าสวยก็มีจิตเมตตาความรัก
คิดว่าถ้าเราแย่งเอาไปเมื่อไรก็ได้
แต่ไม่ควรแย่งมันทรัพย์สมบัติของเขา
เราหลีกให้เพราะความรัก
หรือถ้าเราไม่เคยรักเขาไม่เคยสร้างความดีแก่เรา
ก็มีความสงสารว่า คนป่วยขนาดนี้
ถ้าเราเข้าไปแย่งเขาจะเสียกำลังใจ
เพราะเสียของ ดีไม่ดีไม่ตายจากอาการป่วยในกาลก่อนที่เป็นมา
ตายเพราะความเสียที่เราแย่งของ
ถึงแม้เห็นว่าเด็กที่ประคับประคองทรัพย์สมบัติมากแบบนั้น
ที่เราไม่ทำ ถ้าเราไม่เคยรักมา เราก็สงสารว่าเป็นเด็ก
ไม่สามารถจะหาสมบัติอย่างนี้ได้ด้วยตนเอง
ต้องอาศัยผู้ใหญ่หาให้ ถ้าเราไปยื้อแย่งเธอเข้าอย่างนี้ไซร้
เธอก็จะเสียกำลังใจดีไม่ดีก็ตายได้เลย
ก็รวมความที่เราไม่ทำเพราะความดี คือ อริยทรัพย์ฝังใจเราอยู่
แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าเราเป็นคนดีก็ได้

นี่เป็นอานิสงส์บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าเราเว้นการไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลใดโดยไม่ชอบธรรม
เว้นการอยากได้นะ ทรัพย์สมบัติของเขาเราไม่อยากได้
เราต้องการอย่างเดียวเห็นเขามีดีอะไร
เราจะทำอย่างนั้นให้ปรากฏ
อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงสรรเสริญว่า เป็นคนดี
และเจตนาดวงนี้ของบรรดาท่านพุทธบริษัท ก็จะสำเร็จผล
มันจะช้าหรือเร็วอยู่ที่ท่าน
เราตั้งใจอยากจะได้ทรัพย์สมบัติอย่างนี้บ้าง
เราจะหาด้วยกำลังกายปัญญาของเราเอง และทุนทรัพย์ของเราเอง
ก็ถือว่าตั้งใจหาด้วยกำลังของความเพียร
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
อันนี้เป็นความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัท
เป็นว่าอานิสงส์ที่จะพึงได้
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายในชาติต่อไป
ท่านจะหาไฟไหม้บ้านของท่านไม่ได้เลย
ไฟมันจะช๊อตในบ้านของท่านสักกี่ครั้งกี่วาระ มันก็ไม่ไหม้ขึ้นมาได้
บางครั้งบางคราวไฟไม่ช๊อตแต่คนมาจุดบ้าน เอาน้ำมันมาราด
อย่างนี้ไฟก็ไม่ไปติดอะไร
คิดว่าอาการอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
คงจะได้ยินข่าวมาแล้ว บางบ้านไฟช๊อตนิดเดียว
ไฟลุกพรึบไฟไหม้บ้าหมด บางบ้านไฟฟ้าช๊อตลามแปลบ ๆ
ไฟลุกเป็นประกายเขียวไปตลอดสายไฟฟ้าที่มีในบ้าน
แต่ไม่ยอมไหม้อะไรเลย อย่างนี้ก็มี
หรือบางรายจุดไฟเท่าไรก็ไม่ติด อย่างนี้ท่านอาจจะเคยได้ยิน
ที่เป็นอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทก็เพราะว่า
อานิสงส์ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น
มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม

และประการที่ ๒ ท่านจะเห็นว่าลมพัด บางทีบ้านของเราอ่อนแอกว่า
บ้านบางบ้านอ่อนแอกว่า บ้านที่จะล้มเพราะลมมีเยอะแยะไป
แต่ไอ้บ้านที่คิดว่าจะพังมันไม่ยอมพัง
มันไปพังบ้านที่มีความแข็งแรงกว่า
และบางโอกาสที่น้ำมา บางทีทำลายทรัพย์สินของคนอื่นเสียหาย
ของบางคนปลอดภัยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
จะเสียหายบ้างก็เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของที่ไร้ค่ามีค่าเล็กน้อยก็แล้วกัน
ของไร้ค่าไม่มี แม้แต่ผ้าขี้ริ้วมันก็มีราคาและของค่าเล็กน้อย
คือไม่สะเทือนใจนัก บางบ้านมีการป้องกันแน่นหนาก็ถูกปล้น
ถูกแย่ง ถูกชิง ถูกวิ่งราว ถูกจี้
แต่บางคนคนที่มีทรัพย์สินมาก ๆ แต่บ้านช่องก็ไม่ค่อยดี
มีการป้องกันน้อย แต่ปลอดภัยจากโจร


ที่เป็นอย่างนี้แหละบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
เพราะอาศัยกำลังของตนตั้งอยู่ในอำนาจของความดี
คือ มีความสันโดษ ไม่ยินดีในทรัพย์สินของชาวบ้าน
ที่เราจะได้มาโดยไม่ชอบธรรม คือ ไม่คิดจะคด จะโกง
จะยื้อจะแย่ง จะลักจะขโมยของเขา
เพราะอาศัยที่มีกำลังเมตตา คือ ความรัก
กรุณา คือ ความสงสารประจำใจ
เป็นธรรมะที่ทำจิตใจให้เยือกเย็น
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จึงได้เป็นอย่างนั้นมีอานิสงส์อย่างนี้
จึงขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
จงพากันรักษาความดีตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
เป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมสุคต
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งแต่ข้อนั้นมาเลย คือคิดว่า ชีวิตนี้จะต้องตาย
ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดมุสาวาท
ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาส่อเสียด
ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล ไม่ดื่มสุราและเมรัย
ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
ถ้ากำลังใจทรงอย่างนี้ความดีของท่าน
แม้แต่ขณะนี้ยังไม่จบยังไม่หมดก็ตาม
เชื่อว่าการจะเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ไม่มีแล้ว
หากว่าท่านมีชีวิตอยู่ก็จะมีความสุขขึ้นมาก
ถ้าตายลงไปเมื่อไร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า
ท่านจะเวียนว่ายตายเกิดใดวัฏฏะ แค่มนุษย์กับเทวดาหรือพรหม
ถ้ามาเป็นมนุษย์แดนใดที่มีความลำบากยากแค้น
ท่านจะไม่เกิดที่นั่น แดนใดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความร่ำรวย
ท่านจะเกิดที่นั่น รูปร่างหน้าตาของท่านจะเป็นคนสวย
ข้อนี้เว้นไว้ก่อนเพราะเวลามันจะหมด เมื่อเวลาจะหมดตอนที่ ๑๘ นี้
ก็ต้องขอลาบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคตทุกท่าน
ขอทุกท่านจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัย
หากทุกท่านประสงค์สิ่งใด
ก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการ สวัสดี...


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 10 ส.ค. 2007, 6:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๑๙
กรรมบถ ๑๐ ข้อที่ ๙ พยาบาท


ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๑๙ ของเรื่องการหนีนรก
การปฏิบัติเพื่อหนีนรกเป็นตอนที่ ๑๙ แต่ก่อนที่จะพูดถึงการปฏิบัติ
โดยทั่วๆ ไป ก็ขอบทสรุปมาพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัทเสียก่อน
การหนีนรกจริงๆ ในเบื้องต้อนก็ใช้อารมณ์ ๓ อย่าง
คือ อารมณ์ตัดสังโยชน์ ๓ ประการ คือ
๑. สักกายทิฎฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส


สำหรับอารมณ์ของสักกายทิฎฐินั้น
มีความเห็นฝืนจากความเป็นจริง คือว่า ไม่ยอมนึกถึงความตาย
หรือว่าไม่คิดว่าชีวิตนี้มันจะตาย

ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน กับสกิทาคามี
ถ้ามีความรู้สึกว่าร่างกาย ไอ้ที่พูดเมื่อกี้นะ
เป็นอารมณ์ฝืนจากอารมณ์ของพระโสดาบัน กับสกิทาคามี
ถ้าเห็นร่างกายนี้สะอาด สวยงดงาม น่ารักน่าชม
ข้อนี้มีอารมณ์ที่ฝืนกับอารมณ์ของพระอนาคามี
การมีความเข้าใจว่า ร่างกายนี้เป็นของเรา
เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา
อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ฝืนกับอารมณ์ของพระอรหันต์
ถ้าเราจะตัดเราจะทำแบบไหน
อันดับแรกจริง ๆ เราก็แก้สักกายทิฎฐิ
ที่มีความเห็นผิดจากความเป็นจริง
ทำใจใหม่ให้เห็นถูก การเห็นถูกตามความเป็นจริง
ก็เพราะว่าตัวอย่างมีมาก คนก็ดี สัตว์ก็ดี
เกิดมาแล้วต้องตายด้วยกันทั้งหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายเป็นของไม่แน่นอนในเวลา
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"เธอทั้งหลาย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง
และเธอทั้งหลายจงอย่างคิดว่า ความตายจะเข้ามาถึงเราในวันพรุ่งนี้"
พระองค์ให้คิดว่า ความตายอาจจะมาถึงเราวันนี้ไว้เสมอ
ในตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ ถามพระองค์ว่า

"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง"
ความจริงเวลานั้นพระอานนท์ท่านเป็นพระโสดาบัน
พระอานนท์กราบทูลองค์สมเด็จพระภควันต์ว่า

"ข้าพระพุทธเจ้า นึกถึงความตายวันละประมาณ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อนันทะ ดูก่อนอานนท์
ความรู้สึกนึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งนี่ห่างเกินไป
ตถาคตเองนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"

นั่นพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ไว้ใจในชีวิต
ทรงคิดเสมอว่า ชีวิตอาจจะตายเมื่อไรก็ได้
หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย
หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย
ชีวิตของเราจริง ๆ อยู่ที่ลมหายในเท่านั้นเอง
ให้มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นอารมณ์แรกที่จะเข้าไปตัดนรก
หรือว่าหนีนรกให้พ้น
ต่อไปเมื่อเราคิดว่า วันนี้เราอาจจะตาย เราก็สร้างความดี
ความดีอันดับแรก ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
ยอมรับนับถือพระธรรม ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์
เป็นการแก้อารมณ์ของสังโยชน์

อารมณ์ของสังโยชน์ ข้อที่ ๒ ที่เรียกว่า "วิจิกิจฉา"
มีความสงสัยว่า พระพุทธเจ้าอาจจะไม่ดี
พระธรรมอาจจะไม่ดี พระอริยสงฆ์อาจจะไม่ดี

แต่เราก็ใช้ปัญญาเข้าพิจารณา
ความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระองค์
ก็ไม่ต้องดูคำสรรเสริญ ที่เขาสรรเสริญพระพุทธเจ้า
แต่เราก็ไม่ยอมฟัง เรามองดูผลของท่านที่ตรัสออกมา
ในพระธรรมคำสั่งสอง แต่ว่าการตรัสหนีนรกเบื้องต้น
เราก็ยังไม่ใช้อารมณ์กว้าง ใช้แค่พิจารณาศีลห้า
ว่าการละเมิดศีลห้ามันดีหรือมันเลว
มีความสุขหรือความทุกข์ มีความเยือกเย็นหรือความเร้าร้อน
ถ้าปฏิบัติตามศีลห้าได้ จะมีความเยือกเย็นหรือมีความเร้าร้อน
หรือมีความสุขหรือความทุกข์

ก็จะเห็นว่า ทุกคนรักชีวิตของตน
นี้ศีลข้อที่ ๑ ถ้าไม่ทำลายเข้าเขาก็ไม่ชอบ
เราคิดทำลายเขา ๆ ก็คิดทำลายเราเป็นของไม่ดี
มีแต่ความเดือดร้อน ในเมื่อสร้างศัตรู
ทรัพย์สมบัติของบุคคลใดก็ตามย่อมมีการหวงแหน
เพราะการหาทรัพย์สมบัติมาด้วยยาก
ก็ปรารถนาจะใช้สอยตามลำพัง
ไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งทรัพย์สินของตนไป
เราถูกเขาแย่งทรัพย์เราไม่พอใจขนาดไหน
เขาถูกเราแย่งเขาก็ไม่พอใจขนาดนั้นเหมือนกัน
สามีและภรรยาต่างคนก็ต่างมีความรัก
ต่างคนก็ต่างมีความหวงแหน
ถ้าเราไปละเมิดสิทธิของเขา ๆ ก็ไม่ชอบ
หรือเขาละเมิดสิทธิของเรา เราก็คงไม่ชอบ
เหมือนคนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน
การที่เป็นคนไร้สติสัมปชัญญะ ไม่มีสติ
มัวเมาเผลอสติทำตนคล้ายคนบ้า
อย่างนี้ใครๆ ก็ไม่ชอบ เราก็ไม่ชอบ คนอื่นก็ไม่ชอบ
ก็รวมความว่า เราก็เป็นคนดี

๑. มีใจดี มีเมตตา ความรัก กรุณาสงสาร
และก็มีอารมณ์สันโดษ ทั้งหมดทั้ง ๓ ประการ นี้
สามารถควบคุมศีลได้ เราก็เป็นคนมีความสุข
เรื่องนี้ขอเว้นไว้แต่เพียงเท่านี้
บรรดาท่านพุทธบริษัท ต่อไปก็จะพูดถึงกรรมบถ ๑๐ ประการ

กรรมบถ ๑๐ ประการ ข้อที่ ๙ ที่เรียกว่า "พยาบาท"
พยาบาทนี่การจองเวรจองกรรม จองล้าง จองผลาญ
จองความโกรธเข้าไว้ คือ ขังความโกรธไว้นาน ๆ
คิดทำลายทุกอย่างให้พินาศลงไป
ใครที่ทำให้ใจเราไม่ชอบ จะฆ่าเขาบ้าง
เราจะกลั่นแกล้งเขาบ้าง จะคิดประทุษร้ายเขาบ้าง
อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่มีแต่ความเร่าร้อน
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ที่ต้องไปสู่อบายภูมิ
มีนรกเป็นต้น เพราะกำลังใจเศร้าหมอง
พระองค์ตรัสว่า ถ้าต้องการจะหนีนรก ให้กลับอารมณ์เสียใหม่
ให้คิดว่า การเกิดของเรามา
การจะทำให้ถูกใจซึ่งกันเสมอไป ย่อมไม่มี
เราทำดีแต่คนเลวก็ไม่ชอบ เราทำเลวคนดีเขาก็ไม่ชอบ
บางทีเราสร้างความเลว คนเลวก็ไม่ชอบเหมือนกันอย่างนี้ก็มี
การที่จะทำให้ถูกใจกันเสมอไปไป ย่อมเป็นไปไม่ได้
เป็นตามธรรมดาของโลก
ฉะนั้นคนทีทำไม่ถูกใจเรา เราก็ต้องโกรธ
ในเมื่อเรายังไม่เป็นพระอนาคามี
แต่ก็ตัดสินใจว่า ความโกรธนี้จะไม่ยอมโกรธนาน
คิดให้อภัยกับคนที่มีความผิด
คิดว่า ทุกคนที่ทำไป ทำด้วยความหวังดี
แต่ว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอาศัยกรรมที่เป็นอกุศล
คือ ความชั่วในชาติก่อนที่เขาทำไว้เข้ามาดลใจ
เป็นปัจจัยให้เขาสร้างความไม่ดีให้เราไม่ชอบใจ


อันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าทำได้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสว่า
"ถ้าระงับอารมณ์ความโกรธ หรือความพยาบาทเสียได้
กำลังใจก็จะเต็มไปด้วยความผ่องใส
คนที่มีความโกรธง่ายและขังความโกรธไว้เร็ว
ทั้งจิตใจก็ดี ทั้งร่างกายก็ดี ทรุดโทรมง่าย
จิตใจก็เต็มไปด้วยความเร่าร้อน
มีแต่ความกระวนกระวาย หาความสุขใจไม่ได้"

ถ้าเราคิดอยากจะฆ่าเขา คิดอยากจะทำร้ายเขา
เราก็วางแผน วางแผนว่าคนนั้นตะมีชีวิตอยู่ยังไง
จะไปทางไหนเมื่อไร จะอยู่กับที่ที่ตรงไหน
ทางเข้าทางออกที่จะประหัตประหารชีวิตเขา ทำประการใด
ก็วางแผนและอำนาจความโกรธวางแผนคิดประทุษร้ายเขา
คนวางแผนนั่นแหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
จะมีร่างกายทรุดโทรมก่อน ดีไม่ดีก็ตายไปก่อนเลย
ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าเมื่อความโกรธเกิดขึ้น
ความเร่าร้อนใจเกิดขึ้น คิดอยากจะประหัดประหารเขา
ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ กลางคืนจะนอนสงัด
แทนที่จะหลับก็คิดอยากจะประทุษร้ายเขาด้วยความโกรธ
จะทำแบบไหนจึงทำเขาได้ และทำแบบไหนเขาจึงจะไม่รู้
ทำแบบไหนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงจะไม่ทราบ
จะไม่ถูกลงโทษจากทางบ้านเมือง
คิดอย่างนี้ดึกแสนดึกก็นอนไม่หลับ
เมื่อนอนไม่หลับ ถึงเวลากินอาหารก็กินอาหารไม่ได้
ร่างกายก็เริ่มทรุดโทรมไปตามลำดับ
เนื้อแท้จริงๆ คนที่ถูกเราโกรธเขายังไม่รู้ตัว
เขาก็ยังกินอิ่มนอนหลับ เราแย่ลงไปแล้ว


นี่ในปัจจุบันบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ความโกรธไม่ดีแบบนี้ และนอกจากนั้นคนมักโกรธก็มีศัตรูมาก
ถ้าเราโกรธคนๆ หนึ่ง คิดประทุษร้ายบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
หรือใช้วาจาจ้วงจาบเพราะความโกรธให้เขาสะเทือนใจก็ดี
ตั้งใจจะประทุษร้ายเขาแต่ทำไม่ได้ก็ดี
แต่ฝ่ายนั้นรู้ตัว เมื่อฝ่ายตรงข้ามรู้ตัวเขาก็ไม่ชอบใจเรา
เราก็มีศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ คน
ถ้ามีศัตรูเพิ่มขึ้นมา ๑ คน นี้บรรดาท่านพุทธบริษัทจะนั่งไม่เป็นสุข
จะนอนก็ไม่เป็นสุข จะยืนก็ไม่เป็นสุข จะเดินก็ไม่เป็นสุข
ทั้งนี้เพราะอะไร ? เพราะเกรงว่าศัตรูจะเข้ามาประหัตประหาร
มาทำร้ายเรา ในเมื่อบุคคลหนึ่งเขาเป็นศัตรูกับเรา
เราประกาศตนเป็นศัตรูกับเขา และบุคคลนั้นไม่ใช่คนเดียวในโลก
เขาไม่ใช่เกิดมาจากลมหรือไม่ใช่เกิดแบบหนุมานเป็นลูกลม
และไม่ใช่เกิดขึ้นตามลำพังอย่างเทวดา
คนที่จะเกิดมานี่ต้องมีพ่อแม่ และก็อาจจะมีพี่น้องติดตามด้วย
ถ้าเราเป็นศัตรูกับเขาหนึ่งคนนั้นเขาไม่ชอบใจเรา
คนในตระกูลของเขาในครอบครัวของเขา
ทุกคนจะไม่ชอบใจเราเหมือนกัน
เป็นอันว่า เราเพิ่มศัตรูจากบิดามารดาของคนนั้น
พี่น้องของคนนั้นและญาติสนิทใกล้ชิดของบุคคลนั้น
เขาจะพลอยโกรธเราไปด้วย
ศัตรูของเราไม่ใช่หนึ่งคนแล้ว การระมัดระวังตัวก็มากขึ้น
นอกจากญาติของเขาแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัท
เขาก็ยังจะมีเพื่อนที่รักของเขาอีก
เพื่อนที่รักของเขา เขารักเพื่อนของเขา
ในเมื่อเราประกาศตนเป็นศัตรูกับเพื่อนของเขา
เขาก็โกรธเราเหมือนกัน เขาก็เป็นศัตรูกับเขาเหมือนกัน

รวมความว่า เรามีศัตรูรอบด้าน การระมัดระวังก็ยากยิ่งขึ้น
ในเมื่อการวางแผนร่างกายก็ทรุดโทรม
การต้องระมัดระวัง ต้องระมัดระวังก็ยากยิ่งขึ้น
การกินไม่อิ่มนอนไม่หลับก็เพิ่มขึ้น เพราะเกรงอันตรายจะเข้ามาถึง
ไม่ทราบว่าใครจะเป็นศัตรูกับเราบ้าง
อย่างนี้ละบรรดาท่านพุทธบริษัท
จะเห็นว่ากำลังของความโกรธนี้เป็นของไม่ดี
นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

"จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา"
ก่อนจะตายถ้าจิตใจเศร้าหมองจะไปสู่ทุคติมีนรกเป็นต้น

"จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา"
แต่ก่อนจะตายจิตใจน้อมไปถึงด้านของผลบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่เราทำและนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ตาม
จัดว่าเป็นจิตผ่องใส อย่างนี้ไปสู่สุคติ มีสวรรค์เป็นต้น

ก็คนมักโกรธมีอารมณ์เศร้าหมองอย่างนี้
ถ้าตายจากความเป็นคนจะไปไหน ก็ต้องไปนรก
ถ้าโกรธใหญ่ไปนรกขุมใหญ่ โกรธเล็กไปนรกขุมเล็ก
คำว่า "โกรธใหญ่" ไปโกรธเอาคนดีเข้า
อย่างโกรธพระพุทธเจ้า ดูตัวอย่าง เทวทัต
โกรธพระพุทธเจ้า ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
และโกรธพระอรหันต์เข้า ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
โกรธพ่อโกรธแม่ คิดจะประหัตประหารท่าน
ตายแล้วไปอเวจีมหานรก
เพราะทั้งหมดนี้เป็นบุคคลที่มีคุณใหญ่
เขาเรียกว่าโกรธใหญ่
ก็รวมความว่าโกรธบุคคลดีที่มีคุณกับโลก
หรือ มีคุณกับสังคม มีคุณกับเรา
อย่างนี้ชื่อว่า โกรธใหญ่ โทษใหญ่ก็ตาม

ถ้าโกรธเล็ก หมายถึงว่า โกรธคนที่มีความชั่ว
อย่างโกรธขโมยขโจร เป็นต้น
อย่างนี้เราก็ต้องตกนรกเหมือนกัน
แต่ตกนรกขุมเล็กหน่อย อายุน้อยหน่อย

ก็รวมความว่า ความโกรธเป็นของไม่ดี
คนมักโกรธ จึงเป็นคนไร้เสน่ห์
บรรดาท่านพุทธบริษัท ตอนที่ตอนที่ ๑๙ นี่
น่ากลัวจะว่า คาถามหาเสน่ห์กันอีกแล้ว
ในเมื่อโกรธไม่ดีไม่มีเสน่ห์
ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดใคร่ครวญใจของท่านเอง
ว่าคนที่โกรธท่านนะ ท่านจะรักหรือท่านไม่รัก
เราไม่เอาทั้งเกลียดกันละ เอากันรักหรือไม่รักก็แล้วกัน
อาตมาคิดว่าคนมักโกรธหน้าตายู่ยี่
อาการที่แสดงออกก็ไม่ดีไม่น่ารัก
เข้าใจว่าคนทั้งหลายคงไม่รักคนมักโกรธ
อะไรไม่ถูกใจนิด อะไรไม่ถูกใจหน่อยก็โกรธ
คนประเภทนี้หาเพื่อนยาก หาคนรักยาก
เรามาสู้เราฝึกการไม่โกรธไม่ได้

การไม่โกรธพระพุทธเจ้าตรัสไว้เฉพาะผิวเผิน
ก็คือ พรหมวิหาร ๔ เราทรงคุณธรรม ๔ ประการเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่
เดี๋ยวจะถามว่า "พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีคาถามหาเสน่ห์ด้วยหรือ?"
ได้พูดมาตอนต้นแล้วว่า พระนี้มีคาถามหาเสน่ห์มาก
และคาถามหาเสน่ห์ หนักที่สุด
จะเห็นว่า ในสมัยที่มีร่างกายเป็นมนุษย์
กำลังประกาศพระพุทธเจ้าก็ไม่น้อย
แต่คนรักพระพุทธเจ้ามากกว่าคนเกลียด รักไม่รักเปล่า
ยังมีความเคารพนบนอบด้วย ยอมรับนักถือด้วยประการทั้งปวง
จะไปที่ไหนที่พักเราก็จัดให้อย่างสบายที่สุด
อาหารการบริโภคจัดสรรอย่างดีที่สุด
สถานที่อยู่สร้างให้ราคานับเป็นสิบโกฏิ
หรือสร้างกันเป็นโกฏิ ๆ ไม่ใช่ล้านนะ
นั่นเพราะความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และก็พระพุทธเจ้าท่านมีอะไร?
ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ว่า "กรุณา" นี่หมายความว่าสงสาร
ท่านมีความสงสารบรรดา เวไนยสัตว์
(ขอโทษเถอะ บรรดาประชาชนทั้งหลาย
ล่อเวไนยสัตว์เข้าจะกลายเป็นสัตว์นรกไป)
คือ ท่านสงสารหมด ตั้งแต่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย
และสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์หรือเทวดา หรือพรหม ท่านสงสารหมด
ถ้าใครเขามีโอกาสจะบรรลุมรรคผลได้หรือมีความทุกข์ใด ๆ เกิดขึ้น
ถ้าไม่เกินวิสัยที่พระองค์จะทรงช่วยเหลือได้ ท่านจะเสด็จไปทันที
อย่างนี้ เป็นอย่างนี้พระมหามุนีจึงมีคนรักมาก มีคนเคารพมาก

ต่อมาสำหรับบรรดาพระสาวกทั้งหลาย
องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำว่า
ต้องการเป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย
ก็ให้ใช้คาถามหาเสน่ห์ ๔ อย่าง ใช้ ๔ คำมาอีกแล้ว
๑. เมตตา ความรัก
๒. กรุณา ความสงสาร
๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร
เห็นใคร ได้ดีพลอยยินดีด้วย
๔. อุเบกขา วางเฉย


สำหรับคาถาทั้ง ๔ ประการ ๔ คำนี่
ไม่ใช่เอาไปท่องจำ หรือท่องจำแล้วก็เป่ามนต์เห็นใครมาก็เป่าพรวด
ใครมาก็เป่าพรวด ต้องการให้ใครเขารัก ต้องการให้เขามีความสงสาร
อย่างนี้ไม่มีผล ผลที่จะได้จริง ๆ
ก็คือ คนนั้นจะเกลียดเอา ไม่เกิดประโยชน์
คาถาทั้ง ๔ ประโยค หรือ ๔ คำนี่ต้องปฏิบัติ
ใช้วิธีทำเสน่ห์กันเลย ไม่ใช่ว่าคาถาเป่าเสน่ห์
ทำเสน่ห์ ทำกันจริง ๆ จัง ๆ ทำทั้งกลางคืน ทำทั้งกลางวัน
ขณะใดที่ตื่นอยู่ทำตลอดเวลา วิธีทำยังไง จะปั้นความรัก
ปั้นความสงสาร เอาวัตถุมาปั้นมันก็ไม่ถูก ไม่มีผล ต้องปั้นกำลังใจ
กำลังใจของเราตามปกติ มันก็รักบ้าง โกรธบ้าง
สงสารบ้าง เกลียดบ้าง อย่างนี้เป็นต้น
เห็นใครได้ดี บางทีก็ยินดีด้วย
บางทีเห็นเขาได้ดีเราก็ไม่ชอบใจ
บางทีเห็นใครเขาเพลี่ยงพล้ำเราก็ซ้ำเติม
บางคราวเห็นเขาเพลี่ยงพล้ำเราก็สงสารยับยั้งไม่ซ้ำเติม
ของเรามันเอาแน่ไม่ได้ บรรดาท่านพุทธบริษัท

ถ้าคนที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ขึ้นไป
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า ยังเป็น อนิยตบุคคล
ยังเป็นคนที่ไม่แน่นอน จะถือว่า รักจริงก็ไม่ได้ สงสารจริงก็ไม่ได้
โกรธหรือเกลียดจริงก็ไม่แน่
บางทีตอนเช้ารัก ตอนสายเกลียดเสียแล้ว
บางทีตอนเข้าเกลียด ตอนสายรักเสียแล้ว
มันก็ไม่แน่นอนต้องสร้างความแน่นอนให้เกิดขึ้นกับใจ
คือใช้อารมณ์ความรัก มีความรู้สึกตามความเป็นจริง
ว่าเราก็ดี คนอื่นก็ดี ต้องการความเป็นมิตร
ไม่มีบุคคลใดคิดอยากจะเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน
ในการที่เป็นศัตรูกันนั้น ก็เพราะอาศัยโมหะจิต
คิดหลง ถือตัวเกินไป มีมานะทิฏฐิ
เราก็วางมานะทิฏฐิเสีย ไม่ถือตัวถือตน
ทำตนเสมอเหมือนกับเพื่อน
ท่านผู้ใดมีอายุสูงกว่า มีความดีสูงกว่า
เราก็ยอมรับนับถือเห็นหน้าซึ่งกันและกัน
ก็แสดงอาการยิ้มแย้มแจ่มใส

รวมความว่า ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เว้นไว้แต่เวลาหลับ
เราจะฝึกการยิ้มไว้ตลอดเวลา
หรือดีไม่ดีใครจะหลบยิ้มด้วยยิ่งดีใหญ่
การฝืนยิ้มเขาพูดไม่ชอบใจก็พยายามนิ่ง แล้วก็พยายามยิ้ม
ฝึกบ่อย ๆ อาการมันชินบรรดาท่านพุทธบริษัท
ถ้ายิ้มออกมาได้ ถึงแม้กำลังใจยังโกรธ
แต่ความโกรธมันก็เบา เสน่ห์แห่งการยิ้มมีความสำคัญมาก
คนที่สวยแสนสวย ดีแสนดี รวยแสนรวย เด่นแสนเด่น แต่ยิ้มไม่เป็น
ที่พูดมาแล้วในตอนต้น
เราก็ยิ้มเพื่อความรัก ทำจิตใจให้รักเพื่อน
รักเพื่อนเสมอด้วยตัว ถ้าเรารักเขาเขาก็รักเรา

ต่อไปก็อารมณ์สงสาร คือ กรุณา
ความสงสาร อันนี้ไม่มีความรักมาก่อน ไม่รู้จักมาก่อน
เห็นเขามีอาการทุกข์ยากลำบาก ในกิจการหรือวัตถุหรืออาหารก็ตาม
ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะช่วยได้เราช่วย
สมมุติว่า เขาขาดแคลนทรัพย์สินหรืออาหาร
เราไม่มีทรัพย์จะให้ เราไม่มีอาหารจะให้
แต่เราก็ช่วยพยุงไป หรือชี้ช่องบอกทาง ว่าบ้านนั้นคนนั้น คนนี้ชื่อนั้น
เขาสามารถจะให้ความสงเคราะห์
และถ้าเขาไปได้รับการสงเคราะห์จริง ๆ
บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง
คนนั้นอาจจะอดคิดถึงเราไม่ได้
เขาต้องรักเรา เพราะเราสงสารเขา

ข้อต่อไป มุทิตา มีจิตอ่อนโยน
นี่สำคัญมาก คือไม่ทำใจแข็งกระด้าง
ไปที่ไหนก็ทำตนเสมอกับเพื่อน
มีอะไรบ้างที่เพื่อนต้องการ
ถ้าเกินวิสัยเรานิดหน่อย มันฝืนกำลังใจ
ทำใจอ่อนโยนคล้อยตามก็เป็นที่รักของเพื่อน
นอกจากนั้นเห็นใครได้ดีพลอยยินดี
ด้วยไม่อิจฉาริษยาใคร
แสดงความยินดีด้วยความเต็มใจ นี่ก็เป็นมหาเสน่ห์
รวมความว่าทั้ง ๓ ข้อเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่
ใครทรงอารมณ์อย่างนี้ได้ทำได้ จะเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป

ข้อที่ ๔ อุเบกขา การวางเฉย เห็นคนที่มีความทุกข์มีความยาก
มีความลำบากมีอาการเพลี่ยงพล้ำไม่ซ้ำเติม
แทนที่จะซ้ำเติมกลับเข้าประคับประคอง
ถ้าช่วยได้ก็จะพยายามช่วย ถ้าช่วยด้วยกำลังกาย
กำลังทรัพย์ไม่ได้ ก็ใช้วาจาช่วยให้เขาชื่นใจ
เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
อาการของพยาบาทจะหดหายลงไป
ตัดหายไปทีละหน่อย ๆ
ในที่สุดพยาบาทหรือความโกรธจะไม่เหลือเลย
เราก็จะเป็นคนมีความสุข ตามพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า

"จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา"

ถ้าจิตใจของเราไม่เศร้าหมอง มีชีวิตอยู่มีความสุข
เพราะมีคนรักมาก ตายไปแล้วก็มีความสุข มีสวรรค์เป็นต้น
ดีไม่ดีก็ไปพรหม เพราะพรหมวิหาร นี่เป็นที่อยู่ของพรหม

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
เวลาหมดพอดีก็ต้องขอลาก่อน
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2007, 12:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒๐
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ


ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
สำหรับตอนนี้เรื่องหนีนรกเป็นตอนที่ ๒๐ ก็ถือว่าเป็นตอนจบ
จบเรื่องราวที่เราจะหนีนรกกัน แล้วก็ยังไม่หยุด จะมีอีก ๒ ตอน
คือเป็นตอนที่ ๒๑ ถึง ๒๒ เป็นรายการสรุปเรื่องการหนีนรก
เพื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทไม่อยากจะฟังนานๆ
ก็เอาตอนสรุปไปฟังก็หมดเรื่องกัน ง่ายดี
อยากจะฟังจุดละเอียดบ้าง แต่ไม่ละเอียดมากนัก
ก็ฟังมา ๑๐ คาสเซท หรือ ๒๐ ตอน
ถ้าอยากจะฟังสั้น ๆ ก็เอาไปคาสเซทเดียว
คือคาสเซทที่ ๑๑ ตอนสุดท้าย
ถ้าเป็นตอนก็เป็นตอนที่ ๒๑ และ ๒๒ สองหน้า

ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒๐ กล่าวถึง สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
ความเห็นชอบนี่ก็พูดไปเลย บรรดาท่านพุทธบริษัท
ความเห็นชอบนี่เป็นตัวปัญญา
ถ้าจะถามว่าเห็นชอบอะไรจึงจะถูก
ก็ต้องเห็นชอบตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ถ้าเป็นอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านจะเห็นชอบไหวไหม
ก็มีทุกท่านอาจจะตอบได้ว่า เห็นชอบครับ เจ้าค่ะ แต่ปฏิบัติตามไม่ได้
ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เอาแค่จำอย่างเดียวยังจำไม่ได้หมด
แล้วจะปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมสุคตได้ยังไง
ก็ต้องเห็นชอบกันตามขอบเขต
ขอบเขตนี่เราปฏิบัติตอนไหน เวลานี้เราปฏิบัติเพื่อหนีนรกกัน
นรกนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ใครๆ ก็ไม่ชอบ
เราไม่หนีแต่นรกแต่อย่างเดียว หนีความเป็นเปรต
หนีความเป็นอสุรกาย หนีความเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าถามว่าทำไมจะต้องหนี
ตอนนี้สัมมาทิฏฐิที่เป็นตัวปัญญา
เราก็ต้องใช้ปัญญาทบทวนหรือความจำทบทวน
ความจำเรียกว่า สัญญา
ปัญญา แปลว่า การรอบรู้
ต้องใช้สัญญาทบทวนลงไปว่า
ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะเป็นเด็กจำความได้ เราเกิดมากี่ปีแล้ว
เราทำอะไรบ้างและก็ใช้ปัญญาเข้าช่วยพิจารณา
อาการกระทำของเราก็ดี ความพูดก็ดี วาจาที่พูดก็ดี
ความรู้สึกทางใจก็ดี ที่ผ่านมาแล้วนี่
มันเป็นบุญทั้งหมดหรือเป็นบาปบ้าง


คำว่า "บุญ" คือ ความดี บาป คือ ความชั่ว
เราทำความชั่ว เราพูดชั่ว เราคิดชั่วบ้างหรือเปล่า?
เราทำดี เราพูดดี เราคิดดีบ้างหรือเปล่า?
ก็ต้องตอบได้ว่า เรามีทั้ง ๒ ประการ
ทั้งดีและชั่วเรามีกลั้วกันไป ความดีที่ทำไว้นะไม่เป็นไรแน่
อย่างเลวที่เราเกิดในสวรรค์ได้ อย่างกลางเกิดเป็นพรหมได้
ถ้าดีถึงทีสุดเราไปนิพพานได้
ดีน้อยลงไปกว่าเทวดาก็เกิดเป็นคนได้

และในการที่จะเกิดใน ๔ จุดนี่มันก็แสนยาก
เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาอีกว่า เราทำความดีมากหรือความชั่วมาก อารมณ์ของเราหนักในความดีหรือความชั่ว
คนอื่น อาตมาไม่ทราบ สำหรับอาตมาเอง
ถ้าทบทวนถอยหลังลงไป
อารมณ์ในความชั่วมีมากกว่าอารมณ์ในความดี
แต่อีตอนแก่นี่ก็เบา ๆ ไปหน่อย
พอแก่แล้วมันสู้อะไรใครเขาไม่ได้ก็เบา
ถ้าอยากจะโลภก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย ก็ไม่สามารถจะทำไหวแล้ว
ตัวเองก็ลุกไม่ขึ้น เลขเจ็ดออกหน้าไปแล้ว
อย่างนี้แสดงความโลภหดไปเพราะความแก่
ทีนี้ความรักในระหว่างเพศอยากจะแต่งงานกับใคร
เรื่องนี้ไม่ต้องพูด พูดไปก็ไร้ประโยชน์
อยากจะแต่งงานหรืออยากได้แต่ไม่มีใครเขาแต่งด้วย
ก็เลยอารมณ์แบบนี้หดไป
ถ้าจะบอกว่าเอา ๒ ประการขาดไปเสียเลยก็ยังได้

ถ้าเขาถามว่า "ขาดไปเพราะกำลังของอนาคามี ที่สิงใจใช่ไหม?
หรือความเป็นพระอรหันต์สิงใจใช่ไหม?

ต้องตอบว่า "ไม่ใช่ ขาดไปเพราะความแก่ มันสู้ใครเขาไม่ได้แล้ว
ไม่ใช้สู้ไม่ไหว สู้ไม่ไหวยังมีทางสู้ นี้มันสู้ไม่ได้เลย
อย่างความรักนี่ไม่มีทางสู้เด็ดขาด
ร้อยเปอร์เซนต์คนที่มีอายุ ๗๐ แล้ว
ที่ยังจะสู้คนอยู่มีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ สู้กันด้านความรัก"

อาตมานี่บื้อตื้อมานานแล้ว ด้านความอยากร่ำรวยก็ตีแผ่มาตั้งแต่โน่น
อายุ ๑๗-๑๘ แล้ว การคิดอยากร่ำรวยไม่มี
มีแต่คิดว่าทำให้มันพอกิน ทำให้มันเหลือกิน
มันจะรวยหรือไม่รวยก็ช่างหัวมัน
ตอนนั้นพยายามทำให้มันเหลือกินไว้
ถ้าพอกินก็ไม่มีอะไร ซื้อเสื้อซื้อกางเกง
มันต้องเหลือกินเอาเงินมาซื้อเสื้อ ซื้อกางเกง
ซื้อรองเท้า ซื้อหมวก ซื้อนาฬิกาข้อมือ
ซื้อแหวนใส่ ซื้อสร้อยใส่ เอาเก็บไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น
แต่ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะรวย เลิกมานานแล้ว

ต่อไปก็กำลังของความโกรธ ความพยาบาท
สมัยก่อนนี้เก่งเรื่องความโกรธ ความพยาบาท
ไม่ใช่เก่งไปฆ่าเขาไปตีเขา เก่งโกรธ เก่งพยาบาท
มันโกรธใคร ปั๊มนึ่งอึ้งพูดไม่ออก
ไอ้ไม่พูดนี้มันยัน ลิ้นมันไม่ไหว
แต่ก็สร้างกำลังใจให้มันยิ้มไว้เสมอ
ให้ปากมันยิ้ม โกรธเท่าไรก็ยังยิ้ม
เพราะโกรธไม่ดี แต่เวลานี้ถาม " โกรธไหม"
บอก "แค่ไม่พอใจนิดหน่อยอาจจะมี แต่โกรธจริง ๆ ไม่มีแล้ว
ถ้าขืนโกรธมากเท่าไรร่างกายก็ทรุดโทรมมากเท่านั้น"
แล้วก็อย่าไปลองเลย อย่าไปพิสูจน์
ดีไม่ดี ไอ้ความแก่ว่าคนแก่ตัณหากลับ ตัณหากลับไม่เป็นไร
ถ้าความโกรธกลับมันก็แย่
ถ้าไปโกรธเขาหนัก ๆ จะได้ตายภายใน ๓ วัน
ที่พยายามไม่โกรธ เพราะว่าร่างกายมันไม่ดี
ก็เกรงว่าร่างกายจะทรุดโทรมมากเกินไป
จิตจะเศร้าหมองมากเกินไป
จึงพยายามทำใจไม่โกรธจริง ๆ
แล้วมันโกรธหรือไม่โกรธก็ไม่ทราบ
อย่าไปลองมันนะ ถ้าความโกรธกลับเข้ามาละก็แย่
มันร้ายกว่าตัณหากลับ
ถามถึงสภาพแห่งความหลง จะไปหลงอะไรล่ะ
กลัวอย่างเดียวคือ หลงจำไม่ได้ มันมีอะไรควรจะหลงบ้าง
ความแก่ทรุดโทรมขนาดนี้ เวลานี้หลายปีมาแล้ว
เป็นพระที่มีความเคร่งครัดมาก ไม่ยอมส่องกระจก

ถ้าถามว่า "เคร่งในวินัยข้อไหน"

ก็ต้องตอบว่า "จำไม่ได้เหมือนกัน ที่จำได้จริง ๆ
ก็คือว่า เวลาส่องกระจกทีไรหน้ามันแปลกไปคล้ายผีดิบเลย
ไม่อยากมองหน้า ที่ไม่ส่องกระจกไม่ใช่เคร่งตามวินัย
คือไม่กล้าดูหน้าตัวเอง ถ้าตัวเองขนาดไม่กล้าดูหน้าตัวเอง
แล้วคนอื่นเขาอยากจะดูหน้าหรือเปล่าก็ไม่ทราบ"

รวมความว่า การพูดอย่างนี้ไม่ใช่อวดความเป็นพระอรหันต์
ที่มันลดลงไปเพราะความแก่

เรามาพูดกันเรื่องสัมมาทิฏฐิ ตอนนี้มาถอยหลังกันใหม่
ถอยหลังว่าความเห็นชอบนี่ เราจะชอบกันตรงไหน
พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แค่จำก็จำไม่ได้ เวลานี้เราอยู่ในขอบเขตของการหนีนรก
แล้วก็ถอยหลังไปดูว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
คนเราเกิดมาแล้วมันต้องตายนี่จริงไหม?
ก็เห็นว่าไม่ต้องไปใช้ตำราที่ไหน
คนตายให้เราดูมันเกิดจนนับไม่ถ้วน
ถ้ารู้ทุกคนนับไม่ถ้วนแน่ คนที่ตายก่อนเรา
แก่ก็มี แก่มากก็มี แก่น้อยก็มี เสมอเราก็มี อ่อนกว่าเราก็มี
เป็นเด็กเล็กกว่าเราเด็กมาก ๆ ก็มี

รวมความว่า ชีวิตคนนี้เกิดมาแล้วต้องตายแน่ ตายแล้วไปไหน?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าทำชั่วจิตชั่วไปนรก เป็นต้น
จิตสะอาดน้อยไปสวรรค์ เข้มแข็งมากเป็นพรหม
ถ้าจิตไม่นิยมสมบัติของโลกทั้งหมดไปนิพพาน
ที่นี้ตอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เราเห็นชอบไหม?
เราอาจจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้
แต่ในที่นี้ต้องเห็นชอบ เราจะเห็นชอบได้ยังไง
เราก็ต้องใช้วิชาที่พระพุทธเจ้าให้ คือ สองในวิชชาสาม
ห้าในอภิญญาหก หรือไม่สามารถทำห้าในอภิญญาหกได้
ก็ทำมโนยิทธิ การเตรียมตัวเพื่ออภิญญา
ใช้กำลังใจมันเป็นของไม่ยาก
เวลานี้เด็กเล็ก ๆ ฝึกกันวันสองวันสามารถทำได้แล้ว

แล้วก็ใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ถอยหลังลงไป

ใช้อตีตังสญาณ ใช้ญาณถอยหลังเข้าไป ของเรื่องคนอื่น
เท่านี้เราจะทราบว่าตายแล้วเกิดมาจากไหน

ใช้จุตูปฺปาตญาณ ดูคนตายแล้ว สัตว์ตายแล้ว
เขาไปเกิดที่ไหนหรือไม่ ข้อนี้เป็นของไม่ยากเลย
เท่านี้เราก็หมดความสงสัยในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าตายแล้วมันต้องเกิดต้องทำดี
แล้วก็ดูนรกก็ได้ ไปเที่ยวนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้

เรื่องนี้เป็นของไม่ยาก เราพิสูจน์ได้เราก็เชื่อได้ว่า ตายแล้วไม่สูญ
ถ้าทำชั่วไปนรก ทำดีไปสวรรค์ เป็นต้น
หรือเราต้องการไปสวรรค์เป็นต้น นรกเราไม่ไป
อบายภูมิเราไม่ไป ก็ใช้กำลังใจ
คือ ความดีของใจ ใช้ปัญญาเข้าช่วย
สัมมาทิฎฐินี่เป็นตัวปัญญาพิจารณาความดี
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิธีพิจารณาความดีใช้พิจารณาศีลกับธรรมะ
คือ ศีลห้า กรรมบถ ๑๐ ทั้งหมดนี้
ที่พระพุทธเจ้าตรัสมาข้อไหนบ้างที่ไม่ดี

รวมความว่า นับถือพระพุทธเจ้าด้วย
นับถือพระธรรมไปด้วยในตัวเสร็จ
แล้วก็ต้องนับถือพระอริยสงฆ์ด้วย
เพราะความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้
เราจะรู้ขึ้นมาได้ เพราะอาศัยพระอริยสงฆ์ท่านรวบรวมเข้าไว้
แล้วนำมาแจกจ่ายนำมาสอน
พระอริยสงฆ์เบื้องต้น ๕๐๐ ร้อยกรองอธิบายกันเรื่อยมา
เพื่อความเข้าใจของเรา
เราก็ยอมรับนับถือที่ท่านมีความดีช่วยสงเคราะห์เรา
ถ้าท่านไม่สร้างตำหรับตำราขึ้นมา
ท่านนอนเฉย ๆ มันมีความสุขมาก
แต่อาศัยท่านมีเมตตาอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพราะภาคเจ้า
คือปฏิบัติตามกันพวกเรา
จึงสามารถรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้
ยอมรับนับถือพระสงฆ์อีกก็หมดเรื่องกันไป

เรื่องใหญ่ที่เราต้องใช้ปัญญาเห็นชอบ
ต้องใช้ปัญญาศัลห้า กับกรรมบถ ๑๐ จะว่าควบกันไป
เพราะแตกต่างมันแยกอยู่นิดหน่อย


อย่างข้อ ปาณาติบาต ความโหดร้ายของจิต
คิดจะฆ่าเขาบ้าง คิดจะทำร้ายเขาบ้าง
หรือฆ่าเขาบ้าง ทำร้ายเขาบ้าง
อย่างนี้มันเป็นความดีหรือความชั่ว
เราก็ทราบว่า คนที่ขาดความเมตตาปราณีประเภทนี้
มีแต่ความโหดร้ายไม่ใช่คนดี เป็นคนเลว
ใครเขาคิดเขาทำกับเราแบบนั้นเราไม่ชอบ
แล้วเราไปทำกับเขา ๆ ก็ไม่ชอบ
เราจะทำยังไงเราก็ทำเป็นคนใจดีเสีย
มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
แล้วก็ยิ้มสบาย ไปไหนก็มีกำลังใจ
มีเพื่อนให้ความสุขใจ
เราก็เห็นชอบกับพระพุทธเจ้าว่า เออ..ศีลข้อนี้มีประโยชน์
กรรมบถ ๑๐ ข้อนี้มีประโยชน์ ทำให้เรามีความสุข

ข้อที่ ๒ อทินนาทาน กรรมบถกับศีลก็เหมือนกัน
ไม่รัก ไม่ขโมย ไม่ยื้อไม่แย่งใคร ไปไหนก็มีแต่คนไว้วางใจ
เป็นที่รักของคนทั้งหลาย เราก็มีความสุข ก็น่าปฏิบัติตาม

ข้อกาเมสุมิฉาจาร เราไม่เจ้าชู้เกินไป
คำว่า "เจ้าชู้" ก็เจ้าชู้เฉพาะสามีภรรยาของเรา
เจ้าชู้เท่าก็ไม่มีใครเขาว่า
ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไรภายในบ้านคู่ครองรักมากเท่านั้น
แต่คนเจ้าชู้นี่ต้องปากหวาน รู้จักการเอาใจ
ขอประทานอภัย แล้วก็อย่าร้องตะโกน
ถามมานะญาติโยมพุทธบริษัท
ว่าท่านที่พูดน่ะท่านเคยเจ้าชู้หรือเปล่า?
ก็ต้องตอบว่าในชีวิตอาตมาไม่เคยเจ้าชู้เลย
ตั้งแต่เกิดมาตั้งแต่เด็กถึงแก่นี่ไม่เคยเจ้าชู้
ก็มีอย่างเดียวมีคนอื่นเขาเมตตา
คนอื่นเขาเมตตาเรา เราก็เมตตาเขา
เขาเมตตานี่เขารักเรา เราก็รักเขา
เขาสงสารเรา เราก็สงสารเขา
เขาหวังดีกับเรา เราก็หวังดีกับเขา เท่านี้เองไม่เคยเจ้าชู้
คนที่เจ้าชู้เขาบอกว่า ต้องปากหวาน
ปากหวานนี่ไม่ได้ทาน้ำผึ้งนะ คือ เสียงหวานพูดเพราะ
พูดดี พูดตามความเป็นจริง แล้วก็ต้องรู้จักเอาใจกัน
ถ้าขัดใจกันคนที่เราพอใจเขาก็ไม่รัก
มันต้องฉลาดในการเอาใจ
เราก็เอาวิชานี้แหละมาใช้ในบ้านของเรา
ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างปากหวาน ต่างคนต่างเอาใจกัน
ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไรภายในบ้านยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
เพราะความเป็นอยู่เป็นสุขไม่ขัดใจกัน
ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างมีความเมตตาปรานีซึ่งกันและกัน
เป็นอันว่าข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ควรจะเจ้าชู้เกินไป
อันนี้ถูก สัมมาทิฏฐิ เราเห็นชอบตามนี้ ตามพระพุทธเจ้าตรัส

และต่อไปเรื่องวาจา วาจานี่ขอเอาศัพท์สุนทรภู่มาว่า ท่านบอกว่า

"คนจะชั่วหรือดีอยู่ที่ปาก จะได้ยากหิวโหยเพราะชิวหา"

เรื่องลิ้นที่ประคับประคองเสียงเปล่งออกไปนี่มีความสำคัญ
บรรดาท่านพุทธบริษัทปากขั้นแรกยิ้มก่อนพูด
จำให้ดีนะ ยิ้มก่อนพูด
แล้วก็พูดให้ดีให้ถูกใจคนฟัง
ถ้าถามว่า "หลวงตาแก่ที่พูดนี่ทำได้ไหม?"
ก็ต้องตอบว่า "ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง"
แล้วไปถามว่า "ไปแนะนำเขาทำไม?"
ก็บอกว่า "แนะนำตามตำรา"

ถ้าใครทำได้จริง ๆ มีเสน่ห์จริง ๆ ยิ้มแล้วก็ก่อนพูด เวลาพูดก็พูดดี คือ

๑. พูดตรงตามความเป็นจริง
เราก็ชอบเขาก็ชอบ พูดวาจาไม่หยาบคาย
ไม่สะเทือนใจคนรับฟัง เราก็ชอบเขาก็ชอบ
พูดไม่ให้เขาแตกร้าวกัน
มีแต่ความสามัคคี มีแต่ความรักมีความกลมเกลียวกัน
อย่างนี้เราก็ชอบเขาก็ชอบ
และพูดเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์
ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ชอบเขาก็ชอบ
ในเมื่อต่างคนต่างชอบ ต่างคนก็พอใจความเป็นเสน่ห์ก็เกิดขึ้น
ต่างคนต่างรักกัน ต่างคนต่างนับถือกันเราก็มีแต่ความสุข
ก็เห็นจริงตามพระเจ้าท่านตรัส ดีกว่าการพูดปด พูดหยาบ
พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
อย่างนี้ไม่เป็นเรื่อง ใคร ใคร ก็ไม่ชอบ
เราก็เลือกเอา เลิกการพูดปด พูดหยาบ
พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
โยนทิ้งไปให้ไกลที่สุดแสนจะไกล
เอาไว้แต่พูดตามความเป็นจริง
แล้วก็พูดวาจาไพเราะ แล้วก็พูดให้เขาสามัคคีกัน
พูดแต่วาจาที่เป็นประโยชน์
ของอย่างนี้ดีแน่มีแต่คนรัก
พระพุทธเจ้าท่านตรัสถูก เห็นชอบด้วย
เพราะเอา เอาเป็นประจำเลย

อย่าลืม พอตื่นปั๊บยิ้มทันที
ถามว่า "ยิ้มกับใคร" อันดับแรกก็ยิ้มกับเพดานก่อน
ถ้านอนในมุ้งยิ้มกับเพดานมุ้ง
ถ้านอนในห้องไม่มีมุ้งยิ้มกับเพดานห้อง
พอลุกขึ้นมาเหลียวซ้ายเหลียวขวายิ้มกับฝาอีก
เอ้า ไปนั่งกับกระจกยิ้มกับกระจกอีก ใช้ได้ไม่เป็นไร
แต่ระวังถ้าอยู่คนเดียวยิ้มเฉย ๆ อย่าให้เขาเห็นนะ
ถ้าใครเขาเห็นแทนที่เขาเห็นแล้วเขาจะว่าดี
เขาจะจับส่งปากคลองสาน เพราะมันดีเกินไป
นี่การฝึกยิ้มเอาไว้ ใครเขาพูดไม่ชอบใจฝืนยิ้มรับเข้าไว้
อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทปากยิ้ม ใจเขาก็ยิ้มไปด้วย
เราก็มีความสุขและก็มีคนรัก
ถ้าเขาพูดกับเราอย่างนี้เราก็รักเขา
เราพูดกับเขาอย่างนี้เขาก็รักเรา
ถ้าต่างคนต่างรักกันนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
อะไรมันจะเกิดขึ้น ความสุขซิท่านเกิดขึ้น นี่กรรมบถ ๑๐ ด้วยนะ


ต่อไปเฉพาะศีลข้อสุรา สุรานี่ในกรรมบถ ๑๐ ไม่มี
มีอดีตผู้ว่าท่านหนึ่งท่านจดหมายถามมาว่า
"กรรมบถ ๑๐ ของท่านทำไมไม่มีการห้ามดื่มสุรา"
ก็แสดงว่าการดื่มสุราเป็นของดี ต้องขอประทานอภัย
ท่านเป็นอดีตผู้ว่า ท่านเข้าใจพลาดไปนิดหนึ่ง
ความจริงกรรมบถ ๑๐ ไม่ใช่ของอาตมา เป็นของพระพุทธเจ้าท่าน
ถ้าคนมีกายดี มีวาจาดี มีใจดี ไม่ต้องห้ามดื่มสุรามันไม่ดื่มเอง
ถ้าขืนดื่มเอง ความดีในกรรมบถ ๑๐ นี่ไม่ได้ จิตใจมันก็เป๋ไป
กายวาจาเป๋หมด ใจก็เป๋หมด
ก็รวมความว่า การดื่มสุราไม่ใช่ของดี
เมาแล้วก็มีสภาพเหมือนคนบ้า ดีไม่ดีมันเลยไปกว่านั้น
ด่าพ่อตีแม่ก็ได้ ทุบลูกตีเมียก็ได้
ทรัพย์สินทั้งหลายเสียหายไป
เพราะการดื่มสุราและเมรัยโดยไร้ประโยชน์
เวลาการงานที่มีขึ้นเอาเวลาไปกินสุรามันเสียเวลาการงาน
ถ้าจะประกอบกิจการงานก็จะมีประโยชน์มาก
อย่างนั่งดื่มสุราวันละครึ่งชั่วโมง
ถ้า ๑๐ วันมันก็ ๕ ชั่วโมง
๑๐๐ วันก็ ๕๐ ชั่วโมง
อย่าลืมว่าเวลาเท่านี้สร้างประโยชน์ไม่ใช่น้อยเลย
แล้วก็ทำประสาทเสีย ศักดิ์ศรีก็เสีย ก็ไม่ขอพูดมาก
เท่านี้เราเห็นดีตามพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็บั่นทอนชีวิต

คนดื่มสุราและเมรัย บางทีร่างกายทรุดโทรมอย่างหนัก
ถ้าร่างกายยังไม่ทรุดโทรม ศักดิ์ศรีก็ทรุดโทรม
ถ้าศักดิ์ศรียังไม่ทรุดโทรม ทรัพย์สินก็ทรุดโทรม
พอเอาทรัพย์สินไปซื้อกับข้าวได้
ไปซื้อเหล้ามากินมันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
เราก็เลิกเป็นคนไม่กินเหล้าดีกว่า

ลูกศิษย์ของอาตมาอยู่คนหนึ่งรับราชการเป็นนายทหาร
เวลานั้นเธอเป็นเรือโท อาตมาไปพบเข้าเธอกินเหล้า
ก็ปรากฏเป็นหนี้ดะ เป็นหนี้ลูกน้องยังได้
ต่อมาก็แนะนำเธอว่า ไอ้การเป็นหนี้ลูกน้อง
ลดการกินเหล้าแล้วมันจะเป็นหนี้ไหม?
หนึ่งปีผ่านไปกลับไปใหม่ เธอเลิกกินเหล้าตั้งแต่วันนั้น
กลับไปคราวนี้แทนที่เธอจะเป็นหนี้เธอเป็นเจ้าหนี้เขา
แถมยังคุยบอกวิทยุก็มีให้ลูกฟัง โทรทัศน์ก็มีให้ลูกดู
เพราะการไม่กินเหล้า

นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ไอ้ปากขวดเหล้ามันไม่โต
แต่ช้างและครุฑสามารถบินเข้าไปได้
มันเก็บแบงก์ เก็บเวลาการงานได้ทั้งหมด
องค์สมเด็จพระบรมสุคตแนะนำว่า จงเว้นเสียแล้วจะมีความสุข
หนีนรกได้เราก็เว้น เป็นอันว่าหนีได้แน่

ต่อไปก็กำลังใจไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น
อันนี้เห็นชัดสัมมาทิฏฐิใช้ปัญญา
หรืออยากได้ของเขามันจะมีประโยชน์อะไร
เอาของเขามา เขาไม่เต็มใจให้มันก็เป็นศัตรูกัน
ถ้าเอามาไม่ได้กำลังใจก็เป็นทุกข์ กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ
เรียกว่า หากินเองโดยชอบธรรมดีกว่า


ข้อที่ ๙ ความโกรธ ความพยาบาทจองล้างจองผลาญกัน
มันมีแต่อารมณ์เป็นทุกข์เราไม่ต้องการ
เราต้องการความเป็นสุข คือ ความเมตตาปรานี
เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
ใจสบายกว่ามีอารมณ์ชุ่มชื่น

และข้อที่ ๑๐ สัมมาทิฏฐิ คือข้อที่กล่าวมาแล้ว
ก็รวมความว่าถ้าเรามีความเห็นชอบ
ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส
เฉพาะในขอบเขตของสังโยชน์ ๓ ประการ
เวลานี้เราปฏิบัติเท่านี้ เราก็ใช้สัมมาทิฏฐิแค่นี้
อย่าไปใช้กว้างเกินไป กว้างเกินไปมันจะเหลวไหลไร้ประโยชน์
ปฏิบัติไปไม่ได้อารมณ์ใจจะเป็นโทษ คือ มีความกลุ้ม
ใช้แค่นี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
ความสุขกายสุขใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
จะมีมากขึ้นกว่าปกติมาก


และสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ใช้กำลังกาย วาจา ใจ คิดไว้เพียงเท่านี้
คือ เริ่มต้นไม่ประมาทในความตาย
ข้อต่อไปเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
และปฏิบัติตรงในศีลห้าและกรรมบถ ๑๐
เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์โสภาคย์กล่าวว่า
"บาปทุกอย่างไม่สามารถให้ผลเราได้ ไม่สามารถลงโทษได้"
และก็นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
การเกิดจะมีเฉพาะเทวดาหรือพรหม กับมนุษย์เท่านั้น
แล้วเกิดไม่นาน กำลังใจอ่อนเกิดเป็นมนุษย์ ๗ ชาติ เป็นพระอรหันต์ กำลังใจอย่างกลางเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติเป็นพระอรหันต์
ถ้ากำลังใจเข้มข้น มาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวเป็นพระอรหันต์


เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
ในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็จบกัน
ชื่อว่าจบการปฏิบัติตนหนีนรกเพียงเท่านี้
ต่อไปอีก ๒ ตอนคือ ตอน ๒๑ กับ ๒๒ เป็นบทสรุป
ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคอยติดตามต่อไป
เวลานี้ก็หมดแล้วขอลาก่อน
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2007, 1:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒๑
การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ


บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับเรื่อง "หนีนรก"
ตอนนี้ก็เป็นตอนที่ ๒๑ ตอนนี้ถือว่าเป็นตอนพิเศษ
เป็นตอนการปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ และเบา ๆ
หรือที่เรียกกันว่า "แบบชาวบ้าน"
คือ แบบคนที่มีภาวะมาก มีเวลาว่างน้อยปฏิบัติ


สำหรับเรื่อง "การหนีนรก" ตอนนี้ก็ขอนำเรื่องนี้
มาพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัทโดยตรงคือว่า การหนีนรก
พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ถ้าจิตใจของท่านผู้ใด
สามารถตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
ท่านผู้นั้นก็ปลอดจากอบายภูมิทั้ง ๔
คือ การเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
คำว่า "ปลอด" ในที่นี้หมายถึงปลอดทุกชาติตลอดไป
ถ้ายังเกิดเป็นมนุษย์เพียงใด ก็จะไม่ต้องลงอบายภูมิต่อไปอีก
สำหรับบาปอกุศลเก่า ๆ ที่ทำมาแล้วทั้งหมด
องค์สมเด็จพระบรมสุคตตรัสว่า ไม่มีโอกาสจะให้ผลต่อไป
ก็รวมความว่าไม่ตกเป็นทาสของบาปอกุศลต่อไปอีก


สำหรับสังโยชน์ ๓ ประการที่พระพุทธเจ้าให้ตัด
สังโยชน์ ๓ ประการนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้


ข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ
ความรู้สึกของบุคคลผู้มีสังโยชน์
คือ เครื่องร้อยรัดใจให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารมีอบายภูมิเป็นต้น
เขาจะมีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่ตาย
ก็รวมความว่า ตั้งแต่เกิดมาถึงวันตาย ไม่รู้สึกว่าจะตายเลย
ไม่เคยคิดถึงความตาย
คิดว่าชีวิตจะทรงอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย


ข้อที่ ๒ วิจิกิจฉา ซึ่งแปลว่า สงสัย
เขาสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า สงสัยพระธรรม สงสัยพระอริยสงฆ์
ไม่มั่นใจในการยอมรับถือ

และบางท่าน บางจุดหรือบางกลุ่ม ก็ไม่ยอมรับนับถือเอาจริง ๆ
เห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมมาแล้วไม่เป็นเรื่อง หยาบเกินไป
สู้ของเขาไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
พูดง่าย ๆ ก็หมายความว่าไม่ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระอริยสงฆ์


ข้อที่ ๓ สีลัพพตปรามาส ไม่มีการรักษาศีลอย่างจริงจัง
หรือไม่รักษาเลย ขึ้นชื่อว่าศีล ไม่ยอมรับนับถือ เห็นว่าเป็นจริยาที่ถ่วงสังคม
ถ้าบุคคลมีศีลเสียหมด ชาติจะไม่เจริญมนุษย์จะน้อยเกินไป
และบางส่วนก็สมาทานศีล ถือศีลเข้าวัด นุ่งขาวห่มขาวบ้าง
นุ่งเหลืองห่มเหลืองบ้าง นุ่งปกติบ้าง
บางทีก็เข้าเขตปฏิบัติกันคนละ ๗ วัน ๑๕ วัน
เป็นการปฏิบัติพิเศษ แต่ทว่าเฉพาะใน ๗ วัน ๑๕ วันนั้น
อาจจะปฏิบัติในศีลจริงจังก็ได้ แต่พอหมดมาแล้วก็เลยลืมศีล
ไม่สนใจเรื่องศีล บางครั้งก็ยอมรับนับถือปฏิบัติบางวัน
แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำกัน ไม่สนใจเรื่องศีลจริง ๆ
อย่างนี้เรียกว่า "สีลัพพตปรามาส"


ทั้ง ๓ ประการนี้ต้องตัด วิธีตัดทำยังไง ?
ก็ใช้สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา ได้แก่ความเห็นชอบ
เข้ามาพิจารณาตามความเป็นจริง
แต่ความจริงเรื่องของความตายนี้ ไม่ต้องพิจารณาด้วยปัญญาก็ได้
ใช้สัญญาคือ ความจำ จะเห็นว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี
ที่เกิดก่อนเราบ้าง เกิดที่หลังเราบ้าง ต่างคนก็ต่างตายกันหมด

คำว่า "หมด" หมายความว่า คนที่เกิดมาเท่าไรตายหมดเท่านั้น
เว้นไว้แต่ว่าใครจะตายก่อนตายหลังเท่านั้น
สัตว์ก็เหมือนกัน บางท่านเกิดก่อนเรา ท่านตาย
บางท่านเกิดรุ่นราวคราวเดียวกับเรา ท่านก็ตายไปก่อนเรา
บางท่านเกิดทีหลังเรา บางท่านเกิดแต่วัยเด็กก็ตาย
บางท่านตายทั้งแต่ก่อนคลอดจากครรภ์มารดา
บางท่านก็คลอดจากครรภ์มารดาประเดี๋ยวหนึ่งตายบ้าง
๒ - ๓ วันตายบ้าง เดือนสองเดือนตายบ้าง
ขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วตาย เราเห็นเป็นปกติ
แต่การที่ไม่คิดถึงความตายนี้
เป็นเรื่องของคนที่ตกอยู่ในความประมาท ไม่ยอมรับความจริง
เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจิตของเรา ว่าจิตของเรามันดี หรือมันเลว
ของจริงถ้าเราไม่ยอมรับ เรายอมรับของไม่จริง ว่าเป็นของจริง
ของไม่ดี เรายอมรับว่าเป็นของดี
เราก็ไม่พบของจริง ไม่พบของดีกัน

เป็นอันว่า ความตาย เห็นเขาตายกันก็คิดว่า
สักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องตาย แล้วก็เตรียมตัวไว้
ว่าการตายนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ตายแล้วมีสภาพไม่สูญ
ถ้าเวลาก่อนจะตายจิตประกอบไปด้วยกุศล คือ จิตเป็นบุญเป็นกุศล
นึกถึงความดีที่เป็นบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้วก็ตายในขณะที่จิตดีแบบนั้น
ท่านบอกว่าตายแล้วไปสู่สุคติ คือ สวรรค์ เป็นต้น
ถ้าเวลาก่อนจะตายจิตใจเศร้าหมอง
คิดถึงอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นบาปอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตายแล้วก็ลงอบายภูมิไป มีนรก เป็นต้น

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ผู้ไม่ต้องการจะลงนรกอีก
ก็ใช้ปัญญาพิจารณาความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าดีอย่างไร? เวลานี้เรากำลังศึกษาสังโยชน์ ๓ ประการ
เราก็พิจารณาความดีของพระพุทธเจ้าในขอบเขตของสังโยชน์ ๓
ว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ทุกคนปฏิบัติในศีลห้า และกรรมบถ ๑๐
มันดีหรือมันชั่ว ขอพูดลัดไปก่อน เพราะพูดมามากแล้ว
ต้องถือว่าคนที่ปฏิบัติในศีลหน้า ก็ดีในกรรมบถ ๑๐ ก็ดี
ผลที่ได้รับคือ เป็นความดี เพราะศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี
ทั้ง ๒ ประการถ้ารวมกันเข้า จะเป็นมหาเสน่ห์ใหญ่ไปที่ไหนใครก็รัก


ประการที่ ๑ เราไม่มีจิตใจโหดร้าย ไม่คิดจะฆ่าเขา
ไม่คิดจะเป็นศัตรูกับใครมีความเมตตาปรานี
ยิ้มแย้มแจ่มใส ใคร ๆ ก็ชอบ

ประการที่ ๒ เรามีความเมตตาปรานียิ้มแย้มแจ่มใสยังไม่พอ
มีสันโดษ ยินดีเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม
ไม่ยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของใคร
ไปที่ไหนก็มีแต่คนไว้วางใจ มีแต่คนรักมีแต่คนชอบ

ประการที่ ๓ จิตใจมีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร
ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นปกติ ใครเจอะหน้าก็พบแต่ความยิ้ม
หน้าบึ้งขึงจอไม่มี แล้วก็มีสันโดษ
ยินดีเฉพาะร่วมรักเฉพาะสามีหรือภรรยาของตนเท่านั้น
ไม่ไปยุ่งกับภรรยาหรือสามีของบุคคลอื่น
คนประเภทนี้ไปที่ไหนใครก็รัก ไปที่ไหนใครก็ชอบ

ต่อมาด้านวาจา ทุกคนต้องการวาจาจริง
ทุกคนอยากจะฟังวาจาไพเราะ
ทุกคนอยากจะฟังวาจาที่ประกอบด้วยความเป็นมิตร
ไม่คิดประทุษร้ายซึ่งกันและกัน
ทุกคนต้องการวาจาเป็นหลักฐานให้เป็นประโยชน์
เราก็ใช้วาจาจริงพูดตามความเป็นจริง
ตัดความมดเท็จออก แล้วก็ตัดวาจาหยาบออก
ใช้วาจาที่อ่อนหวาน เป็นที่ชอบใจของคนแต่ละหมู่ คนแต่ละกลุ่ม
กลุ่มนี้ชอบใจแบบนี้เราพูดแบบนั้น
กลุ่มนั้นชอบใจอย่างนี้ เราพูดแบบนี้ พูดตามที่เขาชอบใจ
แล้วก็ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครเขาแตกร้าวกัน
มีแต่สรรเสริญและการพูดวาจาออกไปก็ต้องเพ่งประโยชน์
ว่า วาจาใดที่ไร้ประโยชน์ เราไม่ทำ
อย่างนี้ไปที่ไหนใครก็รัก ไปที่ไหนใครก็ชอบ
ขอยืนยันว่า คนประเภทนี้ หน้าก็ยิ้ม พูดก็ดี
คนประเภทนี้ไปไหนไม่อดตาย มีแต่เพื่อนที่รัก คนเกลียดยาก
คนที่จะเกลียดก็มีอยู่พวกหนึ่ง
คือ พวกคนเลวที่มีความดีไม่เท่าไม่ถึง
ก็มีความอิจฉาริษยา นี่เป็นของธรรมดา


ต่อไปข้อที่ ๕ ของศีล ท่านบอก แนะนำให้เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
นี่ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า การดื่มสุราและเมรัยมันเสียสตางค์เปล่า
ถ้าสตางค์เหล่านั้นมาซื้อกับข้าวตะมีประโยชน์กว่า
แล้วก็ทำลายศักดิ์ศรี ทำลายสุขภาพ
เมาไปแล้วก็ไม่ใช่คนดี มีจริยาคล้ายคนบ้า
ยังไม่เมามีอาการนิ่มนวลทุกอย่าง
พูดจาก็ไพเราะ จริยามารยาทก็งดงาม
พอเมาเข้าไปแล้วกลับอาการใหม่เหมือนคนบ้า อย่างนี้ใครก็ไม่ชอบ
ถ้าเราไม่ดื่มสุราและเมรัย สติสัมปชัญญะสมบูรณ์
มีความไม่ประมาท มีเมตตา มีกรุณา และมีสันโดษ
มีการยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาอะไรก็มีหลักมีฐาน
มีความมั่นคงในคำพูด อย่างนี้เป็นต้นใครก็ชอบ ไปที่ไหนใครก็รัก


ต่อไปกำลังใจของเราไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
ยินดีเฉพาะของที่เราหาได้โดยชอบธรรม
กำลังใจดีอย่างนี้ใครก็ชอบ

เขาอาจจะไม่เห็นอารมณ์ของใจ แต่เห็นจริยาภายนอก
แล้วเรื่องทรัพย์สินของชาวบ้าน เราก็สนใจเขามีอะไรดีบ้าง
แต่ไม่ได้สนใจการลักการขโมย การยื้อแย่ง
จริยาที่แสดงออก บรรดาท่านพุทธบริษัท
คนที่อยากได้ด้วยความสุข
กับคนที่อยากได้ด้วยอาการทุจริต
อาการแสดงออกทางกายไม่เหมือนกันอย่างนี้
คนในโลกทุกคนเป็นคนฉลาด เขาทราบว่าเราดีหรือเราเลว

และอาการต่อไป เว้นจากความโกรธความพยาบาท ข้อนี้สำคัญมาก
ก็เพราะอาศัยมีความเมตตา ความรัก กรุณา มีความสงสาร
อันนี้ถ้าเว้นได้ หน้ายิ้มตลอดกาล
ถ้าจะกล่าวกันว่า ยิ้มตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ได้

ถ้าญาติโยมพุทธบริษัทที่รับฟัง จะตะโกนถามมาว่า ๒๔ ชั่วโมง
ยิ้มไม่ได้แน่ เพราะว่าเวลาหลับมันมี
ก็ต้องถือว่าเวลาหลับใจก็ยังยิ้ม เพราะว่าจิตเป็นสุข
คิดแต่ความเป็นมิตร คิดแต่รักและสงสารคนอื่นอยู่เสมอ
จิตใจก็ชุ่มชื่นเยือกเย็น คนที่มีกำลังใจไม่โหดร้าย เวลาจะพูดก็พูดดี
เวลาจะทำก็ทำดี เพราะว่าการพูดดี
การทำก็ดีอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ จิตใจสั่งออกมาดี
กายก็ทำดี ปากก็พูดดี ตาก็มองดี
ถ้าจิตใจสั่งเลว กายก็ทำเลว วาจาก็พูดเลว
ตาก็มองด้านความเลวความดุร้าย ใครเขาก็รู้
ถึงแม้ว่าจะคิดในใจจะเข้าว่าคนอื่นไม่รู้
เพราะเขาก็แสดงเป็นเหมือนกัน อารมณ์อย่างนี้เขามีเหมือนกัน

แล้วก็ข้อสุดท้าย สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ คือ ตัวปัญญา
สัมมาทิฏฐิ ก็มีความรู้สึกว่าทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเป็นของดี
เรานำไปประพฤติปฏิบัติ
ถ้าทุกคนทำได้ ทุกคนจะมีแต่ความสุข
ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์ความดีของพระพุทธเจ้า
เพราะเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
และก็เป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของพระอริยสงฆ์
ว่าในเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว
พระอริยสงฆ์นำมาบอกพวกเราจึงทราบ
สำหรับพระธรรมนั้นได้แก่ ศีล
รวมความว่า เรายอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
ยอมรับนับถือพระธรรม ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์
และก็นึกถึงความตายเป็นอารมณ์
ถ้าทำได้แค่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
เราสามารถจะหลีกนรกได้เป็นตอน ๆ
คือชาตินี้มีอารมณ์อย่างนี้เป็นปกติ
ชาตินี้ลงนรกไม่ได้ แต่ชาติหน้าถ้ามาใหม่มันไม่แน่
เราอาจจะลืมอารมณ์นี้ก็ได้ ไปคิดความเลวเข้าก็ลงนรกได้


เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลงนรกทุกชาติต่อไป
ก็ทรงศีลห้า กับกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์
มันเป็นของไม่ยาก ถ้าเป็นคนรักดี
การปฏิบัติอย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท พระพุทธเจ้ายืนยันว่า
ทุกคนถ้าปฏิบัติได้แล้ว ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ
คือการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
จะไม่มีสำหรับเราเด็ดขาดตลอดไปเลย
ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ถ้าจะเกิดอีกกี่ชาติ
ก็หมายความว่าทุกชาติไม่มีการลงอบายภูมิทั้ง ๔

หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติได้
คือ คิดถึงความตายก็ดี คิดได้
ยอมรับนับถือ พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์
และมีศีลห้าบริสุทธิ์โดยเฉพาะ ไม่มีกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้
พระพุทธเจ้าทรงจัดเป็นขั้นเป็นตอน
ถ้ามีกำลังใจเข้มข้นน้อย คือ มีอารมณ์ยังหยาบ
ที่เรียกว่ามีอารมียังอ่อนอยู่ แต่ว่ารักษาได้
ถึงแม้ว่ากำลังใจยังอ่อน ก็รักษาได้
อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมครูตรัสว่า
จะต้องเกิดและตายสลับกันระหว่างเทวดากับพรหม
หรือว่ามนุษย์ คือเกิดเป็นมนุษย์ ๑ ชาติ
ตายจากชาตินี้ไป ก็ไปเป็นเทวดาหรือพรหมอีก ๑ ชาติ
ลงมาเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ ไปเป็นเทวดาหรือพรหม ๑ ชาติ
รวมแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ ๗ ชาติ เทวดาหรือพรหม ๗ ชาติ
แต่สุดท้ายที่ ๗ ของมนุษย์ชาตินั้นจะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน

ถ้ามีกำลังบารมี คือ กำลังใจเข้มข้นปานกลาง
อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส
ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ
สลับกับเทวดาหรือพรหมตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้อีก
ชาติที่ ๓ จะเป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน

ถ้ามีกำลังใจเข้มข้น จะเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวแล้วก็เป็นพระอรหันต์
แต่ถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติศีลห้าได้ด้วย กรรมบถ ๑๐ ได้ครบถ้วน
บรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง
อาตมาพิจารณาธรรมะดูแล้ว หาอย่างไหนก็เอาแน่นอนไม่ได้
เอาแน่นอนได้ ที่กรรมบถ ๑๐ คือข้อ "มโนกรรม"
ข้อท้าย ๓ ข้อ ที่ว่า "ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร
ไม่คิดประทุษร้ายใคร มีความเห็นถูก"
ข้อนี้แหละเป็นการบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง
อย่างนี้องค์สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า
ถ้าตายจากความเป็นคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม
ลงมาชาติเดียวก็เป็นพระอรหันต์ทันที


ที่ว่ากันแบบนี้ ว่ากันตามแบบของตำรา
แต่พูดกันตามเนื้อแท้จริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
โดยถ้วนหน้า กัปนี้ไม่ใช่มีพระพุทธเจ้า ๔ องค์
กัปนี้มีพระพุทธเจ้าจริง ๆ ๑๐ พระองค์
งวดทีแรก ๕ องค์ มีพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นองค์สุดท้าย
แล้วก็เริ่มต้นใหม่ มีพระรามเป็นต้น
แล้วต่อไปอีก ๔ องค์ รวมแล้วจริง ๆ
กัปนี้มีพระพุทธเจ้าถึง ๑๐ องค์ ตามตำราที่อ่านมา
อาตมาก็อ่านหนังสือไม่มากนัก ตามที่ผ่านมาแล้วทั้งหมดเท่าที่พบ
ไม่เคยพบว่ากัปไหนมีพระพุทธเจ้ามากเหมือนกัปนี้
บางกัปก็มีองค์เดียวบ้างสององค์บ้าง สามองค์บ้าง อย่างนี้เป็นต้น
ถึง ๕ องค์ยังไม่พบ แต่ว่ากัปนี้มีถึง ๑๐ องค์ ถือว่าเป็นกัปพิเศษ

ฉะนั้น คนที่มีความดีตามที่ว่าแล้วทั้งหมด
จะเป็นกำลังใจอย่างอ่อน อย่างกลาง หรืออย่างเข้มข้น
หรือคนที่มีทั้งศีลห้า กรรมบถ ๑๐ ครบถ้วนก็ตาม
ตายจากความเป็นคนไปในช่วงนี้ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม
ระหว่างที่ท่านเป็นเทวดาหรือพรหม
นี่แหละยังไม่สิ้นอายุของความเป็นทิพย์
พระศรีอาริยเมตไตรยก็จะมาตรัส
ยังไง ๆ อายุกัปหนึ่งหรือครึ่งกัป
ที่ผ่านไปนี่มันน้อยกว่าอายุเทวดา หรือพรหม
ที่ไปเกิดข้างหน้าการสิ้นกัปผ่านไปแล้ว ก็ยังไม่หมดอายุของเรา
ฉะนั้นท่านทั้งหลายจะต้องพบพระพุทธเจ้าอีก ๖ องค์
แต่อาตมามีความรู้สึกตามตำราหรือตามที่พบมา
ว่าคนที่มีความดีแก่กล้าอย่างนี้
เพียงแค่ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม
พบพระศรีอาริยเมตไตรย คือ พบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
ตรัสพระธรรมเทศนา ฟังพระธรรมเทศนาจบเดียว
ก็เป็นพระอรหันต์ไปนิพพาน อย่างนี้ได้กำไรมาก
บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าไปนิพพานเสียได้ก็มีความสุข

ตอนนี้มาว่ากันถึงการปฏิบัติ เพราะว่าบรรดาท่านพุทธบริษัท
มีเวลาปฏิบัติไม่เสมอกัน อย่างพระหรือเณรนี่ หรือชี
เวลานี้มีเถรหรือเปล่าไม่ทราบ พระเณรเถรชีเถรนี่
"เถระ" แปลว่า ผู้ใหญ่ และ "ชี" แปลว่า นักบวช
อาตมาแปลเอง ถูกตำราหรือไม่ถูกตำราก็ไม่ทราบ
พระกับเณรรี่เรารู้จักกันแน่นอน ท่านพวกนี้มีเวลามาก
ถ้าจะปฏิบัติตามหลักสูตรก็เป็นของไม่หนักนัก
เพราะเวลามีมากพอสมควร กำลังใจแค่จะตัดสังโยชน์ ๓ กันจริง ๆ
ถ้าเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่ท้อไม่แท้
และก็ยึดมั่นกำลังใจด้วยของอิทธิบาท ๔ คือ

ฉันทะ มีความพอใจจริง ๆ พร้อมในการปฏิบัติ

วิริยะ มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำต้องมีอุปสรรค
เราก็มีความเพียรเข้าต่อสู้ต่ออุปสรรคไม่ท้อถอย ตายเป็นตาย

จิตตะ สนใจจดจ่อในความดีนั้น ที่เราพึงปฏิบัติ

วิมังสา ใช้ปัญญาประกอบพิจารณาว่า เราทำมันถูกหรือไม่ถูก
ถ้าไม่ถูกก็กลับทำใหม่เสียให้ถูก

ถ้ากำลังในมีอิทธิบาท ๔ ได้ครบถ้วน บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าเอาจริงเอาจังกันมันก็ไม่เกิน ๓ เดือน
นี่พูดเฉพาะฆราวาสนะ ถ้าพระกับเณร เถรชี อาตมาไม่คำนวณ
ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะว่าท่านพวกนี้มีเวลามาก
ถ้าเอาจริงเอาจังจะใช้เวลาถึง ๗ วันหรือไม่ถึงก็ไม่ทราบ
เพราะว่าท่านอยู่ในเพศนั้น มีศีลเป็นขอบเขตอยู่แล้ว
ก็เลยไม่พยากรณ์กัน สำหรับฆราวาส
ก็ดูตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ตรัสว่า
การจะตัดสังโยชน์ ๓ จริง ๆ นั้น
ท่านบอกว่า คนประเภทนี้ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย
แต่มีศีลบริสุทธิ์ คือสำคัญที่ศีล ศีลก็ดี กรรมบถ ๑๐ ก็ดี
เป็นของไม่หนัก ถ้าเราเอาจริงแล้วเป็นของไม่หนักเลย


ตอนนี้ก็ขอแนะแนวในการปฏิบัติบรรดาท่านพุทธบริษัทแบบง่าย
ถือว่าเป็นการปฏิบัติแบบชาวบ้านที่มีงานหนัก

ข้อที่ ๑ สักกายทิฏฐิ ตัดสักกายทิฏฐิ
ให้มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย
เราก็มองดูคนและสัตว์ ที่เขาให้เราเห็น อันนี้ไม่ยาก
ไม่ต้องใช้ปัญญามาก แต่ว่าเมื่อคิดถึงความตายแล้ว
จงอย่าท้อถอย ทำมืออ่อนเท้าอ่อน อันนี้ไม่ถูก
ทำกิจการงานไม่ไหว เพราะเกรงความตายตะเข้ามาถึง อันนี้ไม่ถูกต้อง
การประกอบอาชีพทั้งหมด
บรรดาท่านพุทธบริษัทต้องทำให้ครบถ้วนทุกอย่าง
เราไม่แน่ว่า จะตายวันนี้หรือสักร้อยจะตาย ในเมื่อมันยังไม่ตาย
การประกอบอาชีพทุกอย่างด้วยความสุจริต ไม่คดไม่โกงเขา
ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเราทำให้มันมาก
รวบรวมทรัพย์สินไว้ให้มากตามกำลังที่จะพึงทำได้
เผื่อว่ายังไม่ตายจะได้มีกินมีใช้ หรือป่วยไข้ไม่สบาย
ความตายยังไม่ถึงก็ต้องรักษา หรือความตายจะพึ่งเข้ามา
แต่มันยังไม่ตาย เราก็ต้องรักษาเพื่อเป็นการระงับทุกขเวทนา
ทางร่างกายและจิตใจ รวมความว่า การประกอบอาชีพนี่ต้องทำ
ดูอย่างในสมัยพระพุทธเจ้า มหาเศรษฐีทั้งหลาย มีนางวิสาขา เป็นต้น
ท่านรวยและแสนรวย ตระกูลนี้นับเงินไม่ได้นับเป็นโกฏินับไม่ได้
ถ้าขืนนับเป็นโกฏิ นับไป ๓๐ - ๔๐ ปียังไม่ครบ ยังไม่รู้กี่โกฏิ
มันยังไม่หมดก็ต้องนับกันเป็นเล่ม ๆ เกวียน
เล่มเกวียนเขายังไม่คำนวณเลยว่า กี่ร้อยกี่พันกี่แสนเล่มเกวียน
ก็รวมความว่า ท่านรวยขนาดนี้ ท่านยังทำมาหากินต่อไป
ไม่ใช่วางมือวางเท้า ฉะนั้น การประกอบอาชีพ
บรรดาท่านพุทธบริษัทต้องทำ
ถ้าถามว่า "ถ้าทำแล้วจะมีเวลาที่ไหนมานึกถึงความตาย"
การนึกถึงความตายนี้ไม่ได้แย่งเวลาการทำงานเลยพอตื่นขึ้น
เช้าขึ้นมาก็คิดตามความเป็นจริงว่า
"ชีวิตนี้ต้องตาย และอาจจะตายวันนี้ก็ได้
อาจจะตายเมื่อไรก็ได้ ตายเมื่อไรก็ช่าง
เราจะประกอบเฉพาะความดี
การประกอบอาชีพจะไม่มีการเบียดเบียนใครทั้งหมด
จะหากินโยการสุจริตธรรม" เท่านี้ก็ใช้ได้


หลังจากนั้นก็ตั้งใจยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า เราก็นับถือกันอยู่แล้ว
ตอนนี้ถ้าให้ทำกรรมฐานเป็นพุทธธานุสสติกรรมฐาน
คำว่า "พุทธานุสสติกรรมฐาน" ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
ดูอย่างมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ท่านไม่เคยนับถือพระพุทธเจ้า
ท่านนึกถึงนิดเดียว ตายแล้วไปสวรรค์เป็นเทวดา
สุปติฏฐิตเทพบุตร เป็นมนุษย์เลวมาก ทำบาปทุกประการ
แต่พอจะตายนึกถึงองค์สมเด็จพระพิชิตมารนิดเดียว
ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
ทั้ง ๒ ท่านนี้ พบพระพุทธเจ้าฟังเทศน์จบเดียว
เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เวลาก็หมดเสียแล้วหน้านี้
ก็ต้องขอลาก่อนขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแต่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี...
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2007, 2:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒๒
การปฏิบัติตนเพื่อหนีนรกแบบง่าย ๆ (ต่อ)

http://www.dhammajak.net/board/images/smiles/b8.gif
สาธุ
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒๒ ของการหนีนรกถือว่า เป็นตอนพิเศษ
เป็นตอนที่การปฏิบัติหนีนรกแบบง่าย ๆ และเบา ๆ
หรือเรียกกันว่า "แบบชาวบ้าน ๆ"

ตอนที่ ๒๑ พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐาน
การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท
ที่ทำกันต้องเข้าไปนั่งสมาธิในป่า ในเขา ในที่คับแคบ
ในที่อะไรต่อมิอะไรบ้าง ในที่เร้นลับในที่สงัด
แต่ว่าท่านชาวบ้านทั้งหลาย ชาวบ้านระดับไหนก็ตามที่เวลาน้อย
จะหาเวลาว่างไปทำอย่างนั้นไม่ได้
ถ้าอ่านตำราแบบนั้นแล้วก็คิดว่า
คนอย่างเราไม่มีโอกาสเจริญพุทธานุสสติกับเขา
ความจริงการตัดสังโยชน์มีเฉพาะอนุสสติเท่านั้น
ไม่มีกรรมฐานอื่นเจือปน

อย่างนึกถึงพระพุทธเจ้าก็เป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน
นึกถึงพระธรรมเป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน
นึกถึงพระอริยสงฆ์เป็น สังฆานุสสติกรรมฐาน
นึกถึงศีลและกรรมบถ ๑๐ เป็นสีลานุสสติกรรมฐาน
รวมความว่าทั้งหมดอยู่แค่อนุสสติ

"อนุสสติ" นี่ท่านแปลว่า ตามนึกถึง ตามนึกถึงเท่านั้น
ท่านไม่ได้บอกว่าต้องไปนั่งสมาธิวันละกี่ชั่วโมง
ถ้ากำลังใจเราเข้มข้นจริง ๆ
ท่านที่มีเวลามาก วิธีตามนึกถึงให้จิตเป็นสมาธิในพุทธานุสสติกรรมฐาน
มีวิธีทำง่าย ๆ นั่นก็คือ ใช้การบูชาพระพุทธรูป

ถวายอาหารเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้า
แต่เรามองไม่เห็นองค์พระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่ไหน
ก็ใช้พระพุทธรูปที่บ้านนี่แหละ ถวายท่านที่นั่น
สำหรับของที่ถวายพระพุทธรูป
ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาของที่มีราคาแพง
อาหารที่ท่านบริโภคทุกวันน่ะ มีอะไรบ้างใช้เฉพาะอย่างนั้น
เอากันแต่เพียงว่าก่อนที่จะบริโภคข้าว
ตักมาก่อนที่เราจะตักกินแกงและกับ น้ำพริกปลาร้า
ผักต้ม อะไรก็ตาม ปลาย่าง เท่าที่มีอยู่
เอามาก่อนที่เราจะกินของนั้น

รวมความว่า เราไม่ถวายของที่เป็นเดนกับท่าน
แล้วก็ไปถวายข้างหน้า ไปตั้งไว้ข้างหน้า
ถ้ามีธูปก็จุดธูป ไม่มีธูปก็ไม่ต้องจุด
กราบด้วยความเคารพ นั่งมองพระพุทธรูปด้วยความเคารพ
จำภาพของท่านไว้ ตั้งใจว่า "นะโม" ๓ จบ
กล่าววาจาเป็นภาษาไทยก็ได้ว่า
"ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายข้าวและกับและน้ำแก่พระองค์
แด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงสงเคราะห์
โปรดให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้" เอาแค่นี้ก็พอ

คำว่า "การเข้าถึงพระนิพพาน" เพราะการถวายข้าวพระพุทธรูป
จะถือว่าเกินพอดีมันก็ไม่ใช่
มันเป็นความดีที่ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ก้าวเข้าไป
ถ้าเราตั้งใจไว้เพื่อนิพพาน ถ้าจะมีคำถามมาว่า
"หวังนิพพานได้แน่นอนไหม?" ก็ต้องตอบว่า "หวังได้แน่"
ถ้าชาตินี้ไม่ได้ ชาติหน้ามันก็ได้
กำลังใจประเภทนี้ ถ้าเราไม่ตกนรก
มันก็จากสวรรค์ไปพรหมจากพรหมไปนิพพาน ไม่มีอะไรหนัก

ถ้าถามว่า "ทำอย่างนี้เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานหรือ?"
ก็ต้องตอบว่า "ใช่ แล้วก็ทรงด้วย และง่ายด้วย"

พุทธานุสสติ คือ การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
คำว่า "เป็นอารมณ์" ไม่ใช่ทุกลมหายใจเข้าออก
มีจิตห่วงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้า
ถ้าเราไม่มีพระพุทธเจ้า ก็พระพุทธรูปนั่นแหละ
นึกถึงพระพุทธรูปเมื่อไร ก็ถึงพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น

ตอนนี้ก็เห็นว่า ถ้าเราถวายท่านทุกวัน จิตเราจะเริ่มเป็นห่วงท่าน
ก่อนที่จะบริโภคอาหารหรือก่อนจะทำอาหาร
จิตก็จะคิดว่า วันนี้เราจะมีอะไรถวายพระพุทธรูป
บางทีวันนี้ถวายแล้วไม่ทันจะถึงวันพรุ่งนี้ก็นั่งคิด
เดินไปบ้าง ทำงานบ้าง
ก็อดคิดไม่ได้ว่า อาหารอย่างนี้มีพวกนี้
เราจะนำถวายพระพุทธรูป อย่างนี้
เป็นการนึกถึงพระพุทธเจ้าจริง ๆ ตรง ๆ ด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน
ถ้าถวายข้าวพระพุทธรูปแบบนี้จนชิน
ถ้าวันไหนไม่มีโอกาสจะถวายท่าน
วันนั้นใจไม่สบาย อย่างนี้ถือว่าเป็นฌานในพุทธานุสสติกรรมฐาน
รับรองว่า ตายชาตินี้ไม่ตกนรกแน่

ต่อไป "ธัมมานุสสติกรรมฐาน" ทำอย่างไร?
ธัมมานุสสติกรรมฐานทำได้หลายแบบ
แบบต้นก็คือว่า เวลากลางคืนหรือกลางวัน หรือตอนเช้า
ตามเวลาที่ว่าง ตั้งใจบูชาพระ
เรียก "บูชาพระ" คือสวดมนต์
เราเข้าไปถึงหน้าพระพุทธรูป เข้าไปแล้วเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน
แล้วต่อไปก็เป็นธัมมานุสสติกรรมฐาน

ตั้ง "นะโม" ๓ จบด้วยความเคารพ
"นะโม" นี่แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อม
คือ นมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์พระองค์นั้น
เป็นการกล่าวคำสรรเสริญพระพุทธเจ้า
แสดงความเคารพด้วยความจริงใจ
ต่อมาบูชานึกอะไรได้บ้าง
ถ้าว่าสวดมนต์จริง ๆ ไม่ได้ ก็ว่าต่อไปสักเล็กน้อยคือ

"พุทธัง สรณัง คัจฉามิ" ในใจก็นึกว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
"ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ" ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
"สังฆัง สรนัง คัจฉามิ" ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ถ้าว่าทั้ง ๓ อย่างนี้ถือว่าเป็น พุทธานุสสติด้วย ธัมมานุสสติด้วย
สังฆานุสสติด้วย พร้อม ๆ ไปหมดทั้ง ๓ ประการ

ที่นี้ถ้าสวด "อิติปิโสฯ" ได้ก็สวดอิติปิโสฯ ต่อ "อิติปิโสฯ" น
ี้เป็นการสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์โดยตรง
ถ้าสวดด้วยความเคารพช้า ๆ นึกในใจก็ได้
ถือว่าเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติโดยตรง
รวมความว่า ทั้ง ๓ อนุสสติได้ครบถ้วนสมบูรณ์

ฉะนั้น การที่เราบูชาพระก็ดี สวดมนต์ก็ดี
ถ้าวันไหนไม่ได้บูชาพระหรือไม่ได้สวดมนต์ตามที่พึงจะสวดได้
ถ้าสวดไม่ได้จริง ๆ ก็อย่าลืมนึกในใจหรือว่าออกปากก็ได้ ว่า
"พุทธัง สะระณัง คัจจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง"

ถ้าถามว่า ทำไมจำกัดพระอริยสงฆ์?
พ่อนักบวชจริง ๆ ไว้ใจไม่ได้ ที่ดีก็มีมาก ที่เลวก็ไม่น้อย
ถ้าพระอริยะนี่ท่านไม่เลว ท่านมีแต่ก้าวหาความดี
กอบโกยความดีให้มากขึ้น ถือว่ามีความดีส่วนเดียวก็ได้
ถ้าจิตใจของท่านมีความห่วงในการสวดมนต์หรือบูชาพระ
ถือว่าเป็นความมั่นคง คือมีฌานในธัมมานุสสติกรรมฐานแล้ว

ฉะนั้น เวลานี้มีอยู่แบบหนึ่ง เขามีเทปพระธรรม
เทปที่บันทึกเสียงเกี่ยวกับธรรมะจะเป็นพระสูตร
หรือธรรมะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้
ถ้าเราชอบใจเทปอันไหน ธรรมะส่วนไหนที่เราหามาแล้วเราชอบ
หรือว่าสามารถบันทึกเสียงพระสวดมนต์ก็ได้
เวลาที่ท่านนอนลงไปแล้วก็เปิดเทปฟัง
ฟังด้วยความเคารพ เมื่อฟังแล้วจะจบหรือไม่จบ
จะหลับก็ช่างเถอะ หลับเมื่อไรปล่อยไปอย่าไปฝืนใจ
ถ้าฟังยังไม่ทันจบหลับ ดี
เพราะฟัง ๆ ไปจิตเริ่มเป็นสมาธิทีละน้อย ๆ
เมื่อจิตรวมตัวถึงฌานก็หลับ
ในขณะที่หลับกี่ชั่วโมงก็ตาม กว่าจะตื่น
ท่านถือว่าทรงฌานนั้นอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเป็นอย่างนี้ถือว่าท่านทรงฌานในธัมมานุสสติกรรมฐานแน่นอน
ก็ปฏิบัติไม่ยาก

วิธีปฏิบัติในสังฆานุสสติ สังฆานุสสตินี่ให้เรานึกถึงพระสงฆ์
มันก็ไม่แน่นอนนัก เราอาจจะนึกได้แต่บางทีก็ลืมไป
ต้องสร้างความห่วงใยในพระสงฆ์ ทำให้จิตเป็นห่วง
เราเป็นคนห่วงพระสงฆ์ แต่การห่วงนี่ต้องเสียทรัพย์สินบ้าง
แต่ไม่ต้องมากนัก ถ้าหากว่ามีพระมาบิณฑบาตถึงบ้านท่าน
หรือท่านมีเวลาที่จะใส่บาตรได้ด้วย ก็ไม่แน่นอนนัก
บางคนมีเวลาน้อย เช้าต้องรีบไปทำงาน
รอพระบิณฑบาตไม่ได้ อย่างนี้ก็มีมาก
สมมุติว่าท่านมีเวลาจะใส่บาตร
ท่านก็ตั้งใจใส่บาตรพระในตอนเช้า
อาหารที่ใส่จะมีกับข้าวหรือไม่มีกับก็ไม่สำคัญ
มีข้าวเฉย ๆ ก็ใช้ได้ จะใส่มากองค์ หรือน้อยองค์ก็ใช้ได้

เป็นอันว่า เรามีความรู้สึกคิดไว้ว่าเราจะใส่บาตรพระสงฆ์
จิตก็เป็นห่วง วันนี้เรามีของใส่บาตรแล้ว
จิตก็คิดห่วงว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรใส่บาตรบ้าง
แล้วก็ตอนเช้าตื่นขึ้นมา
ถ้าแม่บ้านหรือครัวก็ต้องรีบหาอาหารให้ทันพระมาบิณฑบาต
แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจคอยว่า พระมาแล้วหรือยัง
เมื่อใส่บาตรไปแล้วก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า
วันพรุ่งนี้เราจะมีอะไรใส่บาตรบ้าง
บางทีตอนกลางวันและตอนเย็นยังไม่ถึงวันพรุ่งนี้นี่
เตรียมตัวว่าวันพรุ่งนี้เราจะใส่บาตร ใช้ข้าวอะไรใช้กับอะไรอย่างนี้เป็นต้น

จิตใจของเราก็มีความกังวลในพระสงฆ์
ว่าเราเองใส่บาตรในพระสงฆ์ อย่างนี้เป็นสังฆานุสสติแน่นอน
และก็เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นทานการบริจาคด้วย
ได้อานิสงส์ ๓ อย่าง

ถ้าสมมุติว่าเวลาที่เราจะใส่บาตรไม่ทัน ธุระมันมากในตอนเช้า
ถ้าเราเป็นคนมีข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็เอาภาชนะหรือปีบ หรือถัง
อะไรก็ได้มาตั้งไว้ ๑ ลูก ที่ใกล้ที่บูชา
กลางคืนเวลาบูชาพระเสร็จ ก็ตักข้าวใส่ในถังหรือว่าในขัน
หรือว่าในโถอะไรก็ตามเถอะ
เอาข้าวเปลือกหรือข้าวสารก็ตาม มากก็ได้ น้อยก็ได้ตามกำลัง
ถ้ามีน้อยจริง ๆ วันละ ๑ จอกลอย หรือวันละ ๑ ถ้วยชาก็ได้
ทุกครั้งที่จะใส่ เพื่อเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว
ก็ว่า "คาถาวิระทะโยฯ" ของหลวงพ่อปานไปด้วย ๑ จบ
หรือจะว่า "คาถามหาลาภ" ที่พิมพ์แจกไปก็ได้ จะดีมาก

"คาถามหาลาภ" ทั้งหมด รวม "คาถาวิระทะโยฯ" ด้วย
ว่าหลายจบก็ได้ ก่อนจะตักข้าวใส่ถัง
เวลาสวดมนต์บูชาพระเสร็จ สวดมนต์เสร็จ
"มนต์" ไม่ต้องสวดมากนักก็บูชา
ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าคาถาบทนั้น
และนึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยสัก ๙ จบ
หรือ ๕ จบ หรือ ๓ จบ หรือ ๗ จบตามเวลา
เวลาที่ตักข้าวจะใส่ในถังก็ว่าเสีย อย่างนี้ถือว่าเป็นสังฆานุสสติแน่นอน
และก็เป็นจาคานุสสติจะให้ เป็นทานการบริจาคด้วยเสร็จ
ได้ ๓ อย่าง ๔ อย่างด้วยการมีลาภมีผล

ถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน เรียกว่าไม่ถนัดในการใส่ข้าว มันลำบาก
ข้าวนี้ได้มาก ๆ จึงไปถวายพระ ถ้าการใส่ข้าวลำบาก ใช้เงินเถอะ
ก็ได้เหมือนกันก็คิดว่า เงินจำนวนนี้เราจะนำไปถวายพระสงฆ์
เป็นค่าภัตตาหารหรือค่าก่อสร้างอะไรก็ตามท่านเถิด
ท่านจะใช้เป็นค่าภัตตาหารก็ได้ ค่ายารักษาโรคก็ได้ ค่าผ้าผ่อนท่อนสไบ
ถ้าไม่มีจะใช้ท่านก็ซื้อได้ ทำการก่อสร้างก็ได้
ไปบำรุงพระธรรมก็ได้ ตามใจท่าน
เราเอาหมดทุกอย่าง แล้วก็เอาเงินใส่กระเป๋าลงไป
ถามว่าใส่เท่าไร? ก็ต้องตามใจผู้ใส่
ท่านมีมากท่านก็ใส่มาก ท่านมีน้อยท่านก็ใส่น้อย
แต่การใส่อย่าให้ลำบากตนเอง
ใส่เงินอย่าถือว่าต้องมาก ต้องทุ่มเทเท่านั้นเท่านี้
อย่าเอาอย่างนั้น เอากันแค่เราห่วงพระสงฆ์
ให้จิตใจนึกถึงพระสงฆ์ว่า เงินจำนวนนี้ทั้งหมดเราจะถวายพระสงฆ์
แล้วก็ใส่ลงไปถ้ามันมีน้อยใส่หนึ่งสตางค์ก็ได้ สองสตางค์ก็ได้
ห้าสตางค์ก็ได้ หรือวันละสองสลึงก็ได้ วันละบาทก็ได้ เท่าไรก็ได้
จำนวนที่ใส่นี่ไม่จำกัด เราใส่ไว้เฉพาะ เฉพาะที่เราจะไม่เดือดร้อน
และก็เราตั้งใจถวายเป็นสมบัติของพระสงฆ์
เพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว
อย่างนี้ก็เป็นสังฆานุสสติด้วย เป็นจาคานุสสติด้วย
เป็นทานการบริจาคด้วย ได้ ๓ อย่าง

แล้วต่อไป ถ้าสตางค์ก็ไม่สะดวก ข้าวสารหรือข้าวเปลือกก็ไม่สะดวก
ท่านผู้รับฟัง อย่าเพิ่งหัวเราะเยาะกันนะ
เพราะว่าเรื่องข้าวว่าไม่มีเลยไม่จริงไม่ใช่อย่างนั้น จริง
อาตมาตั้งศูนย์สงเคราะห์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นต้นมา
เคยพบหลายวาระที่หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมกัน
ไม่ได้เห็นเมล็ดข้าวมาแล้วตั้ง ๒-๓ เดือนก็มี
ต้องกินขุยป่า มีหัวเผือกหัวมัน
เอาข้าวไปแจกคนละถังดีใจเกือบตาย รับน้ำตาไหล
มีผ้าผ่อนท่อนสไบก็ไปแจก มีอาหารไปแจก
มียารักษาโรคไปแจก ต้องแบกกลับบ้านกัน
บางท่านบอกน้ำตาไหลดีใจ ถึงกับออกปากบอกว่า
"ผมนี่ ๒ เดือนแล้วครับไม่เห็นเม็ดข้าวเลย" อย่างนี้มีไม่ใช่ไม่มี
ท่านที่บอกว่าจน ๆ ยังมีเงินใช้ ยังมีอาหารกิน
ยังจนไม่จริง อย่างนั้นจนจริง ๆ

และการกระทำแบบนี้ การสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารก็ดี
แจกเสื้อผ้านักเรียนในถิ่นทุรกันดารก็ดี
ช่วยการศึกษา อุปกรณ์การศึกษาก็ดี
และการสงเคราะห์คนจนก็ดี
ทำมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็ยังมีจดหมายหลายสิบฉบับบอกว่า
"ทำไมดีแต่สร้างวัด ไม่ไปช่วยอย่างนี้บ้าง"
ต้องขอประทานอภัยโทษ
ท่านที่เขียนมาก็เคยมาวัดป้ายก็มองเห็น
และหนังสือที่แจกของไปช่วยสงเคราะห์เขาออกทุกปี
แต่ท่านประเภทนี้ท่านมีตาเป็นทิพย์ มองเห็นโลกทั้งหมด
ไม่เห็นหรอก ต้องมองดูผีจึงเห็น
ก็รวมความว่า ท่านประเภทนี้เป็นโรคประสาทเสีย
สัญญาวิปริต จิตเป็นบ้า เขาทำแล้วก็ยังมองไม่เห็น เดี๋ยวเตือนมา
บางคนเขียนมาติด ๆ กันเดือนละฉบับบ้าง
บรรยายความตามไท้เสด็จยาตรยาวเหยียด
แต่ไม่ลงที่อยู่ไม่ลงชื่อ อย่างนี้เขาเรียกว่า "หนังสือผี ๆ" เป็นผีเขียนมา
ถ้าเป็นคนก็คนผี ๆ เขียนมา หยาบคายแล้วก็เลวทรามมาก
นี่เราพูดกันถึงเรื่องธรรมะนะ มาว่าอย่างนี้จะสะดุดใจหรือจำกันไว้

ถ้าจะทำอะไรก็ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนมาว่ากัน
คนไม่มีข้าวจะใส่บาตรแม้แต่ถ้วยตะไลหรือชาวมันมีอยู่ จะกินยังไม่มีเลย
ถ้าจนแบบนี้หาข้าวก็ยากหาเงินก็ยาก
ก็อยากจะบูชาพระเป็นสังฆานุสสติกับเขาบ้างทำยังไง
เพราะพระสงฆ์ต้องมีของให้ วิธีนี้ไม่ยากท่านพุทธบริษัท

ก็ทำกันแบบนี้ คือ ปลูกพริกสักต้นหนึ่ง หรือมะเขือสักต้นหนึ่ง
หรือฟักแฟงแตงน้ำเต้า หรืออะไรก็ได้ที่มันกินได้
ความจริงท่านอาจจะปลูกหลายต้นก็ช่างเถอะ
ตั้งใจไว้ต้นหรือ ๒ ต้นก็ตาม ว่าต้นหรือ ๒ ต้นจะประเภทไหนก็ตาม
ต้นหรือ ๒ ต้นนี้เราจะไม่กินไม่ใช้เอง
ถ้ามีผลขึ้นมาเมื่อไรเราจะถวายพระสงฆ์
ให้ท่านไปทำอาหารฉันกันที่วัด
อย่างนี้เราจะเห็นต้นไม้นั้นทุกวัน
ต้นประเภทนั้นเราเห็นทุกวัน เราต้องรดน้ำเราต้องพรวนดิน
เราต้องใส่ปุ๋ย หรือที่บางแห่งไม่ต้องใส่ปุ๋ย อย่างที่ดี ๆ
แล้วนี่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เราก็เห็นทุกวัน เห็นขึ้นมาเมื่อไรก็คิดว่า
ต้นนี้ถ้ามีผลขึ้นมา เราไม่กิน เราปลูกไว้ถวายพระ
เห็นทุกวันก็นึกว่า เราปลูกไว้ถวายพระ อย่างนี้เป็นสังฆานุสสติกรรมฐาน

ก็รวมความว่า สังฆานุสสติกรรมฐาน ให้ปฏิบัติที่กล่าวมา
ถ้าวิธีปฏิบัตินี้อย่างใดอย่างหนึ่ง
บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าวันไหนไม่ได้ทำ วันไหนไม่ได้คิดถึง
วันนั้นใจไม่สบายต้องทำและต้องคิดถึง ใจจึงจะสบาย
อย่างนี้ถือว่า มีฌานในสังฆานุสสติกรรมฐาน


ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามในอนุสสติ
ถ้าหากว่าท่านทำเป็นประจำ ชาตินี้ลงนรกไม่ได้
ถ้าจะถามว่า "ก็ทำบาปไว้เยอะแยะทำไมจะลงนรกไม่ได้?"
ก็ดูตัวอย่างท่านสุปติฏฐิตเทพบุตร
ท่านคนนี้ ท่านทำบาปยิ่งกว่าเรามาก วันดีไม่ละวันพระไม่เว้น
ไม่เคยยกมือไหว้ใครแม้แต่แต่พระ และไม่ยอมฟังเทศน์
ไม่ยอมใส่บาตร ไม่ยอมทำบุญด้วยประการทั้งปวง
แต่พอก่อนจะตายนึกถึงพระพุทธเจ้าให้มาช่วยเหลือหน่อยเดียวเท่านั้น
ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
ได้ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าจบเดียวสมัยที่เป็นเทวดา
ได้เป็นพระโสดาบัน คนนี้ถ้าลงมาเกิดไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
พุ่งลงอเวจีไปเลย และก็นรกทุกขุม ท่านเป็นหมด
ประวัติมีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเล่าต่อ

ก็รวมความว่าทำอย่างนี้ได้ทุกคน ท่านยับยั้งนรกในชาตินี้ได้แน่นอน
ตายคราวนี้ไม่ลงนรก แต่ว่าจะเอาทุกชาติยังไม่ได้ เพราะยังไม่ครบ
เอาทุกชาติต้องทรงศีลและกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์
ถ้ากำลังใจพอแค่ศีลห้า ก็เอาแค่ศีลห้า
ถ้าครบกรรมบถ ๑๐ ได้ก็ควบเลย
อาตมาคิดว่าครบเลยดีกว่า จิตเป็นสุขและมีความแน่นอน
ก็ถ้าถามว่าถ้าหากว่า มันปฏิบัติด้วยศีลไม่ถนัด
ไม่มีพระจะสมาทานศีล ไม่รู้จะขอศีลจากพระที่ไหนบ้านอยู่ไกล

ความจริงเรื่องศีลนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ต้องอาศัยพระเลย
ก็พระของท่านมีอยู่แล้วที่บ้าน คือ พระพุทธรูป
และในใจของท่านก็มีพระแล้วอยู่ตั้ง ๓ องค์
คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
ที่ท่านนึกถึงอยู่ทุกวันนั่นแหละแน่นอนที่สุด
พระที่มีลมหายใจเข้าออกน่ะไม่แน่
บางทีข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นเปรตก็ได้
ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นสัตว์นรกก็ได้
ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้
ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นคนก็ได้
ข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นเทวดาหรือพรหมก็ได้
บางท่านข้างนอกเป็นพระ ข้างในเป็นก็เป็นพระ
คือ เป็นพระอริยเจ้ามันไม่แน่นัก
เอาให้แน่นอนจริงก็คือ พระในใจของท่าน
เวลาสมาทานก็สมาทานนึกถึงพระพุทธรูปที่บ้านของท่าน

ศีลต่าง ๆ ไม่มีแต่สมาทาน ศีลอยู่ที่ตัว "เว้น" ไม่ต้องสมาทานเลยก็ได้
เราตั้งใจเว้นจริง ๆ ว่า "เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เราจะไม่ลักทรัพย์
เราจะไม่ประพฤติผิดในกาม เราจะไม่พูดมุสาวาท
ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดยุยงส่งเสริมให้เขาแตกร้าวกัน
ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์ ไม่ดื่มสุราและเมรัย
ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลใดมาเป็นสมบัติของตัว
โดยไม่ชอบธรรม ไม่คิดจองล้างจองผลาญทำร้ายบุคคลอื่น
เราจะมีความเห็นถูกคือเชื่อพระพุทธเจ้าแน่นอน
และปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลห้า และกรรมบถ ๑๐
เอาวงแคบ ๆ เท่านี้ก่อน เพียงเท่านี้
ถ้าท่านทำได้จริง ศีลมีกับท่านแล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล


ทีนี้ ว่ากันถึงคนที่มีความจำเป็นต้องทำบาป
ก็มีญาติโยมพุทธบริษัทมาก ท่านที่มาเจริญพระกรรมฐานที่วัด
ทำได้ดีด้วย สามารถได้ทิพจักขุญาณ ไปเที่ยวสวรรค์ได้
ไปเที่ยวพรหมโลกได้ ไปเที่ยวนิพพานได้
แล้วนิพพานเขาว่าไปเที่ยวไม่ได้ก็เป็นเรื่องของคนนั้น
คนใดยังหนาแน่นด้วยกิเลส คนนั้นไปเที่ยวนิพพานไม่ได้
นิพพานเวลาที่จะไปคนนั้นต้องอารมณ์ใจสะอาด
อย่างน้อยเฉพาะเวลานั้นจิตสะอาดเท่าพระโสดาบัน
จึงเข้าเขตนิพพานได้ เอาเฉพาะเวลาที่เขาทำกัน
ก็เหมือนกับว่าแว่นตาที่เราใส่ เวลาไหนมันสกปรกก็มองไม่เห็น
เวลาไหนเราขัดสะอาดแล้วก็มองเห็นชัด
สำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัทที่เจริญกรรมฐานก็เหมือนกัน
เวลาไหนจิตสะอาดที่สุดเวลานั้นไปถึงนิพพานได้
กลับลงมา ๆ สกปรกใหม่นั่นเรื่องธรรมดาของจิต
เวลาจะไปใช้เวลาเล็กน้อยนิด ๆ ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง
สะอาดเวลานั้นเราก็ไปได้ใหม่นิพพานน่ะไปได้ไม่เป็นไร

ก็รวมความว่า การปฏิบัติของเราบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าคนตั้งใจจำทำความดี ต้องตัดสังโยชน์ ๓ ประการ
แต่มันตัดไม่ออก อาชีพจำเป็นอย่างเช่น ทำนา ทำไร่ เป็นต้น
ต้องใช้ยาฆ่าแมลง บางคนก็มีความจนบังคับต้องฆ่าสัตว์
ฆ่าปลาหาเลี้ยงชีพ อย่างนี้ก็ยังสมาทานศีลได้
เวลาใดที่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ทำไป
การประอบอาชีพมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้
พระพุทธเจ้าไม่เคยตำหนิใคร เวลาใดที่เลิกจากกิจนั้น
ทำใจให้สบายลืมอารมณ์นั้นเสีย
แล้วปฏิบัติทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
คิดว่าตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไปจนถึงเวลาเท่านั้น
เราจะไม่ละเมิดเด็ดขาด และก็ลืมบาปที่ทำมาแล้ว
ถ้าจะให้ดีที่สุด เวลาบูชาพระและสวดมนต์เสร็จ
ตอนนั้นเราอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ฆ่ามาแล้ว
ว่า "ขอให้เธอมาโมทนา รับผลกุศลเช่นเดียวกับเราตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอเธอทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่เรา
ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าจะเข้าพระนิพพาน"
เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
ถ้าทำทุกวันกำลังใจจะเบา


และอย่าลืมว่าเวลาใส่ข้าว หรือใส่สตางค์ หรือจัดของ
เช่นจะปลูกต้นไม้ หรือปลูกมะเขือ พริก ถวายพระสงฆ์
เวลารดน้ำสวด "วิระทะโยฯ" และ "คาถามหาลาภ" ด้วย
ทำอย่างนี้เป็นปกติ ไม่ช้าเรื่องการหาผักปลาฆ่าสัตว์จะไม่มีกับท่าน
เพราะอะไร? เพราะทรัพย์สินของท่านมันมากพอดู
พอที่จะเว้นไม่ต้องทำอย่างนั้น
สามารถจะประกอบอาชีพทรงตัวได้แบบสบาย ๆ

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ต้องพูดเร็วหน่อยเพราะเรื่องยาว
เวลาน้อยการปฏิบัติแบบเบา ๆ อย่างนี้
อาตมาขอยืนยันแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท
ถ้าทำประจำทุกวัน ท่านมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว
เอาละบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว
เวลามันหมดแล้วก็ต้องขอลาก่อน
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2007, 2:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒๓ องค์ของพระโสดาบัน

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
สำหรับตอนที่ ๒๓ นี่ ก็ขอพูดถึงอารมณ์พระโสดาบัน
คำว่า "พระโสดาบัน" แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน
ทีนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่า พูดมาแล้วถึง ๒๐ ตอนเศษ
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
อาจจะฟังมาจากที่อื่นว่า คนที่ตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
ก็มีบรรลุมรรคผลได้ ๒ ประการ คือ
๑. พระโสดาบัน
๒. พระสกิทาคามี

หากว่าท่านมีความรู้สึกตามนี้ ก็ถูกต้อง
เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสแบบนั้น ว่า พระโสดาบันก็ดี
พระสกิทาคามีก็ดี สามารถตัดสังโยชน์ ๓ ประการได้
แต่ว่าพระสกิทาคามี บรรเทาความโลภ
บรรเทาความโกรธ บรรเทาความหลง
ถ้าจะว่ากันไปถึงจริยาจริง ๆ พระโสดาบัน ก็บรรเทาเหมือนกัน
แต่ว่าการบรรเทาของพระโสดาบันยังน้อยกว่าพระสกิทาคามี
เพราะว่าท่านสกิทาคามีนี่มีอารมณ์ละเอียดมาก เอาไว้พูดกันทีหลัง

ตอนนี้ก็มาพูดถึงองค์ของพระโสดาบันก่อน
หรือว่าอารมณ์ของบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน
คำว่า "องค์" ในที่นี้ อาตมาขอแปลว่า "อารมณ์"
คือ คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ มีอารมณ์ทรงตัวแบบนี้ คือ
๑. เคารพพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ
๒. เคารพพระธรรม
๓. เคารพพระอริยสงฆ์

ทั้ง ๓ ประการนี่ เคารพมั่นคงจริง ๆ
ไม่มีความสงสัยว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี
ไม่มีอะไรสงสัยว่าท่านจะไม่ดีพอ
ยอมรับนับถือแล้วก็มีความมั่นคงด้วยศรัทธา
"ศรัทธา" แปลว่า "ความเชื่อ"
และก็มีความมั่นคงด้วยปสาทะ
"ปสาทะ" นี้แปลว่า "ความเลื่อมใส"
ทั้งความเชื่อทั้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ในพระธรรมในพระอริยสงฆ์มั่นคงมาก


ตัวอย่างบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ที่มีความมั่นคงในพระพุทธเจ้า
ในพระธรรมในพระอริยสงฆ์ ก็มี ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นต้น
แต่ความจริงทุกองค์ที่ท่านเป็นพระโสดาบัน ก็มีความเคารพนับถือ
มั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์เหมือนกัน
แต่ว่าท่านสุปปพุทธกุฏฐิแสดงออกชัดเจนมาก
อารมณ์เสมอกันแต่ว่าไม่มีใครไปทดสอบ
สำหรับท่านสุปปพุทธกุฏฐินี่มีการทดสอบจากพระอินทร์

เรื่องราวของท่านก็มีอยู่ว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาที่ใดที่หนึ่ง
(คือ อาตมาพูดแบบนี้ เพราะว่าไม่ได้เอาหนังสือมากาง
จำสถานที่ไม่ได้ว่าพระพุทธเจ้าเทศน์ที่ไหน)
เวลานี้มีบรรดาประชาชนฟังกันอยู่มาก
ท่านสุปปพุทธกุฏฐิท่านเป็นโรคเรื้อนแล้วก็เป็นขอทาน

ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านโปรดพิจารณาดู ว่าคนขอทานก็ดี
แถมเป็นโรคเรื้อนด้วย เห็นบรรดาประชาชนร่างกายปกติ
หรือว่าที่เขามีฐานะดีกว่า เขานั่งกันอยู่แล้ว
คนที่สภาพแบบนั้น สมมุติเอาตัวเราเองก็แล้วกัน
เราจะกล้าไปนั่งใกล้เขาไหม
ก็ขอตอบด้วยความจริงใจของอาตมาเองว่า ไม่กล้าเข้าไปนั่งใกล้
อายเขา เกรงบารมีของเขา บารมีคือ ความดีด้วยความร่ำรวย
เขาอาจจะจนสำหรับคนอื่นแต่รวยกว่าเรา เราก็ไม่กล้าไปนั่งใกล้เขา
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสุปปพุทธกุฏฐิเป็นโรคเรื้อนด้วย
โรคเรื้อนนี้ เป็นโรคที่บรรดาประชาชนรังเกียจก็เลยต้องนั่งไกลกว่าเขา

เป็นอันว่าท่านท่านสุปปพุทธกุฏฐิเดินไปเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์
แล้วก็มีบรรดาประชาชนนั่งฟังเทศน์อยู่มาก
ถึงแม้ว่าจะเป็นขอทาน บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
ความเป็นผู้มีศรัทธา ในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ย่อมมีเป็นของธรรมดา เรื่องการศรัทธา - ความเชื่อ
ปสาทะ - ความเลื่อมใส อันนี้นี้ห้ามกันไม่ได้
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเลือกฐานะในการโปรด
เธอก็อยู่ไกลกว่าคนอื่นเขา พอได้ยินเสียงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

แต่ความจริงพระพุทธเจ้าเวลาเทศน์ ทรงมีปาฏิหาริย์พิเศษ
คนจะนั่งใกล้คนจะนั่งไกล คนจะนั่งแอบ
เอาม่านบังสัก ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น นั่งกั้นฝา นั่งหลังเขาก็ตาม
ถ้ามีความเลื่อมใสในพระองค์แล้ว
เสียงขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว
จะถึงเขาเสมอและก็มีความชัดเจนแจ่มใส
ท่านสุปปพุทธกุฏฐินี่ก็เช่นเดียวกัน ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า
แม้จะนั่งไกลแสนไกลจากคนอื่น แต่ก็ฟังได้ชัดเจนแจ่มใส
มีความเข้าใจในพระธรรมเทศนา
ที่สมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรด

ความจริงการฟังเทศน์ บรรดาท่านพุทธบริษัทอย่านั่งฟังกันเฉย ๆ
เดี๋ยวฟังแต่เรื่องท่านที่ฟังแล้วจบหรือไม่ทันจบ บรรลุมรรคผลนั้น
ท่านสร้างความเข้าใจไปกับกระแสคำพูดนั้น
ด้วยเสียงคำพูดที่พูดมาแล้วก็คิดตาม
ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ดีหรือไม่ดี
ถ้าดีเราขอถือเอา เอาไปปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบ
ก็ปรากฏว่าท่านบรรลุพระโสดาบัน
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ก็เสด็จกลับ
แล้วก็บรรดาประชาชนก็กลับ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็กลับ
กลับมาถึงกระท่อมน้อยที่ตนอาศัยอยู่
ก็นอนคิดถึงองค์สมเด็จพระบรมครู มีปีติคือความอิ่มใจมาก
ที่ฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
จำได้แล้วก็ปฏิบัติได้ ปลื้มใจก็คิดว่า องค์สมเด็จพระจอมไตร
ถ้ารู้ว่าเราเป็นขอทาน แล้วก็เป็นโรคเรื้อน
ถ้าหากว่าทรงทราบว่า เราเป็นพระโสดาบัน ท่านจะดีใจมาก
จึงคิดว่าในตอนเช้าจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ

ตอนเช้ากินข้าวเสร็จก็ตั้งใจไปหาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทันที
แต่ว่าพอออกไปจากกระท่อม ก็ไปพบพระอินทร์ซึ่งลอยขวางหน้าอยู่
แสดงพระองค์ชัดว่าเป็นพระอินทร์ ตอนนั้นเห็นจะเป็นตัวเขียว ๆ
เพราะว่าเขาทราบกันว่าพระอินทร์ตัวเขียว
พระอินทร์ก็ถามว่า "สุปปพุทธกุฏฐิ" ถ้าพูดภาษาไทยก็ต้องเรียกว่า

"ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ หรือ เธอ สุปปพุทธขี้เรื้อน
(กุฏฐิ นี่ก็แปลว่า โรคเรื้อน) ว่า "ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ
หรือ ท่านสุปปพุทธขี้เรื้อน เวลานี่เธอจะไปไหน?"
(อาตมาใช้ศัพท์ผิดไปนิด คำว่า "เธอ" ไม่ใช่ "ท่าน" ก็ไม่เป็นไร)

สุปปพุทธกุฏฐิก็กล่าวบอกให้ทราบว่า
"เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

พระอินทร์ท่านถามว่า "การที่จะเข้าไปเฝ้ามีความประสงค์ยังไง"

ท่านก็บอกว่า "วานนี้ เราฟังเทศน์ เราได้เป็นพระโสดาบัน
วันนี้เราต้องการจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระภควันต์
เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ"

พระอินทร์ท่านก็พิสูจน์กำลังใจ
เพราะพระอินทร์จริง ๆ ท่านเป็นพระโสดาบันเวลานั้น
ท่านเป็นพระสาดบันเหมือนกัน
ก็ทราบว่าบุคคลที่เป็นพระโสดาบันมีกำลังใจแบบไหน จึงบอกว่า

"สุปปพุทธกุฏฐิ หนึ่ง - เธอเป็นโรคเรื้อน สอง – เป็นขอทานยากจน
ถ้าเธอพูดตามเราพูด แม้ไม่ตั้งใจก็ตาม
เราจะบันดาลให้เธอหายจากการเป็นโรคเรื้อน
และจะบันดาลทรัพย์จากสวรรค์ให้เธอเป็นมหาเศรษฐี"

ท่านสุปปพุทธะก็ถามว่า "จะให้พูดอย่างไร"

ท่านก็บอกว่า "พูดอย่างนี้ก็แล้วกันนะ ไม่ต้องตั้งใจพูด พูดเฉย ๆ ก็ได้
พูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม
พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ แค่นี้ก็พอ
ถ้าพูดได้ตามนี้เราจะบันดาลให้เจ้าหายจากโรคเรื้อนทันที
มีรูปร่างกน้าตาสะสวย และก็จะบันดาลทรัพย์จากเมืองสวรรค์ลงมาให้
เอาเท่าไรก็ได้ ให้เป็นมหาเศรษฐีรวยกว่าใครทั้งหมด"

พอพูดจบ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็ชี้หน้าว่า "พระอินทร์ถ่อยจงถอยไป
การกล่าวคำอย่างนั้น ไม่มีสำหรับเรา
เรามีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในพระธะรม ในพระอริยสงฆ์แน่นอน
ที่ท่านบอกว่าเราเป็นคนจน สำหรับโลกียทรัพย์เราจนจริง
แต่เรามีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ คือ คุณธรรม ท่านจงถอยไป"
พอพระอินทร์ท่านมั่นใจว่าคนนี้เป็นพระโสดาบันแน่ ท่านก็หลีกไป

ที่เอาเรื่องนี้มาพูดให้ฟัง ก็เป็นการเปรียบเทียบกำลังใจ
ของบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า การที่ได้ฟังเทปมาแล้วก็ดี
หรือเคยอ่านหนังสือเรื่อง "หนีนรก" ก็ดี
กำลังใจของท่านมีความมั่นคงแบบท่านสุปปพุทธกุฏฐิไหม?

สำหรับพระสงฆ์ บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ต้องเลือก
ไม่ใช่ว่าคนที่พระโสดาบันแล้ว จะเลื่อมใสพระห่มผ้าเหลืองเสมอไป
มีความเลื่อมใสจริงสำหรับพระดี
ตัวอย่าง ภิกษุชาวโกสัมพี ทะเลาะกัน
พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ฟัง พรรษานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองอื่น
หลีกไปเสีย ไปป่าลิไลยกะ
ไปโปรดช้าง "ปาลิไลยกะ" ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์
ชาวบ้านเห็นว่าองค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ที่หลีกไป
เพราะพระทะเลาะกันในเมืองนั้น
ท่านบอกว่า มีพระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาส ที่เป็นชาวบ้านนะ
ชาวบ้านที่พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน สกิทาคา
อนาคานับจำนวนแสนคน
ท่านที่เป็นพระอริยเจ้า ทั้งหมดไม่มีใครใส่บาตรให้พระพวกนั้นกินเลย
พระพวกนั้น จะได้กินแต่ข้าวจากชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะอะไร? เพราะพระอริยะย่อมมีความฉลาด
ไม่ใช้ศัพท์ว่า "ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์"
ยังไง ๆ ก็เกรงใจผ้าเหลืองอย่างนี้มันไม่ถูก

ก็รวมความว่า คนที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ
ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป มีความมั่นคงในการเคารพพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ เหมือนกับสุปปพุทธกุฏฐิทุกคน

ตอนนี้ก็ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ดูกำลังใจของท่าน
แต่ว่าการจะยอมรับนับถือก็จงอย่าลืมนะ
เอาตัวอย่างพระอริยเจ้าที่เป็นชาวบ้านในเมืองโกสัมพี
ดูว่า ถ้าดีสมควรเราก็ยอมรับนับถือ
ถ้าเห็นว่าไม่ดีไม่สมควรก็ไม่ต้องให้อะไรกินเลย
แบบพระอริยเจ้าเมืองโกสัมพีก็แล้วกัน

แล้วต่อไป ตามบาลีท่านบอกว่า
คนที่เป็นพระโสดาบันทรงศีลห้าบริสุทธิ์ผุดผ่อง
แต่ว่าอาตมาพิจารณาแล้ว ว่าคนที่เป็นพระโสดาบัน
คือ พระอริยเจ้าเบื้องต้นไม่ทรงแต่ศีลห้า อย่างเดียว
คือหมายความว่า มีกรรมบถ ๑๐ เข้าครอบงำด้วย
คือว่า กรรมบถ ๑๐ นี้มีในกำลังใจของท่านด้วย
จะเห็นว่าคนที่เป็นพระโสดาบันอย่างนางวิสาขาก็ดีอย่างใครก็ตามเถอะ
มีความมั่นคงในการบริจาคทานอย่างยิ่ง
หมายความว่า พระเจ้าจะมีความอดอยากประการใดก็ตามที
ถ้าอดแบบไหน ถ้าไม่เกินวิสัยให้อย่างนั้น
ฉะนั้นตามพระวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบังคับพระว่า
"ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ
ห้ามขอของใช้จากท่านที่เป็นพระเสขบุคคล
หรือ ในตระกูลที่เป็นพระเสขบุคคล"

คำว่า "เสขะ" นี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท แปลว่ายังต้องมีการศึกษาอยู่
"อเสขะ" แปลว่า ไม่มีการศึกษาแล้ว
ฉะนั้น คำว่า "เสขะ" ก็หมายความตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
และพระอนาคามี อย่างนี้เรียกว่า พระเสขบุคคล
ถ้าหากเป็นพระอรหันต์เรียกว่า "อเสขบุคคล"
คือไม่ต้องตัดกิเลสต่อไป กิเลสหมดแล้ว

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าตระกูลที่เป็นพระโสดาบัน
บรรเทาความโลภ การบรรเทาความโลภนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท
เมื่อความโลภคลายตัวลงมากเท่าไร
จิตใจในการบริจาคทานก็เข้ามาแทนที่
ความโลภที่มีอารมณ์อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นโดยไม่ชอบธรรม อารมณ์นี้ไม่มีตั้งเบื้องต้นของพระโสดาบัน
เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่มีความโลภแน่ จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้นะ
ความโลภที่อยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของตน
โดยไม่ชอบธรรมไม่มีในพระโสดาบันแน่
แต่ว่าการต้องการความร่ำรวยในทรัพย์สินยังมีอยู่
แต่ว่าเป็นการร่ำรวยด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม
ไม่คดโกงไม่ลักขโมย ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
หากินด้วยความสุจริตด้วยประการทั้งปวงยังมีอยู่
สำหรับพระโสดาบัน อาการอย่างนี้
บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน จะคิดว่าพระโสดาบัน มีแต่เพียงศีลห้า
นั่นไม่ถูก ถึงแม้บาลีบางอย่างจะบอกว่ารักษาแค่ศีลห้าโดยเฉพาะก็ตาม
อันนี้ความมั่นคงของท่านมีแน่ในการรักษาศีลห้า
แต่พระโสดาบันไม่มีเฉพาะศีลห้าแน่
ในศีลห้ามีบอกว่า "อทินนาทานา เวรมณี"
เราจะงดเว้นไม่ยึดถือเอาทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม การงดเว้นเฉย ๆ อารมณ์ก็ยังหนักอยู่

ทีนี้ สำหรับตระกูลที่เป็นพระโสดาบันมีความมั่นคงในทานบารมี
จะเห็นว่าทุกคนที่เป็นพระโสดาบัน ไม่มีอาการหวงด้านบุญกุศล
แม้จะจนแสนจน ก็พร้อมในการยอมให้
นี่เป็นข้อหนึ่งที่จะพิจารณาได้ว่า
พระโสดาบันก็มีกรรมบถ ๑๐ ข้อ
ที่เรียกว่า "มโนกรรมข้อที่ ๑" เข้าไปประสานอยู่อย่างมาก

และอีกประการหนึ่งสำหรับพระโสดาบันจะเห็นได้ชัด
พระโสดาบันนี้ก็มีการบรรเทาความโกรธ
แต่อาจจะบรรเทาความโกรธน้อยกว่าพระสกิทาคามี
คนที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ บรรดาท่านพุทธบริษัท
เราจะพิจารณากันได้จากอารมณ์ที่พูดอย่างนี้
เพื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทพิสูจน์กำลังใจของท่านเอง
เพราะอาตมาน่ะสงสัยว่า เวลานี้หลังจากกึ่งพุทธกาลมาแล้ว
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
มีความแกล้วกล้าในการบำเพ็ญกุศลกันมาก
ไม่ใช่ว่าจะทำบุญเฉพาะวัดท่าซุงไม่ใช่อย่างนั้น

หลังจากกึ่งพุทธกาลแล้วหลายปี
อาตมาจึงได้เริ่มสอนคนในการเจริญพระกรรมฐาน
ก่อนหน้านั้นหลายปีท่านทั้งหลายที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี
ในต่างจังหวัดก็ดี ถึงวันสำคัญของพระพุทธศาสนาก็ดี
หรือว่าพระองค์ใดที่มีความดีควรที่จะยอมรับนับถือได้
ท่านก็ไปกันเป็นตับ เรียกว่า รถเป็นสิบ ๆ คัน
ไปรถคันใหญ่ รถคันเล็กไม่จำกัดการทอดกฐินการทอดผ้าป่า
ในกาลก่อนไม่มีการซู่ซ่ามากมายอย่างเดี๋ยวนี้
เดี๋ยวนี้ไปกันหนัก แล้วก็ที่วัดไหนจะมีการสอนพระกรรมฐาน
ท่านก็ไปขนาดหนัก หรือว่าทุกวัดที่มีการสอนพระกรรมฐาน
แต่ละวัดไม่ขาดคนที่เจริญพระกรรมฐาน
ถ้าเป็นวันสำคัญวัดไม่พอจะบรรจุคน
นี่กำลังใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาขนาดนี้
ก็ชักสงสัยว่า ความดีของท่านที่จะเข้าไปถึงพระโสดาบัน
สกิทาคามีคงมีไม่น้อย แต่ก็บางท่านอาจไม่เข้าใจว่า
พระโสดาบัน น่ะเป็นอย่างไร

อาตมาก็ขอพูดนิดหนึ่ง ที่พูดอย่างนี้เพราะอะไร?
เพราะมีหลายคนที่มาหาอาตมาถามถึงปฏิปทาของท่าน
เห็นความนิ่มนวลของจิต มีความเยือกเย็นของอารมณ์
ก็ชักสงสัยว่าท่านผู้นี้
๑. ไม่ลืมความตาย
๒. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์
๓. มีศีลห้าบริสุทธิ์จริง แล้วก็
๔. มีอารมณ์กรรมบถ ๑๐ เข้ามาแทรกใจอยู่มาก
และมีความเห็นถูก คือไม่คัดค้านคำสอน
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ครั้นลองอ้อมไปอ้อมมา คุยอ้อมไปอ้อมมา ไม่ถามตรง ๆ
ในที่สุดก็รับเป็นความจริงว่า เป็นไปตามนั้น
ที่ท่านรับ แต่ถ้าไม่รับ อาตมาไม่ได้บอกว่า นี่ท่านเป็นพระโสดาบันนะ
ไม่ได้บอกอย่างนั้น คุยกะหริ่ม ๆ เข้าไปถึงว่า ความรู้สึกว่าเราจะตายมีไหม พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ควรจะยอมรับนับถือไหม
แต่ไม่พูดตรงแบบนี้นี่มันตรงไป
เรียกว่าเลียบเคียงไปให้เจ้าของไม่รู้ตัว เจ้าตัวไม่รู้ตัว
แต่ว่าคนทุกคนไม่ใช่คนโง่ อาตมาไม่มีความรู้สึกว่าใครโง่
มีความรู้สึกจริง ๆ ว่า คนทุกคนในโลกนี้ฉลาดทั้งหมด
คนที่ไม่ฉลาด คนนั้นก็หาอะไรกินไม่ได้
คนที่จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ทุกคน ย่อมเป็นคนฉลาด
แต่ความจนแล้วก็ความโง่หรือความฉลาด ไม่ได้วัดฐานะกัน
ไม่มีความจำเป็น พูดไปก็มากเวลา
เวลามันใกล้จะหมด ในที่สุดก็จับได้ว่าท่านทรงอารมณ์ตามนี้จริง

ทีนี้สำหรับบุคคลผู้เข้าเขตพระโสดาบัน
บรรดาท่านพุทธบริษัท พิจารณากำลังใจตามนี้นะ
คนที่เข้าเขตของพระโสดาบัน

อันดับแรก ย่างเข้าสู่โคตรภูญาณ คำว่า "โคตรภูญาณ" นี่
จิตอยู่ระหว่าง "โลกียะ" กับ "โลกุตตระ"
เหมือนกับลำรางเล็ก ๆ ที่ยืนคร่อมด้วยสองขา
ขานี้อยู่ฝั่งนี้ ขาโน้นอยู่ฝั่งโน้น
ยังจะถือว่าเป็นพระโสดาบัน เป็นโลกุตตระ ก็ไม่ได้
เป็นโลกียะผู้ทรงฌานเฉย ๆ ก็ไม่ถูก
ระหว่างที่ยืนคร่อมอยู่อารมณ์ ๒ อารมณ์ทั้งโลกีย์และโลกุตตระ
ท่านเรียกว่า "โคตรภูญาณ"
ตอนนี้กำลังใจจะรักพระนิพพานอย่างยิ่ง
คือ ไม่ต้องการเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาหรือพรหม
จิตต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน

ตอนนี้เป็นโคตรภูญาณ หลังจากนั้นเมื่ออารมณ์เข้าถึงพระโสดาบัน
อารมณ์ธรรมดาคือ ความเยือกเย็นของใจจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติที่แล้วมา
นั่นมีความรู้สึกในด้านความโลภ
ความโลภนี่ การทำมาหากินเป็นของธรรมดาด้วยความสุจริตธรรม
การอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดไม่มีอีกแล้ว
จิตหายสลายตัวจากอารมณ์นี้ต้องการอย่างเดียว คือ หากินโดยสุจริตธรรม

ประการที่ ๒ กำลังของความโกรธ
ความโกรธนี่ยังมี แต่อาการยับยั้งมีการความโกรธรู้สึกว่าช้ากว่าเก่ามาก
แล้วอารมณ์ก็ไม่ฉุนเฉียวเท่าเดิม แล้วก็หายเร็ว

ต่อมากำลังของความหลง ความหลงในชีวิตร่างกาย
ยังมีในพระโสดาบันอยู่บ้าง แต่ท่านไม่ได้ลืมความตาย
มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าชีวิตนี้มันต้องตาย


ถ้าจิตใจมีอารมณ์ทรงตัว ถ้าท่านที่ได้ สองในวิชชาสาม
คือ ได้ทิพจักขุญาณ เวลานั้นความเป็นทิพย์ของท่านเมื่อก่อนหน้านั้น
ท่านจะไม่เห็นภาพพระนิพพานเลย
จะเห็นเฉพาะตั้งแต่สวรรค์ไปถึงพรหม
พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ จะสามารถเห็นนิพพานได้ชัดเจนแจ่มใสมาก
สำหรับท่านที่ได้ อภิญญา ยังไม่เข้าเขตพระโสดาบัน
ท่านไม่สามารถจะเข้าเขตนิพพานได้
อย่างเก่งก็ไปถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ หรือ อรูปพรหม
พอกำลังใจเข้าถึงพระโสดาบัน เข้าเขตพระนิพพานได้สบาย

แล้วก็สำหรับท่านที่บอกว่านิพพานไปไม่ได้เห็นไม่ได้นั้น เ
ป็นเรื่องของคนที่มีกิเลสหนา
ถ้ากิเลสหนาปิดบังใจ จิตสกปรกไม่สามารถจะไปได้

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
หวังว่าท่านทั้งหลายคงไม่สงสัยในอารมณ์ของท่าน เวลานี้มองดูเส้นของนาฬิกาก็บอกหมดเวลาพอดี ต้องขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ดอกไม้
บัวเริ่มพ้นน้ำ
บัวเริ่มพ้นน้ำ


เข้าร่วม: 26 ต.ค. 2006
ตอบ: 164

ตอบตอบเมื่อ: 11 ส.ค. 2007, 3:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนที่ ๒๔ จริยาของพระโสดาบัน

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ ๒๔ ก็จะขอนำเอาความประพฤติ
หรือจริยาของพระโสดาบันมาพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัท
ตามเวลาที่จะอำนวย ถือว่าเป็นตัวอย่าง

สำหรับความประพฤติก็ดีความรู้สึกก็ดี
จริยาของพระโสดาบันก็ดี เป็นอย่างนี้
เป็นเรื่องการยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
ก็จะเห็นได้ว่า เอาเฉพาะเรื่องของนางสามาวดีก็แล้วกัน
จะเอาเรื่องของนางวิสาขาเข้ามาด้วย เกรงว่าเวลาจะไม่พอ
เฉพาะเรื่องของนางสามาวดีก็เข้าใจว่า เวลาไม่พอเหมือนกัน
แต่ขอนำมาเป็นตัวอย่าง ว่า

นางสามาวดีพร้อมด้วยหญิง ๕๐๐
ฟังเทศน์จากนางขุชชุตตรา ซึ่งเป็นทาสรับใช้
นางขุชชุตตราไปฟังเทศน์มาจากสำนักพระพุทธเจ้า
แล้วกลับมาเทศน์ให้ฟัง
เมื่อฟังจบทั้ง ๕๐๐ คนก็เป็นพระโสดาบันทันที
เพราะว่าคนเทศน์เป็นพระโสดาบัน
ขุชชุตตรานี่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า
เป็นผู้เลิศในการแสดงพระธรรมเทศนาด้านฝ่ายหญิง
หลังจากนั้นมาเมื่ออยู่ในพระราชฐาน
ก็ไม่มีโอกาสจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้
เพราะเวลานั้นพระเจ้าอุเทนพระราชสวามียังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่ไม่เคารพ ยังไม่รู้จักเลย จึงให้คนเจาะช่องน้อย ๆ
ตามคำแนะนำของขุชชุตตรา
ช่องเล็ก ๆ แล้วก็ทำหิ้งไว้ข้างบนว่า
ตอนเช้าพระพุทธเจ้าพร้อมไปด้วยพระอรหันต์
เดินไปบิณฑบาตบ้านท่านมหาเศรษฐีข้างพระราชวัง
ทุกคนก็เอาดอกไม้มาวางบนหิ้ง แล้วก็มองตามช่องน้อย ๆ
พนมมือยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์
นี่เป็นจริยาตอนหนึ่งของพระโสดาบัน

ฉะนั้น ท่านที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ เห็นรูปพระพุทธเจ้า
คือ พระพุทธรูปก็ดี ที่เขาปั้นด้วยปูน เขาทำด้วยโลหะ
เขาปั้นด้วยดินหรือว่าเขาปั้นด้วยฟางก็ตาม
หรือว่าเขียนที่กระดาษก็ตาม
ถ้าเห็นเข้าแล้วอดมีใจเลื่อมใสไม่ได้ อดจะยกมือไหว้ไม่ได้
แล้วก็ไหว้แบบไม่อายคนเสียด้วย
ใครเขาจะไหว้หรือไม่ไหว้ก็ตาม
ฉันจะไหว้ของฉัน ไหว้ด้วยความเลื่อมใส
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความจริงใจ อันนี้ตอนหนึ่ง

จะเห็นว่าท่านที่เป็นพระโสดาบัน มีความมั่นคงในพระพุทธเจ้าจริง ๆ
การมีความมั่นคงในพระพุทธเจ้า ก็หมายถึง
มีความมั่นคงในพระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วย
แล้วก็ต่อมาจะเห็นว่า พระโสดาบันไม่มีแต่ศีลห้า
มีกรรมบถ ๑๐ เข้าไปแทรกอยู่มาก

สำหรับศีลห้านั่นบอกว่า ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
แต่ว่าพระโสดาบันบรรเทาความโกรธ บรรเทาเอามาก ๆ ด้วย
ยับยั้งความโกรธ แล้วให้อภัยง่าย

ก็มาเปรียบเทียบกับศีลข้อที่ ๑
ศีลข้อที่ ๑ ทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องเป็นกรรมบถ ๑๐
ตัวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคณะของพระนางสามาวดี
ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๕๐๐ กับ ๑ คน คือ มีบริวารน่ะ ๕๐๐
แล้วท่านสามาวดี ๑ เป็น ๕๐๐ กับ ๑ คน
ถูกนางมาคันทิยา กล่าวโทษอย่างหนัก
จนกระทั่งเอางูเข้าไปใส่ในพิณของพระเจ้าอุเทน
เมื่อเวลาที่พระเจ้าอุเทนเสด็จไปห้องของนางสามาวดี
นางมาคันทิยาก็ตามไปด้วย
เมื่อพระเจ้าอุเทนเผลอ คณะพระนางสามาวดีเผลอ
ก็ดึงเอาดอกไม้ที่อุดช่องของพิณออกมา
เจ้างูเข้าไปอดอาหารหลายวัน มันก็มีความเพลีย มันอยากจะออก
มันก็เลื้อยออกมาเพ่นพ่านในห้องของพระนางสามาวดี
นางมาคันทิยาก็แจ้งบอกว่า นี่ นางสามาวดีคิดจะฆ่าพระเจ้าอุเทน
ด่าพระนางสามาวดีด้วย และก็ว่า พระเจ้าอุเทนว่าโง่เง่าเต่าตุ่น
ห้ามแล้วไม่ยอมฟัง กลับมาห้องของคนที่เป็นศัตรู ขอเล่าย่อ ๆ แค่นี้นะ

ความจริงเธอหาเรื่องให้พระนางสามาวดีหลายครั้งหลายคราว
แต่พระเจ้าอุเทนก็ไม่ยอมเชื่อ
มาในตอนนี้ชักจะเห็นจริงกับพระนางมาคันทิยา
เห็นงูเข้า งูก็ตั้งท่า งูธรรมดา งูพิษ แต่ว่าถูกเขาถอดเขี้ยวแล้ว
เขี้ยวที่มีน้ำพิษเขาถอดไปแล้ว
แต่ว่าใครจะรู้เขาถอดเขี้ยวหรือไม่ถอดเขี้ยว
เห็นเข้าก็แผ่แม่เบี้ยทำท่าจะกัดพระเจ้าอุเทน
พระเจ้าอุเทนก็มีความมั่นใจตามที่พระนางมาคันทิยาว่า
ว่าพระนางสามาวดีเป็นชู้กับพระพุทธเจ้า เอาเข้านั่น
เขาหาว่าเป็นชู้กับพระสมณโคดม
หลังจากนั้นก็หาทางจะฆ่าพระเจ้าอุเทน เอางูเข้ามากัด เห็นชัด

นี่ความจริง คนทุกฐานะ ถ้ากำลังของอกุศลเข้าดลใจ
ก็สามารถจะทำทุกอย่างได้ แต่ว่าในคราวนี้จะเป็นอกุศลดลใจ
หรือเทวดาบันดาลก็ไม่ทราบ
เป็นเหตุให้พระเจ้าอุเทนโกรธพระนางสามาวดีจัด
คิดว่าพระนางสามาวดีกับหญิงคนใช้ ๕๐๐ คิดจะฆ่าพระองค์แน่
จึงมีคำสั่งให้ยืนเรียงแถว แถวหนึ่งตรงหันหน้าไปทางพระองค์ทั้งหมด
แล้วก็หยิบธนูขึ้นมาจะยิงร้อยอกทุก ๆ คนในลูกเดียวกัน
คนโบราณนี่มีกำลังมาก และก็ต้องถือว่ามีฤทธิ์มาก ธนูก็เป็นพิเศษ
ตามธรรมดายิงได้แน่นอน ๕๐๐ กับ ๑ คนเขายิงทะลุแน่
เมื่อพระนางสามาวดีเรียกคนทั้งหมดมายืนเข้าแถว
แล้วพระนางก็ยืนหน้า บอกกับพระเจ้าอุเทน บอกว่า
"ถ้าจะยิงขอโอกาสก่อน ขอให้หม่อมฉันได้มีโอกาส
ให้โอวาทกับบุคคลของหม่อมฉันก่อน"

พระนางสามาวดีไม่แสดงความโกรธในพระเจ้าอุเทนเลย
แล้วก็ไม่มีการแสดงความโกรธในพระนางมาคันทิยาด้วย
ให้โอวาทกับบรรดาหญิงทั้งหลายว่า

"เธอทั้งหลายจงอย่าโกรธในพระราชา
แล้วก็จงอย่าโกรธในพระนางมาคันทิยา
ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ
พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี
ที่เรายอมรับนับถือเป็นความจริง
และพวกเราบรรดาหญิงทั้งหมด ๕๐๐
กับ คน เราก็ไม่ได้เป็นชู้กับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าไม่เคยแสดงอารมณ์ฐานชู้สาวกับใครเลย
ในเมื่อพวกเรามีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้
พวกเธอทั้งหลายจงอย่าหวาดหวั่นในความตาย
ให้ถือว่าความตายเป็นปกติธรรมดาของพวกเรา
ถือว่าพวกเรามีกฎของกรรมในกาลก่อนที่ย้อนมาให้ผล
จึงทำให้เราต้องถูกลงโทษ เพราะบาปอกุศลส่วนนั้น
ขอพวกเธอทั้งหลายจงตั้งใจไว้เฉพาะพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระอริยสงฆ์และอย่าโกรธพระราชา
ให้อภัยแก่พระองค์ในการที่จะฆ่าพวกเราซึ่งไม่มีความผิด
และจงอย่าโกรธพระนางมาคันทิยา
ที่กล่าวหาพวกเราโดยที่พวกเราไม่มีความผิดตามนั้น"

ถามว่า ทุกคนพร้อมหรือยังในการให้อภัย
ทุกคนบอก พร้อมแล้วเจ้าค่ะ
ถามว่า พร้อมแล้วหรือยังในการยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระอริยสงฆ์ แล้วตั้งใจทรงศีลให้บริสุทธิ์
ทุกคนบอก พร้อมแล้วพระเจ้าข้า

เมื่อทุกคนพร้อม พระนางสามาวดีก็ให้สัญญาณ
ให้พระเจ้าอุเทนลั่นศรออกไปได้
ศรหรือธนูก็ได้นะ เรียกได้ทั้ง ๒ อย่าง)
พระเจ้าอุเทนก็โก่งแล้วก็ยิงทันที
หวังอกของนางสามาวดีและต้องการให้ทะลุทุกคน ๕๐๐ กับ ๑ คน
แต่ก็เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง
(ต้องใช้ศัพท์ว่า "บังเอิญ" ถ้าพูดมากไปกว่านี้
คนหลายคนจะลงนรก เพราะไปปรามาสพระพุทธเจ้าเข้า
ใช้ศัพท์ว่า "บังเอิญ" ก็แล้วกัน)
ถ้าไม่ใช้ศัพท์ว่าบังเอิญ ก็ใช้ศัพท์ว่าอำนาจเดชะบุญบารมี
ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
พระธรรม พระอริยสงฆ์ ช่วยให้บรรดาเทวดาหรือพรหม
บันดาลให้เป็นไปตามนั้น
หรือว่าตามพระบาลีท่านบอกว่า เป็นด้วยอำนาจเมตตาบารมี
ของหญิง ๕๐๐ กับ ๑ คน มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน
แม้ว่าเวลานั้นตัวเองกำลังจะตาย และก็จะตายอย่างไม่มีความผิด
แต่จิตของพระนางสามาวดีเองยังไม่คิดโกรธพระราชา
ซึ่งไม่ใช้ปัญหาในการพิจารณา เชื่อคนเลวทรามอย่างนั้น
แล้วก็ไม่โกรธพระนางมาคันทิยาอีกด้วยที่กลั่นแกล้งพระนาง
แถมให้อภัย ต่างคนต่างทำเหมือนกัน
ยังมีโอกาสให้โอวาทแก่บรรดาบริษัทของพระนาง
ท่านบอกว่า ด้วยอำนาจเมตตาบารมี
ท่านว่าอย่างนั้นนะ ตามบาลีว่าอย่างนี้ก็ไม่ควรจะเถียงบาลี
อาตมาใช้ศัพท์ว่าบังเอิญในตอนต้น
ความจริงไม่อยากจะพูดในตอนหลังแต่ในเมื่อความจริงมีอยู่
ก็ขอพูดใครจะไปไหนเลือกตามทางของตนเองก็แล้วกัน

เมื่อพระเจ้าอุเทนปล่อยลูกศร หวังจะให้ร้อยอก
ปักอกพระนางสามาวดีก่อน แล้วก็ทะลุไปถูกคนอื่น
ลูกศรพอไปใกล้อกของพระนางสามาวดี แทนที่จะจิ้มอก
กลับวกกลับจะล่ออกพระเจ้าอุเทนเข้าให้
เกือบจะแทงอกพระเจ้าอุเทนแต่ไม่ทันจะแทง หล่นลงตรงนั้นพอดี
ตอนนี้ตามพระบาลีท่านบอกว่า พระเจ้าอุเทนรู้สึกตัว
ท่านมีความคิด พระราชาต้องมีความฉลาด
แล้วคนที่เป็นราชาต้องสั่งสมบารมีมาดีแล้ว
ตามเรื่องใน ทศชาติ ท่านบอกว่า คนที่จะเป็นพระราชาได้
ต้องเคยบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างอ่อนมาแล้ว จึงเป็นพระราชาได้
คนที่จะเป็นเทวดาหรือพรหม
ต้องเคยบำเพ็ญพรหมจรรย์อย่างกลางมาแล้ว
จึงเป็นเทวดาหรือพรหมได้
แต่คนที่จะไปนิพพานได้
ต้องบำเพ็ญพรหมจรรย์แบบอุกฤษฏ์มาแล้ว จึงไปนิพพานได้

ฉะนั้น คนที่จะเป็นพระราชา ทุกองค์
ไม่มาจากนรกต้องมาจากสวรรค์หรือพรหมโลก
ฉะนั้น บุคคลที่จะเป็นพระราชาได้
ต้องเคยบำเพ็ญบารมีด้านพรหมจรรย์ทั้งอย่างอ่อนและอย่างกลางมาแล้ว จึงมาเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ได้
คนที่มีบารมีขนาดนี้ ที่จะโง่เง่าเต่าตุ่นนั้นหายาก

ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอุเทนเห็นศรจะเข้ามาปักอกของพระองค์
ยิงไปแล้วตามธรรมดาศรต้องไปข้างหน้า
แต่ความจริงศรนั้นไม่ใช่ไม่เคยใช้ ใช้มาแล้วได้ผลทุกประการ
แค่ ๕๐๐ กับ ๑ องค์นี่ไม่สามารถจะต้านทานไหว ทะลุแน่
แต่คราวนี้ไม่ถึงอกของพระนางสามาวดีตรง ๆ เข้าไปเฉียดนิดเดียว
วกกลับจะเล่นอกพระองค์ จึงมีความรู้สึกว่าแม้แต่ลูกศร ซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ
ก็ยังรู้คุณความดีของพระนางสามาวดีกับหญิงรับใช้ ๕๐๐ คน
เรานี่เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจแท้ ๆ กลับมีความโง่เง่าเต่าตุ่น
ไปเชื่อหญิงอันธพาล มีสันดานหยาบ
หาทางกลั่นแกล้งพระนางสามาวดี
พอมีความรู้สึกเท่านี้ก็ทิ้งศรทันที ทิ้งคันศรนะ
ทิ้งแล้วจะเข้าไปกราบที่เท้าพระนาสามาวดีเพื่อขออภัย

นี่ คนที่มีความดีมีบารมียังถึงขนาดนี้นะ
จะนึกว่าคนนั้นเป็นผู้หญิงเป็นเมียไม่น่าจะกราบ
ความจริงเวลานั้นท่านไม่ได้กราบเมียของท่าน
ท่านกราบความดีของเมีย
ท่านยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่ทราบว่าเมียนี่ดีเพราะอะไร
ก็กราบตรงนั้นก่อนกราบตรงเมียก่อน
พระนางสามาวดี ท่านก็แสนดี
นั่งลงจับพระหัตถ์ของพระเจ้าอุเทนห้ามไม่ให้กราบ ห้ามไม่ให้ขออภัย
พระเจ้าอุเทนบอก ไม่ได้ ฉันมีความผิด ฉันต้องขออภัยเธอ
ถ้าเธอไม่ให้อภัยฉัน ฉันจะไม่มีความสุขเลย

พระนางสามาวดีก็กราบทูลว่า
"ขอพระองค์ไปขออภัยโทษกับบิดาของหม่อมฉัน"

พระเจ้าอุเทนท่านทราบว่าพ่อของพระนางสามาวดีน่ะตายไปนานแล้ว
ก็ถามว่า

"พ่อของเธอตายไปนานแล้ว แล้วฉันจะไปขออภัยที่ไหน"

นางก็ตอบว่า "พ่อใหม่"

ถามว่า "พ่อใหม่คือใคร อยู่ที่ไหน"

นางก็ตอบว่า "พระสมณโคดม คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

พระเจ้าอุเทนก็บอกว่า "ฉันไม่รู้จะไปยังไง"

นางก็ขอพรให้นิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระอริยสงฆ์
เข้ามาฉันภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ได้
เป็นอันว่าพระเจ้าอุเทนก็ทรงยอม เอาแค่นี้ก่อนนะ

เป็นอันว่าพระโสดาบันไม่ใช่มีแต่ศีลห้า
เพราะการบรรเทาความโลภก็ดี บรรเทาความโกรธก็ดี
บรรเทาความหลงก็ดี อยู่ในกรรมบถ ๑๐
ฉะนั้นพระโสดาบันก็ต้องปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ด้วย
นี่ มันชี้ให้เห็นชัด อันนี้เป็นจุดหนึ่งในจริยาของพระโสดาบัน

หลังจากนั้นแล้วจะเห็นว่าพระโสดาบัน
นี่เป็นศีลข้อที่ ๑ กับกรรมบถ ๑๐ บวก กันนะ
เรียกว่าเป็นศีลข้อที่ ๑ กับกรรมบถ ๑๐ บวกกันเข้าไปแล้ว
มาศีลข้อที่ ๒ กับกรรมบถ ๑๐ ที่เป็นมโนกรรมข้อที่ ๑


ศีลข้อที่ ๒ ไม่ถือเอาทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น
มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
แต่กรรมบถ ๑๐ ในมโนกรรมข้อที่ ๑
ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใด
นี่ไม่คิดเลย อันนั้นไม่เอา ไม่ลักไม่ขโมยใคร แต่ข้อไม่คิดเลย
ถ้าตัวที่ไม่อยากได้ต้องมีธรรมะอย่างหนึ่งเข้าขวาง
ขวางไม่ให้คิดนั่นคือ จาคานุสสติกรรมฐาน
ไม่คิดอยากได้ต้องมีอารมณ์อยากให้เข้ามาทดแทนมาขวางใจไว้
และจิตใจพร้อมที่จะให้
ถ้าสิ่งที่ให้นั้นเป็นคุณเป็นประโยชน์

จะเห็นได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้ากับบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
เข้ามาฉันในพระราชนิเวศน์
ต่อมาพระพุทธเจ้าก็บอกว่า การจะเสด็จมาทุกวันย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะพระพุทธเจ้าทรงโปรดคนทุกคน
ให้พระนางสามาวดีเลือกพระองค์ใดองค์หนึ่งมาประจำ
พระนางสามาวดีก็ขอพรพระเจ้าอุเทน
พระเจ้าอุเทนอนุญาตจึงได้นิมนต์พระอานนท์เข้ามาประจำ
เมื่อพระอานนท์เข้ามาแล้วเทศน์โปรด
พระเจ้าอุเทนพระราทานผ้าสาฎก
กับพระนางสามาวดีกับคณะคนละผืน ๆ อยู่แล้ว
เมื่อเทศน์จบ ทุกนาง (๕๐๐ กับ ๑ คน)
ถวายหมดเลย พระอานนท์ก็รับไป

จะเห็นว่า อารมณ์ของพระโสดาบันมีทั้งศีลห้า
และทั้งกรรมบถ ๑๐ พร้อมในการสงเคราะห์ พร้อมในการให้
ถ้าเห็นว่าการให้นั้นเป็นบุญเป็นกุศล
นี่แหละบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่พูดให้ให้หมดตัว
ความจริงการให้ของพระโสดาบัน มิใช่ทุ่มเทจนหมดตัว
เอาแค่พอดีพอสมควร

ต่อมาก็กล่าวถึงศีลข้อมุสาวาทนะ
สำหรับ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ต้องพูดกัน
ไม่มีตัวอย่างในพระโสดาบันเลย
ว่าใครจะไปปล้ำพระโสดาบันที่เป็นผู้หญิง
หรือผู้หญิงปล้ำพระโสดาบันที่เป็นผู้ชาย
ยังไม่พบไม่รู้มีที่ไหมบ้าง มีแต่พระอรหันต์

มาศีลข้อที่ ๓ กับศีลข้อที่ ๒ บวกกัน แล้วก็ศีลข้อที่ ๔ บวกกัน
เป็นอันว่าศีลข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ บวกกัน
ได้แก่ นางขุชชุตตรา นางขุชชุตตรานี่เป็นขโมยอันดับหนึ่ง
ขโมยเงินของพระนางสามาวดีค่าดอกไม้
ที่พระเจ้าอุเทนพระราชทานค่าดอกไม้แก่พระนางสามาวดีวันละ ๘ ตำลึง
ภาษาบาลีเรียกว่า ๘ กหาปณะ
เวลานั้นกหาปณะหนึ่ง เท่ากับ ๔ บาท
ถ้าเวลานี้จะเทียบก็เห็นจะหลายพัน เกิน ๘ พันบาท
เฉพาะค่าดอกไม้แต่ทว่านางขุชชุตตรา
การที่จะใช้คนอื่นไปซื้อดอกไม้นอกวัง
ถ้าสาวสวยหน่อยดีไม่ดีไปแล้วลืมกลับวัง
เพราะว่าตามธรรมดาปลาที่ขังในบ่อ
ย่อมไม่เคยเจอะน้ำใสในแม่น้ำทางมันแคบ
ถ้าไปเจอะน้ำในแม่น้ำเข้า
ก็จะเกิดความปลื้มใจเพลิดเพลินไปไม่กลับวัง
ฉะนั้น ต้องใช้นางขุชชุตตราที่เป็นหญิงหลังค่อม
หญิงหลังค่อมเข้าใจว่าไม่มีผู้ชายคนไหนมีความต้องการ
เพราะความสวยของเธอไม่มี ก็เป็นโอกาสของขุชชุตตรา

ขุชชุตตรา เป็นหญิงหลังค่อมก็จริงแหล่ะ แต่ปัญญามาก
ในกาลก่อนที่จะเป็นพระโสดาบัน
เธอก็ขโมย ยักเอาไว้เสียวันละ ๔ ตำลึง
แต่แล้วก็ซื้อดอกไม้มา ๔ ตำลึง
พระนางสามาวดีหรือใครก็ตามไม่ทราบเลย
แต่พอนางขุชชุตตราฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าจบเป็นพระโสดาบัน
วันนั้นซื้อมาหมดทั้ง ๘ ตำลึง แต่ความจริงจะเฉย ๆ
เขาก็ถามบอกว่า ดอกไม่มันถูกไปหรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น
ตามธรรมดาของชาวบ้านที่จะโกง
ถ้าวันไหนไม่โกงขึ้นมา อาจจะบอกได้ตรง ๆ บอกคด ๆ
แต่ว่ามันเหมือนกับตรง
ในเมื่อพระนาสามาวดีเห็นดอกไม้มากเท่าตัว
ถามว่าวันนี้พระราชาพระราชทานค่าดอกไม้มากกว่าเดิมรึ
เธอก็บอกว่าเท่าเดิม
ถ้าคนโกงนะ จะบอกว่าเท่าเดิม แต่ดอกไม้มันถูก เขาขายถูกจึงได้มาก
อย่างนี้ก็ไม่มีใครว่า และไม่มีใครจับได้กว่าจะจับได้ก็นาน
แต่ว่าพระโสดาบันไม่ยอมพูดปด
ตัดอทินนาทานไปข้อหนึ่งแล้วเป็นพระโสดาบันขโมยทุกวัน
วันนี้ไม่ขโมยก็แสดงว่า ตัดข้อทินนาทานไปอีกข้อเห็นได้ชัด

หลังจากนั้นก็มีวาจาสัตย์เป็นศีลข้อที่ ๔
นางยอมรับตามความเป็นจริงว่า ทุกวันน่ะได้เงินเท่านี้คือ ๘ กหาปณะ
แต่ว่าวันนี้หม่อมฉันไปฟังเทศน์
ฟังเทศน์แล้วรู้สึกว่าการขโมยเป็นบาป จึงซื้อมาทั้งหมด
ไม่แบ่งแล้ววันนี้ ไม่กีดไม่กัน
พระนางสามาวดีก็บอกให้อภัยไม่เป็นไร บาปเก่าหมดไปเลย
ที่แล้ว ๆ มาฉันก็ให้อภัย ต่อไปเธอกันไว้ ๔ กหาปณะก็ได้
เพราะซื้อมาแค่ ๔ กหาปณะมันก็พอแล้ว เหลือใช้เสียอีก
แต่นางขุชชุตตราก็บอกว่า ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ พระพุทธเจ้าห้าม

นี่จะเห็นว่า มุสาสาทก็ไม่มี การลักการขโมยก็ไม่มี หมดกัน
คือศีลข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ ครบถ้วน
(เรื่องการดื่มสุราและเมรัย)
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายไม่ต้องพูดกัน


ก็รวมความว่า บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
อารมณ์ของพระโสดาบันจริง ๆ มีศีลห้าบริสุทธิ์ด้วย
เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ด้วย
มีกรรมบถ ๑๐ เข้าแทรกแซงด้วย
มีชีวิตไม่ลืมความตายด้วย
ช่วยให้นึกถึงในการทำความดีไว้เสมอ
ถ้าจะพูดมันมีเรื่องพูดมากกว่านี้
มีคนอีกเยอะแยะที่เป็นพระโสดาบันปฏิบัติกัน
รวมความว่า แค่นี้ก็พอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
เมื่อสรุปแล้ว เหลือเวลาอีก ๑ นาที
ก็ขอบอกว่า พระโสดาบันจริง ๆ คือ

มีความเห็นถูกพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่าชีวิตนี้ต้องตาย ไม่ลืมความตาย
แล้วก็ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
ด้วยความจริงใจ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ มีกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์
บรรเทาความโลภ บรรเทาความโกรธ บรรเทาความหลงพอสมควร
ไม่เท่ากับพระสกิทาคามี


เมื่อมองดูเวลาเหลือครึ่งนาทีสำหรับตอนที่ ๒๔ นี้
ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สวัสดี...


*** จบบริบูรณ์ ***

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง