Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 รู้แจ้งเห็นจริงสิ่งปัจจุบัน (พระครูเกษมธรรมทัต) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 3:36 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รู้แจ้งเห็นจริงสิ่งปัจจุบัน
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรสี)

นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย



ต่อไปนี้พึงตั้งใจฟังธรรมะและขอให้ได้ปฏิบัติไปด้วย เจริญสติเจริญภาวนาพร้อมกับการฟังธรรม ในขณะที่ฟังธรรมอยู่ก็สามารถที่จะปฏิบัติไปในตัวได้เพราะว่าสภาวธรรมก็กำลังปรากฏอยู่ เพียงตั้งสติใส่ใจระลึกรู้พิจารณาสภาวธรรมที่ปรากฏดีกว่าเราฟังแบบทิ้งขว้างไป เราอาจจะใส่ใจดูในตัวเองอาจจะไม่ต้องตั้งใจวินิจฉัยในสิ่งที่ฟังมากมายนัก แต่ว่าทรงสติ สัมปชัญญะให้อยู่กับตัวเองไว้สังเกตสภาพธรรมที่ปรากฏที่เข้ามาสู่ตัวของตนเอง ซึ่งในขณะนี้ก็มีเสียงผ่านเข้ามา

มีการได้ยินเกิดขึ้น มีกายนั่งอยู่ มีการเคลื่อนไหวในร่างกาย แม้ว่าจะนั่งอยู่นิ่ง ๆแต่มันก็มีการเคลื่อนไหวทางร่างกาย มีการเคลื่อนไหวเพราะมีการหายใจอยู่ตลอดเวลา มีการหายใจเข้ามีการหายใจออกตลอดเวลา ทำให้มีการผลักดันให้เคลื่อนไหว ให้รู้สึกตึงรู้สึกหย่อนคลายจะเป็นที่ทรวงอกหรือหน้าท้องก็ตาม หรือว่าในส่วนของผิวกายภายนอกกายก็จะมีความรู้สึกจากที่มีลมพัดมากระทบเกิดความรู้สึกขึ้น นี้คือธรรมชาติที่มีอยู่จริง กำลังฟังธรรมอยู่ขณะนี้ก็มีสภาวะต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างนี้

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีส่วนของจิตใจที่เคลื่อนไหวไปมาในการรับรู้อารมณ์ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะพิจารณาได้ในขณะนี้ และเวทนาที่เกิดขึ้นนี่ก็เป็นที่ตั้งของจิตได้ เอาสติเอาจิตไปเกาะไปจับรู้ไว้ที่เวทนาคือความรู้สึก จะเป็นเวทนาที่กายหรือจะเป็นเวทนาที่เกิดที่ใจก็ตาม ทรงสติเกาะรู้อยู่กับเวทนานั้น นี้คือการปฏิบัติธรรม คือการเจริญกรรมฐานเป็นการเจริญภาวนา ทำได้จะเห็นว่าทำได้ทุกขณะกำลังฟังกำลังพูดกำลังนั่งนิ่งหรือจะเคลื่อนไหวต่าง ๆ ก็สามารถที่จะเจริญสติอยู่ได้

อย่างที่อาตมาพูดนี่ก็เจริญสติอยู่ปฏิบัติอยู่ พูดไปก็เจริญสติไป ใส่ใจสังเกตในความรู้สึกเพราะว่าก็จะมีการเคลื่อนไหวในระบบของการพูด ปากริมฝีปากต้องเคลื่อนไหว จึงมีการเคลื่อนไหวมีความตึงความไหว แล้วก็ความรู้สึกจากระบบของการหายใจมันก็สลับแทรกซ้อนกันอยู่ แล้วก็การที่จะมีการปรุงแต่งคำพูด พูดออกมาน่ะ ตัวปรุงแต่งคำพูดเป็นนามธรรมปรากฏอยู่ขณะนี้

ทำสติระลึกใส่ใจสังเกตไป ก็มีเวทนาปรากฏ สติจับรู้อยู่กับเวทนา จะมีความรู้สึกมันเป็นความไม่สบายกาย มีความรู้สึกอยู่ จะเป็นที่สมองเป็นที่ทรวงอกเป็นที่แขนขา มีอาการเป็นความรู้สึกอยู่ก็ทำสติรู้ไป จะเห็นว่ามีสภาวะแทรกซ้อนสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ ทรงสติไว้นิ่งๆเฉยๆ เสียงก็มีได้ยินก็มี พูดไปมันก็มีเสียง คนพูดก็ได้ยินเสียงๆตนเอง มีเสียงมีการเคลื่อนไหว

คนฟังก็เหมือนกัน ก็ได้ยิน มีเสียงมีได้ยิน เราไม่ต้องไปเพ่งเล็งเสียงเกินไป อย่าไปตั้งใจที่จะจ้องดูกำหนดเสียงกำหนดได้ยิน ใส่ใจให้มันอยู่กลาง ๆ อยู่ในความรู้สึกที่ตัวเอง มันจะนิ่งทรงเกาะรู้อยู่กับความรู้สึกที่กายก็รู้อยู่ แต่มันจะรับสิ่งแทรกซ้อนสลับเข้ามาเอง มีเสียงมีได้ยินมีการเคลื่อนไหว มีใจที่จะนึกคิด จะเห็นว่าท่านทั้งหลายนั่งอยู่นิ่งๆแต่ว่ามันก็ไม่นิ่ง ทำกายนิ่ง ๆ อยู่แท้ ๆ แต่มันก็ไม่นิ่ง ส่วนต่าง ๆ ของกายก็มีการเคลื่อนไหว เราจะดูความนิ่ง เห็นความไม่นิ่งเกิดขึ้น จะเคลื่อนไหวทั้งส่วนที่กายที่จิต ดูไปพิจารณาไป

บางขณะของจิตก็ไปรับรู้ในส่วนของสมมุติ ท่านทั้งหลายก็ตัดสินใจได้ว่านี่คือสมมุติ จิตไปรับรู้อารมณ์เป็นสมมุติ ดู พิจารณาให้เป็นให้ออกว่า ขณะนี้อารมณ์ของจิตเป็นสมมุติบัญญัติ มีการฉายเป็นสัณฐานขึ้นมา จะเป็นสัณฐานของกายจะเป็นสัณฐานของบางส่วนของกายจะเป็นท่อนแขนท่อนขาหรือใบหน้า นี่ก็ถือว่าจิตไปรับสมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์ หรือมันจะเป็นทั้งทรวดทรงทั้งกายทั่วตัว มันจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม ถ้ามันปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตในลักษณะที่มีสัณฐานอยู่ มีรูปร่าง นั่นคือให้รู้ว่านี้คือสมมุติ

บางทีมันก็เป็นสัณฐานของภายนอกตัวออกไป จิตมันปรุงแต่งมันนึกมันคิดมันก็เป็นสัณฐานเป็นมโนภาพของสิ่งภายนอก เช่น เป็นรูปร่างสถานที่ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลคนอื่นสัตว์อื่น นั่นก็คือสมมุติแล้ว มันเป็นธัมมารมณ์ มันเป็นอารมณ์มากระทบทางมโนทวาร เป็นอารมณ์ของจิตอยู่ แต่ว่าอารมณ์แบบนี้มันเป็นสมมุติ มันอาศัยสัญญาความจำเกิดขึ้น สร้างมโนภาพขึ้นมา

ถ้าท่านทั้งหลายไม่สังเกตให้ดีก็จะอ่านไม่ออกว่าในจิตจิตยังมีการรับสมมุติบัญญัติอยู่เรื่อย ๆ ก็รู้ไว้นี่คือสมมุติ ซึ่งการที่จะปฏิบัติเข้าสู่วิปัสสนาก็จะต้องคัดเข้าสู่สภาวปรมัตถ์ คือให้พ้นจากรูปร่างสัณฐานนั้นออกไป แม้แต่รูปร่างสัณฐานกายของตัวเองก็ให้พ้น ทำสติให้จิตมันพ้นมันหลุดพ้นจากทรวดทรงสัณฐานของกาย จะเป็นส่วนย่อยหรือจะเป็นทั้งตัวก็ตามให้มันหลุดไป คือมันเข้าไปสู่สภาวะหรือธรรมชาติที่ปลอดจากรูปร่างสัณฐาน นั่นคือจะเป็นปรมัตถ์

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 2:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นอกจากนี้ก็ต้องคอยสังเกตดูว่ามีสมมุติในส่วนความหมายปรากฏไหม ซึ่งก็เป็นอารมณ์ของจิต เป็นธัมมารมณ์อีกเหมือนกัน แต่มันก็เป็นสมมุติ อารมณ์ของจิตเป็นความหมายนั่นก็คือจิตมันตรึกมันนึก มันอาศัยการปรุงแต่งอาศัยเจตสิกปรุงแต่ง มีสัญญามีวิตกมีวิจารปรุง จิตก็ไปรับความหมายเป็นความหมายเป็นเรื่อง ถ้าความหมายนี้มันต่อ ๆ กันไป

มันขยายออกไปก็เป็นเรื่องเป็นราวที่เรียกว่าคิด ที่คิดไปน่ะก็คือคิดไปถึงเรื่องราวเป็นอดีตเป็นอนาคต ไอ้ที่เรื่องราวนั้นก็จะเป็นสมมุติที่เป็นสัณฐานบ้างเป็นความหมายบ้าง แล้วจิตก็นึกเป็นภาษาเป็นคำพูดแล่นไป ก็ให้รู้ว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นสมมุติเป็นบัญญัติที่มันมีความหมายอยู่ ที่มันเป็นภาษาเป็นชื่อเรียกอยู่ เรียกชื่อไปเรื่อย ๆ น่ะมันเป็นสมมุติ

การปฏิบัติก็จะต้องน้อมเข้ามาสู่ปรมัตถ์ ให้ตรงต่อปรมัตถ์จริง ๆ โยนิโสมนสิการน้อมรู้ตรงใส่ใจตรงต่อปรมัตถ์ รู้จักปรมัตถ์เข้าใจปรมัตถ์ หลุดจากสมมุติบัญญัติมาสู่ปรมัตถ์ให้ถูก รู้ตรง ๆ สัมผัสตรงก็ต้องอาศัยการประคับประคองสติประคองจิตให้รู้เข้ามาที่สภาวะ คือสิ่งที่มันมีมันเป็นอยู่จริงที่เป็นปรมัตถ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่รูปร่างสัณฐานไม่ใช่ชื่อไม่ใช่ความหมาย มันเป็นสภาวะคือมันเป็นสิ่งที่มีที่เป็นอยู่จริง ๆ ให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูได้ วางจิตใจให้มันยุติธรรม วางจิตวางสติให้มันยุติธรรม

คืออย่าเอนเอียงไปในการที่จะเสริมไปในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง วางจิตใจให้มันเที่ยงตรงให้มันยุติธรรม เพื่อจะได้วินิจฉัยให้ถูกต้องเพื่อจะได้มองได้ออกว่าอันไหนของปลอมอันไหนของจริง ถ้าคล้อยตามไปมันก็จะถูกกลืนกันไปกลมกลืนไปเป็นสมมุติก็ไม่รู้ว่าเป็นสมมุติ จิตหลงไปสู่อดีตเป็นสมมุติเป็นบัญญัติ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัญญัติ บางครั้งมันหลอกมันเป็นมายา มันเป็นมายา จิตมันหลอกให้หลงว่าเห็นจริงรู้จริงรู้ปรมัตถ์ แต่ไม่ใช่ มันหลอกคือมันคิดเอาเอง เป็นความคิดนึกเอาเอง

เหมือนคนที่ฝันน่ะ ขณะที่นอนหลับแล้วก็ฝันว่าลุกขึ้นมานั่งแต่ก็ไม่ได้นั่งจริง แต่ก็หลงว่าตัวเองนั่งจริง ๆ ในขณะนั้น เช่น บางคนนั้นเกิดใจมันตื่นขึ้นในขณะฝันเนี่ย จิตขึ้นสู่วิถีแล้ว มันเกิดปรุงแต่งเกิดความกลัวอะไรขึ้นมา แล้วก็อยากจะลุก แล้วก็รู้สึกว่าจะลุกก็ลุกไม่ขึ้น พยายามจะยกขายกแขนก็ยกไม่ขึ้น บางทีจิตมันก็หลอกว่า ยกแขนขึ้นมาแล้ว ยกขาขึ้นมาแล้ว แต่ความจริงก็ไม่ได้ยกจริง แต่เจ้าตัวนั้นจะมีความรู้สึกว่าเรายกแล้ว ขาขึ้นมาแล้ว นี่มันหลอกได้จิต ถ้าเราไม่วางจิตให้มันยุติธรรมจริง ๆ ก็จะหลงไปกับสมมุติ อันนี้อุปมาให้ฟัง

ขณะที่ตื่นอยู่กำลังปฏิบัติอยู่นี่ก็เหมือนกัน มันก็ถูกหลอกได้ ถูกหลอกให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แม้แต่ว่าการเห็นความเกิดดับของรูปของนามบางทีก็ถูกหลอก อาศัยว่าคอยตั้งใจจะดูความเกิดดับดูสิ่งที่เกิดที่ดับไป ที่เกิดที่ดับไป แล้วจิตมันก็สร้างให้เห็นว่ามันเกิดมันดับ แต่ที่จริงไม่ได้เห็นจริง ไม่ได้เห็นความเกิดดับจริงแต่มันเป็นมายาขึ้นมา นี่ก็ถูกหลอกอีก ฉะนั้นต้องมีความละเอียดลึกซึ้ง

ฉะนั้นยิ่งบุคคลที่ไม่มีความแยบคายในการปฏิบัติ ถูกหลอกไปไกล ๆ หลอกไปยาว นั่งไปมันก็เลย... อย่างเช่น ผู้ที่เห็นเป็นภาพต่าง ๆ ลืมตัวเองกลายเป็นนึกเห็นว่าตัวเองออกไปอย่างนั้น เดินไปอย่างนั้น ไปพบอย่างนั้น มีภาพมีเจอเหตุการณ์อย่างนั้น นั่งฝัน ที่เรียกว่านิมิตเกิดขึ้น นี้อาศัยที่ว่าจิตมีสมาธิอยู่ภาพก็ชัดเจนขึ้น นั่งไปผ่านไปรู้สึกตัวหมดเวลาขึ้นมา ก็เลยบอกว่า โอ นั่งแล้วเห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่าง ๆ แต่ความจริงแล้วนั่นคือ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับความฝันกับความคิดนั่นเอง จิตคิดแล่นไปแล้วก็เป็นมโนภาพเป็นภาพ ถูกหลอกอีก จิตถูกหลอกไป ไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้นการเจริญวิปัสสนานี้มันต้องฉุกรู้อยู่เสมอ ต้องมีสติในการฉุกรู้จิตให้มันกลับรู้เป็นปัจจุบัน

ท่านจึงกำชับไว้เสมอว่าการเจริญวิปัสสนานี่มันต้องให้ได้ปัจจุบัน ต้องให้ได้ปัจจุบัน รู้สภาวะที่กำลังปรากฏเป็นไปอยู่ เรียกว่าปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น กำลังหมดไป กำลังดับ รู้ตรงนั้น ปัจจุบันคือกำลังปรากฏ ถ้ามันผ่านไปแล้วก็เป็นอดีต ก็อย่าไปดูอย่าไปห่วงอดีต บางคนเข้าใจว่าจะให้มันมีปัญญาก็จะต้องดูให้ชัด ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมันปรากฏหมดลงแล้ว แต่ไปจ้องดูเพื่อจะวินิจฉัยให้มันแจ่มแจ้ง มันก็เลยกลายเป็นสมมุติขึ้นมา อารมณ์เป็นสมมุติขึ้นมา สิ่งที่ปรมัตถ์น่ะเขาดับไปแล้ว แต่พยายามที่จะไปวินิจฉัยก็ไปวินิจฉัยเงาของมัน คือสมมุติ

แม้จะวินิจฉัยไปในเรื่องสอดคล้องกับความจริง คือวินิจฉัยไปว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันบังคับไม่ได้ แต่มันเป็นการนึกเอาคิดเอา อย่างนี้มันก็เรียกว่าตกจากปัจจุบัน เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่าปัญญาที่จะรู้แจ้งนั้นน่ะมันรู้เอง มันรู้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเสริมที่จะต้องคิดนึกอะไรขึ้นมา ยิ่งไปห่วงไปคิดมันก็เท่ากับตกจากปัจจุบัน ไม่ทันต่อสภาวะที่มันซ้อน ๆ ขึ้นมาที่ปรากฏชั่วนิดเดียวแล้วผ่านไป นิดเดียวแล้วผ่านไป

ฉะนั้นพึงทำสติเจริญสติให้มันอยู่กับปัจจุบันไว้ อยู่กับรูปนามที่เป็นปัจจุบันจริง ๆ คือปัจจุบันที่มันสั้น ปัจจุบันที่สั้นที่สุดชั่วแว้บเดียว ปัจจุบันชั่วแว้บเดียว เวียบเดียวๆ ให้มันรู้แค่นั้น มันจะไม่ชัดก็ชั่งมันเพราะมันหมดสิทธิ์แล้ว มันแว้บแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว หมดสิทธิ์ที่จะไปพิสูจน์มันแล้วเพราะมันผ่านไปแล้ว พึงฉุกให้มันรู้อันใหม่ที่จะเกิดต่อขึ้นมา ๆ เอาแค่นั้นแหละ รู้แค่อันใหม่ ๆ ๆ ที่มันผ่านมา แม้ว่ามันยังไม่ชัดว่าอะไรเป็นอะไรยังไงก็อย่าไปคิดเอา ถ้าคิดเอาแล้วมันถูกหลอกไปดูเงาไปดูมายาของมัน

ไอ้สิ่งที่ปรากฏต่อ ๆ ๆๆ มามันจะไม่รู้ถูกผ่านไปหมด ไม่รู้ นี่คือการไม่ยุติธรรมคือเราเอนเอียงไปไม่ตั้งหลักให้ดี สติรับรู้แล้วไม่ตั้งหลักให้ดีมันก็ไป ผสมไปกับอารมณ์สมมติไปเลย จิตรวมตัวไปกับอารมณ์ที่เป็นสมมติตกไปสู่อดีต มันแป๊บเดียวมันก็สร้างสมมติขึ้นมาแล้ว เป็นความหมาย พอปรากฏเป็นความหมายขึ้นมาก็สมมุติเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเราไปเสริมความคิดขึ้นไปอีกว่าอย่างนั้นอะไรอย่างนี้ไปอีกหลายช่วงหลายขณะจิต ไอ้สิ่งที่เป็นปัจจุบันที่มันต่อ ๆ ต่อขึ้นมาไม่รู้แล้ว

ฉะนั้นถ้าหากว่าสติรับรู้สภาวะที่ปรากฏไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไร ถ้าไปเรียกชื่อขึ้นมาก็คือนั่นตกจากปรมัตถ์ไปสู่สมมุติ จิตที่จะเรียกชื่อขึ้นมานี่จิตก็จะต้องรับสมมุติ ไม่งั้นเรียกไม่ออกนะ จิตจะเรียกชื่อไม่ได้ จิตเรียกชื่อขึ้นมาจิตก็รับสมมุติแล้ว สมมุติโดยความเป็นชื่อแม้ชื่อนั้นจะชื่อว่ารูปชื่อว่านาม ก็คือสมมุติ เมื่อกำหนดรู้อารมณ์อันใดแล้วก็พยายามที่จะเรียกชื่อว่า นี่คือรูป นี่คือนาม ก็เสียเวลาตกไป ขณะจิตนั้นตกไปหมด ปัจจุบันที่เกิดแว้บๆๆๆ เข้ามานั้นไม่รู้แล้ว

ผ่านไปตั้งเยอะ เสียเวลาตกจากปัจจุบันไปสู่สมมุติ นั่นเพราะว่าเราอาจจะเข้าใจว่า ถ้าไม่เรียกชื่อไปอย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าไม่รู้ เป็นความไม่รู้ก็จำเป็นจะต้องเรียกชื่อเพื่อจะให้รู้ว่านี่คือรูปนี่คือนาม แต่มันเป็นการรู้เข้าไปสู่สมมุติ ความจริงในขณะที่สติสัมผัสสภาวะที่ปรากฏนั้นเรียกว่าเข้าไปรู้รูปแล้ว เข้าไปรู้นามแล้ว สติเข้าไปสัมผัสสภาวะจริงแล้ว รูปนามจริงๆ มันไม่ประกาศในความเป็นชื่อ พอเป็นชื่อมันไม่ใช่รูปแล้วไม่ใช่นามแล้ว

ฉะนั้นขณะที่สติเข้าไปสัมผัสรู้ลักษณะของรูปของนามต่าง ๆ มันจะไม่มีชื่อในขณะนั้น พอจิตไปรับชื่อนั่นแสดงว่า จิตจะต้องเปลี่ยนจากอารมณ์ปรมัตถ์มาสู่อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ มันมีความละเอียด การปฏิบัติจึงต้องสังเกตให้แยบคาย มีหน้าที่ว่าพยายามระลึกรู้ให้ตรงต่อปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบันอยู่ พยายามให้รู้ปัจจุบัน คือไม่ตกไปสู่อดีตอนาคตแล้วก็คัดเข้าสู่ปรมัตถ์ก็อยู่เสมอ ๆ มันก็ต่อสู้กันรบกันอยู่ บางขณะจิตมันก็คอยจะไปสู่สมมุติ คอยจะไปนึกความหมายขึ้น

คอยจะไปเรียกชื่อขึ้น บางขณะสติระลึกตรงก็มาสัมผัสปรมัตถ์ ขณะที่สัมผัสปรมัตถ์รูปร่างก็หายชื่อก็หายความหมายก็หายในขณะนั้น แต่มันรู้ปรมัตถ์ รู้ไป ๆ เดี๋ยวมันก็หลุดไปสู่สมมุติอีก ก็ประคับประคองคัดเข้าสู่ปรมัตถ์อีก ซึ่งการที่จะคัดไปคัดมานี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องบีบบังคับ มันก็บังคับไม่ได้แต่มันเป็นไปโดยที่ว่าอาศัยความเข้าใจเลือกถูก น้อมรู้มาถูกต้อง คือเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ตรง จูนไปตรงปรับได้ตรง ประคับประคองได้ตรง

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 2:50 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ฉะนั้นในขณะนี้ที่เราฟังอยู่เราพูดอยู่เราคิดอยู่ ที่ว่าเป็นเรา ๆ นี้ ที่จริงแล้วก็คือเพียงธรรมชาติต่างๆ พิสูจน์ลงไปดูลงไปสังเกตลงไปใส่ใจลงไปที่กายนี้ที่จิตใจนี้เบา ๆ ใส่ใจรู้ลงไปเบา ๆ นิ่ง ๆ ไม่ได้ไปกด อย่าไปกด กดนี้หมายถึงว่าบังคับจิตหรือว่าตัวรู้หรือสติหรือผู้รู้ก็แล้วแต่ให้ไปจ้องจับอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คือบังคับให้มันอยู่อย่างนั้นอยู่อย่างนี้ถือว่าขาดความเป็นปรกติ

อาจจะใช้ได้ในการฝึกใหม่ ๆ ฝึกใหม่ ๆ ก็ดึงรังเอาจิตมาดูลมหายใจไว้ คิดไปก็ดึงกลับมาลมหายใจไว้ หรืออาจจะดูที่ไหนก็ตาม เช่น รั้งมาดูที่กายนั่งหรือที่หน้าท้อง ดึงกลับมา ๆ แต่ว่าเมื่อเราฝึกไปมากขึ้น เลื่อนขั้นขึ้นก็จะต้องปรับให้มันเป็นปรกติ คือไม่ไปดึงไปรั้งไปผลักไปไสไปอะไรทั้งหมด ให้มันเป็นไปของมันโดยธรรมชาติ จิตมันจะไปรู้ตรงไหนก็รู้กันตรงนั้นแหละ รู้ก็รู้กันตรงนั้น

บางครั้งมันจะมาจับรู้ในสมองก็รู้ที่ในสมองนั่นแหละไม่ต้องเบี่ยงเบนไปที่อื่น มันอาจจะไปก็ไป กลับมารู้ส่วนใดก็รู้ส่วนใด แต่การที่เข้ามารู้ในสมองนี้ต้องมีความชำนาญ ชำนาญตรงที่ไม่บังคับ ชำนาญในการที่จะผ่อนตามไม่บังคับ เพราะถ้าหากมีการบังคับนิดหนึ่งนี่จะเกิดการเกร็งขึ้นในสมอง เพราะว่ามันเป็นการมารู้ใกล้ชิดมาก คือมารู้ที่จุดของมัน เพราะความรู้มันไปผ่านสมอง ผ่านสมองมันก็เหมือนกับว่ามีกองบัญชาการอยู่ในสมอง เมื่อทำสติรู้ใกล้ชิดเข้าไปที่ตัวมันเองตัวรู้เอง

บางทีมันไปรวมอยู่ในสมองไปรวมอยู่ในศีรษะ เหมือนกับว่าตัวรู้มันไปอยู่ในศีรษะอยู่แล้วก็ไปสัมผัสความรู้สึกในสมอง เห็นเวลาคิดก็มีการเคลื่อนไหวคือรู้สึกว่ามันเคลื่อนไหวในสมอง มีการไหวการตึง การเคลื่อนไปตามกระแสจิต คือจิตที่มันกระชั้นเข้ามารู้ที่ตัวมันเองน่ะ ถ้าไม่ปรับปรกติจริง ๆ แล้วมันจะเกิดความเกร็งในสมองได้ มันตึงขึ้นมา เอาสติรู้ในความตึงแต่รู้แบบผ่อนรู้แบบไม่บังคับ ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะคลาย ความตึงความเกร็งในสมองจะคลายตัวหมด

บางทีมันมาจับรู้ที่หน้าผากเพราะมันเป็นจุดศูนย์ของการที่จะดู คนเราเวลาจะใช้ตาดูอะไรมันจะอยู่ทางส่วนทางตา มันก็ออกไปทางส่วนหน้าใบหน้าทางศีรษะ แม้ว่าหลับตาลงไปมันก็ยังฉายออกไปทางนั้นอยู่ จะเป็นช่วงบริเวณหน้าผาก บางครั้งจิตจะไปพุ่งไปเหมือนกับจิตมันพุ่งออกไปทางใบหน้าทางหน้าผาก บางทีมันไปจับอยู่ที่นั้น ก็รู้ที่นั่นน่ะ รู้แต่ไม่บังคับเข้าไปจับความตึง จะเป็นหน้าผากตึง แล้วก็สลับความรู้สึกต่าง ๆ ดูกระแสจิตที่เคลื่อนไหว ถ้าเราดูไม่เป็นไม่ปรับผ่อนมันก็จะเกิดความตึงมากขึ้น ถ้าดูแบบปรกติดูปรับผ่อน ผ่อนคลายไม่บังคับ มันก็จะคลายตัวหมด

ฉะนั้นบางขณะมันก็เป็นสมมติขึ้นมาคือเป็นสัณฐาน เป็นสัณฐานของใบหน้าของหน้าผากของศีรษะ ก็รู้ว่ามันคือสมมุติ ก็คิดกลับไปสู่ความรู้สึก ต้องรู้ในส่วนของความรู้สึกที่ปลอดจากรูปร่าง แต่มันไม่มีใครที่จะสามารถรู้ปรมัตถ์ไปตลอด มันก็ไปรับสมมติ แต่ก็ให้รู้ ฉะนั้นสติที่มีสัมปชัญญะควบคู่อยู่ สัมปชัญญะนี่คือความรู้สึกตัว สัมปชัญญะที่มันมีความสามารถมันจะทำให้เกิดความรู้พร้อมทั่วถึงทั่วทั้งตัว

โพลงตัวอยู่ความรู้สึกทั่วตัว ความรับรู้น่ะ มันมีความรับรู้ทั่วถึงทั่วทุกส่วนของกายโดยไม่ต้องวิ่งไปดู โดยไม่ต้องเอาจิตวิ่งไปดูที่ขาที่หลังที่ใบหน้าที่นิ้วมือ ให้อยู่กลาง ๆ อยู่ แต่มีกระแสในการที่จะฉายไปรับรู้ทุกส่วนสัดทุกส่วนของกายเหมือนกับมันรู้พร้อมหมด เหมือนกับจิตมันเหมือนกับเป็นเรดาร์ในการที่จะจับอะไรที่จะผ่านมาทุกส่วนในรัศมีของมัน

จิตที่มันมีสัมปชัญญะมีสติสัมปชัญญะมันก็จะมีความโพลงตัวรู้พร้อมทั่วถึงทั่วตัว ทั้งส่วนของกายและก็ส่วนของจิต แต่มันก็จะมีการรับส่วนย่อยด้วย รู้ไปพร้อม ๆ กัน รู้ทั้งส่วนของกาย รู้ทั้งส่วนของจิต มันรวม ๆ ไปอยู่ รู้รวม ๆ ทั้งหมด แต่มันก็จะมีการรับส่วนย่อยด้วย จะเห็นสิ่งความรู้สึกที่กายมีการสลับสับเปลี่ยน สลับซับซ้อนเป็นความรู้สึกที่ซ้อนกันขึ้นมา ตรงนั้นตรงนี้ สลับสับเปลี่ยนทั่วตัว นี่ด้วยความรวดเร็วของมัน แต่เพราะความไวของจิตมันก็รับรู้

ที่นี้จิตมีสติชำนาญขึ้นเท่าไรก็จะเห็นความไวของสภาวะที่มันปรากฏสลับสับเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็ว ยิ่งในกระแสของจิตก็ยิ่งมีความไวยิ่งขึ้น คือสภาพรู้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินั้นต้องรู้ถึงจิต สติรู้เข้าไปรู้ถึงจิตใจ จิตคือตัวรู้ อาการในจิตเป็นอย่างไรก็ดู ก็อ่านดู อ่านอาการในจิตดูคือความรู้สึกนั่นน่ะ จิตมันสบายไหมสงบไหม มันผ่องใสหรือว่ามันขุ่นมัว มันขุ่น ๆ มันเศร้าหมองก็รู้สภาวะดูอาการนั้นไป สติไปจับดูอาการนั้น แต่ก็ไม่บังคับอยู่นะ มันก็จะรับรู้ส่วนอื่นด้วย ทางกายด้วยทางจิตด้วย

ฉะนั้นเมื่อสติสัมปชัญญะมันส่องรู้ทั่วกายนี่ มันก็จะรับรู้ความเคลื่อนไหวในกายได้ รับรู้ในความรู้สึกนะ ความรู้สึกที่มันเคลื่อนไหวโดยมันเหมือนกับสะเทือน มันเหมือนกับสะเทือน มันเหมือนกระเพื่อม มันเหมือนกับความสั่นสะเทือนในกายนี้ เช่น ระบบการหายใจที่ทรวงอกที่หน้าท้องนี่มันจะมีความสะเทือนมีความกระเพื่อมมีความสั่นไหว ไอ้ตัวที่รู้สึกไหวสั่นไหวสะเทือนน่ะคือปรมัตถ์ แต่ถ้าฉายออกไปเป็นทรวงอกเป็นหน้าท้องนี่เป็นสมมุติแล้ว

ถ้าเป็นรูปร่างขึ้นมาให้รู้ว่าคือสมมุติ ก็น้อมรู้เข้าไปสู่ความรู้สึกทิ้งสมมุติออกไป ถ้าเรานั่งอยู่อย่างนี้บางครั้งเราก็ต้องขยับกาย ตอนขยับกายไปก็ให้รู้ทันที รู้ความรู้สึกที่มันขยับเคลื่อนไหว เรียกว่าหนังตากระพริบก็รู้ความรู้สึกที่หนังตา ปากเราเม้มก็รู้ความรู้สึกที่ปากที่เม้ม มีความตึง เราไปจ้องดูมันอาจจะเป็นภาพมโนภาพเป็นสัณฐานของใบหน้าของปากของตาของหู นั่นคือสมมุติ เราก็น้อมรู้เข้าไปสู่ความรู้สึก

อีกส่วนหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาสังเกตก็คือตรงจุดกำเนิดของการปรุงแต่ง เริ่มต้นที่มันจะนึกคิดออกไปน่ะ จิตที่ว่าคิดไป ๆ น่ะ มันเริ่มต้นของมันต้องรู้ให้ทัน ฝึกการรู้ทันตรงที่มันเริ่มจะคิด ๆ นั่นแหละ ถ้ารู้ตรงนี้แล้วก็จะไม่มีการคิดเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวอะไรได้เลย พอเริ่มจะปรุงขึ้นมาก็รู้เสียแล้ว พอรู้เสียแล้วมันก็สลาย สลายสมมุติไม่สืบต่อเป็นเรื่องเป็นราว ไอ้ตัวที่จุดกำเนิดของการจะนึกของการจะคิด มันก็อยู่ที่จิต จิตคือตัวรู้นี่ ขณะที่สติสัมปชัญญะไปรับรู้ที่ตัวรู้อยู่จะเห็นว่าเดี๋ยวมันจะปรุงขึ้นมาแล้ว มันจะนึก มันจะนึก ๆๆ พอนึกตัวนึกมันก็จะรับความหมายรับสัณฐานรับภาษาพูด

ก็ทำสติรู้ลักษณะการนึกการตรึกนั่นแหละ นั้นคือปรมัตถ์ ไอ้ตัวที่นึกตัวที่ตรึกเป็นตัวปรมัตถ์ แต่พอมันนึกมันตรึกมันจะไปรับอารมณ์ที่เป็นสมมุติ สติดูตรงที่นึกตรงที่ตรึก พอรู้ปุ๊บสมมุติก็สลายหายไป การที่จะนึกคิดอะไรมันก็หมดไป ไปสู่ความว่าง ว่างลงไป ใจมันจะว่างลงไป แต่เดี๋ยว ๆ มันก็นึกได้อีก มันจะนึกขึ้นมาอีกก็รู้อีก ฉะนั้นบางครั้งท่านจึงกล่าวว่าการปฏิบัติเหมือนกับการเข้าไปสู่การทำลายความปรุงแต่ง หยุดการปรุงแต่ง จริง ๆ ไม่ได้ไปบังคับอะไรหรอกก็คือไปรู้มันไปรู้ให้ทัน รู้ทันแลัวมันไม่ปรุงต่อไปหรอก รู้ทันแล้วก็หายไป รู้ทันแล้วก็หายไป

ฉะนั้นให้มีสติหยั่งรู้ บางขณะก็รู้ความรู้สึกที่กาย กายตึงรู้สึกตึง ตึงบ้างแข็งบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกส่วนต่าง ๆ ของกาย ตึงที่ขาที่หลังที่ใบหน้าลำตัวนี่ ตึง ๆ น่ะ คือปรมัตถ์ จะรู้ความรู้สึกตึง ขณะที่รู้ความตึงส่วนใดก็ตามจะเห็นว่ามันจะมีอย่างอื่นซ้อนขึ้นมา ตึงส่วนอื่น ไหวส่วนอื่น คิด ก็รู้ว่ามีอันอื่นที่มันสลับซ้อนขึ้นมา เราจะไม่ไปผูกไปยึดไปจ้องอยู่ที่เดียว แต่ก็ไม่ใช่ไปเสียเอง ไม่ใช่ไปเอง

แล้วก็ไม่บังคับให้มัน ที่มันจะไปก็ไปเอง มันจะอยู่ที่ก็อยู่ที่เอง ไม่ได้ไปขวนขวายอะไรเอง ฉะนั้นการปฏิบัติเจริญกรรมฐานไปเรื่อย ๆ เรื่อยๆๆๆ นี่ จึงเหมือนกับว่าการทำเข้าไปสู่ความเป็นปรกติ เหมือนกับการหยุด หรือเหมือนกับการที่ไม่ได้มีความขวนขวายอะไร แต่มันก็รู้อยู่สังเกตรับรู้สภาวธรรมต่าง ๆ อันนี้ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความฉลาดในการที่จะรู้จักจะดูแง่ต่าง ๆ บางครั้งเราอ่านตัวเองไม่ออก

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 2:54 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในขณะที่ปฏิบัติไป ๆ แต่มันตกไปอยู่ในลักษณะที่ไปจ้องจับไปติดตามไปเพ่งเล็งไปค้นหา ซึ่งตกเป็นเครื่องมือของกิเลสคือตัณหาอุปาทาน ความอยากความยึด ทำ ๆ ไปนี่เจริญสติไปดูไป ๆ แล้วก็ไปจ้องไปจับไปค้นไปฝักใฝ่อยู่ ตัณหาเข้าไปบงการแล้วเข้าไปเคลือบในจิต วิธีที่จะให้มันไม่เป็นเครื่องมือของตัณหาก็มาจับเอาแง่ของการตรงที่ว่า จะหยุดนะ คือไม่เอา ไม่ได้ไปทำอะไรแล้ว คือไม่ห่วงในการที่จะรู้ จะลองอยู่เฉย ๆ ดูบ้างซิ

นั่งไปจะอยู่เฉย ๆ ดูบ้าง จะไม่ขวนขวายอะไรทั้งหมด จะไม่เอาไปดูทางนั้นดูทางนี้ จะอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องอยากรู้อะไร อันนี้เป็นวิธีที่จะแก้การไม่ตกเป็นเครื่องมือของตัณหา แต่ก็ไม่ใช่บังคับให้มันหยุดนะ จะหยุดนี่ก็คือไม่ได้บังคับ เหมือนคนจะอยู่เฉย ๆ จะทำตัวเองอยู่เฉย ๆ แต่เป็นคนที่อยู่เฉยแบบรู้ไม่ใช่นั่งแบบใจลอย คนนั่งเฉย ๆ แต่ว่าเขารู้ตัวอยู่เขามีกระแสการรู้ตัว เห็นปรากฏการณ์ในตัวเองว่าจะไปยังไงจะอะไรยังไง

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตมันหยุดอยู่ไม่ได้ทำจิตให้ฝักใฝ่ค้นคว้าอะไร แต่จะทำจิตให้มันหยุด มันก็จะรู้ตัวมันเอง จิตมันจะเกิดรู้ตัวมันเอง พอจิตมันหยุดด้วยการที่ว่ามันไม่ฝักใฝ่มันก็จะกลับมารู้ตัวมัน ตัวรู้น่ะจะเกิดรู้ตัวรู้ขึ้น แล้วก็ไม่ได้บังคับ เมื่อไม่ได้มีการบังคับก็จะเห็นว่ามันแกว่งได้ จิตนี่มันจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ไม่กี่ขณะเดี๋ยวมันก็แกว่ง แกว่งก็รู้ ไม่ได้บังคับว่ามันจะต้องหยุดอยู่ มันส่ายไปรับรู้ก็รู้ รู้แล้วก็ปล่อย ไม่ฝักใฝ่ไปในอารมณ์

อันนี้เรียกว่าเหมือนกับเรารบก็ต้องมีกลยุทธ รุกไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง หยุดกับที่บ้างอะไรบ้างเพื่อจะแก้เกมต่าง ๆ ของการปฏิบัติ บางครั้งเราทำไปๆๆ มันกลายเป็นทำด้วยตัณหาด้วยความอยากความยึด อุปาทานยึด ตัณหาหลุดไปก็ด้วยการที่ว่าหยุดคือไม่เอาอะไร ทำใจว่าจะอยู่เฉย ๆ ไม่เอาอะไร ไม่อยากได้อะไร ตัณหาก็หลุดไป ขณะนั้นจิตจะเบาด้วยพอตัณหามันหลุดไปนี่จิตจะเบา

จิตจะเบาตัวผ่องใส จิตจะผ่องใสถ้าหากว่าจิตคลายจากอุปาทาน อุปาทานทำให้จิตมันหนัก คือทำ ๆ ไป คือดูไปจ้องไปจะเอาให้ได้ การที่ทำกรรมฐานอยู่นี่แล้วทำด้วยความที่จะเอาให้ได้มันตกเป็นเครื่องมือของอุปาทาน ของตัณหาอุปาทาน จิตก็หนัก เราก็ต้องแก้เกมใหม่ว่าไม่เอาอะไรแล้ว อยู่เฉย ๆ แต่ก็เป็นเหมือนกับจิตมันกลวงคืออยู่เฉยแต่รู้ตื่นอยู่ จิตมันก็จะเบา เบา ผ่องใส

ตานี้บางครั้งมันก็ต้องลุกบ้างนะ ใส่ใจบ้างสังเกตบ้างลงไป ถ้ารู้สึกมันล่องลอยมันเบลอมาอยู่ คือการที่ทำจิตให้หยุดให้ปล่อยนี่มันมาอยู่ในจุดที่หมิ่นเหม่ หมิ่นเหม่ในการที่จะล่องลอย ฉะนั้นบางครั้งก็ต้องใส่ใจลงไปบางขณะ ใส่ใจสังเกต ปรับผ่อน คือนึกอยู่ เราต้องมีคำสอนที่กำกับในใจเราไว้ว่า หนึ่งเราจะต้องพยายามเข้าไปสู่ความเป็นปรกติไว้ นึกถึงลักษณะของความปรกติไว้ ปรกติคือมันจะต้องไม่บังคับนะ มีคำสอนในใจว่าจะต้องไม่บังคับ

ดำเนินเข้าไปสู่ความไม่บังคับ สังเกตว่าในขณะนั้นมีการบังคับไหม ถ้ามีการบังคับก็ผ่อนเสีย ผ่อนตาม ผ่อนไปๆๆๆ มันก็หลุดมันก็เบา แล้วดูจังหวะเหมือนกับการหายใจเหมือนกันนะ หายใจที่จะให้มันสละสลวยนุ่มนวลก็ต้องฉลาดในการที่จะหายใจ คือรู้จักผ่อนจังหวะ จังหวะไหนที่จะหายใจเข้า จังหวะไหนที่จะหายใจออก คือให้เขาเป็นไปของเขาเอง คอยผ่อนตามเขา เขาจะเริ่มหายใจเข้าก็ให้เป็นเรื่องของเขาเอง เขาจะหายใจออกก็เป็นเรื่องของเขาเอง ทำอยู่อย่างนั้น

ตานี้ผู้ปฏิบัติบางครั้งไม่รู้ตัวไปหายใจเสียเองไปทำเสียเองมันจึงเกิดการอึดอัด คับอกคับกาย เวลาอยู่ดี ๆ ไม่ได้เจริญสติกำหนดลมหายใจก็เห็นหายใจสบายดี แต่เวลาพอไปดูลมหายใจทำไมมันอึดอัด นั่นเพราะว่าไปเปลี่ยนแปลงระบบการหายใจ ฉะนั้นจะต้องปล่อยเขาเป็นธรรมชาติของเขา คือเขาจะไม่หายใจก็ปล่อยเขาไม่หายใจ คือลมหายใจเขาจะไม่หายใจก็ปล่อยเขาไป จะไม่หายใจก็ไม่หายใจ จะนิ่ง เดี๋ยวพอถึงจุดหนึ่งมันก็สูดลมเข้าเอง เข้าไปแล้วก็ไม่ต้องไปดันลมออกมา

ให้มันเข้าไปสุดของมัน มันจะไม่หายใจออกก็ช่างมัน เดี๋ยวมันก็หายใจออก หายใจออกแล้วมันจะไม่หายใจเข้าก็ปล่อย ให้เขาหายใจของเขาเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ลมหายใจละเอียดได้ไว มันจะไม่อึดอัด เพราะการที่อึดอัดนี่คือลมมันถูกกัก ลมมันมีลักษณะในการทำให้ตึง เมื่อลมถูกกักมันก็ทำให้ตึงตรงนั้นตึงตรงนี้ เดี๋ยวมันก็ตึงไปถึงสมองเพราะลมมันผ่านขึ้นสมองได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ปรับผ่อน หายใจปรับผ่อน

ส่วนอื่นก็เหมือนกัน ในด้านจิตใจก็เหมือนกันก็ไม่บังคับ สังเกตให้ดีบางครั้งคอยจะไปบังคับจิตจะให้คงอยู่กับอารมณ์นี้ บังคับให้คงอยู่กับอารมณ์นี้ นั่นคือบังคับแล้ว จิตบางครั้งมันเบน ขณะที่ดูอารมณ์นี้อยู่นี่แต่มันจะเบนไปที่อื่นแล้ว

<<<จบ>>>

http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง