Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ดูผู้รู้...พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 2:44 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดูผู้รู้
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)

นมตถุ รตนตตยสส ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอความผาสุกความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย



ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นในด้านการปฏิบัติวิปัสสนา ท่านที่เข้าใจแล้วฟังใหม่ก็จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น ที่ไม่เข้าใจก็จะได้เข้าใจขึ้น เรื่องของการเจริญวิปัสสนาเป็นเรื่องของการสร้างปัญญาปลูกปัญญา พัฒนาจิตใจให้มีปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาก็เป็นปัญญาที่รู้ความจริง

ความจริงก็คือรูปคือนาม รูปนามจัดเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีอยู่เป็นอยู่จริง ๆ วิปัสสนานั้นต้องระลึก สติต้องทำหน้าที่ระลึกรู้ให้ตรงต่อรูปนาม เพราะฉะนั้นสติต้องทำหน้าที่ระลึกให้ตรงต่อรูปต่อนามที่ปรากฏเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือชั่วขณะที่กำลังปรากฏ ขณะที่สติทำหน้าที่ระลึกก็รักษาความเป็นปรกติ มีความสงบ มีความปรกติ มีสภาพระลึกรู้ มีสภาพปล่อยวาง ให้เป็นไปพร้อม ๆ

ฉะนั้นต้องระลึกให้ตรงในรูปนามที่ปรากฏทั้งในส่วนทางกายทั้งในส่วนทางจิตใจ ทางกายก็มีความรู้สึกเป็นเพียงความรู้สึกตึงหย่อน ไหว เย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ทางจิตใจก็เป็นสภาพรู้อาการในจิตใจที่เป็นความสงบก็ดี ความไม่สงบก็ดี ความชอบความไม่ชอบ เหล่านี้คือปรมัตถธรรม ตลอดทั้งการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น รู้รส สีสันเสียงกลิ่นรส เหล่านี้ก็เป็นปรมัตถธรรม ต้องสำเหนียกต้องระลึกต้องสังเกตสภาวธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ที่กำลังปรากฏ

เริ่มการระลึกทางกายเพราะว่าทางกายเป็นของหยาบของปรากฏชัดที่รู้ได้ง่าย ก็สังเกตทางกายไป ความรู้สึกเคลื่อนไหว ตึงหย่อนไหว เย็นร้อนนี่กำหนดรู้ได้ง่าย ก็หัดดูหัดรู้ในความรู้สึกเหล่านี้ ต่อไปก็ดูเข้าไปถึงจิตใจ ความนึกความคิดความรู้สึกต่าง ๆ ในจิตในใจที่ปรากฏ เมื่อดูสัมผัสสัมพันธ์เข้าไปถึงจิตใจ เวลาที่รู้มาทางตาทางหู มันก็จะได้รู้แค่ปรมัตถธรรม ไม่ขยายเลยออกไปเป็นสมมุติ ไม่ออกไปเป็นรูปร่างเป็นความหมาย

เพราะว่าสติมันจะสัมผัสสัมพันธ์กลับมาสู่จิตใจอยู่เสมอ เวลาจิตมันจะหลุดจากฐานภายในออกไปทางประตูตาประตูหู สติมันก็ระลึกความไหวออกไป หรือธรรมชาติที่ปรากฏทางตาทางหู พร้อมกันนั้นมันก็ระลึกรู้จิตใจต่อเนื่องกัน การที่มันรู้จักจิตใจได้ต่อเนื่อง มันก็จะไม่ขยายตัวออกไปในสมมุติบัญญัติแห่งความหมายแห่งรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น ของสิ่งที่ได้ยิน

ถ้าหากว่าเราไปตั้งใจจะดูทางตาหรือจะไปดูทางหูให้ได้แค่ปรมัตถ์ มันไม่ได้มันจะเลยไปหมด เพราะไปจดจ้องไปเพ่งเล็งไปตั้งใจที่จะจ้องเพ่งเล็งเฉพาะปรมัตถ์ มันไม่อยู่แค่ปรมัตถ์หรอก ก็เลยไปเป็นสมมุติเพราะความเร็วของจิต แรงผลักแรงจ้องมันมากไป แต่ถ้ารู้อยู่ภายในอยู่ ดูในจิตในใจ ดูในความรู้สึกภายในอยู่ เวลาเสียงมากระทบจิตมันไหวออกไป ก็รู้ความไหวของจิต แล้วก็รู้สภาพได้ยินโดยธรรมชาติ มันรู้โดยธรรมชาติโดยไม่ต้องตั้งใจที่จะไปกำหนดได้ยินเสียง มันก็ได้ยิน

แต่จะเห็นจิตที่ไหวและก็พิจารณาจิตใจ ความรู้สึกปฏิกิริยา อย่างนี้แล้วมันก็จะทรงอยู่ในกรอบ จิตจะอยู่ในกรอบ คือจะอยู่ในจิต ในกายในจิตในสภาวะ วนเวียนอยู่ภายใน ถึงจะรับไปทางตาหรือทางหูมันก็จะอยู่แค่เห็นแค่ได้ยิน แค่รู้กลิ่นทางจมูก แค่รู้รส เพราะมันมีการสัมผัสสัมพันธ์ต่อจิตใจ มันเหมือนกับมีเครื่องผูกอยู่ เหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกาที่มันร้อยผูกไว้ ถึงมันจะแกว่งไปมันก็แกว่งกลับมาได้ เหมือนว่าวที่มันมีสายโยงใยอยู่ มันก็ไม่หลุดออกไป

ฉะนั้นฐานจิตฐานใจนี่ต้องดูให้เป็น เราดูจิตใจให้เป็นก็จะผ่าน การปฏิบัติมันก็จะพัฒนาจะก้าวหน้า แล้วก็แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ถ้าดูจิตใจไม่เป็นมันจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้ ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ เช่น การที่จิตใจติดอยู่ในนิมิต จิตไปติดอยู่ในอารมณ์ทางกาย หรือในความว่าง ถ้าดูจิตใจไม่เป็นแล้วมันก็จะแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ คอยจะติดไปตามนิมิตเรื่อยไป ติดในความว่างเรื่อยไป ความวิปริตทางกายที่เกิดขึ้น มันก็จะแก้ไม่ได้เพราะมันล้ำเกินไป ไปดูทางกายมันล้ำ พอล้ำไปมันเป็นสมมุติ มันเป็นมายาให้รู้สึกกายนี้มันหมุนมันเวียน มันขึ้นมันลง

มันไปอย่างนั้นมันไปอย่างนี้ เรียกว่ามันเกินเลย มันขยายออกไปเป็นสมมุติเป็นความหมาย มันมีการไปการมา การหมุนการวนการเวียน การใหญ่การเล็ก การสูงการต่ำ การเข้าการออก นี่มันเป็นเรื่องความหมายเป็นบัญญัติอารมณ์ เพราะดูจิตดูใจไม่ออกไม่เป็น มันก็จะดูล้ำเกินไปเน้นเกินไปจ้องเกินไปทางกายเท่านั้น ขยายๆๆขยายไปสู่สมมุติ เกิดเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา ถ้ามันมีความวิปริตทางร่างกายอย่างไร มันก็แก้ไม่ได้เพราะว่ายังไปจดไปจ้องไปสร้างภาพสร้างความหมายอยู่อย่างนั้น

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 2:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แต่ถ้าดูจิตดูใจเป็น การรับรู้ทางกายเขาก็จะรู้พอเหมาะพอควร รู้แค่สภาวะรู้แค่ปรมัตถธรรม รู้แค่ความรู้สึก รู้สึกในส่วนย่อย ๆ ต่าง ๆ ไม่ไปประมวลเอาความรู้สึกออกมาประติดประต่อจนเป็นความหมาย หมุนวนหมุนเวียนขึ้นลงอะไรไปต่าง ๆ เพราะเมื่อดูจิตดูใจมันจะตัดสมมุติออกไป เพราะตัวที่ผลิตสมมุติมันคือจิตใจที่กำลังปรุงแต่ง กำลังตรึก กำลังนึก กำลังคิด กำลังจดจำ กำลังปรุงสร้างภาพ นี้คือตัวต้นกำเนิด

เมื่อสติมันมาดูที่จิต ดูใจดูความปรุงดูความคิดนึก เขาก็ยุบตัวของการที่จะตรึกนึกขยายสร้างภาพออกไป บัญญัติมันก็อันตรธานไปอย่างหนึ่ง แม้การจะไปรู้ที่กายมันก็กลับรู้จิต พอรู้กายมันก็มารู้จิต การรู้กายมันก็เลยรู้แค่รู้สึก ๆ ไม่ขยายไม่เลยไม่ล้ำหน้าไป ไม่เลยเถิดไม่เกินเลย ฉะนั้นการดูจิตใจจะเหมือนกับการรักษากรอบ คือรักษาการรับรู้ให้มันอยู่ในกรอบ มันไม่ออกไม่นอกกรอบ สติสัมปชัญญะจะรับรู้อะไร มันก็จะวนเวียนกันอยู่ภายใน

ฉะนั้นผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องทำความเข้าใจ จะต้องฝึกหัดในเรื่องการดูจิตดูใจให้เป็น จิตใจมันคือธรรมชาติอย่างไร จิตมันก็เป็นธรรมชาติที่รับรู้ มันเป็นสภาพรับรู้อารมณ์หรือบางทีมันนึกคิด เวลามันนึกคิดวิพากย์วิจารณ์ไปในเรื่องต่าง ๆ นั่นน่ะเขาหันมารู้ที่ความนึกคิดที่ความตรึกนึก เหล่านี้เรียกว่ากลับมาที่จิตใจดูที่จิตใจ หรือว่าดูอาการในจิตที่มันมีอาการไปต่าง ๆ มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นต่าง ๆ เช่น มันรู้สึกว่าสบายหรือมันไม่สบาย มันสงบหรือมันไม่สงบ มันขุ่นมัวหรือมันผ่องใส มันอิ่มเอิบเบิกบานใจหรือมันเศร้าหมอง

มันเร่าร้อนกระสับกระส่ายกระวนกระวายในจิตในใจ นี่ต้องหัดมาดูมารู้ในสิ่งเหล่านี้ หรือมันเฉย ๆ มันนิ่ง ๆ มันสงบ ๆ นี่มันมีรายการต่าง ๆ เขาเรียกว่าปฏิกิริยาหรือความรู้สึกหรืออาการในจิตหรือความรู้สึก แล้วแต่เราจะเรียก มันมีต่าง ๆ ให้หัดดูหัดรู้ หัดสังเกตเข้ามาที่จิตที่ใจนี้ถ้าปฏิบัติวิปัสสนา ดูจิตใจไม่เป็นมันก็ลำบาก การปฏิบัติมันก็จะไปไม่ได้ แก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ ไม่ได้ ทีนี้ถ้าหากว่าดูจิตดูใจเป็น เวลาจิตมันจะมีนิมิตเกิดขึ้นเป็นภาพอะไรต่าง ๆ ก็ตาม

พอสติมันย้อนดูที่จิต นิมิตก็จะหาย ก็เป็นการตัดนิมิตออกไปได้ เวลามันมีความว่างเป็นอารมณ์ พอมาดูที่จิตความว่างก็หายไป มีสภาวะให้รู้ให้ดูเป็นอารมณ์ของสติ อย่างนี้เป็นต้นจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แม้มันจะมีอาการวิปริตทางกาย กายมันโยกมันโคลงมันไหวมันมีความเคร่งตึงก็ดี เมื่อดูจิตดูใจเป็นมันก็จะหายไป รักษาความเป็นปรกติได้

ฉะนั้นจึงต้องเน้นว่าผู้ปฏิบัติมาแล้ว ฝึกมาแล้วมามากแล้วก็ต้องดูจิตใจให้เป็น ดังที่กล่าวแล้ว ดูตั้งแต่ว่ามันนึกคิด จิตมันคิดนึกคิดไปในเรื่องต่าง ๆ ก็ระลึกรู้ที่ความนึกคิดให้เป็น เมื่อจิตมันมีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวแล้วก็ระลึกรู้ไป หัดสังเกตในจิตในใจ แล้วยิ่งไปกว่านั้น จิตที่มีสภาพไม่ได้คิดไม่ได้นึกเป็นสภาพที่ทรงตัวอยู่รู้อยู่ ก็ต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้ให้ออก จิตประเภทนี้ให้ออก จิตที่ทรงตัวด้วยสติสัมปชัญญะอยู่นี่มันไม่ได้คิดไปไหน มันกำลังรับรู้อยู่ภายใน

เป็นผู้ดูอยู่เป็นผู้รู้อยู่ สติจะต้องระลึกถึงจิตประเภทนี้ให้ออกด้วย มิฉะนั้นแล้วมันก็จะมีปัญหาตรงที่ว่า กายก็ละเอียด ลมหายใจก็ละเอียด ไม่ปรากฏกาย รู้สึกไม่ปรากฏ จิตใจก็สงบ คิดก็ไม่ได้คิด นึกก็ไม่มี มันนิ่งมันเฉย แต่มันมีตัวรู้ตัวผู้รู้อยู่ เมื่อกำหนดตัวรู้ตัวผู้รู้ไม่ออกมันก็หาอะไรไม่เจอ ไม่มีอะไรจะดู เมื่อไม่มีอะไรจะดูมันก็เคว้งคว้างก็ล่องลอย มันก็ลอย ๆ หรือนิ่งสงบแต่ไม่รู้อะไร นี่ก็คือมันเป็นปัญหาอย่างนี้ ถ้าหากบุคคลใดกำหนดตัวผู้รู้เป็น มันจะมีให้รู้ให้ดูได้ตลอดเวลา

ตัวผู้รู้คืออะไร ก็คือจิตที่ผสมอยู่กับสติ จิตที่มันมีสติอยู่นั่นแน่ะ มันมีสติระลึกมีสัมปชัญญะมันเกิดร่วมกับจิต ทำงานร่วมกันอยู่ เป็นผู้รู้สภาวะอยู่ ยกตัวอย่างเช่นว่า กายเคลื่อนไหวแล้วก็มีผู้รู้ไปดูการเคลื่อนไหว มีผู้รู้กำลังไปดูความรู้สึกเคลื่อนไหว นี่เท่ากับว่าความไหวก็อันหนึ่ง ผู้รู้ก็อันหนึ่ง จะต้องระลึกรู้ทั้งสองอันนี้ คือรู้ความไหวด้วย รู้ตัวผู้รู้ด้วย ในขณะนั้น ๆ ต้องฝึกหัดรู้ความไหวด้วยรู้ตัวผู้รู้ด้วย ผู้รู้นั้นกำลังรู้อะไร กำลังรู้ความไหวเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สติที่เกิดขึ้นมาที่หลังมันก็เป็นผู้รู้เหมือนกัน แต่มันไปรู้ผู้รู้ ขณะหนึ่งมันไปรู้ความไหว ขณะหนึ่งมารู้ผู้รู้ ก็เหมือนกับมันรู้ตัวมันเอง แต่มันคนละขณะกัน ผู้รู้อันใหม่มารู้ผู้รู้อันเมื่อกี้นี้หยก ๆ นี่คือตัวอย่างอันหนึ่ง

หรืออันอื่น ๆ ก็เหมือนกัน ผู้รู้กำลังรู้อะไรอยู่ เช่น กำลังไปรู้ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงอันหนึ่ง ผู้รู้ที่ไปรู้เสียงอีกอันหนึ่ง คนละอันกัน ได้ยินอันหนึ่ง ผู้รู้เสียงอีกอันหนึ่ง จะต้องทำสติระลึกทั้งการได้ยินเสียงทั้งผู้รู้ได้ยิน สติจะต้องระลึกได้ยินเสียง แล้วก็ระลึกผู้รู้เสียงรู้ได้ยิน ไอ้ตัวที่เข้าไปรู้ผู้รู้ก็เป็นผู้รู้ด้วยกัน คนละอันกัน นี่ก็ยกตัวอย่างให้ฟัง

หรือว่ามันมีความปวด ปวดขาเหลือเกิน ปวดหลังเหลือเกิน ปวดเข่าเหลือเกิน ความปวดอันหนึ่ง ผู้ที่เข้าไปรู้ความปวดก็อีกอันหนึ่ง คนละอันกัน คนละธรรมชาติ คนละอย่างกัน ปวดอันหนึ่ง ผู้รู้ปวดอันหนึ่ง สติที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องนั้นจะต้องระลึก ไม่ระลึกแค่ความปวดเท่านั้น ระลึกตัวผู้รู้ด้วย ปวดอันหนึ่ง ผู้ไปรู้ความปวดอีกอันหนึ่ง สติเกิดขึ้นมาก็ระลึกตัวผู้รู้ที่กำลังไปรู้ความปวดจะเห็นว่า ปวดก็อันหนึ่ง ผู้รู้ก็อันหนึ่ง ต้องหัดไปอย่างนี้ ถ้าใครที่หาจิตหาใจไม่เจอ หัดดูผู้รู้ไว้เรื่อย ๆ

แม้แต่ว่ามันคิดอยู่ คิดนั้นก็คือจิตนั่นแหละ คิดๆๆคิดถึงเรื่องต่าง ๆ พอมีสติไปรู้ความคิด สติก็เหมือนเป็นผู้รู้ไปรู้ความคิด ขณะต่อมากระชั้นชิดนั้น มันก็มีผู้รู้เกิดขึ้นมาไปรู้ตัวผู้รู้ที่กำลังไปรู้ความคิดอีกอันหนึ่ง สรุปแล้วว่ารู้ความคิดด้วย รู้ผู้รู้ต่อความคิดด้วย ความคิดอันหนึ่ง ผู้รู้ความคิดอันหนึ่ง เข้าใจไหม คิดอันหนึ่ง ผู้รู้คิดอีกอันหนึ่ง สติจะต้องระลึกทั้งความคิดทั้งผู้รู้ความคิด หัดไปอย่างนั้นเรื่อย ๆ

ฉะนั้นตัวผู้รู้นี่มันก็จะเกิดขึ้นขณะที่มีสติ สติระลึกรู้อะไรก็แสดงว่ามีผู้รู้เกิดขึ้น ผู้รู้แบบนี้เป็นผู้รู้ที่เป็นไปพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็จะเห็นความหมดไป ความดับไป ความสิ้นไปของผู้รู้หรือของจิต จะเห็นการดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่กำลังเข้าไปรู้นั้นก็ดับทันที แว้บไปทันที พอรู้ก็ไม่ทันขยับอะไรหรอก พอรู้ก็หายเลย

เพราะว่าโดยจริง ๆ แล้วมันไปรู้ในสิ่งที่ดับไปแล้วด้วยซ้ำถ้าว่าโดยปริยัติโดยสภาวะจริง ๆ มันไม่ใช่ว่ามันเกิดซ้อนกันสองดวงหรอก ผู้รู้กับผู้รู้ซ้อนกันไม่ได้ จิตต่อจิตมันซ้อนกันไม่ได้ แต่มันหมาด ๆ ผู้รู้อันหนึ่งดับไป ผู้รู้อันใหม่ไปคว้าผู้รู้ นี่มันหมาด ๆ มันหยก ๆ แต่ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติแล้วเหมือนกับว่ามันรับได้นิดหนึ่ง มันคล้อยตัวรับแล้วก็หายวับ นี่ทำให้เห็นความเกิดดับ

ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้ เวลาที่จิตใจมีความสงบ จิตมีความสงบก็มีสติหรือมีผู้รู้เข้าไปสังเกตความสงบ มันก็เท่ากับมีความสงบอันหนึ่ง มีผู้รู้ความสงบอันหนึ่ง สติที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องกันนั้นก็ไม่ใช่รู้เฉพาะความสงบมันไปรู้ตัวผู้รู้ ตัวที่กำลังดูความสงบนี่จะต้องถูกรู้บ้าง ฟังเข้าใจหรือไม่ ความสงบอันหนึ่ง ผู้รู้ความสงบอันหนึ่ง แล้วก็มีผู้รู้ดูผู้รู้อีก รู้ได้อีก มันจะรู้อีกก็รู้ต่อได้อีก ผู้รู้ไปดูผู้รู้ ผู้รู้อีกอันไปดูผู้รู้อันเมื่อกี้ ถ้าจะใส่ตัวเลขก็เหมือนกับว่า ตัวที่สองดูตัวที่หนึ่ง ตัวที่สามดูตัวที่สอง ตัวที่สี่ดูตัวที่สาม ถ้าเราสติดี สติสัมปชัญญะดีมันจะดูได้ต่อ ต่อๆๆๆต่อกัน จะเห็นความหมดๆๆหมดไปของจิต

ทีนี้ขณะที่ตัวที่สองดูตัวที่หนึ่ง ตัวที่สามดูตัวที่สอง ความรู้สึกทางกายมันเกิดย้อนขึ้นมา มันก็กลับไปรู้ความไหว มันไม่ใช่รู้ได้ตลอด เพราะเราไม่ได้บังคับ ถึงบังคับมันก็ทำไม่ได้ รู้ผู้รู้อยู่ มันก็อาจจะไปรู้ความไหวที่กาย รู้ไหวกาย ๆ อ้าว รู้ตัวรู้ได้อีก รู้ตัวผู้รู้ไป รู้ไหวกายรู้ว่าผู้รู้ อ้าว รู้ความรู้สึกในจิตอีก ดูความสงบ ดูผู้รู้อีก ดูความสงบได้อีก หรือดูความคิด มันเผลอ คิด ๆ อ้าวรู้ หรือมันสงสัย รู้ความสงสัย หรือมันชอบ ดูความชอบ หรือมันไม่ชอบ รู้ความไม่ชอบ มันไหวกายรู้ไหวกาย บางทีก็ไปรู้ได้ยินเสียง สลับ

ที่กล่าวนี้ ในความเป็นจริงแล้วต้องเร็วมาก มันเร็วมากเพราะสภาวะมันเร็ว สติสัมปชัญญะก็ต้องเร็วด้วย แต่เอามาพูดให้มันช้าลง ยกตัวอย่างทีละอัน ๆ แต่ว่ามันไม่ใช่ว่าเป็นไปตามระเบียบอย่างนี้เสมอไป มันจะสลับสับเปลี่ยนของมันอย่างไรก็แล้วแต่

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 3:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มันเป็นดวงไม่ใช่อย่างนั้น คือภาษาสมมุติ ธรรมชาติที่เป็นสภาพรู้ ถ้าพูดจริง ๆ แล้ว ธรรมชาติที่เป็นสภาพรู้ สภาพที่รู้ ที่นี้มันยาวเขาก็เลยใช้คำว่า “ตัว” ก็อย่าไปเข้าใจว่ามันเป็นตัวจริง ๆ ตัวเป็นก้อนเป็นกลมเป็นแบน ไม่ใช่ สภาพรู้ก็เป็นเพียงไม่มีสรีระไม่มีรูปร่างเป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นสิ่งที่ไม่เป็นรูปร่างสัณฐาน ฉะนั้นการจะไปรู้อย่างนี้มันก็ต้องมีความแยบคาย มีความละเอียดละออ

สติสัมปชัญญะจะต้องมีความนุ่มนวลละเอียดละออจึงไปสัมผัสกันได้ ไม่ใช่ว่าจะดูแบบหยาบ ๆ มันก็ไม่เห็นหรอก จะไปพยายามจ้องเพ่งค้นหามันก็ไม่เห็นเพราะมันหยาบ ๆ มันก็ไม่เห็นหรอก จะไปพยายามจ้องเพ่งค้นหามันก็ไม่เห็นเพราะมันหยาบ เป็นเครื่องมือที่หยาบ ของละเอียดก็ต้องใช้ความละเอียดเข้าไปจับด้วยกัน ฉะนั้นสติสัมปชัญญะมันจะมีความละเอียดอ่อนมันก็ต้องมีความพอดีของมัน

หัดดูอะไรก็ดูอย่างนิ่งปล่อยวาง วางเฉย เป็นปรกติ มันจะสังเกตได้ว่า ตัวผู้รู้มันจะมีอาการนิ่ง ๆ มีอาการสงบ ๆ มีอาการปรกติ ๆ ของมัน สิ่งที่ถูกรู้อาจจะไหวไปไหวมา เคลื่อนไหวฉูดฉาด แต่ตัวที่รู้นี่มันจะนิ่ง ๆ ของมัน ฉะนั้นมันจะสังเกตอาการในผู้รู้ว่า มันมีความนิ่ง มีความสงบ มีความปรกติ แต่บางขณะมันก็ไม่ปรกติ มันเกิดตื่นเต้นหวั่นไหว หรือว่าสังเกตลักษณะของมันรับรู้ผู้รู้ วน ๆ กันอยู่อย่างนี้

ฉะนั้นพูดวันนี้มันก็จะพูดอยู่ที่ผู้รู้นี่ พูดให้รู้เรื่องกันไปซะทีหนึ่ง พูดซ้ำ ๆ กันอยู่ ก็พยายามจะอธิบายให้ฟัง ยกตัวอย่างให้ฟัง แล้วก็มันต้องปฏิบัติ ฟังแล้วก็ต้องทำ ฟังแล้วก็ทำ อาจจะฟังแล้วก็ทำทันที แล้วก็เข้าใจ แล้วก็รู้ทันที ไม่งั้นมันลืม เลยไปจากนี้ไปก็ลืมแล้ว

ในความนิ่ง ๆ บางทีก็หัดอยู่นิ่ง ๆ ในความนิ่ง ๆ...แต่สังเกตว่ามันมีรู้อยู่ มีผู้รู้อยู่ มีตัวรู้อยู่ นี่สังเกตได้นิดหนึ่ง ขณะนิดหนึ่งขณะหนึ่ง แล้วก็มีความไหว ไหวๆๆๆ ทางกายสลับเข้ามา ก็น้อมไปสังเกตผู้รู้ผู้ดู ความไหวก็รู้ ผู้รู้ก็รู้ ความสงบก็รู้ ความสบายก็รู้ ความนึกคิดก็รู้ การระลึกก็รู้ ความเข้าใจก็รู้ เห็นลักษณะธรรมชาติของสติไหม สติทำหน้าที่ระลึก ระลึกได้ มันระลึกขึ้นมา พอมีสิ่งใดปรากฏมันระลึกขึ้นมาได้ ระลึกก็คือเข้าไปรับรู้ ไม่เผลอไม่ล่องลอยไป ก็เห็นลักษณะของสติลักษณะของปัญญา มันเป็นตัวสังเกตเป็นตัวพิจารณาเป็นตัวเข้าใจ

เป็นตัวเห็นแจ้ง รู้แจ้งรู้สภาวะความจริง ปัญญานี้ก็ต้องถูกรู้บ้างเพื่อให้เห็นว่าปัญญานี้ก็สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่มันทำหน้าที่เป็นผู้เข้าใจในธรรม แล้วดับไป ปรากฏแล้วดับไป ไม่เป็นแก่นสาระของความเป็นตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา สติที่ทำหน้าที่ระลึก ระลึก ๆ ระลึกรู้ ๆ ก็ไม่ใช่เรา เมื่อสังเกตไปที่สติก็พบว่ามันสักแต่ว่าระลึกแล้วก็ดับไป ระลึกแล้วก็ดับไป มันเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนไม่ใช่เราของเรา

ตัวผู้รู้คือจิตที่ประกอบด้วยสติหรือมีปัญญาอยู่ด้วย มันก็สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเราของเราเหมือนกัน มันรู้มันก็หาย รู้หาย รู้หาย ๆ รู้หมดไปน่ะ พอรู้ขึ้นมาก็หมดไป รู้ขึ้นมาก็หมดไป ปัญญาที่เกิดขึ้นก็จะไปเห็นความหมดๆๆๆ หมดไปอย่างรวดเร็ว ก็ไม่ใช่ตัวตน สิ่งอะไรที่มันเกิดแล้วต้องหมดไป เกิดแล้วต้องหมดไป มันจะเอาตรงไหนเป็นตัวตน สิ่งที่มันหมดไปอย่างนี้มันจะเป็นตัวตนได้อย่างไร จะเอาตรงไหนเป็นตัวตน มีตรงไหนที่เป็นตัวตนได้ ฉะนั้นอุปาทานมันก็อาศัยไม่ได้ ความยึดมั่นถือมั่นไม่รู้จะอาศัยตรงไหนได้ จะให้มันยึดมันก็ยึดไม่ได้ เพราะสิ่งที่ปรากฏทุกอย่างมีแต่หมดๆๆ หมดไป

แล้วมันก็ไม่มีอะไรนอกจากนี้ ทางกายก็มีความไหว ความตึงความแข็ง ล้วนแล้วแต่ก็หมดไป สิ้นไป เวทนาที่กายที่ใจก็ปรากฏมีแต่หมดไป จิตใจอันเป็นตัวรู้ตัวผู้รู้ก็มีแต่หมดไป หมดไป ๆ แต่มันเกิดขึ้นเรื่อยนะ มันเกิดอีกแต่มันก็ดับไปอีก เกิดขึ้นอีกก็ดับไปอีก เกิดเร็วดับเร็ว เกิดปุ๊บดับปั๊บ เกิดตรงไหนดับตรงนั้น เกิดเมื่อไรดับเมื่อนั้น ไม่คอยเวลา บังคับก็ไม่ได้ อยากดับมันก็ดับ อยากเกิดมันก็เกิด มันเป็นไปธรรมชาติของมันอย่างนั้น เป็นความจริงอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อมันรู้เห็นอย่างนี้มาก ๆๆๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ จิตใจมันก็ยอมรับกับความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ ไม่เที่ยงก็คือไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ก็คือบังคับไม่ได้ คือจะให้เป็นอย่างอื่นมันไม่ได้ จะให้น้ำมันไหลขึ้นไปบนท้องฟ้า อย่างนี้มันไม่ได้ ฝนจะต้องตกลงมาข้างล่าง ก็ยอมรับมันก็คือต้องเป็นอย่างนี้ มันธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ในกายในจิตที่มันเกิดดับ มันเป็นไป มันก็เป็นของมันอย่างนี้ เป็นธรรมชาติที่จะต้องเป็นอย่างนี้จะให้มันเป็นอย่างอื่นมันไม่ได้ มันก็ยอมรับ เมื่อยอมมันก็หลวม มันก็ปล่อยมันก็วาง มันก็ว่าง มันก็อิสระ มันก็หลุดพ้นของมัน

ที่เราทุกข์ทุกวันนี้เพราะมันไม่ยอม ไม่ยอมจะเอาให้เที่ยงให้ได้ จะเอาให้เป็นอย่างนั้นจะเอาให้เป็นอย่างนี้ จะให้ได้อย่างนั้นจะให้ได้อย่างนี้ มันก็ทุกข์ ยิ่งภายนอกออกไปที่เป็นคนเป็นสัตว์ เราจะยึดให้เขาเที่ยงให้เขาเป็นไปตามความปรารถนามันเป็นทุกข์ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ภายในตัวของตัวเองยังบังคับไม่ได้ บุคคลอื่นสิ่งอื่นมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ฉะนั้นถ้ารู้ภายใน ภายในบังคับไม่ได้ ภายนอกมันก็บังคับไม่ได้เหมือนกัน รู้เท่ารู้ทันต่อธรรมชาติที่ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

การปฏิบัติวิปัสสนาจึงเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ปัญหาทั้งหลายมันไหลออกมาจากภายใน ในจิตในใจที่มันไม่รู้เรื่อง ที่มันมีอวิชชา มันไม่รู้ความจริง ที่มันมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ถ้าละกิเลสละตัณหาอุปาทานได้เสียแล้ว ปัญหาทุกอย่างมันก็หมดสิ้น ผู้ฉลาดนี่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ เหมือนกันในเรื่องสมมุติต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจ เป็นชื่อเป็นภาษา เป็นเรื่องเป็นราว เป็นความหมายเหตุการณ์ต่าง ๆ ต้นกำเนิดของมันก็คือจิตที่ปรุงแต่งอยู่นั่นแหละ กำลังตรึกกำลังนึกกำลังปรุงแต่ง วิพากษ์วิจารณ์วิจัย สงสัยจดจำอยู่อย่างนั้นแหละ นี่มันกำลังผลิตปรุงแต่งอยู่ ก็ต้องรู้ไปที่รังของมันจึงจะทำลายเหตุปัจจัยของจิตที่จะไหลไปสมมุติต่าง ๆ กิเลสมันก็อยู่ที่นั่นแน่ะ ปรุงกันที่ใจ กิเลสก็เกิดกันที่ใจ จะละก็ละกันที่ใจนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้นต้องหัดรู้ใจรู้จิตตัวเองให้เป็น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่นักปฏิบัติจะพัฒนาขึ้นไปได้ไม่ได้ ต้องดูจิตดูใจให้เป็นให้ออก ถ้าดูจิตดูใจเป็นแล้วมันก็เบาใจ มันรู้สึกว่าอุ่นใจได้เยอะ การปฏิบัติมันจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ มันจะพัฒนาของมันไปได้ ไม่มาบ่น ไม่มามีปัญหาว่าไม่มีอะไรจะดู ทำไปแล้วไม่เห็นมีอะไร มีแต่ว่างเปล่า มันจะไม่มีคำนี้ เพราะจิตใจเขาเกิดดับเกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา มีให้ดูให้รู้ตลอด เพราะฉะนั้นต้องหัดสังเกตจิตใจ

<<<มีต่อ>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 3:11 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าว่าโดยหลักแล้วจิตเขาก็จะมีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขารผสมอยู่ด้วย รวมเป็นนามขันธ์สี่ วิญญาณขันธ์คือจิตคือธาตุรู้ แล้วก็มีเวทนาขันธ์ผสมอยู่ด้วย มีสัญญาขันธ์ผสมอยู่ด้วย ความจำเรียกว่าสัญญา มีสังขารขันธ์ผสมอยู่ด้วย สังขารขันธ์ก็มีหลายชนิดหน่อย ฝ่ายไม่ดีฝ่ายบาปก็มีความหลง ความฟุ้งซ่าน ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป มีความโลภ มีความเห็นผิด มีความถือตัว

มีความโกรธ มีความตระหนี่ มีความรำคาญหงุดหงิด มีอิจฉาริษยา มีท้อถอย หดหู่ท้อถอย มีสงสัย นี่คือสังขารขันธ์ฝ่ายอกุศลฝ่ายไม่ดี มันจะปรุงอยู่ในจิตในใจอยู่ แล้วแต่อันไหนจะเกิด ถึงไม่ดีมันก็เป็นธรรมชาติเป็นปรมัตถ์เป็นสิ่งที่เกิดดับ ป้อนให้เกิดปัญญา แสดงความเกิดความจางความดับความบังคับไม่ได้ให้เห็น ความโกรธความโลภความหลงนี่เป็นปรมัตถ์ทั้งนั้น เกิดขึ้นมาก็ดูก็รู้อาการของสิ่งเหล่านี้

ฝ่ายดีฝ่ายบุญก็มี เช่น ศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส สติความระลึก หิริความละอายต่อบาป โอตตัปปะเกรงกลัวต่อบาป ตรงกันข้ามกับอกุศลที่กล่าวเมื่อกี้นี้มันเป็นอหิริกะอโนตต้ปปะ ไม่ใช่หิริ หิรินี่ฝ่ายดี หิริละอายต่อบาปเป็นฝ่ายดี อหิริกะเป็นฝ่ายบาปคือไม่ละอาย โอตตัปปะเกรงกลัวต่อบาปเป็นฝ่ายดี อโนตตัปปะไม่เกรงกลัวต่อบาปเป็นฝ่ายไม่ดี ก็มีตัวตตตรมชฌตตา เป็นกลางเป็นธรรมชาติที่ทำให้ธรรมชาติที่เกิดร่วมกับตนสม่ำเสมอ

เป็นองค์ธรรมของอุเบกขาสัมโพชฌงค์องค์ของความตรัสรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีความสม่ำเสมอในจิต สติ วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นทำงานอยู่นี้ให้มันสม่ำเสมอไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน พอดี ๆ สังเกตอยู่ในจิตใจต้องพอดิบพอดีเป็นกลาง ไม่เพ่ง ไม่เผลอ ไม่ดึงไม่ดัน รู้แต่ก็ละ ละแต่ก็รู้ รู้แล้วไม่ละมันก็ยึดเลย รู้แล้วยึด รู้ด้วยอยาก อยากแล้วก็ยึดนี่มันไม่ได้ละ รู้ต้องละ ละก็ไม่ใช่ละเลยแต่ละก็ยังรู้อยู่ ดูแต่ไม่เอา รู้แต่ไม่เอา ไ ม่เอาแต่ก็ยังรู้

ฉะนั้นต้องมีรู้อยู่เสมอวิปัสสนา แต่ไม่ไปยึดไม่ไปอยากไม่ไปเอา มันมีความปล่อยวางอยู่ รู้แต่ปล่อยวาง ปล่อยวางอยู่แต่ก็ยังรู้อยู่ มันก็จะทำให้เกิดความสม่ำเสมอ เกิดความพอดิบพอดีความเป็นกลาง มีความเมตตาปรารถนาดีนี่ก็ปรุงอยู่ในจิต ถือว่าเป็นสังขารขันธ์ มีกรุณาความสงสารอยากจะช่วยเหลือเขาที่เขามีความทุกข์ที่เขาไม่รู้ อยากจะช่วยมันก็เป็นกรุณา เกิดปรุงแต่งในจิต เกิดมุทิตาพลอยยินดีเห็นเขาได้ดีรู้สึกชื่นชมยินดีด้วย เกิดปรุงแต่งในจิต เกิดปัญญาขึ้นมาก็เป็นสังขารขันธ์ นี่ต้องพิจารณาต้องสังเกตสิ่งเหล่านี้

ฉะนั้นที่จิตใจมันเกิดขึ้นนี่มันมีรายการต่าง ๆ เหมือนคนที่เล่นคอมพิวเตอร์เปิดโปรแกรมเข้าไปมันก็มีรายการต่าง ๆ ให้ดูต่าง ๆ ในจิตใจนี่ก็เหมือนกัน พอไปรู้ที่จิตก็สังเกตดูว่ามันมีรายการต่าง ๆ มีชอบมีไม่ชอบ มีสงบไม่สงบ มีขุ่นมัวมีผ่องใสแสดงให้ดู แต่ว่าเวลาเข้าไปดูเข้าไปรู้นั้นต้องรักษาความปรกติ ไม่ใช่ดูด้วยความเร่าร้อนใจ ไม่ใช่ดูไปด้วยความเกลียดชัง

ไม่ใช่ดูด้วยความชอบอยากจะได้อยากจะให้ได้ ไม่ใช่ดูด้วยการผลักไสไม่เอาเกลียดชัง อย่างนี้ดูไม่เป็น ต้องดูด้วยความรู้สึกเป็นปรกติ รักษาความปรกติความนิ่ง ๆ ความเฉย ๆ เป็นผู้ดูละครที่เขาแสดงหน้าเวที เขาจะเต้นเขาจะแสดงบทรัก บทชัง บทพระเอก นางเอก ตัวโกง จะต้องรักษาตัวเองซึ่งเป็นผู้ดูนั้นอย่างปรกติไว้ ดูเขาเป็นไปแต่ไม่มีปฏิกิริยากับเขาด้วย ไม่รัก ไม่ชัง ทำหน้าที่ดู

ฉะนั้นนอกจากดูที่เวทีแล้วดูตัวละครแล้วต้องสังเกตตัวเองอยู่ตลอด หมายถึงใจเขาจะสังเกตใจเขาตลอด ใจเขาจะดูอะไรเขารักษาความนิ่งความเฉยความปรกติ เมื่อมันไม่ปรกติ ทำอย่างไรมันปรกติ มันก็จะเข้าใจว่ามันต้องปรับอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ เช่น เพ่งเกินไปมันไม่ปรกติก็ผ่อนหน่อย ผ่อนไปมันเผลอมันล่องลอยมันหลับก็เติมหน่อย สังเกตหน่อย พิจารณาสังเกตขึ้น มันก็เป็นเรื่องปรุงทั้งหมดนั่นน่ะ แต่ว่าสติสัมปชัญญะมันก็เป็นตัวปรุงแต่ง

แต่มันเป็นการปรุงแต่งที่จะเอาชนะความปรุงแต่ง ก็คือรู้เท่ากัน ปล่อยวางแล้วก็เกิดความแจ่มแจ้งขึ้น เพราะว่าไม่มีใครมาทำให้ ที่จะดับทุกข์นี่ไม่มีใครมาทำให้ ต้องธรรมชาติของมันเองที่ทำ ธรรมชาติของมันเองก็คือจิตใจ สภาวะ สติสัมปชัญญะมันเป็นธรรมชาติ มันจะต้องพัฒนาตัวของมันเองให้มันหลุดพ้นให้มันมีปัญญาแจ่มแจ้งหลุดพ้น ถ้ามันไม่พัฒนามันก็จะหลงเป็นตัวเราของเรา เป็นสัตว์เป็นบุคคล แล้วก็ตกอยู่ในความหลงความมืดบอด เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้

นี่พระพุทธศาสนาจะสอนให้เห็นว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนจริง ๆ แล้วก็ตนในที่นี้ไม่ใช่ใคร โดยลึกซึ้งแล้วก็คือธรรมะ ตัวสติ ตัวปัญญาที่จะต้องพึ่งตนเอง หรือว่าจิตใจจะต้องพึ่ง คือจิตจะต้องมีสติมีปัญญาพัฒนาจิตใจตัวเอง ให้เกิดปัญญา เกิดการละความหลงความไม่รู้ออกไป เพราะฉะนั้นให้สังเกตผู้รู้ ในผู้รู้ก็มีรายการต่าง ๆ ดังที่กล่าว มีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขาร มีทั้งวิญญาณ แล้วก็ตัวของมันเองก็คือจิตคือวิญญาณ

เฉพาะวิญญาณเขาก็ทำหน้าที่ผู้รู้อารมณ์ ถ้าเขารู้แบบไม่มีสติ เขาก็ไปรู้อารมณ์เป็นเรื่องเป็นราว รู้สีรู้เสียงรู้กลิ่นรู้รส แล้วเขาก็รู้ต่อไปเป็นความหมายเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าหากวิญญาณเขามีสติประกอบเขาก็จะรู้จักรู้แค่ธรรมชาติที่เป็นปรมัตถ์ รู้จักที่จะกลับเข้าสู่ภายในของมัน ไม่หลุดออกไปสู่บัญญัติ หรือไปบัญญัติก็ไม่มาก คือถ้าปล่อยหลุดออกไป คือมันไปทางตาเป็นเรื่องเป็นราว

ผ่านทางหูไปเป็นเรื่องเป็นราว ผ่านทางจมูกแล้วก็ปรุงเป็นความหมายเป็นสิ่งของ ทางลิ้นก็ปรุงไป หรือบางทีก็ปรุงไปทางใจโดยตรง แต่ถ้าจิตใจมันมีสติมีปัญญาพอจิตออกไปรับรู้ประตูหูไปได้ยินเสียง มันก็ระลึกเข้ามาภายในดูจิตดูใจภายใน มันก็ไม่เลยออกไปเป็นคนเป็นสัตว์ หรือมันจะเลยไปบ้างมันก็ยังไม่ไกล มันกลับรู้ขึ้นภายในจิตใจ สรุปแล้วคือ มันต้องรู้กันอยู่ภายใน ในกายในจิตในสังขารร่างกายนี้ ไม่ส่งจิตออกนอกตัว

วันนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องผู้รู้มา ย้ำแล้วย้ำอีกต่าง ๆ ก็หวังว่าจะไปเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้รู้ได้ถูกขึ้น ต้องหัดต้องสังเกตให้มากขึ้นไป ก็ขอยุติการปรารภธรรมะไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่านเทอญ

<<<จบ>>>

http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง