Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ท่าน ก. เขาสวนหลวง อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 11:19 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ในวะระคล้ายวันเกิดของท่าน ก. เขาสวนหลวง ในปี พ.ศ.2514
ท่านได้เล่าเกี่ยวกับประวัติชีวิตส่วนตัวว่า เกิดมาทำไม ดังต่อไปนี้

เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ มารดาได้สอนให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน
ถ้าเผลอตัวหลับไปโดยไม่ได้สวดมนต์ ต้องลุกขึ้นสวดมนต์เสียก่อน จึงจะนอนต่อไป

พออายุ 6 ขวบ มารดาท้องแก่แล้วยังต้องทำงานหนัก เช่น หาบน้ำจากแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน รู้สึกมีความสงสารมารดา จึงได้บอกแก่มารดาว่าจะช่วยหาบน้ำบ้างมารดาจึงได้ตัดไม้กระบอกให้ และได้หาบน้ำด้วยไม้กระบอกนั้นทุกวัน

ใกล้รุ่งคืนหนึ่ง มารดาเจ็บท้องจะคลอด มีความรู้สึกกลัวมาก พอสว่างก็ออกมาดู เห็นน้องตัวแดงๆ ผมดำนอนอยู่ในเบาะก็เกิดความกลัว จึงรีบหนีไปอยู่บ้านที่ใกล้เคียง ล่วงไปได้ 3 วัน จึงได้กลับมาบ้าน เห็นมารดานอนอยู่บนเตียงเล็กๆ ตามแบบอยู่ไฟของคนโบราณ ให้รู้สึกสงสารมาก

ครั้นอายุได้ 7 ขวบ ได้ไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ ได้รับเงินค่าขนมวันละหนึ่งอัฐ ก็ไม่ได้นำไปซื้อขนมกินเลย แต่ได้ไปซื้อดอกไม้มาบูชาพระพุทธรูปทุกวัน ต่อมาได้ค่าขนมเพิ่มขึ้นเป็นวันละหนึ่งไพ จึงซื้อข้าวที่เขาขายกระทงละหนึ่งไพ นำไปใส่บาตรทุกวัน เมื่อได้กลับมาอยู่บ้านเดิม (จังหวัดราชบุรี)
มารดาซึ่งเคยรักษาศีลอุโบสถก็ได้สอนไม่ให้ทำบาป และไม่เคยพาลูกไปเที่ยวดูการละเล่นเลย และไม่ชอบแต่งตัวด้วย

เมื่ออายุ 11-12 ปี ได้หัดอ่านหนังสืออยู่กับบ้านจนอ่านออก ชอบอ่านหนังสือคำกลอน ซึ่งเป็นคำสุภาษิต และเรื่องของพระโพธิสัตว์สร้างบารมี พออายุ 18 ปี มารดาป่วยหนัก ต้องคอยดูแลทั้งกลางวันและกลางคืน จนมารดาถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

ได้เริ่มรักษาศีลอุโบสถเมื่ออายุ 24 ปี การท่องบทสวดมนต์แปลทำให้ได้รับประโยชน์มาก ครั้งหนึ่งผู้ใหญ่ชวนไปดูงานประจำปี ยืนดูสักครู่หนึ่งก็นึกถึงศีลข้อ "นัจจ คีตฯ" ที่ห้ามไม่ให้ดูการฟ้อนรำต่างๆ ก็เกิดความละอายใจ จึงได้บอกกับผู้ใหญ่ที่ไปด้วยว่าจะกลับบ้าน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ไปดูการละเล่นอีกเลย ถ้าที่วัดมีงานในวันอุโบสถก็กลับมานอนที่บ้าน การใช้เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ใช้ผ้าสี มีความสนใจอ่านหนังสือธรรมะที่เป็นข้อปฏิบัติอยู่เสมอ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 11:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ครั้งหนึ่งไปที่วัดเขาวัง (พ.ศ. 2468) มีผู้ปฏิบัติไปทำความเพียรกันอย่างเคร่งครัด ด้วยการถือเนสัชชิ คือไม่นอนตลอดคืน จึงอยากจะทดลองดูบ้าง แต่คิดจะอยู่เพียงครึ่งคืน เพราะยังไม่เคยอดนอนตลอดคืน ได้กำหนดภาวนา
"พุทโธ"ติดต่ออยู่ ทั้งอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน ขณะกำลังเดินไปมาท่ามกลางอากาศโปร่ง ได้แหงนขึ้นดูดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกในตอนดึก
ความรู้สึกภายในจิตมันอุทานออกมาว่า "พระพุทโธ" เป็นผู้ตื่น ไม่มีกิเลสภายในจิตใจ เบิกบานอย่างนี้เอง ในขณะนั้นจิตมีความซาบซึ้ง เกิดจากความปิติเบิกบานอยู่ภายใน เพราะได้เห็นดวงจันทร์ที่ปราศจากราคี เป็นสื่อมาเทียบกับจิตใจในขณะนั้นด้วย

เวลาดึกจนเที่ยงคืนล่วงแล้ว ก็ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนเลย มีแต่ความชุ่มชื่น เบิกบานอยู่ภายใน มีความปิติถึงกับได้ก้มลงกราบกับพื้นดิน แล้วก็ค่อยๆ เดินบ้าง นั่งบ้าง จนตลอดรุ่ง เป็นอันว่าได้ถือเนสัชชิได้เป็นครั้งแรก และได้อรรถรสในพระพุทธคุณบท "พุทโธ" ด้วยใจจริงเป็นครั้งแรก และเป็นเหตุให้ถือเนสัชชิได้ในเวลาต่อๆมา

อีกครั้งหนึ่งได้ไปพักที่วัดเขาวังกับอุบาสิกาผู้หนึ่ง เมื่ออยู่ได้ 5-6 วัน อุบาสิกาผู้นั้นได้กลับก่อน อยู่คนเดียวมีความปลอดโปร่งมาก ได้นั่งทำความสงบ พอง่วงก็ออกไปเดินรับอากาศข้างนอกห้อง พอหายง่วงก็กลับมานั่งทำความสงบใหม่ ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยมา พอคืนที่ 9 ขณะกำลังทำความสงอยู่ในมุ้ง ได้เผลอสัปหงกไป แล้วกลับมามีความรู้สึกโพลงแจ้งขึ้น มีความรู้แจ้งกระจ่างในพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ ตั้งต้นจาก กุสลาธัมมา คัมภีร์ที่หนึ่งพรึ่บเดียว ถึงคัมภีร์ที่เจ็ด เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด พอความรู้หยุดเพียงแค่นั้นจึงได้ลืมตาขึ้น ก็เห็นภายในมุ้งมีความสว่างเหมือนแสงเดือนส่อง เกิดความสงสัยว่า เป็นแสงอะไร จึงได้เปิดมุ้งออกมาดูข้างนอก ซึ่งมีแสงสลัวๆ ได้เปิดประตูไปดูนอกห้อง เห็นมืดไปหมด จึงย้อนเข้ามาดูในห้องใหม่อีก ก็มืดไปตามเดิม การทำข้อปฏิบัติชนิดที่ไม่รู้หลักเกณฑ์มาก่อน เมื่อได้รับการอบรมให้เหมาะสม ก็มักจะมีการโพลงแจ้งขึ้นมาเอง และก็ได้มีข้อสังเกตของตัวเอง ซึ่งพอจะจับเค้าได้ในภายหลังว่า ความสงสัยในเรื่องความสว่างความมืดข้างนอก มันเป็นมายา การปฏิบัติที่มีความสันโดษต่อปัจจัยตามมีตามได้ ทำให้ไม่ตกเป็นทาสของอามิสในโลก มีความเป็นอิสระตามฐานะของตนตลอดมา

เมื่ออายุ 26 ปี สมัยนั้นวัดมหาธาตุเป็นป่าเงียบสงัด จึงได้ชวนกันไปทำความเพียรที่นั่น ไปกัน 4 คน ได้ไปพักที่ศาลา ห่างจากเชิงตะกอนประมาณ 20 วา เพื่อฝึกให้เอาชนะความกลัวผี ในเวลากลางคืนได้ค่อยกระเถิบเข้าไปหาเชิงตะกอนคืนละเล็กละน้อย จนกระทั่งหลายคืนต่อมา ก็ได้เข้าไปถึงเชิงตะกอน ประจวบกับเป็นเวลาเดือนหงาย จึงทำให้มองเห็นเศษกระดูกสีขาวปนอยู่กับถ่าน เรี่ยราดอยู่ตามเชิงตะกอนเมื่อได้พิจารณาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะน่ากลัวที่ตรงไหน เลยทำให้ไม่มีความหวาดกลัวเหมือนแต่ก่อน

ต่อมาประมาณ 10 วัน กลางวันวันหนึ่ง ได้เข้าไปนั่งทำความสงบที่ใต้ธรรมมาสน์ ซึ่งทำเหมือนตู้เก็บของมีประตูเปิดปิดได้ พอนั่งอยู่สักพักใหญ่เหงื่อออกท่วมตัว จึงต้องออกมา เพราะมีความมุ่งที่จะทำความเพียรจัดไปอย่างเดียว และเป็นการทดลองทำเอง มีวิธีการหลายอย่าง ต่อมาก็ได้มานั่งอยู่ข้างนอกอย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งอกตั้งใจ เพียรอยู่ในท่าสมาธิ ตั้งตัวตรง มีความมุ่งแต่จะให้จิตสงบอย่างรุนแรง

สักพักใหญ่เมื่อจิตไม่สงบ จึงคิดว่า "ทำมาหลายวันแล้ว จิตก็ไม่สงบเลย
เลิกเพียรเอาจริงเอาจังเสียทีเถิด มีความรู้ที่จิตไว้อย่างเดียวดีกว่า" พร้อมกับชักมือและเท้าออกจากท่าสมาธิ ขณะนั้นเท้าข้างหนึ่งยังอยู่ในท่าชันเข่า
รู้ลักษณะจิตคล้ายลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งช้าเข้า ช้าเข้า จนหยุดกึก แล้วก็เกิดความรู้ที่ประคับประคองขึ้นมาเอง ค่อยๆยกเท้าเข้ามาซ้อนกัน และมือก็วางซ้อนกันในท่าสมาธิ ทั้งจิตก็มีความรู้ สงบ อย่างแนบแน่น ได้มีความรู้แจ้งในสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และเห็นสภาพที่ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งเป็นสิ่ง "ปัจจัตตัง" โดยเฉพาะ

ต่อมาก็ได้ค่อยๆ ลุกไปเอนพักผ่อน ลักษณะจิตนั้นยังปรากฎอยู่
มันเป็นความสงบที่ทรงตัวอยู่ได้เองในภายในลึกๆ ต่อมาจึงค่อยคลายเป็นความปกติ จึงได้เป็นข้อสังเกตว่า การทำด้วยความอยากจัดทำให้จิตวุ่นวาย ไม่สงบ เมื่อมีความรู้จิตอย่างเหมาะสมแล้ว ความรู้ภายในก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะการรู้แจ้งภายในมีเป็นทุน จึงทำให้รู้ข้อเท็จจริงถูกผิดในระยะต่อมาได้เรื่อยๆ และเป็นข้อที่จะให้รู้ได้ว่า ขณะที่จิตปล่อยหมดนี่เอง จึงเป็นการรู้สภาพธรรมอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการรู้เอง เห็นเองภายใน จะไปอยากรู้อยากเห็นเอาเองก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้นหลัก "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ของพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้มีความยึดถือสภาพธรรม ทั้งสังขาร และวิสังขารว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่นั้นมาก็รู้ข้อเท็จจริงและคลายออกจากความยึดถือไปตามลำดับ

ครั้งหนึ่งมีผู้มาบอกว่ามีอาจารย์เป็นสมเด็จ และทำให้คนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอรหันต์ก็มี จึงได้พูดกับเขาว่า "กิเลสมันอยู่ที่ตัวเรา อาจารย์จะมาทำให้หมดกิเลสไม่ได้ เราต้องไปฏิบัติละกิเลสด้วยตัวเองจึงจะได้ ฉันไม่ไปหรอก ถ้าอยากจะสำเร็จแบบนั้นก็ไปเถอะ"
คนที่มาชวนก็เลยไม่ไป การตื่นผู้สำเร็จ ตื่นเครื่องราง ของศักดิ์สิทธิ์ ตื่นหมอดู ล้วนเชื่อถืออย่างไม่รู้เหตุผล

ต่อมาได้ประกอบการค้าอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชน การค้าก็ก้าวหน้าขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่คิดจะขยายกิจการ เพราะไม่หวังจะร่ำรวย ทำตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อสนองคุณบิดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่มีโอากาสปลีกตัวไปทำความสงบ เหมือนเมื่อครั้งทำการค้าเล็กๆน้อยๆ เหตุการณ์เหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามคติธรรมดา

ระยะต่อมาบิดาป่วยหนัก ได้พยายามพูดธรรมะให้ท่านเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ
และได้หัดให้ท่านนั่งกัมมัฏฐานบ้าง ครั้งหนึ่งขณะท่านป่วยหนัก ได้อธิบายธรรมะให้ท่านฟัง อาการป่วยของท่านในขณะนั้นก็ได้บรรเทาไป ท่านจึงสนใจการปฏิบัติธรรม ภายหลังท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยความสงบ

การประพฤติปฏิบัติสนองคุณมารดาบิดา ก็ได้ทำไปสมกับหน้าที่ของบุตร
เป็นการผ่อนใช้หนี้เก่าตามสมควรแล้ว ต่อจากนี้ไม่มีกังวลห่วงใย ก็หนทางออกสำหรับตน เป็นการออกไปเป็นอิสระ ไม่มีเครื่องพัวพันใดๆ ที่จะทำให้ย้อนกลับมาหามันอีก ออกไปสู่บรรยากาศว่างเปล่า ปลอดโปร่ง สดชื่นตามธรรมชาติ เงียบสงัดภายในรุ่งอรุณ เหนือขุนเขา

เมื่ออายุ 44 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2488
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 04 ส.ค. 2007, 11:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อ่านต่อได้จากหน้าเวป

http://www.dhammajak.net/dhamma/dhamma24.php
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 05 ส.ค. 2007, 9:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลักสำคัญที่ต้องอบรมกันอยู่ก็คือ ให้มีสติประจำอยู่เนืองนิตย์ เพราะว่าตัวสตินี่เป็นตัวสำคัญที่สุด เรียกว่าเป็นการเฝ้ายามก็ได้ เฝ้าดูทุกๆ ประตูที่ผ่านมาทางตา ทางหู มันเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ เพราะถ้าไม่รู้แล้วทุกข์โทษมากมายหลายประการที่มันจะเกิดขึ้น ฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ไม่ใช่เรื่องมากมายอะไรนัก นอกจากให้คุมอายตนะผัสสะเวทนาเท่านั้นเพื่อให้รู้หลักย่อๆ ไว้เท่านี้แหละ ไม่ต้องไปเอาหลักเกณฑ์มายืดยาวก็ได้ เพราะจำไม่ไหว มันรู้ไม่ได้ การที่ควบคุมอยู่นี้ ถ้าเอาสติมาควบคุมจิตว่าอะไรมันเกิด หรือกิเลสประเภทไหนมันเกิดขึ้นมา การเกิดนี่แหละเรียกว่าเป็น "สมุทัย" คือ ทุกข์มันเกิด

ทีนี้ลักษณะที่มันเกิดเกิดอย่างไร เกิดความโลภ ความโกรธ หรือเกิดความหลง หรือว่าเกิดความพอใจไม่พอใจ หรือเกิดความอยากได้ในรูปในเสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่ามันเกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์แล้วก็พิจารณาดับ ก็เป็นนิโรธทุกขณะที่มันเกิดทุกข์เกิดกิเลส แล้วก็พิจารณาดับทุกข์ดับกิเลส นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อยู่ทุกขณะไปหมด ไม่ต้องไปจาระไนอะไรทั้งสิ้น แล้วจะพิจารณาเวทนาก็ได้ เพราะเวทนาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่กับเนื้อกับตัว มันต้องพิจารณา จะได้ไม่หลงเสน่ห์เวทนา

เรื่องเวทนานี่ก็สำคัญมาก ตัณหาที่จะเกิดก็เพราะเวทนา จึงเป็นเหตุให้ตัณหามีความต้องการเวทนา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นการรวบยอดว่า ถ้าได้ควบคุมหรือพิจารณาเวทนาอยู่แล้ว ก็เป็นการสกัดกั้น คือว่าไม่ให้ตัณหาขึ้นมาปรุง และมาดิ้นรนที่จะต้องการความสุข หรือผลักไสความทุกข์อะไรเหล่านี้ แต่ก็ต้องให้รู้เรื่องของการเกิดว่า มันเกิดขึ้นมาทุกๆ ขณะทีเดียว ฉะนั้นเรื่องการเกิดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะถ้าไม่รู้แล้วไปยึดมั่นถือมั่นเข้า แล้วมันทุกข์แต่ก็ดับทุกข์ได้ รวมสองอย่างเท่านี้ ไม่ต้องรู้มาก ไม่ต้องรู้ปฏิจจสมุปบาทมากมายก็ได้ รู้ว่าเกิดทุกข์แล้วก็ดับทุกข์ได้ ปล่อยวางได้ เอาอย่างนี้ทุกๆ ทวารหมด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ต้องควบคุม ต้องพิจารณารู้แล้ว ดับได้วางได้

เพราะฉะนั้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็อย่างเดียวกันอีก เราจะพิจารณาธรรมะข้อไหน มันก็รวมเสร็จอยู่ในกายในใจนี้ ที่จะต้องรู้ และรู้อย่างเดียวนี้ก็แตกฉานไปได้ ไม่ต้องไปจาระไนหัวข้อมากมายนัก ใครจะไปจำได้ ตัวการของการปฏิบัติไม่ใช่มีเรื่องมาก ที่อ่านมาเป็นแต่เพียงความเข้าใจ เพื่อจะได้น้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องจำเอาหัวข้อมาท่องไว้หลายๆ อย่างเลย มิฉะนั้นแล้วใจมันไม่สงบเพราะมันไปจำหัวข้อมาท่องมากเกินไป ทีนี้มันเรื่องเดียว เรื่องไม่เอา อย่างเดียว เอามาขอคิดพิจารณาให้มันแตกฉานไป
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 9:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อยากจะพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะว่าตามธรรมดาของสัตว์ทั่วๆ ไป มีการท่องเที่ยวไปตามอารมณ์คือ ทางผัสสะ เช่นตาก็เที่ยวไปดู หูก็เที่ยวไปฟัง จมูกนี่ก็เที่ยวหาเรื่องดม ลิ้นก็อยากจะหารส กายก็อยากจะได้สัมผัสที่อ่อนนิ่ม แล้วใจนี่ก็เลยเที่ยวเตลิดไปตามอารมณ์

เอารูปเป็นอารมณ์บ้าง เอาเสียงเป็นอารมณ์บ้าง ตลอดทวารทั้งห้านี้ เป็นอารมณ์อยู่ภายในจิตอย่างเดียว แล้วก็มีการปรุงการคิดสับสนวุ่นวาย และเรื่องอย่างนี้มันก็ไม่มีอะไรนอกจากเกิดๆ ดับๆ

แม้ว่าจะไปรู้ไปเห็นอะไรมามันก็สนุกสนานชั่วขณะ ที่หลงไปยึดมั่นถือมั่นในรูปในเสียงทำให้เกิดความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เป็นอันว่าที่เที่ยวของสัตว์ที่โง่ๆ นี้ มันรวมอยู่ในเรื่องอารมณ์ทั้งหกประการ ซึ่งเป็นที่เที่ยวของสัตว์ที่ติดอยู่ในกามคุณเป็นจุดเด่นและก็มีกามราคะเข้ามาย้อมฉาบทาจิตให้ติดแน่น หรือมีความเอร็ดอร่อยอยู่ในกามคุณทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงต้องระทมทุกข์อยู่ทุกขณะก็ว่าได้ เพราะมันยังมีความกระหายที่จะได้เห็นรูปฟังเสียงเหล่านี้ เป็นการชุลมุนวุ่นวายไปตามประสาของสัตว์ ที่ยังมีอวิชชาโมหะครอบงำอยู่ในสันดาน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เรื่องนี้ดีถูกต้องทั้งหมดจึงได้ตรัสเปิดเผยว่า ให้หยุดท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส เสีย มาเที่ยวดูในกาย เที่ยวดูในเวทนา เที่ยวดูในจิต เที่ยวดูในธรรม นี่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้กลับมาเที่ยวดูข้างใน แต่ว่าสัตว์ที่โง่ๆ นี่ยังชอบเที่ยวดูข้างนอกกันนัก
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 9:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนว่า ที่เที่ยวของ"สติ"นั้นมีอยู่สี่ประการ ในหลักสี่ประการนี้ ก็มีการเรียนรู้เพ้อกันไปทั้งนั้น แต่ว่าไม่มีใครที่จะหยุดมารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ว่ามันเป็นของหยุดได้ สงบได้หรือไม่

จะต้องรู้เรื่องของกายว่ามันมีอะไรบ้าง มีเป็นตัวเป็นตน เป็นคนที่สัตว์อยู่ที่ตรงไหน ถ้ามีการดูกายหรือว่าพิจารณาอยู่ในกาย เห็นความเป็นธาตุปราศจากตัวตนด้วยประการทั้งปวงนั่นแหละถึงจะเป็นการทำตามพระพุทธเจ้าถูกต้อง

แล้วก็เที่ยวดูของจริงจนกระทั่งรู้แจ้งชัดใจจริงๆ และก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า กายนี้เป็นของสวยงาม เป็นหญิงเป็นชาย หรือเป็นตัวเป็นตนอะไรทั้งหมดนี้มันก็ยกเลิกไป

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของเวทนาก็เป็นเรื่องสำคัญอีกที่จะต้องตามดูเวทนา เพราะว่าจะไปเที่ยวดูอื่นๆ นั้นมันเป็นความหลง ถ้าเที่ยวดูเวทนาภายในเวทนา หรือว่าเวทนาที่เกิดจากผัสสะที่กระทบทางตา ทางหู ฯลฯ ก็ตาม ก็ให้ดูเฉพาะว่าเวทนานี้ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข และไม่สุขไม่ทุกข์ มีการเปลี่ยนแปลง คือว่าเกิดดับ ไม่มีอะไรคงที่สักสิ่งหนึ่ง ถ้าหยุดดู หรือพิจารณาดูเวทนา อยู่ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว จิตนี้จะไม่ไปอย่างอื่น ไม่เที่ยวไปอย่างอื่น มันจะไม่เอาอะไรเลย เพราะว่ามันได้ดูของจริง ได้รู้ของจริงที่มีอยู่ในตัวเองนี้

แล้วข้อที่สามก็คือให้ดูจิตไม่ให้เที่ยวดูสิ่งอื่นอีก ให้เที่ยวดูจิตของตัวเองทุกขณะ ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน ให้ตามดูตามรู้ว่าจิตนี้ มันประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะอย่างไร? หรือว่ามันว่างไปจากราคะโทสะโมหะอย่างไร? ต้องตามดูจิตอยู่เนืองนิตย์และทุกลมหายใจเข้าออก

ข้อที่สี่ให้ดูธรรมะ เพราะว่าดูธรรมะนี้เป็นการดูของจริง ดูให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวตนอะไรก็ดูได้ ดูภายในตัวเองนี้ทั้งนั้น นี่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้อย่างนี้ ทีนี้การเรียนรู้กันมากมาย แต่ไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนแล้วมันก็ไม่รู้จริงเห็นแจ้งอะไรขึ้นมา มีแต่อยากจะฟังอยากจะอ่านสารพัดที่จะอยากไป เพราะว่าของจริงที่มันมีอยู่ในเนื้อในตัวนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ไว้หมด สำหรับท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านก็ได้นำเอาหลักคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2007, 3:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"อย่าหลงของเปล่า"
๕ พฤษภาคม ๒๕๑๕

ฉะนั้นความหลงที่ไม่รู้ตัวว่าหลง นี่มันจะยิ่งหลงใหญ่ มันหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ในตัวเอง แล้วหลงออกไปข้างนอกก็มากมายทุกวันทุกเวลาที่อยู่กับความหลง แล้วมันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าว่าจะอยู่อย่างไหนมันจึงจะไม่หลง จะอยู่แบบพระได้อย่างไร เพราะแบบพระท่านพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรที่น่าจะยินดีหลงไหลเพลิดเพลิน

แต่การอยู่ของสามัญสัตว์ นี่มันยังหลงเพลิดเพลินอยู่หลงไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย มันเป็นของมีรสมีชาติ ยังติดอกติดใจ แม้ว่าจะรู้เรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาบ้าง ก็ยังรู้เผินๆ ไม่ได้รู้ซึ้งเลย มันหลงแล้วหลงอีกนั่นเอง แล้วจะทำอย่างไรดี ยังปฏิบัติไม่ถูกทางของพระอริยเจ้า ที่ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่หลง เรียกว่าเป็นการอยู่ตามรอยของพระอรหันต์

ส่วนเรามีการรู้สึกตัวกันบ้างหรือยัง ว่าเราได้อยู่ตามรอยของพระในลักษณะอย่างไร ถ้ายังหลงอยู่อย่างนี้มันก็ยังไม่ถูกทาง ยังเพ้อยังเพลินอยู่ทั้งนั้น ยังมีความรู้สึกตัวน้อยเหลือเกิน แล้วมันก็หลงอยู่มากกว่ารู้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนี้ มันเป็นความรู้สึกของตัวหรือไม่ว่า การมีชีวิตหรือมีลมหายใจอยู่ทุกวันนี้ เป็นการอยู่ด้วยความไม่หลงหรือว่าเป็นการอยู่ด้วยความหลงมาก ถ้าไม่มีการพินิจพิจารณาให้รู้สึกภายในตัวเองนี่แล้ว ชีวิตทุกลมหายใจเข้าออกที่อยู่กันวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ มันก็หลับหูหลับตาอยู่เรื่อยไป
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 08 ส.ค. 2007, 12:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

"จงเอาชนะความอยาก"
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕

เรื่องการอบรมข้อปฏิบัติที่ได้มีการดำเนินมา ก็เป็นเครื่องรู้ได้เองว่าทุกข์โทษของกิเลสมันเบาบางไปอย่างไร หรือว่าทิฏฐิมานะที่เป็นการถือตัวถือตนมันเบาบางไปบ้างหรือไม่? ต้องคอยสอบของตัวเองดูให้ดีๆ เพราะว่าการอบรมข้อปฏิบัติ จะต้องตัดรอนทอนกำลังพวกกิเลสตัณหาอุปาทานให้ลดน้อยลงไป จึงเป็นการปฏิบัติให้ก้าวหน้าของตัวเอง ชนิดที่ไม่ต้องไปพูดกับใครเลยสักคำเดียว

เพราะว่าเป็นทุกข์โทษของความยึดมั่นถือมั่น ย่อมเป็นการรู้สึกได้ว่ามันมีทุกข์ท่วมทับเท่าไร? และจะจัดการทำลายถ่ายถอนมันด้วยวิธีใด? ล้วนแต่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าใคร จะรู้มากรู้น้อย หรือจะเรียนมาเท่าไรก็ตาม มันอยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด ถ้ามีการรู้สึกได้ด้วยใจจริงแล้ว ทุกข์โทษทั้งหลายมันจะได้ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ

ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรขึ้นมา มันก็ทุกข์อยู่ในตัวเอง แล้วจะไปเอาเรื่องราวเอาดีเอาชั่ว เอาผิดเอาถูกกับใครที่ไหน มันต้องสอบสวนอยู่ทุกเวลานาทีของชีวิตที่จะต้องรู้ได้ด้วยจิตใจของตนเองว่าเดี๋ยวนี้มันมีสัมมาทิฏฐิ หรือยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ ถ้ามันยังมีความเห็นเป็นตัวเป็นตน และถือตัวถือตนอยู่ก็เรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" ถ้ามี "สัมมาทิฏฐิ" ก็จะต้องเห็นว่าไม่มีเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นเขาเป็นเราอะไรเหล่านี้ มันก็จะล้มละลายไปหมด
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 08 ส.ค. 2007, 12:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้ ก็มีท่านผู้รู้ทั้งหลายได้เผยแพร่ในขั้นการปฏิบัติธรรม ให้กระจายออกไปมากมายอยู่เหมือนกัน นับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีคารวะต่อธรรมะ นั่นแหละจึงจะน้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติให้สมควรแก่ฐานะของตัวได้

ไม่มีการจองหอง ที่เรียกว่า "นิวาโตจะ" คือความไม่จองหอง เพราะว่าเป็นความรู้ที่จะต้องน้อมรับเอาธรรมวินัยมาประพฤติปฏิบัติด้วยใจจริง เป็นการทำลายถ่ายถอนทิฏฐิมานะให้เบาบางออกไป แล้วจะรู้สึกได้ว่าใจนี้มันไม่วุ่น เพราะไม่ได้ยึดถืออะไรเข้ามาเป็นตัวเป็นตนจริงจัง มีแต่จะกวาดทิ้งโดยไม่ยึดมั่นมั่นเองไม่ว่าจะดีชั่ว ถูกผิด ตามที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียงเหล่านี้ ล้วนแต่ว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเมื่อได้พิจารณาเห็นความจริงเช่นนี้แล้ว มันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่ได้เรื่องอะไรมาก มีแต่ความสงบเย็นอยู่ โดยไม่ต้องเดือดร้อนอะไร

จิตใจก็มีสติคุ้มครองอยู่ได้ทุกอิริยาบถมันทำให้พวกอกุศล คือกิเลสตัณหา เข้ามาปรุงไม่ได้ เพราะว่าได้กำหนดรู้อยู่ทุกอิริยาบถ นี่ก็เป็นเครื่องปิดกั้นทวารทั้งหกได้ดี เพราะกิเลสที่มันจะเกิด ก็เกิดมาจากตาเห็นรูป หูฟังเสียงนี่เอง ถ้าไปยึดถือดีชั่วตัวตนขึ้นมา มันก็เดือดเนื้อร้อนใจ และเพลิดเพลินไปสารพัดอย่าง เมื่อมีสติรู้อยู่ เห็นอยู่ ในลักษณะของความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางทวารทั้งหกนี้ มันล้วนแต่มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ ความจริงแล้วมันไม่มีดีไม่มีชั่วแต่ว่าไปยึดถือไปหมายมันขึ้นมาเอง ก็เลยเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเพราะไปพัวพันยึดถือเข้ามาสุมเผาอยู่ที่จิตใจ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 12 ส.ค. 2007, 5:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ฉะนั้นการทำอะไรด้วยความมีสติรอบคอบ จึงไม่ค่อยจะมีติดต่อได้ ประเดี๋ยวมันก็เผลอไปเพลินไป ข้อปฏิบัติที่จะอ่านตัวเองอยู่ทุกอิริยาบถ ที่มันยังเผลอเพลินไปกับอะไรเป็นเครื่องรู้ได้ว่านี่มันยังเป็นคนหลงไม่ใช่คนรู้ หรือเป็นคนมีสติที่สมบูรณ์เลย ต้องเป็นการซักฟอกของตัวเองอยู่เรื่อยไป อย่านึกว่าหลงแล้วก็แล้วไป เพลินแล้วก็แล้วไป ต้องเป็นความรู้สึกตัวใหม่ขึ้นมาทันที

พอรู้ว่าหลงก็หยุดทีเดียว ถ้ามันไม่รู้ว่าหลงก็หลงเรื่อยไป เพราะว่าหลงเรื่อยนี่มันจะยิ่งคลั่งใหญ่ ถ้ารู้ว่าหลงในขณะไหนก็หยุด พอรู้ว่าหลงก็หยุดขณะนั้น มันจึงแก้กันได้ตรงนี้เอง อย่าให้มันหลงเพลินไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่มาประจัญหน้าอยู่ ฝึกสติให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม พอเผลอไปก็รู้ขึ้นมาใหม่ให้มันรู้สึกตัวได้ว่า ความเผลอความเพลินมันน้อยลงไป ไม่ถึงขนาดที่จะไม่เผลอเลย แต่ให้ความเผลอเพลินน้อยลงที่สุดในการใช้กายวาจาใจ

ขณะที่ประกอบกิจการงานอะไรอยู่ก็ตาม แต่ข้อสำคัญอย่าให้มันเพ้อเจ้อไปมากนัก ให้มันหยุดระงับดับลงไป แล้วหลักสติจะได้ติดต่อมากขึ้น จะได้เป็นเครื่องรู้สึกตัวด้วยกันทุกคน ถ้าเผลอไผลอะไรไปก็จะได้รู้ว่า นี่มันหลงมันบ้า มันจะได้หยุด มิฉะนั้นแล้วจะหลงไปใหญ่ จะคลั่งไปใหญ่ สติปัญญาจะต้องเป็นเครื่องบังคับตัวเองอยู่ทุกครั้งทุกคราวทุกขณะทั้งหมด เพราะไม่มีใครจะมาตักเตือนให้ได้รายละเอียด เท่ากับสติปัญญาที่มีอยู่อย่างละเอียดภายในตัวเอง

จึงต้องมีสติปัญญาเป็นกัลยาณมิตรเอาไว้ให้มากๆ จะได้ขับไล่ไสส่งกิเลสตัณหาอุปาทานให้หมดอำนาจไปทุกที ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วมันจะแย่ ประเดี๋ยวก็รู้ถูก ประเดี๋ยวก็รู้ผิด ประเดี๋ยวก็ปล่อยวางได้ ประเดี๋ยวก็ไปยึดถือขึ้นมาอีก มันเล่นตลกหลอกตัวเองอยู่หลายชั้นเหมือนกัน เมื่อยิ่งดูยิ่งพิจารณาแล้วเราจะจับได้ว่าความหลงยึดถือนี่มันช่างละเอียดเหลือเกิน แล้วมันซับซ้อนหลอกหลอนอยู่ในอารมณ์ ถ้าเราไม่ได้พิจารณาให้รู้ชัดแจ้งแล้ว มันหลงเรื่อย มันหลงอารมณ์เรื่อยไป

หลงจำหลงคิดเรื่องอดีตอนาคตอะไรก็หลายๆ อย่างที่ไม่สงบได้มันก็เรื่องหลงทั้งนั้น คอยสังเกตดูว่า ถ้ามีสติรู้อยู่ทุกอิริยาบถติดต่ออยู่ได้มาก ก็รู้สึกว่าความหลงนั้นมันน้อยลง แล้วพิจารณาให้เห็นจริงเห็นแจ้งประจักษ์ในความไม่มีอะไร เพราะมันเกิดๆ ดับๆ ถ้าไม่ยึดถือแล้วมันไม่มีอะไรเลย แต่นี่มันยังหลงยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ดีชั่ว ตัวตน สุข ทุกข์ เหล่านี้มันก็มีอยู่จึงควรอ่านมันให้ทั่วถึง แล้วมันจะกำจัดความหลงให้ลดน้อยลงไปได้ คือมีสติเป็นเครื่องรู้อยู่ตลอดเวลา ให้มีความรู้ประจำใจเอาไว้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
satima
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 10 มิ.ย. 2004
ตอบ: 120

ตอบตอบเมื่อ: 16 ส.ค. 2007, 10:46 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศึกษาให้รู้ของจริง

เรื่องการมีสติสัมปชัญญะควรต้องฝึกให้ได้ทุกอิริยาบถไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ได้ทำสติให้ติดต่อทุกอิริยาบถแล้ว จิตนี้จะไม่สงบได้ แม้ว่ามันจะสงบได้ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วมันก็เที่ยววิ่งพล่านไปตามอารมณ์อีก

ฉะนั้นการฝึกให้มีสติรู้อยู่ทุกอิริยาบถนี้ เหมือนกับเขาฝึกลิง เพราะว่าลิงนี้ ถ้าไม่เอามันมาผูกไว้กับหลักแล้ว มันก็จะมีการท่องเที่ยวไปตามนิสัยป่าเถื่อนของมัน แต่เมื่อเอามันมาผูกไว้มันก็จะต้องดิ้นรน เพราะว่ามันไม่เคยผูก มันเคยวิ่งพล่านไปตามชอบใจของมัน จิตนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเอามาผูกเข้ามันจะดิ้นรนกระวนกระวายมาก ทั้งนี้ก็ต้องทนดูไปก่อน ถ้าเราจะไปตามใจมันแล้ว ก็มีแต่จะท่องเที่ยวไปไม่หยุดหย่อน มันทำความเสียหายในด้านจิตใจ คือว่าเมื่อจิตใจไม่สงบแล้วมันก็ทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอามันมาผูกไว้ มันจะดิ้นรนไปอย่างไรก็ต้องดูไปก่อน ทนรู้มันไปก่อน ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้ แล้วก็พิจารณาดูว่า การที่มันดิ้นรนนี้เพราะเหตุอะไร มันเกิดมีความอยากความต้องการอะไรขึ้นหรือ ? อย่างนี้ก็ต้องค้นหาเหตุ เมื่อมันมีเหตุ มันก็ทำให้เกิดความดิ้นรนขึ้นมาได้

ต้นเหตุนี้คือตัวตัณหานั่นเอง คือเป็นความอยากในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แล้วก็จะต้องรู้ว่านี่มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่ามันทำจิตใจให้ดิ้นรนกระวนกระวายเร่าร้อน ขณะที่กำลังมีความทุกข์เพราะตัณหามันเข้ามาปรุง เหตุนี้จะต้องอ่านให้มันออกด้วยว่า ลักษณะของตัณหาที่เข้ามาปรุงจิตนี้ มันดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาอย่างไร และลักษณะของความดิ้นรนนี้ มันจะดิ้นรนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรอีกบ้าง อย่างนี้ต้องทนดูไปก่อน เหมือนกับเรามีความทุกข์อะไรมากๆ ความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนหรืออยากจะเอาความสุขนี้ มันดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาแล้ว

นี่เป็นลักษณะของตัณหา เราควรทดลองดูว่า ความดิ้นรนนี้จะทำให้มันสงบลงไปได้โดยวิธีใด ต่อจากนั้นเราก็ลองปล่อยมันดู เช่นขณะที่มีทุกข์มากๆ ก็ปล่อยให้มันทุกข์ไป จนกระทั่งถึงขีดสุดแล้วทุกนี่มันจะเสื่อมไปไหม มันก็ต้องเสื่อมอยู่ดี ไม่ว่ามันจะเสื่อมขึ้นหรือเสื่อมลงก็ตาม เสื่อมขึ้นก็หมายถึงว่ามันเพิ่มขึ้น เสื่อมลงก็หมายถึงว่ามันจางออกไป แต่ก็มีลักษณะเสื่อมอย่างเดียวกัน ทีนี้ถ้าเราทนดูทนรู้ได้ ก็เป็นการปล่อยวางได้นั่นเอง และความทุกข์อะไรที่เกิดจากตัณหานี้ มันก็สงบไปได้ แม้จะมีเพียงทุกข์ของธรรมชาติ แต่ว่ามันหมดฤทธิ์เพราะตัณหานี่ไม่ปรุงจิตให้ดิ้นรน มันก็ทำให้ทุกข์นี้น้อยลง เพราะดับตัณหาได้อย่างนี้ต้องเป็นข้อสังเกตเอาเอง ในขณะที่จิตกำลังดิ้นรนต้องการอะไรขึ้นมาก็อย่าไปตามใจมัน จะต้องทดลองฝึกกับมันดู ว่าถ้ามันดิ้นรนจะเอาอะไรก็ต้องวิ่งจี๋ไปเอาทีเดียว นั่นแหละมันเคยมันคุ้นเคย ทีหลังมันก็ยั่วมันก็แหย่ มันก็ยุยงส่งเสริมอยู่เรื่อย

นี่เรื่องการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องอ่านข้อเท็จจริงอยู่ในตัวเอง ถ้าเป็นการอ่านด้วยสติปัญญาจริงแล้ว ความทุกข์นี่จะลดปริมาณลงไปมากทีเดียว แต่ถ้าอ่านมันไม่ออกก็ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่ทั้งนั้น แล้วก็ไม่มีช่องที่จะหายใจ คือว่ามันอัดอั้นไปทั้งหมด เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองออกไปได้ นี่มันทุกข์แล้วทุกข์อีกกันเท่าไร มันวิ่งอยู่ในวงกลมของวัฏฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะหาทางออกก็ไม่ได้ เพราะว่ามันถูกหลอกให้วิ่งหมุนอยู่ในวงกลมของความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อยู่อย่างนี้เรื่อยไปทีเดียว
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง