Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ตำนาน นโม (พระพจนารถ ปภาโส) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 12:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนาน นโม
โดย พระพจนารถ ปภาโส

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


คัดลอกมาจากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา

Image

ตำนาน นโม
(๑)


พระพุทธศาสนาได้รับความเชื่อความเลื่อมใส จากบรรพชนไทยมาแต่อดีต บรรพชนผู้เป็นบัณฑิตได้ศึกษาพุทธธรรมจนเข้าใจถ่องแท้ตรงตามธรรม แล้วประยุกต์พุทธธรรมที่ตนศึกษาดีแล้วเข้าสู่วิถีการดำเนินชีวิตของชนชาวไทย พุทธธรรมจึงอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีไทยมาแต่ครั้งนั้น การดำเนินชีวิตของคนไทยจึงมีแต่สันติสุขและเสรีภาพเสมอมา คนไทยเข้าใจพุทธธรรมตามวัฒนธรรมประเพณีที่ ถูกอบรมสั่งสอนสืบเนื่องต่อกันมา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวโลกรู้ทั่วไปว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา

ปัญหาสังคมไทยที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นสัญญาณแสดงถึงความเสื่อมทางวัฒนธรรมประเพณี บ่งชี้ว่าคนไทยกำลังห่างไกลจากพุทธธรรม การฟื้นฟูสังคมไทยให้กลับมามีสันติสุขและเสรีภาพเหมือนครั้งอดีต ย่อมอาศัยความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนไทยทุกคน

พุทธศาสนิกชนไทยล้วนคุ้นเคยและชินต่อเสียงสาธยายพระพุทธมนต์ในพุทธศาสนพิธีมาแต่ยังเยาว์ ทราบดีว่าเมื่อพระเริ่มสวดเจริญพระพุทธมนต์ ตนเพียงสงบจิตสำรวมใจ ประนมมือ สดับเสียงสวดมนต์ ไปจนจบพิธี เพียงนี้ก็เป็นบุญ เป็นกิริยาแห่งกัลยาณชนแล้ว การที่บรรพชนสั่งสอนอบรมบุตรหลานปฏิบัติเช่นนี้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไทย ด้วยปรารถนาให้ บุตรหลานได้รู้จักเคารพนอบน้อมต่อพระสัทธรรมที่พระสงฆ์ได้นำมาสาธยาย และบำเพ็ญตนให้มีไตรสิกขาชั่วขณะหนึ่งคือ ทำตนให้เป็นผู้มีศีล ด้วยละเว้นจาก การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายวาจา ทำอารมณ์ของตน ให้เป็นสมาธิ ด้วยตั้งใจสดับพระสัทธรรม ไม่วอกแวก สอดส่ายคิดไปในเรื่องอื่นๆ สร้างปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ ตน ด้วยการพิจารณาถ้อยความแห่งพระสัทธรรมที่ตนได้ยินนั้น ให้เข้าใจพอนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติดำเนินชีวิตให้เกิดสุขประโยชน์ต่อไป

น่าเศร้าใจที่ปัจจุบันเมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ พุทธศาสนิกชนที่อยู่ในมณฑลพิธีบางคนขาดความเคารพนอบน้อมต่อพระสัทธรรมที่พระสงฆ์ได้นำมาสาธยาย คุยกันแข่งกับเสียงพระ สร้างความรำคาญใจ แก่กัลยาณชนที่อยู่ข้างเคียง เพียงนี้ก็บอกได้ว่าบุคคล นั้นเป็นผู้ห่างไกลจากคำสั่งสอนของบรรพชน เป็นผู้ที่จะทำลายวัฒนธรรมไทยให้สูญหายไปอย่างไม่รู้ตัว บางคนอาจอ้างถึงข้าราชการที่ไม่ประนมมือฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ในงานรัฐพิธี ยิ่งส่อให้เห็นถึงการ ขาดปัญญาในการไตร่ตรองถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติไม่ควร ปฏิบัติของผู้กล่าว

แท้จริงในงานรัฐพิธีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แม้พระองค์ไม่ประนมพระหัตถ์ แต่พระองค์สงบพระราชหฤทัยสดับเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ จนเสร็จพิธี แต่เดิมเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงประนมพระหัตถ์เหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ด้วยพระองค์ทรงผนวชเป็นเวลานาน ทรงเชี่ยวชาญชำนาญในพระไตรปิฎก ทรงรอบรู้เข้าใจ เป็นอย่างดีในพระสัทธรรม ทรงเป็นพระปฐมบุรพาจารย์แห่งพระสงฆ์ธรรมยุต คณะสงฆ์ในครั้งนั้นจึงถวายพระพรขอให้พระองค์มิต้องทรงประนมพระหัตถ์ ในขณะที่พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อถวาย พระเกียรติยศในฐานะบุรพาจารย์ แต่นั้นธรรมเนียม นี้จึงถือปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นใครที่สั่งการให้ข้าราชการที่อยู่ในมณฑลรัฐพิธีไม่ต้องประนมมือ ถือว่าเป็นคนเนรคุณต่อชาติ ต่อพระศาสนา และเป็นผู้อาจเอื้อมทำตนเสมอพระมหากษัตริย์ ดังนั้นข้าราชการที่เป็นกัลยาณชน เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี จึงควรจะปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทย ด้วยการสงบจิตสำรวมใจ ประนมมือ สดับเสียง สวดมนต์ไปจนจบพิธี เท่านี้ก็เป็นกตัญญูชนแล้ว

การขาดความเข้าใจในพระธรรมที่พระสงฆ์ได้นำมาสาธยาย เป็นเหตุนำให้ผู้ฟังขาดความเคารพในพระธรรม ดังนั้นเพื่อเพิ่มพูนปัญญาแก่พุทธศาสนิกชนที่ยังขาดความเข้าใจในพระธรรมนั้น จะได้พรรณนา พระธรรมที่พระสงฆ์นำมาสวดเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งแต่บท นโม จนถึงบทภวนฺตุ สพฺพมงฺคลํฯ

สรรพกิจทั้งหลายในพุทธศาสนพิธีจะเริ่มต้นด้วย นมการปาฐะ หรือปุพฺพภาคนมการคาถา ที่ว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า “นโม” เป็นคำอุทาน คือเปล่งวาจาออกมาด้วยความเลื่อมใสเบิกบานใจในพระพุทธคุณ หรือบาง ทีผู้นั้นมีความเลื่อมใสจับใจอยู่แล้ว มีเหตุมากระทบทำให้ตกใจ จึงได้อุทานว่า “นโม” เป็นต้น ในคัมภีร์ฎีกานโมกล่าวว่า สาตาคีรียักษ์ กล่าวว่า “นโม” อสุรินทราหูว่า “ตสฺส” ท้าวจตุมหาราชว่า “ภควโต” ท้าวสักกะว่า “อรหโต” และท้าวมหาพรหมว่า “สมฺพุทฺธสฺส” ท่านทั้ง ๕ นี้ ได้กล่าวถวายบังคม สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ เนื้อความของ “นโม” นั้นว่า...นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต กล่าวถึง “นโม” ไว้ในหนังสือมุตโตทัยว่า

“.....เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า “น” คือธาตุน้ำ “โม” คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ “น” เป็นธาตุของมารดา “โม” เป็นธาตุของบิดา

ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟ ธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า “กลละ” คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เองปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุนโมนั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น “อัมพุชะ” คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น “ฆนะ” คือเป็นแท่ง และ “เปสี” คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้าย รูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑

ส่วนธาตุ “พ” คือลม “ธ” คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟ ก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่า เป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นเดิม ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย “น” มารดา “โม” บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อม เกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อน ใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดา จะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของ ภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่

เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อม นั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว “น” มาใส่ตัว “ม” เอาสระโอ จากตัว “ม” มาใส่ตัว “น” แล้วกลับตัว “มะ” มาไว้หน้าตัว “โน” เป็น “มโน” แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ใน พระพุทธพจน์ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตาม จนถึงรู้จักมโน แจ่มแจ้งแล้ว มโนก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแส แห่งน้ำโอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด...”

พระธรรมโสภณ (ฟื้น ปาสาทิโก) วัดราชบพิธ อธิบาย “นโม” ไว้ในหนังสือ กล่าวนโมทำไม ? มีความ พอสรุปได้ว่า

“...การตั้งนโมในบ้านเมืองเรา จุดประสงค์ก็เพื่อ มุ่งแสดงความเคารพในพระพุทธเจ้า ประกาศความ เคารพของตน ว่าตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แสดงความเคารพให้ปรากฏเทิดทูนพระพุทธเจ้าไว้ในที่สุดกว่าตน หลักการที่จะจูงให้เกิดความเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้านั้นก็คือความดีของพระพุทธเจ้า เราไม่ได้เคารพพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นพระเจ้าที่อวตาร ลงมาเกิด หรือเป็นผู้เกิดในชาติสูง ในชาติกษัตริย์ แต่เราเคารพพระพุทธเจ้าในฐานะพระพุทธเจ้าทรงคุณความดีสูงสุดพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่เป็นผู้วิเศษมาจากไหน พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับพวกเราๆ ในกำเนิดดั้งเดิม ท่านเกิดมาอย่างมีมารดาบิดา เกิดตามธรรมชาติของมนุษย์ เกิดมาแล้วก็กระทำผิด ต้องตกทุกข์ลำบาก ต้องตกอยู่ในทาสของกิเลสเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป เรื่องที่เล่าปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้นเก็บไว้ก่อน เป็นเรื่องเล่าตามหลังหรือแต่งขึ้น หรือไปเก็บเอา มาจากศาสนาอื่น แต่ความเป็นจริง พระพุทธเจ้าก่อน ตรัสรู้ ก็เป็นคนมีกิเลส เป็นปุถุชนอย่างพวกเรา ดีกว่า พวกเราก็อยู่ในฐานะที่มีอัธยาศัยสูง มีปัญญาสูงเท่า นั้น แต่อื่นๆ ก็เหมือนๆ กับพวกเรา แต่พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนตื่น คือไม่หลงไปในเครื่องยั่วยวนของโลก รู้จักปลีกตนที่จะให้พ้นจากสิ่งที่มีโทษ นี่เป็นความดีก่อนที่จะตรัสรู้

...พระพุทธเจ้า เมื่อทรงเห็นว่าจะอยู่ในบ้านเมืองอย่างนั้น จะต้องเกิด ต้องแก่ จะต้องตาย อย่างที่เขา เกิดแก่เจ็บตายกันมากมายนั้น ทางที่จะพ้นทุกข์ ถ้าอยู่ในบ้านเมืองก็ไม่พ้นทุกข์ ก็ทรงผนวช...

...เมื่อท่านไปค้นคว้าทางปฏิบัติที่ถูกได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือความรู้ถูก ความดี ความบริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่ จึงได้เกิดขึ้นมาในพระพุทธเจ้า ทำพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้วิเศษที่สุดในโลก คือ มีความบริสุทธิ์ สูงสุด มีปัญญาบริสุทธิ์ มีกรุณาสูงสุด นี่เรานับถือพระพุทธเจ้าตอนนี้ ที่ท่านเป็นผู้ดี เป็นผู้วิเศษ ก่อนหน้านั้นเรานับถือก็นับถือเป็นเพียงพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็มีการทำผิดบ้าง ถูกบ้าง เพราะฉะนั้น เรื่องก่อนการตรัสรู้ ท่านจึงจัดเป็นเรื่องนอกพระพุทธศาสนา มีถูกบ้างผิดบ้าง ไม่ใช่ถูกทั้งหมด เรื่องที่เป็นพระพุทธศาสนาหรือที่เป็นพระพุทธศาสนาแท้ๆ ก็เรื่องตั้งแต่การตรัสรู้แล้วไป นั่นเรายอมรับว่าถูกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าเป็นผู้ดีสูงสุด เป็นผู้ที่ควรเคารพสูงสุด เราเคารพพระพุทธเจ้าตรงที่ตรัสรู้ธรรมนี้ เราไม่ได้เคารพกำเนิดหรืออะไรก่อนจากนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ก็มีพระนามเกิดขึ้นมากมาย...

...ในการกล่าวคำนมัสการพระพุทธเจ้าว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส นั้น เราได้ยกเอาพระนามของพระพุทธเจ้ามากล่าวถึง ๓ พระนาม คือ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ...พระนามทั้งสามนี้เป็นเครื่องหมายของพระคุณทั้งหมดของพระพุทธเจ้า นักปราชญ์ผู้ฉลาดจึงได้หยิบเอาพระนามนี้มากล่าว

พระนามแรก คือ “ภควโต” ทางไวยากรณ์ท่านกล่าวว่า เป็นผู้รับความเคารพ จะพูดอย่างภาษาไทย ก็ว่า พระผู้มีพระภาค หรือพระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เราแปลมาจากคำว่า “ภควนฺตุ” ใช้เป็นตัวประธานก็ใช้คำว่า “ภควา” แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คำนี้เป็นคำที่พระสาวกนิยมเรียกพระพุทธเจ้ามากที่สุด เพราะคำนี้เป็นเครื่องหมายคุณความ ดีมากที่สุด คือครบทั้งหมด...ความหมายของคำว่า ภควา หรือพระผู้มีพระภาคเจ้า มีความหมายถึง ๘ อย่าง จะได้อธิบายเพียงย่อๆ ดังนี้

๑. ภควา แปลว่า ผู้เสพอริยคุณ อริยคุณนั้นก็คือพระธรรมรัตนะ พระธรรมรัตนะนี้ เมื่อใครเข้าไป เห็นด้วยปัญญา ก็ทำให้บุคคลนั้นได้เป็นพระอริยะ พระธรรมรัตนะนี้ ถ้าใครค้นคว้าพบเองจนเกิดปัญญา ผู้นั้นก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าว่าศึกษาโดยอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้าจนเกิดปัญญา ก็เป็นพระอริยสาวก เมื่อใครได้ดวง ปัญญาเห็นพระธรรมรัตนะ ก็ทำให้ผู้นั้นเป็นพระอริยะ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมะนี้ด้วยพระองค์เอง จึงได้ชื่อว่าได้เสพพระอริยคุณเป็นพระองค์แรก การเสพพระอริยคุณนี้ทำให้พระองค์ได้เป็นพระอริยเจ้า คือสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้เอกในโลกก็คือเป็นผู้ที่ดีที่สุดในโลกนั่นเอง

๒. ภควา แปลว่า ผู้จำแนกพระธรรมรัตนะ หมายความว่า พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ไม่มีใจคับแคบ อุตส่าห์ทนทรมานกาย เอาความดีเที่ยวแจก ให้คนอื่นได้ดีในความดีนั้นบ้าง


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 12:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๒)


ในฉบับที่แล้วได้นำเรื่องการกล่าวคำนมัสการพระพุทธเจ้า ซึ่งพระธรรมโสภณ (ฟื้น ปาสาทิโก) ได้เขียนไว้ในหนังสือ ‘กล่าวนโมทำไม’ โดยได้บอกถึงความหมายของคำว่า “ภควา” ไปแล้ว ๒ ความหมาย คือ ความหมายแรก แปลว่า ผู้เสพอริยคุณ และความหมายที่สอง แปลว่า ผู้จำแนกพระธรรมรัตนะ ฉบับนี้จึงขอนำเสนอความหมายที่ ๓ ดังต่อไปนี้

๓. ภควา แปลว่า ผู้ที่สำรอกความรักลงในประชาชนโดยไม่ขาดสาย หมายความว่า พระพุทธเจ้าอาศัยมีความเมตตา มีความกรุณา แผ่ไปในประชาชนทุกชาติ ทุกวัย ทุกวัน โดยตลอดกาล ไม่มีวันพัก ด้วยอำนาจพระเมตตาพระกรุณานี้ พระองค์ได้ทนทรมานพระวรกายเที่ยวไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้คนทั่วบ้านทั่วเมือง โดยไม่ได้รับประโยชน์ค่าจ้างตอบแทนอะไรเลยแม้แต่น้อย ไม่ได้ประสงค์อะไรเลย นี่คือ แผ่ความรักความกรุณาไปยังประชาชนไม่ขาดสาย

๔. ภควา แปลว่า ผู้ที่ควรเข้าไปคบหา หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นกัลยาณมิตรของประชาชน ใครได้เข้าไปคบพระพุทธเจ้า คนนั้นต้องได้ประโยชน์เสมอ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า การคบคนนั้นจะมีผลเกิดขึ้น ๓ อย่าง คือ ๑) คบคนที่เลวกว่าตัว ขาดทุน เพราะเขาย่อมชักจูงเราให้ไปทำความชั่ว ๒) คบคนที่เสมอตัว ไม่ได้กำไร ไม่ขาดทุน เพราะเขาก็ไม่จูงเราให้ทำความดีเพิ่มขึ้นหรือทำความเลวมากขึ้น ๓) คบคนที่มีความดีกว่าตัว ได้กำไรเสมอ เพราะเขาจะชักจูงให้เราทำ ความดีเพิ่มขึ้น เช่นให้วิชาความรู้ สอนให้ละความชั่ว แนะนำให้ประพฤติดี ทำให้เรามีกำไรมากขึ้น ใครที่เข้าไปคบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็จูงบุคคลนั้นให้ละชั่ว ให้ประพฤติดี พระพุทธเจ้าจึงเป็นกัลยาณมิตรของคนทุกคน เป็นบุคคลที่ควรเสพ ควรคบหา เมื่อใครเข้าไปคบพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะได้ความดีด้วยกันทุกคน

๕. ภควา แปลว่า ผู้ที่คายออกหมดซึ่งการท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงหมดกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เวียนตายเวียนเกิดไปในสังสารวัฏ

๖. ภควา แปลว่า ผู้ที่ทำลายกิเลสได้โดยสิ้นเชิง หมายความว่า กิเลสทุกชนิดไม่มีอยู่ในพระพุทธเจ้า ด้วยพลังอำนาจอริยมรรคที่พระองค์ได้ทำให้บังเกิดขึ้นโดยพระองค์เอง

๗. ภควา แปลว่า ผู้ที่มีส่วนแห่งเครื่องสักการบูชาของชาวโลก การเคารพบูชากราบไหว้ก็ดี การบูชาด้วยอามิส เช่น ปัจจัยสี่หรือดอกไม้ธูปเทียนก็ดี ผู้ที่จะรับสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณความดี จึงจะสมควรที่จะได้รับ ถ้าความดีไม่สมควร ก็อยู่ในฐานะที่ลวงโลกไปรับความดีอันนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีความดีเหนือเครื่องสักการบูชา เหนือการกราบไหว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็น ผู้มีส่วนแห่งเครื่องสักการะของชาวโลก

๘. ภควา แปลว่า ผู้ที่มีภคธรรม ภคธรรม หมายถึง ธรรม ๖ ชนิด คือ ๑) นวโลกุตรธรรม คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ หมายความถึง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นคู่ ๑ สกทาคามีมรรค สกทาคามีผล เป็นคู่ ๑ อนาคามีมรรค อนาคามีผล เป็นคู่ ๑ อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นคู่ ๑ นี้เป็น มรรค ๔ ผล ๔ ภาวะพ้นจากนี้เป็นนิพพาน ๒) อิสริยะ คือความเป็นใหญ่ในกายและจิต หมายถึงการมุ่งหมายจะบังคับกายและจิตให้ เป็นไปอย่างไร กายและจิตก็เป็นไปตามประสงค์ ๓) ยสะ หรือยศ คือคุณความดีที่คนเขากล่าวชมเชยที่แผ่ปกคลุมไปในที่ต่างๆ ๔) ปยัตตะ คือความเพียรปฏิบัติกิจในหน้าที่ได้บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ๕) สิริ คือความมีอวัยวะในร่างกายทุกส่วนเป็นมิ่งขวัญ จูงใจให้คนเคารพ จูงใจให้คนรัก จูงใจให้คนนับถือ ๖) กามะ คือความประสงค์ที่จะทำความดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตน หรือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างไร ความประสงค์นั้นต้องสำเร็จเสมอ ภคธรรมนี้มีอยู่ในพระพุทธเจ้าโดยบริบูรณ์

เมื่อกล่าวคำว่า ‘ภควา’ หรือพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กระทบหรือเป็นเครื่องหมายแห่งพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประการคือ พระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ คือ ภควาข้อ ๑ ผู้เสพอริยคุณ เป็นเครื่อง หมายถึงพระปัญญาคุณ ตัวที่ทำให้ตรัสรู้ได้เป็นพระพุทธเจ้า ภควาข้อ ๒ ผู้จำแนกพระธรรมรัตนะ ภควาข้อ ๓ ผู้ที่สำรอกความรักลงในประชาชนโดยไม่ขาดสาย ภควาข้อ ๔ ผู้ที่ควรเข้าไปคบหาสามอย่างนี้เป็นเครื่องหมายถึง พระกรุณาคุณ ภควาข้อ ๕ ผู้ที่คายออกหมด ซึ่งการท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ภควาข้อ ๖ ผู้ที่ทำลายกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ภควาข้อ ๗ ผู้ที่มีส่วนแห่งเครื่องสักการบูชาของชาวโลก ภควาข้อ ๘ ผู้ที่มีภคธรรม สี่อย่างนี้เป็นเครื่องหมายถึงพระบริสุทธิคุณ นี่คือความหมายของคำว่า ภควา พระนามบทต้นที่เรายกขึ้นเอามากล่าวในคำว่า “นโม” ที่รับการนอบน้อมของเราผู้กล่าว

พระนามต่อไปคือ “อรหโต” ที่แปลว่า “พระอรหันต์” อรหันต์นี้ตามความหมายโดยสิ้นเชิง ท่านแสดงไว้ถึง ๑๐ อย่าง แต่ที่รู้กันโดยทั่วไปมีเพียง ๔ อย่าง ในที่นี้จะแสดงเพียง ๔ คือ

๑. อรหํ แปลว่า ห่างไกลจากกิเลส หมายความว่า ไม่มีกิเลสอยู่ในพระองค์ของพระพุทธเจ้า

๒. อรหํ แปลว่า ไม่มีที่เร้นลับในการกระทำบาป หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่คงที่ต่อหน้าประชาชน พระองค์ทรงทำความดีอย่างไร ลับหน้าก็ทรงทำความดีอย่างนั้น ไม่มีการปิดซ่อนเร้นกระทำความชั่วเหมือนบุคคลอื่น คือบริสุทธิ์ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง

๓. อรหํ แปลว่า ควรที่จะรับเครื่องสักการบูชาของชาวโลก หมายความว่า ทรงเป็นทักขิไณยบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญแก่ผู้ที่สักการบูชาพระองค์ ข้อนี้มีความหมายคล้ายกับภควาข้อที่ ๗ ที่แปลว่าผู้มีส่วนแห่งเครื่องสักการบูชา อันนี้หมายถึงสิทธิ คือว่าสิทธิที่จะได้รับเครื่องสักการบูชานั้น ต้องเป็นคนที่มีความดี ถ้าไม่มีความดีไปรับเข้า ก็ตกอยู่ในฐานลวงโลก ส่วนอรหํนี้ หมายความว่า เมื่อพระองค์รับเครื่องสักการบูชาของใครแล้ว ย่อมทำให้เกิดผลใหญ่ เกิดอานิสงส์ใหญ่ เกิดเป็นบุญแก่ผู้สักการบูชาแสดงเป็นทักขิไณยบุคคล ความหมายไม่เหมือนกัน นี่เป็นความหมายซึ่งพูด อย่างย่อๆ

๔. อรหํ แปลว่า หักกำแห่งสังสารจักรได้ ก่อนอื่นก็ให้รู้จักล้อเสียก่อน ล้อคือวงกลมที่มีซี่ล้อนั้นมีส่วนประกอบอยู่สามอย่างคือ ดุม กำ กง ดุมนั้นเป็นแกนอยู่ตรงกลาง เป็นที่ยึดเหนี่ยวของซี่ล้อคือกำ กำก็คือสิ่งที่ยึดกงล้อกับดุมให้ติดกัน เมื่อล้อมีดุม มีกงพร้อม ก็หมุนไปตามแรงผลักดันไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า “วัฏสงสาร” ก็มีอาการหมุน ไปอย่างล้อนี้เหมือนกัน คือเวียนตายเวียนเกิดไม่ มีที่สิ้นสุด ด้วยอำนาจกิเลส กรรมวิบาก คนที่มีกิเลส เมื่อทำกรรมอันใด ก็เกิดเป็นผลคือ วิบาก ร่างกายของเรานี้ก็เป็นวิบากกรรมเก่า กิเลสมีอยู่ทำกรรมอีก กรรมเป็นตัวเหตุ พอตายแล้วก็เกิดมาอีก หมุนไม่มีที่สิ้นสุด นี่เรียกว่าล้อสังสารวัฏ เหมือนล้อรถธรรมดา ถ้ามันมีพร้อม มันก็หมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้จักต้น ไม่รู้จักปลาย ตัวสำคัญที่จะให้สังสารวัฏเป็นไปได้ก็คือกิเลส พระพุทธเจ้าทรงทำลายกรรม กิเลสอันเป็นตัวกำของสังสารจักรนี้ได้หมด ล้อมันก็ล้ม การเวียนตายเวียนเกิดก็ไม่มี อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจ เรายังเข้าใจผิดกันอยู่มาก ไปเข้าใจเรื่องอดีต เรื่องอนาคต มันจึงได้ยุ่งความเป็นจริงศึกษากันเรื่องปัจจุบันนี้ก็พอ

ส่วนที่จะทำให้เกิดสังสารวัฏนั้น มีส่วนสำคัญ อยู่ ๓ อย่าง คือ อวิชชา ภวตัณหา อภิสังขาร และที่เหลืออยู่ในปฏิจจสมุปบาททั้งหมด อวิชชากับภวตัณหานั้นเป็นดุมของสังสารวัฏ อภิสังขารเป็น กำคือซี่ล้อของสังสารวัฏ ปฏิจจสมุปบาท นอกนั้นเป็นกงของสังสารวัฏ ในปฏิจจสมุปบาทเราจะเห็นได้ก็ที่อาการ ๑๒ อย่างนั้นมันวนกันอยู่เสมอในปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงอดีต อนาคต อภิสังขารฟังยาก เข้าใจยาก สังสารวัฏในวันนี้มันหมุนไปได้กี่รอบ พึงเข้าใจปัจจุบันอย่างนี้ อวิชชา ก็อย่าพึงเข้าใจตามตำรา อะไรก็ยังไม่รู้ อวิชชานั้น พระพุทธเจ้าได้ให้ความหมายไว้ที่พบในบาลีมี ๒ คัมภีร์ คืออังคุตรนิกายกับสังยุตนิกายว่า อวิชชา คือการไม่รู้อริยสัจจะ ๔ ให้เข้าใจเพียงแค่นี้ อย่าเข้าใจนอกออกไป ภวตัณหา คือตัณหานุสัย คนมีอวิชชาก็ต้องมีตัณหานุสัย ไม่ใช่ภวตัณหาในตัณหา ๓ ตัณหานุสัย ก็คือว่า ความรู้สึกว่าเราเป็นอะไร เรามีอะไร อยู่อย่างนี้ เราเป็นเรา เรามีของเราอยู่ นี่แหละเป็นภวตัณหา อย่างว่าเราเป็นบิดามารดา เราก็นึกว่าเราเป็นบิดามารดา เราเป็นชาย ก็นึกว่าเราเป็นชาย เราเป็นหญิง ก็นึกว่าเราเป็นหญิง เราเป็นลูก ก็นึกว่าเราเป็นลูก อย่างนี้คือ ตัวภวตัณหา มีประจำอยู่ด้วยกันทุกคน

อภิสังขาร ที่เป็นตัวกรรมนั้นเป็นอย่างไร จะชี้ให้เห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่อธิบายมาก ให้ไปคิดเอาเอง คนที่ยังมีอวิชชา ภวตัณหา เป็นเรือนใจอยู่ นี่จะพูดถึงสังสารวัฏที่เกิดขึ้นทางตา เมื่อมีรูปเข้ามากระทบตา ตานี่เป็นตัวของเรา ร่างกายของเรา ความยึดถืออย่างนี้มีอยู่แล้ว รูปเข้ามากระทบตา รูปคือแสงสะท้อนเข้ามาตั้งอยู่ที่เยื่อนัยน์ตาคือประสาทตา ประสาทตาทำหน้าที่รับรูปนั้น นี่คือรูปภายนอกกับรูปภายในเข้าไปอยู่ร่วมกัน มโนธาตุก็น้อมตัวออกไปหารูปภายนอก น้อมตัวออกไปด้วยไม่รู้ว่ารูปที่เข้ามาตั้งอยู่ที่ประสาทตานี้มันเป็นตัวทุกข์ ประสาทที่รับรู้ก็เป็นตัวทุกข์ กิริยาน้อมไปรู้รูปก็เป็นตัวทุกข์ นี่คือการไม่รู้อริยสัจจะ ๔ พอน้อมตัวออกไปรับ ทุกข์เกิดมา เบื้องแรกคือวิญญาณ คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ พอวิญญาณเกิด ต่อไปนามรูปก็เกิดขึ้นมา นามรูปที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ เริ่มเกิดเป็นภพใหม่ขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกวิญ ญาณดวงนี้เป็นจุดเริ่มต้นอันแรกของภพใหม่ ต่อไปนี้ปฏิจจสมุปบาทแต่ละข้อๆ เป็นส่วนเป็นภพใหม่ทั้งนั้น ที่เกิดขึ้นติดต่อกันไป เกิดตั้งแต่นามรูป ไปจนถึงชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส นี่เป็นภพใหม่ชุดหนึ่ง พอมีเสียงมากระทบหู ภพที่เริ่มต้นด้วยจักขุวิญญาณนั้นดับ โสตวิญญาณเกิดตั้งภพใหม่อีกต่อไป ตัวน้อมออกไปนั้นเป็นตัวอภิสังขาร น้อมไปในบุญหรือไม่ใช่บุญหรือ เป็นอเนญชาอะไรก็ตาม ตัวน้อมออกไปนั้นก็คืออภิสังขาร เป็นอย่างนี้เสมอ

วันหนึ่งๆ สังสารวัฏมันเกิดขึ้นกับเรากี่รอบ พิจารณาดูอย่างนี้ก็แล้วกัน ได้ยินเสียงทีหนึ่ง สังสารวัฏเกิดขึ้นรอบหนึ่ง ได้เห็นรูปครั้งหนึ่ง ได้ดมกลิ่นครั้งหนึ่ง ได้ลิ้มรสครั้งหนึ่ง ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะครั้งหนึ่ง ได้รู้ธรรม (ธัมมารมณ์) ครั้งหนึ่ง สังสารวัฏก็เกิดขึ้นรอบหนึ่งๆ สังสารวัฏย่อม เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ วันหนึ่งๆ มันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทบอารมณ์ทีหนึ่ง ก็เกิดขึ้นทีหนึ่ง วันหนึ่งเกิดขึ้นเท่าไร กำหนดไม่ไหว พระพุทธเจ้าทรงแสดงย่อๆ อย่างนี้ เมื่อน้อมจิตออกไป แผ่จิตออกไป ทอดจิตออกไปหาอารมณ์ที่มากระทบ ก็เกิดวิญญาณ พอวิญญาณเกิด ภพใหม่ก็เกิด นี่คือตัวสังสารวัฏในปัจจุบัน อย่างนี้มันเกิดติดต่อกันอยู่เสมอ ไม่ต้องไปเอาชาติหน้าชาติหลังอะไร วันนี้สังสารวัฏมันเกิดมากมายกำหนดจำนวนครั้งไม่ได้

อวิชชา ภวตัณหา นี่เป็นดุม ตัวที่น้อมจิตออกไปนั้นเป็นกำ วิถีจิตต่อไปเป็นกง มันวนอยู่อย่างนี้ พอสุดรอบแล้วก็เกิดใหม่ขึ้นอีกรอบๆ อย่างนี้ตลอดไป ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสังสารวัฏที่นับ ครั้งไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงชาติอื่น การพิจารณา ปฏิจจสมุปบาทต้องพิจารณาอย่างนี้ อย่าไปพิจารณาอย่างตำราชั้นหลังท่านว่าไว้ จึงจะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ วิปัสสนาปัญญาไม่เกิด และไม่สามารถดับกังขา บรรลุกังขาวิตรณวิสุทธิได้ พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ต้องพิจารณาอย่างนี้ จึงจะเห็นสังสารวัฏ จึงจะเกิดวิปัสสนาปัญญา ความสำคัญเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าทรงดับอวิชชาได้ ทรงดับภวตัณหาได้ เมื่อมีอารมณ์มากระทบพระเนตร ทรงน้อมไปด้วยปัญญา รู้เท่าทันว่ารูปนี้เป็นทุกข์ ประสาทตาที่รับรูปนี้เป็นทุกข์ กิริยาที่น้อมไปรับรูปก็เป็นทุกข์ พอเกิดวิญญาณ เกิดเวทนา ทรงปล่อยวางได้ ไม่เกิดสังสารวัฏ อรหโตในความหมายผู้หักดุมและกำสังสารวัฏเสียได้ หมายความอย่างนี้

อรหํ นี้มีความหมาย ๔ อย่างคือ ห่างไกลจากกิเลส ๑ ไม่มีที่เร้นลับในการกระทำบาป ๑ ควรรับเครื่องสักการบูชาของเทพยดาและมนุษย์ ๑ หักกำแห่งสังสารจักรได้ ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเครื่องหมายพระบริสุทธิคุณ

ฉบับหน้าจะเป็นเรื่องพระนามที่ ๓ ของพระพุทธเจ้า คือ “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส”


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 12:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๓)


มาถึงตอนนี้จะเป็นเรื่องพระนามที่ ๓ หรือพระนามสุดท้ายของพระพุทธเจ้า คือ “สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส”

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใจความก็คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจจะ ๔ โดยชอบตามลำพังพระองค์เอง อริยสัจจะ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์คืออะไร ? ในที่นี้หมายถึงสภาวทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจจะ ๔ แปลตามตัวว่า สิ่งที่ว่างๆ ไม่มีสาระ แต่เป็นที่เกิดของอันตรายมากมาย สิ่งที่เรียกว่าเป็นทุกข์ เราจะรู้ได้ด้วยอาการ ๓ อย่างคือ ๑) ทนต่อเหตุแวดล้อมที่เป็นข้าศึกไม่ได้ ๒) ทนต่อกาลเวลาที่ล่วงไปไม่ได้ ๓) ทนต่อกิเลสไม่ได้ นี้อาการของทุกข์ที่เราพอกำหนดรู้ได้

ทนต่อเหตุแวดล้อมที่เป็นข้าศึกไม่ได้อย่างไร ? หนาวเกินไป ร้อนเกินไป หิว กระหาย ปวดอุจจาระปัสสาวะ หรือเชื้อโรคต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมานี้ ทนไม่ไหว สิ่งที่เกิดกับกาย จิต เจตสิกนี้ มันทนไม่ไหว ต้องแปรไป ต้องเปลี่ยนไป ทนไม่ไหวหนักเข้าก็ตาย

ทนต่อกาลเวลาที่ล่วงไปไม่ได้อย่างไร ? กาลเวลาที่ล่วงไป มันกินอายุไปด้วย กินไปทุกวินาที กาลล่วงไป อายุก็ล่วงไป ทนไม่ได้ แก่ไปตามกาลไปตามเวลาที่ ล่วงไปๆ นี่คือทนต่อกาลเวลาไม่ได้

ทนต่อกิเลสไม่ได้อย่างไร ? ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้าโศกเสียใจ เกิดขึ้นมาทนไม่ได้ หน้าเขียว หน้า แดง หน้าซีด หน้าเซียว ทนไม่ได้ไปต่างๆ นานา

นี่เป็นอาการทุกข์ในอริยสัจจะ ๔ แสดงอาการออกมาอย่างนี้ ทุกข์นี้เป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากสมุทัย

สมุทัย ได้แก่ ตัณหา ตัณหานั้นมี ๒ ประเภทคือ ๑) ตัณหาพื้นฐาน เรียกว่า ตัณหานุสัย หรือ ภวตัณหา คือ ความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเรา ๒) ตัณหาวิจิตร คือ ตัณหาที่แล่นไปแส่ไปหาอารมณ์ เป็นตัณหาชั้นหยาบซึ่งจำแนกเป็นตัณหาร้อยแปด คือเป็นกามตัณหาบ้างภวตัณหาบ้าง วิภวตัณหาบ้าง

นิโรธ คือการดับตัณหาได้หมด

มรรค เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุที่จะให้ถึงนิโรธ


พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจจะ ๔ คือทรงตรัสรู้ทุกข์ ด้วยความเป็นทุกข์คือรู้จักทุกข์ตามสภาพ ทรงตรัสรู้สมุทัย ด้วยความเป็นสมุทัย ทรงตรัสรู้นิโรธ ด้วยความเป็นนิโรธ ทรงตรัสรู้มรรค ด้วยความเป็นมรรค ทรงตรัสรู้ด้วยญาณ ๑๒ ดวง คือสัจจะละ ๓ ดวง ได้แก่

ทรงรู้จักทุกข์ ด้วยความเป็นทุกข์ ทรงรู้กิจที่จะต้องทำในทุกข์ เมื่อได้ทรงกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ก็ทรงรู้ว่าได้ กำหนดรู้ทุกข์แล้ว

ทรงรู้จักสมุทัย ด้วยความเป็นเหตุแห่งการเกิดทุกข์ ทรงรู้จักกิจในสมุทัยว่าเป็นสิ่งที่จะต้องละ ก็ทรงละสมุทัยได้ เมื่อละได้แล้ว ก็ทรงรู้ว่าละได้แล้วด้วย

ทรงรู้จักนิโรธ ด้วยความเป็นที่ดับทุกข์ ทรงรู้กิจในนิโรธว่าเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ทรงกระทำให้แจ้งใน นิโรธ ทรงรู้ว่าได้ทรงทำให้แจ้งแล้วในนิโรธด้วย

ทรงรู้จักมรรค ด้วยความเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ ทรงรู้ว่าเป็นธรรมที่ควรทำให้เกิดขึ้นได้ทรงทำให้มรรคเกิดขึ้นมา ทรงรู้ว่าได้ทำให้มรรคเกิดขึ้นมาแล้วด้วย

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจจะ ๔ นี้โดยสิ้นเชิงทุกส่วน ทุกแง่ ทุกมุม การตรัสรู้เป็นไปตามลำพังของพระองค์เอง พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงพระนามว่า สัมมาสัมพุทธะ พระนามบทนี้เป็นเครื่องหมายถึง พระปัญญาคุณ

เมื่อตั้ง นโมฯ ก็พึงแสดงความเคารพในพระพุทธเจ้าให้ครบทั้งสามทวาร ตามระเบียบจะเห็นได้เพียงสองทวาร ตามหลักการที่ถูก ควรจะทำให้ครบทั้งสามทวาร คือ ประณมมือ เป็นการแสดงความเคารพทางกาย ทวาร กล่าวคำว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส เป็นการแสดงความเคารพทางวจีทวาร ปลูกความเลื่อมใสในพระคุณของพระพุทธเจ้าตามพระนามที่เรากล่าวไป เป็นการแสดงความเคารพทางมโนทวาร

เมื่อตั้งนโมฯ ต้องทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ตามพระนามของพระพุทธเจ้า คือ เมื่อกล่าวถึงบท ‘ภควา’ ก็น้อมใจไปนึกถึงว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณ ๓ ประการคือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ พอถึงบท ‘อรหํ’ ก็นึกว่าพระพุทธเจ้ามีพระบริสุทธิคุณ พอถึงบท ‘สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส’ ก็นึกน้อมไปเลื่อมใสในพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปล่งนโมฯ ด้วยการทำให้ระลึกถึงพระคุณของ พระพุทธเจ้าตามพระนามที่ยกขึ้นมากล่าวนั้น ความเลื่อมใส ความเคารพ ก็จะไปขับไล่กิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจออกไปหมด ทำให้เกิดศรัทธา ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ เมื่อทำอย่างนี้ทุกคราวที่ตั้งนโมฯ ก็จะเกิดเป็นบุญเป็นกุศล ในตอนที่ตั้งนั้น แล้วจะชักจูงให้กระทำความดีตามพระคุณของพระพุทธเจ้า

ถ้าหากว่าการตั้งนโมฯ ทำให้เกิดความเคารพเลื่อมใสอย่างนี้ บุญกุศลก็ย่อมเกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง เพราะว่าศรัทธาในพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นไปแรงยิ่ง ก็อาจทำให้โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นมาดับสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา สีลพตปรามาสได้ โสดาปัตติมรรคก็คือญาณที่ทำให้เกิดศรัทธาที่มั่นคงในพระรัตนตรัย

แต่ว่าการตั้งนโมฯ ครั้งแรกยากที่จะทำให้พระคุณของพระพุทธเจ้านี้มาปรากฏได้ จะต้องพยายามศึกษา ความหมายพระนามของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ พอนึกถึงพระนามครั้งใด ใจก็แล่นถึงพระคุณได้ทุกคราว เมื่อทำได้อย่างนี้ ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง ไม่ควรกล่าวนโมฯ อย่างเพ้อหรืออย่างประเพณีนิยม ต้องกล่าว นโมฯ ด้วยศรัทธา เคารพเลื่อมใส กล่าวนโมฯ ให้กุศล บังเกิดขึ้นมาทุกๆ ครั้ง กุศลที่บังเกิดขึ้นจะชำระจิตใจให้สะอาด ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ ทำให้เกลียดบาปกลัวบาป ทำให้เป็นตัวของตัวเอง และช่วยให้ดำรงอยู่มั่นในปฏิปทาของพระพุทธศาสนา เป็นคนดีตามแบบของพระพุทธเจ้าได้โดยตลอดกาล

การเปล่งคำว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส จนทำให้เกิดความเคารพเลื่อมใสในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ตามพระนามของพระพุทธเจ้าได้ จำเป็นต้องศึกษาความหมายพระนามของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจ และน้อมนำมาระลึกอยู่เสมอ ตามนัยที่พรรณนาไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ตอน ๒ ฉอ นุสสตินิเทศ ว่า สติ (เจตสิก) นั่นเองชื่อว่าอนุสติ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ อนึ่ง สติ ชื่อว่าอนุสติ เหตุเป็นความระลึกอันนับว่าสมควรแก่กุลบุตร ผู้บวชด้วยศรัทธา เพราะให้เป็นไปในฐานะอันควรให้เป็นไปเท่านั้น ดังนี้ก็ได้อนุสติอันปรารภพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นชื่อ พุทธานุสสติ คำว่า พุทธานุสสติ นั่นเป็นคำเรียกสติ (เจตสิก) อันมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์

วิธีเจริญพุทธานุสสติ ผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่นใคร่จะเจริญพุทธานุสสติเป็นอันดับแรก พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างนี้ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณ สมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺ สานํ พุทฺโธ ภควา (ต่อไป) นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านั้น (คือ) ระลึก (ประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท) ว่า โส ภควา อิติปิอรหํ (แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์)ฯ เปฯ โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา (ผู้จำแนกพระธรรม) (คำ อิติปินั้น) มีอธิบายว่า “เพราะเหตุนี้ๆ”

เมื่อผู้นั้นระลึกถึงพระพุทธคุณว่า “เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหํ ฯลฯ เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระภควา” ดังนี้อยู่ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ในสมัยนั้นจิตของเธอย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงแน่ว ปรารภ (คุณ) พระตถาคตเจ้า เมื่อเธอข่มนิวรณ์ ได้โดยที่ไม่มีปริยุฏฐานกิเลส มีราคะเป็นอาทิ อย่างนั้นชื่อว่ามีจิตดำเนินไปตรง เพราะความที่มีจิตมุ่งต่อพระกรรมฐานอยู่ ฉะนี้ วิตกและวิจารอันโน้มไปในพระพุทธคุณ ย่อมเป็นไป เมื่อตรึกเมื่อตรองพระพุทธคุณร่ำไปๆ ปีติย่อมเกิดขึ้น ความกระวนกระวายกายจิตของเธอ ผู้มีใจกอปรด้วยปีติย่อมระงับโดยปัสสัทธิ อันมีปีติเป็นปทัฏฐาน สุขทั้งทางกายทั้งทางจิต ย่อม เกิดแก่เธอผู้มีความกระวนกระวายอันระงับแล้ว จิตของเธอผู้มีสุข เป็นจิตมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นสมาธิ องค์ฌาน ย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับในขณะเดียว ดังกล่าวมาฉะนี้ แต่เพราะความที่พระพุทธคุณทั้ง หลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึกถึงพระคุณมีประการต่างๆ ฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจารเท่านั้น (และ) ฌานนี้ก็ถึงซึ่งความนับ (คือได้ชื่อ) ว่าพุทธานุสสตินั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงพระพุทธคุณ

อานิสงส์การเจริญพุทธานุสสติ ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งพุทธานุสสตินี้ย่อมเป็นผู้มีความเคารพมีความยำเกรงในพระศาสดา ได้ความไพบูลย์แห่งศรัทธาความไพบูลย์แห่งสติ ความไพบูลย์แห่งปัญญา และความไพบูลย์แห่งบุญ เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึก (เสมือน) ว่าได้อยู่กับพระศาสดา อนึ่ง แม้สรีระของเธออันพุทธคุณานุสสติ ประทับอยู่ย่อมเป็นร่างควรแก่การบูชาดุจเรือนพระเจดีย์จิต (ของเธอ) ย่อมน้อมไปในพุทธคุณ อนึ่ง ในเมื่อมีการประจวบเข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิด (ศีล) หิริโอตตัปปะย่อมจะปรากฏแก่เธอราวกะเธอเห็นพระศาสดาอยู่ต่อหน้า อนึ่ง เมื่อยังไม่บรรลุคุณยิ่งขึ้นไป เธอย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาทในพุทธานุสสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ

คู่มือการศึกษากัมมัฏฐานสังคหวิภาค พระอภิธัมมัตถ สังคหะ ปริจเฉทที่ ๙ หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐ พุทธานุสสติ กล่าวว่าพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีเป็นเอนกประการ สุดที่จะ พรรณนา แต่เมื่อรวบรัดกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๙ ประการ คือ

๑. อรหํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส อีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่รโหฐาน หมายความว่า แม้แต่ในที่ลับ ก็ไม่กระทำบาป

๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง

๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ

๔. สุคโต แปลว่า ทรงไปแล้วด้วยดี ซึ่งในที่นี้มีความหมายถึง ๔ นัย คือ

ก. เสด็จไปงาม คือไปสู่ที่บริสุทธิ์ อันเป็นที่ที่ปราศจากโทษภัยทั้งปวง ซึ่งหมายถึง อริยสัจจะทั้ง ๔

ข. เสด็จไปสู่ฐานะอันประเสริฐ คือ อมตธรรม อันเป็นธรรมที่สงบระงับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง

ค. เสด็จไปในที่ถูกที่ควร คือพ้นจากวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ง. ทรงตรัสไปในทางที่ถูกที่ชอบ คือทรงเทศนาใน สิ่งที่เป็นความจริง และเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ฟัง

ประมวลลักษณะแห่งพระพุทธดำรัสได้เป็น ๖ ลักษณะ ดังจะแสดงโดยย่อที่สุด ดังนี้ (๑) ไม่จริง ไม่กอปรด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส (๒) ไม่จริง ไม่กอปรด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส (๓) จริง แต่ไม่กอปรด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส (๔) จริง แต่ไม่กอปรด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส (๕) จริงและกอปรด้วยประโยชน์ ถึงจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นก็รู้กาลที่ จะตรัส (๖) จริงและกอปรด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นด้วย ก็รู้กาลที่จะตรัส

๕. โลกวิทู พระพุทธองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งด้วยประการทั้งปวง คือ ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดของโลก รู้จักธรรมที่ดับของโลก และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับของโลก อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการแจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตว์โลก และโอกาสโลก

ก. สังขารโลก หมายถึง สังขารธรรม คือ รูปนาม ได้แก่ จิต เจตสิก รูปทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ด้วยการปรุงแต่ง ทำให้หมุนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ จำแนกโลกได้เป็นหลายนัย เช่น โลกนับว่ามี ๑ ได้แก่ สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฐิกา สัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ได้ด้วยต้องอาศัยอาหารเหมือนกันหมด, โลกนับว่ามี ๒ ได้แก่ นาเม จ รูเป จ คือ นาม ๑ รูป ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ว่าได้แก่ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑, โลกนับว่ามี ๓ ได้แก่ ตีสุ เวทนาสุ คือเวทนา ๓ มี สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา, โลกนับว่ามี ๔ ได้แก่ จตูสุ อาหาเรสุ คือ อาหาร ๔ มี กพฬีการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ สติปัฏฐาน ๔, โลกนับว่ามี ๕ ได้แก่ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อินทรีย ๕, โลกนับว่ามี ๖ ได้แก่ฉสุ อชฺฌตฺติเกสุ อายตเนสุ คืออายตนะภายใน ๖ อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ นิสสรณียธาตุ ๖, โลกนับว่ามี ๗ได้แก่ สตฺตสุ วิญฺญาณ ฏฐิตีสุ คือวิญญาณฐีติ ๗ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โพชฌงค์ ๗, โลกนับว่ามี ๘ ได้แก่ อฏฐสุ โลกธมฺเมสุ คือ โลกธรรม ๘ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมัคค ๘, โลกนับว่ามี ๙ ได้แก่ นวสุ สตฺตาวาเสสุ คือ สัตตาวาส ๙ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙, โลกนับว่ามี ๑๐ ได้แก่ ทสสุ อกุสลกมฺมปเถสุ คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ กุศล กรรมบถ ๑๐, โลกนับว่ามี ๑๒ ได้แก่ อายตนะ ๑๒, โลกนับว่ามี ๑๘ ได้แก่ ธาตุ ๑๘

ข. สัตวโลก บาลีเป็น สัตตโลก หมายถึง บุคคลคือ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทรงแจ้งประเภท (บุคคล ๑๒), เหตุให้เกิด, นิสัย, จริต, บารมี แห่งสัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น

ค. โอกาสโลก หมายถึง ภูมิ อันเป็นที่ตั้งแห่ง สังขารธรรม คือ เป็นที่อาศัยเกิด อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลายซึ่งมี จำนวนรวม ๓๑ ภูมิ

๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงสามารถฝึกอบรมสั่งสอนแนะนำผู้ที่สมควรฝึกได้เป็นอย่างเลิศไม่มีใคร เสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์นั้นๆ

๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดจะเทียมเท่า เพราะทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ได้

๘. พุทฺโธ ทรงเห็นทุกอย่าง (สพฺพทสฺสาวี), ทรงรู้ทุกสิ่ง (สพฺพญฺญู) ทรงตื่น, ทรงเบิกบานด้วยธรรม

๙. ภควา ทรงเป็นผู้ที่มีบุญที่ประเสริฐสุด ทรงสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ตามควรแก่อัตภาพของสัตว์นั้นๆ


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 1:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๔)


เพื่อทำความเข้าใจใน นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส อย่างแจ่มชัด จะได้อธิบายศัพท์ ‘ภควา อรหัง และ สัมมาสัมพุทโธ’ ตามนัยแห่งคัมภีร์ใน พระพุทธศาสนาของไทยสืบไป

ภควา

เมื่อพิจารณา บทว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณ สมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา จะพบว่า

ภควา ตัวแรกจะเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า
ภควา ตัวหลังจะเป็นพระพุทธคุณของพระองค์

ซึ่ง ภควา ในบทว่า ‘นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส’ ก็เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าเช่นกัน

เมื่อค้นหาพระนาม ‘ภควา’ ที่เป็นพระพุทธดำรัส ในพระไตรปิฎก จะมีปรากฏอยู่ ๒ แห่ง คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ สาริปุตตสุตตนิทเทส พระพุทธเจ้าทรงอธิบายคำว่า ‘ภควา’ แก่พระสารีบุตร และ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค อชิตมาณวกปัญหานิทเทส พระพุทธเจ้าทรงอธิบายคำว่า ‘ภควา’ แก่อชิตมานพ ข้อที่ทรงอธิบายนั้นมีเนื้อความเช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้

“บทว่า ภควา นี้เป็นเครื่องกล่าวด้วยความเคารพ อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำลายราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำลายโทสะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำลายโมหะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำลายมานะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำลายทิฏฐิเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำลายเสี้ยนหนาม เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงจำแนก ทรงแจกวิเศษ ทรงจำแนกเฉพาะซึ่งธรรมรัตนะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. ทรงทำซึ่งที่สุดแห่งภพทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. มีกายอันอบรมแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. มีศีลอันอบรมแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา. มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า และป่าเปลี่ยว เงียบเสียง ไม่มีเสียงกึกก้อง ปราศจากลม แต่หมู่ชน ควรทำกรรมลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีก ออกเร้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส แห่งอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งฌาน อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๒๐ กสิณสมาบัติ ๑๐ สมาธิอันสัมปยุต อานาปาณสติ อสุภฌานสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งกำลังของพระตถาคต ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภควา.

พระนามว่า ภควานี้ พระมารดามิได้ทรงตั้ง พระบิดามิได้ทรงตั้ง พระภคินีมิได้ทรงตั้ง พระภาดามิได้ทรงตั้ง มิตรและอำมาตย์มิได้ตั้ง พระญาติสาโลหิตมิได้ทรงตั้ง สมณพราหมณ์แลเทวดาก็มิได้ตั้ง

พระนามว่า ภควา นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม คือ พระนามที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความหลุดพ้น

พระนามว่า ภควา นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ พระนามของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายผู้ตรัสรู้แล้ว พร้อมด้วยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้มหาโพธิ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภควา”

พระพุทธโฆษะ อธิบายคำว่า ภควา ไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ตอน ๒ ดังนี้

คำว่า ภควา นี้ เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้วิเศษโดยพระคุณ (ทั้งหลาย) ผู้อุดมกว่า (สัตว์ทั้งหลาย) และผู้เป็นครูด้วยความเคารพ เพราะเหตุนั้น ท่านโบราณจารย์ ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

“คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐ คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นครู ทรงประกอบด้วยคุณธรรมของครู เพราะเหตุนั้น ปราชญ์จึงถวายพระนามว่า ภควา”

ชื่อมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม (ชื่อที่เรียกตามรุ่น) ลิงคิกนาม (ชื่อที่เรียกตามเพศ คือเครื่องหมายประจำตัว) เนมิตติกนาม (ชื่อที่มาตามคุณอันเป็นนิมิต) อธิจฺจสมุบันนาม (ชื่อที่ตั้งตามที่ปรารถนาโดยโวหารของชาวโลก ชื่อว่าตั้งขึ้นลอยๆ) มีคำอธิบายว่า

ชื่อเช่นว่า วจฺโฉ (ลูกโค-ลูกแหง่) ทมฺโม (โคฝึก-รุ่นกระทง) พลิพทฺโท (โคถึก-โคงาน) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า อาวัตถิกนาม

ชื่อเช่นว่า ทณฺฑี (คนถือไม้เท้า = คนแก่) ฉตฺตี (ผู้มีฉัตร = พระราชา) สิขี (สัตว์มี หงอน = นกยูง) กรี (สัตว์มีงวง = ช้าง) ดังนี้ เป็นต้น ชื่อว่าลิงคิกนาม

ชื่อเช่นว่า เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา ๓) ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา ๖) ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า เนมิตติกนาม

ชื่อตั้งส่งไปไม่คำนึงถึงความของคำเช่นว่า สิริวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยสิริ) ธนวฑฺฒโก (ผู้เจริญด้วยทรัพย์) ดังนี้เป็นต้น ชื่อ อธิจจสมุบันนาม

ส่วนพระนามว่า ‘ภควา’ นี้ เป็นเนมิตติกนาม พระนางเจ้ามหามายามิได้ทรงขนานให้ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนานให้ พระญาติ ๘๔,๐๐๐ ก็มิได้ขนานถวาย เทวดาผู้วิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะและท้าวสันตดุสิตเป็นอาทิ ก็มิได้ขนานถวาย

จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า “พระนามว่า ภควา นั่น พระมารดามิได้ทรงขนานให้ ฯลฯ พระนามนั่นเป็นวิโมกขันติกนาม (นามอันเกิดต่อท้ายวิโมกข์) (มีขึ้น) พร้อมกับความได้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โคนโพธิพฤกษ์แห่งพระผู้มีพระภาค เจ้าทั้งหลาย พระนามนั่นเป็นสัจฉิกาบัญญัติ (ตั้งโดยที่รู้แจ้งธรรม) พระนามนี้คืออะไร พระนามนี้คือ ภควา” ดังนี้

ก็แลพระนามนั้นอันมีคุณอันใดเป็นเครื่องหมาย เพื่อจะประกาศคุณเหล่านั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าว (เป็น) คาถานี้ไว้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงเป็น (ภคี) ผู้มีภคะ (คือโชค) เพราะเป็น (ภชี) ผู้เสพ (ที่สงัด) เพราะเป็น (ภาคี) ผู้มีภาค (คือมีส่วนควร ได้รับจตุปัจจัยหรือมีส่วนแห่งธรรม) เพราะเป็น (วิภตฺตวา) ผู้จำแนก (ธรรม) เพราะได้ทรงทำภัคคะ (คือการหักกิเลสบาปธรรม) เพราะทรงเป็นครู เพราะทรงเป็นภาคยะ (คือบุญบารมี) เพราะทรงเป็น (สุภาวิตตฺตะ) ผู้อบรมพระองค์ดีแล้ว ด้วยญายธรรมเป็นอันมาก* เพราะเป็น (ภวนฺตคะ) ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ”

ก็แลอรรถาธิบายแห่งบทนั้นๆ ในคาถานั้น บัณฑิตพึงเห็นตามนัยแห่งบาลีที่กล่าวในนิเทสนั้นเถิด ส่วนนัย (ต่อไป) นี้ เป็นอีกนัยหนึ่งคือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้มีภาคยะ (ภาคฺยวา) เป็นผู้หัก (ภคฺควา) และเป็นผู้ประกอบด้วยภคธรรมทั้งหลาย (ภเคหิ ยุตฺโต) เป็นผู้จำแนก (วิภตฺตวา) เป็นผู้คบ (ภตฺตวา) เป็นผู้คายความไปในภพทั้งหลายเสียแล้ว (ภเวสุ วนฺตคมนะ) เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า ภควา


แก้บท ภาคฺยวา

ในบทเหล่านั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า พระภาคฺยวา เพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้มีพระภาค คือ พระบารมี มีทานและศีลเป็นต้น อย่างเยี่ยมยอด อันสามารถยังความสุขทั้งที่เป็นโลกิยะ ทั้งที่เป็นโลกุตตระให้บังเกิดได้ (แต่) เรียกเสียว่าพระภควา


แก้บท ‘ภคฺควา’

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงหักเสียแล้วซึ่งกิเลส ทำความกระวนกระวายและเร่าร้อน (แก่สัตว์ทั้งหลาย) ทั้งสิ้น นับด้วยแสนประเภท คือประเภทโลภะ (เศร้าหมอง และเร่าร้อนเพราะยินดีชอบใจ) ประเภทโทสะ (ไม่ชอบใจ ร้ายกาจ ทำลาย) ประเภทโมหะ (ความมัวเมาลุ่มหลง ไม่รู้สึกตัว ปราศจากสติสัมปชัญญะ) ประเภทวิปริตมนสิการ (ความคิดผิดทาง) ประเภทอหิริกะ (ไม่ละอายในการกระทำบาป) และอโนตตัปปะ (ไม่เกรงกลัวผลของการกระทำบาป) ประเภทโกธะ (โกรธ เดือดดาล) และอุปนาหะ (ผูกโกรธไว้) ประเภทมักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) และปลาสะ (ตีเสมอ ยกตนเทียมท่าน) ประเภทอิสสา (ริษยา) และมัจฉริยะ (ตระหนี่) ประเภทมายา (มารยา เจ้าเล่ห์) และสาเถยยะ (โอ้อวด) ประเภทถัมภะ (หัวดื้อ) และสารัมภะ (แข่งดี) ประเภทมานะ (ความทะนงตนถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) ประเภทมทะ (มัวเมา) และปมาทะ (เลินเล่อ) และประเภทตัณหาและอวิชชา ประเภทอกุศลมูล ๓ ประเภททุจริต ๓ ประเภทสังกิเลส ๓ ประเภทมละ (มลทิน) ๓ ประเภทวิสมะ (ความไม่สงบ) ๓ ประเภทสัญญา ๓ ประเภทวิตก ๓ และประเภทปปัญจะ (เครื่องเนิ่นช้า) ๓๑ ประเภทวิปริเยสะ (ความสำคัญผิด) ๔ ประเภทอาสวะ ๔ ประเภทคัณฐะ (เครื่องผูกรัด) ๔ ประเภทโอฆะ ๔ ประเภทโยคะ ๔ ประเภทอคติ ๔ และประเภทตัณหุปปาทะ (ที่เกิดตัณหา) ๔ ประเภท เจโตขีละ (ตาปูตรึงจิต) ๕ ประเภทวินิพันธะ (เครื่องผูกจิต) ๕ ประเภทนิวรณ์ ๕ และประเภทอภินันทนะ (เครื่องเพลิดเพลิน) ๕ ประเภทวิวาทมูล (มูลแห่งการวิวาท) ๖ และประเภทตัณหากาย (หมู่ตัณหา) ๖ ประเภทอนุสัย ๗ ประเภทมิจฉัตตะ ๘๒ ประเภทตัณหามูลกะ (โทษที่มีตัณหาเป็นมูล) ๙ ประเภทอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประเภททิฏฐิคตะ (ความเห็นผิด) ๖๒ ประเภทตัณหาวิจริต (ความนึกไปต่างๆ ด้วยอำนาจตัณหา) ๑๐๘ (เป็นตัวอย่าง) หรือว่าโดยสังเขป ซึ่งมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร และมัจจุมาร เพราะเหตุนั้น

เมื่อน่าจะเรียกว่า ‘พระภคฺควา’ เพราะทรงหัก (กิเลสอันทำ) อันตรายทั้งหลายเหล่านั้นเสียได้ (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา จริงอยู่ในความข้อนี้ ท่านกล่าว (เป็นคาถา) ไว้ว่า

๑. มิจฉัตตะ ๘ = ความเห็นผิด, ภาวะที่ผิดมี ๑๐ อย่าง คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

๒. ปปัญจะ = กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่ทำให้คิด ปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น (ภคฺคราโค) ผู้ทรงหักราคะ (ภคฺคโทโส) ผู้ทรงหักโทสะ (ภคฺคโมโห) ผู้ทรงหักโมหะ เป็นผู้หาอาสวะมิได้ บาปธรรมทั้งหลายพระองค์ทรงหักเสีย (สิ้น) แล้ว เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า พระภควา ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะ (ลักษณะอันเกิด เพราะบุญ) นับด้วย ๑๐๐ เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่ทรงเป็นผู้มีพระภาคย์ (คือบุญบารมี) ความถึงพร้อมแห่งพระธรรม เป็นอันแสดงด้วยความที่ทรงเป็น (ภคฺคโทสะ) ผู้หักโทสะ ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้ เคียงทั้งหลายรู้จักมากก็ดี ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย พึงไปมาหาสู่ก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันช่วยขจัดทุกข์กายทุกข์ใจให้แก่เขาทั้งหลายผู้ไปหาก็ดี ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันยังเขาให้ประกอบพร้อมไปด้วยโลกิยสุข และโลกุตตรสุขก็ดี ก็เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยพระคุณสมบัติ ๒ อย่างนั้น


แก้บท ‘ภเคหติ ยุตฺโต’

อนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ ภคะ ในโลกย่อมเป็นไปในธรรม ๖ อย่างคือ ความเป็นใหญ่ (อิสสริยะ) ธรรม ยศ สิริ และความพยายาม (ปยัตตะ) ก็ความเป็นใหญ่ในพระจิตของ พระองค์เองอย่างยอดเยี่ยมมีอยู่ หรือความเป็นใหญ่ที่โลกสมมติกัน (๘ อย่าง) มีทำร่างกายให้เล็ก (อณิมา) และทำร่างกายให้เบา (เดินอากาศได้ ลังฆิมา) เป็นต้น อันบริบูรณ์ ด้วยอาการทั้งปวงของพระองค์ก็มีอยู่ โดยนัยเดียวกันนั้น พระธรรมอันเป็นโลกุตตรของ พระองค์ก็มีอยู่ พระยศของพระองค์ปรากฏทั่วโลก ๓ เป็นพระยศที่ทรงได้โดยพระคุณ ตามที่เป็นจริง เป็นพระยศที่บริสุทธิ์ยิ่งนักก็มีอยู่ พระสิริ (ความงามสง่า) แห่งพระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงบริบูรณ์ด้วยอาการทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถให้เกิดขวัญตาและขวัญใจแก่ชนผู้ขวนขวายในการเฝ้าชมพระรูปกาย ก็มีอยู่ พระกามะ อันหมายถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ทรงพระประสงค์ ก็มีอยู่ เพราะประโยชน์ใดๆ ที่พระองค์มีพระประสงค์แล้ว ทรงปรารถนาแล้ว จะเป็นประโยชน์ตนก็ตาม ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ประโยชน์นั้นๆ ก็สำเร็จสมพระประสงค์ทั้งนั้น และพระปยัตตะ กล่าวคือสัมมาวายามะ อันเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งความเป็นครูของโลกทั้งปวง ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวาย พระนามว่า ภควา โดยอรรถ (วิเคราะห์) นี้ว่า ภคาอสฺส สนฺติ - ทรงมีภคธรรม เพราะความที่ทรงประกอบด้วยภคธรรมทั้งหลาย (ที่กล่าวมา) นี้ ประการ ๑


แก้บท ‘วิภตฺตวา’

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น ‘วิภตฺตวา’ มีคำอธิบายว่าทรงจำแนก ทรงเปิดเผย ทรงแสดง ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยประเภททั้งหลาย มีประเภทกุศล เป็นต้น หรือว่าซึ่งธรรมมีกุศลธรรมเป็นอาทิ โดยประเภท ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น หรือว่าซึ่งอริยสัจคือทุกข์ โดยอรรถ (๔) คือ ปีฬนะ (บีบคั้น) สังขตะ (อันปัจจัยปรุงแต่ง) สันตาปะ (แผดเผา) วิปริณาม (แปรปรวน) ซึ่งอริยสัจคือสมุทัย โดยอรรถ (๔) คือ อายูหนะ (ประมวลมาซึ่งทุกข์) นิทานะ (เป็นเหตุแห่งทุกข์) สังโยคะ (ผูกไว้กับทุกข์) ปลิโพธะ (หน่วงไว้มิให้ถึงมรรค) ซึ่งอริยสัจคือนิโรธ (พระนิพพาน) โดยอรรถ (๔) คือ นิสสรณะ (ออกไปจากทุกข์) วิเวก (สงัดจากทุกข์) อสังขตะ (อันปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) อมตะ (เป็นสภาพไม่ตาย) ซึ่งอริยสัจคือมรรค โดยอรรถ (๔) คือ นิยยานิกะ (นำออกจากทุกข์) เหตุ (เป็นเหตุแห่งนิโรธ) ทัสสนะ (เป็นเครื่องเห็นแจ้งพระนิพพาน) อธิปไตย (เป็นใหญ่ในการเห็นอริยสัจ) เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่า พระวิภตฺตวา (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา


แก้บท ‘ภตฺตวา’

อนึ่ง เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงคบ คือทรงเสพ ทรงทำให้มาก ซึ่งธรรมอันเป็นทิพวิหาร (รูปาวจรฌาน) พรหมวิหาร และอริยวิหาร (ผลสมาบัติ) ซึ่งกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และอนิมิตวิโมกข์ และซึ่งอุตตริมนุสสธรรม ** ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตรอื่นๆ เพราะเหตุนั้น เมื่อน่าจะเรียกว่าพระภตฺตวา (แต่) เรียกเสียว่า พระภควา


แก้บท ‘ภเวสุ วนฺตคมนะ’

อนึ่งเล่า เพราะความไป กล่าวคือตัณหาในภพ ๓ พระองค์ทรงคายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ภเวสุวนฺตคมโน


เชิงอรรถ

* มหาฎีกาว่า ญายะ หมายเอาภาวนา (การอบรม) ซึ่งในนิเทสกล่าวไว้ ๔ คือ อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา

** อุตตริมนุสสธรรม ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง, ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล, บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษบ้าง คุณวิเศษ หรือ คุณพิเศษบ้าง


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 5:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๕)


นอกจากนี้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาคสมาธินิเทศ ตอนอนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ พุทธานุสสติ พระพุทธโฆษะ อธิบายพระนามว่า ‘ภควา’ ไว้ ดังนี้

“พระนามคำรบ ๑๐ คือ ภควา นั้นแปลได้ถึง ๘ นัย คือ แปลว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ มีอิสริยยศประการ ๑ แปลว่าควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยทาน คือ จีวรแลบิณฑบาทแลเสนาสนะ แลศิลานปัจจัย ประการ ๑ แปลว่าแจกซึ่งแก้ว คือ พระสัทธรรมประการ ๑ แปลว่าหักเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาปมีราคะเป็นต้นประการ ๑ แปลว่าพระพุทธองค์มีพระภาค คือ พระบารมีอันพระองค์สร้างสมมาช้านานประการ ๑ แปลว่ามีบวรกายแล จิตอันเจริญด้วยภาวนาธรรมเป็นอันมากประการ ๑ แปลว่าถึงซึ่งที่สุดแห่งภพ คือพระอมตมหานิพพานประการ ๑ เป็นนัย ๘ ประการดังนี้

ใช่แต่เท่านั้น ภควา ศัพท์นี้ถ้าแปลตามปรมัตถนัยนั้นแปลได้ ๕ นัยคือ แปลว่ามีพระภาค คือบารมีธรรมประการ ๑ แปลว่าหักเสียซึ่งกองกิเลส มีราคะเป็นต้นประการ ๑ แปลว่ากอปรด้วยบุญสิริ ประการ ๑ แปลว่าเสพซึ่งทิพย์พรหมวิหารประการ ๑ แปลว่าคายเสียซึ่งกิริยาอันเวียนไปในไตรภพ บ่มิได้บังเกิดสืบไปในภพทั้ง ๓ ประการ ๑ เป็น ๕ นัยดังนี้ สิริแปลในบุรพนัย ๘ อปรนัย ๕ จึงเป็นแปลแห่งภควาศัพท์ ๑๓ นัยด้วยกัน พระนามชื่อว่าภควานี้ สมเด็จพระชนนีมารดาจะถวายก็หามิได้ สมเด็จกรุงสิริสุทโธทนะผู้เป็นพระปิตุราช แลพระบรมวงศ์ศากยราช อันเป็นญาติทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๘ หมื่นๆ จะถวายก็หามิได้ ใช่แต่เท่านั้นจะได้เป็นพระนามอันมเหสักขเทวราช มีท้าวสหัสสนัยบพิตรแลสันดุสิตเทวราชเป็นประธานถวายก็หามิได้ พระนามอันนี้เป็นคุณวิโมกขันติกนาม พระองค์ได้คราวเดียวกันกับพระสัพพัญญุตญาณเหนืออปราชิตบัลลังก์ ณ ควงไม้พระมหาโพธิ์

ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ ท่านยกขึ้นว่าเป็น เนมิตตกนามแต่ภควาบทเดียว”

คำวิจารณ์ของโบราณาจารย์ ที่ปรากฏในหนังสือพระวิสุทธิมัคค์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “คัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าผู้รจนาตกแต่งพระคัมภีร์ ได้นำพระคาถาพระพุทธฎีกาซึ่งมีคำว่า “สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ จิตตํ ปญฺญญฺเจ ภาวยํ อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ” ดังนี้”

อันพระธรรมสังคาหกาจารย์ ผู้เป็นพระอรหันต์ผู้วิเศษทั้งหลายผู้รวบรวมร้อยกรองพระไตรปิฎก ตั้งแต่กระทำสังคายนามาในปฐมสังคีติกาล ได้ยก ขึ้นตั้งไว้ในชฏาสูตรที่ ๓ ตติยวรรค ซึ่งเป็นวรรค คำรบ ๓ หมวดเทวดาสังยัตต์ ในคัมภีร์สังยุตตนิกายสคาถวรรคฝ่ายพระสุตตันตปิฎกมาตั้งลงเป็นหลักสูตร ในเบื้องต้นคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคขั้นต้นนี้แล้ว สังวรรณนาอรรถกถาพระวิสุทธิมรรค ตามนัยแห่งคาถาพระพุทธฎีกานี้โดยพิสดาร

แต่พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ประพันธ์ปณามคาถา นมัสการพระรัตนตรัยขึ้นใหม่ไว้ในต้นคัมภีร์เหมือนอย่างคัมภีร์อื่นๆ พระผู้เป็นเจ้านำบาลีปณามเดิมว่า “นโม ตสฺส ฯลฯ” ดังนี้มาตั้งไว้ในพระคัมภีร์บาลีปณามเดิมนี้ สำหรับนมัสการพระรัตนตรัย ใช้เริ่มต้นในสถานต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมสืบมาในพระพุทธศาสนาแต่สมัยพุทธกาลช้านาน

ข้อนี้ นักปราชญ์ในภายหลังอนุมานเห็นว่าพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าไม่นิพนธ์ปณามคาถาขึ้นใหม่ไว้ในต้นคัมภีร์นี้ เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นอติธัมมครุ ผู้เคารพยิ่งนักต่อพระสัทธรรมของสมเด็จพระผู้มีพระภาค หวังในคาถาพระพุทธฎีกา ที่องค์ สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาว่าด้วยศีลสมาธิ ปัญญา เป็นอรรถสารบริบูรณ์ในพระคาถาบทเดียวเท่านี้ เชิดชูปรากฏอยู่ในเบื้องต้นพระคัมภีร์ ไม่ให้มีสำนวนคาถาของตนอยู่เบื้องต้น ปกคลุมสำนวนคาถาพระพุทธฎีกาไปดังนั้น และพระผู้เป็น เจ้าเห็นสมควรยิ่งนัก ที่จะแสดงคำนมัสการพระรัตนตรัยด้วยพระบาลีปณามเดิมว่า “นโม ตสฺส” เป็นต้น ไว้ในเบื้องต้นคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้

แต่นอกนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้นิพนธ์คาถาแก้ไขข้อธรรมต่างๆ เป็นอรรถกถา ตามนัยแห่งพระพุทธฎีกา ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคทั้งสองบั้นนี้มี อเนกประการ และในคัมภีร์อื่นๆนั้น พระผู้เป็นเจ้า ได้นิพนธ์ปณามคาถาไว้ต้นคัมภีร์ก็มีเป็นอเนกวิธาน มีคัมภีร์พระปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถา พระวินัย ฝ่ายพระวินัยปิฎก และคัมภีร์พระธรรมปทัฏฐกถา ในขุททกนิกาย ฝ่ายพระสุตตันตปิฎก เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ฉบับบาลีคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ซึ่งสืบๆ กันมาในประเทศสยาม จึงมีแต่บาลีปณาม เดิมว่า “นโม ฯลฯ” อยู่เบื้องต้นพระคัมภีร์โดยมาก ไม่พบฉบับที่มีปณามคาถาในที่แห่งหนึ่งแห่ง ใดเลย บัณฑิตควรพิจารณาในเหตุนี้

ในบาลีปณามเดิมว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส” นั้น ประกอบบทแปลตาม โบราณจารย์ว่า “โย ภควา” สมเด็จพระผู้มีพระภาค พระองค์ใด “อุปฺปนฺโน โลเก” บังเกิดขึ้นแล้วในโลก “นโม” ข้าพระองค์ขอนอบน้อมถวายนมัสการ “อตฺถุ” ขอจงมี “ตสฺส ภควโต” แต่องค์พระผู้ทรงพระภาคพระองค์นั้น ผู้บริบูรณ์ด้วยพระบารมีธรรม และทรงจำแนกแล้ว คือพระสัทธรรม ให้แก่เวไนยสัตว์ “อรหโต” พระองค์เป็นผู้ไกลจากกิเลส สมควรจะรับซึ่งเครื่องสักการบูชาพิเศษ ของเทพามนุษย์ทั้งปวง “สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส” ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยอาการอันชอบ มิได้วิปริต เนื้อความดังนี้

อนึ่ง คัมภีร์พระวิสุทธิมรรคบางฉบับ บูรพาจารย์เติมบาลีสังเขปปณามว่า “นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส” ซึ่งแปลว่า “นโม อตฺถุ” ขอความนอบ น้อมนมัสการ ของพระองค์จงมี “รตนติตยสฺส” แก่ประชุมสามแห่งพระรัตนะ ดังนี้”

อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถทีปนี อิติวุตตกวรณนา ได้อธิบายคำว่า ภควา ดังนี้ “บทว่า ภควา เป็นคำเรียกบุคคลผู้เป็นที่เคารพ เป็นความจริง คนทั้งหลายในโลกมักเรียกบุคคลผู้เป็น ที่เคารพว่า ภควา และพระตถาคต ชื่อว่า เป็นที่เคารพของสัตว์ทั้งหลายเพราะทรงวิเศษด้วยสรรพคุณ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าภควา แม้พระโบราณาจารย์ทั้งหลาย ก็ได้กล่าวไว้ว่าคำว่าภควา เป็นคำประเสริฐที่สุด คำว่าภควา เป็นคำสูงสุด พระตถาคตนั้นทรงเป็นผู้ควรแก่ความเคารพคารวะ ด้วยเหตุนั้น จึงขนานพระนามว่า ภควา

อันที่จริง คำพูดที่ระบุถึงบุคคลผู้ประเสริฐที่สุด กล่าวกันว่า ประเสริฐที่สุด เพราะดำเนินไปด้วยกันกับคุณอันประเสริฐที่สุด อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่า วจนะ เพราะอรรถว่า อันบุคคลกล่าว ได้ แก่ความหมาย เพราะเหตุนั้นในบทว่า ภควาติ วจนํ เสฏฐํ จึงมีความหมายว่า ความหมายใดที่จะพึงพูดด้วยคำว่า ภควา นี้ ความหมายนั้นประเสริฐที่สุด แม้ในบทว่า ภควาติ วจนมุตฺตมํ นี้ ก็นัยนี้แล บทว่า คารวยุตฺโต ได้แก่ ชื่อว่า ทรงเป็นผู้ควรแก่ความเคารพคารวะ เพราะทรงประกอบด้วยคุณของบุคคลผู้เป็นที่เคารพ อีกประการหนึ่ง พระตถาคต ชื่อว่า ทรงควรแก่ความเคารพ ก็เพราะเหตุที่ทรงควรซึ่งการการทำความเคารพอย่างดียิ่ง หมายความว่า ทรงควรแก่ความเคารพ เมื่อเป็นเช่น นั้น คำว่า ภควา นี้ จึงเป็นคำเรียกบุคคลผู้วิเศษโดยคุณบุคคลผู้สูงสุดกว่าสัตว์ และบุคคลผู้เป็น ที่เคารพคารวะ ดังนี้แล

อีกประการหนึ่ง พึงทราบความหมายของบทว่า ภควา ตามนัยที่มาในนิทเทสว่าพระพุทธเจ้า นั้น บัณฑิตขนานพระนามว่าภควาเพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีภคธรรม ๑ ทรงมีปกติเสพภคธรรม ๑ ทรงมีภาคธรรม ๑ ทรงจำแนกแจกแจงธรรม ๑ ทรงทำลายนามรูป ๑ ทรงเป็นที่เคารพ ๑ ทรงมีภาคยธรรม ๑ ทรงมีพระองค์อบรมดีแล้วด้วย ญายธรรมจำนวนมาก ๑ ทรงถึงที่สุดแห่งภพ ๑ และด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีภาคยธรรม ๑ ทรงมีภัคคธรรม ๑ ทรงประกอบด้วยภัคคธรรม ๑ ทรงจำแนกแจก แจงธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคายการไปใน ภพทั้งหลาย ๑ ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ภควา ก็ความหมายนี้นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในพุทธานุสตินิทเทส ในวิสุทธิมรรคอย่างครบถ้วน เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นเถิด

อีกนัยหนึ่ง พระนามว่า ภควา เพราะหมาย ความว่า ทรงมีภาคธรรม ๑ ผู้อบรมพุทธกรรม ๑ ทรงเสพภาคธรรม ๑ ทรงเสพภคธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคายภคธรรม ๑ ทรงคายภาคธรรม ๑ พระชินเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม ๑ ทรงอบรมพุทธกรธรรม ๑ ทรงเสพภาคธรรม ๑ ทรงเสพภคธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคายภคธรรม ๑ ทรงคายภาคธรรม ๑ ในความหมายเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

(๑) ทรงมีภาคธรรม พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม เป็นอย่างไร ? คือ กองธรรม ได้แก่ ส่วนแห่งคุณ มีศีลเป็นต้นที่วิเศษยิ่ง ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่นมี อยู่ คือ หาได้เฉพาะแก่พระตถาคตเจ้า จริงอย่างนั้น พระตถาคตเจ้านั้น ทรงมี คือ ทรงได้ภาคแห่ง คุณ ได้แก่ส่วนแห่งคุณ อันเป็นนิรัติสัย (ไม่มีส่วนแห่งคุณอื่นที่ยิ่งกว่า) ไม่จำกัดประเภท ไม่มีที่สุด ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น มีอาทิอย่างนี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หิริ โอตตัปปะ ศรัทธา วิริยะ สติ สัมปชัญญะ สีลวิสุทธิ จิตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ สมถะ วิปัสสนา

กุศลมูล ๓ สุจริต ๓ สัมมาวิตก ๓ อนวัชชสัญญา ๓ ธาตุ ๓

สติปัฎฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อริยมรรค อริยผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดรู้กำเนิด ๔ อริยวงศ์ ๔ เวสารัชชญาณ ๔

องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ สัมมาสมาธิมีองค์ ๕ สัมมาสมาธิมีญาณ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นิสสารณียธาตุ ๕ วิมุตตายตนญาณ (ญาณเป็นบ่อเกิดแห่ง วิมุตติ) ๕ วิมุตติปริปาจนียปัญญา (ปัญญาเป็น เครื่องบ่มวิมุตติ) ๕

อนุสติฐาน (ที่ตั้งแห่งอนุสติ) ๖ คารวะ ๖ นิสสารณียธาตุ ๖ สัตตวิหารธรรม ๖ อนุตริยะ ๖ นิพเพธภาคิยสัญญา ๖ อภิญญา ๖ อสาธารณญาณ ๖

อปริหานิยธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ โพชฌงค์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ นิชชรวัตถุ ๗ สัญญา ๗ เทศนาว่าด้วยทักขิไณยบุคคล ๗ เทศนาว่าด้วยพลธรรมของพระขีณาสพ ๗

เทศนาว่าด้วยหตุให้ได้ปัญญา ๘ สัมมัตตธรรม ๘ การล่วงพ้นโลกธรรม ๘ อารัมภวัตถุ ๘ อักขณเทศนา (เทศนาว่าด้วยขณะที่ไม่สามารถประพฤติพรมจรรย์ได้) ๘ มหาบุรุษวิตก ๘ เทศนาว่าด้วยอภิภายตนะ ๘ วิโมกข์ ๘

ธรรมที่มีโยนิโสมนสิการเป็นมูล ๙ องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๙ เทศนาว่าด้วยสัตตาวาส ๙ อุบายกำจัดอาฆาตวัตถุสัญญา ๙ นานัตตธรรม ๙ อนุปุพพวิหารธรรม ๙

นาถกรณธรรม ๑๐ กสิณายตนะ (บ่อเกิดกสิณ) ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ สัมมัตตธรรม ๑๐ อริยวาสธรรม ๑๐ อเสกขธรรม ๑๐ ตถาคตพละ ๑๐

อานิสงส์เมตตา ๑๑
อาการธรรมจักร ๑๒
ธุดงค์คุณ ๑๓
พุทธญาณ ๑๔
วิมุตติปริปาจนียธรรม ๑๕
อานาปานสติ ๑๖
อตปนียธรรม ๑๖
พุทธธรรม ๑๘
ปัจจเวกขณญาณ ๑๙
ญาณวัตถุ ๔๔
อุทัยพพยญาณ ๕๐
กุศลธรรมมากกว่า ๕๐
ญาณวัตถุ ๗๗

สมาบัติสองล้านสี่แสนโกฏิ มหาวชิรญาณ ๕ เทศนานัยว่าด้วยการพิจารณาปัจจัยในอนันตนยสมันตปัฏฐานปกรณ์และญาณแสดงถึงอาสยะเป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุดในโลกธาตุอันไม่มีที่สุด เพราะเหตุ นั้น เมื่อควรจะขนานพระนามว่า “ภาควา” เพราะเหตุที่ทรงมีภาคแห่งคุณ ตามที่ได้กล่าวจำแนกไว้แล้ว ท่านก็ขนานพระนามว่า ภควาโดยรัสสะ ‘อา’ อักษรเป็น ‘อะ’ อักษร พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม ดังพรรณนามานี้ก่อน เพราะเหตุที่ภาคแห่งคุณทั้งหมด มีศีลเป็นต้น มีอยู่ในพระสุคตอย่างครบถ้วน ฉะนั้น บัณฑิต จึงขนานพระนามพระองค์ว่า ภควา


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 5:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๖)


ได้กล่าวถึงพระนามว่า ภควาอันหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม ๑ ผู้อบรมพุทธกรธรรม ๑ทรงเสพภาคธรรม ๑ ทรงเสพภคธรรม ๑ ทรงมีคนภักดี ๑ ทรงคายภคธรรม ๑ ทรงคายภาคธรรม ๑ ซึ่งในฉบับที่แล้วกล่าวถึงความหมายของทรงมีภาคธรรมไปแล้ว ฉบับนี้จึงมาต่อกันในความหมายอื่นๆ ต่อไป

๒. ทรงอบรมพุทธกรธรรม พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่า ทรงอบรมพุทธกรธรรมเป็นอย่างไร คือ พุทธกรธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) เหล่านั้นใดมีอาทิอย่างนี้ คือ บารมี ๑๐ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ รวมเป็นบารมี ๓๐ ถ้วน สังคหวัตถุ ๔ มีทานเป็นต้น อธิษฐานธรรม ๔ มหาบริจาค ๕ คือ การบริจาคร่างกาย การบริจาคนัยนา (ดวงตา) การบริจาคทรัพย์ การสละราชสมบัติ การบริจาคบุตรและภรรยา บุพประโยค บุพจริยา การกล่าวธรรม พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่โลก พระจริยาที่เป็นประโยชน์แก่พระญาติ พระจริยาที่เป็นประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ที่พระมหาสัตว์ทั้งหลายผู้ถึงความขวนขวาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งมวล ผู้ประมวลธรรม ๘ ประการ มีความเป็นมนุษย์เป็นต้นไว้อย่างพร้อมมูลแล้ว

กระทำมหาภินิหารไว้เพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์หรือเมื่อว่าโดยย่อ คือ พุทธกรธรรมที่เป็นเหตุเพิ่มบุญ เพิ่มญาณ (ปัญญา) พุทธกรธรรมเหล่านั้นที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ คือ สั่งสมมาโดยเคารพอย่างครบถ้วนไม่ขาดสาย สิ้นเวลา ๔ อสงไขยกับแสนกัป นับแต่มหาภินิหาร (ที่ได้รับจากพระพุทธทีปังกร) มา โดยที่พุทธกรธรรมเหล่านั้นมิได้อยู่ในภาคเสื่อม มิได้อยู่ในภาคเศร้าหมอง หรือมิได้อยู่ในภาคหยุดชะงัก โดยที่แท้อยู่ในภาคคุณวิเศษที่สูงๆ ขึ้นไป มีอยู่แก่พระองค์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ‘ภตวา’ (ผู้บำเพ็ญพุทธกรธรรม) ดังนั้น เมื่อควรขนานพระนามว่าภตวา แต่กลับถวายพระนามว่า ‘ภควา’ เพราะแปลงอักษร ‘ต’ ให้เป็นอักษร ‘ค’ ตามนัยแห่งนิรุกติศาสตร์

อีกอย่างหนึ่งบทว่า ภตวา มีความว่า ทรงสั่งสม คืออบรมไว้ ได้แก่บำเพ็ญพุทธกรธรรม ตามที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแล พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงอบรมพุทธกรธรรม แม้ด้วยประการฉะนี้

เพราะเหตุที่พระโลกนาถ ทรงอบรมสัมภารธรรมทั้งหมด มีทานบารมีเป็นต้นเพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้น จึงถวายพระนามว่า ภควา

๓. ทรงเสพภาคธรรม พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควาเพราะหมายความว่า ทรงเสพภาคธรรมเป็นอย่างไร ? คือ ส่วนแห่งสมาบัติที่ใช้ทุกวันนับได้จำนวนสองหมื่นสี่พันโกฏิ เหล่าใดมีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงใช้ ทรงคบ ทรงส้องเสพ ได้แก่ทรงทำให้มากอยู่เนืองนิตย์ ซึ่งส่วนแห่งสมาบัติเหล่านั้นไม่มีเหลือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก และเพื่อประทับอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันของพระองค์ เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่าภควา เพราะหมายความว่าทรงเสพภาคธรรม อีกประการหนึ่งในธรรมทั้งหลายที่ควรรู้ยิ่ง มีกุศลเป็นต้น และมีขันธ์เป็นต้น ธรรมเหล่าใดเป็นส่วนที่ควรรู้ยิ่งด้วยอำนาจเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นต้น หรือเป็นส่วนที่ควรรู้ยิ่ง โดยย่อก็มีอยู่ ๔ อย่าง แต่เมื่อว่าโดยพิสดารก็คือ ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนที่ควรกำหนดรู้หลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า จักษุเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ฯลฯ ชราและมรณะเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ๑ ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนที่ต้องละหลายประเภท โดยนัยเป็นต้นว่า เหตุเกิดของจักษุต้องละ ฯลฯ เหตุเกิดของชราและมรณะต้องละ ๑ ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนต้องทำให้แจ้งหลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่าการ ดับของจักษุต้องทำให้แจ้ง ฯลฯ การดับของชราและมรณะต้องทำให้แจ้ง ๑ ธรรมทั้งหลายเป็นส่วนต้องทำให้เจริญหลายประเภทโดยนัยเป็นต้นว่า ปฏิปทาที่มีปกติให้ถึงความ ดับแห่งจักษุต้องเจริญ ฯลฯ สติปัฏฐาน ๔ ต้องเจริญ ๑ ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด พระพุทธเจ้าทรงใช้ ทรงคบ ทรงเสพ ด้วยอำนาจอารมณ์ ภาวนาและอาเสวนะตามควร

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่าทรงเสพภาคธรรม ดังพรรณนามาฉะนี้อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเสพ ทรงปรารถนาด้วยพระมหากรุณาว่า หมวดธรรมมีศีลเป็นต้นเหล่านี้เป็นส่วนแห่งคุณคือ เป็นภาคแห่งคุณที่ทั่วไป ทำไฉนหนอ หมวดธรรมเหล่านั้นจะพึงดำรงมั่นอยู่ในสันดานของเวไนยสัตว์

และความปรารถนานั้นของพระองค์ ก็ได้นำผลมาให้สมพระประสงค์ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภาคธรรม ดังพรรณนามาฉะนี้

เพราะเหตุที่พระตถาคตเจ้า ทรงเสพ ทรงปรารถนาภาคแห่งคุณ คือ การบรรลุไญยธรรมเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา

๔. ทรงเสพภคธรรม พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงเสพภคธรรม เป็นอย่างไร ? คือ ว่า โดยย่อก่อน สมบัติทั้งหลายทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระชื่อ ว่า ภคะ เพราะอันบุคคลทั้งหลายผู้ทำบุญไว้แล้ว ถึงพร้อมด้วยปโยคะ เสพได้ตามควรแก่สมบัติ ก่อนอื่นในภคธรรม ทั้งสองนั้น ภคธรรมที่เป็นโลกิยะอันสูงสุดอย่างยิ่งยวด พระตถาคตเจ้า ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ก็ได้เสวย คบ เสพมาแล้ว ซึ่งพระองค์ทรงดำรงอยู่ แล้ว จึงได้พิจารณาพุทธกรธรรมอย่างครบถ้วน บ่มพุทธกรธรรมให้สุกเต็มที่ ต่อเมื่อได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เสวย คบ เสพ ภคธรรมเหล่านั้น อันเป็นโลกุตระประกอบด้วยภาวะอันไม่มีโทษลึกซึ้ง ไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น ส่วนที่ว่าโดยพิสดาร พระตถาคตเจ้า (ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์) ก็ได้เสวย คบ เสพภคธรรม (อันเป็นโลกิยะ) ที่ไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่นหลายอย่างคือ ความเป็นพระเจ้าประเทศ ความเป็นเอกราช จักรพรรดิราชสมบัติ และเทวราชสมบัติเป็นต้น และครั้นได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เสวย คบเสพภคธรรม (อันเป็นโลกุตระ) ที่ไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่นหลายอย่างคือ อุตริมนุสธรรม มีฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะการเจริญมรรคและการทำผลให้แจ้งเป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะความหมายว่า ทรงเสพภคธรรม ดังพรรณนามาฉะนี้

เพราะเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสพโลกิยสมบัติ และโลกุตรสมบัติจำนวนมาก ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระ นามว่า ภควา

๕. ทรงมีคนภักดี พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีคนภักดี เป็นอย่างไร ? คือ พระองค์ทรงมีคนภักดี คือ มีคนที่ภักดีอย่างมั่นคงอยู่มาก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ทรงมีคนภักดีเป็นความจริง พระตถาคตเจ้าชื่อว่า สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะพรั่งพร้อมด้วยคุณวิเศษที่มีอำนาจหาที่เปรียบประมาณมิได้ อาทิพระมหากรุณาและพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่า สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์กับทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปโยคสมบัติอันยอดเยี่ยม นิรัติสัย มีการบำบัดสิ่งไม่เป็นประโยชน์ถึงก่อน มีการจัดสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขให้ครบถ้วนเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงมีรูปกายประดับด้วยคุณ วิเศษอันไม่สาธารณะแก่บุคคลอื่น เช่น มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ และพระรัศมีที่แผ่ซ่านออก ไปวาหนึ่งเป็นต้น ชื่อว่า สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงประกอบด้วยเสียงสดุดีที่แสนไพบูลย์แสนบริสุทธิ์ แผ่ไปในไตรโลก เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า อิติปิโส ภควา ซึ่งพระองค์ทรงได้มาจากพระคุณตามที่เป็นจริง ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงดำรงมั่นอยู่ในพระคุณ

มีความมักน้อยและความสันโดษเป็นต้นที่ถึงขั้นเป็นบารมีขั้นสูงสุด ชื่อว่าสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ เพราะทรงประกอบด้วยคุณวิเศษอันยิ่งยวด มีทสพลญาณ และจตุเวสารัชชญาณ เป็นต้น ชื่อว่า ทรงเป็นยอด คือ ทรงเป็นฐานให้เกิดความภักดีอย่างพร้อมมูล เพราะทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความเอื้อเฟื้อ ความนับถือและความเคารพอย่างมากของสัตว์ทั้งหลายไม่จำกัดรวมทั้ง เทวดาและมนุษย์ เพราะทรงเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใสทุกด้าน โดยทรงนำความเลื่อมใสมาให้โดยประการทั้งปวงในโลกสันนิวาสผู้ยึดถือประมาณ ๔ อย่างนี้ คือ ผู้ถือรูปเป็นประมาณก็เลื่อมใสในรูป ๑ ผู้ถือเสียงเป็นประมาณก็เลื่อมใสในเสียง ๑ ผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณก็เลื่อมใสในความเศร้าหมอง ๑ ผู้ถือธรรมเป็นประมาณก็เลื่อมใสในธรรม ๑

บุคคลเหล่าใดตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ ประกอบพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ความภักดีของ บุคคลเหล่านั้น อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม ก็ลักไปไม่ได้ เป็นความจริง บุคคลเหล่านั้น แม้ตนเองจะต้องเสียชีวิต ก็จะไม่ยอมทิ้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น หรือคำสั่งของพระองค์ ก็เพราะต่างมีความภักดีอย่างมั่นคง

“ด้วยเหตุนั้นแลพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ผู้ใดแลเป็นปราชญ์ เป็นผู้กตัญญูกตเวที ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณมิตรและมีความภักดีอย่างมั่นคง และว่า ภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือน มหาสมุทร ตั้งอยู่เสมอฝั่งเป็นธรรมดา ไม่ล้นฝั่ง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เหล่าสาวกของเราก็จะไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราตถาคตบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้นเหมือนกันแล”

พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความ ว่าทรงมีคนภักดี ดังพรรณนามาฉะนี้ เมื่อควรจะขนานพระนามว่า ‘ภตฺตวา’ แต่กลับขนานพระนามว่า ภควา โดยลบ ‘ต’ อักษรเสียตัวหนึ่งแล้วแปลง ‘ต’ อักษรอีกตัวหนึ่งให้เป็น ‘ค’ อักษร ตามนัยแห่งนิรุกติศาสตร์

เพราะเหตุที่พระศาสดาผู้ประกอบด้วยพระคุณอันยิ่งยอดทรงมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทรงมีคน ภักดีมาก ฉะนั้น จึงได้รับขนานพระนามว่า ภควา

๖. ทรงคายภคธรรม พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภคธรรมเป็นอย่างไร ? คือ เพราะเหตุที่พระตถาคตเจ้า แม้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ ได้ทรงคายขยอกทิ้งซึ่งสิริและอิสริยยศ ที่เรียกว่า ภคะ อย่างไม่ใยดีเหมือนทรงบ้วนก้อนเขฬะทิ้งฉะนั้น

จริงอย่างนั้น อัตภาพที่พระองค์ทรงสละสิริราชสมบัติอันเป็นเช่นกับราชสมบัติของเทวดาด้วยอำนาจการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี กำหนดจำนวนไม่ได้ในชาติทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ คือ ในคราวเกิดเป็นโสมนัสสกุมาร ในคราวเกิดเป็น หัตถิปาลกุมาร ในคราวเกิดเป็นอโยฆรบัณฑิต ในคราวเกิด เป็นมูคปักขบัณฑิต (พระเตมีย์) [ปาฐะ เป็น ‘มูคผกฺก’ แต่ในชาดก เป็น ‘มูคปกฺข’ แปลตามชาดก] ในคราวเกิดเป็น พระเจ้าจูฬสุตโสม

แม้ในอัตภาพก่อนๆ พระองค์ก็มิได้สำคัญสิริจักรพรรดิ ราชสมบัติมีความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ อันเป็นเช่นเดียวกับความเป็นใหญ่ในเทวโลก และยศที่สง่างามด้วยรัตนะ ๗ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิที่อยู่แค่เอื้อมว่า ยิ่งไปกว่าหญ้า ทรงละทิ้งไปอย่างไม่ใยดี แล้วเสด็จ ออกอภิเนษกรมณ์ จนได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภคธรรม มีสิริเป็นต้น ดังพรรณนามาฉะนี้

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายชื่อว่า ‘ภค’ เพราะเป็นเครื่องไป คือ เป็นไปสม่ำเสมอแห่งนักษัตรทั้งหลายที่ชื่อว่า ‘ภา’ อันอาศัยโลกพิเศษซึ่งจำแนกเป็นภูเขาสิเนรุ ยุคันธร อุตตรทวีป กุรุทวีป และภูเขาหิมวันต์เป็นต้น ชื่อว่า ‘โสภา’ เพราะมีความตั้งมั่นตลอดกัป

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคาย คือ ทรงละภคธรรมแม้เหล่านั้น ด้วยการละฉันทราคะ อันปฏิพัทธ์ในภคธรรมนั้น เพราะก้าวล่วงซึ่งสัตตาวาสอันอยู่อาศัยภคธรรมนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่า ภควา เพราะทรงคายภคธรรมทั้งหลาย แม้ด้วยประการฉะนี้

พระสุคตพระนามว่า ภควา เพราะทรงละจักรพรรดิสิริ ยศ อิสริยะ สุข และการสะสมโลก

๗. ทรงคายภาคธรรม พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงคายภาคธรรมเป็นอย่างไร ? คือ ชื่อว่า ภาคะ ได้แก่ โกฏฐาสทั้งหลาย

โกฏฐาสเหล่านั้นมีหลายอย่าง ด้วยอำนาจขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นต้น แม้ขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นต้นนั้น ก็มีโกฎฐาส หลายอย่าง ด้วยอำนาจขันธ์มีรูป เวทนาเป็นต้น และด้วย อำนาจขันธ์ที่เป็นอดีตเป็นต้น

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดขาดกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ทั้งหมด (ปปัญจะ) กิเลสเครื่องประกอบไว้ทั้งหมด (โยคะ) กิเลสเครื่องรัดรึง (คัณฐะ)ทั้งหมด กิเลสเครื่องผูกมัดไว้ทั้งหมด (สังโยชน์) ได้แล้ว จึงบรรลุอมตธาตุ ทรงคายขยอก ทิ้งภาคธรรมเหล่านั้นโดยมิทรงใยดี คือ ไม่เสด็จหวนกลับ มาหาภาคธรรมเหล่านั้น

จริงอย่างนั้น พระองค์ทรงคาย ขยอก สลัด ทิ้งส่วนแห่งธรรมทั้งหมดทีเดียว โดยไม่มีส่วนเหลือ แม้ด้วยการจำแนกธรรมไปตามลำดับบทมีอาทิ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ซึ่งมีอยู่ในที่ทุกแห่งทีเดียว จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักษุวิญญาณ ฯลฯ

มโนวิญญาณ จักษุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส จักษุสัมผัสชาเวทนา ฯลฯ มโนสัมผัสชาเวทนา จักษุสัมผัสชาสัญญา ฯลฯ มโนสัมผัสชาสัญญา จักษุสัมผัสชาเจตนาฯลฯ มโนสัมผัสชาเจตนา รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา รูปวิตก ฯลฯ ธรรมวิตก รูปวิจาร ฯลฯ ธรรมวิจาร ทั่วถ้วนทุกอย่าง

สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ ดังนี้ว่า อานนท์ สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้วพ้นแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ตถาคตจักกลับมาหาสิ่งนั้นอีก เรื่องนี้ไม่ใช่ฐานะจะมีได้

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความ ว่าทรงคายภาคธรรม ดังว่ามานี้

อีกประการหนึ่ง บทว่า ภาเค วมิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคาย ขยอก สละ ทิ้งธรรมทั้งหมด คือ กุศลธรรมและอกุศลธรรม ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษธรรมที่เลวและประณีต ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมดำและธรรมขาว ทางพระโอษฐ์คืออริยมรรคญาณ และทรงแสดง ธรรมเพื่อความเป็นอย่างนั้น แก่บุคคลเหล่าอื่น

สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ธรรมทั้งหลายเธอก็ต้องละ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจึงแสดงธรรม เปรียบด้วยแพแก่เธอทั้งหลาย เพื่อต้องการให้ถ่ายถอน มิใช่เพื่อให้ยึดถือเป็นต้น

พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่าทรงคายภาคธรรม แม้ดังพรรณนามาฉะนี้

เพราะเหตุที่ธรรมดำและธรรมขาวซึ่งแยกประเภทออก เป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น อันพระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ทรงคายได้แล้ว ฉะนั้นพระองค์จึงได้รับขนานพระนานว่า ภควา

ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่าพระชินเจ้าทรงพระนามว่า ภควา เพราะหมายความว่า ทรงมีภาคธรรม ทรงอบรมพุทธกรธรรม ทรงเสพภาคธรรม ทรงมีภคธรรม ทรงมีคนภักดี ทรงคายภคธรรม ทรงคายภาคธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ในอธิการนี้พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้ บทว่า ภควตานี้ ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระรูปกายอันไม่สาธารณ์ แก่บุคคลอื่น ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ และพระเกตุมาลามีรัศมีแผ่ไปได้ ประมาณ ๑ วา ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้ชื่อว่าทรงบุญ ลักษณะไว้ตั้ง ๑๐๐ เพราะทรงมีบุญสมภารที่ทรงสั่งสมไว้หลายอสงไขยกัป ด้วยการแสดงว่าพระองค์ทรงคายภาคยธรรมได้แล้ว


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 6:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๗)


ด้วยบทว่า ภควตา นี้ ท่านแสดงความถึงพร้อมด้วยจรณะ (ของพระองค์) โดยแสดง ความประกอบพร้อมด้วยวิหารธรรมอันวิเศษมี ทิพวิหารธรรมเป็นต้น อันเป็นยอดในบรรดาจรณธรรมทั้งหลาย

ด้วยบทว่า ภควตา นี้ ท่านประกาศถึงการประกอบด้วยเวสารัชชญาณ (พระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม) ข้อหลัง ๒ ข้อ โดยแสดงความที่อันตรายิกธรรม (กล่าวธรรมเหล่าใดว่าเป็นอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง) และนิยยานิกธรรม (แสดงธรรมเพื่อ ประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำ ผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง) อันพระองค์ทรงจำแนกไว้ไม่มีผิดพลาด

ด้วยบท ภควตา นี้ ท่านประกาศถึงความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรมคือสัจจะ และอธิษฐานธรรม คือจาคะ โดยแสดงถึงปฏิญญาสัจจะ วจีสัจจะ และญาณสัจจะของพระตถาคต โดยแสดงถึงการสละทิ้ง กามคุณ ความเป็นใหญ่ทางโลก ยศ ลาภ และสักการะเป็นต้น และโดยแสดงถึงการสละทิ้งอภิสังขารคือกิเลสไม่มีเหลือ

จริงอย่างนั้น ความมีอธิษฐานธรรมคือสัจจะเป็นบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทำอภินิหารไว้ในโลกุตรคุณถึงความ บริบูรณ์ เพราะทรงบำเพ็ญบารมีทุกข้อตามปฏิญญา เนื่องจากทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ความมีอธิษฐานธรรมคือจาคะเป็นบารมี ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงสละทิ้งสิ่งที่เป็นข้าศึก ความมีอธิษฐานธรรมคืออุปสมะเป็นบารมี ถึงความบริบูรณ์ เพราะทำจิตให้สงบด้วยคุณทั้งหลาย รวมความว่า อธิษฐานธรรมคือปัญญา ถึงความบริบูรณ์ เพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในอุบายอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ดังพรรณนามานี้แล

อนึ่ง อธิษฐานธรรมคือสัจจะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงปฏิญญาว่า จักให้ไม่ทำชนผู้ขอให้คลาดเคลื่อน (พลาดหวัง) คือ เพราะทรงให้โดยไม่ทำปฏิญญาให้คลาดเคลื่อน อธิษฐานธรรมคือจาคะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงสละไทยธรรม อธิษฐานธรรมคืออุปสมะ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงระงับภัยคือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ในเมื่อผู้รับไทยธรรมไม่มี และไทยธรรมคือทานหมดไป อธิษฐานธรรมคือปัญญา ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงให้ตามควรตามกาล และตามวิธี และเพราะทรงยิ่งด้วยปัญญา

ความบริบูรณ์แห่งอธิษฐานธรรม ๔ แม้ในบารมี ที่เหลือก็พึงทราบตามนัยนี้

ก็บารมีทั้งหมด อบรม (ทำให้เกิดมี) ด้วยสัจจะ เด่นชัดด้วยจาคะ เพิ่มพูนด้วยอุปสมะ บริสุทธิ์ด้วย ปัญญา รวมความว่า อธิษฐานธรรม คือ สัจจะของพระตถาคต ผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรม ๔ ถึงความบริบูรณ์ ดังพรรณนามานี้

ศีลวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ อาชีววิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ จิตวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ ทิฏฐิวิสุทธิ ถึงความบริบูรณ์ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา

อนึ่ง ศีลของพระตถาคตนั้น พึงทราบด้วยการอยู่ร่วมกัน เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

ความสะอาด พึงทราบด้วยการแลกเปลี่ยน (สังโวหาร) เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ

กำลังใจ พึงทราบในคราวมีอันตรายทั้งหลาย เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

ปัญญา พึงทราบในคราวสนทนา เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญา

อนึ่ง พระตถาคต อันโทสะประทุษร้ายไม่ได้ ทรงยับยั้งพระทัยให้อยู่เหนือโทสะได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

พระตถาคต อันโลภะทำให้ละโมบไม่ได้ ทรงเสพปัจจัย เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ

พระตถาคต อันภัยทำให้หวาดกลัวไม่ได้ ทรงหลีกเว้นได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

พระตถาคต อันโมหะให้หลงไม่ได้ ทรงขจัดโมหะเสียได้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญา

อนึ่ง การที่ทรงบรรลุถึงเนกขัมมสุข ของพระตถาคตนั้น ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

การที่ทรงบรรลุถึงปวิเวกสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ

การที่ทรงบรรลุถึงอุปสมสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

การที่ทรงบรรลุถึงสัมโพธิสุข ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญา

อีกอย่างหนึ่ง การที่ทรงบรรลุถึงปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วย อธิษฐานธรรม คือสัจจะ

การทรงบรรลุถึงปีติ และสุขอันเกิดจากสมาธิ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ

การที่ทรงบรรลุถึงสุขทางกายอันเกิดจากปีติ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

การที่ทรงบรรลุถึงอุเบกขา และสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์ของสติ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญา

อนึ่ง การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากปัจจัย ซึ่งมีบริวารสมบัติเป็นลักษณะ ท่านแสดง ไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือสัจจะ เหตุที่ไม่ตรัสให้คลาดเคลื่อน

การที่ทรงประกอบด้วยความสุขตามสภาวะซึ่งมีความสันโดษเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรง ประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือจาคะ เหตุที่พระองค์ไม่มีโลภะ

การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากเหตุ มีความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้วเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคืออุปสมะ เหตุที่พระองค์ไม่ทรงถูกกิเลสครอบงำ

การที่ทรงประกอบด้วยความสุขอันเกิดจากความสงบระงับทุกข์ ซึ่งมีวิมุตติสมบัติเป็นลักษณะ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญา เหตุที่ทรงบรรลุนิพพานได้ด้วยญาณสมบัติ

อนึ่ง การที่ตรัสรู้และแทงตลอดศีลขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

การที่ตรัสรู้และแทงตลอดสมาธิขันธ์อันเป็นอริยได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือจาคะ

การที่ตรัสรู้และแทงตลอดปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คือปัญญา

การที่ตรัสรู้และแทงตลอดวิมุตติขันธ์อันเป็นอริยะได้สำเร็จ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงประกอบด้วยอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

ความสำเร็จแห่งปัจจัย ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

ความสำเร็จแห่งการสละทิ้งทั้งปวง ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือจาคะ

ความสำเร็จแห่งอินทรียสังวร ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

ความสำเร็จแห่งพุทธิ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือปัญญา

และความสำเร็จแห่งนิพพาน ท่านก็แสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือปัญญานั้น

อนึ่ง การได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือสัจจะ

การได้อริยวงศ์ ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือจาคะ

การได้อริยวิหารธรรม ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คืออุปสมะ

การได้อริยโวหาร ๔ ท่านแสดงไว้ เพราะทรงบำเพ็ญอธิษฐานธรรม คือปัญญา

อีกนัยหนึ่ง ท่านประกาศพระมหากรุณาของพระตถาคตเจ้า โดยแสดงการที่พระองค์ทรงปรารถนาโลกิยสมบัติ และโลกุตรสมบัติ แก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยบทว่า ภควตา นี้

ประกาศปหานปัญญา โดยแสดงการที่พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยการละด้วย บทว่า อรหตา นี้

บรรดาพระปัญญาและพระกรุณาทั้งสองนั้น

ประกาศการที่พระองค์ทรงบรรลุความเป็นพระสัทธรรมราชา ด้วยพระปัญญา

ประกาศการที่พระองค์ทรงจำแนกธรรมไว้อย่างดี ด้วยพระกรุณา

ประกาศการที่พระองค์ทรงหน่ายในสังสารทุกข์ ด้วยพระปัญญา

ประกาศการที่พระองค์ทรงทำลายสังสารทุกข์ ด้วยพระกรุณา

ประกาศการที่พระองค์ทรงกำหนดรู้สังสารทุกข์ ด้วยพระปัญญา

ประกาศการที่พระองค์ทรงเริ่มแก้ทุกข์ของบุคคลอื่น ด้วยพระกรุณา

ประกาศการที่พระองค์ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นต่อปรินิพพาน ด้วยพระปัญญา

ประกาศการที่พระองค์ทรงบรรลุปรินิพพานนั้น ด้วยพระกรุณา

ประกาศการที่พระองค์ทรงข้ามพ้นสังสารด้วยพระองค์เอง ด้วยพระปัญญา

ประกาศการที่พระองค์ทรงยังบุคคลเหล่าอื่นให้ข้ามพ้นสังสาร ด้วยพระกรุณา

ประกาศความสำเร็จแห่งความเป็นพุทธะ ด้วยพระปัญญา

ประกาศความสำเร็จแห่งพุทธกิจ ด้วยพระกรุณา

อีกประการหนึ่ง ประกาศภาวะที่พระองค์ทรงเผชิญอยู่ในสังสารในภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ ด้วยพระกรุณา ประกาศการที่พระองค์ไม่ยินดีในสังสารนั้น ด้วยพระปัญญา

อนึ่ง ประกาศการที่พระองค์ทรงทำบุคคลเหล่าอื่นให้ได้รับอภิเษก (ด้วยน้ำ อมฤต) ด้วยพระกรุณา ประกาศการที่พระองค์ไม่ทรงหวั่นเกรงบุคคลเหล่าอื่น ด้วยพระปัญญา (ประกาศพระดำรัสที่ว่า) เมื่อรักษาคนอื่น ก็ชื่อว่า รักษาตนด้วยพระกรุณา (ประกาศพระดำรัสที่ว่า) เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาบุคคลอื่นด้วย ด้วยพระปัญญา

อนึ่ง ประกาศการที่พระองค์ไม่ทำบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ด้วยพระกรุณา ประกาศการที่พระองค์ไม่ทำพระองค์เองให้เดือดร้อน ด้วยพระปัญญา ด้วยการที่ไม่ทรงทำพระองค์เองให้เดือดร้อนนั้น จึงเป็นอันสำเร็จภาวะเป็นบุคคลที่สี่ (พระอรหันต์) ในบรรดาบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเป็นต้น

อนึ่ง ประกาศความที่พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของโลก ด้วยพระกรุณา ประกาศความที่พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพระองค์เอง ด้วยพระปัญญา

อนึ่ง ประกาศภาวะที่พระองค์ไม่มีอาการฟุบลง (ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน) ด้วยพระกรุณา ประกาศภาวะที่พระองค์ไม่มีอาการฟูขึ้น (ด้วยอำนาจกิเลส) ด้วยพระปัญญา

อนึ่ง ในบรรดาสรรพสัตว์ การทรงอนุเคราะห์หมู่ชนของพระตถาคตเจ้า มี เพราะพระกรุณา แต่พระตถาคตเจ้าก็หาได้มีพระทัยปราศจากพระกรุณาในที่ทุกแห่งไม่ เพราะทรงคล้อยตามพระปัญญา พระองค์ทรงมีพระทัยปล่อยวางใน ธรรมทั้งปวง ก็ด้วยพระปัญญา แต่พระองค์ก็หาได้ทรงประพฤติเพื่ออนุเคราะห์สัตว์ทุกประเภทไม่ เพราะทรงคล้อยตามพระกรุณา

เหมือนอย่างว่าพระกรุณาของพระตถาคตเจ้า เว้นจากความเสน่หาและความโศกฉันใด พระปัญญาของพระองค์ก็ฉันนั้นคือพ้นจากอหังการและมมังการ รวมความว่าพระกรุณาและปัญญา (ของพระองค์) ต่างชำระกันและกันให้บริสุทธิ์ จึงควรเห็นว่าเป็นพระคุณบริสุทธิ์อย่างยิ่ง

บรรดาพระกรุณาและพระปัญญาทั้งสองนั้น ขอบเขตแห่งพระปัญญาเป็นพละ ขอบเขตแห่งพระกรุณาเป็นเวสารัชชะ

บรรดาพละและเวสารัชชะทั้งสองนั้น เพราะทรงประกอบด้วยพละ พระตถาคตเจ้าจึงไม่ถูกคนอื่นครอบงำ เพราะทรงประกอบด้วยเวสารัชชะ พระองค์จึงทรงครอบงำคนอื่นได้

ความสำเร็จแห่งสัตถุสัมปทา (ของพระองค์) มีได้เพราะพละทั้งหลาย ความสำเร็จแห่งศาสนสัมปทามีได้เพราะเวสารัชชะทั้งหลาย

อนึ่ง ความสำเร็จแห่งพุทธรัตนะมีได้เพราะพละทั้งหลาย ความสำเร็จแห่งธรรมรัตนะมีได้เพราะเวสารัชชะทั้งหลาย


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 6:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๘)


เมื่อทราบความหมายของคำว่า ‘ภควา’ แล้ว แต่นี้จะได้นำพระธรรมเทศนาเรื่อง พุทธานุสสติ ภควโต ที่แสดงโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มานำเสนอดังนี้

“.....ในเบื้องต้นก็ขอให้เราทั้งหลายได้เจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันเป็นสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง ตามบท ‘นะโม’ ที่สวดกันว่า ‘นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ’ ขอนอบน้อมนมัสการแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ตามที่แปลนี้ เป็นการแปลพระนามตามศัพท์บาลีทั้งหมด ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ย่อมจะไม่เข้าใจความและบทบาลีที่เป็นพระนามในบทนะโม ๓ บทนี้ก็คือ ‘ภควะโต’ ที่แปลว่า พระผู้มีพระภาค บทหนึ่ง ‘อรหะโต’ ที่แปลว่าพระอรหันต์บทหนึ่ง ‘สัมมาสัมพุทธัสสะ’ ที่แปลว่าพระสัมมาสัมพุทธะบทหนึ่ง

จะได้อธิบายบทต้น คือบทว่า ‘ภควโต’ ที่มาจากคำว่า ‘ภควา’ ที่เราแปลทับคำบาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า มีความหมายหลายอย่าง ตามที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ ความหมายอย่างหนึ่งที่จะกล่าวในการเจริญพุทธานุสสติวันนี้ ก็คือแปลว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกธรรมะเป็นอันมาก เช่น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อริยสัจ ๔ และอื่นๆ ดังที่กล่าวไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันมีความหมายว่ามีจำนวนมากมาย ยกตัวอย่างในหนังสือ นวโกวาท ซึ่งเป็นหลักการเรียนพระธรรมวินัยของพระภิกษุทั้งหลาย พระวินัยบัญญัติทั้งหมดก็รวมอยู่ในพระธรรมวินัย หรือรวมอยู่ในหลักใหญ่เกี่ยวแก่ธรรม และธรรมวิภาค ตั้งแต่ทุกกะหมวด ๒ ตั้งต้นแต่ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่างคือ ‘สติ’ ความระลึกได้ ‘สัมปชัญญะ’ ความรู้ตัว เป็นต้น ไปทั้งหมดตลอดจนถึง ‘คิหิปฏิบัติ’ ก็เป็นพระธรรมที่ทรงจำแนกแจกแจงไว้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงได้สามารถเรียนธรรม แสดงธรรม ฟังธรรม เรียนธรรมกันตลอดมาจนถึง ทุกวันนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระนามอันแสดงพระคุณบทว่า ภควา ในบทนโมว่า ‘ภควโต’ พระผู้จำแนกแจกแจงแสดงธรรมะสั่งสอนประชุมชน แสดงถึงพระกรุณาคุณ คุณ คือพระกรุณา แก่โลก แก่ชาวโลก จึงทรงแสดงธรรมะสั่งสอนหรือแสดงธรรมวินัยสั่งสอน ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และพุทธบริษัทขึ้นในโลก ทำให้เราทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามา เป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกา พุทธมามกะพุทธมามิกา เป็น ภิกษุเป็นสามเณร ก็เพราะพระคุณข้อนี้ที่ทรงมีพระมหากรุณา จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชนดังกล่าว จึงขอให้เราทั้งหลายได้น้อมจิต ระลึกพิจารณาพระพุทธคุณ พระคุณของพระพุทธเจ้าบทนี้เป็นอารมณ์ เป็นเบื้องต้น”

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฐ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จ. หนองคาย ได้แสดงพระธรรมเทศนา พุทธานุสสติ กล่าวถึงคำว่า ภควา ไว้ดังนี้

“...อนุสสติ คือ เครื่องระลึกถึงของดี เราไม่มีดีในตัวเราจึงต้องเอาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือศีล ซึ่งเป็นของดีของท่านมาเป็นเครื่องระลึก เมื่อนำเอาของท่าน มาระลึกแล้ว ก็จะซาบซึ้งเข้าถึงใจ ของดีเหล่านั้นก็จะเกิดมีในตัวของตน หรืออนุสสติก็จะเกิดมีขึ้นในตน เพราะฉะนั้นจงตั้งใจฟัง อนุสสติต่อไป

พุทธานุสสติ การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เพียงแต่นึกถึงพุทโธๆ เท่านั้นแหละ ถ้าหากใจเป็นพุทโธ ใจถึงพระพุทธเจ้า เข้าแดนพระพุทธเจ้า เข้าเขตของพระพุทธเจ้าแล้ว ความพิสดารมันกว้างขวาง จิตอันนั้นไม่ใช่ปุถุชน จิตอันนั้นเป็นของบริสุทธิ์ จะเห็นคุณของพระพุทธเจ้า

ถ้าหากยังไม่ถึงแดนของพระพุทธเจ้า เขตพระพุทธเจ้า ไม่เข้าถึงส่วนของพระองค์ มันก็ยังไม่เห็นคุณของพระองค์อยู่อย่างเดิมนั่นแหละ จะว่าพุทโธๆ สักเท่าใดก็เหมือนนกแก้ว นกขุนทอง ว่าไปอย่างนั้นเอง

การที่จะเข้าถึงและเห็นคุณพระพุทธเจ้านั้น เมื่อนึกพุทโธอย่าเป็นเพียงแต่นึกถึงพุทโธ ท่านพรรณนาถึงพุทโธ หรือพระคุณของพระพุทธองค์ไว้ตั้ง ๙ บท มี อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น

คำว่า ‘ภควา’ หมายความว่า พระองค์เป็นผู้มีส่วน คือ มีส่วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่พระองค์จะต้องได้รับและพระองค์ก็ได้รับไว้แล้ว

เปรียบเหมือนกับบุตรธิดาที่เกิดมาในตระกูล ควรจะได้รับมูลมรดกด้วยกันทุกคน แล้ว ก็ได้รับส่วนแบ่งนั้นไปอย่างเรียบร้อย ชอบตามกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ตามฐานะของตน บางคนก็เจริญดี บางคนก็ไม่เจริญ เป็นธรรมดาของปุถุชน ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ได้รับส่วนของพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเจริญรุ่งเรืองเหมือนกันทุกๆ พระองค์ เว้นแต่จะเจริญไปองค์ละแบบ ดังที่พระองค์พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ไว้ว่า พระพุทธเจ้าชื่อ วิปัสสี ผู้มีจักษุ ผู้มีสิริ พระพุทธเจ้าชื่อ สิกขี ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าชื่อ เวสสภู ผู้มีกิเลส อันชำระล้างแล้ว ผู้มีตบะ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเรานึกถึง ภควา (เป็นผู้มีส่วน) เท่านี้ ก็จะเห็นแจ้งตลอดไปหมดทั้ง ๙ บท เพราะพระองค์เป็นผู้มีส่วนเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ฉะนั้นบทอื่นๆ ตั้งแต่ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้นไป ซึ่งแปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลกทั้งสาม เป็นผู้ทรงหัดบุรุษและเทวดาอันไม่มีใครเหมือนพระองค์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จำแนกแจกธรรม (แก่เขาเหล่านั้น) พระคุณเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากบทภควา ทั้งสิ้น

เรามาระลึกพระคุณเพียงบทภควา เท่านี้แหละ เช่นระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่ล่วงลับไปแล้วในอดีตไม่มีที่สิ้นสุด คนเกิดขึ้นมาในโลกมากแสนมากเหลือที่จะคณานับ ต้องมีคนหนึ่งนั่นแหละที่คิดแตกต่างกันขึ้นคือ คิดเอ็นดูสงสารมนุษย์ชาวโลก เห็นสัตว์ทั้งหลายตกทุกข์ได้ยากมัวเมาอยู่กับทุกข์ เพลิดเพลินอยู่กับทุกข์โดยสำคัญว่าสุข สงสารเอ็นดูปรารถนาอยากจะสอนเขา ท่านปรารถนาพุทธภูมิ อุตส่าห์สละเลือดเนื้อเชื้อไขความสุขส่วนตัว บำเพ็ญเพียร มี ทาน ศีล เป็นต้น เรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ ให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรามาระลึกถึงคุณของพระองค์ มีเมตตาคุณ ปัญญาคุณ เท่านั้นแหละ คุณความดีนั้นก็จะแผ่ซ่านเข้าไปถึงจิตใจ เมื่อจิตใจได้รับเอาคุณ ของพระพุทธเจ้า คุณธรรมอันนั้นมาปรากฏแก่ใจ เห็นชัดแจ่มแจ้งขึ้นในใจเมตตา กรุณา และปัญญาคุณของพระองค์ จะปรากฏมากมายเหลือที่จะคณานับ อันส่วนที่เราได้รับนี้น้อย นิดเดียว แต่ก็นับว่าดีอักโข ถึงแม้ว่าเราได้รับขนาดนี้ เห็นประจักษ์แจ้งชัดขึ้นมาในใจของ ตนเพียงแค่นี้ ก็เรียกว่า แสงสว่างของพระพุทธเจ้าฉายเข้ามาสู่ดวงใจของเราแล้ว ไม่ต้องพูดพรรณนาคุณมากมาย ได้สักอันหนึ่งก็พอ ท่านเป็นผู้มีส่วน เราก็มีส่วนได้นิดหนึ่ง ก็ นับว่าดีอักโข.....”


อรหํ

อรหํ แปลว่า พระอรหันต์ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่ได้บัญญัติโดยคุณนิมิตตั้งแต่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในบทนโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส ใช้ศัพท์เป็น อรหโต บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่

ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา ใช้ศัพท์เป็น อรหํ พระพุทธเจ้าทรงประกาศความเป็นพระอรหันต์แก่สาธารณชนครั้งแรกต่ออุปกาชีวก ดังความใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ เรื่องอุปกาชีวก ว่า อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำคยา และไม้โพธิพฤกษ์ ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่า “ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ดูกรอาวุโส ท่านบวชอุทิศใคร ? ใครเป็นศาสดาของท่าน ? หรือท่านชอบธรรมของใคร ?...เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบอุปกาชีวกว่าดังนี้

เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวงอันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวงละธรรมเป็นไปใน ภูมิสามได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดา อื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองประกาศอมตธรรมในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ

อุปกาชีวกทูลว่า ดูกรอาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้ โดยประการนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้วบุคคลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูกรอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ชนะ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิดพ่อ ดังนี้ แล้วสั่นศีรษะ ถือเอาทางผิดเดินหลีกไป”

เมื่อค้นหาศัพท์ อรหโต ในพระไตรปิฎก จะมีปรากฏอยู่ ๒ แห่งคือ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๗ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๔ กถาวัตถุปกรณ์เป็นบทสนทนาธรรมเกี่ยวกับคุณของพระอรหันต์ เรื่อง อัตถิ อรหโต ปุญญูปจโยติกถา ๑ นัตถิ อรหโต อกาลมัจจูติกถา ๑ มีเนื้อความดังนี้


อัตถิ อรหโต ปุญญูปจโยติกถา

สกวาที (ส.) พระอรหันต์มีการสะสมบุญหรือ ?
ปรวาที (ป.) ถูกแล้ว
ส. พระอรหันต์มีการสะสมบาปหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์ไม่มีการสะสมบาปหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. พระอรหันต์ไม่มีการสะสมบุญหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์มีการสะสมบุญหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. พระอรหันต์ยังสร้างสมบุญญาภิสังขาร ยังสร้างสม อาเนญชาภิสังขาร ยังทำกรรมที่เป็นไปเพื่อคติ เพื่อภพ เพื่อความเป็นใหญ่ เพื่อความเป็นอธิบดี เพื่อสมบัติใหญ่ เพื่อบริวาร มาก เพื่อความงามในเทพ เพื่อความงามในมนุษย์หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์มีการสะสมบุญหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. พระอรหันต์ยังสะสมอยู่หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์เลิกสะสมอยู่หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์ละขาดอยู่หรือ ฯลฯ พระอรหันต์ยังถือ มั่นอยู่หรือ ฯลฯ พระอรหันต์ชำระล้างอยู่หรือ ฯลฯ พระอรหันต์หมักหมมอยู่หรือ ฯลฯ พระอรหันต์กำจัดอยู่หรือ ฯลฯ พระอรหันต์อบอวลอยู่หรือ ? ฯลฯ
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์สั่งสมอยู่ก็ไม่ใช่ เลิกสั่งสมอยู่ก็ไม่ใช่ แต่เป็นผู้เลิกสะสมแล้ว ดำรงอยู่หรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. หากว่า พระอรหันต์สั่งสมอยู่ก็ไม่ใช่ เลิกสั่งสมอยู่ก็ ไม่ใช่ แต่เป็นผู้เลิกสะสมแล้วดำรงอยู่ ก็ต้องไม่กล่าวว่า พระอรหันต์มีการสะสมบุญ
ส. พระอรหันต์ละขาดอยู่ก็ไม่ใช่ ถือมั่นอยู่ก็ไม่ใช่ แต่เป็นผู้ละขาดแล้ว ดำรงอยู่ ชำระล้างอยู่ก็ไม่ใช่ หมักหมมอยู่ ก็ไม่ใช่ แต่เป็นผู้ชำระล้าง แล้วดำรงอยู่ กำจัดอยู่ก็ไม่ใช่ อบอวลอยู่ก็ไม่ใช่ แต่เป็นผู้กำจัดแล้วดำรงอยู่ มิใช่หรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. หากว่า พระอรหันต์ กำจัดอยู่ก็ไม่ใช่ อบอวลอยู่ก็ไม่ใช่ แต่เป็นผู้กำจัด แล้วดำรงอยู่ ก็ต้องไม่กล่าวว่า พระอรหันต์มีการสะสมบุญ
ป. พระอรหันต์ไม่มีการสะสมบุญหรือ ?
ส. ถูกแล้ว
ป. พระอรหันต์พึงให้ทานหรือ ?
ส. ถูกแล้ว
ส. ถ้าพระอรหันต์พึงให้ทาน ก็ต้องไม่กล่าวว่า พระอรหันต์ไม่มีการสะสมบุญ
ป. พระอรหันต์ให้จีวร ฯลฯ พึงให้บิณฑบาต พึงให้เสนาสนะ พึงให้คิลานปัจจยเภสัช-บริขาร พึงให้ของเคี้ยว พึงให้ของบริโภค พึงให้น้ำดื่ม พึงไหว้พระเจดีย์ พึงยกขึ้น ซึ่งมาลา พึงยกขึ้นซึ่งของหอม พึงยกขึ้นซึ่งเครื่องลูบไล้ ที่ พระเจดีย์ พึงทำประทักษิณพระเจดีย์หรือ ?
ส. ถูกแล้ว
ป. หากว่า พระอรหันต์พึงทำประทักษิณพระเจดีย์ ก็ต้องไม่กล่าวว่า พระอรหันต์ไม่มีการสะสมบุญ


นัตถิ อรหโต อกาลมัจจูติกถา

สกวาที พระอรหันต์ไม่มีอกาลมรณะ หรือ ?
ปรวาที ถูกแล้ว
ส. อรหันตฆาตไม่มีหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. อรหันตฆาตมีหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. พระอรหันต์มีอกาลมรณะหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์ไม่มีอกาลมรณะหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. ผู้ที่ปลงชีวิตพระอรหันต์นั้น ปลงในเมื่อชีวิตคือชีวิต ส่วนที่เหลือยังมีอยู่ หรือว่าปลงในเมื่อชีวิตคือชีวิตส่วนที่เหลือไม่มีอยู่
ป. ปลงในเมื่อชีวิตคือชีวิตส่วนที่เหลือยังมีอยู่
ส. หากว่า ปลงในเมื่อชีวิตคือชีวิตส่วนที่เหลือยังมี ก็ต้องไม่กล่าวว่าพระอรหันต์ไม่มีกาลมรณะ
ป. ปลงในเมื่อชีวิตคือชีวิตส่วนที่เหลือไม่มีอยู่
ส. อรหันตฆาตไม่มีหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. พระอรหันต์ไม่มีอกาลมรณะหรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. ยาพิษ ศาสตรา ไฟ ไม่พึงเข้าไปในกายของพระอรหันต์หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. ยาพิษ ศาสตรา ไฟ พึงเข้าไปในกายของพระอรหันต์ได้ มิใช่หรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. หากว่า ยาพิษ ศาสตรา ไฟ พึงเข้าไปในกายของพระอรหันต์ได้ ก็ต้องไม่กล่าวว่า พระอรหันต์ไม่มีอกาลมรณะ
ส. ยาพิษ ศาสตรา ไฟ ไม่พึงเข้าไปในกายของพระอรหันต์ หรือ ?
ป. ถูกแล้ว
ส. อรหันตฆาตไม่มีหรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ป. พระอรหันต์มีอกาลมรณะหรือ ?
ส. ถูกแล้ว
ป. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวความที่กรรมอันเป็นไปด้วยสัญเจตนา ที่บุคคลทำ แล้ว สะสมแล้วจะสิ้นสุดไป เพราะมิได้เสวยผล แต่กรรม นั้นแล จะให้ผลในทิฏฐธรรมเทียว หรือในภพถัดไป หรือในภพอื่นสืบๆ ไป ดังนี้ เป็นสูตรมีอยู่จริง มิใช่หรือ ?
ส. ถูกแล้ว
ป. ถ้าอย่างนั้น พระอรหันต์ก็ไม่มีอกาลมรณะน่ะสิ


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 18 ก.ย. 2006, 6:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๙)


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ ญาณกถา อรรถกถา สีลมยญาณนิทเทส มีอธิบายความหมายของ อรหํ ไว้ดังนี้

บทว่า อรหนฺตานํ ความว่า พระตถาคตเป็นพระอรหันต์ เพราะทรงไกลจากกิเลสทั้งหลาย, เพราะขจัดข้าศึกและซี่ล้อแห่งจักรทั้งหลาย, เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น, เพราะไม่มีความลับในการทำ บาป จริงอยู่ พระตถาคตนั้นเป็นผู้ไกล คือตั้งอยู่ไกลแสนไกลจากกิเลสทั้งปวง พระนามว่า อรหํ เพราะทรงละกิเลส พร้อมด้วยวาสนา ด้วยมรรค บัณฑิตกล่าวคำว่า อรหํ ไว้ ๕ นัย

นัยที่ ๑ ว่า

โส ตโต อารกา นาม ยสฺส เยนาสมงฺคิตา
อสมงฺคี จ โทเสหิ นาโถ เตนาหํ มโต.

พระตถาคตเจ้าผู้เป็นนาถะ ไม่ถูกกิเลสกลุ้มรุม และไม่ประกอบด้วยโทษ คือ วาสนาทั้งหลาย ชื่อว่าทรงไกลจากกิเลส และโทษเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์


อนึ่ง พระตถาคตเจ้าทรงกำจัดข้าศึก คือกิเลสเหล่านั้น ด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงขนานพระนามว่า อรหํ เพราะทรงกำจัดข้าศึก คือกิเลสทั้งหลายบ้าง

ยสฺมา ราคาทิสงฺขาตา สพฺเพปิอรโย หตา
ปญฺญาสตฺเถน นาเถน ตสฺมา อรหํ มโต.

เพราะพระนาถะทรงกำจัดข้าศึก คือกิเลส มีราคะเป็นต้น แม้ทั้งหมดด้วยศัสตรา คือปัญญา เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงทราบว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์


อนึ่ง ‘สังสารจักร’ ล้อคือสงสาร มีดุมสำเร็จด้วยอวิชชา และภวตัณหา มีเครื่องตกแต่งคือบุญ เป็นต้น เป็นซี่ล้อ มีชราและมรณะเป็นกง เจาะสอดไว้ด้วยเพลา คือเหตุเกิดอาสวะ ประกอบในรถคือ ภพ ๓ เป็นไปโดยกาลอันไม่มีเบื้องต้น, พระตถาคตประดิษฐานบนแผ่นดิน คือ ศีล ด้วยพระบาท คือ วิริยะ ณ โพธิมณฑล ทรงถือขวาน คือ ญาณ กระทำกรรมให้สิ้นไปด้วยพระหัตถ์ คือ ศรัทธา แล้วทรงกำจัดซี่ล้อทั้งหมดแห่งสังสารจักรนั้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะกำจัดซี่ล้อทั้งหลาย นี้เป็นนัยที่ ๒ บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๓ ว่า

อรา สํสารจกฺกสสฺ หตา ญาณาสินา ยโต
โลกนาเถน เตเนส อรหนฺติ ปวุจฺจติ.

เพราะพระโลกนาถทรงกำจัดซี่ล้อแห่งสังสารจักรด้วยดาบ คือ ญาณ, เพราะเหตุนั้น พระโลกนาถนั้น บัณฑิตจึงขนามพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์


อนึ่ง พระตถาคตเพราะเป็นผู้ควรของทำบุญอย่างเลิศ จึงควรรับปัจจัย มีจีวรเป็นต้น และการบูชาวิเศษ ก็ด้วยเหตุนั้นแล เมื่อพระตถาคตอุบัติแล้ว เทวดาและมนุษย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ พวกใดพวกหนึ่ง จะไม่ทำการบูชาในที่อื่นเลย เป็นความจริงดังนั้น สหัมบดีพรหม ย่อมบูชาพระตถาคตด้วยพวงแก้ว ประมาณเท่าภูเขาสิเนรุ, เทวดาเหล่าอื่นและมนุษย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นต้น ย่อมบูชาตามกำลัง

อนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสละทรัพย์ ๙๖ โกฏิ อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพาน แล้ว และทรงสร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ไว้ในชมพูทวีปทั้งสิ้น, จะพูดไปทำไมถึงการบูชาวิเศษอย่างอื่น เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะสมควรแก่ปัจจัย เป็นต้น บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๔ ว่า

ปูชาวิเสสํ สห ปจฺจเยหิ ยสฺมา อยํ อรหติ โลกนาโถ,
อตฺถานุรูปํอรหนฺติ โลเก ตสฺมา ชิโน อรหติ นามเมตํ.

เพราะพระโลกนาถนี้สมควรรับการบูชาวิเศษ พร้อมด้วยปัจจัยทั้งหลาย, ฉะนั้น พระชินะจึงสมควรทรงพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ อันเหมาะสมแก่อรรถะ


อนึ่ง พระตถาคตนั้น ไม่ว่าในกาลไหนๆ ไม่ทรง ทำเหมือนอย่างที่คนพาลทั้งหลาย พวกใดพวกหนึ่ง สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ทำบาปในที่ลับ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับการสรรเสริญ เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระอรหันต์ เพราะไม่มีความลับในการทำบาป บัณฑิตกล่าวนัยที่ ๕ ว่า

ยสฺมา นตฺถิ รโห นามปาปกมฺเมสุ ตาทิโน
รหาภาเวน เตเนส อรหํ อิติ วิสฺสุโต.

ขึ้นชื่อว่าความลับในบาปกรรม มิได้มีแก่พระตถาคตผู้มั่นคง เพราะเหตุนั้น พระตถาคตนั้น จึงปรากฏพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ เพราะไม่มีความลับ


ท่านกล่าวสรุปความทั้งหมดไว้อย่างนี้ว่า

อารกตฺตา หตตฺตา จ กิเลสารีน โส มุนิ
หตสํสารจกฺกาโร ปจฺจยาทีน จารโห
น รโห กโรติ ปาปานิ อรหํ เตน วุจฺจติ.

พระมุนีนั้น เพราะทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส ๑ เพราะกำจัดข้าศึก คือกิเลส ๑ เพราะหักซี่ล้อ คือสังสารจักร ๑ ทรงสมควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ๑ เพราะไม่ทรงทำบาปในที่ลับ ๑ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงขนามพระนามว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์


ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เหมาะสม แม้ด้วยคุณของพระอรหันต์ ฉะนั้น พระสารีบุตร จึงกล่าวว่า อรหนฺตานํ ด้วยสามารถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปฐมวรรค โลภสูตร ให้อรรถาธิบายความหมายของอรหํ ว่า

บทว่า อรหตา ความว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุเหล่านี้คือ

เพราะทรงห่างไกลจากกิเลสทั้งหลาย ๑
เพราะทรงทำลายข้าศึกคือกิเลสไม่มีส่วนเหลือ ๑
เพราะทรงทำลายซี่กำแห่งสังสารจักร ๑
เพราะทรงควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ๑
เพราะไม่มีความลับในการทำบาป ๑

นี้คือความย่อในบทนี้ ส่วนความพิสดารพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคเถิด

อนึ่งในอธิการนี้พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

บทว่า อรหตา นี้ แสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระธรรมกายที่เป็นอจินไตย อาทิ พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ และอาเวณิกพุทธธรรม (ธรรมเฉพาะพระพุทธเจ้า) ๑๘ เพราะแสดงการบรรลุสัพพัญญุตญาณมีการสิ้นอาสวะเป็นปทัฏฐาน โดยการแสดงการละกิเลสที่ไม่มีส่วนเหลือ

ด้วยบท ภควตา และ อรหตา นี้ ท่านแสดงถึง ความที่พระองค์อันนักปราชญ์ชาวโลกนับถือมาก ๑ ความที่พระองค์อันคฤหัสถ์และบรรพชิตพึงเข้าไปหา ๑ ความที่พระองค์ทรงสามารถในการบำบัดทุกข์ทางกายและทางใจของคฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นผู้เข้าไปหา ๑ ความที่พระองค์ทรงมีอุปการะด้วยอามิสทาน และธรรมทาน ๑ ความที่พระองค์ทรงสามารถในการชักนำประชาชนให้ประกอบด้วยคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ๑

บทว่า อรหตา นี้ แสดงความถึงพร้อมด้วยวิชชา โดยแสดงการบรรลุอาสวักขยญาณ อันเป็นยอด (สูงสุด) ในวิชชาทุกประการ

บทว่า อรหตา นี้ ประกาศถึงการประกอบด้วย เวสารัชชญาณข้อแรก ๒ ข้อ โดยแสดงการละกิเลส พร้อมทั้งวาสนาได้ไม่มีเหลือ

บทว่า อรหตา นี้ ประกาศถึงความบริบูรณ์แห่ง อธิษฐานธรรมคืออุปสมะ และอธิษฐานธรรมคือปัญญา โดยแสดงถึงการได้บรรลุการสงบระงับสังขารทั้งหมด และโดยแสดงถึงการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๑ ตอน ๒ ได้อธิบายคำว่า อรหํ ไว้ดังนี้


แก้อรรถบท อรหํ ๕ นัย

บัณฑิตย่อมระลึกว่า ในบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้พระนามว่า อรหํ เพราะเหตุ (๕ นัย) นี้ก่อน คือ อารกตฺตา เพราะความเป็นอารกะ (ผู้ไกล) (๑)อรีนํ อรานญฺจ หตตฺตา เพราะความที่ทรงกำจัดอริ (ข้าศึก) ทั้งหลายเสียได้ (๑) และเพราะทรงทำลายอระ (ซี่กำ) ทั้งหลายเสียได้ (๑) ปจฺจยาทีนํ อรหตฺตา เพราะความเป็นอรหะ (ผู้ควร) ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย ๔ เป็นต้น ( ๑ )ปาปกรเณ รหาภาวา เพราะความไม่มีรหะ (ที่ลับ) ในอันที่จะทำบาป (๑)


นัยที่ ๑ ผู้ไกล

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นชื่อว่า อารกะ คือทรงสถิตอยู่ในที่ไกลลิบลับแต่สรรพกิเลส เพราะกิเลสทั้งหลายกับทั้งวาสนา พระองค์ทรงกำจัดเสียได้แล้ว เพราะความเป็นอารกะ (ผู้ไกล) ดังนี้ จึงได้พระนามว่า อรหํ

(วาสนา : อาการกายวาจา ที่เป็นลักษณะพิเศษ ของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสมอบรมมาเป็นเวลานาน จนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้ เช่น คำพูด ติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศล ก็มี เป็นอกุศล ก็มีเป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศล ซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย กับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่างๆ ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลังพระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้ จึงมีคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา ส่วนในภาษาไทย คำว่าวาสนา มีความหมายเพี้ยนไปกลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ)

คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นนาถะ (ที่พึ่ง) ไม่ทรงมีความข้องแวะกับกิเลส ใด และพระองค์ไม่ทรงประกอบด้วยสิ่งอันเป็นโทษทั้งหลาย (คือ วาสนา) ใด ก็ชื่อว่าทรงไกลแต่ กิเลส และโทษนั้น เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏพระนามว่าอรหํ (ผู้ไกล) แล


นัยที่ ๒ ผู้กำจัดอริ

อนึ่ง อริ คือกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น พระองค์ทรงกำจัดเสียได้แล้วด้วยมรรค เพราะความที่ทรงกำจัดอริทั้งหลายเสียได้ดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑

คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๒ เพราะเหตุที่อริทั้งหลาย กล่าวคือกิเลสมีราคะเป็นต้น แม้ทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนาถะ ทรงกำจัดเสียแล้วด้วยศัสตรา คือ พระปัญญา เพราะเหตุนั้น จึงปรากฏพระนามว่า อรหํ (ผู้กำจัดข้าศึก) ประการ ๑ แล


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
พระพจนารถ ปภาโส
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2006, 5:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บทความนี้ อาตมภาพเป็นคนเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือธรรมลีลา ขออนุโมทนาที่นำลงเผยแผ่ลงในเวปนี้ แต่จะดีกว่านี้อีกสักหน่อย ถ้าลงชื่อผู้เขียนและแหล่งที่มาด้วย จะเป็นการเผยแผ่ที่ถูกตามธรรมเนียม
 
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 04 ต.ค.2006, 8:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กราบมนัสการ พระพจนารถ ปภาโส เจ้าค่ะ

โยมขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำแนะนำทั้งหมดเจ้าค่ะ ปกติเวลาโยมนำธรรมะของครูบาอาจารย์ท่านใด มาลงในเว็บไซต์ โยมจะแจ้งชื่อผู้เขียนหรือชื่อผู้เรียบเรียง และแหล่งที่เรานำมา ด้วยทุกครั้ง โดยจะเขียนลงตอนต้นเรื่อง หรือตอนท้ายสุดหรือตอนจบของเรื่อง แล้วแต่กรณีเจ้าค่ะ

เรื่องตำนาน นโม นี้ โยมนำมาจากเว็บธรรมะผู้จัดการออนไลน์ ทางเว็บผู้จัดการนั้น ได้ให้รายละเอียดเพียงว่า นำมาจากหนังสือธรรมลีลา แต่ไม่ได้แจ้งชื่อผู้เขียนไว้ อีกทั้งทางเว็บผู้จัดการได้นำเนื้อหาของเรื่องตำนาน นโม มาลงไว้เพียง 9 ตอนเท่านั้น ยังมีต่ออีกเจ้าค่ะ

ท้ายนี้ โยมขอกราบขอบพระคุณท่านอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้แจ้งให้โยมและสาธุชนได้ทราบว่า ท่านคือผู้เขียนบทความนี้ ขอกราบนิมนต์ท่านมาให้ธรรมทานแก่สาธุชนในเว็บธรรมจักรนี้อีกนะเจ้าค่ะ


สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ย.2006, 9:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๐)


นัยที่ ๓ ผู้ทำลายซี่กำสังสารจักร

อนึ่ง สังสารจักร (ล้อคือสังสาร) อันมีดุมทำด้วยอวิชชา และภวตัณหา อภิสังขารมีบุญญาภิสังขารเป็นต้นเป็นซี่กำ ชรามรณะเป็นกง สอดด้วยเพลาทำด้วยอาสวสมุทัย ประกอบเข้าไว้ในตัวรถคือไตรภพ (ภพ ๓ คือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ) หมุนไปตลอดกาลอันหาเบื้องต้นมิได้ ฉันใด ซี่กำทั้งหลาย ของสังสารจักรนั้น พระองค์ทรงประดิษฐานอยู่ ณ พื้นปฐพี คือ ศีล ด้วยพระยุคคลบาท คือ วิริยะ แล้วทรงถือขวาน คือ พระญาณอันทำความสิ้นกรรม ด้วยพระหัตถ์ คือ ศรัทธา ทรงทำลายเสียสิ้นแล้ว เพราะความที่ทรงทำลายอระ (ซี่กำ คือสังขาร) เสียได้ดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ อีกประการ ๑

หรือมิฉะนั้น สังสารวัฏ (วงเวียน) อันไม่ปรากฏที่สิ้นสุด เรียกว่าสังสารจักร ก็แล อวิชชา นับว่าเป็นดุมของสังสารจักรนั้น เพราะเป็นต้น (เหตุ) ชรามรณะนับว่าเป็นกง เพราะเป็นปลาย (เหตุ) ธรรมที่เหลือ ๑๐ ข้อนับเป็นซี่กำ เพราะมีอวิชชาอยู่ต้นและเพราะมีชรามรณะอยู่ปลาย ในธรรมเหล่านั้น ความไม่รู้ใน อริยสัจมีทุกข์เป็นอาทิ ชื่อว่า อวิชชา และอวิชชาในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในกามภพ

อวิชชาในรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในรูปภพ อวิชชาในอรูปภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายในอรูปภพ (ด้วยกัน)

สังขารทั้งหลายในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ในภพนอกนี้ (รูปภพและอรูปภพ) ก็นัยนั้น

ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูปในกามภพ ในรูป ภพก็อย่างนั้น (แต่) ในอรูปภพ (ปฏิสนธิวิญญาณ) เป็นปัจจัยแห่งนามอย่าง เดียว (เพราะอรูปภพเป็นภพที่ไม่มีรูปขันธ์)

นามรูปในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งอายตนะครบ ๖ ในกามภพนามรูปในรูป ภพเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๓ ในรูปภพ นามในอรูปภพเป็นปัจจัยแห่งอายตนะ ๑ ในอรูปภพ

อายตนะ ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะทั้ง ๖ ในกามภพ อายตนะในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๓ ในรูปภพ อายตนะ ๑ ในอรูปภพเป็นปัจจัยแห่งผัสสะ ๑ ในอรูปภพ

ผัสสะ ๖ ในกามภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๖ กามภพ ผัสสะ ๓ ในรูปภพ เป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๓ ในรูปภพนั้นด้วยกัน ผัสสะ ๑ ในอรูปภพก็เป็นปัจจัยแห่งเวทนา ๑ ในอรูปภพนั้นด้วยกัน

เวทนา ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๖ ในกามภพ เวทนา ๓ ในรูปภพเป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๓ ในรูปภพด้วยกันนั้น เวทนา ๑ ในอรูปภพ ก็เป็นปัจจัยแห่งกองตัณหา ๑ อรูปภพด้วย

ตัณหานั้นๆ ในภพนั้นๆ เป็นปัจจัยแห่งอุปาทานนั้นๆ ธรรมที่เหลือมีอุปาทานเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายมีภพเป็นอาทิ ถามว่า ข้อนี้เป็น อย่างไร แก้ว่า “บุคคลลางคนในโลกนี้ ปรารถนา (ด้วยอำนาจกามตัณหา) ว่า เราจักบริโภคกาม แล้วประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย ครั้นเพียบไปด้วยทุจริต เขา (ตายไป) ก็เกิดในอบาย

กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปปัติในอบายนั้นของเขาเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดเพราะกรรมเป็นอุปปัติภพ ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็นชาติ ความหง่อมไป (แห่งขันธ์เหล่านั้น) เป็นชรา ความสลายไป (แห่งขันธ์เหล่านั้น) เป็นมรณะ

อีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในสวรรค์ แล้วประพฤติสุจริต เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยอย่างเดียวกันนั้น ครั้นเปี่ยมไปด้วยสุจริต เขา (ตายไป) ก็เกิดในสวรรค์ นัย (ความต่อไป) ก็นัยเดียวกันนั้น คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปปัติในสวรรค์นั้นของเขาเป็นกรรมภพ ดังนี้เป็นต้น

ส่วนอีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่า เราจักเสวยสมบัติในพรหมโลกแล้วเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยเหมือนกัน ครั้นเต็มไปด้วยภาวนา เขา (ตายไป) ก็เกิดในพรหมโลก นัย (ความต่อไป) ก็นัยเดียว กันนั้น คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุปปัติในพรหมโลกนั้นของเขาเป็นกรรมภพ ดังนี้เป็นต้น

อีกคนหนึ่ง ปรารถนาว่าเราจักเสวยสมบัติในอรูปภพ แล้วเจริญสมาบัติมีอากาสานัญจายตนะเป็นอาทิ เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยเช่นเดียวกัน ครั้นบริบูรณ์ไปด้วยภาวนา เขา (ตายไป) ก็เกิดในอรูปภพนั้นๆ กรรมอันเป็นเหตุ แห่งความอุปปัติในอรูปภพนั้นของเขา เป็นกรรมภพ

(มีปัญหาว่า รูปภพและอรูปภพไม่เกี่ยวด้วยกามภูมิมิใช่หรือ ไฉนจึงว่าเจริญพรหมวิหารและเจริญสมาบัติเพราะกามุปาทานเป็นปัจจัยเล่า ? มหาฎีกา ท่านจึงแก้ไว้ว่า แม้ภวราคะ (ความยินดีพอใจในภพ) ก็นับเป็นกามุปาทาน โดยอาศัยคำนิเทศว่า “ธรรมอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งสิ้นได้ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าเป็นสิ่งที่สัตว์พึงปรารถนา”

ขันธ์ทั้งหลายอันเกิดเพราะกรรมเป็นอุปปัติภพ ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลาย เป็นชาติ ความหง่อมไป (แห่งขันธ์) เป็นชรา ความสลายไป (แห่งขันธ์) เป็นมรณะ” (กามุปาทานเป็นปัจจัยแห่งภพเป็นต้นดังนี้) นัยแม้ในการประกอบ (ความ) อันมีอุปาทานที่เหลือเป็นมูล ก็ดุจนัยนี้

(ต่อไปนี้ ท่านชักเอาบาลีในปฏิสัมภิทามรรคมากล่าวย้ำความเรื่องธรรม เหล่านี้เป็นปัจจัยเนื่องกันไป โดยเรียกความกำหนดรู้ในเรื่องนี้ว่าธรรมฐิติญาณ แล้วสรุปเป็นสังเขปเป็นต้น ดังนี้)

โดยนัยดังนี้ ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยว่า “อวิชชาเป็นเหตุสังขารเป็น เหตุสมุบัน (เกิดแต่เหตุ) อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุสมุบันด้วยกัน (คือว่า สังขารเกิดแต่เหตุฉันใด แม้อวิชชาก็เป็นธรรมมีเหตุเหมือนกันฉันนั้น เหตุแห่งอวิชชาก็คืออาสวะดังกล่าวแล้ว) นี้ชื่อธรรมฐิติญาณ ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัยว่า อวิชชาเป็นเหตุ สังขารเป็นเหตุสมุบัน อวิชชาและสังขารทั้ง ๒ นั้น ก็เป็นเหตุสมุบันด้วยกันทั้งในกาลอดีตทั้งในกาลอนาคต” ชื่อว่าธรรมฐิติญาณแล (ขุ.ป. ๓๑/๗๓) บททั้งปวง บัณฑิตพึง (กล่าว) ให้พิสดาร โดยนัยนี้เทอญ

ในธรรมเหล่านั้น อวิชชากับสังขารเป็นสังเขป ๑ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสังเขป ๑ ตัณหา อุปาทาน ภพ เป็นสังเขป ๑ ชาติชรามรณะ เป็นสังเขป ๑ อนึ่ง ใน ๔ สังเขปนั้น สังเขปแรกเป็นอดีตอัทธา (อดีตกาล) สังเขปกลาง ๒ เป็นปัจจุบันอัทธา ชาติชรามรณะ เป็นอนาคตอัทธา

อนึ่ง ในธรรมเหล่านั้นด้วยถือเอา (คือกล่าวถึง) อวิชชา สังขาร ก็เป็นอันถือเอา (คือกินความถึง) ตัณหา อุปาทาน ภพ (ซึ่งเป็นเหตุคือเป็นกิเลสและกรรมด้วยกัน) ด้วย เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ ประการนี้ (อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ) จึงจัดเป็นกรรมวัฏในอดีต ธรรม ๕ มีวิญญาณเป็นต้น (คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา) จัดเป็นวิปากวัฏในกาลบัดนี้ ด้วยถือเอา (คือกล่าวถึง) ตัณหา อุปาทาน ภพ ก็เป็นอันถือเอา (คือกินความถึง) อวิชชา สังขาร ด้วย เพราะฉะนั้น ๕ ประการนี้ (ตัณหา อุปาทาน ภพ อวิชชา สังขาร) จึงเป็นกรรมวัฏในกาลบัดนี้ (ด้วย) ธรรม ๕ ประการ นี้ (คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา) จัดเป็นวิปากวัฏในกาลต่อไป (ด้วย) เพราะด้วยการกล่าวถึง ชาติ ชรา มรณะ ก็เป็นอันชี้ถึงธรรม ๕ มีวิญญาณเป็นต้น (คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา) (ซึ่งเป็นธรรมมี ชาติ ชรา มรณะ เป็นสภาวะของธรรมทั้ง ๕ นั้น) ธรรมเหล่านั้น โดยอาการจึงเป็น ๒๐ อนึ่ง ในธรรมเหล่านั้น ในระหว่างสังขารกับวิญญาณ มีสนธิ ๑ ระหว่างเวทนา กับตัณหามีสนธิ ๑ ระหว่างภพกับชาติมีสนธิ ๑ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรู้ทรงเห็น คือทรงรู้ยิ่งเห็นจริง ซึ่งปฏิจจสมุปบาท อันมี สังเขป ๔, อัทธา (กาล) ๓, อาการ ๒๐, สนธิ ๓ นั้น โดยอาการทั้งปวงโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้

ความรู้นั้น ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่าหยั่งรู้ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ประจักษ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดจับปัจจัย ชื่อว่าธรรมฐิติญาณ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงรู้ธรรมเหล่านั้นตามจริงด้วย ธรรมฐิติญาณนี้แล้ว ทรงหน่ายในธรรมเหล่านั้น ทรงคลายความยินดีหลุดพ้นไป ชื่อว่าทรงกำจัด คือรื้อทำลาย ซึ่งกำทั้งหลายแห่งสังสารจักรอันมีประการดังกล่าวแล้ว เพราะทรงกำจัดกำทั้งหลาย (แห่งสังสารจักร) เสียได้อย่างนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑

คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๓ เพราะเหตุที่อระ (ซี่กำ) ทั้งหลายแห่งสังสารจักร พระโลกนาถเจ้าทรงทำลายเสียแล้วด้วยดาบคือ พระญาณ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ (ผู้ทำลายซี่กำ)


นัยที่ ๔ ผู้ควร

อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นควรซึ่งปัจจัย มีจีวรเป็นต้น และซึ่งการบูชาอย่างวิเศษ เพราะความที่พระองค์เป็นอัครทักขิไณยบุคคล ก็เพราะเหตุนั้นแล เมื่อพระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ชนทุกหมู่เหล่าผู้เป็นมเหสักข์ (ประชุมชนยกย่องว่าเป็นเจ้าเป็นใหญ่) ทั้งที่เป็นเทวดาทั้งที่เป็นมนุษย์มีอยู่ ท่านเหล่า นั้นหาทำการบูชาในที่อื่นไม่ จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้บูชาพระตถาคต เจ้าด้วยพวงรัตนะ (ใหญ่) เท่าเขาสิเนรุ อนึ่ง เทวดาอื่นๆ และมนุษย์ทั้งหลาย เช่น พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล ก็ได้บูชา (พระองค์) ตามกำลัง อนึ่งเล่า พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงสละทรัพย์ประมาณ ๙๖ โกฏิ โปรดให้สร้างวิหารถึง ๘๔,๐๐๐ (ตำบล) อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว จะกล่าวอะไรถึงการบูชาอย่างวิเศษอื่นๆ (ที่เทวดาและมนุษย์ผู้มิใช่มเหสักข์ทำถวาย) เล่า เพราะความที่ทรงเป็น อรห (ผู้ควร) แก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย ๔ เป็นอาทิดังนี้ จึงทรงพระนามว่า อรหํ ประการ ๑

คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๔ เพราะเหตุที่พระโลกนาถเจ้านี้ทรงควรซึ่งการบูชาอย่างวิเศษกับทั้งปัจจัยทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พระองค์ผู้เป็นพระชินะจึงทรงควรซึ่งพระนามนั้น คือ อรหํ ในโลก ซึ่งเป็นพระนามที่มีอรรถอันสม แก่อรรถ (แห่งอรหศัพท์)


นัยที่ ๕ ผู้ไม่มีที่ลับ

อนึ่ง คนพาลผู้ไว้ตัวว่าเป็นบัณฑิตทุกจำพวกในโลก ย่อมทำบาปในที่ลับ เพราะกลัวเสียชื่อ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหาทรงทำ (บาปในที่ลับ) ฉันนั้น ในกาลไหนๆ ไม่ เพราะความไม่มีที่ลับในการทำบาปดังนี้ จึงได้พระนาม ว่า อรหํ ประการ ๑

คาถาสรูปสำหรับนัยที่ ๕ เพราะเหตุที่ขึ้นชื่อว่าที่ลับในการทำบาปทั้งหลายย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเจ้า เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงปรากฏพระนาม ว่า อรหํ เพราะไม่มีที่ลับ


คาถาสรูปสำหรับทุกนัย

พระมุนีเจ้านั้นทรงพระนามว่า อรหํ เพราะความที่ทรงไกลกิเลส ๑ เพราะความที่ทรงกำจัดอริคือกิเลสทั้งหลายเสีย ๑ พระองค์เป็นผู้ทรงทำลายซี่กำแห่งสังสารจักร ๑ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัยเป็นอาทิ ๑ ไม่ทรงทำบาปทั้งหลายในที่ลับ ๑ เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ โดยประการทั้งปวงดังพรรณนามาฉะนี้แล


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ย.2006, 9:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๑)


เมื่อทราบความหมายของคำว่า อรหํ แล้ว จะได้นำพระธรรมเทศนาเรื่อง พระพุทธคุณบทว่า อรหํ ที่แสดงโดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มานำเสนอดังนี้

ความหมายของบทว่า อรหํ

พระอาจารย์ได้แสดงเนื้อความของบทว่า อรหํ ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ คือ ๑. ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไกลกิเลส ๒. ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส ๓. ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร คือล้อแห่งสังสาระหรือสงสาร การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายไปในภพชาติทั้งหลายเป็นอันมาก ๔. ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา ๕. ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไม่ทำบาปทั้งหลายแม้ในที่ลับ คือไม่ทำบาปทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ คือไม่ทำบาปในที่ทุกสถาน

พระอาจารย์ได้แสดงไว้สำหรับเจริญพุทธานุสสติ หรือพิจารณาพระพุทธคุณของบท อรหํ นี้ไว้เป็น ๕ ประการดังนี้

ข้อที่ ๑ อรหํ ในความหมายว่า เป็นผู้ไกลกิเลส กิเลสนั้นได้แก่เครื่องเศร้าหมองของจิต กิเลสที่ พูดกัน รู้จักกันอยู่โดยมาก ก็คือ ‘ราคะ’ ความติดใจยินดี หรือ ‘โลภะ’ ความโลภอยากได้ ‘โทสะ’ ความโกรธแค้นขัดเคือง ‘โมหะ’ ความหลง หรือที่เรียกกันว่า ราคะ โทสะ โมหะ หรือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ที่ตรัสแสดงไว้เป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิด ทุกข์ ในอริยสัจ ๔ ก็คือ ‘ตัณหา’ ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ เพื่อจะได้พัสดุที่น่าใคร่ น่าปรารถนา พอใจทั้งหลาย อันเรียก ว่า ‘กามตัณหา’ เพื่อเป็น นั่นเป็นนี่ เรียกว่า ‘ภวตัณหา’ เพื่อที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ เรียกว่า ‘วิภวตัณหา’ คือเพื่อที่จะให้สิ่งที่ไม่ปรารถนาต้องการสิ้นไปหมดไป

นี้เป็นกิเลสที่แสดงกันอยู่ พูดกันอยู่ จึงมักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่โดยทั่วไป กิเลสนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นเครื่องที่จรเข้ามาสู่จิตใจ จึงมิใช่เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ แต่เป็นสิ่งที่เป็นอาคันตุกะคือแขก หรือผู้มาเยี่ยมเยียนเป็นต้น ของจิตใจ แต่ก็อาศัยเกาะจิตใจอยู่ ตลอดเวลาช้านาน คือเข้ามาอาศัย เข้ามาเยี่ยมจิตใจแล้วก็ไม่ยอมออกไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าจิตใจนี้เอง รับเอาไว้ให้อยู่อาศัยเหมือนอย่างอ้อนวอนให้อยู่อาศัย เชิญให้อยู่อาศัยอยู่ในจิตใจ มีอาลัยอยู่ในกิเลสทั้งหลาย ติดอยู่ในกิเลสทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายจึงไม่ออกไปจากจิตใจ

เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงว่ากิเลสนี้ไม่ใช่เป็นเจ้าถิ่นของจิตใจ ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเรียกเมื่อแสดงถึงเรื่องที่กิเลสเข้ามาอาศัยอยู่ในจิตใจว่า ‘อุปกิเลส’ แปลว่ากิเลสที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจิตใจ ดังที่ได้ ตรัสแสดงถึงเนื้อแท้ของจิต ธรรมชาติของจิต ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง แต่ว่าเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา และเมื่อได้บำเพ็ญจิตตภาวนาอบรมจิต ก็อาจที่จะทำจิตให้วิมุติ หลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาทั้งปวงได้ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ทางพุทธศาสนาจึงได้แสดงว่า ปฏิบัติทำจิตตภาวนาให้พ้นจากกิเลสได้ ดับกิเลสได้ ถ้าหากว่ากิเลสเป็นเนื้อแท้ของจิตใจ ก็ไม่อาจจะดับได้ แต่เพราะกิเลสไม่ได้เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ เป็นอาคันตุกะคือเป็นผู้ที่จรเข้ามา ฉะนั้นจึงปฏิบัติดับกิเลส กำจัดกิเลส ให้กิเลสออกไปจากจิตใจ พ้นไปจาก จิตใจ หรือให้จิตใจพ้นไปจากกิเลสได้ และในข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติดับกิเลสได้มาก่อนด้วยพระองค์เอง โดยที่เมื่อพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ เป็นพระโพธิสัตว์คือเป็นสัตว์ผู้แสวงหาทางเพื่อตรัสรู้

สัตว์ก็คือสัตวโลก อันแปลว่าผู้ข้องผู้ติด เมื่อยังมีกิเลสอยู่ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์เดรัจฉาน ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้นได้ในคำว่าสัตวโลก ซึ่งเป็นคำรวมทั้งหมด เพราะยังเป็นผู้ข้องผู้ติดอยู่ ยังไม่พ้นไปจากกิเลส ยังข้องยังติดอยู่ด้วยอำนาจของกิเลส

พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้ เมื่อเสด็จออกทรงผนวช เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทรงพิจารณาน้อมเข้ามา ว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไม่พ้นไปได้ ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะ คือนักบวช ผู้ที่สละบ้านเรือน ออกจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน ออกปฏิบัติแสวง หาธรรมะที่สูงขึ้นกว่าสามัญชน ก็ทรงพอพระทัยในเพศบรรพชิต ว่าเป็นโอกาส เป็นช่องว่างที่จะได้พากเพียรทางจิต ให้ประสบโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่อง หลุดพ้นได้ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช และก็ได้ทรงศึกษาในสำนักของคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ บ้าง ทรงปฏิบัติทดลองไปในวิธีต่างๆ ซึ่งนักบวชในครั้งนั้นได้ใช้ปฏิบัติกัน เพื่อบรรลุถึงผลเบื้องสูง ตามแต่ลัทธิของใครจะแสดงอย่างไร

เมื่อทรงเห็นว่าทุกวิธีนั้นไม่ใช่เป็นทางให้ประสบโมกขธรรม จึงทรงแสวง หาด้วยพระองค์เอง ทรงปฏิบัติไปจนทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง คือมรรคมีองค์ ๘ ไม่ข้องแวะด้วยทางที่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในกาม และที่เป็น อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลำบากเปล่า ได้ทรงปฏิบัติไปในมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์แล้ว จึงได้ตรัสรู้พระธรรม ก็คือตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ ดังที่ตรัสแสดงไว้เองในปฐมเทศนา วิชชาวิมุติความรู้และความหลุดพ้นจึงบังเกิดขึ้น จิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นกิเลสอย่างละเอียด คือที่มาอาศัยอันเรียกว่าอาสวะหมักหมม หรืออนุสัยนอนจม อยู่ในจิตสันดานได้หมดสิ้น จิตของพระองค์จึงบรรลุถึงนิพพาน อันเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด ด้วยอำนาจของมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น

ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ สิ้นเชิง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทรงเป็นผู้ไกลกิเลส คือหมายความว่าสิ้นกิเลสทั้งหมด ความไกลกิเลส คือความสิ้นกิเลสทั้งหมดนี้ พึงเข้าใจว่าสิ้นหมด ตลอดจนถึงกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน อันเรียกว่าอาสวะอนุสัย

ดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่หมายความว่า เป็นผู้ยังไม่สิ้นกิเลสจนถึงขั้นอาสวะอนุสัยนี้ เหมือนอย่างบุคคลแม้ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา ในบางคราวเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา เข้าถึงจิตใจ จิตใจก็สงบ ได้ปีติ ได้สุข มีความรู้ความเห็นที่เป็นตัวปัญญาแจ่มใส มีจิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ มีศีลที่บริสุทธิ์ จึงดูเหมือนจะสิ้นกิเลส บางท่านสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสแล้วก็มี

ลักษณะดังกล่าวนี้ได้มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คือเมื่อปฏิบัติไปๆ จิตใจมีความสงบ บริสุทธิ์ดังกล่าว มีความรู้ความเห็นที่แจ่มชัดดังกล่าว ก็สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเพื่อให้ทรงพยากรณ์ และพระพุทธเจ้าได้ ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ จึงให้ไปที่ป่าช้าผีดิบก่อน เพราะในครั้งนั้นผู้ที่ถึงแก่กรรม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ ญาติก็นำศพไป ทิ้งไว้ในป่าช้า มอบให้ผู้รักษาป่าช้า หรือที่เรียกกันว่าสัปเหร่อจัดการเผา เมื่อภิกษุไปที่ป่าช้าผีดิบดังกล่าว ได้เห็นศพที่สดชื่นก็เกิดความรู้สึกยินดี จึงรู้ตนเองว่ายังไม่สิ้นกิเลส ทั้งนี้ก็เพราะว่ากิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมมอยู่นั้นยังไม่สิ้นไป ธรรมะปฏิบัติทั้งปวงนั้นบังเกิดขึ้น เหมือนอย่างทับกิเลสเหล่านี้อยู่ในส่วนลึกของจิต

กิเลสเหล่านี้ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างเป็นตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม เมื่อยังไม่มีใครไปกวนน้ำในตุ่มให้หวั่นไหว ตะกอนก็ไม่ฟุ้งขึ้นมา ดูน้ำก็ใสสะอาดเหมือนอย่างไม่มีตะกอน ครั้นเมื่อไปกวนน้ำในตุ่มให้หวั่นไหว ตะกอนจึงจะฟุ้งขึ้นมา จิตก็เช่น เดียวกัน เมื่อยังไม่มีอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส นั้นๆเข้ามา กิเลสก็เหมือนอย่างนอนสงบอยู่ คล้ายไม่มีกิเลส แต่ครั้นเมื่อมีอารมณ์นั้นๆ เข้ามากวน กิเลสในจิตที่เป็นตะกอนนั้นก็ฟุ้งขึ้นมา จิตจึงขุ่นมัว ด้วยราคะหรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ปรากฏเป็นกิเลสในจิต ที่ทุกๆ คนก็รู้อยู่

เพราะฉะนั้น การละกิเลสได้สิ้น ก็ต้องสิ้นให้ถึงอาสวะอนุสัย จึงจะเป็นอันว่าสิ้นหมด เมื่อเป็นนี้จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไกลกิเลส ถ้ายังมีอาสวะอนุสัยอยู่ก็ไม่ชื่อว่าไกลกิเลส แต่ยังอยู่กับกิเลส เรียกว่ายืนทับกิเลส เดินทับกิเลส นั่งทับกิเลส นอนทับกิเลสอยู่ เพราะยังมีกิเลสอยู่ในจิตส่วนลึก จึงชื่อว่าเป็นผู้ใกล้กิเลส ยังไม่ไกลกิเลส ต่อเมื่อละอาสวะอนุสัยได้หมดสิ้น จึงจะเป็นผู้ไกลกิเลสได้

พระพุทธเจ้าทรงละกิเลสได้หมดสิ้น จนถึงขั้นอาสวะอนุสัยสิ้นเชิง ไม่มีหลงเหลืออยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่า อรหํ ซึ่งแปลกันว่าผู้ไกลกิเลส ในภาษาไทยมักจะใช้คำนี้กันอยู่มาก เป็นคำแปลของ คำว่าอะระหัง หรืออรหันต์

เพราะฉะนั้น ในการเจริญพุทธานุสสติ เมื่อรู้เนื้อความของบทว่า อรหํ ดังนี้ แม้เพียงข้อเดียวแล้ว ก็พิจารณาได้สะดวก คือพิจารณาในใจของตนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงเป็นพระอะระหัง หรือเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ๆ คืออย่างที่แสดงมานี้ เมื่อเป็นดั่งนี้การพิจารณาซึ่งเป็นพุทธานุสสตินี้ ก็จะทำให้จิตใจใสสะอาด เป็นตัวปสาทะคือความเลื่อม ใสในพระคุณของพระพุทธเจ้าอันเป็นที่ตั้งของ ศรัทธา คือความเชื่อ จิตก็รวมเป็นสมาธิ สงบนิวรณ์ ทั้งหลายลงได้ เพราะฉะนั้น พุทธานุสสติแม้ข้อนี้ท่านจึงจัดเป็นกรรมฐานสำหรับปฏิบัติเจริญพุทธานุสสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันจะทำจิตให้เป็นสมาธิได้ข้อหนึ่ง

สติปัฏฐานแปลว่าตั้งสติอย่างหนึ่ง สติตั้งอย่างหนึ่ง ที่แปลว่าตั้งสตินั้น มุ่งถึงสติปัฏฐานที่เป็นตัวเหตุ คือปฏิบัติ ปฏิบัติตั้งสติขึ้น เพราะว่าจะต้องปฏิบัติทำสติให้ตั้งขึ้น ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต เมื่อปฏิบัติทำสติให้ตั้งขึ้นดั่งนี้ ก็ชื่อว่า ปฏิบัติในสติปัฏฐาน และเมื่อปฏิบัติไปจนได้ผล คือสติตั้งขึ้นในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรมได้ ก็เป็นสติปัฏฐานที่เป็นส่วนผล เพราะฉะนั้น ที่แปลว่าตั้งสติ ก็เป็นสติปัฏฐาน ที่เป็นส่วนเหตุ คือปฏิบัติ เมื่อแปลว่าสติตั้ง ก็หมายถึงสติปัฏฐานที่เป็นส่วนผล คือสติตั้งขึ้นได้ อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตั้งสตินั่นเอง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรมะที่เป็นเบื้องต้น ก็คือปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ทำทิฏฐิคือ ความเห็นให้ตรง การปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์นั้น ก็ประกอบด้วยสรณะ คือตั้งจิตถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ เป็นสรณะ ให้มีสรณะคือที่พึ่งอยู่ในใจ เมื่อใจมีสรณะคือที่พึ่ง ใจก็ย่อมจะแล่นไปในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ใจย่อมจะกำหนดอยู่ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จึงนำให้ปฏิบัติในศีล ทางกาย วาจา ตลอดถึงใจให้บริสุทธิ์ เป็นกุศลกรรมบถ เป็นสุจริตทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และทำ ความเห็นให้ตรง ตรงต่อพระพุทธเจ้า ตรงต่อพระธรรม ตรงต่อพระสงฆ์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ให้เริ่มปฏิบัติในสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรมสืบต่อไป


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 ธ.ค.2006, 7:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๒)


ข้อที่ ๒ อรหํ ในความหมายว่า เป็นผู้กำจัดข้าศึก ผู้ทำลายข้าศึก อันข้าศึกนั้น ที่เป็นข้าศึกศัตรูปัจจามิตรทั้งหลายเมื่อยกเข้ามา ก็ย่อมทำลายล้างชีวิตร่างกายทรัพย์สิน ย่อมกดขี่บังคับขับไสให้เป็นทาส สิ้นความเป็นไท ข้าศึกศัตรูจึงเป็นผู้เบียดเบียนทำลายต่างๆ ให้บังเกิดความทุกข์เดือดร้อน ดังที่ปรากฏอยู่ในโลก นั่นเป็นศัตรูภายนอก เป็นข้าศึก ภายนอก เพราะฉะนั้น หมู่ชนที่อยู่กันในโลกนี้ รวมกันเป็นประเทศชาติ จึงต้องมีการป้องกัน มีการต่อสู้ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย มิให้พ่ายแพ้ เพราะถ้าพ่ายแพ้ก็จะต้องถูกทำลายล้าง หรือว่าถูกกดขี่ข่มเหงบังคับขับไสต่างๆ ต้องตกเป็นทาส พระพุทธเจ้าทรงกำจัดข้าศึก หมายถึงทรงกำจัดข้าศึกภายในคือกิเลส พร้อมทั้งบาป อกุศลทุจริตทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นเพราะกิเลสได้สิ้นเชิง

ด้วยว่ากิเลสนั้น ชื่อว่าเป็นข้าศึก ซึ่งเป็นผู้ทำลายล้าง คือเป็นผู้ทำลายล้างคุณงามความดีทั้งหลาย ทำลายล้างความสุข ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อกิเลสบังเกิดขึ้น เช่นโลภะ ความโลภ หรือราคะความติดใจยินดี โทสะ ความขัดเคือง โมหะ ความหลง หรือที่เรียกว่าตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ย่อมทำให้จิตใจเดือดร้อน เหมือนอย่างก่อไฟขึ้นในใจ เผาใจตนเอง ฉะนั้น จึงเรียกกิเลสเหล่านี้ว่าเป็นอัคคีคือไฟ ดังที่เรียกว่าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ในอาทิตตปริยายสูตรของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเทศนาครั้งที่ ๓

เพราะฉะนั้น กิเลสเมื่อเกิดขึ้นก็เหมือนอย่างเป็นไฟที่เผาจิตใจ เหมือนอย่างข้าศึกภายนอกยกเข้ามาเผาบ้านเผาเมือง ทำจิตใจให้ไม่เป็นสุข และก่อเจตนา ให้ประกอบกรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นทุจริตทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ บรรดาบาปอกุศลทุจริตดังกล่าว ย่อมเกิดจากกิเลสทั้งนั้น กิเลสก่อให้บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บาปอกุศลทุจริตต่างๆ พร้อมทั้งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้น จึงเป็นผู้ทำลายกุศล บุญ สุจริตต่างๆ ทำลายล้างความดี และการที่มนุษย์เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน ซึ่งเป็นการทำลาย ล้างชีวิต ตั้งแต่ระหว่างบุคคลต่อบุคคล จนถึงระหว่างหมู่ จนถึงระหว่างประเทศ เป็นสงครามระหว่างประเทศ จนถึงเป็นสงครามโลก ฆ่าฟันกันล้มตายนับแสนนับล้านคน ทำลายล้างบ้านเรือนทรัพย์สมบัติต่างๆของกันและกัน เหล่านี้ก็เกิดเพราะกิเลสทั้งนั้น จึงให้ก่อกรรม ซึ่งเป็นการเบียดเบียนกันดังกล่าว ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสเป็นเหตุก่อขึ้น ความเป็นข้าศึกศัตรูกันภายนอกก็จะไม่มี ความเป็นข้าศึกศัตรูกันภายนอก ที่เรียกว่าข้าศึก เรียกว่าศัตรูกันนั้น ก็เกิดจากกิเลสนี่แหละทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ตัวข้าศึกที่แท้จริงของโลก ของชาวโลก ของแต่ละคน จึงอยู่ที่กิเลสนี้เอง กิเลสนี้เองเป็นตัวข้าศึกสำคัญ ซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจ และกิเลสนี้เองย่อม กดขี่ข่มเหงบังคับขับไสโลกหรือชาวโลกให้ประกอบกระทำกรรม ซึ่งเป็นเครื่องเบียดเบียนกันดังกล่าว ซึ่งยกตัวอย่างมากล่าวนั้น หรือจะยกตัวอย่างศีล ๕ ว่าการผิดศีล ๕ ทั้ง ๕ ข้อนั้น ก็เกิดมาจากกิเลสทั้งนั้น การผิดศีล ๘ ก็ดี ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ดี หรือว่าเรียกอย่างอื่นว่า จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ก็ล้วนเป็นเพราะกิเลสทั้งนั้น ซึ่งบังคับขับไสจิตใจของบุคคลทั้งหลาย ให้ประกอบกระทำไปตามอำนาจของกิเลส และสัตว์บุคคลทั้งหลายก็ลุอำนาจของกิเลส เป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ

ในข้อนี้ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่า กิเลสหรือตัณหาดังกล่าว เป็นนายที่ครอบงำบังคับขับไสสัตวโลกหรือชาวโลก หรือชาวมนุษย์ทั้งหลายซึ่งเป็นปุถุชน ยังหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลสให้ประกอบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ให้เบียดเบียนกันต่างๆ อยู่ไม่ว่างเว้น แม้ว่าในภายนอกจะเข้าใจกันว่ามีอิสรเสรี ไม่เป็นทาสของใคร แต่เมื่อพิจารณาให้ดีที่จิตใจแล้วก็จะเห็นว่า ส่วนมากนั้นยังลุอำนาจของกิเลสของตัณหา เป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของตัณหาอยู่โดยมากทั่วไป ไม่มีอิสรเสรีของจิตใจที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ในโลกนี้ เมื่อยังเป็นโลกของปุถุชนคนที่มีกิเลสหนา จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องต่อ สัจจะคือความจริง ว่าต่างเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของตัณหา กันอยู่ทั่วไป เพราะฉะนั้น จึงได้มีความคิด ที่เป็นตัวเจตนาจงใจ ที่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน ที่ จะเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ในระหว่างบุคคล ในระหว่างหมู่ ในระหว่างประเทศ จนถึงในโลกทั้งหมด หา ความสงบที่แท้จริงมิได้ เพราะว่าไม่มีอิสระเสรีที่แท้จริง

เมื่อยังเป็นทาสของกิเลสเป็นทาสตัณหาอยู่ ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น จะต้องเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นกิเลสนี่แหละจึงเป็นตัวข้าศึกศัตรูปัจจามิตรที่แท้จริงของบุคคล ที่ยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งกิเลสนี้ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอาคันตุกะ คือเป็นผู้ที่จรมาอาศัยอยู่ในจิตนี้ ทำจิตนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติประภัสสร ให้เป็นจิตที่เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมอง และจิตนี้เองก็มีความติดใจ ยินดีเพลิดเพลินอยู่กับกิเลส เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นทาสของกิเลสดังกล่าว และกิเลสก็เข้าเกาะอยู่กับจิต เหมือนอย่างข้าศึกศัตรูภายนอกในโลก ซึ่งยกเข้ามายึด ประเทศใดประเทศหนึ่งเอาไว้ได้ ก็เข้าครอบครองประเทศนั้น ทำให้พสกนิกรของประเทศนั้นต้องตกเป็นทาส และก็ครอบครองอยู่อย่างนั้นไม่ยอมปล่อย

กิเลสก็เช่นเดียวกัน เมื่อเป็นอาคันตุกะ คือเป็นแขก เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในจิตใจ ก็เกาะอยู่กับจิตใจ จึงเรียกว่าอาสวะ ที่แปลว่าหมักหมม เรียกว่า อนุสัย ที่แปลว่านอนจม อาสวะนั้นแปลว่าดองก็ได้ เหมือนอย่างเครื่องดองของเมา ซึ่งเมื่อปรุงเข้าแล้ว ก็ทำให้เกิดเป็นสุราเป็นเมรัย ทำให้เมา กิเลสที่เข้ามาดองใจอันเรียกว่าอาสวะ หรือเรียกว่าอนุสัยที่แปลว่านอนเนื่องก็เช่นเดียวกัน ก็มาดองใจหมักหมมใจ ให้ใจเกิดความเมา เป็นตัวอวิชชาคือความไม่รู้ อันที่จริงนั้น ‘จิต’ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นวิญญาณธาตุ คือเป็นธาตุรู้ ตรัสว่า เป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง และตรัสว่าเป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ คือมีความผุดผ่องอยู่ในตัว มีความรู้อยู่ในตัว แต่ว่าเมื่อถูกกิเลสเข้ามาเป็นอาสวะดองจิต ก็ทำให้จิตนี้เมา ทำให้ความรู้เป็นความรู้ผิด เป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง อันนี้แหละจึงเรียกว่าอวิชชา ที่แปลว่าไม่รู้ ไม่ใช่หมายความว่าไม่รู้อะไรๆ

รู้แต่ว่าเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด เพราะเหตุว่าถูกอาสวะเข้ามาดองให้เมา เหมือนอย่างคนเมา ก็ทำ ให้ความรู้วิปริตไปต่างๆ เป็นความรู้ผิด จิตนั้นมีเครื่องดองของเมา คืออาสวะอนุสัยนี้เข้ามาอยู่เป็นประจำแล้ว จึงมีความเมาซึ่งเป็นตัวอวิชชาเป็นความไม่รู้ อันหมายถึงรู้ แต่ว่ารู้ผิด รู้หลง รู้ไม่ถูก ฉะนั้นจึงเรียกว่า โมหะ ความหลง มีอยู่เป็นประจำ และอันนี้แหละก็เรียกว่า อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงเอาไว้ ว่ากิเลสที่ดองจิตนั้น ซึ่งมีอวิชชาเป็นข้อสำคัญอันเรียกว่าอวิชชาสวะนั้น เมื่อมีอวิชชา จึงมีราคะคือความติด ก็ติดอยู่ในกิเลสนั่นแหละ เรียกว่า กามาสวะ หรือเรียกว่าราคานุสัย กามาสวะอาสวะ คือ กามที่แปลว่าความใคร่ หรือความรัก ซึ่งเป็นความรักใคร่ต้องการ หรือเรียกว่าราคานุสัย กิเลสที่เป็นอนุสัยคือที่นอนเนื่องอยู่คือราคะความติดใจ คือความติดเหมือนอย่างสีที่ย้อมผ้า สีก็ติดผ้า กิเลสก็ ติดอยู่กับใจ ใจก็ติดอยู่กับกิเลส และภวาสวะอาสวะ คือ ภพความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเราเป็นของเรา ด้วยอำนาจของความยึดถือ และเมื่อมีเป็นเราเป็นของเรา ก็ต้องมีความกระทบกระทั่ง

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปฏิฆานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนจมอยู่คือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง เพราะว่าเมื่อเป็นเรา เป็นของเรา อันเป็น ภวาสวะขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความรักในเรา รักในของของเรา อันเป็นตัวกามหรือตัวราคะดังกล่าวนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้จึง มีปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง เพราะว่ามีอะไรที่ผิดใจ อันหมายความว่าผิดต่อความต้องการ ผิดต่อความรัก ผิดต่อความใคร่ ก็กลายเป็นความกระทบกระทั่ง เป็นชนวนของความโกรธ ของโทสะ และอวิชชานั้นก็เป็นอวิชชานุสัย กิเลสที่นอนเนื่องอยู่คืออวิชชา

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสแสดงอาสวะไว้ ๓ กิเลสที่เป็นเครื่องดองจิตหมักหมมจิต คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา และก็แสดงอนุสัยไว้ ๓ เหมือนกันก็คือ ราคานุสัยอนุสัยคือราคะก็ตรงกันกับกามาสวะ ปฏิฆานุสัยอนุสัยคือความกระทบกระทั่ง ก็สืบเนื่องกันกับภวาสวะอาสวะคือภพ อวิชชานุสัยอนุสัยคืออวิชชา ก็เป็นอย่างเดียวกันกับอวิชชาสวะ นี้เป็นกิเลสที่กล่าวได้ว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด อันมีประจำอยู่ในจิตของปุถุชน สามัญชน หรือของชาวโลกทั่วไป และกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยเหล่านี้ ดังที่ได้แสดงแล้วว่า เหมือนอย่างเป็นตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม เมื่อยังไม่ฟุ้งขึ้นมาน้ำในตุ่มก็ดูใสสะอาด เหมือนอย่างเป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะยังมีตะกอนนอนอยู่ ก้นตุ่ม เมื่อไปกวนน้ำในตุ่มให้หวั่นไหว ตะกอนก็ฟุ้งขึ้นมาทำน้ำให้ขุ่น จิตก็ฉันนั้น เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบ อาสวะอนุสัยเหล่านี้ก็นอนจมอยู่เฉยๆ เก็บตัวอยู่เฉยๆ ไม่ปรากฏ คล้ายๆ กับว่าเหมือนไม่มีกิเลส ครั้นเมื่อจิตนี้กระทบอารมณ์ อารมณ์นั้นก็ได้แก่เรื่อง เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง อันเป็นเรื่องที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ

อารมณ์เหล่านี้เมื่อเข้ามาสู่จิต ก็มากวนจิตให้หวั่นไหว กิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยจึงฟุ้งขึ้นมา ยกเอาอนุสัยเป็นที่ตั้ง ราคานุสัยอนุสัยคือราคะ ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือเรียกว่าราคะก็ได้ แต่แปลว่าความยินดี หรือความกำหนัดติดใจ ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นโทสะความโกรธ อวิชชาสวะอาสวะคืออวิชา ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นโมหะคือความหลงถือเอาผิด

กามฉันท์หรือราคะกับโทสะและโมหะนี้ เป็นอาการของจิตที่ปรากฏแก่ทุกๆคน คือแก่ความรู้ของทุกๆ คน ทุกๆ คนเมื่อมีกิเลสเหล่านี้บังเกิดขึ้นก็รู้ใจของตัวเอง ว่าบัดนี้กามฉันท์หรือราคะบังเกิดขึ้นแล้ว โทสะบังเกิดขึ้น แล้ว โมหะบังเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า นิวรณ์ ที่แปลว่ากิเลสที่กั้นจิตไว้ไม่ให้ได้สมาธิ และทำ ให้ปัญญาอ่อนกำลัง หรือเรียกว่า ปริยุฏฐานะ คือกิเลส ที่ปล้นจิต กลุ้มรุมจิต เพราะบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ ทำจิตใจนี้ให้ไม่สงบ ให้หวั่นไหว ให้ดิ้นรน ด้วยความ รักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงบ้าง ต่างๆ แต่ว่าก็ยังเพียงบังเกิดอยู่ในจิต แต่ว่าเมื่อไม่สงบ ถูกสนับสนุนให้แรงขึ้น ราคะหรือกามฉันท์นั้นก็แรงขึ้นเป็นตัวอภิชฌา ความโลภเพ่งเล็งเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของของตนหรือโลภเพ่งเล็งเอาของของผู้อื่น บุคคลของผู้อื่นมาเป็นของตน โทสะก็แรงขึ้นเป็นพยาบาทคือความปองร้ายมุ่งร้าย โมหะก็แรงขึ้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เรียกว่าเกิดเป็น มโนกรรม กรรมทางใจที่เป็นฝ่ายอกุศล อันจะก่อให้เกิด กายกรรม กรรมทางกาย วจีกรรม กรรมทางวาจา ที่เป็นอกุศลสืบเนื่องกันไป

การปฏิบัติผิดศีลทุกข้อ เช่น ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อทินนาทาน ลักทรัพย์ กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม มุสาวาท พูดเท็จ รวมทั้ง ดื่มสุราเมรัย ก็ล้วนบังเกิดขึ้นเพราะกิเลสที่ปรากฏอย่างแรง คือเป็นอภิชฌาความโลภเพ่งเล็ง เป็นพยาบาทความมุ่งร้ายปองร้ายหมายล้างผลาญ เป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ‘กรรมกิเลส’ กิเลสที่ปรากฏเป็นตัวกรรมออกมา ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ เพราะฉะนั้น ความบังเกิดขึ้นของกิเลส ความลุกลามของกิเลสในจิตใจนี้ จึงเป็นไปดั่งที่ได้แสดงมานี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลสนี้ได้สิ้นเชิง ทรงกำจัดข้าศึกคือกิเลสที่เป็นอย่างหยาบได้ด้วย ศีล ที่เป็นอย่างกลางคือเป็นขั้นนิวรณ์ หรือ ปริยุฏฐานะ ที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตด้วย สมาธิ และกำจัดกิเลสที่เป็นขั้นอาสวะอนุสัย ที่นอนจมหมักหมมอยู่ด้วย ปัญญา แต่อันที่จริงนั้น แต่ละข้อนี้ที่ว่ากล่าวว่าด้วยศีลนั้น ก็ต้อง มีสมาธิปัญญาประกอบด้วย ที่กล่าวว่าด้วยสมาธินั้น ก็มีศีลและปัญญาประกอบด้วย และที่กล่าวว่าด้วยปัญญา ก็ต้องมีศีลมีสมาธิประกอบด้วย แต่ว่ายกเอาข้อใดข้อหนึ่ง คือเป็นหัวหน้าเท่านั้น ทรงกำจัดทรงทำลายข้าศึกเหล่านี้ได้หมดสิ้น

เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้มีอิสระเสรีอย่างเต็มที่ ไม่ต้องตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ต้องตกเป็นทาสของตัณหา ไม่ต้องถูกกิเลสถูกตัณหาครอบงำบังคับขับไส ต่างๆ ทรงเป็นอิสระเสรีอย่างบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่า อรหัง


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ม.ค. 2007, 1:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๓)


ข้อที่ ๓ อรหํ ในความหมายว่าเป็น ‘ผู้หักกำแห่งสังสารจักร’ คำนี้มีความหมายที่ลุ่มลึก ทั้งมีศัพท์ที่ควรจะอธิบาย ที่ว่าลุ่มลึกนั้น อันที่จริงก็เป็นสัจจะ คือความจริง ซึ่งเป็นธรรมดา เมื่อตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณา ก็ย่อมจะเข้าใจได้ อันสัจจะคือความจริงนั้นก็จะต้องมีระดับ เหมือนอย่างมหาสมุทรซึ่งจะต้องมีระดับของความลึก แต่ว่าลึกลงไปโดยลำดับ ตั้งแต่ฝั่งแห่งมหาสมุทร และค่อยๆ ลึกลงไป จนถึงลึกอย่างยิ่ง อันนี้แหละที่เรียกกันว่าเป็นปรมัตถธรรม คือธรรมะที่มีอรรถะคือเนื้อความเป็นอย่างยิ่ง คือละเอียดก็อย่างยิ่ง ลึกก็อย่างยิ่งและให้ผลก็อย่างยิ่ง

แม้ว่าจะมีลักษณะดังกล่าว ก็อาจหยั่งถึงได้ด้วยปัญญาที่หยั่งรู้ เหมือนอย่างมหาสมุทรแม้จะลึกซึ้งเท่าไร ก็อาจที่จะวัดได้ ด้วยเครื่องวัดที่สามารถหยั่งถึงส่วนลึก ที่สุดของมหาสมุทร ปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็สามารถหยั่งรู้ได้ และก็ปัญญาของทุกคน นี้เอง เพราะทุกคนผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่แปลว่าผู้มี ‘มนะ’ สูง มนะนั้นแปลกันว่า ใจ ผู้มีใจสูง แปลว่าความรู้ ก็แปลว่า มีความรู้สูง เพราะฉะนั้น จึงอาจที่จะอบรมความรู้ที่มี อยู่เป็นพื้น ที่เป็นสชาติปัญญา ปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิดนี้ ให้เฉียบ แหลมมากขึ้น ให้เป็นความรู้ที่ยิ่งขึ้น ก็จะสามารถหยั่งรู้ถึงได้โดยลำดับ เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่ายากก็จะเหมือนกับง่าย ในเมื่อได้อบรมปัญญาคือความหยั่งรู้ ให้หยั่งไปโดย ลำดับ เหมือนอย่างการขึ้นบันไดสู่ที่สูงถ้ามองดูบันไดขั้นต่ำที่สุดกับบันไดขั้นสูงที่สุด ก็จะเห็นว่าอยู่ห่างไกลกัน ถ้าไม่มีบันไดก็ไม่สามารถจะขึ้นไปได้ แต่เมื่อมีบันไดที่เป็นขั้นๆ ขึ้นไป แม้ว่าขั้นต่ำสุดกับขั้นสูงสุด จะห่างไกลกันเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อขึ้นไปโดยลำดับแล้ว ก็เหมือนง่าย ก็จะขึ้นไปถึงขั้นสูงสุดได้ และก็ถึงที่สูงสุดที่ต้องการ

ฉะนั้น ปัญญาที่หยั่งรู้ไปโดยลำดับนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทุกคนสามารถอบรมให้มีได้ และเมื่อมีขึ้นแล้ว ก็จะเห็นว่าธรรมะนั้นเป็นธรรมดา เป็นสัจจะคือความจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิดธรรมดา หรือไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหนือความจริง ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นสัจจะคือความจริง เป็นธรรมดา จึงไม่ต้องกลัวความจริง ไม่ต้องกลัวธรรมดา ขอให้ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณา แล้วก็จะเห็นว่าเป็นความจริง และเป็นธรรมดา

จะกล่าวถึงอรรถะคือเนื้อความของความหมายแห่งพระคุณบท อรหํ ว่าผู้หักกำแห่ง สังสารจักร ‘สังสาระ’ หรือสงสารแปลว่า ท่องเที่ยวไป ‘จักร’ ก็คือ จักกะ หรือ จักกระ ที่แปลว่า ล้อ ล้อแห่งเกวียน ล้อแห่งรถ ก็เรียกว่าจักร คือจักกระ หรือจักกะ สังสาระจักรก็คือล้อแห่งการท่องเที่ยวไปหรือว่าล้อที่เป็นเครื่องท่องเที่ยวไป คือล้อที่หมุนนำให้ท่องเที่ยวไป และกำของสังสาระจักร ก็คือกำของล้อแห่งการท่องเที่ยวไปดังกล่าว อันล้อนั้นพระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าย่อมมีดุม มีกำ มีกง นำเข้ามาเทียบกับธรรมะที่ตรัสแสดงในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ท่านเทียบไว้ว่า ‘ดุม’ ก็เปรียบเหมือนอย่างอวิชชา ‘กง’ ก็เปรียบเหมือนชรามรณะ ซึ่งหมายรวมถึงโสกะปริเทวะเป็นต้นด้วย ก็เป็นเหมือนกงเป็นปลาย ส่วน ‘กำ’ ก็เหมือนอย่างปัจจยาการที่เหลือทั้งหมด ระหว่างอวิชชาและชรามรณะ พร้อมทั้งโสกะปริเทวะ เป็นต้น

ในความหมายแห่งพระพุทธคุณบทนี้ที่ว่าผู้หักกำแห่งสังสารจักร หักกำแห่งล้อแห่งสังสาระ หรือสงสาร คือความท่องเที่ยวไป เมื่อหักเสียได้ก็ทำให้ล้อหมุนไปมิได้ จึงทำให้ต้องหยุดการท่องเที่ยวไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงละอวิชชา ดับอวิชชา และดับปัจจยาการ ถัดจากอวิชชาไปโดยลำดับ จนถึงดับชรามรณะ พร้อมทั้งโสกะปริเทวะ เป็นต้น จึงเป็นอันว่าได้ทรงหักกำ และเมื่อหักกำได้ ก็เป็นอันว่าหักดุม หักกงของล้อนี้ได้ทั้งหมด เป็นอันว่าหักทำลายล้อที่ให้ท่องเที่ยวไปได้ทั้งหมด การท่องเที่ยวไปนั้นก็หมายความว่าท่องเที่ยวไปในกิเลสและในกองทุกข์ ซึ่งมีชาติชรามรณะเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าดับกิเลส ดับกองทุกข์ มีชาติชรามรณะได้ คือดับปัจจยาการได้ทั้งหมด

ความท่องเที่ยวไปนั้น เมื่อกล่าวตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ก็คือท่องเที่ยวไปในปัจจยาการ อาการที่เป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันบังเกิดขึ้นนี้ คือท่องเที่ยวไปในอวิชชา หรือในอาสวะ ในอวิชชาเป็นต้น จนถึงชาติชรามรณะโสกะปริเทวะ เป็นต้น และก็ท่องเที่ยวไปในปัจจยาการดังที่กล่าวมานี้ ไม่หยุด คือท่องเที่ยว วนเวียนกันไปในปัจจยาการนี้เป็นวงกลม จากอวิชชาถึงชรามรณะโสกะปริเทวะ เป็นต้น ก็กลับมาอวิชชาอีก แล้วก็ไปชรามรณะโสกะปริเทวะ เป็นต้น แล้วกลับมาอวิชชาอีก ท่องเที่ยวเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ ไม่ออกไปนอกจากวงของปัจจยาการ มีอวิชชาชรามรณะ เป็นต้น

ฉะนั้น เพื่อความเข้าใจได้โดยรวบรัด จึงย่อลงเป็น ๓ คือย่อปัจจยาการทั้งหมดลงเป็น ๓ คือ กิเลส กรรม และวิบาก กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่อาศัยอยู่ในจิต มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น หรือมีราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง เป็นต้น ที่มีอยู่ในจิตใจ อาศัยอยู่ในจิตใจ นี้เป็นกิเลส และกิเลสนี้เองก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม คือการงานที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นกลางๆ มิใช่กุศลมิใช่อกุศลบ้าง และกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจนี้ ก็เป็นเหตุให้ต้องได้รับวิบากคือผล ผลของกรรมที่กระทำ กรรมดีก็ให้ผลดี กรรมชั่วก็ให้ผลชั่ว กรรมที่เป็นกลางๆ ก็ให้ผลที่เป็นกลางๆ และวิบากคือผลของกรรมนี้ ก็กลับเป็นเหตุให้บังเกิดกิเลสขึ้นอีก กิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมอีก กรรมก็เป็นเหตุให้ประสบวิบากคือผลอีก และผลก็เป็นเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้น จึงต่างเป็นเหตุ เป็นผลของกันและกันเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ‘วัฏฏะ’ ที่แปลว่าวน คือวนเวียน สังสาระคือท่องเที่ยวไป ก็ท่องเที่ยวไปเป็นวงกลม คือเป็นวงเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่า ‘สังสารวัฏ’ ก็คือสังสารวัฏฏะ ที่แปลว่าวน คือการท่องเที่ยวไป หรือว่าการท่องเที่ยวไปเป็นวงเวียน เป็นวงกลม ดังกล่าว

อธิบายเรื่องของกิเลสกรรมวิบากนี้ อาจอธิบายได้ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม และอาจอธิบายได้เป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน ในวงใหญ่ สำหรับที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้เรียกว่าเป็นวงเล็ก จิตใจของทุกคนนี้ในปัจจุบันบัดนี้ก็ท่องเที่ยวอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ ยกตัวอย่างกิเลสกรรมวิบากที่บังเกิดขึ้นอาศัยตาและรูปประจวบกัน ก็เช่นว่าตัณหาในรูป คือความทะยานอยากในรูปที่จะเห็นได้ทางตา เมื่อรูปะตัณหา บังเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดเจตนาคือความจงใจ ต้องการจะดูรูป จะเห็นรูปด้วยตา จึงทำการดูรูปนั้น ดั่งนี้เป็นกรรม คือเป็นความที่จงใจจะดูรูป และทำการดูรูปด้วยตา ดั่งนี้เป็น กรรม และเมื่อเป็นกรรมคือทำการดูรูป เพราะกิเลสคือรูปะตัณหาความต้องการที่จะดูรูป เมื่อเป็นกรรมคือทำการดูรูปขึ้น ก็ย่อมได้วิบากคือการเห็นรูป ได้มองเห็นรูป และเมื่อมองเห็นรูปซึ่งเป็นวิบากคือผลของการดู

รูปที่เห็นอันเป็นตัววิบากนั้น เมื่อเป็นที่ตั้งของตัณหา ของรูปะตัณหา เช่นเป็นรูปที่สวยงามน่ารักน่าชม ก็เป็นที่ตั้งของกามตัณหา และเมื่อเป็นดั่งนี้ การเห็นรูปซึ่งเป็นตัววิบากคือผลนั้น ก็กลับเป็นเหตุให้บังเกิดกิเลสขึ้นอีก คือให้เกิดกามตัณหาในรูปขึ้น และเมื่อเกิดกามตัณหาในรูปขึ้น ก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรม คือต้องการ ที่จะดูรูป และก็ทำการดูรูปนั้นต่อไปอีก แสวงหารูปที่ต้องการนั้นดูต่อไปอีก ก็ได้รับวิบากคือผลคือการเห็นรูปนั้น และเมื่อเห็นรูปนั้นเป็นวิบากคือผล รูปที่เป็นที่ตั้งของกามตัณหาก็ก่อกามตัณหาให้บังเกิดขึ้นอีก ก็เป็นกิเลส ก็เป็นอันว่าก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก วิบาก-กิเลส-กรรม-วิบาก ดั่งนี้ แม้ในทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้ เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ทุกๆ วันตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นจนถึงนอนหลับไปใหม่ หากพิจารณาดูโดยนัยยะนี้ ก็จะเห็นได้ว่า จะเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น จนถึงได้คิดนึกอะไรทางมโนคือใจก็ตาม จะเป็นเรื่องอะไรๆ ร้อยแปดพันแปด ซึ่งไม่สามารถจะนับถ้วน เมื่อกระจายเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ออกไป แต่ว่าก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากเพียง ๓ นี้เท่านั้น ไม่พ้นไปจากกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ นี้เป็นสังสารวัฏ คือเป็นวงเวียนที่เป็นปัจจุบันธรรม อันเป็นสังสารวัฏที่เป็นวงแคบ เป็นปัจจุบันธรรม

คราวนี้หากจะพิจารณาย้อนไปถึงอดีตที่ล่วงมา เอาในชาตินี้ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้ หรือจะคิดไปถึงอนาคต เอาในชีวิตนี้ก็ตั้งแต่อนาคตจากปัจจุบันบัดนี้ไปจนตาย ก็วนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากนี้เช่นเดียวกัน คราวนี้เมื่อพิจารณาในวงกว้างออกไปอีก ถึงอดีตชาติ ถึงอนาคตชาติ ที่สืบต่อกัน ตามหลักที่ว่าเมื่อยังมีกิเลส คือมีทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นแสดงเพียงข้อเดียวคือตัณหา ก็จะต้องมีทุกข์ซึ่งเป็นผล และทุกข์ซึ่งเป็นผลนั้น ก็เริ่มตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดังที่ตรัสแสดงไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น เพราะมีกิเลส ซึ่งถ้าจะไม่ยกเพียงตัณหาข้อเดียว จะยกอีกบางข้อ ก็ยกตัวอย่าง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยกสามข้อนี้ เมื่อยังมีกิเลส คือยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่ ก็จะต้องมีชาติ คือความเกิด และเมื่อชาติคือความเกิด ก็จะต้องมีชรามีมรณะความแก่ความตาย อันหมายถึงว่าขันธ์เป็นที่อาศัยนี้แตกสลาย เป็นความตาย และเมื่อสัตว์บุคคลนั้นยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานอยู่ คือยังมีกิเลส ก็จะต้องยังมีกรรม และกรรมนั้นก็จะต้อง มีชนกกรรม กรรมที่นำให้ไปเกิดขึ้นใหม่อีกเป็นชาติ ชาติใหม่ และเมื่อเป็นชาติใหม่ขึ้น ก็จะต้องมีชรามรณะ และเมื่อยังมีกิเลสมีกรรม ก็จะต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นใหม่อีก ก็เป็นอันว่าต้องเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ดั่งนี้ หรือเรียกว่าเวียนเกิดเวียนตาย

เพราะฉะนั้น เพื่อให้จับความหมายให้เห็นได้ไกลและลึกซึ้งขึ้น ท่านจึงมักแปลอธิบายคำว่าสังสาระคือท่องเที่ยวไป ว่าท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย ท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายนี้คือสังสารวัฏ วัฏฏะวนคือสงสาร ซึ่งเป็นการยกขึ้นมาให้มองเห็น แต่เมื่อจะยกให้หมดก็คือว่า ท่องเที่ยวเวียนอยู่ในกิเลสในกรรมในวิบากคือผล มีชาติ ชรา มรณะเป็นต้น และเมื่อมีชาติ ชรา มรณะ เมื่อยังมีกิเลสมีกรรมอยู่ก็เกิดอีกเป็นชาติ และเมื่อมีชาติก็ต้องมีชรามรณะ เมื่อมีกิเลสมีกรรมอยู่ก็ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเวียนเกิดเวียนตายอยู่ดั่งนี้ กี่ร้อยปี กี่พันปี กี่หมื่นปี กี่แสนปีก็ตาม ก็คงเวียนเกิด เวียนตายอยู่ดั่งนี้ ไม่พ้นไปจากกิเลสกรรมวิบาก หรือไม่พ้นไปจากเกิดแก่ตาย

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงระลึกถึงชาติในหนหลังได้เมื่อก่อนจะตรัสรู้ อันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่ระลึกชาติในหนหลังได้ และได้ทรงพบว่า ที่เวียนเกิดเวียนตายอยู่ดั่งนี้ก็เพราะกรรม ทำกรรมดีก็ไปเกิดดี ทำกรรมชั่วก็ไปเกิด ชั่ว แต่ก็ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั่นเอง อันเรียกว่าจุตูปปาตญาณ ครั้นทรงพบกรรม ก็ได้ทรงพบกิเลส คือได้ตรัสรู้พบว่าเพราะยังมีอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานอยู่ พระปัญญาที่ตรัสรู้ดั่งนี้ ก็ทำลายอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้สิ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อสิ้นกิเลสก็สิ้นกรรมที่จะประกอบกระทำต่อไป เมื่อสิ้นกรรมก็สิ้นวิบากคือผล คือเกิดแก่ตายที่จะมีขึ้นในชาติภพต่อไป และเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ประกาศพระศาสนา ก็ทรงอาศัยวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบากคือเป็นผลที่ยังเหลืออยู่นี้ คือชีวิตนี้ ทรงอุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่นี้ประกาศพระพุทธศาสนาด้วยพระมหากรุณา ครั้นเมื่อขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่นี้ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์แตกสลายในที่สุด ก็ไม่ทรงไปถือชาติภพใหม่ เพราะว่าสิ้นกิเลสสิ้นกรรมก็สิ้นวิบากคือผล ตั้งต้นแต่ชาติความเกิด เพราะฉะนั้น จึงทรงดำรงภาวะเป็นพุทธะคือเป็นผู้ตรัสรู้ ซึ่งเป็นผู้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย

พระพุทธเจ้าทรงหักกำแห่งสังสารจักร ก็คือทรงหักกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ หรือกล่าวโดยพิสดาร ก็ทรงหักปัจจยาการได้ทั้งหมด ดับอวิชชาดับอาสวะ หรือดับอาสวะ ดับอวิชชา ตลอดจนถึงดับชรามรณะโสกะปริเทวะ เป็นต้น ได้สิ้นเชิง ก็เป็นอันว่าหักกิเลส หักกรรม หักวิบากได้ทั้งหมด ก็เป็นอันว่าล้อที่ทำให้ต้องท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย ถูกหักเสียแล้ว จึงไม่ทรงเวียนเกิดเวียนตายต่อไป เป็นผู้ที่ทรงไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.พ.2007, 10:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๔)


ข้อที่ ๔ อรหํ ในความหมายว่า ‘เป็นผู้สมควร’ ซึ่งพระอาจารย์ได้แสดงคำต่อไปว่า ผู้สมควรแก่ปัจจัยทั้งหลาย มีจีวรเป็นต้น และมีอีกคำหนึ่งเพื่อให้มีความ กว้างขึ้นว่า ผู้ควรบูชาสักการะ สำหรับคำต่อนี้ก็เป็นคำที่ต่อเข้ามา เพื่อขยายความออกไปว่าสมควรแก่อะไรบ้าง แต่คำสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าผู้ควร หรือผู้สมควร คำนี้ย่อมมีความหมายรวมอยู่มาก คำว่า ‘ผู้สมควร’ นั้นเป็นคำที่ใช้อยู่ในที่สำคัญๆ เช่นว่าบุคคลที่จะได้รับมอบหมายให้ทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้สมควรที่จะได้รับมอบหมาย บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควร แม้ว่าในทางตรงกันข้าม เช่นในการที่จะต้องได้รับโทษทัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควรที่จะได้รับโทษทัณฑ์อย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นผู้ที่สมควรนี้ จึงมีความหมายที่สำคัญดังกล่าว อันแสดงถึงคุณลักษณะ ของความที่จะต้องได้รับภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางไม่ดี ก็จะต้องเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับอย่างนั้นๆ

แต่ในความหมายที่เป็นพระพุทธคุณนี้ คือเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่สมควรตั้งต้นแต่ในทางปฏิบัติเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ เมื่อก่อนจะตรัสรู้ก็อยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และก็ได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางได้สมบูรณ์ เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เป็นผู้ที่สมควรจะตรัสรู้ ก็ไม่อาจจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ที่สมควร เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ มีคุณปฏิบัติอันสมควร อันสมบูรณ์ อันเหมาะสมแก่ความที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำที่มีความหมายอันครอบงำถึงคุณลักษณะ คุณสมบัติทุกประการ ที่สมบูรณ์ ที่เหมาะสม อันรวมอยู่ในคำว่าสมควร และเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงประกอบด้วยพระพุทธคุณอันสมควร มีพระพุทธคุณว่า อรหํ เป็นต้น ดังที่มีความหมายได้กล่าวมาแล้ว คือเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร

เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่สมควร ตลอดจนถึงสมควรบูชาสักการะ บูชานั้นก็คืออามิสบูชา บูชาด้วยอามิส มีจีวรบิณฑบาต เป็นต้น ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน พระองค์เป็นผู้ที่สมควรบูชาด้วยเครื่องสักการะ วรามิส ทุกอย่าง และสมควรบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอน พระองค์สมควรที่จะอภิวาทกราบไหว้ อันแสดงความเคารพทุกอย่างทุกประการ ก็เพราะเป็นผู้ที่มีความสมควรดังกล่าวมาข้างต้น ทรงมีพระคุณอันสมควร ทรงมีความประพฤติที่เป็นประโยชน์อันเรียกว่า ‘อรรถจริยา’ ความประพฤติประโยชน์อันสมควร คือทรงประพฤติประโยชน์แก่โลก ด้วยมีพระมหากรุณาทรงแสดงธรรมะสั่งสอน โปรดเวไนยนิกรให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ต่างๆ ทรงประพฤติประโยชน์ต่อพระญาติ ทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า คือทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย ทรงประกอบกระทำประโยชน์ทุกอย่างโดยฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาเอกในโลก อย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น ความสมควร คือความบริบูรณ์แห่งพระคุณทั้งปวงดังกล่าวมานี้ จึงทำให้ทรงเป็นผู้สมควรต่อการบูชาสักการะ ต่อการกราบไหว้บูชา ต่อความที่จะมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสในพระองค์ ทรงเป็นผู้สมควร โดยทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะอย่างแท้จริง อันนำให้ผู้ที่มาบูชาสักการะ มากราบไหว้แสดงความเคารพได้รับบุญกุศล ได้รับประโยชน์ต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้สมควรด้วยประการทั้งปวง มิใช่สมควรเฉพาะปัจจัยมีจีวรเป็นต้นเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีความสมควรทุกอย่าง ในทางดี ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ ดังเช่นที่กล่าวมา

ข้อที่ ๕ อรหํ ในความหมายว่า ‘เป็นผู้ไม่มีที่ลี้ลับ’ ที่ท่านแสดงไว้ยกเอาว่า ‘ผู้ไม่กระทำบาปในที่ลับ’ ซึ่งมีความหมายว่า ไม่กระทำบาปทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าได้ทรงละกิเลสเครื่องเศร้าหมองในจิต เป็นต้นว่าราคะ โทสะ โมหะ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าละอวิชชาตัณหาความ ดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ ซึ่งเป็นกิเลสได้หมดสิ้น ทรงละได้จนถึงกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัย ที่หมักหมมนอนจมดองจิตสันดาน จิตของพระองค์จึงเป็นจิตที่วิมุติหลุดพ้น แล้วจากกิเลสทั้งสิ้น เป็นจิตที่บริสุทธิ์แล้ว เป็นจิตที่ประภัสสรคือเป็นจิตที่ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในจิตแม้แต่น้อย

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่ไม่มีที่ลี้ลับที่จะซ่อน กิเลสเอาไว้ ที่จะซ่อนบาปอกุศลทุจริตเอาไว้ ทั้งทางกายทั้งทางวาจาทั้งทางใจ และทางใจนั้นก็ตลอดจนถึงในใจส่วนลึกที่สุด คือไม่มีที่ซ่อนอาสวะอนุสัยอยู่ทั้งหมด ต่างจากบุคคลทั่วไปที่ยังมีอาสวะอนุสัยอยู่ แม้ว่าจะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา ละกิเลสอย่างหยาบ ละกิเลสอย่างกลางได้ แต่ว่ายังละอาสวะอนุสัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในด้านของกาย วาจาและใจที่เป็นส่วนตื้น ส่วนที่ปรากฏก็บริสุทธิ์สะอาดแจ่มใส แต่ว่ายังมีที่ลี้ลับ คือยังมีอาสวะอนุสัยดองจิตสันดานอยู่ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่ายังมีที่ลี้ลับก็ชื่อว่ายังกระทำบาปอยู่ในที่ลับ เพราะว่ายังมีอาสวะอนุสัยอยู่ ที่ลับที่หยาบกว่านั้น ก็หมายเพียงว่าลับตาคน ดังคนทั่วไปที่ไม่ทำบาปในที่แจ้ง แต่ทำบาปในที่ลับ ในที่แจ้งก็คือที่คนเห็น แต่ในที่ลับก็ในที่คนอื่นไม่เห็น ที่ลับตาคนอื่น ดั่งนี้เป็นที่แจ้ง และที่ลับทั่วๆ ไป

แต่อันที่จริงนั้นแม้ว่าเป็นที่แจ้งที่ลับอย่างหยาบดั่งนี้ ตาคนอื่นไม่เห็น แต่ตาตนเองก็ยังเห็น หรือว่าตนเองก็รู้ตนเองอยู่ว่าทำชั่ว ถ้าทำชั่วคราวนี้ที่ลับที่แจ้งที่ละเอียดไปกว่านั้น ก็มีความหมายถึงที่ลับอันละเอียดที่สุด ก็คืออาสวะอนุสัยดังที่กล่าวมา เมื่อยังมีอาสวะอนุสัยอยู่ ก็ยังมีที่ลับอยู่และแม้ว่าจะกล่าวให้หยาบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือในชั้นที่ปรากฏอยู่ในจิตใจ แต่ไม่ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา คือ กายวาจานั้นไม่กระทำ เช่นว่าเกิดราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในใจ แต่ว่ากายวาจาไม่กระทำออกไป เช่นไม่มีโอกาสที่จะทำก็ตาม ยังมีศีลรักษาอยู่ มีหิริโอตตัปปะรักษาอยู่ก็ตาม แต่ว่าใจนั้นยังมี ดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีที่ลับอยู่เหมือนกัน ชื่อว่ากระทำบาปแม้ในที่ลับ ก็เพราะว่าใจยังบาปอยู่ ใจยังโลภยังโกรธยังหลง ใจยังดิ้นรนทะยานอยากอยู่ ยังมีบาปอยู่ในใจ นี้ว่าตามวิสัยของผู้ที่ยังมีกิเลส เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังมีที่ลับอยู่ดั่งนี้ เป็นที่ลับอย่างหยาบบ้าง เป็นที่ลับอย่างละเอียด

ลงไปบ้าง จนถึงกิเลสที่ไม่ปรากฏอยู่ในใจ แต่ยังนอนจมดองจิตสันดาน ก็ชื่อว่ายังมีที่ลับซ่อนอยู่ คืออาสวะอนุสัย ก็นับว่าเป็นบาปเป็นอกุศล ที่เป็นอย่างละเอียด ดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีกิเลส

แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงละกิเลสได้หมดสิ้นดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นผู้ที่ไกลกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่กำจัดข้าศึกคือกิเลสแล้ว เป็นผู้ที่หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ที่สมควรแล้ว เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธ์ใจ สิ้นเชิง ไม่มีที่ที่จะซ่อนกิเลสเอาไว้ ซ่อนบาปอกุศลทุจริตเอาไว้ เพราะละอาสวะอนุสัยได้ทั้งหมด

แล้วจึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์จริงๆ ดั่งนี้แหละเป็นความหมายแห่งข้อว่าไม่มีที่ลับ ไม่กระทำบาปในที่ลับ


เพราะฉะนั้น จึงรวมความหมายแห่งพระพุทธคุณบทว่า อรหํ นี้ ว่าเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร เป็นผู้สมควร เช่นสมควรบูชาสักการะ เป็นผู้ไม่มีที่ลับ ไม่กระทำบาปในที่ลับ รวมความเข้าแล้วก็คือ ทรงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ทั้งหมด

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิบาย บทอรหโต ไว้ในพระธรรมเทศนา พุทธานุสสติอรหโต แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ ว่า

“พระคุณบทว่า อรหโต จากบทนโมที่เราทั้งหลายสวดกัน ว่า ‘นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ’ อรหโต เป็นบทที่ ๒ ถัดจาก ภควโต บทว่า อรหโต นี้ก็มาจากว่าอรหันต์ หรืออรหัง ดั่งที่เราแปลว่าพระอรหันต์ พระอาจารย์ ได้แสดงความหมายไว้หลายอย่าง ความหมายประการหนึ่ง ก็แปลว่าเป็นผู้ไกลกิเลส อันหมายความว่าละกิเลสได้แล้ว สิ้นกิเลสแล้ว

คำว่ากิเลสนั้นเป็นภาษาบาลี มาใช้เป็นภาษาไทย ซึ่งโดยมากก็เป็นที่เข้าใจกันในความหมายว่า คือเครื่องเศร้าหมอง เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตใจ เป็นอย่างละเอียดก็มี เป็นอย่างกลางก็มี เป็นอย่างหยาบก็มี ที่เป็นอย่างละเอียดนั้นเรียกว่า อาสวะ ซึ่งแปลว่าเป็นเครื่องดอง อันหมายความว่า เป็นเครื่องดองจิตใจ หรือเรียกว่า อนุสัย แปลว่านอนเนื่อง คือนอนเนื่องอยู่ในจิตใจ อันเป็นอย่างละเอียด และอย่างละเอียดนี้เองเมื่อกำเริบขึ้นมา ก็เป็นอย่างกลาง เป็นนิวรณ์ คือเครื่องกลุ้มรุมจิต กั้นจิตใจ และหยาบออกมาอีกเป็นอย่างหยาบ ก็เป็นเครื่องก่อเจตนากรรม กรรมคือความจงใจให้เกิดการกระทำออกไปทางกาย ทางวาจา ตลอดจนถึงทางใจเอง

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระธรรม หลุดพ้นจากกิเลสอย่างละเอียดทั้งหมด จึงพ้นจากกิเลสอย่างกลาง และพ้นจากกิเลสอย่างหยาบทั้งหมดไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า จะเป็นกิเลสกองราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ก็ดี เป็นกิเลสกองโกรธก็ดี กิเลสกองหลงก็ดี สิ้นไปหลุดพ้นไปทั้งหมด จิตของพระองค์พ้นจากกิเลสทั้งสิ้น จึงเป็นผู้อยู่ไกลกิเลส ไม่มีกิเลสตั้งอยู่ในจิตใจของพระองค์สิ้นเชิง กิเลสไม่มีกลับเข้ามาใกล้

พระคุณบทนี้แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์ หมดจดสะอาด ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ทั้งสิ้น ไม่มีการกระทำที่เป็นตัวกรรมอันประกอบด้วยกิเลส ทางกายทางวาจาทางจิตใจทั้งหมด ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิง ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ทราบ และได้ปฏิบัติ เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายเช่นเดียวกัน เราทั้งหลายได้ฟังธรรม ของพระองค์แล้ว ก็ได้พากันปฏิบัติ ในศีลบ้าง ในสมาธิบ้าง ในปัญญาบ้าง ก็เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นที่สุด

แม้จะปฏิบัติในศีลซึ่งเป็นเครื่องละกิเลสอย่างหยาบได้ เช่นตั้งอยู่ในศีล ๕ ก็เว้นได้จากกิเลสอย่างหยาบ อันเป็นเหตุให้ฆ่าเขาบ้าง ให้ลักของของเขาบ้าง ให้ประพฤติในกามบ้าง ให้พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ให้ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาทบ้าง ก็พ้นได้จากกิเลสอย่างหยาบเหล่านี้ในขณะที่รักษาศีล และเมื่อทำสมาธิ หากได้สมาธิ ก็ทำให้ระงับกิเลสที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจเป็นนิวรณ์ได้ ในขณะที่จิตได้สมาธิ และเมื่อปฏิบัติในปัญญา ก็สามารถที่จะสงบรำงับกิเลสที่เป็นอย่างละเอียด ยิ่งๆ ขึ้นไปตามภูมิตามชั้นของการปฏิบัติ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์กายวาจาใจ เพื่อให้เป็นผู้ไกลกิเลสเช่นเดียวกัน สมควรที่เราทั้งหลายจะพากันปฏิบัติ ในศีล ในสมาธิ ในปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และศีลนั้นก็เป็นเครื่องอบรมสมาธิได้ สมาธินั้นก็เป็นเครื่องอบรมปัญญาได้ ปัญญานั้นก็เป็นเครื่องอบรมจิตใจได้ เพื่อให้จิตใจหลุดพ้นได้ในที่สุด จากอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย และสมาธินั้น กับปัญญานั้น ก็เรียกว่าเป็น การปฏิบัติทางสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ภาวนาทั้งสอง นี้เองคือจิตตภาวนาการอบรมจิต เพราะการอบรมจิตนั้น ก็ คือเป็นการอบรมจิตด้วยสมถภาวนา คืออบรมจิตให้สงบเป็นสมาธิ และด้วยวิปัสสนาภาวนา อบรมจิตให้เห็นจริงรู้แจ้งในธรรม

สติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ก็ทางสมถภาวนา ซึ่งเป็นขั้นสมาธิ และสูงขึ้นไปก็เข้าขั้นวิปัสสนาภาวนา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ว่าเป็น เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าว ล่วงโสกะความเศร้าโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ ทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์ความไม่สบายกาย โทมนัสไม่สบายใจ ทั้งหลาย เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุพึงรู้ ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เพื่อกระทำให้แจ้งพระนิพพาน ก็ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ ข้อ

สติปัฏฐานนั้นแปลว่าที่ตั้งแห่งสติ หรือที่จอดแห่งสติ การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็เป็นการตั้งสตินั้นเองในที่ตั้งของสติทั้ง ๔ อันได้แก่พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมะในธรรมะทั้งหลายอยู่เนืองๆ มีความเพียรทำกิเลสให้เร่าร้อน หรือมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะความรู้พร้อม หรือความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสียได้ นี้คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ เป็นหลักปฏิบัติทางสมถภาวนา อบรมสมถะความสงบ คือสมาธิให้บังเกิดขึ้น และส่งไปถึงวิปัสสนาภาวนา อบรมวิปัสสนาคือความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมให้บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ และทั้ง ๔ ข้อนี้ก็รวม กันเป็นทางอันเดียว ที่เรียกว่าเป็นทางที่ไปอันเอกอันเดียว เพื่อความหมดจดบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะสงบระงับโสกะปริเทวะทั้งหลาย ก็เพราะดับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย ก็เพราะเพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ หรือรู้ คืออริยมรรค ก็เพราะเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นไปเพื่อกำจัดมลทินโทษ ๔ ประการ อันได้แก่โสกะความเศร้าโศก ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ และเพื่อบรรลุคุณวิเศษ ๓ ประการ เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึง บรรลุถึงพึงรู้คืออริยมรรค เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 มี.ค.2007, 6:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๕)


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงพรรณนาพระพุทธคุณบทว่า อรหํ ในพระนิพนธ์ตอน พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ ในหนังสือ ความเข้าใจเรื่องพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ได้ทรงรู้จักพระธรรมคือธรรมที่เป็นตัวจริงปรากฏแจ่มแจ้งด้วยพระองค์เอง จึงได้พระนามว่า อรหํ หรือ อรหันต ซึ่งแปลว่า เป็นผู้ควร คือควรเคารพ นับถือบูชากราบไหว้และเชื่อฟัง ก็แหละศัพท์ว่า อรหํ หรือ อรหันต นี้ เป็นศัพท์ที่มีมาก่อนพุทธกาล คือก่อน ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในถิ่นนั้นเขาใช้เรียกคนที่เขานับถือเคารพนบนอบ จนถึงผู้นั้นเองก็อาจจะเข้าใจว่า ตนเองเป็นพระอรหํ หรือ อรหันต

ดังมีเรื่องแสดงไว้ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปสั่งสอนพระชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งมีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์ต่างๆ ให้ปรากฏ ท่านชฎิลเหล่านั้นสรรเสริญ แต่ก็เห็นว่าไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตน ดังคำบาลีว่า น เตฺวว จ โข อรหา ยถา อหํ แปลว่า ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ดังนี้

ต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นว่าท่านชฎิลเหล่านั้น อย่าว่าแต่จะเป็นพระอรหันต์เลย เพียงแต่อรหัตมรรค ทางที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ก็ยังไม่รู้ ท่านชฎิลได้ฟังพิจารณาดูตัว เห็นตามเป็นจริง ก็เกิดสังเวชสลดใจ จึงได้ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้พระคุณนาม นามอันเป็นคุณ อรหํ ผู้ควร

โดยนัยหนึ่งว่า เพราะทรงกำจัดข้าศึกเสียได้ อะไรที่เป็นข้าศึก ? ท่านแสดงว่า ข้าศึกอย่างใหญ่ได้แก่กิเลส หรือความชั่ว ที่ทำบุคคลให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส หรือให้เป็นคนชั่ว ไม่ให้เป็นคนดีได้ ทุกๆ คนตั้งต้นแต่เด็ก เมื่อรู้เนื้อความของถ้อยคำแล้ว ย่อมต้องการเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น เช่นเด็กถูกผู้ใหญ่กล่าวติเตียนว่าเป็นคนไม่ดี ก็เสียใจ แต่ถ้าได้รับคำชมจากผู้ใหญ่ว่าเป็น คนดี ก็ชอบใจ ไม่ต้องป่วยการกล่าวไปถึงคนผู้ใหญ่ที่โตๆ รู้เรื่องแล้ว คนทั้งหลายต้องการเป็นคนดี ไม่ต้องการเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนชั่ว มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อถามตนเองด้วยตนเองว่า ตนต้องเป็นคนดีหรือต้องการเป็นคนไม่ดี คือเป็นคนชั่ว ก็คงตอบตัวเองได้ ว่าต้องการเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ถึงเช่นนั้น ทำไมคนจึงไม่เป็นคนดีไปทั่วถึงกัน ก็เพราะข้าศึกคือกิเลส เกิดขึ้นครอบงำจิต แล้วทำจิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสอย่างหยาบบ้าง อย่างกลางบ้าง จนถึงอย่างละเอียด คนที่ฆ่าเขาบ้าง ถือเอาของที่เจ้าของของเขาไม่ให้ด้วยอาการที่เป็นโจรปล้นบ้าง ด้วยอาการที่เป็นโจรวิ่งราว ด้วยอาการที่เป็นโจรลักของเขาบ้าง ด้วยอาการที่ยกเอาอำนาจที่มีอยู่บังหน้า แล้วขู่เข็ญบุคคลผู้อื่นด้วยอำนาจนั้นบ้าง เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลผู้นั้นจะเป็นคนดีได้อย่างไร แม้ตนจะเข้าใจว่าเป็นคนดี ก็คงเป็นดีในจำพวกของตนที่เป็นเช่นเดียวกัน แต่คนอื่นที่ไม่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่เห็นว่าเป็นดีเป็นชอบไปได้ แม้จะได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ยินยอมให้ ด้วยอำนาจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตนได้ทรัพย์นั้นมา จะถือว่าเป็นดีเพราะทรัพย์นั้น ก็เป็นความเห็นผิด แต่ถ้าพิจารณาลงไปว่า ทรัพย์ที่ตนได้มานั้นด้วยสุจริตหรือทุจริต ถ้าเห็นว่าได้มาด้วยสุจริต ทรัพย์นั้นก็จะทำให้ปลาบปลื้มใจได้ แต่ถ้าเห็นว่าทรัพย์นั้นได้มาด้วยทุจริต ก็จะรู้สึกด้วยใจตนเอง ติเตียนตนเองได้ ถึงจะปิดผู้อื่นอย่างไรๆ ก็ปิดตัวเองไม่ได้ มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า “นตฺถิ โลเก รโห นาม ชื่อว่าที่ลับไม่มีในโลก” เพราะตนเองรู้ตนเองอยู่ ดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้กำจัดข้าศึก คือกิเลส เสียได้ด้วยอาการทั้งปวง

กิเลส เครื่องที่ทำบุคคลให้เศร้าหมองนั้น ท่านจัดไว้เป็นชั้นๆ ชั้นหยาบได้แก่ ‘อภิชฌา’ ความมุ่งที่จะให้ ได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ‘พยาบาท’ ความมุ่งร้ายผู้อื่น ‘มิจฉาทิฏฐิ’ ความเห็นผิด เพราะมุ่งที่จะให้ได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เลือกดีชั่วผิดถูกอย่างไร มุ่งแต่ จะให้ได้ก็แล้วกัน มุ่งจองล้างผู้อื่น จะดีชั่วผิดถูกอย่าง ไรไม่คำนึง นึกในใจมุ่งแต่จะล้างผลาญให้ได้ก็แล้วกัน เพราะมีความเห็นผิดจากคลองธรรม คือเห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เพราะอภิชฌา พยาบาท อันสืบมาจากมิจฉาทิฏฐินี่แหละ จึงเป็นเหตุให้บุคคลประพฤติชั่วทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ด้วยความตั้งใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว ตัวเราเองพิจารณาดูตัวว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว ก็จะตอบตัวเองได้ตามความเป็นธรรมว่าเป็นคนชั่ว ถึงเช่นนั้นบุคคลก็ยังยอมอยู่ในอำนาจของความชั่วมีเป็นอันมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลส เครื่องที่ทำให้เศร้าหมองอย่างหยาบได้ นี่ประการหนึ่ง

กิเลสเหล่านี้สืบเนื่องมาจากอะไร ? เมื่อพิจารณาไป ก็จะเห็นได้ว่า อภิชฌา สืบเนื่องมาจากโลภะ ความอยากได้ หรือราคะ ความยินดีชอบใจติดอยู่ในสิ่งที่ชอบ พยาบาท มุ่งร้ายจองล้างจองผลาญ สืบมาจากโทสะ ความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมใจ ทำใจให้เดือดร้อน กระวนกระวาย มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด สืบเนื่องมาจากโมหะ ความหลง หลงงมงาย เพราะไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อราคะ ความยินดี ความติดอยู่ในสิ่งที่ชอบ หรือโลภะ ความอยากได้ เกิดขึ้นในใจ ใจจะเป็นอย่างไร พิจารณาดูตัวเองจะเห็นได้ว่า ทำใจให้เดือดร้อนกระวนกระวาย เพราะอำนาจราคะหรือโลภะ เมื่อโทสะเกิดขึ้นในใจ ย่อมประทุษร้าย ใจ ทำให้ใจเดือดร้อน งุ่นง่าน ด้วยอำนาจโทสะ เมื่อโมหะ ความหลงงมงาย เพราะไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเห็น ตามความเป็นจริง เกิดขึ้นครอบงำใจ ใจก็โง่งุนมึน ไม่รู้ตามเป็นจริงได้

เมื่อราคะหรือโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม เกิดขึ้นที่ใจ ครอบงำใจ ทำใจให้เดือดร้อนกระวนกระวาย มีอาการต่างๆ ถ้าแรงกล้าก็ให้แสดงออกมาทางสีหน้า แม้ผู้อื่นที่พิจารณาเห็น ก็อาจจะรู้ได้ โลภะหรือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในใจ ครอบงำใจ ทำใจให้เดือดร้อน ชักใจให้เป็นไปตามอำนาจของโลภะหรือราคะ โทสะ โมหะ เช่นนี้ ใจก็อยู่ไม่ได้ดี เดือดร้อนกระวนกระวาย ใครต้องการให้ตนเป็นผู้มีใจไม่ดี เป็นผู้มีใจเดือดร้อนกระวนกระวายบ้าง ถามตัวเองก็คงตอบได้ว่าไม่ต้องการเช่นนั้น ต้องการแต่จะให้ใจอยู่เป็นสุขสงบ เพราะฉะนั้น ราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ที่เกิดขึ้นในใจ ครอบงำใจ จึงเป็นข้าศึกของบุคคล เพราะทำใจให้เดือดร้อนกระวนกระวาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดข้าศึกเหล่านี้เสียได้ นี่ประการหนึ่ง

ราคะ หรือ โลภะ ก็สืบเนื่องมาจากราคะที่เป็นอนุสัย อันได้แก่ความยินดีชอบใจที่นอนจมอยู่ในจิต ‘โทสะ’ ก็สืบเนื่องมาจากปฏิฆะ ความไม่ชอบใจที่นอนนิ่งอยู่ในจิต ‘โมหะ’ ก็สืบเนื่องมาจากอวิชชา ความไม่ รู้หรือความไม่รู้ตามเป็นจริง ‘ราคะ’ ความชอบใจ ‘ปฏิฆะ’ ความไม่ชอบใจ มีอาการเป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะอวิชชา ความไม่รู้หรือไม่รู้ตามเป็นจริง เช่นบุคคลเข้าไปอยู่ในที่มืด ก็รู้แต่ว่ามืด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรหรือมีอะไรบ้าง นี่เป็นอาการของอวิชชา เมื่อมีแสงสว่างเข้ามาเป็นทางๆ เห็นสิ่งของเข้าได้ ถ้าสิ่งของหรือ วัตถุเหล่านั้นเป็นที่พอใจ ราคะ ความยินดี ที่มีอยู่ ก็แสดงอาการออกมายินดีในวัตถุสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นๆ หรือวัตถุนั้นๆ ที่มาประสบ ไม่เป็นที่ชอบใจ ปฏิฆะ ที่นอนอยู่ภายใน ก็แสดงอาการไม่ชอบออกมาให้ปรากฏ

เพราะฉะนั้น ราคะจึงเป็นกิเลสอย่างละเอียด แสดงอาการออกมาเป็นราคะ ที่ปรากฏอาการยินดีในวัตถุที่ชอบ หรือโลภะ อยากได้ ปฏิฆะ แสดงอาการหยาบออกมา เป็นโทสะ ประทุษร้ายใจ อวิชชา แสดงอาการออกมาเป็นโมหะ ความหลง ราคะหรือโลภะ เมื่อแสดงอาการ หยาบออกมาอีกก็เป็น อภิชฌา โทสะ เมื่อแสดงอาการ หยาบออกมาอีกก็เป็นพยาบาท โมหะ เมื่อแสดงอาการ หยาบออกมาอีกก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ราคะ ปฏิฆะ อวิชชา ที่เป็นอนุสัยนอนนิ่งอยู่กับจิต จึงเป็นเหมือนดังตะกอนที่นอนอยู่ในภายใต้ของน้ำที่ใส เมื่อไม่มีอะไรมากระทบ ตะกอนก็จมอยู่ที่ก้น น้ำอยู่ข้างบน ก็ใส แต่ถ้ามีอะไรมากระทบภาชนะให้น้ำกระเทือนหวั่นไหว ตะกอนที่นอนอยู่ในภายใต้ก็ฟุ้งซ่านระคนกับน้ำ ทำให้น้ำขุ่นมัว

เมื่อสิ่งที่มากระทบๆ แรงกล้า ก็ทำให้กระฉอกหกออกจากภาชนะ ข้อนี้ฉันใด กิเลสอันเป็นอนุสัยอันนอนอยู่กับจิต เมื่อไม่มีอะไรมากระทบก็คงนอนอยู่กับจิต ไม่แสดงอาการให้ปรากฏ เมื่อมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะ คือเรื่องราว มากระทบ ก็ทำให้กิเลสที่เป็นอนุสัยนั้นกระเพื่อมหรือฟุ้งขึ้น ทำจิต ซึ่งเปรียบประดุจน้ำ ให้เศร้าหมองขุ่นมัว เพราะอำนาจ ราคะหรือโลภะ โทสะ และโมหะ ถ้าสิ่งที่มากระทบคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะ อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบแรง ราคะหรือโลภะ ก็มีอาการอันหยาบ ออกไปเป็นอภิชฌา มุ่งถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ โทสะก็มีอาการอันหยาบออกไปเป็นพยาบาท มุ่งล้างผลาญผู้อื่นที่ไม่ชอบ โมหะก็มีอาการอันหยาบออกไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ กิเลสอย่างละเอียดที่นอนนิ่งอยู่กับจิต ท่านเรียกว่าอนุสัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดเสียได้ จึงเป็นพระอรหํ หรือ อรหันต ซึ่งแปลว่า กำจัดข้าศึก อันหมายถึงกิเลสที่มีอยู่ภายใน

กิเลสเหล่านี้ไม่ใช่มีแต่ในจิตของพระสัมมาสัมพุทธะ เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้เท่านั้น ในเราทั้งหลายถ้วนหน้าหรือตลอดทุกๆคนด้วยกันหมดโลก ก็มีกิเลสเหล่านี้อยู่ด้วยกัน แต่ว่าบางท่านอ่อน บางท่านแรงกล้า คนที่มีกิเลสอ่อน ไม่สามารถจะทำชั่วออกไปให้ปรากฏได้ คนที่มีกิเลสอันหยาบคาย สามารถจะทำให้ชั่วปรากฏ เมื่อกิเลสเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ใจ ครอบงำใจ ชักใจหรือจิต ให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ให้เสื่อมจากความเป็น คนดี เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกกิเลสเหล่านี้ว่าข้าศึก ข้าศึกไม่มุ่งทำความดีแก่ใคร มุ่งแต่ทำความชั่วร้ายให้ กิเลสก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นที่จิตของใคร ก็มีแต่จะประทุษร้ายจิต ทำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัว จนถึงถ้าแรงกล้า ก็ให้ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ด้วยความตั้งใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกำจัดกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เสียได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้กำจัดกิเลสและเป็นผู้ควร ดังนี้

การกำจัดข้าศึกคือกิเลสเหล่านี้ จะสำเร็จได้ก็อาศัยเหตุ เหตุที่จะกำจัดข้าศึกคือกิเลสเหล่านี้ ท่านก็แสดงไว้โดยนัยต่างๆ กัน บางแห่งก็แสดงว่าทรงกำจัดกิเลสอย่างหยาบด้วยบารมีสามัญ ๑๐ ประการ ทรงกำจัดกิเลสอย่างกลางด้วยอุปบารมี ทรงกำจัดกิเลสอย่างละเอียดด้วยปรมัตถบารมี หรือกำจัดกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล กำจัดกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ กำจัดกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา และโดยนัยอื่นๆ อีก แต่แม้จะมีชื่อต่างๆ กัน รวมความลงก็คงเป็นอย่างเดียวกัน ดังพระพุทธภาษิตที่แสดงไว้ว่า ธรรมะ แม้จะมีปริยาย คือทาง มากมายเท่าไรก็ตาม เมื่อรวมลงไปหาผล ก็คือวิมุตติความหลุดพ้นจากความไม่รู้ตามเป็นจริง เหมือนดังทางของน้ำ ที่แม้จะมีมากมายหลายทาง แต่เมื่อไหลรวมลงไปสู่มหาสมุทรแล้ว ก็มีรสอันเดียว คือเค็ม เหมือนกันหมด ฉะนั้น


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 01 พ.ค.2007, 12:47 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๖)


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พรรณนาพระพุทธคุณบทว่า อรหํ ในพระธรรมเทศนา วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ความว่า

พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหํ ด้วยเหตุไร คำว่า อรหํ นั้นแปลได้ ๓ อย่าง คือ ผู้ไกลจากกิเลส ๑ ผู้ควรซึ่งทักขิณาทาน ๑ และตามโวหารของโบราณาจารย์ท่านแปลว่า ผู้หักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสารจักร อย่าง ๑

ในพระคุณบท อรหํ นี้มีเนื้อความพิสดารกว้างขวางมาก แต่อรหํ บทเดียวก็จักพรรณนาไม่รู้จักสิ้นสุด แม้พระพุทธเจ้าจักมีพระชนมายุตั้งกัลป์หนึ่งแล้ว พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ก็จักตายเปล่า ท่านพรรณนาไว้ลึกซึ้งจนเหลือวิสัย ไม่รู้จักหมดจักสิ้นได้ เหตุนั้นจักแสดง แต่โดยย่อ ต้องการแต่ที่เป็นข้อปฏิบัติเท่านั้น

ในพระพุทธคุณบท อรหํ นี้เราจะถือเอาเนื้อความได้ก็คือที่ว่า พระองค์ไกลจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ถ้าจะพูดแต่เพียงความเศร้าหมองเท่า นั้น ดูเนื้อความยังอ่อนมาก ไม่ใช่อ่อนนิดๆ หน่อยๆ เช่น วัตถุสิ่งของหมอง ไปมัวไปไม่ใสไม่สะอาด ก็อาจชำระขัดสีได้โดยง่าย แต่กิเลสที่ว่าเป็นเครื่อง เศร้าหมองใจนี้หมองใหญ่โตทีเดียว ไม่อาจขัดเกลาให้หายได้

กิเลสเครื่องเศร้าหมองในที่นี้ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ทำให้เศร้าหมอง คือ ‘โสกะ’ ความแห้งใจ เศร้าใจ ‘ปริเทวะ’ ความบ่นเพ้อร่ำรี้ร่ำไร ‘โทมนัส’ ความเสียใจ ‘อุปายาส’ ความคับแค้นอัดอั้นตันใจ นี่เป็น เครื่องหมายแห่งกิเลสเครื่องเศร้าหมอง กิเลสที่ทำให้น้อยใจกรอบเกรียมใจคับแคบใจ บ่นคร่ำครวญพิรี้พิไรต่างๆ ไม่มีที่สิ้นสุดทีเดียว ลึกเหลือเกิน ถ้าถึงคราวเศร้าหมอง มันก็หมองเอาจริงๆ ไม่ใช่หมองเล่นๆ ถ้ามีสติอยู่บ้างก็อ่อนไป ถ้าไม่มีสติก็ถึงกับฆ่าตัวเองทีเดียว กิเลสนี้แหละเป็นของสำคัญ และเป็นสัญญานามธรรมชนิดหนึ่ง

ความโลภ โกรธ หลง เป็นปู่ ย่า ตา ทวด ของกิเลส เหลือนั้นเป็นลูก เป็นหลาน เป็นบริวารของกิเลส ส่วนกิเลสปริยายนอกจากนี้ คืออิจฉา พยาบาท เป็นต้น เป็นสัญญานามส่วนหนึ่ง เมื่อมาสวมเข้าที่ตัวบุคคลจึงจะรู้ ถ้าอยู่แต่ตัวลอยๆ ไม่แปลกประหลาดและไม่มีพิษมีสงอะไร

โลภะ ความโลภ เมื่อมาสวมเข้าที่ตัวบุคคลแล้วให้เกิดเป็นอาการต่างๆ ขึ้นตามความปรารถนา คือทำให้เกิดโสมนัสอยากได้อยากดีอยากมั่งอยากมี ได้บ้างเสียบ้างต่างๆ นานาไม่มีสิ้นสุด

ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นที่ตัวแล้ว ทำให้ไม่สบายมีอาการพลุ่งพล่านโดย ประการต่างๆ เมื่อคิดอยู่แต่ในใจไม่ได้ ก็ไหลออกมาทางปากเปล่งเสียงแปร๊ดๆ ทีเดียว เมื่อไหลออกมาทางกายทำให้ทุบตีตบต่อย ทำหน้าเป็นยักษ์มาร หน้าแดงหน้าเขียวไปต่างๆ

ความหลงก็เป็นกิเลสอย่างสำคัญ คือทำให้หลงรักหลงชังจนเกินไป หลงดีหลงชั่วหลงไปตามโลกนิยม หลงสมมติบัญญัติ หลงโน่นหลงนี่ เรื่อยเฉื่อย ไปสุดแต่ถือตามเขาไปนั่นแหละ ไม่สิ้นสุด สิ่งที่เคยรักใคร่มาแต่เดิมก็หลง เกลียดหลงชัง สิ่งที่เคยเกลียดเคยชังก็หลงรักหลงใคร่

ถ้ากิเลสเหล่านี้ครอบงำใครเข้าแล้วก็ทำให้เกิดโทษใหญ่ แต่ถ้ามีสติมากหน่อย ความโลภ โกรธ หลง ก็น้อยหน่อย ถ้าไม่มีสติ โลภ โกรธ หลง มาก็ระงับไว้ไม่อยู่ พระพุทธเจ้าพระองค์ประกอบด้วยปรีชาญาณ ได้กระทำความเพียรห่างไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง คือละกิเลสเหล่า นี้ได้แล้วจึงเป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว

ที่พระองค์ไกลจากโลภ โกรธ หลง ก็คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจได้รับธัมมารมณ์ จะเป็นอย่างดีอย่างชั่วอย่างไรๆ ก็ตาม มากระทบทวารทั้ง ๖ ไม่มีความสะดุ้งหวั่นไหว ไม่มีความยินดียินร้าย เป็น ‘ฉฬังคุเบกขาญาณ’ แม้พระองค์จะถูกต้องโลกธรรมทั้ง ๘ ประการมากระทบถูกเข้า ก็ไม่มีหวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน พระหฤทัยหนักแน่นดังแผ่นดิน

ก็เหตุที่พระองค์ท่านไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมนั้น พวกเราต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ไม่หวั่นไหวอย่างดื้อๆ ที่พระองค์ไม่หวั่นไหวนั้น เพราะพระองค์มีโลกธรรมเป็นของที่มีในตนเต็มที่แล้ว สุขก็มีในตนแล้ว ความสมบูรณ์ลาภ ยศก็มีในตนเต็มที่แล้ว ความสรรเสริญก็มีอยู่แล้ว ความทุกข์ก็มีในตนเต็มที่แล้ว ก็เมื่อพระองค์มีเต็มที่เสียหมดทุกๆ อย่างแล้ว เต็มที่อย่างพอดิบ พอดี ใครจะเอาอะไรมาเติมให้อีกก็เท่านั้นแหละ จะเอาออกไปก็เท่านั้นแหละ ไม่ประหลาดอะไร จะเอาออกไปจะเพิ่มเข้า มันก็เท่านั้นแหละ พระองค์มีเต็มที่อย่างนี้ต่างหาก จึงไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ถ้ายังบกพร่องอยู่ไม่เต็ม ไม่พอก็ต้องหวั่นไหว

ถ้าความหมายความหวังมีอยู่ตราบใด ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น ถ้าความสุขใจของเรามีพอเสียแล้วนั่นแหละเราจึงจะสบาย พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วอย่างนี้ พระองค์จึงเป็นสุข ไม่ตื่นเต้นและไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมทั้งสิ้น เพราะความโลภ โกรธ หลง ทั้ง ๓ อย่างนั้นไม่มี จึงไม่เกิดความยินดีและความยินร้าย เพราะว่าใจเดินสายกลางได้แล้วเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

พระพุทธเจ้านั้น ท่านเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งปวงด้วยอาการอย่างนี้ สิ่งอะไรต่างๆ ท่านก็ละเสียทั้งนั้น คำที่ว่า ‘ละเสีย’ นั้น ก็คือกิเลสหมดอำนาจนั้นเอง เหมือนอย่างกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ในพระองค์ท่านก็มีอยู่ แต่ไม่มีพิษสงอะไร อยู่เฉยๆ อย่างนั้นเอง ที่ว่ามีอยู่เพราะเป็นสหชาตธรรม ที่ว่าไม่มีเพราะหมดอำนาจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของพระองค์ก็ยังอยู่ แต่ว่าใจของพระองค์เป็นพระ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เหล่านั้นก็กลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชาแต่ละอย่างๆ

ถ้าใจเป็นมาร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ก็เป็นมาร เครื่องต่างๆ นั้นก็เป็นศัตราวุธของมาร คอยประหัตประหารบุคคลนั้นอยู่อย่างนี้ ถ้าเราฝึกหัดใจของเราเป็นพระแล้วก็สบาย การไกลกิเลสนั้นให้พึงเข้าใจว่าพระไม่ได้หนีไปไหน กิเลสไม่ได้หนีไปไหน แต่หากต่างไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่มีพิษสงที่จะให้เกิดทุกข์ต่างๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ตั้งอยู่ตามหน้าที่ ที่เป็นพิษเป็นสงเกิดความรักความชังขึ้นก็เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้ปรุงวิถีจิตให้วิ่งออกไปหนหนึ่ง กลับเข้ามาแล้วกลับออกไป และกลับเข้ามาอีกหลายขณะ กลับไปกลับมาเลยกุมสติไม่อยู่กับตัว ไม่รู้จักว่าใจอยู่ใจไป ไม่รู้จักสิ่งดี ไม่รู้จักสิ่งชั่ว ไม่รู้จักส่วนได้ส่วนเสีย

ส่วนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระหฤทัยของพระองค์เป็นฉฬังคุเบกขามีกำลัง ท่านปิดประตูเสียหมดทุกด้าน วางสติอารมณ์เสียแล้วไม่ให้ออกไปได้ เมื่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบก็ไม่กระเทือนไม่หวั่นไหว

ผู้ที่เสียสติเพราะไม่มีใจ คือเป็นคนที่ไม่มีหัวใจ เป็น ‘โมฆปุริโส’ พระท่านว่าโมฆปุริโสเป็นบุรุษเปล่า เปล่าจากหัวใจ หัวใจไม่มีในตัว ใจไปอยู่เสียที่สรรพวัตถุข้าวของภายนอก ไปอยู่กับคน โน้นบ้างคนนี้บ้าง ไม่ได้อยู่ในตัว สุดแท้แต่ชอบสิ่งใดใจก็ไปอยู่ที่สิ่งนั้น เดี๋ยวไปโน่นไปนี่ ไม่มีเวลาหยุดหย่อน ครั้นกลับมาถึงบ้านแล้วก็เปิดไปอีก เพราะใจไม่อยู่กับตัวเช่นนี้ ถ้าอารมณ์ใดมากระทบก็เกิดโลโภ โทโส โมโหขึ้น

ส่วนผู้สำเร็จนั้นไม่ว่าอะไรมากระทบไม่หวั่นไหวทั้งสิ้น เพราะสติกุมอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งอยู่ในฉฬังคุเบกขา แม้โลกธรรมมากระทบก็ไม่ หวั่นไหว อายตนะภายในกับอายตนะภาย นอกกระทบกัน ก็ไม่มีความหวั่นไหว จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นพระอรหํ

อันนี้เป็นข้อที่พวกเราควรพากันกำหนดให้เข้าใจว่า พระองค์ไกลจากกิเลสด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ฝึกหัดตนให้ประพฤติปฏิบัติตาม หรือย่นเข้าอีกเพื่อให้ฟังได้ง่ายๆ ก็คือ ไกลจากกิเลสด้วยการ รักษาศีล

กิเลสอย่างหยาบทางกายคือฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ ทางวาจาได้แก่การพูดปด ๑ การพูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดโปรยเสียซึ่งประโยชน์ตลกเฮฮา ๑

ได้ชื่อว่าไกลกิเลสด้วยวาจา ผู้ไกลกิเลสอย่างหยาบได้ ก็คือ ละกิเลส ทางกายวาจา ผู้ไกลกิเลสอย่างกลาง ก็คือ ละนิวรณ์ ๕ อย่าง คือ กามฉันทะ ก็คือความโลภ พยาบาท ก็คือโทสะ ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ตัวคือโมหะ มีสมาธิเป็นเครื่องกำจัด จะไกลกิเลสประเภทนี้ได้ด้วยการทำสมาธิ

ปัญญาคือความรู้แจ่มแจ้ง รู้เท่าต่อสังขารตามความเป็นจริงอย่างไร เป็นเครื่องขจัดอุปธิกิเลสที่ดองอยู่ในสันดานฝังแน่นอยู่ในใจ ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง แต่เป็นอย่างละเอียด เหล่านี้เรียกว่า ‘อนุสัยกิเลส’

ที่พระพุทธเจ้าละกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เสียได้สิ้นด้วยอาการอย่างนี้ แม้นัยแห่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็อย่างเดียวกัน เมื่อตรองได้ความว่า พระพุทธเจ้าทรงคุณอันประเสริฐ ละเสียได้ซึ่งกิเลสทั้งปวงด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อเราจะถึงคุณพระพุทธเจ้าในพระคุณบทนี้ ท่านไกลจากกิเลสด้วยศีล เราก็ต้องรักษาศีล ไม่ได้มากเพียงศีล ๕ ถ้าสามารถจะรักษาศีล ๘ อุโบสถได้ ก็ให้รักษาศีล ๘ ระงับกิเลสอย่างหยาบ

ถ้ากิเลสอย่างกลางยังมีอยู่ ให้เจริญสมาธิ ก็จักระงับไป ก็อาจรู้ได้

ถ้ารู้ว่ากิเลสานุสัยยังมีอยู่ ก็พยายามทำวิปัสสนาญาณให้เจริญปัญญา ก็อาจไกลจากกิเลสได้


ต่อแต่นั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เมื่อได้ประสบอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เราก็ไม่ยินดียินร้าย หรือ โลภ โกรธ หลง เหล่านี้ เราก็ละได้สิ้นแล้ว ใจของเราจักเป็นของกลาง ไม่มีอาการหวั่นไหว หรือเมื่อลาภยศเป็นต้นมีมา ก็จะไม่มีความยินดียินร้าย

เมื่ออย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกว่าตนเป็นผู้ถึงคุณของ พระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงอย่างนี้เป็นสรณะที่สุดทีเดียว นับว่าเราได้ตามเสด็จสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นสรณะที่พึ่งของเราอย่างสำคัญ

ถ้าพอใจพิจารณาหรือภาวนา พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ อรหํ ก็ให้พึงเข้าใจอย่างนี้ แล้วจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้จริงๆ


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ค.2007, 6:28 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๗)


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พรรณนาพระพุทธคุณบทว่า ‘อรหํ’ ต่อในพระธรรมเทศนา วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ความว่า

การแสดงพระพุทธคุณดังได้แสดงมาแล้วในเบื้องต้น ความในบท ‘อรหํ’ คือไกล จากกิเลสด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ คือไกลกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล กิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ กิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา ส่วนปัญญานั้นจะได้แสดงในบทว่า ‘สมฺมาสมฺพุทฺโธ’ ข้างหน้าต่อไป

พระนาม ‘อรหํ’ นี้ หมายถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ คือพระองค์ไกลจากกิเลส และอีกอย่างหนึ่ง โบราณาจารย์ ท่านพรรณนาไว้ว่า หักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสารจักร อันนี้เป็นข้อสำคัญ และอีกนัยหนึ่ง ‘พระอรหํ’ เป็นผู้ควร และที่อธิบายพระนาม อรหํ ว่าหักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสาร-จักรนั้น ลึกเหลือเกิน ท่านกล่าวโดยย่อ คือ กรรม ๑ กิเลส ๑ วิบาก ๑ เป็นตัวสังสารจักร

กรรมนั้นสำเร็จด้วยเจตนา คือมีเจตนาเป็นผู้ปรุงแต่ง จึงสมกับคำว่า เจตนาเป็น ตัวกรรม ความคิดอ่านก็เป็นตัวกรรม เช่นอย่างเราคิดไปในรูปว่า รูปนี้สวยงาม รูปนี้ไม่สวยไม่งาม ความคิดเป็นกรรม ความสวยงาม ไม่สวยไม่งาม เป็นกิเลส รูปเป็นวิบาก เมื่อเป็นวิบากแล้วก็กลับมาเป็นกรรมอีก เป็นกรรมแล้วก็กลับมาเป็นวิบากอีก หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปมาอยู่เช่นนี้ จึงเรียกว่า ‘สังสารจักร’ หรือ เช่น ตากับรูปก็เป็นวัฏฏะเครื่องหมุนอีกเหมือนกัน เมื่อใจออกมารับรู้ทางตา ตาก็ไปเห็นรูป รูปนั้นมาปรากฏขึ้นในใจ ใจนั้นเป็นผู้รัก ผู้ชอบ ผู้เกลียด ผู้ชัง หมุนไปอย่างนี้แหละ ตาจึงเป็นเหตุ รูปเป็นผล แล้วรูปก็กลับเป็นเหตุ ตาเป็นผล หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ หมุนไปหมุนมา เวียนไปเวียนมา เป็นลักษณะสังสารจักร สังสารจักรเป็นเหตุอันหนึ่ง เหมือนอย่างเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เรียกว่า สังสารจักร

วงของสังสารจักรกว้างขวางแทบเหลือที่จะพรรณนาทีเดียว จะให้รู้ไว้สักอย่าง แล้วเอาไปเทียบดู เดี๋ยวนี้คนเรายังไม่รู้จักสังสารจักรอย่างว่า ปี เดือน วัน คืน ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน มันเป็นวัฏฏะทั้งนั้น คือเป็น วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี ฯลฯ หมุนกันไปจนครบ ๗ วัน เป็นกงเกวียนอย่างนี้แหละ ส่วนเดือนก็หมุนตามหน้าที่ของเดือน เช่น เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ฯลฯ หมุนกันอย่างนี้ แล้วก็ไปที่เดิมอีกนั่นแหละ ส่วนปีก็หมุนไปเช่นเดียวกัน มีปีชวด ปีฉลู ปีขาล ปีเถาะ ฯลฯ ๑๒ ปี แล้วก็มาที่เดิมอีก ชื่อว่าเป็นวงของสังสารจักรทั้งนั้น แต่เป็นวงนอก

วงนอกเป็นวงใหญ่ วงในเป็นวงเล็ก เหมือนอย่างเครื่องจักรเครื่องยนต์ต่างๆ เครื่องจักรเครื่องยนต์ต่างๆ นั้น เครื่องจักรตัวนอกๆ ก็ใหญ่ มาจนถึงวงในแล้วก็เล็กลงทุกที ฉันใด สังสารจักรก็เหมือนกัน กรรม กิเลส วิบาก ก็หากพูดมาหลายปีในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ค่อยได้ความกัน คือผู้ฟังยังไม่เข้าใจสังสารจักร สังสารจักรคือความหมุนนั่นเอง มันไม่ใช่ว่าอะไรหมุน คือสัญญาของเรายุ่งไปเอง แต่ความจริงไม่มีอะไรหมุนเลย

ถ้าหากเราจะทำความหัก เราลองหักดูที่วงนอก คือ วงปี เดือน วัน ดูเสียก่อน เหมือนอย่างหักวงปีว่าทำอย่างไรเราจะไม่ให้มันหมุน ให้เข้าใจว่า ปีนั้นเขาบัญญัติลงที่ไหน คือเขาบัญญัติลงที่ฤดูทั้ง ๓ ให้เอาตั้งไว้เป็นหลัก คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว เมื่อเราตั้งสเกลหมดทั้ง ๓ ฤดูนี้ อย่าให้ไปยืนไว้ ทีนี้ เราก็บัญญัติปีว่าปีชวดลงที่ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ครั้นถึงปีฉลูก็บัญญัติลงที่ ๓ ฤดูนั่นแหละ สามฤดูตั้งอยู่ตามเดิม เอาปีขาลมาลงอีก ก็ลงที่เก่านั่นแหละ ไม่หมุนเวียนไปไหน ยืนตัวอยู่อย่างนั้น คือเอาปีนั้นมาสมมติลงในที่แห่งเดียว เพราะเหตุนี้ปีก็ไม่หมุนไปได้

เมื่อหักวงปีอยู่แล้ว ปีไม่หมุนแล้ว ให้ลองหักวงเดือนดู มีเดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ฯลฯ เขาหมายอะไร เขาก็หมายพระจันทร์ พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็หรี่ลงไปจนหมด เรียกว่าเดือนดับ คือ ‘ปักข์ขึ้น’ เรียกว่า สุกรปักข์ ‘ปักข์แรม’ เรียกว่า กาฬปักข์ บัญญัติจันทร์สว่างจันทร์มืดเข้าตั้งที่ว่าเดือน ๑ ทีนี้เราเอาปักข์ ๒ อันนี้แหละตั้งเป็นสเกลไว้อย่าให้เดิน คือตั้งข้างขึ้นข้างแรมไว้ประจำอยู่เสมอ เราตั้งสเกลไม่ให้หมุนไปได้ ให้มีอยู่อย่างนั้นแหละ ใน ๓๐ วันนี้แหละ เขาสมมติเดือน อ้ายลงไปที่สวนที่ปักข์ ๒ ปักข์ ทีนี้ได้ครบเดือนอ้ายแล้ว ๓๐ วัน ข้างขึ้นข้างแรมก็อยู่อย่างเดิม ก็เอาเดือนยี่ไปสวมเข้าอีก สวมของเก่าแหละ ส่วนเดือนสาม เดือนสี่ เดือนห้า เดือนหก ฯลฯ มันก็ไม่มีแปลกต่างกัน

ทีนี้เดือนก็ไม่หมุน มันยืนตัวอยู่เหมือนตอที่ตั้งอยู่แห่งเดียว จะเอาของอะไรไปตั้งไปวางก็เช่นเดียวกัน ตอก็ไม่ไปไหน คงตั้งอยู่เฉยๆ อย่างนั้นแหละ

เมื่อหักวงเดือนได้แล้ว ให้ลองหักวงของวันต่อไป วันเขาสมมติลงในอะไร เขาสมมติกลางวันกับกลางคืน คือมืดกับสว่างเป็นวันหนึ่ง ให้ตั้งมืดหนึ่งกับสว่างหนึ่ง เป็นหลักเป็นสเกลไว้ อย่าให้หมุนอย่าให้เวียนไปไหน แล้วก็เอาวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ มาสวมเข้า ก็กลายเป็นวันนั้นๆ ไป เหมือนกับตอ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่หมุน

เมื่อหักวงนอกได้ตามลำดับอย่างนี้แล้ว เราจะหักวงในบ้าง คือ กรรม กิเลส วิบาก ต่อไปเหมือนอย่างใจของเราเป็นของกลาง ไม่รู้จักแก่ เจ็บ ตาย เป็นของบริสุทธิ์ คือ คงที่อยู่ แต่กิเลสทั้งหลายมาเหนี่ยวรั้งใจนั้นเอง สิ่งใดมาประกอบเข้าแล้วก็เป็นใจ ถ้าเรายืนใจให้เป็นหลักเดิมแล้ว สิ่งทั้งปวงมาประสมใจ กิเลสก็เข้ามาสวมใจไม่ได้ ก็ตั้งอยู่ตามเดิมอย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรจะหมุนจะเวียน หักได้หมดทีเดียว

เพราะเหตุนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านหักได้ ท่านจึงเป็นผู้รู้จริง เป็นผู้ที่หักเสียซึ่งกำกงแห่งสังสารจักร อันนี้เป็นข้อสำคัญในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเข้าใจ หรือพระอรหํ ที่แปลว่า ผู้ควร คือพระองค์มีสันดานอันบริสุทธิ์แล้ว เพราะว่าการบัญญัติของพระองค์เป็นนิยยานิกธรรม ข้อบัญญัติของพระองค์นั้นสะอาด จึงเป็นผู้ควรยกซึ่งบัญญัติได้ และพระองค์เป็นผู้มีบารมี สามารถ จึงได้มีผู้ปฏิบัติตาม และพระองค์เป็นผู้ควรแก่ทักขิณาทานของโลก เมื่อโลกบริจาคทานแก่พระองค์แล้ว อาจมีอานิสงส์อันกว้างใหญ่ไพศาล

เหตุนั้น การที่สักการบูชาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้มีมาแต่พระองค์ยังอยู่ เทพยดาและมนุษย์จึงพากันเคารพนับถือมาจนทุกวันนี้ ในปัจจุบันก็ได้รับความโสมนัสแห่งการบูชาในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กล่าวพอเป็นสังเขปได้ใจความว่า อรหํ ผู้ไกลจากกิเลส ๑ อรหํ เป็นผู้หักเสียซึ่งกำกงแห่งสังสารจักร ๑ เป็น อรหํ คือผู้ควรซึ่งทักขิณาทาน ๑ เมื่อเราจะถึงพระคุณอย่างนี้ เราต้องพยายามไกลจากกิเลส และพยายามหักเสียซึ่งกำกงแห่งสังสารจักร ได้น้อยก็ตาม ได้มากก็ตาม หรือเราทำตามให้เป็นผู้ควร คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ สามารถรับทานของผู้อื่นให้เกิดอานิสงส์ไพบูลย์ ก็ชื่อว่าถึง ‘คุณพระอรหํ’ ถึงได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็เป็นบุญอันยิ่งใหญ่

ความไม่ประมาทอุตส่าห์ทำความพากเพียร รักษากาย วาจา ใจ ของตนให้เป็น ผู้บริสุทธิ์ ความที่จะรักทักขิณาทานเพราะความสะอาด ความบริสุทธิ์ ถ้าใครทำได้แล้ว ก็จะถึงซึ่งคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ พรรณนาพระพุทธคุณบทว่า ‘อรหํ’ ในพระธรรมเทศนาเรื่อง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ความว่า ‘อรหํ’ เป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นเอง พร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาณ ยกตัวอย่างเทียบเคียงคล้ายกับชื่อพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า “มัลลิกา” กล่าวคือว่า วันที่พระนางเธอประสูตินั้น มีดอกมะลิร่วงลงมาจากอากาศในเวลาเกิด พระราชธิดา และพระประยูรญาติถือเอานิมิตดอกมะลินั้นขนานนามธิดาองค์นั้นว่า “มัลลิกา” ซึ่งแปลว่า พระนางมะลิ

อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิ ฉะนั้นจึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้ เพื่อได้ซาบซึ้งถึงพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนก กล่าวคือ บรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลกมีมากสุดที่จะคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะที่บินหนหนึ่ง จะมีอากาศอยู่ในระหว่างปีกนกนิดเดียว ในจำนวนอากาศทั้งหลาย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น

อรหํ แปลสั้นๆ ว่า ‘ไกล’ ว่า ‘ควร’ เป็นสองนัยอยู่ “ไกล” หมายความว่า ไกลจากกิเลส หรือว่าพ้นจากกิเลส เสียแล้ว “ไกล” ตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเรา ซึ่งยังอยู่ใกล้ชิดกิเลส พระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุท หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำที่ว่า พุทธรัตนะ ประกอบด้วย ‘ตาทิโน’ เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว หากจะมีของหอมมาชโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง และเอาของเหม็น มาชโลมซีกหนึ่ง พระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันยินดียินร้ายประการใด และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า ‘อินฺทขีลูปโม’ พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อน ถึงจะมีพายุมาแต่จตุรทิศ ก็ไม่คลอน เมื่อเช่นนี้ จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ‘ผู้ควร’ คือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทิดจะบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด ‘อรหํ’ เป็นนามเหตุ ‘พระคุณนาม’ นอกนั้นเป็นนามผล

ว่าในด้านภาวนา กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม กายธรรมซ้อน อยู่ในกายอรูปพรหม คนเราที่ว่าตายนั้นคือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือก ฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป

การละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เป็นลำดับไป

กิเลสในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
กิเลสในกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายรูปพรหม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหม คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

ต่อแต่นี้ไปจึงชักเข้าถึงกายหนึ่ง คือกายธรรม หรือเรียกว่า ธรรมกาย เข้าชั้นโคตรภูจิต เรียกว่า โคตรภูบุคคล โคตรภูบุคคลนี้เดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจ ๔ เป็นอนุโลมปฏิโลม จนหลุดพ้นจากกิเลสพวกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วตก ศูนย์วับกลับเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าพระโสดาบัน ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วกายโสดาบันนี้เดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจ ๔ เป็นอนุโลมปฏิโลมต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาทชั้นหยาบ จึงเลื่อนชั้นขึ้นเป็นสกทาคามี กายพระสกทาคามีเดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาทขั้นละเอียด จึงเลื่อนชั้นเป็นพระอนาคามี แล้วกายพระอนาคามีเดินสมาบัติเพ่งอริยสัจ ๔ ทำนองเดียวกันนั้นต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนขึ้นจากพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ จิตของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงได้พระเนมิตตกนามว่า อรหํ

เหตุที่ทำให้พระองค์เป็น อรหํ นั้น สรุปโดยย่อก็ได้แก่ การที่พระองค์บำเพ็ญ สมาธิ เจริญวิปัสสนาด้วยพระมหาปธานวิริยะอันแรงกล้า ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ ในวันวิสาขปุรณมีนั้น โดยความเด็ดเดี่ยว ตั้งพระหฤทัยอธิษฐานว่า แม้เนื้อ และเลือดในพระสรีระของพระองค์จะเหือดแห้ง เหลือแต่เส้นเอ็น หนัง และกระดูก ก็ตามทีเถิด หากไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ตราบใด พระองค์จะไม่ยอมลุกจากที่นั้นเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งสมาธิรุดไปด้วยน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยว ในที่สุดก็ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ สมดังพระประสงค์ ในราตรีกาลแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง

ยามต้นทรงบรรลุ ‘ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ’ ความหยั่งรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ยามที่ ๒ ทรงบรรลุ ‘จุตูปปาตญาณ’ ความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด ยามที่ ๓ ทรงบรรลุ ‘อาสวักขยญาณ’ ความหยั่งรู้ที่กำจัดอาสวกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตให้หมดสิ้นไป ทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมด เห็นจริงๆ เห็นด้วยตาของธรรมกาย ไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอา เห็นตลอดทั่วโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ โลกนรก เพราะพระองค์ได้ผ่านพ้นโลก เสด็จออกสู่แดนพระนิพพานแล้ว จึงเห็นได้ทั่วถ้วนโดยมิสงสัย


>>>>> มีต่อ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2007, 6:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตำนาน นโม
(๑๘)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบทว่า อรหันต์ แก่พระอานนท์ ดังความใน คิริมานนทสูตร ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) อธิบายความจากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๔ ปฐมปัณณาสก์สจิตตวรรคที่ ๑ สูตรที่ ๑๐ อาพาธสูตร ตอนหนึ่งว่า

...ดูกรอานนท์ เราตถาคตจะแสดงในข้ออันเป็นที่ สุดแต่โดยย่อๆ พอให้เข้าใจง่ายที่สุดนั้นก็คือ จิตกับตัณหา จิตนั้นจำแนกออกไป เรียกว่ากองกุศลคือกองสุข ตัณหานั้นจำแนกออกไป เรียกว่ากองอกุศลคือกองทุกข์ ต้นเหง้าเค้ามูลแห่งทุกข์นั้น ก็คือจิตและตัณหานี้เอง จิตเป็นผู้คิดให้ได้ดีมีสุขขึ้น ส่วนตัณหานั้นก็ให้เกิดเห็นตาม จิตมีความสุขมากขึ้นเท่าใด ตัณหาก็ให้เกิดทุกข์ตามมากขึ้นไปเท่านั้น

ดูกรอานนท์ แต่เบื้องต้น เมื่อเราตถาคต ยังไม่รู้แจ้งว่าสุขและทุกข์อยู่ติดด้วยกัน เราก็ถือเอากุศลจิตอันเดียวหมายจักให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อ ส่วนทุกข์จะไม่ให้มา ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลจิตเรื่อยไป เมื่อได้สุขเท่าใด ทุกข์ก็พลอยเกิดมีเท่านั้น ครั้นภายหลัง เราพิจารณาด้วยญาณจักษุปัญญา และเห็นแจ้งชัดว่าสุขและทุกข์ติดอยู่ด้วยกัน

ครั้นรู้แจ้งแล้ว ก็ตรึกตรองหาอุบายที่จะกำจัดสุขและทุกข์ให้พรากออกจากกัน มันแสนยากแสนลำบากเหลือกำลัง จนสิ้นปัญญาหาทางไปทางมาไม่ได้ เราตถาคตจึงวางเสียซึ่งสุข คืนให้แก่ทุกข์ คือวางใจให้แก่ตัณหา ครั้นเราวางใจไว้ให้แก่ตัณหาแล้ว ความสุขในพระนิพพานก็เลยเข้ามารับเราให้ถึงนิพพาน ดิบในขณะนั้น พร้อมกับวางใจไว้ให้แก่ตัณหา ดูกรอานนท์ เมื่อวางใจได้ จึงเป็นอัพยากฤต จึงเรียกชื่อว่า ถือเอาอัพยากฤตเป็นอารมณ์ เป็นองค์พระอรหันต์ คือได้เข้าตั้งอยู่ในพระนิพพานด้วยอาการดังนี้

ดูกรอานนท์ อันว่าอรหันต์นั้น จะได้มีจำเพาะแต่เราตถาคตพระองค์เดียวก็หามิได้ ย่อมมีเป็นของสำหรับโลก สำหรับไว้โปรดสัตว์โลกทั่วไป ไม่ใช่ของเราตถาคต และของผู้หนึ่งผู้ใดเลย ดูกรอานนท์ เราตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้ว จึงได้มาซึ่งพระอรหันต์ บุคคลผู้ใดปราศจากกิเลสแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ได้ พระอรหันต์เสมอกันทุกคน บุคคลผู้ใดที่ยังไม่ปราศจากกิเลส ถึงแม้จะอ้อนวอนเราตถาคตว่า อรหันต์ อรหันต์ ดังนี้ จนถึงวันตายก็ไม่อาจได้ซึ่งพระอรหันต์เลย เป็นแต่กล่าวด้วยปากเปล่าๆ เท่านั้น และมาเข้าใจว่าการละกิเลสได้ หรือไม่ได้นั้นไม่เป็นประมาณ

เมื่อได้อ้อนวอนหาซึ่งองค์พระอรหันต์เจ้าด้วยปากด้วยใจแล้ว พระอรหันต์เจ้าก็จะนำเราให้เข้าสู่พระนิพพาน เข้าใจเสียอย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นคนหลงแท้ แม้เมื่อตนยังไม่พ้นลามกมลทินแห่งกิเลสแล้ว ไปอ้อนวอนพระอรหันต์ที่หมดมลทินกิเลส ให้มาตั้งอยู่ในตัวตน อันแปดเปื้อนด้วยลามกมลทินแห่งกิเลส จะมีทางได้มาแต่ไหน เปรียบเหมือนดังมีสระอยู่สระหนึ่ง เต็มไปด้วย ของเน่าของเหม็นสารพัดทั้งปวง เป็นสระมีน้ำเน่าเหม็นสาบเหม็นคาวน่าเกลียดยิ่งนัก และมีบุรุษคนหนึ่งตกอยู่ในสระนั้น

หากว่าบุรุษคนนั้นร้องเรียกให้อานนท์ลงไปอยู่ในสระน้ำเน่ากับเขาด้วย อานนท์จะไปอยู่ด้วยกับเขาหรือ ดูกรอานนท์ เราจะบอกให้สิ้นเชิง ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ในสระกับบุรุษผู้แปดเปื้อนด้วยน้ำเน่าได้ ดังนั้นองค์พระอรหันตเจ้าก็อาจไปตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปด เปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกัน ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ด้วย กับบุรุษแปดเปื้อนไม่ได้ องค์พระอรหันตเจ้าก็ไม่อาจตั้งอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกันเช่นนั้น

ดูกรอานนท์ ท่านจะลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อน ได้หรือไม่ มีพุทธฎีกาตรัสถาม ฉะนี้ ข้าฯอานนท์จึงกราบทูลว่าลงไปอยู่ด้วยไม่ได้ ถ้าท่านไม่ลงไป บุรุษผู้ นั้นก็กล่าววิงวอนท่านอยู่ร่ำไปจะสำเร็จหรือไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงไป บุรุษผู้นั้นก็ทำอะไรแก่ข้าพระองค์ไม่ได้ ความปรารถนาก็ไม่สำเร็จ เป็นแต่วิงวอนอยู่เปล่าๆ เท่านั้นเอง

ดูกรอานนท์ ข้ออุปมานี้ฉันใด บุรุษผู้จมอยู่ในน้ำนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ไม่ปราศจากมลทินลามกแห่งกิเลส พระอรหันต์นั้นเปรียบเหมือนตัวของอานนท์ อานนท์ไม่ลงไปอยู่ด้วยกับบุรุษแปดเปื้อนฉันใด พระอรหันต์ท่านก็ไม่ไปอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสฉันนั้น แม้จะวิงวอนด้วยปากด้วยใจสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว ท่านไม่น้อมเข้าไปหาบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเลย ครั้นบุคคลผู้ใดปรารถนาความสุขแล้ว จงน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดให้ได้ความสุข ทุกคนจะเข้าใจว่าพระอรหันต์ท่าน เลือกหน้าเลือกบุคคล จะติเตียนอย่างนั้น ไม่ควร ถ้าผู้ใดพ้นจากกิเลสกามและพัสดุกามได้แล้ว ชื่อว่าน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดนำเข้าสู่พระนิพพาน เสวยสุข อยู่ด้วยท่าน ไม่เลือกหน้าบุคคลเลย แต่ผู้จมอยู่ด้วย กิเลสกาม ละกิเลสไม่ได้ ชื่อว่าไม่น้อมตัวเข้าไปหาท่านเอง

ดูกรอานนท์ ถึงตัวเราตถาคตก็ต้องน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านจึงโปรดให้ตถาคตนี้ได้เป็นครูแก่โลกดังนี้ เพราะว่าพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ดี และจักให้ท่านเข้าไปคบหาคนชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้ และผิดธรรมเนียมด้วย สมควรแต่ผู้เลวทรามต่ำช้าจะเข้าไปหาท่านผู้ดี ผู้สูงศักดิ์โดยส่วนเดียว

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาซึ่งพระอรหันต์ ก็พึงยกตัวและห้ามใจให้ห่างไกลจากกองกิเลส เพราะพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ไกลจากกิเลส จะบริกรรมแต่ด้วยปากด้วยใจว่า อรหันต์ๆ แล้วเข้าใจว่า ตนได้พระอรหันต์ เห็นว่าเป็นบุญเป็นกุศล จะได้ความสุขในมนุษย์และสวรรค์และพระนิพพาน จะทำความเข้าใจอย่างนี้ไม่สมควร พระนามชื่อว่าพระอรหันต์นี้ เราบอก ไว้ให้รู้ว่าผู้ไกลจากกิเลสจะถือเอาแต่พระนามว่าอรหันต์ๆ แล้วเข้าใจว่าตนได้สำเร็จเช่นนี้ไม่ควร เพราะคำที่ว่าอรหันต์ ใครๆ ก็กล่าวได้ จะมิเป็นพระอรหันต์ก็คือเราตถาคตนี้เอง เหตุที่เราปราศจากกิเลสละกิเลสสิ้นแล้ว เราจึงได้ถึงที่สุดแห่งพระอรหันต์ องค์อรหันต์กับเราตถาคตก็หากเป็นอันเดียวกัน จะร้องเรียกพระอรหันต์ว่าเป็นตถาคตก็ไม่ผิด หรือจะร้องเรียกเราตถาคตเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ผิด ผู้ใดละกิเลสได้สิ้นเชิง แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าถึงที่สุดแห่งพระอรหันต์สิ้นด้วยกัน จะถือพระอรหันต์เป็นเราตถาคตองค์เดียวหามิได้ จงเข้าใจองค์แห่งพระอรหันต์ ดังเราตถาคตแสดงมานี้เถิด...

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฐ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง กล่าวถึงคำว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ในพระธรรมเทศนา พุทธานุสสติ ดังนี้

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัดกิเลสอะไรต่างๆ นั้นไม่ต้องพูดถึงหรอก ถูกต้องหมดทุกอย่าง จะว่าอะไรก็ถูก ตัดจากกิเลสบาปธรรมก็ถูก ไกลจากกิเลสก็ถูก วางกิเลส ทิ้งกิเลส ก็ถูกอันเดียวกันนั่นแหละ ว่าตามภาษาตัวหนังสือเลยไม่มีที่สิ้นสุด

ในเมื่อผู้ละแล้วผู้ถอนแล้ว เข้าถึงคุณของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์แล้ว ย่อมเห็นคุณของพระองค์แจ้งชัด แน่วแน่อยู่เช่นนั้น อันนี้แหละเรียกว่า ถึงคุณพระพุทธเจ้า การถึงคุณพระพุทธเจ้าต้องถึงอย่างนี้ ไม่ใช่ถึงด้วยการว่าบทต่างๆ เป็นข้อเป็นคำไป ว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ไม่ต้องพิจารณาอย่างนั้น พิจารณาให้ เห็นชัดในบทว่า เรามีส่วนในความเป็นมาของพระองค์แม้จะน้อยนิดเดียวก็พอแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุทานในวันตรัสรู้ว่า ธรรมนี้เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย

จกฺขํ อุทปาทิ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้เกิดขึ้นแล้ว (คือมองเห็นโล่ง ไปหมด มองเห็นเหตุเห็นผล เช่น มองดูมนุษย์ที่เกิดมาเพราะกรรม ตัณหา อวิชชา เป็นต้นเหตุ ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ขาดอาหารก็ดับไปอย่างนี้เป็นต้น)

วิชฺชา อุทปาทิ นี้เป็นความรู้อันไม่ใช่สาธารณะทั่วไปแก่บุคคลอื่น รู้เฉพาะตนเองเท่านั้น จึงหมดสงสัยในธรรมทั้งปวง

ปญฺญา อุทปาทิ เมื่อพิจารณารอบๆ ไปทุกแง่ทุกมุมทั้งภายนอกภายในแล้วเห็นว่าตรงกับเหตุผลความ เป็นจริงทุกประการ ยิ่งเชื่อมั่นหมดความสงสัย ไม่มีอันใดจะปกปิดเหลือไว้อีกแล้ว

อาโลโก อุทปาทิ โลกเป็นอันเปิดสว่างแจ้งโล่งไปหมด คือ สัตว์ในพื้นปฐพีนี้มีกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ อย่างไร พระองค์ย่อมทรงรู้ทั้งหมด จึงเรียกว่ารู้แจ้งโลก ไม่มีอะไรปกปิดกำบัง

ดังนั้น พวกเราจะเข้าถึง พุทธภูมิ คือ ภูมิของพระพุทธเจ้าด้วยการที่เราสงบ เราตั้งสติกำหนดจิตให้สงบเท่านี้แหละ พระพุทธเจ้าก็ทรงทำอย่างนี้ พระองค์ทรง สอนอย่างนี้ พระสาวกก็สอนอย่างนี้ ตั้งสติกำหนดจิตที่ส่งส่ายไม่ให้ส่งส่ายเท่านั้น เมื่อจิตอยู่นิ่งแล้วก็รู้จักว่าจิตอยู่ นับว่าเป็นเบื้องต้นของความรู้ แต่ก่อนเราไม่รู้จักจิต อยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่รู้ คราวนี้เรากำหนดจิตให้อยู่ สติควบคุมจิตอยู่ที่เดียว เรารู้แล้วว่าจิตของเราอยู่ ไม่ใช่ของทำง่ายๆ ต้องฝึกฝนอบรม

ถ้าคุมสติรักษาจิตใจให้อยู่ในอำนาจของตนแล้ว มันจะไปไหนเล่า อันความรู้ความฉลาดสามารถรู้สิ่งทั้งปวงทั้งหมด ก็ออกไปจากอันนี้ จะไปรู้ที่ไหนไปรู้อะไรอีก ที่ไปรู้อะไรๆ ก็ออกไปจากจิตอันนี้แหละ พระองค์ทรงรู้ต้นตอบ่อเกิดของกิเลสทั้งปวงหมด เรานั้นอยากจะรู้นั่นรู้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่อะไรต่างๆ ถ้าหากจิต ของตนไม่อยู่นิ่ง มันไม่เห็นหรอก พระองค์ทรงเข้ามารู้ที่นี่เสียก่อน เมื่อเราเข้าถึงอันนั้นจึงเรียกว่าเข้าถึงภูมิ ของพระพุทธเจ้าส่วนหนึ่ง เข้าถึงแดนของท่าน พอได้ติดนิดหนึ่งก็เอาล่ะเท่านั้นก็พอแล้ว จงยินดีพอใจในอันนั้น นานๆ เข้ามันหากค่อยรู้ขึ้นมาค่อยเห็นขึ้นมา

การรักษาจิตไว้ตรงนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ เพราะจิตไม่ใช่เป็นของเป็นตนเป็นตัว ไม่ใช่จะเอาเชือกผูกอย่าง ผูกวัวผูกควาย จิตมันกวัดแกว่ง จิตมันดิ้นรนกระเสือกกระสนไปมา หากเรายังไม่รู้ว่าจิตมันกวัดแกว่ง จิตดิ้น รนกระเสือกกระสนอยู่เป็นนิจแล้ว มันก็จะไปตามของเก่าอยู่อย่างนั้น อย่างที่เคยเทศน์ให้ฟังแล้วว่า จิตมันคิดของเก่า

คิดดูซี วันหนึ่งๆมันคิดอะไรบ้าง เราลืมของเก่าของ ตนเองต่างหาก มันคิดวนไปเวียนมาอยู่กับของเก่านี่แหละ คิดเกี่ยวกับลูกกับหลาน คิดเกี่ยวกับบ้านกับช่อง คิดเกี่ยวกับสิ่งของวัตถุทั้งปวงหมด คิดกับหมู่กับเพื่อน กับพี่กับน้อง กับญาติกับวงศ์ ก็คิดของเก่านั่นแหละ แต่ไหนแต่ไรมาก็คิดแต่เรื่องเหล่านี้แหละ คิดถึงสมบัติพัสถาน หาอยู่หากิน คิดกับเรื่องเหล่านี้แหละทุกๆ วันไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย แล้วยังจะคิดต่อไปอีก ถ้าหากว่าเรารักษาจิตไม่อยู่ อันนี้เป็นแดนมนุษย์แดนปุถุชน แดนพระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น แดนพระพุทธเจ้าต้องสงบ มีสติควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา แดนของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น

ธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงก็แสดงออกไปจากจิต จิตที่มันคิดมันนึกส่งส่าย พระองค์จึงเทศนาอันที่มันส่งส่ายวุ่นวายอยู่นั่น ไม่ใช่อันอื่นหรอก พระองค์ทรงบอกให้ละมันเสียแล้วอยู่ด้วยความสงบ นี่แหละให้รักษาไว้ ก็เท่านี้เองจะไปแสดงที่ไหน เทศน์ก็เทศน์ อันเดียวนั่นเอง จึงเรียกว่าเทศน์ของเก่า ของเก่าที่ไม่ รู้แล้วรู้รอดกันสักที เทศนาไปก็ไม่จบสักที พระองค์ทรงเทศนา ๔๕ ปี ก็เทศนาของเก่าอยู่นี้แหละ ที่เราแสดงถึงเรื่องพระคุณของพระองค์นี้ ก็คุณอันเก่านั่นแหละ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็ของเก่านั่นแหละ

พระพุทธเจ้าองค์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว เทศนาพรรณนาถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ละพระองค์ตลอดชีวิตของพระองค์ก็ไม่หมดสิ้น พระคุณอเนกอนันต์ ถ้าพูดถึงเรื่องราวมันก็มากมายกว้างขวาง จึงว่าให้รวมจิตลงให้มั่นเป็นหนึ่งได้เสียก่อน รักษาใจให้อยู่ให้สงบ ควบคุมจิตให้อยู่อันเดียวเท่านั้น ส่วนพิสดารอื่นๆ ก็แล้วแต่นิสัยของตน อย่าไปอยากเป็นอย่างท่านที่รู้มากๆ เลย คนเรามิใช่เป็นอย่างเดียวกันทุกคน คนนับเป็นหมื่นเป็นแสน จะเป็นอย่างนั้นสักคน เดียวก็ทั้งยาก

พระสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านยังจัดไว้หลายประเภท ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วไม่อยากพูดก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วพูดเฉพาะหมู่เพื่อนกันเองก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วพูดมาก จนมีผู้ปฏิบัติตาม จนกระทั่งได้ สำเร็จตามก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วรู้เหตุรู้ผล รู้เรื่อง รู้ราวแตกฉานทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขัดข้องก็มี พวกท่านเหล่านั้นล้วนแต่ได้ปฏิบัติตนให้ถึงความสงบ จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั้งนั้น มิใช่อยากเป็นแต่ฝึกหัดจิตไม่สงบอย่างพวกเรา ความอยากเลยไม่สำเร็จตามปรารถนา

เหตุนั้นจึงว่า อย่าไปมัวเมาหลงของเก่าเลย ท่านสอนตรงจิตสงบอยู่อันหนึ่งอันเดียว และรักษาจิตให้อยู่ อันเดียวนั่นแหละ ตรงนี้แหละสำคัญที่สุด ที่จะเทศนา ถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ต้องเทศน์อันนี้ให้รู้จักอันนี้เสียก่อน จึงจะเทศน์ให้กว้างขวางออกไปได้


>>>>> มีต่อ
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง